North
East
West
South
533 อจ.ร่วมลงชือ แถลงทั่วปท. ไม่เอาโรงไฟฟ้า ข่าวสด 21 มกราคม 2545 หนุนบ่อนอก-บ้านกรูด อัดแหลกพวกโกงชาติ สุดทนจนต้องออกโรง วอนคนไทยจี้ให้เลิก

ผลของการพัฒนาที่ตกอยู่กับคนเพียงบางกลุ่ม ในขณะที่คนส่วนใหญ่ต้องเป็นผู้แบกรับต้นทุน ทั้งสิ่งแวดล้อม สุขภาพ สังคม วัฒนธรรม และเงินในกระเป๋า เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาเหมือนกันทั่วโลก

เฉพาะในประเทศไทย การเอาเปรียบเช่นนี้ ยังถูกซ้ำเติมด้วยการคอรัปชั่นเชิงนโยบายเข้าไปอีก พร้อมค่าโง่ที่แกล้งโง่แถมเข้ามาด้วย เป็นเรื่องที่แม้แต่พระอินทร์ก็สุดทน

ดังนั้น นักวิชาการทั่วประเทศ จึงร่วมกันลงชื่อคัดค้านความไม่ถูกต้องนี้ (สนใจรายละเอียด อ่านต่อด้านล่าง)

20-01-2545
วันที่แถลงข่าวพร้อมกัน
โดยนักวิชาการทั่วประเทศ
ประจวบฯ พร้อมกันทั่วประเทศ ชี้ 4 ประเด็นสำคัญ ถ่านหินสกปรกทำลายสิ่งแวดล้อม, สัญญาเอื้อนายทุน, บ้านกรูด-บ่อนอก ยังอุดมสมบูรณ์ไม่ควรสร้างโรงไฟฟ้า ควรให้ชาวบ้านพัฒนาชีวิตด้านอื่น, แนะให้ฟ้องพวกแกล้งโง่ทำสัญญาเสียเปรียบ ส่วน 'เกษียร เตชะพีระ' เปิดแถลงที่จุฬาฯ อัดพวกขี้โกง เซ็นสัญญาเอื้อประโยชน์นายทุน และจะไม่ยื่นข้อเรียกร้องให้รัฐ แต่จะชวนคนไทยจี้ให้ยกเลิกโครงการ 'ดร.ธรณ์' แนะ 'นายกฯแม้ว' ไปดูปลาวาฬเสียบ้าง เพราะเป็นของจริง อย่าอ่านแต่อีไอเอขยะ-มั่วข้อมูลทั้งเพ ชี้ถ้าเป็นรายงานลูกศิษย์ก็ให้ตก ขณะที่ 'สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์' แถลงที่โคราช เผยเหตุที่นักวิชาการออกมามากเป็นประวัติการณ์ เพราะสุดทนกับความอัปยศ 'เริงชัย ตันสกุล' แฉที่สงขลา ถ้าสร้างค่าโง่เกิดแน่กว่า 8 แสนล้าน
นิธิ เอียวศรีวงศ์' นำแถลงที่เชียงใหม่ จับมือนักวิชาการ 533 คน หนุนชาวบ้าน 'บ่อนอก-บ้านกรูด' ต้านโรงไฟฟ้า
ภาพประกอบดัดแปลง ผลงานของ Marcel Paquet Botero ชื่อภาพ The Musicians, 1984 เทคนิคสีน้ำมันบนผ้าใบ
back home
N
next
หากนักศึกษา สมาชิก และท่านผู้สนใจต้องการข้ามไปหน้า home ของเว็ปไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนตามปกติ กรุณา คลิกที่คำว่า next page หรือตามปกติ
next
page

'นิธิ'นำแถลงที่เชียงใหม่ เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 20 ม.ค. ที่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ต.สุเทพ อ.เมือง เชียงใหม่ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการอาวุโส แห่งมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน พร้อมด้วยบรรดานักวิชาการ อาทิ นางสุชาดา จักรพิสุทธิ์ นายชัยพันธุ์ ประภาสะวัต ฯลฯ ร่วมแถลงข่าวกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินที่บ่อนอก-บ้านกรูด โดยมีคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนรวมแถลง พร้อมทั้งแจกเอกสาร "คำแถลงการณ์ของกลุ่มนักวิชาการกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินที่บ่อนอก-บ้านกรูด" และรายชื่อนักวิชาการและประชาชนกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินบ้านกรูด-บ่อนอก จำนวน 533 คน ในการแถลงครั้งนี้มีอาจารย์และประชาชนพระภิกษุสงฆ์มาร่วมฟังการแถลงประมาณ 50 คน

ศ.ดร.นิธิอ่านเอกสารแถลงการณ์ มีใจความว่า เรียนพี่น้องประชาชนชาวไทยที่เคารพ พวกเราดังรายนามข้างล่างนี้ เป็นกลุ่มนักวิชาการที่ใส่ใจการพัฒนา ในแนวทางที่ประชาชนมีส่วนร่วม ใคร่เสนอความเห็นเกี่ยวกับการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินสองโรง ขึ้นที่ตำบลบ่อนอกและบ้านกรูด จ.ประจวบคีรีขันธ์ แด่พี่น้องประชาชนได้ร่วมพิจารณา กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จะสร้างขึ้นนี้ ไม่ใช่ปัญหาเทคนิคด้านพลังงาน ที่ไม่เกี่ยวข้องกับแนวทางการพัฒนา และประชาชนไม่พึงเข้าไปเกี่ยวข้อง ต้องปล่อยให้ "ผู้เชี่ยวชาญ" เพียงหยิบมือเดียวเป็นผู้ตัดสินใจแต่ลำพัง ตรงกันข้าม การสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง กับมีผลต่อการกำหนดให้แนวทางการพัฒนาเป็นไปในแนวทางส่งเสริมให้ผลพวงการพัฒนาตกแก่คนส่วนน้อยต่อไป อย่างไม่สิ้นสุด แม้แต่ประเด็นทางด้านเทคนิคของการจัดการด้านพลังงานก็มีจุดที่น่าจะต้องทบทวนด้วยคำถามใหม่ๆ อีกมาก

'ถ่านหิน'ตัวการก่อมลพิษเพียบ

พวกเราจึงใคร่เสนอความเห็นเพื่อการพิจารณาร่วมกันดังนี้
1.ถ่านหินไม่ว่าจะอยู่ในสภาพอะไรและเผาไหม้อย่างไร ก็จัดเป็นเชื้อเพลิงที่มีพิษภัยสูง ในหลายประเทศของยุโรปตะวันตก และอเมริกาเหนือ ได้ระงับการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงของโรงไฟฟ้าไปแล้ว เกือบทุกประเทศไม่สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขึ้นใหม่ ทั้งนี้เพราะประเทศเหล่านั้นได้ประจักษ์ผลร้ายของการใช้ถ่านหินเป็นพลังงาน เช่น ก่อให้เกิดฝนกรด, โรคภัยไข้เจ็บเกี่ยวกับทางเดินลมหายใจ, ตลอดจนก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจก และด้วยเหตุดังนั้นจึงทำให้ต้องหาตลาดใหม่สำหรับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังถ่านหิน และตัวถ่านหินเองในประเทศกำลังพัฒนาเช่นประเทศไทย

แม้ว่าถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงที่ราคาต่ำแต่เครื่องกำเนิดไฟฟ้าถ่านหินมีราคาสูง อย่างไรก็ตาม การลงทุนตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินนี้ได้รับการประกันความเสี่ยงไว้แล้ว เนื่องจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯต้องจ่ายเงิน "ค่าความพร้อมจ่าย" ให้แก่โรงไฟฟ้าอยู่แล้วไม่ว่าโรงไฟฟ้าจะผลิตกระแสไฟป้อนให้แก่สายส่งของกฟผ.หรือไม่ก็ตาม

โรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งสองโรงจะมีส่วนสำคัญในการผลิตคาร์บอนขึ้นไปทำให้เกิดภาวะเรือนกระจก แม้ว่าในปัจจุบันดูเหมือนอนุสัญญากรุงเกียวโตซึ่งนานาชาติมีมติร่วมมือกันลดปริมาณคาร์บอนในชั้นบรรยากาศลงยังไม่บรรลุผล แต่ในอนาคตก็เป็นที่แน่นอนว่า ปริมาณคาร์บอนที่ประเทศไทยผลิตขึ้นจะกลายเป็นอุปสรรคในการค้าระหว่างประเทศของไทยเอง โดยเฉพาะกับประเทศที่ยอมรับพันธะของอนุสัญญากรุงเกียวโต

แฉสัญญาเอื้อนายทุนชัด

2. แม้ว่าคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ มีมติตั้งแต่ พ.ศ. 2540 ให้ลดปริมาณสำรองไฟฟ้าของประเทศลง เนื่องจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ แต่จากการคำนวณของนักวิชาการอิสระอื่นๆ พบว่า พลังงานไฟฟ้าสำรองที่มีอยู่ในประเทศเวลานี้ก็ยังสูงเกินไปคือกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ (ในเสี้ยววินาทีของวันที่มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในรอบปี) ประเทศต้องลงทุนกับกำลังไฟฟ้าสำรองนี้จำนวนหลายพันล้านบาท ทั้งๆ ที่มีความมั่นคงในระบบไฟฟ้าอยู่แล้ว ฉะนั้น แม้จะระงับการสร้างโรงไฟฟ้าบ่อนอก-บ้านกรูดไปก็ไม่ทำให้กำลังไฟฟ้าของประเทศไร้เสถียรภาพลงแต่อย่างใด เรายังมีเวลาคิดและเตรียมการสำหรับจัดหาแหล่งพลังงานอื่นๆ ได้โดยไม่ต้องรีบเร่ง

