H
home
release date
220545
ภาพประกอบดัดแปลง ฉากหลังผลงานของ Kathe Kollwitz ชื่อภาพ Mother with Dead Child เทคนิคภาพพิมพ์
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ


Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ ประโยชน์ทางวิชาการ กรุณาอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร

R
relate
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนลำดับที่ 182 ถอดเทปจากรายการ ITV TALK ตอน "นักวิชาการเพื่อคนจน" ออกอากาศ วันอังคารที่ 21 พฤษภาคม 2545 เวลา 22.45 น.
interview : Nidhi

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ผมเข้าใจว่ามันมาจากทัศนคติเกี่ยวกับเรื่องของป่าอนุรักษ์ คือไปเข้าใจผิดคิดว่าป่าอนุรักษ์ เป็นป่าที่มีคนอยู่ไม่ได้เลย แต่อันที่จริง ควรจะมองว่าป่าชุมชนเป็นอีกวิธีการหนึ่งของการรักษาป่า ไม่ว่าจะเป็นป่าอนุรักษ์หรือป่าธรรมดาก็ตาม ตรงจุดนี้ทำอย่างไรจึงจะเกิดความเข้าใจร่วมกัน ไม่ใช่ว่าให้คนไปอยู่ในป่า แต่มองว่าเป็นวิธีการอีกอันหนึ่งซึ่งจะทำให้เราสามารถรักษาป่าได้ยั่งยืน

ITV TALK (ชาย): อาจารย์ครับ ผมว่ารากฐานของความคิดที่อยู่เบื้องหลังของกฎหมายนี้คือว่า ฝ่ายหนึ่งเชื่อในศักยภาพของชาวบ้านที่จะไม่ทำลายป่าเพิ่มเติม รักษาป่าได้ แต่อีกกลุ่มหนึ่งไม่เชื่ออย่างนั้น ถ้ายอมให้คนไปอยู่ในป่า เดี๋ยวเขาจะไม่รักษาอย่างที่เขาตั้งใจไว้

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : อันนี้ผมเห็นด้วย ฝ่ายหนึ่งเชื่อว่าเราสามารถจะดูแลรักษาทรัพยากรได้ โดยการที่ประชาชนทั้งหมดร่วมมือกัน อีกฝ่ายหนึ่งค่อนข้างไว้วางใจรัฐมากกว่าชาวบ้าน ทั้งๆที่รัฐได้พิสูจน์ตัวเองมาแล้วว่า ตัวไม่สามารถรักษาทรัพยากรหรืออะไรสักอย่างเดียวไว้ได้ในประเทศไทย ป่าชุมชนก็เป็นกฎหมายที่เสนอวิธีการใหม่ แทนที่จะให้รัฐเป็นผู้ดูแลฝ่ายเดียวเป็นผู้จัดการทรัพยากร ก็มาตกลงแบ่งกัน มาช่วยกันจัดการดูแล ตรงนี้ในเรื่องความเชื่อมั่นในประชาชนมันไม่มี

ITV TALK (ชาย): ทำไมอาจารย์ถึงอยู่ในฝ่ายของคนที่เชื่อมั่นในพลังของฝ่ายประชาชนและศักยภาพของประชาชน

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : เพราะผมได้เห็นความเป็นจริงว่าประชาชน จัดการทรัพยากรตัวเองประสบความสำเร็จมาแยะมาก ถ้าเอาเฉพาะประเด็นเรื่องป่าชุมชน เราสามารถยกตัวอย่างกรณีที่ชาวบ้านได้เข้าไปจัดการดูแลรักษาป่าให้ยั่งยืนได้เป็นสิบๆแห่งทั้งประเทศไทย ยังไม่ต้องพูดถึงในต่างประเทศ บางแห่งสามารถรักษาเขตป่า และฟื้นฟูเขตป่าเอาไว้ได้เป็นพันๆไร่ ไม่ใช่เพียง 500 ไร่อยู่ติดๆบ้าน คือศักยภาพในข้อนี้มันแทบจะปฏิเสธไม่ได้

ITV TALK (หญิง): มันจะเสมอไปหรือค่ะอาจารย์ ทุกพื้นที่หรือค่ะในลักษณะแบบนี้

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ไม่เสมอไป ถ้าเราทำตามร่าง พรบ.ป่าชุมชนที่ขึ้นมาจากสภาผู้แทน ก็เป็นไปได้ว่าก็จะมีคนแหกคอก จะมีคนเอารัดเอาเปรียบส่วนร่วมด้วยการแอบไปตัดไม้ทำลายป่า แต่นั่นเราก็สามารถที่จะระงับหรือเพิกถอนสภาพป่าชุมชนได้ คือในร่าง พรบ. มันวางกลไกเอาไว้รัดกุมมาก ไม่มีใครสามารถไปรับประกันได้ว่าทุกคนเป็นคนดีหมด อันนี้เป็นไปไม่ได้ แต่ที่สำคัญก็คือ กฎหมายที่ออกมานี้มันมีกลไกที่จะคอยตรวจสอบและเพิกถอนสิทธิอันนั้นหรือไม่?

ITV TALK (ชาย): เรื่องของกระบวนการป่าชุมชน อันหนึ่งถือว่าเป็นกฎหมายแรกๆที่ประชาชนเข้าชื่อกันและเสนอเข้าถึงสภาฯ อาจารย์มองเรื่องรัฐธรรมนูญที่เปิดโอกาสแบบนี้ ผ่านตัวอย่างของป่าชุมชนอย่างไรครับ?

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : คืออย่างนี้ครับ รัฐธรรมนูญที่เราใช้ในปัจจุบัน ถ้าเปรียบกับทั้งโลก ผมอยากจะพูดว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มีความก้าวหน้าค่อนข้างมาก ไอ้ก้าวหน้าหรือก้าวหลังมันเทียบกันตรงไหน? คือรัฐธรรมนูญของหลายประเทศในโลกนี้ มันตั้งอยู่บนหลักการประชาธิปไตยแบบตัวแทนล้วนๆ ทุกอย่างคุณต้องผ่านไปถึงสถาบันตัวแทนหมด แล้วในทั้งโลกก็พบว่า วิธีการแบบนี้มันไม่ work เพราะตัวแทนมันไม่สามารถเป็นตัวแทนจริงของประชาชนได้ทั้งหมดตลอดทั้ง 24 ชั่วโมง ทั้ง 4 ปี เป็นไปไม่ได้

