เว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ทางเลือกเพื่อการศึกษาสำหรับสังคมไทย เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยิน สมดุล และเป็นธรรม : ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2543 (ครบรอบ 3 ปี)

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ


Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

สนใจสมัครเป็นสมาชิก
กรุณาคลิก member page
ส่วนผู้ที่ต้องการดูหัวข้อบทความ
ทั้งหมด ที่มีบริการอยู่ขณะนี้
กรุณาคลิกที่ contents page
และผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น
หรือประกาศข่าว
กรุณาคลิกที่ปุ่ม webboard
ข้างล่างของบทความชิ้นนี้

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com

ประธานาธิบดี Jacques Chirac ใช้โอกาสนั้นพูดถึงโลกหลายขั้วที่เขาอยากเห็น มันเป็นโลก 5 ขั้ว กล่าวคือ โลกหลายขั้วที่ Chirac ต้องการคือยุโรปที่เข้มแข็ง ไม่ใช่เป็นหุ้นส่วนและไม่ได้เป็นพันธมิตรของอเมริกา แต่เป็นแรงถ่วงดุลกับอเมริกา เป็น counter weight กับอเมริกา มีเพื่อไม่ใช่ไปอยู่เคียงแนบชิดกับอเมริกา แต่อยู่เพื่อถ่วงอเมริกา
ในโลก 5 ขั้วนี้จะมี อเมริกาหนึ่งขั้ว, ยุโรปหนึ่งขั้ว, จีนหนึ่งขั้ว, อินเดียหนึ่งขั้ว, และลาตินอเมริกาหนึ่งขั้ว. นี่คือโลก 5 ขั้วที่ Chirac อยากเห็น
(ตัดมาบางส่วนจากบทความ)
110646
Unipolar World
Unipolar World
ภาพประกอบดัดแปลง เพื่อใช้ประกอบบทความทางวิชาการฟรีของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เรื่อง "โลกภายใต้มหาอำนาจเดี่ยว"
4 ประเทศไปประชุมกันที่บรัสเซลเพื่ออะไร? เพื่อจะหาทางสร้างแกนการประหารของยุโรปนอก NATO อยากจะมีกองกำลังทางทหาร อยากจะมีแผนการณ์การทหารของ 4 ประเทศนี้เป็นอิสระจาก NATO ก็คืออยากจะเป็นแรงถ่วงดุลจากอเมริกา ดังนั้น Blair จึงให้สัมภาษณ์ดักหน้าว่ากูไม่เอาด้วยกับมึงนะ กูเห็นด้วยกับโลกขั้วเดียว

Tony Blair ได้ให้สัมภาษณ์ในหนังสือพิมพ์ Financial Time ของอังกฤษ ณ วันที่ 28 เมษายน 2003 โดยมีวิสัยทัศน์เกี่ยวกับโลกภายใต้มหาอำนาจเดี่ยวคือ... เป็นโลกขั้วอำนาจเดี่ยวที่ยุโรปเป็นพันธมิตรและเป็นหุ้นส่วนกับอเมริกา โดยยุโรปควรจะเข้มแข็งขึ้น และมีพลังมากขึ้น แต่ไม่ได้แยกตัวไปต่างหากแล้วก็ถ่วงอเมริกา

โดยที่ทั้งสองฝ่ายอยู่ข้างเดียวกันโดยเรียกว่า"เสรีประชาธิปไตย" และข้างตรงข้าม ศัตรูของข้างนี้ในโลกคือสิ่งที่เขาเรียกว่า"Fundamentalism"หรือลัทธิเคร่งศาสนาทั้งหลาย กับ Terrorism หรือลัทธิการก่อการร้าย
ภายใต้โลกที่มีขั้วอำนาจเดี่ยวโดยมีอเมริกาและยุโรปจับมือร่วมกันเป็นหุ้นส่วนหรือพันธมิตร กลุ่มอำนาจอื่น มหาอำนาจอื่นสามารถมาร่วมมือกันได้ มาเป็นข้างเดียวกันได้ สุดท้ายโลกเราจะมีขั้วอำนาจเดียวคือ อเมริกากับคนอื่นๆทั้งหลาย คนยุโรปจะเป็นหุ้นส่วนและพันธมิตรกับอเมริกา นี่คือภาพที่เขาวาด

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 276 เดือนมิถุนายน 2546 หัวเรื่อง "The Unipolar World" โดย เกษียร เตชะพีระ

โลกภายใต้มหาอำนาจเดี่ยว
จัดโดย มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ร่วมกับ ภาควิชาสังคมวิทยาฯ คณะสังคมศาสตร์ มช.
สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สนับสนุนโดย สำนักงานสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
นำสนทนาโดย ดร.เกษียร เตชะพีระ, ดร.ประมวล เพ็งจันทร,์ อ.ซอและฮ์ แสวงศิริผล, อ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล
วันศุกร์ที่ 6 มิถุนายน 2546 เวลา 13.30 -- 16.00 น
ณ ห้องประชุมอาคารปฏิบัติงาน ชั้น 4 คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

โลกภายใต้มหาอำนาจเดี่ยว (ตอนที่หนึ่ง) ดร.เกษียร เตชะพีระ
(ความยาวประมาณ 18 หน้ากระดาษ A4)

ดร. ประมวล เพ็งจันทร์ : หัวข้อการเสวนาวันนี้คือ โลกภายใต้มหาอำนาจเดี่ยว ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่างมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน, ภาควิชาสังคมวิทยาฯ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, โดยมีผู้ให้การสนับสนุนคือ สำนักงานสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) เพราะฉะนั้น วันนี้เราจึงมีเจ้าภาพหลายฝ่าย

บรรยากาศวันนี้ จะคล้ายๆกับการที่เราเคยจัดกิจกรรมกันในสถานที่ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน คือท่านผู้เข้าร่วมเสวนาทุกท่านมีอำนาจ มีสิทธิที่จะเสนอความคิดเห็นกันอย่างอิสระเสรี แต่เนื่องจากวันนี้เรามีวิทยากร 3 ท่านมาอยู่ ณ ที่นี้ เราจะให้วิทยากรแต่ละท่านซึ่งมีประเด็นที่จะมาให้ข้อมูลว่า มีอะไรมาเสนอแนะ และมีความคิดเห็นกันอย่างไร เพื่อให้มีการวิพากษ์วิจารณ์กัน ดังนั้นเราจึงจะให้วิทยากรทั้ง 3 ท่านเสนอประเด็นหลักก่อน หลังจากนั้นก็จะเป็นเวทีของทุกท่านให้ช่วยเสนอข้อคิดเห็นและนำประเด็นมาแลกเปลี่ยนกัน

ผมขอใช้เวลาสั้น แนะนำวิทยากรครับ คนที่นั่งอยู่ทางขวามือสุดของผมคือ ดร.เกษียร เตชะพีระ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ส่วนทางด้านซ้ายของผมคือ อ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล เป็นอาจารย์จากสาขานิติศาสตร์ ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ท่านสุดท้ายคือ อ.ซอและฮ์ แสวงศิริผล ท่านอยู่ในเชียงใหม่ เป็นคนที่มีบทบาทสำคัญที่ทำให้เราเกิดความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับความคิดความเชื่อและวิถีชีวิตของชาวมุสลิม วันนี้ท่านจะมาร่วมเป็นวิทยากรกับพวกเรา เราจะให้เกียรติวิทยากรที่มาจากที่ไกลก่อน เพราะฉะนั้น จึงขอเริ่มต้นที่ อ.เกษียร เตชะพีระ เป็นผู้เสนอประเด็นในเรื่อง"โลกภายใต้มหาอำนาจเดี่ยว"ก่อน ขอเชิญครับ

