ฉันทามติรัตนโกสินทร์ในยุคโลกาภิวัตน์
(ต่อจากหน้าที่แล้ว)
ทางเลือก ทางรอด ในยุคโลกาภิวัตน์
นำการเสวนาโดย
รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์
วันเสาร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2544 ณ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
Contents
Member
Back to Home

วารุณี ภูริสินสิทธิ์ : เมื่อสักครู่ที่อาจารย์พูดถึงขบวนการท้องถิ่นพัฒนา และอาจารย์มองว่า เศรษฐกิจแบบท้องถิ่นพัฒนานี่, ยุทธศาสตร์การพัฒนาแบบท้องถิ่นพัฒนา อยู่คู่ขนานกับโลกานุวัตน์มาตลอด. ที่นี้ในทัศนะของอาจารย์มองว่า คู่ขนานของการพัฒนาทั้งสองอย่างนี่ มันจะอยู่คู่ขนานกันไปได้เรื่อยๆไหม ? หรือว่ามันจำเป็นต้องมีอันหนึ่งเป็นหลักมากกว่า เพราะว่า จริงๆโดยปรัญาของยุทธศาสตร์การพัฒนาทั้งสองนี่ มันค่อนข้างขัดแย้งกันในระดับรากเลย คืออันหนึ่งจะทำเพื่อกำไร ส่วนอีกอันหนึ่งไม่ได้ทำเพื่อกำไร. อาจารย์บอกว่า ประเทศไทยมีความคิดในแนวพัฒนาคู่ขนานมาระยะหนึ่งแล้ว ที่นี้ในทัศนะของอาจารย์คิดว่า ต่อไปมันจะพัฒนาคู่ขนานไปเรื่อยๆ จริงๆแล้วเป็นไปได้หรือ ? หรือว่ามันมีกระบวนการอะไรที่จะทำให้มันอยู่ด้วยกันได้ ?

รังสรรค์ : ภายใต้การกำหนดนโยบายและการเมืองที่มันเป็นอยู่ในปัจจุบัน เป็นเรื่องยากที่มันจะหลีกเลี่ยงปัญหาความขัดแย้ง ความขัดแย้งจะต้องเกิดขึ้น และมันเกิดขึ้นมาแล้ว ความขัดแย้งจะเกิดขึ้นต่อไป และมันจะรุนแรงยิ่งกว่าที่มันเป็นมาในอดีต. ทำไมผมมีความเชื่อย่างนี้ ? เบื้องต้นเลย ผมคิดว่าเป็นเรื่องยาก ที่ยุทธศาสตร์ชุมชนท้องถิ่นพัฒนา หรือยุทธศาสตร์ที่เดินตาม ฉันทามติแห่งกรุงรัตนโกสินทร์, จะยกฐานะขึ้นมาเป็นยุทธศาสตร์หลักในการพัฒนาประเทศ ถึงแม้ว่าสภาพัฒน์ฯบอกว่า จะใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นพื้นฐานในการร่างแผนพัฒนาฉบับที่ 9. ผมก็ยังมีความเชื่อว่าเป็นเรื่องยากที่ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจะกลายมาเป็นยุทธศาสตร์หลัก เป็นปรัชญาหลักของยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ

เพราะเหตุว่า ถ้าเราดูกระบวนการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจในปัจจุบัน มันเป็นกระบวนการตอบสนองความต้องการซึ่งกันและกัน ระหว่างระบบราชการและผู้ทรงอำนาจทางการเมือง กับ กลุ่มทุน. ในประการสำคัญ กลุ่มทุนไทย ตั้งแต่ทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา เชื่อมสัมพันธ์กับกลุ่มทุนสากล. กลุ่มทุนไทยมีสัญญาพันธมิตรในเชิงยุทธศาสตร์ มี strategic alliance กับกลุ่มทุนสากล. กลุ่มทุนไทยขนาดใหญ่จะเป็นอย่างนี้ทั้งนั้น. เป็นไปไม่ได้ที่กลุ่มทุนสากลและกลุ่มทุนไทยขนาดใหญ่ จะเห็นดีเห็นงามกับการพัฒนาตามปรัชญาแบบเศรษฐกิจพอเพียง.

ด้วยเหตุดังนี้ โดยการครอบงำของผู้ทรงอำาจในทางการเมือง การครอบงำของ technocrat. ผู้ทรงอำนาจทางการเมืองฝ่ายหนึ่ง กับ บทบาทของกลุ่มทุนในการกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจอีกฝ่ายหนึ่ง โดยที่กลุ่มทุนไทย เป็นพันธมิตรกับกลุ่มทุนสากล ดังนั้น การผลักดันให้สังคมเศรษฐกิจไทยเดินตามเส้นทางฉันทามติแห่งกรุงวอชิงตัน ก็จะเป็นแรงผลักดันที่ทรงประสิทธิผล

ในประการสำคัญ ในเมื่อเรายังปฏิบัติตามกฎข้อบังคับของ WTO ปฏิบัติตามระเบียบ หรือแนวทางซึ่งกำหนดโดย กองทุนการเงินระหว่างประเทศ และ ธนาคารโลก เป็นเรื่องยากที่เราจะเบี่ยงออกไปจากเส้นทางของฉันทามติแห่งวอชิงตัน. เมื่อเป็นอย่างนี้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือว่า ในภาคตัวเมือง ในภาคอุตสาหกรรม และในภาคบริการ ก็จะเดินบนเส้นทางของ ฉันทามติแห่งวอชิงตัน.

แต่ในภาคเกษตรกรรมบางภาคส่วน จะเดินตามเส้นทางของชุมชนท้องถิ่นพัฒนา. ถ้าหากว่า "ทางใคร ใครเลือก, ทางใคร ใครเดิน" เป็นอย่างนี้ โอกาสที่จะเกิดความขัดแย้งมันก็ไม่มี. แต่เนื่องจากว่า กระแสโลกานุวัตน์พัฒนา มันเข้ามาหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในชนบท ต้องการหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในอ่าวไทย หรือบนพื้นดิน ดังนั้น การปะทะกันระหว่างกระแสโลกานุวัตน์พัฒนา กับ กระแสชุมชนท้องถิ่นพัฒนา มันเป็นเรื่องซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ และในอดีตที่เป็นมา ข้อเท็จจริงก็ปรากฎแล้วว่าการปะทะนั้นเกิดขึ้นแล้ว การปะทะนั้นมันมีทีท่าว่าจะรุนแรงมากขึ้น ถ้าเราไม่กำหนด Rule of the Game ที่ชัดเจน ถ้าเราไม่เปลี่ยนแปลงกระบวนการกำหนดนโยบาย ถ้าเราไม่เปลี่ยนแปลงตลาดการเมือง เพื่อที่จะให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น.

ในอดีต กลุ่มโลกานุวัตน์พัฒนา ดูดซับส่วนเกินจากชุมชนท้องถิ่นพัฒนา โดยที่ไม่มีการปะทะกันทางกายภาพ. การดูดซับส่วนเกินนี้ก็อาศัยเครื่องมือของรัฐ เช่น ภาษี, เช่น รายจ่าย, เช่น การกำหนดราคาสินค้า ของกลุ่มโลกานุวัตน์พัฒนา. นี่เป็นกลไกที่โอนส่วนเกินทางเศรษฐกิจจากกลุ่มชุมชนท้องถิ่นพัฒนา. แต่ว่า ตั้งแต่โลกานุวัตน์พัฒนารุกคืบไปหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ไปหาประโยชน์จากป่าสงวน จากที่ดินที่เกษตรกรเคยอยู่ แล้วอาศัยกลไกของรัฐในการขับไล่เกษตรกรออกจากที่ดิน. การปะทะกันระหว่างกระแสทั้งสองก็เกิดขึ้น แล้วก็ผมมองว่า กระแสนี้ ความขัดแย้งนี้จะต้องรุนแรงมากขึ้นในอนาคต.

เนตรดาว : อาจารย์คะ ฟังแล้วมีความรู้สึกว่า การมองยุทธศาสตร์การพัฒนา เหมือนกับเป็น 2 ขั้ว แต่ว่าจากที่ดิฉันมอง ไม่ค่อยแน่ใจว่ามันเป็น 2 ขั้วอย่างนั้นจริงหรือเปล่า แล้วมันน่าสนใจว่าใครอยู่ใน 2 ขั้วนั้น. เพราะว่าปรากฎการณ์ในระยะหลังนี่ ฝ่ายรัฐหรือฝ่ายการพัฒนาแนวเสรีนิยมนี่ ก็ดูเหมือนว่าพยายามปรับตัวหลังวิกฤตเศรษฐกิจ ไม่ว่าการพูดถึงเศรษฐกิจพอเพียง แนวคิด Good Governance, ประชาสังคม, หรือหลายๆอย่าง. การดึงภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม หมายถึงว่ารัฐดูเหมือนจะพยายามเข้ามามีส่วนร่วมกับเศรษฐกิจชาตินิยมด้วยเช่นกัน.

