ผลงานจิตรกรรมสีน้ำมันบนผ้าใบ : ชื่อภาพ "แล้วเราก็แลกกัน" : ศิลปิน ปริทรรศ หูตางกูร

Ymem.JPG (38737 bytes)

นักศึกษา ผู้สนใจทุกท่าน สนใจเป็นสมาชิกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ขอเชิญสมัครได้ทุกเวลา www.geocities.com/midnightuniv/newpage6.htm

 

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้เปิด web site ใหม่ขึ้นมา เนื่องมาจากมีความจำเป็นต้องใช้พื้นที่เพื่อให้การศึกษาเพิ่มมากขึ้น สำหรับพื้นที่ใหม่นี้ จะเน้นในเรื่องของบทความในสาขาวิชาต่างๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมในวงกว้าง และเพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างผู้คนในสังคม

Bcapital1.jpg (18553 bytes)

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยทีมงาน"ทีทรรศน์ท้องถิ่น"ร่วมกับ"โทรทัศน์ช่อง 11"จ.ลำปาง ภูมิใจเสนอรายการการสนทนาเรื่อง"ทุนบ้านนอก" ซึ่งได้มีการถอดเทปเป็นข้อความออกมาเป็นรูปตัวหนังสือ เพื่อขยายสื่อดังกล่าวสู่เครือข่ายในระบบ internet เพื่อให้ผู้ที่พลาดชมและสนใจในหัวข้อดังกล่าวได้มีโอกาสอ่านกันอย่างกว้างขวาง เพื่อสร้างความเข้าใจและเรียนรู้เรื่อง"ทุน"ของสังคมไทยในมิติต่างๆอย่างกว้างขวาง (เนื้อหา click here)

Bpakmoon1.jpg (15246 bytes)

เพราะทุกวันนี้เขื่อนปากมูลได้ดึงดูดพลังชีวิตของสายน้ำที่ชื่อแม่มูลไปแปรเปลี่ยนเป็นกระแสไฟฟ้าเสียแล้ว เมื่อสายน้ำไม่ไหลก็เท่ากับว่าสายน้ำตาย เมื่อสายน้ำตายปลาที่อยู่ในน้ำก็ตาย เมื่อปลาตายชีวิตผู้คนสองฝั่งน้ำจะอยู่ได้อย่างไร

นักวิจัย'ปลา'หมายเลข 1 เปิดข้อมูลเด็ด บันไดปลาโจน-เขื่อนปากมูล

หากแม้นปลาพูดได้ อธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นได้ คงไม่ต้องถกเถียงกันให้ยุ่งยาก ว่า 'เขื่อนปากมูล' สิ่งก่อสร้างมหึมาที่กั้นแม่น้ำมูล ส่งผลกระทบต่อวงจรชีวิตของปลาและสัตว์น้ำชนิดอื่นหรือไม่อย่างไร

คงไม่ต้องถกเถียงกัน ว่า 'บันไดปลาโจน' ที่อุบัติขึ้นเพื่อลดแรงเสียดทานจากชาวบ้านผู้เดือดร้อนขณะนั้น ปลามีปัญญาโจนขึ้นไปวางไข่เหนือเขื่อนได้หรือไม่ อย่างไร และคงไม่ต้องถกเถียงกันอีกหลายเรื่องหลายปัญหาที่เกิดจากเขื่อนนี้ เมื่อครั้งสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ เปลี่ยนโฉมคลับบนชั้นเพนต์เฮาส์ของตึกระฟ้ากลางกรุง เป็นสถานที่พูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลกรณีปัญหาเขื่อนปากมูล ซึ่งถือว่าเป็นกรณีปัญหาที่ทำให้เก้าอี้รัฐบาลร้อนรุ่มอยู่ในขณะนี้ หนึ่งในผู้รู้จริงที่มาร่วมพูดคุยคือ ดร.ไทสัน อาร์. โรเบิร์ตส นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุ์ปลา จากสถาบันวิจัยเขตร้อน สมิธโซเนียน สหรัฐอเมริกา

