นักวิชาการเครื่องซักผ้า   (ต่อ)

wfishr.jpg (26384 bytes)

ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ : ใช่ครับ นักวิชาการเหล่านี้มีความเชื่อว่าตัวเองสามารถควบคุมธรรมชาติได้ คือ นักวิชาการทั้งหมดที่ทำ... ไม่เฉพาะนักวิชาการในไทย ในความรู้สึกของผมเอง มีข้อกังขามากต่อวิธีการนำเสนอวิธีการแก้ปัญหาที่วางไว้โดยทุนข้ามชาติต่างๆ อย่างเช่น การให้สร้างบันไดปลาโจน แม้แต่นักวิชาการต่างประเทศก็ยังบอกว่า มันไม่มีทางให้ปลาผ่านไปได้ แล้วเราจะเห็นว่ามันมีวิธีการใหม่ๆออกมาเรื่อย เช่น กรณีท่อก๊าส มีการขนต้นไม้. นักวนศาสตร์ เสนอให้มีการแก้ปัญหาท่อก๊าสผ่านป่า วิธีการง่ายๆก็คือ ขุดต้นไม้ไปปลูกที่อื่น. และผมยังได้ยินเรื่องการย้ายประการังด้วย.

คือเราจะมีนักวิชาการพวกนี้ ที่มาบอกกับสังคมไทยว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม มันไม่มีทางที่จะเกิดขึ้นหรอก เราสามารถใช้ความรู้เข้าไปแก้ไขปัญหาได้ แต่ผมอยากจะบอกว่า นักวิชาการเหล่านี้ เป็นได้มากก็เพียงแค่ มือปืนรับจ้างเท่านั้น. นักวิชาการเหล่านี้มีเยอะมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสถาบันการศึกษา.

ในแง่หนึ่ง นักวิชาการเหล่านี้สอนในมหาวิทยาลัย สอนในสถาบันราชภัฏฯต่างๆ แต่ในอีกแง่หนึ่ง นักวิชาการเหล่านี้ ก็ไปเป็นมือปืนรับจ้างให้กับบริษัทที่ปรึกษาของเอกชน เป็นการหารายได้ด้วย. การหารายได้ไม่ใช่เรื่องที่น่าตำหนิแต่อย่างใด แต่อยากถามว่า วิชาความรู้ที่คุณเอาไปใช้ มันได้ก่อให้เกิดผลสะเทือนอย่างไรต่อสังคมบ้าง ซึ่งตรงนี้เป็นคำถามใหญ่ที่สังคมควรจะต้องถามกับนักวิชาการเหล่านี้

ฉลาดชาย รมิตานนท์ : ผมอยากจะสรุปสิ่งที่ 3 ท่านพูดมา และรวมทั้งที่ผมพูดด้วย คือ ที่มีการพูดถึงสังคมไทยก่อนที่จะได้รับอิทธิพลจากฝรั่ง ผมคิดว่าที่เราอยู่กันมาได้เป็นหลายร้อยปี ไม่ใช่ว่าเราไม่มีภูมิปัญญาความรู้ ไม่ใช่ว่าเราไม่มีนักวิชาการ เรามีแต่เราไม่ได้ใช้คำว่านักวิชาการ. เรามีความรู้ทุกเรื่องที่จะมีชีวิตอยู่รอดได้... ทีนี้ปัญหามันมาเกิดขึ้นเมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่ 2, มีฝรั่งมาบอกเราว่า ประเทศคุณนี่ด้อยพัฒนา แล้วเราก็เชื่อเขา. ในช่วงนั้นมันก็เป็นความเชื่อที่สมเหตุสมผล เพราะมองไปที่ฝรั่ง ก็พบว่าฝรั่งเขามีอำนาจทั่วไปหมดในโลก จะยกทัพไปที่ไหน ที่นั่นก็แตกระเนระนาดกันไป ยึดเอาเป็นเมืองขึ้นได้หมด. เพราะฉะนั้นในยุคที่ว่านี่ เราก็เลยเชื่อว่าเราด้อยพัฒนา

