นิธิ เอียวศรีวงศ : ผมขอพูดถึงพัฒนาการขั้นสุดท้ายตามวิธีผม ซึ่งอาจจะทำให้ชัดขึ้นหรือมัวลงผมก็ไม่แน่ใจ. คืออย่างนี้นะครับ ก่อนที่จะถึงขั้นสุดท้ายที่เรียกว่าโลกาภิวัตน์นี่ คือขั้นที่คุณมีทุน คุณไม่ต้องทำอะไร คุณเอาทุนไปให้คนอื่นเขาทำ แล้วคุณก็ไปหาผลประโยชน์จากทุนที่คุณลงไปนี่ ซึ่งก็เป็นการเอาแรงงานในรูปหนึ่ง แต่เป็นแรงงานที่ใช้สมองมากหน่อย แล้วก็คนอื่นๆก็ไปขูดรีดแรงงานที่มันไม่ต้องใช้สมองในประเทศของตัวเองต่อไป.

เราจะพบได้ว่าวิธีนี้มันค่อนข้างจะกำไรน้อย เพราะว่าคุณจะต้องเข้าไปแทรกแซงให้การลงทุนของคุณนี้ปลอดภัยพอสมควร คุณจะต้องไปรบในเวียดนาม คุณจะต้องทำอะไรหลายอย่างให้ทุนที่คุณเที่ยวไปลงๆไว้นี่ปลอดภัย.

ทีนี้พัฒนาการขั้นต่อมาก็คือว่าอย่างนี้ ...ทุนก็ยังลงอย ู่เพราะยังมีผลกำไรกลับคืนมาค่อนข้างมากพอสมควร ...ก็คือสิ่งที่เรียกในภาษาฝรั่งว่า new economy หรือเศรษฐกิจใหม่. เศรษฐกิจใหม่นี้แปลกมาก คือ คุณแทบจะไม่ลงอะไรเท่าไหร่เลย แต่คุณได้กำไรมโหฬารเลย.

หมายความว่า ในอเมริกาทุกวันนี้เขาบอกว่า อเมริกันส่งสินค้าออกมีน้ำหนักเท่ากับเมื่อร้อยปีที่แล้วมา. คือหมายความว่า สิ่งที่อเมริกาส่งออกไปขายทั่วโลกทุกวันนี้ ไม่มีน้ำหนักเลย เช่น software เป็นต้น. ที่สำคัญกว่า software, ซึ่ง software คุณจะเห็นได้ชัดๆเลยว่า ไม่ต้องใช้น้ำหนักบรรทุกอะไรเลย, ที่เห็นได้ชัดๆกว่าอันนั้น เป็นต้นว่า คุณเอาแฮมเบอร์เกอร์มาขาย. แฮมเบอร์เกอร์ที่ขายในเมืองไทยทุกวันนี้ จริงๆแล้วมันใช้วัตถุดิบในประเทศไทยมากขึ้นๆนะ, เดี๋ยวนี้มันมีแฮมเบอร์เกอร์แบบไทยๆด้วย ข้างในเป็นพวกผัดอะไรไทยๆ อะไรบ้างก็ไม่ทราบ พริกเพิ๊ก หรือหมูเหมออะไรนี่ เดี๋ยวนี้ก็เอามาจากเมืองไทยนี่ล่ะ, ในการที่จะเอามาขายเป็นแฮมเบอร์เกอร์. แต่อเมริกันได้เงินเพราะคุณใช้ชื่อว่าแม็คโดน่อล, และอเมริกันได้เงินเพราะว่าการที่คุณจะใช้ชื่อว่าแม็คโดน่อลนั้น มันมีสูตรการจัดการอันหนึ่ง ซึ่งต้องทำตามนั้น แล้วเขาก็เก็บหัวคิวตรงนั้น.


บทความถอดเทป ต่อจากหน้าที่แล้ว



อานันท์ กาญจนพันธุ์ : นำการบรรยายและเสวนา
จัดที่ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เชียงใหม่ / 3 กุมภาพันธ์ 2544

Thai Culture and Globalization
Midnight University's lecture & dialogue

จะพบว่า อเมริกัน export เจ้าแฮมเบอร์เกอร์มาให้เรา ไม่มีน้ำหนักเลย. ถึงเราจะกินกี่ตันก็แล้วแต่มันไม่มีน้ำหนัก. New Economy หรือเศรษฐกิจใหม่ก็คืออันนี้. จะเห็นได้ว่า ถ้าเป็นอย่างนี้ คุณจะทำแต่ new economy ในประเทศคุณ มันก็ไม่สามารถมีใครกิน software ยำได้ ใช่ไหม ? ฉะนั้นมันจะต้องมีการผูกสัมพันธ์กันทั้งโลกนี้ ให้แต่ละคนแต่ละกลุ่มมันมีบทบาทในการผลิตที่ไม่เหมือนกัน.

ผมขายสมอง ขายสิ่งที่ไม่มีน้ำหนัก. พวกคุณก็ไปผลิตสิ่งที่มีน้ำหนัก แล้วก็ส่งเงินมาให้ผม ผมก็ไปซื้อสิ่งที่มีน้ำหนักของคุณนี่ในราคาถูกๆมาบริโภค. เพราะฉะนั้น ระบบ new economy คุณไม่สามารถที่จะไปคิดถึงประเทศๆเดียว หรือแม้แต่ทวีปๆเดียว อย่างเช่น ยุโรปนี้ไม่ได้, คุณต้องคิดถึงทั้งโลก มันถึงจะสามารถทำงานต่อไปได้. แล้วอย่าคิดว่าทั้งโลกนี้จะเป็น new economy หมด, มันเป็นไปไม่ได้เพราะว่า ทั้งโลกก็ต้องมานั่งกิน software ยำกันหมดทั้งโลก. มันจะต้องมีใครทำอะไรสักอย่างออกมาได้.

ทีนี้ไอ้สินค้าที่ไม่มีน้ำหนักเหล่านี้นี่ จะขายมันได้นี่ มันต้องไปกับตัววัฒนธรรม, อย่างที่อาจารย์อานันท์ พูดเมื่อสักครู่นี้. การที่คุณเข้าไปกินแฮมเบอร์เกอร์นี่ คุณไม่ได้ต้องการไปกินขนบปังกับไอเนื้อที่หนีบจั๊กแร้ แต่สิ่งที่คุณต้องการมากกว่าก็คือว่า คุณอยากจะไปบริโภค...ที่นี้เปลี่ยนเป็น postmodern บ้าง, คุณอยากไปบริโภคความหมาย. มันมีความหมายอยู่ในสิ่งนั้น และที่เราไปกินนี่ เราไปกินความหมายมัน.

สินค้าทุกวันนี้เขาไม่ได้ขายตัวสินค้า เขาขายตัวความหมาย. รถเบ๊นส์กับรถโตโยต้าแบบของผมนี่มันวิ่งได้เท่าๆกัน แต่ความหมายนี่มันต่างกันชิปเป๋งเลย. ฉะนั้นเขาจึงขายความหมาย เขาไม่ได้ขายสิ่งนั้น. ความหมายเกิดจากการนิยาม เกิดจากการที่คุณสร้างมันขึ้น. เพราะฉะนั้นโลกาภิวัตน์มันจึงต้องมาเน้นในเรื่องเกี่ยวกับวัฒนธรรม เพราะว่า มันจะเป็นผู้สร้างความหมาย ให้คนอื่นๆทั่วโลกรับความหมายเดียวกัน. แล้วเมื่อรับความหมายเดียวกัน คุณก็สามารถซื้อสินค้าที่ไม่มีน้ำหนักเหมือนกันได้. หมายความว่า แม็คโดน่อลของอินเดีย ก็ใช้ของในอินเดียนั้นแหละ แต่ชื่อแม็คโดน่อลเหมือนกัน ชื่อโคคาโคล่าเหมือนกัน มันมีสูตรการจัดการเดียวกัน.

Lotus นี่ผมดูแล้วทั้งร้านนี่ มันผลิตในประเทศไทยทั้งร้านเลยว่ะ เพราะว่ามันจะเล่นขายของถูกโดยให้ไทยผลิต แล้วถามว่าฝรั่งมันได้เงินตรงไหน ? มันได้เงินตรงชื่อ Lotus กับการจัดการซึ่งเป็นของมัน. แน่นอน ทุนก็มีส่วนอยู่ด้วย แต่ที่เป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้ได้กำไรก็คือสิ่งที่ไม่มีน้ำหนัก ซึ่งพูดถึงเมื่อสักครู่นี้ นั่นคือ "ชื่อ" กับ "สูตรการจัดการ" สำหรับ discount store แบบนี้, ที่เป็นของเขา.

ที่จริงเราก็ผลิตของไปขาย Lotus แล้วเราก็ไปซื้อของจาก Lotus กลับมาใช้. ที่จริงของที่เราขายที่ตลาดพยอมก็เหมือนกันนั่นแหละ แต่ว่ามันไม่มีความหมาย กับการซื้อของที่ตลาดพยอม มันไร้ความหมาย, มักก็เลยต้องสร้างความหมายของ Lotus ขึ้นมา, แล้วคุณก็เข้าไปซื้อควาหมายอันนั้นกลับมา. ผมคิดว่า ลักษณะหนึ่งของโลกาภิวัตน์ อาจจะไม่มีคนสร้างขึ้น แต่มันเป็นพัฒนาการขั้นสุดท้ายที่พูดถึงกัน คือเข้ามาสู่ new economy ที่ว่านี้

อานันท์ : ส่วนที่ผมพูดนี่เป็นทางด้านวัฒนธรรม ก็คือว่า มันร้ายกว่าปกติก็คือว่า, ทุนนิยมที่มันใช้แรงงาน มันยังสร้างความเป็นปัจเจกนิยมให้คนรู้สึกว่าเป็นปัจเจก. แต่ไอ้ขั้นที่มันมาเป็น new economy นี่นะครับ มันทำให้ความเป็นคนหมดความเป็นคน, ปัจเจกก็ไม่เหลือนะครับ. เหลือแต่เพียงยี่ห้อหรืออะไรต่างๆเหล่านี้ คือติดอยู่แค่นั้น ติดเพียงคำๆเท่านั้น.

เช่นว่า ติดอยู่กับคำที่เราพูดถึงเมื่อครู่นี้ เช่น คำว่า"คนไทย". คนไทยที่เรายังไม่รู้ว่าคืออะไร แต่เราไปติดอยู่ตรงนั้น อยู่กับสิ่งที่ไม่เป็นจริง. คือจินตนาการที่เขาเรียกกัน เราสร้างจินตนาการไปแล้ว เราก็ไปติดอยู่กับจินตนาการที่เราสร้าง. แล้วถ้าติดแบบที่เราควบคุมหรือออกคำสั่งกับมันได้ก็ดีนะครับ แต่เราไปติดกับจินตนาการที่เราสร้างซึ่งเราควบคุมมันไม่ได้ แล้วเราก็ยังเป็นทาสมันอีก

ผู้เข้าร่วมเสวนา : อาจารย์ค่ะ แล้วอย่างคนงานที่โรงงานในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นบริษัทของญี่ปุ่นนี่ อยากกินแม็คโดน่อลแล้วพยายามเก็บเงิน เพื่อมากินแม็คโดน่อลในเมืองนี่ เรียกว่าเป็นเหยื่อของโลกาภิวัตน์ไหม ? ถ้าไม่ใช่นี่ มีวิธิอธิบายเขาในแบบอื่นอย่างไรได้บ้าง ?

อานันท์ : ด้านหนึ่งนี่เราอาจจะเห็นเขาว่าเป็นเหยื่อของวัฒนธรรมบริโภคนิยม นั่นก็เป็นด้านที่เราพูดกันโดยทั่วไป. แต่เราไม่เข้าใจว่าคนงาน ซึ่งต้องทำงานอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมที่ถูกเอารัดเอาเปรียบแรงงาน ดังนั้น ก็เหมือนอย่างกับที่ผมบอกในเรื่องของชาวไอนุ หรือโอกินาวาที่ว่าเมื่อสักครู่นี้. เขาอาจจะรู้สึกว่าตัวเขาไม่มีอะไรเลยภายใต้โลกาภิวัตน์แบบนี้ ซึ่งเขาต้องกลายเป็นทาสของระบบบริโภคนิยม. ดังนั้น การไปบริโภคเหล่านั้น ด้านหนึ่งเหมือนกับว่าเขาตกเป็นทาส แต่อีกด้านหนึ่ง เขาต้องการพยายามที่จะสร้าง identity อะไรบางอย่าง, แต่เขาก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรนะครับ. ทำผ่าน...หรือจะมาเคลื่อนไหวผ่านสหภาพแรงงาน ก็ทำไม่ได้ เพราะที่นั่นเขาไม่ให้ตั้งสหภาพ. ดังนั้นก็มีทางเดียวก็คือว่า จะต้องหาทางที่จะมาทำให้ตัวเองรู้สึกว่า มันไม่หมดสิ้นของความเป็นคน ยังมีความเป็นมนุษย์อะไรบางอย่างอยู่โดยผ่านสัญลักษณ์ของต่างๆประเทศที่ว่านี้ คือเป็นอะไรที่มัน modern หรือทันสมัยหน่อย. ไม่ใช่ว่าเป็นคนงานแล้วจะต้อง คล้ายๆกับว่าถูกเหยียบถูกย่ำหรือถูกโขกสับตลอดเวลา. คือมันมีทั้งสองด้าน.