ดร.ไทสัน อาร์. โรเบิร์ตส ผู้ศึกษาวิจัยพันธุ์ปลาในลุ่มแม่น้ำโขง ก่อนที่จะมีการสร้างเขื่อนปากมูล จนได้ชื่อเป็นนักวิจัยอันดับหนึ่งของโลก ที่รู้เรื่องปลาน้ำจืดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้น ดร.จากสถาบันวิจัยเขตร้อน สมิธโซเนียน จึงพูดถึงปลาได้อย่างเข้าอกเข้าใจ และอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ หลังจากแลกเปลี่ยนข้อมูลบนเวที ดร.ไทสัน ลงมาแลกเปลี่ยนนอกรอบอีกครั้ง เริ่มต้นที่หลังจากสร้างเขื่อนปากมูลปลาในแม่น้ำโขงจะสามารถอพยพขึ้นไปวางไข่ที่แม่น้ำมูล แม่น้ำชีได้เหมือนเดิมหรือไม่

ดร.ไทสัน กล่าวว่า ภาพรวมของปลาในแถบประเทศเขตร้อน ส่วนใหญ่จะเป็นปลาอพยพ และการอพยพของปลาส่วนมากจะอพยพจากท้ายน้ำขึ้นไปเหนือน้ำ กรณีแม่น้ำมูลนั้นปลาจากแม่น้ำโขงจะอพยพไปวางไข่ในแม่น้ำมูล ปลาบางชนิดเมื่อฝนตกใหม่ๆ ก็จะเริ่มพฤติกรรมการอพยพเพื่อขึ้นไปวางไข่ บางชนิดต้องรอให้ระดับน้ำสูงจนได้ระดับจึงจะเริ่มอพยพ และวิธีการวางไข่ของปลาก็จะแตกต่างกันออกไป บางชนิดจะวางไข่ครั้งเดียวหลายล้านฟอง แต่บางชนิดจะวางไข่หลายครั้ง หลายพื้นที่ บางชนิดจะวางไข่ในแม่น้ำสายเดิมตลอด ไม่เปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้นระยะเวลาของการวางไข่ของปลาจะยาวนานแค่ไหนจึงเป็นเรื่องที่ไม่สามารถพูดได้ชัด

ดร.ไทสัน ชี้ให้เห็นอีกว่า การอพยพของปลานั้นนอกจากเพื่อการวางไข่แล้ว ยังมีการอพยพเพื่อย้ายพื้นที่หากินด้วย ฉะนั้นพฤติกรรมการอพยพจึงไม่ได้อยู่ในช่วงเวลาของฤดูฝนเท่านั้น แต่จะเกิดขึ้นในหลายๆ ช่วงเวลาในรอบปี อย่างไรก็ตาม ในแต่ละปีพฤติกรรมการอพยพของปลาก็จะแตกต่างกันออกไป บางปีน้ำมาก น้ำน้อย ฝนตกช้า เร็ว เหล่านี้มีผลต่อพฤติกรรมของปลา เราจึงไม่สามารถบอกได้ว่าช่วงเดือนใดปลาจะอพยพขึ้นไปวางไข่ นอกจากนี้หากปีใดฝนตกน้อย ปริมาณน้ำไม่มากพอ ปลาบางชนิดที่มีขนาดใหญ่ก็ไม่สามารถขึ้นไปวางไข่ได้ ต้องรอปีต่อไป ว่าปัจจัยต่างๆ จะเอื้อต่อการวางไข่หรือไม่

