สมชาย ปรีชาศิลปกุล สาขานิติศาสตร์ ภาควิชารัฐศาสตร์ มช.

ใคร่ย้ำไว้ ณ ที่นี้ว่าไม่ได้ต้องการเรียกร้องให้เกิด "คนเดือนพฤษภา" ขึ้นแต่ต้องการย้ำให้เห็นว่า คำอธิบายที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์พฤษภาทมิฬที่ ไม่เปิดพื้นที่ให้กับคนกลุ่มอื่นนอกเหนือชนชั้นกลาง คนเดือนตุลา เป็นการสร้างความหมายที่แฝงไว้ด้วยความรุนแรงรูปแบบหนึ่ง ดังจะเห็นได้ว่าคนที่ถูกลืมเลือนไป มีใครรู้บ้างว่าทุกวันนี้ฐานะความเป็นอยู่ ความรู้สึก ของบุคคลเหล่านี้ว่ามีสภาพอย่างไร

อาจนับเป็นข้อดีของโศกนาฏกรรมประการหนึ่ง ที่การเรียกร้องเรื่องการค้นหาศพของวีรชน (ผู้เสียชีวิต?) เดือนพฤษภายังไม่บรรลุตามวัตถุประสงค์... การเคลื่อนไหวนี้ในด้านหนึ่งแล้ว ก็เท่ากับเป็นการช่วยตอกย้ำให้คนในสังคมได้ระลึกอยู่ว่า พฤษภาทมิฬมิใช่เป็นเพียงเรื่องของคนเดือนตุลาเท่านั้น หากยังมีบุคคลกลุ่มอื่นๆ เข้าร่วมอยู่ด้วยและเป็นผู้ที่แบกรับความสูญเสียไว้ไม่น้อยเช่นกัน

110545
release date
H
home
คนที่หายไปในเดือนพฤษภา : อิทธิพลของคำอธิบายเรื่องม็อบมือถือ ทำให้กลุ่มคนอีกเป็นจำนวนมากที่มีบทบาท และได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ถูกมองข้าม บางกลุ่มก็แทบจะถูกลืมเลือนไปอย่างสิ้นเชิงภายหลังเดือนพฤษภา เช่น กลุ่มญาติธรรมของ พล.ต.จำลอง ที่เคยถูกประเมินจากกรุงเทพธรุกิจรายสัปดาห์ว่า เป็น 1 ใน 4 กลุ่มสำคัญของการชุมนุมทั้งด้านการเป็นแหล่งทุน และสวัสดิการ เมื่อนึกถึงพฤษภาในวันนี้ มีใครยังพอจำได้ถึงคนกลุ่มนี้ รวมถึงอีกหลายคนที่ต้องตกอยู่ในสถานะแบบเดียวกัน
ภาพประกอบดัดแปลง จากภาพ Old Man with a Dead Maiden : Odd Nerdrum ปรับปรุงมาจากนิตยสาร Art in America ฉบับ เดือนมีนาคม 1998 หน้า 12 ใช้เพื่อประกอบบทความบริการวิชาการฟรี ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน / หากประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะแก้ปัญหาได้
Midnight
No. 178
บทความลำดับที่ 178 ของ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ทางเลือกอุดมศึกษาเพื่อความไท : ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ กรุณาอ้างอิงตามสมควร

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ


Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

สนใจสมัครเป็นสมาชิก
กรุณาคลิก member page
ส่วนผู้ที่ต้องการดูหัวข้อบทความ
ทั้งหมด ที่มีบริการอยู่ขณะนี้
กรุณาคลิกที่ contents page
และผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น
หรือประกาศข่าว
กรุณาคลิกที่ปุ่ม webboard
ข้างล่างของบทความชิ้นนี้

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com

แม้จะถูกจัดเข้าไปเป็นหนึ่งในขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชน แต่เหตุการณ์เดือนพฤษภาก็ไม่ใช่ 14 ตุลาคม 2516 หรือ 6 ตุลาคม 2519 พฤษภาทมิฬเกิดขึ้นใน พ.ศ. 2535 ท่ามกลางบริบทที่มีลักษณะเฉพาะของตนแตกต่างไปจากเหตุการณ์เดือนตุลาที่เกิดขึ้นก่อนหน้า พฤษภาทมิฬจึงนำมาซึ่งปรากฏการณ์หลายที่ไม่เหมือนกับสิ่งที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์เดือนตุลา

