Home

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ


Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

สนใจสมัครเป็นสมาชิก
กรุณาคลิก member page
ส่วนผู้ที่ต้องการดูหัวข้อบทความ
ทั้งหมด ที่มีบริการอยู่ขณะนี้
กรุณาคลิกที่ contents page
และผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น
หรือประกาศข่าว
กรุณาคลิกที่ปุ่ม webboard
ข้างล่างของบทความชิ้นนี้

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com

เว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ทางเลือกเพื่อการศึกษาสำหรับสังคมไทย เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สมดุล และเป็นธรรม : 1-31 ตุลาคม ๒๕๔๖
Wisdom is the ability to use your experience and knowledge to make sensible decision and judgements

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 313 หัวเรื่อง
ขั้นตอนการเสพสุขและคุณค่าที่ได้จากการอ่านหนังสือ
โดย ฟ้าหลังฝน (นามแฝง)
สมาชิกมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

(บทความนี้ยาวประมาณ 16 หน้า)
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะแก้ปัญหาได้

บทความของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน สามารถคัดลอกไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการได้ หากนำไปใช้ประโยชน์ กรุณาแจ้งให้ทราบที่
midnightuniv(at)yahoo.com

121046
release date
R

เพื่อการเสพสุขและการเสพคุณค่า
(จากต้นฉบับเรื่อง "การเสพสุขที่ละเมียดละไม : คัมภีร์ขั้นสุดยอดของชนชั้นสูง")

โดย ฟ้าหลังฝน : บทความจากสมาชิกหมาวิทยาลัยเที่ยงคืน

การเสพสุขที่ละเมียดละไม : คัมภีร์ขั้นสุดยอดของชนชั้นสูง
การเสพสุขย่อมเป็นสิทธิ์ของชนชั้นสูง ผู้มีเวลาว่างเหลือพอ มีทรัพย์สินไม่สิ้นสุด สำหรับคนชั้นล่างนั้น แม้แต่เวลาในการพักผ่อนจากงานอันเหนื่อยยากก็ยังไม่พอเลย จึงไม่ต้องพูดถึงคำว่า "เสพสุข" ส่วนคนชั้นกลางซึ่งพึ่งจะชะโงกหัวขึ้นมานั้น ก็ยังคงต้องทำงานหนักเพื่อเพิ่มฐานะของตนต่อไป หรือหากฐานะมั่นคงแล้ว ได้เขยิบฐานขึ้นเป็นนายทุนสมัยใหม่ พวกเขาก็สนใจแต่วัตถุสิ่งของภายนอก มากกว่าที่จะเสพสุขจากความดื่มด่ำอันลึกซึ้ง แม้พวกเขาจะพยายามเลียนแบบชนชั้นสูง แต่พวกเขาก็ไม่เคยบรรลุ ด้วยความรู้ทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ไม่เพียงพอ การดิ้นรนเขยิบฐานะจนเคยชินกับนิสัยที่ยึดอยู่กับวัตถุ พวกเขาจึงไม่เคยได้มันมา

จึงมีเพียงชนชั้นสูงเท่านั้นหรือที่ได้เสพสุข(อย่างแท้จริง) คนเพียงหยิบมือเดียวกระนั้นหรือ?

หากเรามองพัฒนาการของสังคมแล้วจะพบว่า นับตั้งแต่การพัฒนาอุตสาหกรรมเป็นต้นมา คนส่วนใหญ่ของสังคมเริ่มได้รับผลพวงจากการพัฒนา มีชีวิตทางวัตถุที่ดีขึ้น แม้ว่ายังมีคนยากไร้อยู่ แต่คนยากไร้เหล่านั้นก็มีชีวิตที่ลำบากน้อยลง แต่ก่อนอาจต้องทำงานหนักถึงวันละ 12 ชั่วโมง แต่ปัจจุบันอาจเหลือแค่ 8-10 ชั่วโมง คนเหล่านี้สามารถเดินเที่ยวห้าง ซื้อของใช้ต่างๆมากมาย แม้จะเป็นไปอย่างจำกัด แต่ก็นับว่าไม่เลวเลยเมื่อเทียบกับในอดีต

ขณะเดียวกันได้เกิดคนกลุ่มใหม่ขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้า นักธุรกิจ หรือคนรวยยุคใหม่ ที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น แทนที่จะผูกขาดที่คนกลุ่มเดียวเหมือนในอดีต ชนชั้นกลางที่มีความรู้เป็นอาวุธในการเพิ่มฐานะ ยิ่งเบ่งบานอยู่ในสังคม ในอัตราส่วนที่เพิ่มมากขึ้นๆ

การเติบโตเหล่านี้เป็นไปตามพัฒนาการของสังคม ส่วนเกินที่ขูดรีดกันมา(หรือพัฒนาเทคโนโลยี) ได้เริ่มกระจาย มากน้อยลดหลั่นกันไป พ่อค้ายุคใหม่ก็ได้มากหน่อย คนชั้นกลางก็เค้กชิ้นกลาง ส่วนคนจนก็เนื้อหมูสับ แต่ก็ยังดีกว่าซี่โครงไก่

เมื่อสังคมไทยพัฒนาถึงขั้นหนึ่ง สินค้าที่นำมาบริโภคก็ย่อมเปลี่ยนไป มีการยกระดับคุณภาพมาตรฐาน ร้านอาหารชั้นดีเริ่มเปิดกิจการมากขึ้น ตามการขยายตัวของชนชั้นกลาง ส่วนร้านอาหารชั้นเลิศก็เพิ่มตามนายทุนใหม่ สิทธิ์ในการเสพสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นของชนชั้นสูงแต่อย่างเดียวเหมือนในอดีต คนชั้นสูงจึงต้องพัฒนาการเสพขึ้นไปอีกชั้น อาจเสพอะไรที่เลอเลิศถึงสวรรค์ชั้นฟ้า ซึ่งมีผลิตเพียงน้อยนิด ด้วยราคาแสนแพง แต่อย่างหนึ่งที่เราต้องยอมรับก็คือ การเสพเชิงคุณภาพได้เปิดสู่คนจำนวนมากขึ้นๆแล้ว

แต่การเสพสุขอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นอภิสิทธ์ของชนชั้นสูงมาอย่างยาวนาน และไม่มีใครแย่งชิงไปได้ก็คือ การเสพสุขทางใจ ทางอารมณ์รส ทางความละเอียดอ่อน ซึ่งมักจะมาจาก "การอ่านวรรณคดีชั้นเลิศ การเสพงานศิลปะอันล้ำค่า การมีวัฒนธรรมขนบประเพณีอันละเมียดละไม" สิ่งนี้เป็นของมีคุณภาพอย่างแท้จริง ที่ไม่ได้มาด้วยวัตถุ แต่ต้องอาศัยภูมิรู้ที่สั่งสมกันมาอย่างยาวนาน ต้องใช้สติปัญญาขบคิดใคร่ครวญและสืบทอด

สิ่งนี้หากไม่มีรสนิยมพอก็ไม่อาจทำได้ นี่คือสิ่งที่แบ่งชนชั้นสูงออกจากชนชั้นกลางที่เขยิบขึ้นมามีฐานะเท่าเทียมกัน แต่ไม่อาจเลียนแบบเชิงคุณภาพทั้งทางจิตใจและวัฒนธรรมได้

อย่างไรก็ตามสิทธิ์ที่เป็นการผูกขาดของชนชั้นสูงนี้เริ่มได้รับการสั่นคลอน สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะคนที่มีการศึกษาได้เพิ่มมากขึ้นตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา พวกเขาจึงสามารถเสพสุขทางจิตใจอันละเมียดละไมได้ ชนชั้นสูงจึงไม่มีสิทธิ์ผูกขาดอีกต่อไป แต่ที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ ฐานที่มั่นนี้แม้แต่ชนชั้นสูงเองก็เริ่มละทิ้ง พวกชนชั้นกลางที่เข้ามาแข่งขันก็ละเลย และไม่เห็นความสำคัญ จึงกลายเป็นว่าแม้ว่าจะมีคนที่เข้าถึงการเสพสุขทางจิตใจอันเป็นศาสตร์ชั้นสูงเพิ่มขึ้น แต่การเสพโดยรวมกลับมีแนวโน้มลดลง(เมื่อเทียบกับอัตราส่วนคนที่มีศักยภาพพอจะเสพที่เพิ่มขึ้น)

เป็นเพราะกระแสสังคมที่โน้มเอียงไปทางวัตถุเพิ่มขึ้นหรือ? เป็นเพราะคนมีเวลาน้อยลง เหรอ? เป็นเพราะชนชั้นกลางเดิมที่ด้อยเรื่องเสพสุขทางใจเข้ามายึดกระแสสังคมเหรอ? สิ่งเหล่านี้ยากจะหาคำตอบที่บ่งชี้ชัดลงไป

นี่เป็นสิ่งที่ยังความแปลกใจให้กับผมเป็นอย่างมาก ทำไมพื้นที่นี้ที่ศักดิ์สิทธิ์ทรงคุณค่าตลอดมาและตลอดไป จึงไม่มีใครแย่งกัน คนชั้นสูงก็ต่างละทิ้ง คนชั้นกลางก็ไม่เข้ายึด หรือว่าคนเพียงแต่เสพสุขทางใจเพื่ออวดโชว์ สิ่งนี้ไม่มีค่าอยู่จริงๆ หรือว่าการเสพแบบนี้มันช้า ต้องใช้เวลาและการพัฒนาสูง แต่คนเห็นได้ยาก หรือว่าสังคมไม่ได้วัดกันที่ตรงนี้แล้ว เป็นคำถามที่ยังหาคำตอบไม่ได้

แต่แม้พื้นที่นี้จะไม่มีคนอยากยึดครอง แต่เราก็อาจกล่าวให้พิสดารออกไปได้ว่า พื้นที่นี้ไม่ได้หยุดนิ่งแต่ได้มีการขยายออกไป แปรรูปออกไป ทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ ในเชิงปริมาณนั้นจะเห็นว่ากิจการหนังสือทุกประเภท ซึ่งรวมไปถึงนวนิยาย สารคดีต่างๆ(อันเป็นสิ่งที่จะเสพสุขอันละเมียดละไมได้) กลับมีพื้นที่เพิ่มมากขึ้น จำนวนคนที่เขียนเรื่องเหล่านี้ได้เพิ่มขึ้น หลากหลายขึ้น หนังสือทำนองนี้ก็หลากหลายขึ้น มีการจัดทำรูปเล่มที่ดึงดูดมากขึ้น นี่หมายความว่ากระไร? ในเชิงคุณภาพนั้น การเสพสุขจากโรงหนัง ได้กลายเป็นทางออกใหม่ของคนมีเวลาน้อย แต่อยากจะเสพความบันเทิง และก็มีจำนวนไม่น้อยที่ให้สาระแง่คิด คนดูมีทางเลือกมากขึ้นกับหนังที่ไม่ใช่น้ำเน่า หนังดีๆ สำหรับ Serious looker เริ่มมากขึ้น ทั้งหมดนี้แปลว่าอะไร?

