2
0
0
4
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 382 หัวเรื่อง
นาโนเทคโนโลยี-พันธุ์ข้าว
ชัชวาล ปุญปัน
ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
(บทความขนาดสั้น)
เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง
จะแก้ปัญหาได้
midnightuniv(at)yahoo.com
นาโนเทคโนโลยี
งานวิจัยที่เป็นอันตราย
ชัชวาล
ปุญปัน
ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
(บทความนี้ยาวประมาณ 3 หน้ากระดาษ A4)
บทความชิ้นนี้ เคยตีพิมพ์ใน
มติชนรายวัน ฉบับวันพุธที่ 21 เมษายน 2547 หน้า 6
(ส่งมาเผยแพร่โดย อ.ชัชวาล ปุญปัน)
อิทธิพลของนาโนเทคโนโลยี กำลังแผ่คลุมไปในแวดวงวิทยาศาสตร์อย่างมีพลัง ประหนึ่งจะตอบสนองนโยบายของนักการเมือง คือท่านนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ที่ประกาศส่งเสริมเทคโนโลยีนาโน หนึ่งในเทคโนโลยีที่จะก่อให้เกิดการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ในอนาคตอันใกล้ และเหยื่อชิ้นสำคัญของงานวิจัย ที่จะทำให้นาโนเทคโนโลยี มีงานทำก็คือ "ข้าว"
สภาวิจัยแห่งชาติให้ทุนสนับสนุน 14 ล้านบาท แก่ศูนย์วิจัยนิวตรอนพลังงานสูงมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อใช้เทคโนโลยีดังกล่าวพัฒนาข้าวสายพันธุ์ใหม่
ท่านผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนิวตรอนพลังงานสูง ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์(ฉบับ 21 มกราคม 2547)ว่า เทคนิคที่ใช้ในงานวิจัยนี้ไม่ใช่จีเอ็มโอ (Genetically Modified Organisms) เพราะไม่ได้ใส่ยีนแปลกปลอมเข้าไปในข้าวพันธุ์ต่างๆ เพื่อให้ได้คุณภาพตามที่ต้องการ
สิ่งที่นักฟิสิกส์ทำคือ การเจาะรูขนาดกว้างในขนาดนาโนเมตร (1 นาโนเมตรเท่ากับ หนึ่งในพันล้านเมตร หรือเท่ากับ 10-9 เมตร) บนผนังเซลล์ของข้าว หลังจากนั้นจะยิงอะตอมของไนโตรเจนผ่านรูเข้าไป เพื่อกระตุ้นให้สารที่เป็นฐานในดีเอ็นเอ เกิดการจัดเรียงตัวใหม่ ซึ่งมีผลต่อการควบคุมลักษณะทางพันธุกรรมของข้าว
ท่านผู้อำนวยการกล่าวถึงเป้าหมายว่า " ด้วยวิธีการเช่นนี้ นักวิจัยคาดหวังที่จะได้ข้าวสายพันธุ์ใหม่ มีคุณภาพตามต้องการ คือ ข้าวหอม ลำต้นเตี้ย และไม่ไวต่อแสงอาทิตย์ "
งานวิจัยชิ้นนี้ ทำให้เกิดคำถามตามมาก็คือ เหตุใดจึงปฏิเสธว่าไม่ใช่ จีเอ็มโอ , ทำไมต้องเป็นข้าว และ ความน่าเชื่อถือของวิธีวิจัย
เมื่อพิจารณาว่า การใช้ลำไอออน( Ion beam ) ยิงเจาะผนังเซลล์ของข้าว เพื่อทำให้ดีเอ็นเอ จับคู่เรียงตัวกันใหม่นั้น เท่ากับเป็นการยิงอนุภาคเข้าไปเปลี่ยนแปลงในระดับยีนโดยตรง จึงไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่า ปฏิบัติการนี้ไม่ใช่การดัดแปลงพันธุกรรม( จีเอ็มโอ )
ตรงข้ามไม่ว่าจะมองอย่างไร จะพบว่านี่คือการดัดแปลงพันธุกรรมในระดับฉับพลันทีเดียว เพราะ ต้องยิงให้มันเปลี่ยนให้ได้ และนี่มิใช่หรือ คือการทำลาย ระบบนิเวศของยีน ( Gene ecology)โดยตรง
เมื่อมากระทำกับ " ข้าว " ข้าวซึ่งเป็นผลผลิตจากอัจฉริยภาพของธรรมชาตินับร้อยล้านปี เป็นอาหารหลักหล่อเลี้ยงคนค่อนโลก จึงจำเป็นที่คนกินข้าวทุกคนต้องเอาใจใส่อย่างยิ่ง
เพราะข้าวมีการผสมข้ามพันธุ์(Cross pollination)ได้ง่าย จะเกิดการเข้ามาแทนที่ ( Replacement ) ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ ดังที่ก่อให้เกิดความเสียหายกับเกษตรกรในสหรัฐ แคนาดา สก็อตแลนด์ ฯลฯ ที่ปลูกพืชธรรมชาติ แต่ถูกปนเปื้อนด้วยพืชจีเอ็มโอแปลงใกล้กัน เป็นตัวอย่างให้เห็นมากมาย
ครม. มีมติเมื่อปี 2544 ให้ยุติการปลูกพืชจีเอ็มโอทดสอบในระดับไร่นา( Field trials ) เพื่อป้องกันปัญหาอันไม่อาจควบคุมได้ การปฏิเสธว่างานวิจัยนี้ไม่ใช่การทำจีเอ็มโอ จึงนอกจากจะเป็นการหลบเลี่ยงต่อกระแสต่อต้านคัดค้านแล้ว ยังอาจมองได้ว่า ต้องการหลบหลีกมติ ครม.ด้วยหรือไม่ ? เมื่อกำหนดว่าไม่ใช่ จีเอ็มโอ ก็ปลูกในแปลงเปิดได้
วิธีวิจัยของงานนี้ก็น่าสนใจ การยิงลำไอออนของอะตอมไนโตรเจนไปที่เมล็ดข้าวเป็นแสนๆเมล็ดแบบสุ่มเสี่ยง ว่าสักวันหนึ่ง ข้าวสักเมล็ดหนึ่งที่ถูกยิงดีเอ็นเอ เมื่อนำไปทดลองปลูก จะกลายพันธุ์ เป็นข้าวหอมลำต้นเตี้ย และไม่ไวต่อแสงอาทิตย์
แม้เมื่อได้ข้าว เช่นที่ว่าออกมาแล้ว ก็ไม่แน่ว่าจะสามารถนำเอามากำหนดเป็นเงื่อนไขของการยิงครั้งใหม่ต่อไปโดยไม่ต้องยิงสุ่มเสี่ยงแบบเดิมอีก ต้องยิงไปเรื่อยๆ นี่คือวิธีวิทยาของงานวิจัย ?
