H

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ

Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

เว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ทางเลือกเพื่อการศึกษาสำหรับสังคมไทย :

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 318 หัวเรื่อง
โรคเอดส์กับองค์การการค้าโลก

พอล เลอมัง และแสงจันทร์
สมาชิกมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
จาก เจนีวา สวิสเซอร์แลนด์

(บทความนี้ยาวประมาณ 8 หน้า)
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะแก้ปัญหาได้

บทความของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน สามารถคัดลอกไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการได้ หากนำไปใช้ประโยชน์ กรุณาแจ้งให้ทราบที่
midnightuniv(at)yahoo.com

281046
release date
R
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆของเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
Wisdom is the ability to use your experience and knowledge to make sensible decision and judgements
ภาพประกอบดัดแปลง เพื่อใช้ประกอบบทความฟรีของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เรื่อง: "องค์การการค้าโลกกับการช่วยชีวิตมนุษย์โลก"
การเจรจาเรื่อง Public Health ใน WTO ได้กลายเป็นเรื่องสำคัญและเป็นความหวังของคนในประเทศยากจนทั้งหลายที่หวังว่าจะได้รับสิทธิในการหาซื้อยาราคาถูก อย่างไรก็ตาม หนึ่งปีแรกของการเจรจา ประเทศสมาชิกไม่สามารถหาข้อสรุปได้เนื่องจากสหรัฐฯ ซึ่งมีอุตสาหกรรมยาที่เข้มแข็งและมีอิทธิพลสูงในรัฐบาล เห็นว่าหาก WTO อนุญาตให้ใช้สิทธิลอกเลียนแบบได้ ก็ต้องกำหนดขอบเขตของโรคที่จะได้รับประโยชน์ภายใต้มาตรการใหม่นี้ให้ชัดเจน

สิ่งที่เป็นอยู่ในขณะนี้ก็คือ ยารักษาโรคเอดส์ ซึ่งส่วนใหญ่ผลิตโดยบริษัทยาข้ามชาติมีราคาแพงมาก เกินกว่าที่ผู้ป่วยซึ่งเป็นประชาชนหาเช้ากินค่ำจะสามารถซื้อได้ ยาเหล่านี้บางชนิดมีสิทธิบัตรคุ้มครองอยู่ ร้อยละ 90 ของยาที่ผลิตออกขายในโลกล้วนผลิตจากประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ แคนาดา สวิส และสหภาพยุโรป ซึ่งมีทั้งเงินทุนและเครื่องมือที่ช่วยในการผลิตยาที่ทันสมัยและก็ได้ขายยารักษาโรคนี้ในราคาที่บวกกำไรสูงกว่ามูลค่าของตัวยาจริงมาก

ทั้งนี้โดยข้ออ้างที่ว่า จำเป็นต้องคำนึงถึงการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีที่เป็นปัจจัยสำคัญในการทำวิจัยและทดลอง รวมทั้งต้องคำนึงถึงการเจริญเติบโตของบริษัทในอนาคตด้วย เหตุนี้จึงเป็นเรื่องเศร้าสำหรับผู้ป่วยในประเทศที่ยากจนที่รู้ว่ามียารักษาโรคได้ แต่ไม่สามารถที่จะหาซื้อยามารักษาได้ (ในทวีปแอฟริกาแห่งเดียวมีผู้ป่วยและติดเชื้อกว่า 20 ล้านคน) ครั้นจะรอให้ภาครัฐเข้ามาช่วยก็ยาก เพราะรัฐบาลมีงบประมาณจำกัดและการคิดค้นยารักษาโรคนี้ต้องอาศัยเงินจำนวนมหาศาลในการทำวิจัยและทดลอง รวมทั้งต้องมีเครื่องมือที่ทันสมัยเข้าช่วยด้วย

องค์การการค้าโลกกับการช่วยชีวิตมนุษย์โลก
พอล เลอมัง และ แสงจันทร์
สมาชิกมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : เจนีวา สวิสเซอร์แลนด์

(บทความนี้ยาวประมาณ 8 หน้ากระดาษ A4)


หลังจากการประชุมที่แคนคูน เม็กซิโกผ่านไป องค์การการค้าโลกดูเหมือนจะหมดความหมายลงไปมาก ในสายตาของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลาย ที่มองเห็นความขัดข้องของเส้นทางการเปิดเสรีทางการค้าในระบบพหุภาคีตามที่ตนต้องการ และหันไปใช้แนวทางการตกลงสองฝ่ายเพื่อเปิดเสรีแทนซึ่งเห็นผลได้รวดเร็วกว่า