ทีนี้พอเราเชื่อเช่นนั้น เขาก็บอกเราว่า อยากเป็นประเทศที่พัฒนาไหม ? อยากเป็นอย่างเราไหม ? เราก็บอกว่าอยากเป็น. เพราะฉะนั้นเขาก็บอกว่า ถ้าคุณอยากเป็นอย่างเรา คุณก็ต้องทำตัวเหมือนกับเรา นั่นก็คือ จะต้องมีการวางแผนการพัฒนาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยเริ่มต้นด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจ และสิ่งที่คุณต้องทำก่อนอื่นก็คือ คุณจะต้องมีโครงสร้างพื้นฐานเสียก่อน ซึ่งก็ได้แก่ ถนน เขื่อน โรงไฟฟ้า ระบบสื่อสาร คมนาคมทั้งหลายแหล่ รวมทั้งการศึกษาในระดับสูงด้วย. เพราะฉะนั้น การเริ่มต้นด้วยคุณจะต้องมีน้ำ คุณจะต้องมีไฟฟ้า คุณก็จะต้องสร้างเขื่อน. เราจึงมีเขื่อนเกิดขึ้น

ประมวล เพ็งจันทร์ : ภายใต้กรอบความคิดนี้ จึงทำให้เกิดการยอมรับและพร้อมใจที่จะปฏิบัติตาม ตามที่ฝรั่งแนะนำอย่างไม่มีข้อสงสัย... อ.ศรีศักร ครับ ผมฟังที่ อ.ฉลาดชายพูด เห็นภาพเลยครับว่า พอหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง เรายอมจำนนต่อความรู้ความคิดของฝรั่ง ที่มาบอกให้เราพัฒนาประเทศ เพื่อจะได้เป็นอย่างเขา ก็จะต้องทำตามที่เขาบอก. เราไม่รู้อะไรหลายอย่างครับ แต่เราก็เชื่อว่า ถ้าเราทำตามเขาแล้ว เราก็จะเป็นประเทศที่พัฒนาได้ เราจะเป็นประชาชนคนไทยที่มีความศิวิไลซ์ มีความเจริญก้าวหน้า... เกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทยหลังจากที่เราไปเชื่อฝรั่งครับ ?

ศรีศักร วัลลิโภดม : ทั้งหมดนี้ มันเริ่มต้นสมัยจอมพลสฤษฎ์ ธนะรัตน์, ตรงนี้ พอเรารับฝรั่งเต็มที่ เราต้องการพัฒนาเพราะเราถูกหลอก... จึงมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจขึ้น ตรงนี้มีภาพชัดเจนว่ามีกระบวนการพัฒนา เพื่อจะไม่ให้จน. และการที่จะไม่ให้จน ก็ต้องอาศัยนักวิชาการ, นักวิชาการเหล่านั้นมันก็มีความรู้ที่ไม่ครบวงจร มันไปรวมพวกเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ เทคโนแครท ซึ่งมันก็ไม่รวมไปถึงสังคม และวัฒนธรรมเลย แล้วก็ให้เครดิตกับนักวิชาการเหล่านั้นมากด้วย... ทำแผนพัฒนาก็ผิด เพราะประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วม ต้องมีครบวงจรทั้งทางด้านสังคมและวัฒนธรรม... นักวิชาการเป็นผู้ที่บอกว่า อะไรถูกต้อง

อันที่จริง   แผนพัฒนาฯได้ใช้นักวิชาการเป็นเครื่องมือ บอกว่าอะไรถูกผิด โดยไม่ฟังชาวบ้านเลย. แล้วทีนี้นักวิชาการที่เกิดขึ้น มันก็คับแคบ เพราะว่ามันมองปัญหาไม่ตลอด เน้นทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ด้านเศรษฐศาสตร์, ไม่มีมิติทางสังคม ...ทั้งหมดก็เพื่อเปลี่ยนประเทศไปให้เป็นประเทศอุตสาหกรรมโดยตรง โดยที่สังคมของเราเป็นประเทศเกษตรกรรมมาโดยตลอด

แต่จุดอ่อนที่สำคัญก็คือว่า ตรงนี้แหละเราอาศัยนักวิชาการ. สิ่งที่นักวิชาการทำคืองานวิจัย ตัวงานวิจัยคือตัวทำลายที่แท้จริง เพราะเราคิดว่าการวิจัยแบบฝรั่ง คือการได้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง ต้องมีการ train กัน. ตรงนี้ล่ะที่ทำให้ปฏิเสธการวิจัยที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ เพราะการวิจัยของเราที่อยู่มาเป็นหลายร้อยปี คือการวิจัยจากการรู้ผิดรู้ถูก นั่นคือ trial and error. แต่ฝรั่งบอกว่า ไม่ใช่ นั่นไม่ใช่การวิจัย