แต่ทีนี้การพูดแบบนี้มันก็เสี่ยงนิดหน่อยตรงที่ว่า ...บางคนบอกว่า มองทั้งสองด้านแล้วก็ยังไง ? ประเด็นก็คือว่า ถ้าเผื่อมีใครไปต่อจากตรงนี้ออกไป มันจะทำให้เกิดมีการรวมตัวขึ้นมาเป็นกลุ่ม. เพราะพูดง่ายๆก็คือว่า โลกาภิวัตน์นั้นมันทำลายกลุ่ม ทำลายความเป็นตัวคนลงไป. ดังนั้นไอ้การต่อสู้ก็คือว่า เปิดพื้นที่ของความเป็นกลุ่มที่เราเรียกว่าสิทธิชุมชน เปิดพื้นที่อะไรก็ได้. ไม่ว่าการรวมกลุ่มชนิดไหนก็ได้ เพราะมันจะเป็นเครื่องมือของมนุษย์ในการที่จะสร้างความรู้สึกที่เป็นตัวตนขึ้นมา. อย่างที่เมื่อสักครู่พูดว่า เราจะนึกถึงตัวเราเองนี่ ตัวเราเองก็นึกไม่ได้เพราะว่าเวลานึกนี่ มันนึกผ่านความรู้ที่มันสร้างขึ้นมา เพราะแม้แต่ความสุขคุณยังดื่มได้เลย ดังนั้น นับประสาอะไรกับอย่างอื่น.

ผู้เข้าร่วมเสวนา : เท่าที่ฟังอาจารย์มาแล้วก็รู้สึกว่า อยากจะตั้งมุมมองนะครับว่า ณ กระแสปัจจุบัน มันเหมือนกับกระแสการต่อสู้. ในอดีตเมื่อประมาณ 20 กว่าปีที่ผ่านมา มันมีการพูดถึงว่าอยากจะให้บ้านเมืองนี้เป็นสังคมนิยม เป็นสังคมเพื่อส่วนรวม เป็นสังคมเพื่อคนส่วนใหญ่. กับมันมีแนวคนกลุ่มอำนาจอยู่ พวกเป็นประชาธิปไตยกับขุนนาง ที่มีทหาร มีพ่อค้า ร่วมกับทุนต่างๆ, ซึ่งในอดีตก็คือเป็นทุนใหญ่เข้ามา. พอหลังจากถัดจากนั้นมา มันกลายเป็นการต่อสู้คล้ายๆกับ 2 แนวทาง คือ พรรคการเมืองก็ไปเล่นเกมส์กับการนำเสนอเชิงนโยบาย ซึ่งมันก็ไม่ตอบสนองอะไรเลยทั้งสิ้น. พอมาถึงกระแสปัจจับัน ผมรู้สึกว่ามันกำลังต่อสู้ทางแนวคิด ที่มันขยายจากทุนใหญ่กลายเป็นทุนผูกขาดทั้งหมด.

ทีนี้พอมันเป็นทุนผูกขาด...เมื่อก่อนมันเป็นอเมริกา เป็นรัฐใหญ่ๆ แต่ ณ ปัจจุบันมันกลายเป็นการรวมบริษัทข้ามชาติ ที่ทำให้มันไร้พรมแดน เพื่อว่ามันจะครอบงำในภาวะเศรษฐกิจ ครอบงำภาวะทางวัฒนธรรม ครอบงำทุกๆเรื่อง. ผมก็เลยรู้สึกว่าในปัจจุบัน เราอาจจะมองในเชิงการต่อสู้ว่า ในเชิงทิศทางอุดมการณ์ทางสังคม หรือแนวคิดทางสังคม เราจะเอาโลกาภิวัตน์หรือเราจะไม่เอาโลกาภิวัตน์. แล้วถ้าโลกาภิวัตน์มันมีข้อดีข้อเด่นอย่างไร หรือว่ามันไม่มีเลย. หรือถ้าเราไม่เอาโลกาภิวัตน์ อย่างที่อาจารย์ว่าหรือเปล่า คือส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่น ส่งเสริมวัฒนธรรมชุมชน เข้าใจความหลากหลายของพ่อแม่พี่น้องในส่วนทั้งหมด เพื่อจะรู้ว่าตัวเราเป็นอย่างไร ? เพื่อเราจะได้ต่อสู้กับโลกาภิวัตน์ว่า โลกาภิวัตน์มันเป็นอย่างไร ?

เพราะฉะนั้น ผมคิดว่ามันกำลังมาถึงหัวเลี้ยวหัวต่อของแนวคิดอุดมการณ์ทางสังคมซึ่งมันกำลังต่อสู้กันอยู่ว่า คุณจะเอาโลกาภิวัตน์หรือว่าคุณจะไม่เอาโลกาภิวัตน์ อะไรทำนองนี้

อานันท์ : ผมคิดว่าคำถามนี้ถามไม่ได้ว่า เราจะเอาหรือไม่เอา. เพราะว่า เอาไม่เอา มันเอาเรา... ดังนั้นมันจึงไม่มีโอกาสถาม. ประเด็นก็คือว่า ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์นี้ มันมีอะไรที่ผู้คนจะสามารถรักษาความเป็นตัวตนอยู่ได้อย่างไร ? นี่เป็นประเด็นมากกว่า.

ถ้าเผื่อจะว่ากันไปตามทฤษฎีก็คือว่า โลกาภิวัตน์มันจะมาพยายามทำให้คุณเป็นชายขอบตลอด ดันคุณจนตกขอบ. และไอ้เกณฑ์ที่มาดันให้คุณตกขอบนี่ เป็นเกณฑ์ที่เราคุ้นเคยอยู่เสมอก็คือ"ความเป็นไทย"นั่นเอง มาดันให้เราตกขอบไปเองด้วย. คือไอ้ระบบนี้มันสามารถที่จะมาสร้างคติต่างๆที่เราคุ้นเคยทั้งหมด เอามาเป็นดาบที่ใช้ฟันตัวเราเองในรูปแบบของการผลักให้เป็นชายขอบ.

ดังนั้น วิธีการที่จะต่อสู่ภายใต้บรรยากาศ หรือภายใต้กระบวนการเหล่านี้ มันก็คือ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจความหมายความหลากหลาย. ดังนั้น ในเวลานี้ผมถึงต้องพยายามผลักดันเรื่องว่า คุณต้องเข้าใจว่า เราจะต้องอดทน เข้าใจว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่มีความหลากหลาย และแตกต่างกันมากขึ้น. เมื่อกระแสโลกาภิวัตน์พยายามจะทำให้ทุกอย่างมันอธิบายได้ด้วยอย่างเดียว เราต้องบอกว่า ไอ้สิ่งเดียวกันนั้นมันอธิบายได้ตั้งหลายอย่าง. อันนี้ในแง่ของหลักการนะครับ

แต่ในแง่ของความเป็นจริงก็คือว่า มันจะต้องทำให้เห็นว่าในแต่ละสังคมนั้น มันมีความหลายหลายอย่างไร ? ความหลากหลายอย่างหนึ่งที่แสดงออกได้ก็คือ "ความเป็นท้องถิ่น". ดังนั้น การที่เราพูดว่าความเป็นท้องถิ่น สิทธิชุมชน มันก็คือกระบวนการที่สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของผู้คน ที่ทนไม่ได้กับการที่จะต้องทำให้ตัวเราเองไร้ความเป็นคน. พูดง่ายๆก็คือ กระบวนการโลกาภิวัตน์มันลดทอนความเป็นมนุษย์ ดังนั้น การที่จะสร้างความเป็นมนุษย์ก็คือ ทำให้เรารู้ว่า เราก็มีพรรคพวก มีคนที่เห็นคล้อยด้วยกันเป็นกลุ่มๆ ซึ่งก็ไม่จำเป็นต้องเหมือนกันหมด.

เมื่อก่อนนี้ เราอาจจะบอกว่าต้องเหมือนกันหมด เหมือนกันหมดแล้วแปลว่าดี. เมื่อก่อนเราจะพูดกันว่า "เอกลักษณ์" แต่เดี๋ยวนี้เราไม่พูด เราใช้คำว่า "อัตลักษณ์". แต่คำว่า"อัตลักษณ์"ไม่ได้หมายความว่าคนๆหนึ่ง. อย่างเช่นเราบอกว่า"สิทธิสตรี", สิทธิสตรีไม่ได้หมายความสิทธิของปัจเจก, ผู้หญิงแต่ละคน. "สิทธิเด็ก"ไม่ได้แปลว่าเด็กแต่ละคน. หรือ"สิทธิของคนติดเชื้อเอดส์" ไม่ใช่ว่าคนแต่ละคน แต่หมายความว่า การที่เขาสามารถรวมตัวกัน เพื่อพิทักษ์สิทธิของความเป็นเพศ หรือความเป็นเด็ก หรือความเป็นคนติดเชื้อเหล่านั้น. สิ่งเหล่านี้มันเป็นกระบวนการที่เราจะเห็นได้ว่ามันมีความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ในการแสดงให้เห็นถึงว่า"ความแตกต่าง"ต่างหาก ที่มันมีความสำคัญในตอนนี้ ภายใต้กระแสของการถูกลดทอนให้เหลือเป็น...ไม่ใช่เหลือหนึ่งนะ, แต่มันไม่เหลือหรือไม่มีอะไรเลย... คือถูกเขานิยามมาหมด

สุชาดา จักรพิสุทธิ์ : ขออนุญาตคิดต่างออกไปหน่อยนะคะ คือไม่ได้มองโลกาภิวัตน์เป็นเรื่องของกระบวนการหรือโครงสร้างอะไร แต่คิดว่า ลองมองในมุมว่าโลกาภิวัตน์เป็นเรื่องของความเป็นมนุษย์ คือ กำลังคิดว่ามันเป็นปัญหาในทางจิตวิทยาด้วยซ้ำในความเป็นมนุษย์. มันจะมีอยู่สองด้านในความเป็นมนุษย์คือ หนึ่ง, อยากจะเป็นตัวเอง มีความเป็นหนึ่งเดียว เป็นตัวเอง. อีกด้านหนึ่งก็คือ อยากเหมือนคนอื่นเขา.

ตัวอย่างที่ อ.อานันท์ยกมานี่ ไม่ว่าชนกลุ่มน้อย ซึ่งหันไปนับถือศาสนาคริสต์เพื่อว่าจะได้เชื่อมโยงตัวเองว่าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมใหญ่ หรือว่ามีความเหมือนกับอะไรอยู่ อย่างนี้, หรืออย่างว่ากรณีอย่างเช่นประเทศรัสเซียล่มสลาย แล้วก็เกิดการแตก แยกออกเป็นประเทศอิสระ ประเทศเล็กประเทศน้อย ก็ยิ่งเกิดแรงอีกด้านหนึ่งซึ่งจะพยายามรวบรวมกลุ่มประเทศเล็กประเทศน้อยเหล่านี้ เข้ามาให้เป็นหนึ่งเดียวให้ได้. หรือปัญหาที่ชนกลุ่มน้อยในอินโดนีเซีย หรืออะไรพวกนี้ลุกขึ้นมาจับอาวุธต่อต้าน เพื่อต้องการแยกตัวเป็นอิสระ. รูปธรรมเหล่านี้ มันสะท้อนสองด้านของความเป็นมนุษย์ที่ว่านี้. และเมื่อมันถูกใช้เป็นเครื่องมือโดยผ่านสื่อ ผ่านเครื่องมือเทคโนโลยี ผ่านกลไกการศึกษาอะไรก็แล้วแต่. สิ่งเหล่านี้...มันถูกผลิตซ้ำจนกระทั่งมันได้กลายเป็นอะไรซึ่ง เริ่มจะอธิบายเชื่อมโยงกับความเป็นมนุษย์ได้ยากขึ้น.

จริงๆแล้ว วัฒนธรรมมันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นหลังความเป็นมนุษย์ด้วยซ้ำ. กำลังคิดว่า โลกาภิวัตน์ มันถูกตั้งคำถามในยุคที่เราติดต่อสื่อสารกับมนุษย์ต่างดาวแล้ว...สมมุตินี่, ไอ้รูปธรรมของความเป็นโลกาภิวัตน์ของยุคที่เราติดต่อสื่อสารกับมนุษย์ต่างดาวแล้วนี่ ก็ตงแตกต่างไปจากขณะนี้. เพราะฉะนั้นก็เลยอยากจะมองอีกมุมหนึ่งแค่นี้ค่ะ

เกรียงศักดิ์ : หลังจากฟัง อ.อานันท์ แล้ว, ผมรู้สึกว่านับจากนี้เป็นต้นไป พอโลกาภิวัตน์มันขยายตัวไปอย่างมาก, หน่วยของชุมชนหรืออะไรต่างๆก็ตาม คราวนี้มันก็จะระเบิดเลย. มันจะมีความแตกต่างหลากหลาย ความสลับซับซ้อนของกลุ่ม. สมัยก่อนเรานิยามหน่วย นิยามเรื่อง"รัฐชาติ" ซึ่งก็จะมองเห็นว่า มันมีหน่วยที่เป็นพื้นฐานสำหรับคนที่จะมีการติดต่อสัมพันธ์กันอะไรต่างๆ. แต่เดี๋ยวนี้ไม่ได้แล้ว เพราะหน่วยต่างๆ, ชาติในความหมายเดิม ...ไม่ใช่"ชาติไทย" ในแบบที่อาจารย์กำลังพูดนะครับ, ชาติในความหมายเดิมซึ่งเป็น"รัฐชาติ"มันก็จะค่อยๆสูญสลาย ค่อยๆไร้ควาหมมายลง. แต่ไอ้หน่วยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปะกากะญอกลุ่มหนึ่ง, หรือมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน, หรือชาวอะเจะ, หรืออะไรต่างๆ ก็จะกลายเป็นหน่วยที่มันสลับซับซ้อนมากขึ้น.