การจัดตั้งเขตการค้าเสรีสองฝ่ายหรือที่เรียกว่า ทวิภาคีนั้น ดูจะดีกว่าก็จริง แต่ก็มิได้หมายความว่าการค้าพหุภาคีจะหมดความหมายและถ้าใครเข้าใจเช่นนั้นก็ถือว่าเป็นการเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง สมควรจะต้องทำความเข้าใจกันใหม่

การประชุมที่แคนคูนล้มเหลวไม่ได้หมายความว่าการค้าโลกจะพังทลายและประเทศยากจนจะจนลงไปอีก สิ่งที่เกิดขึ้นในความเป็นจริงก็คือ กำไรที่ประเทศพัฒนาแล้วผ่านบรรษัทข้ามชาติทั้งหลาย ที่กอบโกยผลประโยชน์จากประเทศกำลังพัฒนาอยู่ในขณะนี้นั้น ที่หวังว่าจะได้ต่อไปอย่างสบายต้องหายไป และก็หมายความในอีกแง่มุมหนึ่งด้วยว่า เงินทุนและทรัพยากรธรรมชาติของประเทศกำลังพัฒนา และประเทศยากจนทั้งหลายยังโชคดีไม่ถูกดึงหรือแสวงหาผลประโยชน์ไปอยู่ในกระเป๋าของบริษัทข้ามชาติมากขึ้นไปกว่านี้

ความหมายที่สำคัญที่สุดจากการประชุมแคนคูน ที่ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายควรทำให้เกิดก็คือ การรวมกลุ่มต่อไป คิดต่อไป ผลักดันต่อไป เจรจาต่อไป ในองค์การเพื่อให้การค้าโลกมีความเป็นธรรมและสมดุลย์มากขึ้น หรือให้มากที่สุด

การจะพูดว่าประเทศยากจนเป็นผู้พ่ายแพ้ จะต้องดูฐานะของประเทศของผู้พูดนั้นด้วยว่ามีส่วนได้ส่วนเสียในการค้าโลกมากน้อยเพียงใด หลักการที่ปลาใหญ่กินปลาเล็กนั้นปฏิเสธมิได้ก็จริง แต่ก็มิใช่กลุ่มปลาใหญ่ที่สุดเสมอไปที่กินปลาเล็ก แต่บรรดากลุ่มปลาเล็กด้วยกันเองนี่แหละก็กินกันเองก็มี

ประเทศสมาชิกควรผดุงและพยุงให้การเจรจาดำเนินต่อไปเพราะองค์การการค้าโลกยังมีประโยชน์ที่เห็นได้ชัด คือ

1. เป็นเวทีให้ประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนาซึ่งเป็นสมาชิกส่วนใหญ่แสดงจุดยืนและข้อเรียกร้องในเรื่องการค้าระหว่างประเทศได้

2. เป็นเวทีสำหรับประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนาในการต่อรองทางการค้า ทั้งนี้เนื่องจากสมาชิกทุกประเทศมีสิทธิและเสียงในการตัดสินเรื่องต่างๆ อย่างเท่าเทียมกัน และจำนวนประเทศพัฒนาแล้วในองค์การนั้นมีน้อยกว่าประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนามาก หากประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายสามารถรวมตัวกันได้ ก็สามารถเรียกร้องและต่อรองสิ่งที่ตนเองต้องการได้ซึ่งจะดีกว่าการไปตกลงในแบบทวิภาคีหรือสองฝ่าย ซึ่งอำนาจการต่อรองของประเทศกำลังพัฒนา น้อยกว่าประเทศพัฒนาแล้วมาก

3. เป็นเวทีที่สมาชิกสามารถจะฟ้องร้องเป็นคดีกับประเทศสมาชิกอื่นโดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้วในเรื่องการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมได้ ซึ่งที่ผ่านมาไทยเองก็ได้ประโยชน์จากการฟ้องร้องประเทศสมาชิกอื่นในหลายกรณี

