มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน ส่วนกลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ

บทความนี้
เป็นข้อเสนอเชิงความคิด
เพื่อใชในโครงการ
ศาลรัฐธรรมนูญพบประชาชน
เรื่อง "สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ
ในความจริงในทางปฏิบัต"ิ
เพื่อให้บทความนี้เข้าใจง่าย
สำหรับประชาชน
จึงขออนุญาติไม่ดำเนินการ
ตามบทความทางวิชาการ
ที่ต้องมีอ้างอิงมากเกินไป

ไพสิฐ พาณิชย์กุล
อาจารย์สาขานิติศาสตร์

This article is a conceptual paper, on the occasion for the Constitutional court have a meeting with
people

in topic "The Right and Liberty of people in Constitution " by Paisit Panitkoon

ภาพชาวบ้านที่เดือดร้อน เกี่ยวกับที่ดินทำกิน จ.ลำพูน

บทความชิ้นนี้ เป็นความร่วมมือกันระหว่าง
สาขานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กับ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
นับเป็นปรากฎการณ์ใหม่ที่ "องค์กรศาล" ออกมาพยายามที่จะทำให้ ประเด็นเรื่องสิทธิเสรีภาพ
ของประชาชนเป็นจริง
ในทางปฎิบัติ โดยการเริ่มต้นในการ ฟังความเห็นจากคนอื่นๆ ที่มิใช่ผู้อยู่ในตำแหน่ง ที่ใช้อำนาจรัฐ
Introduction

ในอดีตที่ผ่านมา นับแต่มีการปฎิรูปกฎหมาย
โดยเลือกเอาระบบประมวลกฎหมายเหมือนกับประเทศมหาอำนาจในขณะนั้น
โดยในระบบนี้ มีจุดเด่น คือ หลักกฎหมายต่างๆจะมีการเขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษร
บรรดาสิทธิเสรีภาพทั้งหลายก็ถูกนำมาบัญญัติไว้ด้วย ซึ่งทำให้เกิดปัญหาตามมา (และการไม่บัญญัติเอาไว้สำหรับสังคมไทยก็เกิดปัญหาเช่นเดียวกัน)
แต่ในขณะเดียวกัน ในระบบดังกล่าว ก็มีข้อจำกัดของระบบดังกล่าวด้วยในเวลาเดียวกัน ก็คือ
การทำสิ่งที่บัญญัติไว้ในกฎหมายให้เป็นจริงในทางปฎิบัติ และสังคมไทยก็มีปัญหานี้ คือ ขาดการสร้างระบบที่ทำให้สิ่งที่ถูกบัญญัติไว้เป็นจริง

 

สภาพเช่นนี้ดำรงและก่อปัญหาเพิ่มขึ้นเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน และในโอกาสที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้เปิดโอกาสให้กับตนเอง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และประชาชนกลุ่มต่างๆได้มีโอกาสพบปะกัน ซึ่งนับเป็นมิติใหม่ของกระบวนการยุติธรรม( แม้จะเป็นบางส่วนของกระบวนการยุติธรรมก็ตาม) เพื่อมาร่วมกันในการแก้ข้อจำกัดดังที่กล่าวมาข้างต้น

ในทุกสังคมอะไรจะเป็นจริงขึ้นมาได้ มีเงื่อนไขที่สลับซับซ้อนและมีบุคคลในฐานะต่างๆเข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย ในประเทศไทยเองมีประสบการณ์ของสังคม ที่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพที่อยู่ในลักษณะที่รัฐเป็นผู้หยิบยื่นให้ และจะบอกไว้ด้วยว่าสิทธิของใครดีกว่ากันโดยไม่ค่อยที่จะเปิดโอกาสให้ประชาชนในฐานะที่เป็นเจ้าของสิทธิ ซึ่งเป็นไปตามหลักการที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย ได้มีประสบการณ์ในการต่อรองเพื่อวางกรอบ กำหนดบรรทัดฐานในสังคม

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งเกิดขึ้นบนเงื่อนไขทางการสังคมที่กลุ่มต่างๆแสดงตัวออกมาชัดเจน และแสดงบทบาทเชิงรุกต่อปัญหาต่างๆและต่อรัฐ จึงทำให้การมองรัฐธรรมนูญและความคาดหวังต่อรัฐธรรมนูญ รวมถึงสถาบันต่างๆเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นมาโดยรัฐธรรมนูญ และมีอำนาจที่สำคัญเสมือนหนึ่ง การสร้างกฎหมายขึ้นมาเพื่อผูกมัดหน่วยงานของรัฐ ต้องเคารพในหลักการใหม่ๆที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมา

บทบาทดังกล่าวนี้ จึงทำให้ศาลรัฐธรรมนูญยิ่งถูกคาดหวังมากขึ้น ความคาดหวังเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแต่เฉพาะกลุ่มต่างๆเท่านั้น ในฐานะปัจเจกบุคคลก็คาดหวังเช่นเดียวกัน แต่ความคาดหวังดังกล่าวจะเป็นจริงหรือไม่ หรืออีกนัยหนึ่ง จะทำให้หลักการต่างๆตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และประชาชนคาดหวังเป็นจริงได้อย่างไร จึงเป็นโจทย์ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะถูกตั้งคำถามจากการเมืองภาคประชาชน และจะถูกตรวจสอบผ่านทางช่องทางต่างๆ ดังที่ปรากฎให้เห็นตลอดการทำงานที่ผ่านๆมาขององค์กรอิสระทั้งหลาย

อันนี้จึงเป็นปรากฎการณ์ในทางการเมือง ท่ามกลางกระแสปฎิรูปและเป็นการส่งสัญญาณให้เห็นว่า ไม่ว่าคำตอบของโจทย์จะเป็นอย่างไร ในส่วนของการเมืองภาคประชาชนก็มีคำตอบอยู่แล้วในการที่จะทำให้สิทธิ-เสรีภาพ และหลักการใหม่ๆตามรัฐธรรมนูญเป็นจริงบนแนวทางที่ถูกทำให้เป็นจริงตามที่หลักการของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งเน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในพื้นที่การเมืองของพลเมือง

ต่ำแหน่งแห่งที่ของศาลรัฐธรรมนูญในสังคมไทย
เมื่อเปรียบเทียบกับศาลอาญา ศาลแพ่ง ศาลจังหวัด ซึ่งเป็นส่วนของศาลยุติธรรม ประชาชนทั่วไป จะมีความรู้จักมากกว่าศาลรัฐธรรมนูญ เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ เงื่อนไขที่เกิดขึ้นจากพัฒนาการของกระบวนการยุติธรรมของไทย ซึ่งมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะต้องสร้างกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทางแพ่งและทางอาญาเพื่อทำให้หลุดพ้นจากสิทธิสภาพนอกอาณาเขตทางศาล ประกอบกับบทบาทของศาลยุติธรรม ที่แสดงออกมาต่อประชาชนเองด้วยอีกส่วนหนึ่ง จึงทำให้ประชาชนรับทราบและรู้ว่า เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่อะไร ( แต่ได้ทำหน้าที่ ตามที่หลักการของกฎหมายกำหนดไว้หรือเป็นไปตามที่ประชาชนคาดหวังหรือไม่นั้น เป็นอีกประเด็นหนึ่ง)

ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ ในการชี้ขาดข้อพิพาทที่เกิดจากการใช้อำนาจ เป็นเฉพาะบางเรื่องตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดเอาไว้ ดังจะกล่าวต่อไปข้างหน้า การที่ถูกกำหนดบทบาทเอาไว้ดังกล่าวก็ดี และยิ่งในอดีตที่ผ่านมา การจัดองค์กร งบประมาณ บุคคลากร ฯลฯ ไม่ได้เป็นดังเช่นปัจจุบันที่เป็นอิสระมากขึ้น จึงทำให้ตำแหน่งแห่งที่ของศาลรัฐธรรมนูญ มีฐานะเป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ มีสถานะภาพในทางกฎหมาย แต่ไม่มีตำแหน่งแห่งที่ในสังคม ไม่เป็นที่รู้จัก ไม่เป็นที่คาดหวัง และแปลกแยกไปจากสิ่งที่มีอยู่และคุ้นเคยกว่า โดยเฉพาะกับกลุ่มบุคคลที่ถูกปฏิเสธ ถูกละเมิดสิทธิ สภาพเช่นนี้ไม่เป็นที่สอดคล้อง และไม่เอื้อต่อภาระกิจของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะต้องทำหน้าที่รักษาความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ เอาไว้

ดังจะเห็นได้จากการสถาปนาให้เป็นองค์กรชี้ขาดที่มีลำดับศักดิ์ ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่าอยู่สูงกว่าองค์กรชี้ขาดอื่นๆ และยังมีผลบังคับให้หน่วยงานอื่นๆของรัฐ จำต้องผูกพันตามคำชี้ขาดนั้นด้วย และนอกจากนั้น การที่จะใช้อำนาจหน้าที่ของตนเองได้จะต้องรอให้องค์กรอื่นๆที่มีอำนาจใช้อำนาจเสียก่อนแล้ว และถ้าหากถูกโต้แย้งก็จะใช้ดุลพินิจแล้วพิจารณาว่าจะส่งเรื่องเป็นคดีให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย การถูกกำหนดบทบาทเอาไว้เช่นนี้ ก็ยิ่งไปลดความสำคัญของศาลรัฐธรรมนูญที่ควรจะเข้ามามีบทบาท ในการช่วยเสริมสร้างความพยายามของภาคประชาชนที่จะจัดความสัมพันธ์ที่เท่าเทียมกัน ให้เกิดขึ้นในสังคมลงด้วย