แต่พอมันมีการพยายามที่จะสร้างอัตลักษณ์ หรือ identity ที่มันมากมายสลับซับซ้อนขณะนี้. ต่างฝ่ายต่างนิยามและคนๆหนึ่ง ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสังกัดหน่วยๆเดียวด้วย. คนๆหนึ่งอาจจะสังกัดหน่วยต่างๆมากมาย เช่นสังกัดมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ในขณะเดียวก็ไปสังกัดกับหน่วยอื่นๆด้วยอีกมากมาย มันเกิดความสลับซับซ้อนมากขึ้น. ตรงนี้มันจะไม่นำไปสู่ความขัดแย้งมากขึ้นหรือ.

มันมีทางไหมที่จะนำไปสู่ความรุนแรง ? เพราะว่าคนมันสร้างนิยาม หรืออัตลักษณ์ที่แตกต่างกันมากมาย. หรือว่าจริงๆแล้วตรงนี้คือสิ่งที่ดี เพราะว่าในท้ายที่สุดแล้ว มันอาจจะสามารถที่จะสร้างความหมายใหม่ๆขึ้นมาในการแก้ไขปัญหาต่างๆ. ไม่ว่าจะแก้ปัญหาในแง่ของทรัพยากรธรรม- ชาติ อะไรต่างๆ

พลอยศรี : เมื่อสักครู่ที่อาจารย์ยกตัวอย่างชาวไอนุสร้างตัวตนขึ้นมา หนูอยากจะถามอาจารย์ว่า ในกรณีที่, อย่างคนเชียงใหม่หรือคนล้านนานี่, ถ้าเรามองการท่องเที่ยวเป็นเหมือนกระแสโลกาภิวัตน์ แล้วก็มีการนำเอาการแสดงก็ดี หรือว่าศิลปวัฒนธรรมของคนล้านนาออกมา อาจารย์มองว่าเป็นการสร้างตัวตน หรือว่าเป็นการหาพื้นที่สำหรับคนล้านนา หรือว่าเป็นการพรากวัฒนธรรมมาจากชุมชน.

อานันท์ : คือวิธีการวิเคราะห์แบบปัจจุบันนี้มันต้องมีบริบท คือว่า ถ้าเผื่อยกกรณีของชาวไอนุขึ้นมา และกับกรณีเชียงใหม่นี่ ต้องเข้าใจว่า ชาวไอนุนี้ถูกเหยียบ, แต่คนเชียงใหม่ไม่ได้ถูกเหยียบแบบนั้น. ดังนั้น ใช้อย่างเดียวกัน มันเป็นผลตรงกันข้าม. คือผลกลับกลายเป็นว่า เราไปสนองตอบต่อระบบบริโภคนิยม หรือต่อระบบโลกาภิวัตน์. หมายถึงว่า คือเราไม่สามารถวิเคราะห์อะไรได้โดยไม่มีบริบทมาเป็นตัวกำกับ. เพราะทุกอย่างมันมีสองด้าน แต่ด้านที่มันจะปรากฏ มันขึ้นอยู่กับบริบทที่ไปอธิบาย. อันนี้มองในแง่วิธีการวิเคราะห์.

แล้วถ้าจะพูดกับ อ.เกรียงศักดิ์ ก็คือว่า ปกติเวลาที่เราทำการวิเคราะห์นี่หรือดูอะไรต่างๆ ก็จะมองดูว่ากระแสใดกระแสหนึ่งมันเป็นแบบ...ถ้าหากใช้ ศัพท์ของผมก็คือ เป็น"การมองเชิงเดี่ยว". แต่ที่จริงแล้ว การที่มนุษย์เราจะอยู่เป็นหน่วยปัจเจกไม่ได้ มันจะต้องเป็นหน่วยทางสังคมตลอดเวลา.

หน่วยทางสังคม เราอาจจะเรียกว่าสิทธิชุมชน เราอาจจะเรียกว่าความเป็นไทย หรือเรียกว่าอะไร. หน่วยของความเป็นมนุษย์นี่นะครับ มันจะต้องมีคนนิยามมัน. ถ้าไม่มีการนิยาม เราก็ไม่รู้ว่าเราเป็นมนุษย์. ดังนั้นที่บอกว่า ความเป็นมนุษย์เป็นยังไง ? เราจะไม่รู้ว่าเราเป็นมนุษย์ จนกว่าจะมีชุมชนที่มานิยามอันนั้นขึ้นมา ถึงจะรู้ว่าเป็นยังไง.

เดี๋ยวนี้เรามองเรื่องสมบัติส่วนตัว เป็นต้นว่า อันนี้เป็นหนังสือของฉัน. ก็หมายความว่าเราสัมพันธ์กับหนังสือ. เราจะไม่รู้อันนี้เลย ถ้าเผื่อเขาไม่ได้มีการนิยามว่า ความเป็นปัจเจกมันเป็นสรณะขึ้นมา. พูดง่ายๆก็คือ ระบบทุนนิยมเวลานี้ มันกำลังนิยามไอ้พวกที่เป็นคติต่างๆให้เป็นตัวตนสำหรับเรายึดเหนี่ยว จนกระทั่งเราหมดสภาพที่เราจะมานิยามตัวเราเองได้. ดังนั้น วิธีการที่เราจะอยู่เป็นหน่วย อย่างใดนะครับ, ถ้าเรามองเป็นเชิงเดี่ยว เราก็จะลำบาก เพราะว่าในอนาคตนี่, อย่างที่อาจารย์ว่า มันจะต้อง...เราไม่ได้อยู่ในหน่วยเดียว เราอยู่ในหลายหน่วยและมันมีลักษณะเป็นเครือข่าย เป็นการโยงใยกันในหลายรูปแบบ มันเป็นไปในเชิงซ้อน มีความสัมพันธ์หลายอย่างพร้อมกันในขณะเดียวกันได้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง. ดังนั้นไอ้ตรงนี้เองที่มันจะทำให้ ความเป็นเชิงซ้อนนี่ละครับ มันจะรักษาความเป็นมนุษย์ได้ดีที่สุด. มากกว่าที่ปล่อยให้ถูกนิยามไปในเชิงเดี่ยว ซึ่งเวลานี้กระแสโลกาภิวัตน์มันกำลังทำให้เป็นอย่างนั้น. หมายความว่า กระบวนการมันจะเป็นตัวทำให้เราไม่สามารถมีพลังในการนิยามสิ่งที่เราต้องการจะเป็นได้.

ผู้เข้าร่วมเสวนา : ผมได้ยินที่อาจารย์พูดในตอนแรกถึงเรื่องเกี่ยวกับ globalization และอาจารย์อ้างถึงทฤษฎีมาร์กซิสท์ โดยเฉพาะพูดถึงเรื่อง fetishism กับของ George Lucas ในเรื่อง rectify หรืออะไรนี่ ผมไม่แน่ใจ...rectification. แล้วอาจารย์พูดถึงเรื่องภาพจำลอง ภาพที่เขาสร้างขึ้นมาเหนือจริง. ทำให้ผมนึกถึง...ต้องขอโทษนะครับถ้าจะพูดถึง Jean Baudrillard (จอง โบดิล่ารด์)นักสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศส. ผมมาคิดดูว่าจะใช้สิ่งนี้มาอธิบาย... แล้วอาจารย์ก็อ้างถึงมาร์กซิสท์.

คือ Jean Baudrillard นี่เขาจะเป็นพวก postmodern. แต่ของมาร์กซ์ เป็นยุคที่เขาเรียกว่าเป็น modern ได้. ตกลงว่า อาจารย์จะใช้ของมาร์กซ์เอามาใช้กับปัจจุบัน. อาจารย์อ้างทฤษฎีของ Jean Baudrillard มา. อาจารย์คิดว่ามันจะเอามาใช้แทนกันได้หรือเปล่า แม้แต่ Geoge Lucas เองซึ่ง อยู่ในช่วงยุคสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นมาร์ซิสท์ชาวฮังกาเรี่ยน. ก็คืออยากจะทราบว่า มันเอามาแทนกันได้หรือเปล่า.

ในยุค globalization ผมคิดว่ามันเกิดขึ้นมาจากการที่ มนุษย์คิดเทคโนโลยีขึ้นมา. อย่างที่คุณป้าพูด ผมก็เห็นด้วยนะครับ แต่ตัวหนึ่งที่คุณป้าขาดไปก็คือว่า ... globalization มีการพัฒนา, ผมจะไม่ใช้คำว่า โลกานุวัตน์ หรือคำว่า โลกาภิวัตน์ เพราะยังสับสนในภาษาไทย, แม้แต่บัญฑิตยสภายังเถียงกันอยู่ว่า ตกลงแล้วจะใช้คำไหนดี. ผมคิดว่ามันเกิดขึ้นมาพร้อมเทคโนโลยี ในยุคก่อนนี่ กว่าที่อีกวัฒนธรรมหนึ่งจะมีการแพร่เข้าหากันนี่ มันต้องใช้เวลานานมาก ยกเว้นว่าจะต้องมีสงคราม อย่างที่เมื่อสักครู่ว่าไว้เกี่ยวกับสงครามครูเสด ราวศตวรรษที่ 10-11 นะครับ มีการเผย แพร่วัฒนธรรมระหว่างพวกมุสลิมกับพวกคริสเตียน. แต่ปัจจุบัน ยกตัวอย่างเช่น ทีวี หรือแม้แต่ตัว internet ตัวนี้จะเป็นตัวแพร่ให้เกิด... ไม่ว่ามีอะไรเกิดขึ้นมาในมุมใดมุมหนึ่งของโลก อีกมุมหนึ่งก็จะเกิดมีขึ้นเช่นกัน. ก็ผมคิดว่า มันอยู่กันคนละบริบทหรือเปล่า.

และอีกอย่าง ผมเสนอว่า, ความจริงแล้วโลกาภิวัตน์มันไม่น่ามีอยู่จริง. ผมคิดว่าโลกาภิวัตน์ก็คือ"ความตายของระยะห่าง(the death of the distance). คือว่า เหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้น ณ จุดหนึ่งของโลก, แล้วอีกจุดหนึ่งก็รู้. แต่ในช่วงของการรับรู้นั้น มันเป็นภาวะลวง. แทนที่เราจะรับรู้. ยกตัวอย่างเช่น เกิดสงครามอเมริกาไปบอมบ์อิรัก เราอีกมุมหนึ่ง เราติดตาม CNN ซึ่งเป็นสื่อมวลชนของสหรัฐฯ. ปรากฏว่า เราก็รู้สึกว่า อเมริกาบอมบ์อิรักจริงๆ. ปรากฏว่า จริงๆแล้วมันเป็นเพียงแค่การทำสงครามกันทางสื่อ. เพราะการบอมบ์จริงกับภาพที่เกิดมันไม่เหมือนกัน. ผมก็เลยคิดว่า the death of distance หรือว่า globalization ส่วนหนึ่งนั้น มันค่อนข้างจะเป็นภาพลวง. ตกลงเราก็บริโภคกันเพียงแค่ระบบสัญลักษณ์ เราไม่เคยเห็น แม้แต่ตัวโลกาภิวัตน์ที่บอกว่า ทุนนิยมมันแพร่กระจายตั้งแต่ การล่มสลายของโซเวียต มันมีอยู่จริง, ผมว่ามันไม่ได้มีอยู่จริง...

อานันท์ : อย่างที่บอกไปแล้วนะครับ... บางคนบอกว่า ไอ้สิ่งเหล่านี้มันมีมาก่อน, แต่มันมีคนละแบบกับเดี๋ยวนี้นะครับ. อย่างเช่น ในสมัยจอมพล ป. อ้างความเป็นไทยเหมือนกัน. เพราะว่าความเป็นไทยมันเริ่มมีมาตั้งแต่ความเป็นรัฐชาติ มันเริ่มมีการนิยาม. เมื่อก่อนหน้านี้เราจะไม่รู้ว่า "ไทย"แปลว่าอย่างไร ? มันจะมีลักษณะที่ซับซ้อน เพราะว่า ตั้งแต่สมัยอยุธยามา เราก็ผสมผสาน.

