H
home
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เดือน มีนาคม 2545
บทความลำดับที่ 161

ทศวรรษแห่ง"การพัฒนา"
สดชื่น วิบูลยเสข :
ภาควิชาฟิสิกส์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

แปลจาก Decade of "development"
เขียนโดย Dave Hubbel
ในวารสาร Watershed (People's Forum on Ecology) Vol. 7 No. 2 November 2001-February 2002

ทุนนิยม"สุดโต่ง" เกิดขึ้นระหว่างการเปลี่ยนเศรษฐกิจท้องถิ่นจากการค้าขายระดับเล็กไปเป็นตลาดการค้าผลผลิตที่มุ่งปริมาณของบรรษัทข้ามชาติ การเปลี่ยนแปลงนี้อิงอยู่กับความสามารถของบรรษัทต่างๆ(ไม่ว่าจะเป็นของรัฐหรือเอกชนก็ตาม)และองค์กรสถาบันการเงินที่จะกำหนดนโยบายรัฐบาลให้การพัฒนากลายเป็นแบบฝึกหัดในการเพิ่มขีดความสามารถในการเข้าสู่ตลาด และดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ ในทุนนิยม"สุดโต่ง"

ความสำเร็จวัดได้ในเทอมของรายรับที่เป็นเงินสด ซึ่งอาจมีความสำคัญน้อยมากต่อครอบครัวซึ่งได้อาหารจากทุ่งนาและแม่น้ำ แต่เป็นสิ่งเดียวที่สำคัญต่อบรรษัทต่างๆในทุนนิยม"สุดโต่ง"

บรรษัทขนาดยักษ์และกลุ่มคนจำนวนน้อยเท่านั้นที่ได้รับส่วนแบ่งของรายได้เพิ่มขึ้น ขณะที่คนส่วนใหญ่ได้รับส่วนแบ่งรายได้ที่น้อยกว่า การพัฒนาเศรษฐกิจกระแสหลักเอื้อต่อและทำให้เกิดโครงสร้างเศรษฐกิจนี้ของสังคมเพราะ "การพัฒนา" ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความไม่เท่าเทียมซึ่งฝังติดอยู่ในระบอบทุนนิยมแบบ "สุดโต่ง" มาแต่เดิม

QUOTATION
ภาพประกอบโดย Fernando Botero ชื่อภาพ Alof de Wignacourt (after Caravaggio) เขียนขึ้นในปี ค.ศ.1974 เทคนิค สีน้ำมันบนผ้าใบ ขนาด 254 ซม. x 191 ซม. จากหนังสือ ART TODAY : Edward Lucie-Smith หน้า 362

ทศวรรษแห่ง "การพัฒนา"
ผศ. สดชื่น วิบูลยเสข : ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

แปลจาก Decade of "development"
เขียนโดย Dave Hubbel

ในวารสาร Watershed (People's Forum on Ecology) Vol. 7 No. 2 November 2001-February 2002

ปลายปี 2001 ที่ใกล้เข้ามา น่าจะเป็นโอกาสอันดีที่จะทบทวนดูว่า การพัฒนาเศรษฐกิจกระแสหลักได้ทำอะไรให้กับบริเวณลุ่มน้ำโขงบ้างในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ถึงอย่างไร ปี คศ. 1991 ก็เป็นปีที่ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเซียน (ADB) ประกาศจัดตั้งโปรแกรมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจของบริเวณลุ่มน้ำโขงตอนบน(GMS) โดยมีจุดประสงค์เพื่อบูรณาการตลาดภูมิภาค และในปี 1991 นี้เองที่ธนาคารโลกประกาศให้ทุนสนับสนุนการก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำปากมูนที่แม่น้ำมูน ซึ่งเป็นแม่น้ำสายใหญ่ที่สุดในแม่น้ำสามสายที่ไหลรวมเป็นแม่น้ำโขง

โปรแกรมของ ADB GMS และการให้ทุนสนับสนุนเขื่อนปากมูน ทำให้หลายกลุ่มในบริเวณลุ่มน้ำโขงเริ่มเห็นชัดเจนว่า สภาวะสิ่งแวดล้อม สภาพความมีชีวิตของชุมชนท้องถิ่น สิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตย จะได้รับการพิจารณา(และละเลยไปในเวลาอันแสนสั้น)ภายใต้บริบทของ "การพัฒนาเศรษฐกิจ" เท่านั้น

เราอาจเข้าใจแผนงานและเป้าหมายของธนาคารโลกและธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียนได้ ในเทอมของผลงานที่ผ่านมาของสถาบันการเงินทั้งสอง และ "การพัฒนา" ที่ได้รับการสนับสนุนในประเทศไทยนับจากต้นทศวรรษ 1960 อันได้แก่ เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่, โรงไฟฟ้าถ่านหิน, ไฮเวย์, และระบบส่งไฟฟ้ากำลังสูง ซึ่งทอดยาวหลายพันกิโลเมตร อันนำมาซึ่งความเสื่อมโทรมของต้นไม้ แหล่งน้ำ พืชผลอาหาร แร่ธาตุใต้ดิน และผู้คนจากชนบท

การพัฒนาทั้งหมดนี้เพื่อป้อนให้แก่ความต้องการทรัพยากรที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลาของของศูนย์กลางเมืองและและอุตสาหกรรม และการแทนที่ป่าและพืชผลอาหาร ด้วยการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น มันสำปะหลัง และ ยูคาลิปตัส เพื่อเป็นสินค้าส่งออกไปยังประเทศอุตสาหกรรมในลักษณะของอาหารสัตว์และกระดาษ

นโยบายของรัฐบาลประเทศต่างๆซึ่งถูกกำหนดโดยสถาบันเหล่านี้ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันอย่างมหาศาลของรายได้ระหว่างคนในเมืองกับคนชนบท มลภาวะของอากาศ น้ำและดิน สภาพการไม่มีที่อยู่อาศัยและที่ทำกินของครอบครัวชนบทที่เพิ่มขึ้น(ไม่ว่าจะเพราะไม่มีที่ดิน หรือไม่มีสิทธิตามกฏหมายที่จะครอบครองที่ดินก็ตาม)

การที่รัฐเป็นเจ้าของป่า ผืนดินและแม่น้ำโดยสมบูรณ์เพียงผู้เดียว และท้ายที่สุดเปลี่ยนมือเป็นกิจการของเอกชนผ่านกระบวนการการให้สัมปทานทำไม้ การปั่นราคาที่ดิน และการเวนคืนแหล่งน้ำ ประเทศไทยได้รับการยกย่องให้เป็นประเทศตัวอย่างสำหรับ"การพัฒนา" ต่อประเทศอื่นๆในบริเวณลุ่มน้ำโขง แม้จะเห็นได้ชัดตั้งแต่ปี คศ.1991 ว่า ประเทศไทยกำลังก้าวสู่สถานะเศรษฐกิจล่มสลายอย่างรวดเร็ว เนื่องมาจากแบบจำลอง "การพัฒนา" ดังกล่าว ซึ่งนำไปสู่การเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย รวมทั้งสิทธิของชุมชนในท้องถิ่นที่จะตัดสินใจว่าจะใช้ จัดการ และรักษาป่า ที่ดิน และแม่น้ำของเขาอย่างไรเพื่อการดำรงชีพ

แน่นอน การดึงสังคม และทรัพยากรธรรมชาติของประเทศลุ่มน้ำแม่โขงตอนบนเข้าไปในกระแสเศรษฐกิจโลกาภิวัฒน์ ซึ่งครอบงำโดยบรรษัทข้ามชาติเป็นเป้าหมายแท้จริงของ ADB และธนาคารโลกมื่อปี คศ. 1991 "การพัฒนา"นี้ตั้งอยู่บนข้ออนุมานว่า การแปรรูปให้เป็นกิจการเอกชน + โลกาภิวัตน์ = ทุนนิยม"สุดโต่ง"= การพัฒนา

ตามสูตรข้างบน การแปรรูปเป็นกิจการเอกชนตั้งอยู่บนพื้นฐานของบริษัท หรือเอกบุคคลซึ่งมีอิทธิพลและอำนาจพร้อมทั้งสิทธิที่ถูกต้องในการครอบครอง ซึ่งทำให้สามารถควบคุมการเข้าถึงและการใช้ทรัพยากน ที่แต่เดิมชุมชน รัฐบาลหรือสังคมเคยใช้และครอบครองอยู่

ในบริเวณลุ่มน้ำโขง ทรัพยากรส่วนใหญ่ที่เปลี่ยนมือเป็นของเอกชนคือที่ดิน ป่าและแม่น้ำ แต่สิ่งอื่น เช่น ความรู้ สายพันธ์พืชก็กำลังถูกอ้างสิทธิเป็นเจ้าของโดยบรรษัทต่างๆเพิ่มขึ้น ช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา ชาวนาในประเทศไทยกำลังเรียกร้องให้รัฐบาลไทยทำอะไรบางสิ่งบางอย่าง เพื่อป้องกันไม่ให้นักวิทยาศาสตร์อเมริกันจดสิทธิบัตรและครอบครองสิทธิเป็นเจ้าของพันธ์ข้าวหอมมะลิ ซึ่งเป็นผลพวงจากภูมิปัญญาและการผสมพันธ์โดยบรรพบุรุษชาวนาไทยสืบต่อมาหลายชั่วอายุคน

ทุนนิยม"สุดโต่ง" เกิดขึ้นระหว่างการเปลี่ยนเศรษฐกิจท้องถิ่นจากการค้าขายระดับเล็กไปเป็นตลาดการค้าผลผลิตที่มุ่งปริมาณของบรรษัทข้ามชาติ การเปลี่ยนแปลงนี้อิงอยู่กับความสามารถของบรรษัทต่างๆ(ไม่ว่าจะเป็นของรัฐหรือเอกชนก็ตาม) และองค์กรสถาบันการเงินที่จะกำหนดนโยบายรัฐบาลให้การพัฒนากลายเป็นแบบฝึกหัดในการเพิ่มขีดความสามารถในการเข้าสู่ตลาด และดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ ในทุนนิยม"สุดโต่ง"

ความสำเร็จวัดได้ในเทอมของรายรับที่เป็นเงินสด ซึ่งอาจมีความสำคัญน้อยมากต่อครอบครัวซึ่งได้อาหารจากทุ่งนาและแม่น้ำ แต่เป็นสิ่งเดียวที่สำคัญต่อบรรษัทต่างๆในทุนนิยม"สุดโต่ง" บรรษัทขนาดยักษ์และกลุ่มคนจำนวนน้อยเท่านั้นที่ได้รับส่วนแบ่งของรายได้เพิ่มขึ้น ขณะที่คนส่วนใหญ่ได้รับส่วนแบ่งรายได้ที่น้อยกว่า การพัฒนาเศรษฐกิจกระแสหลักเอื้อต่อและทำให้เกิดโครงสร้างเศรษฐกิจนี้ของสังคมเพราะ "การพัฒนา" ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความไม่เท่าเทียมซึ่งฝังติดอยู่ในระบอบทุนนิยมแบบ "สุดโต่ง" มาแต่เดิม

