H

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ


Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

สนใจสมัครเป็นสมาชิก
กรุณาคลิก member page
ส่วนผู้ที่ต้องการดูหัวข้อบทความ
ทั้งหมด ที่มีบริการอยู่ขณะนี้
กรุณาคลิกที่ contents page
และผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น
หรือประกาศข่าว
กรุณาคลิกที่ปุ่ม webboard
ข้างล่างของบทความชิ้นนี้

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com


เว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ทางเลือกเพื่อการศึกษาสำหรับสังคมไทย :

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 335 หัวเรื่อง
รวบรวมบทความ ว่าด้วย
" วาทกรรมความยากจน"
ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

(บทความนี้ยาวประมาณ 24 หน้า)
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะแก้ปัญหาได้

บทความของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน สามารถคัดลอกไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการได้ หากนำไปใช้ประโยชน์ กรุณาแจ้งให้ทราบที่

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com

201246
release date
R
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆของเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
Wisdom is the ability to use your experience and knowledge to make sensible decision and judgements

บทความเกี่ยวกับความยากจนในสังคมไทย
หลากหลายมิติของความยากจน


นิธิ เอียวศรีวงศ์
(มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน-รวบรวมบทความจากสิ่งพิมพ์)
(บทความนี้ยาวประมาณ 24 หน้ากระดาษ A4)
เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๔๖


หมายเหตุ: หลากหลายมิติของความยากจน เป็นผลงานของ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ซึ่งได้เขียนขึ้นให้กับหนังสือพิมพ์มติชน และมติชนรายสัปดาห์ ทางกองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เห็นว่าความคิดที่นำเสนอในบทความเหล่านี้มีคุณค่าสำหรับสังคมไทย จึงได้รวบรวมขึ้นเพื่อเป็นแนวทางยุทธศาสตรอแก้ปัญหาความยากจนในส่วนของภาคประชาชน นำเสนอต่อทุกท่านที่สนใจ ดังนี้

1. คําอธิบาย (ว่าด้วยความยากจนทางสติปัญญา)
2. สำนึกทางสังคม (สำนึกทางสังคมของคนจน เปรียบเทียบกับของชนชั้นกลาง)
3. รัฐทิ้งเวทีความชอบธรรม (รัฐกับการใช้ความรุนแรงกับคนจน - ความรุนแรงในการดำเนินนโยบาย - ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง)
4. วัฒนธรรมเงินตรา (สังคมที่ใช้เงินเป็นตัวชี้ความยากจน)
5. การแปรสินทรัพย์เป็นทุน: ข้อค้านและติง
6. พื้นที่สาธารณะในสังคมไทย
7. ประชาธิปไตยกับคนจน
8. ขึ้นทะเบียนคนจน

1. คําอธิบาย (ว่าด้วยความยากจนทางสติปัญญา)
คําอธิบายเป็นทั้งอำนาจและความไร้อำนาจไปพร้อมกัน

ถ้าอธิบายได้ดี มีเหตุผลข้อมูล นำไปสู่ข้อสรุปทีเป็นเหตุเป็นผล ปฏิบัติได้และเป็นธรรม ก็ทำให้คนอื่นเชื่อถือปฏิบัติตาม นับเป็นอำนาจโดยตรงทีเดียว

แต่เพราะต้องอธิบายก็แสดงอยู่แล้วว่าอำนาจนั้นไม่ใช่ของตัว หรือตัวไร้อำนาจโดยสิ้นเชิง เหมือนเด็กขอเงินผู้ใหญ่ก็ต้องมาพร้อมคำอธิบายที่น่าเชื่อถือว่าควรได้เงินเพราะอะไร

ผมรำพึงถึงความข้อนี้เมื่อรำลึกถึง "มติ" ของวุฒิสภาในระยะ 3-4 เดือนที่ผ่านมา (บทความนี้เขียนเมื่อ วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2545)
ส.ว. ถึง 163 คนเพิ่งลงชื่อเรียกร้องให้รัฐบาลตัดสินใจดำเนินการสร้างท่อก๊าซที่จะนะ เขาอธิบายมติของเขาอย่างไร

จากข่าวหนังสือพิมพ์คำอธิบายก็คือ มัวแต่ชะลอการก่อสร้างจะทำลายบรรยากาศการลงทุน สร้างเมื่อไรจะทำเงินให้แก่ประเทศมโหฬาร ถึงจะมีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมบ้างก็เฉพาะที่จะนะเท่านั้น ซึ่งรัฐบาลก็คงสามารถบรรเทาผลกระทบนั้นได้ มาเลเซียได้สร้างท่อมารอต่อเชื่อมตั้งปีแล้ว เรามัวแต่โอ้เอ้อยู่ทำไม

ส.ว. บางคนพูดตรงๆเลยว่า คำร้องนี้จะช่วยให้ท่านนายกฯ อนุมัติการก่อสร้างได้สบายๆเลย น่าประหลาดที่คำอธิบายนี้แทบไม่ช่วยท่านนายกฯ ในการตัดสินใจตรงไหน เว้นแต่มั่นใจว่า "ขาใหญ่" สนับสนุนให้สร้างอีกขาหนึ่งแล้วเท่านั้น

เพราะคำอธิบายทั้งหมดเหล่านี้ ถูกคำอธิบายอื่นที่ผลิตโดยชาวบ้านและนักวิชาการสกัดจนหมดพลังไปตั้งนานแล้ว เช่น เรื่องบรรยากาศการลงทุนนั้น เขาเลิกคิดกันถึงเรื่องเปิดอ้าซ่าเพื่อลงทุนกันไปนานแล้ว โดยเฉพาะหลังการล่มสลายของเศรษฐกิจไทย

เขาพูดกันเรื่องการลงทุนที่ยั่งยืนครับ หมายความว่าไม่ใช่แต่เพียงทำให้ผู้ลงทุนฟันกำไรโดยเร็ว แต่หมายถึงการลงทุนที่ให้ผลดีทั้งฝ่ายผู้ลงทุนและคนไทย อีกทั้งอำนาจให้เกิดความยั่งยืนแก่เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมไทยด้วย สิ่งที่ต้องคิดให้รอบคอบคือทำอย่างไรเราจึงจะสามารถดึงการลงทุนอย่างนี้เข้ามาต่างหาก และการลงทุนวางท่อก๊าซเป็นการลงทุนประเภทนี้หรือครับ ?

เงินที่คิดว่าจะได้หลายพันล้านนั้นมาจากไหน คือเงินค่าก๊าซซึ่งเราเป็นเจ้าของอยู่ครึ่งหนึ่ง ใครนำขึ้นมาใช้เราก็ได้ส่วนแบ่งทั้งนั้น ถึงเก็บไว้ในหลุมก็ยังเป็นเงินอยู่นั่นเอง เราไม่ได้เสียโอกาสอะไรไปสักสลึงเดียว

ส่วนความสามารถของรัฐในการบรรเทาสิ่งแวดล้อมนั้นพูดได้โดยไม่อายปากบ้างเลยหรือ ก็เรามีตัวอย่างที่มาบตาพุด, แม่เมาะ และที่อื่นๆ อีกทั่วประเทศเป็นตัวอย่างอยู่ จะให้ชาวบ้านวางใจในสมรรถภาพกลวงๆ ของรัฐได้อย่างไร

ผมจะไม่พูดหรอกครับว่าเราควรหรือไม่ควรวางท่อก๊าซที่จะนะ แต่ถ้า ส.ว. คิดว่าควร ก็ต้องผลิตคำอธิบายที่ผนวกเอาคำอธิบายของฝ่ายคัดค้านมาตอบโต้ด้วย ไม่ใช่เป็นคำอธิบายของคนที่เพิ่งโผล่ออกมาจากท่อ ไม่เคยรู้เคยเห็นเลยว่าข้อถกเถียงอภิปรายในสังคมเขาก้าวไปถึงไหนแล้ว จึงผลิตได้แต่คำอธิบายที่ไม่อธิบายอย่างนี้

เช่นเดียวกับสองสามเดือนที่แล้ว ก็มี ส.ว. ร่วมกันลงชื่อให้สร้างโรงไฟฟ้าบ่อนอก-บ้านกรูด ในทำนองเดียวกัน ข้ออ้างหลักของกลุ่ม ส.ว. เหล่านั้นก็คือ ประเทศจะไม่มีพลังงานเพียงพอถ้าไม่สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งสองโรง

เขาเถียงกันเรื่องปริมาณไฟฟ้าสำรองมาเป็นปี อยู่ๆ ก็โพล่งออกมาว่าไฟฟ้าจะไม่พอใช้ โดยไม่ได้ชี้ให้เห็นว่า แล้วการคำนวณที่ฝ่ายคัดค้านผิดพลาดตรงไหน ทำไม ส.ว. จึงเลือกเชื่อตัวเลขของ สพช. ซึ่งถูกชี้ว่าบกพร่องในหลายส่วน

ยิ่งไปกว่านั้น ฝ่ายคัดค้านได้แสดงความสงสัยอย่างมีเหตุผลถึงความไม่ชอบมาพากลของสัญญาโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งสองหลายอย่าง ส.ว. ไม่นึกสงสัยที่จะตรวจสอบทบทวนบ้างเลยหรือ

ไม่นานมานี้เอง วุฒิสภาเพิ่งลงมติแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน เสียจนกระทั่ง เจตนารมณ์ของร่าง พ.ร.บ. เดิมสูญสลายไปหมด เหมือนย้อนกลับไปหาศูนย์ใหม่อีกทีหนึ่ง ผมได้อ่านคำอภิปรายของ ส.ว. ที่สนับสนุนให้แก้ไขร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ก็พบอย่างเดียวกันว่าเป็นคำอธิบายที่ไม่อธิบายอย่างเดียวกับท่อก๊าซและโรงไฟฟ้า

ความวิตกกังวลของ ส.ว. ในเรื่องนี้อยู่ที่ว่า พ.ร.บ.ป่าชุมชน จะเปิดโอกาสให้ชาวบ้านและนายทุนบุกรุกป่าอนุรักษ์ ในรูปของที่ทำกินก็ดี ในรูปของการทำไม้ก็ตาม แต่ร่าง พ.ร.บ. ซึ่งสภาผู้แทนฯ ส่งให้ท่านพิจารณานั้น ได้วางมาตรการและกลไกการควบคุมดูแลไว้ซับซ้อนเสียยิ่งกว่า "วินิจฉัย" ของผู้บริการกรมป่าไม้ปฏิบัติอยู่เวลานี้หลายสิบเท่า อีกทั้งยังให้อำนาจกลไกเหล่านี้ในการเพิกถอน "ป่าชุมชน" ใดที่ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ. นี้ได้ด้วย

เพราะเรื่องป่าชุมชนนั้นมีการถกเถียงอภิปรายกันในวงวิชาการและวงการชาวบ้านมากกว่า 10 ปีแล้ว แต่ ส.ว. ที่อภิปรายเรื่องนี้หลายคนดูจะไม่ได้อ่านแม้แต่ร่าง พ.ร.บ. ที่สภาผู้แทนฯ ส่งขึ้นมาด้วยซ้ำ อย่าไปพูดถึงการผลิตคำอธิบายใดๆ ที่แข็งแกร่งยิ่งกว่าในการคัดค้านร่าง พ.ร.บ. เลย

อํานาจที่แท้จริงของวุฒิสภาอยู่ที่ไหน ผมคิดว่ารัฐธรรมนูญออกแบบให้วุฒิสภามีอำนาจจำกัด ที่เรียกว่าตรวจสอบกฎหมายนั้น ถ้ามองแต่เพียงการแก้ไขกฎหมายที่ส่งมาถึงมือเพียงแค่นั้น ถึงที่สุดแล้วก็อาจถูกสภาผู้แทนฯ ตีตกไปเมื่อไรก็ได้

ฉะนั้น อำนาจที่แท้จริงของวุฒิสภาจึงไม่ได้อยู่ที่สามารถแก้ไขร่าง พ.ร.บ. แต่อยู่ที่การผลิตคำอธิบายแก่สังคม หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือ เป็นสติปัญญาของสังคม ส่องให้เห็นข้ออ่อนข้อแข็งของร่าง พ.ร.บ. ที่ส่งถึงมือตัว ข้อเสนอให้แก้ไขอย่างไรไม่มีความหมาย ถ้าปราศจากคำอธิบายที่มาจากการศึกษาและใคร่ครวญอย่างเท่าทันกับคำอธิบายอื่นๆ ที่สังคมผลิตขึ้น

แต่ถ้าวุฒิสภาได้แต่ให้คำอธิบายที่ไม่อธิบายแบบนี้ วุฒิสภาก็ไม่มีอำนาจอะไรเหลืออยู่เลย อย่าลืมนะครับว่าวุฒิสภาไม่ได้ตอบโต้กับประชาชนส่วนข้างมากหรือข้างน้อย แต่ตอบโต้กับคำอธิบายที่สังคมผลิตขึ้น คนไทยส่วนใหญ่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับท่อก๊าซ, กับโรงไฟฟ้าถ่านหิน, กับป่าชุมชน ผมคิดว่าไม่เกี่ยวกับ ส.ว. (ซึ่งไม่มีสิทธิ์ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ว. ได้ในสมัยหน้า) แต่สังคมได้ผลิตคำอธิบายทั้งที่สนับสนุนและคัดค้านโครงการต่างๆ เหล่านี้ออกมามากมาย ส.ว. ต้องเข้าไปตอบโต้กับคำอธิบายเหล่านี้ด้วยสติปัญญา

