ผลงานจิตรกรรม(ตัดตอนมาบางส่วน)ของ Chusin Setiadikara ศิลปินอินโดนีเซีย. ชื่อภาพ Kintamani สีน้ำมันบนผ้าใบ 1996-99
อภิญญา เฟื่องฟูสกุล, อานันท์ กาญจนพันธ์, ฉลาดชาย รมิตานนท์
จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 16-17 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งกลุ่มสมัชชาคนจนได้ปีนกำแพงเพื่อเข้าไปยังทำเนียบรัฐบาล โดยต้องการเรียกร้องความสนใจให้สื่อมวลชนต่างๆรายงานข่าวเกี่ยวกับปัญหาของสมัชชาคนจนนั้น การกระทำครั้งนี้ได้รับการสกัดกั้น และตอบโต้ด้วยการใช้วิธีการอันรุนแรงด้วยกระบอง โล่ และแก๊สน้ำตา พร้อมทั้งจับกุมสมัชชาคนจนไปถึง 225 คนโดยการตั้งข้อหาว่าบุกรุกสถานที่ราชการ เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้นักวิชาการทั่วประเทศที่รักความเป็นธรรม ลุกขึ้นมาเพื่อแสดงความคิดเห็นคัดค้านต่อการกระทำดังกล่าว ด้วยวิธีการอันรุนแรง
วันที่ 21 กรกฎาคม เวลา 10.00-12.30 น. นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จากหลายคณะ นักศึกษาปริญญาโทจากคณะสังคมศาสตร์ รวมทั้งองค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆในจังหวัดเชียงใหม่ ได้จัดให้มีการสัมนาเกี่ยวกับเรื่องนี้ขึ้นที่ศูนย์สตรีศึกษา ภายในมหาวิทยาลัยเดียวกัน การสัมนานี้ได้มีการพูดถึงเรื่องของอวิชชา ความบ้า และความรุนแรง ของรัฐบาลชุดชวน หลีกภัย กับกลุ่มสมัชชาคนจน ซึ่งกิจกรรมครั้งนี้ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้เก็บความบางส่วนมาจากวงสนทนา เพื่อเสนอต่อท่านผู้สนใจทุกท่านบน web site นี้
ดร.อภิญญา เฟื่องฟูสกุล จากภาควิชาสังคมวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้หนึ่งที่ได้เข้ามาร่วมในการสัมนา อาจารย์ได้นำเสนอประเด็นเกี่ยวกับเรื่องของความรุนแรง ซึ่งเก็บความมาได้ดังต่อไปนี้
ดร.อภิญญา เฟื่องฟูสกุล
เริ่มต้นด้วยการพูดถึงความรุนแแรงเอาไว้ในสองมิติ คือ 1. ความรุนแรงที่มองเห็น และ 2. ความรุนแรงที่มองไม่เห็น.