ความแตกต่างประการหนึ่งที่เป็นที่สงสัยของผู้เขียนในช่วงระยะเวลาหลายปีหลังนี้ก็คือว่า ในขณะที่เหตุการณ์เดือนตุลาได้ก่อให้เกิดกลุ่ม "คนเดือนตุลา" ขึ้น แต่เหตุใดภายหลังพฤษภาทมิฬที่ล่วงมาจนปัจจุบันกลับไม่เกิด "คนเดือนพฤษภา" ขึ้น ทั้งที่การเคลื่อนไหวในเดือนพฤษภาคมก็มีผู้เข้าร่วมมากมายในการต่อสู้กับอำนาจรัฐที่ไม่ชอบธรรม อะไรเป็นเหตุผลที่ทำให้ไม่ปรากฏคนเดือนพฤษภาคมขึ้น บทความนี้เป็นความพยายามอันหนึ่งที่จะทำความเข้าใจกับปรากฏการณ์การไม่เกิดขึ้นของคนเดือนพฤษภาว่าเหตุผลอย่างไร

ผู้ชายเดือนพฤษภาที่ถูกลืมเลือน
ภายหลังเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2535 มีหนังสือตำนานประชาชน: สายธารสู่ศตวรรษที่ 21(วิฑูรย์ ปัญญากุล บรรณาธิการ,หนังสือเนื่องในงานมหกรรมประชาชน 2535) ตีพิมพ์ออกมาโดยหนังสือฉบับนี้ มีเนื้อหาบรรยายถึงบุคคลต่างๆ ที่มีบทบาทสำคัญต่อการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน และในหนังสือฉบับนี้ก็ได้มีการตีพิมพ์ชีวประวัติและแนวความคิดของปริญญา เทวานฤมิตรกุล อดีตเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย(สนนท.) ที่ดำรงตำแหน่งและมีบทบาทอยู่ในช่วงเวลาที่มีการเคลื่อนไหวคัดค้านคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งประเทศไทย(คณะ รสช.) นับตั้งแต่ พ.ศ. 2534 จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬขึ้น โดยได้ตั้งชื่อเนื้อหาของบทความในส่วนนี้ว่า ผู้ชายเดือนพฤษภา: ปริญญา เทวานฤมิตรกุล

การเรียกขานปริญญาว่าเป็นผู้ชายเดือนพฤษภาในหนังสือฉบับนี้ น่าจะเป็นครั้งแรกที่มีการกล่าวถึงบุคคลที่มีส่วนกับเหตุการณ์เดือนพฤษภาในท่วงทำนองที่คล้ายคลึงกับคนเดือนตุลา

อย่างไรก็ตาม ราวกับว่าผู้ชายเดือนพฤษภาไม่อาจมีความหมายซึ่งเป็นที่ยอมรับกันในทางสาธารณะ ดังจะเห็นได้ว่าภายหลังจาก พ.ศ. 2535 มาจนกระทั่งปัจจุบันก็ไม่ปรากฏว่าได้มีการเรียกขานถึงผู้ชายเดือนพฤษภาในลักษณะนี้กับบุคคลอื่นๆ ที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมกับเหตุการณ์เดือนพฤษภา ความหมายของผู้ชายเดือนพฤษภาไม่อาจครอบคลุมออกไปถึงคนอื่นๆ ที่เข้าร่วมกับการเคลื่อนไหว ดังไม่ปรากฏการเกิดขึ้นของคนเดือนพฤษภาแต่อย่างใด ยิ่งไปกว่านั้นการเรียกปริญญาในฐานะของผู้ชายเดือนพฤษภาก็ไม่ได้แพร่หลายมากแต่อย่างใด

ผู้ชายเดือนพฤษภาจึงมีพื้นที่แคบๆ เพียงปริญญาเท่านั้น

คำถามที่น่าสนใจก็คือว่า ทำไมผู้ชายเดือนพฤษภาจึงไม่สามารถแปรสภาพจากความหมายเชิงปัจเจกบุคคล ให้ไปสู่ความหมายของกลุ่มหรือชุมชนของคนที่มีส่วนร่วมกับเหตุการณ์พฤษภาทมิฬได้ หากเปรียบเทียบกับกรณีของคนเดือนตุลาปฏิเสธไม่ได้ว่าชื่อของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล, ธีรยุทธ บุญมี, สุธรรม แสงประทุม และรายชื่อของบุคคลอีกเป็นจำนวนมาก ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของคนเดือนตุลา คนเดือนตุลามีสภาพเป็นชุมชนแบบหนึ่งที่มีพื้นซึ่งที่คนจำนวนมากสามารถเชื่อมตนเองเข้าไปกับกลุ่มได้ และนอกจากนี้ในทางสาธารณะบทบาทของคนเดือนตุลาก็ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางถึงการดำรงอยู่ในวงการต่างๆ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าความแตกต่างประการหนึ่งที่มีผลอย่างมากต่อการเกิดขึ้นของคนเดือนตุลาและการไม่เกิดคนเดือนพฤษภาก็คือ การเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน กลุ่มบุคคลที่เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงคือนิสิตนักศึกษา หากนึกถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 การเคลื่อนขบวนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ล้วนประกอบไปด้วยเยาวชนคนหนุ่มสาว ในชุดนิสิตนักศึกษาเดินถือธงชาติและพระบรมฉายาลักษณ์อย่างเป็นระเบียบออกมาจากมหาวิทยาลัย

