H

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ

Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

เว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ทางเลือกเพื่อการศึกษาสำหรับสังคมไทย :

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 325 หัวเรื่อง
ศาลรัฐธรรมนูญกับรัฐธรรมนูญ

สมชาย ปรีชาศิลปกุล
สาขานิติศาสตร์ ภาควิชารัฐศาสตร์
คณะสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

(บทความนี้ยาวประมาณ 10 หน้า)
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะแก้ปัญหาได้

บทความของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน สามารถคัดลอกไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการได้ หากนำไปใช้ประโยชน์ กรุณาแจ้งให้ทราบที่

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com

221146
release date
R
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆของเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
Wisdom is the ability to use your experience and knowledge to make sensible decision and judgements

ศาลรัฐธรรมนูญ: พิทักษ์รัฐหรือรัฐธรรมนูญ
สมชาย ปรีชาศิลปกุล
สาขานิติศาสตร์ ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
(บทความนี้ยาวประมาณ 10 หน้ากระดาษ A4)

ข้อเขียนนี้เป็นคำบรรยายในการเสวนาทางวิชาการเรื่อง "รัฐธรรมนูญไทยในหล่มโคลน"
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 8 พฤศจิกายน 2546
ณ ห้องประชุมชั้น 4 อาคารอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
(มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ร่วมกับ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)


Constitution in books / Constitution in action
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ได้รับการขนานนามว่าเป็น "รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน" อันสืบเนื่องมาจากการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการร่างมากกว่ารัฐธรรมนูญฉบับอื่นในประวัติศาสตร์การเมืองไทย และเป็นผลให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีบทบัญญัติที่เป็นการรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนไว้อย่างกว้างขวาง

เช่น ม. 26 การใช้อำนาจขององค์กรรัฐทุกองค์กร ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์, ม. 30 รับรองความเสมอภาคของบุคคลและการได้รับความคุ้มครองอย่างเท่าเทียมกัน, ม. 46 สิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น

และนอกจากนี้ก็ยังได้มีการจัดตั้งองค์กรและกลไกต่างๆ เป็นจำนวนมากเพื่อทำหน้าที่ควบคุมตรวจสอบการใช้อำนาจขององค์กรรัฐให้มีความชอบด้วยกฎหมาย โปร่งใสและเป็นธรรม ดังการจัดตั้งคณะกรรมป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ, ศาลปกครอง, ผู้ตรวจการรัฐสภา, คณะกรรมการการเลือกตั้ง เป็นต้น

เพราะฉะนั้น หากวิเคราะห์ทั้งจากเจตนารมณ์และบทบัญญัติปรากฏขึ้น รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 นับได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาก้าวหน้าอย่างมาก ซึ่งก็ได้เป็นผลให้หลายประเทศได้มาทำการศึกษาถึงรัฐธรรมนูญของประเทศไทยเป็นกรณีศึกษา

อย่างไรก็ตาม คำถามที่สำคัญก็คือว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้มีผลในทางปฏิบัติหรือไม่ เพียงไร? เพราะในทัศนะของผู้เขียนเห็นว่า แม้จะมีเนื้อหาที่เลิศเลอประการใด แต่ผลในทางปฏิบัติก็ย่อมมีความหมายต่อสังคมการเมืองไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

ในบทความชิ้นจึงมิได้ศึกษารัฐธรรมนูญในเชิงการวิเคราะห์เนื้อหาแต่เพียงประการเดียว ดังที่ได้มีการทำกันอยู่อย่างแพร่หลายแล้ว หากจะนำเอากรอบความคิดสัจนิยมทางกฎหมายแบบอเมริกา (American Legal Realism) มาเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์

สัจนิยมทางกฎหมายแบบอเมริกา เสนอมุมมองว่า กฎหมายที่แท้จริงคือสิ่งที่ถูกปฏิบัติในความเป็นจริง (Law is as law does)
(ดูรายละเอียดของแนวความคิดสัจนิยมทางกฎหมายแบบอเมริกาใน สมชาย ปรีชาศิลปกุล, "สัจนิยมทางกฎหมายแบบอเมริกา", ใน วารสารนิติสังคมศาสตร์ ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 (2546) หน้า 1-27)

แนวความคิดนี้เชื่อว่า ระหว่างกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรกับกฎหมายที่จะถูกนำไปใช้บังคับในทางปฏิบัตินั้นอาจไม่ใช่สิ่งเดียวกัน โดยปฏิเสธความเชื่อแบบนิติศาสตร์เชิงกลไก (Mechanical Jurisprudence) ซึ่งมีพื้นฐานความเชื่อว่า เมื่อเกิดข้อพิพาททางกฎหมายใดๆขึ้น บทบัญญัติทั้งหลายก็จะถูกบังคับใช้อย่างตรงไปตรงมาโดยผู้มีอำนาจหน้าที่

