เรื่องแรกเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความเอื้ออาทรและความช่างสังเกตของชาวบ้าน เมื่อราวๆ 20 ปีมาแล้ว ผมกับเพื่อนๆนักวิจัย 2-3 คน ได้ไปเดินลุยป่าวังกำแพง จังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อสัมภาษณ์ชาวบ้านในงานของสำนักงานปฏิรูปที่ดิน ผมพอจำได้ว่าขณะนั้นเป็นเดือนเมษายน อากาศร้อนสุดร้อน และที่เรียกป่าวังกำแพงซึ่งทำให้คนคิดถึงต้นไม้สูงใหญ่ทึบเต็มไปด้วยความชุ่มชื้นนั้นหาเป็นเช่นนั้นไม่ ป่าวังกำแพงที่ผมกับเพื่อนเดินอยู่นั้นมันคือทะเลทรายเราดีๆนี่เอง มีต้นไม้ 2-3 ต้นยืนตายและไร้ใบ ตอไม้บางตอมีควันกรุ่น นอกนั้นก็เป็นทุ่งหญ้าใบยาวๆแต่ขาวโพลนไปหมดเพราะแดดเผา

เราเดินไปสัมภาษณ์ชาวบ้านตามกระต๊อบเล็กๆที่สุดร้อน เพราะหลังคาเป็นสังกะสี ผนังก็เป็นสังกะสี ไอแดดลงมาร้อนหน้าของพวกเราที่นั่งอยู่ที่นอกชานเล็กๆหน้าเรือน ผมเป็นคนอาวุโสที่สุดในกลุ่มพวกเรา และตอนนั้นก็เป็นโรคความดันโลหิตสูงแล้ว เมื่อเราคุยซักถามกันไปสักพักหนึ่ง ชายหนุ่มเจ้าของกระต๊อบก็ขอตัวเดินเข้าห้องไป ประเดี๋ยวเขากลับออกมา มือถือหมอนใบหนึ่งตรงเข้ามาที่ผม พร้อมกับกล่าวว่า

"อาจารย์ครับ นอนเสียเถอะครับ อาจารย์ไม่สบายแล้ว"

ตอนนั้นผมรู้สึกร้อนผ่าวไปหมด เวียนหัวหน้ามืด ก็เอนตัวลงนอนพักตามคำสั่งของชายหนุ่มเจ้าของบ้าน เพื่อนผมที่ไปด้วยยังไม่ได้สังเกตุเห็นว่าผมรู้สึกไม่สบายเลย

เรื่องที่สอง ก็คล้ายกับเรื่องที่หนึ่ง แต่เกิดขึ้นที่หมู่บ้านใกล้ๆตัวเมืองขอนแก่น ที่นี่ผมไปช่วยลูกศิษย์ผมสัมภาษณ์เก็บข้อมูลสำหรับทำวิทยานิพนธ์ของเขาเรื่องผู้หญิง ไม่เหมือนที่วังกำแพง ที่นี่หมู่บ้านร่มเย็น มีต้นไม้ใหญ่ และเรือนฝากระดาน เรากำลังสัมภาษณ์สตรีกลางคนในหมู่บ้าน 2-3 คน เธอก็เหมือนหญิงชาวบ้านกลางคนทั่วไป คือเป็นคนร่างใหญ่ ท้วมคล้ำ ร่าเริง ยิ้มหัวเราะง่าย เราคุยกันไปได้สักพักใหญ่ เธอก็จ้องหน้าผม ถามว่า "หิวไหม" ความจริงขณะนั้น ผมรู้สึกหิวอยู่บ้าง แต่เกรงใจเขาจึงบอกว่า "ยังไม่หิวหรอกครับ" แล้วเราก็คุยสัมภาษณ์กันไปอีกพักใหญ่

แล้วเธอก็หันมาจ้องหน้าผม

"หิวไหม หิวซิ หิวแล้ว" เธอกล่าวแล้วก็ออกเดินไป สักประเดี๋ยวเธอกลับมาพร้อมกับก๋วยเตี๋ยวหนึ่งชาม แล้วบอกกับผมว่า "กินซะ กินซะก่อน" ผมรีบกินตามคำสั่งของเธอ เพราะผมเป็นเบาหวาน ขณะนั้นผมหิวมาก น้ำตาลลดลงต่ำ จนกระทั่งผมจะสั่นอยู่แล้ว ลูกศิษย์ของผมไม่ได้สังเกตเห็นเลยว่าผมหิวและจะสั่นแล้ว ทั้งๆที่เขารู้อยู่ว่าผมเป็นเบาหวาน และกินยาลดน้ำตาลอยู่

เรื่องต่อไปผมคิดว่า เกี่ยวข้องกับการเป็นคนปฏิบัตินิยมและมีอารมณ์ขัน เหตุเกิดที่ตำบลบางระกำ จังหวัดอยุธยา เมื่อประมาณ 25 ปีมาแล้ว ผมพานักศึกษาธรรมศาสตร์ 4-5 คนไปเก็บข้อมูลที่นั้น ผมเองไปนอนค้างอยู่บ้านกำนัน ขณะที่นักศึกษาพากันไปนอนค้างที่โรงแรมในเมืองอยุธยา เพราะ "โดนผีหลอก"ที่บ้านกำนัน

ผมอยู่บ้านกำนันหลายวัน บ้านกำนันเป็นเรือนไม้ใต้ถุนสูงเก่าๆหลังใหญ่ มีห้องโถงอยู่ตรงกลาง ข้างท้ายเป็นห้อง 2 ห้อง แล้วก็ครัว ส่วนห้องน้ำอยู่ข้างนอกบ้านต่างหากจากตัวเรือนเหมือนบ้านชาวบ้านทั่วๆไป ผมจำได้ว่าห้องโถงบ้านกำนันนั้นใหญ่และมืดคล้ายศาลาการเปรียญ ท่านกำนันกางมุ้งให้ผมนอนอยู่มุมหนึ่งของห้องโถงนั้น ส่วนกำนันและภรรยากางมุ้งหลังใหญ่นอนอยู่อีกมุมหนึ่ง ส่วนห้องข้างหลังนั้นเป็นที่นอนของลูกสาว ทุกวันตอนเช้าและตอนเย็นท่านกำนันพาผมไปอาบน้ำที่ฝั่งแม่น้ำป่าสัก ห่างจากบ้านพักไปสัก 150-200 เมตร

วันหนึ่ง ผู้ใหญ่บ้านเจ้าของโรงสีได้เชิญผมไปรับประทานอาหารที่คฤหาสน์อันโอ่โถงเป็นตึกสมัยใหม่อยู่ฟากตรงกันข้าม ท่านกำนันไม่ได้ไปด้วย เพราะผู้ใหญ่บ้านเชิญเฉพาะคณะผู้วิจัยที่ไปจากธรรมศาสตร์ อาหารที่จัดเลี้ยงเป็นโต๊ะจีน ผู้ใหญ่เป็นเจ้าของกิจการโรงสี ส่งออกข้าวไปต่างประเทศ เป็นคนสมัยใหม่ที่มีลูกชายเรียนอยู่ที่สหรัฐอเมริกา หลังจากคุยกันเรื่องงานวิจัยพอสมควร ผู้ใหญ่ก็ถามผมถึงความเป็นอยู่ของผมที่บ้านกำนัน