ฉะนั้น มันก็ค่อยๆมีการนำเอาส่วนที่เป็นประชาธิปไตยทางตรงแทรกเข้ามา ร่วมมือกับประชาธิปไตยแบบตัวแทนบ้าง เข้ามาแทนที่ประชาธิปไตยแบบตัวแทนบ้างในบางเรื่องที่มันเป็นไปได้ รัฐธรรมนูญที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ เป็นรัฐธรรมนูญซึ่ง เปิดพื้นที่ให้แก่ประชาธิปไตยทางตรงเข้ามาทำงานร่วมกันกับประชาธิปไตยตัวแทนมากขึ้น การเสนอกฎหมายนี้ก็เป็นตัวอย่างอันหนึ่ง

และผมอยากตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ในระยะห้าปีที่ผ่านมา สิทธิข้อนี้ได้ถูกใช้อย่างรอบคอบ ระมัดระวัง ยังไม่เคยมีใครเสนอกฎหมายที่ไม่ได้เรื่อง เสนอเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง เสนอเพื่อที่จะทะเลาะกันสักฉบับเดียว กฎหมายที่เสนอจะดีหรือไม่ดีก็แล้วแต่ แต่เสนอขึ้นมาโดยการศึกษาและมีเหตุมีผล เช่นอย่างเวลานี้มีกฎหมายเรื่องเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ต่างๆเหล่านี้เป็นต้น ศึกษากันมามากพอสมควรในการเสนอขึ้นไป

ทั้งๆที่ 5 หมื่นชื่อ คุณก็เห็นนักการเมืองเที่ยวล่า 5 หมื่นชื่อได้แทบจะในพริบตา แต่ไม่มีใครล่า 5 หมื่นชื่อเพื่อมาเสนอกฎหมายที่ไร้สาระ จนถึงนาทีนี้ เรายังใช้มาตรานี้ในรัฐธรรมนูญอย่างสร้างสรรค์อยู่

ITV TALK (หญิง): แสดงว่ากำลังจะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ยังเป็นความหวังอยู่

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : เฉพาะเรื่องนี้ยังไม่ถูกปู้ยี่ปู้ยำ ยังไม่ถูกนักการเมืองเอาไปเสนอกฎหมายบ้าๆบอๆ เพราะว่าเรื่อง 5 หมื่นชื่อเป็นเรื่องเล็กสำหรับนักการเมือง

ITV TALK (ชาย): แต่ว่าถึงที่สุดแล้ว เรายังฝากการตัดสินใจเอาไว้กับกระบวนการตัวแทนอยู่ดีใช่ไหมครับ?

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : อันนี้เป็นการถ่วงดุลยกัน เป็นกฎหมายที่ริเริ่มขึ้นมาจากประชาชน แต่แน่นอน การกลั่นกรองยังเป็นประชาธิปไตยแบบตัวแทนซึ่งยังมีความหมายอยู่ เขาก็มีหน้าที่ในการกลั่นกรองกฎหมาย แต่ต้องกลั่นกรองกฎหมายภายใต้แรงกดดัน การแสดงความคิดเห็น และอื่นๆของสังคมทั้งหมด ไม่ใช่ไปปิดประตูตัดสินกันเอง สภาพเช่นนั้นจะค่อยๆหมดไป

ITV TALK (ชาย): ตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้มา อาจารย์เห็นความเข้มแข็ง หรือเห็นการต้องการมีส่วนร่วมมากขึ้นของคนไทยชัดเจนหรือเปล่า?

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ผมคิดอย่างนี้ด้วยซ้ำไปว่า มีหรือไม่มีรัฐธรรมนูญก็ตามแต่ คนไทยอยากมีส่วนร่วมในการปกครองตัวเองมากขึ้นตั้งแต่ก่อนหน้าที่จะมีรัฐธรรมนูญแล้ว ความเคลื่อนไหวของประชาชนเข้ามาร่วมตัดสินใจเรื่องนั้นเรื่องนี้ ถ้าเรามองย้อนกลับไป มันมีมาก่อนหน้ารัฐธรรมนูญตั้งหลายเรื่อง ที่บ้านกรูดและบ่อนอกเคลื่อนไหวมาก่อนหน้าที่จะมีรัฐธรรมนูญด้วยซ้ำไป

ITV TALK (ชาย): วันที่เราคุยกัน รัฐบาลกำลังจะตัดสินใจเรื่องโรงไฟฟ้าบ่อนอกและหินกรูด และโครงการท่อก๊าซ อาจารย์ครับ ถ้าจะให้วิจารณ์กระบวนการการตัดสินใจของรัฐบาล ซึ่งเข้าใจว่าโรงไฟฟ้า 2 โรงจะเลื่อนออกไปก่อน ส่วนท่อก๊าซจะเดินหน้า รัฐบาลได้ตัดสินใจโดยใช้กระบวนการต่างๆถูกต้องหรือยังครับ?

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ผมมีทั้งส่วนที่ยกย่องเขา อย่างน้อยเขากล้าตัดสินใจ แม้ว่าจะตัดสินใจออกมาทางใดก็ตามแต่ คือกล้าตัดสินใจ ในขณะที่โครงการเหล่านี้ผ่านมาหลายรัฐบาลโดยไม่กล้าตัดสินใจ อันนี้ผมยกย่องเขา

อันที่สองต่อมาคือ ผมว่ากระบวนการศึกษาเพื่อการตัดสินใจ คุณต้องโยงมันทั้งระบบ ไม่ใช่มองเฉพาะคุณตั้งคณะกรรมการฯ หรือตั้งนายพล 50 คนหรืออะไรก็แล้วแต่เพื่อไปดูเป็นจุดๆ ผมว่ามันไม่ใช่ ที่จริงมันเรื่องเดียวกันหมด ไม่ว่าเรื่องท่อก๊าซ ไม่ว่าเรื่องโรงไฟฟ้า ทั้งหมดคือปัญหานโยบายพลังงาน และคุณต้องมองให้กว้างด้วย ไม่ใช่มองแต่เพียงว่า พลังงานมันมีพอหรือไม่พอ เพราะพลังงานมันเกิดได้ตั้งหลายอย่างและได้หลายแหล่งด้วยกัน

นโยบายพลังงานของประเทศไทยเวลานี้คือนโยบายรวมศูนย์ นโยบายรวมศูนย์เป็นนโยบายที่หลายประเทศเขาเลิกใช้กันแล้ว คุณสร้างโรงไฟฟ้า 25 เมกกาวัตต์ กระจายไปทั่วประเทศก็ได้ ซึ่งจะทำให้คนในท้องถิ่นสามารถควบคุมตัวโรงไฟฟ้านี้ได้ดีขึ้น และเกิดมลพิษน้อยลง ทางเลือกเหล่านี้พิจารณากันหรือเปล่า อย่างนี้เป็นต้น. ในข้อนี้ผมคิดว่ากระบวนการที่เขาศึกษาเพื่อการตัดสินใจ ผมคิดว่ามันไม่รอบด้านพอ แต่ก็ยกย่องเขาว่า เขากล้าตัดสินใจ

ITV TALK (หญิง): ก็คงต้องรอดูนะค่ะว่า ตัดสินใจแล้วจะออกมาในแนวไหน?