ในแง่นี้การที่ผู้นำนักศึกษาที่ถูกกล่าวถึงในฐานะตัวแทนของคนเดือนตุลาจึงสามารถที่จะเป็นภาพตัวแทนให้แก่บุคคลที่เข้าร่วมในการเคลื่อนไหวได้ เนื่องจากทั้งในแง่ของวิถีชีวิต สถานะทางสังคม การศึกษา ของคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีพื้นฐานร่วมกัน ดังนั้นจึงไม่เป็นการแปลกแยกที่บุคคลจำนวนไม่น้อยที่ได้เล่าเรียนและทำกิจกรรมอยู่ในมหาวิทยาลัยในช่วงเวลาตั้งแต่ พ.ศ. 2516 - 2519 สามารถที่จะนิยามตนเองเข้ากับชุมชนคนเดือนตุลาได้

ขณะที่การชุมนุมประท้วงในเดือนพฤษภาคมเป็นที่ทราบกันว่าแม้นักศึกษาที่นำโดย สนนท. เป็นกลุ่มแรกๆ ที่ออกมาคัดค้านการยึดอำนาจของคณะ รสช. ซึ่งการคัดค้านก็ได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องจวบจนกระทั่งกระแสการต่อต้านคณะ รสช. ขยายตัวออกอย่างกว้างขวางในเดือนเมษายน - พฤษภาคม แต่ทั้งหมดก็เป็นผลจากการเคลื่อนไหวร่วมกันของทั้งองค์กรพัฒนาเอกชน นักการเมือง นักวิชาการ และที่สำคัญไม่น้อยก็คือการเข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหวของ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ที่ส่งผลอย่างมากต่อการทำให้การต่อต้านรัฐบาลที่นำโดย พล.อ.สุจินดา คราประยูร แผ่กว้างออกไป

การสำรวจของสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทยสุ่มสำรวจตัวอย่างผู้มาร่วมชุมนุมเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2535 ณ ท้องสนามหลวงพบว่าร้อยละ 45.7 ทำงานเอกชน ข้าราชการร้อยละ 14.8 เป็นเจ้าของกิจการ 13.7 โดยที่เป็นนิสิตนักศึกษาร้อยละ 8.4(สารคดี: มิถุนายน 2535:123) ผลจากการสำรวจนี้สะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายของผู้มาชุมนุมได้เป็นอย่างดี โดยที่นักศึกษาเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวและยิ่งไปกว่านั้นนักศึกษาที่มาชุมนุมต่างคนต่างมาเป็นส่วนใหญ่(สังศิตและผาสุก:12) การชุมนุมในครั้งนี้จึงประกอบด้วยคนที่หลากหลายแตกต่างกันไป

การเคลื่อนไหวในเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม จึงมิใช่ขบวนการเคลื่อนไหวที่ถูกยึดกุมหรือจัดตั้งมาโดยบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นการเฉพาะเท่านั้น หากเป็นปรากฏการณ์ที่จัดได้ว่าเป็นการเคลื่อนไหวทางสังคมที่ฐานของผู้เข้าร่วมมีความหลากหลายอย่างมาก

ด้วยลักษณะของขบวนการเคลื่อนไหวในเดือนพฤษภา ปริญญาที่แม้จะเป็นเลขาธิการของ สนนท. ในขณะนั้นก็ไม่อาจเป็นภาพตัวแทนที่ครอบคลุมถึงกลุ่มคนที่เข้าร่วมได้อย่างกว้างขวาง ลองนึกถึง พล.ต.จำลอง เพียงคนเดียวก็เป็นการพอแล้วที่จะบอกว่าไม่อาจนับเอาปริญญาเป็นภาพตัวแทนได้

ความหมายของผู้ชายเดือนพฤษภาจึงเป็นตัวแทนเสี้ยวเล็กๆ ของนักศึกษาที่ได้มีส่วนร่วมกับการชุมนุมครั้งนี้ และโดยที่เป็นเสี้ยวเล็กๆ อันหนึ่งนี้เองที่ทำให้คำว่าผู้ชายเดือนพฤษภาปรากฏอยู่เพียงในหนังสือตำนานประชาชน ไม่แพร่หลายออกกว้างขวาง ดังไม่ปรากฏว่ามีการใช้ถ้อยคำดังกล่าวเกิดขึ้นในทางสาธารณะให้เป็นที่รับรู้กันทั่วไปดังเช่นผู้ชายหรือคนเดือนตุลา