ในส่วนของความรุนแรงที่มองเห็นได้นั้น เห็นได้ชัดจากความรุนแรงในปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคมไทย กล่าวคือ กฎหมายต่างๆที่บัญญัติขึ้นมานั้น ถือเป็นเรื่องของความรุนแรงเชิงโครงสร้างโดยตรง นอกจากนี้ ปัญหาเกี่ยวกับการแย่งชิงทรัพยากร ระหว่างรัฐบาลบวกกับนายทุนใหญ่ที่แย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติไปจากชาวบ้าน ก็ถือเป็นเรื่องของความรุนแรงเชิงโครงสร้างแบบแรกนี้ด้วยเช่นกัน
ส่วนความรุนแรงที่มองไม่เห็นนั้น เป็นความรุนแรงในเชิงสัญลักษณ์ อย่างเช่น กรณีการกีดกันทางเพศ การแบ่งชนชั้นในสังคม การแบ่งแยกเผ่าพันธุ์ หรือคนชายขอบ ที่เป็นเรื่องของการลากเส้นแบ่งระหว่างตัวเรากับคนอื่น ถือเป็นความรุนแรงเชิงสัญลักษณ์ที่มองไม่เห็น ซึ่งกรณีนี้ ดร.อภิญญาได้ยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมบางประการขึ้นมา ซึ่งสอดคล้องกับเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นและเป็นข่าวดังที่รายงานแล้วข้างต้นคือ
สื่อมวลชนบางฉบับได้รายงานข่าวว่าม๊อบใช้ความรุนแรงบุกทำเนียบ อันนี้สมัชชาคนจนถูกสื่อรายงานว่าใช้ความรุนแรง แต่ในขณะเดียวกันนั้น กฟผ.ก็ได้ส่งคนของตนไปรื้อถอนเพิงพักของสมัชชาคนจนที่บนสันเขื่อนปากมูล เพราะกำลังของสมัชชาคนจนส่วนใหญ่ได้เข้ามายังกรุงเทพฯเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาของตนตามรายงานข้อสรุปของคณะกรรมกลางฯ ที่รัฐบาลตั้งขึ้น
ดร.อภิญญา เห็นว่าเป็นการใช้ความรุนแรงเชิงสัญลักษณ์ กล่าวคือ มีการช่วงชิงชี้ให้เห็นความผิดของคนอื่นก่อน นั่นคือม๊อบใช้ความรุนแรงบุกทำเนียบ การใช้คำพูดว่าบุกทำเนียบด้วยการปีนกำแพงเข้าไป มีความหมายว่าคนเหล่านี้ไม่ได้ทำหน้าที่พลเมืองที่ดี ดังนั้นจึงเป็นคนไม่ดีที่ต้องมีการจับกุมคุมขัง โดยไม่ต้องฟังเหตุผลหรือคำอธิบายอื่นๆก่อน เท่ากับเป็นการกลบเกลื่อนปัญหาที่แท้จริงลงไป โดยไม่มีการนำมาขบคิดเพื่อแก้ปัญหาแต่อย่างใด. อันนี้ ดร.อภิญญาเห็นว่า เป็น tactic หรือยุทธวิธีในการกลบเกลื่อนปัญหา เป็นการเบี่ยงเบนประเด็นด้วยวิธีการอันฉ้อฉล.
นอกจากนี้ รัฐบาลยังพยายามที่จะทำให้เรื่องของสมัชชาคนจนเป็นเรื่องของคนส่วนน้อย โดยอ้างถึงคนไทยส่วนใหญ่ที่มีถึง 60 ล้านคนเสมอเมื่อพูดถึงปัญหาของสมัชชาคนจน อันนี้ก็เป็นวิธีการอีกอันหนึ่งซึ่งรัฐบาลได้นำเอายุทธวิธีนี้มาใช้เพื่อแยกให้สมัชชาคนจนโดดเดี่ยว อันนี้ถือว่าเป็นการใช้ความรุนแรงเชิงสัญลักษณ์ หรือความรุนแรงที่มองไม่เห็นด้วยเช่นกัน
