H
บทความนี้เรียบเรียงจากบทอภิปรายเรื่อง จินตภาพอุดมศึกษา ก้าวใหม่หลังการปฏิรูป : 8 สิงหาคม 2546
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประกอบบทความ ทางวิชาการฟรี เผยแพร่โดยเว็ปไซค์ของ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เพื่อประโยชน์สังคมไทย

บทความชิ้นนี้ เคยเผยแพร่แล้วบนเว็ปไซค์ของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ รวม 3 ตอน เขียนโดย
ศ. รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้เล็งเห็นถึงประโยชน์ของบทความชิ้นนี้ จึงขออนุญาตนำมาเผยแพร่ต่อ เพื่อขยายความรู้แก่แวดวงการศึกษาไทย (สมเกียรติ ตั้งนโม - ผู้รับผิดชอบเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)

หากนักศึกษาและสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลงจะแก้ปัญหาได้
090946
release date
เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซค์ แห่งนี้วันที่ 9 กันยายน 2546
R
relate topic

 

จินตภาพอุดมศึกษา-ก้าวใหม่หลังการปฏิรูป
โดย รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์

บทความนี้เรียบเรียงจากบทอภิปรายเรื่อง จินตภาพอุดมศึกษา ก้าวใหม่หลังการปฏิรูป
จัดโดยสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2546 ผู้ร่วมอภิปรายประกอบด้วยศาสตราจารย์ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช และ ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ
(บทความนี้ยาวประมาณ 20 หน้ากระดาษ A4)


หัวข้อการอภิปราย จินตภาพอุดมศึกษา ก้าวใหม่หลังการปฏิรูป คงต้องการให้ผู้อภิปรายวาดภาพเกี่ยวกับการอุดมศึกษาในประเทศไทย พร้อมทั้งแสดงความหวังเกี่ยวกับ ก้าวใหม่หลังการปฏิรูป หัวข้อการอภิปราย ซึ่งแสดงออกซึ่งสุขทรรศนะ (Optimism) เกี่ยวกับการอุดมศึกษาเช่นนี้ ตรงต่อข้อเท็จจริงเพียงใด และมีความหวังมากน้อยเพียงไหน น่ากังขาอย่างยิ่ง

ในการกล่าวถึง ก้าวใหม่หลังการปฏิรูป เราจำเป็นต้องเพ่งพินิจเส้นทางของการอุดมศึกษาไทยในปัจจุบัน และแนวโน้มในอนาคตเพื่อตอบคำถามว่า เราจะสามารถหันเหการอุดมศึกษาไทยออกจากเส้นทางเดิมได้หรือไม่ และหากเราต้องการ ก้าวใหม่หลังการปฏิรูป เราก็ต้องมีคำตอบว่า เส้นทางใหม่ของการอุดมศึกษาไทยคือเส้นทางใด และ ก้าวใหม่ นั้นจะก้าวอย่างไร

ในฐานะเจ้าสำนักทุกขทรรศน์ (Pessimism) ผมไม่เชื่อว่า การอุดมศึกษาไทยจะสามารถปฏิรูปได้ ระบบอุดมศึกษาไทยนอกจากถูกตราตรึงในเส้นทางเดิม ยากที่จะขยับเขยื้อนสู่เส้นทางใหม่แล้ว ยังขาดพลังการปฏิรูปอีกด้วย ผมขอจำแนกการอภิปรายออกเป็น 2 ตอน ตอนที่หนึ่งกล่าวถึงทิศทางและแนวโน้มของการอุดมศึกษาไทยในปัจจุบัน ตอนที่สองนำเสนออรรถาธิบายว่า เหตุใดการอุดมศึกษาไทยจึงยากแก่การปฏิรูป

ทิศทางและแนวโน้มของการอุดมศึกษาไทย
ในการกล่าวถึงระบบอุดมศึกษาไทยในปัจจุบัน ผมขอกล่าวถึงทิศทางและแนวโน้มที่สำคัญ 6 ประการ

ทิศทางและแนวโน้มที่หนึ่ง การเติบโตของกระบวนการแปรบริการอุดมศึกษาเป็นสินค้า (Commodification) การผลิตบริการอุดมศึกษาเพื่อขาย (Marketization) และกระบวนการแม็กโดนัลดานุวัตรของบริการอุดมศึกษา (McDonaldization of Higher Education)
ทิศทางและแนวโน้มที่สอง การผลิตบริการอุดมศึกษา เพื่อให้มีลักษณะหลากหลาย (Product Differentiation)
ทิศทางและแนวโน้มที่สาม ความหวังกับความเป็นจริงของมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย (Research University)
ทิศทางและแนวโน้มที่สี่ ระบบธรรมาภิบาลในระบบอุดมศึกษาของรัฐ (University Governance)
ทิศทางและแนวโน้มที่ห้า พัฒนาการของระบบการคลัง เพื่อการอุดมศึกษา (Higher Education Finance)
ทิศทางและแนวโน้มที่หก การเติบโตของกระบวนการสากลานุวัตรของการอุดมศึกษา (Internationalization of Higher Education)

ทิศทางและแนวโน้มที่หนึ่ง
Commodification, Marketization, and McDonaldization
กระบวนการแปรบริการอุดมศึกษาให้เป็นสินค้า (Commodification) ก่อเกิดได้ เพราะบริการอุดมศึกษามีลักษณะความเป็นเอกชนของสินค้า (Privateness of Goods) กระบวนการดังกล่าวนี้เติบโตและพัฒนาตามพัฒนาการของพลังทุนนิยมในระบบเศรษฐกิจอันเป็นไปตามธรรมชาติ แต่ถูกเสริมด้วยแรงกระตุ้นสำคัญ 2 ด้าน ด้านหนึ่งตลาดมีความต้องการบริการอุดมศึกษาบางประเภท อีกด้านหนึ่ง สถาบันอุดมศึกษา ทั้งของรัฐและเอกชน ต่างสนองตอบความต้องการของตลาด เพื่อแสวงหารายได้

ความต้องการรายได้เพียงโสดเดียวไม่พอเพียงในการขับเคลื่อนกระบวนการแปรบริการอุดมศึกษาให้เป็นสินค้า หากมหาวิทยาลัยไม่มีอำนาจในการประสาทปริญญา การแปรบริการอุดมศึกษาให้เป็นสินค้าจะไม่สามารถขยายตัวดังที่เกิดขึ้นจริง

เมื่อมหาวิทยาลัยแรกสถาปนาในยุโรปตะวันตกในยุคกลาง (Middle Age) อำนาจในการประสาทปริญญาเป็นของศาสนจักร มิได้เป็นของอาณาจักร มหาวิทยาลัยในยุโรปตะวันตกมีอำนาจในการประสาทปริญญา ภายหลังจากที่การขีดเส้นแบ่งอำนาจระหว่างฝ่ายอาณาจักรกับฝ่ายศาสนจักรลงตัวแล้ว การที่มหาวิทยาลัยของรัฐไทยมีอำนาจในการประสาทปริญญา โดยปราศจากการควบคุมและกำกับของรัฐ เกื้อกูลการพิมพ์ปริญญาเพื่อขาย ซึ่งมีผลต่อกระบวนการแปรบริการอุดมศึกษาให้เป็นสินค้า

ความต้องการบริการอุดมศึกษาในตลาดประกอบด้วยองค์ประกอบ 2 ส่วน ส่วนหนึ่งเป็นความต้องการของภาคเอกชน (Private- Sector Market) อีกส่วนหนึ่งเป็นความต้องการของภาครัฐบาล (Public-Sector Market)

ภาคเอกชนต้องการบริการอุดมศึกษาเพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการผลิตและการบริหารจัดการ อันมีผลต่อผลปฏิบัติการทางธุรกิจ (Business Performance) การได้วุฒิบัตรหรือปริญญาบัตรไม่มีความสำคัญเท่ากับการเพิ่มพูนทุนมนุษย์ (Human Capital) การได้วุฒิบัตรหรือปริญญาบัตร โดยที่ทุนมนุษย์มิได้เพิ่มพูนขึ้น มิได้เป็นประโยชน์ต่อผลประกอบการของวิสาหกิจเอกชน ความต้องการบริการอุดมศึกษาของภาคเอกชน จึงส่งผลต่อการผลิตของสถาบันอุดมศึกษา เพราะภาคเอกชนในฐานะลูกค้ามีความจริงจังในการประเมินคุณภาพของบริการอุดมศึกษาที่ผลิตโดยสถาบันต่างๆ

