Why
Socialism? ทำไมต้องสังคมนิยม
by Albert Einstein
แปลและเรียบเรียงโดย : สมเกียรติ ตั้งนโม
คำนำ
เมื่อประมาณ 50 ปีที่แล้ว อัลเบริท ไอน์สไตน์ ได้เขียนบทความนี้ขึ้นมาให้กับนิตยสาร
Monthly Review (1949) เพื่อสะท้อนความรู้สึกเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจของลัทธิทุนนิยมในตะวันตก
ซึ่งได้ก่อให้เกิดความแตกแยกของสังคมออกเป็นชิ้นๆ จนถึงระดับปัจเจก. ผลพวงดังกล่าวนี้
เกิดขึ้นมาจากการแข่งขันและการเล็งผลเลิศไปที่กำไรเป็นสำคัญ ทำให้ปัจเจกชนขาดสำนึกที่มีต่อสังคม
แม้กระทั่งต่อกลุ่มที่ตนสังกัด
นอกจากนี้ เขายังสะท้อนให้เห็นถึงกลุ่มทุน และนายทุนเอกชน ผู้ซึ่งครอบครองเครื่องมือและปัจจัยการผลิต ที่พยายามเอาเปรียบบรรดาคนงานทั้งหลาย โดยหวังเพียงผลกำไรของตนเป็นสำคัญ อีกทั้งโรงเรียนต่างๆก็มุ่งสร้างคนเข้าสู่ระบบทุนนิยมนี้ ปลูกฝังทัศนะคติเกี่ยวกับการแข่งขัน โดยปราศจากความสำนึกทางศีลธรรม
และเมื่อมองไปที่ระบบการเมือง พรรคการเมืองส่วนใหญ่ก็ถูกนายทุนเอกชนเข้ามามีอิทธิพลครอบงำ ทำให้ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงไม่สามารถเลือกตัวแทนผลประโยชน์ของตนเองเข้าไปแก้ปัญหาความทุกข์ยากของตัวเองได้
ไอน์สไตน์ได้เสนอทางออกของวิกฤตสังคม โดยนำเอาลัทธิสังคมนิยมมาพิจารณา ซึ่งในเวลานั้นถือเป็นเรื่องต้องห้าม(taboo) เขาได้มองเห็นคุณความดีของระบอบสังคมนิยม ที่มุ่งกระทำเพื่อสังคมและชุมชนมากกว่าที่จะเล็งผลสำเร็จไปที่ตัวปัจเจกชน มองระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมที่คำนึงถึงภาคแรงงานและการผลิต เพื่อประโยชน์ที่แท้จริงมากกว่าคำนึงผลกำไรและการผลิตสินค้าอันไม่จำเป็น
การนำเสนอสิ่งเหล่านี้เป็นการเสนอแนวคิดข้ามขอบเขตความรู้ของตนเองไปสู่สาขาเศรษฐศาสตร์ ดังนั้น การเริ่มต้นบทความชิ้นนี้ ไอน์สไตน์จึงให้เหตุผลกับผู้อ่าน อีกทั้งเป็นการสร้างฐานของความชอบธรรมขึ้นสำหรับตนเอง เพื่อเสนอความคิดเห็นส่วนตัวต่อมาตามลำดับ และในท้ายที่สุด เขามาจบลงที่การชื่นชมต่อนิตยสาร monthly Review ที่เป็นเวทีให้กับการถกเถียงกันในประเด็นเกี่ยวกับสังคมนิยมในโลกตะวันตก
This
essay was originally published in the first issue of Monthly Review (May 1949).
บทความนี้ แรกทีเดียวได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสาร Monthly Review (พฤษภาคม 1949)
คำถามมีว่า คนๆหนึ่งสามารถจะให้คำแนะนำ และแสดงทัศนะในเรื่องของสังคมนิยมออกมาได้ไหม, ทั้งๆที่คนๆนั้นไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญในประเด็นปัญหาทางด้านเศรษฐกิจและสังคมแต่อย่างใดเลย ? สำหรับข้าพเจ้าแล้ว มีเหตุผลมากมายที่จะตอบว่า เขาคนนั้นสามารถที่จะทำเช่นนั้นได้
ประการแรก ขอให้ข้าพเจ้าพิจารณาถึงคำถามข้างต้น จากแง่คิดหรือความเห็นทางความรู้ที่เป็นวิทยาศาสตร์ก่อน.
ดังที่ปรากฎ อาจมองได้ว่า โดยสาระแล้ว มันไม่มีความแตกต่างกันในระเบียบวิธีการเลยระหว่าง ดาราศาสตร์ และ เศรษฐศาสตร์: นั่นคือ ในขอบเขตความรู้ทั้งสองสายนี้ บรรดานักวิทยาศาสตร์และนักวิชาการทั้งหลาย ต่างพยายามที่จะค้นหากฎเกณฑ์ต่างๆของการเป็นที่ยอมรับได้ทั่วๆไป สำหรับกลุ่มของปรากฎการณ์ที่มีขอบเขตกำหนดอันหนึ่ง เพื่อที่จะสร้างความเชื่อมโยงกันเกี่ยวกับปรากฏการณ์ต่างๆเหล่านี้ขึ้นมา ให้สามารถเข้าใจได้อย่างชัดเจนเท่าที่จะเป็นไปได้. แต่ในความเป็นจริง ความแตกต่างกันในเรื่องวิธีการนั้น แน่นอน มันมีอยู่อย่างไม่อาจปฏิเสธได้.