แนวความคิดสัจนิยมทางกฎหมายแบบอเมริกา มุ่งศึกษาถึงคำวินิจฉัยขององค์กรตุลาการว่า ในการบังคับใช้ ได้มีการตีความบทบัญญัติของกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรให้มีผลเกิดขึ้นในทิศทางใด โดยผลที่เกิดขึ้นจากการวินิจฉัยอาจแตกต่างไปจากหลักที่ปรากฏในบทบัญญัติของกฎหมายได้ เนื่องจากไม่เชื่อว่าผู้พิพากษาคือบุคคลที่มีสภาวะความเป็นกลาง / ปราศจากอคติ / ความเชื่อ แต่มองว่าบรรดาผู้ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาล้วนแต่เป็นมนุษย์ธรรมดาๆ มิใช่อรหันต์ จึงย่อมประกอบด้วยอคติ ความเชื่อ อันเป็นผลมาจากบริบททางสังคม เช่น การศึกษา ศาสนา อุดมการณ์ทางการเมือง เป็นต้น คำวินิจฉัยของศาลจึงสะท้อนให้เห็นถึงความคิดที่มีดำรงอยู่และมีอิทธิพลต่อคำตัดสิน (Curzon, L.B., Jurisprudence (London: Cavendish Publishing, 1995) p. 184.)

ในการวิเคราะห์ถึงรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนผ่านแนวคิดสัจนิยมทางกฎหมาย จึงจะศึกษาถึงผลของรัฐธรรมนูญที่ถูกบังคับใช้ในความเป็นจริง โดยจะพิจารณาจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ เพราะเป็นองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการตี / แปลความให้รัฐธรรมนูญมีชีวิตหรือเป็นเพียงถ้อยคำที่ไร้ความหมาย

ศาลรัฐธรรมนูญของไทยมีแนวโน้มการทำให้รัฐธรรมนูญมีชีวิตจริงไปในทิศทางใด ?
บทความนี้ต้องการเสนอทิศทางการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญผ่านการศึกษาถึงคำพิพากษากลุ่มหนึ่ง เพื่อชี้ให้เห็นว่าในฐานะขององค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ควบคุมการใช้อำนาจรัฐให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญได้แสดงบทบาทไปในทิศทางใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนกับการตรวจสอบและควบคุมการใช้อำนาจของรัฐ

แนวโน้มรัฐบาลนิยมของศาลรัฐธรรมนูญ
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่จะหยิบยกมาทำการวินิจฉัย เพื่อชี้ให้เห็นแนวโน้มการตัดสินมีดังต่อไปนี้

กรณีที่ 1 คำวินิจฉัยที่ 11/2542 กรณีหนังสือแสดงเจตจำนง (Letter of Intent) กู้ยืมเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)
กรณีหนังสือแสดงเจตจำนงของรัฐบาลที่ยื่นต่อ IMF ได้เกิดเป็นประเด็นข้อถกเถียงว่าหนังสือแสดงเจตจำนงนี้เป็นสนธิสัญญาหรือไม่ตาม ม. 224 แห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะหากเข้าลักษณะของหนังสือสัญญาก็จะต้องให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบ หากไม่เป็นสนธิสัญญาฝ่ายบริหารก็สามารถดำเนินการได้ด้วยตนเอง

ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาและลงความเห็นว่า หนังสือฉบับนี้มิใช่สนธิสัญญาตามรัฐธรรมนูญ เมื่อพิจารณาจากลักษณะของการจัดทำที่รัฐบาลไทยเป็นดำเนินการฝ่ายเดียวในทางนิตินัย และรวมถึงกระบวนการจัดทำที่มิใช่มีการทำสัญญาของสองฝ่าย หนังสือแสดงเจตจำนงจึงมิใช่สนธิสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา

โดยที่อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่า หนังสือนี้มีลักษณะเป็นสนธิสัญญาเมื่อพิเคราะห์ถึงกระบวนการการจัดทำและการมีผลบังคับใช้ในทางปฏิบัติจริง ที่รัฐบาลไทยจำเป็นต้องยอมรับเงื่อนไขจาก IMF และต้องปฏิบัติตาม มิฉะนั้นอาจถูกยกเลิกการให้เงินกู้ยืมในงวดต่อไป ภายใต้สถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจทำให้รัฐบาลไทยต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขอย่างไม่อาจขัดขืน แม้ว่าจะไม่ใช่ชื่อว่าสนธิสัญญาก็ตาม

ผลของการวินิจฉัยในทิศทางเช่นนี้ ทำให้หนังสือแสดงเจตจำนงไม่จำเป็นต้องผ่านการให้ความเห็นชอบจากรัฐสภา ซึ่งได้ก่อให้เกิดการตั้งคำถามว่าองค์กรใดจะเป็นผู้ควบคุมและตรวจสอบถึงนโยบายดังกล่าวได้ ในเมื่อหนังสือแสดงเจตจำนงที่ได้สร้างภาระแก่คนไทยทั้งปวงในการใช้คืนเงินกู้

เมื่อรัฐบาลสามารถกระทำได้โดยไม่ต้องผ่านการตรวจสอบจากรัฐสภา คำวินิจฉัยดังกล่าวจึงเป็นการให้อำนาจอย่างมากในการตัดสินใจแก่ฝ่ายบริหาร ในการดำเนินนโยบายที่อยู่ภายใต้การกำกับขององค์กรโลกบาล