ฉลาดชาย รมิตานนท์ : ผมคิดว่า ประเด็นที่ชัดที่สุดก็คือว่า ถ้าคุณจะพัฒนาประเทศคุณ คุณจะต้องค้าขายกับต่างๆประเทศ คุณจะต้องผลิตเพื่อส่งออก เพราะฉะนั้น เมื่อต้องผลิตเพื่อส่งออก คุณมีอะไร คุณเก่งอะไร ? คำตอบที่ได้ก็คือว่า คุณเก่งเรื่องการปลูกข้าว แต่ว่าข้าวที่คุณปลูกนั้นมันแย่ คุณปลูกได้ปีละครั้ง อันนี้ไม่พอหรอก จะต้องมีการปรับปรุงพันธุ์ด้วย. เมื่อคิดเรื่องการปรับปรุงพันธุ์ นั่นก็หมายความว่า พันธุ์ข้าวต่างๆซึ่งปลูกกันมาตั้งแต่ปู่ย่าตาทวดนั้น ให้เอาทิ้งไป เอาพันธุ์ใหม่ที่เขาคิดมาให้ มีการผสมพันธุ์มาจากสถาบันแห่งหนึ่งในประเทศฟิลิปปินส์. ปัญหาก็คือว่า ถ้าคุณจะปลูกข้าวให้ได้มากๆ คุณต้องปลูกปีละ 2 ครั้ง หรือ 3 ครั้ง. การทำเช่นนี้ต้องการน้ำ เพราะฝนมันตกเพียงแค่ฤดูเดียว แต่จะต้องปลูกตลอดปี ถึงจะมีข้าวส่งออก. หลังจากเปลี่ยนพันธุ์ข้าวแล้ว คุณยังจะต้องมีน้ำ... ถามว่าจะเอาน้ำมาจากไหน ? คำตอบก็คือ “เขื่อน”.

คือเมื่อก่อนเราอยู่กับธรรมชาติ อย่างที่ อ.ศรีศักร ว่า, คือถ้าฝนมาก็ทำนา ถ้าฝนไม่มาก็ไม่ทำนา. แต่ต่อจากนี้ไป ฝนจะมาหรือไม่มา ไม่รู้ล่ะ ฉันจะทำนา. เพราะฉะนั้น เมื่อฉันจะทำนา ฉันจะต้องเอาชนะธรรมชาติ เราก็เลยต้องสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ขึ้นมา. พอสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ แรกๆเราก็ไม่คิดว่ามันมีปัญหา แต่ว่าหลังจากนั้นเป็นต้นมา ในโลกทั้งหลายหรือในประเทศอื่นๆที่เขาสร้างเขื่อนมาก่อนเรา เขาพบว่ามันมีปัญหามากมาย ทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อม และมีปัญหาต่อเรื่องความเป็นธรรมในสังคมด้วย คำถามมันก็เลยเกิด... เช่นเดียวกันกับว่า อย่างที่ อ.ศรีศักรว่า, เราจะต้องเป็นอุตสาหกรรมด้วย...

ศรีศักร วัลลิโภดม : กระบวนการอันนี้มันถึงทำให้นักวิชาการมีอำนาจมาก และพวกนี้ได้เกิด subculture ในกลุ่มของตนเอง... พวกสร้างเขื่อนคิดอย่างไร พวกเศรษฐศาสตร์คิดอย่างไร ? ทำให้วิชาการอื่นๆไม่มีบทบาท

ประมวล เพ็งจันทร์ : ผมทราบว่า มันมี 3 เสือทางวิชาการใช่ไหมครับ

ฉลาดชาย รมิตานนท์ : 3 เสือทางวิชาการในทางสังคมศาสตร์ แต่ว่าเสือที่ใหญ่ที่สุดคือ ”วิทยาศาสตร์”. วิทยาศาสตร์ที่บอกว่าอะไรผิดอะไรถูกในโลกนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เขาบอกว่าการศึกษาทางวิทยาศาสตร์นั้นถูกต้อง ดีที่สุด. เพราะฉะนั้นนักวิทยาศาสตร์ในสายธรรมชาติ และวิทยาศาสตร์ประยุกต์ เช่น แพทย์  วิศว อะไรต่างๆพวกนี้ จะกลายเป็นผู้ที่ชี้เป็นชี้ตายของมนุษย์ไปเลย. ส่วนนักสังคมศาสตร์ที่รองลงมาหน่อย แต่ก็ถือว่าเป็น 3 เสือที่ร้ายกาจเหมือนกัน ก็คือนักเศรษฐศาสตร์ และนักรัฐศาสตร์ และนักสังคมวิทยา แต่ก็มีบทบาทน้อยหน่อย

คือว่า... ใครพูดอะไรนั้นผิดหมด นักวิชาการพูดเท่านั้นถูก, แต่ว่าถ้านักวิชาการพูด นักวิทยาศาสตร์เท่านั้นที่ถูก...