เหตุผลที่กล่าวมานี้อย่างน้อยก็ทำให้มองเห็นว่าทำไมจึงต้องดึงการเจรจาในองค์การการค้าโลกให้ดำเนินอยู่ต่อไป ซึ่งในส่วนหนึ่งต้องถือว่าเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ของผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก ที่จะแสดงความสามารถในฐานะผู้บริหารองค์การที่เป็นคนเอเซียคนแรกและคนเดียว ในการทำให้การค้าโลกเสรีและเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายให้มากที่สุด

ประโยชน์ที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่จะขอนำเสนอในข้อเขียนนี้ ที่คนทั่วไปอาจจะยังไม่ทราบและตื่นตัวพอก็คือผลการเจรจาเรื่องสาธารณสุข ได้แก่ เรื่องการเข้าถึงยาราคาถูกของประชาชนในโลกหรือ access to medicines บัดนี้ ประเทศสมาชิกที่มีปัญหาโรคร้ายแรงในประเทศ เช่นโรคเอดส์ สามารถใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิหรือ Compulsory License เพื่อผลิตยาเอง(ในราคาถูก) หรือนำเข้าจากประเทศที่สาม(ที่ไม่ใช่เจ้าของสิทธิ)ได้ มาตรการนี้ทำให้องค์การการค้าโลกเป็นเสมือนผู้ช่วยชีวิตมนุษย์โลกที่กำลังตกอยู่ในความมืดให้ได้พบกับแสงสว่าง เป็นมาตรการที่ดีที่สุดตั้งแต่ตั้งองค์การมา เป็นการกระทำที่ถือว่าเป็นกุศลโดยไม่เห็นแก่ประโยชน์ทางการค้าแต่อย่างเดียว ซึ่งการนำไปปฏิบัตินั้นต้องอยู่ที่รัฐบาลของแต่ละประเทศจะมีความกล้าหาญและสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่หรือไม่

ยาโรคเอดส์ราคาถูก แสงสว่างของผู้ป่วยโรคเอดส์ที่รัฐบาลต้องทำให้เกิด
ในปัจจุบันนี้เป็นที่ยอมรับกันว่าโรคเอดส์เป็นโรคติดต่อที่ร้ายแรงและเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดปัญหาหนึ่ง ซึ่งกำลังคุกคามโลกเราและนับวันจะยิ่งวิกฤตขึ้นเรื่อยๆ ประมาณกันว่าในโลกนี้มีผู้ติดเชื้อเอดส์กว่า 40 ล้านคนและในทุกๆ วันมีผู้ป่วยโรคเอดส์เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก รวมทั้งในประเทศไทยซึ่งมีผู้ป่วยโรคเอดส์กว่า 1 ล้านคน และแม้หลายประเทศจะตื่นตัวหาทางแก้ไขปัญหานี้ แต่ก็ยังไม่อาจกล่าวได้ว่าประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ

อุปสรรคที่สำคัญสำหรับผู้ป่วยเป็นโรคเอดส์โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา ทั้งที่มีอาการเริ่มต้น และที่ชีวิตกำลังใกล้จะถึงที่สุดแล้วคือ ความต้องการยารักษาโรคร้ายนี้และกำลังใจจากเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ขณะนี้มีผู้คิดค้นและผลิตยาต่อต้านและควบคุมเพื่อรักษาโรคนี้ได้บ้างแล้ว แม้ยาดังกล่าวอาจไม่ใช่ยาวิเศษที่ทำให้โรคร้ายนี้หายไปในชั่วพริบตาก็ตาม แต่อย่างน้อยก็ชะลอความตายของผู้ป่วยไปได้ระยะเวลาหนึ่ง เพื่อให้ดำรงชีวิตกับผู้ที่เป็นที่รักต่อไปได้

สิ่งที่เป็นอยู่ในขณะนี้ก็คือ ยารักษาโรคเอดส์ ซึ่งส่วนใหญ่ผลิตโดยบริษัทยาข้ามชาติมีราคาแพงมาก เกินกว่าที่ผู้ป่วยซึ่งเป็นประชาชนหาเช้ากินค่ำจะสามารถซื้อได้ ยาเหล่านี้บางชนิดมีสิทธิบัตรคุ้มครองอยู่ ร้อยละ 90 ของยาที่ผลิตออกขายในโลกล้วนผลิตจากประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ แคนาดา สวิส และสหภาพยุโรป ซึ่งมีทั้งเงินทุนและเครื่องมือที่ช่วยในการผลิตยาที่ทันสมัยและก็ได้ขายยารักษาโรคนี้ในราคาที่บวกกำไรสูงกว่ามูลค่าของตัวยาจริงมาก

