นิติปรัชญามหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
Midnight University : Jurisprudence
ต่อจากหน้าที่แล้ว
/ พฤศจิกายน 43
3.การทวนกระแสของนิติศาสตร์แนววิพากษ์ การโต้แย้งของ"นิติศาสตร์แนววิพากษ์" ที่มีต่อ"ระบบกฎหมายกระแสหลัก" ซึ่งมีอิทธิพลครอบงำอยู่ในแวดวงนิติศาสตร์ ปรากฏขึ้นในประเด็นสำคัญดังต่อไปนี้
3.1
ระบบกฎหมายแบบเสรีนิยม (Liberal legal theory) เสรีนิยม (liberalism)
ถูกใช้ในความหมาย
ที่เป็นด้านสร้างสรรค์ โดยกลุ่มสัจนิยมทางกฎหมาย โดยมีความหมายถึงระบบกฎหมาย
และการเมืองที่ส่งเสริมคุณค่าของมนุษย์ ตัวอย่าง การรับรองเสรีภาพของปัจเจกบุคคลในการสื่อสาร,
ความมีขันติธรรม(tolerance)ต่อความเห็นที่แตกต่าง, ความเสมอภาคทางกฎหมาย.
แต่นิติศาสตร์แนววิพากษ์ได้เสนอข้อโต้แย้งถึงระบบความคิดที่เป็นรากฐาน ของระบบกฎหมายแบบเสรีนิยม ด้วยการปลดเปลื้อง(disenchantment)ความเชื่อเดิมที่มีต่อระบบกฎหมาย. การวิจารณ์ของนิติศาสตร์แนววิพากษ์ ไม่เพียงปฏิเสธความเชื่อว่า เนื้อหาของกฎหมายมีความเป็นภาวะวิสัย(objective) และการทำงานของระบบกฎหมายที่เป็นกลางเท่านั้น แต่ยังชี้ให้เห็นถึงความเชื่อแบบเสรีนิยมที่ได้แต่งเติมระบบกฎหมายเพื่อปิดบังความขัดแย้งภายในของกฎหมายด้วย. กฎหมายภายใต้จารีตแบบเสรีนิยมถูกอธิบายว่าเป็นสิ่งที่มีเหตุผล, สอดคล้อง, จำเป็น, และยุติธรรม. แต่สำหรับสำนักนิติศาสตร์แนววิพากษ์แล้ว กฎหมายแบบเสรีนิยมเป็นสิ่งที่ปราศจากกฎเกณฑ์(arbitrary), ไม่ต่อเนื่อง (contingent), ไม่จำเป็น และโดยพื้นฐานเป็นสิ่งที่อยุติธรรม. ทั้งหมดได้สร้างข้อโจมตีโดยตรงต่อระบบความคิด ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระบบกฎหมายและความคิดทางการเมืองของตะวันตก นั่นคือ หลักการปกครองโดยกฎหมาย. นอกจากนี้นิติศาสตร์แนววิพากษ์ยังวิจารณ์อย่างรุนแรงต่อความคิดเสรีนิยมของตะวันตกในเรื่อง "สิทธิพื้นฐานของพลเมือง"และ"สิทธิทางการเมือง" ซึ่งได้รับการรับรองไว้ในระบบกฎหมาย เช่น เสรีภาพในการสมาคม, เสรีภาพในการนับถือศาสนา, เสรีภาพในการทำสัญญา ฯลฯ แนวความคิดเรื่องเสรีภาพของปัจเจกบุคคลถือเป็นเงื่อนไขพื้นฐานของประชาธิปไตยเสรีนิยม สิทธิเสรีภาพเหล่านี้ถูกวาดภาพในระบบความคิดตะวันตก (western tradition) ให้เป็นหนทางในการตระหนักรู้ถึงตนเองและเสรีภาพของปัจเจกชน แต่นักคิดในกลุ่มนิติศาสตร์แนววิพากษ์เห็นว่า แม้สิทธิเสรีภาพจะเป็นสาระสำคัญของการสร้างภาวะปัจเจกบุคคล (individual's fulfillment) แต่ก็ต้องการชี้ให้เห็นว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนแต่ตอบสนองความต้องการของเศรษฐกิจและการเมืองในระบบเสรีนิยม |
กฎหมายสัญญา (contract law) เป็นตัวอย่างหนึ่งที่นักคิดกลุ่มนิติศาสตร์แนววิพากษ์ได้หยิบขึ้นมาวิเคราะห์ให้เห็นถึงลักษณะของกฎหมายในสังคมเสรีนิยม ที่มิได้เป็นไปดังความเข้าใจที่มีต่อกฎหมายในปัจจุบัน. การวิเคราะห์ของนิติศาสตร์แนววิพากษ์ ได้ชี้ให้เห็นถึงลักษณะของกฎหมายอีกด้านที่ตอบสนองต่อระบบเศรษฐกิจและการเมือง.