ประมวล เพ็งจันทร์ : หมายถึงว่าได้มีลำดับชั้นของความศักดิ์สิทธิ์ ถ้าจะให้ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดก็ต้องเป็นนักวิทยาศาสตร์ ถ้านักวิชาการระดับรองลงมาจะให้ศักด์สิทธิ์ ก็จะต้องพูดอะไรที่สอดคล้องกับนักวิชาการทางด้านวิทยาศาสตร์

ศรีศักร วิลลิโภดม : แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น มันก็ต้องมาสรุปด้วยการตัดสินใจของรัฐบาล ก็คือนักปกครองนั่นเอง คือเอาทุกอย่างมาประมวลแล้วก็ตัดสิน. แต่เผอิญว่าการตัดสินนั้นมันเป็นไปในทิศทางของ"ขาดทุน-กำไร", มันไม่ได้มองไปที่มิติของมนุษย์ มันจึงทำให้เกิดปัญหาขึ้นมา. และเมื่อมีปัญหาขึ้นมา... คือโครงการต่างๆนี่ ตัดสินใจมาก่อน ก่อนที่จะมีการศึกษาปัญหา. ยกตัวอย่างเช่น จะทำโครงการอะไรต่างๆ ก็ได้มีการตัดสินใจมาแล้ว แล้วก็ถึงได้มาทำการศึกษา feasibility (ความเป็นไปได้) แล้วถึงได้มาทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม. จุดที่สำคัญซึ่งมากระทบเรื่องของจริยธรรม ก็คือว่า การทำการศึกษา feasibility เหล่านี้ นักวิชาการขายตัวเยอะ เพราะทำกันชุ่ยๆ เพราะเหตุว่า ทำก็ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะว่ามันได้มีการตัดสินใจไปแล้ว ดังนั้น ก็เลยศึกษากันอย่างชุ่ยๆ เอาข้อมูลเก่าๆมาใช้ อันนี้ก็คือเรื่องของจริยธรรม

แล้วก็ต่อมาถูกคัดค้าน ก็ทำ EIA อันนี้ก็ชุ่ยอีก ก็เพราะมันตัดสินใจจะทำแล้ว ก็เอาผลของการทำวิจัย การศึกษา feasibility และ EIA มาเป็นไม้ประดับ. ปัญหาของนักวิชาการอยู่ตรงนี้ นั่นคือ ขายตัว ตั้งบริษัท และศึกษาอย่างชุ่ยๆ. แทนที่จะบอกว่าผลกระทบมันเป็นอย่างไร ตรงนี้ล่ะครับถึงได้ก่อให้เกิดความเดือดร้อนขึ้นมา

ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ : การศึกษาโครงการ การทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม มันทำเพื่อธุรกิจ ไม่ได้ทำเพื่อค้นหาความจริง

ประมวล เพ็งจันทร์ : คือเขามีคำอธิบายเอาไว้ขายหรือเปล่าครับ... นักวิชาการมีความสามารถที่จะสร้างวาทกรรม ที่จะผลิตคำอธิบาย, ปัญหาก็คือ คุณต้องการคำอธิบายนี้ไหม ? ถ้าคุณนำไปใช้ คุณก็สามารถทำให้สิ่งที่คุณอยากจะทำมีคำอธิบายที่สมเหตุสมผลและมีความชอบธรรม

ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ : ผมคิดว่าคนอื่นๆได้ถูกกีดกันออกไปจากการอธิบายความจริง เหลือแต่นักวิชาการเท่านั้นที่พูดแล้วบอกว่า นี่คือความจริง. ถ้าเป็นชาวบ้านพูด ก็จะได้รับการกล่าวหาว่า คุณเอาความรู้สึกมาพูด ไม่มีเหตุผล... อย่างเช่นเรื่องปลา ถามว่าใครมีความรู้เรื่องปลามากที่สุด ก็คือชาวประมง. นักมีนวิทยา เขายอมรับว่า, คนที่รู้เรื่องปลามากที่สุดก็คือชาวประมง และถ้าชาวประมงหายนี่ ความรู้เรื่องปลาก็หายไปด้วย. แต่ว่าสำหรับสังคมทั่วไป เขาไม่ได้คิดแบบนักมีนวิทยา... อย่าง โรเบริต์ ไทสัน นี่เขาพูดชัดเจน, คนๆนี้เป็นผู้เชี่ยวชาญ และวิจัยเรื่องปลาในเมืองไทยมา 30 ปี เขาบอกว่า ความรู้ที่เขาได้มานั้นเขาได้ถามมาจากชาวประมง. แต่ถามว่า บรรดาบริษัทที่ปรึกษาโครงการทั้งหลาย เคยทำอย่างนี้ไหม ? พวกนี้ไม่เคยถาม และเมื่อชาวบ้านพูด พวกนี้ก็จะบอกว่าเป็นข้อมูลที่รับฟังไม่ได้... เพราะว่าสิ่งซึ่งชาวบ้านพูดไม่มีพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์ เป็นความรู้สึก ไม่เป็นวิทยาศาสตร์...