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : จะออกมาในแนวไหนก็แล้วแต่ ไม่ว่าจะออกมาให้สร้าง ผมก็ยังยกย่องว่าคุณกล้า ออกมาไม่สร้าง ผมก็ยกย่องว่าคุณกล้า

ITV TALK (ชาย): อาจารย์ครับ ถ้าจะตัดสินใจออกมาในลักษณะที่มันไม่ตรงกับความต้องการของกลุ่มชาวบ้านที่คัดค้าน อาจารย์วิเคราะห์การเคลื่อนไหวของชาวบ้านว่า มันจะทวีขึ้นมาจนถึงขนาดความรุนแรงจนคุมไม่ได้หรือไม่ครับ?

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ผมคิดว่าไม่ แต่ถามว่าชาวบ้านจะหยุดการต่อต้านไหม? ผมว่าไม่หยุด ชาวบ้านรู้อยู่ตลอดเวลาว่า เฉพาะบ้านกรูดและบ่อนอกเป็นชุมชนที่ไม่ใหญ่นัก เขาสามารถเคลื่อนไหวได้ ภายใต้การที่สังคมส่วนใหญ่เห็นว่ามันชอบธรรม ถ้าเขาไปทำอะไรก็แล้วแต่ที่ไปทำลายความชอบธรรมของเขาเอง เขาแพ้ตั้งแต่ต้น ผมคิดว่าเขาฉลาดมาก เขารู้นะครับว่าเขามีขีดจำกัดตรงไหนในการเคลื่อนไหว

ITV TALK (ชาย): อาจารย์ได้ไปสนับสนุนชาวบ้านที่บ้านกรูดและบ่อนอก คล้ายๆการไปให้กำลังใจอย่างหนึ่ง ผมเข้าใจว่าจะมีคอลัมภ์นิสท์บางคนวิพากษ์วิจารณ์ รวมกระทั่งบางคนไม่สบอารมณ์ ไม่เข้าใจอาจารย์อยู่บ้างว่า เอ๊ะ! คิดอย่างไรจึงไปให้ปริญญาเอกให้กับคุณจินตนา แก้วขาว และคุณเจริญ วัดอักษร ซึ่งในแง่หนึ่งถูกมองว่า เคลื่อนไหวคัดค้านโครงการนี้ของรัฐมาโดยตลอด

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ต้องถามว่าปริญญาเอกคืออะไร? ปริญญาเอกก็คือ ใบที่รับรองว่าคุณมีความสามารถในทางวิชาการ. ในแง่นี้ถามว่าคุณจินตนา และคุณเจริญ มีความสามารถในทางวิชาการไหม? ตอบว่ามีมากเหลือเกิน ถ้าใครที่รู้จักคุณจินตนา และคุณเจริญ แล้วดูพัฒนาการทั้งสองคนใน 8 ปีที่ผ่านมาว่ารู้อะไรบ้าง ไม่ว่าในแง่ของกฎหมาย สังคม สิ่งแวดล้อมและอื่นๆ ผมว่าก็สมควรแก่ความสามารถที่จะประกาศรับรองด้วยปริญญาเอก อันนี้ไม่มีปัญหา

ปัญหาที่สำคัญอีกประเด็นหนึ่งที่ผมอยากจะพูดถึงก็คือ ในการต่อสู้กับชาวบ้าน ชาวบ้านมักจะถูกตราหน้าเสมอว่า"โง่" ไม่มีความรู้ สู้ไม่ได้. มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจึงบอกว่า เอา ถ้าคุณนับถือปริญญานัก มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะให้เอง คือ เอาล่ะ ความรู้จะได้เท่าๆกันในการต่อสู้

ITV TALK (ชาย): ก็คือให้ในแง่สัญลักษณ์ที่พูดถึงนี้เท่านั้นเอง ไม่ได้มีความหมายว่าเป็นปริญญาเอกเหมือนกับที่จบมาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : คุณอย่าไปนับถือไอ้พวกด็อกเตอร์เลย นี่ผมกล้าพูดได้เต็มปากก็เพราะผมก็เป็น มันก็มีความรู้แคบๆอยู่อันหนึ่งที่ทำวิทยานิพนธ์มา จะเชื่อมโยงความรู้ที่ตัวเองเรียนมากับความรู้อื่นก็ทำไม่เป็น เพราะฉะนั้นด็อกเตอร์ต่างๆที่คุณเห็น ส่วนใหญ่แล้วมันค่อนข้างจะเซ่อๆ

ผมคิดว่าคนอย่างคุณจินตนาและคุณเจริญ เป็นด็อกเตอร์ที่ดีกว่านั้นอีก คือสามารถเชื่อมโยงความรู้เข้าหากับอย่างเป็นระบบได้ เพราะฉะนั้น พูดในแง่นี้บอกว่า ไม่ควรให้ปริญญาเอกแก่คนที่เขาจบแค่ ม.6 อะไรทำนองนี้ คำถามคือ คุณเคยไปสอบสัมภาษณ์เขาหรือยัง ที่จะรู้ว่าเขาไม่มีความรู้อะไร? คุณลองไปคุยกับเขาดูแล้วจะพบว่าเขามีความรู้มากทีเดียว และผมเชื่อว่ามากกว่าด็อกเตอร์จำนวนมากในเมืองไทยหรือในเมืองฝรั่งด้วย

ITV TALK (หญิง): ถ้าอย่างนั้นคงต้องย้อนไปถึงจุดประสงค์และเป้าหมายที่แท้จริงของการก่อตั้งมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขึ้นมาแล้วล่ะค่ะว่า จริงๆแล้ว ต้องการอะไร ต้องการชี้แจงอะไรต่อสังคม

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : คืออย่างนี้ครับ ทั้งโลกเลยก็ว่าได้ มันมีหลักการอยู่ 2 ประเด็นก็คือว่า