ดร.เกษียร เตชะพีระ : ผมไม่ได้เป็นคนที่เรียนมาทางด้านการเมืองระหว่างประเทศ เป็นแต่เพียงสนใจประเด็นนี้เหมือนกับที่คนบนโลกนี้สนใจ เพราะเรื่องดังกล่าวคงเป็นเรื่องหลักของการเมืองโลกปัจจุบัน ก็ได้เก็บรวบรวมข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเรื่องนี้มาเรื่อยๆ แบบที่ท่านทั้งหลายคงได้เก็บกัน คือตัดหนังสือพิมพ์ตัดแปะ หรือเข้าไปรวบรวมมาจาก internet และ website ต่างๆ

ผมได้รับเชิญให้มาพูดเรื่อง"โลกภายใต้มหาอำนาจเดี่ยว" วิธีการทำงานของผมก็ง่ายๆ คือ ถ้าโจทย์เป็นแบบนี้ก็นั่งคิดดูว่า มีข้อมูลอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องซึ่งผมเคยเก็บเอาไว้ แล้วก็กลับไปนั่งอ่านทวนข้อมูล และนำมาเรียบเรียงเป็นประเด็นเพื่อให้เป็นเรื่องเป็นราวได้ เพราะฉะนั้นให้เข้าใจร่วมกันก่อนว่าผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้ ผมก็เริ่มต้นเหมือนๆกับทุกๆคนที่สนใจ อ่านข้อมูลแล้วพยายามจะเรียบเรียงเรื่องที่สนใจจะทำความเข้าใจ

ผมเรียบเรียงมาได้ 5 ประเด็น โดยอยากจะเริ่มต้นด้วยการหยิบว่า มีการถกเถียงกันเกี่ยวกับเรื่องโลกภายใต้มหาอำนาจเดี่ยว หรือโลกที่มีขั้วอำนาจเดียวที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า unipolar world อย่างไรบ้างในวงการการเมืองระหว่างประเทศ ในระดับผู้นำ ? ที่สำคัญคือระหว่าง Tony Blair นายกรัฐมนตรีอังกฤษ กับ Jacques Chirac ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ข้อถกเถียงนั้นเป็นอย่างไรบ้าง มีข้อคิดเห็นหรือทัศนะของทั้งสองฝ่ายอย่างไรบ้าง ทัศนะเหล่านี้มีอิทธิพลอย่างไรบ้างต่อกลุ่มอำนาจอื่นในโลก

อันที่สอง เข้าไปวิเคราะห์เรื่องโลกภายใต้ขั้วอำนาจเดี่ยว โดยเริ่มต้นจากความเป็นจริงทางทหาร ความเป็นมาและความสัมพันธ์ของมัน สมมุติว่าเราจะวิเคราะห์โดยดูข้อมูลความเป็นจริงอื่นประกอบ โลกภายใต้ขั้วอำนาจเดี่ยวมีความหมาย มีความสำคัญในภาพรวมอย่างไรบ้าง

หัวข้อที่สามคือ ปัญหาจักรวรรดิ์นิยมประชาธิปไตย พูดให้ถึงที่สุดอันนี้คือ project ของอเมริกา เป็น project ทางอุดมการณ์ น้ำมันคงอยากได้แน่ ความเป็นใหญ่ในทางเศรษฐกิจคงอยากได้แน่ แต่ Project ของอเมริกาตอนนี้คือ จะทำให้ทั้งโลกเป็นประชาธิปไตย อย่างน้อยนี้คือคำอธิบายทางอุดมการณ์ เราจะมาดูปัญหาของ project นี้ในแง่ของวิธีคิดของมัน และข้อวิจารณ์ที่มีต่อเรื่องดังกล่าว

อันที่สี่คือ มีการเถียงกันเรื่อง"โลกขั้วอำนาจเดี่ยว"แบบนี้ มีข้อวิเคราะห์ที่เราจะมองได้อย่างนี้ project ของอเมริกาคืออย่างนี้ มันนำไปสู่ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องชาตินิยมอย่างไร ? เพราะว่าปฏิกริยาสำคัญต่อการต่อต้านจักรวรรดิ์นิยมก็คือ"ชาตินิยม". ผมอยากใช้คำว่า"ปริศนาชาตินิยม"เพราะผมรู้สึกว่ามันยุ่งกว่าที่เราคิดเยอะ มันยุ่งทั้งในส่วนชาตินิยมต่างๆของประเทศที่ต่อต้านอเมริกา และมันยุ่งในส่วนของชาตินิยมอเมริกันเอง พูดให้ถึงที่สุด จะเข้าใจจักรวรรดิ์นิยมประชาธิปไตยของอเมริกาในตอนนี้ ต้องเข้าใจลักษณะพิเศษเฉพาะของชาตินิยมอเมริกัน

และสุดท้ายคือ จะสรุปอะไรได้บ้าง

อันที่หนึ่ง. ข้อวิวาทะระหว่าง Blair กับ Chirac เริ่มโดย Blair ก่อน โดยที่เขาเป็นคนเสนอว่า โลกภายใต้ขั้วอำนาจเดี่ยวที่เขาเห็นและเขาอยากให้เป็นไปอย่างนั้น เป็นอย่างไร? โดยเขาได้พูดอย่างนี้ในคำให้สัมภาษณ์ในหนังสือพิมพ์ Financial Time ของอังกฤษ ณ วันที่ 28 เมษายน 2003 วิสัยทัศน์เกี่ยวกับโลกภายใต้มหาอำนาจเดี่ยวคือ

เป็นโลกขั้วอำนาจเดี่ยวที่ยุโรปเป็นพันธมิตรและเป็นหุ้นส่วนกับอเมริกา โดยยุโรปควรจะเข้มแข็งขึ้น และมีพลังมากขึ้น แต่ไม่ได้แยกตัวไปต่างหากแล้วก็ถ่วงอเมริกา. ไม่. คือเป็นขั้วเดียวกับอเมริกา เป็นหุ้นส่วนและเป็นพันธมิตรกัน โดยที่ทั้งสองฝ่ายอยู่ข้างเดียวกันโดยเรียกว่า"เสรีประชาธิปไตย" และข้างตรงข้าม ศัตรูของข้างนี้ในโลกคือสิ่งที่เขาเรียกว่า"Fundamentalism"หรือลัทธิเคร่งศาสนาทั้งหลาย กับ Terrorism หรือลัทธิการก่อการร้าย

ภายใต้โลกที่มีขั้วอำนาจเดี่ยวโดยมีอเมริกาและยุโรปจับมือร่วมกันเป็นหุ้นส่วนหรือพันธมิตร กลุ่มอำนาจอื่น มหาอำนาจอื่นสามารถมาร่วมมือกันได้ มาเป็นข้างเดียวกันได้ สุดท้ายโลกเราจะมีขั้วอำนาจเดียวคือ อเมริกากับคนอื่นๆทั้งหลาย คนยุโรปจะเป็นหุ้นส่วนและพันธมิตรกับอเมริกา นี่คือภาพที่เขาวาด

ทีนี้คำวิจารณ์ในเรื่องโลกขั้วอำนาจเดี่ยวของ Blair มีอย่างไรบ้าง? ซึ่งเอาเข้าจริงนั่นคือโลกของความฝันของ Blair คืออยากจะให้ยุโรปเป็นหุ้นส่วน เป็นพันธมิตรอเมริกาที่เข้มแข็ง. รัฐบาล Bush ไม่ต้องการหุ้นส่วนที่เท่าเทียม พูดง่ายๆก็คือ การที่ไปคบกับอเมริกา อเมริกาก็จะเอายุโรปมาเป็นลุกสมุนหรือลูกกะแล่ง อย่าหวังเลยว่าอเมริกาอยากจะยกยุโรปให้เป็นหุ้นส่วนที่เท่าเทียมกับตัว