ในการส่งเสริมให้เอกชนสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่หรือที่เรียกว่า IPP นั้นเอื้อประโยชน์ต่อเอกชนที่ลงทุนอย่างสูง เพราะผู้ลงทุนแทบจะไม่ต้องเสี่ยงทางธุรกิจแต่อย่างใดเลย หากสามารถทำสัญญากับกฟผ.ให้รับซื้อบริการได้สำเร็จ (และนี่คือเหตุผลที่จนบัดนี้ก็ไม่สามารถเปิดเผยสัญญาของโรงไฟฟ้าบ่อนอก-บ้านกรูดได้)

ถ้าเจาะลึกลงไปในบรรดาเอกชนที่ลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าเอกชน ซึ่งกฟผ.ทำสัญญารับซื้อก็จะพบด้วยความตระหนกว่า ประกอบด้วยคนจำนวนน้อยไม่กี่ตระกูล บางส่วนก็เป็นบริษัทบริวาร หรือวงศาคณาญาติของผู้ใหญ่ที่เคยบริหารกฟผ.มาก่อน คนเหล่านี้ร่วมทุนหรือเป็นนายหน้าร่วมทุนกับบริษัทต่างชาติและทำกำไรกับกำลังไฟฟ้าสำรองอย่างมหาศาล

ฉะนั้น จึงอาจมองได้ว่าตัวเลขที่สูงของกำลังไฟฟ้าสำรองก็ตาม วิธีคำนวณเพื่อหลบค่าที่แท้จริงของการใช้ไฟฟ้าและไฟฟ้าสำรองก็ตาม ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย อันเป็นการคอร์รัปชั่นซึ่งกำลังเข้ามาแทนที่การคอร์รัปชั่นแบบฉ้อราษฎร์บังหลวงในเมืองไทย

ตัดสินใจเอง-เมินชาวบ้าน

3. บ่อนอก-บ้านกรูด เป็นทำเลที่มีความสมบูรณ์ของทรัพยากรทะเลและชายฝั่งอย่างมาก ดังจะเห็นได้จากการสำรวจพันธุ์ปลาของนักวิชาการอิสระ (คือไม่ได้เป็นลูกจ้างของโรงไฟฟ้า) แหล่งปะการังน้ำตื้นที่บ้านกรูด และปลาวาฬที่บ่อนอก มีประชากรจำนวนมากของทั้งสองตำบลที่หากินอยู่กับประมงชายฝั่ง เป็นแหล่งสวนมะพร้าวขนาดใหญ่ นอกจากนี้ยังมีทิวทัศน์ที่งดงามอย่างยากจะหาทำเลใดในเมืองไทยมาเทียบได้ ดังนั้น บ่อนอก-บ้านกรูดจึงมีศักยภาพในการพัฒนาไปได้หลายทางเลือก เช่น อาจเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ซึ่งประชาชนในท้องถิ่นเป็นผู้รับผลประโยชน์โดยตรง หรือทางเลือกอื่นๆ อีกมาก จึงน่าจะรักษาทำเลทั้งสองไว้สำหรับทางเลือกการพัฒนาที่ประชาชนตัดสินใจได้เองว่าจะเลือกอย่างไร จึงจะสอดคล้องกับความสามารถและทุนทางสังคมและวัฒนธรรมที่เขามีอยู่ ไม่สมควรเป็นอย่างยิ่งที่จะนำไปเป็นที่ตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งมีพิษภัยหลายประการดังที่ทราบอยู่แล้ว และเสี่ยงกับพิษภัยที่ยังไม่ทราบอีกมากในอนาคต

4. นโยบายของรัฐพรรคไทยรักไทย มุ่งจะสร้างความเข้มแข็งของประชาชนระดับรากหญ้า ความเข้มแข็งดังกล่าวนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยวิถีทาง 2 ทางเท่านั้นคือ หนึ่ง เปิดทรัพยากรท้องถิ่นให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ตามวิถีทางและศักยภาพของเขา ไม่นำเอาทรัพยากรท้องถิ่นไปสังเวยนายทุนต่างชาติให้พร่าผลาญเพื่อทำกำไรส่วนตัว แม้ในปัจจุบันที่ยังไม่มีโรงไฟฟ้า ก็อาจเห็นได้ว่าชุมชนบ่อนอก-บ้านกรูด มีมาตรฐานการครองชีพและสถิติการศึกษาสูงกว่าอีกหลายชุมชนในประเทศไทย ฉะนั้น ถ้าประชาชนในสองตำบลนี้ได้มีโอกาสใช้และพัฒนาทรัพยากรท้องถิ่นของเขาต่อไปโดยไม่มีโรงไฟฟ้า ก็แน่ชัดว่าเขาจะประสบความสำเร็จมากขึ้นและเป็นส่วนหนึ่งของความเข้มแข็งระดับรากหญ้าตามความต้องการของรัฐบาล

ข้อที่สอง เปิดการมีส่วนร่วมระดับการตัดสินใจการใช้ทรัพยากรเป็นของชุมชนในท้องถิ่น แต่ที่ผ่านมาในกรณีโรงไฟฟ้า เวทีการตัดสินใจเป็นของคนข้างนอกฝ่ายเดียว ถ้าจะเปิดเวทีสาธารณะก็ทำเป็นพิธีกรรมเพื่อให้ชาวบ้านได้แต่เพียง "รับฟัง" มากกว่ามีส่วนร่วมในการตัดสินใจจริง ตราบเท่าที่เป็นเช่นนี้ ก็ไม่มีทางจะเกิดความเข้มแข็งระดับรากหญ้าขึ้นได้เพราะความเข้มแข็งระดับรากหญ้า จะเกิดได้ก็ต่อเมื่อมีอำนาจการตัดสินใจระดับหนึ่งเสมอ

แนะให้ฟ้องพวกแกล้งโง่

แท้จริงแล้วประชาชนชาวบ่อนอก-บ้านกรูด ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า เขาไม่ได้ใช้เพียงอารมณ์ความรู้สึกในการมีส่วนร่วม แต่มีการค้นหาข้อมูลในทุกด้านขึ้นมาต่อสู้เชิงนโยบาย ในหลายประเด็นทำได้เหนือกว่านักวิชาการที่รับจ้างทำอีไอเอให้แก่โรงไฟฟ้าเสียอีก เพียงแต่ว่าชาวบ้านถูกกีดกันออกไปจากเวทีสาธารณะด้วยวิธีการต่างๆ เสมอมาเท่านั้น ฝ่ายรัฐจึงน่าจะเกิดโอกาสให้เขาได้ร่วมตัดสินใจอย่างจริงจัง

พวกเรากลุ่มนักวิชาการดังรายนามข้างล่างนี้จึงมีความเห็นว่ารัฐควรมีมติระงับโครงการทั้งสองลงโดยเด็ดขาด ในขณะเดียวกันควรตั้งคณะกรรมการขึ้นพิจารณาว่า รัฐจำเป็นต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่บริษัทหรือไม่ เท่าใดกันแน่ หากจำเป็นต้องจ่าย ก็ควรทบทวนดูด้วยว่า แบบสัญญากับบริษัทนั้นมี "ค่าโง่" อยู่ที่ไหนบ้าง ควรแก้ไขแบบสัญญาส่วนไหนเพื่อมิให้รัฐเป็นฝ่ายเสียเปรียบในอนาคตอีก ในส่วนของบุคคลที่มีส่วน "แสร้งโง่" ก็ควรนำตัวมาฟ้องร้องกล่าวโทษให้เป็นที่ประจักษ์ในสังคมด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้อ่านแถลงการณ์เสร็จก็ได้ตอบข้อซักถามของสื่อมวลชน ว่าตอนนี้ทางกลุ่มนักวิชาการคงจะตอบทันทีไม่ได้ว่าจะเคลื่อนไหวอย่างไรต่อไป แต่ว่าเราคงเคลื่อนไหวต่อไปแน่ๆ คงจะสังเกตเห็นว่า คำแถลงข่าวของเรานั้นไม่ได้เรียกร้องต่อรัฐบาลโดยตรงแต่เรียกร้องต่อสังคม ถ้าสังคมมีความตระหนักถึงประเด็นต่างๆ ที่เราเสนอใน 4 ประเด็นนี้มากขึ้น ผมก็เชื่อว่าสังคมไทยนั้นจะมีพลังในการกำกับรัฐบาลของเขาเอง ซึ่งอันนี้เป็นหัวใจสำคัญของประชาธิปไตยยิ่งกว่าอะไรทั้งสิ้น

โพลชี้คนกว่า 50% ไม่เอาด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่า นอกจากความเคลื่อนไหวของชาวประจวบแล้วจังหวัดอื่นมีความเคลื่อนไหวอย่างไรบ้าง นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้เปิดเผยว่า จากการสำรวจของเอแบคโพล ที่ลงในหนังสือพิมพ์ข่าวสด เกิน 50 เปอร์เซ็นต์ของประชาชนที่เขาไปสำรวจพบว่า ไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้