ประเด็นแรก, ผมคิดว่าการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยทั้งโลกเลย กำลังมีปัญหาอยู่ มหาวิทยาลัยที่เรารู้จักกันอยู่ในทุกวันนี้ อย่าย้อนไปในสมัยกลางนะ เท่าที่เรารู้จักกันในทุกวันนี้ มันเป็นผลมาจากการที่มหาวิทยาลัยเตรียมกำลังคนเพื่อไปป้อนระบบการผลิตอุตสาหกรรม คุณเรียนรัฐศาสตร์ คุณเรียนสื่อสารมวลชน ผมเรียนประวัติศาสตร์ อะไรทั้งหมดนี้ เขาตั้งใจจะผลิตเราไปยืนอยู่ในตำแหน่งของสายพานการผลิตของสังคมเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น พวกเราโง่ทุกคน เรารู้อะไรกันแคบๆ และแก้ปัญหาชีวิตไม่ได้ ไม่ต้องไปพูดถึงการแก้ปัญหาสังคมเลย พวกเราส่วนใหญ่ทำได้แต่ว่าเมื่อไหร่ใครเขาตั้งคำถามมาให้เรา ซึ่งตรงกับวิชาเรา เราก็ตอบได้เหมือนกับเด็กอนุบาล พอตอบแล้วก็ขีดเส้นใต้ด้วยปากกาแดงสองเส้น แล้วก็ส่งให้เขาไป แต่เราเป็นคนตั้งคำถามเองไม่เป็น เพราะเรามองภาพกว้างไม่เห็น

มหาวิทยาลัยลักษณะแบบนี้กำลังตายทั้งโลก และมหาวิทยาลัยในประเทศอื่นๆซึ่งหลายประเทศที่รู้เรื่องนี้กำลังเริ่มปรับตัวเอง ในความหมายว่า การผลิตในเชิงอุตสาหกรรมมันกำลังเริ่มยุติลงไปแล้ว จำนวนมากมันใช้หุ่นยนต์ งานบัญชีจำนวนมากเขาใช้คอมพิวเตอร์ ไม่ใช้คนอีกแล้ว ฉะนั้นคนที่มหาวิทยาลัยควรผลิตออกไปรับใช้สังคม จะมีลักษณะอีกอย่างหนึ่ง ไม่ใช่ลักษณะเรียนรู้เฉพาะด้านแบบนั้น การเรียนรู้เฉพาะด้านเสียอีก คุณสามารถที่จะไปซื้อหนังสืออ่านเองได้ แต่การ training การฝึกหัด ในมหาวิทยาลัยที่เราเจอคนมากๆ มีเพื่อนร่วมชั้น มีครูมา มันต้องเป็นลักษณะที่ทำให้เราสามารถตั้งคำถามเป็น ไม่ใช่ให้คำตอบได้ เรามีคำถามขึ้นมาเมื่อไหร่ เราไปหาคำตอบเองได้เสมอ นี่เป็นข้อที่หนึ่งซึ่งผมคิดว่าเราอยากจะกระตุ้นเตือนให้มหาวิทยาลัยในประเทศไทยเข้าใจว่า การเปลี่ยนแปลงมันมาแล้ว คุณยังนั่งคิดแต่ผลิตวิศวคอมพิวเตอร์บ้าบออะไรต่างๆไปป้อนสายพานการผลิต มันไม่ใช่แล้ว คุณต้องกลับมาคิดเรื่องนี้ใหม่

ITV TALK (หญิง): นี่เป็นรูปแบบการหล่อหลอมบัณฑิตของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนด้วยว่าจะเป็นแบบนี้

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : อันที่สองต่อมาคือ อะไรคืออุดมศึกษา? ในประเทศไทยถูกนิยามกันแบบตื้นๆว่า อุดมศึกษาคือการศึกษาที่ต่อมาจากมัธยมปลาย ซึ่งผมคิดว่าไม่ใช่ ถ้าอย่างนั้นคนส่วนใหญ่ในประเทศไม่มีความจำเป็นต้องมีอุดมศึกษาอย่างนั้นหรือ? ผมว่าไม่ใช่

อุดมศึกษา คือการศึกษาที่ทำให้เราสามารถเชื่อมโยงศาสตร์ต่างๆเข้าหากัน เพราะการเชื่อมโยงศาสตร์ต่างๆเข้าหากันเท่านั้น ที่เราสามารถจะแก้ปัญหาชีวิตของเราได้ แต่ถ้าเป็นศาสตร์เดียวเราแก้ไม่ได้ และจริงๆการเชื่อมโยงสิ่งต่างๆเข้าหากัน เป็นสิ่งที่ชาวบ้านเขาทำกันอยู่เป็นปกติในชีวิตประจำวัน คุณก็ทำ ผมก็ทำ ทุกคนทำหมด แต่ทำโดยไม่มีการฝึกปรือเท่านั้นเอง

ฉะนั้นผมคิดว่า ทุกคนต้องการอุดมศึกษา ถ้าอุดมศึกษาหมายถึงการเชื่อมโยงความรู้ต่างๆเข้าหากัน คุณจบ ป.4 คุณก็ต้องการอุดมศึกษา เพราะฉะนั้น มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจึงเปิดขึ้นมาโดยไม่มีวุฒิขั้นต่ำว่าคุณจะต้องได้วุฒิอะไรมาถึงจะเข้าเรียนได้ วุฒิอะไรก็ได้ สิ่งที่เราต้องการคือ ขอให้อ่านหนังสือออก เพราะว่าคุณจะได้ไปอ่านเองได้ ที่เหลือแล้วไม่จำเป็นทั้งสิ้น

ITV TALK (ชาย): อาจารย์สอนอะไรกันในมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : เรามักจะสอนเรื่องที่เกาะติดกับปัญหามากกว่า คือไม่สอนตัวศาสตร์ เราสอนตัวปัญหา เช่น ครั้งล่าสุดที่เราเปิดมา เราสอนเรื่องเกี่ยวกับ"พลังงาน" คือหยิบปัญหาเรื่องพลังงานทั้งหมดมาพิจารณา ตั้งแต่พลังงานทางด้านฟิสิกส์ เป็นยังไงไล่มาเรื่อยๆจนกระทั่งถึงพลังงานในสังคมและอื่นๆ แต่ดูเรื่องเดียวคือเรื่องพลังงานอย่างรอบด้าน

ITV TALK (หญิง): นักศึกษาที่เข้าไปเรียนส่วนใหญ่ เป็นคนกลุ่มไหนค่ะ?