ผมต้องเติมคำว่า "ด้วยสติปัญญา" เพราะไม่ต้องการให้ไปตอบโต้ด้วยการตีฝีปาก เช่นข้อเสนอการเพิ่มกำลังไฟฟ้าโดยยังไม่ต้องสร้างโรงไฟฟ้าในตอนนี้นั้น เขาเสนอหลายมาตรการมาก แต่เมื่อ ส.ว. แสดงภูมิของตัวก็ยกเพียงเรื่องเดียวคือ repowering หรือยกเครื่องโรงไฟฟ้าเก่า โดยเยาะเย้ยถากถางว่าถึงยกเครื่องอย่างไรก็ไม่พอ อย่างนี้ตีฝีปากเท่านั้น ไม่ใช่การนำเอาคำอธิบายมาสำรวจตรวจสอบด้วยสติปัญญา

ฝีปากอย่างนี้เขาเอาไว้ออกทีวีเท่านั้น เพราะมันดี

ผมคิดว่าเมืองไทยระยะ 30 ปีที่ผ่านมานี้ มีความเปลี่ยนแปลงระดับพื้นฐานในเรื่องคำอธิบายเชิงสังคมเกิดขึ้น นั่นก็คือ แต่ก่อนนี้คำอธิบายว่าทำอะไร อย่างไร เมื่อไรแล้วย่อมเกิดผลดี แก่ "ชาติ" เป็นคำอธิบายที่เสร็จสรรพในตัวของมันเอง

สมัยหนึ่งผู้เผด็จการและข้าราชการ (ซึ่งก็คือคนเดียวกัน) เป็นผู้ผูกขาดคำอธิบายว่า จะต้องทำอะไร อย่างไรและเมื่อไร ชาติจึงจะได้ประโยชน์สูงสุด และสมมติกันว่าเมื่อใดที่ชาติได้ประโยชน์สูงสุด ประโยชน์นั้นก็จะเจือจานไปยังประชาชนทุกคน

แต่ต่อมาพวกพ่อค้าหรือที่เรียกกันว่าภาคเอกชน ก็เข้ามาแบ่งอำนาจผูกขาดนี้ไป จนในที่สุดอาจกลายเป็นผู้ผูกขาดแต่ผู้เดียว เพราะสร้างเงื่อนไขให้ราชการรับเอาฐานคำอธิบายของตัวไปใช้เหมือนกัน

นั่นก็คือการลงทุนของเอกชนย่อมเป็นของดีแก่ชาติ อุตสาหกรรมและเกษตรเชิงพานิชย์ย่อมเหนือกว่าเกษตรกรรมรายย่อยและทำให้ชาติพัฒนา ตลาดจัดการทุกอย่างให้ลงตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรมที่สุดแก่ชาติ

คำอธิบายเหล่านี้สมมติให้ชาติเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างแนบแน่น นายทุนได้ กรรมกรก็ได้ด้วย ผู้ส่งออกได้ ชาวนารายย่อยก็ได้ด้วย ฯลฯ

สมมติฐานอันนี้แหละครับที่ผมคิดว่าถูกท้าทาย จินตภาพถึงชาติที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนั้นเลือนไป กลายเป็นชาติที่มีความหลากหลายอยู่ภายใน มีความขัดแย้งกันในเชิงผลประโยชน์และโลกทรรศน์ ฉะนั้น อะไรที่ดีแก่ชาติ จึงต้องหมายถึงสิ่งที่เป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ทุกฝ่ายมีได้มีเสียไปพร้อมกัน เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้คนเดียว เมื่อนั้นก็ไม่ค่อยดีแก่ "ชาติ"

ผมคิดว่าคำอธิบายที่ไม่อธิบายทั้งหมดของ ส.ว. ในเรื่องดังกล่าว ขาดสำนึกถึงความเปลี่ยนแปลงของคำอธิบายเชิงสังคมดังกล่าวโดยสิ้นเชิง เช่น แสดงความห่วงใยถึง "ชาติ" ที่ไม่มีฝ่ายใดอยู่ในนั้นเลย ทำอะไรก็มีฝ่ายได้ฝ่ายเสีย จะเข้าไปตรงกลางให้เป็นธรรมได้อย่างไรจึงมีความสำคัญมาก ถ้าเอากลับไปอธิบายเมื่อ 30 ปีมาแล้วคงไม่เป็นไร แต่เอามาอธิบายในปัจจุบันจึงฟังดูเก๊าเก่า และไร้ความหมาย

คนที่อธิบายอะไรโดยไม่ต้องอธิบายนั้น ดูเหมือนมีอำนาจมาก ก็กูจะทำอย่างนี้ มึงมีปัญหาไหม ? แต่อำนาจนั้นเป็นอำนาจที่เปราะบาง เพราะต้องอาศัยกำปั้นหรือบัญญัติในรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือแห่งอำนาจเท่านั้น

อำนาจที่แท้จริงซึ่งยั่งยืนและเป็นที่ยอมรับมากกว่า กลับอยู่ที่คำอธิบายซึ่งเท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงและความรอบรู้ของสังคม

2. สำนึกทางสังคม (สำนึกทางสังคมของคนจน เปรียบเทียบกับของชนชั้นกลาง)
ความรู้สึกแรกที่ผมได้ยินว่าชาวบ้านจากสมัชชาคนจน และชาวบ้านจากบ่อนอก-บ้านกรูด ส่งคนไปให้กำลังใจชาวจะนะ ก็คือ โอ้โฮ ไกลขนาดนั้นก็ยังไปอีกหรือ (บทความนี้เขียนเมื่อ วันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2546)

อันที่จริงการตัดสินใจของรัฐในสามกรณีนี้ ไม่ผูกพันกัน เช่น รัฐอาจยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ประจวบฯ แล้ววางท่อก๊าซต่อไป พร้อมทั้งปิดเขื่อนปากมูลก็ได้ หรือกลับกันอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ทั้งนั้น ฉะนั้น การที่ยกพวกพากันไปให้กำลังใจถึงจะนะนั้น จึงไม่ได้ช่วยหนทางการต่อสู้ของตัวแต่อย่างใด เป็นเยื่อใยความผูกพันกันโดยไม่เกี่ยวกับประโยชน์เฉพาะตัว

จะว่าประเด็นปัญหาที่ชาวบ้านทั้งสามแห่งต่อสู้เรียกร้องมีความเชื่อมโยงกันอยู่บ้างก็ได้ นั่นก็คือ ทั้งสามแห่งเกี่ยวข้องอยู่กับการมีส่วนร่วมในนโยบายพลังงานเหมือนกัน ฉะนั้น จะพูดว่ามีประโยชน์ร่วมกันก็ได้ คือต่างต้องการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะ โดยเฉพาะนโยบายพลังงาน แต่ประโยชน์นี้ไม่ใช่ประโยชน์เฉพาะหน้าของแต่ละกลุ่ม เขา"ได้"ก็ไม่ได้แปลว่าเรา"ได้"ด้วย หรือเขา"เสีย"ก็ไม่ได้เราต้อง"เสีย"ด้วย

นี่ใช่ไหมครับคือสิ่งที่เรียกว่า "สำนึกทางสังคม" หมายความว่า มีสำนึกถึงประโยชน์ขององค์รวมอีกชนิดหนึ่งซึ่งไม่ใช่ "รัฐ" สังคมในความหมายถึงการรวมกลุ่มคนอย่างกว้างขวาง ซึ่งมีการกระทำกิจกรรมร่วมกันโดยตรงหรือโดยอ้อม เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของกลุ่ม

อย่างที่ทราบกันอยู่แล้วนะครับว่า คำว่า "สังคม" ในความหมายนี้เพิ่งมีขึ้นในภาษาไทยในระยะประมาณ 40 ปีมานี้เอง ก่อนหน้านี้ขึ้นไป สังคมมีความหมายทำนองเดียวกับการสมาคมคบหากันเท่านั้น

แต่นั่นไม่ได้พิสูจน์ว่าคนไทยสมัยอยุธยาไม่มี "สำนึกทางสังคม" ผมคิดว่ามี เพียงแต่สังคมของเขารวมกลุ่มคนไว้แคบระดับท้องถิ่นเท่านั้น ไม่ได้รวมข้าราษฎรของพระเจ้าแผ่นดินไว้ทั้งหมดเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน

ไม่อย่างนั้นเขาก็คงไม่มีประเพณี พิธีกรรม ข้อห้าม และแนวทางการปฏิบัติหลายต่อหลายอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า เขามีสำนึกถึงคนอื่นๆที่เขาไม่รู้จักหน้าค่าตา หรือแม้แต่ยังไม่ได้เกิด เพียงแต่ว่า "สังคม" ของเขามีวงแคบเฉพาะในท้องถิ่นเท่านั้น

แต่เมื่อมีการสร้างรัฐสมัยใหม่ขึ้นในประเทศไทย "สำนึกทางสังคม" ของคนไทยไม่ได้ขยายตัวขึ้นตามขอบเขตที่กว้างขึ้นของรัฐ จะพูดว่าไม่มี "สังคมไทย" ในรัฐไทยก็ยังเกือบจะได้

จริงอยู่ แม้ว่าเรามีตลาดกลางที่ครอบคนไทยไว้ร่วมกันทั้งหมด แต่ตลาดไม่ใช่เวทีกลางที่จะทำให้คนมี "สำนึก" ถึงปฏิสัมพันธ์กันอย่างแท้จริง ชาวนาซึ่งขายข้าวสู่ตลาดนั้น มีอำนาจต่อรองในตลาดน้อยเสียจนไม่ได้ใส่ใจว่าใครคือคนกินข้าวของเขา และในทางกลับกัน คนเมืองซึ่งกินข้าวของชาวนาก็ไม่ได้ใส่ใจว่าใครเป็นคนปลูกข้าวที่เขากิน

อย่างไรก็ตาม ในระยะ 20 กว่าปีมานี้ ผมคิดว่ามีการประสานเชื่อมโยงของประชาชนในท้องถิ่นที่ทำให้ "สำนึกทางสังคม" ของคนระดับล่างขยายขอบเขตจากท้องถิ่นเป็นระดับที่ใหญ่ขึ้นอยู่หลายอย่าง นอกจากการไปเยี่ยมเยือนเพื่อให้กำลังใจในการต่อสู้กับโครงการของรัฐแล้ว ยังมีกิจกรรมอื่นๆ ซึ่งประสานเชื่อมโยงชาวบ้านในชนบทเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กันกว้างขวางขึ้นโดยตรงอีกสองอย่าง

หนึ่ง คือ การค้นพบหนทางการพัฒนาที่เป็นของตนเองในหมู่ชาวบ้าน หลายแห่งและหลายลักษณะ ไม่ว่าจะเป็นการทำวนเกษตรกรรม, การทำกลุ่มออมทรัพย์, การทำเกษตรทางเลือกประเภทต่างๆ, การจัดการทรัพยากรธรรมชาติตามวิถีทางของตนเอง เช่น จัดการป่า, แหล่งน้ำและที่ดิน, และการจัดกระบวนการเรียนรู้ของตนเอง ฯลฯ เป็นต้น

สอง ความสำเร็จเหล่านี้ถูกโฆษณาออกไปกว้างขวาง และเกิดกระบวนการเรียนรู้ที่กว้างขวางไม่แพ้กัน วิทยากรชาวบ้านเดินทางไปแสดงปาฐกถาหรืออบรมชาวบ้านต่างถิ่นไกลๆ อยู่เป็นประจำ มีการเดินทางไปศึกษาดูงานที่ไร่นา หรือองค์กร มีการส่งคนไปเรียนในสถาบันการเรียนรู้ที่ชาวบ้านจัดเอง

คนหลุดออกไปจากท้องถิ่น ได้สัมผัสและในที่สุดได้ร่วมกันสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์กันกว้างไกล ข้ามจังหวัด ข้ามภาค ข้ามผลประโยชน์เฉพาะหน้า ไปสู่ความสำนึกถึงองค์รวมของ "สังคม" และผลประโยชน์ของ "ส่วนรวม" ที่ไม่ใช่ท้องถิ่นซึ่งรู้จักหน้าค่าตากัน หรือไม่ใช่รัฐ

ผมอยากให้สังเกตด้วยว่า เครือข่ายความสัมพันธ์ตลอดจน "สำนึกทางสังคม" ที่เกิดขึ้นนี้ เกิดขึ้นนอกอำนาจของตลาดและนอกอำนาจของรัฐ ฉะนั้น จึงมี "สำนึกทางสังคม" ชนิดหนึ่งที่ปรากฏเด่นชัดขึ้นในหมู่ชาวบ้านระดับล่าง อันเป็น "สำนึกทางสังคม" ที่ไม่เคยมีในเมืองไทยมาก่อน และในทัศนะของผมเป็น "สังคม" จริงๆ ไม่ใช่สิ่งที่ถูกรัฐหล่อหลอมขึ้น หรือไม่ใช่ความเป็นลูกค้าของตลาดอันเดียวกันเท่านั้น

เพื่อจะชี้ให้เห็นชัดถึง "สำนึกทางสังคม" ที่แตกต่างนี้ บางทีคงจะเป็นการดีที่จะนำเอาไปเปรียบเทียบกับ "สำนึกทางสังคม" ที่เกิดกับคนชั้นกลาง

ที่ผมพูดว่า "จะพูดว่าไม่มี "สังคมไทย" ในรัฐไทยก็ยัง เกือบ จะได้" ก็เพราะจะว่าไม่มี "สำนึกทางสังคม" ในหมู่คนชั้นกลางเลยก็ไม่เชิงทีเดียวนัก แต่เป็น "สำนักทางสังคม" ที่แปลกๆ อยู่สักหน่อย

คนชั้นกลางได้สำนึกนี้ผ่านสื่อสองอย่าง คือการศึกษาที่รัฐเป็นผู้จัดหนึ่ง และผ่านสื่อมวลชนอีกหนึ่ง