ในขณะเดียวกัน ฝ่ายที่อาจารย์เรียกว่า"ชุมชนท้องถิ่นพัฒนา" ดิฉันก็เห็นถึงความพยายามที่จะเข้าไป merge เข้าหากัน ระหว่างแนวคิดวัฒนธรรมชุมชน กับ กลุ่มอื่นๆ. แล้วขณะเดียวกัน ก็มีกลุ่มบางกลุ่มที่ก็บอกว่าไม่ใช่, ไม่เห็นด้วยกันเองในกระแสชุมชนท้องถิ่นพัฒนา. มีตั้งแต่พวกที่บอกว่า พลังหลักมันน่าจะเป็นชนชั้นกลาง บางพวกก็บอกว่า พลังหลักเป็นชาวบ้าน หรือว่าบางพวกก็บอกว่าพลังหลัก มันน่าจะเป็นสิทธิในการครอบครองและจัดการทรัพยากร. ด้วยการที่มันมีความพยายามที่จะผนวกกลืน แล้วก็พยายามที่จะกีดกัน มันทำให้ดิฉันมองว่า... มันน่าคิดว่า พลังในการเปลี่ยนแปลงมันอยู่ตรงไหน ?

คือในมุมของตนเอง อยากจะเปิดประเด็นให้แลกเปลี่ยนว่า มันดูเหมือนว่าจะไม่ง่ายอย่างนั้น เพราะว่า เราไปมองว่าฝ่ายรัฐแข็งตัว ไม่พยายามปรับเข้ามาผนวกประชาชน. คือดิฉันมองว่า รัฐปรับเข้ามาผนวกประชาชนเพื่อให้เป็นเสรีนิยมแบบเดิม ภายใต้คำใหม่ๆ. ขณะเดียวกัน ภาคประชาชนเองก็อาจจะไม่พึงระวังว่า คำใหม่ๆหรือข้อเสนอใหม่ๆนี่ มันอยู่ภายใต้อุดมการณ์อะไร หรือ ยุทธศาสตร์อะไรกันแน่ ?

รังสรรค์ : เป็นความจริงว่า ผมอาจจะเสนอคำอธิบายที่มันสุดโต่ง 2 ข้าง เพื่อให้เห็นความแตกต่าง. และก็เป็นความจริงที่ว่า ในระหว่างขั้วทั้งสอง มันมีแนวทางอื่นๆอีกเยอะแยะไปหมด. ประเด็นที่ว่า 2 ฝ่ายจะปรับตัวเข้าหากันหรือไม่ ก็คงเป็นประเด็นที่โต้เถียงกันได้. ทีนี้ผมอยากจะอภิปรายในประเด็นที่ว่า ทำไมผมจึงเชื่อว่า ยุทธศาสตร์การพัฒนาแบบเปิด ซึ่งยึดปรัชญาเศรษฐกิจเสรีนิยมสมัยใหม่ จะยังคงเป็นยุทธศาสตร์หลักของประเทศไทย.

เป็นความจริงที่ว่า องค์กร, อย่างเช่น สภาพัฒน์ฯพยายามจะปรับตัว, สภาการศึกษาฯพยายามจะปรับตัว แต่ว่าองค์กรเหล่านี้, พูดในภาษาชาวบ้าน ไม่ค่อยมีน้ำยา. การวางแผนก็คือการร่างแผนแล้ววางไว้เฉยๆ มันไม่มีน้ำยา มันไม่มีประสิทธิผล.

ถ้าผมจะถามคำถามว่า แรงผลักที่จะเข้าสู่แนวทางเสรีนิยม ถ้าเราจะดูกลไกของรัฐ เราดูที่ไหน ? หนึ่ง, ผมดูที่กระทรวงการคลัง. กระทรวงการคลังรับยุทธศาสตร์ชุมชนท้องถิ่นพัฒนาได้หรือเปล่า ? สอง, ผมดูที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทยจะเลิกเส้นทางเสรีนิยมทางการเงินได้ไหม ? สาม, ผมดูกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงพาณิชย์จะยอมเว้นวรรค WTO ไหม ? สี่, ผมดูสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน. BOI จะหันมาส่งเสริมการลงทุนทางภาคการเกษตรของเกษตรกรรายย่อยไหม ? ผมมองไม่เห็นทางเลย... การเปลี่ยนแปลงในเรื่องของเส้นทางเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ เป็นการเปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นไปได้ยาก. ลองดูองค์กรที่สำคัญ ที่กุมนโยบายเศรษฐกิจ, จะพบว่า จิตวิญญานของปรัชญาเสรีนิยมทางเศรษฐกิจสมัยใหม่ มันฝังตัวอยู่ในองค์กรเหล่านี้.

แนวความคิดอย่างเช่นเรื่อง Democratization อย่างเช่นเรื่อง Good Governance ซึ่งแนวความคิด 2 อันนี้, IMF และ World Bank ก็มีส่วนผลักดัน แม้กระทั่งในการทำข้อตกลงระหว่างประเทศในช่วงหลังนี่ ก็มีการผูกเงื่อนข้อตกลงบนพื้นฐานในหลักการของเรื่องพวกนี้. ผมขอยกตัวอย่างเช่น สหภาพยุโรป ไปทำข้อตกลงการค้าเสรีกับกลุ่มตลาดร่วมแห่งภูมิภาคส่วนใต้(Common Market of the South) ภาษาสเปนก็คือ "เมอ เคอ เซอ" ซึ่งประกอบด้วย บราซิล อาเจนตินา ปาลากวัล อุรุกวัล. สหภาพยุโรปไปทำสัญญากับ เมอ เคอ เซอ เพื่อที่จะจัดตั้งเขตเศรษฐกิจเสรี. สหภาพยุโรปไปตีท้ายครัวสหรัฐอเมริกา.

แต่ว่าในข้อตกลงข้อหนึ่งมีอยู่ว่า ถ้าประเทศหนึ่งประเทศใดใน เมอ เคอ เซอ หรือใน Common Market of the South เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองเป็นเผด็จการ. ข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศนั้น เป็นอันยุติ อย่างนี้เป็นต้น. เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า กระแสของ Democratization กระแสของ Good Governance มันได้รับการผลักดันจากประเทศมหาอำนาจ และได้รับการผลักดันจากองค์กรโลกบาล แล้วกลไกของรัฐไทยก็รับเอากระแสนี้. และผมก็เชื่อว่า บรรดาผู้นำชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ผู้นำ NGO ก็ยอมรับกระแสนี้

ในทำนองเดียวกันที่พูดว่า รัฐไทยก็รับเรื่อง civil society ด้วยเช่นกัน. ในเรื่องเหล่านี้ โอกาสที่จะมีการรับแนวคิดของกันและกัน เป็นไปได้. แต่พอมาถึงเรื่องเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ ผมคิดว่าเป็นเรื่องยาก. มองไปที่กระทรวงพาณิชย์ มองไปที่กระทรวงการคลัง มองไปที่ธนาคารแห่งประเทศไทย มองไปที่ BOI. องค์กรที่ผมเอ่ยเหล่านี้ เป็นองค์กรสำคัญที่ลากระบบเศรษฐกิจไทยไปสู่เส้นทางเสรีนิยม ซึ่งเรากำลังเดินอยู่ในปัจจุบัน. คนในองค์กรเหล่านี้จะเปลี่ยนความคิดหรือไม่ ? ผมมองไม่เห็นนะครับว่า มีอธิบดีคนไหนในกระทรวงการคลัง มีอธิบดีคนไหนในกระทรวงพาณิชย์ จะมาพูดถึงเรื่องของ ชุมชนท้องถิ่นพัฒนา. ถ้าพูดเมื่อไหร่ ไม่ได้เป็นอธิบดี.

ผู้เข้าร่วมสนทนา : คืออยากจะให้อาจารย์ยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมที่ว่า เป็นไปได้ที่เราจะเว้นวรรค WTO... ถ้าเป็นไปได้ มันจะเป็นไปในรูปไหน ? สมมุติว่า สิ่งที่เราผลิตอยู่ เช่น เรื่องของเกษตร เราจะไปสัมพันธ์กับโลกภายนอกอย่างไร ? ถ้าเป็นไปได้มันจะเป็นอย่างไร ? ถ้าสมมุติว่ารัฐบาลทำตามอุดมคติของอาจารย์... คือ เกษตรเชิงเดี่ยวที่เราทำอยู่ มันจะแปรเปลี่ยนไป แล้วมันจะไปสู่ตลาดโลกอย่างไร ?