การพัฒนาสำหรับคนรวย: มีอะไรใหม่บ้าง?
ธนาคารโลก ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเซีย องค์กรและบริษัทอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับ "การพัฒนา" กล่าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่า "การพัฒนา" เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อ "ลด" หรือ "กำจัด" ความยากจนของประเทศ ธนาคารแบ่งประเทศต่างๆออกเป็นกลุ่มตาม GDP ต่อหัว ซึ่งพื้นฐานก็คือรายรับรวมทั้งหมดของประเทศหารด้วยจำนวนคนที่อยู่ในประเทศนั้น ปี 1990 เป็นทศวรรษที่สี่ของ "การพัฒนา" ในประเทศไทย ดังนั้น ปีนี้จึงควรจะเป็นตัวอย่างที่ส่องสว่างให้เห็นชัดเจนว่า "การพัฒนา" เป็นผลดีต่อประชาชนของประเทศไทยอย่างไรบ้าง ตารางเบื้องล่างแสดงแง่มุมหนึ่งของความก้าวหน้าของประเทศไทยใน "การพัฒนา" สังคมของประเทศ

การกระจายรายได้ประชาชาติในสังคมไทย ค.ศ. 1990-2000

เปอร์เซนต์ของรายได้ 1990

ช่วงที่1(รวยที่สุด 20%ของประชากร)................................................. 57.6%
ช่วงที่ 2(20%ของประชากร).............................................................. 19.3%
ช่วงที่ 3(20%ของประชากร).............................................................. 11.5%
ช่วงที่ 4(20%ของประชากร)................................................................ 7.4%
ช่วงที่5(จนที่สุด 20%ของประชากร)..................................................... 4.2%

เปอร์เซนต์ของรายได้ 2000

ช่วงที่1(รวยที่สุด 20%ของประชากร)................................................. 57.8%
ช่วงที่ 2(20%ของประชากร).............................................................. 19.8%
ช่วงที่ 3(20%ของประชากร).............................................................. 11.3%
ช่วงที่ 4(20%ของประชากร)................................................................. 7.2%
ช่วงที่5(จนที่สุด 20%ของประชากร)..................................................... 3.9%

ตามรายงานของ UNDP เรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศไทย ปี คศ.1999 สถิติ ปี ค.ศ. 1990 และ อาจถือได้ว่าเป็นสถิติของปี คศ. 2000 ด้วยมิได้เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นใหม่เร็วๆนี้แต่อย่างใด "เราสามารถแสดงได้ว่า แม้ช่วงเวลาก่อนหน้านี้ก็มีการลดลงอย่างต่อเนื่องในความเท่าเทียมกันของรายได้ของประชาชน

ถ้าสามารถหาข้อสนเทศเกี่ยวกับการกระจายรายได้ของประชาชนในประเทศอื่นๆในบริเวณลุ่มน้ำโขงได้ โครงสร้างของการกระจายรายได้ย่อมคล้ายคลึง หรือน่าจะคล้ายคลึงกับของประเทศไทยเพิ่มขึ้น กล่าวคือเปอร์เซนต์ของประชากรที่มีรายได้สูงจะต่ำ

ทศวรรษแห่งการพัฒนา: ประวัติโดยย่อ
ตลอดทศวรรษแห่งการพัฒนาบริเวณลุ่มน้ำโขงจากปี คศ. 1990 เป็นต้นมา ด้วยความสนับสนุนทั้งด้านการเงินและการเมืองขององค์กรสถาบันการเงินเช่น ADB และ ธนาคารโลก ตลอดจนองค์การความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาจากต่างประเทศ จากรัฐบาลประเทศซีกโลกเหนือ รัฐบาลและบรรษัทต่างๆได้ร่วมมือกันในการให้เอกชนเข้ายึดครองและแสวงหาผลประโยชน์อย่างฟุ่มเฟือยจากทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ของประเทศ

ความร่วมมือนี้เกิดขึ้นได้เนื่องจากประเทศเหล่านี้มีระบบความเชื่อหรือโลกทัศน์แบบเดียวกัน คือเห็นว่าทรัพยากรธรรมชาติ เป็นวัตถุดิบที่สามารถเก็บเกี่ยว นำมาผ่านกรรมวิธีต่างๆ และเปลี่ยนให้เป็นสินค้าซื้อขายได้

ป่าคือไม้, แม่น้ำคือที่ระบายหรือรองรับของเสีย แหล่งให้น้ำสำหรับการชลประทาน และ/หรือ แหล่งผลิตไฟฟ้า, ที่ดินเป็นสินค้าซื้อขายหรือเปลี่ยนเป็นผลผลิตสินค้า (เช่น พืชพาณิชย์ หรือที่ตั้งโรงงาน)

ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลและบริษัทเป็นตัวกำหนดนโยบายของรัฐบาลและกฎหมายซึ่งเขียนขึ้นมาเพื่อเอื้อประโยชน์และให้เสรีภาพแก่บรรรษัทต่างๆ โดยที่พลเมือง "ธรรมดา" ส่วนใหญ่ของประเทศไม่ได้รับผลประโยชน์ ตัวอย่างที่ดีคือ บรรษัทแห่งหนึ่งได้รับสัมปทานตัดไม้จากรัฐบาล ซึ่งหมายความว่าบรรษัทนั้นมีสิทธิตามกฎหมายที่จะตัดต้นไม้ได้หลายร้อยล้านต้น แต่เมื่อชาวบ้านในหมู่บ้านนั้นตัดต้นไม้เล็กๆเพียงสองสามต้นในที่นาเล็กๆ เพื่อให้พอมีที่ปลูกข้าวไว้กินในครอบครัว เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลจะจับเธอเข้าคุกทันที โดยข้อหา "ทำลายป่า"

ป่า
โมฮานดาส คานธีกล่าวไว้ว่า ท่านสามารถบอกอะไรๆเกี่ยวกับประชาชาติหนึ่งได้มากมาย โดยดูจากการเลี้ยงดูสัตว์ ของคนในประเทศนั้น และเราก็สามารถกล่าวได้ว่า ท่านสามารถบอกได้ว่าเมื่อใดที่เกิด "การพัฒนา" ของทุนนิยม "สุดโต่ง" โดยการดูว่ารัฐบาลของประเทศนั้นจัดการกับป่าไม้ของประเทศอย่างไร?

ป่าของบริเวณลุ่มน้ำโขงอุดมสมบูรณ์ไปด้วยต้นไม้ซึ่งเมื่อตัดลงมาก็กลายเป็น "ไม้ที่มีคุณค่าเชิงพาณิชย์" แน่นอน มีตัวอย่างเกิดขึ้นตลอดทั่วบริเวณซึ่งแสดงว่าชุมชนในท้องถิ่นใช้ประโยชน์ จัดการและอนุรักษ์ป่าของเขา ทำมาหากินเลี้ยงปากเลี้ยงท้องด้วยผลิตผลจากป่าอย่างไรโดยไม่ต้องทำลายป่า แต่คติพจน์ประจำ "การพัฒนา" ดูเหมือนจะเป็น "ต้นไม้อย่างเดียวที่ดีคือต้นไม้ที่ตายแล้ว" คุณค่าเชิงเศรษฐกิจของไม้ที่ซื้อขายในตลาดโลก หมายความว่าป่าเป็นส่วนแรกของทัพยากรอันสมบูรณ์ของประเทศที่ต้องเสียสละเพื่อ "การพัฒนา"

ทศวรรษของการพัฒนาในบริเวณลุ่มน้ำโขง คือ ช่วงเวลาของการทำลายป่าแบบขุดรากถอนโคนที่ไม่สามารถควบคุมได้ แม้แต่กฏหมายห้ามและยกเลิกการสัมปทานตัดไม้ที่มีผลบังคับใช้เมื่อปี คศ. 1989 ก็ไม่มีคุณค่าอย่างแท้จริง เนื่องจากรัฐบาลขาดนโยบายรับรองสิทธิของชุมชนท้องถิ่นในการใช้และจัดการป่าพื้นบ้าน ที่พวกเขาได้ปกปักรักษาให้รอดพ้นจากการถูกทำลายโดยบริษัททำไม้

พม่า
ป่าในประเทศพม่าเป็นเหยื่ออันดับแรกของทศวรรษแห่ง"การพัฒนา" ลุ่มน้ำโขง การเจรจาระหว่างพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ กับผู้นำเผด็จการทหารของพม่า ได้ผลสรุปเป็นการให้สัมปทานทำไม้ในบริเวณป่าดงดิบทางทิศตะวันตกของแม่น้ำสาละวิน แก่บริษัทเอกชนจากประเทศไทย หรืออันที่จริง จะกล่าวว่าป่าทั้งหมดตามชายแดนพม่า-ไทยก็คงไม่ผิดนัก

การเจรจานี้มีขึ้นในเวลาไม่นานนักหลังจากเหตุการณ์กองทัพพม่าฆาตกรรมหมู่ผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยบนถนนสายหนึ่งในนครย่างกุ้ง เมื่อเดือนสิงหาคม 1988 ในช่วงเวลาหกปีที่ตามมา ผืนป่าเนื้อที่มากกว่า 10,000 ตารางกิโลเมตรของประเทศพม่าเหลือเพียงตอไม้จากผลการทำอุตสาหกรรมไม้ของบริษัทจากประเทศไทย ส่วนใหญ่ของบริษัทเหล่านี้เป็นกรรมสิทธ์ของนักการเมือง เจ้าพ่อมาเฟีย และ"ผู้มีอิทธิพล"

นายซอสิ่นหวา ผู้แทนหมู่บ้านซอต้า ซึ่งเป็นชุมชนกะเหรี่ยงในบริเวณพื้นที่ที่ได้รับสัมปทานทำไม้กล่าวว่า "บริษัททำไม้จากประเทศไทยมาถึงพร้อมกับรถบรรทุกและรถขุดขนาดใหญ่เพื่ออตัดถนนเข้าไปในป่า พวกเขา ตัด.. ตัด…และตัดต้นไม้ทุกต้นไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ขนาดใหญ่หรือเล็ก……..ทุกอย่างเหี้ยนเต้ไปในพริบตา พวกเขาทำราวกับว่าเป็นเจ้าของชีวิตต้นไม้เหล่านั้นทีเดียว"

