ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง
หมายความว่าอะไร ?
การศึกษาที่สอนให้นึกถึงแต่ตนเอง ไม่นึกถึงผู้อื่น การศึกษาที่ไม่มีการเชื่อมโยงวิชาความรู้ การศึกษาที่เน้นความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน การศึกษาที่เน้นการแข่งขัน อำนาจนิยม การศึกษาปัจจุบันเป็นการศึกษาที่ทำให้เกิดการเป็นปรปักษ์ สมการเป็นตัวทำลายสันติภาพ (ข้อความเหล่านี้อยู่ในงานชิ้นดังกล่าว ซึ่งขอเชิญทุกท่านไขความกระจ่างได้) |
สมเกียรติ : ผู้ร่วมเสวนาคนต่อไปคือ อ.ไพสิฐ ซึ่งสอนอยู่ที่สาขานิติศาสตร์ ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มช. (อาจารย์เป็นหนึ่งในคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเช่นกัน) ผมขอให้อาจารย์รับช่วงต่อเลยครับ
ไพสิฐ : นมัสการพระคุณเจ้า สวัสดีท่านผู้ร่วมเสวนาทุกท่าน... ผมคิดว่าห้องนี้เป็นห้องที่เสี่ยงๆกับคุกตะรางมาก็หลายครั้ง (หมายถึงห้องประชุม 1307 คณะวิจิตรศิลป์ มช. เพราะเป็นห้องที่มีการรณรงค์ทางการเมืองจากคณาจารย์และประชาชนมาหลายๆครั้ง และเป็นห้องที่มีการจัดฉายภาพยนตร์เรื่องที่ถูก censor มาแล้วหลายเรื่อง) วันนี้ก็เป็นการมาทบทวนบรรยากาศที่เราเคยเสี่ยงๆกันมาอีกครั้ง แต่เป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเป็นอะไร. ผมมีประเด็นย่อยๆ ซึ่งคงจะซ้ำกับหลายๆท่าน และมีประเด็นใหม่ที่จะนำเสนอ...
ประเด็นแรกนั้นเรื่องของสันติภาพ ผมมองว่าเป็นเรื่องที่ใหญ่กว่าเรื่องของการศึกษา. สันติภาพอาจจะมองได้หลายด้าน เรื่องของการศึกษามันเป็นเพียงแค่เครื่องมือที่ทำให้เรามองเห็นภาพข้างหน้า ซึ่งอันนี้ผมเห็นว่าเราต้องแยกกันระหว่างภาพอนาคตและภาพที่เป็นอยู่
ประเด็นต่อมา เรื่องของสันติภาพนั้น
ผมมองว่ามันเป็นทั้ง"วิธีคิด" และเป็นทั้ง"วิธีการ"ด้วย.
ในแง่ของวิธีคิดก็คือ เป็นเรื่องที่จะชวนให้เรามองว่า เราจะมองความไม่เป็นอื่นที่เกิดขึ้นสำหรับคนอื่นก็คือว่า
ปัจจุบันเราถูกย้ำในเรื่องต่างๆผ่านทางการเอารัดเอาเปรียบกันทางเศรษฐกิจ การแข่งขัน
ให้มันเกิดเป็นตัวตนขึ้นมา อย่างที่อาจารย์วารุณีว่า... ในขณะเดียวกัน non-otherness
มันจะเกิดขึ้นได้ไหม จากการมองผ่านวิธีคิดอย่างที่ว่านี้ อันนี้ผมอยากเปิดเป็นประเด็นให้เกิดการถกเถียง
ประการต่อมาก็คือว่า สันติภาพที่มองเป็นวิธีการ หรือที่เรียกกันว่า"สันติวิธี" มันเป็นความพยายามของมนุษย์เองในทางสังคมที่จะทำให้เกิดมีสิ่งนี้ขึ้นมา. Civilization ก็เกิดขึ้นมาเนื่องจากต้องการที่จะหนีสภาพซึ่งกดขี่ข่มเหงรังแกกัน หรือการรบราฆ่าฟันกันที่ผ่านมาในอดีต. แต่ก็มีหลายกลุ่มของสังคมเหมือนกันที่ถือเอา... อ้างว่าตนเองศิวิไลส์, แต่ไปรุกรานคนอื่น ซึ่งก็เป็นความพยายามที่จะสร้างเครื่องมือในการลดความรุนแรง แต่อาจจะเป็นว่าการลดความรุนแรงในกลุ่ม แต่กลับไปกดขี่ที่อื่น... ซึ่งอันนี้เป็นโจทย์ที่ยังตอบคำถามไม่เสร็จของมนุษย์โลกปัจจุบันว่า สันติภาพในความหมายและวิธีการจะเกิดขึ้นมาอย่างไร ?