รังสรรค์ : คือข้อเสนอเรื่องเว้นวรรค WTO ไม่ใช่ข้อเสนอที่จะปรับ ยุทธศาสตร์การพัฒนา จาก โลกานุวัตน์พัฒนามาเป็นชุมชนท้องถิ่นพัฒนา. ข้อเสนอเรื่องเว้นวรรค WTO เป็นข้อเสนอเพื่อให้เราหยุดพัก เพื่อที่จะมาบำรุงร่างกายของเราให้แข็งแรง. ไม่ได้มีเจตนาใช้เวลาที่จะเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์การพัฒนา. เพราะว่าโดยความคิดของผม การเลือกยุทธศาสตร์การพัฒนาควรจะต้อง เป็นความเห็นของประชาชน. ผมไม่ควรจะเป็นคนไปบอกว่า ระบบเศรษฐกิจไทยควรจะเดินบนเส้นทางไหน ? ประชาชนควรจะต้องเป็นคนตัดสินว่าจะเดินบนเส้นทางไหน ? ประชาชนจะตัดสินได้ ก็ต่อเมื่อเราเปลี่ยนแปลงกระบวนการกำหนดนโยบาย เปลี่ยนแปลงตลาดการเมือง.

ทีนี้ทำไมจึงมีข้อเสนอในการเว้นวรรค WTO. ข้อเสนอนี้ก็เกิดมาจากความเชื่อที่ว่า เราไม่มีความสามารถที่จะเดินบนเส้นทางนี้ เราไม่สามารถจะจัดการกับสภาวะที่ไม่แน่นอน เราไม่สามารถจัดการกับเงินทุนที่มันเคลื่อนย้ายเข้าออกระหว่างประเทศโดยเสรี เราไม่สามารถจัดการกับกระแสโลกานุวัตน์. เราขอเว้นวรรคเพื่อเพิ่มความสามารถในการจัดการ.

ในระหว่างที่เราเว้นวรรค เราก็ต้องมาปรับปรุงกระบวนการกำหนดนโยบาย ปรับปรุงขีดความสามารถในการวิเคราะห์ปัญหา. เพราะเหตุว่า เราไม่มีความสามารถในการวิเคราะห์ปัญหา เราจึงดำเนินนโยบายผิด. ปรับปรุงเรื่องกระบวนการออกกฎหมาย ปรับปรุงเรื่องการพัฒนาการทรัพยากรมนุษย์ เรื่องการศึกษาอะไรต่างๆ. หมายความว่า ผมขอให้เว้นวรรคไป 10 ปี ขอเว้นวรรคไปถึงปี 2550. ในระหว่างปี 2550 เราไม่ได้งอมืองอเท้า เราไม่ได้หวังพึ่งพระพรหม เราไม่ได้หวังพึ่งพระสยามเทวาธิราช แต่เราต้องการขอเวลาในการ strengthen ระบบเศรษฐกิจของเราให้มันเข้มแข็ง. ถ้าเราอยากจะเดินทางต่อไปในเส้นทางเดิม ถามประชาชนว่าจะให้เดินทางต่อไปไหม ?

...ทั้งหมดมันพันกันหมด แต่ผมชี้ให้เห็นว่า กระบวนการกำหนดนโยบาย เป็นเรื่องซึ่งเราต้องสนใจ. เราไม่ได้สนใจเรื่องนี้เลย แล้วเราก็ปล่อยให้ผู้มีอำนาจ ลากระบบเศรษฐกิจไทยไปเรื่อยๆ เราจะปล่อยให้เป็นอย่างนั้นต่อไปไม่ได้อีกแล้ว

ผู้เข้าร่วมสนทนา : เท่าที่ฟังผมเข้าใจว่า รัฐบาลปัจจุบันที่บอกว่า"คิดใหม่ ทำใหม่" ก็ยังไม่ได้เป็นไปตาม ยุทธศาสตร์ชุมชนท้องถิ่นพัฒนา. คือกฎหมายรัฐธรรมนูญที่เรามีอยู่ตอนนี้ มันไม่ได้มีมาตรไหนที่มันจะทำให้เกิด accountability ดังที่อาจารย์อธิบายเลย. ไม่ทราบว่าอาจารย์มีความหวังในเรื่องที่จะเปลี่ยนแปลงหรือแก้ปัญหาเศรษฐกิจไทยอย่างไรบ้างครับ ? พอที่จะให้ความคิดเห็นพวกเราได้ไหมครับ ?

รังสรรค์ : จะแก้ปัญหาอย่างไร ? ผมคงช่วยไม่ได้, ตอบไม่ได้. ส่วนปัญหาเรื่อง accountability... ในรัฐธรรมนูญสร้าง accountability mechanism ขึ้นมาอันหนึ่ง แต่ว่ามันเป็นการสร้างกลไกที่มันนอกประเด็นในความเห็นของผม.

รัฐธรรมนูญมีหมวดแนวนโยบายแห่งรัฐอยู่ 1 หมวด. ถ้าหากว่ารัฐบาลทุกรัฐบาลทำตามหมวดแนวนโยบายแห่งรัฐ จะต้องใช้เงินมากกว่าพรรคไทยรักไทยเสนอให้ทำนโยบายที่เขาโฆษณา. เพราะว่าในนั้นมันยุ่งไปหมด รัฐเข้าไปยุ่งในการทำอะไรต่ออะไรไปหมด. คือหมายความว่าในนั้น ในด้านหนึ่งมันมีแนวนโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยม ในหมวดแนวนโยบายแห่งรัฐ. แต่ในอีกด้านหนึ่ง มันมีเรื่องแนวนโยบายรัฐสวัสดิการอยู่ในนั้น.

คือในประการแรก ผมคิดว่าประชาชนควรจะมีสิทธิเลือกนโยบาย ไม่ใช่ สสร.มาสั่งให้รัฐบาลดำเนินนโยบาย. ประชาชนควรมีเสรีภาพในการเลือกนโยบาย พรรคการเมืองก็ควรมีเสรีภาพในการเสนอขายนโยบาย. แต่ว่าสิ่งที่ สสร.ทำก็คือว่า... สสร.กำลัง impost ความเห็นของตัวเองให้กับสังคมโดยส่วนรวม ว่าแนวนโยบายที่ตัวเองร่างในหมวดแนวนโยบายแห่งรัฐ เป็นแนวนโยบายที่พึงปรารถนา. แต่ว่า นโยบายหลายเรื่องในนั้น เป็นนโยบายที่ผมไม่เห็นด้วย แต่ไม่มีเวลาจะไปพูดลงในรายละเอียด.

รัฐธรรมนูญสร้าง accountability mechanism เอาไว้ 1 มาตรา, บอกว่า รัฐบาลเมื่อแถลงนโยบายในรัฐสภาฯ จะต้องแถลงว่า นโยบายที่แถลงนั้นตรงกับแนวนโยบายแห่งรัฐในข้อใดบ้างในรัฐธรรมนูญ ? อันนี้เป็นการสร้าง accountability mechanism. แต่ผมถามว่า มันสร้าง"ความรับผิด"ต่อใคร ? มันไม่ได้เป็นการสร้าง"ความรับผิด"ต่อประชาชน. มันเป็นการสร้าง"ความรับผิด"ต่อ สสร. สสร.บอกว่า นโยบายชุดนี้เป็นนโยบายที่พึงปรารถนา รัฐบาลขึ้นมานี่ จะต้องเอานโยบายชุดนี้ไปดำเนินการ. เวลาแถลงนโยบายจะต้องแถลงด้วยว่า นโยบายที่แถลงนั้นตรงตามกับหมวดแนวนโยบายแห่งรัฐในข้อใดบ้าง ? อันนี้ไม่ใช่ accountability ที่มีต่อประชาชน. ซึ่งมันเป็นการสร้างกลไกที่ผิด.

ผมอยากจะเสนออย่างนี้นะครับว่า ที่ผ่านมา พรรคการเมืองไทยก็ไม่มี accountability. คงจำได้ในปี 2535 รับบาลพรรคประชาธิปปัตย์ เสนอนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้งว่า จะให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดในจังหวัดใหญ่ พรรคพลังธรรมก็เสนอนโยบายในชุดเดียวกัน แต่ 2 พรรคนี่ได้ร่วมเป็นรัฐบาลเดียวกัน ไม่ยอมเสนอเป็นนโยบายของรัฐบาล. พรรคพลังธรรมรวมกับพรรคประชาธิปปัตย์มีเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของรัฐบาลชวน 1. คุณชวน หลีกภัย อ้างว่า นโยบายของพรรคไม่ใช่นโยบายของรัฐบาล แล้วประชาชนก็ไม่มีบทลงโทษ.

ประชาชนก็ไม่มีบทลงโทษพรรคประชาธิปปัตย์. พรรคประชาธิปปัตย์เบี้ยวเรื่องการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด. ในเวลานี้ประชาชนก็กำลังกดดันว่า พรรคไทยรักไทยจะต้องไม่เบี้ยว. พรรคไทยรักไทยโฆษณาเรื่องกองทุนหมู่บ้าน โฆษณานโยบายพักหนี้เกษตรกร โฆษณานโยบายรักษาพยาบาล 30 บาท โฆษณานโยบาย National AMC. คนกำลังกดดันว่า พรรคไทยรักไทยต้องไม่เบี้ยว.