แม้การเสนอวาทกรรมผู้ชายเดือนพฤษภาจะไม่ประสบความสำเร็จและพร้อมกับการไม่ปรากฏตัวของคนเดือนพฤษภา แต่ทั้งนี้ก็มิได้หมายความว่า ไม่มีการสร้างความหมายให้กับเหตุการณ์ / บุคคลที่มีส่วนร่วมเคลื่อนไหวในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ตรงกันข้าม มีการสร้างความหมายให้กับการเคลื่อนไหวครั้งนี้เกิดขึ้น ด้วยการอธิบายว่าเหตุการณ์เดือนพฤษภาเป็น "ม็อบมือถือ" หรือ "ม็อบชนชั้นกลาง" อันเป็นคำอธิบายที่มีผลเชื่อมโยงอย่างสำคัญต่อการไม่เกิดคนเดือนพฤษภา ดังจะได้อภิปรายกันต่อไป

พฤษภาทมิฬหรือตุลาภาคสอง

น้ำค้างกลางถนน
เป็นกองพลชนชั้นกลางล่างล่างต่ำ
มาร่วมบุญร่วมกรรมเป็นทัพหน้า
น้อยคุ้มใหญ่บ้างเคยเห็นจนเจนตา
เด็กก็มาไม่เคยเห็นได้เจนใจ
ผู้เต่าแก่แม่ลูกอุ้มผูกหลาน
คนมีเงินทำงานมากันใหญ่
เช้าหายวับเย็นก็กลับมาใกล้ไกล
ดึกยิ่งล้นหลามไหลถั่งสมทบ

ไพบูลย์ วงษ์เทศ

บทกวีของไพบูลย์เป็นงานชิ้นหนึ่งที่สะท้อนภาพการชุมนุมในเดือนพฤษภาคม (สารคดี มิถุนายน 2535:189) บทกวีน้ำค้างกลางถนนให้ภาพการชุมนุมครั้งนี้ว่า ประกอบไปด้วยคนที่มีสถานะ วัยวุฒิ ซึ่งแตกต่างกันอย่างชัดเจนดังจะเห็นได้ว่าผู้เข้าร่วมชุมนุมประกอบด้วย "ชนชั้นกลางล่างล่างต่ำ" ในด้านวัยวุฒิก็มีตั้งแต่เด็กเล็ก คนวัยทำงาน กระทั่งคนเฒ่าคนแก่

ภาพการชุมนุมของเดือนพฤษภาในลักษณะนี้ไม่ใช่สิ่งซึ่งเป็นที่คุ้นเคยกันในประวัติศาสตร์การเมืองไทยร่วมสมัย ภาพของการเคลื่อนไหวเดือนพฤษภาคมที่แพร่หลายอย่างกว้างขวางคือ ภาพของสิ่งที่เรียกว่าม็อบมือถือหรือม็อบชนชั้นกลาง อันประกอบไปด้วย "บุคคลที่เป็นนักบริหารอาชีพในภาคเอกชน หรือผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ เช่น แพทย์ พยาบาล ทนายความ สถาปนิก……. คนเหล่านี้ผูกเน็คไท ใส่สูท ถือโทรศัพท์เคลื่อนที่" (เอนก: 61)

ความหมายของการเคลื่อนไหวเดือนพฤษภาในลักษณะเช่นนี้ดูจะเป็นสิ่งที่รับรู้และยอมรับกันแพร่หลาย ซึ่งภายหลังจากเหตุการณ์นี้ชนชั้นกลางก็ได้กลายเป็นปัจจัยทางการเมืองที่สำคัญอีกประการหนึ่งต่อการวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย จนกระทั่งเกิดการจัดการสัมมนาเกี่ยวกับชนชั้นกลางขึ้นมาเป็นการเฉพาะภายหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 6 เดือน โดยศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมืองแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้จัด ภายใต้หัวข้อ "ชนชั้นกลางกับการพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศไทย" เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2535 ที่มีนักวิชาการเข้าร่วมอย่างคึกคัก (สังศิตและผาสุก: 8)

หรือแม้กระทั่งการวิเคราะห์การเคลื่อนไหวทางการเมืองไม่ว่าของพรรคการเมือง นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน ความสำคัญของชนชั้นกลางก็ไม่อาจถูกมองข้ามไปได้ ดังที่ผู้เขียนมักได้รับฟังคำอธิบายอยู่เสมอว่าการเคลื่อนไหวของชาวบ้านนั้น จำเป็นต้องรับฟังกระแสของคนชั้นกลางมาเป็นน้ำหนักต่อการตัดสินใจว่าจะทำหรือไม่ทำอะไรอยู่บ่อยครั้ง

ความแตกต่างของการให้ความหมายระหว่าง "กองพลชนชั้นกลางล่างล่างต่ำ" กับ "ม็อบมือถือ" ย่อมสะท้อนให้เห็นว่า ความเข้าใจที่มีต่อเดือนพฤษภาเป็นการสร้างความหมายระหว่างวาทกรรมที่ต่างชุดกันที่จบลงด้วยชัยชนะของคำอธิบายของม็อบมือถือ

อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ เคยเสนอว่าการต่อสู้ในเดือนพฤษภาคมมิใช่คนชั้นกลางหรือม็อบมือถืออย่างที่เข้าใจกัน หากแต่เนื้อแท้แล้วเป็นการต่อสู้ของคนจนแต่เมื่อประสบชัยชนะแล้วคนจนก็ถูกคนชั้นกลางปล้นชัยชนะไป (2543:5)

อย่างไรก็ตาม ในที่นี้ไม่ได้ต้องการพิสูจน์ว่าพฤษภาคมเป็นการต่อสู้ของของคนจนตามที่อรรถจักร์เสนอหรือไม่ แต่ผู้เขียนเห็นด้วยว่า ชนชั้นกลางเป็นผู้ที่ช่วงชิงความหมายของการเคลื่อนไหวเดือนพฤษภาไป และอยากเสนอให้เฉพาะเจาะจงลงไปว่าชนชั้นกลางในที่นี้คือ คนเดือนตุลา

ทั้งนี้เนื่องจากคำอธิบายเรื่องม็อบมือถือในการเคลื่อนไหวเดือนพฤษภาได้ถูกเชื่อมให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์เดือนตุลาด้วยคำอธิบายว่า ขบวนการนักศึกษาซึ่งสร้างประวัติศาสตร์แห่งเดือนตุลาคม 2516 และ2519 เป็นเสมือนภาพ "ตัวแทน" ของชนชั้นกลาง (เอนก: 61) ซึ่งต่อมา กลุ่มคนเหล่านี้ได้ก้าวเข้ามาเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในเหตุการณ์เดือนพฤษภา การอ้างอิงข้อมูลของสมาคมสังคมศาสตร์ที่สำรวจถึงภูมิหลังของม็อบมือถือยืนยันว่าคนที่มีช่วงอายุระหว่าง 30-39 ปี จัดเป็นกระดูกสันหลังของการชุมนุมประท้วงในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2535 และ "โดยคนกลุ่มนี้เป็นคนที่เคยเข้าร่วมการเคลื่อนไหวหรือเคยเป็นพยานประวัติศาสตร์ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 มาแล้ว"(เอนก: 127)

คำอธิบายในลักษณะนี้ทำให้ปรากฏการณ์ของม็อบมือถือเป็นหนังภาคต่อของเหตุการณ์เดือนตุลา ที่ผู้แสดงหลักตามโครงเรื่องยังเป็นคนกลุ่มเดิมที่เติบใหญ่ภายใต้บริบทของสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงไป

(ไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม เอนกซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทต่อการอธิบายโครงเรื่องเดือนพฤษภา ให้เข้าไปเป็นส่วนขยายของเหตุการณ์เดือนตุลาก็จัดว่าเป็นคนเดือนตุลาด้วยคนหนึ่ง โดยเอนกได้ศึกษาที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขณะที่ศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 4 ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. 2518-2519 หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา2519 ได้ไปศึกษาต่อทางด้านรัฐศาสตร์ที่สหรัฐอเมริกา)(เอนก: 149)

โครงเรื่องแห่งเดือนตุลาที่ขยายออกมาครอบคลุมเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ย่อมส่งผลให้การมองขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนจาก 14 ตุลาคม 2516, 6 ตุลาคม 2519 ถึงพฤษภาทมิฬเป็นกระบวนการที่สืบเนื่องกัน

การให้ความหมายกับปรากฏการณ์/กลุ่มคนต่างๆ ในทางสังคมมีความสำคัญอย่างไร ตัวอย่างจากมาเลเซีย อาจช่วยทำให้มองเห็นได้ว่าการสร้างความหมายขึ้นนั้นเป็นเรื่องที่สัมพันธ์กับอำนาจในทางสังคมอย่างแนบแน่น

ในประเทศมาเลเซีย นโยบายที่สำคัญประการหนึ่งของรัฐก็คือการให้สิทธิพิเศษกับชาวมาเลย์ (Malays) มากกว่าคนเชื้อสายอื่น โดยเป็นที่เรียกกันว่าภูมิบุตรา (bumibutra หรือผู้ที่เป็นบุตรของแผ่นดิน) การให้สิทธิพิเศษนี้มีผลให้กลุ่มคนที่ถูกจัดว่าเป็นบุตรของแผ่นดิน ได้รับสิทธิในด้านต่างๆ เช่น การเข้ารับราชการ โควต้าที่นั่งในมหาวิทยาลัย การได้รับใบอนุญาตในการประกอบธุรกิจ

