ผลงานจิตรกรรมสีน้ำมันบนผ้าใบ : ชื่อภาพ "แล้วเราก็แลกกัน" : ศิลปิน ปริทรรศ หูตางกูร

Ymem.JPG (38737 bytes)

นักศึกษา ผู้สนใจทุกท่าน สนใจเป็นสมาชิกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ขอเชิญสมัครได้ทุกเวลา www.geocities.com/midnightuniv/newpage6.htm

 

 

Bmember.gif (11201 bytes)

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ได้เปิดหน้าให้กับสมาชิกซึ่งได้ส่งบทความ สาระความรู้ และข้อคิดเห็นมาให้กับ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เพื่อเผยแพร่สู่สาธารณชน (สนใจโปรดคลิกเข้าไปอ่านได้ที่นี่)

E-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

Bpolitic.gif (4332 bytes)

พัฒนา กิติอาษา

ผมตกใจมาก สำหรับปฏิกิริยาของนักการเมือง และบุคคลสำคัญทั้งในระดับชาต ิและระดับท้องถิ่นที่นครศรีธรรมราชซึ่งมีต่องานวิจัยเรื่อง "หัวเชือกวัวชน"ของอาจารย์อาคม เดชทองคำ (มติชนรายวัน. 7, 8, 9 สิงหาคม 2543) อะไรกันครับ… การวิเคราะห์ความหมายของวัวชน โดยการเชื่อมโยงกับบุคลิกภาพและวัฒนธรรมของคนใต้โดยนักวิชาการในสถาบันการศึกษาในภาคใต้…จะเล่นกันถึงขั้น "โดนทุบตาย" เชียวหรือครับ

ผมไม่รู้ว่า รายงานฉบับสมบูรณ์ ของอาจารย์อาคมนำเสนอข้อวิเคราะห์ไว้ว่าอย่างไร

แต่ที่แน่ๆ ก็คือ พอ "มติชนรายวัน" (6 สิงหาคม 2543) พาดหัวข้อข่าวหน้าหนึ่งบอกว่า "เปิดผลวิจัยบาดใจ ปชป. รัฐบาลวัวชน นักการเมืองใต้แพ้ไม่เป็น" เท่านั้นแหละครับ เหมือนกับการราดน้ำมันบนเปลวเพลิง ผลปรากฏว่าอาจารย์อาคมรวมทั้งสถาบันต้นสังกัด และแหล่งทุนวิจัย โดนอัดซะเละเลยท่านรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ อธิการบดีสถาบันต้นสังกัด ประธานหอการค้าจังหวัด และใครต่อใครต่างก็ออกโรงกันเป็นผู้เชี่ยวชาญ และผู้พิพากษาเกี่ยวกับ "วัวชน" ขนานใหญ่เลยครับ กรณีอื้อฉาวที่เกิดขึ้นกับงานวิจัยของอาจารย์อาคมนี้ ไม่ใช่กรณีแรกและคงจะไม่ใช่ กรณีสุดท้ายหรอกครับ

ย้อนกลับเมื่อปลายเดือนมีนาคม 2539 อาจารย์สายพิน แก้วงามประเสริฐ แทบจะเอาชีวิตไม่รอด ต้องเผ่นหนีออกจากพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาแทบไม่ทัน เพราะว่า"คนโคราช" นำโดยนักการเมืองท้องถิ่นกลุ่มหนึ่ง ไปอ่านหนังสือที่ตีพิมพ์จากวิทยานิพนธ์ปริญญาโทของท่านเรื่อง "การเมืองในอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี"แล้วหาว่าอาจารย์สายพินลบหลู่ย่าโม เพราะตั้งคำถาม และนำเสนอข้อวิเคราะห์เกี่ยวกับการปรากฏตัว และการสร้างภาพลักษณ์เกี่ยวกับวีรสตรีท่านนี้ สำนักพิมพ์มติชนและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นผู้ตีพิมพ์และสถาบันการศึกษาที   ่ประสาทปริญญาก็พลอยโดนหางเลขไปด้วยในเวลาไล่เลี่ยกันนั้นเอง