เราไม่มีวันรู้เลยว่า เพียงเพื่อให้ได้ผลเฉพาะเจาะจงแบบที่นักวิจัยต้องการนั้น เราได้ทำลายข่ายใยของสรรพชีวิตอะไรลงไปบ้าง นับเป็นวิธีการแก้ปัญหาแบบเชิงเส้นโดยแท้ คือเพื่อให้ได้ผลตามที่ต้องการ จึงต้องทรมานเหยื่ออย่างไรก็ได้ โดยไม่ต้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมา สังคมไประวังความเสี่ยงเอาเองก็แล้วกัน
ปัญหายังไม่จบแค่นั้น สมมติว่า สามารถยิงได้สำเร็จ ปลูกได้ ผลิตข้าวได้ แต่จะทำตลาดได้ไหม ? กลุ่มประชาคมประเทศไหน จะยอมรับข้าวยิงดีเอ็นเอบ้าง จะต่อสู้ด้วยกลไกทางการค้าอย่างไร ? ต้องติดฉลากไหม?
อย่าลืมว่า ทั่วโลกตื่นตัว และคัดค้านการผลิตด้วยวิธีผิดธรรมชาติมากขึ้น มีรายงานว่าเมื่อนักวิชาการเกษตรของไทย นำข้าวขาวดอกมะลิ105 ไปให้ห้องปฏิบัติการในอเมริกายิงยีน Xa21 เพื่อให้ข้าวต้านทานโรคขอบใบแห้ง แล้วนำมาปลูกในโรงเรือนเป็นครั้งแรกในปี 2540 นั้น กลุ่มธุรกิจนำเข้าในยุโรปออกข่าวเตือนว่า ผลิตภัณฑ์ข้าวของไทย จะไม่สามารถส่งไปขายในยุโรปได้หากไม่ติดฉลาก
เมื่อมองออกไปให้กว้าง เวลานี้ ข้าวอินทรีย์ ได้รับการยอมรับเป็นอย่างสูง มีราคาแพง ตลาดต้องการบริโภคข้าวธรรมชาติ คนกินข้าวให้ความสนใจกับข้าวที่ปลูกด้วยวิธีเกษตรกรรมธรรมชาติ วิธีที่เป็นมิตรต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุนี้ งานวิจัยที่ทันสมัยกว่าควรเร่งทำมากกว่า น่าจะได้แก่ การช่วยกันคิดหาทางป้องกันและคุ้มครองสังคม ให้ได้มีโอกาสผลิตและบริโภคข้าวและอาหารที่เป็นธรรมชาติมากที่สุด
ด้วยเทคโนโลยีนาโนนี้ ถ้าสามารถพัฒนาเป็นเครื่องมือตรวจสอบอาหารปนเปื้อนจีเอ็มโอ ปนเปื้อนนาโน แล้วประกาศให้สาธารณะได้ทราบ จะเป็นประโยชน์อย่างมหาศาล เร่งหาทางร่วมมือกันระหว่างคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสถาบันต่างๆ สร้างเครือข่ายเฝ้าระวังจีเอ็มโอ ( GMOs Watch ) , เครือข่ายเฝ้าระวังยีน ( GENE Watch )และเครือข่ายเฝ้าระวังนาโน (NANO Watch)ให้กับสังคม
ประชาชนสงสัยว่าอาหารชนิดใด ข้าวชนิดไหนปนเปื้อน พร้อมช่วยกันตรวจสอบ แล้วเปิดเผยอย่างไม่ต้องเกรงกลัวกลุ่มธุรกิจ นักการเมือง ไม่ว่าจะมีอิทธิพลขนาดไหนก็ตาม
ผมเชื่อว่าเราสามารถทำเช่นนี้ได้ และทำได้ดีด้วย หากสภาวิจัยแห่งขาติมีจินตนาการที่สร้างสรรค์สำหรับงานวิจัย
อนาคตของวิทยาศาสตร์จะต้องไม่ไล่ล่าธรรมชาติ
สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I ประวัติ ม.เที่ยงคืน
e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้
1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งย่อหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ
(กรณีตัวหนังสือสีจาง ให้เปลี่ยนสีเป็นสีเข้มในโปรแกรม Microsoft-word)