อันที่สามก็คือว่า มันมีความเชื่อที่สร้างขึ้นมาซึ่งทำให้มนุษย์มองมนุษย์ด้วยกันเอง หลายอย่างหลายวิธี รวมทั้งหลายสกุลความเชื่อ เช่น การมองด้วยมุมมองผ่านทฤษฎีวิวัฒนาการ ที่บอกว่า สิ่งมีชีวิตที่จะอยู่รอดได้ ก็คือสิ่งมีชีวิตที่มีความเข้มแข็ง หรือแข็งแรงเท่านั้นจึงจะอยู่รอด.
ผมคิดว่าอันนี้เป็นรากเหง้าเดิมอันหนึ่งที่ทำให้ การมองคนอื่น การกดขี่ อะไรต่างๆนั้นเกิดขึ้นมา. ผมคิดว่าทุกสังคมได้เคยผ่านการใช้ความรุนแรงกันมาแล้ว และพยายามที่จะหาทางออกเพื่อที่จะไม่ให้เกิดความรุนแรงเกิดซ้ำขึ้นมาอีก. แต่ว่าในโลกปัจจุบัน ความรุนแรงได้กลับเข้ามา ให้เป็นเรื่องที่ยอมรับกัน มันถูกมองไปว่าความรุนแรงจะทำให้เราอยู่รอดกันได้ เรื่องอันนี้อาจจะเป็นเรื่องที่กลับรำ... ประการที่สี่ ผมคิดว่า เมื่อพูดถึงเรื่องของการศึกษากับสันติภาพ. ในปัจจุบัน ธรรมชาติของมนุษย์เป็นเรื่องของการเรียนรู้, การเรียนรู้กับการศึกษาเป็นคนละเรื่องกัน. ผมมองว่าการศึกษาในปัจจุบันเป็นการเน้นเรื่องของอาชีพ ซึ่งไปโยงถึงเรื่องของเศรษฐกิจ ไปโยงกับเรื่องของความอยู่รอด จึงทำให้การศึกษาเกิดปัญหาขึ้นมาเหมือนกันในแง่ของการไปตอกย้ำความรุนแรง ซึ่งไปโยงกับอาจารย์นิธิก็ดี ไปโยงกับอาจารย์วารุณีก็ดี... แต่ว่าผมมีประเด็นเติมตรงนี้ก็คือ ในแง่ของการศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบ มันมีสิ่งหนึ่งซึ่งพยายามจะสร้างขึ้นมา เพื่อควบคุมสิ่งที่ใช้ในการศึกษากันอยู่ก็คือ เรื่องของจริยธรรม และเรื่องของคุณธรรม ทั้งในแง่ขององค์กรที่จะมาควบคุมวิชาชีพต่างๆ ทั้งในแง่ของจิตใจที่จะคิดในเรื่องต่างๆในแง่ของการใฝ่ดี ไม่ใช่ใฝ่ต่ำ. อันนี้ก็คือการพยายามที่จะทำให้การศึกษามีกลไกในการควบคุมการนำความรู้ไปใช้ ประเด็นสุดท้ายก็คือว่า ในแง่ของการศึกษา ถ้าจะมาโยงกับเรื่องของสันติภาพ... ผมอยากจะมองอย่างนี้ว่า การศึกษาเป็นเครื่องมือของมนุษย์อย่างหนึ่ง, ซึ่งแยกออกมาจากเรื่องของการเรียนรู้, จะทำอย่างไร ให้การศึกษามันสร้างจินตนาการให้มองเห็นภาพของสังคมข้างหน้าไปในลักษณะที่จะอยู่ร่วมกันได้ อย่างไม่มีความเป็นคนอื่นเกิดขึ้น. แต่ว่าในปัจจุบัน บนโครงสร้างของสังคมที่ยังพัฒนายังไม่เสร็จ ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง มันทำได้เพียงแค่ลดความรุนแรงลง แต่มันก็ยังไม่ถึงภาพในอนาคตที่อาจารย์นิธิมอง ว่าจะต้องลดการใช้ความรุนแรงทั้ง 3 อย่าง. ผมคิดว่าอันนี้เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญเหมือนกัน ถ้าหากว่า หยิบเอาเรื่องของสันติวิธี หรือสันติศึกษา ขึ้นมามองโยงกับเรื่องของรัฐ ซึ่งตัวเองได้ไปริบอำนาจของประชาชนในการที่จะใช้ความรุนแรงกับคนอื่น, ตาต่อตา, ฟันต่อฟัน, มาเป็นเรื่องของรัฐ โดยจะสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้น โดยรัฐนั้นเป็นคนที่ใช้ความรุนแรงในบางช่วงบางเวลา. ซึ่งอันนี้เป็นประเด็นที่น่าสนใจซึ่งควรที่จะหยิบเอาเรื่องของอำนาจรัฐมาพิจารณา เกี่ยวกับการที่เมื่อไหร่จะใช้ความรุนแรง หรือว่าความรุนแรงที่รัฐริบเอาไปนั้น ควรจะหมดไปหรือเปล่า... ตรงนี้เป็นเรื่องซึ่งไปเกี่ยวพันกับโทษประหารด้วย ไปเกี่ยวพันกับเรื่องของการโบยตีด้วย. ผมมีประเด็นที่ไม่มีคำตอบในตัว แต่จะเปิดประเด็นให้ฟุ้งขึ้นไปอีกแค่นี้ครับ ขอบคุณครับ. |