อาจารย์ผาสุก พงษ์ไพจิตร อาจารย์สังศิต พิริยะรังสรรค์และคณะ ก็ถูกคุกคาม และขู่ว่าจะฟ้องร้องจากนายตำรวจกลุ่มหนึ่ง และพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง ที่มีอำนาจในขณะนั้น สาเหตุเนื่องมาจากว่าอาจารย์ผาสุกและคณะ ทำวิจัยเรื่องคอรัปชั่นและธุรกิจนอกกฏหมาย รวมทั้งเปิดเผยว่าใครเป็นใคร ใครเส้นสายโยงอยู่เบื้องหลัง และเม็ดเงินนอกระบบนั้นมีปริมาณมหาศาลเท่าใด เกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทยหรือครับ ผมว่าต้องมีอะไรผิดปกติสักอย่างในการบริโภคงานวิจัยของสังคมไทย โดยเฉพาะนักการเม ืองและข้าราชการที่ตกเป็นเป้าหมาย หรือฝ่ายเสียประโยชน์จากการนำเสนอผลการวิจัย ทั้งสามกรณีที่กล่าวมานี้

ความอื้อฉาวไม่ได้เกิดขึ้นในกระบวนการวิจัยและไม่ได้เกิดขึ้นในแวดวงวิชาการเลย แต่ความอื้อฉาวเกิดขึ้นเพราะว่า มีการเผยแพร่ผลงานวิจัย ผ่านสื่อมวลชนหรือสิ่งตีพิมพ์ในวงกว้าง แล้วมีนักการเมือง ข้าราชการ หรือผู้มีอำนาจทั้งในระดับชาติและในระดับท้องถิ่น ออกมาตอบโต้อย่างรุนแรง

อย่างไรก็ตาม ทั้งสามกรณีก็เหมือนกันอย่างมากในแง่ที่ว่า นักวิจัยนำเสนอประเด็นการวิเคราะห์ในลักษณะที่เปิดเผย และแฉความเป็นจริง ที่ถูกอำนาจและกลไกอะไรบางอย่างปกปิดไว้ในสภาพที่คลุมเครือ ทำความจริงที่ดูเหมือนว่าทุกคนรู้กันอยู่เต็มอก แต่ไม่อยากพูดออกมาดังๆ ให้ปรากฏออกมาให้สาธารณชนได้รับรู้ในวงกว้าง หรือกล่าวง่ายๆ ก็คือ ทำความจริงบางแง่มุมที่สลัวๆ อยู่นั้นให้โปร่งใส และเป็นที่ประจักษ์จากมุมมองของตัวนักวิจัยเองเช่น ทุกคนรู้ว่าหวยใต้ดิน ซ่องโสเภณี กินตามน้ำ โกงกันเป็นขบวนการในการใช้งบประมาณแผ่นดินมีอยู่อย่างแพร่หลายในสังคมไทย แต่ไม่มีใครกล้าพูด หรือมีคนกล้าพูดออกมาบ้าง แต่เสียงก็แผ่วเบาเสียจนเงียบหายไปกับสายลม

อาจารย์ผาสุกและคณะพูดความจริงตรงนี้ ด้วยน้ำเสียงที่ดังหนักแน่นและชัดเจน ได้ใจความ เป็นต้น

ผมคิดว่า รากเหง้าของความอื้อฉาวที่เกิดขึ้นกับงานวิจัย เช่น หัวเชือกวัวชน การเมืองในอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี และคอรัปชั่นกับประชาธิปไตยไทย อาจจะไม่ได้อยู่แค่การนำเสนอของสื่อมวลชน หรือความฉุนเฉียวและขี้โมโหของนักการเมืองและผู้มีอำนาจ แต่น่าจะอยู่ที่ท่าทีในการบริโภคงานวิจัยของนักการเมืองและผู้มีอำนาจเหล่านั้นต่างหาก คนเหล่านี้หวาดระแวงและไม่ไว้ใจนักวิจัยและนักวิชาการ เพราะพวกเขามองเห็นว่า นักวิจัยและนักวิชาการมักจะพูด หรือเปิดเผยความจริงในลักษณ ะที่ผู้มีอำนาจเหล่านั้นควบคุมบังคับไม่ได้