แต่ว่ามีใครบ้างที่ถูกจัดว่าเป็นภูมิบุตราหรือบุตรของแผ่นดิน ความเข้าใจที่รับรู้กันโดยทั่วไปและมีผลในทางปฏิบัติจริงก็คือคนเชื้อสายมาเลย์ (The Malays) ที่เป็นกลุ่มเชื้อชาติซึ่งมีสัดส่วนมากที่สุดในจำนวนประชากรของมาเลเซีย คนกลุ่มนี้ถูกจัดว่าเป็นคนของแผ่นดิน นโยบายดังกล่าวถูกสร้างเพื่อต้องการย้ำให้เห็นว่าระหว่างคนเชื้อสายมาเลย์ กับคนเชื้อสายจีนและอินเดียนั้น คนมาเลย์เป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในดินแดนแถบคาบสมุทรมลายูมาก่อนอีกคนทั้งสองกลุ่ม การสร้างนโยบายเพื่อเลือกปฏิบัติโดยให้ความสำคัญกับคนมาเลย์ก่อนบนพื้นฐานของเหตุผลดังกล่าว ได้กลายเป็นฐานในการรองรับความชอบธรรมของนโยบายนี้มาจนกระทั่งปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม เอาเข้าจริงคนเชื้อสายมาเลย์เป็นภูมิบุตราจริงๆ หรือ?

เป็นข้อเท็จจริงซึ่งยอมรับกันโดยทั่วไปว่า ก่อนการก่อตัวของกลุ่มคนที่มีเชื้อสายมาเลย์ในคาบสมุทรมลายูเมื่อประมาณ 2,500 ปีที่ผ่านมา มีชนพื้นเมืองเป็นจำนวนมากดำรงชีวิตและแพร่กระจายทั่วไป ณ ดินแดนแถบนี้มาตั้งแต่เมื่อประมาณ 30,000-40,000 ปี ลูกหลานของชนพื้นเมืองอาจจำแนกได้เป็นพวก Negritos, Senois และ Proto-Malays (Baker: 22)

ชาว Negritos เป็นกลุ่มที่ดำรงอยู่มายาวนานที่สุด ในทางชาติพันธุ์ชนกลุ่มนี้มีสืบทอดลักษณะร่วมกับชาวปาปวนในหมู่เกาะ New Guinea และชาวพื้นเมืองในประเทศออสเตรเลีย ส่วน Senois และ Potro-Malays เป็นกลุ่มที่อพยพเข้ามาภายหลังโดยมีลักษณะทางภาษาและชาติพันธุ์ร่วมกับชาวมาเลย์ที่อาศัยตามแถบชายทะเล ทั้ง 3 กลุ่มถือว่าเป็นชนพื้นเมืองหรือในภาษามาเลย์เรียกว่า Orang Asli อันมีความหมายถึงชนที่อาศัยอยู่ในแผ่นดินแต่ดั้งเดิม

ถึงแม้จะเป็นข้อเท็จจริงทีไม่อาจปฏิเสธ แต่ในปัจจุบันนี้เมื่อกล่าวถึงภูมิบุตราในความหมายของกลุ่มชนอยู่ติดกับแผ่นดิน และควรได้รับการปฏิบัติเป็นพิเศษจากนโยบายรัฐกลับไม่ได้ครอบคลุมไปถึงชนพื้นเมืองแต่อย่างใด

ความหมายของภูมิบุตราจึงอาจจริงเมื่อเปรียบเทียบกับคนเชื้อสายจีนและชาวอินเดีย แต่ความหมายของภูมิบุตราอาจต้องสั่นคลอนเมื่อต้องเปรียบเทียบกับชนพื้นเมือง จึงเห็นได้ชัดว่า ภูมิบุตราเป็นการสร้างความหมายขึ้นเพื่อย้ำถึงสถานะของบุคคลบางกลุ่ม และกีดกันบุคคลบางกลุ่มออกไป และอำนาจในการนิยามนี้ก็ไม่จำต้องสัมพันธ์กับความจริงเสมอไป

เพราะฉะนั้น อำนาจของการสร้างความหมายจึงมีผลต่อการกำหนดถึงอัตลักษณ์และสถานะของบุคคลในทางสังคมอย่างสำคัญ การกำหนดสถานะของบุคคลว่าเป็นใครจึงไม่ได้เป็นเพียงการเรียกชื่อเท่านั้น หากยังเป็นการกำหนดถึงตำแหน่งแห่งที่หรือความสัมพันธ์โยงใยระหว่างตนเองกับคนกลุ่มอื่นๆ

เช่นเดียวกันความหมายที่เกิดขึ้นกับการเคลื่อนไหวเดือนพฤษภา ที่ถูกผนวกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเดือนตุลาก็ย่อมมีผลต่อสังคมการเมืองไทยด้วยเช่นกัน เมื่อพฤษภาทมิฬเป็นภาคต่อของเหตุการณ์เดือนตุลาก็ไม่มีความจำเป็นต่อคนที่นิยามตนเองว่า "คนเดือนตุลา" ในการแสวงหาพื้นที่ทางการเมืองใหม่ เนื่องจากสามารถมีพื้นที่ที่มั่นคงอยู่แล้วภายใต้ร่มเงาของความเป็นเพื่อนพ้องน้องพี่เดือนตุลา