สมเกียรติ : ผมคิดว่าคงจะไล่ไปตามลำดับเลยนะครับ เริ่มต้นจาก อ.ชัชวาล ปุญปัน. อาจารย์มาจากภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มช., อาจารย์จะเป็นคนที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องอะไรก็ตามที่ไม่ใช่เรื่องของเรื่องฟิสิกส์ ผมขอเชิญเลยครับ
ชัชวาล : ขอบคุณครับอาจารย์. อาจารย์สมเกียรติได้ให้การบ้านผมไปว่า ให้ไปลองคิดดูซิว่า การศึกษาเพื่อสันติภาพในแง่มุมของวิทยาศาสตร์นี่ มันเป็นยังไง ? มันเป็นการบ้านที่ยากสำหรับผมนะครับ ผมจะนำเสนอในที่นี้ว่าผมคิดอย่างไร ? และจะเชื่อมโยงอย่างไร ? แล้วก็อยากจะฝากความคิดเห็นกับผู้ร่วมสนทนาทุกท่านนะครับ
ในทางวิทยาศาสตร์
มันมีภาษาที่จะอธิบายธรรมชาติ ซึ่งทางวิทยาศาสตร์ใช้สมการในทางคณิตศาสตร์ หรือภาษาคณิตศาสตร์ในการอธิบาย.
จากการทบทวนเท่าที่สติปัญญาของผมจะมีอยู่นะครับ ผมพบว่า, สมการเป็นตัวทำลายสันติภาพในเชิงโครงสร้าง...
ผมหมายความว่าอย่างนี้ครับ,
ตัวสมการมันถูกใช้อธิบายธรรมชาติต่างๆ แล้วก็สถาปนาขึ้นมาพร้อมกับระบบคิดวิทยาศาสตร์เป็นเวลา 2 ศตวรรษเป็นอย่างน้อย. เพราะฉะนั้น การจับธรรมชาติมาให้เป็นตัวแปรอิสระและตัวแปรตาม เช่น Y เท่ากับ 5 เท่าของ X . ถ้า X เท่ากับ 1, Y เท่ากับ 5, ถ้า X เท่ากับ 2, Y เท่ากับ 10 อย่างนี้นะครับ.
วิธีการอธิบายแบบนี้ มันทำให้เราจัดการกับธรรมชาติได้อย่างง่ายๆเลย. สิ่งที่เราเขียนเป็นสมการบนกระดานดำ ทันทีที่เราเขียน E = MC2, เรากำลังดึงคำอธิบายของธรรมชาติลงมาสู่การจัดการง่ายๆที่ปลายนิ้วของมนุษย์เรานี่เอง. เพราะฉะนั้นตรงนี้เอง ผมคิดว่า เราน่าจะมาตรวจสอบความสำคัญของอิทธิพลเชิงโครงสร้างของสมการ ที่ไปอธิบายธรรมชาติว่ามันเป็นยังไง และมันส่งผลอะไร ? เพราะว่าทันทีที่เราเขียนสมการอธิบาย ไม่ว่าจะเป็นสมการทางเคมี สมการทางปฏิกริยาเคมี ชีวเคมี หรือฟิสิกส์ เมื่อนั้นเรากำลังกำหนด ควบคุม กำกับ รวมศูนย์ บังคับตัวแปร... เพราะฉะนั้น อันนี้ล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างทั้งสิ้น
ผมจะยกตัวอย่าง สมการที่สลับซับซ้อน มันถูกควบคุมโดยระบบที่ใหญ่ขึ้น เราไม่สามารถที่จะจัดการกับปัญหาทางคอมพิวเตอร์โดยเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กได้ ต้องมีการรวมศูนย์ขนาดใหญ่. ผลที่เห็นในทางสังคมคืออะไร. ผลที่เห็นในทางสังคมตามระบบโลกาภิวัตน์ในปัจจุบันนี้นะครับ โลกในอุดมคติของนักโลกานิมิต หมายถึงโลกในอุดมคติของคนที่ใฝ่ฝันทางโลกของโลกาภิวัตน์นี่เขาคิดอย่างไร ? เขาคิดว่าเงินตราของโลก เทคโนโลยีและตลาด จะถูกควบคุมโดยโลกบริษัทขนาดใหญ่ จึงจะดี.