การเข้าๆออกๆของคุณภาพหนังและสิ่งพิมพ์เพื่อการบันเทิงชั้นสูงนั้น มีพลวัตอยู่ตลอดเวลา ในช่วงก่อนหน้านี้ดูเหมือนว่าคุณภาพได้เริ่มถูกเรียกร้อง หนังสือที่มีเนื้อหาน้ำเน่าเริ่มได้รับการปฏิเสธ หนังที่ทำไม่ละเมียดละไมเริ่มขายได้ยากขึ้น แต่เมื่อเวลาผ่านไปหนังที่เคยละเมียดละไม หนังสือที่มีเนื้อหาสาระ ก็เริ่มปรับตัว มีคุณภาพที่ลดลง (เพื่อให้ขยายฐานคนดูที่มีความรู้น้อย เข้ามาเพิ่มส่วนแบ่งตลาด กระนั้นหรือ)

นี่นับเป็นพลวัติที่ปรับตัวไปตามกาลเวลา แต่เราต้องสรุปได้อย่างหนึ่งว่า คุณภาพโดยรวมพร้อมทั้งปริมาณได้ยกระดับขึ้นมาอีกขั้น แม้ว่าจะมีช่วงเวียนซ้ำ ตกต่ำ แต่แนวโน้มของมันได้สูงขึ้นตลอดเวลา (ปรากฎการณ์นี้อาจนำไปเทียบกับการพัฒนาสังคมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนจนได้ไหม ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นตลอดเวลา แต่ต้องผ่านเส้นทางอันคดเคี้ยวของการตกต่ำเป็นช่วงๆ) เหมือนกับ เกลียว Helix ที่หมุนเป็นวง แต่ในการหมุนแต่ละครั้ง ระดับขั้นได้รับการยกให้สูงมากขึ้น

ที่ผ่านการอธิบายมาทั้งหมด คงพอทำให้เราเห็นภาพคร่าวๆว่า สังคมมีการพัฒนาทั้งการเสพสุขทางวัตถุที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน และการเสพทางจิตใจอันละเมียดละไมที่ได้เพิ่มขึ้น "ถ้าสังเกตก็มองเห็นได้" แม้ว่าแนวโน้มจะมีการปรับเปลี่ยนไปเชิงคุณภาพ ขึ้นและลง แต่โดยรวมเมื่อเวลาผ่านไปจะยกระดับขึ้นเสมอนั้น ทำให้เรามองเห็นโลกที่สดใสขึ้น แต่นี่เป็นเพียงประวัติศาสตร์ซึ่งไม่จำเป็นต้องเวียนซ้ำเช่นเดิมก็ได้ (แต่ถ้ามองอย่างง่ายๆก็น่าจะคิดในแง่ดีว่า คงจะดีขึ้นต่อไปแบบนี้แหละ คำตอบนี้ก็น่าจะมีเปอร์เซนต์มากที่สุด เพราะข้อมูลทางประวัติศาสตร์ยืนยันเช่นนั้น)

แต่เราจะปล่อยให้ประวัติศาสตร์พัฒนาไปเองกระนั้นหรือ ทำไมเราไม่ชิงลงมือก่อน ทำให้มันดีขึ้นด้วยตัวเรา อย่างน้อยก็ดีกว่าไม่ทำอะไร การใส่อะไรบางอย่างเข้าไปย่อมมีมูลค่าเพิ่มทั้งนั้น(ถ้าใส่อย่างถูกวิธี) ดังนั้นจึงน่าจะมาค้นหาวิธีการทำให้คนหันมา "เสพสุขอันละเมียดละไมทาง จิตใจ"นี้เพิ่มมากขึ้นๆ

แต่ผมคงไม่ขออภิปรายถึงเรื่องนี้ ณ ที่นี้ เพราะการทำอะไรใหญ่ๆขนาดนั้น นอกจากจะสำเร็จยากแล้ว ก็มีน้อยคนที่จะลงทุนลงแรงโดยไม่ได้อะไรตอบแทน ยิ่งในยุคนี้ที่ภาพมายาของการช่วยเหลือคนจน การปฏิรูปสังคม ได้ถูกทำลายไปแล้ว (แต่อาจหลบซ่อนอยู่ในจิตใจ คนดีๆที่เล็กๆอีกหลายคน ไม่ต้องมองใครก็คุณนั่นแหละ เพราะคนที่ไม่มีสิ่งนี้ในใจนั้นเป็นพวกส่วนน้อย คนที่มีอะไรดีๆในใจอยากจะช่วยเหลือสังคม ผมมั่นใจว่ามีมากกว่า นี่ไม่ได้หมายความว่าคุณเป็นคนดี บริสุทธิ์นะ คนแบบนั้นก็มีน้อย แต่คุณเป็นคนดีที่อยากช่วยเหลือสังคม ในขอบเขตที่ช่วยเหลือได้ ที่คุณไม่เดือดร้อน และก็มีบางครั้งที่คุณอาจเห็นแก่ตัวมาก ซึ่งก็เป็นเรื่องของปุถุชน แต่เพราะความดีที่มีอยู่บ้างนี่แหละ ทำให้โลกนี้ยังสวยงามอยู่)

การออกมาเรียกร้องแบบนี้ย่อมเหนื่อยเปล่า แต่สิ่งที่ผมทำได้ง่ายกว่า คือ การชี้แนะให้คุณเห็นการเสพสุขทางใจนั้น และเมื่อคุณเห็นดีเห็นงามตามไป คุณก็จะเข้าไปเสพ และเมื่อนั้นคุณก็ติดกับ เอ๊ย ไม่ใช่ คุณก็จะได้รับความสุข อันเป็นเป้าหมายหลักของผมที่อยากให้คนมีความสุข โดยเฉพาะสุขอย่างละเมียดละไมมีรสนิยมนี่ยิ่งมันส์ใหญ่ ดีกว่าสุขทางวัตถุเยอะ เพราะสุขแบบนั้นมันง่ายๆ ไม่ต้องรอให้ผมแนะนำคุณก็เสพได้ ส่วนเมื่อคุณได้เสพแล้ว คุณก็จะลืมหรือลดความอยากในการเสพวัตถุลง เพราะคุณมีทางเลือกที่หลากหลายในการเสพมากขึ้น ความปรารถนาของคุณได้รับการระบายในอีกช่องทางหนึ่ง ช่องทางวัตถุจึงไม่รุนแรงนัก จนถึงขั้นคุณอาจจะเบื่อวัตถุไปเลยก็ได้ แต่ผมไม่ได้หวังผลถึงเพียงนั้น เพราะผมอยากให้คุณมีความสุขในโลกนี้อย่างเต็มเปี่ยม ที่แนะนำทางจิตให้ก็เพราะไม่อยากให้คุณพลาด ส่วนทางวัตถุก็อยากให้คุณเสพมันต่อไป เพื่อความสุขอันเปี่ยมล้นของคุณ แต่เมื่อคุณเสพติดคุณค่าทางจิตนั้น คุณก็จะเห็นความงามในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์เป็นเงาตามตัว(หรืออย่างเลวก็เบียดเบียนคนอื่นน้อยลง เพราะจิตของคุณได้รับการพัฒนาจนละเอียดอ่อนแล้ว) เมื่อคุณเป็นดังนี้ ก็เท่ากับคุณได้ช่วยเหลือสังคมแล้ว สังคมก็จะดีขึ้น แต่นี่ก็เป็นเป้าหมายรอง แม้จะไม่ยิ่งใหญ่เหมือนลัทธิมาร์กซ์ในอดีต แต่ทางเลือกนี้ก็เป็นจริงมากกว่า คือ มีคนกลุ่มหนึ่งได้มีความสุขเพิ่มขึ้นจริง และพวกเขาก็ยินยอมพร้อมใจจะทำให้สังคมดีขึ้น ผ่านการได้รับความสุขของพวกเขา ดังนี้แล้วทุกอย่างก็ Happy Ending เป็น win-win solution

1. การก้าวข้ามกำแพง หนทางสำหรับผู้เริ่มเสพสุขอันละเมียดละไม ซึ่งสงวนไว้แก่ชนชั้นสูง
เรามาเริ่มกันเลยดีกว่า อย่างแรกก็คือ การเสพสุขอันละเอียดอ่อนนี้ ยากในการเข้าถึง หากคุณไม่ข้ามกำแพงเข้ามาก่อน คุณก็จะไม่มีวันได้เสพ และการข้ามกำแพงนี่แหละยากที่สุดเลย เพราะเนื่องจากมันเป็นเรื่องที่คุณไม่คุ้นเคย เมื่อคุณเริ่มต้นแทนที่จะเป็นขนมหวานหอม มันกลับเป็นยารสขม แต่ถ้าคุณอดทนสักหน่อย คุณจะเริ่มชิน เริ่มคุ้นเคย คุณจะค่อยๆเห็นความงาม ความละเอียดละมุนละไม แล้วคุณก็จะเสพเพิ่มขึ้นๆ จนติด และแล้วคุณก็จะเข้ามาอยู่ในอาณาจักรของเรา อาณาจักรชั้นสูง คุณจะกลายเป็นชนชั้นสูงอย่างแท้จริง เป็นอภิสิทธ์ชน ผู้เสพสุขในสิ่งอันคนอื่นเสพไม่ได้ (แต่คุณก็ดีใจได้แค่ครึ่งเดียว เพราะคุณเป็นเหมือนซินเดอเรลล่า ที่มีฐานะยากจน แต่สามารถไปอยู่ในอาณาจักรของคนชั้นสูงได้ครึ่งตัว คือ ในช่วงงานเลี้ยงนั้น แต่คุณไม่โชคร้ายขนาดนั้นหรอก สิ่งที่คุณจะได้คือ รสนิยมอันทรงคุณค่า ที่จะทำให้คุณเป็นที่ยอมรับ และอย่างน้อยคุณก็ดื่มด่ำกับมัน)

แต่เรื่องไม่ได้ง่ายขนาดนั้น การจะทนเสพในตอนแรกจนติดนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายๆเลย และความจริงแล้ว บางคนอาจทนเสพอยู่หลายปีก็ไม่ดีขึ้น นั่นอาจเพราะไม่ถูกวิธี ไม่มีคนชี้แนะ แต่สิ่งสำคัญคือ อาจเสพไม่ตรงกับจริตคุณ นี่ไม่ได้หมายความว่าคุณไม่มีคุณสมบัตินะ ผมเชื่อว่าทุกคนมีคุณสมบัติ แต่ลางเนื้อชอบลางยา คุณอาจจะชอบคนละอย่างกับผม ดังนั้นขอเพียงทุกคนมีคนชี้แนะ และเลือกในสิ่งที่ถูกกับตนเอง ทุกคนก็จะได้เสพสุขนี้

ดังนั้นสิ่งแรกที่คุณต้องทำอย่างง่ายๆก็คือ หาเวลาว่างสักเล็กน้อย ผมรู้ว่าคุณมีงานยุ่ง มีเงินต้องหา แต่คุณก็ต้องการเสพสุขใช่ไหม ไม่งั้นคุณจะหาเงินเยอะๆมาทำไม ดังนั้นคุณย่อมต้องมีเวลาเพื่อการนี้อยู่แล้ว ไม่เช่นนั้นคุณก็แบ่งเวลาจากการไปเสพสุขทางวัตถุ เช่น กินอาหารนอกบ้านจากเดือนละสองครั้ง เหลือเดือนละครั้ง แล้วนำเวลาจากการเสพสุขทางวัตถุนี้ครึ่งหนึ่งมาใช้เสพติดทางจิตใจกัน คุณว่าดีไหม

