การเมืองของความเป็นศัตรู
และ
ปัญหาบางประการในความคิดทางการเมืองของคาร์ล ชมิทท์.
ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(1)
นับตั้งแต่กลางทศวรรษ ๑๙๘๐ เป็นต้นมา ความล่มสลายของประเทศคอมมูนิสต์ในสหภาพโซเวียต และยุโรปตะวันออก กับการดำรงอยู่อย่างพิกลพิการของรัฐสังคมนิยมอย่างเกาหลีเหนือ, คิวบา และจีน ทำให้ความคิดแบบฝ่ายซ้ายไม่อยู่ในฐานะที่จะท้าทายเสรีนิยมได้ต่อไป
สถานะของความคิดแบบซ้ายหรือมาร์กซิสม์นั้นดำเนินไปในลักษณะที่ เอลเลน ไมค์ซินส์ วู้ด บรรณาธิการร่วมของวารสาร Monthly Review กล่าวไว้ในหนังสือเรื่อง The Retreat from Class ฉบับพิมพ์ครั้งล่าสุดว่า เมื่อประเทศคอมมูนิสต์ล่มสลายนั้น ก็ยังมีสิ่งที่เรียกว่าความคิดแบบ "หลังมาร์กซิสม์" ดำรงอยู่บ้าง แต่เมื่อย่างเข้าสู่สหัสวรรษใหม่ ความคิดแบบ "หลังมาร์กซิสม์" ก็แปรสภาพไปเป็นความคิดแบบ "ต้านมาร์กซิสม์" ไปโดยสิ้นเชิง(2)
อย่างไรก็ดี นี่ไม่ได้หมายความว่าความคิดแบบเสรีนิยมจะอยู่ในฐานะครอบงำและอยู่เหนือการท้าทายจากความคิดใดๆ เพราะในช่วงกลางทศวรรษเดียวกันนั้นเอง ที่เริ่มเกิดการกลับไปหางานเขียนของนักทฤษฎีการเมืองคนสำคัญในสมัยสาธารณรัฐไวมาร์ และมือกฎหมายที่มีชะตากรรมอันโลดโผนโจนทะยานเคียงข้างไปกับพรรค National Socialist ในทศวรรษที่ ๓๐ ผู้ถูกประเมินว่าเป็น "นักวิพากษ์เสรีนิยมชั้นแนวหน้าแห่งศตวรรษที่ ๒๐"(3) อย่างคาร์ล ชมิทท์.
แต่การกล่าวว่าชมิทท์
เป็นนักวิพากษ์เสรีนิยมนั้นก็อาจทำให้เกิดความสับสนได้ไม่น้อย ชมิทท์เขียนงานตลอดช่วง
๗๗ ปี เอาไว้อย่างมหาศาล ตัวอย่างเท่าที่พอรวบรวมมาได้ก็เช่น
Der Wert des Staates und die Bedentung des Einzelnen (The Value of the State
and the Significance of the Individual), State Bewegung and Volk (State, Movement,
Folk), Uber die drei Arten des rechtswissenschaftlichen (ON Three Types of
Jurisprudential Thinking), Gesetz und Urteil (Law and Judgement), Diktatur
und Belagerungszustand (Dictator and the State of Siege), Die Dicktatur (The
Dictator), Die Verfassungslehre (Constitutional Theory), Der Huter der Verfassung
(The Guardian of the Constitution), Positionen und Begrieffe im Kampf mit
Weimar-Genf-Versaiiles (Positions and Concepts in the Struggle Against Weimar-Geneva-Versailles),
Legalitat und Legitimitat (Legality and Legitimacy), Unabhangigkeit der Richter,
Gleichheit vor dem Gesetz und Gewahrleistung des Privateigentums nach der
Weimarer Verfassung (Judicial Independence, Equality Before the Law, and the
Protection of Private Property According to the Weimar Constitution), Die
Kernfrage des Volkerbundes (The Central Issue of the International Law of
German).
แต่ในบรรดางานเขียนของชมิทท์นั้น
ในภาษาเยอรมันทั้งหมด มีงานเพียงไม่กี่ชิ้นที่ได้รับการแปลออกมาสู่โลกภาษาอังกฤษแล้ว
ได้แก่ The Concept of The Political, The Crisis of Parliamentary Democracy,
Political Theology, Political Romanticism, Political Theology : Four Chapters
on the Concept of Sovereignty, The Leviathan in State Theory of Thomas Hobbes
: Meaning and Failure of a Political Symbol, Roman Catholicism and Political
Form และ The Necessity of Politics : AN Essay on the Representative Idea in
the Church and Modern Europe
และสำหรับคนอย่างฮาเบอร์มาสนั้น งานเขียนของชมิทท์มีลักษณะเฉพาะตัวอยู่ไม่น้อย
เพราะชมิทท์เขียนงานขึ้นเพื่อตอบโต้สถานการณ์เฉพาะหน้า และมีการแก้ไขเนื้อหาบางส่วนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา(4)
ผลที่ตามมาก็คือ แม้ชมิทท์จะได้ชื่อว่าเป็นนักตั้งคำถามกับเสรีนิยมอย่างถึงรากถึงโคน แต่ก็มีผู้ตีความว่า ชมิทท์เองก็เห็นความสำคัญของเสรีนิยม และต้องการนำเสรีนิยมไปใช้ในฐานะที่เป็นเครื่องมือทางการเมือง(5) ด้วยเหตุดังนั้น แม้ชมิทท์จะวิพากษ์เสรีนิยมเอาไว้อย่างรุนแรงในงานเขียนหลายชิ้น แต่ในหลายกรณี เขาก็เสนอไว้เช่นกันว่า คาธอลิคสามารถเป็นมิตรกับเสรีนิยมได้(6) ส่วนโบสถ์นั้นก็คือ complexio oppositorum ซึ่ง "รวบรวมรัฐและรัฐบาลทุกชนิดเข้าไว้ด้วยกัน"(7)
และฉะนั้น แม้จะวิพากษ์เสรีนิยมเอาไว้อย่างรุนแรงสักเพียงใด ท้ายที่สุดแล้ว ชมิทท์กลับเห็นว่า การเป็นพันธมิตรกับเสรีนิยมโดยมีโบสถ์เป็นผู้นำนั้น เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ ทั้งนี้ก็เพื่อรักษาไว้ซึ่งอารยธรรมของยุโรปตะวันตกโดยรวม. เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ความหมายที่เคร่งครัดของเสรีนิยมที่ตกเป็นเป้าของคำวิพากษ์วิจารณ์ของชมิทท์โดยตรง จึงไม่ใช่และไม่ได้อยู่ที่พรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองแบบเสรีนิยม เพราะนั่นเป็นสิ่งที่สามารถร่วมมือกันได้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเฉพาะหน้าบางอย่าง
ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าชมิทท์จำกัดตัวเองอยู่แค่การวิพากษ์วิจารณ์เสรีนิยม ก็เท่ากับว่าชมิทท์แทบไม่ได้นำเสนออะไรใหม่ เพราะทั้งเวเบอร์และมอสก้า ก็ล้วนเคยพูดถึงอะไรทำนองนี้ไว้หมดแล้ว(8) และนั่นก็หมายความว่าความคิดของชมิทท์ไม่ได้มีค่าพอที่จะกล่าวถึงแต่อย่างใด. หัวใจของคำวิพากษ์เสรีนิยมแบบที่ชมิทท์มุ่งวิจารณ์นั้น ได้แก่ ระบบการเมืองแบบรัฐสภาเสรีนิยม ดังที่ชมิทท์กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างเสรีนิยมกับรัฐสภาเอาไว้ใน The Crisis of Parliamentary Democracy ว่า "ความเชื่อในลัทธิรัฐสภาและรัฐบาลโดยการถกเถียง มีพื้นฐานมาจากโลกทางภูมิปัญญาของเสรีนิยม"(9)
ตรรกะของชมิทท์คือเสรีนิยมเป็นพื้นฐานของลัทธิรัฐสภา (Parliamentarism) แต่เสรีนิยมกับลัทธิรัฐสภาก็ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน โดยที่นอกเหนือไปจากการวิพากษ์ระบบรัฐสภาแบบเสรีนิยมแล้ว ชมิทท์ยังแสดงให้เห็นว่า เขาไม่เห็นด้วยกับทฤษฎีการเมืองของระบบเสรีนิยม อันได้แก่ทฤษฎีการเมืองแบบพหุนิยมด้วย(10) ดังที่เขากล่าวเอาไว้ใน Ethic of State and Pluralistic State ว่าทฤษฎีประเภทนี้ เต็มไปด้วยความคลุมเครือและมีปัญหา โดยเฉพาะในแง่ที่มันมุ่งโดยตรงที่จะต่อต้านความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของรัฐ(11)
คำวิจารณ์ของชมิทท์เป็นเรื่องที่น่าสนใจ
เพราะคำวิจารณ์เกี่ยวพันกับการให้คุณค่า และการให้คุณค่าก็ย่อมทำให้เห็นต่อไปว่า
นักคิดทางการเมืองรายนี้ ให้ความสำคัญกับเรื่องอะไร ความคิดทางการเมืองมีที่มาจากคำถามทางสังคมและการเมือง
ความคิดทางการเมืองจึงสะท้อนถึงคำถามหลักๆ ของการถกเถียงทางการเมืองในเวลานั้นๆ(12)
แต่การถกเถียงทางการเมืองเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในสังคมการเมือง และด้วยเหตุดังนี้
การศึกษาความคิดทางการเมืองในสังคมหนึ่งๆ จึงย่อมทำให้เห็นถึงปัญหาที่เผชิญหน้าสังคมการเมืองนั้นๆ
ตามไปด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว การทำความเข้าใจว่าชมิทท์ วิจารณ์เสรีนิยมไว้อย่างไรนั้น
จึงเป็นประโยชน์อยู่มากต่อการทำความเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นแก่เสรีนิยมในปัจจุบัน.