ทีนี้ด้วยเหตุนี้เอง อะไรที่คุมไม่ได้, จะถูกมองว่าเป็นศัตรู... อะไรที่คุมไม่ได้ ชักจะรู้สึกว่าเป็นศัตรูกับเราแล้ว ยกตัวอย่างนะครับ, ข่าวที่ปรากฏเมื่อเร็วๆนี้ เรื่องของพายุสุริยะซึ่งมันแพร่ออกมา. ก็จะมีสถาบันทางวิทยาศาสตร์ได้ออกมาประกาศว่า มันเป็นอันตรายต่อระบบสื่อสาร เพราะว่ามันจะมารบกวนการสื่อสารของโลก รบกวนการเดินทาง รบกวนการบอกทิศ รบกวนการบินอะไรก็แล้วแต่ ทุกคนก็เห็นด้วยเลย เพราะเราจะขึ้นเครื่องบินอยู่แล้ว ถ้าเกิดว่ามันมารบกวนสัญญานการติดต่อของโลก... เราไม่ต้องไปอยู่บนดาวอังคารหรือ ผิดทิศทางการบินไปเสียแล้ว อะไรทำนองนี้นะครับ. ทำไมเราจึงมองอย่างนั้นไปได้ ?
ทำไมเราไม่มองว่า พายุสุริยะมันเกิดมีขึ้นมาเป็นแสนๆล้านๆปีแล้ว ในขณะที่เราเพิ่งบินได้เมื่อร้อยกว่าปีมานี้เอง. ไอ้สิ่งที่มันมีอยู่มาตามธรรมชาติ มันดันมาเป็นศัตรูกับเรา ซึ่งเราเพิ่งบินกันได้เมื่อไม่กี่นานมานี้เอง อันนี้กลับวิธีคิดของมนุษย์ไปเลย. แทนที่เราจะบอกว่า เออ นั่นมันเป็นธรรมชาติของมัน แล้วเราก็ไม่ต้องไปบินซิ ให้เราหยุดพักก่อน แล้วก็เลิกใช้โทรศัพท์สักวันสองวัน หรืออะไรก็แล้วแต่ เพื่อให้เราไปสอดคล้องกับธรรมชาติ.
ชาวบ้านในสมัยสุโขทัย หรือในต้นรัตนโกสินทร์ เมื่อคราวที่มีน้ำหลากเข้ามาแถวที่ราบอยุธยา ชาวบ้านเขาก็พายเรือร้องเพลงเป็นที่สนุกสนาน ไม่ได้คิดไปว่านี่คือน้ำท่วม แต่คิดว่ามันเป็นน้ำหลากชั่วคราวซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติ. แต่เราไม่คิดอย่างนั้นแล้ว เราถือว่ามันเป็นศัตรู.
ต่อมา วิธีคิดในทางสมการ มันทำให้เราชอบลัดและเร็ว. เมื่อลัดและเร็วแล้วก็เหลือเพียงวิธีเดียวนี่ก็จะพอใจมากเลย แล้วเราจะรู้สึกมีความสุขกับการแก้ปัญหาสมการ. เช่นนักเรียนที่สอบเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะข้อสอบฟิสิกส์นี่ เวลาที่คุณออกจากห้องมาแล้ว กาข้อสอบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และมาถามกันนอกห้องสอบว่า เอ๊ะ...ข้อนี้ตอบว่า 10.5 นิวตันใช่ไหม ? เพื่อนบอกว่าใช่, คุณจะกอดกันกลมแล้วก็ดีใจมากเลย... ถามว่ามันมีความหมายอะไร แล้วก็ตอบไม่ได้ แต่รู้ว่ามันถูก และก็เป็นแบบนี้ในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย. ข้อสอบในเชิงปริมาณนี่ มันจะทำให้เรามีความสุขมาก. ผลในโลกปัจจุบันคืออะไร ? ก็คือวัฒนธรรมของผู้บริโภค จะต้องถูกหลอมให้เป็นวัฒนธรรมเดียว คุณจะต้องกินอาหารชนิดเดียวกัน คุณจะต้องบริโภคแบบเดียวกันทั่วโลก แล้วคุณจะแสวงหาความพึงพอใจกับวัตถุนั้นได้ แล้วจะดี...
