Zartmovie.jpg (38941 bytes)

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ร่วมกับ กระบวนวิชาศิลปวิจารณ์ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภูมิใจเสนอ บทวิจารณ์เกี่ยวกับศิลปะและภาพยนตร์ เพื่อสร้างให้เกิดความเข้าใจและความซาบซึ้งในศิลปะและแง่มุมภาพยนตร์

สำหรับนักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่านที่อยู่ จ.เชียงใหม่ / ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2543 เป็นต้นไป จะมีฉายภาพยนตร์ที่ห้อง 1307 คณะวิจิตรศิลป์ มช. ทุกวันพฤหัสของสัปดาห์ เวลา 17.30 - 20.30 น. (กิจกรรมนี้จะมีการวิจารณ์ภาพยนตร์ประกอบ)

ZmovieR.jpg (12245 bytes)

สำหรับ ภาพยนตร์ที่ใคร่จะแนะนำให้ชมเรื่องแรก สำหรับช่วงนก็คือ  The Nephew หรือในชื่อภาษาไทย ว่า "อยากจะขอทวงฝันให้กลับมา" ซึ่งเป็นภาพยนตร์แนว drama ความยาว 90 นาที.

เนื้อหาภาพยนตร์เกี่ยวข้องกับชายที่เก็บตัวและทำงานหนักในหมู่บ้านเล็กๆแห่งหนึ่งบนเกาะไอร์แลนด์ ได้ทราบข่าวการใกล้จะเสียชีวิตของน้องสาวตน และได้ฝากฝังลูกชายคนเดียวที่มีอยู่ มาให้ดูแล แต่เรื่อง ต้องพลิกผันเมื่อลูกชายของน้องสาว มีเชื้อสายแอฟริกันไอริช อย่างไรก็ตาม ปัญหาใหญ่มิใช่เรื่องผิวสี แต่กลับเป็นอดีตของบุคคลหลายคนในหมู่บ้านเล็กๆบนเกาะแห่งนี้ ที่ทำให้เรามองเห็นธรรมชาติของ ความเป็นมนุษย์ ความรัก และความดื้อรั้น

ภาพยนตร์เรื่องนี้ เป็นหนังฟอร์มเล็ก ที่ไม่ได้สร้างจากค่ายฮอลีวูด ทำให้เราได้เห็นถึงมิติต่างๆที่ ผิดแผกไปจากหนังฟอร์มใหญ่ซึ่งผูกขาดโดยอเมริกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อามรมณ์ความรู้สึกที่ภาพ ยนตร์ได้เร้าให้เราปลดปล่อยออกมาอย่างเต็มตื้น อันเป็นความรู้สึกของความเข้าใจในจิตวิญญานของ ความเป็นมนุษย์ ซึ่งมีความรักเป็นองค์ประกอบอันสำคัญ.  

zcri.jpg (3623 bytes)

Zpic1.jpg (26576 bytes)

ชื่อภาพ : capas (เตียงสองชั้น) [เรือนพักคนงาน]. ชื่อศิลปิน Demetrio Diego (ฟิลิปปินส์) / ผลงานจิตรกรรมชิ้นนี้ สร้างขึ้นในปี 1948 (2491) /เทคนิค สีน้ำมันบนผ้าใบ /  ผลงานสะสมของ พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ กรุงมานิลา ประเทศฟิลิปปินส์.

คำว่า capas ที่เป็นชื่อภาพของผลงานจิตรกรรมชิ้นนี้ มาจากภาษาสเปนคำว่า capa ซึ่งหมายถึง เตียงสองชั้น หรือเสื้อคลุมมืดๆก็ได้ ในที่นี้ต้องการหมายถึงเรือนพักคนงานนั่นเอง องค์ประกอบของภาพ เป็นรูปของคนงานหลายคนที่อาศัยอยู่ในโรงเรือน ที่มีสภาพไม่แตกต่างอะไรไปจากโรงเรือนของ แรงงานไทย

ศิลปิน Demetrio Diego นี้ ได้เขียนภาพนี้ขึ้นมาในราวปลายทศวรรษที่ 40 ซึ่งร่วมสมัยเดียวกันกับศิลปินไทยหลายคน อย่างเช่น อ.เขียน ยิ้มศิริ, คุณชิต เหรียญประชา, และ มีเซียม ยิปอินซอย