เท่าที่ผมเคยสำรวจตรวจสอบแบบเรียนชั้นประถมที่ได้รับคำรับรองจากกระทรวงศึกษาฯ เมื่อกว่าสิบปีมาแล้ว ผมพบว่าแทบจะไม่มีการกล่าวถึง "สังคม" ไว้เลย แบบเรียนพูดถึง "ชาติ" ไว้มาก แต่ "ชาติ" ของแบบเรียนคือ "รัฐ" ไม่ใช่ "ชาติ" ในความหมายที่รวมถึงประชาชนไว้ด้วย

"สังคม" ของแบบเรียนจึงเป็นสังคมที่อยู่ใต้รัฐ ไม่มีทางที่จะมีปฏิสัมพันธ์อะไรกันเองได้นอกจากภายใต้กรอบของรัฐ ฉะนั้น จึงไม่มีเจตนารมณ์อันเป็นอิสระของตัวเอง ได้แต่รับเอาเจตนารมณ์ของรัฐมาเป็นของตนเองอย่างเขื่องๆ เท่านั้น แก้ปัญหาอะไรของตัวเองไม่ได้ นอกจากขอให้รัฐเข้ามาอุปถัมภ์ช่วยเหลือ

ผมคิดว่าสื่อซึ่งผลิตขึ้นโดยคนที่ได้รับการศึกษาอย่างนี้แหละครับ ที่ช่วยตอกย้ำ "สำนึกทางสังคม" แปร่งๆ อย่างนี้แก่คนชั้นกลางให้แน่นแฟ้มมากขึ้น

โดยปราศจากความรู้จักอะไรของกันและกันโดยตรง และปราศจากเครือข่ายความสัมพันธ์ คนชั้นกลางพร้อมจะบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติภัยต่างๆ อย่างเต็มที่ ฉะนั้นจึงไม่ใช่เพราะคนชั้นกลางเห็นแก่ตัวมากเป็นพิเศษ แต่คนชั้นกลางไม่มีพลังที่จะร่วมมือกันทำอะไรอื่นได้มากไปกว่านี้ เพราะการมีส่วนร่วมกันทำอะไรมากไปกว่านี้ ต้องมีจินตนาการถึง "ส่วนรวม" ซึ่งรวมเอาคนหลากหลายกลุ่ม หลากหลาย "ชนชั้น" ไว้ด้วยกันอย่างมาก จึงยากที่คนชั้นกลางจะมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะ หรือร่วมกันในการผลักดันให้เกิดการแก้ปัญหาในชีวิตของตัวเองอย่างได้ผล

ทางออกของปัญหาต่างๆ จึงเหลือแคบๆ เช่น รถติดก็เหลือทางออกทางเดียวได้แก่สร้างทางด่วนคร่อมหัวให้มากขึ้นเท่านั้น เพราะนึกไปไม่ถึงวิธีอื่นๆ เพราะจะนึกถึงวิธีอื่นๆ ได้ก็ต้องนึกถึง "ส่วนรวม" ที่หมายถึงคนเล็กคนน้อยอีกมากร่วมกับตัวเอง จะสามารถเคลื่อนที่ได้เร็วขึ้นเหมือนๆ กัน ไม่ใช่เฉพาะคนมีรถเก๋งเท่านั้น มาตรการแก้ปัญหาจราจรอย่างได้ผลในสังคมอื่นๆ ทั้งโลกจึงมักใช้กับกรุงเทพฯ ไม่ค่อยได้ผล นอกจากการลงทุนเพิ่มด้านเทคโนโลยีลูกเดียว

ผมเดาไม่ถูกเหมือนกันว่า "สำนึกทางสังคม" ใหม่ที่เริ่มขยายตัวในหมู่ชาวบ้านเช่นนี้ จะกลายเป็นสำนึกกระแสหลักในภายหน้าหรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อการปฏิรูปการศึกษาเปิดโอกาสให้คนในท้องถิ่นเข้ามาจัดการการศึกษาของลูกหลานได้มากขึ้น

แต่ที่แน่นอนก็คือ ผมคิดว่าคนไทยกำลังพูดกันรู้เรื่องน้อยลง เพราะเรามีความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งสำคัญๆ ต่างกันมากขึ้น

3. รัฐทิ้งเวทีความชอบธรรม
(รัฐกับการใช้ความรุนแรงกับคนจน - ความรุนแรงในการดำเนินนโยบาย - ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง)

รู้กันมานานแล้วว่า รากฐานของความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชาวบ้านในโครงการของรัฐนั้นที่จริงแล้วเป็นความขัดแย้งกันในเชิงวิถีทางการพัฒนา ในขณะที่นโยบายพัฒนาไม่ได้ปรับเปลี่ยนในทางปฏิบัติแต่อย่างไรตลอดมา ความขัดแย้งดังกล่าวก็ทวีความเข้มข้น และกระจายออกไปอย่างกว้างขวางมากขึ้น

เวทีการต่อสู้ระหว่างรัฐและประชาชนในพื้นที่โครงการต่างๆนั้น ที่จริงแล้วไม่ใช่การจ้างอันธพาลไปเผาหมู่บ้าน หรือสั่งตำรวจลุยผู้ชุมนุมประท้วงโดยสงบ หรือการยกขบวนมาล้อมทำเนียบ นั่นเป็นเพียงกลยุทธ์ของการต่อสู้เท่านั้น แต่กลยุทธ์ทั้งหลายเหล่านี้ล้วนต้องทำภายใต้กระแสการต่อสู้บนเวทีหลัก นั่นก็คือเวทีของการแย่งชิงความชอบธรรมของการพัฒนา

ในขณะที่ภาคประชาชนเสนอวิถีทางพัฒนาอีกวิถีทางหนึ่ง คือสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ภาคประชาชน โดยการเปิดทางเลือกของการพัฒนาที่มีความหลากหลาย และเหมาะสมกับศักยภาพของประชาชนจะดำเนินการพัฒนาด้วยตนเองได้

รัฐก็ยืนยันในวิถีทางพัฒนาเดิม คือสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อหล่อเลี้ยงภาคเอกชนให้เติบโตแข็งแกร่งพอที่จะแข่งขันกับคนอื่นนอกประเทศได้ แม้จะมีการใช้นักเลงอันธพาลทำร้ายประชาชนผู้ต่อต้านโครงการในพื้นที่, เอาตำรวจออกมาสกัดขบวนประชาชนด้วยวิธีรุนแรง, ใส่ความผู้นำประชาชน ฯลฯ ตลอดมา แต่ทุกรัฐบาลที่ผ่านมายอมรับว่า เวทีการต่อสู้ที่แท้จริงคือเวทีความชอบธรรม ซึ่งรัฐจะต้องช่วงชิงมาให้ได้ ไม่ว่าจะใช้เล่ห์เพทุบายอย่างไรก็ตาม

จนกระทั่งถึงรัฐบาลทักษิณ รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลแรกที่สละการต่อสู้แย่งชิงความชอบธรรมของการพัฒนาบนเวทีกลาง มาสู่การใช้กำลังของรัฐเข้าสลายการชุมนุมอย่างเปิดเผย โดยไม่สนใจว่าจะละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานซึ่งรัฐธรรมนูญให้หลักประกันไว้หรือไม่

เห็นได้ชัดเจนในกรณีเขื่อนปากมูลและท่อก๊าซสงขลา ในทั้งสองกรณี มีงานศึกษาที่แข็งแกร่งจำนวนมาก โดยยอมรับสมมติฐานของการพัฒนาที่รัฐสนับสนุน ซึ่งชี้ให้เห็นว่า โครงการทั้งสองไม่ทำ "กำไร" ดังที่รัฐอ้าง

ชาวปากมูลยอมรับสมมติฐานว่า ความมั่นคงด้านไฟฟ้าของอีสานใต้มีความสำคัญเหนืออื่นใด แต่งานศึกษาจำนวนมากของผู้คัดค้านชี้ให้เห็นว่า การสร้างเขื่อนปากมูลเพื่อความมั่นคงด้านไฟฟ้านั้นเป็นการลงทุนที่ไม่ได้กำไร เพราะเมื่อคิดถึงต้นทุนทางสังคมและธรรมชาติที่ต้องสูญเสียไปแล้ว สิ่งที่ได้มาถือว่าขาดทุนยับเยิน ในขณะที่มีทางเลือกอื่นอีกหลายอย่างในการสร้างความมั่นคงด้านไฟฟ้าในอีสานใต้

ทั้งหมดเหล่านี้แสดงให้เห็นได้ด้วยตัวเลข และการประเมินตามหลักการซึ่งทางฝ่ายรัฐใช้นั้นเอง เช่นเดียวกับกรณีท่อก๊าซสงขลา ก็มีงานศึกษาจำนวนมากชี้ให้เห็นว่าไม่คุ้มในทางเศรษฐกิจ โดยมีสมมติฐานว่าความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจคือ ความคุ้มค่าอย่างที่นโยบายพัฒนาภาครัฐใช้เป็นบรรทัดฐานนั่นแหละ แต่รัฐบาลทักษิณไม่เคยขึ้นเวทีความชอบธรรมของการพัฒนา

แม้แต่เมื่อชาวบ้านนิยามการพัฒนาตามวิถีทางของภาครัฐแล้วก็ตาม เพราะรัฐบาลทักษิณไม่เคยตอบหรือชี้แจงข้อมูลหรืองานศึกษาใดๆ ทั้งสิ้น "กูจะเอาอย่างนี้ซะอย่าง มึงจะทำไม"

รัฐบาลใช้เจ้าหน้าที่เทศกิจและตำรวจ บังคับรื้อถอนการชุมนุมโดยสงบของชาวบ้าน เอากฎเทศบาลขึ้นมาทำลายเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับใช้ตำรวจลุยผู้ชุมนุมท่อก๊าซที่หาดใหญ่ ทั้งๆ ที่ชาวบ้านเพียงแต่ต้องการยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเท่านั้น

ในฐานะรัฐ ย่อมผูกขาดความรุนแรงไว้ในมือแต่ผู้เดียว ภายใต้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รัฐใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือแทนการแสวงหาความชอบธรรมจากสังคม

ท่าทีของนายกรัฐมนตรีต่อการประท้วงของชาวบ้านที่จะนะเมื่อเร็วๆ นี้ ชี้ให้เห็นว่ารัฐขู่ที่จะใช้ความรุนแรง (เรียกว่า "จัดการ" ตามสำนวนของท่านนายกฯ) อย่างเปิดเผยอีก โดยอาศัยทฤษฎีเก่าที่อธิบายการประท้วงของประชาชนในประเทศนี้เสมอมา นั่นก็คือชาวบ้านคิดอะไรเองไม่เป็น ต้องมีผู้ยุยงอยู่เบื้องหลังเสมอ ท่านนายกฯท้าทายกลุ่มคนที่อยู่เบื้องหลังเหล่านี้ว่า "แน่จริง" ก็ออกมายืนข้างหน้าเลย จะได้จัดการอย่างเด็ดขาด

แต่ผู้ที่สนับสนุนการประท้วงของชาวบ้านจะนะไม่เคยปิดบังชื่อจริงของตนเอง ไม่เคยปฏิบัติการอะไรลับๆ ล่อๆ เพราะต่างต้องการดึงรัฐบาลให้ขึ้นมาบนเวทีแห่งการแย่งชิงความชอบธรรมในที่สาธารณะ เปรียบเทียบกับการกระทำของห้าสิบสามนายพล ใครจะยืนข้างหน้ามากกว่ากัน

ความขัดแย้งขั้นพื้นฐานของวิถีทางการพัฒนาซึ่งทวีความเข้มข้นและกระจายตัวอย่างกว้างขวางนี้ จะเรียกว่าความรุนแรงเชิงโครงสร้างอย่างหนึ่งก็ได้ ความรุนแรงเช่นนี้เป็นอันตรายต่อสังคม เพราะนำมาซึ่งความรุนแรงโดยพฤติกรรมได้จากทุกฝ่าย เกิดขึ้นได้ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม

การที่รัฐบาลทักษิณมุดหนีการเผชิญหน้ากับความรุนแรงเชิงโครงสร้างเช่นนี้บนเวทีความชอบธรรม กลับหันไปใช้ความรุนแรงเพื่อปราบความรุนแรงเชิงโครงสร้าง จะยิ่งกลับทำให้ความรุนแรงเชิงโครงสร้างฝังลึกลงไป ซับซ้อนขึ้น และยากแก่การแก้ไขโดยสงบได้มากขึ้น

นักการเมืองมักไม่เข้าใจความรุนแรงเชิงโครงสร้าง เช่นเมื่อ รมว.มหาดไทยท้าว่า ถ้าไม่ชอบใจการผลักดันโครงการท่อก๊าซของรัฐ ครั้งหน้าก็อย่าเลือกตั้งเข้ามา หีบบัตรเลือกตั้งทำให้สังคมหลีกเลี่ยงความรุนแรงได้อย่างเดียว คือความรุนแรงอันเกิดขึ้นจากการสืบทอดอำนาจทางการเมือง แต่ความรุนแรงเชิงโครงสร้างก่อให้เกิดวังวนของความรุนแรงในทุกๆ เรื่อง และอย่างไม่รู้จบ

นั่นคือสิ่งที่กำลังเกิดในสังคมไทยทุกวันนี้ รัฐใช้ความรุนแรงในการดำเนินนโยบาย เช่นจัดการการประท้วง การปราบยาเสพติด การปราบอิทธิพลเถื่อน ปราบน้ำมันเถื่อน ฯลฯ แต่ผู้ผูกขาดความรุนแรงก็ไม่สามารถจำกัดวงมิให้ความรุนแรงระบาดไปยังส่วนอื่นๆ ของสังคมได้ ฉะนั้นสังคมจึงกระทำความรุนแรงต่อกันเป็นปกติ