ต่อมาคุณก็ต้องปรับตัวเองให้เป็นคนละเอียดอ่อน ในตอนแรกอาจจะยากหน่อย คุณก็ต้องมีความอดทนสักนิด แต่สิ่งที่จะช่วยคุณไม่ให้เหนื่อยยากจนเกินไป คือ การหาสื่อในการเสพที่เหมาะกับคุณ เพราะถ้าเลือกดีๆแล้ว จะทำให้คุณฝืนทำในสิ่งนี้ได้ง่ายขึ้น มีความสนุก แล้วคุณก็จะเริ่มติดใจอันนำไปสู่การเสพติดได้ง่ายขึ้น แต่คุณจะเลือกอะไรล่ะ คำตอบคือ คุณต้องเสี่ยง แต่เสี่ยงอย่างมีเหตุผล คุณลองใช้ความรู้สึกดูว่าคุณชอบแบบไหน โดยอาจหาข้อมูลประกอบว่าคุณเป็นคนอย่างไร และเข้ากับลักษณะแบบไหน

มีให้เลือกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น นวนิยาย เรื่องสั้น บทละคร นี่เป็นส่วนของความงาม แต่ถ้าคุณชอบอะไรที่ดูมีเหตุผลมากหน่อย ก็สารคดี การเดินทางท่องเทียว การค้นหาอารยธรรมที่สาปสูญ หรือถ้าคุณชอบขบคิดให้ลึกซึ้งก็ปรัชญา วิทยาศาสตร์ แต่ถ้าคุณชอบอะไรที่ป้อนให้คุณถึงมือ มีบรรยากาศเป็นใจ ก็ดูหนังไง แต่จะต้องเลือกหนังที่ดี มีคุณค่านะ และถ้าคุณเริ่มจากทางนี้คุณควรจะหาเรื่องที่คุณประทับใจมากๆแล้วมาศึกษาเพิ่ม โดยเฉพาะให้หานิยายประกอบหนังเรื่องนั้นมาอ่าน อันจะทำให้คุณไม่ฝืนมากนัก เพราะทำในเรื่องที่คุณชอบมากมาย แบบคลั่งไคล้เลยแหละ

อย่างผมนี่ก็เริ่มจาก ไม่เคยอ่านหนังสือมาก่อนเลย อ่านก็อ่านแบบผ่านๆ (พึ่งมาวิเคราะห์ตัวเองย้อนหลังว่าลึกๆเราก็ชอบพวกนี้อยู่ แต่ถ้าถามตอนนั้นก็คงตอบว่าไม่ และผมว่าพวกคุณหลายคนก็คงมีสิ่งนี้ซ่อนเร้นกันอยู่ และถ้าผมถามคุณตอนนี้คุณก็คงตอบว่าไม่เช่นกัน) แต่มีวันหนึ่งที่ทำให้ชีวิตผมได้เปลี่ยนไป ผมเผอิญว้าเหว่ทางจิตใจ ซึ่งมักเกิดขึ้นกับคนยุคเราที่มีเวลาว่างมาก ผมจึงเข้าไปเดินในร้านหนังสือ ผมอยากจะเท่ อยากจะครุ่นคิด เลยว่าจะหาอะไรที่เท่ๆขบคิดเยอะๆหน่อย(จะได้ดูเท่เข้าไปอีก) ผมจึงเลือก "ปรัชญา" ผมจึงเดินหา หนังสืออะไรก็ได้ที่มีคำว่า ปรัชญา และแล้วผมก็เจอ "ปรัชญาชีวิต" ผมไม่รู้หรอกว่ามันคืออะไร แต่ผมก็ลองเปิดอ่าน แต่ท่านที่เป็นนักวรรณคดีตัวยงคงยิ้มแล้วร้องอ๋อว่า สิ่งที่ผมเปิดเจอนั้น มันไม่ใช่หนังสือปรัชญาชีวิตอะไรที่หนักแน่นน่าเบื่อหรอก

แต่มันคือ "ปรัชญาชีวิต" ของ คาลิล ยิบราน นักเขียนที่ใช้ภาษาได้สวยงามที่สุด โรแมนติคไม่มีใครเกิน เขาวาดภาพของชีวิตไว้อย่างงดงาม แต่ก็แฝงท่าทีแห่งการครุ่นคิดไว้มากพอดู จะอ่านเอาความงามก็ได้ จะเสพความคิดอันลุ่มลึกก็ได้ และนี่เป็นที่มาแห่งการเสพติดหนังสือของผม และที่สำคัญ หนังสือที่ผมเสพนี้ กลับเป็น นิยายที่เน้นความงดงามของอารมณ์อันละเอียดอ่อน ไม่ใช่ปรัชญาอันหนักอึ้งแต่อย่างไร

การพลิกผันของเรื่องราวแบบนี้ ความจริงก็น่าแปลกนะครับ จากการอยากเท่ จึงเลือกคำว่าปรัชญา แต่กลับไปเจอ "ปรัชญาชีวิต" ซึ่งไม่ใช่หนังสือที่ใช้เหตุผลหนักๆ แต่เป็นหนังสือที่ปล่อยอารมณ์อันเพริดแพร้ว เพียงเพราะชื่อเท่านั้น และถ้าคุณพ่อของคุณอรุณ ภาวิไล( ดร. ระวี ภาวิไล นักดาราศาสตร์ชั้นนำของเมืองไทย แต่ดังน้อยกว่าลูก) ไม่เลือกใช้ชื่อนี้ แต่เลือกที่จะแปลตรงๆจากคำว่า The Prophet ผมก็คงไม่ได้มานั่งเขียนแนะนำการเสพอันละเมียดละไมให้คุณอยู่หรอก ผมคงเป็นคนหนึ่งที่กำลังเรียนรู้การเสพนี้ หรือแม้แต่ต่อต้านก็เป็นได้

เห็นไหมล่ะครับ ว่าการเสพมันไม่ได้ยากเลย มันอาจมีส่วนของความบังเอิญอยู่บ้าง แต่ก็เพราะไอ้ความบังเอิญบ้านี่แหละครับ จึงแสดงให้เห็นว่า มันไม่ได้ยาก คุณไม่ต้องเตรียมตัวมาก่อนคุณก็ยังหัดเสพได้ นับภาษาอะไรกับการมีคนแนะนำให้เสพฝีมือดีอย่างผม

ดังนั้นสิ่งต่อไปที่คุณต้องทำคือ เริ่มเลือกสื่อที่คุณจะเสพ อาจเดินไปในร้านหนังสือ แล้วมองหาหนังสือดีๆสักเล่ม(ข้อย้ำดีๆ) มาอ่าน โดยการเปิดคำนำ โดยการดูชื่อและประวัติที่เชื่อถือได้ หรือถ้าคุณอยากจะได้หนังสือที่ดีจริง ก็ลองหาหนังสือคู่มือแนะนำหนังสือดูสิ ไม่ว่าจะเป็น ประวัติวรรณคดี หรือนิตยสารต่างๆที่เริ่มมีคอลัมน์แนะนำหนังสือ หรืออาจเป็นพวก สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์(ไม่ได้ค่าโฆษณานะ) มติชนสุดสัปดาห์ เนชั่นสุดสัปดาห์ หนังสือพวกนี้เหมาะแก่คุณในการพัฒนาสิ่งละเอียดอ่อน เขามีแนะนำหนังสือดีๆอยู่ประจำ และค่อนข้างเชื่อถือได้ด้วย และถ้าคุณจะเอาให้คุ้ม คุณก็อ่านบทความอื่นด้วย และคุณก็จะกลายเป็นนักอ่านไปก่อนที่จะไปตามอ่านเจ้าหนังสือพวกนั้นด้วย เพราะหนังสือทั้งสามในตัวมันเองก็เป็นหนังสือดี ที่จะทำให้คุณเพลิดเพลินในอาณาจักรแห่งความละเอียดอ่อนของอารมณ์ และความคิดอันลึกซึ้ง

เห็นไหมล่ะว่ามีทางให้คุณเลือกที่จะเข้าไปในบ่วงแห่งการเสพติดนี้ มากกว่าที่คุณจะหนีด้วยซ้ำ เพียงแต่คุณจะเปิดรับและมองหาหรือเปล่าเท่านั้น

ต่อมา ถ้าคุณเป็นคนไม่ชอบอ่าน อาจมีทางเลือกอีก ซึ่งทางเลือกนี้กำลังเป็นที่นิยมในประเทศพัฒนาแล้ว (โปรดอ่านบทความของ Peter Drucker ประกอบ ในบทความที่เกี่ยวกับ องค์กรไม่แสวงหากำไร) คือ การทำงานเพื่อสังคม ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร(ในไทยส่วนใหญ่จะเป็น NGOs ซึ่งไม่ได้มีภาพลบๆอย่างที่คุณคิดหรอกครับ ที่ดีๆก็มีถมไป รอให้คุณไปลองดูนะ รับรองสนุกอย่าบอกใคร) แต่ถ้าคุณคิดให้รอบคอบก็ยังแสวงหาผลกำไรอยู่ดี แต่เป็นกำไรในจิตใจของคุณ คุณจะได้พบกับคุณค่าทางจิตใจมากมายให้คุณได้ส่องเสพ เริ่มจากความภูมิใจที่ได้ช่วยคน การได้ลองสิ่งท้าทายใหม่ได้ การได้วางแผนงานเอง การได้เพลิดเพลินไปกับผู้คนที่แตกต่างกันไป โดยเฉพาะผู้ร่วมงานที่ทำด้วยใจรักไม่เห็นแก่เงิน อันเป็นสิ่งที่คุณเผชิญอยู่ตลอดเวลาในชีวิตจริง การได้เจอกับบุคคลเหล่านี้ย่อมทำให้คุณได้ปลดปล่อยผ่อนคลาย และมีความสุขแน่นอน

แต่ช่องทางนี้อาจแคบกว่าในอเมริกา ซึ่งแน่นอนย่อมเป็นเช่นนั้น เพราะสิ่งเหล่านี้ต้องเป็นไปตามการพัฒนาสังคม บ้านเราในอีก 10 ปีข้างหน้าอาจมีองค์กรเหล่านี้เท่ากับอเมริกาในวันนี้ แต่คุณก็น่าจะชิงลงมือเสียก่อน ซึ่งจะทำให้คุณเป็นผู้นำแฟชั่นแห่งยุค คุณไม่ต้องแข่งขันกับใครในการเสพสุขทางนี้ เหมือนกับการซื้อหุ้นตั้งแต่มันยังไม่บูม คุณก็คอยเก็บเกี่ยวผลกำไรได้เลย และที่สำคัญ การเข้าร่วมในกิจกรรมเพื่อสังคม(เพื่อหากำไรอันละเอียดอ่อนให้กับจิตใจของผู้เข้าร่วม)ในอเมริกานั้น กำลังเป็นที่แข่งขันกัน และอาจต้องต่อคิวกันเลยก็ว่าได้ เห็นไหมว่าสินค้าอันละเอียดอ่อนทางจิตใจนั้น กำลังขายดีและเป็นที่แย่งกัน ตามพัฒนาการของสังคม แล้วคุณจะรอให้ถึงเวลานั้นเหรอ