บทบาท - อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ
สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจเสียก่อนในเบื้องต้นก็คือ ศาลรัฐธรรมนูญมิได้เป็นแก้วสารพัดนึก ที่จะบันดาลให้ความจริงในเรื่องต่างๆที่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้เป็นจริง ในทางตรงกันข้ามบนเงื่อนไขบางอย่าง และด้วยข้อจำกัดต่างๆสิ่งต่างๆตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ( รวมถึงสิ่งที่ยังไม่ได้บัญญัติ) อาจจะไม่เป็นจริงขึ้นก็ได้ถ้าหากส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา

ในปัจจุบันภายหลังจากที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีผลใช้บังคับ และมีการก่อตั้งองค์กรอิสระต่างๆตามรัฐธรรมนูญ ความเข้าใจของประชาชนและ ความคาดหวังของประชาชนต่อศาลรัฐธรรมนูญ ดูเหมือนจะมีความแตกต่างไปจากบทบาทอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

ในทางกฎหมาย ศาลรัฐธรรมนูญมีสถานะเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ในการวินิจฉัยชี้ขาด ข้อพิพาทหรือปัญหาที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้เพื่อต้องการรักษาความเป็นกฎหมายสูงสุดไม่ให้กฎหมายอื่นที่มีฐานะต่ำกว่า ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ และไม่ให้การกระทำใดๆของรัฐไม่ว่าจะเป็นการกระทำที่เป็นการใช้อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร อำนาจตุลาการ ขัดกับรัฐธรรมนูญ ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจในองค์กรศาลรัฐธรรมนูญได้ชัดเจนขึ้น จึงจะขอกล่าวถึงที่มาและบทบาทตามกฎหมายของศาลรัฐธรรมนูญ ดังนี้

ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันในหมวด ๘ ส่วนที่ ๒ ที่ว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดและก่อตั้งองค์กร ซึ่งประกอบด้วยสองส่วนคือ " ศาลรัฐธรรมนูญ " ซึ่งเป็นองค์กรส่วนที่ทำหน้าที่ในการวินิจฉัยชี้ขาด และส่วน " สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ " ซึ่งเป็นองค์กรส่วนที่ทำหน้าที่งานธุรการทั้งหลายให้กับศาลรัฐธรรมนูญ

กำหนดจำนวนและคุณสมบัติตัวบุคคล รวมถึงกระบวนการ ขั้นตอน และวิธีการได้มา ของผู้ที่จะมาทำหน้าที่เป็นผู้พิพากษา( ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ) ลักษณะเด่นของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งแตกต่างไปจากองค์กรที่ทำหน้าที่ในการชี้ขาดอื่นๆคือ ศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วยบุคคลที่มาดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่มาจากองค์กรชี้ขาดอื่นๆ คือ ผู้พิพากษาศาลฎีกา ซึ่งเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจำนวน ๕ คน มาจากที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด จำนวน ๒ คน ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ที่ได้รับเลือกจำนวน ๕ คน ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ที่ได้รับการคัดเลือกจำนวน ๓ คน ทั้งหมดรวมเป็น ๑๕ คน การมีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีที่มาจากที่ที่หลากหลาย ซึ่งน่าจะช่วยทำให้การพิจารณาแง่มุมต่างๆรอบด้านมากขึ้น

แต่ก็มีคำถามเกิดขึ้นเช่นเดียวกันว่า ถ้าบนสมมุติฐานที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมาจากนักกฎหมายและนักรัฐศาสตร์จากวงการต่างๆ ซึ่งเป็นการเลียนแบบที่มาเหมือนกับศาลรัฐธรรมนูญในหลายประเทศโดยเฉพาะในยุโรป ตัวแทนจากวงการต่างๆดังกล่าวจะสามารถที่จะเข้าใจและสะท้อนสภาพเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมของประชาชนกลุ่มต่างๆในสังคมไทย ที่เป็นพหุสังคมได้ครบถ้วนหรือไม่ เพราะบริบทสังคมดังที่กล่าวถึงเป็นสภาพที่เป็นอยู่จริงของสังคม และบริบทดังกล่าวนี้ เป็นเบ้าหลอมความสัมพันธ์ในเชิงสิทธิ อันเป็นเป้าหมายที่รัฐธรรมนูญต้องการให้การคุ้มครองไม่ให้อำนาจรัฐละเมิด

อำนาจหน้าที่และบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งกำหนดไว้ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจหลักๆ ดังนี้คือ

๑. อำนาจในการวินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญใด ( และรวมถึงร่างข้อบังคับการประชุมของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา ด้วย) ตามที่ นายกรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา เสนอให้วินิจฉัยว่ามีข้อความใดขัด หรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ หรือกระบวนการในการบัญญัติไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

๒. อำนาจในการวินิจฉัย บทบัญญัติของกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ ที่ใช้บังคับในคดีใดคดีหนึ่ง ซึ่งศาลได้ส่งความเห็นมา เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่

๓. อำนาจในการวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรต่างๆตามรัฐธรรมนูญ

จากอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ทำให้เห็นถึงบทบาทขององค์กรและตัวผู้ทำหน้าที่ในการใช้อำนาจ ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญในฐานะที่ถูกกำหนดให้เป็นผู้รักษาความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ แต่...