ผมคิดว่ารายงานฯที่มีในประเทศไทยทั้งหมดนี่ เป็นรายงานที่ทำมาเพื่อที่จะไปฟอกโครงการขนาดใหญ่ทั้งหมด และมันทำขึ้นมาบนพื้นฐานของการที่ถูกควบคุมโดยเจ้าของโครงการฯ. คำว่าถูกควบคุมนี่มีความหมายมาก ยิ่งกว่าคำว่า... มันอธิบายชัดเจนถึงการเป็นมือปืนรับจ้าง ความเป็นนักวิชาการขายตัว. ทีนี้ เท่านั้นยังไม่พอ การถูกควบคุมยังไม่พอ ปัญหาก็คือว่า มันไม่มีกระบวนการใดเลยที่จะไปคานความรู้ทางวิทยาศาสตร์ หรือสิ่งที่นักวิชาการที่ตั้งบริษัทที่ปรึกษาเขียนหรือระบุไว้.

แม้แต่ในรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งเราคิดว่าจะสามารถแก้ปัญหาในสังคมไทย อย่างน้อยก็ในระดับหนึ่ง. แต่พอมาดูในรายละเอียด... ยกตัวอย่างเช่น เรื่องโครงการขนาดใหญ่ เขาบอกว่าต้องทำ EIA แล้วก็ต้องมีที่เขาเรียกว่า คณะกรรมการองค์กรมหาชนอิสระมาตรวจสอบ EIA เพื่ออนุมัติ, ซึ่งแตกต่างไปจากก่อนหน้านี้ที่ EIA จะต้องไปผ่านบรรดาข้าราชการทั้งหลายแหล่ หรือบรรดานักการเมือง แล้วก็ไปอนุมัติเลย. แต่ปรากฏว่าในรัฐธรรมนูญเองก็บอกว่า ผู้ที่จะมาเป็นตัวแทนในคณะกรรมการนี้ ก็คือตัวแทนจากสถาบันการศึกษาที่สอนในเรื่องสิ่งแวดล้อม...

ทีนี้ผมถามว่า เรื่องสิ่งแวดล้อมที่เปิดสอนกันในประเทศไทยนี่ ถามว่านักวิชาการในสถาบันสิ่งแวดล้อมสถาบันใดบ้างที่ ไม่ได้ทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม... ทุกที่ ไม่ว่าจะเป็น เชียงใหม่ เกษตรศาสตร์ มหิดล ทุกที่ที่สอนเรื่องสิ่งแวดล้อมทำ EIA หมด รับจ้างทำ EIA...กันทั้งนั้น

ศรีศักร วิลลิโภดม : คือตอนนี้ก็เกิดการเคลื่อนไหวขึ้นมา เพราะผลพวงที่ทำมา 40 ปีแล้ว ธรรมชาติถูกทำลาย สังคมพังพินาศ ชนบทล่มสลาย ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวทางภูมิปัญญาขึ้นมา... นักวิชาการใหม่ๆได้เกิดขึ้น มีการศึกษาเกี่ยวกับภูมิปัญญาไทย อย่างเช่น ทางด้านมนุษยวิทยา อย่าง อ.ฉลาดชาย ได้มีบทบาทเข้ามา การเคลื่อนไหวมันก็มีการเช็คกันอยู่ตรงนี้ ...แล้วก็มาพูดถึงกันตรงนี้ว่า โครงการต่างๆเหล่านี้ มันจะจัดการกันอย่างไร จะปล่อยให้อยู่กันแบบนี้อย่างไร ทุกอย่างนี่รัฐพึ่งนักวิชาการของรัฐ เพื่อแสวงหาความชอบธรรม, รัฐมองการรวมอำนาจทุกอย่างเอาไว้ที่ศูนย์กลาง ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้แล้ว ความขัดแย้งจะต้องเกิดขึ้น....

ประมวล เพ็งจันทร์ : เราคงต้องมาฟังคุณชัยพันธุ์แล้วครับ เพราะเป็นผู้คลุกคลีอยู่กับปัญหาที่เกิดขึ้นจากกรณีที่เรากำลังพูดถึง อันเป็นผลที่ตามมา...