ครั้นพอรัฐบาลเผด็จการของพม่าสั่งยุติการให้สัมปทานป่าไม้(โดยทั่วไป เพราะบริษัทคนไทยจ่ายเงินแก่นายพลทหารของพม่าไม่มากพอ) ตอนนั้น ป่าของประเทศลาวและกัมพูชาก็พร้อมแล้วสำหรับเปิดให้สัมปทานทำไม้เป็นรายต่อไป

กัมพูชา
การให้สัมปทานตัดไม้ของประเทศกัมพูชา เป็นกระบวนการที่ได้รับการจับตามองและบันทึกเป็นเอกสารไว้มากที่สุดในบรรดาประเทศที่ต้องเผชิญชตากรรมเดียวกันในบริเวณลุ่มน้ำโขง Global Witness องค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) ซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่ประเทศอังกฤษ เริ่มสืบสาวเรื่องการตัดไม้ในประเทศกัมพูชาเมื่อปี ค.ศ. 1995 รายงานที่ตีพิมพ์ออกมาแสดงให้เห็นภาพที่เด่นชัดของการร่วมมือระหว่างรัฐบาลและผู้มีอิทธิพลในการทำลายป่าของประเทศ

รายงานดังกล่าวถูกส่งให้กับรัฐบาลของประเทศซึ่งประกอบด้วยกลุ่มที่ปรึกษาระหว่างชาติ(international Consultative Group - ICG) และสถาบันการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งได้บริจาคเงินหลายล้านดอลลาร์อเมริกันในโครงการความช่วยเหลือเพื่อ "การพัฒนา" ประเทศกัมพูชาในแต่ละปี หลักฐานการให้และรับสินบน การสมรู้ร่วมคิด และการทำไม้นอกบริเวณที่ได้รับสัมปทานปรากฏอยู่ในรายงานอย่างท่วมท้น

เมื่อถึงปี ค.ศ. 1997 รัฐบาลกัมพูชาได้ให้สัมปทานตัดไม้ไปถึงประมาณเจ็ดล้านเฮคทาร์ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าครอบคลุมผืนป่าเกือบทั้งหมดของประเทศ นอกจากส่วนที่เป็นวนอุทยานแห่งชาติและป่าที่ได้รับความคุ้มครองหรือป่าสงวนบางแห่งเท่านั้น จากปี ค.ศ.1994 ถึง 1997 เนื้อที่ป่าของกัมพูชาลดลงประมาณปีละ 180,000 เฮกทาร์ แต่ประเด็นขององค์กรการเงิน เช่น ธนาคารโลก ยังมิได้รับการกล่าวถึงมากนัก ซึ่งทำให้รัฐบาลกัมพูชา ยังคงประยุกต์ใช้แบบจำลองของ "การพัฒนา" ของธนาคารโลกต่อไปอย่างกระตือรือล้น แต่ไม่มีการกล่าวถึงรายได้หรือภาษีจำนวนมหาศาลที่ได้รับจากการสัมปทานป่าในรายงานการคลังของรัฐบาลเลย ในที่สุด IMF ก็ปฏิเสธที่จะจ่ายเงินกู้ให้รัฐบาลอีก จนกว่าจะมีการชำระบัญชีเงินรายได้จากการให้สัมปทานไม้เสียใหม่ หลังจากนั้นอีกไม่นาน ในปี ค.ศ. 1999 รัฐบาลก็ยกเลิกการให้สัมปทานทำไม้บางกรณี(ปัจจุบัน ยกเลิกไปแล้ว 15 อย่าง)

อย่างไรก็ตาม การตัดไม้ยังคงดำเนินต่อไปในรูปแบบอื่นอีกหลายลักษณะ รายงานของ ADB เกี่ยวกับการจัดการสัมปทานตัดไม้ ซึ่งจัดทำขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2000 บ่งชี้ว่า บริษัททำไม้ที่ได้รับสัมปทานตัดไม้ทุกบริษัททำผิดข้อตกลงในสัญญาที่ทำกับรัฐบาล ไม่ว่าจะโดยการลักลอบตัดไม้นอกเขตที่ได้รับสัมปทาน หรือโดยการตัดไม้มากเกินจำนวนที่"ได้รับอนุญาตให้ตัดได้ในแต่ละปี"

เมื่อปี ค.ศ. 1971 สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ประเมินว่า ประเทศกัมพูชามีเนื้อที่ป่าอยู่ประมาณ 113,250 ตารางกิโลเมตร ถึงปี ค.ศ. 2000 ตัวเลขนี้เหลือเพียง 60,000 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น

ผลกระทบจากการตัดไม้และการทำลายป่าของกัมพูชานั้นรุนแรงมาก ตามคำบอกเล่าของสมาชิกของชนเผ่าพื้นเมือง ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของกัมพูชา "ป่าเป็นเหมือนแหล่งตลาดกลางแจ้งสำหรับพวกเรา - ที่ที่เราหาพบได้ทุกอย่าง สัตว์ป่า ลูกมัลวา ต้นหวาย และอีกหลายๆอย่าง เมื่อบริษัททำลายป่า เราก็ต้องตาย"

ลาว
ป่าของประเทศลาวแตกต่างจากป่าของประเทศอื่นในบริเวณลุ่มน้ำโขง ดูเหมือนว่าป่าเหล่านั้นจะกลับฟื้นตัวเจริญเติบโตใหม่ได้อย่างรวดเร็วจนเห็นได้ชัดหลังจากถูกทำลายจากการตัดไม้ เมื่อปีค.ศ. 1990 รัฐบาลลาวประกาศว่าพื้นที่ราว 47%ของประเทศปกคลุมด้วยป่า และอีกสิบปีต่อมา คือปี ค.ศ. 2000 ตามประกาศของรัฐบาล พื้นที่ป่าของลาวยังคงเป็น 47% ของประเทศอยู่เช่นเดิม

แต่สิ่งที่ปรากฏอาจเป็นภาพลวงตาได้ เอกสารของรัฐบาล ธนาคารโลก และ ADB ระบุไว้ชัดเจนว่าระหว่างปี 1900-2000 โดยเฉลี่ยรัฐบาลมีรายได้มากที่สุดจากการส่งออกไม้ในลักษณะต่างๆ โควต้าการตัดไม้ของประเทศสำหรับปี 1998/99 700,000 ลูกบาศก์เมตร ระหว่างปี ค.ศ. 1996-1999 มีการตัดไม้ประมาณ 1.6 ล้านลูกบาศก์เมตรในบริเวณที่จะใช้เป็นอ่างเก็บน้ำของโครงการเขื่อนน้ำงึม บนที่ราบ นาไกในจังหวัดคำม่วน

ไม่มีข้อมูลที่เชื่อถือได้เกี่ยวกับเนื้อที่ป่าหรือปริมาตรของไม้ที่ถูกตัดในประเทศลาว แต่ตลอดช่วงของทศวรรษแห่ง "การพัฒนา" จากปี1990 นักหนังสือพิมพ์และนักท่องเที่ยวได้ถ่ายภาพรถบรรทุกขนไม้ซุง และไม้อื่นๆเต็มคันรถหลายร้อยคันจอดเข้าคิวอยู่บนถนนซึ่งทอดสู่ชายแดนระหว่างประเทศลาวและประเทศไทย ไม่มีรายงานเกี่ยวกับปริมาณของไม้ที่ส่งออกไปยังประเทศเวียดนาม แต่คงจะใกล้เคียงหรือเท่ากับที่ส่งออกมายังประเทศไทย

ตามรายงานวิจัยของกลุ่มนักวิจัยที่(จำเป็นต้อง)ไม่เปิดเผยชื่อในประเทศลาว "เป็นไปไม่ได้อย่างยิ่ง ที่ไม่มีใครเลยแม้แต่คนเดียวในคณะรัฐบาลของประเทศลาวหรือกลุ่มความช่วยเหลือจากต่างประเทศ(ไม่ว่าจะในลักษณะผู้เชี่ยวชาญ ที่ปรึกษาหรือเจ้าหน้าที่ขององค์กรให้ความสนับสนุนทางการเงินเพื่อ "การพัฒนา" เช่น ธนาคารโลก ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเซีย หรือโปรแกรมการพัฒนาของสหประชาชาติ)ที่จะมีความเข้าใจอย่างสมบูรณ์ถึงวิธีจัดการ(กิน)ป่าของประเทศลาว"

แม่น้ำ หนองบึงและทะเลสาบ
ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับแม่น้ำของบริเวณลุ่มน้ำโขงอาจเป็นผลกระทบประการเดียวของ "การพัฒนา" ที่ผู้คนจดจำได้มากที่สุด เมื่อปี ค.ศ. 1990 นักวิทยาศาสตร์กล่าวถึงแม่น้ำโขงว่าเป็นแม่น้ำที่ไหลตามธรรมชาติโดยไม่มีเขื่อนมาควบคุมที่ใหญ่ที่สุดในโลก แอ่งแม่โขงเป็นแอ่งที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุด และเป็นแหล่งประมงที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดอีกด้วย

ขณะที่แม่น้ำ หนองบึงและทะเลสาปของแอ่งแม่โขงยังปรากฏให้เห็นในลักษณะที่คงความอุดมสมบูรณ์อย่างยิ่งในปี ค.ศ. 1990 สัญญาณของวิธีที่ "การพัฒนา"จะก่อให้เกิด "ผลกระทบ" ต่อระบบนิเวศน์ของสัตว์น้ำในบริเวณแอ่งก็เริ่มปรากฏชัดขึ้นในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแอ่งของแม่น้ำมูน ซึ่งเป็นหนึ่งในสามของแม่น้ำที่ไหลลงสู่แม่น้ำโขง การให้สัมปทานตัดไม้อย่างกว้างขวางในช่วงปี 1960 ยังผลให้คุณภาพของน้ำต่ำลง ซึ่งเป็นผลต่อสิ่งมีชีวิตในแม่น้ำด้วย

ระหว่างทศวรรษ 1980 การปรับตัวสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว และการยอมรับการเกษตรเชิงเคมีอย่างเข้มข้น บ่งบอกถึงปริมาณของเสียที่เป็นพิษที่ถ่ายเทลงสู่แม่น้ำของแอ่งน้ำมูน ผลของ "การพัฒนา"ต้องรับผิดชอบโดยตรงต่อจำนวนปลาที่ลดลงอย่างรวดเร็วตามคำบอกเล่าของชาวบ้านที่ตั้งรกรากอยู่ในบริเวณแอ่ง

ทศวรรษของ "การพัฒนา" หมายความว่า ผลกระทบที่ปรากฏให้เห็นชัดเจนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยได้แผ่ขยายไปสู่บริเวณอื่นของแอ่งแม่โขงอย่างรวดเร็ว ในช่วงเวลาสิบปี "การพัฒนา" ได้เปลี่ยนโฉมหน้าของแม่โขง ไปโดยสิ้นเชิง - แม่โขง - แอ่งแม่น้ำที่มีวิวัฒนาการผ่านมานานเนิ่นถึงหนึ่งล้านปี !