มีข้อที่น่าสนใจซึ่งมีความสำคัญต่อการทำให้สิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญเป็นจริง ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ก็คือ ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่สามารถที่จะเป็นผู้ริเริ่มคด ีหรือหยิบประเด็นการละเมิดหลักการของรัฐธรรมนูญขึ้นมาวินิจฉัยได้เอง จะต้องอาศัยองค์กรอื่นๆตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้เท่านั้นทำความเห็นเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญ จึงจะทำให้ประเด็นเรื่องสิทธิที่ถูกละเมิดโดยหน่วยงานของรัฐได้รับการพิจารณา

ดังนั้นในแง่นี้ จากโครงสร้างกลไกในการคุ้มครองสิทธิของประชาชนที่มีการแบ่งช่วงชั้นขององค์กร และไม่มีช่องทางที่จะทำให้เจ้าของสิทธิสามารถที่จะเข้าถึงกลไกในการให้ความคุ้มครองได้โดยตรง จึงเป็นการผูกกลไกในการคุ้มครองสิทธิไว้กับองค์กรต่างๆตามรัฐธรรมนูญ ว่าสามารถที่จะให้การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ ( ซึ่งถ้าองค์กรนั้นไม่ให้ความสำคัญไม่หยิบขึ้นเป็นประเด็นหรือเพิกเฉยเสียก็ได้ )

ดังนั้นโครงสร้างการคุ้มครองสิทธิเช่นนี้ จึงทำให้หลักประกันความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญก็ดี สิทธิเสรีภาพของประชาชนก็ดี ไม่ถูกให้ความสำคัญ และแม้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีความตั้งใจดีอย่างไรก็ตาม การคุ้มครองสิทธิตามบทบาทที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ก็ไม่สามารถที่จะดำเนินการอย่างใดๆได้

แต่อย่างไรก็ตาม ในการจัดกลไกในการคุ้มครองสิทธิตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มีความพยายามที่จะทำให้องค์กรที่มีหน้าที่สำคัญดังกล่าว ไม่ตกอยู่ภายใต้ระบบราชการและระบบบริหาร ที่ผูกติดกับทางการเมืองแบบเดิม จึงทำให้มีการจัดสถานะ และก่อตั้งองค์กรดังกล่าวไว้รัฐธรรมนูญ ให้องค์กรเหล่านี้เป็นองค์กรอิสระ

สำหรับในกรณีของศาลรัฐธรรมนูญก็มีการก่อตั้ง

" สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ " ให้ทำหน้าที่เป็นหน่วยธุรการของศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวโดยรวมแล้วสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่ในทางวิชาการให้กับศาลรัฐธรรมนูญนั้นเอง

โดยปรกติแล้ว หน่วยวิชาการในส่วนราชการที่มีอำนาจจะไม่ค่อยที่จะมีบทบาทสำคัญในทางการใช้อำนาจของหน่วยงาน เมื่อเป็นเช่นนั้น ฝ่ายวิชาการในส่วนราชการจึงไม่ค่อยที่จะได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร แต่สำหรับสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นมาใหม่และภายใต้ระบบบริหารแบบใหม่ดังที่ได้กล่าวมา จะเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการทำให้ประชาชนรู้จักศาลรัฐธรรมนูญ และที่ควรจะเป็นก็คือ รู้จักประชาชนให้มากกว่าที่เป็นอยู่ด้วย

ทั้งนี้เพราะการทำให้สิทธิ เสรีภาพตามหลักการที่บัญญัติไว้ในกฎหมายเป็นความเป็นจริงขึ้นมาได้ จำเป็นที่จะต้องรู้จักและเข้าใจประชาชน และจำเป็นที่จะต้องให้ประชาชนรู้จักและสามารถที่จะเข้าถึงได้โดยง่าย โดยวิธีการแบบชาวบ้านๆ

สิทธิในเชิงอุดมการณ์และสิทธิในเชิงปฏิบัติการ
ถ้าจะถามว่าปัญหาของระบบกฎหมายไทย มีอะไรบ้าง ? คำตอบก็คงจะมีหลายคำตอบมากมาย แต่ที่เป็นปัญหาใหญ่ก็คือ ปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งก็คือปัญหาที่ว่าจะทำให้หลักการต่างๆที่บัญญัติไว้เป็นจริงได้อย่างไร นั่นเอง. ซึ่งปัญหาดังกล่าว มีที่มาจากหลายๆสาเหตุ บ้างก็บอกว่า ปัญหาอยู่ที่ระบบราชการ บ้างก็บอกว่าอยู่ที่สำนึกของประชาชน บ้างก็บอกว่าอยู่ที่ความล้าสมัยของกฎหมายทั้งระบบ ตั้งแต่