สำหรับการค้นหากฎเกณฑ์ต่างๆในขอบเขตหรือความรู้ทางด้านเศรษฐศาสตร์ ถูกทำให้ยุ่งยากขึ้นมาโดยสภาวการณ์ที่ว่า ปรากฎการณ์ที่ได้รับการสังเกตทางเศรษฐกิจนั้น บ่อยครั้ง ได้รับผลกระทบจากเงื่อนไขหรือปัจจัยต่างๆมากมาย ซึ่งยากมากที่จะประเมินออกมาได้ในลักษณะที่แยกส่วนหรือเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในตัวของมันเอง.
อีกประการหนึ่ง ประสบการณ์ซึ่งได้มีการสะสมเพิ่มพูนขึ้นมา นับจากการเริ่มต้นของสิ่งที่เรียกว่า "ยุคอารยธรรมในประวัติศาสตร์ของมนุษย์" นั้น - อย่างที่พวกเรารู้กัน - ได้รับอิทธิพลอย่างมาก และถูกวางข้อจำกัดเอาไว้โดยมูลเหตุต่างๆหรือที่มา ซึ่งไม่ได้เป็นเรื่องของเศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียวโดดๆแต่อย่างใด.
ยกตัวอย่างเช่น รัฐที่สำคัญๆส่วนใหญ่ในประวัติศาสตร์ ต่างเป็นหนี้บุญคุณในการดำรงอยู่ของพวกมัน ด้วยการพิชิตหรือการได้ชัยชนะผู้อื่นมา. ผู้คนที่ได้ชัยชนะทั้งหลายได้สถาปนาตัวของพวกเขาเองขึ้น, ทั้งทางด้านกฎหมายและทางเศรษฐกิจ, ในฐานะที่เป็นชนชั้นพิเศษหรืออภิสิทธิ์ชนของประเทศที่พ่ายแพ้. พวกเขาได้ยึดครองผืนแผ่นดินในฐานะผู้เป็นเจ้าของแบบผูกขาด และได้แต่งตั้งตำแหน่งพระหรือตัวแทนศาสนาขึ้นมาท่ามกลางหมู่พวกเขา. บรรดาพระและตัวแทนทางศาสนา ได้เข้ามาควบคุมเรื่องของการศึกษา, ทำการแบ่งแยกชนชั้นต่างๆในสังคมออกจากกัน โดยการสถาปนาสถาบันที่มั่นคงขึ้น และได้สร้างระบบคุณค่าอันหนึ่งมารองรับ โดยที่ผู้คนจำนวนมากไม่ทันรู้ตัวหรือสำนึกมาก่อน, ทั้งนี้เพื่อคอยเป็นแนวนำทางต่อพฤติกรรมต่างๆทางสังคมของพวกเขา.
แต่ขนบจารีตทางประวัติศาสตร์ ดังที่กล่าว ของเมื่อวันวาน; จริงๆแล้ว ไม่มีอะไรเลยที่เราพิชิตหรือเอาชนะ ดังที่ Thorstein Veblen (1857-1929) เรียกว่า "ช่วงของการปล้นชิงหรือเบียดเบียนกัน"ในพัฒนาการของมนุษย์("the predatory phase" of human development). ข้อเท็จจริงต่างๆที่น่าสังเกตุในทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องของช่วงตอนดังกล่าว และแม้แต่กฎเกณฑ์ต่างๆอันนั้น ดังที่เราได้สืบทอดมาจากพวกเขา ก็ไม่อาจนำมาใช้กับช่วงตอนอื่นๆได้.
โดยเหตุที่จุดประสงค์ที่แท้จริงของสังคมนิยมเป็นที่ประจักษ์ว่า ชัยชนะและความก้าวหน้า มันอยู่เลยไปจากช่วงตอนของการปล้นชิงในพัฒนาการของมนุษย์, ดังนั้น ศาสตร์ทางเศรษฐกิจในรัฐที่มีอยู่ สามารถที่จะทอดความสว่างได้เพียงเล็กๆน้อยๆเท่านั้น ลงไปบนสังคมที่ยึดถือแนวทางสังคมนิยมแห่งอนาคต. กล่าวให้ง่ายก็คือ เศรษฐกิจในแบบปล้นชิงหรือเบียดเบียนนั้น มันล้าหลังไปกว่าแนวทางของสังคมนิยมนั่นเอง.
ประการที่สอง, สังคมนิยมได้ถูกกำกับทิศทางให้หันเข้าสู่เป้าหมายทางด้านจริยธรรมทางสังคม. แต่อย่างไรก็ตาม วิทยาศาสตร์, ไม่สามารถสร้างเป้าหมายต่างๆ, หรือแม้แต่ค่อยๆทำให้มันซึมซาบเข้าไปในตัวมนุษย์ได้; วิทยาศาสตร์, อย่างมากที่สุดก็เพียง จัดหาวิธีการซึ่งจะทำให้บรรลุถึงเป้าหมายต่างๆได้บ้าง. สำหรับเป้าหมายต่างๆ ในตัวของมันเองนั้น ได้ถูกนึกคิดหรือเข้าใจโดยบุคลิกภาพต่างเกี่ยวกับอุดมคติที่สูงตระหง่านทางจริยธรรม และ - ถ้าหากว่าเป้าหมายเหล่านี้ไม่เป็นหมัน, แต่มีชีวิตและกระฉับกระเฉง - ได้ถูกรับเอามา และอุ้มชูต่อไปโดยผู้คนเป็นจำนวนมากเหล่านั้น, มันก็จะมากำหนดวิวัฒนาการที่เป็นไปอย่างช้าๆของสังคม จนแทบจะไม่ทันรู้สึกตัว
กับเหตุผลข้างต้นเหล่านี้, เราควรที่จะพิทักษ์ตัวของเรา ไม่ใช่เพื่อประเมินวิทยาศาสตร์และระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์เอาไว้สูงเกินไป เมื่อมันเป็นคำถามหนึ่งของปัญหาต่างๆของมนุษย์; และเราไม่ควรจะทึกทักไปว่า ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายเป็นบุคคลเพียงคนเดียว ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิที่จะแสดงตัวของพวกเขาเองต่อคำถามต่างๆที่มีผลกระทบต่อองค์ระบบของสังคม.