ผมศึกษาเรื่องกลุ่มคนไทยทุกที่ที่มีคนไทยอยู่. คนไทยไม่เคยอยู่คนเดียว ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ? ผมไปมาทั่วโลกแล้ว ทั่วที่มีคนไทยอยู่นะครับ ไม่ว่าจะเป็นที่ตั้งแต่ อาหม ยัน สิบสองปันนา, ยัน เดียนเบียนฟู. ไม่เคยมีที่ไหนที่คนไทยอยู่โดดๆ. คนไทยอยู่และแต่งงานกับคนอื่นมาโดยตลอด ดังนั้นนี่ เขาจะไม่รู้สึกว่ามันต่างจากคนอื่นอย่างไร ? แต่การทีเราเดี๋ยวนี้มานิยาม แล้วใช้คำนิยามของเราแล้วไปกีดกัน อันนี้ผมคิดว่ามันเป็นผลที่ตามมาของกระบวนการที่มันขยาย ให้สิ่งเหล่านี้กลายเป็นวัตถุ. พูดง่ายๆก็คือ มันเปลี่ยนคุณค่าให้เป็นวัตถุเพื่อเอาไปใช้เป็นสินค้า เป็นกระบวนการของโลกาภิวัตน์ที่เป็นอยู่ทุกวันนี้. แม้ว่าจะดูเหมือนจะแก้ไขได้ในตัวมัน แต่ผลที่มันเกิดขึ้น มันกระทบกับคนมาก

ตอนที่ผมอยู่ในอเมริกาเมื่อปี 1980 กว่าๆนี่ ตอนนั้นผมรู้สึกว่าผมกลัวมากเลย. พอพูดถึง IBM พูดถึงบริษัท General Motor ผมคิดว่าตายละ! ไอ้พวกนี้มันจะมาฮุบบ้านเรา. ในสมัยนั้นเรากลัวไอ้ multi-national corporation คิดว่าไอ้นี่มันมาแล้วเราตายแน่เลย เราจะสู้มันไม่ไหว. พอมาเดี๋ยวนี้ อ้าว IBM กลับซีด, เพราะเกิดมี computer ตัวเล็กๆขึ้นมา. พูดง่ายๆก็คือว่า ภายในกลไกของระบบโลกาภิวัตน์หรือทุนนิยมระดับโลกนี่นะครับ มันมีการต่อสู้.

เมื่อก่อนนี้ อย่างมาร์กซิสท์นี่ไปเน้นจุดการวิเคราะห์อยู่ตรงที่การผลิต แต่ปรากฎว่าการต่อสู้ในเวลานี้มันกลับกลายเป็นการต่อสู้ในระบบของการบริโภค มันไม่ได้อยู่ในระบบการผลิตเท่าไร. คือผู้บริโภคสามารถเลือกได้, แม้แต่ว่าเมื่อสักครู่นี้บอกว่า ที่เล่าถึงในพม่าว่า เด็กวัยรุ่นไปนิยมชมชื่นบริโภคนิยมสมัยใหม่ แต่ปรากฏว่าการไปนิยมชมชื่น มันอาจจะมีวันพลิกกลับได้.

ยกตัวอย่าง เมื่อก่อนตอนที่ผมอยู่อเมริกาเหมือนกัน ผมเห็นที่เขาขายสินค้าที่เรียกว่า generic food นี่นะครับ. หมายถึงว่า เอาของใส่กระป๋องแล้วก็เขียนว่าสับปะรด ของในกระป๋องไม่บอกยี่ห้อเลยว่า เดลมองเต้ หรืออะไรนี่. แล้วผมบอกว่าไอ้นี่ขายไม่ออกแน่ ตอนหลังกลับไปมันกลับเยอะนะ เดี๋ยวนี้พวกชีวจิต หรืออะไรมันไปกันใหญ่ มันบริโภคทั้งนั้นนะครับ. คือในการบริโภคนี่ ในขณะที่เราดูเหมือนกับว่ามันเป็นการบริโภคนิยม หรือดื่มด่ำไปกับความสุขที่ดื่มได้. แต่ท้ายที่สุดแล้ว มันมีแรงต่อสู้เกิดขึ้นภายในระบบการบริโภคนั้นเองด้วย.

อันนี้มองในแง่ดีที่ว่า มันมีสองด้านที่อาจจะมีการแก้กันไปได้ แต่ว่า, ปัญหาคือว่า เวลามันถูกนำมาใช้ มันกระทบอย่างที่บอกเมื่อตะกี๊นี้, บอกว่า ถ้าเผื่อเราจะพัฒนา ก็อ้างการพัฒนาโดยที่ไม่เห็นค่าของความเป็นคนของคนอื่นเลย อันนี้ผมคิดว่ามันเป็นกระแสโลกาภิวัตน์เพราะว่า เราต้องการที่จะคล้ายๆกับว่าทำให้พัฒนาไปเรื่อยๆ ก็อ้างการพัฒนาในลักษณะต่างๆ, เพื่อที่จะไป...แล้วก็การอ้างการพัฒนานั้นอาจจะอ้างความเป็นไทย อ้างสิ่งแวดล้อมนิยม อ้างอะไรต่างๆนี่. ล้วนแล้วแต่มันเป็นคำศัพท์ที่มากับกระแสโลกทั้งสิ้น, รวมทั้งเรื่องของสิทธิด้วย.

การอ้างเรื่องของสิทธินี้ มันอ้างได้ทั้งด้านตรงและด้านกลับ. อาจจะเอาเรื่องสิทธินี้ไปเพื่อต่อสู้ หรือเอาเรื่องสิทธินี้ไปเป็นข้ออ้างเพื่อกีดกันทางการค้าหรือสิทธิของคนอื่นก็ได้ ได้ทั้งสองทาง. เพราะฉะนั้นไอ้สิ่งเหล่านี้ มันสร้างผลกระทบกับคนอยู่เหมือนกัน ถ้าเผื่อในขณะที่เราประสบอยู่ ซึ่งเราก็เห็นตัวอย่างมากมาย.

หรือตัวอย่างในภาคเหนือนี่เราเห็นได้ชัดเจนเลยว่า การที่อ้างเรื่องพวกนี้ ทั้งสิ่งแวดล้อมนิยมแล้วก็เอาไปทำลายคนกลุ่มน้อย หรือฃาวเขา และคนที่อยู่ตามที่ต่างๆซึ่งถูกผลกระทบของการพัฒนาทั้งหลายแหล่ ไม่ว่าจะเป็นที่ปากมูล คนจนในทุกที่ ทั้งหลายเหล่านี้. เราอาจจะบอกว่ามันห่างไกลโลกาภิวัตน์เหลือเกิน แต่ผลของมันนะครับ มาจากวิธีคิดที่ได้มาจากโลกาภิวัตน์ ที่ไปทำให้การพัฒนาก็ดี การอะไรต่างๆก็ดี กลายเป็นวัตถุ, คือกลายเป็นคติที่เอามาใช้สำหรับการละเมิดความเป็นมนุษย์ก็ได้. ตรงนี้ผมคิดว่ามันเป็นผลที่ตามมา ซึ่งมันอาจจะต่างจากสมัยก่อนที่อ้างไอ้คำพวกนี้อยู่บ้าง แต่ว่ามันได้ถูกนำมาใช้ในลักษณะที่ไปละเมิดความเป็นคนเสียทั้งหมดทีเดียว

อันนี้ยังมีจุดต่าง แต่ผมยังมองหรือหาคำอธิบายไม่ได้ชัดเจน ว่ามันจะต่างกันอย่างไร ? เพราะว่าระยะเวลามันใกล้กัน. แต่อย่างไรก็ตาม แม้แต่ความเป็นไทย มันก็เพิ่งเริ่มเมื่อตอนที่มีรัฐชาติ คือ ประมาณร้อยกว่าปีที่ผ่านมานี้นี่เอง. แต่ว่าปัจจุบันนี้ มันยิ่งทำยิ่งกว่ารัฐชาติเสียอีก. รัฐชาติมันเอามาใช้เพื่อที่จะกีดกันสิทธิของ...

สมัยนั้นจอมพล ป. เอามาใช้ก็เพื่อจะอ้างสิทธิที่จะขยายไปในประเทศเพื่อนบ้าน หรือไม่ก็เอามาใช้ในการกดพวกกลุ่มคนจีน ซึ่งก็หมายความว่า กลุ่มที่ไปสนับสนุนกลุ่มการเมืองอื่นที่ไม่ใช่กลุ่มตัวเอง แต่ไม่ใช่เป็นการทำลายความเป็นมนุษย์. เดี๋ยวนี้มันเอามาใช้เป็นการทำลายความเป็นมนุษย์ ไม่ใช่เพียงแค่ทำลายคู่ต่อสู้ทางการเมือง หรือเอาไปใช้อ้างในการขยายอำนาจอย่างสมัยจอมพล ป.

มันอาจจะมีความต่างกันอยู่นิดหน่อย เพราะว่าในปัจจุบัน"ความเป็นไทย" มันไม่ใช่เป็นเพียงรัฐชาติ. ความเป็นไทยมันกลายเป็นสินค้า. แต่ไม่ใช่แค่สินค้า มันกลายไปเป็นเกณฑ์สำหรับตัดสินในการที่จะให้สิทธิ หรือไม่ให้สิทธิ แล้วเอาไปโยงกับเรื่องอื่น เช่น เอาไปโยงกับเรื่องของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โยงกับเรื่องการพัฒนาหรือการไม่พัฒนา.

พูดง่ายๆก็คือว่า ทั้งหมดนี้เรารวมเรียกว่า มันเป็นกระบวนการ marginalization(การทำให้เป็นชายขอบ). คือ คุณค่าหรือสัญลักษณ์ที่สร้างขึ้นมาในระบบโลกาภิวัตน์ มันถูกนำมาใช้เป็นเกณฑ์ของการกีดกันคนให้กลายเป็นคนชายขอบในลักษณะต่างๆ. อันนี้หมายความว่า มันใช้ในสิ่งที่เราสามารถจะสังเคราะห์มาเป็นเชิงทฤษฎีได้...

ผู้เข้าร่วมเสวนา : เท่าที่ผมฟังมา ผมสงสัยว่า, "ผี"กับ"globalization" มันต่างกันไหมครับ ? ผีในวัฒนธรรมท้องถิ่น ถูกสร้างขึ้น ผีถูกให้ความหมาย ผีถูกทำขึ้นมาให้เป็นเรื่องของชุมชน ผีถูกทำขึ้นมาให้เป็นกฎเกณฑ์ต่างๆ ฟังแล้ว globalize ก็คล้ายๆกัน. มันต่างกันหรือมันเหมือนกันหรือเปล่า

อานันท์ : เกณฑ์ที่ globalize สร้างขึ้นมา มันใช้ขึ้นมาเพื่อกีดกันในการที่ปรับความสัมพันธ์ให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันขึ้น, อย่างที่บอกแล้ว. แต่ว่า"ผี"นี่ มันถูกนำมาใช้ในเชิงที่เป็นกฎ คือเป็นขึดนั่นเอง หรือเป็นพวกจารีตเพื่อใช้ปรับความสัมพันธ์ที่อาจจะมีการละเมิดต่อส่วนรวม, ให้คนเคารพในส่วนรวม. เพราะว่า ผีทั้งหมด...หรืออะไรที่เกี่ยวกับผีของชุมชน (ซึ่งไม่ใช่ผีแบบปัจเจก หรือผีที่เที่ยวมาหลอกมาหลอน) มันจะไปพันกันกับส่วนรวมทั้งสิ้น, เช่น ป่า, ของๆนั้นเป็นของส่วนรวม.

มนุษย์เรานั้นมีความรู้สึกที่จะเอาอะไรมาเป็นของตนเองหรือของส่วนตัวอยู่เสมอ ดังนั้น เมื่อไหร่ที่เราไปละเมิดของส่วนรวมคือ ของเขาต้องการใช้ทั้งหมด แต่เราต้องการที่นำเอามาใช้ของเราเพียงคนเดียว มันจะเกิดการละเมิด. ซึ่งตรงนี้ผีจะไปกำราบไม่ให้คนไปทำเช่นนั้นได้.

น้ำ ดิน หรืออะไรก็แล้วแต่ที่เป็นของส่วนรวมจะมีผีทั้งหมด. พูดง่ายๆก็คือ ผีเป็นความเชื่อในการเก็บพื้นที่เอาไว้ให้เป็นของส่วนรวม แต่คนเรามันจะดึงมาเป็นของส่วนตัว ดังนั้น ผีมันจึงเข้ามา... ถ้าเผื่อว่าคนไหนจะดึงเป็นของส่วนตัวมาก ผีจะไปทำหน้าที่ในการยับยั้ง. ผีเป็นกฎเกณฑ์ชนิดหนึ่ง มันเหมือนกับกฎหมายที่ไบังคับไม่ให้ผู้คนลืมตัว...เพื่อไปหยุดความต้องการเอามาเป็นของตัว. ดังนั้น มันจึงไม่เหมือนกันกับโลกาภิวัตน์

คติหรือเกณฑ์ของโลกาภิวัตน์ มันไม่ได้เอามาใช้แยกระหว่างส่วนตัวกับส่วนรวม เกณฑ์ของโลกาภิวัตน์เอามาใช้เพื่อ...คุณนี่จะเป็นคนหรือไม่เป็นคน มันต่างกันมหาศาลเลย

ผู้เข้าร่วมเสวนา(คนที่ชื่ออัฐ ซึ่งแนะนำตัวก่อนหน้านี้) : ผมคิดว่าถ้าเรานิยามคำว่า"โลกาภิวัตน์"ไปในความหมายที่แตกต่างไปจากที่อาจารย์ว่าไว้ ผีก็อาจจะเป็นโลกาภิวัตน์ก็ได้นะครับ. ผมชอบที่พี่สุชาดามองในแง่มุมที่แตกต่าง คือไม่ได้มองในแง่เศรษฐกิจ ไม่ได้มองในแง่ทุนนิยม แต่มองในแง่ของความเป็นมนุษย์หรือมองในแง่ทางจิตวิทยา. ผมอยากจะมองมาจากแง่มุมที่พี่สุชาดาว่าไว้นะครับ.