"อาจารย์อยู่ที่นั่น อาจารย์อาบน้ำอย่างไรครับ" ผู้ใหญ่ถาม

"ผมอาบน้ำในแม่น้ำป่าสักครับ" ผมตอบ

"อ้าว อาจารย์ทำไมไม่ให้เขาตักน้ำในแม่น้ำมาอาบเล่าครับ แม่น้ำป่าสักนี้มีปลาไหลไฟฟ้านะครับ มีคนเคยโดน อันตรายครับ" ผู้ใหญ่มีสีหน้าแสดงความวิตก

เช้าวันรุ่งขึ้น ผมได้โอกาสตอนเดินไปอาบน้ำ ถามท่านกำนันว่า

"ที่นี่มีปลาไหลไฟฟ้าหรือครับ ผู้ใหญ่บอกเมื่อคืนนี้"

"มีครับ ที่นี่มีปลาไหลไฟฟ้า" ท่านกำนันตอบสั้นๆตามวิสัยของท่าน

"อ้าว แล้วเราลงไปอาบน้ำได้อย่างไร ไม่อันตรายแย่หรือครับ" ผมถือโอกาสแสดงความวิตก แต่ไม่กล้าเสนอแนะหรือขอให้คนตักน้ำขึ้นมาให้อาบอย่างที่ผู้ใหญ่แนะนำ

ท่านกำนันตัดบท "อาจารย์ไม่ต้องกลัวหรอกครับ อาจารย์ไปอาบน้ำผมก็ไปอาบด้วยทุกที ถ้าอาจารย์โดยปลาไหลไฟฟ้าอย่างมากอาจารย์ก็สลบ ผมลากอาจารย์ขึ้นมาเอง"

หลังจากนั้นผมก็อยู่บ้านท่านกำนันต่อมาจนถูกสุนัขที่ดุมากของท่านกำนันกัดเอา จึงกลับมากรุงเทพฯ

เมื่อผมโดนหมาของท่านกำนันกัดเช้าวันนั้น ผมเดินลงไปอาบน้ำในแม่น้ำป่าสักคนเดียว ขณะที่เดินกลับขึ้นมาเป็นเวลาที่ท่านกำนันกำลังให้อาหารสุนัขพอดี สุนัขจึงวิ่งมากัดผม ท่านกำนันห้ามไม่ทัน

ท่านกำนันผู้นี้เป็นคนที่ประชาชนแถบนั้นรักมาก เป็นกำนันผู้เดียวที่เลือกตั้งทุกครั้งสอบได้ทุกครั้ง โดยไม่ต้องลงทุนจัดเลี้ยง แจกเงินชาวบ้าน คนแถวนั้นเขาให้ฉายากำนันว่า "กำนันเดินไกล" ท่านกำนันเป็นคนสูงใหญ่ ผิวคล้ำ ศีรษะเถิก กระฉับกระเฉง ผมถามชาวบ้านว่า "ทำไมจึงเรียกว่ากำนันเดินไกล"

เขาจึงเล่าให้ผมฟังว่า พื้นที่บริเวณนี้น้ำท่วมมาก และไหลแรง ข้าวที่หว่านไว้เสียหายทุกปี กำนันคนนี้ท่านไปเดินเรื่องติดต่อกรมชลประทานขอให้เขามาสร้างพนังกั้นน้ำ ทางกรมชลฯก็ตกลงจะมาทำให้ วันที่เขาส่งเจ้าหน้าที่มาดูสถานที่จะสร้างพนังกั้นน้ำ น้ำก็ยังเอ่อท่วมท้องนาอยู่ เจ้าหน้าที่ก็ไม่อยากลุยน้ำไปดูเพราะกลัวเครื่องแบบจะเปียก ท่านกำนันลงนั่งยองๆหันหลังให้เจ้าหน้าที่กรมชลฯ บอกเจ้าหน้าที่ให้ขึ้นขี่หลังท่านเดินลุยน้ำพาไปดูที่ๆจะสร้างพนังกั้นน้ำ ตั้งแต่นั้นมาชาวบ้านก็เรียกท่านว่า "กำนันเดินไกล" แล้วเวลามีการเลือกตั้งก็ลงคะแนนให้ท่านทุกคน

น่าคิดว่าการเสียสละเป็นค่านิยมที่สำคัญอย่างหนึ่งของคนไทยหรือไม่ ถ้าพิจารณาจากเรื่องที่นายฮ้วง(นามสมมุติ)เล่า ก็น่าจะคิดว่าเป็นเช่นนั้น เมื่อ 30 กว่าปีมาแล้ว เมื่อผมเป็นนักมานุษยวิทยาที่เข้าไปคลุกคลีหาข้อมูลอยู่ที่สลัม(ปัจจุบันเรียกว่า ชุมชนแออัด)ตรอกใต้ บริเวณข้างวัดญวนสะพานขาว ผมได้ไปนั่งร่วมวงคุยที่บ้านเนตร(นามสมมุติ)ตอนค่ำๆ ซึ่งในระยะนั่น เริ่มมีการซุบซิบนินทาเนตรผู้เป็นผู้นำชุมชนหนาหูขึ้น นายฮ้วงก็มาร่วมวงด้วยบ่อยๆ นายฮ้วงเป็นคนขับรถทัวร์ออกต่างจังหวัด เขาเป็นคนผิวขาวคล้ายคนจีนรูปร่างสันทัด คุยสนุกและร่าเริง แต่วันนั้นเขาพูดอย่างเป็นจริงเป็นจัง

"พี่เนตร พี่ชม(ภรรยาเนตร)เป็นคนดีจริงๆ น้ำใจเขาหาที่เปรียบไม่ได้ ครั้งหนึ่งผมจน จนไม่มีอะไรจะกิน ไม่มีงานทำ เงินไม่มี มีแต่หนี้ จนปัญญาเข้า ผมก็มาหาพี่เนตร จะมาขอยืมเงินพี่เนตรไปตั้งตัว พี่เนตรเองขณะนั้นก็จนมากเงินทองไม่มี งานก็ไม่มี จะช่วยผมก็ไม่รู้จะช่วยอย่างไร ตอนที่นั่งคุยกันอยู่นั้นพี่ชมแก่ก็นั่งฟังอยู่ด้วย รู้ว่าผมลำบากขนาดไหน แกถอดสร้อยทองที่แกสวมอยู่ออกมายื่นให้ผม บอกว่า "ฮ้วง เอานี่ไปเถิดนะ" ฮ้วงพูดไปน้ำตาไหล ขณะที่ฮ้วงเล่าเรื่องนี้นั้นเนตรกับคุณชมไม่อยู่ มีเราคุยกันอยู่เพียง 2 คน ฮ้วงอาจพยายามบอกผมอ้อมๆว่า เนตรเป็นคนดี และไม่อยากให้ผมไปฟังเสียงซุบซิบนินทาเหล่านั้น ผมคงต้องเล่าเรื่องที่มาของเสียงซุบซิบนินทาเหล่านั้นให้ผู้อ่านฟังบ้าง