ความเงียบเฉยของผู้คน ซึ่งรับรู้ถึงปัญหาของสมัชชาคนจน, ดร.อภิญญากล่าว ก็ถือว่าเป็นปัญหาความรุนแรงเชิงสัญลักษณ์ด้วยเช่นกัน เพราะการนิ่งเฉยนั้น จะเปิดโอกาสให้ผู้มีอำนาจใช้อำนาจที่มีอยู่กระทำการอันรุนแรงกับคนที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนได้
ความสำนึกทางสังคม(social concern)
ต่อเรื่องความรุนแรงข้างต้น ทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็นนี้, อาจารย์ท่านนี้ได้พูดถึงทางออกต่อปัญหาดังกล่าวว่า ผู้คนทั้งหลายจะต้องมีสำนึกทางสังคม ซึ่งองค์ประกอบของความสำนึกทางสังคมนั้น มีปัจจัยที่สำคัญอยู่ 2 ประการด้วยกันคือ
Commitment ถือเป็นปัจจัยข้อแรกที่จะทำให้ผู้คนเกิดความรู้สึกรับผิดชอบขึ้นมา และ
การยินยอมให้มีเสียงหลายเสียงเกิดขึ้นมาในสังคมได้ ปัจจัยข้อที่สองนี้หมายถึง การไม่ปล่อยให้ผู้หนึ่งผู้ใดผูกขาดในการอธิบายหรือแสดงเหตุผลของตนแต่เพียงฝ่ายเดียว (ในขณะที่ปิดกั้นไม่ให้คนอีกคนหนึ่งอธิบายหรือแสดงเหตุผลขึ้นมาได้)
ที่ผ่านมา รัฐบาลชุดนี้พยายามใช้สื่อ(โดยเฉพาะโทรทัศน์หลายช่อง ที่มาจากเงินภาษีของราษฎร)บอกกับผู้คนในสังคมไทยให้เชื่อว่า การแก้ปัญหาต่างๆ จะต้องอยู่ภายใต้หลักการ หรือการเมืองในระบบเสมอ อันนี้เท่ากับเป็นการผูกขาดวิธีการแก้ปัญหา และการใช้คำอธิบายแสดงความคิดเห็นของพวกตนเพียงฝ่ายเดียว และยังทำให้เชื่อต่อไปว่า การแก้ปัญหานอกระบบใดๆ ถือว่าเป็นความไม่ชอบธรรม ซึ่งข้อนี้อาจารย์ไม่เห็นด้วย พร้อมทั้งแสดงความคิดเห็นว่า สื่อต้องเป็นพื้นที่สาธารณะใหม่ที่เรียกร้องให้มีการแก้ปัญหานอกระบบ และสื่อยังเป็นเสียงที่ทำหน้าที่แสดงความเห็น หรือชี้แจงเหตุผล อันเป็นเสียงที่มากกว่าหนึ่งซึ่งเสนอออกมาต่อสังคมไทย แทนที่จะปล่อยให้มีการผูกขาดของรัฐเพียงฝ่ายเดียว
สำหรับบทเรียนที่จะยังประโยชน์ให้กับสังคมไทย ต่อกรณีปัญหาเขื่อนปากมูล และกลุ่มสมัชชาคนจนครั้งนี้ อาจารย์เห็นว่า สังคมไทยควรที่จะได้หันกลับมาทบทวนถึงท่าทีของเรากันใหม่ ในเรื่องของสำนึกทางสังคม และนอกจากนี้ยังจะต้องทบทวนถึงปัญหาความรุนแรงเชิงโครงสร้าง และเชิงสัญลักษณ์ทั้งหมดของสังคมไทยด้วย ในส่วนทีทมองเห็นได้และที่มองไม่เห็น.
อานันท์ กาญจนพันธ์
กล่าวถึงเหตุการณ์ที่รัฐบาลใช้ความรุนแรงกับกลุ่มสมัชชาคนจนครั้งนี้ว่า เนื่องมาจากสาเหตุที่พูดตรงๆลงไปเลยว่า มาจาก อวิชชา และความบ้าอำนาจ, 2 อย่างนี้เท่านั้น
ที่บอกว่าเป็นเรื่องของอวิชชา เนื่องมาจาก ปัญหาเชิงนโยบายเกี่ยวกับการพัฒนาที่ผ่านมา รัฐบาลได้สร้าง infra-structure ที่ไม่คุ้มทุนออกมาเป็นจำนวนมาก และไม่เคยมีการยอมรับจากรัฐบาลชุดใดเลยว่า นโยบายการพัฒนาดังกล่าวนั้นผิดพลาดได้ หรือล้มเหลวได้.