ภาครัฐบาลสนใจกระพี้มากกว่าแก่นของบริการอุดมศึกษา และไม่มีความจริงจังในการประเมินคุณภาพของบริการอุดมศึกษาที่ผลิตโดยสถาบันต่างๆ ระบบราชการเพียงแต่กำหนดว่า หากต้องการดำรงตำแหน่งนายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือนายตำรวจระดับนายพันและนายพลต้องได้รับปริญญาโทในสาขาวิชารัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์ หากต้องการขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บริหารการศึกษา ต้องได้รับปริญญาโทในสาขาวิชาศึกษาศาสตร์หรือครุศาสตร์ การใช้ปริญญาเป็นเกณฑ์สำหรับการขึ้นสู่ตำแหน่งราชการระดับสูง มีผลต่อการเพิ่มพูนความต้องการบริการอุดมศึกษา แต่การที่ระบบราชการมิได้สนใจประเมินคุณภาพของบริการอุดมศึกษา ที่ผลิตโดยสถาบันต่างๆ ทำให้ความต้องการบริการอุดมศึกษาของภาครัฐบาล มิอาจส่งผลต่อการปรับปรุงคุณภาพของบริการอุดมศึกษา และยังผลให้สถาบันอุดมศึกษาของรัฐแปรรูปเป็น โรงพิมพ์ปริญญาบัตร

การสถาปนาระบอบ บัณฑิตยาธิปไตย โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ที่กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และรัฐมนตรี ต้องมีการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาตรี หรือเทียบเท่า มีผลในการเร่งการแปรบริการอุดมศึกษาให้เป็นสินค้า เร่งให้มหาวิทยาลัยผลิตบริการอุดมศึกษาเพื่อขาย และเร่งให้มหาวิทยาลัยเป็น โรงพิมพ์ปริญญาบัตร

ผลของการสนองตอบต่อตลาด ทำให้มหาวิทยาลัยไทย เดินอยู่บนเส้นทางของ McUniversity กระบวนการแม็กโดนัลดานุวัตร (McDonaldization) มิได้ก่อเกิดในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มเท่านั้น หากยังก่อเกิดในอุตสาหกรรมการศึกษาด้วย ในขณะที่ McDonald ให้บริการ แดกด่วน ยัดเร็ว (Fast Food) McUniversity ก็ให้บริการ Fast Education และผลิต Instant Graduates ในขณะที่ McDonald มีระบบเครือข่ายสาขา McUniversity ก็จัดระบบเครือข่ายสาขา ในลักษณะ Chain Stores ด้วย มหาวิทยาลัยของรัฐไทยจำนวนมากก้าวล้ำไปให้บริษัทเอกชนผลิตบริการอุดมศึกษาในนามของตนเอง

แต่มหาวิทยาลัยไทยที่เป็น McUniversity มิได้เหมือนกับ McDonald ไปเสียทั้งหมด ในขณะที่ McDonald พยายามจัดระบบการบริหารจัดการอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ (Scientific Management) มีความพยายามลดต้นทุนการผลิตให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ (Cost Minimization) และการควบคุมคุณภาพของผลผลิต (Quality Control) ที่ผลิตโดยสาขาต่างๆ ให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกัน มหาวิทยาลัยไทยหาได้มีการจัดระบบการบริหารจัดการอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ และมิได้ใส่ใจต่อคุณภาพของบริการอุดมศึกษาที่ผลิตได้ อธิการบดีจำนวนมากไม่มีความสำนึกในเรื่องต้นทุน (Cost Consciousness) มีการใช้ทรัพยากรในทางสูญเปล่า เนื่องจากเป็นทรัพยากรของแผ่นดิน ซึ่งไม่ปรากฏความเป็นเจ้าของที่ชัดเจน

กระบวนการแปรบริการอุดมศึกษาเป็นสินค้า กระบวนการผลิตบริการอุดมศึกษาเพื่อขายและกระบวนการแม็กโดนัลดานุวัตร นับเป็นทิศทางและแนวโน้มสำคัญของภาคอุดมศึกษาในปัจจุบันและอนาคตที่เห็น กระแสเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ก่อผลทำลายภาคอุดมศึกษาในระยะยาว

ทิศทางและแนวโน้มที่สอง
ความหลากหลายของบริการอุดมศึกษา
บริการอุดมศึกษาเป็นผลผลิตที่มีความหลากหลายมากขึ้น ลักษณะความหลากหลายจะยิ่งมีมากขึ้นไปอีกในอนาคต ปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้เกิดจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างอุปสงค์กับอุปทานด้านหนึ่ง ตลาดต้องการบริการอุดมศึกษาที่มีลักษณะหลากหลาย ในอีกด้านหนึ่ง สถาบันอุดมศึกษาต้องปรับตัวสนองตอบความต้องการตามพลังตลาด ผลที่เกิดขึ้นก็คือ จะมีหลักสูตรที่ออกแบบใหม่เพื่อสนองตอบตลาดมากขึ้น

บริการอุดมศึกษาที่ผลิตโดยสถาบันของรัฐจะมีความหลากหลายมากกว่าสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ทั้งนี้เนื่องจากสถาบันอุดมศึกษาของรัฐมีความเป็นอิสระค่อนข้างสมบูรณ์ สภาสถาบันอุดมศึกษาของรัฐมีอำนาจในการอนุมัติหลักสูตรและมีอำนาจในการประสาทปริญญาโดยอิสระ ในขณะที่สถาบันอุดมศึกษาเอกชนต้องตกอยู่ภายใต้การควบคุม กำกับ และตรวจสอบของรัฐชนิดเข้มงวดมากกว่ามาก

การผลักดันให้มหาวิทยาลัยของรัฐออกนอกระบบราชการ โดยปราศจากนโยบายและแผนการอุดหนุนของรัฐที่ชัดเจน มีผลในการผลักดันให้มหาวิทยาลัยของรัฐเดินแนวทางตลาด และมุ่งผลิตบริการอุดมศึกษาเพื่อขายอันเป็นไปตามแนวโน้ม Commodification, Marketization และ McDonaldization ดังที่กล่าวข้างต้น

หลักสูตรที่ออกแบบใหม่เพื่อสนองตอบความต้องการของตลาด ย่อมต้องออกแบบตามการชี้นำของ มือที่มองไม่เห็น (Invisible Hand) มือที่มองไม่เห็น บางส่วนอาจต้องการบริการอุดมศึกษาเพื่อเพิ่มพูนศักยภาพในการผลิตและการทำงาน แต่บางส่วนอาจต้องการเพียงกระดาษแผ่นเดียว โดยมิได้มุ่งแสวงหาสาระแห่งการเรียนรู้ มือที่มองไม่เห็น ส่วนหลังนี้ย่อมคาดหวังว่า ความเป็นไปได้ในการได้มาซึ่งปริญญาน่าจะมีมากขึ้น แลกกับ ราคา ที่ต้องจ่ายแพงขึ้น ความคาดหวังของตลาดดังกล่าวนี้ย่อมทำให้การออกแบบหลักสูตรใหม่ลดความเข้มงวดในทางวิชาการ ลดความเข้มงวดในการประเมินผลการเรียนรู้ และลดเงื่อนเวลาในการศึกษา หากปราศจากการควบคุมคุณภาพที่มีประสิทธิผลความหลากหลายของผลผลิตบริการอุดมศึกษา จะก่อเกิดควบคู่กับความด้อยคุณภาพและความเสื่อมทรามของมหาวิทยาลัย

หลักสูตรที่ออกแบบใหม่จำนวนมาก อาจประกอบด้วยวิชาที่ไม่มีองค์ความรู้ของตนเอง หากแต่หยิบยืมเนื้อหาจากต่างสาขาวิชามากวนผสมกัน แต่ไม่เป็นเนื้อเดียวกัน กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ปราศจากบูรณาการแห่งวิทยาการ การจัดการเรียนการสอนก็ปราศจากบูรณาการเฉกเช่นเดียวกัน เพราะใช้วิธีการเชิญอาจารย์ผู้สอนเป็นรายหัวข้อ มิใช่การเชิญอาจารย์ผู้สอนเป็นรายวิชา ถึงจะมีอาจารย์ผู้ควบคุมวิชา แต่มิได้ทำหน้าที่บูรณาการแห่งวิทยาการ

หลักสูตรที่ออกแบบใหม่ ซึ่งสร้างความหลากหลายของบริการอุดมศึกษาดังที่กล่าวข้างต้นนี้ ปรากฏอย่างชัดเจนในระดับบัณฑิตศึกษาในระดับปริญญาตรี ความหลากหลายของบริการมิได้มีมากเท่า เนื่องจากความเป็นสาขาวิชายังคงดำรงอยู่ ความหลากหลายของบริการอุดมศึกษาระดับปริญญาตรียังขยายต่อไปอีกได้ ด้วยการออกแบบหลักสูตรในแนวทาง Sandwich Courses ของสหราชอาณาจักร ดังเช่นการผสมสาขาวิชานิติศาสตร์ รัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์เข้าด้วยกัน หรือการลอกเลียนหลักสูตร PPE ของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด เป็นต้น

การสนองตอบความต้องการของตลาดด้วยการผลิตบริการอุดมศึกษาที่มีลักษณะหลากหลาย มีผลต่อการประกอบภารกิจและคุณภาพของมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยจะสนใจการจัดการเรียนการสอนมากกว่าการผลิตองค์ความรู้สำหรับสังคมไทย การมุ่งเดินแนวทางตลาดทำให้คุณภาพของบริการอุดมศึกษาเสื่อมทรามลง เพราะตลาดในสัดส่วนสำคัญมิได้ต้องการคุณภาพมากไปกว่าปริญญาบัตรหรือวุฒิบัตร