แต่สมมุติว่า พรรคไทยรักไทยเบี้ยว ถามว่าทำอะไรได้ไหม ? ทำไมได้. เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้สร้าง accountability mechanism. แล้วสังคมประชาชนไทยไม่รู้จัก social sanction. คือถ้าพรรคการเมืองและนักการเมืองเบี้ยว มันมีความหมายอะไร ? มันมีความหมายว่า ได้เงินไปแล้ว ไม่ส่งมอบสินค้า. ประชาชนลงคะแนนเสียงให้ไปแล้ว จ่ายเงินไปแล้ว แต่ไม่ส่งมอบสินค้า.

จำได้ไหมครับว่า จอร์ช บุช ซีเนียร์ ที่แพ้การเลือกตั้งคลินตัน คงจำเหตุการณ์ตอนปลายรัฐบาลบุชได้นะครับ... จอร์ช บุช ซีเนียร์ ออกทีวีแล้วบอกว่า read my lips อ่านริมฝีปากของฉัน no more tax ไม่มีภาษีอีกแล้ว. แล้วดันทะลึ่งไปเก็บภาษี แล้วคลินตันจับประเด็นนี้มาถล่ม เลยแพ้ไปเลย. เพราะสังคมอเมริกันมี social sanction. ทีนี้สังคมไทยไม่มี social sanction นักการเมืองและพรรคการเมืองก็ตระบัดสัตย์ได้ตลอดไป.

ทีนี้ ถ้าหากจะ เปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ก็เปลี่ยนแปลงในทำนองอย่างนี้ว่า. เวลาแถลงนโยบายต่อรัฐสภา รัฐบาลต้องแถลงว่า มีนโยบายอะไรบ้างที่แถลงในสภา ตรงตามกับนโยบายที่ใช้ในการหาเสียง แล้วก็ต้องแถลงอีกด้วยว่า นโยบายที่ใช้หาเสียงนโยบายใดบ้าง ไม่ได้นำมาเป็นนโยบายของรัฐบาล. อันนี้เป็นการสร้าง accountability mechanism. แล้วการแถลงลักษณะนี้เป็นการให้ความรู้กับประชาชน ให้ประชาชนเรียนรู้ที่จะต้องเริ่มรู้จักใช้ social sanction. ถ้ามันตระบัดสัตย์ ต้องลงโทษ อะไรทำนองนี้. แต่ว่า accountability mechanism มันไม่มี.

ผมไปพูดที่สำนักงบประมาณเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เรื่องสำนักงบประมาณ ทำไมไม่มี accountability ? ก็ไม่ได้รับการตอบสนอง. ผมไปถึงขั้นที่ว่า ให้ข้าราชการสำนักงบประมาณตั้งแต่ C8 เปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน ก็ไม่ยอม. คือเวลานี้การฉ้อราษฎร์บังหลวง เนื่องจากมีการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของนักการเมือง นักการเมืองก็โอนหน้าที่การฉ้อราษฎร์บังหลวงมาให้ข้าราชการ แล้วก็แบ่งปันกัน. เพราะฉะนั้น ข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับการเงิน เกี่ยวข้องกับการงบประมาณ เกี่ยวข้องกับการพัสดุ จัดจ้าง จัดซื้อ การตรวจสอบบัญชีข้าราชการเหล่านี้ ตั้งแต่ C8 ต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน. เพราะฉะนั้น มันก็จะแก้ปัญหาการ ฉ้อราษฎร์บังหลวง ได้. รัฐธรรมนูญไปโฟกัสอยู่ที่นักการเมือง ไม่ค่อยมีบทลงโทษข้าราชการ. มีบทลงโทษข้าราชการค่อนข้างน้อย ทั้งๆที่ข้าราชการเป็นกลไกสำคัญในกระบวนการ ฉ้อราษฎร์บังหลวง.

สมเกียรติ ตั้งนโม : ผมขอเรียนถามอาจารย์อย่างนี้ครับ. พอดีผมเคยได้ยิน ดร.ฉลองภพ พูดถึงวิธีการที่พรรคการเมืองต่างๆใช้วิธีการชะลอโครงการ หรือวิธีการชิ่งนโยบายหรือโครงการของตนเอง โดยการ เช่น เรื่องค่ารักษาพยาบาล 30 บาท รัฐบาลของพรรคไทยรักไทยก็ไม่ถึงกับไม่ปฏิบัติ แต่ว่าอาจะเริ่มปฏิบัติเพียงแค่ 10 โรงพยาบาลเท่านั้น อันนี้ก็ถือว่าได้ทำบ้างแล้ว. หรือว่าการพรรคหนี้เกษตรกร ก็อาจจะออกมาในรูปที่ว่า อาจจะเป็นคนที่จ่ายไม่ได้จริงๆเท่านั้น หรือจำกัดวงเงินอะไรทำนองนี้. กรณีแบบนี้ เรามีข้ออะไรที่จะเรียกร้องให้นโยบายที่รับปากประชาชนไว้ ให้ปฏิบัติโดยสมบูรณ์หรือไม่ครับ ?

รังสรรค์ : การเสนอนโยบายเพื่อหาคะแนนนิยมทางการเมืองเป็นเรื่องธรรมชาติในระบบการเมือง สังคมการเมืองที่ได้ผู้มีอำนาจมาโดยกระบวนการเลือกตั้ง เป็นเรื่องธรรมชาติที่จะมีการเสนอ policy platform ที่จะได้คะแนนนิยม หรือคะแนนเสียงในทางการเมือง. เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผมไม่โทษพรรคไทยรักไทย. ไอ้พรรคการเมืองอื่นที่มันไม่ทำนี่มันโง่ต่างหาก. เพราะว่าอย่าลืมว่า ประพฤติกรรมเช่นนี้ มันไม่ได้เพิ่งเกิด. พรรคกิจสังคมก็เป็นหัวหอกในการมีประพฤติกรรมเช่นนี้ พรรคกิจสังคมในยุค มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็เสนอนโยบายในลักษณะที่จะต้องการคะแนนเสียงจากประชาชน คือนโยบายการผันเงินไปสู่ชนบท. พรรคไทยรักไทยในคราวนี้ไม่ได้แตกต่างไปจากพรรคกิจสังคมในปี 2518.

แล้วอย่างที่ผมพูดในตอนต้นนะครับ เนื่องจากว่าสังคมไทยไม่รู้จักใช้ social sanction ในการลงโทษพรรคการเมืองที่ได้เงินแล้ว ไม่ส่งมอบสินค้า. การไม่ส่งมอบสินค้า การไม่ปฏิบัติตามนโยบายก็เป็นเรื่องปกติ. ทีนี้สมมุติว่าผมเป็นหัวหน้าพรรค และถ้าคุณเชื่อว่าผมมีความจริงใจในการเสนอนโยบาย. แต่ว่าเมื่อผมไปเผชิญกับข้อจำกัดขององค์กรที่จะเป็นกลไกในการดำเนินนโยบาย นโยบายนั้นมันก็ต้องเปลี่ยนรูปไปแน่นอน. สมมุติว่าถ้าเราเชื่อว่า พรรคไทยรักไทยจริงใจ ซึ่งผมเชื่อไม่เต็มร้อยเปอร์เซนต์. นโยบายพักหนี้เกษตรกร เมื่อเข้าไปสู่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ มันไม่มีทางเป็นไปอย่างที่พรรคไทยรักไทยโฆษณา เพราะว่า ธกส.ก็มี institution constraint มีข้อจำกัดในเชิงสถาบัน.

นโยบายรักษาพยาบาล 30 บาท ก็ต้องไปเผชิญกับข้อจำกัดเชิงสถาบันในกระทรวงสาธารณสุข บรรดานายแพทย์ที่มีบทบาทในการจัดระบบสาธารณสุขมูลฐาน แล้วกำลังนำความคิดเรื่องสุขภาพเรื่อง health for all มาใช้ ก็ออกมาวิพากษ์แนวนโยบายของพรรคไทยรักไทย. อันนี้เป็นเรื่องปกติ. ถึงแม้ว่าคุณจะจริงใจ ในนโยบายที่คุณโฆษณา แต่เมื่อไปสู่การปฏิบัติที่เป็นจริง มันไม่มีทางที่จะเป็นไปอย่างที่โฆษณาได้. มันต้องปรับ. แต่อันนี้เป็น 2 นโยบายที่มีโอกาสที่จะเป็นไปได้ค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับนโยบายอื่น. เมื่อเทียบกับนโยบาย National AMC ด้วยซ้ำไป.

ไพสิฐ พาณิชย์กุล : ผมมีเรื่องที่จะเรียนถามอาจารย์ 2 เรื่องด้วยกัน. เรื่องที่หนึ่งคือ เรื่อง"เบี้ยกุดชุม"ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาต่อสู้อย่างเต็มที่. ส่วนอีกเรื่องหนึ่งเป็นประเด็นเรื่องการเปิดเขื่อน ซึ่งเป็นเรื่องของการทำให้การใช้ทรัพยากรของชาวบ้าน มันมีโอกาสที่จะเข้าถึงได้มากขึ้น และเป็นการเปลี่ยนทิศทางการใช้ทรัพยากรของรัฐที่กำกับอยู่โดยองค์กรรัฐวิสาหกิจทั้งหลาย หรือว่าองค์กรของรัฐ. พ่วงประเด็นทางกฎหมายเข้าไป คือกฎหมายก็เขียนขึ้นมากลางๆ ในประเด็นที่เปิดโอกาสให้ใช้ดุลยพินิจ. ซึ่งบนเงื่อนไขแบบนี้ ในความเห็นอาจารย์ แนวทางของชุมชมท้องถิ่นพัฒนาที่ว่านี่ จะทำให้กลุ่มของชาวบ้านลุกขึ้นมาสู้ในโครงสร้างใหญ่ที่มันดูเหมือนว่าจะเปลี่ยนแปลงลำบาก มันพอมีความหวังขึ้นมาหรือเปล่า ?