ในความหมายนี้ บทบาทของ Blair ที่ผ่านมา ก็เป็นแค่ที่ปรึกษาอาวุโสของ Bush เท่านั้นเอง ไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่านั้น และอังกฤษก็เป็นแค่สมุนที่จงรักภักดี ที่คอยสนองด้วยกำลังทหารที่มีความกล้าหาญ มีความสามารถพิเศษบางอย่างเพื่อไปช่วยกองทัพหลักอเมริกาในการรบ หรือยึดประเทศต่างๆทั่วโลก อังกฤษนั้นเองที่เสียเปรียบ เพราะในขณะที่อังกฤษส่งทหารไปช่วยอเมริการบ เมืองของอังกฤษเอง ประเทศของอังกฤษเองกลับตกเป็นเป้าของการก่อการร้าย โดยที่อเมริกาไม่มาปกป้องด้วย

ที่เป็นอย่างนี้เพราะ Bush จะไม่ยอมรับคู่แข่งที่เท่าเทียม เท่าที่ผ่านมาก็ได้เคลื่อนไหวปล่อยข่าวโฆษณาป้ายสีฝรั่งเศสในประเทสอเมริกาเอง จนกระทั่งฑูตฝรั่งเศสต้องออกมาโวยวายเรื่องนี้ แล้วอเมริกาเองยังใช้อิทธิพลยุแยงตะแคงรั่วให้ยุโรปแตกกันอีก ดังนั้นภาพฝันโลกขั้วเดียวที่ยุโรปเท่าและเคียงข้างอเมริกา อย่างที่ Blair ว่า จริงๆออกมาแล้วไม่ได้เป็นอย่างนั้นหรอก Bush ต้องการยุโรปไว้เป็นเพียงแค่เป็นเครื่องมือเท่านั้น

ข้อวิจารณ์อื่นๆ เป็นการชี้ให้เห็นวิธีคิดที่อยู่เบื้องหลัง ว่ามันเป็นวิธีคิดแบบที่ในภาษารัฐศาสตร์เรียกว่า real politics คือเป็นการคิดแบบเอาการเมืองเรื่องความเป็นจริงของอำนาจปัจจุบันเป็นตัวตั้ง กล่าวคือ อำนาจมันยอมสยบต่ออำนาจที่ใหญ่กว่าเท่านั้น และอำนาจมันชอบธรรมก็เพราะมันชนะหรือมันประสบความสำเร็จ เพราะฉะนั้น ถ้าอำนาจไหนชนะ มันก็เป็นการตัดสินว่าอำนาจนั้นถูกต้อง เป็นใหญ่ในโลก แล้วมนุษย์ก็ต้องสมยอมให้กับอำนาจที่ชนะนั้น

พูดง่ายๆ ถ้าเริ่มต้นแบบนี้มันก็ไม่มีหลักเกณฑ์อะไรสูงกว่าอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายระหว่างประเทศหรืออะไรก็แล้วแต่ ผู้ชนะก็คือผู้บงการทั้งหมดว่าสิ่งที่ถูกต้องคืออะไร ถ้าคิดแบบนี้นะครับ ซึ่งเขาบอกว่าถ้าคิดแบบนี้ส่งเสริมโลกขั้วเดียวของ Blair นอกจากนี้ยังเป็นการคิดแบบประจบเอาใจมหาอำนาจด้วย ในที่นี้คืออเมริกา วิธีคิดนี้เชื่อว่า เวลาคุณเจอนักเลงโตอย่างอเมริกา วิธีการก็คือ นักเลงโตคนนี้พูดอะไร คุณต้องเชื่อ

เช่นนักเลงโตคนนี้บอกว่า "การบุกอิรัค"เป็นการทำเพื่อสิทธิมนุษยชน ทำเพื่อเสรีภาพ ทำเพื่อสันติภาพ ให้เชื่อมันเสีย แล้วทำตัวเป็นข้างเดียวกันกับมัน คุณจะได้สามารถมีอิทธิพลกับเขาได้บ้าง สักนิดๆหน่อยๆ แบบที่ Blair ทำมาตลอด คือ Blair จะไม่ขวางทาง Bush ประกาศตัวยืนอยู่ข้างอเมริกาเสมอ แล้วหวังว่าตัวเองจะไปเบียดนั่งอยู่ข้างๆ Bush เพื่อพูดให้ Bush ฟังบ้าง คือเป็นวิธีคิดที่ยอมรับอำนาจที่มีอยู่เป็นตัวตั้ง ไม่ขวางเขา เอาตัวเข้าไปอยู่ข้างๆ เขาว่าอย่างไรเชื่อตามเขาไปหมด แล้วหวังว่าจะกระซิบใส่หูและมีอิทธิพลกับเขาได้ เพื่อที่จะไม่ให้โลกเลวร้ายกว่าที่เป็นอยู่ คือจะไม่ให้อเมริกาทำอะไรที่แย่ไปกว่าที่ทำอยู่

แต่สุดท้ายวิธีคิดแบบโลกขั้วเดียวอย่างที่ Blair บอก เป็นวิธีคิดที่ผู้ชนะเขียนกฎใหม่ กล่าวคือ อเมริกาไม่ยอมเคารพกฎอันใดในโลกที่ยิ่งใหญ่กว่าอำนาจของตัว และตอนนี้ตัวมีแสนยานุภาพทางทหารเป็นที่หนึ่งของโลก อเมริกาจึงควรจะเป็นผู้เขียนกฎใหม่ของโลก คือถ้าคุณคิดตามวิธีการนี้ มันไม่มีกฎระหว่างประเทศที่จะอยู่เหนือทุกประเทศ แล้วทุกประเทศควรจะดำเนินกิจการของตัวตามนั้น ถ้าคิดตามนั้น ผู้ชนะเป็นผู้กำหนดกฎ

คนที่คิดแบบนี้ในสมัยนาซีเจออะไร เขายกฉากการประชุมของผู้พิพากษาอาวุโสในประเทศเยอรมันหลังจากฮิตเลอร์ขึ้นมาครองอำนาจ แล้วส่งนักกฎหมายที่เป็นนาซีเข้าไปประชุมด้วย ก็คือ มันเป็นการเข้าไปทำลายกฎหมายหลักการปกครองลงไปหมด ถ้าคุณยอมตามนี้ จะไม่มีองค์กรหรือว่าอะไรที่อิสระซึ่งจะขวางอำนาจอันนี้อีกต่อไปได้

เพราะฉะนั้น โดยหลักความเชื่ออันนี้ ปรัชญากฎหมาย นิติปรัชญาใหม่ของโลกก็คือว่า ถ้ามีโจรร้ายคนหนึ่งซึ่งละเมิดกฎหมาย แล้วแสดงอำนาจของตัวออกมา กฎหมายนั่นแหละที่โจรละเมิด กฎหมายนั้นควรจะถูกวิจารณ์ ถูกเปลี่ยนและยกเลิกเสีย แล้วยกเอากฎของโจรขึ้นมาเป็นกฎหมายแทน ดังนั้นมันจึงคล้ายๆกันกับกฎของป่าที่ว่า ใครเข้มแข็งกว่าเป็นผู้ชนะและปกครอง ก็จะกลายเป็นกฎของการเมืองระหว่างประเทศในโลก