เสียงของผู้คนจำนวนนับไม่ถ้วนต่างยืนยันเป็นครั้งคราวในตอนนี้ว่า สังคมมนุษย์กำลังผ่านไปสู่ช่วงวิกฤตหนึ่ง, ซึ่งความมั่นคงของมันนั้นได้ถูกทำให้แตกออกเป็นชิ้นๆอย่างรุนแรง. มันเป็นลักษณะเฉพาะอันหนึ่งของสถานกาณ์ที่ปัจเจกชนแต่ละคนต่างรู้สึกเมินเฉยหรือไม่แยแส หรือแม้แต่เป็นปรปักษ์กับกลุ่ม, ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่, ซึ่งพวกเขาสังกัดอยู่. เพื่อที่จะแสดงความหมายของข้าพเจ้าขึ้นมาเป็นภาพ, ขอให้ข้าพเจ้าบันทึกประสบการณ์ส่วนตัวอันหนึ่งลงในที่นี้.
เมื่อเร็วๆนี้ ข้าพเจ้าได้พูดคุยกับคนที่เฉลียวฉลาดและเป็นมิตรที่ดีคนหนึ่ง เกี่ยวกับเรื่องการคุกคามของสงครามอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งในความเห็นของข้าพเจ้า มันจะเป็นสงครามที่ก่อให้เกิดอันตรายที่รุนแรงและจริงจังต่อการดำรงอยู่ของมนุษยชาติ และข้าพเจ้าตั้งข้อสังเกตว่า จะมีเพียงองค์กรที่อยู่เหนือชาติต่างๆเท่านั้น(supra-nation organization)ที่จะให้การปกป้องจากภัยและอันตรายนี้ได้.
แต่พื่อนของข้าพเจ้า, ได้กล่าวกับข้าพเจ้าด้วยความสงบและเยือกเย็นว่า: "ทำไมคุณจึงรู้สึกเป็นปรปักษ์อย่างลึกซึ้งต่อการสูญสิ้นเผ่าพันธุ์มนุษย์ล่ะ ?"
ข้าพเจ้ามั่นใจว่า น้อยมากเท่าๆกับศตวรรษที่ผ่านมา ที่จะมีใครพูดออกมาในลักษณะแบบนี้. มันเป็นถ้อยคำของคนๆหนึ่ง ซึ่งพยายามมุ่งมั่นอย่างไร้ประโยชน์ ที่จะบรรลุถึงดุลยภาพอันหนึ่งภายในตัวของเขาเอง และสูญสิ้นความหวังเกี่ยวกับความต่อเนื่องไปแล้ว ไม่มากก็น้อย. มันเป็นการแสดงออกของความโดดเดี่ยวอันเจ็บปวด และการแยกตัวออกไปจากผู้คนจำนวนมากที่กำลังเป็นทุกข์ในวันเวลาเหล่านี้.
คำถามก็คือ อะไรคือสาเหตุเหล่านี้ ? และมันมีทางออกสำหรับเรื่องนี้ไหม ?
มันง่ายที่จะตั้งคำถามต่างๆขึ้นมา, แต่ยากที่จะตอบคำถามเหล่านั้นออกมา ในระดับที่มีความมั่นใจ. แต่อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าจะพยายามลองดู ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ แม้ว่า ข้าพเจ้าจะสำนึกเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่ว่า ความรู้สึกของพวกเราและความมุ่งมั่น บ่อยครั้ง เป็นสิ่งที่ขัดแย้งกันและคลุมเครือ และนั่นทำให้พวกมันไม่สามารถที่จะได้รับการแสดงออกมาได้ง่ายๆและมีสูตรสำเร็จ
อย่างที่เห็นพ้องต้องกัน มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่โดดเดี่ยวและเป็นสัตว์สังคมในเวลาเดียวกัน.
ในฐานะสิ่งมีชีวิตที่โดดเดี่ยว เขาพยายามที่จะปกป้องการดำรงอยู่ของเขา และบุคคลทั้งหลายซึ่งมีความใกล้ชิดกับเขาที่สุด เขาจะชดเชยความปรารถนาส่วนตัวต่างๆของเขา และจะพัฒนาความสามารถภายในต่างๆของตัวเองขึ้นมา.
ส่วนในฐานะสัตว์สังคม เขาแสวงหาที่จะบรรลุถึงการยอมรับและการเป็นที่ชื่นชอบของเพื่อนมนุษย์, เพื่อปันส่วนความพอใจของพวกเขา เพื่อคอยปลอบโยนในความเศร้าโศกของพวกเขา และเพื่อปรับปรุงเงื่อนไขเกี่ยวกับชีวิตของพวกเขา.
การมีอยู่เกี่ยวกับความผันผวนเหล่านี้(มนุษย์ในฐานะปัจเจกและในฐานะสัตว์สังคม), มันขัดแย้งกันบ่อยๆ พวกเขามุ่งมั่นและพยายามที่จะให้เหตุผล หรือคำอธิบายเกี่ยวกับลักษณะเฉพาะพิเศษของมนุษย์, และการรวมตัวกันโดยเฉพาะที่มากำหนดขอบเขตซึ่ง ปัจเจกชนคนหนึ่ง สามารถบรรลุถึงดุลยภาพภายในได้ ในเวลาเดียวกันก็สามารถส่งเสริมไปสู่การดำรงอยู่ที่ดีของสังคมได้เช่นกัน.