การเปิดหูเปิดตา ไปเดินในสถานที่ใหม่ๆก็ย่อมทำให้คุณเกิดจินตนาการใหม่ๆ และเมื่อคุณเริ่มขบคิดแล้วคุณก็จะเริ่มอยากอ่านหนังสือ หรือเสพคุณค่าทางจิตใจ แต่การหาที่ใหม่ๆอย่างเดียวไม่พอ คุณยังต้องเปลี่ยนตัวเอง เปิดสมองของคุณให้ชอบขบคิด ซึ่งหากคุณเปิดแล้ว แม้แต่คุณเดิมในที่เดิม คุณก็จะเห็นโลกที่เปลี่ยนไป คุณอาจเห็นความงามในความอัปลักษณ์ ชีวิตคนงาน คนขายของอาจสวยงามขึ้นมาก็ได้ (และผมก็เชื่อว่าเป็นเช่นนั้น ถ้าคุณสังเกตดีๆ เพราะผมก็เคยสังเกตมาแล้ว และได้ข้อสรุปว่า มีความงามซ่อนอยู่จริงๆ) นี่เลย คุณลองอ่าน เหยื่ออธรรม หรือ Les Miserables บทประพันธ์อมตะของ Victor Hugo นักเขียนระดับโลกของฝรั่งเศส คุณจะได้เห็นความงามท่ามกลางความอัปลักษณ์ของชีวิต "เป็นดอกไม้ของชีวิต เป็นความหวังของผู้หมดหวัง เป็นคัมภีร์ของสุภาพชน เป็นไฟที่จะชะล้างโลกให้หมดจดด้วยความรัก"

หากคุณยังหาช่องลงไม่ได้ เรามีพื้นที่ใหม่ให้คุณ "ศาสนา" ไงล่ะ นี่ไม่ใช่เรื่องเล่นๆนะครับ ไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อด้วย แต่กำลังเป็นที่นิยม เพียงแต่ที่คุณไม่รู้ เพราะคุณยังไม่เข้าสู่อาณาจักรแห่งความละเมียดละไมของพวกเรานั่นเอง คุณคงเคยแต่เห็น พิธีกรรมไสยศาสตร์อันไม่น่าเชื่อถือ การมาเรี่ยไรของพระ การประพฤติผิดที่มีอยู่เนื่องๆ แต่เราขอบอกให้คุณลอง "ศาสนาใหม่" แต่ถ้าเรียกให้ลบภาพพจน์เดิมๆก็อาจใช้คำว่า "กระบวนการทางจิตวิญญาณใหม่" ซึ่งจะทำให้คุณเห็นแง่มุมอันงดงามของศาสนา ตัวอย่างง่ายๆคุณลองดูเรื่อง 7 years in Tibet สิ คุณเห็นความงามไหม คุณอาจหาอ่านเรื่องเหล่านี้ได้จาก บทความของต่างประเทศ โดยมีนักคิดชั้นนำของโลกปัจจุบันจำนวนมากได้หันมาสนใจทางนี้ ถ้าคุณเลือกทางนี้คุณก็จะเป็นผู้ทรงภูมิปัญญาชั้นแนวหน้าเลยล่ะ เท่ไหม แต่ถ้าคุณยังไม่แก่กล้าพอก็ลองอ่านของนักคิดไทย ซึ่งก็ไปนำบทความดีๆของนักคิดระดับโลกจากตะวันตกนั้นมาย่อมให้คุณฟังอีกที คนที่เป็นเอกก็คือ นายแพทย์ประสาน ต่างใจ แต่บางบทความคุณก็ต้องระวัง เพราะท่านอาจจะบ่นมากไปหน่อยจนทำให้คุณอาจจะเบื่อไป ผมขอแนะนำ "บุพนิมิตแห่งกระบวนทัศน์ใหม่" เล่มนี้ไม่ค่อยบ่น มีเรื่องราวน่าตื่นเต้นเยอะ ลองดูสิครับ แต่ถ้าต้องการความงามแบบนวนิยายที่มีเค้าเงื่อนแห่งการปฏิบัติจริง(ของยุคใหม่) ก็ลองอ่านหนังสือของ Hesse ไปก่อน เขาได้รับรางวัลโนเบลทางวรรณกรรมเป็นการันตีเชียวนะ เป็นผู้ที่ศึกษาศาสนาตะวันออกอย่างลึกซึ้งจนถึงขั้นดื่มด่ำเลยล่ะ งานชิ้นเอกที่แปลเป็นไทย เช่น สิทธารัตถะ, เกมลูกแก้ว, นาร์ซิสซัสและโกลด์มุนต์

หากคุณชอบแบบเรื่องมากหน่อย เอาทั้งสวยงาม ภาษาดี มีการท่องเที่ยว มีแง่มุมที่ลึกซึ้งทางภูมิปัญญาให้ขบคิด มีทั้งการอ่านหนังสื่อ แนะนำหนังสือ ฯลฯ และชาตินิยมคือเป็นนักเขียนไทยแลนด์ แดนคนดีศรีอยุธยานั้น คุณต้องลองนี่เลย "วิหารที่ว่างเปล่า" ของพี่เสก เอ๊ย อาจารย์ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล เขาเขียนเรื่องนี้ได้อย่างกลมกลืน ละเมียดละไม คุณจะได้คุณสมบัติที่มีในเล่มเดียวเลย แต่ผมขอแนะนำว่า ถ้าคุณไม่ใช่คนที่ชอบขบคิดจริงจังนั้น การได้คุณสมบัตินั้นไปในหนังสือกลับจะทำร้ายคุณ ดังนั้น คุณต้องไปหาผลงานก่อนหน้านี้ของพี่เสกที่แสนจะโรแมนติค ซึ่งเป็นเรื่องของการเดินทางท่องเที่ยว และค้นหาตัวตน ที่ไม่มีความเคร่งเครียดเหมือนในเล่มนั้นอ่าน อ่านจนคุณติดใจแล้วคุณค่อยขยับขยายทำเลไปขายที่อื่นก็ยังไม่สาย

หรือหากคุณเป็นนิสิตนักศึกษา คุณลองไปทำกิจกรรมที่ชั้น 4 ตึกจุลจักรพงษ์ดูสิ (แต่ปัจจุบันกำลังปรับปรุงซ่อมแซม ซึ่งอาจมีคุณภาพที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง แต่ก็ลองไปดูนะครับ) หรือถ้าเป็นมหาวิทยาลัยอื่น ก็ลองไปทำของมหาวิทยาลัยคุณดู แต่ต้องเลือกเสียหน่อยนะ เอาที่สังคมดีๆ หรือถ้าเลือกไม่เป็นก็ลองเข้าไปเรื่อยๆ เขาไม่เก็บค่าสมาชิกหรอก ผมเองก็ได้รับความงามจากที่นี่ ประกอบกับหนังสือที่เคยอ่านได้อย่างลงตัว ทำให้ผมยกระดับการเสพสุขขึ้นอีกขั้นหนึ่ง เขามีสังคมที่น่ารักมาก มีความอบอุ่นผูกพัน รักกันแบบน้องพี่(รักกันแบบหนุ่มสาวก็มีนะ) ที่นี่เป็นสังคมอุดมคติจริงๆ ไม่ใช่หมายถึงว่าทุกคนเป็นคนดีหมดนะ ยังมีรัก โลภ โกรธ หลง พอให้คุณมีสีสรร แต่สิ่งที่ต่างออกไปคือ บรรยากาศ มีความอบอุ่น มีความรักที่มอบให้กัน ซึ่งไม่ใช่เพราะบุคคลเหล่านี้ได้รับการขัดเกลามาดีแล้วเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเพราะลักษณะกิจกรรมและห้องชมรม พูดง่ายๆคือ มีสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการกระทำที่เสพสุขทางใจ มีการออกค่ายพัฒนาชนบท ที่อาจไม่ได้ช่วยชาวบ้านมากนักเพราะพวกเราเป็นชาวกรุงเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ แต่สิ่งที่ชาวบ้านได้คือ การเสพสุขทางจิตใจ ที่เห็นน้องๆนักศึกษา หน้าตาน่ารัก เข้ามาทำความรู้จัก มาให้ความเคารพนับถือ แม้เขาจะลำบากกว่าเดิมด้วยซ้ำแต่เขาก็ได้เสพสุขมากกว่าที่เสีย ยิ่งเราไม่ต้องพูดถึง การได้ไปในบรรยากาศของชนบท กรุ่นกลิ่นไอดิน ได้ทำกิจกรรมที่เป็นอุดมคติอันปลุกเร้าความดีลึกๆในบึ้งแห่งหัวใจอันละเอียดอ่อน ได้ร้องเพลงเพื่อชีวิตที่มีเนื้อหากระตุ้นบรรยากาศอันอบอุ่น ได้ ฯลฯ

เห็นไหมครับ ว่ามีเส้นทางมากมายให้คุณได้เสพสุขทางใจ และคุณจะยังหนีไปไหนอีกล่ะ ผมรู้ว่าคุณไม่ค่อยมีเวลา แต่แน่นอนทุกคนย่อมมีเวลาพักผ่อน หากคุณมาเลือกลงทุนด้วยการพักผ่อนแบบใหม่นี้ แทนการเสพวัตถุแต่เพียงอย่างเดียว คุณเอาเวลาและทุนทรัพย์ในการพักผ่อนมาครึ่งหนึ่ง(วัตถุ 50 จิตใจ 50) คุณก็จะได้ยกระดับมาตรฐานการเสพสุขของคุณแล้ว และเผลอๆ คุณจะยิ่งติดใจแล้วไม่ยอมเลิกเลย เชื่อผมเถิด

2. สำหรับ Serious Reader เมื่อก้าวข้ามกำแพงแล้ว ก็พร้อมจะหลอมรวมบูรณาการ เพื่อยกระดับการเสพสุข หากคุณก้าวกำแพงมาแล้ว คุณย่อมได้ลิ้มรสความสุขแห่งอารมณ์อันละเมียดละไมไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าคุณจะเสพมานานเท่าไรแล้ว แต่หากคุณยังไม่บูรณาการมันเข้าด้วยกัน คุณก็พลาดความสุขอีกระดับหนึ่งแล้ว เหมือนกับที่เคยพลาดจากการไม่ยอมเสพสุขอันละเมียดละไมนี้

สุขนี้เกิดจากการนำส่วนผสมที่มีอยู่ทั้งหมดมาคลุกเคล้าเข้าด้วยกัน อย่างมีศิลปะ ไม่หนักเกินไป แต่ก็ไม่เบาเกินไป จนออกมาเป็นอาหารเลิศรสให้คุณได้ลิ้มลอง