ก่อนหน้านั้นไม่ถึงปี เกิดเพลิงไหม้ตรอกใต้ จากบ้านเรือนที่มีประมาณ 110 หลัง ไฟไหม้ไปเสีย 90 หลัง ภายในวันเดียวชาวบ้านกลับเข้ามาสร้างเพิงอยู่ใหม่ในที่ดินเดิม เวลานั้นมีมูลนิธิทางศาสนาแห่งหนึ่งเข้ามาติดต่อเนตรในฐานะประธานกรรมการชุมชนและผู้นำคนหนึ่ง เพื่อนำข้าวสารมาให้แจกแก่ชาวบ้านที่ถูกไฟไหม้ การที่จะแจกข้าวนี้มีปัญหาเพราะเนตรมาปรึกษาผมว่าจะทำอย่างไรดี ข้าวมีไม่พอแจกทุกครอบครัว เนตรคิดผิดที่มาปรึกษาผม เพราะผมไม่รู้จักสังคมไทยดีพอ แต่ด้วยความอ่อนหัดก็ให้คำปรึกษาไปว่า

"เอาอย่างนี้ก็แล้วกันพี่เนตร เราให้คนที่จนที่สุดก่อนเรื่อยไป หมดเมื่อไรก็หยุดเมื่อนั้น" เมื่อแจกไปเช่นนั้นก็เกิดเรื่องใหญ่โต พี่มาผู้ซึ่งถ้าจะเปรียบให้ถูกต้องก็ต้องว่าเป็นสมุนมือขวาของเนตรโกรธเป็นฟืนเป็นไฟ เที่ยวตระเวณด่าเนตรไปทั่วชุมชน

ค่ำวันหนึ่ง พบพี่มานั่งกินเหล้าอยู่กับเพื่อน 2-3 คนที่โต๊ะกลางชุมชน พี่มาหน้าแดงก่ำ คงจะกินเข้าไปมากแล้ว ท่าทางก้าวร้าว โกรธ เห็นผู้คนขวางหู ขวางตาไปหมด พอเหลือบมาเห็นผมเข้า ก็กวักมือเรียก

"อาจารย์ มานี่แน๊ะ มานั่งคุยกับผมหน่อย" เห็นผมลังเลก็พูดต่อ "มานั่งคุยกับผมหน่อยไม่ได้หรือ เห็นผมเลวอย่างไร อาจารย์รักมันมากใช่ไหม"

ผมก็เดินไปนั่งข้างพี่มา พี่มาจึงพรรณาต่อ "อ้ายนั่นมันเลวมาก มันเลวจริงๆ ผมนี่ทำให้มันทุกอย่าง มันขึ้นมาเป็นอย่างนี้ได้ก็เพราะผม ผมโรเนียว(เผยแพร่คุณความดี)ให้มัน แล้วยังไง อาจารย์ มันได้ข้าวสารมามันแจกให้คนอื่นๆ มันไม่ให้ผม ผมรับใช้มันทุกอย่าง ผมเป็นลูกน้องมัน มันไม่เห็นความดีของผม" พี่มาน้ำตาไหลด้วยความโกรธ

ความจริงพี่มาเป็นคนมีฐานะ มีบ้านอยู่กลางชุมชนข้างลานที่เป็นที่มั่วสุมของวัยรุ่นเพื่อเล่นการพนัน พี่มาขายกาแฟเดินไปเดินมา นั่งอยู่ที่นั่นทุกวัน ผิวค่อนข้างขาว รูปร่างมีลักษณะคล้ายมะขามข้อเดียว ไม่ใส่เสื้อทำให้เห็นสร้อยทองเส้นเบ้อเร่อ คนแขกที่เอาของมาขายและให้ชาวบ้านกู้เงิน จะเข้ามาหาพี่มาก่อนเพื่อนเสมอ เนตรไม่ได้ให้ข้าวสารพี่มาเพราะพี่มามีฐานะดี และบ้านพี่มาไม่ได้ถูกไฟไหม้ เป็นเพราะความคิดที่แปลกประหลาดของผมทีเดียว ทำให้เกิดปัญหาขึ้น

ในเรื่องแนวคิดเกี่ยวกับความยุติธรรมนี้ ต้องมีอะไรที่แตกต่างอย่างสำคัญระหว่างผมผู้ได้รับการศึกษาจากตะวันตกกับคนในสังคมไทย เพราะครั้งหนึ่งผมเคยเสนอในที่ทำงานให้แบ่งเงินรายได้พิเศษค่าพิมพ์ดีด ที่ได้จากโครงการวิจัยให้พนักงานพิมพ์ดีดแต่ละคนตามปริมาณที่ผู้นั้นได้พิมพ์จริง ตามอัตราหน้าละเท่าใดตามที่ได้กำหนดไว้ เลขานุการสถาบันผู้ควบคุมพนักงานพิมพ์ดีดไม่ยอมให้ทำอย่างนั้นเด็ดขาด เธอให้เอาเงินรายได้ที่ได้จากการพิมพ์รายงานโครงการวิจัยที่จ่ายตามจำนวนหน้าที่พิมพ์ มารวมไว้เป็นกองกลางแล้วแบ่งให้พนักงานทุกคนเท่าๆกันหมดไม่ว่าพนักงานคนนั้นได้พิมพ์รายงานวิจัยหรือไม่ก็ตาม มีคนเคยเล่าให้ผมฟัง จริงหรือไม่จริงก็ไม่ทราบ ว่าเวลาไปแจกของในหมู่บ้าน เช่น ผ้าห่ม ต้องมีของไปให้ครบทุกบ้าน ไม่ว่าบ้านนั้นรวยหรือจน มีผ้าห่มหรือไม่มี ก็ต้องให้ครบทุกบ้าน เขาบอกว่า คนไทยเป็นคอมมิวนิสต์ยิ่งกว่า คอมมิวนิสต์เสียอีก

ผมเองคิดว่าเรื่อง ความยุติธรรมนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะในเรื่องที่เล่ามานี้ และเรื่องที่จะเล่าต่อไป อาจมีปัจจัยอย่างอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องและหัวใจของมันอาจไม่ใช่เรื่องความยุติธรรม ครั้งหนึ่งปั๊มโยกที่บ่อน้ำตื้นกลางหมู่บ้านเสีย นักศึกษาที่ทำงานเป็นพัฒนากรประจำหมู่บ้านออกไปเรี่ยไรชาวบ้านบ้านละ 10 บาท ชาวบ้านบอกว่าทำอย่างนี้ไม่ได้ เพราะเขาใช้น้ำจากบ่อนี้ไม่เท่ากัน บางบ้านอยู่ใกล้บ่อก็ใช้มาก บางบ้านอยู่ห่างออกไปมาเอาน้ำจากบ่อลำบากก็ขังน้ำฝนไว้ใช้บ้าง ใช้แหล่งน้ำอื่นบ้าง จะไปเรียกเงินเขาเท่าๆกันได้อย่างไร