เขื่อนขนาดใหญ่เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดของ"การพัฒนา" ในบริเวณลุ่มน้ำโขง (ดู "สิบปีของเขื่อน" ประกอบ) เขื่อนจำนวนมากที่สร้างขึ้นในทศวรรษ 1990 ก่อให้เกิดผลกระทบมหาศาลต่อเขตการประมงของแม่น้ำใหญ่สามสายที่เป็นส่วนประกอบของแม่น้ำโขง ผลกระทบจากเขื่อนต่อแม่น้ำทั้งสามสาย ย่อมมีผลโดยตรงต่อการประมงในบริเวณแอ่งแม่โขงทั้งหมดด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผลกระทบนี้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นเมื่อมีการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงในมณฑลยูนนานของประเทศจีน ผลกระทบใดก็ตามต่อการประมงของแม่น้ำโขง ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงของการหาเลี้ยงชีพของประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตบริเวณแม่โขงด้วยเช่นกัน

การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างฟุ่มเฟือย การทำประเทศให้เป็นอุตสาหกรรม การอพยพของคนจากชนบทสู่เมืองและการสัมปทานเขตการประมงระหว่างทศวรรษของ"การพัฒนา" จัดเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คุณภาพของแม่น้ำและสัตว์น้ำลดลง แม้จะเป็นที่เปิดเผยต่อการรับรู้ของสาธารณชนน้อยกว่าเรื่องของเขื่อนก็ตาม

ในปี ค.ศ. 1992 โรงงานน้ำตาลแห่งหนึ่งในจังหวัดขอนแก่น ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ถ่ายเทกากของเสียลงสู่แม่น้ำพองโดยอ้างว่าเป็น "อุบัติเหตุ" กากของเสียที่เน่าเปื่อยตลอดเวลานี้ไหลผ่านแม่น้ำถึงสามสายจากแม่น้ำพองไปสู่แม่น้ำชีและลงสู่แม่น้ำมูน จัดเป็น"มลภาวะทางแม่น้ำที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย" ทำให้ปริมาณออกซิเจนในแม่น้ำลดลง เป็นการ "ฆาตกรรมหมู่" ปลาเกือบทั้งหมดในบริเวณที่ทอดยาวถึง 420 กิโลเมตรของแม่น้ำทั้งสามสาย

ถึงแม้ว่าเหตุการณ์เช่นการปล่อยของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมลงในแม่น้ำสาธารณะนี้ จะได้รับการประโคมข่าวจากสื่อมวลชนทุกแขนงอย่างครึกโครม แต่ก็ยังมีผลกระทบของ "การพัฒนา" ที่เลวร้ายและทำลายระบบนิเวศน์ได้มากกว่าคือ กากสารเคมีที่ถ่ายเทสู่แม่น้ำจากโรงงานอุตสาหกรรมและการเกษตรเคมีที่ใช้สารเคมีเข้มข้น เช่นการใช้ยาฆ่าแมลงภายใต้" ชื่อการค้า" ต่างกันถึง 140 ชนิดฉีดพ่นพืชหลายชนิดในประเทศไทย

สารเคมีที่เป็นพิษซึ่งเป็นส่วนผสมของยาฆ่าแมลงเหล่านี้ มีจุดหมายปลายทางอยู่ในแม่น้ำ แม้ว่าปลาต่างชนิดจะมีระดับความต้านทานต่อสารพิษมากน้อยต่างกัน อย่างน้อยปลาชนิดหนึ่งซึ่งมีอยู่มากในแม่น้ำโขง คือปลาไซปรินิดก็ไวต่อสารเคมีมาก ปลาชนิดนี้เป็นปลาที่ชาวบ้านจับได้มากพอสมควรในแต่ละปี เช่นเดียวกับปลาชนิดอื่นๆ ถึงแม้มลพิษเคมีจะไม่ทำให้ปลาตายในทันทีทันใด สารเคมีก็จะมีผลต่อไซปรินิดได้หลายรูปแบบด้วยกัน เช่นทำให้อ่อนแอ เป็นโรคง่ายขึ้น และทำให้ศักยภาพในเชิงสืบพันธ์ ต่ำลงหรือหมดไปได้ในที่สุด

การให้สัมปทานน่านน้ำประมงแก่เอกชน ก่อให้เกิดปัญหาถกเถียงและความขัดแย้งในหลายๆบริเวณที่ตั้งบนแอ่งแม่น้ำโขง การถ่ายโอนให้เอกชนกระทำในรูปแบบของการให้สัมปทานน่านน้ำทำประมงตามแนวแม่น้ำสงครามในประเทศไทย และในอีกหลายแห่งในประเทศกัมพูชา รวมทั้งลำธารโอทาลาส(O'Talas) ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ตามแนวหลักของ ลำน้ำโขงและแม่น้ำบาซัก(Bassac)ตอนกลางของประเทศกัมพูชา และ ตามแนวฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก( the Great Lake)

การให้สัมปทานที่เกรทเลคนั้นมากมายและกว้างขวาง จนถึงปี ค.ศ. 1998 มีการให้สัมปทานเขตจับสัตว์น้ำถึง 57 บริเขต ครอบคลุมเนื้อที่ 4,100 ตารางกิโลเมตร โดยกรมประมงเปิดประมูลให้กับผู้ที่เสนอค่าตอบแทนสูงสุด(ส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจในกรุงพนมเปญ)ทุกๆหนึ่งหรือสองปี เจ้าของสัมปทานเหล่านี้มีสิทธิเบ็ดเสร็จแต่ผู้เดียวในการครอบครองและจับปลาในบริเวณที่ได้สัมปทาน เนื้อที่ที่ได้รับสัมปทานบางแห่งรวมบริเวณที่ชาวบ้านเคยจับปลาได้ เอกชนเจ้าของสัมปทานปฏิเสธที่จะให้ชุมชนท้องถิ่นจับปลาในบริเวณนั้นอีกต่อไป ยามและทหารซึ่งเจ้าของสัมปทานจัดหามาแสดงอาการ ข่มขู่ จับกุม และบางกรณีถึงขั้นยิงชาวบ้านผู้พยายามจะเข้าไปจับปลาในบริเวณน่านน้ำที่ได้สัมปทาน

ส่วนใหญ่ของชุมชนมากกว่า 500 กลุ่มที่อยู่ในบริเวณเกรทเลครู้เห็นถึงการเข้ายึดครองแหล่งหาปลาและการจับปลาของชุมชนโดยกระบวนการที่เรียกว่า การให้สัมปทาน ตลอดทศวรรษ1990 การต่อต้านและการขัดขวางการให้สัมปทานของชุมชนท้องถิ่นทวีความรุนแรงและขยายกว้างออกไปโดยไม่มีข้อยุติ

นายลีซุน ชาวประมงในบริเวณเกรทเลค และตัวแทนของชาวบ้านตำบลเพรกทูล ในจังหวัดบัททัมบาง แสดงความเห็นว่า "ในปี ค.ศ. 1995 เมื่อเปิดให้สัมปทานครั้งที่สอง (การให้สัมปทานครั้งที่หนึ่งอยู่ในช่วง ค.ศ. 1992-1994) ผมประเมินว่าปลาในลำน้ำลดลงแล้วถึง 50% ปลาหลายชนิดที่เคยเห็นในตลาดท้องถิ่นของเราสูญพันธ์ไป อย่างน้อยก็ไม่ต่ำกว่า 20 ชนิด เราต้องการให้รัฐบาลเลิกการให้สัมปทานจับสัตว์น้ำแก่เอกชนเพื่อท้องถิ่นของเรา เราเคยรับผิดชอบดูแลรักษาพันธ์ปลาเหล่านี้ให้คงอยู่มาได้เป็นเวลานานก่อนที่รัฐบาลเปิดประมูลสัมปทาน เมื่อเลิกสัมปทานแล้วชาวบ้านยังคงจับปลาต่อไป แต่เราก็จะปกป้องรักษาแหล่งทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นของเราไว้ด้วย ผมเชื่อว่าน่านน้ำและสิ่งมีชีวิตในน่านน้ำเป็นของชุมชน ปล่อยให้เราได้จัดการดูแลรักษาเองเถิด อย่ายกสิทธิอันชอบธรรมนี้แก่ผู้ได้รับสัมปทานทุนนิยมเหล่านั้นเลย"

ขณะที่เสียงเรียกร้องจากชุมชนท้องถิ่นเพิ่มขึ้นพร้อมกับการต้องเผชิญกับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากองค์กรสังคมพลเรือนในประเทศ เมื่อต้นปี ค.ศ. 2001 นายกรัฐมนตรี ฮุนเซนสั่งยุติการให้สัมปทานน่านน้ำการประมง และเขตจับสัตว์น้ำในบางบริเวณและลดขนาดของอาณาบริเวณที่ให้สัมปทานลงเพื่อจะคืนแหล่งหาปลาบางแห่งแก่ชุมชนท้องถิ่นของประเทศ อย่างไรก็ตาม การนำคำสั่งของนายกรัฐมนตรีออกสู่ภาคปฏิบัติต้องเผชิญกับปัญหามากมาย และจะสัมฤทธิ์ผลเป็นที่พอใจต่อชุมชนประมงเพียงใดยังคงเป็นเรื่องที่ต้องรอดูต่อไป

นอกจากนี้ การลดสัมปทานการจับสัตว์น้ำในบริเวณเกรทเลค และแม่โขงในช่วงทศวรรษ 1990 ยังเป็นผลสืบเนื่องจากการทำลายที่อยู่ที่สำคัญยิ่งของปลาคือป่าที่เกิดน้ำท่วมตามฤดูกาลของเกรทเลค ป่าดังกล่าว เช่นเดียวกับป่าขนาดเล็กอื่นๆในบริเวณแอ่งแม่โขง เป็นแหล่งอาหารและบริเวณสืบพันธุ์สำหรับปลา

นายเนาท็อก ผู้อำนวยการกรมประมงของกัมพูชา ให้ข้อมูลว่า พื้นที่โดยประมาณของป่าที่เกิดน้ำท่วมตามฤดูกาลรอบ ตันเลซับ ในช่วงปลายทศวรรษ 1980 มีถึง หนึ่งล้านตารางกิโลเมตร แต่เมื่อถึงปี ค.ศ. 1999 พื้นที่ ดังกล่าวลดลงเหลือเพียง 65,000 เฮกทาร์ คำอธิบายซ้ำซากที่ไม่เคยเปลี่ยนจากรัฐบาลในเรื่องนี้คือ "ประชาชนไม่รับผิดชอบในการทำลายที่อยู่อาศัยของสัตว์ โดยการตัดป่าเพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจ"