๑. กระบวนการในทางความคิดที่เน้นกรอบคิดทางด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะ และตั้งอยู่บนฐานความคิดแบบชาตินิยม ที่ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของสังคม และรวมถึงการขาดกระบวนการในการสร้างความเข้าใจร่วมกันให้เกิดขึ้นในสังคม

๒. ถัดลงมาก็เป็นปัญหาของกระบวนการนิติบัญญัติ ที่ไม่สามารถสะท้อนความเป็นจริงของสังคม และคิดหามาตราการในทางกฎหมาย ในการจัดความสัมพันธ์ในทางสังคมโดยคำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ทั้งนี้เป็นเพราะ ไม่มีผู้ที่เป็นตัวแทนของทุกภาคส่วนของสังคมเข้าไป ทุกประเด็นปัญหาถูกผูกโยงเอาไว้ด้วยกฎหมาย และระบบราชการที่รวมศูนย์เอาไว้อย่างไร้ทิศทาง.

๓. ปัญหาของกระบวนการในการบังคับใช้ที่ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ให้ความเป็นธรรม อิงกับระบบอุปถัมภ์ ไม่ใช้วิธีการที่เป็นมิตร ฯลฯ และ

๔. ในประการสุดท้าย การขาดระบบการติดตามและประเมินผลกระบวนการนิติบัญญัติ อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ

ทั้งหมดดังที่กล่าวมา อาจจะช่วยสะท้อนและทำความเข้าใจเกี่ยวกับสภาพความเป็นจริง ที่เราสามารถสัมผัสได้จากแง่มุมต่างๆของปัญหาในทางกฎหมาย ที่หลักการและทางปฎิบัติไม่เป็นไปในทางเดียวกัน ซึ่งสามารถที่จะสะท้อนให้เห็นซึ่งกันและกันได้ว่า ทั้งในเชิงอุดมการณ์และในทางปฎิบัติ จะต้องนำมาปรับปรุงกันใหม่ ซึ่งก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการในการปฎิรูปส่วนต่างๆในทางสังคม ที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้

กล่าวกันโดยเฉพาะสำหรับ การจะทำให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นจริงในทางปฎิบัติได้นั้น มีข้อเสนอเพื่อเป็นการวางกรอบการพิจารณาในประเด็นเรื่อง " สิทธิ " และ " เสรีภาพ " ดังนี้

ปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่ง มาจากมุมมองในทางกฎหมาย ที่มองเรื่องสิทธิซึ่งนำมา บัญญัติไว้เป็นบทบัญญัติกฎหมายนั้น เป็นการให้ความสำคัญในแง่ของเป้าหมายสุดท้ายของสิ่งที่กฎหมายเรียกว่า "สิทธิ" ซึ่งทำให้สิ่งที่ในทางกฎหมายไม่ได้เรียกว่า "สิทธิ" แต่สำคัญในการจัดความสัมพันธ์ในสังคมถูกปฏิเสธไป

ที่ผ่านๆมา การอธิบายความหมายของคำว่า "สิทธิ"ในทางกฎหมาย ที่ปรากฏในทางตำรานั้น มักจะอธิบายในแนวทางที่ว่า "สิทธิ" นั้นคือ อำนาจกฎหมายให้ไว้ หรือ ประโยชน์ที่กฎหมายคุ้มครองให้ ซึ่งเน้นที่เป้าหมายที่กำหนดขึ้นโดยการสมมุติว่าทุกคนจะได้ประโยชน์จากสิ่งที่กฎหมายบัญญัติไว้

ดังนั้น ในแง่นี้จึงทำให้การพิจารณาในเรื่องสิทธิ - เสรีภาพในทางหลักการที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย จึงไม่ค่อยที่จะให้ความสนใจในแง่ของกระบวนการมากเท่าที่ควร จึงทำให้เกิดทัศนะครอบงำขึ้นในสังคม เมื่อมีการกล่าวถึงประเด็นเรื่อง สิทธิ ว่าเป็นการต่อรองกันในเรื่องของอำนาจ เป็นเรื่องของผลประโยชน์ ที่มันมีอยู่แล้วและมีอยู่อย่างจำกัดเท่านั้น นอกเหนือจากบุคคลหรือเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว คนอื่นๆไม่มีสิทธิ ไม่มีส่วน ที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องได้ และถ้าหากเข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วยแล้ว มาตราการในการลงโทษจะเข้ามาดำเนินการ สภาพเช่นนี้จึงทำให้เกิดมุมมองที่เป็นผลกระทบ ซึ่งเกิดจากการมองประเด็นเรื่องสิทธิว่าเป็นเรื่องเฉพาะอำนาจและประโยชน์เท่านั้น