ต่อข้อถามที่ว่าตอนนี้ทางรัฐบาลมีแนวโน้มที่จะมีมติให้สร้างหรือไม่เท่าที่วิเคราะห์ของนักวิชาการ นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้เปิดเผยว่า จริงๆ แล้วทางนักวิชาการก็ดูไม่ออกเหมือนกัน ในขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรีลงไปและออกมาพูดว่าต้องเคารพความเห็นของชาวบ้านในท้องถิ่น ในขณะเดียวกันท่านก็ให้สัมภาษณ์หรือให้แถลงการณ์กับตัวแทนของอเมริกันว่า ชาวบ้านได้ฟังความข้างเดียวเลยเข้าใจผิดอยู่เกี่ยวกับกรณีโรงไฟฟ้าที่บ่อนอก-บ้านกรูด ตนก็ไม่ทราบว่าท่านคิดอะไรของท่านอยู่เวลานี้ ประเด็นสำคัญนั้นเราไม่ต้องการที่จะพูดกับตัวรัฐบาล เราต้องการจะพูดกับสังคมเพราะว่าทุกครั้งที่เราเคลื่อนไหวทุกทีเราไม่เคยส่งจดหมายไปถึงรัฐมนตรีคนไหนทั้งสิ้น แต่เราจะพูดกับสังคมเสมอเพราะผมเชื่อว่าเราต้องช่วยกันสร้างสังคมให้มีอำนาจกำกับรัฐ

"จริงๆ สัญญาที่หน่วยงานของรัฐไปทำกับบริษัทเอกชนในการสร้างโรงไฟฟ้าตามที่ต่างๆ นั้นถูกปิดบังเกือบทุกสัญญาไม่มีอันไหนเปิดเผยทั้งนั้น และทั้งหมดเหล่านั้นไปเปิดดูให้ดีจะพบว่า บริษัทที่ลงทุนในการทำธุรกิจโรงไฟฟ้าแทบจะไม่ต้องมีภาคเสี่ยงในเชิงธุรกิจอะไรเลย เต็มไปด้วยค่าโง่ พวกสัญญาต่างๆ ถึงต้องถูกปิดบังตลอดเวลา ฉะนั้น ถ้าหากเราสามารถขุดรากถอดโค่นในกรณีบ่อนอก-บ้านกรูดมาได้ ผมเชื่อว่าสังคมไทยจะได้ประโยชน์อย่างมากในการที่เราจะรู้ว่า ค่าโง่นั้นซ่อนอยู่ตรงไหนบ้าง และทีหลังเวลาเราทำสัญญาเรื่องโรงไฟฟ้ากับบริษัทเอกชนทั้งหลายเราจะได้สามารถป้องกันค่าโง่ต่างๆ ได้"

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีการยุติการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเรื่องสัญญาต่างๆ ก็ต้องชดใช้ให้ทั้งหมดทั้งสัญญาใหม่และเก่าที่เคยทำไว้ก่อน นายนิธิกล่าวว่า ก็สมควร แล้วเราจะต้องชดเชยหรือเปล่ายังไม่แน่ เพราะว่าข้อมูลที่ออกมามีหลายกระแสด้วยกัน แม้แต่ว่าการเลื่อนการสร้างโรงไฟฟ้า ฝ่ายหนึ่งก็กล่าวหาว่า รัฐบาลเป็นฝ่ายเลื่อนอีกฝ่ายหนึ่งก็กล่าวหาว่าอีกฝ่ายเป็นฝ่ายเลื่อน จริงๆ คืออะไรกันแน่เรายังไม่ทราบ เราอยู่ในสังคมที่ปิดๆ บังๆ ตลอดเวลาในขณะที่มีการประกาศว่าจะมีการปราบคอร์รัปชั่น แต่ไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชน และค่าโง่นั้นเราแก้ได้ด้วยการเลิกโง่ จะเลิกโง่ได้ก็ต้องเรียนรู้เท่านั้นเอง คือในสิ่งที่เราทำผิดพลาดมาแล้วหรือแสร้งโง่กันมาแล้วมีอะไรบ้างจะได้อุดช่องโหว่เหล่านั้นได้

'เกษียร'อัดพวกขี้ฉ้อ-โกงชาติ

วันและเวลาเดียวกัน ที่ห้องประชุมเกษมอุทยานิน คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลุ่มนักวิชาการประกอบด้วย ดร.เกษียร เตชะพีระ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ดร.ธรณ์ ธำรงค์นาวาสวัสดิ์ จากคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผศ.ดร.ฉันทนา บรรพศิริโชติ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกลุ่มนักวิชาการอีกจำนวนหนึ่ง เปิดแถลงข่าวถึงกรณีเดียวกัน ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนทุกแขนง และประชาชนที่สนใจเข้าร่วมรับฟังจนแน่นห้องประชุม

ดร.เกษียร เตชะพีระ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แถลงเป็นคนแรกโดยกล่าวว่า ในการแถลงข่าวครั้งนี้ ถือเป็นข้อเสนอของนักวิชาการที่รวมตัวกัน เพื่อคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าทั้งสองแห่งคือที่ บ้านกรูดและบ่อนอก โดยขณะนี้ได้มีการลงชื่อคัดค้านแล้วจำนวน 533 คน จากนักวิชาการของสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อแสดงจุดยืนในครั้งนี้คือให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และให้คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ทั้งนี้ปัญหาดังกล่าวไม่ใช่ปัญหาทางด้านเทคนิคแต่เป็นประเด็นทางการเมือง ตนอยากให้จะให้พิจารณาดูว่าผลของการพัฒนาจะเป็นประโยชน์ของใคร และใครจะต้องมาแบกรับภาระจึงอยากจะชวนให้ประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของประเทศร่วมกันพิจารณา

ภายหลังอ่านแถลงข่าวร่วมของกลุ่มนักวิชาการแล้ว ดร.เกษียร กล่าวว่า จากกรณีดังกล่าว อยากจะชี้ให้เห็นประเด็นหลักๆ ก็คือ หนึ่ง, กรณีนี้ต้องสงสัยว่าจะเป็นการคอร์รัปชั่นทางนโยบาย เพราะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนมากเกินไป และเกี่ยวข้องกับกลุ่มคนเพียงไม่กี่กลุ่ม ได้แก่รัฐวิสาหกิจ กลุ่มทุนและนักการเมืองในประเทศ และกลุ่มทุนต่างชาติ ผลจากการพัฒนาตกอยู่ที่คนกลุ่มน้อย แต่ภาระตกอยู่ที่ประชาชน ถือเป็นการกระทำที่ถูกกฎหมายแต่ผิดหลักสาธารณะ มีการฉ้อฉล ทำให้ชาติเสียผลประโยชน์ และเป็นการกระทำที่ไม่โปร่งใส ในประเด็นที่สอง ตนอยากจะชี้ให้เห็นว่าการใช้พลังงานถ่านหินถือว่าเป็นการใช้ทรัพยากรที่ไม่โลกาภิวัตน์ ประเทศอื่นๆ ได้เลิกใช้ไปแล้ว เพราะเป็นพลังงานที่สกปรกก่อให้เกิดมลภาวะ เกิดมลพิษ ซึ่งจริงๆ แล้วแม้ว่าถ่านหินจะเป็นเชื้อเพลิงที่ราคาต่ำ แต่เครื่องกำเนิดไฟฟ้าถ่านหินมีราคาสูง รวมทั้งค่าพร้อมจ่ายที่จะต้องจ่ายให้กับโรงไฟฟ้าทำให้กลายเป็นต้นทุนที่แพงขึ้น การผลิตสินค้าต่างๆ ก็ต้องแพงขึ้นตามลำดับ ซึ่งจะทำให้การส่งออกสินค้าของไทยไปสู่ตลาดโลกลำบากมากขึ้น

วอนคนไทยจี้เปิดสัญญา

ประเด็นที่สาม บ่อนอกและบ้านกรูด เป็นทำเลที่มีทรัพยากรเหมาะกับเศรษฐกิจพอเพียงอยู่แล้ว รวมทั้งยังมีทรัพยากรที่สมบูรณ์ไม่ควรนำมาเผาเพื่อทำการค้า ทำไฟฟ้า ซึ่งจะทำให้ชุมชนไม่มั่นคงเกิดวิกฤตต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งที่สวยงาม พันธุ์ปลาต่างๆ ต้นไม้ เป็นสมบัติที่ล้ำค่าหายากควรจะรักษาไว้ ซึ่งถ้าใช้เป็นทรัพยากรก็จะไม่มีวันหมด และใช้ให้สอดคล้องกับคนในพื้นที่ ตรงกับความสามารถและทักษะซึ่งจะเป็นฐานที่มั่นคงทำให้ประชาชนเป็นพลเมืองดีและเป็นคนไทยตัวอย่างที่รักชุมชน

และประเด็นสุดท้ายเกี่ยวเนื่องกับนโยบาย ตนคิดว่าเป็นการดำเนินนโยบายที่ผิดนโยบาย ทำให้ไทยไม่รักไทย เพราะถือว่าเป็นการเข้าไปทำลายชาติ ทำลายชุมชน ทำลายเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้ชุมชนแตกกันทั้งๆ ที่โรงไฟฟ้ายังไม่สร้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐดำเนินนโยบายในสภาพที่รัฐวิสาหกิจแอบทำ แอบแก้สัญญากันเองโดยไม่ยอมเปิดเผยให้กับสาธารณชนทราบ ทำกันเองในกลุ่มทุนในประเทศ พวกนักการเมือง และผู้ใหญ่บางคน กลุ่มทุนต่างชาติ ซึ่งเป็นการกระทำที่นำไปสู่การต้องจ่ายค่าโง่

"จึงอยากชวนเชิญให้ทุกคน รวมทั้งสื่อมวลชนกดดันเรียกร้องให้เปิดสัญญาต่างๆ ไม่เฉพาะสัญญากรณีนี้ ในสรุปก็คือในนามนักวิชาการจำนวน 500 กว่าคน มีความเห็นเรียกร้องให้ระงับโครงการดังกล่าวอย่างเด็ดขาด และตั้งคณะกรรมการพิจารณา ตรวจสอบ เปิดเผยหาคนโง่ที่ทำให้ประชาชนต้องจ่ายเงินค่าโง่"