ทั้งนี้โดยข้ออ้างที่ว่า จำเป็นต้องคำนึงถึงการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีที่เป็นปัจจัยสำคัญในการทำวิจัยและทดลอง รวมทั้งต้องคำนึงถึงการเจริญเติบโตของบริษัทในอนาคตด้วย เหตุนี้จึงเป็นเรื่องเศร้าสำหรับผู้ป่วยในประเทศที่ยากจนที่รู้ว่ามียารักษาโรคได้ แต่ไม่สามารถที่จะหาซื้อยามารักษาได้ (ในทวีปแอฟริกาแห่งเดียวมีผู้ป่วยและติดเชื้อกว่า 20 ล้านคน) ครั้นจะรอให้ภาครัฐเข้ามาช่วยก็ยาก เพราะรัฐบาลมีงบประมาณจำกัดและการคิดค้นยารักษาโรคนี้ต้องอาศัยเงินจำนวนมหาศาลในการทำวิจัยและทดลอง รวมทั้งต้องมีเครื่องมือที่ทันสมัยเข้าช่วยด้วย

ดังนั้นผู้ป่วยโรคเอดส์ในประเทศกำลังพัฒนาจึงได้แต่รอคอยความตายเพียงอย่างเดียว สำหรับในประเทศไทย ก็ไม่ต่างไปจากประเทศอื่นๆ เท่าใดนัก

ท่ามกลางสถานการณ์ที่บริษัทยาของประเทศพัฒนาแล้วค้ากำไรและมุ่งหวังกำไรเกินควรเพียงอย่างเดียวโดยไม่คิดถึงในด้านมนุษยธรรมเลยนั้น มีบางประเทศได้ถือโอกาสลอกเลียนแบบยานี้ขึ้น เช่น ในประเทศอินเดีย บราซิล และจีน ซึ่งทั้งสามประเทศนี้มีศักยภาพพอที่จะลอกเลียนแบบ และผลิตยาราคาถูกออกมาขายแข่งกับบริษัทยาข้ามชาติได้ ซึ่งทำให้ประเทศที่ยังไม่ได้ให้การคุ้มครองสิทธิบัตรยามีทางเลือกในการหาซื้อยาราคาถูกได้

ทำไมประเทศดังกล่าวจึงสามารถลอกเลียนแบบยาที่มีสิทธิบัตรได้โดยไม่ผิดกฎหมาย คำตอบที่ถูกต้องคือ

ประการแรก ประเทศนั้นยังไม่ได้ให้การคุ้มครองสิทธิบัตรยา ดังนั้นจึงมีสิทธิที่จะลอกเลียนแบบยาได้ เช่นอินเดีย และ
ประการที่สองเจ้าของสิทธิบัตรยาไม่ได้ไปยื่นจดทะเบียนสิทธิบัตร เพื่อขอรับความคุ้มครองในประเทศนั้นๆ ทำให้ประเทศนั้นสามารถลอกเลียนแบบได้อย่างถูกต้องเช่นประเทศบราซิล เป็นต้น

แต่การลอกเลียนแบบตามข้อที่หนึ่งนั้น ก็มิใช่จะทำได้ตลอดไป เนื่องจากความตกลง TRIPS ขององค์การการค้าโลก ได้กำหนดให้ประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นสมาชิก WTO หากยังไม่มีระบบการคุ้มครองสิทธิบัตรยา ต้องให้การคุ้มครองสิทธิบัตรยาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1995 เป็นต้นไป แต่ประเทศที่ยังไม่พร้อมสามารถขอขยายระยะเวลาที่จะให้มีการให้ความคุ้มครองออกไปอีกถึงปี ค.ศ. 2005 (พ.ศ. 2548 ) ซึ่งอินเดียได้ใช้สิทธิดังกล่าวทำให้สามารถผลิตยาขายและส่งออกไปแข่งกับบริษัทยาข้ามชาติได้ในราคาที่ถูกมาก เมื่อเปรียบเทียบกับราคายาของบริษัทยาที่มีสิทธิบัตรของประเทศที่พัฒนาแล้ว