ชัยพันธุ์ ประภาสะวัต : พอเราเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองไปตามตะวันตก เราก็แยกส่วนการปกครอง แยกส่วนทุกอย่างออกหมด ป่าไม้ก็ถูกให้กรมป่าไม้เข้าไปถือครอง น้ำก็ถูกรมชลประทานเอาไป ที่ดินก็ถูกกรมที่ดิน กรมพัฒนาที่ดินเอาไป ทุกอย่างถูกแยกออกไปหมด. ประชาชนก็เหมือนคนง่อยเปลี้ย ความรู้ต่างๆแทบจะสูญหายไป แล้วเราก็ไปเอามาจากตะวันตก. ปัญหาก็คือ วิทยาศาสตร์ก็มาใหม่ เศรษฐศาสตร์กระแสหลักก็มาใหม่ ก็มาดูกันว่า คนจะจนหรือไม่จนก็มาขีดเส้นกัน เพราะว่าต่ำกว่านี้นะก็เรียกว่าจน แล้วทุกคนต้องตะเกียกตะกาย ต้องเกี่ยวข้าวเพิ่ม เพื่อเอาเงินอย่างเดียว.นักวิชาการก็เหมือนกัน...

ที่ดินถูกทำเป็นเรื่องของการค้า นักวิชาการก็จะต้องทำตัวอย่างนั้นด้วย ช่วยเพิ่ม... GDP. ดังนั้นจึงต้องมีการขายตัวอย่างที่ว่าๆไว้ นอกจากผู้หญิงจะต้องไปขายตัว นักวิชาการก็ต้องไปขายด้วย นั่นก็คือเอาความรู้ของตัวเป็นสินค้าอย่างหนึ่ง มีการรับจ้างทำ EIA กัน, บางคนก็รับจ้างเอาดื้อๆ คือ รับจ้างด่าชาวบ้าน อย่างเช่นเขื่อนราษีไศลอะไรอย่างนี้นะครับ แล้วก็ไปรับเงินกับอีกฝ่าย ทั้งๆที่ก็มีเงินเดือนกิน ก็ยังไม่พอจะกินอยู่อีกหรือ ?

ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ได้ดูเรื่องผลกระทบที่จะเกิดต่อชาวบ้าน หรือคนที่เขาอยู่ในระดับล่าง. เพราะฉะนั้น นักวิชาการที่ขายตัวจึงร้ายนะครับ มีปัญหาที่ทางสังคมต้องตรวจสอบมากยิ่งกว่าหญิงโสเภณีเสียอีก... เพราะได้นำเอาความรู้ไปทำร้ายสังคม ผมถึงว่าวันนี้, แวดวงวิชาการเลวร้ายถึงขีดระดับอันตรายแล้ว เพราะว่า ถ้าเผื่อเป็นอย่างนี้ นักศึกษาที่จบออกไปก็จะได้รับความรู้จากนักวิชาการ ซึ่งไม่มีคุณธรรมและจริยธรรม นี่เป็นปัญหาทางสังคมใหญ่ยิ่งที่จะต้องตรวจสอบกันแล้วล่ะครับ ว่าวันนี้เราต้องการอะไรบ้างจากนักวิชาการ.

สิ่งที่ขาดไปตั้งแต่ทีแรกที่ผมบอกไปก็คือ มันหลุดออกมาจากวัด เพราะฉะนั้นก็ไม่มีนักวิชาการต่อไปนี้เข้าไปวัดอีกเลย ตรงนั้นก็เลยขาดเรื่องศีลธรรม และจริยธรรม ที่นักวิชาการควรจะต้องมีตรงนี้ด้วย. ไม่ใช่ว่าคุณมีแต่วิทยาศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ หรืออะไรก็แล้วแต่ คุณจะต้องมีเรื่องจริยธรรมด้วย

ฉลาดชาย รมิตานนท์ : ผมขอต่ออย่างนี้ครับว่า ท้ายที่สุดแล้ว เราสรุปได้ว่า เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างมันเป็นเงิน เราอยู่ในระบบทุนนิยม เราถูกกำหนดด้วย เงิน ๆ ๆ ๆ ทั้งนั้นเลย ดังนั้น จึงไม่น่าเป็นเรื่องแปลกใจที่นักวิชาการจำนวนหนึ่ง จะขายความรู้ ขายเทคนิค ขายแม้กระทั่งเรียกว่า”ขายตัว”. เขาอาจจะขายโดยเชื่อว่า เขาทำถูกต้อง หรือเขาอาจจะขายด้วยความไม่เชื่อ แต่อย่างไรเขาก็จะต้องการเงิน เขาก็เลยทำ, เพราะเขารู้ว่า ถึงอย่างไรโครงการนี้มันก็ต้องผ่านอยู่แล้ว.