คำกล่าวข้างต้นแสดงถึงการเพิกเฉยต่อการวิเคราะห์บริบทเชิงประวัติศศาสตร์และร่วมสมัยของปัจจัยซึ่งนำไปสู่การถางป่าเพื่อเปลี่ยนเป็นพื้นที่เกษตร ปัจจัยปฐมภูมิของกระบวนการดังกล่าว เกิดจากการที่ครอบครัวจำนวนมากไม่มีที่อยู่อาศัยและที่ทำกินเป็นหลักแหล่งแน่นอน เนื่องจากการไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินหรือการไม่มีสิทธิ์ครอบครองที่ดิน ตลอดจนการที่รัฐและองค์กรเพื่อ "การพัฒนา" อื่นๆ ใช้กฏหมายเวนคืนหรือบังคับซื้อที่ดินและแหล่งทรัพยากรที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตของชุมชนท้องถิ่น

เมื่อครอบครัวต้องสูญเสียความชอบธรรมในการทำนาไร่หรือเลี้ยงสัตว์และแหล่งทรัพยากรร่วม ทางเลือกของเขาเหล่านี้คือ หาที่ดินทำกินใหม่หรือไม่ก็อพยพถิ่นฐานเข้าเมืองเพื่อรับจ้างใช้แรงงาน ป่ารอบบริเวณเกรทเลคถูก "ทำลาย" โดยประชาชนผู้ถูก "ขับไล่ไสส่ง" จากบ้านเกิดด้วยผลของ"การพัฒนา" ของลัทธิทุนนิยม "สุดโต่ง"

ที่ดิน
ผลกระทบที่แผ่ขยายในวงกว้างที่สุดของ "การพัฒนา"(ให้เป็นของเอกชน) นั้นสัมพันธ์กับนโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับสิทธิที่จะครอบครอง ใช้และจัดการที่ดิน

ชาวนาอาจใช้โปรแกรมซึ่งเอื้อให้มีความมั่นคงในการเป็นเจ้าของผืนดิน เพื่อป้องกันตนในบริบทซึ่งการเปลี่ยนมือในกรรมสิทธิ์เหนือแผ่นดินกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม บ่อยครั้งมากที่พบว่าโปรแกรมซึ่งเน้นการครอบครองและสิทธิเหนือผืนดินสำหรับปัจเจกบุคคล มีแนวโน้มไม่เหมาะสมในชุมชนหลายกลุ่ม เนื่องจากวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมการครอบครองที่ปฏิบัติกันมาช้านานในท้องถิ่น และระบบการใช้และการจัดการผืนดินของชุมชนหนึ่งๆ

องค์กรนานาชาติและระดับชาติเพิ่มความรุนแรงยิ่งขึ้นในการโจมตีระบบการเกษตรแบบธรรมชาติของชุมชนชาวเขาบนที่สูง และการจัดการป่าและแม่น้ำโดยชุมชนในแอ่งแม่โขงในทศวรรษที่ผ่านมา องค์กรเหล่านี้พยายามใช้หรือสร้างโครงสร้างแบบข้าราชการขึ้น เพื่อวางระเบียบและผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผืนดินจากการเป็นแหล่งดำรงชีพไปเป็นสินค้าซื้อขาย

ขณะเดียวกับที่มีการผลักดันให้เกิด"ตลาดเสรี"ขึ้นในสังคมลุ่มแม่น้ำโขงก็มีการสร้างและขยายตลาด"สิทธิบนผืนดิน"ขึ้นด้วย กลุ่มลงทุนนิติบุคคลทั้งในและนอกประเทศ ต้องการระบบราชการที่ยุ่งยากซับซ้อนซึ่งสามารถชี้ขาดและจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ที่ดินได้ ทำธุรกิจที่ดินได้และสามารถสำรวจ รังวัดและประเมินราคาที่ดินได้ตามตลาด สำหรับลาว เวียตนามและกัมพูชาความต้องการดังกล่าวต้องรองรับด้วยโครงการระยะยาวที่กำหนดนโยบาย โครงสร้างกฏหมายและกรอบงานเชิงบริหารและเชิงเทคนิค ใหม่ทั้งหมด ซึ่งก็คือการสร้างรูปแบบใหม่ของอำนาจรัฐที่แตกต่างออกไปและครอบคลุมมากขึ้นกว่าเดิมนั่นเอง

ธนาคารโลก, ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเซีย, และองค์กรความช่วยเหลือเพื่อก่อการพัฒนาโพ้นทะเล (ODA), ให้ความช่วยเหลือโครงการนี้ในสองรูปแบบ. ประการแรก โดยการผลักดันรัฐบาลภูมิภาคให้ยอมรับกฏหมายที่ดินฉบับใหม่ เช่นในประเทศเวียดนาม การห้ามสะสมที่ดินจะควบคู่ไปกับกฏหมายที่ดิน ของปี ค.ศ. 1993 ซึ่งทำให้ที่ดินกลายเป็นสินค้าตลาด รายงานการพัฒนาชนบทของธนาคารโลก และองค์กรความช่วยเหลืออื่นๆซึ่งจัดทำเมื่อปี ค.ศ.1998 และใช้ในการร่างแผนพัฒนาชาติระยะห้าปีฉบับล่าสุด แสดงจุดมุ่งหมายให้มีการพัฒนาขั้นต่อไปของ "ตลาดสำหรับสิทธิการใช้ที่ดิน"

ในประเทศลาว กฎหมายที่ดินใหม่ ฉบับปี ค.ศ. 1997 มีเนื้อหาส่งเสริมการโอนเปลี่ยนมือที่ดินได้สะดวกยิ่งขึ้น แม้จะมีข้อความห้ามการซื้อขายที่ดินอย่างเป็นทางการ และให้ที่ดินทั้งหมดเป็นของ "ประชาคมแห่งชาติ" เพื่อจัดสรรให้แก่ประชาชนและองค์กรก็ตาม

ในประเทศเขมร กฏหมายที่ดินฉบับแก้ไขใหม่เมื่อปี ค.ศ. 1998 (แก้จากกฏหมายฉบับปี ค.ศ. 1992)มีเนื้อหาส่วนใหญ่เกี่ยวกับสิทธิการครอบครองที่ดินของเอกชน และตลาดซื้อขายที่ดิน และถึงแม้ว่าน้อยกว่า 25% ของประชาชนในชนบทของกัมพูชาจะมีเอกสารแสดงสิทธิในที่ดิน และไม่มีผู้ใดมีสิทธิครอบครองที่ดิน การซื้อขายที่ดินโดยชนชั้นสูงผู้มีอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจ ผู้เก็งกำไรที่ดิน และนักลงทุนต่างชาติ ก็ยังเกิดขึ้นบ่อยครั้ง

วิธีทีสอง ที่องค์กรพัฒนาใช้ในการเปลี่ยนที่ดินให้เป็นสินค้าในตลาดคือการให้ทุนสนับสนุนโครงการจัดการบริหารที่ดินในรูปแบบต่างๆเช่น ในประเทศลาว ธนาคารโลก โดยความสนับสนุนของ AusAID(องค์กร ODA ของรัฐบาลออสเตรเลีย)ให้เงินจำนวน 20.7 ล้านเหรียญสหรัฐแก่โครงการออกโฉนดที่ดินแสดงกรรมสิทธิซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1997 และมีจุดมุ่งหมายเพื่อ"ก่อตั้งตลาดที่ดินที่มีประสิทธิภาพในการดำเนินงาน" และ "ระบบสิทธิการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ที่โปร่งใส และจัดการได้เพื่อการกำหนดอัตราราคาของที่ดิน ที่ปรึกษาใหญ่ของโครงการจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก บริษัทนายหน้าซื้อขายที่ดิน Broken Hill ซึ่งเป็นบรรษัทเหมืองแร่ข้ามชาติของออสเตรเลีย ที่มีประสบการณ์อันคร่ำหวอดในเรื่องการจดทะเบียนแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินและแหล่งทรัพยากรธรรมชาติของเอกชน

สำหรับประเทศไทย โครงการยี่สิบปีของการออกโฉนดแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินซึ่งบริหารจัดการโดยบริษัท Broken Hill และบริษัทอื่นจากออสเตรเลียเริ่มต้นเมื่อปี ค.ศ. 1984 โครงการนี้แบ่งเป็นสี่ระยะ แต่ละระยะใช้เวลาห้าปี และเมื่อครบระยะยี่สิบปีแล้ว จะครอบคลุมทั้งเจ็ดสิบห้าจังหวัดของประเทศในที่สุด เงินสนับสนุนสำหรับระยะก่อนสุดท้าย (1995-2001) มาจาก ธนาคารโลก 118 ล้านเหรียญสหรัฐ จากรัฐบาลไทย 80 ล้านเหรียญสหรัฐ และจากออสเตรเลีย 6 ล้านเหรียญสหรัฐ

เช่นเดียวกับความพยายามในการสร้างสถานภาพของราชการทุกเรื่องที่ผ่านมา กฏหมายและโครงการออกเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์กลายเป็นดาบสองคม ในแง่หนึ่ง การขยายกฏให้ครอบคลุมถึงการครอบครองที่ดินของเอกชน ทำให้เกิดความไม่ยุติธรรมต่อ และมีแนวโน้มที่จะลดทอนสิทธิการครอบครองที่ดินของชุมชนและหลักการสาธารณะ ในบริเวณลุ่มน้ำแม่โขง ความไม่ยุติธรรมนี้มิได้เกิดขึ้นโดยปราศจากการรู้เห็นจากธนาคารโลกและที่ปรึกษาด้านที่ดินออสเตรเลียน ซึ่งยอมรับว่า การออกเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน โดยยินยอมให้ที่ดินตกเป็นของกลุ่มทรัพย์สินเอกชน อาจเปลี่ยนและก่อปัญหาต่อระบบการใช้ที่ดินสาธารณะเพื่อประโยชน์ร่วมของชุมชนซึ่งดำเนินมาก่อนแล้วได้ - และอาจเกิดขึ้นได้ในชั่วเวลาข้ามคืน

ดังนั้น แทนที่จะหาคำตอบให้กับปัญหาของการพัฒนา การออกเอกสารแสดงสิทธิครอบครองที่ดินกลับกลายเป็นสาเหตุของปัญหาโดยตัวเอง การประยุกต์ใช้กฏหมายเอกสารแสดงสิทธิ์ กับที่ดินที่เคยใช้ร่วมกันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติได้รับการวิจารณ์อย่างรุนแรงว่าเป็นขั้นตอนแรกในการเตรียมที่ดินสำหรับการทำเหมือง ตัดไม้ ปลูกพืชเศรษฐกิจ ขยายขอบเขตเมือง และการพัฒนาระดับยักษ์อื่นๆ"