ดังนั้นใครที่ไม่มีสิทธิก็จะถูกกีดกันออกไป หรือสูญเสียประโยชน์ไปทั้งหมด

โดยเหตุนี้ เพื่อเป็นการแก้ปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นดังที่กล่าวข้างต้น ควรที่พิจารณาประเด็นเรื่องสิทธิในอีกด้านหนึ่งควบคู่ไปด้วย ก็คือ การมองเรื่อง "สิทธิ" ว่าเป็นเรื่องของการจัดความสัมพันธ์ในสังคมในระดับต่างๆ ซึ่งไม่ได้ให้ความสำคัญอยู่ที่ "ความหมาย" และ "เป้าหมาย" ของคำว่าสิทธิ แต่มุ่งเน้นที่กระบวนการในการจัดความสัมพันธ์ในทางสังคมในทางกฎหมาย โดยใช้สิทธิ เสรีภาพ เป็นเครื่องมือในการจัดความสัมพันธ์ และใช้ เสริม เครื่องมืออื่นๆที่มีอยู่แล้วในสังคม ทั้งนี้เพราะความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคมเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดจากความสัมพันธ์ของผู้คนในสังคม ดังนั้นถ้าหากต้องการทำให้หลักการต่างๆเกี่ยวกับสิทธิ เสรีภาพ ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นจริง จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเน้นที่กระบวนการ( ที่ต้องมีหลากหลายและเข้าถึงได้โดยง่าย) แทนการเน้นที่อุดมการณ์ที่เลื่อนลอย

ศาลรัฐธรรมนูญ กับการเปลี่ยนนัยของสิทธิ-เสรีภาพเพื่อให้เป็นจริงในทางปฏิบัติ
สิ่งที่เป็นปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งของสังคมไทย คือ โครงสร้างรัฐที่ครอบลงไปบนโครงสร้างของสังคมผ่านทางระบบการเมือง ระบบบริหารราชการแผ่นดิน และระบบกฎหมาย ภายใต้ระบบที่ซ้อนทับกันและมีความสลับซับซ้อนเช่นนี้ จึงทำให้เกิดความไม่ลงตัว ดังนั้นเมื่อโครงสร้างเช่นนี้เริ่มปฏิบัติการ ผลที่ตามมาก็คือ เกิดความไม่เสมอภาคกันอันเป็นการละเมิดหลักการขั้นพื้นฐานของสิทธิ

และนอกจากนั้น สืบเนื่องจากปัญหาภายในของโครงสร้างต่างๆทั้งทางกฎหมาย การเมือง ระบบราชการ และความไม่รู้ของประชาชนในระดับต่างๆเอง จึงทำให้หลักการต่างๆที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ เพื่อต้องการที่จะให้เกิดการเข้าไปแทนที่ปัญหาเดิมที่มีอยู่ ดังนั้น จึงทำให้ ไม่สามารถทำให้เกิดขึ้นเป็นจริงได้

การที่กฎหมายใช้ สิทธิ - หน้าที่ เป็นเครื่องมือในการจัดความสัมพันธ์โดยมีกลไกที่เป็นระบบราชการเพื่อมาบังคับทำให้เกิดขึ้น จริงๆแล้วเมื่อไปตรวจสอบในความเป็นจริงแล้วพบว่า ไม่ค่อยที่จะบรรลุผลเป็นจริงขึ้นตามหลักการที่กำหนดไว้ อาทิเช่น

การใช้กำลังเจ้าหน้าที่ของรัฐในรูปกองกำลัง หลอกลวง บังคับข่มขู่ ปิดล้อมจับกุม ประชาชนทั้งหมู่บ้านโดยกล่าวหาว่าเป็นผู้ที่ทำผิดตามกฎหมายป่าไม้ โดยจงใจเพิกเฉยต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน ตามที่รัฐธรรมนูญให้การคุ้มครองไว้

การฉวยโอกาสและอาศัยอำนาจในการดำเนินคดีอาญา โดยใช้ฐานความผิดเล็กน้อย(เมื่อเปรียบเทียบกับสิทธิที่เรียกร้องให้รัฐให้การคุ้มครองเช่น ความผิดฐานใช้เครื่องกระจายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นต้น) กระทำต่อผู้ที่เรียกร้องสิทธิซึ่งได้รับการเพิกเฉยจากรัฐ ควบคู่ไปกับการใช้กลไกของการสั่งการ ผ่านระบบอิทธิพลในพื้นที่ในการสร้างเงื่อนไขทำให้เกิดการใช้ความรุนแรง เพื่อหาความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรง

การประชาพิจารณ์โครงการสำคัญๆของรัฐ ที่กระทบต่อสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ กลายเป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบด้วยกฎหมายตามแบบพิธี แต่ไม่มีความชอบธรรมที่สุจริต เป็นการฟอกโครงการเพื่อดำเนินการต่อ ควบคู่ไปกับการใช้ความรุนแรง และวิธีการนอกฏหมาย โดยไม่มีกลไกใดๆเข้ามาตรวจสอบติดตาม

ปัญหาการเสนอร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชน ที่ดำเนินการโดยภาคประชาชนอันเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ และทำให้เป็นจริงในทางปฎิบัติ แต่การณ์กลับปรากฎว่ากระบวนในการเสนอร่างพระราชบัญญัติ ได้รับการขัดขวางในรูปแบบต่างๆมากมายโดยรัฐสภาเอง ริดรอน ละเมิด และเพิกเฉยต่อสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ เป็นต้น

ตัวอย่างปัญหาการถูกละเมิดสิทธิ และการลุกขึ้นมาใช้สิทธิตามที่ได้การรับรองไว้โดยชัดแจ้ง ตามรัฐธรรมนูญของภาคประชาชนโดยหน่วยงานของรัฐ แสดงให้เห็นปัญหาและอุปสรรคสำคัญ ที่ทำให้สิทธิ-เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญไม่สามารถเป็นจริงได้ตามหลักการและในทางปฏิบัติ

แต่ในทางกลับกัน ท่ามกลางปัญหามากมายดังกล่าว ทำให้เห็นพลังอันสำคัญของภาคประชาชน และ ชุมชนต่างๆที่จะทำให้กลไกในการทำให้สิทธิเสรีภาพเป็นจริง และสามารถที่จะมีกลไกในการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพได้

ปัญหาจึงมาตกอยู่ที่กลไกในการคุ้มครองความเป็นกฎหมายสูงสุด คือศาลรัฐ ธรรมนูญ ที่จะต้องดำเนินการ ในประการใดประการหนึ่งอันไม่อาจที่จะหลีกเลี่ยงได้ ในภาวะเช่นนี้ เมื่อพิจารณาจากสถานะภาพ และต่ำแหน่งแห่งที่ในทางสังคมของศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงข้อจำกัดทั้งในแง่ของกลไกตามกฏหมาย สภาพแวดล้อม และวัฒนธรรมทางการเมืองการปกครองแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่จะมีบทบาทสำคัญ ในการทำให้หลักความเป็นกฏหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ หลักการเกี่ยวกับสิทธิ-เสรีภาพของประชาชน หลักนิติรัฐ เป็นจริงขึ้นในสังคมอย่างสอดคล้องกับบริบทของสังคม ด้วยการ

๑. ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๓๓๖ ทำรายงานเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ของหน่วยงานของรัฐในรูปแบบต่างๆที่เกิดขึ้น( แม้จะไม่ได้มีการส่งความเห็นเป็นคดีของหน่วยงานตามที่มีอำนาจมาก็ตาม) ต่อรัฐสภา เพื่อให้ทำการแก้ไขบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ในส่วนที่ไม่เป็นการส่งเสริมการใช้สิทธิเสรีภาพ รวมถึงการเสนอให้รัฐสภาตรากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ในส่วนที่เกี่ยวกับการมีมาตราการทำให้การเรียกร้องให้คุ้มครองสิทธิมีผลโดยทันที

อาทิเช่น การที่ไม่มีช่องทางหรือกลไกที่เป็นการถ่วงดุล ให้กับผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิ เป็นต้น ว่าการไม่เปิดช่องให้กับศาลรัฐธรรมนูญ ที่จะสามารถหยิบประเด็นการละเมิดสิทธิขึ้นว่ากล่าวได้เอง การไม่มีกฎหมาย ห้ามมิให้รัฐหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจะต้องยุติการดำเนินตามที่ได้มีการคัดค้านไว้เป็นการชั่วคราว เพื่อตรวจสอบการละเมิดสิทธิ หรือการไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถใช้กลไกของศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง

ทั้งนี้แม้หลักการดังกล่าว จะนำเอาแนวปฎิบัติมาจากกรณีของบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญต่างประเทศก็ตาม แต่ด้วยความแตกต่างในแง่ของโครงสร้าง ที่กลไกในการคุ้มครองสิทธิในระดับปฎิบัติที่เกี่ยวกับประชาชนมีประสิทธิภาพ ซึ่งแตกต่างจากสภาพโครงสร้างกลไกการคุ้มครองสิทธิของไทย ที่มักจะเป็นโครงสร้างที่ละเมิดสิทธิทั้งในแง่ของ ตัวบทกฎหมาย กลไกวินิจฉัยสั่งการในระบบราชการ วัฒนธรรมในการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ของรัฐในระดับต่างๆ ฯลฯ