เรื่องที่ผมจำได้ไม่รู้ลืมเรื่องหนึ่งเกิดขึ้นเมื่อทำงานโครงการพัฒนาชนบทลุ่มน้ำแม่กลอง สมัยนั้นเป็นสมัยเงินผันของคึกฤทธิ์ หมู่บ้านแห่งหนึ่งอยู่บนที่ดอนขาดน้ำ เมื่อได้รับเงินผันของรัฐบาลคึกฤทธิ์มาแล้ว ก็เอามาใช้ขุดคลองขึ้นเนินจากแม่น้ำมาถึงบ้านผู้ใหญ่บ้าน เมื่อขุดเสร็จก็เกิดปัญหาเพราะน้ำไม่ไหลเข้าคลองขึ้นไปบ้านผู้ใหญ่บ้าน พวกเราในโครงการพัฒนาชนบทลุ่มน้ำแม่กลองเห็นว่าอาจนำน้ำขึ้นไปตามคลองนี้เพื่อหล่อเลี้ยงท้องนาสองข้างได้ โดยสร้างพนังกั้นน้ำที่ปากคลองและสูบน้ำเข้าคลอง เรายินดีที่จะติดต่อขอเครื่องสูบน้ำจากกระทรวงเกษตรมาติดตั้งให้ แต่ขอให้ชาวบ้านช่วยดูแลเครื่องสูบน้ำและจ่ายค่าบำรุงรักษา แต่ชาวบ้านก็ตกลงกันไม่ได้เรื่องการจัดการและแบ่งภาระรับผิดชอบในการบำรุงรักษา ทำให้ไม่อาจสร้างพนังกั้นน้ำและสูบน้ำเข้าคลองได้ ต่อมามีพ่อค้าหัวใสจากนครปฐมมากั้นปากคลองนี้อย่างที่กล่าวมาแล้ว สูบน้ำเข้าคลองแล้วเก็บเงินค่าใช้น้ำจากคนมีที่นา 2 ฟากคลอง มีเสียงบ่นว่าพ่อค้าเก็บเงินแพงแต่ก็จ่ายกันทุกราย

ในทั้งสามเรื่องนี้ ผมสงสัยว่าประเด็นสำคัญอยู่ที่ ภายใน ภายนอก กลุ่ม/ชุมชน คุณค่าที่สมาชิกยึดถือคือ การรักษาความสัมพันธ์ภายในกลุ่ม/ชุมชน ถ้าหากเป็นของที่มาจากภายนอกและมอบให้กลุ่ม/ชุมชน ก็ต้องแบ่งให้เท่าๆกันและทั่วถึง ถ้าเป็นสิ่งที่คนในชุมชนต้องจ่าย ภาระนั้นจะมาแบ่งให้ทุกคนเท่าเทียมกันไม่ได้ แต่ละคนควรจะรับภาระตามสัดส่วนของผลประโยชน์ที่ตนได้รับ เพื่อป้องกันการพิพาทกันในกลุ่ม/ชุมชน ส่วนเหตุที่การเรี่ยไรเพื่อซ่อมปั๊มโยกและเพื่อสูบน้ำเข้าคลองไม่สำเร็จ ก็เพราะหากลไกและวิธีการที่จะจัดแบ่งภาระกันให้ยุติธรรมและเป็นที่ยอมรับโดยทุกคนไม่ได้ หากหากลไกและวิธีการที่เหมาะสมได้ก็จะสามารถทำได้ ส่วนในเรื่องพนักงานพิมพ์ดีดนั้น ถ้าทำตามความคิดแบบตะวันตกของผม ก็จะทำให้เกิดการแข่งขันกันในกลุ่มพนักงานพิมพ์ดีด ที่จะนำมาซึ่งความแตกแยกจึงยอมไม่ได้

เรื่อง ภายใน และ ภายนอก ชุมชนนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะมีหลายอย่างที่คนภายนอกชุมชนทำแล้วมีประสิทธิภาพ แต่คนภายในชุมชนทำไม่ได้ดังตัวอย่างในชุมชนตรอกใต้ วัดญวนสะพานขาว

สมัยนั้น ชาวบ้านกู้เงินและซื้อของเงินผ่อนจากคนแขกที่เข้ามาในชุมชนเป็นประจำ ชาวบ้านบอกผมว่าที่คนแขกได้เงินคืนจากชาวบ้าน เพราะอาศัยความอายของชาวบ้าน โดยคนแขกมักตะโกนเรียกชื่อลูกหนี้เมื่อเดินเข้ามาในชุมชน ซึ่งทำให้ลูกหนี้อายและเอาเงินมาจ่าย สิ่งที่น่าแปลกใจก็คือ ในขณะที่คนนอกชุมชนใช้กลวิธีทำให้อายเรียกร้องให้ลูกหนี้เอาเงินมาใช้คืนได้ คนในชุมชนเองทำไม่ได้ สายผู้เป็นคหบดีในชุมชนได้เคยทดลองทำตัวเป็นนายทุนเงินกู้แล้วใช้กลวิธีทำให้ลูกหนี้อาย โดยเขียนชื่อลูกหนี้ที่เบี้ยวไม่ใช้เงินตามกำหนดติดไว้ที่กระดานกลางชุมชน ปรากฏว่าลูกหนี้และคนในชุมชนโกรธมาก วัยรุ่นเรียกแกว่า "อ้ายเศรษฐี"

ปัจจุบันนี้ไม่เห็นคนแขกเข้ามาให้กู้ในชุมชนอีกแล้ว ชาวบ้านหันไปกู้จากอะไรไม่ทราบที่เรียกกันว่า "บริษัท" โดยกู้ผ่านคนขับรถมอเตอร์ไซค์ที่เข้ามาในชุมชน ถ้าไม่ใช้หนี้เงินกู้ ก็ต้องรีบหนีออกไปจากชุมชน เพราะพวกมอเตอร์ไซค์จะซ้อมลูกหนี้ที่ไม่จ่ายคืนเงินกู้ บางแห่งบางครั้งอาจถึงตายได้

ผมเองก็ไม่ทราบว่าการเปลี่ยนแปลงมันเกิดขึ้นได้อย่างไร หรือเป็นจริงอย่างที่นายตำรวจคนหนึ่งบอกผมว่าไอ้ "บริษัท" ที่ว่านั้นคือคนมีฐานะในชุมชนนั่นเอง