ตัวอย่างก็คือมติของสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ 1483 ซึ่งอเมริกากับอังกฤษร่วมกันเสนอ ขอให้สหประชาชาติเข้าไปร่วมดูแลอิรัค หลังจากอเมริกากับอังกฤษยึดแล้ว ผมเคยไปฟังอาจารย์กฎหมายจากจุฬาฯเล่าให้ฟัง ตอนที่ผมอภิปรายเรื่องนี้ที่กรุงเทพฯ คือ กฎหมายอันนี้ สถานะของมติของสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ มีฐานะเป็นกฎหมายระหว่างประเทศหลังสงครามโลกครั้งที่สอง มันเท่ากับ International Law ต้องเข้าใจสถานะมันก่อน

ทีนี้มติที่ 1483 มันบอกว่าอะไร ? มันไม่พูดที่อเมริกากับอังกฤษอยู่ดีๆไปบุกยึดอิรัคว่าถูกหรือผิด แต่มันบอกว่า ไหนๆก็ไหนๆแล้ว มันเจ๊งไปแล้ว เราจะทำอย่างไรกับมันดี คนที่ปกป้องมตินี้บอกว่า มตินี้ไม่ได้รองรับความชอบธรรมของการรุกราน มันไม่มีประโยคไหนซึ่งบอกว่าสิ่งที่อังกฤษกับอเมริกาทำนั้นถูกเลย แต่ถ้าอ่านกฎหมายนี้ทั้งหมด มันให้ความชอบธรรมและการถูกกฎหมายแก่การเปลี่ยนระบอบ ก็คือมตินี้ legalize regime change ตั้งแต่นี้ต่อไปถ้ามีการเปลี่ยนระบอบโดยคนอื่นเข้ามาทำ เท่ากับสหประชาชาติได้ยอมรับแล้วว่าอันนี้ทำได้ อย่างในอิรัคไง คุณยังเข้าไปช่วยดูแลเลย อันนี้ก็คือการปรากฎตัวของกฎของโจรอย่างเป็นรูปธรรมในกฎหมายระหว่างประเทศ

ทีนี้ในทัศนะตรงข้ามของผู้ที่ไม่ชอบขั้วอำนาจเดี่ยว ตัวแทนก็คือ Jacques Chirac ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เขาเสนอโลกหลายขั้ว multipolar world โอกาสที่เขาพูดเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ เป็นการประชุม summit หรือการประชุมสุดยอดย่อยๆ ซึ่งมี 4 ประเทศเข้าร่วมประชุมได้แก่ เบลเยี่ยม ฝรั่งเศส ลุกเซมบรูค และเยอรมัน ประชุมกันเมื่อวันนี้ที่ 29 เมษายน 2003 นั่นคือ 1 วันหลังจากที่ Blair ได้ให้สัมภาษณ์ Financial Time ผมว่าจงใจมากที่ Blair ให้สัมภาษณ์เพื่อดักหน้า หรือ 4 ประเทศที่นี้จะประชุมกันที่บรัสเซลวันรุ่งขึ้น ก็ให้สัมภาษณ์ว่า กูจะเอาโลกขั้วเดียว

4 ประเทศไปประชุมกันที่บรัสเซลเพื่ออะไร? เพื่อจะหาทางสร้างแกนการประหารของยุโรปนอก NATO อยากจะมีกองกำลังทางทหาร อยากจะมีแผนการณ์การทหารของ 4 ประเทศนี้เป็นอิสระจาก NATO ก็คืออยากจะเป็นแรงถ่วงดุลจากอเมริกา ดังนั้น Blair จึงให้สัมภาษณ์ดักหน้าว่ากูไม่เอาด้วยกับมึงนะ กูเห็นด้วยกับโลกขั้วเดียว ประธานาธิบดี Chirac ใช้โอกาสนั้นพูดถึงโลกหลายขั้วที่เขาอยากเห็น มันเป็นโลก 5 ขั้ว กล่าวคือ โลกหลายขั้วที่ Chirac ต้องการคือยุโรปที่เข้มแข็ง ไม่ใช่เป็นหุ้นส่วนและไม่ได้เป็นพันธมิตรของอเมริกา แต่เป็นแรงถ่วงดุลกับอเมริกา เป็น counter weight กับอเมริกา มีเพื่อไม่ใช่ไปอยู่เคียงแนบชิดกับอเมริกา แต่อยู่เพื่อถ่วงอเมริกา

ในโลก 5 ขั้วนี้จะมี อเมริกาหนึ่งขั้ว, ยุโรปหนึ่งขั้ว, จีนหนึ่งขั้ว, อินเดียหนึ่งขั้ว, และลาตินอเมริกาหนึ่งขั้ว. นี่คือโลก 5 ขั้วที่ Chirac อยากเห็น. ใน 5 ขั้วนี้น่าสนใจตรงที่ Chirac ไม่เอ่ยถึงรัสเซีย มีคนตั้งข้อสงสัยว่าทำไม่เอ่ย. เดาได้ 2 แบบคือ หนึ่ง, รัสเซียโดนบวกเข้าไปในยุโรปแล้ว หรือไม่ก็รัสเซียมันป่วย ไม่ต้องมานับตอนนี้เพราะยังต้องป่วยอีกหลายปี อันนี้ไม่แน่ว่าเป็นอันไหนครับ อย่างไรก็แล้วแต่ ถ้ายึดตามนี้ เป็นการปฏิเสธไม่ยอมให้อเมริกาเป็นใหญ่หรือเป็นเจ้าแต่เพียงผู้เดียว

Chirac ยังบอกด้วยว่า การที่แบ่งแยกโลกออกเป็นหลายๆขั้วนี้ เป็นสิ่งซึ่งต้องเกิดขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้

คราวนี้มาดูคำวิจารณ์เรื่องโลกหลายขั้วของ Chirac บ้าง โดย Blair วิจารณ์ว่า เป็นทัศนะที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง และเป็นอันตราย unrealistic and dangerous กล่าวคือ โลกแบบนี้ ที่มีศูนย์อำนาจหลายขั้วแบบถ่วงดุลอำนาจ ในที่สุดศูนย์อำนาจเหล่านั้นจะหันมาแข่งขันกันเองอย่างรวดเร็วยิ่ง มันไม่มีทางที่จะอยู่อย่างนิ่งๆ แล้วก็อยู่กันไปแบบธรรมดา เพราะในที่สุดมันจะแข่งกันเอง โลกที่แข่งกันโดยมีศูนย์อำนาจหลายขั้วหรือที่เรียกว่าโลกที่มีการถ่วงดุลกันทางอำนาจ แบบนี้ไม่ไใช่หรือซึ่งเป็นแบบของโลกในคริสตศตวรรษที่ 19 และ 20 และนำไปสู่สงครามครั้งแล้วครั้งเล่า

พูดง่ายๆก็คือ โลกขั้วอำนาจเดียวจะมีสันติภาพถาวรใต้หล้านิรันดร์กาล เหมือนกับภาพยนตร์เรื่อง Hero. เทียนเสี้ย ใต้หล้าถ้าหากมีจิ้นซีองค์เดียว มันถึงจะมีสันติภาพ แล้วก็นิรันดร์กาลด้วย คือเชื่อแบบนั้น ถ้าคุณปล่อยให้มีหลายขั้ว เดี๋ยวก็จะแข่งกันเอง เดี๋ยวก็จะรบกันเอง แล้วคุณเบื่อไหม เพราะรบกันมา 2 ศตวรรษแล้ว การสร้างขั้วอำนาจต่างหากขึ้นมาเพื่อแข่งกับอเมริกา กลับจะยั่วให้อเมริกาทำอะไรอย่างบุ่มบ่ามคนเดียวอีก ทำไมคุณไปยั่วเขา ไปสร้างดุลอำนาจแข่ง แทนที่จะไปประกบข้างๆ ทำหน่อมแน้มน่ารัก แล้วเขาจะฟังคุณ อย่างผมไง