กรณีที่ 2 คำวินิจฉัยที่ 59/2545 กรณีร่าง พ.ร.บ. แร่ ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
โดยร่าง พ.ร.บ. แร่ ได้มีเนื้อหากำหนดให้การทำเหมืองแร่ใต้ดินผ่านที่ดินที่มีความลึกเกินกว่า 100 เมตรลงไป ให้ผู้ขอสัมปทานจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องสามารถกระทำได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้มีสิทธิในที่ดินนั้นก่อน และร่างกฎหมายนี้ได้ถูกโต้แย้งว่าเป็นบทบัญญัติที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญตาม ม. 46, 48, 56 ที่อาจกระทบถึงสิทธิของเจ้าของสิทธิเหนือที่ดินที่ได้มีการทำเหมืองแร่ สิทธิของชุมชนในการจัดการทรัพยากร และรวมถึงสิทธิร่วมกับรัฐในการดูแลรักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากร

ตัวแทนจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ให้ความเห็นว่าร่างกฎหมายนี้ อาจมีผลเป็นการตัดสิทธิของบุคคลในกรณีที่บุคคลนั้นมีความรู้และกำลังทุนเพียงพอในการทำเหมืองแร่ใต้ดินด้วยตนเอง อันเป็นเสียประโยชน์ในทรัพยากรภายใต้ที่ดินที่ตนเองมีสิทธิอยู่ นอกจากนี้ในต่างประเทศก็ถือว่าแร่เป็นของเจ้าของที่ดิน เพียงแต่การทำประโยชน์ต้องได้รับการอนุญาตจากรัฐ แต่พิจารณาตามร่าง พ.ร.บ.นี้จะทำให้เจ้าของที่ดินไม่มีสิทธิดังกล่าว

แต่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีความเห็นว่าร่าง พ.ร.บ. แร่ ไม่มีเนื้อหาขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด เท่ากับทำให้ทรัพยากรแร่ภายใต้ผืนดินนั้นตกไปเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐแม้ว่าจะไม่ได้เป็นการบัญญัติไว้อย่างชัดเจนก็ตาม

กรณีที่ 3 คำวินิจฉัยที่ 14/2546 กรณีพระราชกำหนดภาษีสรรพสามิตกิจการโทรคมนาคม
รัฐบาลได้ออกพระราชกำหนดโดยอาศัยอำนาจตาม ม. 218 ที่กำหนดให้รัฐบาลสามารถออกพระราชกำหนดได้ในกรณี "ฉุกเฉินที่มีความจำเป็นเร่งด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้" อำนาจในการออกพระราชกำหนดนั้น รัฐธรรมนูญได้เปิดช่องให้ฝ่ายบริหารสามารถตรากฎหมายขึ้นใช้บังคับได้ เนื่องจากในบางครั้งอาจมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องตรากฎหมายขึ้นใช้ เพราะหากต้องดำเนินไปตามขั้นตอนปกติของฝ่ายนิติบัญญัติ ก็อาจไม่ทันการทำให้เกิดความเสียหายขึ้น

แต่การตรากฎหมายนี้ ก็ต้องเป็นไปโดยมีความจำเป็นที่ชัดเจนเป็นเหตุผลรองรับอยู่ เพราะพระราชกำหนดตราขึ้นโดยอาศัยอำนาจของฝ่ายบริหาร โดยไม่ผ่านการตรวจสอบจากองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติ การวินิจฉัยถึงความสมบูรณ์ของพระราชกำหนดตามรัฐธรรมนูญ จึงต้องคำนึงถึงเหตุผลนี้เป็นสำคัญในการพิจารณา

ในกรณีพระราชกำหนดภาษีสรรพสามิตกิจการโทรคมนาคม ศาลรัฐธรรมนูญมีมติว่าการออกพระราชกำหนดดังกล่าวไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุผลว่า การเก็บภาษีดังกล่าวมีผลทำให้รายได้ของรัฐเพิ่มขึ้น ทำให้มีงบประมาณในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ แม้ว่านักวิชาการทางด้านเศรษฐศาสตร์จากหลายสถาบันได้โต้แย้งว่า การออกพระราชกำหนดฉบับนี้ไม่มีเหตุผลทางด้านความมั่นคงทางเศรษฐกิจถึงขั้นจำเป็นเร่งด่วน

ปราณี ทินกร จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้เหตุผลว่า ในช่วงระยะ 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ประกาศข้อมูลทางเศรษฐกิจที่สวยหรูมาโดยตลอด ทั้งตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ การจ้างงาน ภาวะเงินเฟ้อ การส่งออก เงินสำรองระหว่างประเทศ ดังนั้นการออกพระราชกำหนดภาษีสรรพสามิตกิจการโทรคมนาคมจึงไม่มีความจำเป็นแร่งด่วนแต่อย่างใด (มติชนรายวัน 15 พฤษภาคม 2546, หน้า 6)

หากยึดเอาการแสวงหารายได้เป็นบรรทัดฐานในการประเมินถึงความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ คงยากที่จะมีกฎหมายใดที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษีจะถูกวินิจฉัยว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับที่หยิบยกมาพิจารณาเป็นส่วนหนึ่งของคำวินิจฉัยจำนวนมาก และอีกทั้งในแต่ละคำวินิจฉัยก็มีประเด็นรายละเอียดมากมายที่ต้องให้ความสำคัญ อย่างไรก็ตาม จากการพิเคราะห์ถึงคำวินิจฉัยเท่าที่ได้หยิบยกขึ้นมา ประเด็นสำคัญร่วมกันของคำวินิจฉัยเหล่านี้ก็คือ การตรวจสอบถึงการใช้อำนาจรัฐว่า มีขอบเขตที่ได้รับการรับรองจากศาลรัฐธรรมนูญมากเพียงใด