ความจริงการอายนี้คนที่อยู่ใกล้ชิด รู้ไส้ซึ่งกันและกันคงจะไม่อายซึ่งกันและกัน

ครั้งหนึ่ง เมื่อประมาณ 28-29 ปีมาแล้ว ผมเป็นผู้อำนวยการโครงการบัณฑิตย์อาสาสมัครของธรรมศาสตร์ แล้วได้ลงไปเยี่ยมบัณฑิตย์อาสาสมัครที่ภาคใต้โดยลงไปที่สงขลาก่อนแล้วเดินทางไปจังหวัดอื่นๆ การเดินทางคราวนั้นศาสตราจารย์ดร.แมคเวย์จากสหรัฐอเมริกาขอไปด้วยเพื่อหาที่ลงทำงานวิจัย พวกเราพร้อมด้วยบัณฑิตย์อาสาสมัครอีก 2 คนขอยืมรถของกรมอนามัยเดินทางจากสงขลาจะขึ้นไปสุราษฏร์ธานี ถนนจากสงขลาไปสุราษฏร์ธานีสมัยนั้นแคบมากและเป็นดินลูกรังที่เก่า ยามฝนตกจะเป็นหล่มและโคลนตมอยู่หลายแห่ง วันนั้นฝนตกลงมาอย่างไม่ลืมหูลืมตา พอรถเราแล่นออกนอกเมืองสงขลามาได้พักหนึ่ง ก็มาติดขบวนรถหยุดอยู่ข้างหน้า 3-4 คัน พอฝนซาลงก็มองเห็นว่ามีรถเมล์เล็กคันหนึ่งติดหล่มอยู่หน้าสุด มีผู้โดยสารนั่งมาเต็มคันรถ ถัดมามีรถจี๊บของทางราชการ มีข้าราชการตัวอ้วนใส่เครื่องแบบสีน้ำตาลนั่งอยู่ข้างหน้าคู่คนขับ ท่าทางใหญ่โต รถคันต่อมาเป็นรถเมล์เล็กอีกคันหนึ่งแต่มีผู้โดยสารอยู่ 2-3 คนเท่านั้น ทุกคนในรถทุกคันก็นั่งรอรถคันหน้าสุดที่พยายามเร่งเครื่องขึ้นจากหล่ม แต่ก็ขึ้นไม่ได้ เพราะล้อลื่นและน้ำหนักผู้โดยสารที่นั่งอยู่บนรถถ่วงให้ลงหลุมลึกลงไปอีก

ผมจึงเปรยขึ้นว่าถ้าผู้โดยสารในรถเมล์เล็กนั้นลงจากรถมาช่วยเข็นรถ ก็จะขึ้นจากหล่มได้ ดร.แมคเวย์ที่เป็นแหม่มก็พยักหน้าเห็นด้วยกับผม เราก็เลยลงจากรถเดินลิ่วๆไปที่รถเมล์เล็กที่ติดหล่มอยู่นั้น จะไปช่วยเข็น อาสาสมัครในรถเราและคนรถ ผู้โดยสาร 2-3 คนในรถเมล์ข้างหน้ารถเราและคนขับ ก็ลงมาตากฝนที่เป็นละอองอยู่นั้นตามดร.แมคเวย์กับผมไปเพื่อจะเข็นรถ

แปลกไหมเล่า พอแหม่มไปถึงรถที่ติดหล่ม ผู้โดยสารที่นั่งอยู่เต็มคันรถก็รีบทยอยลงมาจากรถทุกคน มาช่วยกันเข็นรถ รถเมล์เล็กคันนั้นก็เคลื่อนขึ้นจากหล่ม รถที่ติดกันอยู่เป็นขบวนก็ออกเดินทางต่อไปได้

สุภาพบุรุษคนเดียวที่ไม่ได้ลงมาช่วยเราเข็นรถ คือท่านข้าราชการในเครื่องแบบที่นั่งตระหง่านดั่งพระพุทธรูปอยู่บนรถจี๊บที่จดอยู่ข้างหลังรถเมล์ที่ติดหล่มนั่นเอง

เมื่อมาทบทวนเรื่องเหล่านี้ดูจะเห็นว่า ได้มีคนหลายหมู่หลายเหล่านำเอาลักษณะนิสัยค่านิยมของชาวบ้านเหล่านี้มาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อชาวบ้านเองบ้าง ต่อพวกตนเองบ้าง ต่อส่วนรวมบ้าง ต่อสังคมไทยบ้าง อย่างความเอื้ออาทรของชาวบ้านในปัจจุบันก็ถือว่าเป็นหัวใจในการสร้างชุมชนไทยให้แข็งแกร่ง เพราะเป็นลักษณะเฉพาะของคนไทยทบทวนย้อนยุคไปได้ถึงบรรพกาล การให้คุณค่าแก่การเสียสละก็ถูกเน้นอย่างมากในวาทกรรมของพัฒนากรในการรวมกลุ่มชาวบ้าน เวลาสร้างเขื่อนโยกย้ายคนจากบริเวณอ่างเก็บน้ำที่จะถูกน้ำท่วม ชาวบ้านก็ถูกเรียกร้องให้เสียสละเพื่อส่วนรวม ในเรื่องความอายเราได้เห็นคนแขกใช้ประโยชน์จากเรื่องการให้กู้ที่กล่าวมาแล้ว และไม่แน่ใจว่าเราเองใช้หรือเปล่าในเรื่องรถติดหล่ม แต่รู้สึกว่ามีประสิทธิภาพดี

ความจริงในแทบทุกเรื่องจะปรากฎว่ามีเส้นแบ่งแยกคนอย่างน้อย 2 จำพวกซ่อนอยู่ตลอดเวลา ในเรื่องรถติดหล่มที่สงขลาเราจะเห็นคนท้องถิ่นชาวสงขลาเองในรถเมล์เล็ก ข้าราชการในเครื่องแบบบนรถจี๊บ และพวกเราที่เป็นคนแปลกถิ่นไปจากกรุงเทพฯ แล้วที่สำคัญยังมีดร.แมคเวย์ที่เป็นสุภาพสตรีต่างชาติอีกด้วย พฤติกรรมของแต่ละกลุ่มแต่ละบุคคลบอกอะไรเราบ้างถึงลักษณะนิสัยหรือวัฒนธรรมของเขา และคนพวกเขาเพียงใด การเปรียบเทียบบทบาทของข้าราชการในเรื่องนี้กับในเรื่อง "กำนันเดินไกล" บอกอะไรกับเราบ้างหรือไม่

เส้นแบ่งแยกประเภทของคนในสังคมนี้มีอยู่ตลอดตั้งแต่เรื่องแรกเป็นต้นมา แต่เราอาจไม่สังเกตเห็น ในเรื่องแรกทั้งสองเรื่องมีความแตกต่างกันระหว่างชาวบ้านกับเพื่อนร่วมงานของผม คืออาจารย์มหาวิทยาลัยและลูกศิษย์ที่กำลังทำวิทยานิพนธ์ คนกลุ่มหลังที่รวมตัวผมด้วยอาจเรียกได้ว่า "คนชั้นกลาง" กระมัง เราแตกต่างจาก "ชาวบ้าน" สักขนาดไหนและอย่างไร

เรื่องสองเรื่องแรกทำให้เรารู้สึกว่าเรามีความไวต่อความรู้สึกและความเป็นอยู่ของคนอื่นๆรอบตัวเราน้อยกว่าชาวบ้าน เรื่องที่สามที่เจ้าของโรงสีซึ่งเป็นคนชั้นกลางวิตกเรื่องปลาไหลไฟฟ้า และจะให้กำนันตักน้ำจากแม่น้ำมาให้ผมอาบนั้นพอจะแสดงให้เห็นว่า เขามองเห็นความแตกต่างระหว่างผมกับชาวบ้านอย่างชัดเจน และควรมีความเป็นอยู่แตกต่างกัน โดยให้ชาวบ้านบริการผมเป็นพิเศษใช่หรือไม่