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : เวลานี้กำลังในการประชาสัมพันธ์ของเรายังไม่ค่อยดี ประมาณ 50% จะเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพราะการโฆษณาของเราไม่ดี จึงไม่ได้ตามเป้าหมาย เมื่อตอนเราเปิดแรกๆเราคิดว่าจะจำกัดโควตานักศึกษาจากมหาวิทยาลัยให้ไม่เกิน 25% ของชั้นเรียน แต่ว่าเราทำไม่ได้ เพราะเราดึงคนจากข้างนอกมาได้ไม่มากพอ

ITV TALK (หญิง): ในพื้นที่ ชาวบ้านเองเขาให้ความสนใจมากไหมค่ะ?

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : เราเคยมีนักศึกษาที่เป็นช่างซ่อมรถจักรยาน เป็นเด็กปั๊ม เป็นชาวนา ทุกๆอาชีพมีหมด

ITV TALK (ชาย): อาจารย์ครับ คำว่า"มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน" คือตั้งขึ้นมาเรียกชื่ออันนี้เฉยๆ หรือว่ามันมีลักษณะเป็น university จริงๆอย่างที่เรียกกันในระบบ มันเป็นอย่างไรกันครับ? คือให้การรับรอง เรียนจบมาได้ปริญญาตรี อะไรอย่างนั้นหรือเปล่า?

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : เราไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเรื่องปริญญา แต่ที่ตั้งชื่อมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เพราะว่า การศึกษาทุกวันนี้ให้ความสำคัญกับจินตนาการน้อย เพราะจะผลิตคนไปยืนอยู่ในสายพานการผลิต คุณไม่ต้องคิดมาก คุณแก้ไอ้นี่เป็นก็พอ หรือคุณใส่น๊อตตัวนี้เป็นก็พอ คุณก็ยืนได้แล้ว เพราะฉะนั้นมันไม่ต้องใช้จินตนาการ

เราคิดว่าจินตนาการสำคัญยิ่งกว่าความรู้ อย่างที่ไอน์สไตน์พูด ฉะนั้นเราจึงตั้งว่า"เที่ยงคืน" เพราะเที่ยงคืนคุณมองอะไรไม่เห็น เมื่อคุณมองอะไรไม่เห็นคุณจะต้องใช้จินตนาการ ไม่ใช่ไปเที่ยวชั่ง ตวง วัด เช่น โต๊ะตัวนี้มีเส้นผ่าศูนย์กลางเท่าไหร่ อย่างเดียว, ความรู้มันต้องมาจากจินตนาการด้วย

ITV TALK (ชาย): ผมเข้าใจว่าต้องมาเรียนกันตอนเที่ยงคืน หลายคนยังไม่เข้าใจตรงนี้... อาจารย์วิพากษ์ระบบการศึกษามหาวิทยาลัยเมื่อสักครู่นี้ อาจจะมีคนเถียงอาจารย์ว่า อย่างเช่นกลุ่มวิชาซึ่งต้องเรียนวิทยาศาสตร์หนักๆ พวกแพทย์ พวกวิศวะ ก็ต้องการความเป็นเลิศทางด้านเทคนิคของเขา เขาจำเป็นต้องสอนอย่างนั้น อาจารย์คิดว่าถูกหรือเปล่า หรือว่ามันยังต้องปรับไปอย่างไร?

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ถ้ามองภาพในสังคมโดยรวม คุณอาจจะคิดถึงวิธีการจะทำให้คนเกิดความรู้ทางเคมีระดับซับซ้อนได้หลายอย่างด้วยกัน ผมขอยกตัวอย่างเพียงอันเดียว เช่น บริษัทเป็นผู้ผลิตบุคลากร และที่ในอเมริกา บริษัทเป็นผู้ผลิตบุคลากรแต่ไม่ได้ให้ปริญญา นักเคมีที่จบด็อกเตอร์มาเดี๋ยวนี้ไม่มีความหมายหรอก เมื่อเปรียบเทียบกับนักเคมีที่อยู่กับบริษัทดูปองค์มาเป็นสิบปี ใครเป็นคนผลิตนักเคมีกันแน่ เห็นได้ชัดเลยว่ามันฝากไว้กับระบบการผลิต

ผมไม่ได้พูดว่านี่เป็นวิธีที่ถูกต้อง แต่ผมกำลังพูดว่าทางเลือกนั้นมีแยะ แต่คุณต้องคิดก่อนว่าอะไรคือทางเลือก ถ้าคุณเริ่มต้นว่านี่คือทางเลือกทางเดียวที่มีอยู่ คุณไม่ต้องคิดอะไรเลย ก็นั่งก้มหน้าก้มตาทำๆอะไรไปเรื่อยๆ

ITV TALK (หญิง): ในส่วนของตัวบัณฑิตล่ะค่ะ บัณฑิตของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเท่าที่ผ่านๆมา เป็นลักษณะอย่างไร ในห้าปีที่ผ่านมา?

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : เราไม่มีบัณฑิต เรามีคนสนใจในเรื่องต่างๆ เช่นเรื่องพลังงาน ก็มาเรียนเรื่องพลังงานกับเรา เสร็จแล้วก็ออกไป ก็จบกันไป

ITV TALK (หญิง): อย่างคนที่สนใจ กลุ่มที่อาจารย์ต้องการจริงๆ ถ้าเขาอยากจะเข้ามาร่วมจะต้องทำอย่างไรบ้าง?

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ไม่ต้องทำอะไร อยากเรียนก็เดินเข้ามเรียนได้เลย กลุ่มที่เราต้องการจริงๆก็คือความหลากหลายของนักเรียน อยากจะได้ชาวนามากกว่านี้ อยากจะได้คนซ่อมจักรยานมากกว่านี้ แต่ส่วนใหญ่คนที่มาเข้าชั้นเรียนเป็นคนชั้นกลางในเมือง เพราะเราไม่มีกำลังในการที่จะดึงเอาคนในชนชั้นอื่นๆเข้ามา เราเคยพยายามออกไปเปิดชั้นเรียนในชนบท ก็ไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไหร่นัก

ITV TALK (หญิง): เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2545 ที่ผ่านมาอาจารย์ได้รับรางวัลศรีบูรพา ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้กับผู้ซึ่งมีผลงานเขียนเป็นระยะเวลากว่า 30 ปีด้วยกัน รางวัลนี้แสดงให้เห็นถึงบทบาทที่สำคัญของอาจารย์อีกบทบาทหนึ่งก็คือ ในฐานะนักเขียน ซึ่งในคำประกาศเกียรติคุณ ได้กล่าวถึงการต่อสู้เพื่อคนยากคนจนด้วย

อาจารย์ได้ให้แง่คิดต่างๆเกี่ยวกับการต่อสู้ของคนยากจน คนยากจนในแนวคิดของอาจารย์มีความหมายว่าอย่างไรบ้างค่ะ?