มันเป็นไปได้ทีเดียวที่ว่า ความเข้มแข็งในเชิงสัมพัทธ์เกี่ยวกับแรงขับทั้งสองอันนี้ โดยหลักแล้ว ได้ถูกกำหนดโดยการรับทอดสืบช่วงลงมา. แต่บุคลิกภาพ ในท้ายที่สุดนั้นดังที่ปรากฏ ส่วนใหญ่แล้ว ได้รับการก่อตัวขึ้นมาโดยสภาพแวดล้อม ซึ่งมนุษย์บังเอิญไปค้นพบตัวเขาในช่วงระหว่างพัฒนาการของตัวเอง โดยโครงสร้างของสังคมซึ่งเขาได้เติบโตขึ้น, โดยขนบประเพณีของสังคม, และโดยลักษณะการประเมินเกี่ยวกับแบบฉบับเฉพาะของพฤติกรรม.
แนวคิดนามธรรมคำว่า"สังคม" มีความหมายต่อมนุษย์ในฐานะปัจเจกชน กล่าวคือ มันเป็นผลรวมเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทั้งโดยตรงและโดยอ้อมของเขา ที่มีต่อคนร่วมยุคร่วมสมัย และผู้คนทั้งหมดของคนในรุ่นก่อนหน้าเขา. ปัจเจกชนสามารถที่จะคิด รู้สึก ดิ้นรนต่อสู้ และทำงานโดยตัวของเขาเอง; แต่แต่เขาก็ขึ้นอยู่กับหรือต้องพึ่งพาสังคมมากมาย - ทั้งทางด้านกายภาพ, สติปัญญา และการมีอยู่เกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึกของเขา - ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะคิดถึงเขา หรือเข้าใจเขา โดยอยู่ภายนอกกรอบหรือขอบเขตของสังคมได้.
มันคือ"สังคม"ซึ่งได้ตระเตรียมหรือจัดหาอาหารมาให้กับมนุษย์, เสื้อผ้า บ้าน เครื่องมือการทำงาน ภาษา รูปแบบต่างๆทางความคิด และส่วนใหญ่เกี่ยวกับเนื้อหาของความคิด; เป็นไปได้ว่า ชีวิตของเขาได้รับการสร้างขึ้นมา โดยผ่านแรงงานและความสำเร็จของผู้คนทั้งในอดีตและปัจจุบันนับเป็นล้านๆคน ผู้ซึ่งทั้งหมด ซ่อนอยู่เบื้องหลังคำๆเล็กๆคำหนึ่งที่ออกเสียงว่า"สังคม"
ด้วยเหตุนี้ มันจึงเป็นที่ชัดแจ้งว่า การพึ่งพาอาศัยของปัจเจกชนต่อสังคมนั้น คือข้อเท็จจริงอันหนึ่งเกี่ยวกับธรรมชาติ ซึ่งไม่สามารถที่จะลบล้างไปได้ - เทียบกันกับกรณีของมดและผึ้ง. แต่อย่างไรก็ตาม ขณะที่ทั้งหมดเกี่ยวกับกระบวนการชีวิตของมดและผึ้งนั้น ได้ถูกกำหนดลงไปในรายละเอียดที่เล็กที่สุดโดยความเข้มงวด เป็นมรดกตกทอดในระดับสัญชาตญาน, แต่แบบแผนทางสังคมและความสัมพันธ์ที่มีต่อกันของมนุษย์ กลับเป็นเรื่องที่ผันแปรและอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลง และไม่ใช่เรื่องของสัญชาตญานโดยลำพัง.
ความทรงจำ, ความสามารถที่จะรวมตัวกันใหม่, พรสวรรค์เกี่ยวกับการสื่อสารกันได้ด้วยปาก ได้ทำให้มีความเป็นไปได้ในการพัฒนาต่างๆท่ามกลางหมู่มนุษย์ทั้งหลาย ซึ่งไม่ได้ถูกบงการโดยความจำเป็นทางชีววิทยา. พัฒนาการต่างๆนั้น แสดงตัวของมันเองออกมาในขนบประเพณีต่างๆ สถาบัน และองค์กรทั้งหลาย; ทั้งในวรรณคดี; ในความสำเร็จทางด้านวิทยาศาสตร์ และวิศวกรรม ฯลฯ; และรวมไปถึงผลงานทางศิลปะ.
ในด้านหนึ่งนั้น อันนี้ได้อธิบายว่า ทำไมจึงปรากฏว่ามนุษย์สามารถที่จะมีอิทธิพลต่อชีวิตของเขาโดยผ่านการประพฤติการปฏิบัติของตนเอง, และในกระบวนการความคิดที่มีสำนึกอันนี้ และความต้องการ สามารถแสดงบทบาทอันหนึ่งออกมาได้.
มนุษย์เรียนรู้มาตั้งแต่เกิด โดยผ่านการถ่ายทอดทางพันธุกรรม มันเป็นอุปนิสัยในทางชีววิทยาที่พวกเขาต้องคำนึงถึง ซึ่งได้ถูกกำหนดมาและไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้, รวมถึงแรงกระตุ้นโดยธรรมชาติซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของเผ่าพันธุ์มนุษย์. นอกจากนี้ ช่วงระหว่างที่มีชีวิต เขาได้เรียนรู้สิ่งสร้างทางวัฒนธรรมต่างๆ ซึ่งได้รับมาจากสังคม โดยผ่านการสื่อสาร และผ่านแบบฉบับอื่นๆมากมายของอิทธิพลโน้มน้าวต่างๆ.