คำแนะนำที่ผมให้แก่เนตร ซึ่งทำความเสียหายแก่เนตรมากเมื่อปฏิบัติตามแสดงให้เห็นว่ามีความแตกต่างอย่างมากระหว่างผมกับพี่มาและชาวตรอกใต้ เพราะความคิดของผมที่เสนอต่อเลขานุการสถาบันเรื่องวิธีแบ่งเงินรายได้จากโครงการวิจัยก็ถูกโต้แย้งอย่างรุนแรง เลขานุการสถาบันเป็นคนชั้นกลางเช่นเดียวกันกับผม ผิดกันตรงที่ว่าผมได้รับอิทธิพลของความคิดตะวันตกมากกว่าเธอเท่านั้น ในความเป็นจริง ผมคิดว่าชนชั้นกลางไทยกับชาวบ้านมีความเหมือนกันมากกว่าแตกต่างกัน โดยไม่รู้ว่าเหมือนกัน

มีเรื่อง 2 เรื่องที่ผมชอบเล่าให้นักศึกษาและเพื่อนๆฟังอยู่เสมอ และคอยสังเกตดูปฎิกริยาของผู้ฟังที่มีต่อเรื่องทั้งสองนี้ เรื่องแรกเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นที่ตำบลยกกระบัตร จังหวัดสมุทรสาคร สมัยที่ผมทำงานโครงการพัฒนาชนบทลุ่มน้ำแม่กลอง ในอาณาบริเวณที่เราทำงานอยู่นั้นมีคนอยู่ 2 พวก คือพวกที่ทำสวนมะพร้าวและพวกที่ทำนาข้าว พวกที่เป็นชาวสวนนั้นทำน้ำตาลปี๊ปจำหน่ายและมีฐานะดี ส่วนพวกที่ปลูกข้าวทำนานั้นยากจนข้นแค้นเป็นที่สุด

สาเหตุของความยากจนนั้น มีสองประการ ประการแรกเกิดขึ้นจากการที่มีดินเค็มทำให้มีผลผลิตข้าวค่อนข้างต่ำอยู่เสมอ ได้มีความพยายามสร้างคันดินเพื่อป้องกันการรุกเข้ามาของน้ำเค็มในหน้าแล้ง แต่ก็ไม่เป็นผล เพราะผู้คนที่สัญจรทางเรือแอบขุดคันกั้นน้ำเพื่อความสะดวกในการเดินทางของตน และชาวสวนมะพร้าวเชื่อว่าน้ำกร่อยที่ขึ้นๆลงๆช่วยให้มะพร้าวออกรวงดีขึ้น ให้น้ำตาลมากขึ้น

สิ่งที่ทำให้ชาวนาแทบสิ้นเนื้อประดาตัวคือความชุกชุมของหนูนา แทบทุกปีเมื่อข้าวเหลืองอร่ามในท้องทุ่ง เจ้าหนูนาก็แห่กันมาเหมือนกองทัพในความมืด ดำผุดดำโผล่ ทั่วไปหมด ข้าวในรวงก็แทบไม่เหลือไว้ให้คนกิน เจ้าหน้าที่โครงการแม่กลองตระหนักถึงปัญหาจึงนำเอายาเบื่อหนูมาแจกให้ชาวบ้าน ในระยะแรกๆหนูก็กินยาเบื่อตายกันระเนระนาด แต่เมื่อ 3-4 วันผ่านไป เจ้าหนูนาก็เลิกกินข้าวที่คลุกยาเบื่อเตรียมไว้ให้มัน กลับหันไปกินข้าวในรวงข้าวต่อไป จนปัญญาเข้าชาวบ้านจึงสร้างศาลเพียงตาขึ้นแขวนศพหนูไว้เป็นพวงๆ บนบาลศาลกล่าวขอให้ปีศาจหนูพาเพื่อนๆไปหากินที่อื่น ขออย่าให้มากินข้าวในนาที่นี่เลย

ผมสังเกตดูทุกครั้งที่ผมเล่าเรื่องนี้ ผู้ฟังจะพากันหัวเราะกันใหญ่ ผมเองก็สงสัยว่าทำไมเขาถึงหัวเราะ แต่เมื่อผมเล่าเรื่องที่สองนี้เขาไม่หัวเราะ

เมื่อก่อนนั้นมีตำรวจชั้นประทวนคนหนึ่งตั้งตำหนักทรง มีผู้คนขึ้นเป็นลูกศิษย์เป็นอันมาก ตำหนักทรงเป็นตึก 2 ชั้นโอ่โถงใหญ่โตในกรุงเทพฯนี้เอง ลูกศิษย์ลูกหาเป็นคนใหญ่โตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ คนระดับด๊อกเตอร์ก็มีไม่น้อย เขาลือกันว่าที่นี่สามารถรักษาโรคมะเร็งได้ นายตำรวจเพื่อนของผมคนหนึ่งพาผมไปที่นั่น เขาบอกว่าดวงวิญญาณที่มาเข้าทรงนั้นเป็นมหาราชหลายพระองค์ ตั้งแต่ขุนรามคำแหง สมเด็จพระนเรศวร พระเจ้าตากสิน รัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 5

การจะเข้าไปเฝ้าม้าทรงคนนี้ เต็มไปด้วยความยากลำบาก มีพิธีกรรมมากมาย ตั้งแต่การเซ่นไหว้บูชาเจ้าที่ การไหว้เทวดา และมีพิธีถอนเครื่องรางของขลังต่างๆ เมื่อผ่านพิธีกรรมเหล่านี้ซึ่งมีพิธีกรเป็นลูกศิษย์นุ่งขาวห่มขาวเป็นผู้ทำพิธีแล้ว เราก็ถูกนำขึ้นไปชั้นบน ซึ่งเป็นห้องโถงใหญ่คล้ายท้องพระโรง จุคนเป็นเป็นร้อย ภายในห้องมีคนนั่งพับเพียบอยู่เต็ม พวกที่นั่งอยู่หน้าๆนุ่งขาวห่มขาวเป็นศิษย์ใกล้ชิด คนที่นั่งหลังๆมาแต่งตัวธรรมดา ที่หน้าห้องตรงกลางเด่นมีตั่งไม้ปิดทองตั้งอยู่ พอรออยู่สักพักหนึ่งชายร่างเตี้ยขาวใส่เสื้อผ้าป่านสีขาว นุ่งกางเกงแพรสีเหลืองก็เดินออกมา แล้วมานั่งบนตั่งเงยหน้าพนมมือ มีเสียงออกมาจากลำโพงขยายเสียงที่ติดอยู่ตามมุมห้องบอกให้ทุกคนเงยหน้า อ้าปาก รับฝนทิพย์จากเทวดา

ผมเองเห็นว่าเรื่องนี้กับเรื่องที่แล้วเหมือนกันมาก คือเมื่อคนจนตรอกไม่รู้วิธีการที่จะแก้ไขปัญหาของตน(ที่ยกกระบัตรคือปัญหาหนู ที่กรุงเทพฯในกรณีนี้คือโรคมะเร็ง) ก็ย่อมหันไปพึ่งพาสิ่งนอกเหนือธรรมชาติ เช่น ผี ปีศาจ เทพยดา หรือพระ ทั้งนี้ไม่ว่าชาวบ้านหรือชนชั้นกลางย่อมเหมือนกันหมด แต่ทำไมผู้ฟังจึงหัวเราะเรื่องที่หนึ่ง แต่ไม่หัวเราะเรื่องที่สอง

ประการแรกอาจเป็นว่าเรื่องแรกเป็นเรื่องของชาวบ้าน ผู้ฟังเป็นคนชั้นกลางและคิดว่าเรื่องที่หนึ่งนี้เป็นของคนอีกกลุ่มหนึ่งที่แตกต่างจากตน โดยมีความรู้น้อยกว่า ด้อยกว่าตน อาจทำสิ่งแปลกๆได้ การเซ่นไหว้หนูดูเป็นสิ่งพิลึก คนเช่นนั้นเท่านั้นที่ทำได้ จึงหัวเราะ ส่วนเรื่องที่สอง แม้ว่าการนั่งอ้าปาก คอยรับฝนทิพย์จากเทวดา เป็นสิ่งที่น่าหัวเราะในตัวของมันเองก็ตาม มีสภาพที่เป็นไปไม่ได้ตามหลักวิทยาศาสตร์เหมือนกัน แต่ไม่น่าหัวเราะ เพราะเทวดาเป็นสิ่งที่ชนชั้นกลางไทยเคารพกราบไหว้อยู่เป็นปกติ สิ่งที่เรื่องทั้งสองเรื่องแสดงคงเป็นว่า การกระทำที่เหมือนกันอาจถูกมองว่าไม่เหมือนกันได้ สุดแท้แต่ว่าใครเป็นผู้กระทำ พวกเราหรือไม่ใช่พวกเรา

เรื่องสองเรื่องนี้อาจแสดงให้เห็นว่า ความจริงแล้ว คนชั้นกลางกับชาวบ้านไทยนั้นเหมือนกัน คือมีความเชื่อในไสยศาสตร์และสิ่งเหนือธรรมชาติเหมือนกัน แต่ต่างฝ่ายก็ต่างคิดว่าอีกฝ่ายไม่เหมือนกับตน น่าคิดว่ามีอะไรแตกต่างกันหรือไม่ ขอให้พิจารณาเรื่องต่อไปนี้

ผมกับเพื่อนไปนั่งเขียนงานที่บ้านพักตากอากาศแห่งหนึ่งที่จังหวัดระยอง พอเย็นๆหยุดเขียนก็ลงไปอาบน้ำทะเล เข้าใจว่าวันนั้นเป็นวันหยุดสุดสัปดาห์จึงมีคนจำนวนมากมาเช่าบ้านพักตากอากาศแห่งนี้ เมื่อเราลงไปในน้ำได้ครึ่งตัวก็ยืนมองมาทางชายฝั่ง เห็นสตรีคนหนึ่งในชุดแดงเพลิงเด่นชัด กำลังยืนพูดอยู่บนชายหาด ในทะเลใกล้เธอมีเรือยางลำหนึ่ง มีเด็กชายอายุประมาณ 6-7 ขวบนั่งอยู่ในเรือ ข้างๆเรือมีเด็กสาวอายุสัก 13-14 ปีสองคนยืนอยู่ เข้าใจได้ว่าสตรีในชุดแดงเพลิงเป็นแม่ของเด็กชายในเรือยาง ส่วนเด็กสาว 2 คนนั้นเป็นลูกจ้าง พี่เลี้ยงเด็กชายคนนั้น หลังจากสั่งงานเด็กสาว 2 คนแล้ว ผู้เป็นแม่ในชุดแดงเพลิงก็เดินขึ้นฝั่ง ซึ่งที่นี่เป็นหน้าผาค่อนข้างชันหายไป เราเห็นเด็กสาวสองคนนั้นค่อยๆลากเรือยางออกไปในคลื่น เด็กชายหัวเราะอยู่ในเรือที่โคลงเคลงขณะที่พี่เลี้ยงเกาะขอบเรือเล่นกับเขา เราเห็นเรือลำนั้นค่อยๆลอยออกจากฝั่งไปเรื่อยๆก็รู้สึกแปลกใจและเฝ้าดูอยู่ ทีแรกทั้งสามก็เล่นสนุกกันอยู่ สักครู่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นดูเงียบไปและสีหน้าไม่ค่อยดี ส่วนเรือก็ลอยห่างจากหาดออกไปเรื่อย เด็กสาวสองคนปีนขึ้นไปนั่งอยู่บนเรือด้วยแล้ว หันมาทางฝั่ง หน้าตาท่าทางตกใจ โบกไม้โบกมือและตะโกนเรียกคน แต่ไม่มีใครได้ยินเสียงเพราะเรือยางลำนั้นลอยห่างออกไปในทะเลมากแล้ว จนกลุ่มคนที่เล่นน้ำอยู่ใกล้ชายหาดไม่ได้ยินเสียง

ตั้งแต่เราลงมาเล่นน้ำที่ชายหาดแห่งนี้ เราได้สังเกตเห็นชายหนุ่มรูปร่างล่ำสันแข็งแรงเดินอยู่ที่ชายหาด เราได้เห็นเขาว่ายน้ำออกไปไกลในทะเลด้วยความชำนาญ แล้วว่ายกลับเข้ามาใหม่ เราจึงตัดสินใจตะโกนโหวกเหวกเรียกเขา แล้วชี้ให้เขาดูเรือยางที่ถูกกระแสน้ำพัดออกไปไกลในทะเล เขารีบว่ายน้ำออกไปยังเรือยางนั้น ลากเรือลำนั้นพร้อมเด็กทั้งสามคนบนเรือเข้ามาที่ชายหาดใกล้กับที่เรายืนอยู่เด็กสาว 2 คนที่เป็นพี่เลี้ยงมีสีหน้าดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และเมื่อเข้ามาใกล้เรากล่าวขอบคุณเราอย่างนอบน้อม

ทันใดนั้นสตรีในชุดสีแดงเพลิงก็โผล่มาที่ชายหาด เดินรี่เข้ามาหาเรามีสีหน้าโกรธจัด

"ทำไมคุณไม่ว่ายน้ำออกไปช่วยเองเล่า เอะอะเรียกคนเขาทำไม" เธอถามผม

"ก็ผมแก่ป่านนี้ แล้วก็ป่วยด้วย ถ้าขืนว่ายออกไปก็ตายนะซิ" ผมตอบด้วยความตกใจแถมประหลาดใจ

ผมคิดว่าสตรีชุดสีแดงเพลิงนี้เป็นตัวอย่างแบบสุดโต่งของชนชั้นกลางไทยสมัยใหม่ คือเป็นคนที่คิดถึงตัวเองและผลประโยชน์ของตนเองเป็นที่ตั้ง จนลืมที่จะคิดถึงคนอื่น สังเกตคนจนอื่น ตลอดจนเข้าใจคนอื่น ความขายหน้า ความอายที่ตนละเลยลูกของตนเอง แล้วคนอื่นๆได้เห็นมีความสำคัญกว่าความปลอดภัยของลูกของตนเอง นี่เป็นความแตกต่างที่สำคัญระหว่างชาวบ้านและคนชั้นกลางปัจจุบัน