ทิศทางและแนวโน้มที่สาม
มหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย (Research University)
มหาวิทยาลัยจำนวนไม่น้อยวาดฝันว่า จะพัฒนาไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย (Research University) ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กำหนดเป้าหมายในการปฏิรูปอุดมศึกษาเพื่อให้มหาวิทยาลัยไทยยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก (World-Class University) จินตภาพอุดมศึกษาดังที่กล่าวนี้เป็นเรื่องค่อนข้างเพ้อเจ้อ เพราะเป็นการวาดฝันโดยมิได้พิจารณาความเป็นจริงในบริบทของสังคมไทย

มหาวิทยาลัยเมื่อแรกสถาปนาในสังคมไทยถูกกำหนดให้มีภารกิจหลักในการผลิตกำลังคน มิได้รับมอบหมายให้มีภารกิจในการผลิตองค์ความรู้ การออกแบบเชิงสถาบัน (Institutional Design) ของมหาวิทยาลัยไทย จึงไม่เสริมส่งการทำหน้าที่ผลิตความรู้กล่าวคือ มิได้ออกแบบเพื่อให้มีอาจารย์ประจำ หากแต่ใช้ขุนนางนักวิชาการที่ประจำกระทรวงทบวงกรมต่างๆ เป็นผู้สอน ไม่ทุ่มลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานทางวิชาการ (Academic Infrastructure) ดังเช่นห้องสมุดและห้องปฏิบัติการและห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ โครงสร้างอัตราเงินเดือนอาจารย์มหาวิทยาลัยมิได้แตกต่างไปจากข้าราชการอื่นๆ ซึ่งไม่เกื้อกูลการดูดดึงชนชั้นมันสมองมาประกอบอาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัย ต่างจากมหาวิทยาลัยในประเทศที่พัฒนาแล้วที่ถือว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยเป็น สำราญชน (Leisured Class) นอกจากให้ผลตอบแทนการใช้สมองในอัตราสูงแล้ว ยังกำหนดกฎกติกาที่จูงใจให้ผจญภัยทางปัญญา เพื่อผลิตองค์ความรู้ใหม่อีกด้วย

การจัดองค์กรมหาวิทยาลัยใหม่ในรูปมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาลหรือมหาวิทยาลัยนอกระบบราชการ ดังที่ขับเคลื่อนในสังคมไทยปัจจุบันมิได้สลัดแอกแบบสถาบันที่ใช้มาแต่ดั้งเดิม หากแต่ยังคงยึดแบบสถาบันเดิม เพียงแต่ปรับโครงสร้างเงินเดือนให้สูงกว่าเดิม แต่มิได้ดีกว่าเดิมมากนัก เมื่อเปรียบเทียบสวัสดิการทั้งมวลที่ข้าราชการได้รับกับที่พนักงานมหาวิทยาลัยได้รับ ในประการสำคัญ ระบบความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ยังคงมีอิทธิพลในระบบสถาบันอุดมศึกษาของรัฐอย่างแน่นหนา การกลั่นกรองอาจารย์และการประเมินผลงานอาจารย์ขาดความเข้มงวดเท่าที่ควร แม้จะเปลี่ยนแปลงการจ้างงานจากระบบการจ้างงานตลอดชีพ (Life-Time Employment) มาเป็นการจ้างงานตามพันธสัญญา (Contract Employment) หาได้เปลี่ยนแปลงแบบสถาบันในขั้นรากฐานไม่ ภายใต้ระบบความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์อันแน่นหนา สัญญาการจ้างงานจะถูกต่ออายุไปเรื่อยๆ จนการจ้างงานในระบบสัญญามิได้แตกต่างจากระบบการจ้างงานตลอดชีพ

มหาวิทยาลัยในสังคมไทยจะไม่สามารถพัฒนาไปเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัยได้ มิไยต้องกล่าวถึงมหาวิทยาลัยระดับโลก ตราบเท่าที่ยังคงธำรงแบบสถาบันที่ใช้มาแต่ดั้งเดิม การละเลยประเด็นการออกแบบเชิงสถาบันของมหาวิทยาลัยมีผลเท่ากับการละเลยประเด็นสำคัญในการปฏิรูปอุดมศึกษา การพัฒนามหาวิทยาลัยมิอาจดำเนินการเพียงด้วยการดึงมหาวิทยาลัยออกจากระบบราชการ และการปรับโครงสร้างอัตราเงินเดือนพนักงานมหาวิทยาลัยเท่านั้น หากยังต้องพิจารณาการออกแบบเชิงสถาบันของมหาวิทยาลัยและการกำหนดกติกาการเล่นเกม (Rules of the Game) ในระบบอุดมศึกษา เพื่อให้มหาวิทยาลัยมีบทบาทในการผลิตความรู้ใหม่อีกด้วย ปัจจัยเชิงสถาบันมีความสำคัญยิ่งยวดในกระบวนการปฏิรูป

ในขณะที่แบบสถาบันและกติกาการเล่นเกมในระบบอุดมศึกษาไทยไม่เกื้อกูลให้มหาวิทยาลัยทำหน้าที่ผลิตองค์ความรู้ใหม่สำหรับสังคมไทย การที่สถาบันอุดมศึกษาไทยเดินแนวทาง Commodification Marketization และ McDonaldization มีผลต่อความเสื่อมทรามของระบบอุดมศึกษาอย่างสำคัญ มหาวิทยาลัยมุ่งขายบริการอุดมศึกษาเพื่อแสวงหารายได้เป็นหลัก กิจกรรมในการผลิตความรู้ ซึ่งมีน้อยอยู่แล้ว ยิ่งมีน้อยลงไปอีก ทิศทางการเปลี่ยนแปลงของมหาวิทยาลัยห่างเหจากการเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัยมากขึ้น จนดูเหมือนว่า มหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย มิได้อยู่ในพจนานุกรมของผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษา ด้วยเหตุดังนี้ จึงเป็นเรื่องชวนหัวที่จะวาดฝันว่า สังคมเศรษฐกิจไทยกำลังพัฒนาไปสู่ Knowledge-Based Economy

ทิศทางและแนวโน้มที่สี่
ระบบธรรมาภิบาลของมหาวิทยาลัย(University Governance)
การบริหารจัดการสถาบันอุดมศึกษาของรัฐมิได้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล (Good Governance) ขาดความรับผิด (Accountability) ขาดการมีส่วนร่วม (Participation) และขาดความโปร่งใส (Transparency)

ระบบการบริหารจัดการสถาบันอุดมศึกษามิได้สร้างกลไกความรับผิด (Accountability Mechanism) เพื่อให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยรับผิดชอบทั้งต่อประชาชน ต่อชุมชนวิชาการ และต่อมหาวิทยาลัยที่ตนเป็นผู้บริหาร ความรับผิดจะมีหรือไม่ และมีมากน้อยเพียงใด เป็นความสำนึกของปัจเจกบุคคล มิได้เกิดจากกลไกของระบบ การขาดความรับผิดมีผลต่อการใช้ทรัพยากรของแผ่นดินในทางสุรุ่ยสุร่าย ยิ่งมหาวิทยาลัยประสบความสำเร็จในการเรียกร้องความเป็นอิสระในนามของเสรีภาพทางวิชาการมากเพียงใด การตรวจสอบประสิทธิภาพของมหาวิทยาลัยในการใช้ทรัพยากรของแผ่นดินยิ่งยากมากเพียงนั้น

ระบบการบริหารจัดการสถาบันอุดมศึกษาส่วนใหญ่มิได้เปิดโอกาสให้สมาชิกในชุมชนมหาวิทยาลัยเดียวกันมีส่วนร่วม ในการกำหนดเส้นทางการพัฒนาและการใช้ทรัพยากร การตัดสินใจในเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องของกลุ่มบุคคลเพียงกระหยิบมือ หลายต่อหลายมหาวิทยาลัยกำหนดระเบียบเพื่อกีดกันการมีส่วนร่วมของสมาชิกในชุมชน และมีแนวโน้มที่จะรวบอำนาจไว้ในหมู่ชนชั้นปกครองในมหาวิทยาลัย การกีดกันการมีส่วนร่วมของประชาชน เกื้อกูลชนชั้นปกครองในการแปรมหาวิทยาลัยให้เป็นโรงพิมพ์ปริญญาบัตร เพื่อแสวงหารายได้จากการขายบริการอุดมศึกษา ซึ่งมีผลโดยตรงต่อรายได้และผลประโยชน์ของชนชั้นปกครองในมหาวิทยาลัยนั้นเอง