ด้วยสิ่งสร้างทางวัฒนธรรมนี้ โดยข้ามผ่านกาลเวลา มันทำหน้าที่รับภาระต่อการเปลี่ยนแปลง และได้มากำหนดขอบเขตอย่างกว้างขวางต่อความสัมพันธ์กันระหว่าง "ปัจเจกชน" กับ "สังคม". มานุษยวิทยาสมัยใหม่ได้สอนพวกเรา โดยผ่านการสืบค้นเชิงเปรียบเทียบเกี่ยวกับสิ่งที่ได้รับการเรียกขานว่า วัฒนธรรมดึกดำบรรพ์ต่างๆ(primitive cultures), จากการค้นคว้าดังกล่าวได้บอกกับเราว่า พฤติกรรมทางสังคมของมนุษย์อาจมีความแตกต่างหรือผิดแผกจากกันได้อย่างกว้างขวาง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแบบแผนทางวัฒนธรรมที่มาชักชวนหรือครอบงำ และแบบฉบับขององค์กรซึ่งมีอิทธิพลเหนือกว่าในสังคม.
มันเป็นเพราะอันนี้ที่ทำให้คนเหล่านั้น ผู้ซึ่งกำลังดิ้นรนที่จะปรับปรุงผู้คนจำนวนมาก ตระหนักดีว่า มนุษย์ไม่ควรที่จะถูกประณามหรือตำหนิ เนื่องจากสิ่งสร้างทางชีววิทยาของพวกเขา, ต่อการทำลายล้างกันและกัน หรือมีความรู้สึกเมตตาต่อความทารุณโหดร้าย, และเคราะห์กรรมของตนเอง.
ถ้าหากว่าเราถามตัวเองว่า ทำไมโครงสร้างของสังคมและท่าทีทางวัฒนธรรมของมนุษย์ จึงควรที่จะได้รับการเปลี่ยนแปลงไป เพื่อที่จะทำให้ชีวิตมนุษย์มีความพึงพอใจเท่าที่จะเป็นไปได้, เราควรที่จะสำนึกอยู่เสมอเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่ว่า มันมีเงื่อนไขบางอย่าง ซึ่งเราไม่สามารถที่จะแก้ไขได้. ดังที่กล่าวเอาไว้แล้วก่อนหน้านั้น, ธรรมชาติทางชีววิทยาของมนุษย์ สำหรับวัตถุประสงค์ในทางปฏิบัติ ธรรมชาติในส่วนนี้ไม่ขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลง.
นอกจากธรรมชาติทางชีววิทยาของมนุษย์แล้ว ในอีกด้านหนึ่ง พัฒนาการทางเทคโนโลยีและสถิติประชากรในไม่กี่ศตวรรษหลังมานี้ ได้สร้างเงื่อนไขต่างๆซึ่ง ในที่นี้ยังคงยืนหยัดอยู่ กล่าวคือ จำนวนประชากรที่ตั้งรกรากค่อนข้างหนาแน่นมีความสัมพัทธ์กับจำนวนสินค้า ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อการดำรงอยู่ต่อมาของพวกเขา, การแบ่งแยกอย่างสุดขั้วเกี่ยวกับแรงงาน และเครื่องมือการผลิตที่รวมศูนย์ คือสิ่งจำเป็นอย่างเบ็ดเสร็จ.
วันเวลา - ซึ่งมองย้อนกลับไป ที่ดูเหมือนว่าค่อนข้างจะงดงาม - มันได้สูญสลายหายไปตลอดกาล เมื่อปัจเจกชนแต่ละคน หรือคนกลุ่มเล็กๆ สามารถที่จะพึ่งพาตนเองได้. มันอาจเป็นเพียงการพูดที่เกินความเป็นจริงไปเล็กๆน้อยก็ได้ที่ว่า มนุษยชาติ, นับถึงปัจจุบัน, ได้สร้างชุมชนโลกอันหนึ่งของการผลิตและการบริโภคขึ้นมา
มาถึงตรงนี้ ก็มาถึงจุดที่ข้าพเจ้าอาจต้องชี้แจงให้ทราบเพียงสั้นๆถึงสิ่งที่ได้ทำขึ้นมา เกี่ยวกับสาระสำคัญของวิกฤตการในยุคสมัยของเรา ที่มันไปเกี่ยวพันกับความสัมพันธ์ของ"ปัจเจกบุคคล"กับ"สังคม". ปัจเจกชนเริ่มมีสำนึกมากขึ้นกว่าที่เคยเกี่ยวกับการที่ต้องพึ่งพาอาศัยสังคม. แต่เขาไม่ได้มีประสบการณ์กับการต้องพึ่งพาอาศัยอันนี้ในด้านบวก, ในฐานะความผูกพันในด้านองค์ประกอบ, ในฐานะอำนาจการปกป้อง, แต่ค่อนข้างจะเป็นไปในฐานะการคุกคามอันหนึ่งต่อสิทธิโดยธรรมชาติของตัวเขา หรือแม้กระทั่งการดำรงอยู่ทางเศรษฐกิจของตัวเขา.