รัฐบาลประชาธิปัตย์ของ ชวน หลีกภัย ก็เป็นรัฐบาลชนชั้นกลางอย่างสุดโต่งเหมือนกัน ดังจะเห็นได้จากกรณีท่อก๊าซที่สงขลา และการทำประชาพิจารณ์ การที่รัฐบาลดื้อให้ทำประชาพิจารณ์ในเมื่อรู้อยู่แล้วว่า คนไทยจะแตกแยกต่อสู้ประหัตประหารกันเอง เป็นการกระทำเพื่อตนเองและผลประโยชน์ของตนเอง โดยลืมตนไปว่า ในฐานะที่เป็นรัฐบาลปกครองประเทศ หน้าที่ที่สำคัญของเขา ซึ่งมาจากคุณค่าที่สำคัญของสังคมไทย คือการรักษาความสามัคคีในหมู่คนไทยด้วยกัน การรักษาความสัมพันธ์อันดีของกลุ่มคนที่อยู่ในการปกครองของรัฐบาล ดังนั้นรัฐบาลชวนจึงหมดความชอบธรรมที่จะปกครองประเทศด้วยประการฉะนี้

ท่านอาจารย์นิธิเป็นคนชั้นกลางโดยแท้ โดยกำเนิด การศึกษาและความเป็นอยู่ แต่ผมได้พบว่า ท่านมีหัวใจเป็นชาวบ้านอย่างแท้จริง แม้ว่ากริยาท่าทางเป็นที่น่าเกรงขามนักก็ตาม ท่านอาจารย์นิธิเป็นผู้ที่ช่างสังเกตและเข้าใจคนอื่น มีความเอื้ออาทรซึ่งหาที่เปรียบได้ยาก ถ้าผมจะเขียนเล่าเรื่องเกี่ยวกับท่านที่ผมได้สังเกตและประสบมา ก็คงยาวกว่าบทความนี้หลายเท่านักแต่คงต้องขอเอาไว้คราวหน้านะครับ

 

กลับไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

 

 

เรื่องแรกเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความเอื้ออาทร และความช่างสังเกตของชาวบ้าน เมื่อราวๆ 20 ปีมาแล้ว ผมกับเพื่อนๆนักวิจัย 2-3 คน ได้ไปเดินลุยป่าวังกำแพง จังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อสัมภาษณ์ชาวบ้านในงานของสำนักงานปฏิรูปที่ดิน ผมพอจำได้ว่าขณะนั้นเป็นเดือนเมษายน อากาศร้อนสุดร้อน และที่เรียกป่าวังกำแพงซึ่งทำให้คนคิดถึงต้นไม้สูงใหญ่ทึบเต็มไปด้วยความชุ่มชื้นนั้น หาเป็นเช่นนั้นไม่ ป่าวังกำแพงที่ผมกับเพื่อนเดินอยู่นั้นมันคือทะเลทรายเราดีๆนี่เอง มีต้นไม้ 2-3 ต้นยืนตายและไร้ใบ ตอไม้บางตอมีควันกรุ่น นอกนั้นก็เป็นทุ่งหญ้าใบยาวๆแต่ขาวโพลนไปหมดเพราะแดดเผา

เราเดินไปสัมภาษณ์ชาวบ้านตามกระต๊อบเล็กๆที่สุดร้อน เพราะหลังคาเป็นสังกะสี ผนังก็เป็นสังกะสี ไอแดดลงมาร้อนหน้าของพวกเราที่นั่งอยู่ที่นอกชานเล็กๆหน้าเรือน ผมเป็นคนอาวุโสที่สุดในกลุ่มพวกเรา และตอนนั้นก็เป็นโรคความดันโลหิตสูงแล้ว เมื่อเราคุยซักถามกันไปสักพักหนึ่ง ชายหนุ่มเจ้าของกระต๊อบก็ขอตัวเดินเข้าห้องไป ประเดี๋ยวเขากลับออกมา มือถือหมอนใบหนึ่งตรงเข้ามาที่ผม พร้อมกับกล่าวว่า

"อาจารย์ครับ นอนเสียเถอะครับ อาจารย์ไม่สบายแล้ว"

ตอนนั้นผมรู้สึกร้อนผ่าวไปหมด เวียนหัวหน้ามืด ก็เอนตัวลงนอนพักตามคำสั่งของชายหนุ่มเจ้าของบ้าน เพื่อนผมที่ไปด้วยยังไม่ได้สังเกตุเห็นว่าผมรู้สึกไม่สบายเลย

 

H
home
20/09/44
เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือ พิเคราะห์"นิธ"ปราชญ์เจ็กๆ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน บริการการศึกษาทางไกลผ่านระบบเครือข่ายฟรี เพื่อนักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน / เดือนกันยายน 2544

เดิมทีเมื่อถูกชวนให้เขียนบทความ ลงในหนังสือที่ระลึกครบรอบ 60 ปีของท่านอาจารย์นิธิ ผมคิดว่าจะเขียนบทความ ทางวิชาการสักเรื่องหนึ่ง แต่เมื่อเวลามันเนิ่นนานมา จนถูกเร่งก็เลยมาลงเอย เขียนเรื่องแปลกๆที่ไม่แปลกนี้ คือเป็นประสบการณ์ที่เกิดกับผม หรือที่ผมเห็นมาในช่วง 30-40 ปีที่ทำงานสนามในวิชามานุษยวิทยา ตามที่ต่างๆในประเทศไทย ซึ่งทำให้ผมแปลกใจ งง และอยากทดลองสรุปเอาง่ายๆ ถูกผิดไม่ทราบ แต่คิดว่าเรื่องเหล่านี้ บอกอะไรเราบางอย่างเกี่ยวกับคนไทย และสังคมไทย

ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์

บทความชิ้นนี้ยาวประมาณ 10
หน้ากระดาษ A4
CP
MP
WB
contents
member
webborad
ภาพประกอบดัดแปลง ผลงานของ Katsura Funakoshi Katsura ชื่อภาพ Distant Rain : 1995 (ภาพ figure)ผสมกับภาพของ Sean Scully ชื่อภาพ Why and What (Yellow) : 1988
ผมเองเห็นว่าเรื่องนี้กับเรื่องที่แล้วเหมือนกันมาก คือเมื่อคนจนตรอกไม่รู้วิธีการที่จะแก้ไขปัญหาของตน(ที่ยกกระบัตรคือปัญหาหนู ที่กรุงเทพฯในกรณีนี้คือโรคมะเร็ง) ก็ย่อมหันไปพึ่งพาสิ่งนอกเหนือธรรมชาติ เช่น ผี ปีศาจ เทพยดา หรือพระ ทั้งนี้ไม่ว่าชาวบ้านหรือชนชั้นกลางย่อมเหมือนกันหมด แต่ทำไมผู้ฟังจึงหัวเราะเรื่องที่หนึ่ง แต่ไม่หัวเราะเรื่องที่สอง

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ


Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

สนใจสมัครเป็นสมาชิก
กรุณาคลิกที่ปุ่ม member page
ส่วนผู้ที่ต้องการดูหัวข้อบทความ
ทั้งหมด ที่มีบริการอยู่ขณะนี้
กรุณาคลิกที่ปุ่ม contents page
และผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น
หรือประกาศข่าว
กรุณาคลิกที่ปุ่ม webboard

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
(midnightuniv(at)yahoo.com)


แปลกๆ ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์