ผมคิดว่าโลกาภิวัตน์นั้น จริงๆแล้วลึกๆแล้วมันเป็นเรื่องของสัญชาตญานของมนุษย์อยู่หรือเปล่า ซึ่งทุกคนมีอยู่แล้ว. สัญชาตญานในการเลียนแบบ เหมือนกับที่เด็กที่เกิดมาพยายามเลียนแบบผู้ใหญ่ ในที่สุดก็หัดพูดเหมือนผู้ใหญ่. ผมคิดว่าสิ่งที่เราจะเลียนแบบก็คือสิ่งที่คิดว่าดี แต่พอถึงคำว่าดีมันก็มีสองความหมาย ก็คือ ไอ้สิ่งนั้นมันดีอยู่จริงๆ. แต่อีกอย่างหนึ่งก็คือ เราให้ความหมายมันว่าดี.

สิ่งที่ดีอยู่แล้วจริงๆ อย่างเช่นยกตัวอย่าง มนุษย์ยุคหินที่มีการล่าสัตว์, สมัยก่อนก็ไม่มีเครื่องมืออะไร อยู่มาวันหนึ่ง มีคนๆหนึ่งคิดขวานขึ้นมาได้ คนอื่นเห็นว่าดีก็เลียนแบบ, วันหนึ่งมีคนคิดไฟขึ้นมาได้ ก็เลียนแบบกัน. อย่างโลกาภิวัตน์นี่ ในอีกความหมายหนึ่งก็คือ มันเป็นการเลียนแบบลักษณะนั้นหรือเปล่า คือเห็นว่ามันดี เราก็เลยเลียนแบบกัน.

ที่นี้ในอีกความหมายหนึ่งซึ่งอาจารย์นิธิเรียกว่าเป็นการขายความหมาย ก็คือว่า คือสังคมให้ความหมายว่าสิ่งนั้นมันดี อย่างเช่น เรากินแม็คโดน่อลเพราะเราเห็นว่า เราเห็นคนที่หล่อๆสวยๆในทีวีเขากินกัน เรารู้สึกว่าถ้าทำอย่างนั้นก็จะดีบ้าง. ก็คือว่า มนุษย์เป็นสัตว์สังคมในธรรมชาติ เราพยายามที่จะเลียนแบบ. ในสมัยก่อนนี้ จ้าวว่างาม เราก็ว่างามไปตามจ้าว. ต่อมาเรารับวัฒนธรรมจากอินเดียเข้ามา อะไรที่เป็นอินเดียนี่ เรารู้สึกว่าดี จนกระทั่งแม้ทุกวันนี้ ชื่อของเราแท้ๆ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นแขกกัน. แต่เราไม่รู้สึกว่าเราเป็นแขกเลย. หรือแม้กระทั่งพระพุทธเจ้า ตอนเด็กๆผมคิดไปว่าพระพุทธเจ้าพูดภาษาไทยด้วยซ้ำไป. คือมันเข้ามาแล้วก็มันซึมเข้าไป ผมไม่รู้ว่าเราจะเรียกว่า "อินเดียนาภิวัตน์"ได้หรือเปล่าไม่ทราบนะครับ คือการทำให้เป็นวัฒนธรรมอินเดีย.

โลกาภิวัตน์ถ้าผมนิยามเป็นอย่างนี้ได้ไหมครับว่า ถ้าเกิดดูตามศัพท์ก็คือ โลกาภิวัตน์ก็คือคำว่า "โลก" บวกกับ "อภิวัตน์" ก็คือการเปลี่ยนแปลง, "เปลี่ยนแปลงไปตามโลก". ซึ่งก็เข้าใจว่าถอดมาจากศัพท์ภาษาอังกฤษเป๊ะๆเลย, globalzization, คือทำให้เป็นโลก. ทำให้โลกเป็นหนึ่งเดียวกัน หรือเลียนแบบให้มันเหมือนกัน. ทีนี้มองในแง่ดีก็คือว่า อาจจะดีก็ได้นะครับ. คือในแง่ดีนั้นมันก็ดีหลายอย่าง ทำให้ผมนึกถึงเพลง Imagine ของ John Lenon, ที่เขาบอกว่า, ลองจินตนาการว่าไม่มีการแบ่งแยกเป็นประเทศ ไม่มีการแบ่งแยกเป็นศาสนา โลกทั้งหมดเป็นหนึ่งเดียวกัน.

วารุณี : ดิฉันคิดว่าคุณไม่ผิดหรอกที่คุณทำแล้วคุณรู้สึกว่าดี แต่สิ่งที่เราพูดกันก็คือว่า ใครเป็นคนกำหนดความหมายของสิ่งที่เรียกว่าดี. เราเป็นคนกำหนดความหมายเองหรือเปล่า, ไม่ใช่. แต่เราอยู่ภายใต้การถูกกำหนดความหมายบางอย่าง. พูดง่ายๆก็คือ ที่เราบอกว่าแม็คโดน่อลดีนี่ เพราะว่าเราถูกทำให้เชื่อว่ามันดี ทั้งๆที่เราไม่รู้ว่าจริงๆแล้วมันดีหรือเปล่า แล้วจริงๆนั้นมันไม่ดี เพราะมันไม่มีคุณค่าทางอาหารเลย. แต่เราถูกทำให้รู้สึกว่ามันดี ซึ่งตรงนี้ต่างหากที่เราต้องตั้งคำถาม

ดิฉันคิดว่า ที่อาจารย์อานันท์พูดถูกคือ โลกาภิวัตน์ไม่ใช่สิ่งที่เราจะเลือกได้ หรือไม่เลือก. คือ เราไม่เอาเขา เขาก็เอาเรา. ดิฉันคิดว่ากระบวนการพวกนี้ ถ้าเราเท่าทันมัน ก็จะทำให้เราเลือกได้เหมาะสมมากขึ้น. สมมุติว่าเราชอบทานแม็คโดน่อล คือคล้ายๆกับถ้าเราเลือกที่จะ...คือขอให้เรารู้ก่อนที่เราจะเลือก. แต่ในขณะนี้สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เราไม่รู้ แล้วเราก็ทำตามไปเพราะเรารู้สึกว่านั่นคือสิ่งที่ดี. ดิฉันคิดว่าในฐานะที่เราเป็นมนุษย์ เราน่าที่จะมีโอกาสที่จะเลือก และมีโอกาสที่จะวิพากษ์วิจารณ์มันก่อนที่เราจะเลือก

แล้วเมื่อตะกี๋มีคนบอกว่า ไม่เห็นต้องกลัวนะเกี่ยวกับเรื่องของโลกาภิวัตน์. อาจารย์อานันท์บอกว่า เราโต้ตอบได้. แต่อำนาจที่มันมีมานี่มันหนักหนามาก ดิฉันคิดว่า การที่เราจะโต้ตอบได้หรือไม่ได้มันขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งของวัฒนธรรมเราด้วย. ทีนี้เราต้องถามตัวเราเองแล้วว่า เราเข้มแข็งไหม, วัฒนธรรมไทยนี่เข้มแข็งไหม ? ทีนี้เราจะสร้างความเข้มแข็งได้ไหม ? แล้วเราสร้างจากอะไร ? ดิฉันคิดว่าเราสร้างได้. การที่เราจะสร้างความเข้มแข็งนี่ เราต้องรู้ก่อนว่ามันคืออะไร ?

อานันท์ : ผมอยากจะให้ข้อสังเกตุในสิ่งที่พูดไปนะครับ. คือมันมีปัญหาอยู่หลายระดับ, คือที่ผมวิเคราะห์นี้มันมีปัญหาเรื่องวิธีคิดอยู่หลายอัน. คือหลายคนมองโลกาภิวัตน์เป็นแต่เพียงปรากฏการณ์ หรือบรรยายมัน, เรียกว่า description. ต้องการจะบรรยายมันว่าเป็นอย่างไร ? ที่นี้ที่คุณบรรยายมันก็ไม่ผิดอะไร มันก็เป็นการบรรยายซึ่งผู้คนก็เห็นอย่างนั้น. แต่การบรรยายนี่ มันมีปัญหาอย่างหนึ่งที่ว่า มันจะเห็นภาพที่เฉพาะที่ปลายเหตุ. แล้วปลายเหตุมันก็เป็นอย่างนั้น.

ทีนี้ที่ผมได้ตั้งข้อสังเกตุมาตั้งแต่ต้นก็คือว่า ผมพยายามที่จะวิเคราะห์ให้เห็นถึงต้นเหตุของมัน. เป็นการมองโลกาภิวัตน์จากการวิเคราะห์. ทีนี้การวิเคราะห์มันก็มองได้หลายทาง ไม่ว่าอะไร. คือเรื่องเดียวกันนี่ มองมาจากหลายมุมได้ ไม่มีปัญหาอะไรสำหรับตรงนั้นนะครับ. แต่อย่าติดอยู่กับโลกาภิวัตน์เฉพาะปรากฏการณ์ ต้องพยายาม reflect ต้องพยายามตรึกตรองย้อนกลับไปให้เห็นถึงว่าเหตุมันมายังไง ไม่ใช่ไปติดอยู่กับที่ปลายเหตุ.

ทีนี้พอมาพูดอย่างนี้แล้ว อาจจะมีผู้สงสัยว่า...ผม เอ๊ะ! เดี๋ยวมาร์กซิสท์ เดี๋ยวโพสท์โมเดิร์น เป็นอะไรกันแน่. ผมก็ไม่แคร์หรอกอันไหนที่ผมใช้วิเคราะห์ ผมเอาทั้งนั้นแหละ. ผมไม่ได้บอกว่า เป็นมาร์กซิสทหรือเป็นโพสท์โมเดิร์น อันไหนมันดีกว่ากัน. ไม่มีปัญหาอะไร เมื่อกี๊มีหลายคนพูด เพราะมันไปสำคัญอยู่ที่คุณใช้มันเป็นหรือเปล่า. ไม่ใช่ว่าชอบอันนั้นไม่ชอบอันนี้...ผมไม่สนใจ สนใจอยู่เพียงว่า มันเอามาวิเคราะห์ถึงสาเหตุของปัญหาที่เรากำลังพูดถึงอันนี้ได้หรือไม่ ขนาดไหน อย่างไร ?

มีหลายคนพูดไปแล้วในเชิงปรากฎการณ์ แต่ยังติดอยู่คือพูดเสมือนหนึ่งกับว่า คำว่าเป็นธรรมชาติ ความเป็นตัวเอง ความสุข ความเป็นมนุษย์... สิ่งเหล่านี้ทั้งหลายแหล่ มันมีมาก่อนแล้วทั้งสิ้น, หมายถึงความเป็นจริงที่มีมาก่อน. ซึ่งในลักษณะอย่างนี้ ใน Postmodern เราจะเรียกว่าเป็น existentialist thinking คือเชื่อในสาระสำคัญว่ามันเป็นสิ่งที่จริงแล้ว. แต่ถ้าเป็น postmodern นี่ก็จะบอกว่า ไอ้สิ่งที่คุณคิดว่าจริงแล้ว ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่สร้างขึ้นเท่านั้น. ดังนั้นเมื่อสมัยก่อนนั้นเป็นอย่างหนึ่ง สมัยนี้ก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง. สมัยหน้าก็จะเป็นอีกอย่างหนึ่ง. ดังนั้นความเป็นมนุษย์ในอดีตกาลกับความเป็นมนุษย์ในอนาคต มันไม่เหมือนกันแน่ รับรองได้.

ประเด็นก็คือ โลกาภิวัตน์มันมีบทบาทในการสร้างความหมายของสิ่งเหล่านี้มากกว่าคนอื่นๆ. ถ้าเผื่อว่าเราไม่สามารถเข้าใจสาระสำคัญว่ามันสร้างอย่างไร ? ทำไมมันถึงสร้างอย่างนั้น เราก็จะตกเป็นทาสของมัน. ดังนั้น การที่เรามานั่งพูดคุยกันนี่ก็เพื่อทำความเข้าใจถึงสาเหตุของมันประการหนึ่ง กับประการที่สอง วิพากษ์ถึงวิธีการสร้างความหมายของมัน. แล้วเราก็พยายามไปดูซิว่า ในโลกนี้นี่ มันสร้างความหมายเฉพาะอย่างนี้ได้อย่างเดียวหรือ ? คำถามเราเป็นอย่างนั้น.