ฉะนั้น คนชั้นกลางในเมืองซึ่งไม่เคยรู้ร้อนรู้หนาวกับชะตากรรมของชาวบ้าน รวมทั้งไม่เคยสนใจความเป็นธรรมในวิถีทางการพัฒนาของประเทศ เพราะตัวเป็นฝ่ายได้ตลอด ก็หาได้หลบพ้นไปจากความรุนแรงของสังคมไม รากเหง้าของความรุนแรงในเมือง ไม่ว่าการฆ่าชิงโทรศัพท์มือถือ, คดีฆ่าข่มขืนกระทำชำเรา, การอาละวาดของผู้เสพยา ฯลฯ ล้วนมาจากความรุนแรงเชิงโครงสร้างของวิถีทางการพัฒนาที่ไม่เป็นธรรมนี้ทั้งสิ้น

และตราบเท่าที่นักการเมืองไม่เข้าใจความรุนแรงเชิงโครงสร้าง ซ้ำกระพือความรุนแรงนั้นให้โหมหนักขึ้นด้วยการสละละทิ้งการเจรจากันด้วยเหตุผลบนเวทีแห่งความชอบธรรมเช่นนี้ คนชั้นกลางก็อย่านึกว่าตัวจะหลุดรอดไปจากความเป็นเหยื่อได้ เมื่อลูกเมียถูกผู้ร้ายแทงยอดอกตัดขั้วหัวใจ โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคจะช่วยอะไรได้

4. วัฒนธรรมเงินตรา (สังคมที่ใช้เงินเป็นตัวชี้ความยากจน)
เวลานี้ จะยังเหลือคนไทยอยู่สักกี่คนที่อยู่ได้โดยไม่มีเงินบ้าง ผมคิดว่าคงไม่มาก นอกจากเกษตรกรแบบ "วนเกษตร" ของ ท่านผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม แล้ว คงจะมีแต่ "ผี" หรือคนระดับต่ำสุดของสังคมคนไร้บ้านด้วยกันในเมืองใหญ่ๆ เท่านั้น

ผมจำไม่ได้ว่าอ่านเจอที่ไหนที่ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ เสด็จสวรรคตนั้น ทั้งวังหน้ามีเงินสดอยู่ในท้องพระคลังแค่ 400 บาท หรือ 5 ชั่งเท่านั้น ทั้งนี้ มิได้หมายความว่าพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นั้นยากจน แต่เงินเป็นเพียงส่วนเดียวของทรัพย์ และทั้งไม่ใช่ส่วนสำคัญเสียด้วย แม้แต่คนใหญ่คนโตขนาดนั้น ก็ยังมีเงินอยู่ไม่มาก

ทรัพย์ส่วนที่สำคัญกว่าคือกำลังคน ซึ่งเกิดผลผลิตที่เป็นเครื่องอุปโภคบริโภคโดยตรง นอกจากนั้นก็คือสังหาและอสังหาริมทรัพย์ทั้งหลายที่ทรงครอบครองอยู่ นับตั้งแต่พระราชวังไปจนถึงเครื่องถนิมพิมพาภรณ์และของมีค่าอื่นๆ ซึ่งสะสมกันมาในวังหน้า ทั้งหมดเหล่านี้ไม่มีมูลค่าในตลาด เพราะไม่มีตลาดสำหรับสิ่งเหล่านี้ ฉะนั้น จึงตีค่าเป็นตัวเงินไม่ได้ แต่คนใหญ่คนโตในอดีตก็ขวนขวายหาสิ่งซึ่งไม่มีมูลค่าในตลาดเหล่านี้มาครอบครอง ไม่ได้เพื่อแลกเปลี่ยนเป็นเงิน แต่เพื่อแลกเปลี่ยนเป็นเกียรติยศ

ชาวบ้านไทยสมัยก่อนก็เหมือนกัน กล่าวคือ ไม่มีเงินติดตัวกันสักเท่าไร แค่ได้เหรียญมาอันก็ผูกเชือกให้ลูกห้อยคอแล้ว ทรัพย์ของเขาอยู่ที่ไร่นา, งัวควาย และยุ้งข้าว หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ความมั่นคงด้านต่างๆ ของชีวิต

ที่น่าสังเกตอยู่ที่ว่า ทรัพย์ที่เป็นเกียรติยศก็ตาม ทรัพย์ที่เป็นความมั่นคงในชีวิตก็ตามนั้น ทำให้ผู้คนต้องให้ความสำคัญแก่ความสัมพันธ์กับคนอื่น เพราะคนอื่นนี้แหละเป็นที่มาของโภคทรัพย์ต่างๆ ของบุคคล

แม้แต่ในความสัมพันธ์นั้นเป็นความสัมพันธ์เชิงเอาเปรียบ ก็ต้องคำนึงถึงการเอาเปรียบชนิดที่เขาพอรับได้ มูลนายจึงเอาเปรียบไพร่สมของตัวพอท้วมๆ ชนิดที่ไพร่ไม่หนีสังกัด

ในขณะที่ชาวบ้านอาศัยความสัมพันธ์กับคนอื่นนี่แหละในการแลกเปลี่ยนแรงงานในการผลิต และในการเผชิญกับความผันผวนในชีวิต ซึ่งย่อมเกิดขึ้นทุกยุคทุกสมัยเป็นธรรมดา เช่น นาล่มก็มีเสี่ยวหรือเกลอที่จะสามารถไปยืมข้าวมากินได้ ควายหายก็มีเพื่อนบ้านช่วยกันตาม ฯลฯ

ผมคิดว่ารากฐานของวัฒนธรรมไทยซึ่งในปัจจุบันเรียกร้องให้รักษาและหวงแหนนั้น มีรากฐานมาจากการจัดความสัมพันธ์ของคนในสังคมที่ทรัพย์ส่วนสำคัญยังไม่ใช่เงินตรา

แต่สังคมไทยปัจจุบันเปลี่ยนไปแล้วอย่างที่รู้ๆ กันอยู่ ทรัพย์ส่วนที่สำคัญที่สุดในความนึกคิดของคนไทยคือสิ่งที่มีมูลค่าในตลาด หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือสิ่งที่สามารถแลกเปลี่ยนออกมาเป็นเงินตราได้ แม้แต่เกียรติยศก็มีมูลค่าในตลาดเหมือนกัน คงจำกันได้นะครับว่าท่านรัฐมนตรีคมนาคมซึ่งเป็นผู้ประมูลทะเบียนรถ "เลขสวย" ไปได้ในราคา 4 ล้านบาท ท่านอธิบายความรักที่มีต่อเลขสวยนี้ว่า หากปล่อยเดี๋ยวนี้ก็จะทำได้ 4.5 ล้านบาทในทันที คือได้กำไร 5 แสนบาท

ทำให้เกิดความเข้าใจได้ในทันทีแก่คนทั่วไปเหมือนกัน กล่าวคือ ความรักที่มีต่อเลขสวยนั้นไม่ใช่ความหลงใหลงมงาย แต่มีเหตุผลในเชิงกำไร-ขาดทุนอยู่ในนั้นชัดเจน พูดแค่นี้ก็หมดความสงสัยแคลงใจรสนิยมของท่านไปเลย

ความสัมพันธ์กับคนอื่น ไม่ว่าในฐานะบุคคลหรือกลุ่มมีความสำคัญน้อย เงินเป็นเครื่องมือสำคัญยิ่งกว่าอื่นใดในการสร้างความมั่นคงในชีวิต ตรงกันข้ามด้วยซ้ำ ถ้ามีกำลังเงินให้มากแล้วกลับไปกำหนดความสัมพันธ์กับคนอื่นได้ตามใจชอบด้วยซ้ำ

ที่บ่นๆ กันว่าการจราจรติดขัดจนต้องตัดญาติขาดมิตรไปหมดนั้น ผมคิดว่าสาเหตุคงไม่ใช่การจราจรกระมัง แต่เพราะญาติมิตรไม่มีบทบาทหน้าที่สำหรับสร้างความมั่นคงในชีวิตให้เราอีกแล้วต่างหาก เช่น พึ่งพากันได้น้อยลงหรือบางเรื่องก็ไม่ได้เอาเลย เราจึงขวนขวายไม่พอที่จะรักษาสายสัมพันธ์ของญาติมิตรเอาไว้

ทำไมคนแต่ก่อนจึงรักษาสายสัมพันธ์ของเสี่ยวหรือเกลอซึ่งอยู่ห่างไกลกันได้ ทั้งๆ ที่เขาไม่มีถนนหนทาง, ไม่มีโทรศัพท์, ไม่มีไปรษณีย์ด้วยซ้ำ

เราเผชิญความผันผวนในชีวิตด้วยการเดินเข้าหาบริษัทเครดิตที่อนุมัติเงินกู้ภายใน 30 นาที เราประเมินมูลค่าของบุคคลจากจำนวนของทรัพย์สินที่เขาถือครองอยู่ เช่น บ้าน, ที่ดิน, รถยนต์ หรือเงินเดือน ส่วนคนที่ไม่มีสิ่งเหล่านี้ให้ประเมิน ก็มีบริษัทที่ตั้งขึ้นมาเพื่อเก็บประวัติเครดิตของบุคคลไว้ขาย จะให้ใครกู้เงินก็สามารถกดปุ่มขอประวัติความน่าเชื่อถือเรื่องเงินของเขามาพิจารณาได้

คุณค่าของแต่ละคนไม่ได้อยู่ที่ความสัมพันธ์ที่เขามีกับคนอื่นหรือกับกลุ่ม แต่อยู่ที่มูลค่าของเขาต่างหาก

ผมไม่อยากให้เข้าใจว่าคนสมัยนี้หน้าเงินไปหมดแล้ว แต่ผมอยากจะหมายความว่า เพราะความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากระบบเงินตรา ทำให้การจัดความสัมพันธ์ของคนในสังคมหรือวัฒนธรรมเปลี่ยนไป กลายเป็นปัจเจกบุคคลที่เข้ามาสัมพันธ์กันในเชิงซื้อขายแลกเปลี่ยน ไม่ว่าจะแลกเปลี่ยนสินค้า, บริการ, อารมณ์ความรู้สึก, หรืออื่นๆ

เราจัดความสัมพันธ์ทางสังคมกันบนมูลฐานอันนี้ต่างหาก หมายความว่าเรามองสิ่งต่างๆ ที่เราจะเข้าไปสัมพันธ์ด้วย ในลักษณะอย่างนี้ คือใช้เงินเป็นตัวกลางของความสัมพันธ์ แม้ไม่ได้อยู่ในการซื้อขายของตลาดก็ตาม ทั้งนี้ ผมหมายความถึงความสัมพันธ์ทุกชนิดนะครับ ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม

คนก็ยังมีญาติ, มีเพื่อน, มีนาย, มีคนรัก ฯลฯ เหมือนเดิม แต่ความสัมพันธ์ระหว่างกันเปลี่ยนไป โดยรู้สึกตัวหรือไม่ก็ตาม มีการประเมินมูลค่าของกันและกันในความสัมพันธ์นั้นอยู่ตลอด

คำถามยอดฮิตอันหนึ่งที่มักได้ยินอยู่เสมอก็คือ ทำอย่างนั้นแล้ว จะได้อะไร หรือจะทำอย่างนั้นไปทำไม "โง่ฉิบหาย" ซึ่งแปลว่าเมื่อคิดสะระตะทั้งหมดแล้ว ย่อมขาดทุน ความเปลี่ยนแปลงมาสู่วัฒนธรรมเงินตรานี้ ทำให้เรามองอะไรไม่เห็นไปหลายอย่าง เช่น ไม่เห็นคุณค่า เป็นต้น เรามักใช้ราคามาพิสูจน์คุณค่าเสมอ ไม่ว่าจะเป็นงานศิลปะหรือโรงไฟฟ้าหรือนวัตกรรมต่างๆ

ผมออกจะสงสัยด้วยว่า วัฒนธรรมเงินตราอาจปิดบังความเป็นธรรมในสังคมด้วย ท่านอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ พูดหลายครั้งในหลายปาฐกถาของท่านว่า ทรัพย์สินหรือเงินในสังคมย่อมมีอยู่จำนวนหนึ่งเท่านั้น ถ้าใครมีมากล้นเหลือก็แปลว่าคนอื่นต้องมีน้อยลง คิดอย่างนี้ก็หมายความว่าความรุ่มรวยติดอันดับโลกนั้นมีอะไรผิดอยู่ในนั้นด้วย ไม่ตัวเองผิดก็ระบบเศรษฐกิจ-สังคมต้องผิด แต่ในปัจจุบัน ผมไม่ค่อยได้ยินความคิดอย่างนี้จากนักเศรษฐศาสตร์รุ่นหลังเสียแล้ว เวลาสภาพัฒน์พูดถึงการกระจายรายได้ ผมฟังดูมันกล้อมแกล้มๆ อย่างไรไม่รู้

คําถามที่ผมมีในใจก็คือ วัฒนธรรมเงินตราที่หยาบกระด้างเช่นนี้ ต้องเกิดขึ้นในทุกสังคมที่ได้ก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจเงินตราเต็มที่แล้วทั้งนั้น หรือวัฒนธรรมเงินตราก็อาจมีความหลากหลายกว่านั้น เช่น อ่อนโยน และเกิดความสัมพันธ์ประเภทอื่นๆ นอกไปจากการตีมูลค่าก็ได้