ประเด็นก็คือว่า เราจะควบคุมเรื่องของศีลธรรม จริยธรรมได้อย่างไร ? ผมคิดว่า คำตอบอาจจะไม่ได้อยู่ที่วัด คำตอบอยู่ตรงที่ว่า ปัจจุบันนี้เรามีความเคลื่อนไหวจากประชาชนข้างล่าง ซึ่งเป็นผู้ที่ถูกกระทบมาโดยตลอด เขาเริ่มที่จะลุกขึ้นมาตั้งคำถามว่า เขื่อนไม่ดี เขื่อนไม่ถูก โครงการไฟฟ้าอย่างนี้ไม่เป็นธรรม เมื่อเขาตั้งคำถามขึ้นมาแล้ว บังเอิญว่ามีองค์กรเอกชน หรือที่คุณชัยพันธ์ หรือคุณไชยณรงค์มาก็ดี ซึ่งเป็น NGO ก็เริ่มเอาปัญหาของชาวบ้านมาพูดให้กับสังคมฟังมากขึ้น.

ตอนแรกๆก็ไม่มีโอกาส ต่อมานักวิชาการกลุ่มหนึ่งเห็นด้วย ว่าสิ่งที่เขามาสะท้อนปัญหาชาวบ้านนี่มันจริง เพราะฉะนั้นเมื่อมันจริง สิ่งที่บทบาทของนักวิชาการกลุ่มหนึ่งทำก็เลยบอกว่า อย่ากระนั้นเลย, หน้าที่ของเราก็คือ จัดเวทีให้ชาวบ้านเขามาพูด นั่นแหละคือวิธีแก้ปัญหา เพราะว่าเมื่อชาวบ้านเขาได้พูดแล้ว มันก็จะเกิดการตรวจสอบกันว่า ทางฝ่ายนักวิชาการเหล่านั้นที่รับใช้โครงการเหล่านั้น มันจริงอย่างนี้, แต่ชาวบ้านพูดอย่างนี้, ความเป็นจริงยังไม่มีใครบอกได้ว่าอะไรถูกอะไรผิด แต่สำคัญก็คือว่าจะต้องทำให้เรื่องที่ถกเถียงกัน เรื่องที่เคยปิดลับมืดทั้งหมด เบื้องหลังโครงการต่างๆ, ให้เป็นเรื่องที่เปิดเผย เป็นเรื่องโปร่งใส สว่าง และเปิดโอกาสให้ประชาชน โดยเฉพาะชาวบ้านลุกขึ้นมาโต้แย้งกับข้อมูลของทางราชการ เมื่อนั้นแหละผมคิดว่า มันจะเป็นตัวที่คอยควบคุมจริยธรรม

ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ : คือผมคิดว่า สิ่งที่เป็นรูปธรรมซึ่ง อ.ฉลาดชาย พูดก็คือว่า การต่อสู้ของสมัชชาคนจนนั้นชัดเจนมาก. หนึ่งคือ เขาไม่ยอมรับคำอธิบายของ EIA ของบริษัทที่ปรึกษาอีกแล้ว เพราะฉะนั้น มันจะมีการเรียกร้องที่น่าสนใจมาก็คือ ให้เอาความรู้ของเขาขึ้นมามีส่วน ในการกำกับการตัดสินใจด้วย เอาความรู้ที่เป็นภูมิปัญญาขึ้นมาสู้ เพื่อให้มันมีความเสมอเท่ากันกับความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ที่นักวิชาการสร้างขึ้น.

อันที่สอง เขาได้เสนอกระบวนการใหม่ อย่างเช่นให้มีการตั้งคณะกรรมการใหม่ซึ่งมาจากหลายฝ่าย ซึ่งตรงนี้หมายความว่า เราไม่ยอมอีกแล้ว ที่จะไปให้บริษัทที่ปรึกษาทำ หรือให้พวกเทคโนแครทในหมู่ข้าราชการทำอย่างเดียว. ตรงนี้ผมคิดว่า มันยิ่งกว่าการมีรัฐธรรมนูญ ถ้าเรายอมรับว่า กระบวนการในการแก้ปัญหาสิ่งที่ผิดพลาดในอดีต มันจะต้องเกิดขึ้นจากการเรียนรู้ อย่างกรณีของสมัชชาคนจนเป็นตัวอย่าง ที่ให้มีการตั้งกรรมการกลางก็ดี หรืออะไรก็ดี อันนี้จะให้มีการตรวจสอบ แล้วสังคมจะมองเห็นว่า อะไรที่มันคือความจริง ไม่ใช่ความจริงผูกขาดโดยนักวิทยาศาสตร์