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : สรุปสั้นๆก็คือคนที่เข้าไม่ถึงทรัพยากรของคนที่ดำรงชีวิต ซึ่งเป็นประชากรจำนวนมากของประเทศ

ITV TALK (ชาย): ความยากจนที่นักวิชาการพยายามอธิบายว่า มันต้องจนต่อไปเพราะว่ามันเป็นความยากจนเชิงโครงสร้าง มันจะยากไหมครับที่เราจะแก้ความยากจนเชิงโครงสร้างนี้

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ยากครับ เมื่อไหร่ที่มันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างมันจะแก้ยากมาก แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าไม่ควรแก้นะครับ

ITV TALK (ชาย): ในระหว่างนี้ที่รัฐบาลกำลังทำ เอาอะไรลงไปในคนยากจน เช่น กองทุน อะไรต่ออะไร...

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ทั้งหมดเหล่านี้ ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย แต่ว่ามันไม่กระทบการแก้ไขเชิงโครงสร้าง มีนักกฎหมายที่ศึกษาเฉพาะตัวกฎหมายอย่างเดียว พบว่ามีกฎหมายไม่ต่ำกว่า 300 ฉบับ ที่ทำให้คนจนเสียเปรียบ ก็แน่นอน กฎหมายที่เกี่ยวกับทรัพยากรทั้งหลาย คนจนเสียเปรียบ ยังไม่พูดถึงแนวทางปฏิบัติอีกที่คนจนๆจะไปขอเช่าป่า ซึ่งบอกว่าไร่ละ 10 บาท คุณคิดว่าจะได้ไหม? ในกฎหมายบอกว่าได้ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนจนคนรวย แต่ในทางปฏิบัติได้ไหม? ส่วนใหญ่นายทุนใหญ่ๆไปเช่าเพื่อจะทำรีซอร์สได้สบายๆ นี่ก็เป็นการเข้าไม่ถึงทรัพยากร

ITV TALK (หญิง): อย่างความไม่เท่าเทียมของกฎหมายที่อาจารย์ว่าไว้ เป็นแรงบันดาลใจด้วยหรือเปล่าค่ะที่ทำให้อาจารย์ตั้งใจที่จะเป็นปากเป็นเสียงและจะต่อสู้ในเรื่องนี้

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : คนจนเป็นคนที่อ่อนแอค่อนข้างมาก เพราะไม่มีคนที่เป็นปากเสียงพอที่จะให้สังคมได้ยิน ถ้าเรามีส่วนช่วยเขาในด้านนี้ได้ก็ดี แต่ผมก็ไม่แน่ใจในตัวเองว่ามีส่วนช่วยได้แค่ไหน? แต่ว่าถ้าใครสามารถที่จะช่วยให้เขาได้มีปากมีเสียงก็ดี

แต่เวลานี้ผมคิดว่าคนจนในประเทศไทยฉลาดขึ้น แล้วเขารู้แล้วว่าไม่มีใครเป็นปากเสียงแทนเขาได้ เขาต้องเป็นปากเสียงของตัวเขาเอง มันถึงเกิดสมัชชาคนจนและอื่นๆขึ้นมา

ITV TALK (ชาย): ในแวดวงนักวิชาการ ซึ่งบางท่านได้แบ่งเอาไว้ว่ามี"ขุนนางนักวิชาการ"บ้าง, "ไพร่นักวิชาการ"บ้าง, หรือ"นักวิชาการที่ทำงานเพื่อชาวบ้าน"อย่างอาจารย์ ทำไมนักวิชาการที่มีลักษณะทำงานเพื่อชาวบ้าน มันถึงมีไม่มากครับในเมืองไทย?

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : มันยากครับ ผมขอแยกอย่างนี้ก่อนคือ อุดมคติของผมกับตัวผมแยกออกจากกัน เพราะว่าบางทีตัวเราเองก็ไม่สามารถทำได้ตามอุดมคติของเรา

นักวิชาการเพื่อคนจนคืออะไร? คุณต้องย้อนกลับไปดูว่า ความรู้ที่เราผลิตขึ้นในสังคมไทย จะรับมาหรือสร้างขึ้นเองก็แล้วแต่ เป็นความรู้ที่เอื้อต่อประโยชน์ของคนที่ไม่จนทั้งนั้น และความรู้มันเป็นอำนาจ ถ้าคุณสร้างความรู้ที่เอื้อประโยชน์ต่อคนจน คุณให้อำนาจแก่เขา ขอยกตัวอย่างรูปธรรม

เมื่อเดือนที่แล้วนี้เอง เราเพิ่งไปจัดสัมนาที่สกลนคร เรื่อง"ทางเลือกของการจัดการน้ำ" เราเชิญชาวบ้านมาเป็นวิทยากร เราพบว่าชาวบ้านมีความรู้มากมายมหาศาลในการจัดการน้ำในภาคอีสาน แยะมากๆเลย แต่ว่าความรู้ที่เราครอบงำสังคมทุกวันนี้เป็นทางเลือกทางเดียว คือ เขื่อนกับอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ และเขื่อนกับอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ อย่านึกว่าความรู้มันเป็นกลาง มันไม่เป็นกลางหรอก คุณสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ รวมทั้งคลองส่งน้ำ คุณริบอำนาจการตัดสินใจในไร่นาจากชาวบ้านไปเลย เพราะชาวบ้านจะปลูกพืชอะไร ปลูกเมื่อไหร่ ขึ้นอยู่กับว่าเขาจะส่งน้ำมาอย่างไร? การตัดสินใจว่าจะปลูกอะไรไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวชาวบ้านอีกแล้ว แต่อยู่ที่กรมชลประทาน

เพราะฉะนั้นความรู้มันให้อำนาจด้วย ประเด็นของนักวิชาการเพื่อคนจน ตามอุดมคติของผมก็คือว่า ทำอย่างไรเราจึงจะสามารถร่วมมือกันในการสร้างความรู้ ที่จะเพิ่มอำนาจให้กับคนจนได้ แล้วก็เป็นความรู้ที่มันอ้างวาสเป็นกลางเท่าๆกันกับความรู้ที่คุณสร้างเขื่อนสร้างอ่างเก็บน้ำนั่นแหละ

ITV TALK (ชาย): อันนี้เองมันยากกว่าการไปให้ความรู้กับอย่างอื่น หรือว่ายังไงมันถึงมีไม่มากอย่างที่อาจารย์ว่า