อีกอันหนึ่งคือ เราสามารถหาตัวแปรและจัดการกับตัวแปรอย่างไรก็ได้. สมการทางคณิตศาสตร์ที่เราเขียนบนกระดานนี่ คุณจะเปลี่ยนไอ้นี่ให้มีความสูงเท่านั้น เปลี่ยนความดันตรงนี้ หรืออะไรได้หมดเลย โดยไม่ต้องคำนึงว่าจะมีผลกระทบอย่างไร ? เช่น สมมุติว่าสมการเรื่องความดันนะครับ คุณมีน้ำขนาดนี้ มันมีความดันเท่านี่, คุณต้องการความดันมากกว่านี้หน่อย ก็ปรับให้น้ำสูงเท่านี้. ผลคืออะไร ผลก็คือว่า คุณเพิ่มสันเขื่อนให้สูงขึ้นไปอีก 10 เซนติเมตร ทำให้น้ำท่วมไปอีกไม่รู้จะอีกกี่ร้อยตารางกิโลเมตร. สมการบนกระดานดำนิดเดียวเท่านั้นเอง คนอีกเป็นหมื่นคนต้องอพยพออกไป
เพราะฉะนั้น วิธีคิดแบบนี้ องค์กรขนาดใหญ่และรัฐสามารถทำอะไรก็ได้ บนพื้นฐานของกำไร โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจะมีผลกระทบอะไรต่อท้องถิ่น และตัวอย่างหนึ่ง, เมื่อสักครู่นี้อาจารย์นิธิ ยกตัวอย่างเขื่อนปากมูล, ผมขอยกตัวอย่างรัฐบาลฟิลิปปินส์นะครับ. รัฐบาลฟิลิปปินส์ได้ลงโฆษณาของกรมประชาสัมพันธ์ฟิลิปปินส์ เพื่อเชิญชวนบริษัทข้ามชาติทั้งหลายให้มาลงทุน โดยโฆษณาว่า
"เพื่อที่จะดึงดูดบริษัทอย่างคุณ เราได้ปรับพื้นที่ภูเขาให้ราบเรียบ โค่นป่าจนเตียน ถมบึงน้ำจนเต็ม เคลื่อนย้ายแม่น้ำ ย้ายเมืองทั้งหมด เพื่อง่ายสำหรับคุณและธุรกิจของคุณ เพื่อจะได้มาทำธุรกิจที่นี่". อันนี้เป็นคำเชิญชวนนะครับ เราย้ายให้คุณเสร็จเรียบร้อยหมดแล้ว คุณมาเหอะ... อันนี้เป็นวิธีคิดแบบการจัดการแบบสมการครับ.
และสุดท้ายก็คือว่า ความจริงแบบสมการนั้นมันเป็นสากล เวลาที่คุณเขียนบนกระดาน E = MC2 มันเป็นความจริงอย่างเดียวกันไม่ว่าจะถูกเขียนขึ้นที่ไหน หรือที่อมก๋อย ถ้าคุณเขียน E =MC2. เป็นสากลนะครับ และใช้ได้กับทุก space และ time, ทุกเวลาและสถานที่. โดยเหตุนั้นเองนะครับ ในระบบโลกธุรกิจของโลกสมัยใหม่ จึงไม่มีพื้นที่และเวลา สำหรับความจงรักภักดีต่อสถานที่และชุมชน. คุณไม่มีสิทธิ์ที่จะจงรักภักดีต่อชุมชนที่คุณอาศัยมาเป็นร้อยๆปี มาหลายชั่วอายุคน คุณย้ายออกไปได้เลย จะอยู่กันไปทำไม เพราะนั่นมันคือแหล่งเงินแหล่งทองของรัฐ ที่จะทำให้ประเทศมีเงินมาก หรืออะไรอย่างนี้เป็นต้นนะครับ
เพราะฉะนั้น อันนี้ก็คือสิ่งที่มันเกิดขึ้น และเป็นความรุนแรงในเชิงโครงสร้างนะครับ. คนทุกคนที่ทำงานอยู่ในรัฐก็ดี หรือในบริษัท หรือคนคิดสมการใหม่ๆ เป็นคนดีก็มีเยอะเลย เข้าวัดเข้าวาอะไรต่างๆ แต่ว่าผู้ที่บรรจุซึ่งเป็นตำแหน่งที่อยู่ในโครงสร้างแบบนี้ มันเป็นตัวเสริมความรุนแรงอยู่ตลอดเวลา
มันมีตัวอย่างสุดท้ายที่ผมอยากจะยกขึ้นมา คือมันเป็นความตลกของสมการ ของตลาด... คือตลาดเศรษฐกิจหรือตลาดการเงินนะครับ. มีการไปสัมภาษณ์เด็กซึ่งเป็นลูกชาวนาคนหนึ่งที่รัฐอลาบาม่า ในสหรัฐอเมริกา แล้วก็เผยแพร่โดยสถานีโทรทัศน์ CBS บอกว่า... เขาถามเด็กคนหนึ่งว่า ทำไมเธอไม่กินข้าวกลางวันรึ... เธอกินข้าวเช้าหรือเปล่า, เด็กตอบว่า กิน, เออ แล้วข้าวกลางวันละ, ไม่ได้กิน, แล้วหิวไหม ?, หิว, เพื่อนๆกำลังกินข้าวกลางวันกันอยู่. แล้วถามว่าทำไมจึงไม่กินข้าวกลางวันล่ะ, เด็กบอกว่าไม่มีเงิน 35 เซนต์.