ในระบบการศึกษากฎหมาย ความเชื่อพื้นฐานเกี่ยวกับกฎหมาย, สัญญาก็คือ แนวความคิดที่อธิบายว่าเป็นกฎหมายที่มีความเป็นกลางและสมบูรณ์ในตัวเอง ซึ่งเป็นผลผลิตมาจากการวิเคราะห์โดยเหตุผลที่จะไม่ถูกเปลี่ยนแปลง. ในกฎหมายสัญญา ความสัมพันธ์ของบุคคล 2 ฝ่ายในการเข้าทำนิติสัมพันธ์มาจากความสมัครใจและความเท่าเทียม. กฎหมายสัญญาจึงเกิดขึ้นโดยห่างไกลจากอิทธิพล ทางการเมือง, ความขัดแย้งเชิงผลประโยชน์, อำนาจบังคับ หลักเรื่องเสรีภาพในการเข้าทำสัญญาของบุคคลจึงเป็นหลักที่มีความเป็นธรรม, เป็นกลาง, ปราศจากความได้เปรียบเสียเปรียบในตัวกฎหมาย. หลักกฎหมายในลักษณะนี้ได้กลายเป็นสิ่งที่เป็นธรรม, เป็นธรรมชาติ และไม่มีข้อจำกัดทางด้านเวลา.
อย่างไรก็ตาม การศึกษาถึงประวัติศาสตร์ของกฎหมายสัญญาได้เปิดเผยให้เห็นความจริงว่า หลักของกฎหมายสัญญาเป็นผลผลิตของประวัติศาสตร์ ซึ่งถูกเปลี่ยนแปลงโดยเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ การเมือง จนกระทั่งเป็นหลักกฎหมายที่มีผลอยู่ในปัจจุบัน.
ในศตวรรษที่ 18 ยุคก่อนทุนนิยม (Pre-Capital Era) "กฎหมายสัญญา" สะท้อนภาพความเป็นปฏิปักษ์กับหน่วยงานทางธุรกิจการค้า และปฏิเสธการแสวงหากำไรที่ไม่คำนึงถึงความยุติธรรม. ต่อมาศตวรรษที่ 19 ก้าวเข้าสู่ยุคทุนนิยม, มีความเปลี่ยนแปลงอย่างมากในระดับพื้นฐาน การก้าวสู่ระบบอุตสาหกรรมประชาชนได้ถูกแบ่งเป็นชนชั้น โดยชนชั้นแรงงานจะเป็นกลุ่มที่ถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างมาก. ความสำคัญของชุมชนลดน้อยลงถูกแทนที่ด้วยภาวะความเป็นปัจเจกบุคคลแทน สังคมก้าวเข้าสู่ระบบตลาด และการแลกเปลี่ยนด้วยเงินตรา ซึ่งภายใต้ความเปลี่ยนแปลงนี้กฎหมายสัญญาก็ได้เปลี่ยนแปลงไป
หลักเสรีภาพในการทำสัญญาของปัจเจกบุคคล (freedom of contract) ก็ถูกพัฒนาขึ้นด้วยความเชื่อในความเท่าเทียม และความสมัครใจของปัจเจกบุคคลในการเข้าทำสัญญา หลักเสรีภาพในการทำสัญญาจึงบิดเบือนความจริงว่าเสรีภาพยังขึ้นอยู่กับเงื่อนไขอื่นของปัจเจกบุคคลด้วย หากสถานะไม่เท่าเทียมกัน เสรีภาพที่เท่าเทียมกันในการทำสัญญาก็ไม่อาจบังเกิดขึ้นได้โดยง่าย เช่น สัญญาจ้างแรงงาน ระหว่างกรรมกรผู้ยากไร้กับนายทุนผู้มั่งคั่ง ย่อมไม่อาจกล่าวได้ว่าทั้งสองฝ่ายมีความเท่าเทียม.กฎหมายสัญญาจึงเป็นหนึ่งในอุดมการณ์ทางสังคมที่ปิดบังการกดขี่เอารัดเอาเปรียบในสังคมไว้.