ยิ่งไปกว่านั้น, สถานะของเขาในสังคม แรงขับในการยึดถืออัตตาตนเองของการสร้างตัวเขาขึ้นมา ได้รับการเน้นย้ำอยู่อย่างสม่ำเสมอ, ในขณะที่แรงขับทางสังคมของเขา ซึ่งโดยธรรมชาติอ่อนแอกว่า, เสื่อมทรามลงไปเรื่อยๆ. มนุษย์ทั้งหมด ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะใดก็ตามในสังคม กำลังทุกข์ทรมานจากกระบวนการความเสื่อมทรามลงไปอันนี้.
บรรดาคนคุกทั้งหลาย ที่ไม่รู้ตัวว่ากำลังติดตรึงอยู่ในกรงขังอัตตานิยมของตนเองนี้ พวกเขารู้สึกไม่ปลอดภัยและไม่มีความมั่นคง เปล่าเปลี่ยว และถูกคร่าเอาความไร้เดียงสาไป ปราศจากความเรียบง่าย และไร้ความสุขในชีวิตที่ไม่จำต้องเป็นผู้ช่ำชอง. มนุษย์สามารถค้นหาความหมายในชีวิตได้, แม้จะสั้นๆและมีอันตรายดั่งที่มันเป็น, เพียงผ่านการอุทิศตัวของเขาเองให้กับสังคม.
อนาธิปไตยทางเศรษฐกิจของสังคมทุนนิยมดังที่มีดำรงอยู่ในทุกวันนี้ ในความเห็นของข้าพเจ้า มันคือต้นตอกำเนิดที่แท้จริงของความชั่วร้าย. เราได้เห็นชุมชนขนาดใหญ่ตรงหน้าเรา ชุมชนของผู้ทำการผลิต สมาชิกของสิ่งซึ่งกำลังดิ้นรนต่อสู้อย่างไม่หยุดยั้ง ที่จะกีดกันหรือแย่งชิงกันและกันเกี่ยวกับผลพวงของแรงงานรวมของพวกเขา - ซึ่งไม่ได้โดยการใช้กำลัง แต่โดยการยินยอมด้วยศรัทธาทั้งหมดที่มีต่อกฎเกณฑ์ต่างๆที่ได้รับการสถาปนาขึ้นมาโดยกฎหมาย.
ในแง่มุมอันนี้, มันเป็นสิ่งที่สำคัญซึ่งควรจะตระหนักว่า ปัจจัยการผลิต - กล่าวคือ, สมรรถนะหรือความสามารถทางการผลิตทั้งหมดนั้น เป็นที่ต้องการเพื่อผลิตสินค้าในการบริโภค เช่นเดียวกับ สินค้าทุนที่เพิ่มขึ้น - ซึ่งในทางกฎหมาย, ส่วนใหญ่แล้ว, จะเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของปัจเจกบุคคลทั้งหลาย.
สำหรับจุดมุ่งหมายเพื่อให้ง่ายสำหรับผู้อ่าน, ในการสนทนากันที่จะตามมานั้น ข้าพเจ้าอย่างจะเรียกคนกลุ่มหนึ่งว่า"บรรดาคนงานทั้งหลาย" ซึ่งหมายความถึงผู้คนทั้งหมดเหล่านั้น ที่ไม่ได้มีส่วนร่วมปันในความเป็นเจ้าของเกี่ยวกับเครื่องมือหรือปัจจัยการผลิตเลย - แม้ว่าอันนี้จะไม่ลงรอยสอดคล้องกับการใช้ศัพท์คำนี้กันอยู่ตามธรรมเนียมเท่าใดนักก็ตาม.
การเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต(ทุน)ซึ่งในฐานะหนึ่งนั้น ได้ซื้อพลังแรงงานของบรรดาคนงานทั้งหลาย. โดยการใช้ปัจจัยการผลิต, บรรดาคนงานทั้งหลายได้ผลิตสินค้าใหม่ๆออกมา ซึ่งได้กลายเป็นสมบัติของนายทุน. จุดสำคัญเกี่ยวกับกระบวนการอันนี้ คือความสัมพันธ์กันระหว่างสิ่งที่บรรดาคนงานทั้งหลายผลิต กับ สิ่งที่พวกเขาต้องจ่าย, ทั้งคู่ถูกนำมาวัดในเทอมต่างๆของมูลค่าที่แท้จริง.
ภายใต้ขอบเขตสัญญาหรือข้อตกลงด้านแรงงานที่"เป็นอิสระ", สิ่งที่บรรดาคนงานได้รับและได้ถูกกำหนด ไม่ใช่โดยมูลค่าที่แท้จริงของสินค้าที่เขาผลิต, แต่โดยความต้องการต่างๆของเขาที่น้อยที่สุด และโดยความต้องการของบรรดานายทุน สำหรับพลังแรงงานในความสัมพันธ์กับจำนวนคนงานทั้งหลายที่แข่งขันกันเพื่องานต่างๆ. มันเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะเข้าใจว่า แม้แต่ในทางทฤษฎี ค่าทดแทนหรือค่าจ้างของคนงานทั้งหลาย ไม่ได้ถูกกำหนดโดยมูลค่าของผลผลิตของเขา.
ทุนส่วนตัว(ทุนเอกชน) มีความโน้มเอียงที่จะกลายไปรวมศูนย์อยู่ในมือของคนเพียงไม่กี่คน, บางส่วนเนื่องจากการแข่งขันท่ามกลางบรรดานายทุนทั้งหลาย, และบางส่วนเป็นเพราะพัฒนาการทางเทคโนโลยี และการแบ่งแยกที่เพิ่มมากขึ้นของแรงงาน ซึ่งไปกระตุ้นหรือสนับสนุนการก่อตัวขึ้นมาของหน่วยการผลิตขนาดใหญ่ ด้วยค่าใช้จ่ายที่น้อยลงอันหนึ่ง. ผลลัพธ์ของพัฒนาการเหล่านี้ เป็นลักษณะของคณาธิปไตยอย่างหนึ่งของทุนเอกชน พลังอำนาจมหาศาลอันนี้ไม่สามารถที่จะถูกตรวจสอบอย่างมีประสิทธิภาพได้ แม้แต่โดยสังคมที่มีองค์กรการเมืองแบบประชาธิปไตย.