'ดร.ธรณ์'แฉขบวนการมั่วอีไอเอ (EIA)

ด้าน ดร.ธรณ์ ธำรงค์นาวาสวัสดิ์ จากคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ตนอยากจะนำเสนอในเรื่องของสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งความผิดพลาดของรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) ที่ผ่านการอนุมัติไปแล้ว ทั้งนี้จากการศึกษาของตนที่ลงไปในพื้นที่จริงเห็นชัดว่าความสมบูรณ์ของท้องทะเลยังมีอยู่ ที่เห็นได้ชัดก็คือแนวปะการังที่มีอยู่ 70 กว่าไร่ โผล่พ้นน้ำ ซึ่งชาวบ้านยืนยันว่ามีแน่นอน ซึ่งเราก็เห็นอยู่ว่ามีอยู่จริงและห่างฝั่งเพียง 600-700 เมตรเท่านั้น แต่ปรากฏว่าในอีไอเอ กลับรายงานว่าเป็นหินโสโครก ซึ่งถือว่าผิดพลาดและเมื่อมีการศึกษากันจริงๆ ก็พบว่ามีปะการังอยู่จริงเป็นแนวยาวจนเป็นที่ยอมรับ จึงต้องทำอีไอเอในฉบับทบทวนใหม่ บริษัทเก่าที่เคยทำอีไอเอฉบับที่ผิดพลาดก็เพียงแค่ถูกพักใบอนุญาตเท่านั้น

ตรงนี้ตนอยากจะชี้ให้เห็นว่าขบวนการพิจารณา อีไอเอ ผิดพลาด เป็นเรื่องแปลกที่การสร้างโรงงานมูลค่า 7 หมื่นกว่าล้านบาทนั้น กลับใช้ผู้ชำนาญการพิจารณา อีไอเอเพียงไม่กี่คนในการตรวจสอบรายงานที่ถูกส่งขึ้นมา โดยไม่เคยลงไปดูข้อเท็จจริง ไม่เคยลงพื้นที่ไปดูแต่กลับพิจารณาจากแผ่นกระดาษที่ถูกเขียนส่งขึ้นมาให้เท่านั้น

จากการที่ตนและนักวิชาการกลุ่มหนึ่งได้เข้าไปศึกษาดูและหาข้อมูลในพื้นที่จริง ก็พบว่าบริเวณดังกล่าวมีจำนวนชนิดพันธุ์ปลาหลากหลายชนิด มากกว่าที่ระบุใน อีไอเอ รวมทั้งการประกอบอาชีพประมงของชาวบ้านก็มีถึง 26 รูปแบบ แต่ในรายงานอีไอเอกลับสำรวจไม่พบ นอกจากนี้ยังมีข้อบกพร่องโดยไม่ได้เข้าไปสำรวจในเรื่องเกี่ยวกับการท่องเที่ยวทั้งๆ ที่ในพื้นที่มีรีสอร์ตอยู่ถึง14แห่งและยังมีนักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยวชมอยู่ แต่ในอีไอเอไม่ได้ระบุเรื่องการท่องเที่ยว กลับไปใช้ข้อมูลของหัวหินมาคำนวณแทน ทั้งๆ ที่นักท่องเที่ยวก็ยังอยู่ โดยเฉพาะแนวปะการังที่อยู่ห่างฝั่งเพียงแค ่700 เมตร เป็นสิ่งที่มีค่า เด็กๆ หรือประชาชนทั่วไปสามารถนั่งเรือเข้าไปชมได้ง่ายดายในราคาถูก เพียง 50 บาทก็ไปดูได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปไกลถึงหมู่เกาะสุรินทร์ หรือสิมิลัน ที่ต้องใช้เงินจำนวนมาก ข้อมูลเหล่านี้ในอีไอเอกลับไม่ได้ระบุไว้เลย

ยืนยัน'วาฬบ่อนอก'ของจริง

สำหรับที่บ่อนอก ที่บอกว่าไม่มีปลาวาฬก็เป็นเพราะรัฐไม่เคยออกไปดู ถ้าเพียงแต่ฝันให้ปลาวาฬมาโผล่ที่หน้าทำเนียบรัฐบาลคงไม่มีทาง ชาวบ้านต้องเป็นคนไล่หาปลาวาฬมาเพื่อยืนยันให้เห็นว่ามีจริง สำหรับปลาวาฬที่บ่อนอกพบเมื่อเดือน มิ.ย.2544 ชาวบ้านบอกว่ามีก็ต้องพิสูจน์เอง ต้องเอาเรือออกไปไล่หารูปมายืนยันเอง ซึ่งปัจจุบันนี้ก็ยังอยู่ และอยู่มาแล้ว 6 เดือน ไม่ใช่ปลาวาฬที่พลัดหลงเข้ามา สำหรับตนที่ผ่านมาไม่เคยเห็นปลาวาฬบรูดา โผล่พ้นน้ำขึ้นมาในท่าทางที่สวยงามแบบนี้มาก่อน ซึ่งปัจจุบันนี้ถือว่าบ่อนอกเป็นจุดดูปลาวาฬแห่งแรกในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีนักท่องเที่ยวเดินทางไปดูอยู่ตลอดเวลา ซึ่งคณะตรวจสอบบอกว่าไม่เห็นปลาวาฬก็เพราะไม่เคยออกไปดู ใช้การพิจารณาแค่จากหน้ากระดาษในรายงานอีไอเอนี้เท่านั้น

นอกจากนี้ในผลกระทบด้านอื่นๆ ที่ตนอยากจะชี้ให้เห็นอีก เช่นเรื่องการดูดน้ำทะเลเข้าไปเพื่อใช้ในกระบวนการผลิตไฟฟ้านั้นตนไม่ทราบว่าอุณหภูมิจะเกี่ยวข้องกับความเสียหายของปะการังหรือไม่ แต่ที่แน่นอนก็คือทำให้แพลงตอนในทะเลถูกทำลายเสียชีวิตไปด้วย ซึ่งแพลงตอนนั้นจริงๆ แล้วก็วัยอ่อนของสัตว์น้ำทุกชนิด เช่น ปลาทู หรือปลาอื่นๆ อีกจำนวนมาก เมื่อน้ำทะเลถูกดูดเข้าไป แพลงตอนพวกนี้ก็จะถูกดูดเข้าไปด้วยจำนวนมากมายมหาศาล แต่เมื่อปล่อยน้ำออกมารับรองว่าแพลงตอนหรือตัวอ่อนของสัตว์น้ำเหล่านี้จะต้องตายและถูกทำลายแน่นอน เหมือนกับว่าเอาปลาออกไปจากทะเล ถ้าคำนวณ 25 ปี เราจะต้องสูญเสียปลาถึงหมื่นกว่าล้านตัว ทรัพยากรทางทะเลก็ถูกทำลายไป ทำให้ชาวบ้านสูญเสียอาชีพ ชุมชนก็อ่อนแอตามไปด้วย

ไม่ยื่นให้รัฐบาล-จี้ให้เลิก

ทั้งนี้ตนเห็นว่า อีไอเอนี้มีข้อผิดพลาดมากมาย ถ้าเป็นรายงานวิทยานิพนธ์ของลูกศิษย์ตนก็จะให้ตก เพราะมีข้อผิดพลาดมากเกินที่จะรับได้ นอกจากนี้โครงการนี้ยังเป็นโครงการที่ทำให้ตนรู้สึกหมดกำลังใจที่จะเป็นนักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก โดยสรุปเห็นว่ารัฐบาลควรจะระงับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าทั้งสองแห่งเพื่อกลับไปตั้งหลัก เหตุการณ์ที่ผ่านมาหลายๆ ครั้งยังไม่เข็ดอีกหรือ รัฐบาลน่าจะนำเหตุการณ์เหล่านั้นมาเป็นบทเรียน และสิ่งที่ต้องแก้ไขมากที่สุดก็คือขบวนการพิจารณาอีไอเอ ที่ตนคิดว่าเป็นสิ่งที่ผิดพลาดมากที่สุด

นอกจากนี้ในการแถลงข่าวดังกล่าวยังมีความเห็นของนักวิชาการเพิ่มเติมอีกหลายประเด็น สรุปว่า ที่นักวิชาการทั้งหมด 500 กว่าคนออกมาคัดค้านโครงการดังกล่าว ที่มองเห็นชัดๆ ก็คือประเด็นของปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจนมาก ในอดีตอาจจะไม่ค่อยให้ความสำคัญ แต่ปัจจุบันได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแล แต่ก็เป็นเพียงแค่ตรายางเท่านั้น ทั้งนี้ในกรณีของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ก็เคยมีบทเรียนมากมาย เช่น ที่โรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่แม่เมาะ จ.ลำปาง สุดท้ายก็กลายเป็นโศกนาฏกรรม เพราะเป็นตัวการที่ทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างร้ายกาจ ทำลายชุมชนที่ อ.แม่เมาะ ชี้ให้เห็นว่าการวางแผนด้านพลังงานมีปัญหา ดังนั้น รัฐบาลต้องเปิดสัญญาที่ทำในนามประชาชนกับเอกชนให้สาธารณชนได้รับรู้ ซึ่งก็ไม่รู้ว่ามีอีกกี่ฉบับที่ประชาชนเสียประโยชน์และไม่เคยได้รับรู้