รังสรรค์ : ผมตอบไม่ได้ทั้ง 2 คำถาม เพราะเป็นเรื่องที่ผมไม่ค่อยรู้. แต่ว่าในเรื่องเบี้ยกุดชุมนี่ ผมยังมองไม่เห็นว่ามันเป็นประโยชน์ยังไง ? ลองอธิบายซิครับว่ามันเป็นประโยชน์อย่างไร ?

ไพสิฐ : คือเท่าที่ผมตามข้อมูลก็คือ เรื่องเบี้ยกุดชุม แทนที่ชาวบ้านจะต้องพึ่งเงิน 100% ในการซื้อของ, แต่ชาวบ้านมีเครดิตส่วนตัวที่ทำขึ้นมาเป็นเบี้ยกัน ในการที่จะเก็บเงินส่วนหนึ่งที่ต้องใช้กับสังคมข้างนอกไว้ ไม่เอามาใช้จ่าย แต่ว่าใช้เครดิตมาหักกลบกัน. เพราะฉะนั้นประโยชน์ที่เกิดขึ้นก็คือว่า เมื่อจะไปสัมพันธ์กับสังคมข้างนอก ที่ยังพึ่งเงินตราของรัฐอยู่ ก็จะมีโอกาส...มีเม็ดเงินมากขึ้น มีการต่อมือให้ยาวขึ้นได้. ในขณะเดียวกัน ชุมชนที่พึ่งพากัน ก็ใช้ความเชื่อถือในการแลกเปลี่ยนกัน ซึ่งตรงนี้ก็ทำให้สายป่านมันยาวขึ้นอีกนิดหนึ่ง. ผมคิดว่าตรงนี้เป็นประโยชน์ในท่ามกลางวิกฤตที่ว่านี้. แต่ถ้าหากว่าโดนปฏิเสธตั้งแต่ต้น โดยไม่มีการพยายามหาทางเลือกอย่างอื่นๆ มันก็ทำให้การเกิดหนี้ขึ้นมา การต้องพึ่งพิงอื่นๆ มันก็ยิ่งไปกันใหญ่

รังสรรค์ : ขอสารภาพว่า ผมไม่ค่อยได้ตามเรื่องพวกนี้ เอาไว้โอกาสหน้านะครับ.

สมโชติ อ๋องสกุล : พูดถึง ฉันทามติแห่งวอชิงตัน อาจารย์พูดว่ามันมีจิตวิญญานมา อย่างน้อยตั้งแต่สัญญาเบาว์ริ่ง. ผมว่า ฉันทามติแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มันก็มีจิตวิญญานมายาวนานเช่นกัน. พูดถึงความเป็นระบบที่จะต่อสู้กันนี่ อาจารย์คิดว่า ฉันทามติแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ภายใต้วิกฤตเศรษฐกิจแบบนี้ มันพอจะถูกเอามาใช้ได้หรือได้รับการผลักดัน หรือว่าภายใต้กระแสพระราชดำรัสนะครับ. แต่เมื่อพอถึงระยะหนึ่งที่เศรษฐกิจนี้ได้ผ่านพ้นไปแล้ว สิ่งเหล่านี้มันจะสามารถเกิดเป็นระบบ เพื่อที่จะสู้กันกับ ฉันทามติแห่งวอชิงตัน ได้ไหมครับ ? คือการต่อสู้กันที่ไม่ใช่ให้เป็นทวิลักษณ์ แต่ให้เกิดเป็นเอกลักษณ์ขึ้นมาให้ได้นะครับ

รังสรรค์ : อย่างที่ผมเรียนแล้วในตอนต้น ในท้ายที่สุด ทวิลักษณะของ ยุทธศาสตร์การพัฒนา มันก็จะยังคงดำรงอยู่. ถึงแม้ว่าจะมีการพูดถึงเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงหลังวิกฤตการปี 2540 แต่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือ หน่วยราชการ อาศัยการอ้างปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการของบประมาณเท่านั้นเอง มันไม่มีวิญญานของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอยู่บนฐานของงบประมาณแต่อย่างใดเลย.

อย่างที่ผมอธิบายในตอนต้น พลังที่จะผลักดันให้สังคมเศรษฐกิจไทยเดินทางบนเส้นทาง ฉันทามติแห่งวอชิงตัน มันค่อนข้างเข้มแข็ง. แม้กระทั่งเมื่อเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินปี 2540 แล้ว มีคนตั้งข้อกังขาว่า ยุทธศาสตร์การเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ ซึ่งครั้งหนึ่งธนาคารโลก และ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ถือเป็นแบบจำลองในการโฆษณาให้ประเทศต่างๆเอาอย่าง. ธนาคารโลกมีรายงานชื่อ East Asia Miracle ความมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจของอาเซียตะวันออก โดยอ้างว่า แบบจำลองทางเศรษฐกิจของอาเซียตะวันออก เป็นแบบจำลองเศรษฐกิจเสรีนิยม. แต่ว่าก็โดนทักท้วงโดยนักเศรษฐศาสตร์ฝ่ายเสรีนิยมและฝ่ายซ้าย.

ยกตัวอย่างเช่น นักเศรษฐศาสตร์ ในสังกัด Institute of Development Study ที่ซัสเส็กส์ ซึ่งทักท้วงว่า ในข้อเท็จจริงนี่ ประเทศ Asian NICs ไม่ว่าจะเป็น เกาหลีใต้ ไต้หวัน และสิงค์โปร์ ไม่อาจถือได้ว่าเป็นสวรรค์ของ อดัม สมิทธ์ อย่างที่ มิวตัน ฟรีดเมน อ้าง. มิวตัน ฟรีดเมน ไปแสดงปาฐกถาที่สิงค์โปร์ บอกว่าสิงค์โปร์เป็นสวรรค์ของ อดัม สมิทธ์ เพราะว่าทุกอย่างเป็นไปตามกลไกราคา. แต่ว่างานวิจัยของนักเศรษฐศาสตร์ ในสังกัดมหาวิทยาลัยซัสเส็กส์ ออกมาชี้ให้เห็นในรายละเอียดว่า รัฐบาลเกาหลีใต้ ไต้หวัน สิงค์โปร์ แทรกแซงการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจอย่างไรบ้าง ? แทรกแซงการทำงานของกลไกราคาอย่างไรบ้าง ? ดังนั้น สิ่งที่เรียกว่า East Asian Model ไม่ใช่แบบจำลองเศรษฐกิจเสรีนิยม. เพราะในข้อเท็จจริงนี่ มันมี Government Intervention ค่อนข้างสูง.

แต่อย่างไรก็ตาม ธนาคารโลกก็อ้างว่า นี่คือแบบจำลองที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งเดินตามเส้นทางเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ แล้วก็เอาไปใช้ในการโฆษณาให้ประเทศต่างๆ ทั้งในละตินอเมริกา และแอฟริกา ปฏิบัติ. อย่าลืมว่า ทศวรรษ 2510 ธนาคารโลกเคยบอกประเทศต่างๆในเอเชียให้เอาละตินอเมริกามาเป็นตัวอย่าง. แต่พอมาถึงทศวรรษที่ 2530 ไปบอกละตินอเมริกาให้เอาอย่าง Sount East Asia เป็นตัวอย่าง.

หลังเกิดวิกฤตการณ์ 2540 เริ่มมีการตั้งคำถามว่า East Asian Model เหมาะสำหรับประเทศโลกที่สามหรือไม่ ? ทันทีที่มีการตั้งคำถามนี้ ก็มีงานวิจัยออกมาจาก ธนาคารโลก และ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ว่าการเดินบนเส้นทางเสรีนิยมฯ จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศโลกที่สาม. ในวงวิชาการก็มีการตอบโต้กันในเรื่องนี้ มีการตอบโต้ในเรื่อง ยุทธศาสตร์การพัฒนาในการส่งออก ยุทธศาสตร์การผลิตเพื่อการส่งออก. วิวาทะในเรื่องนี้ยืดยาวมา 40-50 ปี.