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : คุณต้องกลับมาดูที่โครงสร้างระบบการศึกษาเราทั้งหมดเลย มันไม่เอื้อเลย สมมุติว่ามีอาจารย์มหาวิทยาลัยสักคนที่อยากทำเรื่อง"ทางเลือกการจัดการน้ำ" เริ่มต้นผมยังไม่แน่ใจว่าจะขอทุนใคร. เราจัดการสัมนาครั้งนั้น เราได้เชิญหน่วยงานที่ให้ทุนไปร่วมสัมนา ไม่มีหน่วยงานไหนส่งคนไปสักคนเดียว เพราะอะไรผมก็ไม่ทราบ

เพราะฉะนั้น เริ่มต้นที่อาจารย์สักคนอยากจะทำเรื่องนี้ ผมยังไม่รู้เลยว่าจะไปหาทุนที่ไหน? จะให้เขาเอาเงินตัวเองตระเวนไปนั่งคุยกับชาวบ้าน เพื่อจะเก็บตัวอย่างเหล่านี้เป็นปีๆ แล้วก็มันมีวิธีที่หลากหลายมาก ผมว่าจะถูกกว่าควักเงินตัวเองไปเรียนด็อกเตอร์จากอเมริกาเสียอีก อันนี้ใช้เงินไม่กี่แสนบาท แต่คุณทำด็อกเตอร์เพื่อจะศึกษา"ทางเลือกการจัดการน้ำของชาวบ้าน"ในปัจจุบันนี้ ลงทุนหลายล้านบาท

ITV TALK (ชาย): ฟังอย่างนี้ ดูอนาคตที่จะมีนักวิชาการหรือคนอื่นๆไปให้ความรู้กับชาวบ้านจริงๆ มันก็ยังไม่มี...

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ไม่ใช่ให้ความรู้กับชาวบ้าน แต่ให้ความรู้กับคุณ กับผมอย่างนี้ แต่เป็นความรู้ซึ่งเป็นทางเลือก ความรู้ที่ให้อำนาจแก่คนที่เป็นชาวบ้าน สามารถเอามาต่อรองได้ เวลาจะสร้างเขื่อนก็บอกว่า มันมีทางเลือกการจัดการน้ำอะไรอีกบ้าง? คุณก็เริ่มคิด คุณก็เริ่มถามอธิบดีกรมชลประทานว่า เอ๊ะ! ก็มันมีทางเลือกอย่างนี้ แล้วทำไมคุณไม่คิดถึงทางเลือกเหล่านี้เลย ทำไมคุณเสนอแต่เรื่องที่จะฟันเงิน 4-5 พันล้านแต่เพียงอย่างเดียว เป็นต้น

สังคมเรา เมื่อคุณไม่ศึกษาทางเลือกที่ให้อำนาจแก่คนจน เราเองทั้งหมดก็อับจนไปด้วย ถูกไหม? มีด็อกเตอร์ ด็อกตีนอะไรมันเสนอเงินหมื่นห้าพันล้านบาท จะแก้ปัญหาอันนั้นอันนี้ได้ คุณก็ต้องยอมเชื่อมัน เพราะคุณไม่มีความรู้อะไรจะไปสู้มัน และนี่คือความล้มเหลวของมหาวิทยาลัย เพราะมหาวิทยาลัยไม่เคยผลิตความรู้ที่เป็นทางเลือก

ITV TALK (หญิง): ถ้าอย่างนั้น ดูเหมือนมันจะเป็นแนวโน้มที่ดีหรือเปล่าค่ะ กับการที่มีการชุมนุมของกลุ่มที่ไม่ได้รับความเท่าเทียมกันต่างๆ อย่างหน้าทำเนียบรัฐบาล หรืออะไรในลักษณะแบบนี้เพื่อต่อรอง

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : กรณีการต่อต้านโรงไฟฟ้าหินกรูด ผมว่าเป็นการให้ความรู้ต่อชนชั้นกลางในเมืองในเรื่องเกี่ยวกับนโยบายที่ค่อนข้างจะพิกลพิการในเรื่องเกี่ยวกับนโยบายพลังงานของประเทศได้แยะมากเลย สมัยหนึ่งเราเคยมีพลังงานสำรอง 25% สำหรับ 25% เราอย่าคิดว่ามันเป็นตัวเลขลอยๆนะ มันกินอยู่ในค่า FT ของเราทุกคนจริงไหมครับ เวลานี้ลดลงมาเหลือ 15% แล้วก็มีนักวิชาการบางคนที่เข้ามาร่วมอยู่กับกลุ่มชาวบ้านที่บ้านกรูด เขาเสนอบอกว่า 15% ก็ไม่ถูก ที่จริงคือมันควรจะเป็นตัวเลขที่ยืดหยุ่นได้ ไม่ใช่ตัวเลขที่ตายตัว

ITV TALK (ชาย): อาจารย์ครับ ถ้าจะดูกรณีที่บ้านกรูดเป็นตัวอย่าง ถ้าเทียบกับกลุ่มที่อยู่ในเมืองอย่างเช่นกรุงเทพฯอะไรแบบนี้ อาจารย์คิดว่าคนชั้นกลาง คนที่มีเงิน หรือคนในกรุงเทพฯ ทำไมเขาไม่ค่อยรวมตัวกันได้เหมือนกับในต่างจังหวัด

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : สองอย่างนะครับ อันที่หนึ่งคือประเพณี คุณอย่าลืมนะว่าส่วนใหญ่ของคนกรุงเทพฯ ไม่ได้เกิดกรุงเทพฯ หรืออย่างน้อยรุ่นพ่อไม่ได้เกิดกรุงเทพฯ อพยพมาหลังจอมพลสฤษฎ์นี้เองเป็นส่วนใหญ่ เพราะฉะนั้นมันก็ขาดเครือข่ายทางสังคมที่มีมาก่อน ในขณะที่คนสลัมมีมากกว่าเพราะเขาอพยพมาเป็นกลุ่ม เขาไม่ได้มาเดี่ยวๆแบบนี้ เพราะฉะนั้นโดยธรรมชาติถ้าคุณไปเปรียบเทียบกับลอนดอน ลอนดอนคนเขาอยู่กันมาหลายชั่วอายุคน มันสร้างเครือข่ายทางสังคมได้กว้างพอสมควร