เห็นได้ว่าแนวโน้ม และทิศทางในการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นไปในทิศทางที่รับรองและสนับสนุนการใช้อำนาจขององค์กรรัฐ มากกว่าที่จะควบคุมหรือจำกัดการใช้อำนาจขององค์กรรัฐ

ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่เป็นประเด็นขัดแย้งระหว่างสิทธิเสรีภาพของประชาชน กับขอบเขตอำนาจรัฐ หรือในประเด็นที่มีกรอบรัฐธรรมนูญกำหนดหน้าที่ของรัฐไว้ แต่อำนาจหน้าที่ดังกล่าวก็อาจได้รับการวินิจฉัยให้ขยายออก และนำมาซึ่งคำถามต่อเหตุผลในการวินิจฉัย ดังตัวอย่าง คำวินิจฉัยในกรณีพระราชกำหนดสรรพสามิตกิจการโทรคมนาคม เป็นต้น

แต่ควรกล่าวไว้ด้วยว่า การสนับสนุนอำนาจรัฐเป็นการให้การรับรองแก่ฝ่ายบริหารมากกว่าองค์กรของรัฐประเภทอื่น ดังในกรณีที่เป็นการใช้อำนาจขององค์กรรัฐอื่นๆ เฉพาะอย่างยิ่งกับองค์กรอิสระ ศาลรัฐธรรมนูญมีแนวโน้มจะเข้าไปจำกัดการใช้อำนาจขององค์กรเหล่านั้น

เช่น เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง ขอคำวินิจฉัยเรื่องการเสียสิทธิของบุคคลที่ไม่ไปเลือกตั้ง ศาลรัฐธรรมนูญได้จำกัดอำนาจขององค์กรอิสระว่า การจำกัดเสรีภาพของประชาชนจะกระทำได้โดยกฎหมายเท่านั้น (คำวินิจฉัยที่ 15/2541) และในการออกระเบียบเพื่อจำกัดสิทธิของบุคคลในการรับสมัครเลือกตั้งโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ศาลเห็นว่าเป็นการกระทำที่รัฐธรรมนูญไม่ได้ให้อำนาจไว้ คณะกรรมการการเลือกตั้งจึงกระทำมิได้ (คำวินิจฉัยที่ 24/2543)

เพราะฉะนั้นจึงสามารถกล่าวได้ว่า แนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจากคำวินิจฉัยที่หยิบยกมามีแนวโน้มจะเดินไปในแนวทางรัฐนิยม หรือหากกล่าวอย่างตรงไปตรงมาก็คือ ศาลรัฐธรรมนูญมีแนวโน้มจะเป็นองค์กรที่สนับสนุนการกระทำของฝ่ายบริหาร หรือเป็นกลุ่ม "รัฐบาลนิยม" ในการวินิจฉัยข้อพิพาทต่างๆ

แนวโน้มแบบอนุรักษ์นิยมของศาลรัฐธรรมนูญ
นอกจากแนวโน้มแบบรัฐนิยมแล้ว ลักษณะอีกประการหนึ่งที่ปรากฏให้เห็นในการบังคับใช้รัฐธรรมนูญขององค์กรนี้ก็คือ เป็นการวินิจฉัยที่โน้มเอียงในทางอนุรักษ์นิยม ซึ่งเป็นผลให้มีการใช้รัฐธรรมนูญไปในทางจำกัดขอบเขตสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้แคบลง

ดังมีตัวอย่างคำวินิจฉัยที่สะท้อนถึงอิทธิพลของแสความคิดแบบอนุรักษ์นิยม ที่มีอยู่ในศาลรัฐธรรมนูญ ดังนี้

กรณีที่ 1 คำวินิจฉัยที่ 16/2545 กรณีคนพิการถูกตัดสิทธิการสมัครสอบคัดเลือกเป็นข้าราชการตุลาการ
คดีนี้มีทนายความ 2 คนซึ่งเป็นโรคโปลิโอได้ไปสมัครสอบคัดเลือกเป็นข้าราชการตุลาการ แต่ได้ถูกตัดสิทธิด้วยเหตุผลว่า ไม่มีความเหมาะสมตามระเบียบข้าราชการตุลาการ และที่ประชุมคณะกรรมการตุลาการ (กต.) ก็ได้ให้ความเห็นชอบ ผู้สมัครทั้งสองจึงได้ร้องเรียนต่อผู้ตรวจการรัฐสภาและมาสู่การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

เหตุผลสำคัญของทนายความพิการทั้งสองก็คือ เห็นว่าการใช้อำนาจของ กต. ในการตัดสิทธิตนตาม พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการตุลาการ ซึ่งกำหนดว่า บุคคลผู้สมัครสอบคัดเลือกต้องไม่มีลักษณะบางประการคือ ไม่เป็นคนไร้ความสามารถหรือ มีกาย มีจิตใจไม่เหมาะสมที่จะเป็นข้าราชการตุลาการ

กฎหมายดังกล่าวขัดต่อหลักความเสมอภาคตามรัฐธรรมนูญที่ได้รับการบัญญัติไว้ใน ม.30 ว่า "บุคคลย่อมเสมอภาคกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน" และในวรรค 3 "การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล เพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด ….สภาพทางกายหรือจิต…. จะกระทำมิได้"

ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยด้วยคะแนนเสียง 8 ต่อ 3 ว่า พ.ร.บ. ดังกล่าวไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญโดยมีเหตุผลสำคัญคือ

1) รัฐธรรมนูญ ม. 29 ให้อำนาจการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลสามารถกระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะ บทบัญญัติของ พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการตุลาการ ที่กำหนดให้ผู้สมัครต้องผ่านการการตรวจร่างกายว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ จึงเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในเรื่องการจำกัดสิทธิเสรีภาพ ดังนั้นจึงไม่เป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมแต่อย่างใด

2) ศาลรัฐธรรมนูญได้ยอมรับเหตุแห่งความจำเป็นและเหมาะสม ในการจำกัดสิทธิของผู้สมัครว่า ความพิการอาจเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษา เนื่องจากอาจต้องมีการเดินเผชิญสืบนอกสถานที่ในบางครั้ง

3) นอกจากนี้ยังให้เหตุผลถึงความเหมาะสมในการเป็นผู้พิพากษาที่ต้องมีบุคลิกลักษณะที่ดี เนื่องจากเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติ และปฏิบัติหน้าที่ในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์

คำวินิจฉัยกรณีคนพิการ มีผลอย่างสำคัญต่อการสั่นคลอนหลักความเสมอภาคที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แม้ว่าจะมีบทบัญญัติที่เปิดให้มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ แต่ทั้งนี้ก็ต้องเป็นไปโดย "เท่าที่จำเป็นเท่านั้น และกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพมิได้" (ม. 29)

มาตรา 29 เป็นบทบัญญัติที่มีลักษณะเป็นข้อยกเว้น การจะตีความจึงต้องเป็นไปอย่างเคร่งครัดเพราะหากตีความในลักษณะที่กว้างก็จะทำให้บทบัญญัติต่างๆ ที่มีเนื้อหาขัดต่อหลักความเสมอภาคสามารถใช้บังคับได้ การดำรงอยู่ของหลักความเสมอภาคในรัฐธรรมนูญก็จะแปรสภาพไปเป็นเพียงถ้อยคำในกระดาษที่ปราศจากความหมายใดๆ

ผู้เขียนเห็นด้วยกับ จรัญ โฆษณานันท์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งได้ให้เหตุผลต่างไปจากคำวินิจฉัยของศาลในกรณีว่า ควรจะต้องพิจารณาถึง "เนื้องานที่สำคัญจำเป็น (Essential Function) ในการตัดสินคดีซึ่งเป็นเรื่องของการใช้ความรู้ความสามารถ ตลอดจนคุณธรรมในตัวบุคคลเป็นสำคัญ" (จรัญ โฆษณานันท์, "ความพิการของกฎหมายและผู้บังคับใช้กฎหมายกรณีสองทนายความโปลิโอ", วารสารนิติสังคมศาสตร์, อ้างแล้ว, หน้า 33)

แต่ก็ไม่ได้มีการพิจารณาถึงประเด็นดังกล่าวว่า คนพิการจะหย่อนความสามารถในการวินิจฉัยคดีอย่างไร หากหยิบเอาเหตุผลอื่นๆ มาประกอบคำวินิจฉัยซึ่งก็ล้วนแต่มีคำโต้แย้งได้ เช่น การเดินเผชิญสืบโดยศาลมิใช่สิ่งที่กระทำบ่อยครั้ง และถึงมี ก็อาจมิใช่เรื่องที่เป็นอุปสรรคมากแต่อย่างใด ในเมื่อทั้ง 2 ได้ประกอบวิชาชีพทนายมาก่อน อันเป็นวิชาชีพที่ก็ต้องเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ไม่น้อยไปกว่าตุลาการแต่อย่างใด

ยิ่งกับเหตุผลเรื่องผู้พิพากษาต้องมีบุคลิกที่ดีแล้ว ยิ่งนับว่าเป็นการสับสนถึงความหมายของบุคลิกที่ดีกับการมีร่างกายสมประกอบครบ 32 ประการอย่างยิ่ง

กรณีที่ 2 คำวินิจฉัยที่ 62/2545 กรณีพิพาทเรื่องท่อก๊าซไทย-พม่า
การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) ได้ดำเนินโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติ จากแหล่งยานาดาในประเทศพม่าเข้ามาในประเทศไทยผ่านทางจังหวัดกาญจนบุรี และได้เกิดการคัดค้านการดำเนินโครงการเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง สุลักษณ์ ศิวลักษ์ หนึ่งในบรรดาผู้คัดค้านได้เข้าไปในพื้นที่ที่ดำเนินโครงการเพื่อแสดงการไม่เห็นด้วยต่อโครงการนี้ ซึ่งต่อมาได้ถูกดำเนินคดีในข้อหาร่วมกันขัดขวางการกระทำของ ปตท.