ศตวรรษที่ 20 ท่ามกลางการขยายตัวในการผูกขาดของบริษัทขนาดใหญ่ มีความพยายามที่จะปกป้องคนงานและผู้บริโภคจากบริษัทที่มีอำนาจและทุนขนาดใหญ่. ในระบบทุนนิยมปัจจุบันจึงมีการแทรกแซงเข้าไปในรัฐดังที่ปรากฏ. กฎหมายได้ช่วยให้ระบบนี้ดำรงอยู่ต่อไป ด้วยการให้ความสำคัญกับลัทธิปัจเจกนิยมในระบบตลาด พร้อมกับหลักของประโยชน์ส่วนรวม (collective welfare). อุดมการณ์ของกฎหมายได้บดบังลักษณะของระบบที่โดยธรรมชาติแล้วมีการเอารัดเอาเปรียบอย่างยิ่ง ประชาชนยังคงโดดเดี่ยวและแปลกแยก แม้จะมีการพัฒนาของหลักการซึ่งปฏิเสธการหากำไรที่ไม่ชอบธรรม แต่การกระทำที่ไม่ชอบธรรมก็ยังคงปรากฏแพร่หลายอยู่ในระบบตลาด อุดมการณ์ของปัจเจกบุคคลและเสรีภาพในการทำสัญญาก็ยังเป็นความคิดที่เป็นกระแสหลักอยู่
การวิเคราะห์ถึงกฎหมายสัญญาของนิติศาสตร์แนววิพากษ์ได้ให้ข้อสรุปที่สำคัญ คือ ประการแรก กฎหมายนี้ตอบสนองอุดมการณ์ของระบบทุนนิยม ด้วยการเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางสังคมกลายเป็นความสัมพันธ์ของการแลกเปลี่ยนในระบบตลาด (market exchange relation) และทำให้เห็นว่าความสัมพันธ์ทางสังคมในฐานะของสัญญาไม่ได้อยู่นอกประวัติศาสตร์ แต่มีความจริงที่มีประวัติศาสตร์ ประการที่สอง โดยผ่านหลักของกฎหมายสัญญาได้ทำให้ความสัมพันธ์ หรือปรากฎการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น ถูกผลิตเข้าสู่ความยุติธรรมของสังคมที่มีระบบตลาดเป็นฐาน. ถ้ากฎหมายเป็นสิ่งที่ปราศจากกฎเกณฑ์และอยุติธรรมจริงตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น, ทำไมประชาชน จึงยังคงยอมรับจารีตทางกฎหมายแบบเสรีนิยม ? นิติศาสตร์แนววิพากษ์อธิบายว่า การที่ระบบกฎหมายแบบเสรีนิยมเป็นที่ยอมรับ ก็เนื่องจากระบบนี้จะปกป้องจุดมุ่งหมายแบบอนุรักษ์นิยม(conservative ends) บางคนอาจเชื่อถือในกฎหมายก็เพราะคิดว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แม้ว่าบางครั้งอาจเป็นเรื่องเลวร้ายที่ต้องยอมรับความถูกต้องทางกฎหมายก็ตาม. สำหรับชนชาวมาร์กซิสท์ (Marxist) แล้วเห็นว่า นี้คือจิตสำนึกที่ผิดพลาด (false consciousness) ในการที่เหยื่อของระบบทุนนิยม ซึ่งต้องยอมรับอุดมการณ์ที่ครอบงำอยู่ในขณะนั้น นอกจากนั้น ประชาธิปไตยเสรีนิยมแบบตะวันตกกำลังจะกลายเป็นสัจจะแห่งความจริง (statement of the truth) รูปแบบของสังคมและเสรีภาพในระบบตลาด เป็นพื้นฐานของเสรีภาพทางการเมืองในตะวันตก อุดมการณ์นี้มีอิทธิพลอย่างมากหลังการล่มสลายของกลุ่มประเทศสังคมนิยม และชัยชนะของตะวันตก, จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ปัจเจกชนจำนวนมากจะเชื่อว่า นี่คือสัจธรรมซึ่งไม่มีการเปลี่ยนแปลง และไม่มีทางเลือก. 3.2 ความเชื่อในรูปแบบนิยม