อีกประเด็นหนึ่งก็คือ รัฐบาลควรยอมรับได้แล้วว่า กฎหมายต่างๆที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน มันมีปัญหาได้ ทั้งนี้เพราะกฎหมายต่างๆมันคือกฎเกณฑ์ในอดีต ซึ่งไม่สอดคล้องกับสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น จึงต้องมีการปรับปรุงกฎหมายให้สามารถนำมาใช้กับความเปลี่ยนแปลงของสังคมอย่างสอดคล้อง มิฉนั้นกฎหมายก็จะเป็นเรื่องของอวิชชา
นอกจากนี้ ปัญหาทางด้านกฎหมายยังเป็นเรื่องของการใช้อำนาจด้วย และการใช้อำนาจของรัฐบาล ก็ได้สะท้อนถึงการบ้าอำนาจออกมาอย่างชัดเจน โดยเห็นได้จาก รัฐบาลพยายามอ้างกฎหมายมาปิดบังอำพรางและเบี่ยงเบนปัญหาที่แท้จริง. ประกอบกับกฎหมายที่นำมาใช้ เป็นกฎหมายเก่า ซึ่งไม่สอดคล้องกับแนวคิดที่เปลี่ยนแปลงไปของสังคม
ต่อกรณีที่กลุ่มสมัชชาคนจน มาเรียกร้องให้รัฐบาลชดเชยค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการได้รับผลกระทบต่อโครงการ infra-structure ของรัฐบาล, รัฐบาลก็อ้างกฎหมายเก่าว่า ได้ชดเชยเงินให้กับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบแล้ว ซึ่งอันที่จริง ชาวบ้านกำลังขอค่าชดเชยที่ต่างออกไปจากกฎหมายเก่า กล่าวคือ ชาวบ้านกำลังเรียกร้องค่าชดเชยความรู้ที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น และวิถีชีวิตของตนเองซึ่งต้องสูญเสียไป.
ต่อประเด็นนี้ รัฐบาลยังไม่เข้าใจและตามไม่ทันถึงความเปลี่ยนแปลงไปทางสังคมที่มีแนวคิดใหม่ๆเกิดขึ้น. ดังนั้นทางออกต่อกรณีดังกล่าวข้างต้นทั้งหมด จึงเห็นว่า
ในแง่ของกฎหมาย. กฎหมายควรจะสร้างกติกาขึ้นมาให้สอดคล้องกับความเป็นจริง และทันสมัย ไม่ใช่ไปลอกกฎหมายมาจากคนอื่น
รัฐควรมีการเปลี่ยนแปลงแนวคิดประชาธิปไตยในปัจจุบัน นั่นคือ ประชาธิปไตยนั้นมีทั้งประชาธิปไตยแบบที่มีตัวแทน คือรัฐสภาที่ทำหน้าที่แทนประชาชน. และประชาธิปไตยในแบบทางตรง คือ ประชาธิปไตยนอกสภา นั่นคือ ประชาชนมีสิทธิที่จะเข้ามามีส่วนในการสร้างกฎเกณฑ์ใหม่ๆ หรือเขียนกฎหมายใหม่ขึ้นมา อำนาจในการสร้างกฎเกณฑหรือระเบียบใหม่ให้กับสังคมจะต้องไม่ผูกขาดกับตัวแทนเพียงไม่กี่คนที่ทำหน้าที่อยู่ในรัฐสภา
ฉลาดชาย รมิตานนท์
พูดถึงบรรยากาศของการมารวมตัวกันครั้งนี้ของนักวิชาการ นักศึกษา และองค์กรพัฒนาเอกชนในมหาวิทยาลัยว่า เป็นบรรยากาศคล้ายๆกับ 20 ปีก่อนหน้านี้ เมื่อเกิดวิกฤติการณ์ทางสังคม. แต่ใน 20 ปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยถูกทำให้เป็นสถาบันที่โดดเดี่ยว และได้ตัดตัวเองออกไปจากสังคม ดังนั้น การมารวมตัวกันครั้งนี้จากเหตุการณ์ที่รัฐบาลได้ใช้ความรุนแรงกับกลุ่มสมัชชาคนจน จึงเป็นการฟื้นคืนบรรยากาศแบบนี้ขึ้นมาในรั้วมหาวิทยาลัยอีก หลังจากที่ได้ขาดหายไปเป็นเวลานาน
เรื่องของปัญหาปากมูล
อาจารย์ฉลาดชายวิเคราะห์ว่า สังคมไทยกำลังถูกทำให้มีความเข้าใจสับสน ทั้งจากทางรัฐบาลและสื่อต่างๆ (อันนี้เป็นเทคนิคการแก้ปัญหาอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่ต้องการแก้ปัญหาอย่างแท้จริง) โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสื่อมวลชนบางพวกบางกลุ่ม อันเป็นปัญหาของสื่อโดยตรง ทั้งนี้เพราะ ปัจจุบัน สื่อมวลชนบางกลุ่มมีความตื้นเขินในการจับประเด็นข่าวและในการอ่านปัญหาของสังคม ยกตัวอย่างเช่น
กรณีนายกรัฐมนตรีชวน หลีกภัย ได้เข้าเยี่ยมชาวบ้านที่มาชุมนุมกันที่หน้าทำเนียบรัฐบาลตอนดึก นักข่าวจากสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งรายงานว่า เป็นความกล้าหาญของนายชวน หลีกภัย และมีการเปรียบเทียบในเชิงเงื่อนไขว่า หากเป็นนายกฯคนอื่นๆก็จะไม่สามารถทำให้ชาวบ้านรู้สึกพอใจได้เท่านี้.