ขอให้ดูภาพอย่างนี้ครับ... 1. มีคนกำลังหิว, 2. มีอาหารอยู่ในโรงเหลือเฟือเลย, 3. คนหิวไม่ได้บริโภคอาหารที่เหลือเฟือนั้น. เพราะเหตุว่าคุณไม่มีวัตถุชิ้นหนึ่งที่เรียกว่าเงินจำนวน 35 เซนต์. สมการอันนี้มันไม่ลงตัวยังไงบอกไม่ถูกนะ. คนหิวมี อาหารก็มีเหลือเฟือ เหมือนข้าวในโลกปัจจุบันก็มีเหลือเฟือ แต่คนไม่ได้บริโภคเพราะไม่มีเงิน. ห้องว่างคอนโดฯเหลือเฟือ แต่คนที่ไม่มีที่อยู่อาศัยก็เหลือเฟือเหมือนกัน เต็มไปหมด. มันไม่ลงตัวอย่างไรไม่รู้ เพราะวิธีคิดแบบนี้ ผมก็เลยนำเสนอวิธีคิดว่า มันเป็นอย่างงี้นะ ไม่ทราบว่าจะเป็นอย่างไง...
สมเกียรติ : อีกท่านหนึ่งนะครับ ก็คือ ท่านอาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์, อาจารย์สอนอยู่ที่ภาควิชาปรัชญาและศาสนานะครับ คณะมนุษยศาสตร์ มช. ขอเชิญอาจารย์เลยครับ ประมวล
: ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งกับการให้นิยามความหมายของท่านอาจารย์นิธิ
เพราะอธิบายได้อย่างชัดเจน. สำหรับหัวข้อที่ตั้งไว้ว่า"การศึกษาเพื่อสันติภาพ"แสดงให้เห็นว่า
ต้องการโยงเรื่องการศึกษาให้ไปสัมพันธ์กับเรื่องของสันติภาพ ในฐานะที่จะเป็นผลหรือในฐานะที่จะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกระบวนการจัดการศึกษา
เพราะฉะนั้น จากการที่ได้ฟังอาจารย์หลายท่านมา จึงอยากจะเสนอต่อเรื่องนี้คือ
มันมีอยู่ 3 ประเด็นที่อยากจะชวนให้ทุกท่านช่วยกันมอง ผมคิดว่าความหมายของการศึกษาซึ่งเมื่อสักครู่ที่ อ.นิธิ บอกว่า คือการผลิตช่าง เป็นสิ่งที่ชัดเจนสำหรับเราที่อยู่กันในสถาบันการศึกษา เพราะมหาวิทยาลัยของเราหรือที่อื่นก็ตาม มันเหมือนโรงงานที่ผลิตมนุษย์ดิบๆให้เป็นมนุษย์ที่บอกได้ว่ามีอำนาจ มีความสามารถทำอะไรได้บ้าง เพราะมีการปั๊มให้เสร็จเลยนะครับว่า จะเอาไปใช้หรือเอาไปทำอะไรได้บ้าง. ส่วนจะใช้ได้ผลหรือไม่ได้ผลอย่างไร ก็เป็นของผู้ใช้เอง. ก็คือการศึกษาก็เหมือนเป็นการผลิตมนุษย์ให้เป็นช่าง ซึ่งในกรณีนี้ น้อยคนมีปัญหามาก เมื่อเราผลิตช่างบางประเภทออกไปแล้วมันล้นตลาด ก็เลยทำให้คนนั้นมีปัญหา เพราะเหตุว่า ไม่ตรงกับสิ่งที่ตลาดต้องการ. คิดว่าการศึกษาที่ผ่านมา ถ้าจะวิจารณ์กัน ก็คงอยู่ในสิ่งที่ว่ามานี้. ส่วนความหมายที่แท้จริงควรเป็นอย่างไรก็น่าจะมีการพูดคุยกันต่อไป ในประเด็นเรื่องเป้าหมาย
ซึ่ง อ.วารุณี พูดถึงว่า เราศึกษาเพื่อที่จะแข่งขันให้เกิดชัยชนะ, ผมคิดว่ามันมีประเด็นอยู่
2 ประเด็นที่ อ.นิธิ พูดถึงเรื่องความรุนแรงด้วยว่า การศึกษาทำให้มนุษย์มีความมุ่งหวังว่า
เขาจะเอาชนะมนุษย์กันเองได้ และสามารถเอาชนะธรรมชาติซึ่งเป็นเงื่อนไขหลักในการดำรงชีวิตอยู่ของมนุษย์ได้