สำหรับไทยนั้นได้ออกกฎหมายให้การคุ้มครองสิทธิบัตรยาไปแล้วตั้งแต่ต้น จึงไม่ได้รับสิทธิเหมือนอินเดีย สิ่งที่เกิดขึ้นสำหรับไทยก็คือ หากเจ้าของสิทธิบัตรยามายื่นขอความคุ้มครองในประเทศไทย คนไทยก็ไม่สามารถจะผลิตและลอกเลียนแบบหรือแม้แต่นำเข้ายาที่มีสิทธิบัตรของต่างชาติได้ แต่อย่างไรก็ตาม เท่าที่ทราบ การจดสิทธิบัตรยาเพื่อเรียกร้องความคุ้มครองในไทยก็ยังไม่ค่อยมีมากนัก อาจเป็นเพราะเจ้าของสิทธิบัตรยาเห็นว่าไทยยังไม่มีศักยภาพและเทคโนโลยีสูงพอที่จะลอกเลียนแบบยาที่มีสิทธิบัตรแล้วได้

นอกเหนือจากการคุ้มครองภายใต้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งไทยในฐานะสมาชิกจะต้องปฏิบัติตาม ไทยยังมีระบบการควบคุมและคุ้มครองยาทั้งที่ผลิตในประเทศและจากต่างประเทศภายใต้กรอบของกระทรวงสาธารณสุข จึงทำให้ผู้บริโภคหรือผู้ป่วยของไทยต้องซื้อยารักษาโรคที่จำเป็นที่มีสิทธิบัตร ในราคาที่บริษัทยาจะกำหนดขึ้นเองซึ่งเป็นราคาที่แพงมาก

อย่างไรก็ตามแม้กระทรวงสาธารณสุขมีหน่วยงานที่ดูแลในเรื่องการผลิตยาที่จำเป็น เพื่อบริการให้กับประชาชน แต่ก็ยังอยู่ในขอบเขตที่จำกัดมากเพราะมีงบประมาณน้อย ที่จะนำมาใช้ในการทำวิจัยและทดลองให้ได้ยาราคาถูก อีกทั้งเครื่องมือในห้องทดลองมีเทคโนโลยีไม่ทันสมัยเท่ากับชาติที่พัฒนาแล้ว ทำให้ไทยยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการยาราคาถูกของผู้ป่วยหรือผู้บริโภคในประเทศได้อย่างเต็มที่

การเจรจาในองค์การการค้าโลก
จากสถานการณ์โรคเอดส์ที่แผ่ขยายไปทั่วโลก ทำให้การประชุมระดับรัฐมนตรีของ WTO ที่โดฮา ประเทศกาตาร์ ในปี 2544ได้จัดทำ Doha Declaration on the TRIPS Agreement and Public Health โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยประเทศสมาชิกที่ประสบปัญหาในเรื่องโรคเอดส์ให้สามารถใช้มาตรการที่เรียกว่า การบังคับใช้สิทธิ(ในเรื่องสิทธิบัตร) หรือ Compulsory Licensing เพื่อให้ประเทศที่มีความสามารถในการผลิตและส่งออกยา สามารถใช้มาตรการบังคับใช้สิทธินี้อนุญาตให้บุคคลที่สามผลิต และส่งออกยาดังกล่าวไปขายในประเทศที่ต้องการยานั้นได้อันจะส่งผลให้ประเทศสมาชิกที่ต้องการยารักษาโรคสามารถหาแหล่งซื้อยาราคาถูก

ทั้งนี้ เนื่องจากที่ผ่านมาสมาชิก WTO สามารถที่จะใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิได้ในขอบเขตที่จำกัดเฉพาะแต่ในกรณีที่นำเข้าหรือผลิตยา เพื่อใช้บริโภคในประเทศตนเองเป็นหลักเท่านั้น ดังนั้นหากประเทศที่ผลิตยาได้แต่ไม่มีความจำเป็นหรือต้องการใช้ยานั้นในประเทศตนเอง ก็ไม่สามารถส่งออกยาดังกล่าวได้เพราะเป็นการขัดกับความตกลง TRIPS ที่ใช้บังคับกับสมาชิกอยู่