ฉะนั้นที่ผมอุตสาห์ไปศึกษาคนเล็กๆน้อยๆที่เรียกว่า maginal people หรือคนชายขอบทั้งหลายแหล่... เพราะว่าอะไรรู้ไหม ? การที่เราจะโต้ตอบจะต้องรู้ว่า คนชายขอบเป็นพวกที่ดิ้นรนมากกว่าคนอื่น พวกเราที่นั่งอยู่ตรงนี้ดิ้นรนน้อย ยังสบาย ยังมีความสุข, พวกเราไม่ค่อยดิ้นรนอะไร เพราะว่าเราก็รับมาหมด ความหมายหรือการตีความเราก็รับมาหมด. พวกเรานี่อ่านเก่งและรับเก่ง มีสื่อ มีโทรทัศน์อะไรนี่ เราจะรับได้เร็วและไม่ได้คิดค้น. การที่จะรู้ว่า มันมีการนิยามอย่างอื่นได้หรือไม่เราถึงจะต้องไปดูคนชายขอบ เพราะคนชายชอบเหล่านี้ เขาจะถูกผลกระทบได้มากกว่าพวกเรา ได้มากกว่าคนที่มีสถานภาพเป็นชนชั้นกลาง คนชั้นกลางจะได้รับผลกระทบน้อย. เราถึงจะไม่ค่อยกังวลถึงสิ่งเหล่านี้.

การตีความหมายในอย่างอื่นๆมันจะปรากฎในคนชายขอบเยอะ ดังนั้น นักวิชาการจึงต้องไปศึกษาคนต่างๆเหล่านี้ เราไปเรียนรู้จากเขา. เอ๊ะ! ทำไมเราถึงมองความหมายเหมือนกับโลกาภิวัตน์มันนิยามมาเลย ไม่เคยปฏิเสธไม่เคยวิพากษ์วิจารณ์ได้เลย. พอเราไปดูคนชายขอบกลับเห็นว่า เขาไม่อย่างนั้นเลย, เขาพูดกันคนละอย่างเลย คนนี่พูดอย่าง คนนั้นพูดอีกอย่าง คนใต้สะพานว่าอีกอย่าง คนเก็บขยะอีกอย่าง ชาวเขาอีกอย่าง ผู้หญิงอีกอย่าง เด็กอีกอย่าง คนเป็นโรคเอดส์ก็อีกอย่าง...โอ้โฮ! มันล้วนแล้วแต่เป็นสีสรรของการนิยามความหมายที่แตกต่าง ตรงนี้เองมันถึงเป็นพลังที่ทำให้เรารู้ว่า โลกาภิวัตน์มันยังคงไปไม่ถึงชายขอบ ถึงแม้ว่ามันจะผลักให้เกิดภาวะชายขอบมากขึ้นก็ตาม แต่มันไม่สามารถที่จะทำลายไอ้จุดตรงนั้น เพราะจุดตรงนั้นมันจะมีการรักษาความเป็นคนอยู่ได้มากที่สุด. ...เราต้องอย่าพยายามมองข้ามคนที่อยู่ในชายขอบ เพราะสิ่งที่อยู่ในชายขอบนั้นแหละ มันก็คือปัญญาที่เราจะสามารถมาวิจารณ์โลกาภิวัตน์นี้ได้ในขณะเดียวกัน

ดังนั้น ในแง่วิธีคิด ผมถึงบอกว่าต้องมองดูระดับของสิ่งที่เราพูดนี่ว่า เรากำลังพูดถึงระดับที่เป็นปรากฏการณ์ ระดับของการวิเคราะห์ ระดับการวิพากษ์วิจารณ์ หรือระดับอะไร ? ถ้าเผื่อว่าเราแยกแยะสิ่งเหล่านี้ถูก เราก็จะเริ่มมองเห็นว่า ปรากฏการณ์ที่เราเข้าใจหรือกำลังตกอยู่ในกระแสของมันอยู่ มันมีทางออก มีทางที่จะเข้าใจ ทางที่จะวิจารณ์ได้หลายทาง. อย่ามองมันเป็นทางเดียวก็แล้วกัน.

เพราะฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่ผมพยายามที่จะชี้ในที่นี้ก็คือว่า ผมไม่อยากตั้งข้อสังเกตุแล้วทำให้ พวกท่านทั้งหลายมองโลกาภิวัตน์เหมือนกับว่าเป็นทางเดียว เป็นกระแสเดียว หรือเป็นทิศทางเดียว. พยายามจะชี้ให้เห็นว่ามันมีวิธีมองอีกตั้งหลากหลายที่จะทำให้เราเข้าใจโลกาภิวัตน์จากมุมมองอื่นๆ แล้วก็เห็นแง่มุมที่จะต่อสู้ หรืออยู่ในกระแสโลกาภิวัตน์โดยที่เราไม่เสียเปรียบ หรือไม่ถึงขนาดถูกทำให้ตกอยู่ชายขอบได้ทั้งหมดทีเดียวเลย. อันนี้เป็นสิ่งที่ตั้งใจอยากนำเสนอ

ผู้ร่วมเสวนา : (เนื่องจากผู้พูดซึ่งไม่ประสงค์จะใช้ไมค์โครโฟน เพราะอ้างว่า พอมีไมค์โครโฟนแล้วพูดไม่ออก ได้แสดงความเห็นว่า) โลกาภิวัตน์ไม่เห็นจะมีข้อเสียอะไร ทำไมเราไปมองฝรั่งว่าไม่ดี ทำไมมองในแง่ร้ายอย่างนี้ เราคนไทยซึ่งเป็นคนใจกว้างน่าจะยอมรับมันได้ ไม่เห็นว่ามันจะมีผลเสียอต่อย่างใด ? [ช่วงนี้มีการปิดเทปบันทึกเสียง เพราะไม่ทำให้เปลืองเนื้อเทปโดยสูญเปล่า]

ชัชวาล ปุญปัน : (ข้อความที่พูดไม่สมบูรณ์ เนื่องจากเปิดเทปบันทึกเสียงไม่ทัน แต่พอได้ใจความดังนี้) ...ผมคิดว่าวิทยาศาสตร์ก็ให้เกิดเทคโนโลยีที่เป็นเกณฑ์มาตรฐานเดียวกัน และแผ่ไปทั่วโลกตั้งแต่ยุคหลังปฏิวัติอุตสาหกรรมใหม่ๆ คิดว่านี่คืออันหนึ่งที่มันเป็นศาสตร์ซึ่งมีอิทธิพลมาก และก่อให้เกิดวิธีคิดแบบเดียว แบบ ISO แบบมาตรฐาน... มีเกณฑ์อย่างเดียวกัน WTO, World Bank, หรือว่า ADB, หรือแม้แต่กฎหมายสิทธิมนุษยชน. มันเป็นวิธีคิดแบบเดียวกันกับวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ซึ่งถูกทำให้มันอยู่ในมาตรฐานเดียวกัน

อานันท์ : ผมก็ไม่ได้ปฏิเสธอันนั้น คือเราต้องวิเคราะห์ อย่างเช่นบอกว่า ทำไมเราไปมองฝรั่งว่าไม่ดี ฝรั่งเขาก็ส่งเสริมสิ่งเหล่านี้ หรือคนในโลกตะวันตกเขาก็ส่งเสริมสิ่งเหล่านี้. อันนี้บริบทมันต่างกัน. คือเราไปพูดขาวกับดำอย่างนั้นไม่ได้ ต้องมองบริบทของแต่ละที่ไม่เหมือนกัน

ในขณะที่สังคมไทยถูกกระแสนี้กระหน่ำ แต่ความเหลื่อมล้ำในสังคมเรานั้นมหาศาล. องค์กรและกลไกของเรานั้นอ่อนแอ. ในตะวันตกนี่ กระแสเดียวกันนี่, แต่ภายใต้ความเหลื่อมล้ำที่ไม่มากนัก และมีกลไกและองค์กรของเขาซึ่งค่อนข้างแข็ง โดยมีการสถาปนาองค์กรหรือกลไกเหล่านี้มาตรวจสอบกระแสเหล่านี้อยู่ตลอดเวลา มันก็ผลักดันที่จะทำให้นำเอาด้านดีของโลกาภิวัตน์มาใช้ได้อย่างเป็นประโยชน์. แต่ในสังคมของเรานี้ นอกจากจะไม่มีองค์กรและกลไกอย่างนี้แล้ว, ซึ่งเรากำลังจะสร้าง แต่ยังไม่เพียงพอ, ดังนั้นเมื่อกระแสโลกาภิวัตน์กระหน่ำเข้ามา มันจะถูกนำไปใช้ในลักษณะที่เลือกปฏิบัติ เช่นเดียวกับกฎหมายและกฎเกณฑ์.

คือโลกาภิวัตน์นี่ มันก็คือการสร้าง standardization หรือการทำให้เป็นมาตรฐานขึ้นมา, อันนี้ประการหนึ่ง. อย่างในเวลานี้ คุณไปอเมริกาไม่ว่าเมืองไหน คุณคาดเดาได้เลยโดยไม่ต้องรู้นะครับ เช่น ไปเมืองนี้ ก่อนเข้ามันจะมีขายรถ แล้วก็ขายแฮมเบอร์เกอร์ จนกระทั่งถึงกลางเมืองมัน standard หมด, ไอันี่มันก็ไปทำที่อื่นเหมือนๆกันหมด. เข้าไปใน shoping center ที่ไหน ? คุณหลับตาเดินได้เลย ร้านมันจะมาเรียงตามบริษัทเลย. มัน standardize. เพราะฉะนั้น, ไอ้สิ่งเหล่านี้มันได้ถูกนำมา, กฎเกณฑ์ก็เช่นเดียวกัน เขาไม่ได้สร้างแล้วหวังว่าจะไปใช้ในการเฆี่ยนตีคน หาใช่ไม่. ผมไม่ได้มองคนในแง่ร้ายเลย.

ทีนี้ที่ว่า ภายใต้การขาดกลไกและกฎเกณฑ์เหล่านี้นี่ มันจะถูกเลือกนำเอาไปปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของคนบางคนได้. อย่างเช่นเวลานี้นะครับ เราถูก ADB มาบีบให้เปลี่ยน"น้ำ"ให้กลายเป็นสินค้า. มันก็คือกระบวนการของการเปลี่ยนสิ่งเหล่านี้ ให้มันเป็นมาตรฐานเดียวกัน คือให้มันมีราคา. คือถ้าเผื่อน้ำนี่มันถูกควบคุมด้วยความสัมพันธ์แบบคนในท้องถิ่น. ไอ้กลไกราคาโลกมันคุมไม่ได้ก็ลำบาก. ดังนั้นเขาจึงต้องเปลี่ยนให้มาอยู่ในมาตรฐานเดียวกันคือ อยู่ในราคา. เขาเรียกว่า...ถ้าเผื่อในสมัยก่อน เราเรียนคณิตศาสตร์ ของที่มันอยู่คนละมาตรฐาน มันไม่สามารถจะสัมพันธ์กันได้ ที่เขาเรียกว่ามันเป็นฐานเดียวกันมันถึงจะเชื่อมโยงกันได้. ดังนั้น ทั้งหมดเวลานี้มันต้องการที่จะเปลี่ยนสิ่งต่างๆให้อยู่ในฐานที่มันจะสามารถดึงเอาไปที่ไหนๆก็ได้. ถ้าเผื่อว่ามันอยู่คนละฐานมันก็ทำไม่ได้.

แต่ถามว่าการทำอย่างนี้มันดีหรือเลว. มันดีที่บางประเทศ แต่มันอาจจะเลวที่บางประเทศ. เพราะว่ามันมีเรื่องของบริบทของโครงสร้างขององค์กร และกลไกที่ไม่เหมือนกัน. อย่างยกตัวอย่างกลไกในอย่างเดียวกันนี้ มันเอาไปใช้ในอเมริกามันดี เพราะอเมริกามันมีระบบของศาลยุติธรรมค่อนข้างจะดี...แต่ตอนนี้มันตัดสินเรื่องบูช เรื่องกอร์นี่ ชักจะ...แต่อย่างน้อยที่สุดในระดับพื้นฐานมันพอไปได้บ้าง. แต่ว่าพอมันเอาไปใช้ที่ชิลี, เวลานี้ World Bank กำลังประกาศว่า...อันนี้เป็นเจตนารมณ์ที่สำคัญเลย, ต้องการเปลี่ยนให้น้ำอยู่ในมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก คือใช้ราคาเป็นตัวตัดสิน เพื่อสร้างประสิธิภาพของการใช้น้ำ. ผลปรากฎไปใช้ที่ชิลี เป็นไง ? เหลวเป๋ว มันใช้ไม่ได้เพราะอะไร ? ระบบศาลชิลีมันตัดสินทีไร คนจนแพ้ทุกที. เพราะว่ามันเกิดกรณีซื้อขายน้ำอะไรต่างๆมันต้องมีการตัดสิน.