ระบบการบริหารจัดการสถาบันอุดมศึกษาของรัฐปราศจากความโปร่งใส ผู้บริหารมหาวิทยาลัยมีแนวโน้มที่จะไม่เปิดเผยฐานะการเงินสุทธิของมหาวิทยาลัย หรือแม้แต่อำพรางฐานะการเงิน เพื่อประโยชน์ในการของบประมาณแผ่นดิน ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลบริษัทเอกชนที่รับสัมปทานในการผลิตบริการอุดมศึกษาในนามมหาวิทยาลัย การขาดความโปร่งใสช่วยหล่อเลี้ยงความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการและการใช้ทรัพยากร ในอีกด้านหนึ่ง เกื้อกูลการดูดซับส่วนเกินทางเศรษฐกิจจากการบริหารมหาวิทยาลัย

ระบบการบริหารมหาวิทยาลัยมิได้กำหนดกติกาที่เข้มงวดเพื่อป้องกันปัญหาการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลกับผลประโยชน์ส่วนรวม (Conflict of Interest) อธิการบดีบางคนเสกสรรตำแหน่งเพื่อให้ตนได้ประโยชน์ทางการเงินจากโครงการพิเศษต่างๆ ด้วยเหตุที่ไม่มีกฎกติกาเช่นนี้ จึงอาจเป็นไปได้ที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยบางคนมีความสัมพันธ์กับบริษัทผู้รับจัดจ้างจัดซื้อและบริษัทผู้รับสัมปทานจากมหาวิทยาลัยในการผลิตบริการอุดมศึกษา ไม่ทางหนึ่งก็ทางใด

ภายใต้ระบบการบริหารสถาบันอุดมศึกษาของรัฐในปัจจุบันจำนวนมาก ผู้บริหารมหาวิทยาลัยมีบทบาทสำคัญในการแต่งตั้งกรรมการสภามหาวิทยาลัย ภายใต้ระบบเช่นนี้ สภามหาวิทยาลัยมิอาจทำหน้าที่ตรวจสอบการบริหารของอธิการบดีและคณะได้ ในบางมหาวิทยาลัยอธิการบดีกลับเป็นผู้บงการชีวิตกรรมการสภามหาวิทยาลัย

ระบบการบริหารสถาบันอุดมศึกษาของรัฐในปัจจุบันมิได้มีคุณลักษณ์ตามหลักธรรมาภิบาล การดึงมหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการในขณะที่ยังมิได้มีธรรมาภิบาล ย่อมยังความล้มเหลวแก่มหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาลตั้งแต่ต้น การหยิบยื่นความเป็นอิสระด้านการงบประมาณด้วยการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินในลักษณะงบเงินอุดหนุนทั่วไปแก่มหาวิทยาลัย ในขณะที่ขาดธรรมาภิบาลและในขณะที่สภามหาวิทยาลัยไม่สามารถทำหน้าที่ตรวจสอบการบริหารของอธิการบดีและคณะอย่างมีประสิทธิภาพ ย่อมเปิดช่องให้มีการปู้ยี่ปู้ยำทรัพยากรของแผ่นดินได้ง่ายขึ้น

ภายใต้พัฒนาการดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน สถาบันอุดมศึกษาของรัฐยากที่จะมีธรรมาภิบาลได้ เหตุผลสำคัญเป็นเพราะการขาดพลังการเรียกร้องภายในสถาบัน อาจารย์มหาวิทยาลัยจำนวนมากตกอยู่ในกับดักความยากจน ตามมาตรฐานชนชั้นกลางระดับสูง (Upper-Middle Class) และใช้เวลาส่วนใหญ่ในการแสวงหารายได้ บางคนด้วยการเดินสายสอนหนังสือ อำนาจการบริหารตกอยู่ในมือชนชั้นปกครองจำนวนน้อย ที่เห็นช่องทางในการหาประโยชน์จากทรัพยากรของแผ่นดิน ในเมื่อไม่มีแรงกดดันในการสถาปนาระบบธรรมาภิบาลภายในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ก็คงเหลือแต่อำนาจรัฐเท่านั้นที่จะจัดการเรื่องนี้ได้ อย่างไรก็ตาม ในสังคมการเมืองที่รัฐปราศจากธรรมาภิบาล จะหวังให้รัฐสถาปนาระบบธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐได้อย่างไร

หากไม่สามารถสถาปนาระบบธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ จะพัฒนาระบบอุดมศึกษาต่อไปได้อย่างไร

ทิศทางและแนวโน้มที่ห้า
ระบบการคลังเพื่อการอุดมศึกษา(Higher Education Finance)
ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับระบบการคลังเพื่อการอุดมศึกษามีอยู่อย่างน้อย 2 ประการ กล่าวคือ ประการแรก รัฐบาลเกือบมิได้จัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่สถาบันอุดมศึกษาเอกชน ประการที่สอง รัฐบาลจัดสรรงบประมาณแผ่นดินแก่สถาบันอุดมศึกษาของรัฐอย่างค่อนข้างเต็มที่

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับระบบการคลังสำหรับสถาบันอุดมศึกษาของรัฐมีอยู่อย่างน้อย 2 ประการ กล่าวคือ

ประการแรก ระบบการคลังเพื่อการอุดมศึกษามีลักษณะเป็นการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินให้แก่สถาบันอุดมศึกษาหรือผู้ผลิตบริการอุดมศึกษา หรือที่ภาษาเศรษฐศาสตร์เรียกว่า Supply-side Financing แม้ในเวลาต่อมาจะมีการจัดตั้งกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา ซึ่งจัดสรรเงินให้กู้แก่นักศึกษาระดับอุดมศึกษาด้วย แต่การจัดสรรเงินให้กู้มิได้เป็นไปตามหลักการของ Demand-side Financing เพราะเป็นการจัดสรรลงไปยังสถาบันอุดมศึกษา ทั้งของรัฐและเอกชนซึ่งทำหน้าที่จัดสรรต่อไปยังนักศึกษาผู้กู้อีกทอดหนึ่ง

ประการที่สอง ระบบการคลังเพื่อการอุดมศึกษาของรัฐมีลักษณะแตกต่างกันระหว่างระดับปริญญาตรีกับระดับบัณฑิตศึกษา ในระดับบัณฑิตศึกษาที่เป็นโครงการพิเศษ สถาบันอุดมศึกษาของรัฐเก็บค่าบริการอุดมศึกษาในอัตราใกล้เคียงกับต้นทุนการผลิตถัวเฉลี่ยเป็นอย่างต่ำ เพราะเป็นการผลิตเพื่อขายหารายได้ ในขณะที่ระดับปริญญาตรีเก็บค่าบริการต่ำกว่าต้นทุนการผลิตถัวเฉลี่ยมาก

ระบบการคลังเพื่อการอุดมศึกษาที่มีลักษณะ Supply-side Financing เป็นระบบที่จำกัดเสรีภาพในการเลือกของนักศึกษา เนื่องเพราะเป็นการจัดสรรทรัพยากรให้แก่ผู้ผลิต หากเป็น Demand-side Financing ซึ่งเป็นการจัดสรรทรัพยากรให้แก่ผู้บริโภค นักศึกษาจะมีเสรีภาพในการเลือกสถานศึกษาตามความต้องการ การตัดสินใจเลือกของนักศึกษามีผลต่อรายได้ของมหาวิทยาลัย เฉพาะมหาวิทยาลัยที่มีนักศึกษารับเข้าเท่านั้นที่มีรายได้จากค่าบริการอุดมศึกษา ด้วยเหตุดังนี้ Demand-side Financing จึงมีผลส่งเสริมการแข่งขันระหว่างสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งมีผลต่อการปรับปรุงคุณภาพของบริการอุดมศึกษาอีกทอดหนึ่ง ระบบ Supply-side Financing อันเป็นพื้นฐานของระบบการคลังเพื่อการอุดมศึกษาดังที่เป็นอยู่ ไม่มีโครงสร้างสิ่งจูงใจในการปรับปรุงคุณภาพของบริการอุดมศึกษา และในการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ

นโยบายการเก็บค่าบริการอุดมศึกษาในอัตราต่ำกว่าต้นทุนการผลิตถัวเฉลี่ยสำหรับระดับปริญญาตรี มีผลเท่ากับการให้เงินอุดหนุนในรูปแอบแฝงแก่ผู้ที่เข้ามหาวิทยาลัยได้ โดยที่ผู้ได้ประโยชน์จากบริการอุดมศึกษาจากมหาวิทยาลัยของรัฐ (ระบบการจำกัดการรับเข้า) ส่วนใหญ่มีฐานะเศรษฐกิจปานกลางและดี มีภูมิลำเนาในกรุงเทพฯ และภาคนาคร และมิได้ประกอบอาชีพเกษตรกร ระบบการคลังเพื่อการอุดมศึกษาดังกล่าวนี้จึงมีส่วนในการสร้างปัญหาความไม่เสมอภาคในการกระจายรายได้ โดยที่ผู้ได้ประโยชน์จากบริการอุดมศึกษาของรัฐมิต้องรับภาระต้นทุนการผลิตในสัดส่วนอันสมควร ในเมื่อค่าบริการอุดมศึกษาในสาขาวิชาเกือบทั้งหมดต่ำกว่าต้นทุนการประกอบการถัวเฉลี่ย (Average Operating Cost) ของมหาวิทยาลัย