ผมออกจะเชื่ออย่างหลัง คือไม่จำเป็นที่วัฒนธรรมเงินตราในทุกแห่งจะต้องหยาบกระด้างไปหมด บางกรณีอาจสร้างรูปแบบความสัมพันธ์ชนิดใหม่ขึ้น บางกรณีก็อาจปรับของเก่ามาใช้ให้เหมาะสมกับความเปลี่ยนแปลง หรือลดความหยาบกระด้างของความสัมพันธ์ที่อาศัยฐานของเงินตราเพียงอย่างเดียวลง

ถามว่ารัฐจะเข้ามามีส่วนช่วยสร้างเสริมวัฒนธรรมตรงนี้ได้หรือไม่ คำตอบก็แน่นอนอยู่แล้วว่า ในฐานะที่มีพลังมาก รัฐย่อมช่วยได้มากทีเดียว แต่บทบาททางวัฒนธรรมของรัฐที่ผ่านมา (ทั้งที่มีและไม่มีกระทรวงวัฒนธรรม) คือการรักษาวัฒนธรรมเดิมไว้เป็นรูปแบบที่ตายตัวหยุดนิ่ง (บางอย่างก็เป็นความเพ้อฝันที่ไม่มีอยู่จริงในวัฒนธรรมเดิมด้วย) ปัญหาความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยเข้าสู่วัฒนธรรมเงินตราไม่เคยเป็นปัญหาทางวัฒนธรรมของรัฐ

เมื่อไม่ได้ถามจึงไม่ได้ตอบ และเมื่อไม่ตอบปัญหาทางวัฒนธรรมที่มีความสำคัญยิ่งเช่นนี้ จึงไม่เหลืออะไรไว้ให้ทำนอกจากนั่งคอยชี้นิ้วให้คนไทยฟังหรือไม่ฟังเพลงอะไร แต่งกายหรือไม่แต่งกายอย่างไร พูดหรือไม่พูดคำอะไร ฯลฯ

5. การแปรสินทรัพย์เป็นทุน: ข้อค้านและติง
ข้อค้านเชิงทฤษฎี
ในทางวิชาการ มีคำถามมานานมากแล้วว่า เหตุใดบางประเทศจึงสามารถก้าวเข้าสู่ทุนนิยมได้สำเร็จ ในขณะที่อีกหลายประเทศล้มเหลว คำถามนี้ไม่ได้ถามกันแต่เฉพาะนักเศรษฐศาสตร์ แต่ถามกันไปในหลายสาขาวิชา นับตั้งแต่ประวัติศาสตร์ สังคมวิทยา จิตวิทยาสังคม และอีกจิปาถะ

คำตอบจึงมีหลากหลายมาก แต่ที่น่าสนใจก็ตรงที่ว่าหลายคำตอบด้วยกันได้ถูกนำมาใช้เป็นแนวทาง "การพัฒนา" อันที่จริงจะว่าเป็นหัวใจของวิชาเศรษฐศาสตร์การพัฒนาก็ว่าได้ ทั้งนี้เพราะอคติที่อยู่เบื้องหลังนโยบายพัฒนาทั้งหลายนั้นอาจสรุปได้ว่า ทุนนิยมแบบตะวันตกนั่นแหละคือเป้าหมายของการพัฒนา

นายเฮอร์นันโด เดอโซโต ก็มีคำตอบของเขาต่อคำถามนิรันดรนี้เหมือนกัน เขาตอบว่าเมื่อย้อนกลับไปดูการก้าวเข้าสู่ทุนนิยมของประเทศที่ "ประสบความสำเร็จ"(คือตะวันตกนั่นเอง)แล้ว จะพบว่ามีกระบวนการที่สำคัญมากอันหนึ่งเกิดขึ้นมาก่อน นั่นก็คือ กระบวนการที่ทำให้สินทรัพย์ถูกแปรให้เป็นทุน เช่น ที่ดินซึ่งเคยอยู่ภายใต้กรรมสิทธิ์ร่วมกันของเจ้าและไพร่ ก็มีกฎหมายตราออกมาให้ตกเป็นของเจ้าที่ดินเพียงฝ่ายเดียว เจ้าที่ดิน(โดยเฉพาะในอังกฤษ)ใช้ที่ดินนี่แหละเป็นทุนในการประกอบการทางพาณิชย์ เช่น ผลิตขนแกะขายยุโรปภาคพื้นทวีป เกิดการสะสมทุน และพัฒนาต่อมาสู่การผลิตด้านอุตสาหกรรม ฉะนั้นเงื่อนไขสำคัญของการก้าวเข้าสู่ทุนนิยมก็คือ การทำให้สินทรัพย์จำนวนมากของผู้คน สามารถเอามาใช้เป็นทุนในการประกอบการได้

ขอให้สังเกตด้วยว่า กระบวนการแปรสินทรัพย์เป็นทุนนั้น วิเคราะห์ให้ถึงที่สุดแล้วมีลักษณะสำคัญสองอย่าง หนึ่งคือทำให้สินทรัพย์นั้นต้องตกเป็นกรรมสิทธิ์ของปัจเจกบุคคล และสองสินทรัพย์นั้นต้องเกิดมูลค่าในตลาดขึ้น ถ้าผิดจากสองอย่างนี้ไม่ถือว่าเป็นการแปรสินทรัพย์เป็นทุนอันจะนำไปสู่การพัฒนาระบบทุนนิยมขึ้นได้

ผมไม่มีความเห็นว่านายเดอโซโตผิดหรือถูก เพราะอาจเป็นทฤษฎีที่อธิบายการเข้าสู่ทุนนิยมของตะวันตกได้ดี แต่มีคำถามที่ผมคิดว่าสำคัญดังนี้

เมื่อตอนที่เกิด "นายทุน" ขึ้นในโลกตะวันตกนั้น ตะวันตกยังไม่มี "นายทุน" เลย ฉะนั้นการแปรสินทรัพย์เป็นทุนจึงดูเหมือน(และขอย้ำว่าดูเหมือน) ทำให้ทุกคนได้เข้าถึงทุนทั่วไปหมด คนเก่งเอาทุนที่ตัวเข้าถึงนั้นไปทำให้งอกงาม สะสมจนประกอบการใหญ่โตขึ้นได้ เรียกว่าเป็นรางวัลให้แก่คนเก่ง คนมีวิสัยทัศน์ เทวดา ฯลฯ อะไรก็ว่ากันไป

แต่การแปรสินทรัพย์เป็นทุนในโลกที่สามของปัจจุบันซึ่งมี "นายทุน" อยู่แล้ว เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่า สินทรัพย์ที่ถูกแปรนั้นจะไม่ไหลเลื่อนเข้าไปอยู่ในมือของ "นายทุน" ซึ่งมีกำลังจะเข้าไปหยิบฉวยอะไรก็ตามที่สามารถทำกำไรได้ในตลาดไว้ก่อน

ยิ่งกว่านี้ ในปัจจุบันไม่ได้มีแต่ "นายทุน" ชาติเท่านั้น ยังมี "นายทุนโลกาภิวัตน์" ทั่วทุกหัวระแหง การแปรสินทรัพย์เป็นทุนอาจหมายถึงการโยนสินทรัพย์ของคนจำนวนมากซึ่งได้ใช้ประโยชน์อยู่ เช่นที่ดินสาธารณะ ภูมิปัญญาซึ่งเป็นสมบัติส่วนรวม ฯลฯ ลงไปในตลาด คนไร้หน้าที่ไหนไม่ทราบเลือกเก็บกวาดเอาของดีๆ ไปเรียบ โดยคนส่วนใหญ่ที่ได้แปรสินทรัพย์เดิมของตัวไม่มีทางจะเงยหน้าอ้าปากขึ้นมาเป็น "นายทุน" ได้เลย

นอกจากนี้ ถ้าเรามองย้อนกลับไปดูรายละเอียดของการแปรสินทรัพย์เป็นทุนในช่วงแรกของกำเนิดทุนนิยมตะวันตก เราก็ไม่ควรมองข้ามความเจ็บปวดทนทุกข์ทรมานของคนจำนวนมาก ซึ่งถูกปล้นสินทรัพย์ของตัวไปเป็นสินค้าในตลาด

ในอังกฤษไพร่ติดที่ดินซึ่งเคยมีสิทธิเหนือที่ดินนั้นระดับหนึ่ง ถูกขับไล่ออกไปจากที่ดินทั้งหมดด้วยกระบวนการที่เรียกกันในประวัติศาสตร์อังกฤษว่ากระบวนการ "ล้อมรั้ว" คือเจ้าที่ดินล้อมรั้วที่ดินซึ่งกฎหมายได้ตัดทำลายสิทธิของคนอื่นไปหมด แล้วยกให้เจ้าที่ดินคนเดียว ไพร่ทั้งหมดกลายเป็นคนสิ้นไร้ไม้ตอกในพริบตา ต้องอพยพเข้าเมืองไปเป็นแรงงานราคาถูกของอุตสาหกรรมซึ่งกำลังเกิดขึ้น ถูก "นายทุน" กดขี่ทารุณอย่างเหมือนไม่ใช่มนุษย์มนา อย่างที่บรรยายไว้อย่างมีสีสันในนวนิยายของชาลส์ ดิคเกนส์

บนเส้นทางสู่ทุนนิยมของตะวันตก ซึ่งถวิลหานั้นเต็มไปด้วยเลือดและน้ำตา แม้การแปรสินทรัพย์เป็นทุนอาจเป็นเงื่อนไขสำคัญที่สุดของการเข้าสู่ระบบทุนนิยมได้สำเร็จสำหรับตะวันตก แต่เราซึ่งเดินตามหลังมาไม่ควรเก็บรับบทเรียนจากโลกตะวันตกเพื่อหลีกเลี่ยงเส้นทางเลือดและน้ำตานั้นหรอกหรือ

ข้อค้านและติงเชิงปฏิบัติในเมืองไทย
นโยบายแปรสินทรัพย์เป็นทุนนั้นมีความหมายคลุมเครือไปทุกคำ นับตั้งแต่การแปรมีความหมายเพียงการทำให้สินทรัพย์นั้นเป็นสินค้าในตลาดเท่านั้นหรือ อะไรคือสินทรัพย์กันบ้าง และอะไรคือทุน เฉพาะเงินเท่านั้นหรือคือทุน ถ้าความหมายถูกจำกัดให้แคบอย่างทฤษฎี ก็ให้น่าสงสัยอย่างยิ่งว่าเหมาะกับภาวการณ์ความเป็นจริงในสังคมไทยแน่หรือ

ดังเช่นความวิตกห่วงใยว่าการแปรที่ดิน ส.ป.ก.ให้เป็นทุน ในที่สุดก็จะทำให้ที่ดินเหล่านั้นหลุดจากมือของเกษตรกรรายย่อย แม้จะมีข้อบังคับว่าผู้ที่จะรับโอนที่ดิน ส.ป.ก.แปลงนั้นไปจากสถาบันการเงินจะต้องเป็น เกษตรกร ก็ยังมีคำถามอีกว่าเกษตรกรหมายถึงใคร บริษัทซีพีเป็นเกษตรกรหรือไม่ หรือผู้ปลูกยูคาฯ เพื่อตัดขายเป็นเกษตรกรหรือไม่ ในที่สุดเกษตรกรรายย่อยซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ และเป็นเป้าหมายของการแปรสินทรัพย์เป็นทุนก็จะสิ้นเนื้อประดาตัว

สินทรัพย์จำนวนมากของคนไทยในชนบทเป็นสินทรัพย์สาธารณะหรือกึ่งสาธารณะ(เช่น ส.ป.ก.4-01 ก็มีลักษณะเป็นกึ่งสาธารณะ) ฉะนั้นจึงยากมากที่จะแปรให้เป็นกรรมสิทธิ์ของปัจเจกบุคคลอย่างเป็นธรรม ประชาชนชาวอิสานใช้ที่ดินในป่าบุ่งป่าทามกันเกือบทั่วไป (เพราะมีสถิติว่าที่ดินป่าบุ่งป่าทามมีสัดส่วนในพื้นที่การเกษตรของอีสานสูงมาก) ที่ดินเหล่านี้จะยกให้เป็นทุนทรัพย์ของใคร? ไม่ใช่แก่คนที่ใช้อยู่ในเวลานี้นะครับ เพราะเขาใช้ๆ เลิกๆ อยู่ตลอด ซ้ำมีระเบียบตามประเพณีว่าป่าบุ่งป่าทามเป็นสมบัติร่วมกันของชุมชน ที่ซึ่งเลิกใช้แล้ว คนอื่นก็อาจนำไปใช้ได้ ยิ่งกว่านี้บางชุมชนยังใช้ที่ดินตรงนี้บางส่วนสำหรับการผลิตเพื่อชุมชนด้วย เช่น ใช้ปลูกข้าวไว้ขึ้นธนาคารข้าวของหมู่บ้าน เป็นต้น

นี่แหละครับคือสินทรัพย์สาธารณะ ซึ่งผมอยากจะยืนยันว่ามันเป็น "ทุน" อยู่แล้ว แม้ไม่ให้กำเนิด "นายทุน" ก็ตาม ป่าบุ่งทามเป็นแหล่งที่ประกันความมั่นคงด้านอาหารให้แก่ประชาชนจำนวนมากในภาคอีสาน ไม่ใช่ที่รกร้างว่างเปล่าที่ไม่ถูกใช้ประโยชน์ เวลานี้ที่บุ่งทามเหล่านี้อยู่ภายใต้การดูแลของรัฐตามกฎหมาย แต่รัฐไม่ได้เข้าไปจัดการการใช้โดยตรง เมื่อไหร่รัฐเข้าไปยุ่งก็คือเข้าไปริบเอา "ทุน" ของชาวบ้านไปใช้อย่างอื่นบ้าง หรือร้ายไปกว่านั้น ไปเป็นนายหน้าออกเอกสารสิทธิให้แก่ "นายทุน" ตัวจริงเอาไปใช้ทำอย่างอื่น