ดังนั้นตรงนี้นี่ผมเลยบอกว่า เวลาเราดูอะไรต่างๆ กลไกโลกาภิวัตน์, ในตัวของมันเองไม่มีอะไรดีเลว ไม่มีอะไรเสียหายเลย. มันอยู่ตรงที่ว่าบริบทของแต่ละประเทศที่เอาไปใช้ว่า มีกลไก มีองค์กรที่สร้างขึ้นมารับอันนี้แล้วหรือยัง. ก็เช่นเดียวกันเวลานี้บางคนนะครับ ต่อต้านฝรั่ง ต่อต้านอะไรต่างๆ, ชาตินิยมใหม่อะไรของเรานี่นะครับ. สำหรับผมแล้ว จริงๆไม่แคร์เลย ให้มันมาเลย กระหน่ำมาซื้อเมืองไทยไปหมดเลยก็ได้. แต่ที่นี้ก็คือว่า กลไกของเรามันห่วยแตก มันไม่สามารถที่จะป้องกันสิ่งเหล่านี้ได้เลยนะครับ. ถ้าเรามีระบบภาษีดี มันมาเท่าไหร่เราเก็บหมด. อย่างอังกฤษที่ผมไปมา คนไทยไปซื้อประเทศมันตั้งครึ่งล่ะ... มันเก็บภาษีอย่างเดียว. พอเก็บภาษีแล้วก็นำไปใช้ทำ social welfare. หมายความว่า มันมีกลไกคอยตรวจสอบไม่ให้คนนั้นละเมิดสิ่งที่สังคมนั้นกำหนด.

แต่ประเด็นของเราก็คือว่า โลกาภิวัตน์พอมาถึงสังคมไทย ในขณะที่ของเรานี่ องค์กร กลไก อ่อนแอ ประชาชนยังไม่เท่าทัน เรายังไม่ได้พูดกันได้เหมือนที่นี่ทั้งหมด มันก็เลยก่อให้เกิดการละเมิดคือเลือกปฏิบัติ. คือกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ หรือกลไกหรือกระแสทั้งโลกนี่ ทั้งหมดมันอย่างเดียวกัน คือมันเหมือนกับกฎหมาย มันถูกเลือกปฏิบัติตลอด. ดังนั้นการที่คล้าย ๆกับสร้างกลไกตรวจสอบหรือถ่วงดุลย์เอาไว้ มันก็ต้องมีองค์กรหรือกลไกในสังคมที่สร้างขึ้นมา. แต่ว่าเวลานี้เราสร้างไม่ทันกับกระแสที่มันผ่านมา มันก็เลยทำให้เราถูกละเมิด. คือบางคนก็ได้ประโยชน์ แต่บางคนถูกละเมิดอย่างร้ายกาจ.

ในต่างประเทศเราบอกว่าไม่เห็นมีปัญหาอะไร หรือปัญหามันไม่มากเท่าเราก็เพราะว่า เขามีกลไกที่จะมาตรวจสอบหรือถ่วงดุลย์ได้พอสมควรได้บ้างแล้ว เพราะว่ามันพัฒนามาจากเขา เขาก็สามารถสร้างกลไกเหล่านี้มาทันที่จะลดปัญหาของมัน. แต่พอมันมาใช้ในประเทศอื่น, ที่เราไม่พร้อมหรือยังไม่คุ้นเคยกับสิ่งนี้ เราก็เลยไม่สามารถที่จะมีกลไกหรือองค์กรที่ว่านี้. ดังนั้น แม้เราจะปฏิเสธสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ แต่เราสามารถที่จะเตรียมความพร้อมและสร้างกลไกของเราขึ้นมาได้. แต่ปัญหาของเราคือว่า เวลานี้...สิ่งเหล่านี้เราขยับช้ามาก ก็เลยทำให้ในช่วงที่เราขยับช้านี่ ก็เลยเกิดผลกระทบค่อนข้างมาก.

ทุนนิยมของเรา, ซึ่งเมื่อวันก่อนผมไปพูดเรื่องคนจนที่ TDRI. นักเศรษฐศาสตร์ของเรานี่ไปเรียนมาทั่วเกี่ยวกับระบบทุนนิยม แต่เวลาเอามาใช้บ้านเรา เอามาใช้แค่ครึ่งเดียว, อีกครึ่งหนึ่งไม่ใช้. คือทุนนิยมด้านที่มันจะเอากำไรกับเรา เราใช้มันเต็มที่เลย. แต่ด้านที่มันจะสร้างกลไกระบบภาษีอากรนี่ มาปรับความเท่าเทียมอะไรต่างๆ อันนี้ไม่เอามาเลยครับ. ศึกษากันมามากมายแต่ไม่มีการผลักดัน พอเขาถามมาก็พูดออกมาแบะๆๆๆ ไม่มีการผลักดันสิ่งเหล่านี้ออกมา.

คือทุนนิยมพอมันใช้ด้านเดียว ก็แน่นอนซิครับ, พอโลกาภิวัตน์มาเราก็ถูกกระหน่ำ เพราะเรามีทุนนิยมอยู่แค่ครึ่งเดียว คือพูดง่ายๆมันใช้อยู่แค่ด้านเดียว. ด้านที่เป็นด้านแข็งของเขาเราไม่ได้เอามาเลย ไม่ import เข้ามาเลย. แต่ไม่จำเป็นต้อง import เราอาจจะสร้างขึ้นมาเองก็ได้ แต่เราก็ไม่ได้สร้างอะไร. ดังนั้น มันก็เลยเกิดอาการคล้ายๆกับว่า เรามันง่อย เรามันใช้เพียงแค่ด้านเดียว. ด้วยเหตุนี้เราจะไปโทษเขาอย่างเดียวก็ไม่ได้. แต่เราก็ต้องดูรู้ว่า เขามายังไง ? ไม่ใช่ว่า ตกลงแล้วดี, คือไม่ใช่รู้ว่าดีหรือไม่ดี แต่รู้ว่าเราก็มีปัญหาแล้วเราก็จำเป็นต้องปรับตัวเราเอง. ทำนองอย่างนี้มากกว่า

...อีกเรื่องหนึ่ง ผมอยากจะพูดถึงเรื่องของสังคมไทย. สังคมไทยของเรานั้น เป็นเผด็จการมานาน ประชาชนไม่ได้มีโอกาสมาพูดได้อย่างนี้. เมื่อก่อนถ้าคุณมานั่งแบบนี้เป็นร้อย คุณก็ถูกจับแล้ว ดังนั้นมันจึงไม่มีโอกาสให้คนคิดอะไร. ไม่เหมือนกับในสังคมอื่นๆ ซึ่งมีระบบการเมืองที่มีส่วนร่วม ระบบสังคมที่ทุกคนมีโอกาสช่วยกันคิด. มันแน่นอน ก็ดีกว่าระบบที่ปล่อยให้ผู้นำคิด. ผู้นำคิดมันก็ต้องคิดไปตามสถานภาพของตัวเอง พวกมีที่ดินมากมันก็ไม่อยากเก็บภาษี คนที่มีมรดกมากก็ไม่อยากเก็บภาษีมรดก อันนี้ก็เลยไม่ทำให้เรามีโอกาสพัฒนา.

แต่ถ้าเมื่อไหร่ระบบการเมืองของเราได้เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมมากขึ้น ไอ้สิ่งเหล่านี้ แน่นอน มันก็จะทานกระแสเหล่านี้ไม่ได้ เราก็จะสามารถสร้างกำลังคุ้มกัน ระบบสถาบันที่เป็นตัวป้องกันขึ้นมารองรับไม่ให้เราถูกแรงกระทบมากนัก. แต่ของเราเวลานี้มันมีน้อยมากเลย แล้วเราก็พูดกันแต่ปฏิรูปการเมือง ไอ้ตัวหลักนี่เราต้องปฏิรูปศาลครับ, ระบบยุติธรรมนี่ แย่ที่สุดเลย

คือเหลือเชื่อเลย ไม่มีที่ไหนในโลกที่เขาคิดอย่างนี้นะครับ, คือมีรัฐธรรมนูญแล้ว เสือกเขียนต่อไปอีกว่า...ตามกฎหมายบัญญัติ, มีที่ไหน ? ตกลงก็ไม่ต้องเขียนรัฐธรรมนูญ...บัญญัติแม่มันไปเรื่อยๆก็แล้วกัน. คือเขามีสิทธิชุมชนแล้ว แต่ตอนนี้ใครใช้ได้บ้าง เพราะต้องรอกฎหมายบัญญัติก่อน แล้วเมื่อไหร่จะบัญญัติ.

กฎหมายป่าชุมชนผมเข้าสภาฯแล้ว, ส.ส.เดินเข้าเดินออก, มันไม่เคยฟังเลยครับ ตั้งมา 27 คน, ผมเจอสภาพแบบนี้ ผมรู้เลยว่าระบบนิติบัญญัติของเราล้มเหลวสิ้นเชิง. เอา ส.ส.เข้าไปนะครับ มานั่งฟังผมทีละ 3 นาที แล้วมันก็เดินไปคุยที่ไหนก็ไม่รู้. ผมออกมาแล้ว, อ้าว! ไอ้คนที่ผมเคยเชื่อถือจบด็อกเตอร์กันเต็ม เดินอยู่ข้างล่าง ไม่เคยเข้ามาฟังอะไรเลย แล้วก็ไม่รู้เรื่องอะไรเลย. ส.ส.กรุงเทพ เสือกมาพิจารณากฎหมายป่าอย่างนี้เป็นต้น ก็ไม่รู้จะว่ายังไงครับ. ดังนั้น อันนี้มันก็เป็นกระบวนการนิติบัญญัติ กระบวนการยุติธรรมทั้งหลายแหล่นี้ มันเหลือเชื่อ, คือไม่สามารถจะเป็นที่พึ่งให้กับการรองรับ แรงกระหน่ำจากโลกาภิวัตน์ให้กับคนในสังคมได้เลยเวลานี้. อันนี้มันเป็นปัญหามากๆ.

ดังนั้น การพูดเรื่องปฏิรูปการเมืองเป็นเรื่องเล็กน้อย, peak the iceberg (ยอดภูเขาน้ำแข็งที่โผล่พ้นผิวน้ำ แต่ที่จมอยู่ข้างล่างยังมีมวลขนาดใหญ่มาก), น้อยมากเลย, ข้างล่างยังอีกเยอะแยะที่เรายังไม่ได้ดึงขึ้นมา คล้ายๆกับปฏิรูปมัน.

เมื่อสักครู่ที่ผมพูดถึงเรื่องของกฎหมายป่าชุมชน ทำให้ผมนึกถึงเรื่องๆหนึ่งขึ้นมาได้. คือเรื่องที่ปล่อยให้คนพื้นราบขึ้นไปตัดต้นไม้ของชาวเขา อันนี้เราจะรู้สึกเหมือนกับว่า มันทำกับเขาได้เหมือนกับเขาเป็นหมูเป็นหมา แล้วก็กฎหมายของเราก็ปรากฎว่า, นอกจากจะไม่ทำอะไรแล้วนะครับ แถมยังส่งเสริมอีกด้วย. ผมคิดว่าอย่างนี้มีปัญหาแน่นอนเลย เพราะอีกหน่อย คนจะรู้สึกว่ามันทำอย่างนี้ได้เรื่อยๆ. ก็เหมือนกับแต่ก่อนนี้ที่เราบอกว่า "ถ้าเขาเป็นคอมมิวนิสท์ เราฆ่าได้" ลักษณะนี้เป็นอย่างเดียวกัน คือไม่เห็นคนอยู่ในสายตาพูดง่ายๆ.

ตรงนี้มันจะเป็นปัญหา เพราะต่อไปข้างหน้านี้นะครับ มันก็จะก่อให้เกิดปัญหาอาชญากรรมสูงมากขึ้นในเมือง. คนจะไม่เข้าใจ. ผมในฐานะที่เป็นนักสังคมศาสตร์นี่ ผมจะคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้. ผลกระทบนี่นะครับ มันเกิดขึ้นครั้งแรกนี้อาจจะแลดูไม่มาก พอมันไปครั้งที่สอง มันจะขึ้นเป็นเรขาคณิต, อัตราความรุนแรงมันสูงมากขึ้น แล้วเราก็จะพบว่าอีกหน่อยคนเรานะครับ... อย่างวันก่อนนี่เราก็จะเห็นในข่าว ปรากฎว่าญาติกัน... เด็กอายุสิบกว่าขวบแทงน้องซึ่งเป็นญาติผู้หญิง เพราะเพียงความเชื่อที่ว่า แม่ของเขาญาติผู้หญิงนี่จะไปใส่ยาพิษพ่อ, ซึ่งไม่รู้ว่าเรื่องอะไรของมันก็ไม่รู้. สิ่งเหล่านี้ บางคนอาจจะเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กๆที่เขาซ่อนเอาไว้ในกรอบเล็กๆของหนังสือพิมพ์ แต่ในแง่ของเราซึ่งเป็นนักสังคมศาสตร์, ตายล่ะหว่า! มันเกิดอย่างนี้ขึ้นได้ยังไง ? แสดงว่า คนเรามันไม่เห็นคนอื่นเป็นคนอีกแล้วนะครับ เพราะว่าอันนี้มันมาจากผลกระทบของสิ่งเหล่านี้ แล้วเราก็ไม่มีสถาบันต่างๆที่จะมาอธิบายถึงสิ่งเหล่านี้ ว่าเป็นยังไง ที่เกิดขึ้นนี่. ตรงนี้ผมคิดว่ามันน่ากลัว...