ในปัจจุบันตัวอย่าง เช่น บราซิลสามารถผลิตยารักษาโรคเอดส์ได้ในราคาถูก แต่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยาดังกล่าวในประเทศ เพราะคนบราซิลไม่ได้เป็นโรคเอดส์ บราซิลก็ไม่สามารถผลิตยารักษาโรคเอดส์เพื่อส่งออกไปขายในประเทศอื่นได้ ดังนั้นการประชุมที่โดฮาจึงต้องการแก้ปัญหานี้ เพื่อให้สมาชิกที่ต้องการยาสามารถหาซื้อยาที่จำเป็นในราคาถูกได้ และสมาชิกที่สามารถผลิตยาราคาถูกได้ ก็สามารถใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิส่งออกยาไปขายยังประเทศที่กำลังเดือดร้อน และต้องการยานั้น เช่นประเทศในกลุ่มแอฟริกา และไทย เป็นต้น

การเจรจาเรื่อง Public Health ใน WTO ได้กลายเป็นเรื่องสำคัญและเป็นความหวังของคนในประเทศยากจนทั้งหลายที่หวังว่าจะได้รับสิทธิในการหาซื้อยาราคาถูก อย่างไรก็ตาม หนึ่งปีแรกของการเจรจา ประเทศสมาชิกไม่สามารถหาข้อสรุปได้เนื่องจากสหรัฐฯ ซึ่งมีอุตสาหกรรมยาที่เข้มแข็งและมีอิทธิพลสูงในรัฐบาล เห็นว่าหาก WTO อนุญาตให้ใช้สิทธิลอกเลียนแบบได้ ก็ต้องกำหนดขอบเขตของโรคที่จะได้รับประโยชน์ภายใต้มาตรการใหม่นี้ให้ชัดเจน เพื่อที่จะไม่ให้มีผลกระทบกับบริษัทยาของสหรัฐฯมากนัก ซึ่งประเทศสมาชิกส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยที่จะให้จำกัดจำนวนโรคที่จะได้รับสิทธิตามมาตรการใหม่นี้ จึงทำให้การเจรจาเรื่องนี้ต้องยุติลงชั่วคราว

เมื่อการเจรจาไม่สามารถหาข้อสรุปได้ ต่อมาสหรัฐฯ แคนาดา สหภาพยุโรป และสวิสเกรงว่าจะถูกประณามว่าเป็นตัวอุปสรรคและไม่นึกถึงมนุษยธรรม จึงได้ประกาศจะไม่เอาผิดหรือฟ้องร้องประเทศที่ต้องการผลิตและส่งออกยาเฉพาะยาที่รักษาโรค HIV/AIDS, Malaria, tuberculosis and other infectious epidemics เท่านั้น ซึ่งเห็นว่าเป็นโรคที่มีคนเดือนร้อนมากที่สุด เพื่อเป็นการแสดงให้โลกเห็นว่า ตนเองยังมีความจริงใจที่จะแก้ปัญหาในเรื่องนี้

นอกจากนั้นสหภาพยุโรปได้ออกระเบียบเพิ่มเติม บังคับให้ผู้ผลิตยาของสหภาพยุโรปกำหนดราคาขายยาของตนลงเหลือเพียงร้อยละ 25 ของราคาขายปัจจุบัน หรือราคาต้นทุนบวกกำไรไม่เกินร้อยละ 15 โดยให้เลือกอันที่ต่ำกว่าเป็นเกณฑ์การกำหนดราคา ที่จะขายให้กลุ่มประเทศยากจน จำนวน 76 ประเทศ (ซึ่งไม่มีไทยอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย)

ในที่สุด ก่อนการประชุมระดับรัฐมนตรีของ WTO ที่เมืองแคนคูน ประเทศ Mexico ในเดือนกันยายน 2546 สมาชิก WTO สามารถตกลงกันและหาข้อสรุปในเรื่องนี้ได้ด้วยเหตุผลทางการเมือง โดยสมาชิกยอมรับในสิ่งที่สหรัฐฯเรียกร้อง กล่าวคือขอให้ใช้ระบบใหม่ที่จะตกลงกันโดยสุจริต กล่าวคือจะไม่แสวงประโยชน์จากระบบนี้ในเชิงอุตสาหกรรมหรือพาณิชย์ พยายามป้องกันไม่ให้ยาที่ผลิตในกรอบความตกลงใหม่นี้ถูกนำกลับไปขายในประเทศพัฒนาแล้ว หรือที่เรียกว่า Trade diversion และขอให้ประเทศผู้ที่จะผลิตยาชนิดนี้จัดทำบรรจุภัณฑ์ สีและรูปร่างของยาให้แตกต่างจากยาที่มีสิทธิบัตรที่มีขายทั่วไปเป็นต้น ซึ่งสมาชิก WTOได้ตกลงยอมรับหลักการนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว มีผลทำให้ประเทศกำลังพัฒนาและพัฒนาน้อยที่สุดปัจจุบันสามารถใช้ประโยชน์จากการนำเข้า และส่งออกยาราคาถูกได้โดยใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ หรือ Compulsory Liscense ที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