แต่ค่าตอบแทนที่คุณต้องจ่ายไปเพื่อความสุขนี้ ก็มีอยู่ไม่น้อยเชียวนะ

2.1 เริ่มจากอ่านหนังสือให้หลายแนวแล้วนำมาเชื่อมร้อยกัน
เมื่อคุณข้ามกำแพงได้ คุณก็จะเริ่มดื่มด่ำในงานของคุณ คุณอาจมาจากการดูหนังฟังเพลง การทำกิจกรรมเพื่อสังคม อ่านนวนิยาย บทละคร หรือเสพศิลปะ หรือก้าวล้ำไปสู่อาณาจักรของศาสนา คุณก็ลงดิ่ง ล้ำลึกลงไปเลย เอาให้สุดๆทางไปเลย แต่ถ้าคุณเริ่มเบื่อแล้วคุณก็ข้ามสาขาได้ อาจเริ่มจากการค้นหาเหมือนในหัวข้อ 1 ที่ผมได้แนะนำวิธีต่างๆไป แล้วคุณก็จะเข้าไปเจาะแต่ละแนวซึ่งตอนนี้คุณจะเจาะได้ง่ายเพราะคุณมาในแนวทางแรกเรียบร้อยแล้ว

หากคุณชอบนิยาย คุณก็หาเรื่องสั้นมาอ่าน หากคุณชอบเรื่องสั้น คุณก็หานิยายมาอ่าน รับรองคุณจะได้อรรถรสใหม่ไม่ซ้ำแบบ เพราะแต่ละส่วนก็มีข้อดีของมัน แต่ถ้าคุณลองแล้วไม่ชอบก็ลองหานวนิยายประเทศอื่นมาอ่าน หรือถ้าคุณอ่านของประเทศอื่นอยู่ก็ลองอ่านของประเทศไทยดู ปัจจุบันยิ่งมีหลากหลาย ทั้งนิยายจีนกำลังภายในที่มีมานานแล้ว นิยายจีนอื่นๆ เช่น หงส์ป่า ขุนเขาแห่งจิตวิญญาณ(ของนักเขียนโนเบลคนแรกของจีน) บ้าน หรือนิยายญี่ปุ่นก็เริ่มมีเข้ามา ย้ายมาที่อินเดียก็มีงานที่งดงามอ่านกันไม่จบสิ้น รุ่นใหม่หน่อยก็ใช่ว่าจะไม่มี ตั้งแต่ท่านรพินทรนาถ ฐากูรยันจนกุนธาตี รอย หรือทางเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ก็ลุ่มลึกไม่เบา มีแปลเป็นไทยออกมามากมาย อย่างของ ปราโมทยา อนันตา ตูร์ ก็งดงามมิหยอก

แต่หากคุณเป็นคนชอบใช้ปัญญามากหน่อย สนใจความงามน้อยหน่อย หรืออาจสนใจความงามในเชิงปัญญาแทน คุณก็ก้าวเข้ามาสู่โลกแห่งวิชาการอันลุ่มลึกก็ได้ ซึ่งโลกนี้เปิดกว้างและก้าวไกลอย่างยิ่ง ในเมืองไทยก็กำลังพัฒนาไปสู่เส้นทางแห่งการเจริญเติบโตอันยิ่งใหญ่ ส่วนของตะวันตกลุ่มลึกซึ้งสุดๆ แต่ละเรื่องที่คุณสนใจมีให้ค้นคว้าไม่รู้จักจบจักสิ้น ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ คุณจะเอาของชาติอะไรล่ะมีหมด ละเอียดแค่ไหนก็ได้ สังคมชนเผ่าก็มีนะ หรือเลยไปถึงอารยธรรมโบราณ กรีก อียิปต์ ข้ามไปลาตินอเมริกา หรือทวีปที่สาปสูญอย่างแอตแลนติส เอาแค่งานของคนไทยนั้น คุณก็ไม่ใช่จะเจอแต่ประวัติศาสตร์โบราณแบบท่องจำ ปี พ.ศ. ชื่อคน อันไม่รู้จะมีประโยชน์และความสนุกให้เสพอันใด แต่คุณจะได้เจอประวัติศาสตร์วิพากษ์ ถกเถียงกันไปมา อย่างกับนิยายนักสืบก็ไม่ใช่โต้วาทีก็ไม่เชิง รับรองมันส์จริงๆเลยแหละ

หรือในเชิงปรัชญาซึ่งเป็นเรื่องนามธรรมไกลตัวอย่างเมื่อก่อนนั้น ก็เริ่มมีแนวใหม่ๆออกมา อย่างที่ผมเคยอ่านก็ของอาจารย์จุฬาฯ ซึ่งเขียนให้คนธรรมดาอ่าน โดยเฉพาะของอาจารย์ สมภาร พรมทา กับอาจารย์ สุวรรณา สถาอานันท์ รับรองคุณจะติดใจกับคำว่า ปรัชญา จนถอนตัวไม่ขึ้นเชียวหล่ะ ไม่เชื่อลองดูสิ

นอกจากนี้การเดินทางเพื่อแสวงหาความหมายของชีวิตก็น่าสนใจไม่หยอก อันนี้ต้องของอาจารย์เสกสรรค์ แต่ของตะวันตกก็มีมากมายให้คุณเลือกสรร แนวนี้จะช่วยเติมเต็มส่วนที่ขาดไปให้คุณ เป็นส่วนของตะวันออก ซึ่งถ้าเรารับแต่ตะวันตกอย่างเดียว เราจะไม่มีตรงนี้ หรือมีก็ไม่เหมือนกัน การแสวงหาแบบนี้ผ่านการเดินทางท่องเที่ยวเป็นแนวใหม่ที่น่าลิ้มรส ในตอนแรกถ้าคุณเป็นคนชอบสองแนวทางข้างตน คุณอาจจะรู้สึกดูถูกแนวทางนี้จนไม่อยากอ่าน แต่ความจริงแล้วคุณจะรู้ว่าโลกนี้กว้างใหญ่นัก มีอะไรให้คุณเรียนรู้อีกมาก(ผมเองก็ไม่สนใจแนวทางนี้มาก่อน จนบังเอิญอีกครั้งให้มาอ่าน ก็พบว่าเส้นทางนี้มีอะไรให้เสพอีกมาก) หรือคุณอาจดูผ่านหนังก็ได้ เช่น seven years หรือหนังอีกหลายเรื่องที่สะท้อนจิตวิญญาณก้นบึ้งของมนุษย์ อย่างหนังสงครามโดยเฉพาะสงครามเวียตนาม คุณจะรู้ว่า แท้จริงแล้วมนุษย์แสวงหาอะไร มันยากกว่าที่คุณคิดนัก คุณอาจไม่เคยคิดเลย แต่เมื่อคุณทำไปแล้ว คุณพบว่ามันว่างเปล่า สงครามไม่ได้เป็นอะไรนอกจากความว่างเปล่า ถามว่าคนเราทำไมต้องฆ่ากัน ไม่มีคำตอบเลย นี่แหละคือสิ่งที่คุณต้องค้นหา

ที่กล่าวมาก็คือ การพยายามแยกแนวต่างๆมานำเสนอให้คุณ แต่จุดสำคัญของขั้นนี้ก็คือ การบูรณาการ คุณอาจไม่ต้องเลือกมาหมด แต่คุณต้องบูรณาการได้ เอาทุกอย่างมาเชื่อมกัน ให้เป็นความสุขความงามอีกขั้น ยกตัวอย่างจากผมเลยแล้วกัน จากการอ่านเรื่องแรก แม้จะเน้นหนักไปในทางความงาม แต่ "ปรัชญาชีวิต" ได้เพาะพันธุ์แห่งการแสวงหาความหมายชีวิตและการขบคิดให้ผมแล้ว หลังจากนั้นได้ไปอ่าน "เหมือนหนึ่งนกที่จากรัง" ของท่านรพินทรนาถ ก็ยิ่งลิ้มรสความงาม พร้อมกับความลุ่มลึกและรุ่มรวยของชีวิตตามแบบวัฒนธรรมอินเดีย แล้วค่อยเขยิบมา "โลกทั้งผองพี่น้องกัน" ของท่านคานธี ทำให้ซาบซึ้งดื่มด่ำในความรักของเพื่อนมนุษย์จิตวิญญาณที่ใฝ่ดี อ่านแล้วทำให้เราอยากทำดี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอยากทำ แต่อีกส่วนอาจเป็นเพราะความสุขที่ดื่มด่ำด้วยมั้ง ยิ่งทำให้เราก้าวเข้าสู่อาณาจักรของวิชาการมากขึ้น แทนที่จะเป็นความงามอย่างเดียว แต่ในช่วงนั้นผมก็ยังอ่านนิยายที่ให้ความงามอยู่ เช่น เหยื่ออธรรม รวมถึงนิยายกำลังภายใน แต่เมื่ออ่านไป ความคิดทางสังคม ความคิดทางปรัชญา ความคิดวิชาการก็ยิ่งพอกพูน รอวันคลี่คลายไปสู่บูรณาการ และก็มาพบความสุขที่ลุ่มลึกขึ้นต่อไป

หลังจากนั้นก็มาอ่านหนังสือทางวิชาการ โดยเฉพาะลัทธิมาร์กซ์ ใครอย่าเห็นเป็นเรื่องโหดร้ายนะ เพราะความจริงแล้ว นายทุนก็โหดร้ายไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน (ผมไม่ต้องการถกเถียงประเด็นนี้) ผมได้เมามันส์ไปกับลัทธิมาร์กซ์ โดยเฉพาะเมื่อผ่านการวิเคราะห์อันลุ่มลึกของท่านอาจารย์สุวินัย มันเหมือนเราเอาความคิดเศรษฐกิจมาผสมการเมือง มาผสมการปฏิวัติ มีเรื่องการครอบงำทางความคิด และแนวคิดของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน ซึ่งท่านสุวินัยได้นำมาผสมผสานกันอีก จนร้อยเรียงเป็นเรื่องราวมากมาย เหมาะกับคนที่ชอบใช้ภูมิปัญญามากมาย ก่อนหน้านั้นผมก็ได้อ่านเรื่อง "แม่" ของกอร์กี้ ผสมผสานไปด้วย ซึ่งนิยายกับวิชาการได้หลอมรวมกันอย่างแยกไม่ออก

เมื่อลัทธิมาร์กซ์ซึ่งผสมหลายศาสตร์ ได้ผลักดันให้ผมหันมาสนใจประวัติศาสตร์ ได้อ่านประวัติศาสตร์เชิงวิพากษ์มากมาย โดยเริ่มมาจากของอาจารย์นิธิ เรื่อง ปากไก่และใบเรือ(อ่านก่อนลัทธิมาร์กซ์เสียอีก หรือใกล้ๆกัน) ได้เห็นสภาพสังคมของรัตนโกสินทร์ตอนต้นอันสวยงาม ผสมผสานกับการวิเคราะห์ทางสังคมอย่างลุ่มลึก ทำให้ภาพนั้นยิ่งงดงามมีพลัง ไม่เหมือนภาพเดิมที่เราเคยจินตนาการผ่านหนังซึ่งเป็นภาพด้านเดียว เหล่านี้ได้เป็นหน่ออ่อนในการทำให้ผมหันไปศึกษาประวัติศาสตร์ไทยของเรา ทั้งที่เป็นเชิงวิพากษ์แนวอาจารย์นิธิ และที่เป็นแนวดั้งเดิมที่พี่สาวผมชอบอ่าน ซึ่งมันก็เสพสนุกไปอีกแบบ ถ้าผสมกันสองอย่างยิ่งเพิ่มพูนความมันส์