วิวาทะเทื่อ 30-40 ปีที่แล้ว เป็นวิวาทะที่ว่า ปัจจัยอะไรที่มีผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสำคัญกว่ากัน ระหว่าง ปัจจัยภายนอกประเทศ กับ ปัจจัยภายในประเทศ. วิวาทะนี้เริ่มต้นโดยมีคนเสนอความเห็นว่า Export เป็น Engine of Growth หรือ การส่งออกเป็นจักรกลของการเติบโต แล้วก็มีงานวิจัยที่ตามหลังออกมาชุดหนึ่ง โต้กันว่าเป็นความจริงหรือไม่ ว่าการส่งออกเป็นจักรกลของการเติบโต ?

วิวาทะต่อมา ก็เป็นวิวาทะเรื่อง สหสัมพันธ์ระหว่าง การส่งออก กับ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ. คือมีการคำนวนสมการในทางสถิติ ในทางเศรษฐมิติ เพื่อจะดูสหสัมพันธ์ระหว่าง การส่งออก กับ การเจริญเติบโต. ดูว่าสหสัมพันธ์นี้เป็นจริงหรือไม่เป็นจริง... ปรากฏว่า ส่วนหนึ่งไม่พบว่ามีสหสัมพันธ์ทางสถิติ, แล้วก็คงจะเดาได้ งานวิจัยอีกส่วนหนึ่งพบว่า มีสหสัมพันธ์ที่มีนัยทางสถิติ ส่วนใหญ่ก็ออกมาจากธนาคารโลก.

มีการโต้เถียงกันว่าสหสัมพันธ์ระหว่าง การส่งออก กับ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เป็นจริงในทุกประเทศหรือไม่ ? เพราะมีนักเศรษฐศาสตร์ บางพวกที่พบว่า ไม่เป็นจริงในกลุ่มประเทศบางกลุ่ม ถ้าหากว่าการนำตัวอย่างของประเทศที่ใช้ในการวิเคราะห์เปลี่ยนแปลงไป ข้อสรุปจะเปลี่ยนแปลงไป. มีวิวาทะว่า สหสัมพันธ์ระหว่าง การส่งออก กับ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เป็นจริงในทุกกาละหรือไม่, มันเป็นจริงในทุกช่วงเวลาหรือไม่ ? เพราะเหตุว่ามีนักเศรษฐศาสตร์บางพวกพบว่า ถ้าผลการศึกษาจำกัดเฉพาะช่วงเวลาบางช่วง สหสัมพันธ์ระหว่าง การส่งออก กับ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ไม่มี, ไม่มีนัยะสำคัญทางเศรษฐกิจ. อันนี้เป็นวิวาทะชุดที่สองนะครับ.

วิวาทะชุดที่สาม, เป็นวิวาทะที่ในทางตรรกวิทยาเรียกว่า Fallacy of Composition หรือ ความหลงผิดในองค์ประกอบ. สมมุติว่าคุณอยู่กรุงเทพฯ คุณออกจากบ้าน 6 โมงเช้าทุกวัน รถติด. ถ้าผมออกจากบ้านเร็วขึ้นครึ่งชั่วโมง ผมจะถึงที่ทำงานเร็วกว่าปกติ. แต่ถ้าคนในกรุงเทพฯทุกคน ออกจากบ้านเร็วขึ้นครึ่งชั่วโมง แทนที่จะถึงที่ทำงานเร็วขึ้น อาจจะถึงที่ทำงานช้าลง. นี่คือปัญหาเรื่อง Fallacy of Composition หรือ ความหลงผิดในองค์ประกอบ.

ในวงวิชาการเศรษฐศาสตร์ มีนักเศรษฐศาสตร์คนหนึ่ง ตั้งคำถามนี้คือ วิลเลี่ยม ไคลน์, เขาทำงานอยู่ที่ Institute for International Economics. ปัญหาเรื่อง Fallacy of Composition, ตั้งคำถามว่า ถ้าประเทศโลกที่สามทุกประเทศ ผลิตเพื่อการส่งออก ใครจะเป็นคนซื้อ ? แล้วใช้แบบจำลอง โดยมีข้อสมมุติต่างๆในการคำนวน แล้วก็พบว่า ถ้าประเทศ 40-50 ประเทศ(ผมจำตัวเลขไม่ค่อยได้นะครับ อันนี้เป็นงานประมาณปี 1982) ผลิตเพื่อการส่งออกอย่างเดียว ไม่อยากนำเข้า. สินค้าส่งออก ไม่เพียงแต่จะต้องพึ่งประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจเท่านั้น ยังต้องส่งไปขายในประเทศโลกที่สามด้วยกันเองด้วย. แล้ว 10 ปีต่อมา, วิวาทะนี้ก็ยังไม่สิ้นสุด ว่า Fallacy of Composition นี่ เป็นจริงหรือไม่เป็นจริง. แต่ถึงจะมีการถกเถียงหรือวิวาทะในเรื่องเหล่านี้ ทั้งในเชิงทฤษฎีและในเชิงข้อเท็จจริง องค์กรโลกบาล ทั้ง กองทุนการเงินระหว่างประเทศ และ ธนาคารโลก, รวมทั้ง องค์การการค้าโลก ก็ยังคงผลักดันให้ประเทศต่างๆ ที่เป็นภาคีสมาชิกเดินต่อไป บนเส้นทางของเสรนิยมทางเศรษฐกิจ.

ทีนี้ผลประโยชน์ซึ่งมันมีร่วมกันระหว่างกลุ่มทุนภายในประเทศ กับ กลุ่มทุนสากล ทำให้พลังผลักดันให้สังคมเศรษฐกิจไทยเดินบนเส้นทางเสรีนิยมนี้ จะยังคงมีต่อไป. แล้วประกอบกับข้อเท็จจริงที่ว่า บรรดาหน่วยราชการที่มีบทบาทสำคัญ ในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานส่งเสริมการลงทุน ผมว่าเป็นเรื่องยากที่ "ชุมชนท้องถิ่นพัฒนา" หรือ "ฉันทามติแห่งกรุงรัตนโกสินทร์" จะกลายมาเป็นพื้นฐานของยุทธศาสตร์หลักในการพัฒนาประเทศไทย

วารุณี : ฟังที่อาจารย์พูด คล้ายๆว่า จริงๆแล้วในโลกนี้ เหมือนกับว่าระบบเศรษฐกิจหนึ่งเศรษฐกิจใด มันไม่น่าจะใช้ได้กับทุกๆประเทศ. เพราะว่า อย่างที่เราไปว่าระบบทุนนิยม, จริงๆแล้ว ประเทศเขาก็บอกว่า เพราะระบบทุนนิยมทำให้ประเทศเขาเจริญขึ้น คนยากจนน้อยลง อะไรต่างๆเหล่านี้.

คือมันเหมือนกับว่า ไม่ใช่ระบบเดียวกระมัง สำหรับทุกๆประเทศ ? แล้วก็เป็นไปได้ไหม ถ้าเราเชื่อว่า มันไม่มีระบบเดียวกันในการที่จะใช้กับทุกๆประเทศ, มันเป็นไปได้ขนาดไหน ในขณะที่ไทยเราเป็นประเทศเล็กๆ แล้วก็กู้เงินเขามาก็ตั้งเยอะแยะ ที่เราจะสามารถกำหนดการพัฒนาหรือระบบเศรษฐกิจของเรา ที่อาจจะไม่ใช่ทุนนิยม หรืออาจจะไม่ใช่อะไรที่เคยมีอยู่ในโลกนี้ที่มีการพูดกัน... อันนี้เป็นไปได้แค่ไหนคะ

รังสรรค์ : อาจารย์คงต้องไปทะเลาะกับ จอร์ช โซรอส. จอร์ช โซรอส เรียก Washington Consensus ว่า One World Consensus ฉันทามติที่จะมีโลกเดียว. คือผมคิดว่าเราถลำลึกจนกว่าที่เราจะถอนตัว. คือในทุกสังคม มันก็คงมีคนซึ่งมีความเห็นแตกต่างกับเส้นทางของการพัฒนา. ในสังคมไทยเราก็มีตัวอย่างให้เห็น. คือเป็นไปได้ยากที่จะให้สมาชิกในสังคมมีความเห็นร่วมกัน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในการผลักดันเส้นทางของการพัฒนาเส้นเดียวกัน. ในทำนองเดียวกันก็เป็นเรื่องยากที่จะให้ทุกประเทศในโลก มีสิ่งที่ จอร์ท โซรอส เรียกว่า One World Consensus.

แต่ว่าสิ่งซึ่ง ธนาคารโลก และ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ รวมทั้ง องค์การการค้าโลก และรวมถึงการผลักดันของประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ก็คือ การผลักดันให้ประเทศต่างๆ เดินอยู่บนเส้นทางหลักเส้นทางเดียวกัน คือเส้นทางในการเปิดเสรีในทางเศรษฐกิจ. ผมคิดว่าเราถลำลึกเกินกว่าที่เราจะถอนตัว เป็นเรื่องซึ่งถอนตัวยาก. สิ่งที่เห็นก็คือ อย่างที่อาจารย์นิธิเขียนนานแล้ว "ทางใคร ใครเลือก".