แน่นอนครับ สังคมเรามีนักวิจัยหรือนักวิชาการประเภทขายตัวและสยบยอมต่อผู้มีอำนาจ แต่กรณีที่อื้อฉาวทั้ง 3 กรณีที่ผมพูดถึงนี้ เราต้องยอมรับในความกล้าหาญทางจริยธรรมของท่าน นักวิจัยที่เปี่ยมไปด้วยความกล้าหาญแบบนี้เองที่นักการเมือง และผู้มีอำนาจทั้งหลาย ไม่ค่อยชอบขี้หน้าเท่าไหร่นักการเมือง ข้าราชการ และผู้มีอำนาจในบ้านเราบริโภคงานวิจัยด้วยท่าทีของอำนาจกร่างสุดๆ และไม่อาย ที่จะใช้วิธีการแบบนักเลงทั้งหลายในการจัดการกับงานวิจัยที่นำเสนอความเห็น หรือข้อสรุปที่ตนเองไม่เห็นด้วย หวาดกลัวนักหรือครับ กับการตีความของนักวิจัยตัวเล็กๆจนต้องปลุกม็อบทั้งเมืองออกมาต่อต้าน อ้างกฎหมายหรือกฎระเบียบออกมาเล่นงานพวกเขา หรือไม่เช่นนั้น ก็ข่มขู่แบบดิบๆไปเลยผมว่าสังคมเราหวาดระแวงจนมองเห็นอะไรเป็นการเมืองไปหมด แม้กระทั่งงานวิจัย มองงานวิจัยที่คนทำ เพียรทำมาแทบล้มแทบตายแต่ตนเองไม่เห็นด้วยว่าต้องมีอะไรอยู่เบื้องหลังแน่ๆ จนต้องหามาตรการลงโทษคนทำ สั่งย้ายออกนอกพื้นที่ สั่งเผาหนังสือ หรือฟ้องศาลอันที่จริงผมว่า ผมควรจะดีใจเสียอีกที่นักการเมือง ข้าราชการและผู้มีอำนาจทั้งหลายให้เกียรติกับงานวิจัยขนาดนั้น ทั้งๆ ที่งานวิจัยโดยเฉพาะงานวิจัยทางมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์นั้น เป็นเพียงการนำเสนอมุมมอง และข้อสรุปชุดหนึ่งที่ได้จากการวิเคราะห์ และตีความหมายข้อมูลชุดหนึ่ง โดยการตรวจสอบด้วยเครื่องมือหรือระเบียบวิธีวิจัยอันหนึ่งเท่านั้นเอง ท่านทั้งหลายควรจะเข้าใจด้วยว่า ธรรมชาติของปรากฏการณ์ทางสังคมวัฒนธรรมใดๆ นั้นมีความหมายหลากหลาย แล้วแต่ใครจะเห็น แล้วแต่ใครจะมอง ใครได้ข้อสรุปอะไรออกมาว่าอย่างไรก็เป็นเรื่องของคนนั้น ไม่ใช่สัจธรรม ไม่ใช่ข้อสรุปตายตัวที่คนอื่นแย้งไม่ได้แต่อย่างใด คนอ่านคนใดไม่เห็นด้วยก็โต้แย้งถกเถียงและแลกเปลี่ยนกันด้วยเหตุด้วยผล