มาถึงปรัชญานั้นก็ได้เริ่มลงลึก โดยเริ่มจากปรัชญาตะวันตก เราเริ่มเข้าใจแนวคิดที่เป็นนามธรรมมากขึ้นจะอ่านแล้วมันส์มาก สนุกเพลิดเพลิน แต่เราต้องเลือกเล่มดีๆอ่านนะ ถ้าเจอไม่ดีก็โง่ไปเลย ไม่สนุก น่าเบื่อมาก แต่เล่มดีๆก็หายากสักหน่อย หลังจากนั้นก็ดื่มด่ำไปกับปรัชญาตะวันออกซึ่งอิงกับศาสนา ตอนแรกเรานึกว่าไม่มีอะไร แต่ที่แท้ลึกซึ้งไปอีกมุม และยิ่งลึกลับเมื่อแนวทางการเขียนปรัชญาของเราไม่เหมือนกับฝรั่งเขา เราไม่มีเหตุผลประกอบ เน้นแง่มุมการปฏิบัติ ทำให้การสืบค้นของนักวิชาการยิ่งยาก แต่เราไม่ต้องทำ เรารอเสพอย่างเดียว ซึ่งอาจารย์ทั้งสองท่านดังที่ได้กล่าวนำไปได้ทำหน้าที่นี้อย่างยอดเยี่ยม แต่ถ้าเราจะเอาในแง่ปฏิบัติด้วยก็ต้องของอาจารย์สุวินัย "มังกรจักรวาลทั้ง 7 เล่ม" ซึ่งเป็นจุดสุดยอดของท่านในแนวนี้ ก่อนที่จะก้าวต่อไปอีกขั้นหนึ่ง โดยไปสิงสถิตที่ท่าน Ken ที่ยิ่งบูรณาการเข้าไปอีก โดยนำแนวคิดศาสนา มาปนกับการวิเคราะห์สังคม มาปนกับวิทยาศาสตร์ ทั้งลุ่มลึกและลึกซึ้ง ส่วนการปฏิบัติจริงๆนั้นก็คงต้องไปในช่วงต่อไปนะ

เมื่อมาถึงขั้นนี้แล้ว เราทำงานทางปัญญามามาก ก็ลองดูประสบการณ์แสวงหาผ่านการเดินทางและการปฏิบัติของนักแสวงหา โดยเฉพาะพี่เสกที่ได้แนะนำไป และยังมีอีกหลายท่าน ยิ่งเป็นฝรั่งนี่น่าจะมีเยอะ แต่ถ้าเอาการเดินทาง ภาพที่สวยงาม ผ่านนิยาย พร้อมด้วยปรัชญาศาสนา ก็ผนวกท่าน Hesse เข้าไป ยกระดับความสุขจริงๆเลย ยิ่งอ่านท่าน Kant นี่ยิ่งมันส์เข้าไปใหญ่ หนามาก(ผมยังไม่ได้อ่านเลย) เพราะนักปรัชญาเยอรมันก็มีแนวโน้มเอียงมาทางจิตนิยมแบบศาสนาของเราอยู่แล้ว คิดว่าเป็นการท้าทายปัญญาชนอยู่มากเหมือนกันที่อ่านงานหนักๆแบบนี้ แต่อย่างที่บอกแหละเสพสุข เราอ่านเพื่อเสพสุข โดยตามเส้นทางอาจทุกข์บ้าง ถ้าเรามั่นใจว่าเราชอบก็ทำ อย่าถอย แล้วผลสุดท้ายจะดีเอง แต่ถ้าพิสูจน์(ต้องมั่นใจนะ) เราก็อาจเสพอันอื่นแทน

เป็นไงล่ะเริ่มเห็นวิธีการเชื่อมโยงแล้วหรือยังล่ะ คุณพร้อมเสพสุขในขั้นนี้แล้วใช่ไหม เราไม่ต้องเชื่อมโยงทุกอันก็ได้ แต่ให้หลากหลายมากที่สุด ยิ่งมากยิ่งมันส์ อย่างไรก็ตามมันสำคัญที่การเชื่อมโยงให้เรื่องราวนั้นเชื่อมต่อกัน เหมือนเป็นนิยายเรื่องเดียวกัน ยัง ยัง อย่าพึ่งท้อ ยังมีขั้นต่อไป ให้คุณได้เสพสุข

2.2 เชื่อมทฤษฎีให้เข้ากับการปฏิบัติ
ขั้นนี้เป็นอีกขั้นหนึ่งที่ยาก และนักคิดจำนวนมากมักตกม้าตายทุกที เพราะขี้เกียจปฏิบัติ แต่ผมขอแนะนำคุณว่า ถ้าคุณอยากเสพสุข คุณต้องลองปฏิบัติดู แล้วคุณจะได้แง่มุมใหม่ๆที่ให้คุณค่าต่อชีวิตทั้งการนำประสบการณ์ไปใช้ และการเสพสุข ทำไมถึงจะเป็นการเสพสุขนะเหรอ เพราะคุณจะได้เห็นความงาม ท่ามกลางการปฏิบัติไม่ได้ของทฤษฏี แรกๆคุณจะเซ็งมากว่าสิ่งที่คุณอ่านมาจากทฤษฎีทำไมมันไม่เกิดขึ้นจริง แต่เมื่อคุณลองไปเรื่อยๆคุณจะเริ่มเจนจัด และเห็นเหลี่ยมคูในการแปรทฤษฎีมาสู่การปฏิบัติ แต่ถ้าคุณปฏิบัติไปเรื่อยๆคุณก็จะรู้ว่าข้อจำกัดมันอยู่แค่ไหน คุณจะได้รู้ว่า โอ้ หนอมันช่างยากเย็น มนุษย์ก็เป็นเช่นนี้เอง แต่ก่อนเคยเป็นอย่างไร เดี๋ยวนี้ก็เป็นเช่นนี้ แต่ก็โชคดีว่า เราค่อยๆก้าวไปทีละขั้น สังคมของเราเปิดกว้างมากขึ้น แต่มันอาจไม่เร็วอย่างที่เราคิด ต้องรอคนรุ่นต่อไปมาสะสาง แต่สิ่งที่เราได้แง่ๆคือ ความสุข ความสุขที่ได้รู้ ได้เห็น ได้เห็นความงามของชีวิตที่มีความไม่สมบูรณ์อยู่ทั่วไป เพื่อให้ชีวิตได้มีรสชาติ ถ้าเรื่องราวสมบูรณ์พร้อมมันจะมิจืดชืดไปหน่อยเหรอ แล้วคุณจะซึ้งถึงคำว่า "มันก็เป็นเช่นนี้เอง"

แต่สิ่งที่คุณปฏิบัติได้แน่นอนคือ สมาธิ เมื่อคุณอ่านปรัชญาศาสนามามากมาย คุณอาจสงสัยว่า เอ้ มันจะปฏิบัติได้ไหม คำตอบคือ ได้แน่นอน เพียงแต่คุณต้องอดทนและพยายามหน่อยในตอนเริ่มแรก แต่มันก็เหมือนกับตอนแรกที่คุณจะฝ่ากำแพงเข้ามานั่นแหละ มันย่อมยาก และพาลจะท้อแท้ทุกที แต่เมื่อฝ่าเข้ามาได้แล้ว คุณก็จะคิดว่า "ชีวิตนี้มีค่านัก ช่างสวยงามอะไรเช่นนี้" ถ้าคุณได้ลองสมาธิจนชำนาญแล้ว คุณจะมีความสุขมาก ฮอร์โมนแห่งความสุขในกายจะหลั่งริน ยิ่งถ้าคุณเสิรมโยคะ ไทเก๊ก แล้วคุณจะมีสุขภาพดีอย่างวิเศษ ไม่ต้องพึ่งยา ร่างกายจะแข็งแรง กระปรี้กระเปร่า และก็ยิ่งไปหนุนเสริมกับการอ่านปรัชญาของคุณทำให้คุณลุ่มลึกขึ้น แล้วคุณก็ยังไปเสพหนังสือเล่มอื่นๆที่สุดรักได้มากขึ้น เพราะร่างกายคุณแข็งแรงไม่เจ็บไข้ได้ป่วย 000000000 เห็นไหมล่ะ ความสุขอยู่แค่เอื้อม

2.3 แสวงหาต่อไปไม่หยุดยั้ง
ขั้นสุดท้ายของขั้นนี้คือ คุณอย่าหยุดยั้ง คุณต้องแสวงหาไปเรื่อยๆทั้งในด้านลึกและด้านกว้าง เพื่อให้คุณมีสุขและดื่มด่ำยิ่งๆขึ้น ผมก็เคยหยุดเพราะคิดว่าที่เรารู้นั้นสมบูรณ์แล้ว แต่ความจริงไม่ใช่ ยังมีสิ่งใหม่ๆให้เราค้นหา เหมือนเรากินอาหาร กินผลไม้ของประเทศเราหมดแล้ว เราก็รู้สึกว่า ความอร่อยมีอยู่แค่นี้ แต่เมื่อเราได้ลิ้มลองอาหารจากตะวันตก แยกย่อยเป็นชาติต่างๆเราก็จะรู้ว่ายังมีสิ่งมากมายให้เราได้ค้นหา หนังสือก็เช่นกัน คุณสามารถเลือกเสพได้มากมาย โดยเฉพาะถ้าประสานกับการดูหนังชั้นดี การฟังเพลงที่ลุ่มลึก คุณก็ยิ่งสุข อิ่มเอม เปรมปรีดิ์ สำคัญคือ อย่าหยุดค้นหา ทั้งในทางทฤษฎีและปฏิบัติ คุณยังคงนั่งสมาธิให้นิ่งขึ้น เพื่อให้รับความปิติสุขจากสมาธิ คุณยังปฏิบัติเพื่อสังคม ทำให้เห็นโลกมากขึ้นและมีความสุขกับความเป็นเช่นนั้นเอง

เมื่อคุณหัดเสพสุขจนถึงขั้นนี้แล้ว ก็นับว่าคุณไม่เสียชาติเกิดแล้ว คุณได้เสพสุขอย่างละเอียดที่มีประชากรอยู่ไม่กี่คนบนโลกจะได้เสพ อาจจะพอๆกับที่มีคนรวยบนโลกนี้ก็ได้นะ (เท่ากับคุณเป็นชนชั้นสูงทางการเสพสุขอันละเมียดละไมเลยนะ)