สมโชติ : ประเด็นที่อาจารย์พูดถึงเรื่องการออกแบบรัฐธรรมนูญ. ถ้าถาม สสร. สสร.ก็คงบอกว่า อันนี้มันดีแล้ว. ที่ว่านี้ อย่างน้อยที่สุดก็คือว่า มีพื้นที่ของประชาชนมากขึ้น เป็นภาพที่เราคิดว่ามันเป็นความก้าวหน้า. แต่มันก็พบข้อบกพร่องอย่างที่อาจารย์พูดถึง... มาถึงตรงนี้ มันจะมีทางออกอย่างไรให้มันรักษาพื้นที่ของประชาชนไว้ได้ด้วย แล้วก็แก้สิ่งที่ยังเป็นข้อบกพร่องในบางส่วน เพราะว่า ถ้าเราออกแบบกันไม่ค่อยดี ผมว่าเดี๋ยวไทยรักไทยก็ถือโอกาสตรงนี้ทำตามสิ่งที่อยากจะทำ

รังสรรค์ : พื้นที่ของประชาชน ไม่มีทางลดลงไปกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพราะว่าเมื่อรัฐธรรมนูญเปิดช่องให้แล้ว เป็นการยากที่จะไปเปลี่ยนรัฐธรรมนูญเพื่อลดพื้นที่ของประชาชน. เป็นความจริงดังที่อาจารย์พูดถึงนะครับว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมืองมากขึ้น อันนี้เป็นประเด็นที่เป็นด้านดีของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่. คือผมไม่มีโอกาสที่จะไปพูดถึงประเด็นด้านดี ผมไปจับประเด็นซึ่งผมคิดว่า เป็นจุดสำคัญที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง. แล้วถ้าหากว่าจะจุดพลุให้มีการเปลี่ยนแปลง จะต้องเริ่มวิพากษ์วิจารณ์ จะต้องเริ่มเสนอความเห็น. เพราะว่ากระบวนการปฏิรูปมันกินเวลา กว่าจะเปลี่ยนแปลงได้ ก็คงจะเป็น 5 ปี หรือ 10 ปีข้างหน้า.

อย่างที่ผมเรียนให้ทราบในตอนต้นว่า มันขึ้นอยู่กับปรัชญาพื้นฐานว่าเรามอง Optimal Constitution กันยังไง ? เราต้องการรัฐธรรมนูญในอุดมคติอย่างไร ? ผมกำลังเสนอความเห็นว่า รัฐธรรมนูญในอุดมคติ ควรจะเป็นรัฐธรรมนูญที่ออกแบบเพื่อที่จะให้ตลาดการเมืองมีการแข่งขันที่มีความสมบูรณ์มากกว่าปัจจุบัน.

รัฐธรรมนูญในปัจจุบัน ถ้าใช้ต่อไป เราจะไม่เห็นนักการเมืองหน้าใหม่. เพราะว่านักการเมืองที่จะขึ้นสู่เวทีการเมืองได้ จะต้องผ่านการกลั่นกรองของพรรคการเมือง. เราจะไม่เห็นตัวผู้นำใหม่ และไม่มีผู้นำใหม่ให้เลือก. เราจะเห็นคนเหล่านี้วนเวียนกันมาเป็นนายกฯ ไม่ ชวน หลีกภัย ก็ ทักษิณ, ไม่ ทักษิณ ก็ บรรหาร, ไม่ บรรหาร ก็ กร, ไม่ กร ก็ ชวลิต. กับตลาดการเมืองที่เป็นอยู่ในเวลานี้ design ของมัน, ไม่เกื้อกูนที่จะให้มีผู้นำใหม่. ผู้นำที่เราเห็นอยู่เหล่านี้ เป็นผู้นำที่ได้มาจาก Constitutioner design ที่มันมีลักษณะเป็นกึ่งเผด็จการ คือ รัฐธรรมนูญฉบับปี 2521 รวมทั้งรัฐธรรมนูญฉบับปี 2534. การเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงผู้นำ มันใช้เวลานับ 10 ปี. เพราะฉะนั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่จะต้องคิดถึง.

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ผมขอเรียนถามอาจารย์เรื่องนี้นะครับ คือ เมื่อตอนท้ายที่อาจารย์บรรยาย อาจารย์พูดถึงการแก้ไขกฎหมาย กติกา กฎเกณฑ์ หลายอย่างด้วยกัน, ซึ่งถ้ามันทำสิ่งนั้นได้จริง ประชาชนก็จะมีอำนาจเข้ามาควบคุมการใช้ทรัพยากรมากขึ้นแยะทีเดียว ทีนี้ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว ผมสงสัยว่าพันธมิตรในทางยุทธศาสตร์การพัฒนาต่างประเทศ ก็จะพบว่า การพยายามจะดึงเอาทรัพยากรมาใช้นี่ ราคามันจะแพงมากจนกระทั่งขาดทุน จนไม่คุ้มทุนเท่าไหร่ ? เพราะฉะนั้น โดยที่เราไม่ได้ถอนตัว เขาเป็นฝ่ายถอนตัว อันนี้เป็นไปได้ไหม ? ถ้าสามารถที่จะปฏิรูปการเมืองในลักษณะที่อาจารย์พูดในตอนท้าย

รังสรรค์ : กลุ่มทุนสากลถอนตัวไป เนื่องจากราคามันแพง. กลุ่มทุนสากลกำลังซื้อ กทช.อยู่นี่, คณะกรรมการโทรคมนาคมฯนี่ มันไม่ใช่กลุ่มทุนไทยซื้อนะครับ กลุ่มทุนสากลซื้อ. ผมนึกไม่ออกครับว่า กฎหมายที่ผมพูดถึงเมื่อสักครู่นี้ มันจะตราขึ้นมาได้อย่างไร ?

เนตรดาว : มีความสงสัยคือ ยังเห็นนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงอีกหลายคน ยังยืนยันในช่วงหลังวิกฤตทางเศรษฐกิจว่า แนวทางเศรษฐกิจเสรีนิยมยังใช้ได้ แล้วก็ดี. คือโดยรวมๆแล้ว ถ้าดู 50 ปีของการพัฒนา หรือ 40 กว่าปีมานี้ เรียกว่ายังใช้ได้ดีอยู่ ยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่มีปัญหาทางเทคนิคบางประการ ในบางช่วงเวลาที่ทำให้มันสะดุดเท่านั้นเอง ซึ่งถ้าเราลดตัวนั้นได้ มันก็จะขยายตัวอย่างต่อเนื่องไป. ทีนี้อยากเรียนถามอาจารย์ว่า ในหมู่นักเศรษฐศาสตร์ด้วยกันเอง กระแสของการจะวิจารณ์ความคิดแบบนี้มันมีมากน้อยแค่ไหน เพราะอะไร ? รู้สึกว่ามันมาทางนี้เยอะ

รังสรรค์ : คือนักเศรษฐศาสตร์ที่มีความคิดแหวกแนวไปจากสำนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก ก็เป็นส่วนน้อยนะครับในสังคม. แล้วก็อยากจะบอกว่า มันค่อนข้างเปล่าเปลี่ยว, ชีวิต นักเศรษฐศาสตร์ นอกกระแสหลัก มันค่อนข้างเปล่าเปลี่ยว บางครั้งต้องแสดงความเห็นคนเดียว. เมื่อกี๊อาจารย์พูดเสมือนหนึ่งว่า อาจารย์ไปอ่านบทความของอาจารย์อัมมาร์ สยามวาลา, อะไรทำนองนี้ "50 ปีของการพัฒนาเศรษฐกิจไทย". ผมคิดว่า ถ้าประเมินอย่างนั้น จุดที่มีการเปลี่ยนผันสำคัญ, ถ้าเชื่อตามบทวิเคราะห์นี้ จุดที่มีการเปลี่ยนผันสำคัญก็คือ จุดที่เราเปิดเสรีทางการเงิน. ก่อนหน้านั้น เรา handle กับระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมทางการค้าได้ ถ้าอธิบายตามที่พูดถึงเมื่อสักครู่นี้.

ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนมาถึงกลางทศวรรษ 2510 คือปี 2515, ปัญหาเรื่องเสถียรภาพทางเศรษฐกิจไม่ใช่เป็นปัญหาใหญ่ แล้วผู้นำไทยก็สามารถจัดการกับมันได้. พูดถึงว่า performance ของรัฐบาลไทยในอดีต ในการจัดการกับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ก็อยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดี ระบบเศรษฐกิจค่อนข้างมีเสถียรภาพ. ส่วนสำคัญก็เป็นเพราะว่า ระบบทุนนิยมโลกมีเสถียรภาพด้วย. ปัญหาเรื่องการไร้เสถียรภาพทางการเงิน ไม่ค่อยปรากฎ. จนกระทั่งมันมีปัญหาเรื่องเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนของเงินดอลล่าร์ จนกระทั่งประธานาธิบดีนิกสันต้องประกาศเลิกระบบ Breton Woods ในเดือนสิงหาคม 2514 แล้วเราก็มาเผชิญกับวิกฤตการณ์น้ำมันในปี 2516, ในปี 2522. แต่กระนั้นก็ตาม ผมคิดว่าเราก็ handle ได้ค่อนข้างดี.