หรือจะให้เจ๋งจริงก็ต้องทำวิจัยเรื่องเดียวกันนั้นออกมาประชันไปเลยครับเพื่อว่าองค์ความรู้เรื่องนั้นๆ จะได้รับการพัฒนาให้ก้าวหน้าต่อไป ไม่ใช่มาคอยตั้งตัวเป็นเจ้าของวัฒนธรรม กล่าวหาว่าคนวิจัยไม่รู้จริง ตั้งกรรมการสอบสวนหรือข่มขู่เอาชีวิต เพราะถึงที่สุดแล้วไม่มีใครหรืออำนาจใดจะควบคุมบังคับความหมายหรือความเป็นจริงให้ทุกคนคิดหรือเห็น อย่างเดียวกันได้ทั้งหมด

ในอดีตอำนาจที่คอยชี้ถูกชี้ผิดนั้นเป็นอำนาจที่อยู่ในมือของเผด็จการหรือทรราชย์ แต่ทุกวันนี้ อำนาจควรจะเป็นของทุกคน และเป็นอำนาจที่มีไว้เพื่อสร้างเวทีที่เปิดกว้างสำหรับการถกเถียง แลกเปลี่ยนและเรียนรู้ร่วมกันครับกรณีอื้อฉาว เช่น อาจารย์อาคม อาจารย์สายพินหรืออาจารย์ผาสุกจะไม่เกิดขึ้น ถ้าสังคมไทยโดยเฉพาะนักการเมือง และข้าราชการไม่บริโภคงานวิจัยด้วยอำนาจ และด้วยความกร่างแบบมาเฟียผู้ผูกขาดความจริงไว้เพียงฝ่ายเดียว

พัฒนา กิติอาษา 9 สิงหาคม 2543

 

Bcmu.gif (4115 bytes)

ธีรวรรณ บุญญวรรณ

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ : เคยชี้นำสังคมเชียงใหม่บ้างไหม ?

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เริ่มก่อตั้งเมื่อปี พศ. ๒๕๐๗ นับถึงวันนี้ล่วงเข้าสู่ปีที่ ๓๖ แล้ว ผลิตบัณฑิตออกไปสู่สังคมมากว่า ๓๐ รุ่น ทว่ามีคำถามมากหลายจากมุมมองของสังคมภายนอกมหาวิทยาลัยว่า มหาวิทยาลัยแห่งนี้สร้างเพื่อสังคมเชียงใหม่ เพื่อคนเชียงใหม่ จริงหรือ???

คำถามนี้น่าขบคิดยิ่งนัก แม้จะเป็นที่รู้กันดีว่าคนเชียงใหม่เคยเดินขบวนรณรงค์เรียกร้องให้มีการสร้างมหาวิทยาลัยแห่งนี้ขึ้นก็ตาม ทว่าการบริหารจัดการแบบรวมศูนย์มาตั้งแต่แรก ได้ทำให้เกิดปัญหาอย่างที่เห็นได้ในปัจจุบัน และคงยืดเยื้อต่อไปอีกในอนาคต

เพราะกระบวนการจัดการรวมทั้งนโยบายทางการศึกษาทั้งหลายเกิดจากส่วนกลาง

การกำหนดจำนวนนักศึกษาที่รับเข้ามาเรียน ก็ถูกกำหนดกันที่ส่วนกลาง ทรัพยากรที่ต้องใช้ในการผลิตบัณฑิต ผู้สอน เจ้าหน้าที่ สถานที่ หอพัก ไฟฟ้า น้ำประปาทุกอย่างที่ต้องนำมาใช้ในกระบวนการนี้ ล้วนมีผลกระทบต่อสังคมเชียงใหม่ทั้งสิ้น และเป็นผลกระทบในเชิงลบมากขึ้นๆเมื่อมหาวิทยาลัยรับนักศึกษามากขึ้นจนแทบที่จะจัดการไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการต้องก่อสร้างอาคารเพิ่ม การจัดการขยะ การจัดการน้ำดีและน้ำเสีย การจราจรภายในและรอบๆมหาวิทยาลัย