3. ไม่ใช่เสพแต่สุขอย่างเดียว ทุกข์ก็ต้องเสพด้วย
แต่เมื่อคุณลิ้มรสไปนานๆ คุณจะเห็นความสุขจากกองทุกข์ สุขของคุณก็จะเติมเต็มยิ่งขึ้น
ปัญหาที่นักวิชาการเจอก็คือ การไม่ยอมปฏิบัติ แต่ปัญหาที่คนเจ้าสำราญอย่างเราเจอคือ การไม่ยอมทนทุกข์ หลีกเลี่ยงที่จะเจอมัน แต่ความจริงแล้ว เราหารู้ไม่ว่า ยิ่งเราหลีกเลี่ยงมัน มันยิ่งทุกข์ ดังนั้นทนๆมันหน่อยเถิด แล้วเราจะทุกข์น้อยที่สุด ซึ่งเป็นทางที่คนเจ้าสำราญอย่างเราชอบอยู่แล้วใช่ไหมล่ะ

แต่สิ่งที่สำคัญสำหรับคนเจ้าสำราญอย่างเรานั้น คงไม่หยุดแค่นั้น เราต้องแปรเปลี่ยนความทุกข์นั้นเป็นความสุขของเราให้ได้ ถามว่าทำอย่างไรหรือ ก็เรียนรู้มันไง มองเห็นความงามในความอัปลักษณ์นั้น เช่นเราต้องทนทุกข์จากการสูญเสียคนรัก เราก็คร่ำครวญกับมัน แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป บาดแผลเริ่มปิดสนิท เราก็ลองเอาความทุกข์นั้นมาร้อยเรียงเป็นประสบการณ์ชีวิต เราก็จะได้เห็นถึงความงามในประสบการณ์นั้น บางทีอาจเห็นความขบขันที่ทำไมเราช่างพร่ำเพ้อไปได้ บทกวีและนิยายดีๆระดับโลกก็ล้วนแล้วมาจากประสบการณ์อันทุกข์ยากที่ได้พบเจอ มันจะมีพลังก็เมื่อเราเจอเองนั่นแหละ การเห็นคนอื่นมันไม่มันส์เท่า บางคนบอกว่าเพลงจะฟังเพราะที่สุดก็เมื่อเราเจอประสบการณ์นั้นนั่นแหละ อันนี้ก็เช่นกัน นักเขียนทั้งหลายที่เขียนมันออกมาได้ดีก็เป็นเช่นกัน เราอาจไม่ต้องเขียนออกมาขาย แต่เก็บไว้เป็นประสบการณ์ส่วนตัวในการอ่านก็ได้

เราเคยดูหนังสงครามเวียตนามไหม บางคนก็ผ่านความทุกข์ยากเหล่านั้นมา และนำประสบการณ์มาเขียน อย่างเรอมาร์กที่เขียน "แนวรบด้านตะวันตก เหตุกาณ์ไม่เปลี่ยนแปลง" ซึ่งเป็นเหตุการณ์ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 นั้น เขาก็เขียนด้วยความทุกข์ยาก แต่เราอ่านด้วยความซาบซึ้ง นี่ก็เป็นความงามแบบหนึ่ง และถ้าเราได้เจอเองล่ะ แม้มันจะเป็นประสบการณ์ที่ปวดร้าวที่เป็นแผลในใจเราไปตลอดชีวิต แต่เราก็ได้อารมณ์ทุกข์และลบไปแล้ว ทำไมเราไม่เอาไอ้นี่มาแปรเป็นค่าบวกล่ะ อย่างน้อยเราก็ได้ความงาม ความสุข กลับคืนมาบ้าง บางทีคนที่ไม่เคยมีทุกข์แบบเราอาจอิจฉาก็ได้นะ (โดยเฉพาะพวกปัญญาชนผู้ใฝ่รู้ทั้งหลาย) แม้ว่ามันอาจบวกได้ไม่เท่าลบ แต่อย่างน้อยมันก็ช่วยลดทุกข์เพิ่มสุขใช่ไหม นี่เป็นหนทางที่ดีที่สุดแล้ว ดังนั้น "การเห็นความงามในความอัปลักษณ์ ผ่านประสบการณ์อันปวดร้าวของคุณเอง" ย่อมเป็นความงาม และการเสพสุขที่ยิ่งใหญ่ในตัวมัน ผมว่านะ "มันเหนือชั้นกว่าขั้น 1-2" เป็นไหนๆ แต่ถ้าคุณมีขั้น 1-2 ด้วย มันก็ยิ่งทำให้คุณขบคิดได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นเท่านั้น แล้วสองขั้นนั้นจะมาเสริมให้ขั้นสามของคุณยิ่งสนุกสนานขึ้น

บางคนอาจเถียงว่าไม่เห็นต้องบอกเลยขั้นนี้ คนทั่วไปก็ทำอยู่แล้ว แต่คุณอย่าลืมว่าคนทั่วไปก็อ่านนิยายน้ำเน่ากันอยู่แล้ว และนิยายดีๆต่างกับนิยายไม่ดีตรงไหน ก็ตรงที่ความลึกซึ้งนั่นไง หากคุณไม่รู้วิธีที่จะเปลี่ยนความทุกข์ของคุณให้เป็น "ความตระหนักแห่งประสบการณ์ชีวิตอันลุ่มลึก" คุณก็คงไม่มีความสุขอะไรเพิ่มขึ้นมากนัก แต่ถ้าคุณรู้จักวิธีการแปรเปลี่ยน คุณจะกลายเป็นคนที่สุขุมลุ่มลึกอย่างแท้จริง และไม่แน่ อาจมีนักเขียนชื่อก้องโลกปรากฎขึ้นให้จดจารบนแผ่นดินนี้อีกคนก็เป็นได้

ทำไมต้องจัดขั้นนี้ให้อยู่สูงกว่าสองขั้นแรกด้วย นี่ก็อาจเป็นเรื่องที่อธิบายได้ยาก เพราะการแบ่งเป็นขั้นที่ชัดเจนนั้นก็เป็นแนวคิดที่ไม่ถูกต้องอยู่แล้ว แต่การแบ่งก็เพื่อแยกแยะให้ชัดเจน แต่สิ่งหนึ่งที่พอจะบอกได้ว่า ขั้น 1-2 จะเป็นตัวเสริมให้ขั้นนี้สมบูรณ์ที่สุด กลั่นกรองความเจ็บปวดออกมาเป็นความสุขซึ้งได้ดีที่สุด และขั้น 3 นี้ก็จะไปช่วยให้การอ่าน การปฏิบัติในขั้น 1-2 เพิ่มมูลค่าแห่งความมันส์ยิ่งขึ้นเพียงนั้น

4. หลุดพ้นจากกองทุกข์และสุขทั้งมวล บรรลุอรหันต์ หรือเป็นพระโพธิสัตว์ที่คลาสสิคโรแมนติค
ขั้นนี้คงไม่ต้องพูดกันนะ เพราะตัวผู้เขียนเองก็ไปไม่ถึง เพราะถ้าไปถึงแล้วจะมานั่งเขียนอยู่อย่างนี้เหรอ แต่ตามลักษณะของปราชญ์และปัญญาชนนั้นย่อมอยากรู้ไปทุกเรื่อง แม้แต่เรื่องที่ตนไม่มีประสบการณ์ก็ขอเป็นแค่ทฤษฎีก็พอ ผมเองก็คงทำเช่นนั้น

ผมไม่แน่ใจเหมือนกัน(เพราะไม่มีประสบการณ์) ว่าขั้นนี้จะเป็นความสุขยิ่งๆกว่า 1-3 แต่ผมก็เชื่อตาม "ปัญญาตรัสรู้" ของพุทธองค์ว่าคงจะเหนือกว่า เป็นความสุขสงบดิ่งลึกจริงๆ

แต่ไม่รู้สิ ผมว่าขั้นนี้ออกจากขาดสีสันนะ เพราะอะไรก็ได้ เหมือนเป็นอุดมคติเลย เหมือนเป็นหุ่นยนต์เลย แต่ผมก็ไม่รู้หรอกว่าความจริงเป็นเช่นไร มันเหมือนกับเป็นกล่องดำ ที่แต่ละคนก็ต่างคาดเดาไปต่างๆนานา จนกว่าคุณจะเปิดออกมาดูเท่านั้นแหละก็จะพบว่า "ความจริงคืออะไร?"

แต่ตามภาษานักคิด ผมขอตีความไปตามความคิดผมนะ

จากประสบการณ์ การนั่งสมาธิของผมก็ดูเหมือนจะยืนยันเช่นนั้น เพราะในยามนั้นมันไร้สุขไร้ทุกข์ มันมีแต่ปิติสุข ที่ไปเหนือความทุกข์ความสุขแบบโลกๆ(แต่มันก็วัดอะไรไม่ได้ เพราะมันยังไม่บรรลุ) แต่ผมถือว่ามันมีคุณภาพที่แตกต่างจากขั้น 1-3 นั้น มันเหนือจริงๆ(แม้จะยังไม่สุดทางก็ตาม) เพราะฉะนั้น ถ้าคุณหัดนั่งสมาธิ โดยหาหนังสือมาศึกษาเพิ่มเติม เพิ่มประสบการณ์ในขั้น 3 เพื่อให้เห็นความงามในความทุกข์ได้ ผมเชื่อว่าด้วยประสบการณ์อันหลากหลายนี้จะไปกระตุ้นธาตุรู้ในตัวคุณให้ตื่นขึ้น ซึ่งน่าจะมีผลต่อการนั่งสมาธิและปฏิบัติธรรมของตัวคุณ แล้วคุณจะได้พบกับความสุขที่ยิ่งๆขึ้น อย่างไรก็ตาม ผมก็ยังไม่อาจยืนยันว่าขั้นนี้จะดีกว่า แต่จากประสบการณ์เท่าที่มีของผมก็ยืนยันว่า เป็นความสุขอีกรูปแบบหนึ่งที่น่าลิ้มลอง หากคุณมี option ของความสุขให้เสพเพิ่มขึ้นหนึ่ง ก็ดีกว่าลดลงหนึ่งใช่ไหมล่ะ รีบๆเสพมันซะนะ ก่อนที่คุณจะตายก็ขอให้เสพสุขมากๆเข้าไว้ คนสมัยใหม่คิดแบบนี้ไม่ใช่เหรอ ผมก็สนับสนุนนะ(เพราะถ้าถึงขั้นนี้แล้ว ความคิดเบียดเบียนคนอื่นของคุณคงน้อยลงนะ ยิ่งเสพสุขพวกนี้มากเท่าไร ก็ยิ่งดีต่อคนอื่นมากเท่านั้น)