ใน The Crisis of Parliamentary Democracy ชมิทท์เริ่มต้นโดย วิจารณ์ระบบรัฐสภาของเยอรมันในเวลานั้นว่า เดินออกไปจากอุดมคติที่นักคิดแนวเสรีนิยมในคริสตศตวรรษที่ ๑๙ วางไว้ และผลที่ตามมาคือ อาการป่วยไข้ที่ทำให้รัฐสภาสูญสิ้นฐานที่มั่นทางศีลธรรมและภูมิปัญญา โดยที่อาการที่ว่านั้นได้แก่ "การครอบงำของพรรค, การเล่นการเมืองส่วนบุคคลอย่างไม่เป็นมืออาชีพ, รัฐบาลของมือสมัครเล่น, วิกฤติการณ์รัฐบาลอย่างต่อเนื่อง, การอภิปรายในสภาที่ไร้แก่นสาร, ความเสื่อมทรามของมาตรฐานความประพฤติของรัฐสภา, การใช้เครื่องมือของสภาไปในทางที่ผิด, การไม่เข้าร่วมประชุม ฯลฯ"(13)
ชมิทท์ถือว่าการประชุมถกเถียง (discussion) และความเปิดเผย (openness) คือหัวใจของระบบรัฐสภา(14) และเมื่อทั้งการประชุมถกเถียงและความเปิดเผยกลายเป็นเรื่องที่เกิดปัญหา อาการที่เกิดขึ้นเหล่านี้ย่อมสะท้อนว่า สารัตถะของระบบรัฐสภาทั้ง ๒ ประการ ไม่ได้อยู่ในสภาวะมั่นคงอีกต่อไป และท้ายที่สุดแล้ว สิ่งที่ตามมาก็คือ รัฐสภากลายเป็นเวทีของความขัดแย้งระหว่างเอกบุคคลที่ปิดลับจากการตรวจสอบของสาธารณะ แทนที่จะเป็นสถานที่ของการประชุมอย่างมีเหตุผล เพื่อให้สาธารณะเข้าถึงและตรวจสอบได้(15)
ประเด็นก็คือแม้ชมิทท์ใน The Crisis of Parliamentary Democracy จะทำการแยกแยะเสรีนิยมออกจากรัฐสภา แล้วโจมตีว่า ลัทธิรัฐสภาในปัจจุบัน เดินไปคนละทางกับอุดมคติที่เสรีนิยมตั้งไว้ จากนั้นจึงเสนอว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบรัฐสภา มีที่มาที่พัฒนาขึ้นจากการที่ประชาธิปไตยของมวลชนสมัยใหม่ (modern mass democracy) ทำให้การสาธารณะ-วิวาทะ หรือ public discussion กลายเป็นรูปแบบที่ว่างเปล่า และปราศจากความหมาย(16)
แต่อีกสิ่งที่ชมิทท์มองเห็นก็คือคริสตศตวรรษที่ ๑๙ นั้น เป็นห้วงเวลาแห่งชัยชนะของประชาธิปไตย ประชาธิปไตยจึงเป็นเสมือนจำเลยที่ทำให้ระบบรัฐสภาล้มเหลว เพราะประชาธิปไตยพร้อมจะเป็นพันธมิตรกับอะไรและใครก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นเสรีนิยม, สังคมนิยม, ปฏิวัติ และปฏิกริยา ซึ่งนั่นย่อมสะท้อนว่า ประชาธิปไตยเป็นแค่รูปแบบทางองค์กรที่ปราศจากเนื้อหาทางการเมืองที่ชัดเจน(17)
ในแง่นี้ก็เท่ากับว่า ชมิทท์มองว่า รัฐสภาไม่ใช่สิ่งที่เป็นปัญหาโดยตัวมันเอง ในทางตรงกันข้าม ปัญหาของรัฐสภา เป็นปัญหาซึ่งมีสาเหตุมาจากปัจจัยภายนอกรัฐสภา นั่นก็คือความเป็นประชาธิปไตย
ประชาธิปไตยเป็นปัญหา เพราะอะไรที่เป็นประชาธิปไตยนั้นดูจะมี subject เหมือนๆ กัน ซึ่งได้แก่ "ประชาชน" ที่แสนจะเป็นนามธรรม(18) ส่วนในระดับรูปธรรมนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นในระบบรัฐสภาของยุโรปตะวันตก ก็คือ อะไรที่ถูกถือว่าเป็นประชาธิปไตยนั้น แท้จริงแล้ว เป็นเพียงการครอบงำโดยอำนาจทางเศรษฐกิจเหนือสื่อมวลชน และพรรคอย่างฉ้อฉล เพื่อทำให้เกิดเจตจำนงร่วมแบบจอมปลอม(19) ทั้งที่รัฐสภาเองก็ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของ 'talking classes' หรือพวกอภิสิทธิ์ชนที่มีการศึกษา(20)
และในขณะเดียวกัน ประชาชนก็จะถูกกระทำในทางจิตวิทยาและสังคมวิทยา ให้รู้สึกว่า พวกตนทั้งหมดล้วนมี "ความเหมือน" หรือความเท่าเทียม จนเป็นเหตุให้ประชาธิปไตยมีชัยชนะ เหนือพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของระบบรัฐสภา ที่เกิดจากการดำรงอยู่ร่วมกันของเจ้านาย, ชนชั้นสูง และฝ่ายประชาธิปไตย(21) แล้วทำให้รัฐสภากลายเป็นสมบัติผูกขาดของฝ่ายประชาธิปไตยไป
แม้ว่าโดยเนื้อแท้แล้ว รัฐสภาจะต้องเปิดกว้างสำหรับรูปแบบทางการเมือง และรัฐบาลทุกประเภทก็ตามที(22) สภาวะที่ประชาธิปไตยมีชัยชนะเหนือพลังอื่นๆ เป็นสภาวะแห่งความยุ่งยาก เพราะสภาวะเช่นนี้ มีความหมายว่า ประชาธิปไตยมีชัยเหนือหลักการแบบสมบูรณาญาสิทธิ์ ซึ่งชมิทท์เห็นว่า เป็นพื้นฐานของความเป็นเอกภาพแห่งรัฐ (the unity of state) ความพ่ายแพ้ของหลักการแบบสมบูรณาญาสิทธิ์ จึงเท่ากับว่า ความเป็นเอกภาพนี้ได้ถูกทำลายให้หมดสิ้นลงไป(23)
สิ่งที่บังเกิดตามมาก็คือความล่มสลายของเอกภาพ หรือความเป็นอันหนึ่งอันเดียว จะถูกแทนที่ด้วยสิ่งที่ Renato Cristi เรียกว่า "อุปสงค์แบบประชาธิปไตย" (democratic demands)(24) ซึ่งหากจะอธิบายโดยภาษาของฮาเบอร์มาสก็คือ การเกิดขึ้นของรัฐประชาธิปไตยแบบสวัสดิการมวลชน (mass welfare state democracy) ที่มีบทบาทอย่างสูงในการแทรกแซง (interventionist state) โดยอยู่ภายใต้แรงกดดันของพลังทางสังคม(25) ซึ่งโดยเนื้อแท้แล้วอยู่ในสภาพที่ชมิทท์พรรณาเอาไว้ว่า "คณะกรรมการบริหารของพรรค หรือพันธมิตรทำการตัดสินใจอยู่หลังประตู โดยที่ข้อตกลงซึ่งผู้แทนของกลุ่มผลประโยชน์นายทุนขนาดใหญ่มีต่อคณะกรรมการชุดเล็กๆ มีความสำคัญต่อชะตากรรมของคนนับล้านๆ ยิ่งกว่าการตัดสินใจทางการเมืองใดๆ"(26)
ในความคิดของฮาเบอร์มาส ชมิทท์ใน Der Leviathan in der Staatslehre des Thomas Hobbes มองว่า สภาพเช่นนี้ เป็นผลมาจากความล่มสลายของ Leviathan หรือ รัฐในฐานะที่เป็นเทพปกรณัม (myth)(27) ความล่มสลายนี้ บังเกิดขึ้นโดยน้ำมือของชนชาติยิว ผ่านงานเขียนของคนอย่าง สปิโนซา, Moses Mendelssohn, Heine, Borne และมาร์กซ์ ซึ่งทำให้เกิดการต้านรัฐขึ้นในแต่ละปริมณฑลที่พวกตนดำรงอยู่
ยิวทำให้ Leviathan เป็นเสมือนสัตว์ร้ายขนาดยักษ์ ที่ผุดขึ้นมาจากกลางทะเลโดยไม่มีอำนาจใดๆ บนพื้นพิภพจะทัดทานต่อสู้ได้ ยิวทำให้ Leviathan น่าเกลียดชังและน่าสะพรึงกลัวไม่ต่างไปจากพวกนอกศาสนาหรืออสุรกาย(28) ผลที่ตามมาก็คือ ในฐานะที่เป็นสารัตถะของรัฐสมัยใหม่นั้น Leviathan หรือรัฐในฐานะที่เป็นเทพปกรณัม ถูกทำให้กลายเป็นสิ่งที่ผิดปกติและผิดธรรมชาติไป(29) และเมื่อรัฐอยู่ในภาวะอ่อนเปลี้ย ก็มีแต่พวกยิวเท่านั้นที่จะได้ประโยชน์จากสภาพเช่นนี้ และอยู่ในวิสัยที่จะปฏิบัติตามเจตนารมณ์ที่จะมีอำนาจ ซึ่งในที่สุดก็จะผลิดอกออกผลเป็นระบบเศรษฐกิจการเมืองที่ชาวยิวอยู่ในฐานะครอบงำ(30)
สภาพที่รัฐอยู่ในสภาวะล้มละลายเช่นนี้ ทำให้รัฐไม่ได้มีฐานะเป็นองค์เอกภาพสูงสุดอีกต่อไป รัฐกลายเป็นกลุ่มสังคม หรือสมาคมที่มีสถานะเท่าเทียมกับสมาคมอื่นๆ(31) และสำหรับชมิทท์แล้ว การลดทอนความสำคัญของรัฐ เป็นเหตุให้เอกบุคคลมีชีวิตท่ามกลางภาวะที่หลากหลาย และไม่มีระบบระเบียบมากขึ้นเรื่อยๆ (multiplicity of unordered) โดยหันไปขึ้นอยู่กับชุมชนทางศาสนา, สมาคมทางเศรษฐกิจ, พรรคการเมือง, สโมสร, วงสังคม, กลุ่มทางวัฒนธรรม, ครอบครัว, และกลุ่มสังคมชนิดอื่นๆ ขณะที่ตัวรัฐเองกลับถูกทำให้อ่อนแอและมีลักษณะสัมพัทธนิยม (relativism) จนแทบจะกลายเป็นผลิตผลของการประนีประนอม ระหว่างกลุ่มที่ขัดแย้งกัน, และเป็น 'pouvoir neutre' หรือ "อำนาจที่เป็นกลาง" ซึ่งเมื่อถึงจุดนี้ นั่นก็เท่ากับว่ารัฐได้หมดอำนาจในการกำหนดและตัดสินใจไปโดยปริยาย(32).