เพราะไม่ได้เปิดโอกาสให้คนที่นี่มีส่วนในการจัดการ กระบวนการคิดของผู้บริหารซึ่งมาจากสายวิชาการ บุคคลเหล่านี้ได้ถูกกล่อมเกลามาจากสังคมอื่น ท่านเหล่านี้จะซาบซึ้งกับวัฒนธรรมท้องถิ่นเดิมได้อย่างไร เมื่อท่านนั่งทำงานในห้องส่วนตัว หรืองาน(สอน??)มากเสียจนไม่มีเวลาคิดเรื่องอื่น เลยกลายเป็นว่าคนที่นี่ไม่ได้ช่วยคิด ไม่ได้เข้ามายุ่ง ไม่มีโอกาสเข้ามามีส่วนในการจัดการ

การดำเนินงานของมหาวิทยาลัยที่ถูกกำหนดโดยคนอื่น ทำให้หมดโอกาสที่จะให้มหาวิทยาลัยนี้เป็นตัวอย่างที่ดีแก่สังคมที่นี่ การมีส่วนในกิจกรรมของจังหวัดที่ผ่านๆมาเรียกได้ว่า ฉาบฉวยและอ่อนด้อย ไม่สมศักดิ์ศรีกับสถาบันขนาดใหญ่เช่นนี้

เพราะการจัดการเป็นแบบรวมศูนย์ การจัดตั้งคณะหรือภาควิชา เลยเป็นไปเหมือนถอดแบบจากมหาวิทยาลัยในส่วนกลาง ไม่มีคณะหรือภาควิชาที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นหรือมีก็น้อยเสียจนน่าประหลาดใจว่า มหาวิทยาลัยแห่งนี้ตั้งอยู่ใจกลางนครแห่งประวัติศาสตร์ ศิลปะวัฒนธรรมที่เคยรุ่งเรืองมากว่า ๗๐๐ ปีได้อย่างไร

เคยเห็นแต่ที่อื่นๆจะมีคณะหรือภาควิชาทางเทคโนโลยีสอดแทรกอยู่บ้าง แต่ที่นี่กลับตาลปัตรตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง จนเสมือนว่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ไม่มีเอกลักษณ์ของความเป็นล้านนาเอาเสียเลย

ในทางกลับกัน หากมหาวิทยาลัยแห่งนี้ได้รับการดูแลจากสังคมเชียงใหม่โดยแท้ ผลลัพธ์ที่น่าจะได้กลับไปคือ การเป็นตัวอย่างชี้นำในด้านดีแก่สังคมเพราะมหาวิทยาลัยเป็นที่บ่มเพาะภูมิปัญญา มีอิสระทางความคิดสร้างสรร ไม่มีการแสวงหากำไร หรือตกอยู่ภายใต้อิทธิพลใดๆ นั่นคือทรัพยากรในมหาวิทยาลัย ย่อมมีปริมาณที่พอดีกับความต้องการของสังคมที่นี่ จำนวนนักศึกษาย่อมไม่ล้นจนผู้สอนไม่อาจดูแลได้ทั่วถึง บัณฑิตที่ผลิตออกไปจึงไม่เต็ม หมายความว่า ได้ปริญญามาแต่ในสมองกลวง กระบวนทัศน์ ความคิดอ่านยังไม่สมกับเป็นบัณฑิต

สัดส่วนของการใช้พื้นที่ต่อพื้นที่สีเขียวคงดีกว่าที่เป็นอยู่ และน่าจะเรียกว่าวิกฤติแล้วก็คงได้ เพราะมหาวิทยาลัยกำลังตั้งหน้าตั้งตาเพิ่มจำนวนอาคารสูงๆ ด้วยข้ออ้างจากจำนวนนักศึกษาที่ต้องรับมากขึ้นทุกปี ทั้งที่สัดส่วนระหว่างคนต่อพื้นที่เกินจุดที่ยอมรับได้มาตั้งนานแล้ว

ผลกระทบอันนี้ล้วนส่งต่อไปถึงปริมาณฝุ่น น้ำเสีย สถานที่จอดรถ มหาวิทยาลัยมีนโยบายเอาพาหนะ(คล้าย)รถรางมาวิ่งให้บริการ ก็ไม่ได้มีการจัดการให้รถยนต์สี่ล้อแดงจอดถ่ายคน ณ จุดที่กำหนดให้เช่น บริเวณด้านหน้าและด้านหลังมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นการเชื่อมต่อการขนส่งมวลชนกัน แต่กลับปล่อยให้วิ่งซ้อนทับกัน