จนกระทั่งเราเปิดเสรีทางการเงิน เราเปิดเสรีทางการเงิน โดยไม่เคารพลำดับขั้นของการดำเนินนโยบาย. พูดง่ายๆ เราไม่พร้อมที่จะเปิดเสรีทางการเงิน เรายังไม่มีความสามารถในการจัดการกับลักษณะเสรีนิยมทางการเงิน. และนั่นก็เป็นจุดสำคัญที่ทำให้มีปัญหา.

คือถ้าตีความตามความคิดของของสำนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก คำอธิบายก็จะเป็นอย่างที่ผมอธิบายให้ฟัง. คือ จะต้องเพิ่มขีดความสามารถในการจัดการกับนโยบายเศรษฐกิจมหภาค. นี่เป็นเรื่องที่คนเหล่านั้นเห็นว่า เป็นเรื่องสำคัญ. แต่อย่างที่ผมเรียนให้ทราบว่า ในธนาคารแห่งประเทศไทย มันมีคนท้วงติง. มันไม่มีวิวาทะ, ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่เคยมีวิวาทะ คือถ้าผู้ว่าฯพูดอะไร คนอื่นก็เงียบหมด. มันเป็นจารีตซึ่งไม่ดี มันไม่มี dialogue ภายในธนาคารแห่งประเทศไทย. แล้วใน ธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่ส่งเสริมให้คนภายในธนาคารแห่งประเทศไทย มี dialogue กับคนนอกวังบางขุนพรหม. ดังนั้น จารีตที่จะเก็บทุกอย่างไว้ในวังบางขุนพรหม มันทำลายตัวเอง. มันเป็นจารีตที่ทำลายตัวเอง.

ผมยกตัวอย่างเช่น ในทางกฎหมายนี่ คณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นคนกำกับธนาคารแห่งประเทศไทย แต่บังเอิญในทางกฎหมายนี่ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย. ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่เคยเอาเรื่องนโยบายเข้าที่ประชุม. กรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยแต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ดังนั้น คณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่เคยมีโอกาสพิจาณา หรือมีบทบาทในการกำหนดนโยบาย. การกำหนดนโยบายเป็นเรื่องภายในธนาคารแห่งประเทศไทย.

ในคณะกรรมการทุนรักษาระดับ, คณะกรรมการทุนรักษาระดับนี่ ตามกฎหมายมีหน้าที่กำหนดค่าเสมอภาค มีหน้าที่กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนของเงินบาท. แต่ว่าคณะกรรมการทุนรักษาระดับมีมนุษย์ต่างดาว มีปลัดกระทรวงการคลัง มีปลัดกระทรวงพาณิชย์. ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่เอาเรื่องนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนเข้าคณะกรรมการทุนรักษาระดับ. เวลาจะมีประชุม ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยก็นัดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไปพบก่อนการประชุมหนึ่งชั่วโมง แล้ว brief ให้ฟังว่า เงินบาทมีปัญหาอะไร ? แล้วในที่ประชุมคณะกรรมการทุนรักษาระดับ ไม่มีการพิจารณาเรื่องนี้. จารีตเช่นนี้ ไม่ส่งเสริมให้มีวิวาทะในเรื่องนโยบาย แม้กระทั่งภายในธนาคารแห่งประเทศไทยเอง.

ด้วยเหตุนี้ การดำเนินนโยบายก็ขึ้นอยู่กับผู้นำ. ผู้นำมองการณ์ไกลแค่ไหน ? อย่างที่ผมเรียนให้ทราบ ในปี 2536 ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการมีบันทึกเตือนว่า การเปิด BIBF จะเกิดปัญหาอะไร ? ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในเวลานั้น คือคุณวิจิตร สุพินิจ ไม่ได้ให้ความสนใจกับรายงานอันนี้. ถ้าให้ความสนใจจะต้องมีการดำเนินการอะไรบางอย่าง แต่ไม่ได้มีการดำเนินการ. แล้วก็เปิดเสรีในทางการเงิน. ทุกอย่างไม่ได้ทำอะไรเลย.

กองทุนการเงินระหว่างประเทศเตือนว่าจะต้องขยาย exchange rate band ให้อัตราแลกเปลี่ยนขยับได้มากขึ้น, exchange rate band หรือ ขอบอัตราแลกเปลี่ยนเป็นมรดกมาจากระบบ Breton Woods. คือเรากำหนดค่าเสมอภาค เช่น เรากำหนดค่าเสมอภาคที่ 25 บาท, อัตราแลกเปลี่ยนจะขึ้นและลงไม่เกิน 1%, ถ้าขึ้นเกินหรือลงเกิน 1% ทุนรักษาระดับก็เข้าไปแทรกแซง. เข้าไปแทรกแซงโดยการซื้อเงินดอลล่าร์ หรือเข้าไปแทรกแซงโดยเอาเงินดอลล่าร์ออกขายในตลาด เพื่อให้อัตราแลกเปลี่ยนนี่เคลื่อนไหวอยู่ในขอบอัตราแลกเปลี่ยน ที่เรียกว่า exchange rate band.

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ได้เตือนว่า เมื่อเดินบนเส้นทางเสรีนิยมทางการเงินแล้ว ต้องขยาย band. กองทุนการเงินระหว่างประเทศเตือนทุกประเทศใน Sount East Asia, แล้วหลายประเทศก็ขยาย band, สิงค์โปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ รวมทั้งมาลเเซีย ได้ขยายขอบอัตราแลกเปลี่ยน, เป็น 4% บ้าง. ตอนที่ใกล้เกิดวิกฤต บางประเทศขยายเป็น 8% คือขึ้นไม่เกิน 8 ลงไม่เกิน 8. แต่ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่ได้ทำอะไรเลย. แม้กระทั่งขยาย exchange rate band.

ไม่ได้พัฒนาตราสารการเงินใหม่ๆ. เวลานั้นดุลย์การคลังเกินดุลย์ ไม่มีพันธบัตรรัฐบาลในตลาด. เพราะฉะนั้น เมื่อพันธบัตรรัฐบาลในตลาดมีน้อย โอกาสที่จะใช้พันธบัตรรัฐบาลเป็นเครื่องมือในการ regulate ปริมาณเงินที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ก็เป็นไปในขอบเขตที่จำกัดมาก. เพราะฉะนั้น นี่เป็นความจำกัดของเครื่องมือ. ซึ่งก็สะท้อนให้เห็นถึงความจำกัดของภูมิปัญญาด้วย แล้วในที่สุดก็เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินขึ้น. เทคโนแครทไทยก็ส่งเสียงเหมือนกับองค์กรโลกบาล เมื่อองค์กรโลกบาลบอกว่า ถึงจะเกิดวิกฤต ไม่ควรจะต้องทิ้งแนวทางเสรีนิยมทางการเงิน เทคโนแครทไทยก็ส่งเสียงเหมือนกัน ไม่ต่างกัน. เพราะมันมี dialogue ไทย กับเทคโนแครทขององค์กรโลกบาลมาโดยตลอดในประวัติศาสตร์ ตั้งแต่เราเป็นสมาชิกในปี 2492 เป็นต้นมา

วารุณี : ไม่ทราบว่ามีใครมีคำถามกับท่านอาจารย์อีกไหมคะ ? ...ถ้าไม่มี เวลาที่เราใช้ไป ก็ผ่านมา 2 ชั่วโมงกว่าแล้วนะคะ คงทำให้เราต้องมีอะไรให้คิดกันอีกมากมาย.

วันนี้อาจารย์บอกว่า อาจารย์เป็นนักวิชาการที่ค่อนข้างโดดเดี่ยว แต่เวลาที่เราได้เจอนักวิชาการที่คิดถึงประชาชน เราก็จะรู้สึกอบอุ่นขึ้น เพราะฉะนั้น ถึงจะโดดเดี่ยว แต่อาจารย์ก็สร้างความอบอุ่นให้กับคนอื่นๆได้อีก. ในโอกาสนี้ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนต้องขอขอบพระคุณอาจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ เป็นอันมากนะคะ ที่กรุณาสละเวลาและมาพูดคุยกับเรา แล้วได้ให้ความรู้อะไรหลายๆอย่างซึ่งเราไม่เคยรู้มก่อน หรือบางทีก็ยังนึกไม่ถึงอะไรต่างๆ. ค่ะ ทางมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนมีของที่ระลึกเล็กๆน้อยๆที่จะมอบให้กับอาจารย์เพื่อแสดงความขอบคุณอย่างสูง

สุดท้ายนี้ เราขอปิดกระบวนวิชา "โลกาภิวัตน์ 101" เอาไว้ ณ วันนี้ และขอให้ติดตามว่า มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จะเปิดกระบวนวิชาอะไรต่อไปในโอกาสหน้าค่ะ. ขอขอบคุณทุกคนที่เข้าร่วมในกิจกรรมชั้นเรียนครั้งนี้ค่ะ.

กลับไปหน้าแรกของบทความนี้

กลับไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com