นอกจากนี้ เมื่อมองผ่านระบบทางการเมือง จะเห็นว่าอันนี้เป็นความจริง นับแต่บรรดาสมาชิกทั้งหลายซึ่งเป็นตัวแทนทางกฎหมาย ได้ถูกคัดเลือกโดยพรรคการเมือง, และส่วนใหญ่ของพรรคการเมืองนั้น เงินทุนที่พวกเขาได้รับการสนับสนุน ได้มาจากแหล่งทุนต่างๆ. ด้วยเหตุนี้มันจึงมีนัยสำคัญเกี่ยวกับอิทธิพลครอบงำบางอย่างจากบรรดานายทุนเอกชนทั้งหลาย, โดยวัตถุประสงค์ต่างๆ, ซึ่งในท้ายที่สุด ได้แยกประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกจากสภานิติบัญญัติ. ผลที่ตามมาตามข้อเท็จจริงก็คือว่า ตัวแทนของประชาชน(หรือนักการเมือง) ไม่ได้ทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์มากพอ เกี่ยวกับส่วนที่เป็นชนชั้นล่างของประชากรของสังคม.
ยิ่งไปกว่านั้น ภายใต้เงื่อนไขที่มีอยู่ บรรดานายทุนเอกชนทั้งหลายได้เข้ามาควบคุม, โดยตรงหรือโดยอ้อม, ในส่วนของต้นตอหลักสำคัญของข้อมูล(สิ่งพิมพ์ วิทยุ การศึกษา)อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้. ดังนั้น จึงเป็นการยากมาก และอันที่จริงในกรณีส่วนใหญ่มันเป็นไปไม่ได้, สำหรับพลเมืองในฐานะปัจเจกชนที่จะเข้าถึงข้อมูลต่างๆที่เป็นภววิสัย และใช้ประโยชน์ทางสติปัญญาเกี่ยวกับสิทธิต่างๆทางการเมืองของเขา.
ด้วยเหตุนี้ สถานการณ์ที่ดำรงอยู่ทั่วไปในทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีพื้นฐานอยู่บนความเป็นเจ้าของเกี่ยวกับทุน ได้ถูกทำให้มีลักษณะเฉพาะขึ้นมา โดยหลักการที่สำคัญสองประการ:
ประการแรก, ปัจจัยการผลิต(ทุน) ถูกเป็นเจ้าของโดยเอกชน และบรรดาผู้เป็นเจ้าของ ต่างจับจ่ายเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ในฐานะที่พวกมันดูเหมาะสม
ประการที่สอง, ข้อตกลงหรือสัญญาเกี่ยวกับแรงงานที่เป็นอิสระ. (ปราศจากข้อผูกมัด)
แน่นอน, มันไม่มีสิ่งที่ยึดถือได้ในฐานะที่เป็นสังคมทุนแท้ๆหรือบริสุทธิ์ในความหมายนี้. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง, ควรที่จะตราลงไปด้วยว่า บรรดาคนงานทั้งหลาย, โดยผ่านการต่อสู้อันยาวนานและขมขื่นต่างๆ, ได้ประสบความสำเร็จในด้านความมั่นคงปลอดภัยขึ้นมาบ้าง กล่าวคือ รูปแบบบางอย่างได้มีการปรับปรุงขึ้นมาเล็กน้อย เกี่ยวกับ"สัญญาหรือข้อตกลงที่เป็นอิสระ" สำหรับคนงานบางประเภท. แต่ในส่วนทั้งหมดนั้น เศรษฐกิจในปัจจุบันนี้ ไม่ได้ผิดแผกแตกต่างมากมายอะไรนักไปจากลัทธิทุนนิยมในอดีต.
เมื่อมามองดูในเรื่องของการผลิต... การผลิตถูกทำขึ้นเพื่อผลกำไร มิได้ทำเพื่อใช้สอย. นอกจากนี้ยังไม่ได้มีการกำหนดว่า ผู้คนทั้งหมดที่มีความประสงค์จะได้ทำงานและตั้งใจที่จะทำงานจะได้งานทำ แต่มันกลับกลายเป็นว่า ผู้คนเหล่านั้นมักจะอยู่ในฐานะหนึ่งซึ่งต้องเสาะหาการจ้างงานเสมอๆ; "กองทัพคนว่างงาน"จึงมีอยู่เกือบตลอดเวลา.
บรรดาคนงานทั้งหลาย ต่างหวาดกลัวอยู่ทุกๆวันเกี่ยวกับการสูญเสียงานของตนไป. เมื่อไม่ได้รับการจ้างงาน หรือบรรดาคนงานทั้งหลาย มีรายได้ไม่พอเพียงมาจากค่าจ้างแรงงานเพียงเล็กน้อย มันจึงไม่เปิดช่องให้มีตลาดที่ทำกำไรขึ้นมา, ผลผลิตเกี่ยวกับสินค้าต่างๆของผู้บริโภคจึงถูกจำกัด, ความลำบากและทุกข์ยากจึงเป็นสิ่งที่ตามมาอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้.