การประนีประนอมที่เกิดในระบบประชาธิปไตยรัฐสภาทำให้การเผชิญหน้า (Confrontation) ระหว่างคนกลุ่มต่างๆ จางหาย หรืออย่างมากก็ทำให้มันเป็นแค่เรื่องของการแข่งขัน (Competition) ไปเท่านั้น ทั้งๆ ที่โดยธรรมชาติแล้ว การเผชิญหน้าซึ่งเป็นผลจากการแบ่งแยกมิตรและศัตรูนั้น เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังที่ ชมิทท์เองได้กล่าวไว้ว่า "ทุกศาสนา, ทุกระบบศีลธรรม, ทุกระบบเศรษฐกิจ, ทุกจริยธรรม และทุกสิ่งทุกอย่าง จะแปรตัวเองไปเป็นการเมืองในทันทีที่มันเข้มแข็งพอจะทำให้เกิดการจัดกลุ่มของมนุษย์"(33)
ซึ่งเมื่อมองจากมุมนี้แล้ว การประนีประนอมก็เป็นเรื่องที่ผิดธรรมชาติ เพราะมันเป็นเหตุให้การแบ่งแยกความเป็นมิตรและศัตรูในทางการเมืองเสื่อมคลายความสำคัญ หรือพูดอีกอย่างก็ได้ว่า การประนีประนอมในระบบประชาธิปไตยรัฐสภา ได้ทำลายความเป็นการเมืองลงไปนั่นเอง. การแยกมิตรและศัตรูออกจากกัน เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการตระหนักถึงความแตกต่าง (heterogeneity) โดยที่ความแตกต่างระหว่างมิตรและศัตรูนั้น เป็นเรื่องธรรมชาติ (enmity) ซึ่งไม่มีวันที่จะประนีประนอมได้ (antagonist) การลดทอนหรือเจือจางความสำคัญของการแยกมิตรแยกศัตรู จึงย่อมเท่ากับเป็นการละทิ้งความแตกต่างไปสู่ความเหมือน (homogeneity)(34)
ข้อที่น่าสังเกตก็คือความเหมือนนั้น มีรากฐานมาจากความคิดเรื่องการเมืองว่าด้วยความเป็นมิตร (politics of friendship) และการเมืองว่าด้วยความเป็นมิตร ก็มีที่มาจากความคิดเรื่องความเป็นเรา ('us') การเมืองว่าด้วยความเป็นมิตรกับความคิดเรื่องความเป็นเราจึงไม่ต่างอะไรจากความเหมือน กล่าวคือทั้งหมดล้วนเป็นเรื่องที่ถูกสร้างขึ้นมา โดยบิดผันให้ผลประโยชน์อันหลากหลายในอาณาบริเวณสาธารณะ (public realm) อยู่ภายใต้และกลายเป็นแค่กระบวนการเจรจาต่อรองระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ไป(35)
แต่ทั้งหมดนี่ก็ไม่ได้หมายความว่า ชมิทท์จะเรียกร้องให้นำความแตกต่างเข้าไปแทนที่ความเหมือน ความแตกต่างเกี่ยวพันกับความคิดเรื่องพหุลักษณ์ อันเป็นสิ่งที่ Charles Taylor เห็นว่าคือหัวใจของการเมืองแบบประชาธิปไตย(36) ขณะที่ชมิทท์นั้นให้ความสำคัญอย่างสูงต่อการมีเอกลักษณ์ร่วมกัน เพราะสำหรับชมิทท์แล้ว มีแต่การมีเอกลักษณ์เท่านั้น ที่จะทำให้การมีเอกภาพขึ้นมาได้
ความคิดของชมิทท์ในเรื่องนี้จึงเต็มไปด้วยความกำกวมและไม่ชัดเจน กล่าวคือในด้านหนึ่ง ชมิทท์ ก็โจมตีระบบประชาธิปไตยรัฐสภาว่าทำลายความแตกต่างระหว่างคนกลุ่มต่างๆ ทิ้งไป ซึ่งนั่นก็น่าจะหมายความว่า ชมิทท์ไม่เห็นด้วยกับการมีเอกลักษณ์ที่ตายตัว แต่ในขณะเดียวกัน ชมิทท์ก็ประณามเสรีนิยมว่า เป็นอุปสรรคต่อการสร้างเอกลักษณ์บางอย่างขึ้นมา และหากนำข้อโจมตีที่ชมิทท์มีต่อเสรีนิยมและประชาธิปไตยรัฐสภามารวมกัน ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือความงุนงงว่า ชมิทท์ต้องการอะไรกันแน่ ระหว่างการมีเอกลักษณ์บางอย่างร่วมกัน และการปราศจากซึ่งเอกลักษณ์ที่ว่านั้น.
จะอธิบายความกำกวมยอกย้อนในความคิดของชมิทท์ข้อนี้ได้ จึงต้องเข้าใจก่อนว่าชมิทท์โจมตีความคิดเรื่อง "ความเหมือน" ในระบบประชาธิปไตยรัฐสภาไม่ต่างไปจากที่โจมตีความคิดเรื่อง "ความเท่าเทียม" ในระบบเดียวกันนี้ ว่าเป็นความเท่าเทียมที่ถูกทำให้ไม่เป็นการเมือง (non-political form of equality) อีกต่อไป หรือพูดตามภาษาของ Mouffe ก็คือเป็นสภาพที่ "ความเหมือน" (homogeneity) ถูกทำลายลงไป แล้วแทนที่ด้วยความคิดเรื่อง "ลักษณะร่วม" (commonality) นั่นเอง (37)
ส่วนความคิดของชมิทท์นั้นดูจะเดินไปในทิศทางตรงกันข้าม กล่าวคือเห็นด้วยกับการสร้างความเหมือนที่ถูกทำให้เป็นการเมืองขึ้นมา โดยมีรัฐหรือองค์อธิปัตย์เป็นฝ่ายทำหน้าที่นี้ หรือพูดอีกอย่างก็คือ มีรัฐเป็นวัตถุแห่งความจงรักภักดี และเป็นภาพตัวแทนของความเป็นหนึ่งเดียวในหมู่ประชาชน ดังจะได้กล่าวในช่วงต่อไป.
ความสำคัญของความเหมือนชนิดที่ไม่เป็นการเมืองต่อระบบประชาธิปไตยหรือลัทธิรัฐสภานิยม ดูจะเป็นอย่างที่ชมิทท์กล่าวไว้ในคำนำของ The Crisis of Parliamentary Democracy ฉบับพิมพ์ครั้งที่สองเมื่อ ค.ศ.๑๙๒๖ คือ "ระบบประชาธิปไตยทั้งปวง วางอยู่บนหลักการที่ไม่ใช่แค่ความเท่าเทียมซึ่งเท่าเทียม แต่ยังรวมถึงการปฏิบัติต่อความไม่เท่าเทียมอย่างไม่เท่าเทียม ประชาธิปไตยต้องการให้เกิด อันดับแรกคือความเหมือน และอันดับถัดมา - ถ้าหากมีความจำเป็น - คือการทำลายความแตกต่างลงไป"(38)
ซึ่งหากถือว่าประชาธิปไตยคือต้นตอของการที่ระบบประชาธิปไตยรัฐสภา หรือการเมืองแบบเสรีประชาธิปไตย ออกไปจาก "อุดมคติที่นักคิดแนวเสรีนิยมในคริสตศตวรรษที่ ๑๙ วางไว้"(39) คำพูดของชมิทท์ที่ยกมาข้างต้น ก็บอกเราต่อไปว่า ความเหมือนและการทำให้ความเป็นศัตรูพร่าเลือนนั่นเอง ที่เป็นจุดกำเนิดของปัญหาในระบบเสรีประชาธิปไตย. 000000000000 ถ้าความเหมือนทำให้เกิดความเป็นมิตร ความแตกต่างหรือความเป็นอื่นก็คือสิ่งที่ทำให้เกิดความเป็นศัตรู สำหรับชมิทท์แล้ว การแบ่งแยกระหว่างมิตรและศัตรูถือเป็นหัวใจของการกระทำและความเคลื่อนไหวทางการเมืองทั้งปวง ดังที่เขากล่าวไว้ใน The Concept of the Political ว่า...
"การแบ่งแยกพิเศษที่ทำให้เกิดการกระทำและความเคลื่อนไหวทางการเมือง สามารถระบุได้ว่าได้แก่การแบ่งแยกระหว่างมิตรและศัตรู ... การแบ่งแยกมิตรและศัตรูนำไปสู่การรวมตัว หรือการแยกตัวขั้นสูงสุด การแบ่งแยกนี้ดำรงอยู่ได้ทั้งในทางทฤษฎีและทางปฏิบัติ โดยไม่จำเป็นต้องขึ้นอยู่กับศีลธรรม, สุนทรียศาสตร์, เศรษฐกิจ หรือการแบ่งแยกตามเกณฑ์อื่นๆ ศัตรูทางการเมืองไม่จำเป็นต้องเป็นปีศาจทางศีลธรรมหรืออัปลักษณ์ในแง่สุนทรียศาสตร์ เช่นเดียวกับที่ไม่จำเป็นต้องเป็นคู่แข่งขันทางเศรษฐกิจ และมันอาจจะเป็นคุณด้วยซ้ำ หากจะสัมพันธ์กับเขาในแง่กิจกรรมทางธุรกิจ ศัตรูการเมืองคือคนอื่น (the other), คือคนแปลกหน้า (the stranger), คือคนที่โดยธรรมชาติแล้วมีความแตกต่างและเป็นตัวประหลาด (alien) ด้วยเหตุฉะนั้น ในกรณีที่รุนแรงที่สุด ความขัดแย้งกับเขาจะได้เป็นไปได้"(40)
ด้วยวิธีคิดแบบนี้ การที่เสรีประชาธิปไตยมุ่งทำให้ความเป็นศัตรูเลือนหายไปนั้น จึงมีความหมายเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจากจะเป็นการทำลายความเป็นการเมือง (depoliticization) ขณะที่ชมิทท์พยายามตอบคำถามของความคิดทางการเมืองแนวคลาสสิคที่ว่า "การเมืองคืออะไร" ด้วยคำตอบว่าการเมืองคือการแบ่งแยกมิตรและศัตรู สิ่งที่ควรระบุไว้ก็คือชมิทท์ไม่ได้อธิบายต่อไปว่าความเป็นมิตรคืออะไรเอาไว้มากนัก ทั้งที่ปัญหาว่า อะไรคือความเป็นมิตรนั้นเป็นประเด็นใจกลางของความคิดทางการเมืองแนวคลาสสิคจำนวนมากเลยก็ว่าได้
ในทางตรงกันข้าม ในความเห็นของชมิทท์นั้น สิ่งที่มีความสำคัญมากกว่าความเป็นมิตร ก็คือความเป็นศัตรู ดังที่ชมิทท์กล่าวไว้ใน Glossarium ว่า "บอกว่าศัตรูเป็นใคร ก็เท่ากับบอกว่าคุณเป็นใคร"(41) ซึ่งเท่ากับว่าศัตรูคือสิ่งที่กำหนดความเป็นตัวเรา และเพราะเราแยกแยะความเป็นตัวเราเองออกจากศัตรูได้ เราจึงดำรงอยู่.