จะแปรสินทรัพย์สาธารณะอย่างนี้ให้เป็น "ทุน" ได้อย่างไร ผมคิดว่าคือการให้สิทธิที่ชัดเจนแก่ชุมชนในการจัดการ เพราะเขาได้จัดการมาแต่ดึกดำบรรพ์อย่างได้ผลและได้อย่างสงบเรียบร้อย ชาวบ้านมีวิธีจะใช้บุ่งทามเป็นทุนได้อีกมาก โดยไม่ให้กรรมสิทธิ์ตกเป็นของปัจเจกบุคคล แปรสินทรัพย์สาธารณะเหล่านี้ให้เป็นของชาวบ้านจริงๆ เสียทีสิครับ ขจัดความยากจนไปได้มากเหมือนกัน

ภูมิปัญญาที่จะแปรเป็นทุนก็เหมือนกัน อันที่จริงภูมิปัญญาถูกใช้เป็น "ทุน" อยู่แล้ว แม้ไม่ได้เอามาเป็นสินค้าในตลาดก็ตาม เช่น ชาวปากมูลใช้ภูมิปัญญาของเขาเป็นทุนในการสร้างความมั่นคงด้านอาหารและสังคมมานาน อยู่ๆ ก็ลงมติปิดเขื่อนหน้าตาเฉย นั่นก็คือการริบเอา "ทุน" ของชาวบ้านไปหมด ถึงจะปล่อยปลามากสักเท่าไร ก็เกินภูมิปัญญาชาวบ้านซึ่งไม่เคยทำประมงน้ำลึกมาก่อน เครื่องมือก็ไม่มี วิธีการก็ไม่รู้

ถูกต้องแล้วที่ทางเท้าซึ่งเป็นสินทรัพย์สาธารณะในกรุงเทพฯ ก็เป็นทุนอย่างหนึ่ง โดยไม่มีใครถือกรรมสิทธิ์แต่ผู้เดียว เช่น จัดระเบียบทางเท้าและการจราจร(เช่น รังแกรถยนต์ส่วนบุคคลให้มากกว่านี้เพื่อขยายทางเท้าออกไป) ปล่อยให้มีหาบเร่แผงลอยได้ภายใต้ระเบียบเรื่องความสะอาดเรียบร้อย ก็ทำให้คนอีกมากเข้าถึง "ทุน" ได้ เหมือนกัน และถ้าสามารถมองเห็นทางเท้าเป็นทุนได้ ก็น่าจะเห็นด้วยว่าแม่น้ำมูลก็เป็นทุนอันมหึมาเหมือนกัน

การแปรสินทรัพย์เป็นทุนสำหรับสภาพที่เป็นจริงของสังคมไทย จึงไม่ใช่การลอกทฤษฎีอย่างมืดบอด แต่หมายถึงการปรับให้ "ทุน" ที่ชาวบ้านใช้อยู่แล้วมีศักยภาพมากขึ้น ผมไม่อยากใช้คำว่าศักยภาพในการผลิต เพราะเดี๋ยวก็นึกกันแต่ตลาดและตัวเงินลูกเดียวอีก แต่มีศักยภาพในการสร้างความมั่นคงด้านอาหาร สังคม และความยั่งยืนของทรัพยากรต่างหากที่น่าจะเป็นเป้าหมายสำคัญที่สุด

ตรงกันข้าม ถ้ามองทุน การแปร สินทรัพย์อย่างแคบๆ เพียงการก่อให้เกิดกรรมสิทธิ์เอกชน และการทำให้เกิดมูลค่าในตลาด ผมเชื่อว่าสินทรัพย์เหล่านั้นจะหลุดจากมือผู้คนไปหมด หรือมิฉะนั้น ก็ไม่มีสินทรัพย์อะไรให้แปรเป็นทุนได้มากนัก

6. พื้นที่สาธารณะในสังคมไทย
เราทุกคนล้วนมีชีวิตส่วนตัว และชีวิตสาธารณะอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แค่แต่งตัวออกนอกบ้านเราก็กำลังใช้ท้องถนนเพื่อสื่อสารอะไรบางอย่างเกี่ยวกับตัวของเราเองแก่ผู้อื่นแล้ว และด้วยเหตุดังนั้น สิทธิเสรีภาพในการใช้พื้นที่สาธารณะจึงเป็นเรื่องสำคัญแก่ทุกคน

แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ต้องห่วงว่าสิทธิเสรีภาพจะทำให้พื้นที่สาธารณะไร้ระเบียบ เพราะไม่มีพื้นที่สาธารณะที่ไหนในโลกที่ไม่มีกฎหมาย หรือแบบแผนประเพณีกำกับ เช่นอย่างไรเสียการแก้ผ้าเดินกลางถนนในทุกหนทุกแห่งในโลกก็จะถูกลงทัณฑ์เสมอ ไม่ด้วยสายตาก็ด้วยตำรวจ

แต่ในระยะร้อยกว่าปี นับตั้งแต่ยุคนำความทันสมัยมาสู่ประเทศจนถึงปัจจุบัน ผมคิดว่าเกิดอะไรกับพื้นที่สาธารณะในสังคมไทยสองอย่าง อย่างแรกก็คือ พื้นที่สาธารณะเก่าหายไป ในขณะที่คนเข้าถึงพื้นที่สาธารณะอย่างใหม่ที่เกิดขึ้นได้ยาก หรือต้องเข้าไปภายใต้การกำกับอย่างเข้มงวดรัดกุมจากฝ่ายผู้มีอำนาจ จนทำให้พื้นที่เหล่านั้นไม่ได้เป็น "สาธารณะ" จริง

อย่างที่สองก็คือ ความไม่เท่าเทียมกันของคนกลุ่มต่างๆ ในการสร้างพื้นที่สาธารณะในสังคม

พื้นที่สาธารณะเก่าหายไปนั้นมีตัวอย่างให้เห็นมากมาย นับตั้งแต่ในทางกายภาพ ข่วงกลางบ้านก็หายไป วัดถูกหลวงพ่อยึดไปเป็นพื้นที่ของตนเองเด็ดขาด

พื้นที่ซึ่งไม่เป็นกายภาพก็หายไป เช่นการแสดงพื้นบ้านทั้งหลายเสื่อมไปแทบหมด และไม่เป็น "เวที" สำหรับการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นของคนในท้องถิ่นอีกแล้ว ระบบการศึกษาของพื้นบ้านก็หายไป เป็นต้น

ตรงกันข้ามกับที่กล่าวแล้ว พื้นที่ซึ่งเกิดใหม่ก็ไม่ได้เปิดกว้างแก่กิจกรรมทุกอย่าง ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของผู้มีอำนาจอย่างใกล้ชิด จะใช้สนามหลวงก็แล้วแต่ว่าผู้ว่าฯ กทม.จะอนุญาตหรือไม่ จะใช้ทางเท้าริมถนนสำหรับประท้วงอเมริกัน ก็ขู่ว่าจะเอาตำรวจไปลุย สื่อโทรทัศน์และวิทยุล้วนอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐอย่างเข้มงวด นับวันหนังสือพิมพ์ก็ยิ่งกลายเป็นธุรกิจที่ใหญ่ขึ้น จนกระทั่งต้องเปิดรับอิทธิพลของทุนขนาดใหญ่มากขึ้นทุกที

เนื้อหาในระบบการศึกษาแผนใหม่ที่ใช้งบประมาณสนับสนุนอยู่ก็ไม่ต่างอะไรจากสื่อ กล่าวคือเอาแต่ขายพื้นที่ "โฆษณา" ให้แก่รัฐและทุน

อย่างที่สองซึ่งเกี่ยวกับความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะนั้นได้กล่าวไปบ้างแล้ว เช่นภาคธุรกิจเท่านั้นที่สามารถเข้าไปใช้พื้นที่ในสื่อแข่งกันกับรัฐได้(แต่แย้งกับรัฐไม่ได้) พื้นที่สาธารณะที่ธุรกิจลงทุนสร้างขึ้นเองเช่นฮอลล์ต่างๆ เปิดให้เฉพาะการแสดงในเชิงพาณิชย์เท่านั้น ศิลปะที่สร้างนอกธุรกิจบันเทิงไม่มีพื้นที่สาธารณะของตนเองที่จะเผยแพร่ได้ ประชาชนระดับรากหญ้าไม่สามารถเปิดประเด็นใหม่หรือมุมมองใหม่จากฝ่ายของตนสำหรับเป็นญัตติสาธารณะ พูดได้ว่าญัตติสาธารณะถูกคนจำนวนน้อยผูกขาด ทั้งนี้ไม่แต่เพียงเพราะเข้าไม่ถึงสื่อเท่านั้น แต่มีปัญหาตั้งแต่ระดับการผลิตประเด็นขึ้นมาเลยทีเดียว

ทั้งหมดเหล่านี้ เราเคยนึกกันว่ารัฐธรรมนูญจะเปิดพื้นที่สาธารณะให้กว้างขึ้นและเท่าเทียมกันมากขึ้น แต่มาถึงวันนี้การณ์กลับเป็นตรงกันข้ามทุกอย่าง พื้นที่สาธารณะแคบลงและแบ่งแยกผู้ใช้ชัดเจนมากขึ้น

แม้บัญญัติให้คลื่นความถี่เป็นทรัพยากรสาธารณะ แต่จนถึงทุกวันนี้คลื่นความถี่ก็ยังไม่ได้เป็นสาธารณะ ผ่านมาสองสามรัฐบาล การดำเนินการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญก็ยังถูกเตะถ่วงไปเรื่อยๆ ในขณะที่ภายใต้การกำกับควบคุมของรัฐนั้น ฝ่ายทุนกลับสามารถรุกเข้าไปยึดพื้นที่นี้ไปเป็นของตนเองมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะมองทรัพยากรสาธารณะชิ้นนี้ในแง่วิทยุชุมชน หรือสัญญาณโทรศัพท์มือถือ

การชุมนุมโดยสงบซึ่งรัฐธรรมนูญให้หลักประกันไว้เป็นหมันโดยสิ้นเชิง รัฐบาลที่แล้วปล่อยให้ตำรวจตีหัวชาวนาที่เดินขบวนจนตาย รัฐบาลนี้ตีหัวและดำเนินคดีกับชาวจะนะ ซึ่งชุมนุมกันเพื่อต้องการยื่นหนังสือถึงนายกฯโดยสงบ ก่อนหน้านั้นก็อุ้มสมัชชาคนจนจากตรอกแคบๆ ข้างทำเนียบไปปล่อยวัดเหมือนหมา กีดกันผู้ประท้วงจากพื้นที่สาธารณะด้วยข้ออ้างง่ายๆ ว่าเพื่อป้องกันความปลอดภัยของแขกรัฐบาล ซึ่งแสดงความไร้สมรรถภาพของรัฐบาลในการคุ้มกันแขก

ปฏิรูปการศึกษา ไม่นำไปสู่การศึกษาทางเลือก ซึ่งควรมีความหลากหลายมากกว่าโรงเรียนที่ใช้ภาษาฝรั่งสอนแทนภาษาไทย

การเข้าไปยึดครองพื้นที่สาธารณะซึ่งรัฐธรรมนูญสร้างขึ้นเหล่านี้ ดำเนินไปท่ามกลางสื่อที่ไม่รู้สึกรู้สากับการละเมิด ท่ามกลางกลไกทางการเมืองเช่นพรรคการเมือง และองค์กรอิสระทั้งหลายซึ่งแทบจะไม่ได้ดำเนินการใดๆ เพื่อเตือนภัยสาธารณชนไทยเลย และท่ามกลางคนชั้นกลางไทยซึ่งสำนึกทางการเมืองของตัวผูกอยู่กับกระเป๋าสตางค์ของตัวเท่านั้น

ถ้าเราทุกคนมีแต่พื้นที่ส่วนตัว และไม่พร้อมจะปกป้องพื้นที่สาธารณะกันเลยเช่นนี้ อย่าว่าแต่รัฐธรรมนูญเลยที่ไม่จำเป็น แม้แต่สำนึกของการอยู่ร่วมกันเป็นสังคมก็ไม่จำเป็น เพราะเราทุกคนจะกลายเป็นเพียงพนักงานของบริษัทเท่านั้น

7. ประชาธิปไตยกับคนจน
ประชาธิปไตยเป็นเงื่อนไขสำคัญที่สุดที่จะทำให้คนจนหายจน เพราะประชาธิปไตย(ที่แท้จริง)ให้อำนาจแก่คนจน

ไม่มีคนจนที่ไหนในโลกนี้หายจนได้ด้วยการเอื้ออาทร แต่คนจนจะหายจนได้เพราะมีอำนาจ ด้วยอำนาจเท่านั้นที่จะทำให้การวางนโยบายสาธารณะจำเป็นต้องผนวกเอาผลประโยชน์ที่แท้จริงของคนจนเข้าไปด้วย

อำนาจของคนจนประกอบด้วย
1. การรวมกลุ่มและจัดตั้งเพื่อจะทำให้การเรียกร้องของตนมีพลัง(ไม่ใช่การร้องขอ)
2. การสร้างเครือข่ายของกลุ่มจัดตั้งเหล่านี้ พอที่จะประสานข้อเรียกร้องที่หลากหลายและแตกต่างกันเอง และแตกต่างจากคนในชั้นชนอื่น ให้กลายเป็นนโยบายสาธารณะซึ่งเป็นที่ยอมรับได้กว้างขวาง
3. จะทำอย่างนั้นได้ คนจนก็ต้องมีสถานะทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นที่ยอมรับในสังคมวงกว้าง ไม่ได้เป็นแต่เพียงคนที่น่าเวทนาอันควรได้รับความเอื้ออาทรจากคนอื่นเท่านั้น แต่มีสิทธิเสมอภาคกับคนอื่นที่จะต่อรองเชิงนโยบายได้เท่าเทียมกัน
4. จะมีสถานะทางวัฒนธรรมอย่างนั้นได้ ก็ต้องมีระบบการศึกษา, ศิลปะ, ระบบความรู้, และสื่อที่เป็นของตนเอง หรืออย่างน้อยอยู่ในอำนาจควบคุมของตัวได้ในระดับหนึ่ง