ดังจะเห็นได้ว่าในแวดวงการเมือง นักธุรกิจ นักวิชาการ สื่อมวลชน องค์กรพัฒนาเอกชน หลายคนได้แสดงตนว่าเป็นหนึ่งในคนเดือนตุลา แม้ว่ากระทั่งบางคนที่อาจไม่มีใครนึกถึงอย่าง สุวัจน์ ลิปตพัลลภ ก็ยังสามารถเชื่อมโยงตนเองเข้ากับเหตุการณ์เดือนตุลาได้ ในฐานะที่เคยเข้าร่วมประท้วงด้วยการปั่นจักรยานจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มาที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย(มติชนรายวัน 21 มีนาคม 2545: 3) การอ้างอิงถึงความเป็นส่วนหนึ่งของคนเดือนตุลา จึงนับได้ว่าเป็นประกาศนียบัตรเพื่อรับรองถึงความเป็นคนมีอุดมการณ์ รักประชาธิปไตย รักประชาชนได้เป็นอย่างดี

คนที่หายไปในเดือนพฤษภา
อิทธิพลของคำอธิบายเรื่องม็อบมือถือทำให้กลุ่มคนอีกเป็นจำนวนมากที่มีบทบาทและได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ถูกมองข้าม บางกลุ่มก็แทบจะถูกลืมเลือนไปอย่างสิ้นเชิงภายหลังเดือนพฤษภา เช่น กลุ่มญาติธรรมของ พล.ต.จำลอง ที่เคยถูกประเมินจากกรุงเทพธรุกิจรายสัปดาห์ว่า เป็น 1 ใน 4 กลุ่มสำคัญของการชุมนุมทั้งด้านการเป็นแหล่งทุนและสวัสดิการ(อ้างในสารคดี มิถุนายน 2535:123) เมื่อนึกถึงพฤษภาในวันนี้มีใครยังพอจำได้ถึงคนกลุ่มนี้รวมถึงอีกหลายคนที่ต้องตกอยู่ในสถานะแบบเดียวกัน

ถึงแม้ว่าพฤษภาทมิฬจะตกอยู่ภายใต้ความหมายของม็อบมือถือ แต่ข้อเท็จจริงประการหนึ่งที่ยังช่วยยืนยันถึงการเคลื่อนไหวเดือนพฤษภาว่า มิใช่เป็นเพียงเรื่องของหนังเดือนตุลาภาคสองก็คือ รายละเอียดของผู้เสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บ ข้อมูลที่จัดทำขึ้นแสดงให้เห็นว่าส่วนใหญ่ของผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตเป็นบุคคลที่อยู่ในฐานะที่ต่ำกว่าคนชั้นกลาง และบางส่วนอาจไม่ได้เคยร่วมต่อสู้หรือเป็นพยานในประวัติศาสตร์ของเดือนตุลาเลย

100 วันหลังเหตุการณ์เดือนพฤษภา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดพิมพ์เอกสาร 100 วันวีรชนประชาธิปไตย สรุปรายงานผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ (17ราย) มีอาชีพรับจ้างเป็นช่าง เป็นพนักงานขายของและพนักงานให้บริการ 10 รายเป็นนักศึกษาและนักเรียน ค้าขาย 5 ราย กรรมกร 2 ราย ที่เหลือเป็นนักร้อง ข้าราชการ วิศวกร ครูและกำลังหางานทำอย่างละ 1 ราย(100 วันวีรชนประชาธิปไตย: 6) หรือกรณีของบุคคลที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ เช่น นายวสันต์ สุริยวงศ์ อายุ 27 ปีอาชีพรับจ้างทำรองเท้า ซึ่งหนีทหารเข้าไปในกรมประชาสัมพันธ์เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม โดนไฟไหม้บริเวณใบหน้า คอ แขน 2 ข้าง ขา 2 ข้าง นิ้วมือข้างซ้ายตัดทั้ง 3 นิ้ว นิ้วมือขวาตัด 4 นิ้ว ที่เหลือใช้งานไม่ได้ (100 วันวีรชนประชาธิปไตย: 10)

ผู้เขียนใคร่ย้ำไว้ ณ ที่นี้ว่าไม่ได้ต้องการเรียกร้องให้เกิด "คนเดือนพฤษภา" ขึ้นแต่ต้องการย้ำให้เห็นว่าคำอธิบายที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์พฤษภาทมิฬที่ ไม่เปิดพื้นที่ให้กับคนกลุ่มอื่นนอกเหนือชนชั้นกลาง คนเดือนตุลา เป็นการสร้างความหมายที่แฝงไว้ด้วยความรุนแรงรูปแบบหนึ่ง ดังจะเห็นได้ว่าคนที่ถูกลืมเลือนไป มีใครรู้บ้างว่าทุกวันนี้ฐานะความเป็นอยู่ ความรู้สึก ของบุคคลเหล่านี้ว่ามีสภาพอย่างไร