สุลักษณ์ ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาและโต้แย้งว่าโครงการท่อก๊าซไทย-พม่า ดำเนินไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ยังให้เหตุผลของการเข้าไปในพื้นที่ว่าเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ต่อมาข้อโต้แย้งนี้ได้ถูกส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญทำการวินิจฉัย

ประเด็นข้อโต้แย้งในคดีมี 2 ประเด็นสำคัญคือ
ประเด็นแรก การดำเนินโครงการท่อก๊าซของ ปตท. เป็นการกระทำตาม พ.ร.บ. การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2521 ซึ่งมีบทบัญญัติบางข้อที่ถูกโต้แย้งว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ และ

ประเด็นที่สอง โครงการได้ส่งผลกระทบ ซึ่งขัดต่อสิทธิของประชาชนที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่

ในที่นี้จะมุ่งพิจารณาประเด็นหลัง อันเป็นการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวพันในประเด็นสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยตรง คือสิทธิในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ม. 44 และสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติตาม ม. 46

1) สิทธิในการชุมนุมโดยสงบ สุลักษณ์ ได้ให้เหตุผลในการเข้าไปในพื้นที่ที่มีการก่อสร้างท่อก๊าซว่าเป็นการกระทำด้วยเจตนาอันสุจริตอย่างสงบ เปิดเผยและปราศจากอาวุธ ตามสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทยอันพึงมีตามรัฐธรรมนูญ

ในการพิจารณาประเด็นเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายในเรื่องสิทธิในการชุมนุมโดยสงบว่า มีขอบเขตเพียงใด ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณามีความเห็นว่า

"สำหรับการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ที่จำเลยจะได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ม. 44 นั้น จำเลยจะได้รับความคุ้มครองต่อเมื่อจำเลยมิได้ละเมิดต่อกฎหมายหรือละเมิดสิทธิอันพึงมีโดยชอบด้วยกฎหมายของบุคคลอื่น เพื่อการแสดงเสรีภาพเช่นว่านั้น หากเป็นกรณีที่บุคคลผู้กล่าวอ้างเสรีภาพนั้น เป็นผู้ก่อให้เกิดการกระทำอันกฎหมายบัญญัติว่า เป็นความผิดหรือเป็นการละเมิดเสรีภาพตามกฎหมายของบุคคลอื่นแล้ว บุคคลนั้นไม่อาจกล่าวอ้างว่าการชุมนุมของตนเป็นการใช้เสรีภาพโดยชอบด้วยกฎหมาย"

การตีความดังกล่าวแม้จะเป็นไปเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ที่มีตามกฎหมายไม่ให้ถูกล่วงละเมิด แต่ในขณะเดียวกันก็เกิดคำถามว่า ถ้าเช่นนั้นการชุมนุมโดยสงบที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญจะเกิดขึ้นได้อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การชุมนุมในที่สาธารณะซึ่งปัจจุบันมีกฎหมายเป็นจำนวนมากควบคุมกิจกรรมหรือการกระทำต่างๆ ในสถานที่นั้น จนแทบไม่มีกิจกรรมใดที่ไม่กระทบต่อกฎหมายเลย ดังแม้การทิ้งขยะลงบนทางเท้าก็มีความผิด ยิ่งไม่ต้องกล่าวการชุมนุมที่อาจผิดต่อกฎหมายว่าด้วยการจราจร กฎหมายว่าด้วยความสะอาด ดังที่ชาวบ้านปากมูลได้เผชิญในการชุมนุมครั้งล่าสุดที่มีการนำกฎหมายว่าด้วยความสะอาดมาบังคับใช้เหนือกว่าสิทธิตามรัฐธรรมนูญ

ถ้าเป็นเช่นนี้แล้ว ก็ชวนให้เกิดความสงสัยว่าสิทธิการชุมนุมโดยสงบ เปิดเผยที่ไม่ขัดต่อกฎหมายจะสามารถเกิดขึ้นในประเทศไทยได้จริงหรือ

2) สิทธิชุมชน ประเด็นเรื่องสิทธิชุมชน ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้วินิจฉัยว่าอำนาจของ ปตท. กระทบถึงสิ่งที่เป็นเนื้อหาสำคัญของสิทธิชุมชนหรือไม่ หากเพียงวินิจฉัยไปในทิศทางว่า เมื่อยังไม่มีกฎหมายบัญญัติมารองรับสิทธิที่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ การดำเนินงานของ ปตท. ในการเข้าไปในพื้นที่ตาม พ.ร.บ. ปิโตรเลียมฯ จึงเป็นไปโดยชอบ อันมีการตีความว่าสิทธิชุมชนตาม ม. 46 นั้นตราบเท่าที่ยังไม่มีกฎหมายรองรับก็ยังไม่อาจบังคับใช้สิทธิได้

การตีความเช่นนี้ย่อมทำให้เกิดคำถามขึ้นว่า บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญมีฐานะเป็นกฎหมายสูงสุดจริงหรือ

ผู้เขียนคิดว่าแนวทางการวินิจฉัยที่จะรับรองสิทธิตามรัฐธรรมนูญต่อเมื่อมีพระราชบัญญัติรองรับนั้น เป็นการตีความที่ทำให้รัฐธรรมนูญเล็กกว่ากฎหมายอื่นๆ เพราะถ้าหากยึดถือว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดเหนือกฎหมายอื่นใด หากยังไม่มีกฎหมายอื่นมารองรับก็ต้องถือว่าสิทธิดังกล่าวได้เกิดขึ้นแล้วและสามารถมีผลบังคับใช้ได้