ทัศนะทั้ง 2 แบบนี้มีอิทธิพลอะไรในโลกนี้บ้าง ในวงสหภาพยุโรปขยายวง ทัศนะแบบ Blair เป็นใหญ่เสมอ ส่วนใหญ่จะเห็นด้วยกับโลกควรจะมีขั้วอำนาจเดียว ทำให้ทัศนะแบบโลกหลายขั้วเป็น minority เสมอ

ประเด็นที่สอง หากคิดจะสร้างยุโรปให้เป็นแกนทหารถ่วงอเมริกา ทางเดียวที่ยุโรปจะเป็นแกนทหารที่เข้มแข็งได้ ต้องรวมอังกฤษเข้าไปด้วย เพราะงบประมาณทางทหารของหลายประเทศในยุโรปนั้น ไม่เคยเกิน 2 เปอร์เซนต์เสมอมา มีแต่อังกฤษเท่านั้นที่เพิ่มงบประมาณทางทหารอย่างสม่ำเสมอ ถ้ายุโรปคิดจะเป็นมหาอำนาจทางทหารจะต้องบวกอังกฤษเข้าไปด้วย แต่อังกฤษจะไม่ไปบวกหรอก นอกจากอเมริกาไปด้วย ดังนั้นในแง่หนึ่งมัน unrealistic จริงๆ คนส่วนใหญ่ในยุโรปไม่เอาด้วย และความเป็นไปได้ทางทหารไม่มี

ซึ่งผลที่แสดงออกมาคือ นายกรัฐมนตรี Gerhard Schroeder ซึ่งได้ไปประชุมกับ Chirac ที่บรัสเซล แต่หลังจากนั้นมาก็เริ่มพูดเอียงข้างไปทาง Blair มากขึ้นเรื่อยๆ คือพูดว่า ยุโรปควรจะเป็นหุ้นส่วนกับอเมริกา ไม่เห็นด้วยที่ยุโรปจะเป็นขั้วตรงข้ามกับอเมริกา โดยที่บอกว่าตัวเองยังเชื่อมั่นอยู่กับสถาบันนานาชาติอย่างองค์การสหประชาชาติอยู่

อย่างไรก็แล้วแต่ ตัว Gerhard Schroeder ที่คัดค้านสงครามอีรัคที่อเมริกาไปบุก มันไม่ได้เป็นการคัดค้านโดยหลักการเท่ากับเป็นมุขเลือกตั้ง คือตอนนั้นมันใกล้เลือกตั้ง และตอนนั้น Schroeder รู้ว่า ถ้าชูเรื่องการคัดค้านสงครามครั้งนี้จะได้เสียงเยอะ ดังนั้นโอกาสที่ Gerhard Schroeder จะเอียงข้างกลับไปยังอเมริกาจึงเยอะมากและเริ่มแสดงอาการให้เห็น โดยเสนอว่าเป้าหมายสองอย่างที่เยอรมันต้องการก็คือ

หนึ่ง อยากให้ยุโรปเป็นเอกภาพ
สอง อยากให้ยุโรปเป็นพันธมิตรกับอเมริกา

และละเห็นว่าสองเป้านี้ไม่ขัดกัน ซึ่งอันนี้ตรงข้ามกับ Chirac. ปัญหาของหุ้นส่วนระหว่างอเมริกากับยุโรปตอนนี้ ไม่ใช่ว่ามีอเมริกาเยอะเกินไปในหุ้นส่วนนี้ แต่มียุโรปน้อยไปหน่อย ดังนั้นควรจะเพิ่มยุโรปในหุ้นส่วนนี้ให้มากขึ้น โดยพื้นฐานแล้วคิดเหมือนกับ Blair

ที่นี้หันไปดูรัสเซียกับจีนบ้างว่าคิดอย่างไร ? สองประเทศนี้ยืนข้างฝรั่งเศส เรียกร้องโลกหลายขั้ว ในการประชุมสุดยอดระหว่างปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียกับหูจิ่นเถาซึ่งเป็นประธานาธิบดีจีนคนใหม่ที่เพิ่งขึ้นมา เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคมศกนี้ที่มอสโคว์ อันนี้ถือเป็นการประชุมต่างประเทศครั้งแรกของหูจิ่นเถา หลังจากขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี ซึ่งเป็นการให้ความสำคัญกับรัสเซียมาก การประชุมครั้งนี้เขาได้ประกาศยึดมั่นกับโลกหลายขั้ว หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ปฏิเสธโลกที่อเมริกาเป็นใหญ่

ปูตินกล่าวหลังจากการประชุมร่วมสองฝ่ายว่า ระเบียบโลกใหม่จะต้องเป็นระเบียบโลกที่มีหลายขั้ว มั่นคงและคาดการณ์ได้ มันจะต้องตั้งอยู่บนการคำนึงถึงประโยชน์ของทุกฝ่ายซึ่งอยู่ในโลกนี้ และตั้งอยู่บนบรรทัดฐานที่กว้างขวางและชัดเจนของกฎหมายระหว่างประเทศ ก็คือ โดยเนื้อหาใกล้ไปทาง Chirac ไม่ตรงกับสิ่งที่ Blair และ Bush ต้องการ

หูจิ่นเถาไม่ได้พูดอย่างนี้ในการแถลงข่าว แต่ประโยคทำนองเดียวกันนี้กับที่ปูตินพูด ปรากฏคำต่อคำในแถลงการณ์ร่วมระหว่างรัสเซียกับจีนหลังการประชุม ในการสนทนาระหว่างทั้งสองฝ่าย ปูตินย้ำว่าความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับจีนเป็นหุ้นส่วนสำคัญทางธุรกิจในแง่ที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีทางทหาร เน้นความสำคัญตรงนี้มากเพราะ จีนกับอินเดียเป็นลูกค้าทางด้านอาวุธที่สำคัญของรัสเซีย ดังนั้นการยืนยันเรื่องโลกหลายขั้วจึงสำคัญ เพราะมีหลายขั้วพวกมึงจะได้ซื้ออาวุธจากกูต่อ ฉะนั้นจึงมีเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังระหว่างโลกขั้วเดียวหรือโลกหลายขั้วอยู่

นี่คือการทะเลาะกันในโลกตอนนี้ ระหว่างโลกมหาอำนาจในรูปของวาทกรรม

ผมอยากจะเข้าไปสู่ประเด็นที่สอง ซึ่งโลกขั้วอำนาจเดี่ยวที่มองดูมันในแง่การวิเคราะห์ เมื่อสักครู่ได้เห็นแล้วว่าเขาพูดอะไรเกี่ยวกับมันบ้าง ทีนี้ในแง่ความหมายภาพรวมของมันคืออะไร? ก่อนหน้านี้ Blair ด่า Chirac ในเรื่องทัศนะเกี่ยวกับโลกหลายขั้ว มันเป็นสิ่งที่ unrealistic and dangerous คือไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงและอันตราย ผมคิดว่าพูดกลับกันได้เหมือนกันว่า ทัศนะโลกขั้วอำนาจเดียวของ Blair ว่า realistic แต่อันตราย คือสอดคล้องกับโลกของความเป็นจริงแต่โคตรอันตรายเลย