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการยื่นหนังสือให้กับนายกรัฐมนตรีหรือไม่ กลุ่มนักวิชาการตอบว่าคงจะไม่ยื่นให้กับรัฐบาล แต่จะเป็นการนำเสนอเรียกร้องให้ประชาชนและสังคมช่วยกันคิดช่วยกันผลักดันให้ระงับโครงการดังกล่าว

ยกย่อง'บ้านกรูด-บ่อนอก'นักสู้

ทางด้านภาคอีสาน ที่ห้องประชุมคุรเวทย์ คณะครุศาสตร์ ภายในสถาบันราชภัฏนครราชสีมา นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ และนายปรีชา อุยตระกูล นักวิชาการจากสถาบันราชภัฏนครราชสีมา นายอารีย์ ศรีอำนวย จากกลุ่มการศึกษาทางเลือก นายวีระ แก้วหมื่นไวย จากสภาองค์กรชุมชน นายบริพัตร สุนทร จากมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย นายชาติเจริญ ชอบพิมาย ตัวแทนเครือข่ายเหล้าพื้นบ้านแห่งประเทศไทย เปิดแถลงข่าวเรื่องเดียวกัน

นายสมเกียรติ กล่าวว่า จุดยืนของมติร่วมกันของนักวิชาการในภาคอีสานจะสนับสนุนการเมืองภาคประชาชนให้เข้มแข็งเป็นเวลากว่า 4 ปี ที่ชาวบ้านที่บ่อนอกและบ้านกรูดได้เคลื่อนไหวด้วยเรียกร้องความชอบธรรม ตามมาตราที่46และพิทักษ์ชุมชนให้ปกติสุข และต่อเนื่องในชีวิตความเป็นอยู่ตาม มาตราที่ 56 ของรัฐธรรมนูญ การเคลื่อนไหวที่ผ่านมาไม่ได้รุนแรงที่อยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย นักวิชาการยุค 14 ตุลา มองเห็นการเคลื่อนไหวครั้งนี้ไม่ธรรมดา มีการต่อสู้กับอำนาจรัฐต่อเนื่องกว่า4ปี เป็นการทำสงครามทรัพยากรธรรมชาติเป็นการลุกขึ้นสู้ของประชาชน ที่มีเจตจำนง ดังเช่นกรณีแทนทาลัมที่ภูเก็ต เขื่อนแก่งกรุง จ.สุราษฎร์ธานี หรือที่องค์กรประชาชนภาคอีสานต่อต้านโครงการ คจก.ภาคอีสานในปี2535

การลุกขึ้นสู้ของชาวบ้านในนามกลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก และกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด ครั้งนี้ถือเป็นการใช้สิทธิทั้งบุคคลและชุมชนในการบำรุงรักษา และการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพและในการคุ้มครอง ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องตามรัฐธรรมนูญมาตรา 56 และ 46 นี้คือ ตัวอย่างสิทธิชุมชนซึ่งชัดเจนที่สุด

ในฐานะนักวิชาการและปัญญาชนภาคอีสานเห็นว่า การเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องเด็ดเดี่ยวของพี่น้องชาวบ่อนอกและหินกรูดตลอดระยะเวลาต่อเนื่อง 5 ปี เป็นปรากฏการณ์และทิศทางการลุกขึ้นสู้ของพลเมืองในศตวรรษใหม่ซึ่งก็คือ "ศตวรรษที่ประชาชนจะต้องกำหนดอนาคตของตนเอง" โดยจะไม่ยินยอมตกเป็นเหยื่อของการพัฒนาที่ถูกครอบงำจากภายนอกอีกต่อไป

การเคลื่อนไหวคราวนี้เป็นการยกระดับจากการต่อสู้ธรรมดาเป็น การลุกขึ้นสู้ ซึ่งสะท้อนว่าพี่น้องประชาชนจะไม่ยินยอมให้รัฐดำเนินโครงการใดๆ ที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจอย่างเด็ดขาด

เราเห็นด้วยกับพี่น้องประชาชนชาวบ่อนอกและหินกรูดที่ร่วมกันลุกขึ้นมาเพื่อตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ เพราะนี่เป็นการเมืองภาคประชาชนที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากที่สุด แม้ว่าจะต้องผจญกับความพยายามข่มขู่คุกคามชีวิต รวมทั้งกลุ่มนายทุนจะสร้างความแตกแยกของคนในชุมชนให้เกิดขึ้นก็ตาม

แนะตรวจสอบกฟผ.

เราเห็นว่า
1. รัฐบาลควรใช้อำนาจรัฐระงับโครงการทั้งสองโดยเด็ดขาด
2. ตั้งคณะกรรมการที่เป็นกลางขึ้นมาพิจารณาว่ารัฐจำเป็นต้องจ่ายค่าชดเชย หรือค่าโง่ ให้กับบริษัททั้งสองหรือไม่
3. ตั้งคณะกรรมการร่วมจากภาครัฐและตัวแทนจากองค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการและประชาชนเพื่อตรวจสอบเงื่อนงำของสัญญากับบริษัททั้งสองเพื่อดำเนินคดีกับนักการเมือง ข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจโดยเฉพาะในองค์กรซ่อนเงื่อนที่ชื่อ "การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย" (กฟผ.) ที่ร่วมกันสร้างสัญญาที่เสียเปรียบ (ค่าโง่) ต่อไป

นายสมเกียรติ กล่าวต่อว่า การเมืองภาคประชาชนไม่ใช่องค์กรที่ไร้อำนาจ หากแต่เป็นพลังที่บริสุทธิ์ เสียงสวรรค์ที่รวมตัวกันรัฐบาลจะปฏิเสธไม่ได้ ถ้ายิ่งดื้อดึง รัฐบาลหน้ามึนเข้าข้างพวกนายทุนให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ต้องเสียค่าโง่กว่า 8 พันล้านบาท รู้ๆ อยู่ว่าเป็นการลงทุนที่สูญเปล่า รัฐบาลต้องหาผู้รับผิดชอบ และผู้เกี่ยวข้อง ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตท้องทะเลสูญสลายไป โดยผลักภาระให้ประชาชนเป็นผู้รับกรรมจะมีการสัประยุทธ์ขั้นแตกหักระหว่างอำนาจรัฐกับพลังประชาชน แต่มติร่วมของนักวิชาการในครั้งนี้ไม่สนับสนุนใช้ความรุนแรง แม้จะมีการยั่วยุขององค์กรนายทุน หากแต่ใช้สันติวิธี ใช้หลักอหิงสธรรมแก้ไขปัญหา

นายกฯ ต้องรับฟังข้อมูลทั้งสองฝ่าย ในการตัดสินใจเพื่อจะตอบคำถามกับสังคม ในวันที่ 24 ม.ค.นี้ การต่อสู้กันยาวนานหลายปี เป็นสิ่งบอกเหตุที่ไม่ได้ในอนาคต ว่าเจตจำนงของระบอบการเมืองภาคประชาชนต้องการอะไร ปลายเดือนนี้จะมีการประชุม "องค์กรภาคประชาชน" ที่ประเทศบราซิล จากตัวแทนนักวิชาการทั่วโลกจำนวน 450 คน จาก 117 ประเทศ ในเวทีการประชุมครั้งนี้จะนำเอาเรื่องดังกล่าวเข้าถกเถียงหาข้อสรุปในที่ประชุมด้วย ซึ่งนักวิชาการได้ขอร้องให้รัฐบาลยุติโครงการโดยเร็ว

แล้วให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาตัวผู้กระทำผิดว่าใครเป็นผู้ผลักดันให้มีการแก้สัญญาจนเสียเปรียบ ทำให้รัฐต้องเอาเงินภาษีอากรของประชาชนไปเสียค่าโง่ ซึ่งค่าโง่นี้ก็คือการคอร์รัปชั่นในรูปแบบใหม่ ด้านนโยบายและสัญญาของรัฐ ซึ่งถือเป็นอันตรายต่อประเทศชาติที่เลวร้ายที่สุด นักวิชาการจึงขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ได้รับความนิยมจากประชาชนเลือกเข้าไปบริหารประเทศโปรดได้รับฟังข้อมูลทั้งสองฝ่ายและการตัดสินใจใดๆ จะต้องอธิบายต่อสังคมได้หากขืนจะสร้างโรงไฟฟ้าทั้งสองแห่ง อยากถามนายกฯ ว่าประชาชนและสาธารณะได้อะไร รัฐเสียอะไร บริษัทนายทุนได้อะไร ทำไมต้องผูกพันมากกว่า 20 ปี ทำไมชาวบ้านที่ต่อสู้เรียกร้องกันยาวนานถึง 4 ปี แล้วแต่รัฐบาลยังตัดสินใจไม่ได้ ซึ่งในที่สุดตนก็เชื่อว่ารัฐบาลภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะยืนอยู่ข้างประชาชน

นักวิชาการต้านเพราะสุดทน

ส่วนภาคใต้ ที่ห้องประชุม คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จ.สงขลา นายเริงชัย ตันสกุล สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร้อมด้วยนางกัลยาณี พรพิเนตพงศ์ น.พ.อนันต์ บุญโสภณ ผศ.ดร.สมบูรณ์ พรพิเนตพงศ์ นายจรวย เพชรรัตน์ พ.ญ.รัชนี บุญโสภณ นางประทุม กาญจนสุวรรณ เป็นตัวแทนนักวิชาการในส่วนของภาคใต้ เปิดแถลงข่าว โดยการอ่านแถลงการณ์ร่วมของกลุ่มนักวิชาการ จากนั้นนายเริงชัยกล่าวว่า เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า โครงการโรงไฟฟ้าบ่อนอกหินกรูด เป็นขบวนการคอร์รัปชั่นชัดเจน การที่นักวิชาการได้ออกมาประกาศตัว 500 กว่าคน เป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ ถ้าไม่ชัดเจนว่าโครงการนี้มีความผิดพลาด คงไม่มีใครกล้าประกาศตัวเช่นนี้