ผลประโยชน์ของประเทศกำลังพัฒนา
มติดังกล่าวของทริปส์ ถือว่าเป็นชัยชนะของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและพัฒนาน้อยที่สุด เนื่องจากเป็นมาตรการใหม่ของ WTO ที่มุ่งเน้นเรื่องมนุษยธรรมมากกว่าผลประโยชน์ทางการค้า ทำให้ประเทศที่ต้องการยาสามารถหาซื้อยาในราคาถูกได้ และประเทศที่ผลิตยาสามารถส่งออกยาไปยังประเทศที่ต้องการได้

อย่างไรก็ตาม การที่จะนำมาตรการนี้มาใช้นั้นมิใช่เรื่องง่าย การบังคับใช้สิทธิ หรือ Compulsory License นั้น ต้องผ่านกระบวนการมากมาย กล่าวคือ การใช้มาตรการนี้ต้องเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินจริง เป็นเรื่องเกี่ยวกับความเป็นความตาย ต้องผ่านขั้นตอนทางกฎหมาย และต้องปฏิบัติตามความตกลง TRIPS และชดเชยความเสียหายหรือแบ่งปันผลประโยชน์บางส่วน(ถ้ามี)ให้กับผู้เสียหายหรือเจ้าของสิทธิบัตรยาดังกล่าวด้วย

ชัยชนะที่ควรจะได้รับการยินดีและแซ่ซร้อง จึงกลายเป็นชัยชนะที่ต้องพิสูจน์ว่าสามารถทำได้ในทางปฏิบัติ

สำหรับประเทศไทย ต้องยอมรับว่าสถานการณ์โรคเอดส์ย่ำแย่มาก แม้จะมีการรณรงค์กันมากแล้วก็ตาม จากสถิติกระทรวงสาธารณสุขไทยมีผู้ติดเชื้อกว่า 1 ล้านคนและมีผู้ติดเชื้อใหม่ทุกๆวัน วันละหลายพันคน มาตรการใหม่ของความตกลงทริปส์ขององค์การการค้าโลกจึงน่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยเป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ดี การใช้มาตรการนี้จำเป็นที่รัฐจะต้องเป็นผู้นำและต้องได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่ายทั้งจากภาคเอกชนและส่วนราชการเอง ที่จะต้องประสานกันเพื่อที่จะได้ประโยชน์อย่างสูงสุด โดยเฉพาะโอกาสของผู้ป่วยโรคเอดส์ของไทย ที่จะสามารถซื้อยารักษาโรคจากแหล่งผู้ผลิตและขายยาราคาที่ถูกได้ การกระทำนี้จะเป็นบุญกุศลอย่างมหาศาลต่อผู้ป่วยโรคเอดส์ของไทย เปรียบเสมือนผู้ป่วยโรคเอดส์ที่ตกอยู่ในความมืดมานานแสนนาน จะได้เห็นแสงสว่างของชีวิตในคราวนี้

หน่วยงานที่สำคัญในเรื่องนี้ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุขซึ่งเป็นผู้ดูแลเรื่องยาและโรคระบาด ในขณะที่การบังคับใช้สิทธิหรือ Compulsory License เป็นเรื่องของกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ดังนั้นหน่วงงานทั้งสองจำเป็นต้องหันหน้าเข้าหากันและหารือกันว่าจะใช้ประโยชน์จากมาตรการนี้ได้หรือไม่อย่างไร ด้วยวิธีการใด และใครมีหน้าที่รับผิดชอบอะไร