มาดูความหมายของโลกขั้วอำนาจเดี่ยว ในแง่หนึ่ง มันเป็นการปรากฏตัวที่ชัดเจนของสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ตอนที่ค่ายสังคมนิยมถล่ม กำแพงเบอร์ลินแตก สหภาพโซเวียนล่มสลาย ปี 1989 เป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งที่เราเห็นทุกวันนี้ เพียงแต่ตอนที่มันเกิดตอนนั้น คนก็มัวดีใจกับการที่คอมมิวนิสต์พัง สังคมนิยมล่ม หรือเสียใจก็แล้วแต่ สำหรับผมเสียใจนิดหน่อย แต่เรายังไม่ตระหนักว่าเราจะเปลี่ยนโลกอย่างไร? ประเด็นคือ ผลของการถล่มของค่ายสังคมนิยมถล่ม ตอนนี้ปรากฏชัด

กล่าวคือ หลังสงครามโลกครั้งที่สอง โลกมีสองขั้วอำนาจ มีอเมริกากับนาโต้ขั้วหนึ่ง โซเวียดกับวอซอร์ขั้วหนึ่ง โดยที่อเมริกามีเป้าสองอย่าง คือ

หนึ่ง, ปกป้องโลกทุนนิยมจากค่ายคอมมิวนิสต์ อยากให้โลกที่เป็นฝ่ายเสรีนิยม ทุนนิยม ไม่โดนคอมมิวนิสต์เข้ามาคุกคามหรือเปลี่ยนระบอบ
สอง, ในโลกของทุนนิยมด้วยกันเอง อเมริกาขอเป็นใหญ่ ขอเป็นฝ่ายนำ นี่คือเป้าสองอย่างของอเมริกา

1989 ประสบความสำเร็จ คอมมิวนิสต์ล่มสลายลง เหตุการณ์ 9/11 หลังจากถล่มตึก World Trade และ Pentagon โลกขั้วอำนาจเดี่ยวที่ถูกสร้างเงื่อนไขให้เกิดขึ้น เนื่องจากขั้วหนึ่งพังทลายไปตั้งแต่ 1989 ปรากฏตัว ส่วนสงครามรุกรานอิรัค ทำให้โลกขั้วเดี่ยวชัดเจนขึ้น มันนิยามธรรมชาติผลประโยชน์ของอเมริกันว่าคืออะไร หรือว่าอเมริกาต้องการอะไรในโลก คือถ้าพูดสรุปให้สั้นที่สุด อเมริกาต้องการ 3 อย่างคือ

1. อเมริกาเป็นใหญ่ในโลกทางด้านการทหารอย่างไม่ถูกท้าทายในศตวรรษนี้

2. อเมริกาพร้อมจะใช้กำลังทหารเพื่อปกป้องภาวะที่ตัวเป็นใหญ่ในโลกนี้ การใช้กำลังทหาร จะไม่ใช้เพียงต่อสู้กับศัตรูอเมริกาที่ปรากฎอยู่ตรงหน้าเท่านั้น หากพร้อมจะใช้เพื่อป้องกันไม่ให้คนอื่นโผล่ขึ้นมาเป็นศัตรูด้วย อันนี้คือธรรมชาติที่แท้จริงของ Preventive War คือสงครามป้องกันไม่ให้มีใครขึ้นมาแข่งกับตัว

3. แล้วอเมริกาจะเอาอำนาจมหึมาทางด้านการทหารไปทำอะไร? คำตอบก็คือ เพื่อเผยแพร่ค่านิยมอเมริกาไปทั่วโลก เพราะค่านิยมอเมริกานั้นดี และใช้ได้ทั่วโลก เพราะของดีผมจะเก็บเอาไว้คนเดียวทำไม ประชาธิปไตยแบบผมมันดีจริงๆ ผมใช้คนเดียวมาสองร้อยปีแล้ว พ่อแม่พี่น้องอยากได้ไหม ? อิรัคยังขาด เดี๋ยวผมจะเอาไปให้ แล้วเพื่อที่จะเอาของดีไปให้ ต้องเอากระบองลุยเข้าไปก่อน

อันนี้คือธรรมชาติผลประโยชน์อเมริกัน สงครามอิรัคยังได้นิยามกรอบขอบเขตของโลกขั้วอำนาจเดี่ยวแล้วเกือบจะล้ม UN ระเบียบบังคับสถาบันการเมืองระหว่างประเทศซึ่งสร้างขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ของที่เราอยู่และเข้าใจว่าเป็นระเบียบที่ประเทศในโลกสัมพันธ์กัน มันสร้างขึ้นมาหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ก็คือมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น ฟ้อง UN ก่อน ถือว่าทุกประเทศในโลกเท่ากัน

อันนี้ตลกดี ประเทศไทยถึงแม้จะเบ่งแบบอึ่งอ่างขนาดไหน เราก็ไม่มีทางใหญ่เท่าอเมริกาได้ แต่เราเข้าไปใน UN โดยหลักกฎหมาย ทุกประเทศเท่ากันหมด คือมีหนึ่งเสียงเท่ากัน เว้นแต่ในสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่มีข้อยกเว้นสำหรับประเทศใหญ่ๆทั้งหลาย โดยหลักแล้วตลกดี เพราะในความเป็นจริงคนไม่เท่ากัน แต่มันถือว่าหนึ่งประเทศเท่ากัน นี่คือหลักที่ได้มาหลังสงครามโลกครั้งที่สอง คือมันรองรับระเบียบรัฐชาติเสมอภาคเกือบสองร้อยประเทศในโลก UN ว่าทุกประเทศเท่ากันหมด หลังจากที่ปลดปล่อยจากประเทศอาณานิคมแล้ว

แต่ในขณะเดียวกัน บรรดาสถาบันโลก สถาบันนานาชาติที่สร้างขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง อีกมิติหนึ่งซึ่งคนไม่ค่อยพูดถึงคือ มันเป็นสถาบันแนวร่วมที่อเมริกาใช้ต้านคอมมิวนิสต์ ลองนึกถึงภาพคณะมนตรีความมั่นคงฯ 15 ประเทศ มี 5 ประเทศเป็นภาคีถาวร ซึ่งได้แก่ อเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส โลกทุนนิยม ตอนแรกบวกจีนชาติด้วย 4 แล้วมีรัสเซีย 1 รัสเซียมีสิทธิ์วีโต้ แต่เห็นไหมครับ ในแง่หนึ่ง บรรดาสถาบัน UN บรรดา World Bank บรรดา IMF เหล่านี้ ซึ่งอเมริกาเข้าไปกุม เป็นสถาบันแนวร่วมพหุภาคีที่อเมริกาสร้างขึ้น

อเมริกาทำงานแบบแนวร่วม เหมือน พคท.ทำแนวร่วมรักชาติ รักประชาธิปไตย อเมริกามันก็ทำ โดยสร้างสถาบันแนวร่วมที่ดูเหมือนเป็นกลาง เช่น World Bank, IMF ทุกประเทศเข้าร่วมได้ แต่ความจริงอเมริกากุมอำนาจและมีอิทธิพลหลักอยู่ ดึงสมัครพรรคพวกนานาชาติเข้ามามีบทบาท แบ่งอำนาจให้ด้วย มีสิทธิ์ vote ลงมติตัดสินใจได้ด้วย เพื่อไปร่วมกันจำกัดอิทธิพลและต่อต้านค่ายคอมฯ ซึ่งสหภาพโซเวียดเป็นฝ่ายนำในสงครามเย็น นี่คือด้านกลับอีกด้านหนึ่งของสถาบันโลกเหล่านี้