ดร.ไทสัน เปรียบเทียบการอพยพของปลาว่า เหมือนการทำนาของชาวนา หากปีใดฝนตกหนักน้ำท่วม น้ำก็จะพัดพาซากพืชซากสัตว์มาทับถมในที่นา ปีต่อไปข้าวก็จะงามเพราะได้ปุ๋ยดี ปลาก็เช่นกันปีใดปริมาณน้ำมาก ปลาก็จะมีพื้นที่การวางไข่มากขึ้นและมีอาหารมากขึ้น ไม่ใช่นักวิจัยระดับโลกอย่าง ดร.ไทสัน ก็สำนึกได้ คิดได้ว่า เมื่อมีเขื่อนขวางกั้นลำน้ำเต็มๆ อย่างเขื่อนปากมูล พฤติกรรมการอพยพเคลื่อนย้ายของปลา ไม่ว่าจะเพื่อวางไข่หรือเพื่อย้ายถิ่นที่หากินก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ในอดีตข้อมูลเรื่องปลาในแม่น้ำมูลมีน้อยมาก เพราะไม่มีนักวิจัยเข้ามาศึกษา ถึงแม้ว่าจะมีนักวิจัยอยากศึกษาแต่ก็ไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่ได้ เนื่องจากการเดินทางในอดีตเป็นเรื่องที่ลำบากมาก เข้าพื้นที่แต่ละครั้งต้องใช้รถยนต์ขับเคลื่อนสี่ล้อ ดังนั้นผู้ที่รู้เรื่องปลาในสายน้ำแห่งนี้ดีที่สุดคือ 'ชาวประมง' ผู้มีวิถีชีวิตผูกพันกับสายน้ำ

ดร.ไทสัน เล่าว่า เมื่อประมาณ30ปีที่แล้ว ได้มีโอกาสพบเห็นปลาชนิดหนึ่ง ซึ่งมีขนาดใหญ่มากที่ประเทศลาว ปลาชนิดนี้ไม่มีข้อมูลบันทึกไว้เลยว่าเป็นอย่างไร ต่อมาได้พบเห็นปลาชนิดเดียวกันแต่ขนาดเล็กที่ตลาดปลาอำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี แต่หลังจากนั้นไม่พบอีกเลย สิ่งที่คิดถึงคือชาวประมงที่หากินกับสายน้ำ เพราะชาวประมงหาปลาทุกวัน จึงมีโอกาสที่จะพบเห็นปลามากที่สุด ดังนั้นจึงคิดว่าหากชาวประมงต้องสูญเสียอาชีพไป โอกาสที่องค์ความรู้เหล่านี้จะสูญหายไปก็มีเพิ่มขึ้น เพราะความจำของคนคลาดเคลื่อนไปตามกาลเวลา

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า นอกจากการอพยพเพื่อวางไข่แล้ว ปลาในแถบนี้จะอพยพเพื่อหาอาหารด้วย ซึ่งการหาอาหารของปลาจะเกิดขึ้นตลอดปี การเสนอ 'บันไดปลาโจน' เพื่อแก้ไขปัญหาการอพยพของปลาของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จึงเป็นเพียงการประชาสัมพันธ์เพื่อให้เขื่อนสามารถสร้างต่อไปได้เท่านั้น โดยการสร้างบันไดปลาโจนไม่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ ปลาที่ขึ้นได้ก็มีเพียงบางชนิดเท่านั้น และไม่มีใครยืนยันได้ว่าเมื่อปลาดิ้นรนจนผ่านบันไดปลาไปได้จะมีชีวิตอยู่รอดต่อไป นอกจากนี้บันไดปลาโจนที่สร้างขึ้นนั้นมีเพียงขาขึ้นเท่านั้น ในขณะที่วงจรชีวิตของปลา มีทั้งอพยพขึ้นและอพยพลง กรมประมงรู้ดีว่าบันไดปลาโจนไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ แต่ไม่มีใครพูด ซึ่งความจริงแล้ว กรมประมงควรจะออกมาพูดในเรื่องนี้บ้าง