ในเมื่อรัฐยังต้องให้เงินอุดหนุนแก่นักศึกษาในระดับปริญญาตรีในอัตราสูง แต่มหาวิทยาลัยหารายได้จากการขายบริการในระดับบัณฑิตศึกษา ถึงมหาวิทยาลัยจะเลือกเดินแนวทางตลาด แต่ตลาดบริการอุดมศึกษามิอาจมีฐานะเป็นตลาดที่แท้จริงได้ เพราะผู้บริหารมหาวิทยาลัยขยาดที่จะขึ้นค่าบริการอุดมศึกษาในระดับปริญญาตรี (ทั้งๆ ที่รับมอบอำนาจในการตัดสินใจอย่างเต็มที่) เนื่องเพราะเกรงแรงเสียดทานทางการเมือง ในเมื่อรัฐมิได้กดดันเพื่อเปลี่ยนระบบการคลังเพื่อการอุดมศึกษา จากระบบ Supply-side Financing ไปเป็น Demand-side Financing สถาบันอุดมศึกษาของรัฐจึงยังแบมือของบประมาณแผ่นดินในระดับเกินสมควรต่อไป ในขณะที่ส่วนเกินทางเศรษฐกิจที่ได้จากการขายบริการอุดมศึกษาโครงการพิเศษแบ่งปันกันในหมู่ผู้บริหารและอาจารย์มหาวิทยาลัยผู้ผลิตบริการอุดมศึกษา ทั้งๆ ที่ส่วนเกินทางเศรษฐกิจดังกล่าวนี้เกิดจากการใช้ทรัพยากรของแผ่นดิน ทั้งทรัพยากรมนุษย์และทรัพยากรกายภาพ ด้วยเหตุดังนี้ ตลาดการบริการอุดมศึกษาจึงมีลักษณะครึ่งๆ กลางๆ หรือที่ภาษาเศรษฐศาสตร์เรียกว่า Quasi-Market อันเป็นตลาดที่ไม่เกื้อกูลให้กลไกราคาทำหน้าที่จัดสรรทรัพยากรได้อย่างเต็มที่

ระบบการคลังเพื่อการอุดมศึกษาในปัจจุบันมิได้เสริมส่งให้นักศึกษาจากครอบครัวยากจนมีโอกาสในการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย แม้จะมีกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา แต่ไม่เพียงพอ เพราะสิ่งที่นักศึกษายากจนต้องการคือ เงินให้เปล่า (Grant) หรือทุนการศึกษามิใช่เงินให้กู้

ระบบการคลังเพื่อการอุดมศึกษาดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน นอกจากสร้างความไม่เป็นธรรมและไม่เกื้อประโยชน์นักศึกษาที่มาจากครอบครัวที่ยากจนแล้ว ยังบ่มเพาะและแพร่ระบาดความไร้ประสิทธิภาพของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐอีกด้วย

หากจะปฏิรูประบบการคลังเพื่อการอุดมศึกษาเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวข้างต้นนี้ ก็ต้องปรับระบบ Supply-side Financing ไปสู่ระบบ Demand-side Financing ปรับอัตราค่าบริการอุดมศึกษาระดับปริญญาตรีให้ใกล้เคียงกับต้นทุนการประกอบการถัวเฉลี่ย จัดตั้งกองทุนการศึกษาสำหรับนักศึกษาที่มาจากครอบครัวยากจน และแปรตลาดบริการอุดมศึกษาจาก Quasi-Market ไปเป็นตลาดที่แท้จริง โดยลดทอนการใช้ทรัพยากรของแผ่นดินในการหาประโยชน์ส่วนบุคคลในหมู่ผู้บริหารและอาจารย์มหาวิทยาลัย

แต่การปฏิรูปในแนวทางที่กล่าวข้างต้นนี้ยากที่จะเป็นไปได้ หากมหาวิทยาลัยยังคงมีความเป็นอิสระโดยปราศจากความรับผิด ความพยายามในการดึงมหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการ และเปลี่ยนแปลงระบบการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินไปสู่การจัดสรรงบเงินอุดหนุนทั่วไปในลักษณะ Bloc Grant รังแต่จะซ้ำเติมปัญหาที่มีอยู่แล้วให้เลวร้ายลง หากไม่ถือโอกาสในการสร้างกลไกให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยมีความรับผิดในการปรับปรุงคุณภาพบริการอุดมศึกษาและปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิต รวมทั้งการปฏิรูประบบการคลังเพื่อการอุดมศึกษาควบคู่ไปด้วย ความเป็นอิสระโดยปราศจากความรับผิดเป็นกติกาการเล่นเกมอันเลวร้าย ซึ่งบ่อนทำลายระบบอุดมศึกษาในขั้นฐานราก

ทิศทางและแนวโน้มที่หก
สากลานุวัตรของการอุดมศึกษา (Internationalization of Higher Education)
ข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าบริการ (General Agreement on Trade in Services = GATS) กำลังกลายเป็นระเบียบการค้าระหว่างประเทศ ในการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบโดฮา (Doha Round) การค้าบริการโดยเสรีเป็นหัวข้อการเจรจาที่สำคัญ โดยที่บริการการศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของภาคบริการ

การเปิดเสรีการค้าบริการการศึกษาเป็นที่ยอมรับในหมู่ชนชั้นสูงในสังคมไทย การขยายตัวของระบบโรงเรียนนานาชาตินับเป็นประจักษ์พยานของความข้อนี้ การเปิดเสรีการค้าบริการการศึกษาในระดับอุมศึกษามีมากกว่าการศึกษาระดับอื่น โครงการจัดการศึกษานานาชาติผุดขึ้นในสาขาวิชาต่างๆ ของสถาบันอุดมศึกษาจำนวนมากทั้งของรัฐและเอกชน โครงการเหล่านี้มักจะมีมหาวิทยาลัยต่างประเทศเป็นพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Alliance) บางโครงการจัดการเรียนการสอนในลักษณะ Sandwich Courses โครงการส่วนใหญ่มีการแลกเปลี่ยนนักศึกษากับมหาวิทยาลัยต่างชาติ

กล่าวโดยสรุปก็คือ สังคมไทยยอมรับการเปิดเสรีการค้าบริการการศึกษา ตั้งแต่ก่อนการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบโดฮา สำหรับสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ โครงการจัดการศึกษานานาชาติถือเป็นหน้าตาของสถาบัน โดยที่ผู้บริหารบางส่วนหลงเข้าใจผิดว่า โครงการดังกล่าวนี้เป็นกลไกในการยกระดับมหาวิทยาลัยให้เป็น World-Class University แท้ที่จริงแล้ว คุณภาพของโครงการจัดการศึกษานานาชาติในคณะวิชาของมหาวิทยาลัยต่างๆ แตกต่างกันมาก โครงการลักษณะเช่นนี้เป็นกลไกในการหากำไร เพื่อแบ่งปันกันในหมู่ผู้บริหารและอาจารย์มหาวิทยาลัย มิใช่กลไกในการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพของบริการอุดมศึกษา

หากการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบโดฮายุติลงโดยยอมรับกติกาการเปิดเสรีการค้าบริการอุดมศึกษา ภาคอุดมศึกษาอาจมิได้รับผลกระทบมากนัก เพราะสถาบันอุดมศึกษาค่อยๆ ปรับตัวรับกระบวนการสากลานุวัตรของบริการอุดมศึกษามาก่อนแล้ว คำถามพื้นฐานมีอยู่ว่า การเปิดเสรีภาคบริการอุดมศึกษาทำให้สถาบันอุดมศึกษาในเมืองไทยต้องเผชิญการแข่งขันเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด คำตอบส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับกติกาในรายละเอียดที่กำหนดโดยองค์การการค้าโลก อีกส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของสถาบันอุดมศึกษาต่างประเทศ

มหาวิทยาลัยในประเทศที่พัฒนาแล้วสามารถหาประโยชน์ในประเทศที่ด้อยพัฒนากว่าได้หลายวิถีทาง วิธีการดั้งเดิมคือ การผลิตเพื่อการส่งออก นั่นก็คือ การมีรายได้ในรูปค่าบริการอุดมศึกษาจากนักศึกษาต่างชาติที่ศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยในประเทศที่พัฒนาแล้ว

การเปิดเสรีภาคบริการอุดมศึกษาทำให้ประเทศที่พัฒนาแล้วมีทางเลือกในการย้ายที่ตั้ง โรงงาน มาสู่ประเทศโลกที่สาม (Relocation of Industry) หรือตั้งสาขาการผลิตในประเทศโลกที่สาม แต่การย้ายมหาวิทยาลัยก็ดี หรือการตั้งสาขาใหม่ก็ดี ล้วนแล้วแต่ต้องการเงินลงทุนสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานทางวิชาการ (Academic Infrastructure) ดังเช่นห้องสมุด ห้องปฏิบัติการและห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ ขนาดของตลาดในประเทศหนึ่งประเทศใดเพียงประเทศเดียวอาจเล็กเกินกว่าที่จะทำให้การลงทุนดังกล่าวนี้ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า การสร้างตลาดให้มีขนาดที่เหมาะสมสำหรับการลงทุนอาจเป็นเรื่องยากยิ่ง

การทำสัญญาพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์กับสถาบันอุดมศึกษาในประเทศที่ด้อยพัฒนากว่า อาจเป็นยุทธวิธีที่เหมาะสมสำหรับมหาวิทยาลัยในประเทศที่พัฒนาแล้ว เพราะใช้เงินทุนน้อย และมีความเสี่ยงในการลงทุนน้อย และน่าจะเป็นยุทธวิธีที่เลือกใช้กันอย่างแพร่หลาย หากการณ์เป็นจริงเช่นนี้ การเปิดเสรีภาคบริการอุดมศึกษาภายหลังการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบโดฮาจะไม่มีผลในการเพิ่มพูนการแข่งขัน ระหว่างสถาบันอุดมศึกษาไทยกับต่างประเทศมากนัก แต่จะเพิ่มความเข้มข้นในการแข่งขันระหว่างสถาบันอุดมศึกษาภายในประเทศด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการแย่งชิงพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ และในการแย่งชิงลูกค้าเพื่อขายบริการอุดมศึกษา

การเปิดเสรีภาคบริการอุดมศึกษามีผลต่อการขยายตัวของบริการอุดมศึกษาทางไกลด้วย การขายบริการอุดมศึกษาผ่าน internet จะมีมากขึ้น โดยที่ส่วนใหญ่อาจเป็นบริการอุดมศึกษาคุณภาพต่ำ และลูกค้าในเมืองไทยอาจต้องการปริญญาบัตรมากกว่าบริการที่มีคุณภาพ

การเปิดเสรีภาคบริการอุดมศึกษาให้ประโยชน์แก่มหาวิทยาลัยในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการขยายช่องทางในการหารายได้ สถาบันอุดมศึกษาไทยอาจได้ประโยชน์จากการรับถ่ายทอดวิทยาการจากมหาวิทยาลัยที่เป็นพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ แต่มิอาจคาดหวังว่า สถาบันอุดมศึกษาไทยจะสามารถก้าวพ้นแผ่นดินไทยเพื่อไปขายบริการอุดมศึกษาในต่างแดน การตั้งรับการเปิดเสรีภาคบริการอุดมศึกษาจึงเป็นยุทธวิธีเดียวที่มีให้เลือกสำหรับสถาบันอุดมศึกษาไทย

ระบบอุดมศึกษาไทยจะปฏิรูปได้หรือไม่
ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขอันจำเป็นอย่างน้อย 3 ประการ กล่าวคือ

ประการแรก จะปฏิรูปอุดมศึกษาได้ จักต้องมีคำตอบ คำถามพื้นฐานเกี่ยวกับการปฏิรูปอุดมศึกษา
ประการที่สอง จะปฏิรูปอุดมศึกษาได้ จักต้องมีพลังขับเคลื่อนกระบวนการปฏิรูป
ประการที่สาม จะปฏิรูปอุดมศึกษาได้ จักต้องมีการออกแบบเชิงสถาบัน (Institutional Design) ที่เหมาะสม

คำถามพื้นฐานว่าด้วยการปฏิรูปอุดมศึกษา
การปฏิรูปอุดมศึกษามีคำถามพื้นฐานที่จักต้องหาคำตอบอย่างน้อย 3 คำถาม

คำถามที่หนึ่ง - จะปฏิรูปอุดมศึกษาในด้านใด (What) ปัญหาของระบบอุดมศึกษาอยู่ที่ไหน อยู่ที่โครงสร้าง อยู่ที่คุณภาพของอาจารย์ อยู่ที่คุณภาพของนักศึกษา อยู่ที่หลักสูตร อยู่ที่การจัดการเรียนการสอน หรือว่าอยู่ที่โครงสร้างสิ่งจูงใจ

คำถามที่สอง - จะปฏิรูปอุดมศึกษาอย่างไร (How) จะรื้อระบบอุดมศึกษาทั้งระบบ หรือว่าจะปฏิรูปเป็นจุดๆ การปฏิรูปต้องมีลำดับขั้นในการดำเนินการ (Policy Sequencing) หรือไม่ และข้อต่อของการปฏิรูปที่มีผลกระทบลูกโซ่ต่อการปฏิรูปด้านอื่นๆ อยู่ที่ไหน

คำถามที่สาม - จะปฏิรูปอุดมศึกษาเพื่อใคร (For Whom) จะปฏิรูปเพื่อให้ระบบอุดมศึกษารับใช้สังคมไทย หรือจะปฏิรูปเพื่อให้ระบบเศรษฐกิจมีความสามารถในการแข่งขันในสังคมเศรษฐกิจโลก เป้าหมายปฐมฐานของการปฏิรูปอุดมศึกษาคืออะไร

การปฏิรูปอุดมศึกษาจะขับเคลื่อนได้ ก็ต่อเมื่อมีคำตอบคำถามพื้นฐานทั้งสามดังกล่าวนี้ แต่การมีคำตอบเกี่ยวกับการปฏิรูปนั้นยังไม่มีเพียงพอ ประชาสังคมจะต้องมีฉันทมติเกี่ยวกับการปฏิรูปด้วย ขบวนการปฏิรูปจึงจะขับเคลื่อนได้

หลังการปฏิรูปอุดมศึกษา
การปฏิรูปอุดมศึกษาจะขับเคลื่อนได้ ก็ต่อเมื่อมีพลังการปฏิรูป คำถามพื้นฐานมีอยู่ว่า พลังการปฏิรูปอยู่ที่ไหน หรือมาจากไหน?

พลังขับเคลื่อนการปฏิรูปอุดมศึกษา มีทั้งพลังภายในประเทศและพลังจากต่างประเทศ พลังภายในประเทศมีทั้งพลังภายในสถาบันและพลังภายนอกสถาบันอุดมศึกษา

การขับเคลื่อนกระบวนการปฏิรูปอุดมศึกษา โดยอาศัยพลังภายในประเทศ จะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อประชาสังคมมีฉันทมติว่าด้วยการปฏิรูปอุดมศึกษา คำถามที่ว่า จะปฏิรูปอะไร จะปฏิรูปอย่างไร และจะปฏิรูปเพื่อใคร จักต้องมีคำตอบร่วมกัน หากยังไม่มีฉันทมติในประเด็นเหล่านี้ การขับเคลื่อนกระบวนการปฏิรูปอุดมศึกษาย่อมเป็นไปได้ยากยิ่ง การสร้างฉันทมติว่าด้วยการปฏิรูปจึงเป็นปมเงื่อนสำคัญในการขับเคลื่อนกระบวนการปฏิรูป

พลังการปฏิรูปภายในสถาบันอุดมศึกษา จักต้องเป็นพลังหลักในการขับเคลื่อนกระบวนการปฏิรูป เพราะมิอาจหวังพึ่งพลังอื่นใดได้ แต่ระบบอุดมศึกษาของรัฐในปัจจุบันขาดผู้นำในการปฏิรูปอย่างเห็นได้ชัด ไม่มีอธิการบดีคนหนึ่งคนใดที่เป็นที่ยกย่องนับถือในหมู่อธิการบดีด้วยกัน ยิ่งไปกว่านั้น อธิการบดีที่เป็นนักการศึกษาด้วยมีจำนวนน้อยนิด กระบวนการคัดสรรในระบบอุดมศึกษาของรัฐในปัจจุบัน ทำให้ได้อธิการบดีพันธุ์ใหม่ ซึ่งเห็นดีเห็นงามกับแนวทาง Commodification, Marketization และ McDonaldization โดยมองไม่เห็นผลกระทบอันเลวร้ายที่เกิดจากการเดินแนวทางดังกล่าวนี้

อธิการบดีจำนวนไม่น้อยหาประโยชน์ส่วนบุคคลจากโครงการพิเศษนานาประเภท เก็บเกี่ยวกับส่วนเกินทางเศรษฐกิจจากกระบวนการจัดจ้างจัดซื้อและการก่อสร้าง การสถาปนาวิทยาเขตใหม่หรือการตั้งคณะวิชาใหม่เป็นการขยายช่องทางในการเก็บเกี่ยวส่วนเกินทางเศรษฐกิจ จนมีการกล่าวหาความร่ำรวยอันผิดปกติของอธิการบดีบางคน