รัฐธรรมนูญปี 2540 เปิดโอกาสกว้างขึ้นแก่คนจนที่จะพัฒนามาสู่จุดที่มีอำนาจทำนองนั้นได้ ในขณะเดียวกัน คนจนเองก็เคลื่อนไหวจัดตั้งองค์กรด้วยตนเองพัฒนาเติบโตมาก่อนหน้าแล้ว ทั้งสองอย่างน่าจะคลี่คลายไปในทางเพิ่มอำนาจแก่คนจน และขจัดความยากจนได้(แม้มีอุปสรรคมากมาย) จนกระทั่งรัฐบาลปัจจุบันซึ่งได้คะแนนเสียงท่วมท้นในการเลือกตั้ง และนำนโยบายแก้ปัญหาความยากจนด้วยการเอื้ออาทรเข้ามาตั้งแต่เริ่มรับตำแหน่ง โอกาสแห่งอำนาจของคนจนก็แคบลงนับจากนั้นมา

การรวมกลุ่มจัดตั้งขึ้นเป็นขบวนการเพื่อเรียกร้องอย่างมีพลังของคนจนถูกบดขยี้ลงเสมอมา เพราะรัฐบาลถือว่าการเรียกร้องด้วยการชุมนุมโดยสงบเป็นการกดดัน และรัฐบาลนี้ไม่ยอมให้ใครมากดดัน ฉะนั้นการชุมนุมโดยสงบของสมัชชาคนจนจึงถูกกวาดล้างด้วยเทศบัญญัติว่าด้วยความสะอาด

การชุมนุมเพื่อยื่นหนังสือของชาวจะนะถูกตำรวจสลายด้วยความรุนแรง มาตราต่างๆ ในรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยสิทธิชุมชนถูกทำให้เป็นหมัน หรือไร้ผลในทางปฏิบัติหมดถ้าเสียงของคนจนมีได้แต่การร้องขอ

ใครจะผนวกผลประโยชน์ของเขาเข้าไปในนโยบายสาธารณะได้มากไปกว่าการเอื้ออาทร

และถ้าพิจารณาถึงเสียงเรียกร้องของคนจนในระยะหลายปีที่ผ่านมา แม้มีประเด็นที่หลากหลาย แต่เกือบทุกประเด็น ล้วนเกี่ยวกับอำนาจในการจัดการทรัพยากร และเข้าถึงทรัพยากร การเรียกร้องเหล่านี้กระทบถึงการวางนโยบายสาธารณะด้านพลังงาน, ที่ดิน, การจัดการน้ำ และคุณภาพของสิ่งแวดล้อม แต่เมื่อเรียกร้องไม่ได้ ประเด็นความเดือดร้อนเหล่านี้ก็ไม่มีผลต่อนโยบายสาธารณะ

ไม่ว่าจะเอื้ออาทรสักกี่เรื่องกี่วิธี ตราบเท่าที่คนจนยังไม่มีอำนาจเข้าไปจัดการทรัพยากรได้ในระดับหนึ่ง และเข้าถึงทรัพยากรได้ตามควร ก็เป็นไปไม่ได้ที่คนจนจะหายจน สิทธิในการชุมนุมโดยสงบจึงเกี่ยวข้องโดยตรงกับการแก้จน เป็นกระบวนการหนึ่งที่สำคัญในการที่ประชาชนจะมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายสาธารณะ ซึ่งไม่ควรเกิดขึ้นเพียงเพราะมีบางคนเที่ยวอ่านหนังสือฝรั่งขายดีเท่านั้น

ชั้นแต่จะรวมกลุ่มและจัดตั้งเพื่อเรียกร้องยังทำได้ยาก โอกาสที่จะสร้างเครือข่ายประสานกลุ่มจัดตั้งต่างๆ ของคนจนก็ยิ่งเป็นไปไม่ได้มากขึ้น คนจนนั้นไม่ใช่ชนชั้น ฉะนั้นเสียงเรียกร้องของคนจนจึงอาจขัดแย้งกันเองได้ (ที่จริงแม้แต่ชนชั้นเดียวกันก็อาจเรียกร้องสิ่งที่ขัดแย้งกันเองได้เสมอ) จำเป็นต้องมีการเชื่อมโยงกัน เพื่อประสานประโยชน์เข้าหากัน กลายเป็นพลังที่ใหญ่ขึ้น จนกระทั่งสามารถต่อรองกับคนกลุ่มอื่นได้ เช่น นโยบายพลังงานที่ประนีประนอมผลประโยชน์ของคนจนไว้ด้วยนั้น พึงเป็นอย่างไร ไม่ใช่คิดแต่แย่งชิงทรัพยากรของคนจนมาสร้างพลังงานเพื่อปรนเปรอพานิชยกรรม, อุตสาหกรรมและเมืองเพียงอย่างเดียว

คนจนจึงเข้าไม่ถึงกลไกการต่อรองเพื่อกำหนดนโยบายสาธารณะ มีแต่ความเดือดร้อนเป็นหย่อมๆ ซึ่งถูกบำบัดได้ด้วยการปราบปรามอย่างรุนแรง หรือการเอื้ออาทร อันเป็นมาตรการที่ไม่แก้ความยากจนแต่อย่างใด

อำนาจของกลุ่มคนนั้นมีได้โดยเปรียบเทียบกับคนกลุ่มอื่นในสังคมเดียวกัน ฉะนั้นจึงเกี่ยวข้องกับสถานะทางวัฒนธรรมของกลุ่มด้วย คนจนในวัฒนธรรมไทยมีสถานะต่ำ เพราะถูกจัดว่าเป็นคนที่ต้องพึ่งพาผู้อื่น (และนี่คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้มาตรการเอื้ออาทรเพื่อแก้ความยากจนมักเป็นที่ยอมรับอย่างง่ายดายในสังคมไทย)

ตัวตนที่แท้จริงของคนจนไม่ปรากฎ เพราะไม่มีใครยอมรับว่า สัมมาอาชีพที่คนจนทำอยู่นั้นมีคุณค่า เพราะช่วยจรรโลงสังคมเหมือนสัมมาอาชีพของคนในกลุ่มอื่น ยิ่งการรวมกลุ่มจัดตั้งเพื่อเรียกร้องและสื่อสารกับสังคมถูกตัดขาดหรือหวงห้ามมากเท่าไร สถานะทางวัฒนธรรมของคนจนก็จะตกอับอยู่ตราบนั้น เพราะไม่มีโอกาสที่จะยกสถานะทางวัฒนธรรมของตัวให้สูงขึ้นในสังคมไทยได้

อันที่จริง ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่พูดถึงไว้ในรัฐธรรมนูญไทยเป็นครั้งแรกนั้น มีความหมายมากกว่าการไม่ถูกปฏิบัติอย่างเลวทรามจากคนอื่นเท่านั้น แต่ต้องรวมถึงสถานะทางวัฒนธรรมซึ่งเป็นที่ยอมรับของคนอื่นๆ ด้วย อย่างไรก็ตาม แม้แต่ตีความแคบๆ ว่าการได้รับการปฏิบัติที่สมควรแก่ความเป็นมนุษย์ ก็ยังถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐละเมิดอยู่เสมอ โดยไม่มีใครตำหนิห้ามปราม

นอกจากต้องเปิดให้คนจนมีเสียงของตัวเองดังที่กล่าวแล้ว การมีสถานะทางวัฒนธรรมที่สูงยังขึ้นอยู่กับโอกาสของคนกลุ่มนั้นๆ ที่จะสร้างและสืบทอดความรู้และประสบการณ์ของตนไปในสังคม ทั้งในกลุ่มของตนเองและขยายออกไปสู่กลุ่มอื่นได้

ถ้าถามว่าคนจนมีโอกาสใช้ระบบการศึกษา (ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในสังคมปัจจุบันสำหรับทำสิ่งดังกล่าว) เพื่อการนี้เท่าเทียมกับคนกลุ่มอื่นหรือไม่ ก็จะเห็นได้เลยว่าคนจนแทบไม่มีสิทธิ์มีส่วนอะไรเลยในระบบการศึกษา ยิ่งไปกว่านั้นตัวระบบการศึกษายังสร้างอคติที่เป็นอริกับคนจนเสียด้วยซ้ำ

ในความเคลื่อนไหวของคนจนบางกลุ่ม เมื่อเขาพยายามบอกแก่สังคมว่า เขายากจนเพราะนโยบายพัฒนาของรัฐนั้น เปลี่ยนสถานะทางวัฒนธรรมของคนจนจากคนยากไร้ที่น่าเวทนาไปเป็นคนที่มีศักดิ์ศรีเทียบเท่ากับคนอื่นๆ ไปอย่างมาก เพราะฐานะทางเศรษฐกิจของใครๆ ก็อาจถึงล้มละลายได้เหมือนๆ กันจากการวางนโยบายสาธารณะที่ไม่เป็นธรรม

เช่นเดียวกับการศึกษา คนจนเข้าไม่ถึงสื่อทุกชนิด โดยเฉพาะสื่อที่คนจนเข้าถึงได้ง่ายคือสื่ออิเลคทรอนิคส์ การเข้าถึงสื่อไม่ได้หมายความว่าเป็นเพียงผู้รับสื่ออย่างเซื่องๆ แต่หมายถึงการเข้าไปใช้สื่อส่งสารของตนเองได้ด้วย

ความไม่คืบหน้าของการจัดสรรคลื่นความถี่ตามมาตรา ๔๐ (หรือการเข้าไปฉ้อฉลทรัพยากรสาธารณะส่วนนี้ไปขายให้แก่นายทุนในภายหน้า) มีความหมายโดยตรงต่ออำนาจของคนจน เพราะเท่ากับลิดรอนโอกาสของเขาที่จะสั่งสมอำนาจขึ้นในสังคม สำหรับการต่อรองเชิงนโยบายในภายหน้า

เพราะไม่มีสื่อก็เท่ากับไม่มีโอกาสที่จะสร้างสถานะทางวัฒนธรรม ไม่มีสถานะทางวัฒนธรรม ก็ยากที่จะสร้างเครือข่ายประสานประโยชน์ของกลุ่มและนอกกลุ่ม คนจนจึงจะเป็นเพียงปัจเจกชนที่น่าเวทนาในสังคมอยู่ตราบนั้น เขาไม่มีผลประโยชน์ที่จะได้รับการตอบสนองด้วยนโยบายสาธารณะ นอกจากรอรับทานจากนโยบายเอื้ออาทรเท่านั้น

นโยบายเอื้ออาทรของรัฐบาลชุดนี้เป็นทางสองแพร่งของคนจน หนทางหนึ่งคือการมีอำนาจแล้วเข้ามาต่อรองกับคนกลุ่มอื่น โดยผ่านกลไกทางการเมืองและสังคมตามรัฐธรรมนูญ

อีกหนทางหนึ่งคือการถูกปลดอำนาจโดยสิ้นเชิง แต่รอรับการเอื้ออาทรจากรัฐเท่าที่จะแบ่งปันลงมาให้ ไม่มีการขจัดความยากจนได้สำเร็จ ถ้าไม่ให้อำนาจแก่คนจน และประชาธิปไตย(ที่แท้จริง)เท่านั้น ที่ให้อำนาจแก่คนจน

8. ขึ้นทะเบียนคนจน
ความคิดที่จะช่วยคนจนโดยการให้คนจนมารายงานตัว แล้วขึ้นทะเบียนไว้ ได้รับคำยกย่องจากหลายฝ่ายว่า เป็นการช่วยคนจนชนิดถึงตัวโดยตรง ดีกว่าการช่วยโดยผ่านคนอื่นๆ ซึ่งมักไม่ถึงมือคนจน ข้อนี้มีส่วนจริง

เพราะโครงการช่วยคนจนนานาชนิดที่รัฐบาลไทยเคยทำมา มักไม่ถึงมือคนจน หรือถึงน้อย

แต่ในขณะเดียวกัน การขึ้นทะเบียนคนจนแต่ละรายเช่นนี้ คือการมองคนจนในฐานะเป็นปัจเจกล้วนๆ และก็เหมือนคนอื่นๆ ในโลก คนที่เป็นปัจเจกล้วนๆ ไม่มีเครือข่ายเชื่อมโยงถึงคนอื่นเลยย่อมเป็นคนอ่อนแออย่างยิ่ง อ่อนแอเสียจนกระทั่งความช่วยเหลือที่ให้ไปอาจไม่งอกเงยขึ้นมาพอที่จะทำให้หายจนได้ ในบรรดาคน 53,523 คน ซึ่งได้ลงทะเบียนไว้(ถึงวันที่ 9 ธันวาคม 2546) ส่วนใหญ่ขัดสนที่ทำกิน หน่วยงานราชการสังกัดหลายกระทรวงกรมป่าไม้, กรมธนารักษ์, สำนักงานปฏิรูปที่ดิน ฯลฯ ต่างสัญญาว่ามีที่ดินซึ่งจะให้ความช่วยเหลือได้รวมกันหลายล้านไร่ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ มีที่ดินซึ่งเป็นสมบัติสาธารณะ ในรูปป่าสงวนฯบ้าง, ที่ราชพัสดุบ้าง ซึ่งสามารถยกให้แก่คนที่ขัดสนที่ทำกินเหล่านี้ได้ใช้ประโยชน์