หัวใจของการเมืองแบบชมิทท์อยู่ที่บอกว่าศัตรูของเราเป็นใคร แต่จะบอกว่าเราเป็นใครจากการรู้ว่าศัตรูเป็นใครได้ ก็ต้องรู้ว่าศัตรูคืออะไรก่อน สำหรับชมิทท์แล้ว ศัตรูไม่ใช่คู่แข่งขันหรือคู่ขัดแย้งในความหมายทั่วๆ ไป ในขณะเดียวกัน ศัตรูก็ไม่ใช่เรื่องของความเกลียดชังระหว่างบุคคลประเภทว่าใครไม่ถูกกับใคร
ในทางตรงกันข้าม ศัตรูของชมิทท์จะดำรงอยู่ก็ต่อเมื่อเกิด - หรืออย่างน้อยก็มีแนวโน้มที่จะเกิด - "การต่อสู้รวมหมู่โดยประชาชนเพื่อเผชิญหน้ากับการต่อสู้รวมหมู่อื่นๆ" (one fighting collectivity of people confronts a similar collectivity) ศัตรูในที่นี้จึงเป็นศัตรูของสาธารณะ (public enemy) ไม่ใช่ศัตรูส่วนบุคคล เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ความเป็นศัตรูต่อกันในทางการเมืองจึงอาจจะเป็นเรื่องเดียวกันกับความเกลียดชังระหว่างบุคคลหรือไม่ก็ได้(42)
ชมิทท์อธิบายเอาไว้บ้างว่า ลักษณะพื้นฐานของความเป็นศัตรูสาธารณะนั้นคืออะไร ดังที่เขากล่าวต่อไปว่า ความเป็นศัตรูนั้น "เป็นศัตรูโดยธรรมชาติ, ศัตรูที่ความเป็นศัตรูเกิดจากบัญชาของพระเจ้า" หรือ 'the natural enemy, the providential enemy whose enmity is put into him by God'(43) ซึ่งทำให้ ไฮน์ริช ไมเออร์ วินิจฉัยว่าชมิทท์นั้น ดูเหมือนจะเชื่อว่าความเป็นศัตรูเป็นส่วนหนึ่งของระเบียบอันศักดิ์สิทธิ์ ส่วนสงครามก็คือสิ่งที่สวรรค์บัญชา(44)
แต่การนิยามว่า ความเป็นศัตรูเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติเช่นนี้ เป็นคำนิยามที่เต็มไปด้วยความกำกวม เพราะความเป็นศัตรูโดยธรรมชาตินั้น เป็นนามธรรมจนไม่อาจจับให้มั่นคั้นให้ตายลงไปได้ และถ้าจะถือว่าความเป็นศัตรูโดยธรรมชาติ เป็นสิ่งที่มีรากฐานมาจาก Volk หรือท้องถิ่น Mark Lilla ก็ได้โต้แย้งไว้ว่า มโนทัศน์เรื่อง Volk ของชมิทท์เป็นสิ่งที่คลุมเครือมาโดยตลอด. ปัญหาว่าศัตรูสาธารณะคืออะไรจึงเป็นปัญหาที่ชมิทท์ ไม่เคยตอบเอาไว้อย่างชัดเจน
อย่างไรก็ดี ในงานเขียนช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองอย่าง Ex Captivitate Salus Erfahrungen der Zeit ชมิทท์ได้อธิบายความหมายของความเป็นศัตรูเพิ่มเติมต่อไปว่า "ศัตรูคือคนที่ทำให้ 'เรา' ประสบปัญหา" โดยที่คนที่สามารถทำให้ 'เรา' ประสบปัญหาได้นั้น เป็นไปได้แม้กระทั่งคนที่ถือว่า เป็นพี่น้องท้องเดียวกันอย่างคาอินและอาเบล บุตรชายทั้ง ๒ ของอดัมกับอีวา(45)
ส่วนความสัมพันธ์แบบวิภาษวิธีอันตึงเครียด ระหว่างตัวเรากับศัตรู ก็คือสิ่งที่ทำให้ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติเคลื่อนไหว จุดนี้เองที่ทำให้เกิดปัญหาว่า ในเมื่อชมิทท์ไม่เคยตอบให้ชัดเจนว่าลักษณะพื้นฐานของศัตรูคืออะไร ศัตรูที่ชมิทท์พูดถึงจึงเป็นไปได้ทั้งเสรีนิยม, สภาวะทางศีลธรรม, ลัทธิยูดาห์ หรือว่ายุคของความมั่นคง(46)
ถึงตรงนี้แล้วก็เท่ากับว่า ชมิทท์ กำลังทำให้เป็นไปได้ที่ความจำเป็นต้องมีศัตรู จะผสมปนเป หรืออาจกระทั่งขัดแย้งกับความเป็นศัตรูที่แท้จริงที่มีอยู่โดยธรรมชาติ. อย่างไรก็ดี สิ่งที่ชมิทท์พูดไว้ใน Glossarium ในช่วงปี ๑๙๔๗-๑๙๕๑ อาจช่วยให้เข้าใจได้ว่า ชมิทท์นิยามความเป็นศัตรูไว้อย่างไร ชมิทท์กล่าวไว้ในหนังสือเล่มนี้ว่า "ศัตรูที่แท้จริงได้แก่ การแทรกซึมเข้ามาของพวกคนผิว" และ "ยิวยังคงเป็นยิว ขณะที่คอมมูนิสต์นั้นปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงตัวเองได้" รวมทั้ง "เป็นศัตรูกับฮิตเลอร์ ดีกว่าเป็นมิตรหรือมีมนุษยธรรมกับพวกอพยพกลุ่มนี้"(47)
แต่การเน้นว่ายิวคือนิยามของความเป็นศัตรู ในโลกทัศน์ทางการเมืองของชมิทท์นั้น เป็นสิ่งที่ Joseph W.Bendersky ใน Carl Schmitt : Theorist of the Reich พยายามปฏิเสธ ดังที่เขากล่าวว่า ชมิทท์นั้น "พบอย่างลับๆ ว่าการเชื่อมโยงความคิดเรื่องเชื้อชาติกับความเป็นยิว เป็นเรื่องน่าขัน" ส่วนการที่ชมิทท์ร่วมงานกับนาซีนั้นก็เพราะ "หวังว่าเมื่อรัฐที่เข้มแข็งบังเกิดขึ้น พลเมืองในระดับเอกบุคคล จะได้รับอนุญาติให้ดำรงชีวิตในระดับส่วนตัวต่อไปได้ ภายใต้รัฐที่มีความมั่นคง"(48)
ปัญหาของคำอธิบายแบบนี้ก็คือ มันมีแนวโน้มจะเป็น counter-factual ต่อสิ่งที่ Stephen Holmes เรียกว่า "มายาคติแบบดั้งเดิมเกี่ยวกับชมิทท์" มากเกินไป จนทำให้ Bendersky ไปไกลถึงขั้นตีความชมิทท์แตกต่างอย่างสิ้นเชิง กับภาพของชมิทท์ที่ตัวชมิทท์สร้างขึ้นเอง(49) แต่การจะรู้ว่าภาพของชมิทท์ที่ตัวชมิทท์สร้างขึ้นเองนั้นคืออะไร ก็เป็นเรื่องที่กระทำได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเปรียบเทียบกับการรับรู้ภาพของชมิทท์ที่อยู่ในรูปของ "มายาคติแบบดั้งเดิม" ซึ่งนักเสรีนิยมอย่าง Holmes สร้างขึ้นมาว่า ชมิทท์คือนักทฤษฎีแห่งความชั่วร้าย.
การอธิบายว่า "การต้านยิว" คือใจกลางของความคิดทางการเมืองของชมิทท์เพียงหนึ่งเดียวนั้น ก็เป็นเรื่องน่าสงสัย เพราะคำอธิบายเช่นนี้วางอยู่บนความเข้าใจว่า ชมิทท์มุ่งเรียกร้องให้คนกลุ่มอื่นๆ ทำลายความเป็นยิว หรือ "ศัตรูสาธารณะ" ให้หมดไป ซึ่งหากผลักตรรกะข้อนี้ไปให้ถึงที่สุด ก็เท่ากับการเสนอว่า ความเป็นศัตรูไม่ใช่เรื่องที่มีความจำเป็น ความเป็นศัตรูไม่ใช่เรื่องธรรมชาติ และยิ่งไปกว่านั้น ความเป็นศัตรูยังเป็นสิ่งที่สามารถทำลายให้หมดไปได้ ส่วนความขัดแย้งระหว่างมิตรกับศัตรูไม่ใช่พลังที่ผลักดันให้ประวัติศาสตร์เดินไปข้างหน้า อีกต่อไป ทั้งที่หลักการทั้ง ๒ ประการนี้ ถือเป็นหลักการที่มีความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ในระบอบความคิดทางการเมืองของคาร์ล ชมิทท์ เลยทีเดียว.
ความคลุมเครือว่า "ใครคือศัตรู" จึงคงอยู่ในความคิดทางการเมืองของชมิทท์ต่อไป แต่เมื่อความเป็นศัตรูเป็นเรื่องของสาธารณะ การกำหนดหรือนิยามว่า ใครคือศัตรูก็ย่อมเป็นเรื่องที่ต้องกระทำในระดับสาธารณะตามไปด้วย กล่าวในแง่นี้แล้ว การเมืองของการแยกมิตรและศัตรูออกจากกัน จึงเป็นการเมืองที่จำเป็นต้องมีรัฐหรือองค์อธิปัตย์ เพื่อทำหน้าที่กำหนดว่าใครคือศัตรูของส่วนรวม และถ้ารัฐหรือองค์อธิปัตย์คือคนกลุ่มที่มีอำนาจวินิจฉัยว่า ใครคือศัตรูสาธารณะ นั่นก็หมายความว่า บทบาทที่สำคัญที่สุดของรัฐนั้นได้แก่การตัดสินใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ชมิทท์ใน Political Theology กล่าวไว้ว่า รัฐคือการตัดสินใจขั้นสูงสุด ซึ่งไม่จำเป็นต้องวางอยู่บนเหตุผลหรือมาจากการถกเถียงใดๆ(50)
หรือพูดอีกอย่างก็คือ รัฐสำหรับชมิทท์นั้นเป็น decisionism ซึ่งอยู่เหนือกฎหมาย, ศีลธรรม และระบบเหตุผลทั้งปวง เพราะรัฐเป็นองค์ประธานทางจริยธรรมของตัวเอง โดยไม่จำเป็นต้องขึ้นต่อปทัสถานทางจริยธรรมอื่นใด(51) หรือพูดในเชิงเปรียบเปรยก็ได้ว่ารัฐคือพระเจ้าผู้ซึ่งเราไม่มีวันหยั่งถึงเจตจำนงค์ของพระองค์ได้นั่นเอง (a willful and inscrutable God)(52)
จุดนี้เองที่ทำให้คนจำนวนไม่น้อยลงความเห็นว่า ชมิทท์คือ เวอร์ชั่นใหม่ของความคิดแบบฮอบส์เซียน เพราะชมิทท์เห็นว่า ปัญหาใหญ่สุดของการเมืองในสมัยของเขา คือการเสื่อมสลายลงไปของรัฐ ในฐานะที่เป็นองค์อธิปัตย์สูงสุดเหนืออำนาจการเมืองทั้งปวง การเสื่อมสลายของรัฐนำไปสู่ภาวะไร้ระเบียบ และมีแต่องค์อธิปัตย์สูงสุดเท่านั้น ที่จะทำให้ภาวะสันติกำเนิดขึ้นมาแทนที่ความไร้ระเบียบได้(53)
ข้อที่ต้องเน้นก็คือ ชมิทท์คิดถึงภาวะสันติในแง่ที่เป็นภาวะสันติแบบสัมบูรณ์หรือ 'total peace'(54) และองค์อธิปัตย์ที่จะทำให้เกิดภาวะเช่นนี้ได้ จึงต้องเป็นองค์อธิปัตย์ที่เป็นเอกภาพและเป็นหนึ่งเดียว ซึ่งคล้ายคลึงกับฮอบส์ที่เห็นว่า องค์อธิปัตย์หรือ Leviathan คืออำนาจปกครองที่มีเป้าหมาย เพื่อสร้างภาวะสันติและพิทักษ์รักษาสังคม(55) และเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายนี้ องค์อธิปัตย์จึงต้องอยู่ในสถานะสูงสุด, เป็นเอกและเป็นหนึ่งเดียวเหนือสังคม(56).