(formalism)
ตัวอย่าง เมื่อมีการฆาตกรรมเกิดขึ้น เจ้าหน้าที่ของรัฐก็จะดำเนินการสืบสวนหาบุคคลผู้กระทำผิดมารับโทษ ในกระบวนการนี้จะมีเจ้าหน้าที่ในส่วนต่างๆดำเนินการไป จากตำรวจสู่อัยการ และผู้พิพากษาเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดในขั้นตอนสุดท้าย สำหรับความเชื่อในเรื่องรูปแบบนิยมนี้
"นิติศาสตร์แนววิพากษ์"ได้โต้แย้งโดยมีประเด็นที่สำคัญคือ ในความเห็นของกระแส"นิติศาสตร์แนววิพากษ์"เห็นว่า การเมืองและกฎหมายมีพื้นที่ร่วมกัน การปฎิเสธความสัมพันธ์ของการเมืองและกฎหมาย จะทำให้กระบวนการวิเคราะห์ถึงรูปแบบและสาระที่ปรากฎในทางกฎหมายอย่างถูกต้องไม่อาจจะเป็นไปได้ ประการที่สอง "นิติศาสตร์แนววิพากษ์" ปฏิเสธความเชื่อในรูปแบบนิยม (formalism) ที่อธิบายว่าจะสามารถให้คำตอบที่แน่นอนกับกรณีพิพาทต่างๆได้. ข้อโต้แย้งของนิติศาสตร์แนววิพากษ์ในประเด็นนี้ เป็นสิ่งที่ได้รับมาจาก"กลุ่มสัจนิยมทางกฎหมาย" ซึ่งแนวคิดของกลุ่มสัจนิยมทางกฎหมายจะวิจารณ์แนวความคิดหรือคำอธิบายที่มีต่อกฎหมายโดยเชื่อว่า กฎหมายเป็นสิ่งที่มีความชอบธรรม เป็นการอธิบายกฎหมายอย่างเป็นอิสระมิได้สัมพันธ์กับเงื่อนไขทางสังคม การพิจารณากฎหมายในลักษณะนี้เป็นการพิจารณากฎเกณฑ์ในกระดาษ (paper rules). การจะทำความเข้าใจต่อกฎหมายได้จำเป็นต้องให้ความสนใจต่อพฤติกรรม หรือแบบแผนการวินิจฉัยของศาลด้วยจึงจะสามารถมองเห็นกฎหมายได้อย่างแท้จริง แม้ความคิดของนักนิติศาสตร์แนววิพากษ์ จะเป็นสิ่งที่รับมาจากกลุ่มสัจนิยมทางกฎหมาย, แต่ก็มีความแตกต่างกัน. โดยที่กลุ่มสัจนิยมทางกฎหมาย แม้จะทำการวิพากษ์ถึงรูปแบบนิยม แต่ก็เป็นไปโดยที่พยายามมุ่งค้นหากฎเกณฑ์ซึ่งเชื่อว่าจะปรากฏขึ้นในการทำการวินิจฉัยของศาล ทั้งหมดยังคงอยู่บนพื้นฐานความคิดที่เชื่อว่ามีกฎเกณฑ์อันแท้จริงดำรงอยู่ เพียงแต่ไม่ได้พิจารณาเฉพาะในตัวบทเท่านั้น. ขณะที่นักนิติศาสตร์แนววิพากษ์โต้แย้งคำอธิบายของกฎหมาย ซึ่งเชื่อว่าเป็นศาสตร์ของการอนุมาน และการดำเนินไปโดยอัตโนมัติ (deductive and autonomous science) ว่าไม่เป็นความจริง. การตัดสินชี้ขาดในแต่ละคดีที่แม้จะมาจากการปรับใช้หลักกฎหมาย บรรทัดฐาน วิธีดำเนินคดีในกระบวนการยุติธรรม แต่ก็มิได้เป็นสิ่งที่ดำเนินไปอย่างปราศจากคุณค่า,เป้าหมายทางสังคม,บริบททางสังคมและเศรษฐกิจ 3.3 การให้เหตุผลทางกฎหมาย