ดร.ไทสัน ได้กล่าวถึงแนวทางแก้ไขปัญหาและข้อเสนอของประชาชนในพื้นที่ ในเรื่องการเปิดประตูระบายน้ำในช่วงฤดูฝน ว่า เป็นการแก้ไขปัญหาในระยะสั้นเท่านั้น ไม่ได้แก้ไขปัญหาถาวร เพราะวงจรชีวิตของปลาในแถบนี้จะเดินทางไปมาระหว่างแม่น้ำโขงกับแม่น้ำมูล โดยการเดินทางของปลาไม่ใช่เพียงการเข้ามาวางไข่ หากว่าหมายถึงการเข้ามาหาอาหารเพื่อให้เกิดการขยายพันธุ์ด้วย ซึ่งประเด็นนี้ไม่ขึ้นอยู่กับฤดูกาล เพราะฉะนั้นทางแก้ไขปัญหาในระยะยาวคือ การหยุดการทำงานของเขื่อน และหรือควรรื้อเขื่อนทิ้งเสีย จากนั้นต้องเร่งฟื้นฟูลำน้ำให้กลับสู่สภาพเดิม

ประเทศไทยภายในพุทธศักราชนี้จะต้องมีการศึกษาในเรื่องการรื้อทิ้งของเขื่อนที่กั้นลำน้ำ เพื่อฟื้นฟูแม่น้ำและพันธุ์ปลากลับมา โดยเริ่มที่เขื่อนปากมูลก่อนด้วยเหตุผล ความจำเป็นของชาวประมงที่อาศัยสองริมแม่น้ำมูล เพื่อการทำมาหากิน และหลังจากนั้นควรจะต้องศึกษาเขื่อนอื่นๆ เพื่อดำเนินการรื้อทิ้ง ไม่อย่างนั้นทรัพยากรในเรื่องปลาอาจจะหมดไป "ทางแก้ไขปัญหาคือการรื้อเขื่อนทิ้ง หรือหยุดการทำงานของเขื่อน เพื่อให้ลำน้ำฟื้นฟูลำน้ำเดิม และการรื้อเขื่อนทิ้งควรจะต้องเริ่มมีการวางแผนตั้งแต่วันนี้ ทั้งในเรื่องค่าใช้จ่าย งบประมาณในการดำเนินการโดยไม่ควรจะให้ กฟผ.ดำเนินการ" "ควรเป็นกรรมการหรือองค์กรอิสระในการดำเนินการเรื่องดังกล่าว

ผมคิดว่าถึงเวลาที่จะต้องเปลี่ยนวิธีการพัฒนาที่ทำลายทรัพยากรแล้ว เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยเดินตามถนนสายการพัฒนาอย่างไม่ยั่งยืน เป็นถนนการพัฒนาที่มุ่งหน้าสู่เหว" ผู้เชี่ยวชาญจากสหรัฐให้ความเห็น เป็นความเห็นจากการศึกษา วิจัย ที่สั่งสมมาอย่างยาวนานตามวิธีการมาตรฐานของโลก น่าที่บุคคล องค์กรหน่วยงานที่รับผิดชอบนำไปพิจารณาหาทางออกสำหรับทุกชีวิตที่ต้องพึ่งพาแม่น้ำมูล เพราะทุกวันนี้เขื่อนปากมูลได้ดึงดูดพลังชีวิตของสายน้ำที่ชื่อแม่มูลไป แปรเปลี่ยนเป็นกระแสไฟฟ้าเสียแล้ว เมื่อสายน้ำไม่ไหลก็เท่ากับว่าสายน้ำตาย เมื่อสายน้ำตายปลาที่อยู่ในน้ำก็ตาย เมื่อปลาตายชีวิตผู้คนสองฝั่งน้ำจะอยู่ได้อย่างไร

เรื่อง - พิเชษฐ์ บุตรปาละ (11 มิถุนายน 2543)

Bmidcube1.jpg (10851 bytes)

 

อยู่ในระหว่างการออกแบบและการเตรียมเนื้อหา

Bpsycho1.jpg (12714 bytes)

Bmidcube.jpg (10992 bytes)