คราวนี้ที่มันฉิบหายก็คือว่า ตอนนี้อเมริกาพบว่า เฮ้ย! ไม่มีแนวร่วมก็ได้นี่หว่า เพราะตอนนี้โซเวียดมันล่มไปแล้ว ไม่มีค่ายคอมฯแล้ว แต่ก่อนนี้ต้องทำแนวร่วมบ้างเพราะว่าเราไม่แน่ใจว่าคนเดียวจะตีมันสลบ แต่ตอนนี้มันสลบไปเองแล้ว ทำไมเราจะต้องทำแนวร่วมต่อไปด้วย เกะกะ ดังนั้นลุยอิรัค แนวร่วมจะไปกับกูไหม? มึงไม่ไป ลุยแม่งเลย. พวกแนวร่วมบอกว่า กูไม่ยอม มึงละเมิด ทำไมมึงทิ้งกู

นึกออกไหมครับว่า การขัดขืนต่อต้านอเมริกา เป็นของพวกที่เคยชื่นชมอเมริกา เคยชื่นชมกับการที่เราเดินไปด้วยกัน ไม่ต้องไปตามใครเพราะเราจะไปพร้อมๆกัน แล้ววันหนึ่งพบว่า ลูกพี่กูทิ้งกูแล้ว มีอังกฤษหัวไววิ่งตามไปทัน ทิ้งพวกกูอยู่ข้างหลัง ดังนั้น การต่อต้านสงครามอิรัคของฝรั่งเศส เยอรมัน มันไม่เคยถึงที่สุด. ต่อต้าน แต่พออเมริกาบุก เยอรมันยินดีเปิดน่านฟ้าให้อเมริกาใช้ อันนี้เป็นความขัดขืนขัดเคืองของคนที่รู้สึกว่าตัวเองถูกหัวหน้าทิ้งด้วย มึงไม่เอาพวก เลวมากที่ไม่เอากู เราจึงต้องเข้าใจลักษณะสองหน้าของมหาอำนาจเหล่านี้

ทีนี้ภาพรวมการเมืองที่ได้จากสงครามอิรัคคือ
หนึ่ง การปรากฏขึ้นของโลกขั้วอำนาจเดี่ยว
สอง โดยมีอเมริกาเป็นจักรวรรดิ์อำนาจ hyper ที่ใช้คำว่า hyper ก็คือว่า ใช้คำว่า super มันไม่พอ มันจะมี adj. ตัวไหนมาเพิ่มที่คนจะเข้าใจ ต้องใช้คำว่า Hyper Power, Hyper Imperialism เป็นจักรวรรดิ์ไฮเปอร์ โดยไม่มีคู่แข่งอันดับสองที่จะขึ้นมาประชันให้เกิดเป็นโลกสองขั้วอีกอย่างน้อย 20 ปี ทอดตามองไปในอนาคตอีก 20 ปี อย่าเพิ่งหาโลกสองขั้วเลย เพราะจะไม่พบใครที่จะมาประชันเรื่องอำนาจทางทหารในอีก 20 ปีข้างหน้าไม่มี. ตัวเก็งเดียวคือจีน ซึ่งตอนนี้เป็นโรค SARS อยู่

มันแปลว่าอะไร? มันผลักโลกถอยหลังไปอีก 50 ปี สู่ยุคก่อน post colonial คือหลังสิ้นสุดสงครามโลก จะดีจะชั่วก็แล้วแต่ โลกยอมรับว่ารัฐชาติเป็นสิ่งที่ดีงามถูกต้อง บรรดาอาณานิคมทั้งหลายควรกลายเป็นรัฐชาติ จะโดยการต่อสู้หรือการสมยอมก็แล้วแต่ บรรดามหาอำนาจอาณานิคมได้ยอมปล่อยอดีตอาณานิคมให้กลายเป็นเอกราชทีละประเทศๆ โลกเข้าสู่ยุค post colonial เงื่อนไขหนึ่งที่มันเกิดขึ้นได้ก็เพราะว่า ยอมรับหลักอันนี้ แล้วก็ยึดมั่นในหลักอำนาจอธิปไตยของรัฐเอกราช ก็คือ ถ้ามีรัฐชาติเกิดขึ้นมาแล้ว กิจกรรมในประเทศของเขาเป็นเรื่องของเขา คนอื่นห้ามเสือก

บัดนี้มีทั้งด้านบวกและด้านลบ. ด้านลบเกิดขึ้นที่ประเทศพม่า คือ อองซานซูจีโดนลุย ตอนนี้โดนขังไว้ มีคนไปบอกว่า มึงทำไม่ได้นะหม่อง หม่องบอกว่าเฮ้ย! นี่ประเทศกู ซึ่งมีอำนาจอธิปไตย แต่ด้านกลับก็คือว่า มันเป็นหลักที่มีไว้เพื่อไม่ให้มหาอำนาจเข้ามากิน

ตอนนี้ Postcolonial world มันจบแล้ว มันจบเพราะโลกสองขั้วจบ ความสำคัญมันอยู่ที่ตรงนี้คือ โลกที่มีอเมริกา-นาโต้ และโซเวียด-วอซอร์ พอมันแข่งกัน มันเบรกกัน มันเหนี่ยวรั้งกันโดยเฉพาะโลกเขตอิทธิพล ก็คือในบรรดาประเทศโลกที่สามทั้งหลาย พอมันเบรกกัน มันเหนี่ยวรั้งกัน พออเมริกาบุกเวียดนาม ถามว่า เวียดกงเอาอาวุธจากไหนมาสู้ จีน-โซเวียด. พอโซเวียดบุกยึดอัฟกานิสถาน มูจาฮิดีนเอาอาวุธจากไหนมาสู้, CIA ส่งให้ถึงปากีสถานเลย

คือโลกที่มีสองขั้วมันเปิดโอกาสความเป็นไปได้ของกระแสต่อต้านอาณานิคม และขบวนการปลดปล่อยประชาชาติ นี่คือสิ่งดีงามที่เกิดขึ้นเพราะโลกสองขั้ว ทำให้ประเทศอดีตอาณานิคมทั้งหลาย พอหายใจหายคอได้ โดยอเมริกาเหยียบ, วิ่งหาโซเวียด. โดนโซเวียดเหยียบ, วิ่งหาอเมริกา. โลกสองขั้วบัดนี้หมดแล้ว ตอนนี้เหลืออเมริกาเพียงลำพัง แล้วไม่มีใครหาญกล้าที่จะส่งอาวุธให้อิรัค ขนาดที่อิหร่านยังไม่ทันทำอะไร อเมริกาบอกว่า มึงอย่านะ !

ปี 1991 มานี้เอง ความเชื่อในหลักอธิปไตยยังอยู่เลย. 1991 เกิดสงครามที่อเมริกา ไปดึง UN ไปบุกอิรัคหนแรกเพราะอะไร? เพราะคูเวตโดนรุกราน อธิปไตยคูเวตถูกล่วงละเมิดโดยซัดดัม เพราะฉะนั้นสงครามในแง่หนึ่งเป็นวิธีการปกป้องอธิปไตย ปกป้องคูเวตเอาไว้ แล้วพอบุกลุยเข้าไปในอิรัค สามารถตีแตกถึงแบกแดดได้ ไม่ทำ การที่อเมริกาไม่ทำก็เหมือนกับเคารพอธิปไตยของอิรัคกลายๆ สงครามอ่าว(gulf war) 1991 หลักอธิปไตยยังอยู่ แต่พอมาถึง 1999 มันเริ่มเสื่อมแล้ว คือมีสงครามที่นาโต้แทรกแซงเซอร์เบียในโคโซโว เป็นการล่วงละเมิดหลักอธิปไตยก่อนสงครามอิรัค แล้วค่อยๆเสื่อมลงเรื่อยมา พอถึงสงครามอิรัคนี้หมดแล้ว ไม่มีเหลือ