(legal reasoning) การวิเคราะห์ของ Kairy ในประเด็นการให้เหตุผลทางกฎหมายเป็นตัวอย่างหนึ่งของการโต้แย้ง. Kairy อธิบายถึงหลักสำคัญประการหนึ่งที่เป็นสาระพื้นฐานหรือกลไกของการให้เหตุผลทางกฎหมาย หลักการนี้เป็นที่คุ้นเคยกันอย่างยิ่งในแวดวงทางด้านนิติศาสตร์ คือ stare decisis (การยึดเอาคำพิพากษาหรือคำวินิจฉัยของศาลที่เกิดขึ้นแล้วเป็นบรรทัดฐานในการวินิจฉัยคดีอื่นๆ ภายหลัง ที่มีข้อเท็จจริง ที่เหมือนหรือคล้ายคลึงกัน) คำอธิบายว่าผู้พิพากษาจะถูกผูกพันด้วยคำพิพากษาบรรทัดฐาน(precedent) สอดคล้องกับแนวทางจารีตซึ่งทำให้เชื่อว่าการตัดสินของผู้พิพากษาเป็นการชี้ขาดโดยอาศัยกฎหมายมิใช่การเมือง Kairy ชี้ให้เห็นว่ามีคำพิพากษาบางเรื่องได้รับการปฏิบัติตาม บางเรื่องก็ไม่ได้รับการปฏิบัติตาม. คำพิพากษาจำนวนมากถูกปฏิเสธจากอาจารย์ผู้สอนกฎหมาย หรือแม้กระทั่งผู้พิพากษาเองก็ตาม คำถามที่สำคัญก็คือว่าคำพิพากษาอันไหนควรได้รับการปฏิบัติตาม(และอันไหนไม่ควรปฏิบัติตาม) และเมื่อใดที่ควรได้รับการปฏิบัติตามหรือไม่ควรปฏิบัติตาม, ศาลกำหนดความสำคัญของคำพิพากษานี้อย่างไร ? กระบวนการต่างๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบนพื้นฐานของเหตุผลทางกฎหมายแต่เพียงอย่างเดียวโดยปราศจากเงื่อนไขอื่นๆ จริงหรือ ? การแยกเงื่อนไขของบริบททางสังคมออกจากกระบวนการวินิจฉัยของศาลว่าไม่มีอิทธิพลอื่นๆ เกี่ยวข้อง นับว่าเป็นความล้มเหลวของระบบกฎหมายแบบเสรีนิยมในการทำความเข้าใจปรากฏการณ์ในระบบกฎหมาย. การให้ความสำคัญต่อการตัดสินใจของผู้พิพากษาที่เป็นการสร้างกฎหมายขึ้น (judicial law-making) ซึ่งถูกปิดบังเอาไว้โดยหลัก stare decisis และการให้เหตุผลในทางกฎหมาย จะทำให้เห็นถึงที่มา, เนื้อหาและพัฒนาการของหลักคุณค่า รวมถึงการจัดลำดับความสำคัญที่ดำรงอยู่ในกระบวนการวินิจฉัยของศาล. แต่สำหรับนิติศาสตร์แนววิพากษ์แล้ว มีความพยายามไม่มากในการแจกแจงปัจจัยภายนอกที่มีอิทธิพลในกระบวนการยุติธรรมให้ชัดเจน. เมื่อกล่าวถึงปัจจัยภายนอกจึงเป็นส่วนประกอบของปัจจัยทางสังคม, การเมือง, สถาบัน หรือประสบการณ์ส่วนบุคคล. เพราะฉะนั้น จึงมีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยระหว่างการวิเคราะห์ของ Kairy กับกลุ่มสัจนิยมทางกฎหมาย, โดยทางสัจนิยมทางกฎหมายพยายามยืนยันอย่างชัดเจนถึง ปัจจัยภายนอกที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของศาล, ส่วนสำหรับนิติศาสตร์แนววิพากษ์แล้ว คำตอบนั้นเป็นที่ชัดเจนว่า ผู้พิพากษาต้องอยู่ภายใต้อุดมการณ์ของสังคมที่เขาอาศัยอยู่ และจะเป็นเงื่อนไขของการตัดสินใจในการบังคับใช้กฎหมายแบบเสรีนิยม ฉะนั้นจึงไม่จำเป็นที่จะต้องมีการพิสูจน์ใดๆ 4. คุณูปการหรือความไร้สาระทางวิชาการ การปรากฏตัวขึ้นของ"กระแสนิติศาสตร์แนววิพากษ์"ได้พัฒนามาเป็นระยะเวลา 2-3 ทศวรรษ มีงานเขียนออกมาเป็นบทความจำนวนมากในวารสารทางด้านนิติศาสตร์ของโลกตะวันตก และมีหนังสือที่อธิบายความคิดของกลุ่มนี้ตีพิมพ์ออกมาจำนวนหลายเล่ม. สิ่งเหล่านี้ย่อมสะท้อนภาพความสนใจ ความตื่นตัวที่มีอยู่ในแวดวงคนจำนวนหนึ่ง แต่ถึงแม้กลุ่มนิติศาสตร์แนววิพากษ์ จะอ้างว่าแนวทางการอธิบายกฎหมายของตนที่มีต่อระบบกฎหมายแบบเสรีนิยม เป็นการให้คำอธิบายที่ก้าวหน้าและท้าทายกว่าแนวความคิดอื่นๆ ที่เคยมีมา ทั้ง แนวความคิดของกลุ่มสัจนิยมทางกฎหมาย, สำนักกฎหมายแบบสังคมนิยม ด้วยการตั้งคำถามที่ลึกเข้าไปถึงรากฐานระบบคิดของกฎหมายซึ่งดำรงอยู่ในปัจจุบัน แต่ดูเหมือนว่าแนวความคิดนี้ก็ยังไม่เป็นสิ่งที่แพร่หลายหรือได้รับการยอมรับมาก กระทั่งในแวดวงนิติศาสตร์เองก็ยังไม่ได้มีให้ความสำคัญกับแนวความคิดนี้มากว่าเป็นกระแสความคิดที่มีความสำคัญ หรือเป็นแนวความคิดที่ต่างไปจากความคิดทางปรัชญากฎหมายอื่นที่ปรากฏขึ้นก่อนหน้านี้ Ronald Dworkin นักกฎหมายร่วมสมัยที่มีชื่อเสียงของสหรัฐอเมริกาก็ไม่ได้ให้ความสนใจต่อกระแสความคิดนิติศาสตร์แนววิพากษ์ ในหนังสือที่โด่งดังของเขาเรื่อง อาณาจักรของกฎหมาย (Law's Empire) ก็ใช้หน้ากระดาษเพียงไม่กี่หน้าในการกล่าวถึงกระแสความคิดนี้ และมองว่านิติศาสตร์แนววิพากษ์เองก็ไม่แตกต่างไปจากกลุ่มสัจนิยมทางกฎหมายของอเมริกา. ขณะที่คณบดีของโรงเรียนกฎหมายบางแห่งถึงกับปฏิเสธว่าความ คิดของนิติศาสตร์แนววิพากษ์ไม่เหมาะสมที่จะสอนในโรงเรียนกฎหมาย การจัดวางฐานะของกระแสนิติศาสตร์แนววิพากษ์ โดยการกันพื้นที่ให้ออกไปอยู่นอกขอบเขตของวิชานิติศาสตร์ นับเป็นท่าทีที่คล้ายคลึงกับสำนักกฎหมายบ้านเมืองที่ปฏิเสธไม่นำเอาหลักคุณค่าต่างๆ ทางศีลธรรมมาปะปน. โดยเห็นว่าการตรวจสอบคุณค่าทางจริยธรรมในกฎหมายเป็นของจริยศาสตร์หรือศาสตร์ทางด้านนิติบัญญัติ การจัดการต่อความรู้หรือแนวความคิดอื่นที่แตกต่างหรือขัดแย้งกันอย่างรุนแรงด้วยการกันออกไปจากศาสตร์ของตนเอง นับเป็นความแยบยลอย่างมากในการรักษาอำนาจในแบบฉบับความรู้ของตนเองเอาไว้มากกว่าการเข้าปะทะโดยตรงต่อความรู้ที่เข้ามาโต้แย้ง บทสรุป ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นเพียงบางส่วนของข้อวิจารณ์ที่ปรากฏขึ้นในโลกของตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกา. สำหรับในแวดวงทางวิชาการทางด้านนิติศาสตร์ของไทย เท่าที่ได้ติดตามอ่านมายังไม่ปรากฏถึงการกล่าวกระแสแนวความคิดนี้เกิดขึ้นแต่อย่างใด แน่นอน ย่อมอาจเป็นคำถามได้ด้วยเช่นกันว่า มีอะไรอีกหลายเรื่องที่เกิดขึ้นในโลกตะวันตก แต่ไม่มีการนำเข้ามาสู่สังคมไทย. ปรากฏการณ์นี้จึงไม่ใช่เรื่องที่จะชวนประหลาดใจแต่อย่างใด. แต่สำหรับผู้เขียนคิดว่าปรากฏการณ์นี้อาจให้คำอธิบายที่มากไปกว่าคำตอบที่มีอยู่ข้างต้น