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี หลายครั้ง ส่งผลให้เกิดการเลิกจ้างมากกว่าจะเป็นการทำให้เกิดการลดภาระในการทำงานที่ยุ่งยากให้ง่ายลง. แรงกระตุ้นเกี่ยวกับผลกำไร, เชื่อมโยงกับการแข่งขันท่ามกลางบรรดานายทุน ต้องรับผิดชอบต่อการไร้เสถียรภาพในการสะสมเพิ่มพูน และการใช้ประโยชน์เกี่ยวกับทุน ซึ่งนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่รุนแรง. การแข่งขันอันไร้ขีดจำกัด ได้นำไปสู่ความสูญเปล่าของแรงงานจำนวนมหาศาล, และน้อมนำไปสู่ความพิกลพิการเกี่ยวกับความสำนึกทางสังคมของปัจเจกชน ซึ่งข้าพเจ้าได้กล่าวมาแล้วก่อนหน้านี้.
ความพิกลพิการของปัจเจกชนที่ข้าพเจ้าพูดถึง มันคือความชั่วร้ายเลวทรามอย่างที่สุดของลัทธิทุนนิยมที่ได้ก่อขึ้น. ระบบการศึกษาทั้งหมดของเราต้องเจ็บปวดจากความชั่วร้ายอันนี้. ท่าทีหรือทัศนะคติเกี่ยวกับการแข่งขันที่มากเกินไปได้ถูกพร่ำสอนให้กับนักเรียน นักศึกษา, ผู้ซึ่งได้รับการฝึกให้บูชาต่อความสำเร็จหรืออยากประสบความสำเร็จ ในฐานะที่เป็นการเตรียมตัวอันหนึ่งเพื่ออาชีพการงานในอนาคตของตนเอง
ข้าพเจ้าถูกทำให้เชื่อมั่นว่า มันมีเพียงหนทางเดียวที่จะขจัดความชั่วร้ายอันรุนแรงเหล่านี้ไปได้, กล่าวคือ โดยผ่านการสถาปนาเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมขึ้นมา ซึ่งจะต้องสอดคล้องกันไปกับระบบการศึกษาอันหนึ่ง ที่มีการปรับทิศทางไปสู่เป้าหมายต่างๆทางสังคม. ในเศรษฐกิจเช่นนั้น ปัจจัยการผลิตจะถูกเป็นเจ้าของโดยตัวของสังคมเอง และได้รับการใช้เป็นประโยชน์ในแบบที่ได้วางแผนเอาไว้.
เศรษฐกิจที่มีการวางแผน ซึ่งได้ปรับไปสู่การผลิตเพื่อความต้องการต่างๆของชุมชน จะกระจายงานที่ต้องทำไปในท่ามกลางผู้คนเหล่านั้นทั้งหมด ที่สามารถทำงานได้ และจะประกันความมั่นใจในการดำรงชีวิตและความเป็นอยู่ของทุกๆคน, ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง ผู้ชาย และเด็ก. การศึกษาของปัจเจกชน นอกเหนือจากจะส่งเสริมสนับสนุนความสามารถภายในของแต่ละคนแล้ว จะพยายามมุ่งมั่นพัฒนาความรู้สึกเกี่ยวกับความรับผิดชอบของพวกเขาขึ้นมาให้มีต่อเพื่อนมนุษย์ ซึ่งอันนี้จะเข้ามาแทนที่การยกย่องสรรเสริญเกี่ยวกับพลังอำนาจและความสำเร็จในสังคมของเราทุกวันนี้.
อย่างไรก็ตาม จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องจำไว้ด้วยว่า เศรษฐกิจที่มีการวางแผนนั้น ยังคงไม่ใช่ลัทธิสังคมนิยม เศรษฐกิจที่มีการวางแผนเช่นนั้น จะต้องสอดคล้องไปพร้อมกันกับการพิชิตความเป็นปัจเจกได้อย่างสมบูรณ์ ความสัมฤทธิผลหรือความสำเร็จของลัทธิสังคมนิยม ต้องการแก้ปัญหาเกี่ยวกับปัญหาต่างๆทางสังคมการเมืองที่ยุ่งยากอย่างยิ่งบางประการ
คำถามมีว่า... มันจะเป็นไปได้อย่างไร, (ในทัศนะของการรวมศูนย์ของพลังอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ), ที่จะปกป้องระบบเจ้าขุนมูลนายและราชการ จากการกลายไปสู่การมีอำนาจอย่างล้นเหลือและความหยิ่งยะโส ? คำถามต่อมาคือ สิทธิต่างๆของปัจเจกชนสามารถที่จะได้รับการคุ้มครองได้อย่างไร ? และ นอกจากนั้น ดุลยภาพของ"ประชาธิปไตย"กับ"อำนาจของเจ้าขุนมูลนายและข้าราชการ" จะได้รับการทำให้เกิดความมั่นใจว่า "มันเท่าเทียมกัน" ได้อย่างไร ?
ความชัดเจนเกี่ยวกับเป้าหมายต่างๆและปัญหามากมาย ของลัทธิสังคมนิยม มันมีนัยสำคัญอย่างยิ่งในยุคของเราที่กำลังมีการเปลี่ยนผ่าน. ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน, อิสระภาพและการสนทนาโดยไม่มีการปิดกั้นเกี่ยวกับปัญหาต่างๆเหล่านี้ อยู่ภายใต้อำนาจต้องห้าม(taboo)ที่ไม่ควรไปแตะต้อง ข้าพเจ้าเห็นว่า รากฐานของนิตยสารฉบับนี้(Monthly Review) จะเป็นสิ่งที่สำคัญในการให้บริการทางสังคมเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวได้
กลับไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา
e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com