ตามบันทึกของสภาเศรษฐกิจและสังคมขององค์การสหประชาชาติ กฏหมายปฏิรูปที่ดิน "มิได้พิจารณาและแยกแยะความต้องการและสิทธิของคนพื้นเมือง ผู้ซึ่งได้แสดงความปรารถนาที่จะให้ชุมชนมีสิทธิร่วมกันในการครอบครองและใช้ประโยชน์ที่ดิน มากกว่าที่จะให้ตกเป็นสิทธิของผู้ใดผู้หนึ่งเท่านั้น ความไม่ยุติธรรมนี้ มีความรุนแรงมากขึ้นสำหรับชุมชนบนที่สูง ซึ่งการครอบครองและใช้ประโยชน์ที่ดินต่อเนื่องกันมาหลายชั่วอายุคน"ไม่ได้รับการรับรอง ไม่ว่าจะจากการวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น หรือจากโครงการเอกสารแสดงสิทธิครอบครองที่ดิน

ชาวชนบทในกัมพูชากำลังสูญเสียที่ดินไปอย่างรวดเร็ว เนื่องจากการทำป่า และหนองบึงซึ่งเคยเป็นแหล่งทรัพยากรร่วมที่ทุกคนมีสิทธิใช้ประโยชน์ให้ตกเป็นของเอกชน โครงงานศึกษาที่ดิน Oxfam ได้ประเมินว่า(ระหว่างปี ค.ศ.1992-1998)ไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของผืนดินที่ชุมชนเคยเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ ได้เปลี่ยนเป็น "สมบัติส่วนบุคคล ห้ามเข้า" สำหรับคนจนในชนบท และน้อยกว่า 10% ของที่ดินนี้ที่มีการใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง แม้ในรูปแบบที่เล็กน้อยเพียงใดก็ตาม"

จึงไม่แแปลกเลยที่ความพยายามในการทำผืนดินให้เป็นสินค้าซื้อขายจะต้องเผชิญหน้ากับความพยายามของ NGOและอำนาจปกครองท้องถิ่น- เช่นในประเทศลาว - ที่มีจุดประสงค์เพื่อเสริมสิทธิของชุมชนให้เข้มแข็งและปกปักรักษาแหล่งทำกินของชาวบ้าน

ในประเทศกัมพูชา NGO จำนวนหนึ่งทำการวิจัยในแนวลึกและจัดกระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องกับชุมชนส่วนน้อยบนที่สูงเพื่อทำความเข้าใจกับขนบธรรมเนียมที่ปฏิบัติมาแต่เดิม เกี่ยวกับการจัดการและการครอบครองพื้นที่สาธารณะก่อนนำเอาขนบธรรมเนียมและจารีตปฏิบัติเหล่านี้ไปอธิบายต่อองค์กรรัฐที่ทำหน้าที่แก้ไขกฏหมายที่ดิน ถึงแม้ว่า NGO จะทำงานใกล้ชิดคู่ไปกับองค์กรรัฐระหว่างการแก้ไขกฏหมายที่ดินก็ตาม แต่ในที่สุดกฏหมายที่ดินที่แก้ไขแล้วเมื่อปี ค.ศ. 1998 ก็มิได้กล่าวถึงสิทธิการใช้และการครอบครองที่ดินตามกฏของชุมชนตามที่เคยปฏิบัติมาแต่อย่างใด

กฏหมายที่ดินและโครงการการออกเอกสารสิทธิเหนือที่ดินระหว่างทศวรรษของ"การพัฒนา" ได้สร้างโอกาสในการจับจองแย่งฉวยที่ดินให้แก่บุคคลที่มีโอกาสได้รับข่าวสารดีกว่า มีโอกาสคุ้นเคยกับระบบราชการมากกว่า และมีโอกาสทางการเงินที่จะใช้เริ่มกระบวนการจดทะเบียนที่ดินดีกว่า "โดยการทำให้ระบบภาษีและการซื้อขายที่ดินง่ายขึ้น ระบบราชการเกี่ยวกับการซื้อ ขายและการจดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ได้ส่งเสริมให้ชาวนาจำนวนมากเห็นดีกับการขายที่นาของตน ดังที่เกิดขึ้นในประเทศเวียดนามและลาว แต่ในขณะเดียวกัน ระบบเหล่านี้กลับยิ่งสร้างความไม่เสมอภาคให้กับสตรียิ่งขึ้น เพราะสิทธิในที่ดินและสิ่งของต่างๆต้องจดทะเบียนในชื่อของสามีเท่านั้น"

ระหว่างนั้น ขณะเดียวกับที่ครอบครัวและชุมชนท้องถิ่น กำลังประสบความยุ่งยากในการดำรงสิทธิที่จะช่วยให้พวกเขาสามารถพัฒนาระบบการทำนา และการใช้ที่ดินเพื่อเป็นหลักประกันในการมีอาหารและการเลี้ยงชีพ รัฐบาลของประเทศต่างๆในบริเวณลุ่มน้ำโขงก็กำลังแข่งขันกันเอง ในการดึงดูดบรรษัทต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนด้วยการเสนอเงื่อนไขสิทธิเช่าใช้ที่ดินที่มีหลักประกันมั่นคง ช่วงเวลาการให้เช่าระยะยาว และการใช้ประโยชน์จากที่ดินโดยไม่ต้องจ่ายภาษี

ในบรรดาการ "จับจองแย่งฉวย" ที่ดินที่เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ บางทีที่เห็นชัดมากที่สุดคงเป็นบรรษัทที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการเพาะปลูก. ในประเทศไทย การทำสวนยูคาลิปตัสและบรรษัทเจ้าของทุน ดูเหมือนจะเป็นเป้าการโจมตีและการต่อต้านของมวลชนโดยชุมชนในท้องถิ่นมานานเกือบสองทศวรรษ

ในช่วงปีที่ผ่านไป รัฐบาลไทย กรมป่าไม้ และกลุ่มอุตสาหกรรมกระดาษและเยื่อไม้ได้ออกโรงสร้างความมั่นใจแก่ชาวไร่ชาวสวนและสังคมโดยรวมซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า การทำไร่ยูคาลิปตัส คือ" การปลูกป่า" แต่ในระหว่างทศวรรษ 1990 การลุกฮือขึ้นต่อต้านการทำไร่ยูคาลิปตัสทั่วประเทศ เป็นเครื่องบ่งชี้ที่ดีว่าประชาชนจำนวนน้อยเท่านั้น ที่เชื่อว่า แถวยาวเหยียดของต้นไม้ที่มาจากการตัดต่อพันธุกรรมจะเป็นอย่างอื่นไปได้นอกเสียจากพืชเศรษฐกิจที่ทำลายป่าชุมชนและที่ดินสาธารณะอื่นๆ และขัดขวางโอกาสที่ป่าธรรมชาติจะพลิกฟื้นงอกงามขึ้นมาได้อีกในบริเวณนั้น

อย่างไรก็ตาม ในประเทศเวียดนามสถานการณ์กลับแตกต่างออกไป รัฐบาลเวียดนามไม่จำเป็นต้องโฆษณาชวนเชื่อว่าการปลูกพืชอุตสาหกรรมไม่ใช่การปลูกป่า การทำไร่ยูคาลิปตัสจึงเป็น "เสาหลัก" ของทศวรรษแห่ง"การพัฒนา" ในปี ค.ศ. 1992 รัฐบาลเสนอใช้โครงการ 327 โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อ "ทำเขาหัวโล้นให้เขียวขจี" ระหว่างปี ค.ศ. 1988 และ 1994 สถิติตัวเลขของการปลูกป่าคือ 115,000 เฮกทาร์ต่อปี ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นเป็น 193,00เฮกทาร์ต่อปี ระหว่าง ค.ศ. 1995 ถึง 1998 ราคาที่รัฐต้องจ่ายเพื่อการนี้สูงมาก จนถึงปี 1998 รัฐบาลเวียดนามต้องจ่ายเงินเพื่อโครงการ 327 สูงถึง 273 ล้านเหรียญสหรัฐ

จากคำขอของรัฐบาลเวียตนามให้ธนาคารโลกสนับสนุนโครงการ 327. ธนาคารโลกจ้างบริษัทที่ปรึกษา Fortech ให้ " บรรยาย วิเคราะห์ และประเมิน" โครงการ 327. รายงานของ Fortech ปรากฏข้อความว่า "ขณะที่โครงการกำลังดำเนินอยู่นั้น พื้นที่ของป่าธรรมชาติในเวียดนามยังถูกทำลายอย่างต่อเนื่อง และส่วนใหญ่ของโครงการปลูกพืชโตเร็วของประเทศล้มเหลว" หนึ่งในบรรดาปัญหาที่บริษัทที่ปรึกษาอ้างถึงคือการแก้ปัญหาแบบบนสู่ล่าง (top-down approach) การกำหนดเนื้อที่เพาะปลูกมิได้ปรึกษาถึงความเหมาะสมจากคนในท้องถิ่น ผู้ได้รับสัมปทานไม่มีความรู้เรื่องการบำรุงรักษาป่าไม้ โครงการปลูกต้นไม้ถูกสั่งลงมาจากหน่วยเหนือสู่ชาวบ้านผู้ปฎิบัติโดยไม่ได้สอบถามความเห็นชอบ และ เวียดนามเองมีพื้นที่ใช้ปลูกพืชเศรษฐกิจในระดับใหญ่ได้น้อยมาก

ความล้มเหลวของโครงการปลูกพืขเศรษฐกิจต่อการเรียกร้องขอทุนสนับสนุนจากธนาคารโลก ทำให้รัฐบาลเวียดนามต้องเสนอโครงการใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิมเพื่อแทนที่โครงการ 327 คือโครงการปลูกป่า 5 ล้านเฮกทาร์ เป้าหมายของโครงการคือการเพิ่มบริเวณป่าสีเขียวในประเทศให้เป็น 14 ล้านเฮกทาร์ในปีดค.ศ. 2010 หกเดือนหลังจากโครงการได้รับความเห็นชอบจากสภาสูงแห่งชาติ องค์กร ODA สิบห้าแห่งตกลงให้ความสนับสนุนแก่โครงการนี้

องค์กรพัฒนานานาชาติของสวีเดน(SIDA) เป็นหนึ่งในองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการอภิปรายร่วมกับรัฐบาลในเรื่องโครงการปลูกป่าห้าล้านเฮกทาร์. รอล์ฟ แซมวลสัน เลขาธิการของสถานฑูตสวีเดนที่กรุงฮานอย เล่าถึงท่าทีของ SIDA ต่อโครงการว่า "เราคิดว่า มันค่อนข้างเป็นโครงการประเภทบนลงล่าง ที่เป็นวาระทางการเมืองและอื่นๆนั่นแหละ แต่เนื่องจากสวีเดนเป็นหุ้นส่วนที่มีหน้าที่ส่งเสริมและแบ่งงานเป็นส่วนๆอยู่แล้วเราจึงคิดว่า ไม่ว่าจะมีข้อจำกัดมากเพียงใดก็ตาม โครงการนี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี สำหรับเปิดการเจรจากับรัฐบาลในประเด็นของป่าไม้ต่อไป"