ถือว่าเป็นมิติใหม่ของสังคมไทย ที่มีคนกล้ายืนอยู่กับความถูกต้อง และกล้าที่จะแสดงตัวตนให้เห็นชัดเจน เพราะถ้ามีคนที่เห็นความไม่ถูกต้องไม่เป็นธรรม แล้วเกาะรั้วอยู่เฉยๆ สังคมก็จะเลวร้ายไปทุกวัน โครงการโรงไฟฟ้าหินกรูดบ่อนอก มีกลุ่มผลประโยชน์อยู่ไม่กี่คน ที่สมคบกันโกงและยังเป็นกลุ่มคนที่แอบอิงอยู่กับอำนาจรัฐมาตลอด และยังเป็นกลุ่มคนที่ผูกขาดเรื่องข้อมูลพลังงาน แต่เพียงกลุ่มเดียว มาวันนี้ความจริงทั้งหมดถูกเปิดออกมาแล้ว

นายเริงชัย กล่าวต่อว่า มีข้อมูลที่กลุ่มนักวิชาการอิสระศึกษาไว้และและแสดงให้เห็นได้ชัดเจนว่า ที่ผ่านมามีการโกงกันอย่างชัดเจนและเป็นระบบโดยเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544-2560 มีการคำนวณตัวเลขที่แตกต่างกันระหว่างประเทศไทยกับประเทศสหรัฐอเมริกา โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(สพช.)คาดการณ์ว่า ประเทศไทย จะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 6.34 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ในขณะที่ส่วนราชการของสหรัฐอเมริกาคาดการณ์ว่า ทั่วโลกจะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 2.5-3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

แฉค่าโง่กว่า 8 แสนล้าน

เพราะฉะนั้นถ้าดูจากกราฟ หากเราใช้มาตรฐานในปี 2544 เป็นตัวตั้งที่เท่ากัน จะพบว่าความแตกต่างระหว่างแกนอัตราความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่ม 6.34 เปอร์เซ็นต์ กับ 3 เปอร์เซ็นต์ จะค่อยๆ ห่างกันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละปี และในปี 2560 ความแตกต่างเท่ากับ(43,000-26,000) = 17,000เมกะวัตต์ จากการประมาณการ การก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาด1เมกะวัตต์ ต้องเสียค่าใช้จ่ายมูลค่า 17,000คูณ1ล้าน คูณ 44 บาท จะเท่ากับประมาณ 748,000 บาท หรือหากเทียบความแตกต่างระหว่างแกนอัตราความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่ม 6.34 เปอร์เซ็นต์กับ 2.5 เปอร์เซ็นต์

ในปี 2560 ความแตกต่างเท่ากับ 43,000-24,000 = 19,000 คูณ 1 ล้าน คูณ 44 บาท เพราะฉะนั้นจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเป็นมูลค่าประมาณ 19,000 คูณ 1 ล้าน คูณ 44 บาท ประมาณเท่ากับ 836,000 ล้านบาท จากข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นชัดเจนว่า โครงการดังกล่าวมีความผิดพลาด

ชาวบ้านดีใจนักวิชาการร่วมสู้

ด้านนายสุไลหมาน หมัดยูโซ๊ะ สมาชิกกลุ่มคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทยมาเลเซีย กล่าวว่า การที่มีนักวิชาการจำนวนมาก ออกมาประกาศตัวยืนอยู่ข้างความถูกต้องเป็นการแสดงให้เห็นว่า สังคมไทยยังมีความหวัง เพราะลำพังชาวบ้านอย่างพวกผม ไม่มีเงินที่จะไปจ้างนักวิชาการหรือผู้เชี่ยวชาญมาเป็นที่ปรึกษาได้ ไม่เหมือนกับกลุ่มคนที่สมคบกันทำความชั่วร้ายให้แผ่นดิน โกงชาติโกงบ้านเมือง เขามีเงินจ้างนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญไว้เป็นที่ปรึกษาในการโกงได้

"ผมคิดเเบบคนที่ไม่มีความรู้ ทำไมสังคมไม่รังเกียจคนที่โกงบ้างเลย แต่กลับมาตั้งข้อสังเกตต่างๆ นานากับนักวิชาการที่ลุกขึ้นมาเป็นที่ปรึกษาชาวบ้านที่ต่อสู้กับความไม่เป็นธรรม เป็นเรื่องที่แปลกมากจริงๆ ทั้งๆ ที่นักวิชาการที่ลุกขึ้นมาเป็นที่ปรึกษาชาวบ้าน และต้องเสียค่าใช้เองทุกอย่าง"

นายสุไลหมาน กล่าวต่อว่า สังคมต้องดูแลคนเหล่านี้ไม่ใช่ปล่อยให้พวกเขาต้องต่อสู้ตรากตรำอย่างโดดเดี่ยวเหมือนที่ผ่านมา เพราะคนที่กินภาษีประชาชนมีเต็มบ้านเต็มเมือง แต่เวลาบ้านเมืองมีปัญหานับหัวได้500กว่าคนแล้วที่เหลือไปอยู่ที่ไหน

'แม้ว'ยันจะเร่งตัดสินใจ

ที่สนามกอล์ฟไพน์เฮิร์สท พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกลุ่มที่ต่อต้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าหินกรูด จ.ประจวบคีรีขันธ์ ว่า ตนยินดีรับฟังข้อคิดเห็นของทุกๆ ฝ่าย และเมื่อรับฟังแล้วการตัดสินใจอะไรที่ถูกต้องก็ต้องว่าไปตามนั้นทุกอย่าง ต้องคำนึงถึงผลตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจของชาติ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อวิถีชุมชน ซึ่งเราต้องดูแลประเมินผลกันทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม เมื่อตนได้ลงไปดูพื้นที่และพูดคุยกับชาวบ้านในวันที่24ม.ค.ที่จะถึงนี้ การตัดสินใจก็จะทำให้เร็วที่สุด เพราะตนไม่ชอบอะไรที่ยืดเยื้อ แม้บางเรื่องมันจะเป็นเรื่องที่ผ่านมาจากรัฐบาลชุดก่อนก็ตาม แต่ตนไม่ต้องการเตะข้ามต่อไปเรื่อยๆ แต่เราต้องการตัดสินใจ

ผู้สื่อข่าวถามว่าถ้าตัดสินใจแล้วยังมีกลุ่มคัดค้านอยู่อีกจะทำอย่างไรให้เข้าใจ นายกฯ กล่าวว่า ต้องสร้างความเข้าใจ เพราะเป็นไปตามทิศทางและยึดหลักกฎหมายบ้านเมือง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับนักวิชาการและบุคคลทั่วไป จำนวน 533 คน ที่ร่วมลงชื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยุติโครงการโรงไฟฟ้าทั้ง2แห่ง ในจ.ประจวบฯ นั้น มาจากสถาบันการศึกษาต่างๆ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มหาวิทยาลัยพายัพ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยเกริก มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี สถาบันราชภัฏนครราชสีมา สถาบันราชภัฏเชียงราย สถาบันราชภัฏรำไพพรรณี สถาบันราชภัฏสวนสุนันทา สถาบันราชภัฏบุรีรัมย์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย มหาวิทยาลัยบูรพา

(ปรับปรุงจากหนังสือพิมพ์ข่าวสด วันที่ 21 มกราคม 2545)

 

533 อจ.ต้านโรงไฟฟ้า นักวิชาการประชาชน
คอลัมน์ สกู๊ปข่าวสด

การต่อสู้คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินที่บ่อนอกและบ้านกรูด จ.ประจวบคีรีขันธ์ พัฒนาตัวเองขึ้นมาอีกขั้นหนึ่งจากที่ชาวบ้านในพื้นที่ต้องต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว มาสู่การเข้าไปร่วมขบวนขององค์กรพัฒนาเอกชน และนักวิชาการบางคน ที่เห็นความไม่ชอบมาพากลของโครงการ

แต่มาถึงวันนี้ เมื่อข้อมูลและความอื้อฉาวของโครงการเป็นที่แพร่หลาย 533 อาจารย์มหาวิทยาลัย นักวิชาการอิสระ อดีตอาจารย์ชั้นผู้ใหญ่ ผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญในหลายสาขา รวมทั้งนักศึกษาปริญญาเอก-ปริญญาโท ก็ร่วมลงนามเข้าชื่อ ขอให้ 'สังคมไทย' ช่วยกันพิจารณาความไม่ชอบมาพากลของโครงการ และขอให้ร่วมคัดค้านโครงการอื้อฉาวทั้งสองนี้ด้วย

อาจารย์ นักวิชาการ นักคิด นักเคลื่อนไหวเหล่านั้น มาจาก
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มหาวิทยาลัยพายัพ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยเกริก มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี สถาบันราชภัฏนครราชสีมา สถาบันราชภัฏเชียงราย สถาบันราชภัฏรำไพพรรณี สถาบันราชภัฏสวนสุนันทา สถาบันราชภัฏบุรีรัมย์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย มหาวิทยาลัยบูรพา และสังกัดอื่นๆ รวมทั้งนักวิชาการอิสระอีกมากมาย เขาและเธอที่ร่วมเสนอความเห็น เพื่อให้สังคมพิจารณาว่าควรจะเป็นทางออกใหม่ให้กับปัญหาคาราคาซังนี้คือใคร ไล่เรียงชื่อทั้งหมดดูตามนี้