รวมถึงกรณีการเร่งรัด ที่มีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนให้มีการปฎิรูปกฎหมาย และระเบียบต่างๆ ที่ขัดหรือแย้งกับหลักการในเรื่องสิทธิเสรีภาพในด้านต่างๆ ตามที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันรับรองไว้ อาทิเช่น สิทธิตามมาตรา ๔๐, มาตรา ๔๖, มาตรา ๕๖, และมาตรา ๕๗ เป็นต้น

ดังนั้นการปลดปล่อย การเปิดช่องทางที่เข้าถึงได้ง่าย การยกเลิกกลไกต่างๆที่ปิดกั้นโอกาสและช่องทางต่างๆดังที่กล่าวมา จึงเป็นการสร้างเงื่อนไขที่สำคัญ ที่จะทำให้เกิดบรรยายกาศและโครงสร้างขั้นพื้นฐาน ในทางการเมืองการปกครอง และกฎหมาย ที่จะทำให้ความเป็นจริงของสิทธิเกิดขึ้นมาได้ในสังคมไทย

๒. ด้วยการสร้างวิธีการในการแสวงหาข้อเท็จจริง ที่เปิดกว้างและเปิดโอกาสให้กับทุกๆกลุ่ม แม้ตามอำนาจในการวินิจฉัยชี้ขาดซึ่งรัฐธรรมนูญได้ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญ สามารถที่จะกำหนดวิธีพิจารณาความได้เอง ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๖๙ และเท่าที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญได้กำหนดวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญไว้แล้ว ตามที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๑ และ วันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๑ ไว้แล้วก็ตาม แต่เนื่องจากประเด็นเรื่องการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ คู่ความขัดแย้งมักจะเป็นรัฐและประชาชน ซึ่งมีความแตกต่างจากการพิจารณาวินิจฉัยปัญหาว่า ร่างกฏหมายใดขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ และการวินิจฉัยเรื่องอำนาจของหน่วยงาน

กล่าวโดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการปัญหาการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพื่อทำให้การวางบรรทัดฐานเกี่ยวกับสิทธิซึ่งเป็นการจัดความสัมพันธ์ในสังคมในด้านต่างๆ ที่ต้องตั้งอยู่บนแนวทางหรือมีทิศทางที่จะต้องไปสู่รูปธรรมของสิทธิอันประกอบด้วย หลักความเสมอภาคเท่าเทียม หลักสันติธรรม หลักความถูกต้องเป็นธรรม อันเป็นรากฐานที่สำคัญของมนุษยธรรมและสันติประชาธรรม

ด้วยเหตุดังนั้น วิธีพิจารณาความในส่วนนี้ซึ่งควรจะเป็นหัวใจสำคัญของการรักษาความเป็นกฎหมายสูงสุด เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน จำเป็นที่จะต้องตอบสนองต่อความหลากหลายของมิติ ในเรื่องความสัมพันธ์ในทางสังคม ( สิทธิ หรือ การสร้างให้ความยอมรับซึ่งกันและกัน บนเงื่อนไขต่างๆทางสังคม วัฒนธรรม )โดยการสร้างกลไกที่สามารถรับฟังความเห็นเพื่อให้สามารถที่จะสะท้อน และสื่อสารถึงกลุ่มต่างๆเพื่อสร้างสำนึกร่วม ซึ่งมิใช่เป็นเรื่องเฉพาะที่จะมุ่งในการแก้ปัญหาในทางคดีเท่านั้น หากต้องเป็นการมุ่งในการสร้างบรรยากาศของคดี ที่มิใช่เป็นเรื่องของความขัดแย้ง แต่ต้องเป็นเรื่องของการหารือร่วมกัน ในการวางบรรทัดฐานในเรื่องนั้นๆ เพื่อสิทธิที่เป็นจริงของประชาชน

๓. ในส่วนที่เกี่ยวกับภาระกิจของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ แม้จะเป็นส่วนที่แยกต่างหากจากอำนาจในการวินิจฉัยชี้ขาดคดี แต่บทบาทขององค์กรชี้ขาด ที่มีแนวทางในการดำเนินการในลักษณะที่เป็นองค์กรอิสระ ควรที่จะต้องทำหน้าที่ในการให้บริการทางด้านข้อมูล คำแนะนำ รวมตลอดถึงการสร้างบรรยากาศในการเรียนรู้ในระบบการเมืองของภาคประชาชน สิทธิและเสรีภาพ และที่สำคัญแนวทางในการดำเนินการของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ควรจะสร้างความร่วมมือกับองค์กรอิสระอื่นๆ ที่ทำหน้าที่ในการควบคุม ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนเสียใหม่ ร่วมกับ ภาคประชาชน

 

กลับไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

 

ความยาวประมาณ 10 หน้ากระดาษ A