คือคนเราเวลามองปัญหาต่างๆ ไม่ใช่เรามองแค่ว่ามันเกิดขึ้นมากหรือยัง เอาเรื่องเชิงปริมาณมาคิด. อย่างนี้ผมว่ามันตายแน่ๆเลย. มันไม่ใช่เรื่องเชิงปริมาณ เพราะคนเราเวลาเปลี่ยนวิธีคิดไปแล้วนี่ ไม่คำนึงถึงความสำคัญของคนแล้วนี่ ไอ้สิ่งเหล่านี้มันกินใจและมันฝังลึก แล้วก็ผลมันออกไป โอ้โฮ! มหาศาล. ดังนั้นผมเลยคิดว่า อย่ามองอะไรต่างๆให้มันเป็นเรื่องที่ไกลตัว มันยังไม่ถึงฉัน แล้วกันไป. อย่างนี้ไม่ได้ เพราะสิ่งเหล่านี้ถ้ามันมาแล้ว คล้ายๆกับมันไม่รู้ตัว. ซึ่งถ้าเกิดเป็นสถานการณ์แล้วมันก็จะเกิดโกลาหล หรือเกิดปัญหาอะไรต่างๆในสังคมนี้มากมายเลย

เพราะว่าสังคมมันอยู่ได้ก็เพราะมันมีสถาบัน มีกลไก มีอะไรต่างๆคอยเป็นตัวคานกันอยู่ แต่ในขั้นที่เราเวลานี้ตกไปอยู่ในกระแสโลกาภิวัตน์นี่ กลไกต่างๆเหล่านี้บางอันมันกระปรกกระเปรี้ยไป. หรือพูดง่าย, ร้อยปีที่ผ่านมานี่ ในขณะที่เราสร้างรัฐชาตินี่ เราทำลายความหลากหลายของกลไกของท้องถิ่นไปจนกระทั่งมันง่อยไปหมดเลย. ดังนั้น พอเราจะหยิบยกกลไกอะไรบางอย่างมาใช้ เราก็จะบอกว่าอันนี้เป็นการสร้างความเป็นไทย... ไม่ใช่นะครับ. เราต้องการจะสร้างความหลากหลายในสังคมไทยมากกว่า เพราะสังคมไทยไม่ต้องการความเป็นหนึ่ง. ที่จริงแล้วเราไม่ต้องการให้มีกฎหมายใหญ่อันเดียวซึ่งจะมาแก้ไขทั้งประเทศ, ไม่ใช่เลย.

ที่จริงแล้วการที่มันมีกฎหมายซึ่งออกได้เฉพาะสภานิติบัญญัติแห่งเดียวนี่ มันเป็นตัวสร้างปัญหาในปัจจุบันนี้ เท่าที่ผมมอง. เพราะที่จริงแล้วสังคมเมื่อก่อนนี้ ทุกที่มันสร้างกฎเกณฑ์ทั้งนั้น เขาเรียก"จารีต" เรียก"ฮีต" เรียก"คลอง". แล้วอยู่ๆวันหนึ่งเราบอกว่า ไม่เอาแล้วพวกบ้านี่. ไปเอากฎหมายโน่น...ออกจากรัฐสภาฯ ซึ่งผมบอกแล้วว่ามันออกไม่เป็น มันก็มั่วๆออก ลอกๆเขามา. แล้วลอกผิดลอกถูกก็ไม่รู้

แล้วลอกอีกอันหนึ่งซึ่งผมต้องพูดอีกทีหนึ่งก็คือ... คือ mentality ของเราในการลอกก็แย่มากนะครับ. เราไปเรียนกฎหมายจากต่างประเทศมานะครับ ไอ้ที่กฎหมายที่เขาใช้ในประเทศไม่ลอก ไปลอกไอ้ที่เขาใช้ในอาณานิคมของเขา แล้วเราก็ภูมิใจนักหนาว่าเราไม่เคยเป็นอาณานิคมของใคร. ลอกกฎหมายอาณานิคมของเขามาใช้เต็มประเทศเลย...ไอ้ห่า! ที่เขา เขาไม่เคยใช้เลย, ในบ้านเขา เขาไม่ใช้

อันหนึ่งที่เห็นได้ชัดก็คือกฎหมายป่าไม้, ห่วยที่สุดเลย, ไม่รู้จะพูดยังไงอีกแล้ว. กฎหมายอาณานิคมชัดๆ... คือ อังกฤษ เยอรมัน ดัทชนี่มันเอามาใช้เฉพาะในอินโดนีเซีย พม่า มาเลเซีย แล้วประเทศอื่นเวลานี้เขาเลิกไปหมดแล้วนะครับ แต่ประเทศไทยไม่เคยเป็นอาณานิคมยังคงไว้ไอ้กฎหมายแบบนี้ คุณคิดดูซิจะว่ายังไง. อย่างนี้ล่ะครับเขาเรียกว่าเป็นปัญหา

วารุณี : ดิฉันคิดว่าที่เราพูดมาทั้งหมดนี่มันมีสองระดับด้วยกัน คือระดับที่อาจารย์อานันท์พยายามจะเน้นมาก็คือ ความคิดที่มันเข้ามาสู่ระบบคิดของพวกเรา. ซึ่งระบบคิดที่เข้ามานี่มันสร้างผลกระทบให้กับคนจำนวนมาก. แต่รู้สึกว่า เวลาที่สังคมทั่วๆไปมอง จะไปสนใจแต่ในแง่ที่ว่า วัยรุ่นเราใส่สายเดี่ยว หรือว่าวัยรุ่นเราเอาวัฒนธรรมญี่ปุ่นมา. คือคล้ายๆกับว่าเราไปดูตัววัฒนธรรม, ปรากฏการณ์หรือว่าส่วนที่ไปกระทบในแง่ที่ผิวเผิน คล้ายๆกับว่า เด็กเราเป็นอย่างนี้ แย่แล้ว... ใส่สายเดี่ยวกัน ไม่รักนวลสงวนตัวอะไรอย่างนี้นะคะ อันนี้ก็พูดกันไปเลอะเทอะ

คิดว่าตรงนั้นมันอาจจะเป็นปรากฎการณ์ที่มันผิวเผิน แล้วมันก็จะเปลี่ยนไป. สิ่งที่สำคัญกว่านั้นก็คือ สิ่งที่มันมาส่งผลต่อระบบคิดหลักๆของสังคม แล้วก็ทำให้ระบบคิดพวกนี้ มันถูกแปลไปเป็นนโยบาย แล้วนำไปปฏิบัติในสังคม ซึ่งทำให้คนที่ได้เปรียบมันมีโอกาสมาก แล้วก็มองไม่เห็นคนเล็กๆอย่างที่อาจารย์อานันท์บอก. เพราะฉะนั้นจึงคิดว่า บางทีเราต้องแยกให้ออกเหมือนกันว่า ส่วนไหนมันคือส่วนที่สำคัญ มันร้ายแรงมาก, และส่วนไหนมันเป็นอะไรที่ไม่ค่อยสำคัญเสียเท่าไหร่ อย่างเช่น สายเดี่ยวมันไม่เห็นน่าตื่นเต้นตรงไหน ?

อานันท์ : ...เวลานี้พวกเราเวลาพูดหรือมองอะไรกัน มักชอบติดอยู่ที่ปลายเหตุ เห็นแต่ปรากฏการณ์ที่ปลายเหตุ. อย่างเช่นเราเห็นชาวเขาถูกกระทำ หรือไม่ก็ผู้หญิงถูกข่มขืนนี่ แทนที่จะไปโทษคนที่ข่มขืนผู้หญิง กลับไปโทษผู้หญิงว่าแต่งตัวไม่ดีเอง. โทษที่ปลายเหตุอย่างนี้จะไปแก้ปัญหาได้อย่างไร ? วิธีคิดแบบนี้มันมาพร้อมๆกับอันนี้...คือทำให้เราติดอยู่ที่ชีวิตประจำวัน อยู่ไปวันๆ. ติดอยู่กับปรากฏการณ์เท่าที่เห็น แต่ไม่พยายามที่จะ reflect หรือสะท้อนกลับไปให้เห็นที่มาที่ไปของมันว่าคืออะไร ? ขนาดผู้หญิงมุสลิมห่อหมดแล้ว ก็ยังมีการข่มขืน เขาก็เลยต้องจับคนข่มขืนไปฆ่า อันนี้ในซาอุดีอาราเบีย... ขนาดห่อทั้งตัวแล้ว ยังมีคดีข่มขืน. อันนี้มันไม่เกี่ยวอะไรกับการห่อ หรือว่าโป๊, ไม่เกี่ยวกันเลยครับ. มันเกี่ยวกับว่า เรายังมีวิธีคิดแบบผู้ชายเป็นใหญ่ รับรองว่ามันเกิดทุกที่. มองเห็นคนเป็นวัตถุ. พูดง่ายๆ ผู้หญิงก็เป็นวัตถุชิ้นหนึ่ง กระแสโลกาภิวัตน์มันก็ปั่นสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา. สิ่งเหล่านี้มันซึมลึกจนกระทั่งเรามองเห็นแต่ปรากฏการณ์ แต่ไม่เข้าใจที่มา

มันทำให้เราติดอยู่แค่ปรากฏการณ์ เห็นเฉพาะเท่าที่เราเห็น. เพราะอะไร ? เพราะที่เราเห็นมันขายได้แล้ว มันไม่ต้องสนใจว่าคุณจะคิดอย่างไร ? การที่เรามานั่งคุยกันนี่เราต้องย้อนกลับไป สะท้อนกลับไปให้เห็นว่า จริงๆแล้วมันมีที่มาที่ไปของวิธีคิดเหล่านี้. ถ้าเผื่อตราบใดเราไม่สามารถเข้าไปถึงมันแล้วละก็ ตราบนั้นเราก็เป็นเหยื่อของมันตลอด

สิ่งเหล่านี้มันเป็นเรื่องที่มาพร้อมกับกระแสโลกาภิวัตน์ มันเป็นอุดมการณ์ที่มันฝังลึกอยู่ในนั้น. ดังนั้น ที่เราจะแก้ไขนี่ ไม่ใช่แก้ไขตรงที่ปรากฏการณ์ มันต้องแก้ไขไอ้ตรงที่วิธีคิด ที่อุดมการณ์ซึ่งมันมาพร้อมกับกระแสเหล่านี้ ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนกระบวนทัศน์ เปลี่ยนมุมมอง. จะต่อต้าน IMF หรือไม่ต่อต้าน IMF มันไม่ได้ช่วยมากเท่าไหร่ เพราะว่ามันซึมลึกเข้าไปอยู่ในวิธีคิดของกระแสวัฒนธรรมทั้งหมดแล้ว. บางคนก็อาจจะมองไม่เห็น และถูกตอกย้ำอยู่ทุกวัน ผ่านสื่อและภาพยนตร์อะไรต่างๆ มันอยู่รอบตัวเราเลย.

...วิธีคิดที่สำคัญตรงนี้ก็คือว่า อย่าไปติดอะไรอยู่กับความคิดอย่างเดียว. ความคิดมันไม่ทีท่าอะไรเลย ถ้ามันไม่มีบริบท ไม่มีที่มาที่ไปของมัน ไม่มีสังกัด. มันไม่มีอะไรที่ลอยอยู่ในโลกนี้ได้. แต่โลกาภิวัตน์มันบอกว่า ความคิดมันลอยได้ เพราะลอยได้มันขายได้. แต่เราก็ต้องพยายามดึงมันลงมา ให้มันมีบริบท. มันก็จะคลายกำลังลงไป เพราะว่าบริบทมันจะเป็นการกระชากหน้ากากของมันออกมาให้เห็นชัดเจนว่า มันคืออะไร ? ดังนั้นสิ่งเหล่านี้ มันเป็นวิธีคิดที่อาจจะช่วยให้เรานี่ ไปนั่งทำความเข้าใจกับสิ่งเหล่านี้มากขึ้น.

เพราะว่า เมื่อไหร่เราเห็น"ความเป็นไทย"ที่ไร้บริบท เมื่อนั้นคุณก็เป็นทาสทันทีเลย. มันต้องดึงขึ้นมาให้เห็นว่า มันใช้ตอนไหน ? ใช้กับใคร ? ใช้อย่างไร ? ถ้าเผื่อตั้งคำถามแบบนี้ มันก็เหมือนเป็นการกระชากหน้ากากไอ้ความคิดเหล่านั้นที่โลกาภิวัตน์สร้างขึ้นมา. อาจจะสร้างขึ้นมาโดยกลไกในท้องถิ่นก็ได้, ไม่ใช่หมายความว่า โลกาภิวัตน์จะต้องมาโดยผ่าน CNN โดยตลอด. มันผ่านกลไกในท้องถิ่นซึ่งเป็น คล้ายๆกับผู้แทนของมันด้วย. ดังนั้นสิ่งเหล่านี้เราจะมองข้ามไม่ได้.

 

 

 

 

 

I กลับไปหน้าเริ่มต้นของบทความนี้ I

I กลับไปที่หน้า home ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สารบัญบทความทั้งหมด I สมัครสมาชิก I

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

 

[ มีปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาด font ลง ]