อาจนับเป็นข้อดีของโศกนาฏกรรมประการหนึ่งที่การเรียกร้องเรื่องการค้นหาศพของวีรชน (ผู้เสียชีวิต?) เดือนพฤษภายังไม่บรรลุตามวัตถุประสงค์ เนื่องจากมีอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่สามารถค้นพบศพญาติพี่น้องของตน ทำให้ทุกครั้งที่เดือนพฤษภาคมเวียนมาครบรอบก็จะมีเสียงเรียกร้องศพคืนจากบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเข่นฆ่า การเคลื่อนไหวนี้ในด้านหนึ่งแล้วก็เท่ากับเป็นการช่วยตอกย้ำให้คนในสังคมได้ระลึกอยู่ว่า พฤษภาทมิฬมิใช่เป็นเพียงเรื่องของคนเดือนตุลาเท่านั้น หากยังมีบุคคลกลุ่มอื่นๆ เข้าร่วมอยู่ด้วยและเป็นผู้ที่แบกรับความสูญเสียไว้ไม่น้อยเช่นกัน

บรรณานุกรม

หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน 21 มีนาคม 2545
สารคดี ฉบับเดือนมิถุนายน 2535
สารคดี ฉบับรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพ: โรงพิมพ์กรุงเทพ, 2541
100 วัน วีรชนประชาธิปไตย. โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2535
วิฑูรย์ ปัญญากุล บรรณาธิการ. หนังสือเนื่องในงานมหกรรมประชาชน, 2535
สังศิต พิริยะรังสรรค์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร บรรณาธิการ พิมพ์ครั้งที่ 2. ชนชั้นกลางบนกระแสประชาธิปไตยไทย. ศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2536
เอนก เหล่าธรรมทัศน์. ม็อบมือถือ ชนชั้นกลางและนักธุรกิจกับพัฒนาการประชาธิปไตย. กรุงเทพ: สำนักพิมพ์มติชน. 2536
อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์. ความเปลี่ยนแปลงของการเมืองภาคประชาชน เอกสารประกอบการสัมมนาทางวิชาการของคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประจำปี 2543
Baker, Jim. Crossroads: A Popular History of Malaysia, Singapore. Kuala Lumpur: Times Book International, 2000

 

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา I webboard

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้

1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด หรือ Ctrl + A
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V จะได้ข้อมูลมา ซึ่งยอหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ


 

 

ชื่อต้นฉบับบทความ"เงาคนเดือนตุลาในพฤษภาทมิฬ" ความยาวประมาณ 9 หน้ากระดาษ A4

ปริศนาแห่งตุลาคมและพฤษภาคม
เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2545 เป็นห้วงระยะเวลาครบครอบ 10 ปี ของเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ สามารถกล่าวได้ว่านับตั้งแต่ภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าว การเคลื่อนไหวเดือนพฤษภาได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองไทยร่วมสมัย ในฐานะเป็นเหตุการณ์ที่มีความสำคัญเหตุการณ์หนึ่ง

โดยเฉพาะในแง่มุมการเคลื่อนไหวของประชาชนเพื่อต่อต้านกับอำนาจเผด็จการที่ไม่ชอบธรรม ดังจะเห็นได้ว่า เมื่อมีการเอ่ยถึงการเคลื่อนไหวของประชาชนครั้งสำคัญ ที่เดิมมีการกล่าวถึงเฉพาะเพียงเหตุการณ์เดือนตุลา แต่ปัจจุบันหากต้องการกล่าวถึงการเคลื่อนไหวของประชาชนก็ต้องเรียงลำดับจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516, 6 ตุลาคม 2519 และไล่เรียงมาถึงพฤษภาทมิฬ 2535 ดังการตีพิมพ์หนังสือสารคดีฉบับพิเศษ รวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย ซึ่งเป็นรวบรวมเหตุการณ์ทั้งสามไว้ในหนังสือฉบับเดียวกัน โดยได้มีคำโปรยว่าเป็นการ "รวมเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์การเมืองไทย" (กรุงเทพ: โรงพิมพ์กรุงเทพ, 2541) หรือในวิดีโอ ซีดี "บันทึกเมืองไทย" (บริษัท บีเคพี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผลิตและจัดจำหน่าย วันที่ผลิต ตุลาคม 2544) ที่มีคำบรรยายหน้าปกว่า "บันทีกจากเหตุการณ์จริง 14 ตุลา สงครามปัญญาชน" ก็ได้มีคำบรรยายรายละเอียดเพิ่มขึ้นว่า "14 ตุลา 2516, 6 ตุลา 2519, พฤษภาทมิฬ 2535 ลำดับเหตุการณ์ตั้งแต่ พ.ศ. 2500-2535"