องค์อธิปัตย์แบบของฮอบส์ เกิดขึ้นจากการที่สมาชิกทั้งปวงของชุมชนตกลงที่จะมอบอำนาจในการปกครองชุมชนให้แก่องค์อธิปัตย์นั้นๆ เหตุที่ทำให้สมาชิกทั้งปวงของชุมชนยอมสละตัวเอง เข้าไปอยู่ในเจตจำนงของอำนาจอันเป็นเอกดังนี้ ก็เพราะสมาชิกของชุมชน ไม่ต้องการอยู่ใต้ภาวะไร้ระเบียบจากความไม่สงบภายใน และการคุกคามจากศัตรูภายนอกอีกต่อไป การที่เอกบุคคลตกลงใจเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐหรือองค์อธิปัตย์นั้น เป็นไปดังสภาพที่ฮอบส์บรรยายเอาไว้ว่า "ข้าพเจ้ายอมรับและมอบสิทธิในการปกครองตัวเอง ให้แก่บุคคลผู้นี้ หรือที่ประชุมแห่งนี้ บนเงื่อนไขดังที่กล่าวมา ข้าพเจ้าจะยอมรับการกระทำทั้งปวงของบุคคลหรือที่ประชุมแห่งนี้ ที่อยู่ในลักษณะเช่นนี้"(57)
และเมื่อถึงจุดนี้ สภาพที่รัฐหรือองค์อธิปัตย์มีอำนาจเหนือพลเมืองหรือ subjects จึงบังเกิดขึ้นมา. กำเนิดขององค์อธิปัตย์ของฮอบส์จึงแตกต่างจากกำเนิดขององค์อธิปัตย์แบบชมิทท์ และรูปร่างขององค์อธิปัตย์แบบฮอบส์ ก็แตกต่างจากรูปร่างขององค์อธิปัตย์แบบชมิทท์ด้วย
ในส่วนของการกำเนิดขึ้นขององค์อธิปัตย์นั้น เป็นที่ทราบกันดีว่าฮอบส์มองการกำเนิดขึ้นขององค์อธิปัตย์ โดยเชื่อมโยงกับความคิดเรื่องสัญญาประชาคม ซึ่งนั่นเท่ากับว่าองค์อธิปัตย์ย่อมมีพันธะบางอย่างต่อพลเมืองใต้สังกัด โดยเฉพาะพันธะต่อกฎธรรมชาติชนิดที่ฮอบส์ใน Leviathan เรียกว่า 'Equity'(58) ซึ่งได้แก่การมีชีวิตที่ปลอดภัยและปราศจากการคุกคามของเพทภัยใดๆ, การมีสิทธิที่เท่าเทียมกัน ในอันที่จะมีทรัพย์สินเอกชน และการสิทธิในการเข้าถึงประโยชน์สาธารณะ (public property) ที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิต(59) และเมื่อเป็นเช่นนี้ อำนาจขององค์อธิปัตย์จึงต้องถูกใช้ไปอย่างเที่ยงธรรม และไม่อยู่ภายใต้ประโยชน์ของเอกบุคคลรายใดๆ.
สำหรับรูปร่างขององค์อธิปัตย์แบบฮอบส์นั้น ก็เป็นไปได้ทั้งสมบูรณาญาสิทธิ์, ประชาธิปไตย หรือคณาธิปไตย(60) ประเด็นก็คือ ฮอบส์มองว่า ทุกรัฐต้องมีองค์อธิปัตย์ มิฉะนั้น สภาวะสงครามก็จะกลับฟื้นคืนขึ้นมาใหม่ องค์อธิปัตย์หมายถึง บุคคลหรือกลุ่มบุคคลซึ่งที่มีอำนาจสูงกว่าทุกฝ่ายในรัฐนั้นๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ ความเป็นประมุขของรัฐ กับความเป็นองค์อธิปัตย์แห่งรัฐจึงไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องเดียวกัน ดังที่กษัตริย์ในรัฐสปาร์ตา ก็ไม่ได้เป็นองค์อธิปัตย์ของรัฐแห่งนี้แต่อย่างใด(61)
แต่การกล่าวว่า องค์อธิปัตย์สามารถอยู่ในรูปของสมบูรณาญาสิทธิ์หรือประชาธิปไตยก็ได้นั้น ย่อมเท่ากับว่า ความคิดทางการเมืองแบบฮอบส์เห็นว่า เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ หากฝ่ายประชาธิปไตยจะกลายเป็นองค์อธิปัตย์ขึ้นมา ถึงแม้ฮอบส์จะระบุว่า ความเป็นองค์อธิปัตย์แบบกลุ่มนั้น ท้ายที่สุดย่อมปิดฉากลงด้วยการเป็นเวทีของผู้นำ ที่ยึดถือแต่ผลประโยชน์ส่วนตัวไม่กี่ราย ซึ่งการแย่งชิงผลประโยชน์ในหมู่ผู้นำ จะทำให้ประโยชน์สาธารณะเสียหาย(62) ขณะที่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์นั้น ผลประโยชน์ส่วนตัวของกษัตริย์ กับ ผลประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนจะเป็นหนึ่งเดียวกัน ซึ่งมีนัยๆ ว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์คือระบอบที่ดีที่สุดก็ตาม(63)
แต่ความคิดของชมิทท์ ว่าด้วยกำเนิดและรูปร่างขององค์อธิปัตย์มีลักษณะแตกต่างไปจากฮอบส์ เพราะสำหรับชมิทท์แล้ว องค์อธิปัตย์ได้แก่ใครก็ได้ที่ทำการตัดสินว่าอะไรที่ไม่ใช่พวกเรา(64) และคือใครก็ตาม ที่ทำหน้าที่ตัดสินใจในสถานการณ์พิเศษ ดังประโยคที่มีชื่อเสียงของชมิทท์ที่ว่า 'Souveran ist, wer uber den Ausnahmezustand entscheidet'(65)
ต้องไม่ลืมว่าในสายตาของชมิทท์นั้น สารัตถะของความเป็นการเมือง ขึ้นอยู่กับการแบ่งแยกระหว่าง "เขา" กับ "เรา" การยกอำนาจในการวินิจฉัยความเป็นเขาและความเป็นเราไปให้แก่องค์อธิปัตย์ จึงหมายความว่าองค์อธิปัตย์นั่นเอง ที่มีหน้าที่กำหนดสารัตถะของความเป็นการเมืองเรื่อง "เขา" กับ "เรา" และกระทำการในนามของ "เรา" เพื่อต่อต้าน "เขา" ในลักษณะเดียวกับที่ Leviathan ของฮอบส์มีชัยเหนืออสูรกายที่โหดร้ายอย่าง Behemoth ซึ่งเป็นสิ่งที่ฮาเบอร์มาสวิจารณ์ว่า "เขา" ของชมิทท์นั้น ไม่ใช่อื่นใด นอกจากพลังฝ่ายปฏิวัติ
นัยยะของฮาเบอร์มาสก็คือ ความคิดทางการเมืองของชมิทท์มีเป้าหมายอยู่ที่การต่อต้านการปฏิวัติ และด้วยเหตุที่การปฏิวัติมักเริ่มต้นจากการโต้แย้งว่า อะไรคือความถูกต้องและความยุติธรรม วิธีคิดทางการเมืองที่มุ่งต่อต้านการปฏิวัติของชมิทท์ จึงตอบโต้โดยเสนอว่า มีแต่องค์อธิปัตย์เท่านั้น ที่จะมีอำนาจในการบอกว่าอะไรคือความถูกต้องหรือความยุติธรรมได้ หรือพูดอีกอย่างก็คือ ชมิทท์กำลังยกอำนาจในการกำหนดความเชื่อในระดับสาธารณะของพลเมือง ไปไว้ให้แก่รัฐนั่นเอง(66)
ชมิทท์กล่าวถึงเรื่องขององค์อธิปัตย์ต่อไปอีกว่า "ไม่ว่าจะมองในแง่ทฤษฎี หรือการปฏิบัติ การจะนิยามอำนาจอธิปไตยให้เป็นนามธรรมอย่างไรก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญ ความคิดที่เป็นนามธรรมในเรื่องนี้เป็นสิ่งที่โต้เถียงไม่ได้ แต่ข้อที่โต้เถียงได้ก็คือ เรื่องในระดับที่จับต้องได้จริงๆ และนี่หมายความว่าองค์อธิปัตย์ได้แก่ใครก็ตามที่ทำหน้าที่ตัดสินใจ ว่าอะไรคือประโยชน์ของสาธารณะหรืออะไรคือประโยชน์ของรัฐ อะไรคือความสงบสุขและความปลอดภัยของส่วนรวม ในสถานการณ์พิเศษซึ่งจะเป็นอันตรายต่อการดำรงคงอยู่ของรัฐ ซึ่งทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นสิ่งที่กฎหมายไม่ได้บัญญัติเอาไว้"(67)
สำหรับชมิทท์แล้ว สภาวะของความเป็นองค์อธิปัตย์ไม่ได้อยู่ภายใต้บทบัญญัติของตัวบทกฎหมายใดๆ ส่วนความชอบธรรมขององค์อธิปัตย์ ก็ไม่ได้มีที่มาจากความชอบธรรมตามที่กฎหมายกำหนดไว้ และฉะนั้น องค์อธิปัตย์จึงไม่จำเป็นต้องมาจาก "ประชาชน"(68) แม้องค์อธิปัตย์ของชมิทท์จะมีสภาพไม่ต่างไปจากสิ่งที่ไฮเดกเกอร์เรียกว่า Dasein แต่ทั้งหมดนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่า ชมิทท์กำลังเสนอให้องค์อธิปัตย์เป็นกองกำลังติดอาวุธซึ่งอยู่นอกกฎหมาย ชมิทท์มองความคิดเรื่ององค์อธิปัตย์ โดยเชื่อมโยงกับความคิดเรื่องเขตแดน (territory) กล่าวคืออำนาจบังคับใช้ของกฎหมายจำกัดอยู่เฉพาะในขอบเขตของดินแดนหนึ่งๆ และก็เป็นองค์อธิปัตย์นั่นเองที่ทำหน้าที่สร้าง และรักษาขอบเขตของความเป็นเขตแดนนั้นเอาไว้
กล่าวในแง่นี้แล้วก็เท่ากับว่า องค์อธิปัตย์คือ ฝ่ายที่สร้างเงื่อนไขให้หลักการปกครองโดยกฎหมายเป็นไปได้ หรือพูดอีกอย่างก็คือ ถ้าปราศจากองค์อธิปัตย์ ก็ย่อมไม่มีกฎหมาย องค์อธิปัตย์จึงอยู่นอกและเป็นอิสระจากการบังคับของกฎหมาย(69) แต่ถึงอย่างนั้น การใช้อำนาจขององค์อธิปัตย์ก็ต้องคำนึงถึง และเป็นไปเพื่อฟื้นฟูระเบียบของสังคม ดังที่ชมิทท์เองได้กล่าวไว้ใน Political Theology ว่า "ภายใต้สภาวะแบบนี้ ระเบียบในความหมายของความยุติธรรมจะยังคงอยู่ต่อไป แม้จะไม่ใช่ในลักษณะที่คุ้นเคยก็ตาม"(70)
การกล่าวถึงภาวะไร้ระเบียบและการเสนอให้มีรัฐอธิปัตย์ขึ้นมาเพื่อธำรงรักษาระเบียบนั้น จะว่าไปแล้วก็เป็นเสมือน stigma ของสินค้าทางการเมืองที่มีชื่อว่าฮอบส์ ส่วนความคิดเรื่ององค์อธิปัตย์ของชมิทท์นั้น ก็มีแง่มุมที่แตกต่างจากฮอบส์ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว แต่นอกเหนือไปจากเรื่ององค์อธิปัตย์ งานเขียนของชมิทท์ก็ยังมีความเป็นเทววิทยาเหนือกว่าฮอบส์ด้วย เพราะฮอบส์นั้นดูจะไม่เชื่อในการมีอยู่ของพระเจ้า ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุทางอภิปรัชญา หรือด้วยความที่มันพิสูจน์ไม่ได้ก็ตาม(71)
ด้วยเหตุฉะนั้น ชมิทท์ใน Leviathan in the State Theory of Thomas Hobbes จึงโจมตีฮอบส์ว่า ทำให้เกิดรัฐเสรีนิยมอันเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ที่มนุษย์กระทำต่อพระเจ้า เพราะรัฐเสรีนิยมแบบฮอบส์นั้น มีเป้าหมายเพื่อปฏิเสธความเป็นศัตรูอย่างยั่งยืน อันเป็นสิ่งพระผู้เป็นเจ้าทรงพระบัญชาไว้(72) ซึ่งเมื่อคำนึงถึงการที่ชมิทท์นิยามการเมืองว่าคือ เรื่องของการแยกมิตรและศัตรูแล้ว คำโจมตีฮอบส์เช่นนี้ย่อมมีนัยยะเท่ากับว่า ในสายตาของชมิทท์นั้น ฮอบส์คือปัญหา ไม่ใช่ทางออก เพราะความคิดของฮอบส์มีส่วนช่วยสถาปนาโลกที่ถูกทำลายความเป็นการเมือง (Depoliticized World).