อีกไม่นานรถรางก็คงอยู่ไม่ได้ เจ๊งไปตามหลักการค้าเสรีที่ต้องมีการแข่งขันกัน แล้วประโยชน์จะตกแก่ผู้บริโภค (ที่ไม่เคยเป็นความจริงสักที) หากให้โอกาสในการจัดการแก่คนที่นี่ วิทยาเขตลำพูนก็คงเกิดขึ้น มีคณะหรือภาควิชาลำไย มีภาควิชาสิ่งแวดล้อมกับอุตสาหกรรม เพราะที่นั่นมีนิคมอุตสาหกรรม มีภาควิชาแพทย์โรงงานที่รู้รักษาโรคจากมลพิษโรงงาน บัณฑิตที่จบไปจากคณะ หรือภาควิชาเหล่านี้ก็จะมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ตรงงาน และตรงกับความต้องการ เพราะมหาวิทยาลัยสามารถฝึกฝนเขาเหล่านี้ด้วยของจริงที่มีอยู่ จบแล้วไม่ต้องไปเริ่มต้นหางานจากส่วนกลางเพียงที่เดียว

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่คงตอบสนองความต้องการของสังคมเชียงใหม่ เมืองใหญ่ที่ไม่อยากเป็นกรุงเทพแห่งที่สองแต่กำลังเป็นอยู่ รถรางรอบเมืองเก่าที่เชื่อมกับขนส่งมวลชนจากภายนอก คงเกิดได้ถ้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่จะทำให้เป็นตัวอย่างเสียก่อน

การใช้จักรยานขี่ชมเมืองก็คงมีขึ้นได้หากมหาวิทยาลัยจะเป็นตัวอย่างในการตีเส้นทางจักรยานภายในมหาวิทยาลัย มีเส้นหรือป้ายให้รถหยุดหรือทางม้าลายสำหรับจักรยานในทุกทางเชื่อม ถนนรอบๆมหาวิทยาลัยคงไม่จอแจ ราวกับถนนสีลม เพราะเทศบาลไม่ยอมให้สร้างโรงแรมสูงๆ หรืออาคารร้านค้าเพราะถือว่าเขตใกล้มหาวิทยาลัยควรเป็นที่พักอาศัยเท่านั้น จำนวนร้านค้าจะถูกควบคุมอย่างเข้มงวด มิใช่อย่างที่เป็นอยู่

บัณฑิตมอชอทั้งหลายคงช่วยกันพัฒนาเมืองนี้ให้น่าอยู่ พวกเขาทั้งหลายคงเข้าไปอยู่ในทุกๆวงการ และพร้อมที่จะตอบแทนคืนแก่สังคมที่เกื้อกูลเขามาด้วยความรู้สึกผูกพัน และหากมหาวิทยาลัยได้รับการดูแลโดยคนที่นี่ ผลงานวิจัยก็คงไม่เป็นเพียงกองกระดาษที่ไม่อาจนำไปใช้ประโยชน์อันใดต่อสังคมที่นี่ได้ ทุกๆอย่างยังไม่สาย หากจะเริ่มคิด ให้คนที่นี่เข้ามามีส่วนร่วม หรือมหาวิทยาลัยเข้าไปมีส่วนร่วมกับสังคมที่นี่เสียแต่วันนี้

วันข้างหน้าคนเชียงใหม่ก็จะได้ยืดอกอวดผู้มาเยือนอย่างเต็มภาคภูมิว่า นี่เป็นเพราะเขามีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่นะ มิใช่ว่าเป็นเพราะเขามีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พวกเขาจึงต้องเศร้าหมองอยู่ทุกวันนี้

ธีรวรรณ บุญญวรรณ / ๕ กย. ๒๕๔๓