เพราะสำหรับการศึกษานิติศาสตร์ในสังคมไทย ดูเหมือนว่า ความสนใจใฝ่รู้ของผู้คนในแวดวงจะให้ความสำคัญน้อยมาก ต่อการศึกษาแนวความคิดในทางกฎหมายหรือนิติปรัชญา ไม่เพียงนักศึกษา นักวิชาชีพ แม้กระทั่งนักวิชาการต่างก็ให้ความสนใจกับกฎหมายที่มีผลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นสำคัญ ทำให้ขาดการพัฒนาถึงการศึกษากฎหมายในแง่มุมใหม่ๆ ในทางวิชาการ แนวทางการศึกษากฎหมายหลายแนวความคิดได้ช่วยบุกเบิกไปสู่การตั้งคำถาม และแสวงหาคำตอบซึ่งแตกต่างไปจากเดิม ดังปรากฏในงานของกลุ่มสัจนิยมทางกฎหมาย นิติปรัชญาแนวอิตถีศาสตร์ มาจนถึง แนวความคิดของนิติศาสตร์แนววิพากษ์ที่มีจุดเริ่มต้นในสหรัฐ และโดยที่ไม่ได้ทำการสำรวจอย่างจริงจัง ผู้เขียนมีความคิดว่า แนวทางการศึกษากฎหมายต่างๆ เหล่านี้ได้ถูกผลักออกให้เห็นศาสตร์ที่มิใช่อยู่ในพื้นที่ของการศึกษาวิชานิติศาสตร์ หากเป็นเรื่องอื่นๆ มากกว่า เช่น ปรัชญา สังคมวิทยา สตรีศึกษา เป็นต้น. ท่าทีการจัดการในลักษณะนี้ นับได้ว่าเป็นภาพสะท้อนของอิทธิพลความคิดทางปรัชญากฎหมายกระแสหลัก ซึ่งมีอิทธิพลครอบงำระบบการศึกษานิติศาสตร์ของสังคมไทยอยู่ในปัจจุบัน. อย่างไรก็ตาม คำถามสำคัญต่อนิติศาสตร์แนววิพากษ์ก็คือแนวทางการศึกษากฎหมายเช่นนี้ จะเป็นประโยชน์อย่างไรทั้งในแวดวงวิชาการทางด้านนิติศาสตร์และต่อสังคมโดยรวม. ข้อวิจารณ์ประการหนึ่งที่มีต่อแนวความคิดนี้คือ นิติศาสตร์แนววิพากษ์มุ่งที่จะทำการโต้แย้งระบบความคิดทางกฎหมายแบบเสรีนิยม ซึ่งเป็นกระแสความคิดหลักในสังคม แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ไม่ได้ให้คำตอบที่เป็นระบบขึ้นมาแต่อย่างใด (และเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้กระแสแนวความคิดนี้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับกระแสความคิดของ Skepticism) อาจคล้ายคลึงกับคำถามที่มีต่อกลุ่ม Post-modernism ซึ่งไม่ได้ให้คำตอบที่แจ่มชัดในการวิเคราะห์ปรากฏการณ์ต่างๆ จนบางครั้งทำให้แนวความคิดนี้ถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่มีคุณค่าพอต่อการให้ความสำคัญ แน่นอนสำหรับผู้ที่ต้องการไขว่คว้าหาสัจธรรมอันแท้จริง การชี้ให้เห็นสัจธรรมคงเป็นเรื่องที่มีความหมายมากอย่างยิ่ง แต่ในโลก ณ ปัจจุบัน ที่ดูราวกับว่า "ความจริง" กำลังเป็นสิ่งที่ยากต่อการเข้าถึงมากขึ้นทุกขณะ เพียงการตั้งคำถามในแง่มุมใหม่ๆ ที่แตกต่างไปจากคำถามเดิมก็ควรถือเป็นคุณค่าประการหนึ่งได้หรือไม่? บรรณานุกรม จรัญ โฆษณานันท์.
นิติปรัชญา. กรุงเทพ: โรงพิมพ์ชวนพิมพ์. 2532
|