แต่การประเมินว่าชมิทท์เป็นนักเทววิทยาก็เป็นสิ่งที่คนจำนวนมากโต้แย้ง ชมิทท์เขียนงานไว้มากมายและงานในแต่ละยุคก็มีความเป็นเทววิทยามากน้อยไม่เหมือนกัน ความเป็นเทววิทยาจะปรากฎอย่างเห็นได้ชัดในงานอย่าง Roman Catholicism and Political Form ซึ่งชมิทท์ยกย่องว่าคาธอลิคคำนึงถึงสารัตถะของความเป็นมนุษย์มากกว่าทุนนิยม, เสรีนิยม และคอมมูนิสต์ คาธอลิคจึงเป็นตัวแทนของมนุษยภาพและเป็นเข็มทิศชี้นำชีวิตมนุษย์(73) ภายใต้การนำของคาธอลิค ความคิดทางการเมืองที่เป็นขั้วตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิงอย่างเสรีนิยมและสังคมนิยมแบบยุโรปตะวันตก จึงสามารถร่วมมือและประนีประนอมกันได้ เพื่อต่อต้านศัตรูร่วม อันได้แก่พวกอนาธิปไตยในโซเวียตรัสเซีย
แต่เมื่อชมิทท์ถูกขับออกจากศาสนาในปี ค.ศ.๑๙๒๖ ผลที่ตามมาคือชมิทท์หันไปโจมตีคาธอลิคและสันตะปาปาอย่างรุนแรง และข้อสังเกตของลีโอ สเตร้าส์ ก็คืองานเขียนของชมิทท์ในช่วงระหว่าง ปี ค.ศ.๑๙๒๗-๑๙๓๒ ไม่ได้อาศัยเทววิทยาเป็นแหล่งที่มาของทฤษฎีการเมืองอีกต่อไป. ความแตกต่างของฮอบส์และชมิทท์ มีที่มาจากการมองสภาวะธรรมชาติที่แตกต่างกันด้วย
ฮอบส์พูดถึงสภาวะธรรมชาติว่า เป็นเรื่องของความไร้ระเบียบและสงครามที่แต่ละปัจเจกบุคคลกระทำต่อกัน และฉะนั้น จึงจำเป็นต้องมีองค์อธิปัตย์เพื่อยกเลิกสภาวะเช่นนี้ ขณะที่ชมิทท์พูดถึงสภาวะเดียวกันนี้ในแง่ที่เป็นสงครามระหว่างกลุ่มหรือสาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือชาติ และนั่นทำให้เป็นหน้าที่ขององค์อธิปัตย์ที่จะต้องรักษาทำการแยกมิตรแยกศัตรู และรักษาความเป็นศัตรูที่ยั่งยืนเอาไว้(74)
สำหรับชมิทท์ ความคิดในการทำให้การเมืองเป็นเรื่องความสงบสุขและอยู่ในระเบียบเรียบร้อยนั้น ท้ายที่สุดแล้วย่อมส่งผลเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจากทำให้รัฐต้องตกอยู่ภายใต้ผลประโยชน์ของเอกชนและ "สังคม"(75) ข้อที่น่าสนใจก็คือชมิทท์ได้กล่าวเอาไว้ใน The Concept of the Political ว่าภาวะสันติชนิดที่เขาต้องการนั้น ได้แก่ภาวะสันติที่เรียกว่า 'total peace'(76) หรือภาวะสันติแบบเต็มรูป ซึ่งจะได้มาก็โดยการยอมรับให้รัฐหรือองค์อธิปัตย์มีอำนาจอย่างเต็มที่ ที่จะวินิจฉัยว่าใครคือศัตรูของสาธารณะ โดยที่ศัตรูของสาธารณะไม่ได้มีแต่ศัตรูที่มาจากภายนอกเท่านั้น เพราะในสถานการณ์ที่มีลักษณะพิเศษ (critical situation) นั้น รัฐจำเป็นต้องระบุให้ได้ว่าใครคือ "ศัตรูภายใน" (domestic enemy)(77) ซึ่งนั่นก็เท่ากับว่าความเป็นศัตรู เป็นสิ่งที่ต้องสร้างและธำรงรักษาให้ดำรงอยู่ต่อไปตลอดเวลา
ส่วนรัฐเองก็มีสิทธิจะเรียกร้องให้สมาชิกในชุมชนการเมืองแห่งนั้น เสียสละแม้แต่ชีวิตเพื่อภารกิจในการกำจัดศัตรูอย่างไม่รีรอ(78) โดยที่ในเรื่องของรัฐนั้น ชมิทท์ก็ได้แบ่งรัฐออกเป็น ๒ ชนิด คือ quantitative total state ซึ่งขึ้นต่อและตอบสนองกลุ่มทางสังคมที่เป็นปรปักษ์กัน และ qualitative total state ที่รักษาระเบียบสังคม ด้วยการกดข่มความเป็นปรปักษ์ภายในและปกป้องการคุกคามโดยศัตรูภายนอก(79) เมื่อถึงจุดนี้จึงเห็นได้ชัดว่า total peace ที่ชมิทท์ต้องการ กับความคิดเรื่อง qualitative total state เป็นเสมือนสองด้านของเหรียญเดียวกัน.
เมื่อพูดถึงการยอมรับให้รัฐอธิปัตย์มีอำนาจอย่างเต็มที่ในการวินิจฉัยความเป็นศัตรูของสาธารณะ ก็ชวนให้คิดต่อไปถึงเรื่องของการใช้อำนาจแบบเผด็จการ อันเป็นสิ่งที่คนจำนวนไม่น้อยใช้เป็นข้อโจมตีความคิด และพฤติกรรมทางการเมืองของคาร์ล ชมิทท์ มาโดยตลอด
ดังคำกล่าวของฮาเบอร์มาสที่ว่าความคิดแบบชมิทท์จะทำให้เกิด Fuhrerdemokratie อันเป็นพื้นฐานของทฤษฎีอำนาจนิยม(80) แต่ความคิดเรื่องความเป็นเผด็จการ นั้น ก็เป็นสิ่งมีมีความลักลั่นกำกวม ในระบบความคิดของชมิทท์อยู่ไม่น้อย
กล่าวคือ ชมิทท์ในบทความที่เขียนขึ้นเมื่อ ปี ๑๙๒๑ ซึ่งมีชื่อว่า Dictatorship ได้จำแนกแยกแยะเผด็จการออกเป็น ๒ ประเภท ได้แก่ commissarial dictatorship หรือเผด็จการที่มีลักษณะชั่วคราว ซึ่งมุ่งฟื้นฟูระเบียบกฎหมายที่มีอยู่ ซึ่งพูดง่ายๆ ก็คือการประกาศใช้อำนาจฉุกเฉินในสถานการณ์พิเศษ กับ sovereign dictatorship ซึ่งหมายถึงการเปลี่ยนแปลงแบบปฏิวัติของคนในสถานะดั้งเดิม เพื่อสร้างระเบียบกฎหมายและการเมืองชนิดใหม่(81) อันเป็นสิ่งที่ถือได้ว่าเป็นอำนาจเผด็จการเต็มรูป(82)
ในทรรศนะของชมิทท์ การยอมรับเผด็จการประเภทแรก เป็นเรื่องที่มีความจำเป็น เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงการบังเกิดขึ้นของเผด็จการประเภทหลัง(83) คำถามคือคำอธิบายของชมิทท์ว่า เผด็จการมี ๒ ประเภท เพื่อยืนยันถึงความจำเป็นของการมีเผด็จการชั่วคราว เพื่อป้องกันการเกิดขึ้นของเผด็จการถาวรเช่นนี้ เป็นเพียงโวหารทางการเมืองเพื่อผลักดันให้เป้าหมายทางการเมืองบางอย่างบรรลุผลในทางปฏิบัติ หรือว่าเป็นผลจากการคิดอย่างจริงจังของนักคิดชาวเยอรมันคนนี้กันแน่?