อันที่สองต่อมาผมอยากจะพูดว่า สถาบันทางสังคมของเรามันล้มละลายเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สมัยใหม่ในสังคมไทย ผมขอยกตัวอย่าง"วัด" วัดเคยเป็นศูนย์กลางของชุมชนมาก่อน แม้แต่ในกรุงเทพฯเองก็เคยเป็นศูนย์กลางมาก่อน พอสังคมมันเปลี่ยน ถามว่า วัดปรับตัวเองเพื่อจะรักษาสถานะความเป็นศูนย์กลางของชุมชนไหม? ผมว่าไม่ได้ทำ

"โรงเรียน" อย่าว่าแต่พ่อแม่เด็กเลย เด็กเองพอเรียนรอบบ่ายมาตอนเช้าครูยังไล่กลับไปเลย เรียนรอบเช้ามาตอนบ่ายไล่หมดเลย คุณจะไปพูดถึงโรงเรียนเป็นศูนย์กลางของชุมชนได้อย่างไร? คนกรุงเทพฯแค่อยากจะประชุมกัน นัดกันว่า น้ำมันเริ่มท่วมแล้ว เราจะต้องมาร่วมมือกันป้องกันน้ำ ถามว่าจะประชุมกันที่ไหน? ไม่มีว่ะ, ไม่มีที่จะประชุมกัน ซึ่งมันควรจะเป็นศาลาการเปรียญ ที่ซึ่งสมัยหนึ่งมันเป็นที่ที่คุณจะประชุมกัน แต่เวลานี้วัดมันไม่ได้เป็นของชาวบ้านอีกต่อไปแล้ว โรงเรียนก็ไม่ใช่ ไม่รู้จะประชุมที่ไหน? ไปเช่าโรงแรมประชุมกัน อันนี้จะบ้าเหรอ

ITV TALK (หญิง): อาจารย์ค่ะ ถ้าอยากจะมีการประชุมกัน จะเริ่มต้นอย่างไรค่ะในเมื่อทุกวันนี้ มันต้องดำเนินไปในลักษณะแบบนี้อยู่ดี

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ผมคิดว่า spirit หรือจิตใจที่อยากจะรวมกันเพื่อแก้ปัญหามันมีอยู่ ไม่เช่นนั้นคุณไม่มี จส.100 หรือ ร่วมด้วยช่วยกัน เพราะฉะนั้นทำอย่างไรถึงจะเอื้อให้เกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้นได้ ผมคิดว่าแค่เอื้อเฟื้อทางกายภาพก็น่าจะพอ เช่นมหาวิทยาลัย ลานตรงนี้ที่เราคุยกัน เลิกไล่กันเสียทีได้ไหม? อย่างนี้เป็นต้น

ITV TALK (ชาย): อาจารย์เกษียรตัวเองจากระบบของมหาวิทยาลัยออกมา ทุกวันนี้ยังมีงานวิจัย หรือจะมีงานเขียนอะไรออกมาในอนาคตอีกอย่างไรบ้างครับ

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ผมใฝ่ฝันแต่ไม่แน่ว่าจะทำได้ เพราะอายุจะยืนพอหรือเปล่าก็ไม่ทราบได้คือ อยากจะทำงานวิชาการอีก 2 ชิ้น แต่ว่าก็อาจจะไม่สำเร็จ ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับทางด้านประวัติศาสตร์

ITV TALK (ชาย): ส่วนงานเขียนอื่นๆที่อาจจะไม่เกี่ยวข้องกับงานวิชาการทางด้านประวัติศาสตร์ ซึ่งมีลักษณะเป็นงานเขียนทั่วๆไป อาจารย์ตั้งใจจะทำอะไรอีกไหมครับสำหรับเรื่องนี้

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ก็คงเขียนงานให้มติชนตามปกติ ประเภทบทความอย่างที่เคยเขียนมา

ITV TALK (ชาย): ครับนี่ก็คือ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการเพื่อชาวบ้าน คุยกับอาจารย์แล้วได้ความรู้เพิ่มขึ้นเยอะ แล้วก็ค่อยเข้าใจสังคมไทย เข้าใจชาวบ้านมากขึ้นกว่าเดิม วันนี้ต้องขอขอบคุณอาจารย์ที่ให้เกียรติกับ ITV TALK ขอบคุณอาจารย์ครับ ... สวัสดีครับ

หมายเหตุ : บทความนี้ยาวประมาณ 9 หน้ากระดาษ A4

 

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา I webboard

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

 

สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้

1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด หรือ Ctrl + A
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V จะได้ข้อมูลมา ซึ่งยอหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ

ITV TALK (ชาย): ไอทีวี ทอล์ค วันนี้นำท่านมาเพื่อให้พบกับนักวิชาการซึ่งได้รับการยอมรับนับถือมากที่สุดคนหนึ่งของประเทศ ท่านโดดเด่นทั้งในเชิงวิชาการและบทบาททางสังคม เป็นที่รู้กันว่า ท่านอุทิศตัวให้กับชาวบ้าน ให้กับคนยากจนมาโดยตลอด

ITV TALK (หญิง): บทบาทที่โดดเด่นอีกอย่างหนึ่งของแขกรับเชิญของเราในวันนี้ก็คือ การเป็นนักคิดนักเขียนนั่นเอง บทบาทนี้ได้รับการยอมรับ แล้วก็ส่งผลให้ท่านได้รับรางวัลศรีบูรพาประจำปีนี้มาหมาดๆ เราจะไปพูดคุยกับ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์กันค่ะ

ITV TALK (ชาย): วันนี้เรามากันที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาคุยกับ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ซึ่งวันนี้ได้มาทำหน้าที่และบทบาทอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นจุดเด่นของอาจารย์ที่ทำมาโดยตลอด นั่นคือหน้าที่ที่จะให้การวิพากษ์วิจารณ์ ให้ความรู้ ถกเถียงประเด็นต่างๆในประเด็นสาธารณะ โดยเฉพาะเรื่องของคนยากจนที่อาจารย์ติดตามมาโดยตลอดในช่วงหลัง ซึ่งคือเรื่องป่าชุมชน วันนี้อาจารย์ก็จะมาพูดที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วย

อยากจะเริ่มต้นด้วยเรื่องของ"ป่าชุมชน"ซึ่งเป็นประเด็นที่อาจารย์เฝ้ามองมานาน และในปัจจุบันกำลังอยู่ในระหว่างพิจารณาถกเถียงกัน อาจารย์จะสรุปว่าเรื่องป่าชุมชน สาเหตุที่มันต้องมาลงเอยด้วยการที่วุฒิสภาฯไม่ยอมให้ตั้งป่าชุมชนในเขตป่าอนุรักษ์ มันคืออะไรครับ?