การที่ระบบการบริหารจัดการที่ไร้ธรรมาภิบาล ยังคงดำรงอยู่ได้ในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐจำนวนมาก โดยที่ ชนชั้นปกครอง ในมหาวิทยาลัยไม่ใส่ใจแก้ไขแม้แต่น้อย ด้านหนึ่งแสดงให้เห็นว่า ลักษณะไร้ธรรมาภิบาลดังกล่าวให้ประโยชน์แก่ ชนชั้นปกครอง นั้นเอง ในอีกด้านหนึ่งสะท้อนให้เห็นอย่างชัดแจ้งถึงภาวะไร้พลังการขับเคลื่อนกระบวนการปฏิรูป ในเมื่อ ชนชั้นปกครอง เหล่านั้นมองไม่เห็นว่า ลักษณะไร้ธรรมาภิบาลของระบบการบริหารจัดการเป็นปัญหาที่ต้องเยียวยาแก้ไข

ในเมื่อมิอาจพึ่งพิงพลังขับดันกระบวนการปฏิรูปของ ชนชั้นปกครอง ในมหาวิทยาลัย ก็ต้องพึ่งพาพลังผลักดันจากประชาชนระดับรากหญ้า ภายในสถาบันนั้นเอง แต่มหาวิทยาลัยจำนวนมากตกอยู่ในวัฏจักรแห่งความด้อยพัฒนา เพราะอาจารย์มหาวิทยาลัยใช้เวลาส่วนใหญ่ในการหารายได้เพื่อธำรงวิถีชีวิตของชนชั้นกลางระดับสูง ไม่มีเวลาแม้แต่จะสนใจความเป็นไปของมหาวิทยาลัย มิพักต้องกล่าวถึงความเอื้ออาทรที่มีต่อสังคมนอกมหาวิทยาลัย หากอาจารย์มหาวิทยาลัยหมกมุ่นเฉพาะแต่การหารายได้มากเพียงใด พลังการปฏิรูปยิ่งอ่อนล้ามากเพียงนั้น

ระบบการบริหารจัดการที่ไร้ธรรมาภิบาลก่อผลซ้ำเติมวัฏจักรแห่งความด้อยพัฒนา มหาวิทยาลัยจำนวนมากนอกจากจะมีระบบการบริหารจัดการที่ปราศจากความโปร่งใสและความรับผิดแล้ว ยังพยายามกีดกันและลดทอนการมีส่วนร่วมของสมาชิกในชุมชนอีกด้วย สภาพการณ์ดังกล่าวนี้สร้างความเฉยเมยต่อความเป็นไปในสถาบัน ซึ่งมีผลบั่นทอนพลังการปฏิรูป

ด้วยเหตุดังที่พรรณนาข้างต้นนี้ การขับเคลื่อนกระบวนการปฏิรูปจะประสบความสำเร็จหรือไม่ และมากน้อยเพียงใด ย่อมขึ้นอยู่กับสภาพการณ์ในแต่ละสถาบัน ในสถาบันที่ ชนชั้นปกครอง ใส่ใจต่อการปฏิรูป มุ่งประโยชน์ของชุมชนวิชาการยิ่งกว่าผลประโยชน์ส่วนบุคคล และระบบการบริหารจัดการมีลักษณะธรรมาภิบาล โดยที่การมีส่วนร่วมของสมาชิกในชุมชนอยู่ในระดับสูง การขับเคลื่อนกระบวนการปฏิรูปย่อมเป็นไปได้ แต่สถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่มีคุณลักษณะเช่นนี้มีจำนวนน้อยนัก ความหวังที่จะปฏิรูปการอุดมศึกษาทั้งระบบแลดูริบหรี่อย่างยิ่ง

หากมิอาจหวังพลังการปฏิรูปภายในสถาบัน คำถามมีอยู่ว่า จะหวังพลังการปฏิรูปนอกสถาบันได้มากน้อยเพียงใด?

ผู้นำการศึกษาที่เป็นห่วงเป็นใยความเป็นไปในระบบอุดมศึกษามีจำนวนหาน้อยไม่ หลายคนมีข้อเสนอในการปฏิรูปอุดมศึกษา บางคนเข้าไปนั่งเป็นกรรมการสภาสถาบันอุดมศึกษา แต่มิอาจชี้นำการปฏิรูปสถาบันอุดมศึกษาเหล่านั้นได้ ทั้งนี้ เนื่องจากอธิการบดีและคณะเป็นผู้กำกับสภามหาวิทยาลัย มิใช่สภามหาวิทยาลัยเป็นผู้กำกับและตรวจสอบอธิการบดีและคณะ หากอธิการบดีและคณะมองไม่เห็นปัญหาและความจำเป็นในการปฏิรูป การขับเคลื่อนกระบวนการปฏิรูปเป็นไปได้ด้วยความลำบากยากยิ่ง

ในประการสำคัญ มหาวิทยาลัยไทยมีความเป็นอิสระสูงมากในนามของเสรีภาพทางวิชาการ รัฐถูกกีดกันมิให้ข้องเกี่ยวกับกิจกรรมมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมีความเป็นอิสระในการบริหารจัดการมีอำนาจในการอนุมัติหลักสูตรและประสาทปริญญา รวมตลอดจนการกำหนดอัตราค่าบริการอุดมศึกษา การที่พลังนอกมหาวิทยาลัยจะทะลุทะลวงเข้าไปขับเคลื่อนกระบวนการปฏิรูปภายในมหาวิทยาลัย จึงมิใช่เรื่องง่าย

แต่รัฐมีอำนาจตามกฎหมายและอำนาจในการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินที่จะชี้เป็นชี้ตายมหาวิทยาลัย ด้วยอำนาจดังกล่าวนี้ รัฐอยู่ในฐานะที่จะชี้นำการปฏิรูปอุดมศึกษา เว้นเสียเต่ว่าผู้นำรัฐบาลไม่มีวิสัยทัศน์และเจตจำนงในเรื่องนี้

การอาศัยพลังต่างประเทศในการขับเคลื่อนกระบวนการปฏิรูปอุดมศึกษาปรากฏให้เห็นภายหลังวิกฤติการณ์การเงิน 2540 เมื่อผู้นำอุดมศึกษาเสนอเงื่อนไขการดำเนินนโยบาย (Policy Conditionality) ผูกติดมากับเงินกู้จากธนาคารพัฒนาอาเซีย (ADB) โดยที่การออกนอกระบบราชการเป็นเงื่อนไขสำคัญในการนี้ ในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย เงื่อนไขการดำเนินนโยบายที่ผูกติดมากับเงินกู้จากองค์กรโลกบาลมีประสิทธิภาพแตกต่างกัน ประเทศลูกหนี้มิจำต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการดำเนินนโยบายทุกข้อ โดยที่มิได้ถูกลงโทษ เงื่อนไขการดำเนินนโยบายบางข้อ ดังเช่น การถ่ายโอนการผลิตไปสู่ภาคเอกชน (Privatization) แม้จะถูกผูกติดกับเงินกู้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่หาได้มีผลไม่ เนื่องเพราะช่วงเวลาในการดำเนินการยาวนานกว่าระยะเวลาของเงินกู้ ในทำนองเดียวกัน การดึงมหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการกินเวลายาวนานกว่าระยะของเงินกู้ เมื่อเงินกู้สิ้นอายุ พันธะในการปฏิบัติตามเงื่อนไขการดำเนินนโยบายย่อมหมดสิ้นลงด้วย

ในประการสำคัญ องค์กรโลกบาลมิได้บังคับประเทศลูกหนี้ให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขการดำเนินนโยบายอย่างจริงจัง เพราะถึงจะถ่ายโอนการผลิตจากภาครัฐบาลไปสู่ภาคประชาชน หรือดึงมหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการ หามีส่วนช่วยให้ฟื้นจากวิกฤติการณ์การเงินไม่ ด้วยเหตุดังนี้ ความพยายามในการอาศัยธนาคารพัฒนาอาเซียกดดันให้มหาวิทยาลัยขับเคลื่อนกระบวนการปฏิรูปประสบความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง กล่าวโดยสรุปก็คือ พลังการปฏิรูปที่สำคัญเป็นพลังที่อยู่ภายในสถาบันอุดมศึกษานั้นเอง มิอาจพึ่งพลังนอกสถาบันได้ และยิ่งมิอาจหวังพึ่งพลังกดดันจากต่างประเทศ ปมเงื่อนสำคัญอยู่ที่การจุดปะทุให้มีปฏิบัติการร่วมในสังคม (Social Collective Action) ปฏิบัติการร่วมดังกล่าวนี้จะก่อเกิดได้ก็ต่อเมื่อสมาชิกในชุมชนมีฉันทมติว่าด้วยการปฏิรูป ต้องมีความเห็นพ้องต้องกันว่า จะปฏิรูปอะไร จะปฏิรูปอย่างไร และจะปฏิรูปเพื่อใคร หากปราศจากฉันทมติดังกล่าวนี้ พลังการปฏิรูปยากที่จะก่อเกิดและเติบโตได้