ไม่มีใครตอบปริศนาข้อนี้ได้ นอกจากตัวชมิทท์เอง แต่ข้อที่น่าพิจารณาก็คือ Dictatorship ไม่ได้เป็นครั้งแรกที่ชมิทท์แสดงความเห็นเช่นนี้เอาไว้ ในทางตรงกันข้าม ในบทความเรื่อง Dictatorship and the State of Siege ซึ่งตีพิมพ์ในปี ๑๙๑๗ ก็ปรากฏความเห็นทำนองเดียวกันนี้ไว้เช่นเดียวกัน โดยชมิทท์ในบทความชิ้นนี้ยืนยันว่า การใช้อำนาจฉุกเฉินของนายพลฮินเดนเบิร์กและลูเดนดอร์ฟมีความจำเป็น ในขณะเดียวกัน การยกเลิกการแบ่งแยกอำนาจนิติบัญญัติกับอำนาจบริหารออกจากกันก็เป็นเรื่องที่ชอบธรรม ซึ่งเป็นท่าทีที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับสำนักคิด Rechstatt ของปัญญาชนเยอรมันในเวลานั้น ซึ่งเน้นไปที่การสร้างรัฐที่มีกฎหมายเป็นฐาน หรือ law-based state(84)
ในปี ๑๙๘๖ อันเป็นช่วงที่ John McCormick ถือว่าเป็น "คลื่นลูกแรก" ของการปรากฎขึ้นของชมิทท์ในโลกภาษาอังกฤษนั้น นักคิดชาวเยอรมันคนสำคัญอย่าง ฮาเบอร์มาส ประเมินเอาไว้ว่า ชมิทท์ไม่น่าจะมีอิทธิพลเหนือโลกตะวันตกได้มากมายนัก เพราะงานเขียนของชมิทท์เกี่ยวข้องกับปัญหาและข้อวิวาทะชนิดที่เป็นลักษณะเฉพาะของความเป็นเยอรมันโดยแท้
อย่างไรก็ดี สิ่งที่เกิดขึ้นในโลกตะวันตกทุกวันนี้ก็คือ ชมิทท์ถูกยกย่องว่าเป็นนักทฤษฎีการเมืองที่สำคัญที่สุดคนหนึ่งของศตวรรษนี้ การกลับไปหางานเขียนของชมิทท์ชิ้นต่างๆ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไม่ขาดสาย ส่วนอิทธิพลที่ชมิทท์มีต่อปัญญาชนคนอื่นๆ ก็ปรากฏให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นลีโอ สเตร้าส์, ฟรีดีช ฮาเย็ก, โจเซฟ ชุมปีเตอร์, วอลเทอร์ เบนจามิน, ฮันส์ มอร์เกนเธาว์ ซึ่งนั่นย่อมเป็นอะไรมากกว่าที่ฮาเบอร์มาสเคยประเมินไว้
หรือในอีกแง่หนึ่ง สภาพเช่นนี้ก็เท่ากับว่างานเขียนของชมิทท์ต้องพูดถึงปัญหาอะไรสักอย่างที่เป็นสากลพอสมควร แต่คำถามคือ แล้วความเป็นสากลที่ว่านั้นคืออะไรกันแน่? กล่าวอย่างรวบรัดที่สุดแล้ว ชมิทท์เผยให้เห็นถึงความว่างเปล่า และไร้แก่นสารของภาพลวงตาว่าด้วยชัยชนะของเสรีประชาธิปไตย ข้อค้นพบของชมิทท์ประการนี้มีนัยยะสำคัญอยู่ไม่น้อย เพราะเมื่อยอมรับว่าความคิดเรื่องชัยชนะของเสรีประชาธิปไตยเป็นเรื่องเหลวไหล นั่นก็หมายความว่าเสรีนิยมไม่ได้เป็นสัจธรรมสมบูรณ์ที่ถูกทำให้เป็นจริง (realization) ไปเรียบร้อยแล้ว และฉะนั้น ประวัติศาสตร์จึงยังไม่ได้ดำเนินมาถึงจุดจบอย่างที่ฟรานซิส ฟุกุยามา ว่าไว้แต่อย่างใด
ในทางตรงกันข้าม เสรีนิยมและประชาธิปไตยมีธรรมชาติที่ไปด้วยกันไม่ได้ เพราะความเป็นประชาธิปไตยนั้น เน้นไปที่ "ความเหมือน" ซึ่งวางอยู่บนความคิดเรื่องความเป็นพลเมือง ขณะที่เสรีนิยมเน้นไปที่คติเรื่อง "ความต่าง" ระหว่างเอกบุคคล(85ป โดยผลของการอยู่ร่วมกันอย่างเข้ากันไม่ได้นื้ก็คือ การที่เสรีประชาธิปไตยกลายเป็นระบบของความง่อยเปลี้ยและปราศจากน้ำยา ไม่ต่างไปจากประชาธิปไตยรัฐสภาที่กลายเป็นเวทีของคนชั้นสูงจำนวนน้อย และพวกมือถือสากปากถือศีล (hypocrite).
ในสายตาของชมิทท์นั้น ประชาธิปไตยคือต้นตอของปัญหาทั้งหมดนี้ ด้วยเหตุฉะนั้น ความเป็นประชาธิปไตยนั่นเอง จึงเป็นสิ่งที่ต้องถูกสกัดทิ้งไป แล้วโอนคืนความสำคัญทางการเมืองกลับไปที่รัฐอธิปัตย์ ซึ่งจะทำหน้าที่ตัดสินว่าใครคือศัตรูทางการเมืองของสาธารณะในระดับมหภาค จากนั้น ผลที่จะตามมาก็คือ การเกิดสภาพอย่างเดียวกับที่ Ernst Junger ในบันทึกระหว่างสงครามที่มีชื่อว่า "In Stahlgewittern" เรียกว่า 'storms of steel' ซึ่งก็คือภาวะที่ประชาชนร้อยรัดเป็นอันหนึ่งอันเดียว เพื่อต่อต้านศัตรูที่มาจากภายนอกและ คนทรยศในหมู่ประชาชนเอง อันเป็นสิ่งฮาเบอร์มาสเห็นว่า มีอิทธิพลอย่างมากต่อความคิดเรื่องการเมืองของการแยกมิตรแยกศัตรูของ คาร์ล ชมิทท์(86)
เพราะเมื่อรัฐอธิปัตย์ มีอำนาจผูกขาดการตัดสินว่า ใครและอะไรคือศัตรูของสาธารณะ นั่นก็เท่ากับว่าสิ่งที่ชมิทท์ชิงชังอย่าง "อุปสงค์ประชาธิปไตย" จะถูกทำให้หมดพลังและหมดความหมายไปโดยปริยาย ด้วยเหตุที่ทุกฝ่ายในสาธารณะล้วนมีศัตรูร่วมกัน ที่อะไรบางอย่างซึ่งรัฐอธิปัตย์นิยามเอาไว้นั่นเอง.
ไม่มีปัญหาว่าความคิดทางการเมืองของชมิทท์นั้นทั้งแหลมคมและคงเส้นคงวา นอกจากนั้น วิธีการที่ชมิทท์ตั้งคำถาม และวิพากษ์วิจารณ์เสรีประชาธิปไตย ก็เป็นสิ่งที่มีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย แต่ข้อวิพากษ์วิจารณ์กับทางออกนั้นเป็นคนละเรื่องกัน และเราอาจเห็นด้วยกับคำวิพากษ์ของชมิทท์โดยไม่จำเป็นต้องยอมรับทางออก ซึ่งชมิทท์เสนอก็ย่อมได้
หัวใจของทางออกของชมิทท์ซึ่งอยู่ในรูปของการคืนความสำคัญทางการเมืองให้แก่รัฐอธิปัตย์นั้น วางอยู่บนการมองว่าการสาธารณะ-วิวาทะ (public discussion) ซึ่งมักเรียกกันอีกอย่างว่า deliberative democracy ทำงานไม่ได้(87) และความเชื่อว่ารัฐอธิปัตย์นั้นมีความสามารถในการหยั่งรู้และตัดสินใจว่า อะไรคือเจตจำนงทั่วไป
อย่างไรก็ดี ปัญหาของข้อเสนอนี้ก็คือ ชมิทท์ทำราวกับว่าการสาธารณะ-วิวาทะ เป็นเรื่องที่เป็นปัญหาโดยตัวมันเอง และมีแต่จะล้มเหลวตลอดไป ส่วนการโอนความสำคัญไปให้รัฐนั้น ก็ดูจะไม่ต่างอะไรจากคำวิพากษ์วิจารณ์ที่ชมิทท์มีต่อเสรีประชาธิปไตยว่า ทำให้การเมืองอยู่ใต้ความควบคุมของอภิสิทธิ์ชนชั้นสูงจำนวนน้อย
อิทธิพลของความคิดแบบเทววิทยา จากคริสตศาสนานิกายคาธอลิค อาจมีส่วนต่อความคิดของชมิทท์ข้อนี้ แต่นี่ก็ไม่ได้ช่วยให้ชมิทท์ดูมีลักษณะ double standard ในการวิจารณ์เสรีประชาธิปไตยน้อยลงไปแต่อย่างใด.
จุดที่น่าสนใจที่สุด ในความคิดทางการเมืองของชมิทท์ก็คือ การอธิบายว่าการเมืองเป็นเรื่องของการแยกมิตรและศัตรู แต่นิยามว่าอะไรคือศัตรูของชมิทท์นั้น คลุมเครือ และเน้นไปที่ความเป็นศัตรูที่มาจากภายนอกมากเกินไป ในขณะเดียวกัน ชมิทท์ก็อนุญาติให้รัฐกำหนดความเป็นศัตรูสาธารณะขึ้นมา เพื่อสร้างเอกภาพภายในประเทศ ซึ่งดูราวกับว่าถึงจุดหนึ่งแล้ว ความเป็นศัตรูก็เป็นเรื่องที่สามารถทำให้หายไปได้ ทั้งที่การเมืองที่มีการแบ่งแยกมิตรและศัตรูในระดับภายในประเทศอย่างชัดเจนนั้น เป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างมากต่อการถมจุดอ่อนของการสาธารณะ-วิวาทะ ในสังคมเสรีประชาธิปไตย เพราะปัญหาของการสาธารณะ-วิวาทะ ในสังคมเสรีประชาธิปไตย ก็คือมันทำให้การถกเถียงกลายเป็นได้อย่างดีที่สุดก็แค่เสรีภาพในการแสดงความเห็น ซึ่งปราศจากจุดหมาย(88)
แต่ทว่า ด้วยการที่คนแต่ละกลุ่มมีการกำหนดอย่างเคร่งครัดว่า จะเป็นพันธมิตรและเป็นศัตรูกับคนกลุ่มใด แล้วปล่อยให้คู่ขัดแย้งต่างฝ่ายต่างต่อสู้ซึ่งกันและกันอย่างเต็มที่ ลดความสำคัญของรัฐลงไป เพื่อให้การเผชิญหน้าของคู่ขัดแย้งดำเนินไปอย่างที่มันควรจะเป็น กระบวนการเช่นนี้จะทำให้แต่ละฝ่ายได้ในสิ่งที่ดีที่สุดที่ฝ่ายตนพึงจะมีได้ในเวลานั้น และในขณะเดียวกัน "อุปสงค์ประชาธิปไตย" นี้ก็จะไม่ทำให้สาธารณะกลับไปสู่ state of war เพราะท้ายที่สุดแล้ว ไม่มีอุปสงค์ใดดำรงอยู่ได้โดยปราศจากพื้นฐานบางอย่างร่วมกัน ซึ่งก็คืออุปทาน.