ที่ อ.ชัชวาล ได้ให้ตัวอย่างในเรื่องนี้นะครับ. ในเรื่องของกระบวนการศึกษา เท่าที่เราคุยกันมา กระบวนการศึกษาในปัจจุบัน โยงกลับไปสู่ประเด็นเมื่อสักครู่นี้ที่ อ.นิธิ พูดถึงว่า เวลาที่เราพูดถึงการเบียดเบียนนี่ มันทำให้เรารู้สึกเบียดเบียนสิ่งอื่น รวมทั้งเบียดเบียนตนเองด้วย. แต่กระบวนการที่เราจัดการศึกษากันอยู่นี้ ผมอยากจะบอกว่ามันเป็นกระบวนการที่ทำให้เกิดปรปักษ์. ปรปักษ์คือฝ่ายตรงกันข้าม หรือฝ่ายอื่นที่เราจะต้องเอาชนะ ไม่ว่าจะทำอย่างไรก็แล้วแต่. ผมคิดว่าในปัจจุบันที่ อ.ชัชวาลได้พูดถึงว่านักศึกษา 2 คน ทำข้อสอบออกมาแล้วบอกว่า เขาตอบข้อสอบตรงกัน แล้วเขาก็กอดกันด้วยความรู้สึกเป็นสุข แต่เมื่อไหร่ก็ตาม เขาไปสมัครแข่งขันทำงาน, เขาอาจจะไม่กอดกันแล้วครับ เพราะเขาจะมีความรู้สึกว่าแย่เลยที่อีกคนหนึ่งตอบเหมือนฉัน แล้วใครจะเป็นผู้ชนะล่ะ. เขาจะต้องรู้สึกเป็นสุขเมื่ออีกคนหนึ่งตอบผิด เพราะเขาจะได้เป็นผู้ชนะ. ฉะนั้น กรณีที่เรากำลังพูดถึงว่าทำให้เกิดปรปักษ์นี่ เป็นกระบวนการที่สำคัญในปัจจุบัน ซึ่งกระบวนการจัดการศึกษาในทุกวันนี้กำลังเป็นอยู่. เพราะในแวดวงการศึกษา มันทำให้เกิดปรปักษ์ขึ้นอย่างสูงยิ่ง และมีความเป็นอื่นสูงมาก. และเมื่อเกิดความเป็นอื่นแล้ว กระบวนการทำลาย หรือเบียดเบียน หรือความรุนแรงอันเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับสันติภาพ มันเกิดขึ้นอย่างปกติและเคยชิน. ผมมีความรู้สึกว่า มันปกติเลยสำหรับคนที่มีการศึกษาแบบนี้ มีความสุขจากการที่เขาได้ชนะคนอื่น แล้วเขามีความสุขกับการที่เขาได้และคนอื่นยังไม่ได้. ประเด็นเหล่านี้ ผมคิดว่าพวกเราที่อยู่ในแวดวงการศึกษา...น่าสนใจมาก ผมขอจบลงด้วยประสบการณ์เล็กๆที่ผมอยากจะเล่าให้ฟัง. ที่ผมพูดถึงเรื่องความเป็นปรปักษ์ หรือความรู้สึกเป็นสุข... ผมนึกถึงภาพ 2 ภาพ คือภาพที่ผมเป็นเด็ก, ผมมีความสุขมากเมื่อวันหนึ่ง ผมสอบได้ที่หนึ่งของห้องเรียน และจากการที่ผมเป็นคนตัวเล็กที่ปกติแล้วจะต้องไปอยู่ปลายแถว และเป็นวัฒนธรรมของโรงเรียนผมที่ว่า ถ้าใครสอบได้ที่หนึ่ง เขาจะยกให้เป็นหัวหน้าห้อง เมื่อเป็นหัวหน้าห้องก็จะไปยืนอยู่ทีหัวแถวเลย เรื่องความสูงต่ำไม่เกี่ยว... ผมรู้สึกว่าวันนั้น โลกทั้งโลกเป็นของผมเลย เพราะไปยืนอยู่เหนือผู้อื่นได้นะครับ ผมมีความสุขมากๆเลย... แต่ความรู้สึกนี้นะครับ ผมเกิดความรู้สึกเปลี่ยนแปลงอย่างมากคือ เมื่อต้นปีนี้, ผมจำเดือนไม่ได้ ผมเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่าการบรรลุธรรมขั้นสูง เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่จังหวัดลำปาง คือผมถูกทำให้มีความจำเป็นประการหนึ่ง ซึ่งต้องไปสอบเอาใบประกาศเป็นผู้ประกาศข่าวทางสถานีวิทยุโทรทัศน์... ผมต้องฝืนใจและต้องไปนะครับ และกระบวนการสอบทำให้ผมเกิดความรู้สึกอะไรบางสิ่งบางอย่างที่ดีมาก คือ เมื่อเราไปสอบ เราต้องไปนั่งรอตั้งแต่เช้า และเพื่อนผู้เข้าร่วมสอบจะท่องกัน ท่องคำราชาศัพท์ ท่องข่าว และจะต้องอ่านออกเสียงชื่อบุคคล เช่น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ อะไรอย่างนี้, ออกเสียงกันดังระงมไปหมด. แล้วหลังจากพวกสอบภาคเช้า... ผมสอบภาคบ่าย, คนที่สอบภาคเช้าแล้ว เขาก็จะมาลุ้นกันว่า เขาได้หรือเขาตก. ถ้าใครได้คะแนนต่ำกว่า 50 ก็จะตก แล้วคนทุกคนเมื่อรู้ว่าคะแนนต่ำกว่า 50 มันเหมือนกับมีเพรชฆาตหรือใครที่ออกมาจากห้องกรรมการ แล้วถือกระดาษมาปึกหนึ่งและอ่านเรียกรายชื่อ เพื่อประกาศว่าตกหรือได้. เพราะฉะนั้น ทุกครั้งที่สอบตก ทุกคนก็จะเสียใจหรือเศร้ากัน. ผมเองก็ถูกทำให้อารมณ์เครียดขึ้นมาเรื่อยๆ เริ่มมาตั้งแต่เช้าแล้วนะครับ พอมาถึงเวลาตอนบ่ายๆซึ่งเป็นเวลาที่ผมจะต้องสอบ ก็มีคนเข้ามาปลอบประโลมผมต่างๆนาๆ บอกว่า, อาจารย์ไม่ตกหรอก อาจารย์เป็นอาจารย์ อาจารย์เป็นถึงด๊อกเตอร์นะครับ อาจารย์ไม่ตกหรอก... ผมก็เกิดความเครียดยิ่งขึ้นไปอีก โดยปกตินะครับ ผมไม่อ้อนวอนพระเลย แต่วันนั้นขอโทษครับ ผมต้องอ้อนวอนพระ, แต่ไม่ได้อ้อนวอนให้ผมสอบได้นะครับ ผมบอกว่า ถ้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์มีจริงในสากลโลกนี้ วันนี้ขอให้ผมสอบตก.... เพราะผมมีความรู้สึกว่า ถ้าผมสอบได้ ผมจะไปเหยียบย่ำอารมณ์ของคนจำนวนมากเลย แต่ถ้าผมสอบตก คนจะมีอารมณ์ที่มีความสุขที่สุด เพราะจะทำให้คนจำนวนหนึ่งบอกว่า นั่นไง...อาจารย์ที่เป็นด๊อกเตอร์ยังสอบตกเลย มันเป็นความรู้สึกที่เป็นสุขอย่างยิ่งเลย. หลังจากที่ผมสอบเสร็จแล้ว ผมก็นั่งรอด้วยความรู้สึกว่า ให้เขาประกาศว่าผมสอบตกเถอะ... ประมาณสักบ่ายสองโมงหรือบ่ายสามโมง แล้วมีคนเอาใบประกาศมาให้ผม และบอกว่าผมสอบตก ได้ 39 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 และเป็นการตกที่เป็นความสุขมากเพราะว่า คนจำนวนมากจะได้คะแนนเกินนั้น 40 กว่า 45, 46, 50 กว่า แล้วพอผมเอาใบประกาศนี้ไปให้เพื่อนๆนะครับ เขามีความสุขมากเลย แล้วผมก็มีความสุขมากเลยที่ผมมีความสุขที่สุดในวันนี้ที่ได้มีส่วนร่วมในการแบ่งเบา หรือแบ่งปันอารมณ์แห่งความเจ็บปวด ผมกลับมาจากลำปาง ผมมีความสุขมาโดยตลอด ผมเพิ่งรู้วันนั้นเองนะครับว่า ผมบรรลุธรรมแล้วว่า กระบวนการที่เราถูกหลอกตลอดมาให้เรามีความสุขกับการที่เราชนะผู้อื่น หรือเหนือกว่าผู้อื่น เป็นความสุขที่จอมปลอม และนำมาซึ่งความรุนแรง ไม่มีทางที่จะเกิดสันติภาพได้. วันนั้นผมกลับมาด้วยความดีใจ ยังไม่ได้เรียนอาจารย์ทุกท่านเลยว่า ผมมีความสุขมากเลยที่สอบตก ได้ 39 คะแนน. เอาละครับ ขอบคุณมากครับ สมเกียรติ
:
หลังจากที่ฟัง อ.ประมวลจบ มันมองได้สองแง่นะครับ... แง่แรกถ้ามองในเชิงจิตวิทยา
อาจารย์อาจจะเป็นพวก masochist คือชอบความเจ็บปวด, แต่ในทางกลับกัน ถ้ามองในเชิงพุทธศาสนา
อาจารย์มีความรู้สึกเหมือนพระโพธิสัตว์ เพราะมีความเมตตาต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย
ยอมรองรับความทุกข์ยากของคนอื่น โดยยอมได้รับความทุกข์ในฐานที่อยู่ต่ำสุด
|