1.นิธิ เอียวศรีวงศ์ 2.ศรีศักร วัลลิโภดม 3.ชยันต์ วรรธนะภูติ 4.อานันท์ กาญจนพันธุ์ 5.ธงชัย วินิจจะกูล 6.ฉลาดชาย รมิตานนท์ 7.อุทัยวรรณ กาญจนกามล 8.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ 9.อภิชัย พันธเสน 10.นิพนธ์ พัวพงศกร

11.ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล 12.ผาสุก พงษ์ไพจิตร 13.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ 14.สุริชัย หวันแก้ว 15.ม.ร.ว.พฤทธิสาณ ชุมพล 16.ประภาส ปิ่นตบแต่ง 17.เกษียร เตชะพีระ 18.สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ 19.สุวรรณา สถาอานันท์ 20.ฉลอง สุนทราวาณิชย์

21.ทรงยศ แววหงษ์ 22.อู่ทอง ประศาสน์วินิจฉัย 23.อนุชาติ พวงสำลี 24.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ 25.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล 26.วิทยากร เชียงกูล 27.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ 28.เทียนชัย วงศ์ชัยสุวรรณ 29.พิทยา ว่องกุล 30.สำลี ใจดี

31.จิราพร ลิ้มปานนท์ 32.วีระ สมบูรณ์ 33.มาลี พงษ์พฤกษาวลี 34.วีรวัฒน์ จันทโชติ 35.สาวิตรี สุขศรี 36.ปิยบุตร แสงกนกกุล 37.สรณรัชฎ์ กาญจนวนิช 38.วิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ 39.สินิทธ์ สิทธิรักษ์ 40.สุวิมล รุ่งเจริญ

41.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ 42.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ 43.ไชยันต์ ไชยพร 44.วรศักดิ์ มหัทธโนบล 45.สุรชาติ บำรุงสุข 46.นวลน้อย ตรีรัตน์ 47.กนกศักดิ์ แก้วเทพ 48.นฤมล ทับจุมพล 49.วารุณี ภูริสินสิทธิ์ 50.ชัชวาล ปุญปัน

51.เกรียงศักดิ์ เชษฐพัฒนวนิช 52.สมเกียรติ ตั้งนโม 53.วัลลภ แม่นยำ 54.สุชาดา จักรพิสุทธิ์ 55.อรณิชา ตั้งนโม 56.คมเนตร เชษฐพัฒนวนิช 57.พิสมัย เอี่ยมสกุลรัตน์ 58.อำนวย กันทะอินทร์ 59.อุทิศ อติมานะ 60.ภาณุพงษ์ เลาหสม

61.สมปอง เพ็งจันทร์ 62.คนธาภรณ์ ศิลปสถิตวงศ์ 63.มานพ มานะแซม 64.ม.ล.สุรสวัสดิ์ สุขสวัสดิ์ 65.สุวิทย์ เตชรุ่งถวิล 66.ทิพวรรณ ทั่งมั่งมี 67.พรพิศ เดชาวัฒน์ 68.พรพิลาส เรืองโชติวิทย์ 69.อยู่เคียง แซ่โค้ว 70.ฉัตรยุพา สวัสดิพงษ์

71.นันทริยา สาเอี่ยม 72.วิมลสรรค์ ไสลวงษ์ 73.บุษกร วงษ์เรียบ 74.วันทนา อย่างเจริญ 75.ภัทราพร อยู่เย็น 76.อัลภา เมืองศรี 77.ชูศรี ศรีแก้ว 78.เรณู วิชาศิลป์ 79.พรวิภา ไชยสมคุณ 80.บัวริน วังคิรี

81.ษมานิจ ถาวรพานิช 82.อังสนา ธงไชย 83.จิตราภรณ์ ตันรัตนกุล 84.สมพงศ์ วิทยศักดิ์พันธุ์ 85.ประนุท สุขศรี 86.สุดธิดา ภาวะวิจารณ์ 87.อรุณี วิริยะจิตรา 88.วารุณี บุญหลง 89.สายชล สัตยานุรักษ์ 90.ปราณี วงศ์จำรัส

91.ผุสดี นนท์คำจันทร์ 92.ลัดดา รุ่งวิสัย 93.สมหวัง แก้วสุฟอง 94.วรรณวิสาข์ ไชยโย 95.วิโรจน์ อินทนนท์ 96.เครือมาศ วุฒิการณ์ 97.พิสิฎฐ โคตรสุโพธิ์ 98.จารุณี วงศ์ละคร 99.จิรพร วิทยศักดิ์พันธุ์ 100.อัญชลี สุสายัณห์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 101.กรรณิการ์ เล็กบุญญาสิน 102.นฤมล ธีรวัฒน์ 103.สุวรัตน์ ยิบมันตะสิริ 104.วิระดา สมสวัสดิ์ 105.อภิญญา เฟื่องฟูสกุล 106.มนตรี กรรพุมมาลย์ 107.จิราลักษณ์ จงสถิตมั่น 108.กอบกุล รายะนาคร 109.เบ็ญจา จิรภัทรพิมล 110.ปฤษฐา รัตนพฤกษ์

111.สัณฐิตา กาญจนพันธุ์ 112.เอกกมล สายจันทร์ 113.พิกุล อิทธิหิรัญวงศ์ 114.กาญจนา กุลพิสิทธเจริญ 115.เสน่ห์ ญาณสาร 116.ไพสิฐ พาณิชย์กุล 117.ศักดิ์ชาย จินะวงศ์ 118.บุญชู ณป้อมเพชร 119.สมโชติ อ๋องสกุล 120.อัครพงษ์ สัจจวาทิต

121.สามารถ ศรีจำนงค์ 122.บุพผา วัฒนาพันธุ์ 123.ไพบูลย์ เฮงสุวรรณ 124.จิรศักดิ์ เดชวงศ์ญา 125.ไพฑูรย์ พรหมวิจิตร 126.พรภิมล ตั้งชัยสิน 127.สุมาลี ศรีอังกุล 128.ดวงพร กาญจนกามล 129.นรินทร์ ทองศิริ 130.เบ็ญจวรรณ ทองศิริ

131.สุรินทร์ นิลสำราญจิต 132.อติศักดิ์ จึงพัฒนาวดี 133.อารีรัตน์ นิรันต์สิทธิรัชต์ 134.ศศิธร ไชยประสิทธิ์ 135.วิชัย วิวัฒน์คุณูปการ 136.ทรงวุฒิ ตวงรัตนพันธ์ 137.ธงชัย ปรีชา 138.ดุษฎีบูล บุตรสีทา 139.สดชื่น วิบูลย์เสข 140.สมาน ส่งตระกูล

141.จิรพงศ์ สังข์คุ้ม 142.อำพล วงศ์จำรัส 143.สมสวัสดิ์ รัตนสูรย์ 144.สมประสงค์ บุญเกิด 145.สุวิชา รัตนรินทร์ 146.ธีรวรรณ บุญญวรรณ 147.ศิริพร พงษ์ระวีวงศา 148.วรัญญา มุนินทร์ 149.นิตยา ว่องกลกิจศิลป์ 150.ทัศนีย์ ธนะศาล

151.สมลักษณ์ วรคุณพิเศษ 152.ปัทมา กาคำ 153.อำไพร อินถาเขียว 154.พลเทพ บุญยะกาญจน 155.มนชีวัน อังกุลางกูล 156.กนกกาญจน์ สงวนวงศ์ 157.ฉัตรสุดา ธีรกุล 158.โปร่งนภา อัครชิโนเรศ 159.เพ็ญพร จตุวรพฤกษ์ 160.ชูศักดิ์ เสถียรพัฒโนดม

161.พูนเกศ จันทกานนท์ 162.กฤษณา เจริญวงศ์ 163.วราภรณ์ พูนสถิติวัฒน์ 164.พงษ์ธาดา วุฒิการณ์ 165.เทียน เลรามัญ 166.บุญสุข เผ่าศรีเจริญ 167.วิจิตร ว่องวารีทิพย์ 168.ชุลีพร วิมุกตานนท์ 169.สุรินทิพย์ เซลามัน 170.สินธุ์ สโรบล

171.อภิญญา ศกุนตนาคลาภ 172.วรกัญญา ชมภูมิ่ง 173.ยุทธชัย ดำรงมณี 174.ธันวา เบญจวรรณ 175.ธันยากร ต้นชลขันธ์ 176.แสงระวี อนันตพานิช 177.นารี จิตรรักษา 178.สมบูรณ์ ขวัญยืน 179.วิโรจน์ แสนเสมอ 180.สมบัติ บุญคำเยือง

181.ธัญญาลักษณ์ แซ่เลี้ยว 182.อุษณีย์ ในคำ 183.ณัฐษา อายิ 184.วิไลวรรณ วรรณนิธิกุล 185.สิริณภรณ์ เชฎฐากุล 186.ประชา คุณธรรมดี 187.ชูศรี มณีพฤกษ์ 188.สมนึก ทับพันธุ์ 189.วันรักษ์ มิ่งมณีนาคิน 190.จินตนา เชิญศิริ

191.ปกป้อง จันวิทย์ 192.ธรรมวิทย์ เทอดอุดมธรรม 193.ปราณี ทินกร 194.มาจอรี สุริยะมงคล 195.ชยันต์ ตันติวัสดาการ 196.วีระ โอสถาภิรัตน์ 197.จันทนี เจริญศรี 198.ศุลีพร ศุรีสินธุ์อุไร 199.นลินี ตันธุวนิตย์ 200.สุไลพร ชลวิไล 201.พรรณราย โอสถาภิรัตน์ 202.อาแว มะแส 203.จารุวรรณ ธรรมวัตร 204.ยุพา ชุมจันทร์ 205.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต 206.ภารดี มหาขันธ์ 207.ธวัช ปุณโณทก 208.นภาพร อติวานิชยพงษ์ 209.เอกวิทย์ มณีธร 210.พรชุลี อาชวอำรุง