ชมิทท์เริ่มต้นจากการกล่าวว่าการเมืองคือเรื่องของความเป็นศัตรู ก่อนจะปิดฉากลงด้วยการเสนอให้รัฐกดข่มความเป็นศัตรูภายในเอาไว้ อย่างไรก็ดี สำหรับผู้เขียนแล้ว เราควรจะแทนที่ข้อเสนอของชมิทท์ด้วยข้อเสนอใหม่ที่ปล่อยความเป็นศัตรูของการเมืองภายในดำเนินไปอย่างเต็มที่ เพื่อให้เกิดผลอย่างที่มันควรจะเป็น.
บรรณานุกรม
(ไม่ได้เรียงตาม alphabetical order)
Horst Bredekamp, "Benjamin and Carl Schmitt", Critical Inquiry, Volume 25 No.2, Winter 1999. ------------- Joshua Cohen, "Procedure and Substance in Deliberative Democracy", in Democracy and Difference, edited by Seyla Benhabib (Princeton: Princeton University Press:1996) -------------- Renato Cristi, "Schmitt on Liberalism, Democracy and Catholicism", History of Political Thought, Volume XIV No.2, Summer 1993. -------------- Steven M.Delue, Political Thinking, Political Theory and Civil Society (Boston: Allyn&Bacon:1997) ------------- Shadia B.Drury, Leo Strauss and the American Right (New York: St. Martin's Press: 1999) ------------- Jurgen Habermas, "The Horrors of Autonomy : Carl Schmitt in English", in The New Conservatism (Cambridge: Polity Press: 1994) --------------- Paul Hirst, "Carl Schmitt's Decisionism", in The Challenge of Carl Schmitt , edited by Chantal Mouffe (London: Verso: 1999) -------------- Thomas Hobbes, Leviathan, edited by C.B.Macpherson (Harmondsworth: Penguin Books: 1981) -------------------- Stephen Holmes, "Carl Schmitt : Theorist of the Reich", The American Political Science Review, Volume 77 No.4, December 1983. ------------------- Mark Lilla, "The Enemy of Liberalism," New York Review of Books, 15 May 1997.--------------------- John McCormick, "Political Theory and Political Theology: The Second Wave of Carl Schmitt in English", Political Theory, Volume 26 No.6, December 1998. -------------- Ellen Meiksins Wood, The Retreat from Class : A New 'True' Socialism (London: Verso: 1998) --------------- Chantal Mouffe, "Carl Schmitt and the Paradox of Liberal Democracy, ", in The Challenge of Carl Schmitt , edited by Chantal Mouffe (London: Verso: 1999) ------------ Carl Schmitt, "Ethic of State and Pluralistic State", in The Challenge of Carl Schmitt , edited by Chantal Mouffe (London: Verso: 1999) -------------- Carl Schmitt, Political Romanticism (Cambridge: The MIT Press: 1986) -------------- Carl Schmitt, The Concept of the Political (Chicago: The University of Chicago Press: 1996) ----------------- Carl Schmitt, The Crisis of Parliamentary Democracy (Cambridge: The MIT Press: 1996) William Scheuerman, Carl Schmitt: The End of Law (New York: Rowman & Littlefield Publishing: 1999) -------------- Susan Shell, "Meier on Strauss and Schmitt", The Review of Politics, Volume 53 No.1, Winter 1991. --------------- Johann P.Sommerville, Thomas Hobbes:Political Ideas in Historical Context, (London: MacMillan: 1992) ----------------- Leo Strauss, "Note on Carl Schmitt",The Concept of the Political (Chicago: The University of Chicago Press: 1996) ------------------ Tracy B.Strong, "Forward", from The Concept of the Political (Chicago: The University of Chicago Press: 1996) -------------- Charles Taylor, Multiculturalism and 'The Politics of Recognition' (Princeton: Princeton University Press: 1992) ------------- James Wiley, "Mouffe and Schmitt", Theory and Event, Volume 3 No.2, 2000. ------------------- The Blackwell Encyclopedia of Political Thought, edited by David Miller (Oxford: Basil Blackwell: 1987) 01-8497098
End note
1 หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้ตีพิมพ์เป็นครั้งแรกใน รัฐศาสตร์สาร ปีที่ ๒๒ ฉบับที่ ๑ (๒๕๔๓), หน้า ๙๘-๑๒๙ โดยมี ธเนศ วงศ์ยานนาวา เป็นบรรณาธิการ. ------------ 2 Ellen Meiksins Wood, The Retreat from Class : A New 'True' Socialism, Verso, 1998, p.xii. -------------- 3 John McCormick, 'Political Theory and Political Theology: The Second Wave of Carl Schmitt in English,' Political Theory, Vol.26 No.6, December 1998, p.830. ------------- 4 Jurgen Habermas, 'The Horrors of Autonomy : Carl Schmitt in English,' The New Conservatism, Polity Press, 1994, pp.128-139. -------------- 5 Renato Cristi, 'Schmitt on Liberalism, Democracy and Catholicism,' History of Political Thought, Vol.XIV No.2, Summer 1993, p.284. ------------- 6 John McCormick, p.835. ----------------- 7 Carl Schmitt, Romischer Katholizismus und politische Form, p.10 อ้างจาก Renato Cristi, p.299. -------------- 8 James Wiley, 'Mouffe and Schmitt,' Theory and Event, Vol.3 No.2, 2000, p.3. ----------------- 9 Carl Schmitt, The Crisis of Parliamentary Democracy, The MIT Press, 1996, p.8. ---------------- 10 James Willey, p.2. --------------- 11 Carl Schmitt, 'Ethic of State and Pluralistic State,' from The Challenge of Carl Schmitt (edited by Chantal Mouffe), Verso, 1999, p.200. --------------- 12 Steven M.Delue, Political Thinking, Political Theory and Civil Society, Allyn&Bacon, 1997, p.2. ------------- 13 The Crisis of Parliamentary Democracy, p.21. --------------- 14 Ibid, p.48. ------------- 15 Renato Cristi, p.296. -------------- 16 The Crisis of Parliamentary Democracy, p.6. ----------------- 17 Ibid, p.24. ------------- 18 Ibid, p.25. ------------ 19 Ibid, p.29. -------------- 20 Carl Schmitt, Die Verfassunglehre (Munich: Dunker and Humblot, 1928), p.315 อ้างจาก William Scheuerman, Carl Schmitt: The End of Law, Rowman & Littlefield Publishing, 1999, p.41. ----------- 21 The Crisis of Parliamentary Democracy, p.25, 51. ----------------- 22 Die Verfassungleher, p.305 อ้างจาก Scheuerman, p.49. ----------------- 23 Renato Cristi, p.297. ------------------ 24 Ibid. -------------- 25 Jurgen Habermas, pp. 131-132. -------------- 26 The Crisis of Parliamentary Democracy, pp.49-50. -------------- 27 Jurgen Habermas, p.132. -------------- 28 Horst Bredekamp, 'Benjamin and Carl Schmitt,' Critical Inquiry, Winter 1999, pp.256-257. ------------ 29 Jurgen Habermas, p.130. ------------- 30 Mark Lilla, 'The Enemy of Liberalism,' New York Review of Books, May 15, 1997, p.42. ------------- 31 Ethic of State and Pluralistic State, p.196. -------------- 32 Ibid, p.198. ------------ 33 Carl Schmitt, The Concept of the Political, The University of Chicago Press, 1996, p.37. ------------- 34 Chantal Mouffe, 'Carl Schmitt and the Paradox of Liberal Democracy,' from The Challenge of Carl Schmitt, p.40. -------------- 35 Ibid., p.47. --------------- 36 Charles Taylor, Multiculturalism and 'The Politics of Recognition' ed. Amy Gutmann, Princeton University Press, 1992. --------------- 37 Ibid, p.39,50. ------------------- 38 The Crisis of Parliamentary Democracy, p.9. -------------- 39 Ibid., p.21. --------------- 40 The Concept of the Political, pp.26-27. --------------- 41 Mark Lilla, p.40. ----------------- 42 The Concept of the Political, pp. 28-29. ------------ 43 Ibid, p.68. -------------- 44 Mark Lilla, p.43. ------------ 45 Susan Shell, 'Meier on Strauss and Schmitt,' from The Review of Politics, Vol.53 Winter 1991 No.1, p.221. ------------ 46 Ibid, p.222. --------------- 47 Mark Lilla, p.38. -------------- 48 Stephen Holmes, The American Political Science Review, Vol.77 No.4, December 1983, p.1067. -------------- 49 Ibid, p.1066. ------------- 50 Carl Schmitt, Political Theology, MIT Press, 1988, p. 36 อ้างจาก Shadia B.Drury, Leo Strauss and the American Right, St. Martin's Press, 1999, p.82. -------------- 51 Ethic of State and Pluralistic State, p.196. -------------- 52 Shadia B.Drury, p.83. ------------------ 53 Ibid, p.88. ------------------ 54 The Concept of the Political, p.74. --------------- 55 Thomas Hobbes, Leviathan, edited by C.B.Macpherson, Penguin Books, 1981, pp. 227-228. -------------- 56 Steven M.Delue, p.116. ------------------ 57 Thomas Hobbes, p.227. ------------------ 58 Ibid., p.212. ----------------- 59 Steven M.Delue, pp.112-115. ---------------- 60 Johann P.Sommerville, Thomas Hobbes:Political Ideas in Historical Context, MacMillan, 1992, p.81. --------------- 61 Ibid., p.82. -------------- 62 Preston King, 'Sovereignty,' from The Blackwell Encyclopedia of Political Thought, edited by David Miller, Basil Blackwell, 1987, pp.492-494. -------------- 63 Johann P.Sommerville, p.86. --------------- 64 Political Theology, p.5 อ้างจาก Shadia B.Drury, p.86. --------------- 65 Benjamin and Carl Schmitt, p.252. --------------- 66 Jurgen Habermas, pp130-131. ------------ 67 Political Theology, p.6. -------------- 68 Paul Hirst, 'Carl Schmitt's Decisionism,' from The Challenge of Carl Schmitt, p.11. ------------- 69 Ibid., p.12. ------------- 70 Political Theology, p.12. ------------ 71 Johann P.Sommerville, pp.135-142. ----------- 72 Mark Lilla, p.39. -------------- 73 Roman Catholicism and Political Form, pp.12, 14, 18-19 ------------- 74 Leo Strauss, 'Note on Carl Schmitt,' from The Concept of the Political, p.90. ------------------ 75 Tracy B.Strong, 'Forward,' from The Concept of the Political, p.xiv-xv. -------------- 76 The Concept of the Political, p.46. -------------- 77 Ibid, pp.46-47. ------------- 78 Ibid, p.46. ----------------- 79 John P.McCormick, p.838. ------------ 80 Jurgen Habermas, p.139. ------------- 81 William E. Scheuerman, p.30. -------------- 82 Renato Cristi, p.287. ------------- 83 Mark Lilla, p.38. ------------ 84 William E. Scheuerman, pp.29-30. ------------- 85 Chantal Mouffe, p.40. -------------- 86 Jurgen Habermas, p.129. ----------------- 87 Joshua Cohen, 'Procedure and Substance in Deliberative Democracy,' in Democracy and Difference, edited by Seyla Benhabib, Princeton University Press, 1996, p.107. --------------- 88 The Crisis of Parliamentary Democracy, p.6,8. --------------
กลับไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา
e-mail
: midnightuniv(at)yahoo.com