การออกแบบสถาบันอุดมศึกษาในด้านสถาบัน (Institutional Design)
การปฏิรูปอุดมศึกษาจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อมีการออกแบบเชิงสถาบันที่เหมาะสม สถาปัตยกรรมเชิงสถาบัน (Institutional Architecture) ของมหาวิทยาลัยไทยแต่ดั้งเดิมมิได้เกื้อกูลให้มหาวิทยาลัยเป็นหน่วยผลิตองค์ความรู้ หากมุ่งให้เป็นหน่วยผลิตบุคลากร ไม่ส่งเสริมให้มีอาจารย์ประจำ ไม่ลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานทางวิชาการ (Academic Infrastructure) ฯลฯ

ในการปฏิรูปมหาวิทยาลัยบางส่วนให้เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัยจำเป็นต้องออกแบบสถาปัตยกรรมเชิงสถาบันใหม่ มหาวิทยาลัยเช่นนี้ต้องมีโครงสร้างสิ่งจูงใจในการดึงดูดชนชั้นมันสมองของชาติ โครงสร้างอัตราเงินเดือนต้องสูงพอที่จะดำรงวิถีชีวิตของชนชั้นกลางระดับสูง (Upper Middle Class) โดยไม่ต้องกังวลในการหารายได้ และสามารถเป็น สำราญชน ที่สามารถหาความสำราญจากการผจญภัยทางปัญญา

การที่มหาวิทยาลัยแต่ดั้งเดิมมิได้กำหนดโครงสร้างอัตราเงินเดือนอาจารย์มหาวิทยาลัยแตกต่างจากข้าราชการโดยทั่วไป ทำให้มหาวิทยาลัยมิอาจดูดดึงชนชั้นมันสมองของชาติมาเป็นอาจารย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมิอาจประมูลแย่งชิงทรัพยากรมนุษย์กับภาคเอกชนภายหลัง จากที่ภาคเอกชนเติบใหญ่กล้าแข็งทางเศรษฐกิจ ความผิดพลาดในประเด็นนี้เกิดขึ้นซ้ำอีกเมื่อมีการสถาปนามหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาล โดยที่โครงสร้างอัตราเงินเดือนแตกต่างจากระบบราชการไม่มาก สถาบันอุดมศึกษาที่ก่อตั้งใหม่เหล่านี้จึงยังคงได้ทรัพยากรมนุษย์ระดับปลายแถวมาเป็นอาจารย์

โครงสร้างอัตราผลตอบแทนแต่เพียงโสดเดียวมิอาจผลักดันกระบวนการปฏิรูปอุดมศึกษาได้ ยังต้องมีการออกแบบเชิงสถาบันด้านอื่นประกอบด้วย การกำหนดโครงสร้างสิ่งจูงใจในการทำงานการวิจัยและการพัฒนา (Research and Development) มากกว่าการทำงานด้านการบริหาร ตลอดจนการกำหนดกติกาการเล่นเกมภายในสถาบันในทางส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตความรู้ รวมตลอดจนการสร้างบรรยากาศทางวิชาการ มิพักต้องกล่าวถึงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานทางวิชาการอย่างพอเพียง เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยสำคัญที่เกื้อกูลกระบวนการปฏิรูป

ความรู้เป็นสินค้าสาธารณะ (Public Goods) แม้ความรู้บางประเภทจะมีมูลค่าตลาด ความเป็นสาธารณะของความรู้ทำให้รัฐบาลต้องมีบทบาทในการส่งเสริมการผลิตความรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรมด้านการวิจัยและการพัฒนา หากปล่อยให้กลไกตลาดจัดสรรทรัพยากรสำหรับการวิจัยและการพัฒนา โดยรัฐบาลหามีบทบาทแต่ประการใดไม่ การวิจัยและการพัฒนาย่อมมีน้อยกว่าระดับอุตมภาพ (Suboptimal R&D)

การแบ่งบทบาทหน้าที่ในการปฏิรูประหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน นับเป็น กติกา ที่สำคัญยิ่ง รัฐต้องมีบทบาทในการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานทางวิชาการ และในการจัดสรรงบประมาณสำหรับการวิจัยและการพัฒนา ความชัดเจนในการกำหนดบทบาทหน้าที่ (Responsibility Assignment) นับเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนกระบวนการปฏิรูป

ระบบอุดมศึกษาไทยปฏิรูปได้หรือไม่?
ในฐานะเจ้าสำนักทุกขทรรศน์ (Pessimism) ผมมีความเห็นว่า การแปรเปลี่ยนมหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัยเป็นเรื่องยากยิ่ง ในปัจจุบัน เงื่อนไขอันจำเป็นในการขับเคลื่อนกระบวนการปฏิรูปอุดมศึกษา มิได้ดำรงอยู่ในสังคมไทย

ประการแรก ไม่มีฉันทมติว่าด้วยการปฏิรูปอุดมศึกษา ไม่มีคำตอบอันยอมรับร่วมกันว่า จะปฏิรูปอะไร ปฏิรูปอย่างไร และปฏิรูปเพื่อใคร
ประการที่สอง ไม่มีพลังขับเคลื่อนกระบวนการปฏิรูปทั้งภายในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นภายในหรือภายนอกระบบอุดมศึกษา และพลังผลักดันจากต่างประเทศ
ประการที่สาม ไม่มีฉันทมติว่าด้วยสถาปัตยกรรมเชิงสถาบันที่เหมาะสมสำหรับมหาวิทยาลัยไทย และมีปัญหาว่าใครมีหน้าที่ในการออกแบบเชิงสถาบันดังกล่าวนี้

ในประการสำคัญ ทิศทางและแนวโน้มของการอุดมศึกษาไทยในปัจจุบัน นอกจากจะไม่เกื้อกูลการปฏิรูปแล้ว ยังนำความเสื่อมทรามมาสู่ระบบอุดมศึกษาอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเดินแนวทาง Commodification Marketization และ McDonaldization รวมตลอดจนระบบการบริหารจัดการที่ปราศจากธรรมาภิบาล คำถามพื้นฐานมีอยู่ว่า ใครมีหน้าที่เบี่ยงเบนระบบอุดมศึกษาออกจากเส้นทางแห่งหายนภัยดังกล่าวนี้

หมายเหตุ
บทความนี้เรียบเรียงจากบทอภิปรายเรื่อง จินตภาพอุดมศึกษา ก้าวใหม่หลังการปฏิรูป จัดโดยสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2546 ผู้ร่วมอภิปรายประกอบด้วย ศาสตราจารย์ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช และ ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ

 

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา I ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้

1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งย่อหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ
(กรณีตัวหนังสือสีจาง ให้เปลี่ยนสีเป็นสีเข้มในโปรแกรม Microsoft-word)

 

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ

The Midnight University
a higher education

 

บทความของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ หากนำไปใช้ กรุณาอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร
จัดโดยสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ผู้ร่วมอภิปราย ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช และ ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ
ภาคเอกชนต้องการบริการอุดมศึกษาเพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการผลิตและการบริหารจัดการ อันมีผลต่อผลปฏิบัติการทางธุรกิจ (Business Performance) การได้วุฒิบัตรหรือปริญญาบัตรไม่มีความสำคัญเท่ากับการเพิ่มพูนทุนมนุษย์ (Human Capital)
ภาครัฐบาลสนใจกระพี้มากกว่าแก่นของบริการอุดมศึกษา และไม่มีความจริงจังในการประเมินคุณภาพของบริการอุดมศึกษาที่ผลิตโดยสถาบันต่างๆ ระบบราชการเพียงแต่กำหนดว่า หากต้องการดำรงตำแหน่งนายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือนายตำรวจระดับนายพันและนายพลต้องได้รับปริญญาโทในสาขาวิชารัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์
การใช้ปริญญาเป็นเกณฑ์สำหรับการขึ้นสู่ตำแหน่งราชการระดับสูง มีผลต่อการเพิ่มพูนความต้องการบริการอุดมศึกษา แต่การที่ระบบราชการมิได้สนใจประเมินคุณภาพของบริการอุดมศึกษา ที่ผลิตโดยสถาบันต่างๆ ทำให้ความต้องการบริการอุดมศึกษาของภาครัฐบาล มิอาจส่งผลต่อการปรับปรุงคุณภาพของบริการอุดมศึกษา และยังผลให้สถาบันอุดมศึกษาของรัฐแปรรูปเป็น โรงพิมพ์ปริญญาบัตร
เมื่อมหาวิทยาลัยแรกสถาปนาในยุโรปตะวันตกในยุคกลาง (Middle Age) อำนาจในการประสาทปริญญาเป็นของศาสนจักร มิได้เป็นของอาณาจักร มหาวิทยาลัยในยุโรปตะวันตกมีอำนาจในการประสาทปริญญา ภายหลังจากที่การขีดเส้นแบ่งอำนาจระหว่างฝ่ายอาณาจักรกับฝ่ายศาสนจักรลงตัวแล้ว การที่มหาวิทยาลัยของรัฐไทยมีอำนาจในการประสาทปริญญา โดยปราศจากการควบคุมและกำกับของรัฐ เกื้อกูลการพิมพ์ปริญญาเพื่อขาย ซึ่งมีผลต่อกระบวนการแปรบริการอุดมศึกษาให้เป็นสินค้า