ข้อหน้าสังเกตุในที่นี้ของภาพก็คือผลงานจิตรกรรมชิ้นนี้ได้เขียนขึ้นมาแบบเหมือนจริงในลัทธิ realism ซึ่งศิลปินเอเชียร่วมสมัยในยุคเดียวกันนั้น มักได้รับอิทธิพลมาจากตะวันตกเช่นเดียวกัน ศิลปิน มีความเชี่ยวชาญและความสามารถในเรื่องของกายวิภาคคล้ายกัน และชอบใช้เทคนิคสีน้ำมันบนพื้นผ้าใบที่เตรียมพื้นขึ้นมาเอง ซึ่งไม่ค่อยจะสมบูรณ์นัก และนี่คือสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ภาพเขียนสีน้ำมันของเอเชียอาคเนย์หลายๆชิ้นในยุคนี้ ดูเก่าเร็วและสีแตกหลุดล่วงไปมาก เมื่อเปรียบเทียบกับผลงานจิตรกรรมสีน้ำมันของตะวันตกในยุคเดียวกันและก่อนหน้านั้น

ในแง่ของ drawing หรือการวาดเส้นของภาพนั้น จะเห็นได้ว่า ศิลปินมีความแม่นยำและพื้นฐานที่ดี นอกจากนี้ยังเข้าใจหลักของทัศนียวิทยาด้วย ดังจะเห็นได้จากแง่มุมของเตียงไม่ไผ่ ที่พุ่งจากด้านซ้ายมายังด้านขวา แต่น่าเสียดายที่สีภาพแตกเป็นสะเก็ตไปมาก จนทำให้สีสรรของภาพไม่ชัดเจน ทั้งนี้เกิดจากสาเหตุการเตียมพื้นที่ไม่สมบูรณ์ดังที่กล่าวข้างต้นแล้ว อีกปัญหาหนึ่งของศิลปินสมัยนั้นซึ่งไม่ใคร่จะเข้าใจก็คือ ส่วนผสมของเนื้อสีน้ำมันนั่นเอง ซึ่งข้อด้อยเหล่านี้ได้มาลดทอนคุณภาพที่สมบูรณ์ แบบของงานจิตรกรรมลงไป

สำหรับเรื่องของส่วนผสมของสีน้ำมันนั้น บางชนิดทำมาจากแร่ธาตุโลหะ บางชนิดเป็นพวกสารเคมี หรือบางชนิดมาจากส่วนผสมของดินสี มาผสมกับขี้ผึ้ง และน้ำมันลินสีด ด้วยส่วนผสมของเนื้อสีที่ต่างๆกันนี้ เป็นผลทำให้เวลา ของการแห้งตัวของสีต่างชนิดจึงไม่เท่ากัน เมื่อนำมาผสมหรือเขียนทับกัน จึงเกิดการรัดตัวของสีหลายชั้นที่ไม่สม่ำเสมอ ดังนั้นจึงทำให้เกิดความเครียดและในที่สุดมันก็จะแตกร้าวและหลุดล่วงไป

แต่อย่างไรก็ตาม เราก็ยังสามารถเห็นถึงโครงสีส่วนใหญ่ที่เป็นสีน้ำตาลของภาพ อันสื่อแสดงถึงอารมณ์ของภาพอย่างมีความหมายได้ ซึ่งเข้ากับเรื่องราวในรูปที่เป็นโรงเรือนที่ทำขึ้นมาจากไม้ไผ่ และ โครงสีนี้ มันได้ปั้นอารมณ์ของผู้ดูให้รู้สึกซึมๆ เหงาๆไปตามภาพ์ที่เห็น ด้วยสีที่หนักหน่วง ซึมเศร้า เค้าบรรยากาศที่บ่งแสดงออกมาด้วยสีหน้าและท่าทางอย่างคนสิ้นหวัง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาพของชายหนุ่มทางซ้ายมือนั้น กำลังนั่งเหม่อมองไปข้างหน้า แม้จะไม่ได้เห็นแววตาก็ตาม แต่ศิลปินสามารถที่จะเก็บเอาประกายหม่นแห่งความรู้สึก มาบอกให้ผู้ดูได้รู้ถึงห้วงอารมณ์ภายในใจของการคิดคำนึง หรืออาจจะเป็นความสิ้นหวังออกมาได้ ทำให้นึกถึงสภาพของแรงงานไทย ที่ต้องไปอยู่ต่างแดน ซึ่ง ต้องทนทุกข์อยู่ในสภาพแออัดเช่นเดียวกันนี้ และไม่มีคุณภาพความสุขหลงเหลือให้พบเห็นเลย คิดแล้วก็น่าเศร้าที่ภาพเช่นนี้ยังคงพบเห็นได้ตามสื่อต่างๆ แม้จะล่วงถึง พ.ศ.นี้ แล้วก็ตาม ก็ยังคงไม่ต่างอะไรกับแรงงานฟิลิปปินส์ในภาพเมื่อ 50 ปีก่อน