ความจริงแล้วบางคนอาจจะกลัวก็ได้นะ ว่าความสุขขั้น 4 นี้มันอาจจะห่วยที่สุดเลยก็ว่าได้ หรือมันจะมาทำลายความสุขที่ฉันกำลังสะสมไว้ แต่การมองแบบนี้เป็นการมองที่ง่ายเกินไป อย่าลืมสิว่า กว่าคุณจะก้าวมาสู่ขั้นนี้ได้ คุณต้องผ่านสิ่งที่คุณไม่เชื่อมามากมายเท่าไร เริ่มจากคุณไม่เคยอ่านหนังสือหนักๆเลย ไม่เคยดูหนังที่จัดว่าดีเลย แต่พอคุณเริ่มข้ามกำแพง คุณก็พบว่า กูไม่น่าโง่เลย ความสุขอยู่แค่เอื้อมนี้ทำไมกูไม่ไขว่คว้า แต่เมื่อคุณอยู่ขั้น 1 นานๆเข้าคุณเริ่มชิน คุณก็คิดว่าสิ่งที่ให้ความสุขสุดยอดมันมีแค่นี้เอง แต่พอคุณเข้าสู่การบูรณาการ แรกๆอาจเหนื่อยหน่อย แต่พออยู่ตัวแล้วคุณกลับพบว่า "กูทำไมโง่จัง ไม่เสพแต่แรก" แต่เมื่อคุณปฏิบัติครบถ้วน แสวงหาไม่หยุดยั้ง คุณเริ่มโตแล้วเข้าสู่ขั้น 3 คุณก็จะทุกข์อย่างยิ่ง ทำไงถึงหนีไปได้ แต่เมื่อคุณนำความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาในสองขั้นแรก คุณเริ่มเห็นความงามในความอัปลักษณ์ คุณก็จะก้าวเข้าสู่ขั้นสาม ในขั้นนี้คุณคงต้องเบิร์ดกระโหลกตัวคุณเองสักทีว่า "กูโง่อีกแล้ว ทำไมกูถึงปฏิเสธสิ่งดีๆอยู่เรื่อย เจ็บแล้วไม่เคยจำหรืออย่างไร จงจำไว้ว่าเจ้าคือกบในกะลา" แต่แล้วเมื่อคุณอยู่ขั้น 3 แล้วคุณก็มักคิดว่า "คุณเต็มแล้ว" ไม่ต้องแสวงหาอะไรอีกแล้ว คุณอาจจะเถียงผมว่า ก็มันเต็มแล้วจริงๆนี่ แต่คุณอย่าลืมว่าตั้งแต่ขั้น 1-3 คุณก็พูดอย่างนี้ แล้วมันถูกไหม คำตอบที่น่าจะมีอยู่ตอนนี้ก็คือ ขั้นสามคือขั้นสุดยอดแล้ว หรือบางทีอาจมีขั้นสี่ คือเราไม่ควรไปปฏิเสธ หรือตอบรับเสียทีเดียว เราต้องลองค้นหาดูก่อน

ดังนั้น เราก็ลองปฏิบัติสมาธิ หยั่งเห็นประสบการณ์แห่งความทุกข์ อ่านหนังสือหาความรู้ไปเรื่อยๆ คุณทำเช่นนี้ไม่เสียหายเลย มีแต่เพิ่มความสุข และถ้าคุณเกิดจะสำเร็จมรรคผล คุณก็ไม่ต้องกลัวอีก เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นจริง มันก็แสดงว่า ขั้น 4 ดีกว่าขั้น 3 จริง ไม่งั้นตัวคุณในตอนนั้น(อนาคต)คงไม่เลือกหรอกใช่ไหม ก็เหมือนกับที่ก่อนหน้านี้คุณก็ตื่นกลัวในการเข้าสู่ขั้น 1 ก้าวเข้าสู่ขั้น 2 และ 3 เหตุการณ์นี้ก็เช่นเดียวกัน แต่สิ่งที่ผมยืนยันกับคุณได้แน่ว่า ไอ้การนั่งสมาธิจนเกิดปิติสุขที่เหนือสุขและทุกข์แบบคนทั่วไป เป็นความสุขที่ล้ำลึกกว่า และคุณก็ไม่ต้องละขั้น 1-3 ด้วย เท่ากับว่าคุณได้เพิ่มความสุขขึ้นอีกหนึ่งขั้น ส่วนใครจะบรรลุหรือไม่บรรลุนั้น อยู่เกินขอบข่ายของบทความนี้นะครับ

5. บทสรุป
เมื่อคุณได้เดินทางมาถึงตอนนี้แล้ว ก็มาถึงบทสรุปกันเสียทีนะครับ

อย่างแรกที่บทความนี้ต้องการนำเสนอก็คือ การเปลี่ยนมุมมอง โดยการชี้ให้เห็นว่า "การแสวงหาความรู้ การช่วยเหลือผู้อื่น การทำตัวเป็นคนดี" ให้ประโยชน์กับคุณมากกว่าที่คุณคิดไว้ โดยผมพยายามแปรมันออกมาเป็น "การเสพสุข" ซึ่งผู้คนทุกวันนี้ต้องการมันยิ่งนัก และผมก็ไม่เห็นว่ามันจะเสียหายตรงไหน เพราะมีแต่ได้กับได้ เพราะถ้าคุณหันมาเสพสุขนี้แทน ตัวคุณก็จะมีจิตใจที่ละเอียดอ่อนขึ้น โหดร้ายน้อยลง สังคมก็จะได้ประโยชน์เช่นกัน

แต่คนทั่วไปมักมองข้าม ส่วนหนึ่งอาจเพราะความยากของการเสพ แต่ผมว่าไม่จริง เพราะขอให้เป็นการเสพสุขเถอะ ต่อให้ยากแค่ไหนพวกคุณก็ต้องลองกัน ดังนั้น ปัญหาอยู่ที่การนำเสนอในมุมมองใหม่มากกว่า ทำให้คนส่วนใหญ่ยอมรับและเห็นว่า "สิ่งดีๆ ความรู้ คุณค่าทางจิตใจ" ก็เป็นการเสพสุขได้เหมือนกัน และเป็นความสุขอย่างสูง ซึ่งชนชั้นสูงเท่านั้นที่จะเสพได้ เงินทองก็ไม่อาจซื้อได้

อย่างที่สองก็คือ การจุดประกาย ให้เห็นว่า "เราจะเสพสุขนี้ได้อย่างไร" โดยพยายามแบ่งให้ละเอียดเท่าที่จะทำได้ มีการแยกเป็นขั้นให้เห็น และที่สำคัญมีการแนะนำหนังสือประกอบ มีการเชื่อมโยงให้เห็นบูรณาการและการก้าวข้าม อย่างไรก็ตาม ตัวหนังสือก็ยังเป็นตัวหนังสือ และยิ่งมีไม่กี่หน้าแค่นี้ ย่อมไม่ละเอียดเพียงพอ บทความนี้จึงเป็นแค่การจุดประกาย แต่เหนือสิ่งอื่นใดสิ่งที่หนังสือให้ไม่ได้คือ ประสบการณ์ คุณต้องลองเอง ค่อยๆลองอย่าท้อแท้ เพราะถ้าไม่สำเร็จ แปลว่าคุณเข้าไม่ถูกทาง อาจเป็นเพราะคุณไม่เข้าใจการเสพสุขนี้ดีพอ ทางออกคือ หาหนังสือแนะนำมาอ่านเพิ่มเติม หรือหาผู้รู้ให้ช่วยแนะนำให้

สุดท้ายคือ ขอให้คุณเชื่อเถิดว่ามันมีความสุขจริง ให้คุณทดลองจริงๆอย่างปราศจากอคติ แม้ว่าภายหลังคุณพบว่าอย่างอื่นให้ความสุขมากกว่า แต่การมีความสุขให้เลือกเพิ่มขึ้นอีกชนิด ย่อมดีกว่าน้อยลงอีกชนิด ความสุขนี้น่าลิ้มลองและเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง แต่ถ้าคุณทุกข์ขนาดก็เลิกเถิดครับ บางทีผมอาจเข้าใจผิดก็ได้ โดยเฉพาะในโลกยุคใหม่ที่เขาต้องการให้หลากหลาย เราก็ไม่อยากครอบงำ แต่ถ้าคุณได้รับความสำเร็จ ก็ขอให้คุณอย่าหยุดยั้งนะ ขอให้ก้าวข้ามเป็นขั้นๆ อย่างน้อยก็ให้เจนจบถึงขั้น 3 นะ แล้วคุณจะรู้ว่า ความสุขที่ชนชั้นสูงเสพนั้นเป็นอย่างไร ที่สำคัญคือ หากคุณมีความก้าวหน้าในการปฏิบัติก็อย่าลืมสังคม ผ่องถ่ายความรักและความสุขสู่สังคม แต่ไม่ต้องฝืน ทำเท่าที่ทำได้ และคุณมีความสุข สิ่งที่ทำได้ง่ายที่สุดเลยก็คือ แนะนำการเสพความสุขแบบใหม่นี้ให้เขาไง เพื่อเขาจะได้มีความสุขมากขึ้น คุณจะได้มีเพื่อนที่มีความสุข สังคมจะได้มีความสุข

"เรามาเสพ/ลองลิ้ม/ชิมรส ความสุขของชนชั้นสูงที่ปิดลับและเกินเอื้อมนี้กันเถิด"

 

 

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา I ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้

1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งย่อหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ
(กรณีตัวหนังสือสีจาง ให้เปลี่ยนสีเป็นสีเข้มในโปรแกรม Microsoft-word)

 

อย่างแรกที่บทความนี้ต้องการนำเสนอก็คือ การเปลี่ยนมุมมอง โดยการชี้ให้เห็นว่า "การแสวงหาความรู้ การช่วยเหลือผู้อื่น การทำตัวเป็นคนดี" ให้ประโยชน์กับคุณมากกว่าที่คุณคิดไว้ โดยผมพยายามแปรมันออกมาเป็น "การเสพสุข" ซึ่งผู้คนทุกวันนี้ต้องการมันยิ่งนัก

อินเดียก็มีงานที่งดงามอ่านกันไม่จบสิ้น รุ่นใหม่หน่อยก็ใช่ว่าจะไม่มี ตั้งแต่ท่านรพินทรนาถ ฐากูร จนกระทั่งถึง กุนธาตี รอย หรือทางเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ก็ลุ่มลึกไม่เบา มีแปลเป็นไทยออกมามากมาย อย่างของ ปราโมทยา อนันตา ตูร์ ก็งดงามมิหยอก...
...
หากคุณชอบนิยาย คุณก็หาเรื่องสั้นมาอ่าน หากคุณชอบเรื่องสั้น คุณก็หานิยายมาอ่าน รับรองคุณจะได้อรรถรสใหม่ไม่ซ้ำแบบ เพราะแต่ละส่วนก็มีข้อดีของมัน แต่ถ้าคุณลองแล้วไม่ชอบก็ลองหานวนิยายประเทศอื่นมาอ่าน หรือถ้าคุณอ่านของประเทศอื่นอยู่ก็ลองอ่านของประเทศไทยดู ปัจจุบันยิ่งมีหลากหลาย ทั้งนิยายจีนกำลังภายในที่มีมานานแล้ว นิยายจีนอื่นๆ เช่น หงส์ป่า ขุนเขาแห่งจิตวิญญาณ(ของนักเขียนโนเบลคนแรกของจีน) บ้าน หรือนิยายญี่ปุ่นก็เริ่มมีเข้ามา

 

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆของเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
ภาพประกอบดัดแปลง เพื่อใช้ประกอบบทความฟรี โดยสมาชิกมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เรื่อง "การเสพสุขที่ละเมียดละไม : คัมภีร์ขั้นสุดยอดของชนชั้นสูง"
เพราะถ้าคุณหันมาเสพสุขจากการอ่าน ตัวคุณก็จะมีจิตใจที่ละเอียดอ่อนขึ้น โหดร้ายน้อยลง สังคมก็จะได้ประโยชน์