ประมวล เพ็งจันทร์ : อ.ศรีศักร ครับ อาจารย์ในฐานะนักวิชาการอาวุโส อาจารย์จะมีทางออก หรือจะมีข้อแนะนำสำหรับนักวิชาการ ที่ยังต้องทำหน้าที่อยู่ในสังคมไทยอย่างไร ?

ศรีศักร วัลลิโภดม : ผมมีสองประเด็น, ประเด็นหนึ่งนะครับ ต้องมีการเคลื่อนไหวจากผู้ถูกกระทำ เพราะที่แล้วมาเรากระทำเขามาโดยตลอด นักวิชาการเป็นฝ่ายกระทำมาตลอด พอเวลานี้คนที่ถูกกระทำเขาทนไม่ได้แล้ว เขาก็เรียกร้องมา. การมีส่วนร่วมนี่เป็นเรื่องจำเป็น.

อีกประเด็นหนึ่ง นักวิชาการไม่ว่าตะวันตกหรือตะวันออก มันมีจรรยาบรรณของมัน. เราเรียนเรื่อง Ethic หรือจริยธรรมเพื่ออะไร ? ซึ่งอันนี้เป็นหัวใจเลย แต่เราเคยนำเอาปรัชญาตรงนี้มาใช้ไหม ? เราเรียนแต่เรื่องเทคโนโลยี เรียนแต่เรื่องเทคนิคเขามา เพื่อประกอบอาชีพ เพื่อหารายได้เท่านั้นเอง แต่ไอ้ความเป็นมนุษย์ ความเป็นอุดมคตินี่เราไม่มี นักวิชาการสมัยใหม่ไม่มีเรื่องเหล่านี้เลย.

ประมวล เพ็งจันทร์ : เรารู้แต่วิธีใช้ แต่เราไม่รู้ว่าใช้ทำเพื่ออะไร ?

ศรีศักร วัลลิโภดม : ใช้ทำเพื่ออะไร ? ก็เพื่อมนุษย์. เขามีเป้าหมาย ผมคิดว่าวิชาการตะวันตกนั้นมีเป้าหมาย มองมนุษย์ว่าจะต้องอยู่ในความร่มรื่น สังคมต้องอยู่ร่มรื่น. วิชาการของเราสมัยก่อน จะเรียนอะไรก็ต้องมีการไหว้ครู ต้องรู้ว่าทำอันนี้ก็เพื่อจะเป็นประโยชน์ และตัวนี้ก็คือจรรยาบรรณ แต่นักวิชาการสมัยใหม่ไม่มีจรรยาบรรณ อันนี้คือปัญหา.

เวลานี้จะต้องมีแรงกดดันให้นักวิชาการทบทวน ไอ้สิ่งตัวเรียนมาว่า มันเป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติอย่างไร และการเป็นนักวิชาการได้ ไม่ใช่เก่งในเรื่องเทคนิค แต่จะต้องเก่งในเรื่องการสร้างสรรค์ความเป็นมนุษย์ให้มีความร่มเย็นเป็นสุขด้วย. เพราะฉะนั้นเวลานี้เราพูดกันถึง peace พูดกันถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน อันนี้เป็นที่มาของอุดมคติทั้งนั้น แต่นักวิชาการเหล่านี้ไม่ได้เอาเรื่องนี้มาเป็นตัวกำหนด ผมคิดว่าเราอาจจะต้องมองในประเด็นนี้เหมือนกัน

ประมวล เพ็งจันทร์ : บทสรุปของท่านอาจารย์ศรีศักร ผมคิดว่านี่คือข้อสรุปของพวกเราในวันนี้เลยว่า วิชาการทุกสาขา ล้วนแต่มีวัตถุประสงค์ ที่มีการค้นคว้ามาเพื่อสร้างสรรค์สังคมมนุษย์ สร้างสรรค์การอยู่ร่วมกันของมนุษย์ให้พบกับสันติสุข พบกับเป้าหมายที่ดีงาม... ดังนั้นผมจึงอยากให้บทสรุปเช่นนี้อยู่ในใจของนักวิชาการทุกคน....

 

  Back to Midnight's Home    Email / midnightuniv(at)yahoo.com