คำถามตอนนี้ก็คือว่า ภาพเช่นนี้ ทำไมเรายังคงพบเห็นกันอยู่, ภาพเช่นนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร และภาพเช่นนี้จะหมดไปจากสังคมได้ไหม ?

ในที่นี้คงจะไม่ตอบคำถามข้างต้นนี้ แต่ใคร่จะกล่าวว่า ภาพเขียนในโลกทั้งในโลกตะวันตกและตะวันออก ไม่ใช่มีหน้าที่เหมือนกับเตียงนุ่มๆหรือเก้าอี้นวมมาแต่อดีต ผลงานศิลปะตั้งแต่กำเนิด ได้ทำหน้าที่ของตนในฐานะที่เป็นสาวใช้ของคนอื่นๆ นับตั้งแต่ ศาสนาในยุคดึกดำบรรพ์เป็นต้นมา จนถึงเรื่องราวปกรณัมและจินตนาการของผู้คนทั้งหลาย เราเพิ่งจะ รู้สึกและเข้าใจว่าศิลปะเป็นเรื่องสวยๆแบบผู้หญิง(women's aesthetic)เมื่อไม่นานมานี้นี่เอง และดูเหมือนมันจะพัฒนามาพร้อมกันกับยุคอุตสาหกรรมแบบทุนนิยม ซึ่งเน้นในเรื่องของ การผลิต และการบริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริโภคความสุขแบบตัวใครตัวมัน จนทำให้เราคิดกันไปว่า ศิลปะมีหน้าที่เป็นหมอนนุ่มๆ ที่เอาไว้สำหรับผ่อนคลายต้นคอของคนเราเท่านั้น

ผลงานชิ้นนี้จึงอาจผิดหูผิดตาไปจากความคุ้นชินเก่าๆ ที่ต้องเป็นเรื่องสวยๆงามๆ เป็นเรื่องของการผ่อนคลายอารมณ์ที่ขึ้งเครียดมาตลอดทั้งวัน ผลงานศิลปะเหล่านั้นก็ดีอยู่ แต่มันไม่ใช่ศิลปะประเภทเดียว ที่จะมาครอบงำมิติทางความคิดและอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนไปทั่วทั้งหมด จนไม่มีศิลปะประเภทอื่นอีกเลย หากเป็นเช่นนั้นแล้ว เราก็จะอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยกระดาษห่อของขวัญที่ล้อมรอบตัวเราไปหมด

โลกของเราใบนี้ มันจะน่าเบื่อสักเพียงใด และมันจะสากมากแค่ไหน ถ้าเราไม่มีงานศิลปะที่เป็น เหมือนกันกับกระดาษทราย ซึ่งมีไว้ขัดถูกสังคมให้เลียบลื่น โลกของเราใบนี้มันจะเอียนไปกว่านี้แค่ไหน ถ้าศิลปะมันเพียงทำหน้าที่เหมือนกับขนมหวานสีสวยๆ และเราไม่มีศิลปะที่เป็นเหมือนยาขมสีดำๆเอาไว้รักษาสุขภาพของสังคมและโลกของเรา หรือโลกที่เราอยู่มันก็ดีอยู่แล้ว ขยะต่างๆที่มีอยู่เอามันไปกระจายไว้ใต้พรมนุ่มๆสีสวยๆ แล้วเราก็นอนลงไปบนพรมเนื้อนุ่มลวยลายงามนั้น มันสบายดีออกที่มีขยะหนุนหลังให้เรารู้สึกนุ่มสบายยิ่งขึ้น

17 พค. 43 / D: folder/picasso

 

[FrontPage Save Results Component]

  Back to Midnight's Home  E-mail : midnightuniv(at)yahoo.com