กล่าวอีกประการหนึ่ง การปลูกพืชอุตสาหกรรมสร้างปัญหาแก่ชุมชนท้องถิ่น กระบวนการวางแผนงาน และ การนำแผนออกสู่การปฏิบัติไม่ได้คำนึงถึงกลุ่มชุมชนท้องถิ่น ที่ดินเป้าหมายสำหรับการปลูกพืชอุตสาหกรรมคือที่ดินสาธารณะใช้ร่วมกันของชนกลุ่มน้อยบนที่สูง และ SIDA จะดำเนินธุรกิจไปตามปกตินั่นเอง

ชุมชนเกิดใหม่
ในบริเวณลุ่มน้ำโขง "การพัฒนา" ของ ทุนนิยม"สุดโต่ง" กำลังเข้าไปมีบทบาทแทนที่การมีสิทธิเข้าถึงแหล่งทรัพยากรเพื่อการดำรงชีพอย่างเท่าเทียมกันของชุมชน ด้วยความไม่เท่าเทียมอย่างยิ่งในเทอมของเงินตรา อำนาจทางการเมือง และการเข้าถึงและการใช้สมบัติสาธารณะ ดังที่ประสบการณ์อันเจ็บปวดของประเทศไทยได้แสดงไว้ ทศวรรษของ"การพัฒนา" มิได้ลดทอน "ความไม่เท่าเทียม" แต่กลับคงไว้ซึ่งและเพิ่ม"ความไม่เท่าเทียม"ขึ้นอีก

ดังนั้น ในสังคมของบริเวณลุ่มน้ำโขงระหว่างทศวรรษ 1990 - สังคมซึ่งชีวิตของสมาชิกส่วนใหญ่ของสังคมขึ้นอยู่กับ ความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติของแผ่นดิน, ป่า, หนองบึง, และ แม่น้ำ, สัญญาณอันตรายที่คุกคามต่อความมั่นคงของวิถีการดำรงชีวิตที่เคยเป็นมาแล้วหลายชั่วอายุคนก็คือ กระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจกระแสหลักนั่นเอง

แต่ ทศวรรษ 1990 ก็เป็นช่วงเวลาแห่งการพลิกตื่นขึ้นของสังคมในบริเวณนี้ เพื่อตระหนักถึงภัยคุกคามของ "การพัฒนา" ชุมชนท้องถิ่น เครือข่ายชุมชน และองค์กรประชาชนจับมือกันยืนหยัดขึ้นประจันหน้าต่อต้าน "การพัฒนา" และเรียกร้องสิทธิในการที่จะใช้และรักษาทรัพยากรธรรมชาติของพวกเขาไว้ เพื่อประโยชน์ของลูกหลาน

อันที่จริง อาจกล่าวได้ว่า เมื่อชุมชนท้องถิ่นหนึ่งได้เรียนรู้ถึงประสบการณ์ที่ชุมชนอื่นได้รับจาก "การพัฒนา" ในท้องถิ่นนั้น เมื่อตัวแทนของชุมชนจากหลายท้องถิ่นได้พบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และวางแผนการตอบสนองต่อ "การพัฒนา" ด้วยกัน, ทศวรรษ1990 แห่ง "การพัฒนา" นี้ ก็เป็นทศวรรษแห่งการ ตระหนักรู้ และ ความพยายามที่จะนำความคิดในการปกป้องชุมชน วัฒนธรรม และทรัพยากรสาธารณะออกสู่การปฏิบัติด้วยเช่นกัน

ความรู้และประสบการณ์ ของชุมชนท้องถิ่น ได้พาพวกเขามาถึงตำแหน่งหน้าสุดของความมานะพยายามที่จะก้าวต่อไปในวิถีแห่งชีวิต ตามหนทางแห่งการดำรงชีพและเศรษฐกิจพื้นบ้าน ซึ่งมิได้ตั้งอยู่บนรากฐานแห่งการทำลาย. "การพัฒนา" ในลักษณะแปรรูปเอกชน และโลกาภิวัฒน์นั้น นำไปสู่การยึดครองและแสวงหาผลประโยชน์ของคนกลุ่มน้อยบนความเจ็บปวดของประชาชนในบริเวณลุ่มน้ำโขง. ประชาคมของพวกเขา ความมั่งคั่งของทรัพยากรธรรมชาติสาธารณะของชุมชน แน่นอน ต้องมีวิธี "การพัฒนา"ที่ดีกว่านี้ !

สิบปีของเขื่อน
เมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ.1995 ดร. ประเทศ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาพลังงานของประเทศไทยแสดงความเห็นว่า หากไม่มีการสร้างเขื่อนในบริเวณแม่น้ำโขง น้ำในแม่น้ำโขงก็จะไหลลงทะเลไปอย่างเปล่าประโยชน์ " นี่เป็นการสูญเปล่า และก็คือเหตุผลที่เราต้องควบคุมการไหลของน้ำเพื่อนำมาใช้งาน"

แต่สำหรับชุมชนที่อาศัยตามชายฝั่งแม่น้ำโขงและแม่น้ำสามสายที่ไหลลงสู่แม่น้ำโขง - ชุมชนที่ต้องพึ่งพาแม่น้ำในการดำรงชีวิต - แม่น้ำไม่เคยไหลสู่ทะเลด้วยความสูญเปล่า แม่น้ำนำประโยชน์หลายอย่างมาให้พวกเขา

ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา "การพัฒนา" ได้บังคับให้ผู้คนที่อาศัยในบริเวณแอ่งแม่โขงต้องเปลี่ยนวิถีการดำรงชีวิตและเข้าร่วมใน "เศรษฐกิจการตลาด" ขณะที่บริษัทเอกชนเข้ามากอบโกยและใช้ทรัพยากรธรรมชาติของพวกเขาเพิ่มขึ้นทุกที

โดยความช่วยเหลือด้านการเงินจากองค์กรการเงินนานาชาติ เช่น ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเซีย(ADB) และรัฐบาลของประเทศแถบเหนือ รัฐบาลของประเทศต่างๆลุ่มแม่น้ำโขงเลือกที่จะสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำหลายแห่ง เพื่อใช้พลังน้ำไปผลิตไฟฟ้ารับใช้การบริโภคของคนในเมืองใหญ่ เขื่อนบางแห่งสร้างขึ้นเพื่อการชลประทาน โดยมีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มผลผลิตของพืชเศรษฐกิจ

ความเสียหายต่อการประมง
"น้ำยิ่งมาก ปลาก็ยิ่งมาก" นี่คือคำกล่าวของผู้พัฒนา - บริษัทกำลังไฟฟ้า Theun-Hinboun (THPC) เจ้าของเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ 210 เมกาวัตต์ Theun - Hinboun ในประเทศลาวตอนกลาง - เขื่อนนี้ได้รับทุนสนับสนุนจาก ADB แต่ THPC ไม่ได้ทำการศึกษาเรื่องที่กล่าวในตอนต้นและ THPC ให้ข้อมูลผิดพลาด นับจากวันที่เขื่อนเริ่มทำงานในปี ค.ศ.1998 การเปลี่ยนเส้นทางไหลของน้ำจากแม่น้ำ Thuen ให้ผ่านโรงไฟฟ้าไปสู่แม่น้ำ Hinboun ได้ทำลายวิถีการประมงของ Hinboun อย่างย่อยยับ

อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ เขื่อนปากมูนซึ่งสร้างโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตของประเทศไทย-กฟผ.(Electricity Generating Authority of Thailand -EGAT) ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศเมื่อต้นปี ค.ศ. 1990 จากเงินสนับสนุนของธนาคารโลก ระหว่างการก่อสร้าง EGAT เปิดเผยว่า เขื่อนคอนกรีตสูง 20 เมตร จะปิดกั้นเส้นทางอพยพของปลา "ทางออก" ของกฟผ. คือการสร้าง "บันไดปลาโจน" มูลค่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ตาม ในปี ค.ศ. 1995 ผู้อำนวยการกรมการประมง ในขณะนั้น คือ ดร. ปลอดประสพ สุรัสวดี ได้ยอมรับว่า " เรากำลังใช้เทคโนโลยีบันไดปลาโจน โดยมีความรู้เกี่ยวกับประสิทธิภาพของเทคโนโลยีนี้น้อยมาก ยิ่งกว่านั้น เรายังไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับแบบแผนและพฤติกรรมการอพยพของปลา"

ประมาณปี ค.ศ. 2001 ความล้มเหลวของบันไดปลาโจนทำให้รัฐบาลไทยต้องออกคำสั่งให้กฟผ. เปิดประตูกั้นน้ำ(แบบชักขึ้นชักลง) ของเขื่อนเป็นเวลาสี่เดือน -ระหว่างช่วงฤดูฝนกลางปี 2001 เพื่อให้ปลาว่ายทวนน้ำขึ้นมาวางไข่ได้ จนถึงวันนี้ ประตูกั้นน้ำก็ยังคงเปิดอยู่!