ความจริงแล้ว ต่อเหตุการณ์ที่นายกชวนเข้าหาชาวบ้านตอนดึก อาจารย์ฉลาดชายเห็นว่า เป็นความขี้ขลาดมากกว่าที่จะเป็นความกล้าหาญ ทั้งนี้เพราะนายกชวน ไม่กล้าที่จะแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ดังนั้น จึงเป็นเหตุให้ชาวบ้านกลุ่มสมัชชาคนจนต้องมาชุมนุมกันถึงหน้าทำเนียบที่กรุงเทพฯ
นอกจากนี้ สื่อที่ตื้นเขินเดียวกันกันนี้ ยังแสดงความรู้สึกและความคิดเห็นต่อไปอีกว่า เขารู้สึกผิดหวังกับชาวบ้านเป็นอย่างยิ่ง ต่อการที่นายกชวนได้เข้าไปหาในคืนนั้น, ทั้งนี้เพราะชาวบ้านไไม่ได้พูดอะไรเลยสักคำ และยังแสดงความรู้ต่อไปอีกว่า ทั้งหมดเป็นการจัดฉากของแกนนำกลุ่มสมัชชาคนจน
อาจารย์ฉลาดชายได้ตั้งคำถามในวงสนทนาว่า เรื่องของการที่ชาวบ้านปากมูลและกลุ่มสมัชชาคนจนไปชุมนุมกันอยู่ที่หน้าทำเนียบ การปีนกำแพงทำเนียบ สิ่งต่างๆเหล่านี้เป็นการกระทำที่รุนแรงหรือไม่ ? หรือการกระทำของรัฐบาลในการเลือกใช้วิธีการการแก้ปัญหาด้วยการใช้กระบอง โล่ และแก๊สน้ำตา เข้าสลายกลุ่มผู้ชุมนุม และการแจ้งข้อหาบุกรุกกับกลุ่มสมัชชาคนจนที่ปีนกำแพงรั้วทำเนียบเข้าไป (เพื่อสร้างความสนใจกับสื่อมวลชนให้มารายงานข่าวความเดือดร้อนของตน) เรื่องนี้รัฐบาลใช้ความรุนแรงหรือไม่ ?