อย่างไรก็ดี เรื่องนี้คงมิใช่เรื่องง่ายและปราศจากอุปสรรคเสียทีเดียว เพราะอาจจะมีผลกระทบที่จะตามมาเหมือนกัน เช่นอาจถูกฟ้องร้องจากบริษัทยาข้ามชาติซึ่งถือว่าตนเองเป็นเอกชนไม่จำเป็นต้องฟังหรือปฏิบัติตามองค์การการค้าโลกแม้รัฐบาลของตนจะยอมรับที่จะไม่ฟ้องแล้วก็ตาม หรือการที่ประเทศกำลังพัฒนา เช่นประเทศไทยจะประกาศใน WTO ว่าประเทศกำลังเผชิญกับปัญหาโรคเอดส์อย่างหนักเพื่อต้องการมาตรการใช้บังคับสิทธินำเข้ายาราคาถูกตามมาตรการใหม่ที่ได้กล่าวถึง อาจส่งผลกระทบทางลบกับการท่องเที่ยวของไทยและการลงทุนของชาวต่างชาติซึ่งนำมาซึ่งรายได้หลักของประเทศได้เหมือนกัน

แต่หากยอมรับความจริงว่าประเทศเรามีปัญหานี้และมีสถานการณ์อยู่ในสภาวะวิกฤตขณะเดียวกันคำนึงถึงว่ายังมีชีวิตคนไทยจำนวนเป็นล้านชีวิตที่ป่วยด้วยโรคเอดส์และไม่มีโอกาสที่จะซื้อยารักษาโรคในราคาถูกได้ หากเราเห็นว่าชีวิตจำนวนนับล้านคนนั้นมีความสำคัญมากกว่ารายได้ของประเทศและผลประโยชน์จากบริษัทยาข้ามชาติไม่กี่บริษัท ก็น่าจะคุ้มที่รัฐจะใช้มาตรการดังกล่าว ตามวัตถุประสงค์ของที่สมาชิกของ WTO ตกลงกันไว้

ทางออกของผู้ป่วยโรคเอดส์ของไทย
สิ่งที่ไทยน่าจะพิจารณาก็คือเมื่อเห็นความจำเป็นต้องการนำเข้ายามารักษาผู้ป่วยโรคเอดส์ ก็คงต้องพิจารณาเร่งแก้ไขกฏหมายภายในประเทศเพื่อให้รองรับมาตรการใหม่ตามความตกลงในเรื่อง TRIPS and Public Health นี้ก่อน และเร่งดำเนินการนำเข้ายาตามมาตรการนี้ หรือหากมีความสามารถที่จะผลิตยารักษาโรคเองได้ ก็สามารถใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิในการผลิตได้เลย(ซึ่งจะต้องทำในลักษณะของมนุษยธรรมจริงๆไม่ใช่เพื่อการค้า) เพื่อให้ผู้ป่วยได้เร่งรักษาตัวและกลับมาใช้ชีวิตตามเดิมก่อนที่จะสายเกินไป

เนื่องจากทุกๆนาทีที่ผ่านไป มีผู้ป่วยโรคเอดส์เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ดังนั้น เวลาจึงมีความสำคัญมากสำหรับผู้ป่วยจากโรคร้ายนี้ และที่สำคัญผู้ป่วยโรคเอดส์จำเป็นต้องเรียนรู้ถึงมาตรการใหม่ขององค์การการค้าโลกนี้และลุกขึ้นมาเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งใช้ประโยชน์จากมาตรการในเรื่อง TRIPS and Public Health นี้ด้วย โดยไม่ควรนั่งรอความหวังว่าจากรัฐบาลแต่เพียงฝ่ายเดียว

ในขณะเดียวกัน รัฐบาลจะต้องทำให้แสงสว่างซึ่งถือว่าเป็นบุญกุศลที่ยิ่งใหญ่นี้เกิดขึ้นให้ได้ โดยเร่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการในส่วนที่ดูแลรับผิดชอบโดยด่วน การนิ่งเฉยไม่ดำเนินการใดๆ จะถือเป็นการปล่อยให้ชีวิตมนุษย์ต้องตกตายไปซึ่งไม่ใช่วิถีของชาวพุทธและประเทศที่นับถือศาสนาพุทธเลยแม้แต่น้อย

 

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา I ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้

1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งย่อหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ
(กรณีตัวหนังสือสีจาง ให้เปลี่ยนสีเป็นสีเข้มในโปรแกรม Microsoft-word)

 

เรื่องของการเข้าถึงยาราคาถูกของประชาชนในโลกหรือ access to medicines และมาตรการบังคับใช้สิทธิหรือ Compulsory License ขององค์การการค้าโลก