ในสาธารณรัฐประชาชนลาว มีการสร้างเขื่อน Nam Leuk และเขื่อน Nam Song ด้วยความสนับสนุนจากธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเซีย - ADB เขื่อนทั้งสองช่วยเปลี่ยนทิศการไหลของน้ำไปสู่เขื่อนน้ำงึม ซึ่งเป็นเขื่อนไฟฟ้าขนาด 150 เมกาวัตต์ และเป็นเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนแรกในประเทศลาวสร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1960 บริษัท Sogreah Ingenierie จากประเทศฝรั่งเศสได้ทำการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของเขื่อน Nam Leuk เมื่อเดือนพฤศจิกายน 1995 และรายงานว่า ปริมาณน้ำตามกระแสในแม่น้ำ Nam Leuk ลดลงถึง 50% แต่แม้กระนั้น…… "ปริมาณน้ำที่เหลือก็ยังคงมากพอที่จะให้ปลาอยู่ได้" ตามข้อความในรายงานของ Sogreah ปัจจัยสำคัญยิ่งปัจจัยหนึ่งที่ขาดหายไปจากรายงานนี้คือปริมาณปลาในแม่น้ำก่อนและหลังสร้างเขื่อน จากรายงานของเมื่อ ค.ศ. 2001 ชาวบ้านและกลุ่มประมงรายงานว่า ปลาในแม่น้ำลดน้อยลงกว่าเมื่อก่อนสร้างเขื่อนอย่างมาก

ผลกระทบต่อป่า
แม้ว่าจะยังคงขาดกำลังซื้อและยังอยู่ในขั้นตอน "การศึกษา" แต่โครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ Nam Theun 2 ในประเทศลาวตอนกลางก็ได้ก่อให้เกิดความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงต่อพื้นที่ป่าในที่ราบ Nakai นับแต่ปี ค.ศ. 1993 บริษัททำไม้ซึ่งดำเนินการโดยทหาร ได้ตัดโค่นต้นไม้ในเนื้อที่ประมาณ 450 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่กำหนดให้สร้างเขื่อน ผู้เชี่ยวชาญอิสระซึ่งจ้างมาโดยธนาคารกล่าวถึงคนในท้องถิ่น ซึ่งเคยอาศัยป่าในบริเวณนั้นดำรงชีพว่า พวกเขา "ต้องการ" โครงการสร้างเขื่อนเพื่อก้าวต่อไป หรือมิฉนั้น อนาคตของพวกเขาก็จะ "หาแสงสว่างไม่พบ" แทบทุกหนแห่งในประเทศลาว การสร้างถนนไปยังบริเวณสร้างเขื่อน ทำให้สามารถเข้าถึงป่าลึกได้ง่ายขึ้น และเป็นผลประโยชน์ต่อบริษัทตัดไม้โดยตรง

ชุมชนท้องถิ่นต้องรับภาระ
ในปี ค.ศ. 1998 คน 58,000 คนต้องอพยพออกจากบริเวณแหล่งกักน้ำของเขื่อน Hoa Bin -เขื่อน ไฟฟ้าพลังน้ำขนาด 1,920 เมกาวัตต์ ในจังหวัด Hoa Bin ภาคเหนือของประเทศเวียตนาม เขื่อนนี้เป็นเขื่อนขนาดใหญ่ที่สุดในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ผู้คนซึ่งต้องตั้งถิ่นฐานใหม่เหล่านี้ เคยปลูกและเก็บเกี่ยวข้าวได้ถึงสองครั้งในแต่ละปีในหุบเขา แม่น้ำ Da

ขณะนี้พวกเขากำลังอยู่ในสภาพขาดแคลนอาหารเลี้ยงชีพ เนื่องจากการเพาะปลูกบนภูเขาที่ปราศจากต้นไม้นั้นไม่ได้ผล ชนกลุ่มน้อยอีกประมาณ 100,000 คนกำลังจะต้องอพยพไปตั้งถิ่นฐานในที่ใหม่ที่รัฐบาลจัดสรรให้ ถ้ารัฐบาลเวียตนามตกลงสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ Son La-ขนาด 3600 เมกาวัตต์ที่จังหวัด Son La ซึ่งอยู่เหนือ Hoa Bin ไป 230 กิโลเมตร

การสร้างเขื่อน Yali Falls บนแม่น้ำ Se San ในที่ราบสูงตอนกลางของเวียตนามทำให้ประชาชนจำนวนมากกว่า 6,000 คนต้องโยกย้ายจากที่อยู่เดิม ส่วนใหญ่ของคนกลุ่มนี้เป็นชนเผ่ากลุ่มน้อย มาตรฐานการดำรงชีวิตและอนาคตของเขาเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงด้วยความใส่ใจอย่างเร่งด่วน ประชาชนที่มีถิ่นฐานบริเวณใต้เขื่อนนี้ในประเทศเวียตนามไปจนถึงจังหวัด Stung Treng ในประเทศกัมพูชา ซึ่งอยู่ห่างจากเขื่อน 300 กิโลเมตร ต้องสูญเสียขนบวิธีการดำรงชีวิตไป เนื่องจากเกิดความผิดพลาดในการเปิดน้ำจากเขื่อน ทำให้เกิดน้ำท่วมบริเวณนั้นอย่างรุนแรงและรวดเร็ว น้ำไหลหลั่งพัดพาสัตว์ที่เลี้ยงไว้เป็นอาหารไปจนหมด ทำลายหนองน้ำที่อยู่ของปลา และทำให้จับปลาได้ยาก

เขื่อนที่สร้างในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยระหว่างปี ค.ศ. 1960 ถึง 1970 เช่น เขื่อนอุบลรัตน์ และเขื่อนสิรินธร ทำให้ชาวนาชาวไร่กว่า 15,000 ครอบครัวต้องทิ้งบ้านเกิด รัฐบาลมีแผนที่จะกักน้ำและบังคับให้เปลี่ยนทิศทางการไหลเพิ่มขึ้นอีกในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ แผนการนี้จะทวีจำนวนครอบครัวที่รัฐบาลต้องจัดสรรที่ทำกินให้ใหม่ขึ้นอีก

ในประเทศลาว ผลจากการสร้างเขื่อนน้ำงึมทำให้ประชาชนมากกว่า 3,500 คนในบริเวณนั้น ต้องอพยพไปตั้งถิ่นฐานยังที่ใหม่ ยี่สิบห้าปีหลังจากนั้น ชุมชนอพยพยังต้องทนทุกข์ทรมานจากการไม่มีน้ำดื่มที่สะอาดพอ

ถ้ารัฐบาลของประเทศลาวยังคงเดินหน้ากับแผนการณ์สร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าขายแก่ประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะประเทศไทย คนอีก 6,000 ชีวิตจะต้องย้ายออกจากบริเวณอ่างเก็บน้ำของเขื่อน Nam Theun 2 และอีก 5,500 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนเผ่าม้ง ก็จะต้องอพยพออกจากบริเวณอ่างเก็บน้ำของเขื่อนน้ำงึม 2 ซึ่งมีขนาด 600 เมกาวัตต์

เขื่อน : อีกและอีก
สาธารณะประชาชนจีนกำลังวางแผนสร้างเขื่อนเป็นระลอกต่อกันถึงเจ็ดแห่งตามแนวแม่น้ำโขง(หรือที่รู้จักกันในชื่อ Lancang ในมณฑลยูนนาน ประเทศจีน หากแผนนี้เป็นจริง คนประมาณไม่ต่ำกว่า 70,000 คนต้องย้ายไปตั้งถิ่นฐานใหม่ เขื่อนทั้งเจ็ดแห่งจะผลิตไฟฟ้าได้ 15,000 เมกาวัตต์ เพื่อจ่ายให้แก่บริเวณอุตสาหกรรมริมฝั่งทะเลของประเทศ และส่งออกขายแก่ประเทศไทย

ปัจจุบัน มีเขื่อนที่สร้างเสร็จแล้วสองแห่ง, หนึ่งแห่งใกล้เสร็จสมบูรณ์ และอีกสี่แห่งกำลังอยู่ในขั้นเตรียมงาน กลุ่มเขื่อนนี้ และเขื่อนอื่นๆที่รัฐบาลประเทศลาวและกัมพูชา วางแผนสร้างตามแนวแม่น้ำโขง เช่นเขื่อน Khone Falls ตามเขตแดนทางใต้ของประเทศลาวและประเทศกัมพูชา จะทำให้ปริมาณของตะกอนโคลนเลนที่ไหลมาลดน้อยลงและเนื้อดินสำหรับเพาะปลูกในบริเวณที่ราบจะไม่อุดมสมบูรณ์เช่นที่เคยเป็น และมีผลต่อการอพยพของปลา การกัดเซาะและการพังทลายของฝั่งแม่น้ำ ตลอดจนนิเวศน์วิทยาของป่าที่เกิดน้ำท่วม ซึ่งจำเป็นสำหรับการประมงในแม่น้ำโขง

ผู้สนับสนุนการสร้างเขื่อนที่แม่น้ำโขงและแม่น้ำสามสายที่ไหลสู่แม่น้ำโขง มิได้พยายามที่จะเรียนรู้จากบทเรียนแห่งความล้มเหลวของเขื่อนในอดีต วันนี้ - เช่นเดียวกับกรณีที่เกิดขึ้นเมื่อสิบปีก่อน - รัฐบาลยังคงเดินหน้าสร้างเขื่อนต่อไปโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากชุมชนท้องถิ่น รัฐบาลไม่เคยมีข้อสนเทศพื้นฐานเกี่ยวกับสถานภาพการประมง และไม่เคยพิจารณาทางเลือกอื่นที่เกื้อหนุนต่อการดำรงชีวิตมากกว่าการสร้างเขื่อน

กระบวนการตัดสินใจยังคงเป็นไปตามขั้นตอนจากบนลงล่าง และเพิกเฉยต่อความกังวลห่วงใยและสิทธิอันพึงมีของประชาชนในท้องถิ่น การก้าวไปสู่ความเป็นหุ้นส่วนที่กระชับเพิ่มขึ้นระหว่างรัฐบาล ธนาคารเพื่อการพัฒนาทางขวาง และบริษัทเอกชน นับวันมีแต่จะยิ่งผลักคนท้องถิ่นให้ออกห่างจากการมีส่วนร่วมไปสู่ชายขอบมากขึ้น แม่น้ำและการดำรงชีวิตของชุมชนท้องถิ่นถูกวัดคุณค่าเปรียบเทียบกับเศรษฐกิจเชิงตลาดการเงินเพียงอย่างเดียว

ผู้สนับสนุนการสร้างเขื่อนมองไม่เห็นถึงระบบชีวิตเชิงนิเวศน์ที่อุดมสมบูรณ์และวัฒนธรรมของแม่น้ำ พวกเขายังคงติดอยู่กับข้ออนุมานว่า "หากปราศจากเขื่อน แม่น้ำโขงก็จะไหลออกสู่ทะเลอย่างสูญเปล่า"

ที่มา:
The Nation, 27.1.95, 29.12.95

Third report of the International Advisory Group on the World Bank's handling of social and environment issues in the proposed Nam Theun 2 hydropower project in Lao PDR, 6 April 2001.

Power Struggle: The Impacts of Hydro-Development in Loas, International Rivers Network, 1999. Laymeyer International and Worley International Nam Theun 2 Study of Alternatives, 1998.

Philip Hirsch, Dams, resources and the politics of environment in mainland Southeast Asia, in The Politics of Environment in Southeast Asia Resources and Resistance, Edited by Philip Hirsch and Caro; Warren, Routledge, 1998.

 

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา I webboard

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

 

 

 

หากประสบปัญหา ภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลงมา จะแก้ปัญหาได้

บทความนี้ ยาวประมาณ 19 หน้ากระดาษ A4

บทความสะท้อนภาพของ"การพัฒนาในยุคโลกาภิวัตน ์และ ทุนนิยมสุดโต่ง" ซึ่งกำลังเป็นปัญหาในประเทศโลกที่สาม โดยเฉพาะภาพที่ปรากฎชัดในเอเชียอาคเนย์