นอกจากนี้การให้เหตุผลว่าเมื่อ ปตท. ได้บอกกล่าวล่วงหน้าและเปิดโอกาสให้เอกชนยื่นคัดค้านได้ ก็นับว่าเป็นการให้เหตุผลในประเด็นที่ไม่ตรงกับประเด็นเรื่องสิทธิชุมชน เพราะเหตุผลของศาลรัฐธรรมนูญเป็นการพิจารณาถึงสิทธิของเอกชนแต่ละราย และยังเป็นการจำกัดไว้ในเรื่องค่าชดใช้ ค่าเสียหายจากการดำเนินการของ ปตท. เป็นสำคัญ มิใช่เป็นเรื่องของสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติแต่อย่างใด อันมีความหมายถึงอำนาจในการกำหนดชะตากรรมของตนเองและชุมชนเหนือทรัพยากรในท้องถิ่น

ประเด็นเรื่องสิทธิชุมชนได้ถูกวินิจฉัยชัดเจนขึ้นในคำวินิจฉัยภายหลังต่อมา ซึ่งจะได้พิจารณากันต่อไป

กรณีที่ 3 คำวินิจฉัยที่ 6/2546 คำวินิจฉัยเรื่อง พ.ร.บ.สุราขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
ประเด็นหนึ่งที่ผู้ร้องหยิบยกขึ้นมาโต้แย้งในคดีนี้ก็คือ การทำสุราพื้นบ้านสามารถกระทำได้หรือไม่ เนื่องจาก พ.ร.บ. สุรา พ.ศ. 2493 ม. 5 กำหนดให้การทำสุราหรือมีภาชนะหรือเครื่องกลั่นสำหรับทำสุราไว้ในครอบครอง จะต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมสรรพสามิต ซึ่งผู้ร้องเห็นว่าบทบัญญัติตามมาตรานี้ขัดหรือแย้งต่อ ม. 46 ของรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญให้สิทธิเกษตรกรที่รวมตัวกันเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม มีสิทธิในการอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งการทำสุราพื้นบ้านเป็นการทำจากผลิตผลทางการเกษตร อีกทั้งเป็นการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น

ศาลรัฐธรรมนูญแล้วเห็นว่ารัฐธรรมนูญ ม. 46 มีเจตนารมณ์ให้ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมมีสิทธิอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องให้ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมมีสิทธิอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ฯลฯ ตามที่ได้บัญญัติไว้ "แต่สิทธิตามที่กล่าว จะต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติด้วย ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายเรื่องสิทธิของบุคคลซึ่งรวมกันเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมบัญญัติไว้ การที่ พ.ร.บ.สุรา พ.ศ. 2493 บัญญัติให้การทำสุราหรือมีภาชนะหรือเครื่องกลั่นสำหรับทำสุราไว้ในครอบครอง จะต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมสรรพสามิตนั้น เป็นเรื่องที่กฎหมายกำหนดให้บุคคลต้องปฏิบัติตามกฎหมายให้เป็นไปตามเงื่อนไข ดังนั้น พ.ร.บ.สุรา พ.ศ. 2493 ม. 5 จึงไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ม. 46"

พิทักษ์รัฐธรรมนูญจากศาลรัฐธรรมนูญ
จากประเด็นที่กล่าวมาทั้งหมดจึงสะท้อนภาพของรัฐธรรมนูญที่แม้จะมีบทบัญญัติรับรองสิทธิเสรีภาพประชาชนอย่างกว้างขวางเป็นลายลักษณ์อักษร แต่เมื่อผ่านการตีความ/บังคับใช้จากศาลรัฐธรรมนูญ ดูเหมือนว่าสิทธิเสรีภาพเหล่านั้น ถูกขีดวงให้แคบลงจนแทบไม่เพียงพอเป็นที่ยืนแก่ประชาชน ปรากฏการณ์นี้ก็ได้เกิดควบคู่ไปกับการรับรองอำนาจรัฐที่ถูกตีความให้ขยายออกกว้าง ฉะนั้น เมื่อผ่านการตีความ/บังคับใช้แล้ว รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนในด้านเนื้อหามีแนวโน้มจะแปรสภาพไปเป็นรัฐธรรมนูญฉบับอำนาจ/อนุรักษ์นิยมในทางปฏิบัติจริงแทน

ปัญหาประการหนึ่งของการดำรงอยู่ของรัฐธรรมนูญในสังคมไทย จึงไม่ใช่เพียงการสร้างหรือออกแบบรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร ให้มีบทบัญญัติที่มีเนื้อหาสวยหรูทั้งในด้านการรับรองสิทธิเสรีภาพ หรือการตรวจสอบอำนาจรัฐอย่างเข้มงวดเท่านั้น บทบาทขององค์กรที่มีหน้าที่ในการตีความรัฐธรรมนูญให้เกิดผลบังคับใช้ขึ้นจริงก็มีความสำคัญต่อการทำให้รัฐธรรมนูญมี "ชีวิต"

แต่ดังที่ได้พิจารณาแล้วจะเห็นได้ว่าการปล่อยให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินข้อพิพาทต่างๆ กลับทำให้เกิดแนวโน้มที่การใช้อำนาจดังกล่าว มุ่งไปในทิศทางที่อาจขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

จึงจำเป็นที่สังคมต้องสะท้อน/วิพากษ์วิจารณ์ ถึงการบังคับใช้รัฐธรรมนูญที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทย ด้วยกระบวนการเช่นนี้เท่านั้นที่จะทำให้ศาลรัฐธรรมนูญไม่กลายไปเป็นผู้พิทักษ์รัฐ หากแต่จะเป็นผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญแทน

 

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา I ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้

1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งย่อหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ
(กรณีตัวหนังสือสีจาง ให้เปลี่ยนสีเป็นสีเข้มในโปรแกรม Microsoft-word)

 

บทความจากวิทยากรรับเชิญ ในโครงการ"รัฐธรรมนุญไทยในหล่มโคลน"จัดโดยม.เที่ยงคืน และรัฐศาสตร์ มธ.