เรื่องทั้งหมดนี้ ควรมองย้อนกลับไปดูถึงที่มาที่ไปของปัญหาทั้งหมดก่อนที่จะมาสรุปลงอยู่ที่หน้าทำเนียบและเหตุการณ์ในวันที่ 16 กรกฎาคม
เท่าที่ผ่านมา การพัฒนาของประเทศเป็นไปอย่างไม่ยั่งยืน อย่างกรณีการสร้างเขื่อนต่างๆในประเทศไทย ได้ไปทำลายระบบนิเวศวิทยาลงไปอย่างมาก และล่าสุดที่กำลังเป็นปัญหาอยู่นี้ก็คือ เขื่อนปากมูล เขื่อนแห่งนี้ได้ไปทำให้พันธุ์ปลาเป็นจำนวนมากหายไปจากลุ่มน้ำมูล แต่สำหรับเรื่องนี้อาจไม่ได้เป็นผลกระทบในวงกว้างต่อสังคมไทย เพราะคนไทยก็ยังคงมีปลาบริโภคกันอยู่ ทั้งนี้เพราะเรามีอุตสาหกรรมด้านเกษตรในการเลี้ยงปลานิลและปลาทับทิมเพื่อการบริโภคนั่นเอง ชนชั้นกลางจึงไม่รู้สึกว่านี่เป็นปัญหาสำหรับพวกเขา
นอกจากนี้ เขื่อนที่สร้างขึ้นมาเป็นจำนวนมาก ยังขาดประสิทธิภาพด้วย. ยกตัวอย่างเขื่อนปากมูลที่สร้างขึ้นมาเพื่อใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า แต่เมื่อสร้างเสร็จเข้าจริง ผลิตกระแสไฟฟ้าได้เพียง 20% ของการประมาณการณ์เกี่ยวกับศักยภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้า
อีกประเด็นที่ควรจะกล่าวถึงในที่นี้ด้วยก็คือ การพัฒนาที่เป็นนโยบายของประเทศเท่าที่ผ่านมายังขาดความโปร่งใส ซึ่งอันนี้ได้นำไปสู่การคอรัปชั่น และการขาดประสิทธิภาพตามมา
ประเด็นสุดท้าย การพัฒนาเท่าที่ผ่านมาของประเทศ เป็นการพัฒนาแบบที่ขาดการมีส่วนร่วมของคนหลายๆฝ่าย ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในเรื่องของการใช้ทรัพยากรต่างๆขึ้นมามากมาย อาทิเช่น การถูกไล่ออกจากพื้นที่ทำกิน ก่อให้เกิดปัญหาความทุกข์ยากตามมาและความยากจนอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
สิ่งต่างๆเหล่านี้คือปัญหาที่แท้จริงที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขแต่อย่างใด และการที่ชาวบ้านซึ่งได้รับความเดือดร้อนมาเป็นระยะเวลาอันยาวนานติดต่อกันมาหลายๆปีได้มาชุมนุมกันที่หน้าทำเนียบ หากเราคิดว่านี่คือความรุนแรง นี่เป็นการละเมิดต่อกฎหมาย และนี่เป็นการเรียกร้องซ้ำซากไม่สิ้นสุด รวมไปถึงนี่เป็นวิธีการที่ไม่ถูกต้อง เป็นการเมืองนอกระบบ เพราะไม่ใช่การเมืองในระบอบรัฐสภา. หากเราคิดว่าเป็นเช่นนั้นจริงตามที่รัฐบาลพยายามใช้สื่อบอกกับพี่น้องประชาชน มันก็เป็นความคิดและวาทกรรมเก่าๆที่เราถูกครอบงำให้เชื่อเช่นนั้นนั่นเอง.
ปัจจุบัน พื้นที่ทางการเมืองในระบบมันมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง(ไม่ใช่มีแต่เพียงในรัฐสภาเท่านั้น) อันนี้เป็นวาทกรรมใหม่. ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องมาสร้างวาทกรรมใหม่ๆกันขึ้นมา เราจะไม่ยอมให้ใครมาผูกขาดและบัญญัติลงไปว่า การเมืองที่อยู่นอกสภาเป็นการเมืองนอกระบบ ทั้งหมดของการเคลื่อนไหวของประชาชนในพื้นที่สาธารณะใดๆก็ตาม ต้องถือว่านี่คือการเมืองในระบบด้วยเช่นเดียวกัน.
หลังจากนั้น ได้เปิดโอกาสให้ผู้ร่วมวงสนทนาทุกท่านแสดงความคิดเห็นกัน และวงสนทนานี้ได้ยุติลงเมื่อเวลา 12.30 น.