การแก้ปัญหาที่ดินด้วยการนำเอาสมบัติสาธารณะไปให้แก่บุคคลเช่นนี้ เป็นวิธีโบราณที่ทำกันตลอดมาในสังคมไทย เพื่อหลีกเลี่ยงการปฏิรูปที่ดินอย่างจริงจัง จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ในระยะยาวแล้วที่ดินเหล่านี้กลับตกอยู่ในครอบครองของนายทุนและคนรวย (โดยทางตรงถ้ามีเอกสารสิทธิ และโดยทางอ้อมถ้าไม่มีเอกสารสิทธิ) ในขณะที่ความขัดสนด้านที่ดินของเกษตรกรก็ยังคงอยู่เหมือนเดิม เพราะที่ดินหลุดจากมือเกษตรกรเพราะปัจจัยอื่นๆ มากกว่าเพราะการเพิ่มประชากร

แต่ความใส่ใจที่จะเริ่มการปฏิรูปที่ดินอย่างจริงจัง เพื่อกระจายทรัพยากรการผลิตที่สำคัญของสังคมให้ถึงมือคนอย่างทั่วถึง ไม่อยู่ในความคิดของรัฐบาลนี้ และแน่นอนว่าไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายช่วยคนจนในครั้งนี้ด้วย

ที่ดินซึ่งหน่วยราชการหมายจะยกให้ใช้ประโยชน์เหล่านี้กระจายอยู่ทั่วประเทศ คำถามคือ ถ้าคนจนในโคราชได้รับมอบที่ดินเพื่อทำเกษตรในจังหวัดลำปาง เขาจะเอาหรือไม่ และถ้าเอา ความอ่อนแอของเขาในฐานะปัจเจกย่อมทำให้ต้นทุนที่เขาจะต้องใช้เพื่อทำเกษตรในลำปางเพิ่มขึ้นอย่างมาก สมมุติว่าเงินกู้หมู่บ้านละล้าน, ธนาคารคนจน ฯลฯ มีสมรรถภาพที่จะช่วยเขาได้ ก็หมายความว่าการทำเกษตรของเขานั้นต้องมุ่งไปสู่การทำเกษตรเชิงพาณิชย์อย่างเต็มตัว เพื่อใช้ดอกและต้นแก่แหล่งเงินกู้

นโยบายที่คู่เคียงกันคือการส่งเสริมให้เกษตรกรยากจนเหล่านี้ทำเกษตรพอเพียงก็เป็นไปไม่ได้ ถ้าเกษตรในเศรษฐกิจพอเพียงหมายถึงการพึ่งตนเอง และการใช้ปัจจัยการผลิตภายนอกให้น้อยที่สุด

คนเราแต่ละคนย่อมเป็นปัจเจกด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย แต่เราไม่ได้เป็นบุคคลปัจเจกเพียงอย่างเดียว เรายังเป็นบุคคลในชุมชนด้วยเสมอ ชุมชนในที่นี้ไม่ต้องการให้หมายถึงหมู่บ้านเพียงอย่างเดียว แต่หมายรวมถึงเครือข่ายสายสัมพันธ์ที่ทำให้บุคคลแต่ละคนอยู่ท่ามกลางความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับคนอื่น มีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นอย่างสม่ำเสมอ และมีสำนึกถึงคนอื่นๆ ที่กว้างออกไป ทั้งที่ได้และไม่ได้สัมพันธ์ด้วยโดยตรง

อันที่จริง เราได้พบเสมอว่าสมบัติสำคัญของคนจนในประเทศไทยนั้นคือเครือข่ายความสัมพันธ์ที่เขามีอยู่ในชีวิตจริงนั่นเอง แม้แต่การอยู่ใต้อุปถัมภ์ของผู้นำท้องถิ่น ก็เป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้เขาสามารถอยู่รอดจนชนปีต่อปีได้

จริงอยู่มีการเอารัดเอาเปรียบคนจนในความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ แต่การทำลายความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ ไม่อาจทำได้โดยการแยกมนุษย์ออกเป็นบุคคลปัจเจกล้วนๆ เพราะผิดธรรมชาติ หากทำได้โดยการเปิดให้คนจนเข้าถึงทรัพยากรได้กว้างขวางขึ้นต่างหาก เครือข่ายที่เราพบได้เป็นปกติก็คือเครือข่ายเครือญาติ แต่ไม่ใช่เพียงเท่านั้น คนจนยังมีเครือข่ายอื่นๆ ที่จำเป็นในการดำรงชีวิต เช่น เครือข่ายทางสังคม, เครือข่ายการเรียนรู้, เครือข่ายธุรกิจ เป็นต้น

คนเก็บขยะขายก็ยังมีเครือข่ายทางธุรกิจของตัวเอง คือรู้ที่ซึ่งจะไปขาย และได้ขายกันเป็นประจำ มีเครือข่ายการเรียนรู้ในอันที่จะแลกเปลี่ยนข้อมูลกันว่า แห่งใดและโอกาสใดมีขยะที่พึงเก็บมากน้อยต่างกันอย่างไร ฯลฯ

แน่นอนปฏิเสธไม่ได้ด้วยว่า เครือข่ายของคนจนมีพลังอำนาจน้อย ทั้งทางการเมือง, เศรษฐกิจ และสังคม ฉะนั้น การเพิ่มพลังของเครือข่ายก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้คนจนได้เงยหน้าอ้าปากอย่างแน่นอน ตรงกันข้ามกับการพรากคนจนออกจากเครือข่ายจนกลายเป็นบุคคลปัจเจก ซึ่งยิ่งทำให้ตัวเขาอ่อนแอลง

ความยากจนจึงไม่ได้มาจากการไม่มีเงินเพียงอย่างเดียว หรือไม่มีปัจจัยการผลิตเพียงอย่างเดียว (เช่นกรรมกรซึ่งไม่มีปัจจัยการผลิตอื่นนอกจากแรงกายยังยากจนอยู่ แม้มีงานทำ ก็เพราะนโยบายอุตสาหกรรมและนโยบายแรงงานของรัฐต่างหาก)

การขึ้นทะเบียนคนจนในฐานะบุคคลปัจเจก จึงทำให้เขาสูญเสียเครือข่ายในการตั้งตัว ลองเปรียบเทียบว่า เราขึ้นทะเบียนความฝันแทน คนจนแต่ละคนใฝ่ฝันว่าเขาจะตั้งตัวได้อย่างไร เขามีเครือข่ายความสัมพันธ์และประสบการณ์อะไรอยู่บ้าง ที่เขาจะใช้ประโยชน์เพื่อทำความฝันให้เป็นจริง แล้วจึงค่อยดูว่า รัฐบาลจะช่วยอะไรเขาได้บ้าง

ผลจะต่างกันมากทีเดียว เพราะไม่มีใครใฝ่ฝันอะไรอย่างเป็นบุคคลปัจเจกโดดๆ ทุกคนย่อมฝันอยู่ในเงื่อนไขต่างๆ ที่แวดล้อมตัวเขาทั้งนั้น และนั่นแหละคือฐานความเป็นจริง ที่คนจนจะสามารถฟันฝ่าพ้นความยากจนไปได้

ไม่แต่เพียงเครือข่ายความสัมพันธ์เท่านั้น คนจนอีกจำนวนมากมีชีวิตอยู่ในชุมชนที่มีฐานทรัพยากร เพียงแต่เขาเข้าไม่ถึงด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งต่างหาก จะแก้ความยากจนของเขาได้ ก็คือให้โอกาสแก่เขาที่จะเข้าถึงและพัฒนาฐานทรัพยากรใกล้ตัวเขานั่นเอง ประเด็นกลายเป็นปัญหาการจัดการฐานทรัพยากรในท้องถิ่นของไทยเอง ซึ่งมีส่วนอย่างสำคัญที่ทำให้ผู้คนยากจนลง แต่การขึ้นทะเบียนคนจนไม่ได้เฉียดกรายเข้าไปใกล้ปัญหานี้เลย

กล่าวโดยสรุปก็คือ การช่วยคนจนที่ได้ผลที่สุดคือการระดมพลัง ไม่ใช่พลังของคนอื่น แต่ระดมพลังที่คนจนมีอยู่แล้วในฐานะที่เป็นบุคคลในชุมชน มีเครือข่ายความสัมพันธ์อยู่แล้ว แต่เป็นเครือข่ายที่มีพลังอำนาจน้อยในทุกทาง อาจมีฐานทรัพยากรในท้องถิ่น แต่คนจนไม่มีโอกาสเข้าถึงและโอกาสพัฒนา

เคยมีงานวิจัยที่น่าสนใจชิ้นหนึ่ง ผู้วิจัยไปถามคนจนว่าใครคือคนจน คำตอบนั้นมีหลายอย่าง เช่น มีหนี้สิน, ไม่มีงานทำ, ติดเหล้าติดยา ฯลฯ แต่คำตอบที่มีผู้ตอบเป็นเปอร์เซ็นต์มากที่สุดคือคนจนคือคนที่ต้องพึ่งคนอื่น ตามนัยะนี้ การช่วยคนจนด้วยการขึ้นทะเบียนคนจนเป็นบุคคลปัจเจก ไม่ได้ช่วยให้เขาพ้นจากความจนเลย เพราะเริ่มต้นก็ต้องพึ่งคนอื่นแล้ว และในระยะยาวโอกาสที่จะพ้นจากการพึ่งพาคนอื่นก็ไม่มี

 

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา I ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้

1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งย่อหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ
(กรณีตัวหนังสือสีจาง ให้เปลี่ยนสีเป็นสีเข้มในโปรแกรม Microsoft-word)

 

บทความเหล่านี้ เคยได้รับการตีพิมพ์แล้วในหนังสือพิมพ์มติชน และมติชนสุดสัปดาห์ รวบรวมโดยมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ในอังกฤษไพร่ติดที่ดินซึ่งเคยมีสิทธิเหนือที่ดินนั้นระดับหนึ่ง ถูกขับไล่ออกไปจากที่ดินทั้งหมดด้วยกระบวนการที่เรียกกันในประวัติศาสตร์อังกฤษว่ากระบวนการ "ล้อมรั้ว" คือเจ้าที่ดินล้อมรั้วที่ดินซึ่งกฎหมายได้ตัดทำลายสิทธิของคนอื่นไปหมด แล้วยกให้เจ้าที่ดินคนเดียว ไพร่ทั้งหมดกลายเป็นคนสิ้นไร้ไม้ตอกในพริบตา ต้องอพยพเข้าเมืองไปเป็นแรงงานราคาถูกของอุตสาหกรรมซึ่งกำลังเกิดขึ้น ถูก "นายทุน" กดขี่ทารุณอย่างเหมือนไม่ใช่มนุษย์มนา

เมื่อตอนที่เกิด "นายทุน" ขึ้นในโลกตะวันตกนั้น ตะวันตกยังไม่มี "นายทุน" เลย ฉะนั้นการแปรสินทรัพย์เป็นทุนจึงดูเหมือน(และขอย้ำว่าดูเหมือน) ทำให้ทุกคนได้เข้าถึงทุนทั่วไปหมด คนเก่งเอาทุนที่ตัวเข้าถึงนั้นไปทำให้งอกงาม สะสมจนประกอบการใหญ่โตขึ้นได้ เรียกว่าเป็นรางวัลให้แก่คนเก่ง คนมีวิสัยทัศน์ เทวดา ฯลฯ อะไรก็ว่ากันไป
แต่การแปรสินทรัพย์เป็นทุนในโลกที่สามของปัจจุบันซึ่งมี "นายทุน" อยู่แล้ว เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่า สินทรัพย์ที่ถูกแปรนั้นจะไม่ไหลเลื่อนเข้าไปอยู่ในมือของ "นายทุน" ซึ่งมีกำลังจะเข้าไปหยิบฉวยอะไรก็ตามที่สามารถทำกำไรได้ในตลาดไว้ก่อน ยิ่งกว่านี้ ในปัจจุบันไม่ได้มีแต่ "นายทุน" ชาติเท่านั้น ยังมี "นายทุนโลกาภิวัตน์" ทั่วทุกหัวระแหง การแปรสินทรัพย์เป็นทุนอาจหมายถึงการโยนสินทรัพย์ของคนจำนวนมากซึ่งได้ใช้ประโยชน์อยู่ เช่นที่ดินสาธารณะ ภูมิปัญญาซึ่งเป็นสมบัติส่วนรวม ฯลฯ ลงไปในตลาด คนยากไร้ที่ไหนไม่ทราบเลือกเก็บกวาดเอาของดีๆ ไปเรียบ โดยคนส่วนใหญ่ที่ได้แปรสินทรัพย์เดิมของตัวไม่มีทางจะเงยหน้าอ้าปากขึ้นมาเป็น "นายทุน" ได้เลย

H
การขึ้นทะเบียนคนจนในฐานะบุคคลปัจเจก จึงทำให้เขาสูญเสียเครือข่ายในการตั้งตัว ลองเปรียบเทียบว่า เราขึ้นทะเบียนความฝันแทน คนจนแต่ละคนใฝ่ฝันว่าเขาจะตั้งตัวได้อย่างไร เขามีเครือข่ายความสัมพันธ์และประสบการณ์อะไรอยู่บ้าง ที่เขาจะใช้ประโยชน์เพื่อทำความฝันให้เป็นจริง แล้วจึงค่อยดูว่า รัฐบาลจะช่วยอะไรเขาได้บ้าง ผลจะต่างกันมากทีเดียว
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ขออนุญาตใช้ภาพประกอบ เพื่อนำมาประกอบบทความฟรี บนเว็ปไซค์ - สมเกียรติ ตั้งนโม : ผู้ขอใช้