211.ณัฐนันท์ คุณมาศ 212.วันชัย มีชาติ 213.เวียงรัฐ เนติโพธิ์ 214.อลิสา หะสาเมาะ 215.แก้วคำ ไกรสรพงษ์ 216.เอก ตั้งทรัพย์วัฒนา 217.ชลธิศ ตั้งเจริญ 218.สาวิตรี คทวณิช 219.รื่นฤทัย สัจพันธุ์ 220.สุวรรณา เกรียงไกรเพ็ชร

221.เดชรัต สุขกำเนิด 222.สร้อยฟ้า เสริฐแก้ว 223.อดิศร จันทร์สุข 224.มนวิภา เจียจันพงษ์ 225.สัญชัย สุวังบุตร 226.นาตยา อยู่คง 227.อัญชัน สวัสดิโอ 228.สุภาภรณ์ อัศวไชยชาญ 229.สุธีรา อภิญญาเวศพร 230.สุวิดา ธรรมมณีวงศ์

231.ผะอบ นะมาตร์ 232.ยงยุทธ ชูแว่น 233.เชษฐา พวงหัตถ์ 234.วรพร ภู่พงศ์พันธุ์ 235.พวงทิพย์ เกียรติสหกุล 236.มลิวัลย์ แตงแก้วฟ้า 237.ชุลีพร วิรุณหะ 238.สัญชัย สุวังบุตร 239.สุนีย์ ครองยุทธ 240.ชาญณรงค์ บุญหนุน

241.เยาวดี พัฒโนทัย 242.บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์ 243.นฤมิตร สอดสุข 244.สกุล บุณยทัต 245.ปราณี วงษ์เทศ 246.สุจิตต์ วงษ์เทศ 247.สิทธิพงศ์ ดิลกวานิช 248.นาฎสุดา ภูมิจำนงค์ 249.เกษม กุลประดิษฐ์ 250.สัญชัย สูติพันธ์วิหาร

251.ศรีประภา เพชรมีสี 252.สรยุทธ รัตนพจนารถ 253.รุ่งนภา ผาณิตรัตน์ 254.สุขฟอง วงศ์สถาพรสถิตย์ 255.พวงเพชร เกษรสมุทร 256.ชุติมา เกิดเจริญ 257.ดวงพร เฮงบุญยพันธ์ 258.พรทิพย์ สุขกำเนิด 259.บัณฑูร เศรษฐศิโรจน์ 260.นาวิน โสภาภูมิ

261.นุชิตา สังข์แก้ว 262.อภิดลน์ เจริญอักษร 263.มุกหอม วงษ์เทศ 264.ไพศาล สุริยะมงคล 265.พิชิต พิทักษ์เทพสมบัติ 266.อลิสา หะสาเมาะ 267.วันชัย มีชาติ 268.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล 269.นิตยา กิจติเวชกุล 270.ศิริธร แซ่ล้อ

271.ทรงพล เจตนาวินิชย์ 272.เรวดี ประเสริฐเจริญสุข 273.ธนาพล อิ๋วสกุล 274.วรินทรา ไกยูรวงศ์ 275.กฤษฎา บุญชัย 276.พยุงศักดิ์ คชสวัสดิ์ 277.ศุภมาส ศิลารักษ์ 278.วรางคณา พร้อมจันทึก 279.จาตุรงค์ บุญยรัตน์สุนทร 280.อัจฉรา บัวเลิศ

281.สมใจ โลหะพูนตระกูล 282.วิชัย สุนาโท 283.รัชนีพร ศรีรักษา 284.แสงอรุณ กนกพงศ์ชัย 285.นริศรา เกตวัลห์ 286.อรพินท์ นาทอง 287.กัลยา สนสี 288.สุรีย์รัตน์ มาระโพธิ์ 289.วิบูลย์ วัฒนกูล 290.ยงยุทธ อินทร์จันทร์

291.จันทนา ยิ้มน้อย 292.อติวัตน์ พรหมาสา 293.สมศรี จันทร์สม 294.เตือนจิตต์ จิตต์อารี 295.กรองกาญจน์ คงวงศ์ญาติ 296.บงกช สิงหกุล 297.น้ำเพชร สายบุญเรือน 298.ลั่นทม จอนจวบทรง 299.ทรงสรรค์ อุดมศิลป์ 300.ฤทธิชัย เตชะมหัทธนันท์ 301.สิริรัตน์ ประพัฒน์ทอง 302.นิก สุนทรชัย 303.ปิยรัตน์ ปานโรจน์ 304.ลาวัลย์ ชัยวิรัตน์นุกูล 305.สวนีย์ วิเศษสินธุ์ 306.พัชรินทร์ บูรณะกร 307.นัฐธิยา บุญอาภัทธ์เจริญ 308.สิริวรรค์ เธียรหิรัญ 309.สมปรารถนา กองคำ 310.กนกพร คมกฤษณ์

311.อลิศรา หงษ์พร้อมญาติ 312.พิมพ์ภัค ภัทรนาวิก 313.จำรูญศรี พุ่มเทียน 314.ศรมน สุทิน 315.พลวัฒ ประพัฒน์ทอง 316.รุจิรัตน์ พัฒนะศรี 317.อังคนา ศรีตะลา 318.ชยินทร์ เพ็ชญไพศิษฎ์ 319.นุชนาฏ ยูฮันเงาะ 320.นวลใย วัฒนกูล

321.โสภา อ่อนโอภาส 322.สุพจน์ ธรรมะ 323.เฉลิม เกิดโมฬี 324.อุษณีย์ มงคลพิทักษ์สุข 325.วรนุช วุฒิอุตดม 326.สมศักดิ์ สามัคคีธรรม 327.ชลลดา สังวาลย์ทรัพย์ 328.สมชาย คำปิ่นทอง 329.พงษ์เทพ จันทสุวรรณ 330.ชัยยนต์ ประดิษฐศิลป์

331.โกวิท กระจ่าง 332.วัลลภพ ศักดิ์พันธุ์ 333.นรินทร์ บุคลา 334.ประมวล เสณิ 335.เกศรี วิวัฒนปฐม 336.ทักษิณา ไกรราช 337.วรรณศักดิ์ พิธิกรบุญเสริม 338.ภาจักร ภูนค์ษนิจ 339.ศุลีมาน นฤมล วงศ์สุภาพ 340.เจิดจัน บุญปการ

341.พงษ์เทพ สุรีวุฒิ 342.กัลยาณี พรพิเนตพงศ์ 343.อุษณีย์ วรรณนิธิกุล 344.อาทร คุระวรรณ 345.พูนศักดิ์ เงินหมื่น 346.วชิราภรณ์ จันทร์โพธิ์พาศ 347.น้อย จันทร์อำไพ 348.วิญชัย อุ่นอดิเรกกุล 349.วัชรี ศิริพงษ์ 350.วิวัฒน์ แซ่หลี

351.นฤทธิ์ ดวงสุวรรณ 352.บุษบง ชัยเจริญวัฒนะ 353.จำนรรจ์ โคตรโน 354.โสภิณ จิระเกียรติกุล 355.บุญเรือง มานะสุรการ 356.สมบูรณ์ พรพิเนตพงศ์ 357.เกรียงศักดิ์ หลิว 358.กนกลักษณ์ รัตรสาร 359.พิณทิพย์ วัฒนสุขชัย 360.สุพรรณนพ ตั้งวิพากมล

361.ปวีนา ไชยนต์ 362.จรวย เพชรรัตน์ 363.สมบูรณ์ เจริญจิระตระกูล 364.สุธัญญา ทองรักษ์ 365.สิริรัตน์ เกียรติปฐมชัย 366.ปริญญา เฉิดโฉม 367.ปรัตถ พรหมมี 368.อรัญ งามผ่องใส 369.สมหมาย เชี่ยววารีสัจจะ 370.ประพันธ์ แก้วสุข

371.วินิจ เสรีประเสริฐ 372.อดิเรก รักคง 373.นงพร สิทธิเจริญชัย 374.อานนท์ อุปบัลลังก์ 375.จารุณี เชี่ยววารีสัจจะ 376.เสาวภา อังสุภานิ 377.ดวงรัตน์ มีแก้ว 378.บัญชา สมบูรณ์สุข 379.สุรไกร เพิ่มคำ 380.สมยศ ทุ่งหว้า

381.วรรณา ประยูรวงศ์ 382.ณรงค์ ณเชียงใหม่ 383.ธันวดี เตชะภัททวรกุล 384.เจิดจรรย์ ศิริวงศ์ 385.เยาวนิจ กิตติธรกุล 386.ปาริชาติ วิสุทธิสมาธร 387.นัยนา ศรีชัย 388.จิตศักดิ์ พุฒจร 389.ยงยุทธ หนูเนียม 390.อนันต์ บุญโสภณ

391.รัชนี บุญโสภณ 392.เอกชัย อิสระทะ 393.ชาคริต โภชะเรือง 394.ชโลม เกตุจินดา 395.ชาญณรงค์ เที่ยงธรรม 396.ปิยะโชติ อินทรนิวาส 397.ประสาท มีแต้ม 398.เริงชัย ตันสกุล 399.ประโมทย์ สิงหาญ 400.น.พ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ

รายชื่อยังไม่ครบ (จากข่าวสด 22 มกราคม 2545)

 

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา I webboard

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

 

Bangkok