ภาพประกอบดัดแปลง เพื่อใช้ประกอบบทความวิชาการบนเว็ป มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน :

สัจนิยมทางกฎหมายแบบอเมริกา เสนอมุมมองว่า กฎหมายที่แท้จริงคือสิ่งที่ถูกปฏิบัติในความเป็นจริง (Law is as law does) (2546) แนวความคิดนี้เชื่อว่า ระหว่างกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรกับกฎหมายที่จะถูกนำไปใช้บังคับในทางปฏิบัตินั้นอาจไม่ใช่สิ่งเดียวกัน โดยปฏิเสธความเชื่อแบบนิติศาสตร์เชิงกลไก (Mechanical Jurisprudence) ซึ่งมีพื้นฐานความเชื่อว่า เมื่อเกิดข้อพิพาททางกฎหมายใดๆขึ้น บทบัญญัติทั้งหลายก็จะถูกบังคับใช้อย่างตรงไปตรงมาโดยผู้มีอำนาจหน้าที่

ประเด็นเรื่องสิทธิชุมชน ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้วินิจฉัยว่าอำนาจของ ปตท. กระทบถึงสิ่งที่เป็นเนื้อหาสำคัญของสิทธิชุมชนหรือไม่ หากเพียงวินิจฉัยไปในทิศทางว่า เมื่อยังไม่มีกฎหมายบัญญัติมารองรับสิทธิที่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ การดำเนินงานของ ปตท. ในการเข้าไปในพื้นที่ตาม พ.ร.บ. ปิโตรเลียมฯ จึงเป็นไปโดยชอบ อันมีการตีความว่าสิทธิชุมชนตาม ม. 46 นั้นตราบเท่าที่ยังไม่มีกฎหมายรองรับก็ยังไม่อาจบังคับใช้สิทธิได้
การตีความเช่นนี้ย่อมทำให้เกิดคำถามขึ้นว่า บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญมีฐานะเป็นกฎหมายสูงสุดจริงหรือ ผู้เขียนคิดว่าแนวทางการวินิจฉัยที่จะรับรองสิทธิตามรัฐธรรมนูญต่อเมื่อมีพระราชบัญญัติรองรับนั้น เป็นการตีความที่ทำให้รัฐธรรมนูญเล็กกว่ากฎหมายอื่นๆ เพราะถ้าหากยึดถือว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดเหนือกฎหมายอื่นใด หากยังไม่มีกฎหมายอื่นมารองรับก็ต้องถือว่าสิทธิดังกล่าวได้เกิดขึ้นแล้วและสามารถมีผลบังคับใช้ได้ (ข้อความคัดลอกมาบางส่วน จากบทความ :
สมชาย ปรีชาศิลปกุล / มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
ปัญหาประการหนึ่งของการดำรงอยู่ของรัฐธรรมนูญในสังคมไทย จึงไม่ใช่เพียงการสร้างหรือออกแบบรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร ให้มีบทบัญญัติที่มีเนื้อหาสวยหรูทั้งในด้านการรับรองสิทธิเสรีภาพ หรือการตรวจสอบอำนาจรัฐอย่างเข้มงวดเท่านั้น บทบาทขององค์กรที่มีหน้าที่ในการตีความรัฐธรรมนูญให้เกิดผลบังคับใช้ขึ้นจริงก็มีความสำคัญต่อการทำให้รัฐธรรมนูญมี "ชีวิต" แต่ดังที่ได้พิจารณาแล้วจะเห็นได้ว่าการปล่อยให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินข้อพิพาทต่างๆ กลับทำให้เกิดแนวโน้มที่การใช้อำนาจดังกล่าว มุ่งไปในทิศทางที่อาจขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
การชุมนุมโดยสงบที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญจะเกิดขึ้นได้อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การชุมนุมในที่สาธารณะซึ่งปัจจุบันมีกฎหมายเป็นจำนวนมากควบคุมกิจกรรมหรือการกระทำต่างๆ ในสถานที่นั้น จนแทบไม่มีกิจกรรมใดที่ไม่กระทบต่อกฎหมายเลย ดังแม้การทิ้งขยะลงบนทางเท้าก็มีความผิด ยิ่งไม่ต้องกล่าวการชุมนุมที่อาจผิดต่อกฎหมายว่าด้วยการจราจร กฎหมายว่าด้วยความสะอาด ดังที่ชาวบ้านปากมูลได้เผชิญในการชุมนุมครั้งล่าสุดที่มีการนำกฎหมายว่าด้วยความสะอาดมาบังคับใช้