ในยุคสงครามเย็นมีการละเมิดอธิปไตยไหม? มี แต่ละเมิดโดยที่ยังเคารพหลักการนี้อยู่ คนละเมิดลำบากมาก ลองนึกถึงตอนเวียดนามยึดเขมรแดง อันนั้นกี่ปีกว่าที่จะไปขอเก้าอี้อันนั้นได้ เขมรแดงนั่งปั้นจิ้มปั้นเจ๋อทั้งๆที่ตัวเองอยู่แถวไพลิน แต่นั่งอยู่ UN ตั้งเป็นสิบปี ทำไมยังนั่งอยู่ได้ ก็เพราะยึดหลักอธิปไตยอันนี้อยู่ แต่ตอนนี้หลักอธิปไตยถูกทำลายไปอย่างมาก

ผมขอเข้าสู่หัวสามคือเรื่อง จักรวรรดิ์นิยมประชาธิปไตย คือถ้าเรามาดูอเมริกาตอนนี้ กำลังจะส่งออกประชาธิปไตย อย่างน้อยมีพวกที่กุมอำนาจ นโยบายในแง่การทหาร ในแง่การฑูตจำนวนหนึ่งที่สำคัญ แล้วล้อมรอบ Bush ให้เชื่อแบบนี้ ถ้าเข้าใจแบบนี้จะเข้าใจเขาได้ง่ายขึ้น "สากลที่สาม"ของพวกคอมมิวนิสต์ อยากจะเปลี่ยนทั้งโลกเป็นคอมมิวนิสต์ เพราะคอมมิวนิสต์มันดี แล้วของดีผมเก็บเอาไว้คนเดียว ผมละอายใจนะ ควรทำให้พ่อแม่พี่น้องทั่วโลกเป็นคอมมิวนิสต์หมด แอบไปตั้งสาขาพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย พรรคคอมมิวนิสต์ไทย ฯลฯ ผมคิดว่าถ้าเข้าใจอันนี้ได้ เปลี่ยนจากโซเวียดเป็นอเมริกา แล้วเปลี่ยนจากคอมมิวนิสต์เป็นประชาธิปไตย อเมริกาคงคิดแบบนั้น

คราวนี้พอพูดถึงจักรวรรดิ์นิยมประชาธิปไตย ก็คือ มันขัดกันระหว่างหลักอธิปไตยกับหลักที่ว่า คือ ถ้าคุณส่งออกประชาธิปไตย คุณก็ไม่เคารพอธิปไตยของประเทศอื่นใช่ไหม? คุณไปโค่นเขาโดยเอาประชาธิปไตยไปยัดให้เขา

มีข้อถกเถียงถึงเรื่องนี้อย่างไรบ้าง? เหตุผลที่ค้านกับหลักอธิปไตยอย่างสุดกู่หรืออย่างสมบูรณ์ก็คือ หลักอธิปไตยพูดถึงที่สุดมันก็ไม่สมบูรณ์หรอก มันมีหลักอื่นอยู่ในโลกนี้ เช่น หลักสิทธิมนุษยชน หลักความยุติธรรม คุณต้องยอมรับว่า อธิปไตยมีอยู่จำกัด ถ้าเราถือหลักอธิปไตยอย่างเดียว เราก็ต้องปล่อยให้รัฐบาลทำอย่างไรก็ได้กับประชาชนของประเทศ ใช่ไหมครับ. อองซานซูจีเป็นคนของพม่า หรืออย่างพวกเราก็เป็นประชาชนของรัฐบาลทักษิณ ดังนั้นในแง่หนึ่ง การถือหลักอธิปไตยอย่างสุดกู่ ก็มีข้ออันตรายของมันอยู่

ทีนี้ในแง่กลับกัน เราจะโยนหลักอธิปไตยทิ้งเลยหรือเปล่า ข้อแย้งมีดังนี้ สภาพและคุณค่าของหลักอธิปไตยต่างกันไปในบริบท สำหรับประเทศที่พัฒนาแล้ว เรื่องอธิปไตยอาจจะไม่สำคัญเท่าไหร่ เพราะจริงๆมันก็ integrate กันมากแล้วในทางเศรษฐกิจสังคม แต่สำหรับประเทศกำลังพัฒนา ยัง และเรื่องนี้สำคัญ เพราะประเทศเหล่านี้เป็นเป้าของการเอาทรัพยากรของประเทศที่พัฒนาแล้ว ถ้าคุณไม่เหลือหลักอธิปไตยให้เขาก็ฉิบหาย

อันที่สอง ประเทศกำลังพัฒนาเพิ่งได้เอกราชอธิปไตยและอำนาจปกครองตนเองมาแค่ 50 ปี คือหลังสงครามโลกครั้งที่สอง จึงได้เกิดหลักสหประชาชาติต่างๆขึ้นที่รัฐชาติต่างๆเข้าเป็นสมาชิก ถือว่าทุกชาตินี้มีเอกราช อธิปไตย มีอำนาจปกครองตนเองเท่ากัน การคัดค้านการแทรกแซงของรัฐต่างชาติ ไม่ได้แปลว่ายอมรับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ไม่ได้แปลว่าการยอมรับการทรมาน หรือการยอมรับการฆ่าชาติพันธุ์ที่เป็นศัตรู แต่การแทรกแซงทางด้านการทหารข้างต้น เป็นวิธีการที่ผิด เพราะว่ามันนำมาซึ่งปัญหาต่างๆที่ตามมามากมาย และการแทรกแซงนั้นไม่ได้ทำไปโดยบริสุทธิ์ใจ ทั้งนี้เพราะมีเรื่องของอำนาจและผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง

ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในโลกทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ปัญหาความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ต่างๆ ประเทศมหาอำนาจอาณานิคมในอดีตมีส่วนทำให้เกิดขึ้น ดังนั้นจึงควรจะมีส่วนต้องรับผิดชอบทางประวัติศาสตร์ เช่น

การขีดเส้นพรมแดนบนแผนที่โดยพลการ ใครไม่เชื่อไปหยิบแผนที่อัฟริกามาดู จะเห็นว่าการวางพรมแดนทำได้อย่างไรถึงได้เรียบตรงอย่างนั้น ก็เพราะขีดกันบนแผนที่ โดยไม่รู้ว่าเป็นหัวใคร เช่นมันอาจจะขีดผ่ากลางห้องนี้ ผมอยู่ประเทศหนึ่งแล้วท่านอยู่กันอีกประเทศหนึ่ง นี่คือกรณีพรมแดนระหว่างอิรัคกับคูเวต ซึ่งทำให้เป็นปัญหาคาราคาซังมา แล้วก็มีเรื่องของผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่เช่นนั้นทำไมต้องมีบรูไน ซึ่งได้แยกจากมาเลย์ เพราะบรูไนมีน้ำมันมาก อังกฤษรู้ ก็ขีดแยกออกไปจากมาเลเซีย และแยกไปจากสิงค์โปร์ เป็นต้น

ดังนั้น ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือสิ่งที่เป็นมรดกตกทอดจากอาณานิคม ซึ่งประเทศอาณานิคมทั้งหลายในอดีตเป็นคนสร้าง ผมนั่งคิดกับมันเล่นๆในฐานะคนดูโดยสร้างเป็นตาราง แบ่งออกเป็นประชาธิปไตยกับเผด็จการในโลก แล้วมันมีระบบการเมืองที่เกิดขึ้นจากในประเทศ กับคนอื่นเขามาให้เป็นของขวัญ

- สำหรับเผด็จการที่เกิดขึ้นภายในประเทศเป็นหลัก เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน เกาหลีเหนือ และพม่า เป็นต้น
- ประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นภายในประเทศเป็นหลัก คือ ไทย เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย
- เผด็จการที่เกิดจากการแทรกแซงนำเข้าเป็นหลักก็อย่างเช่น พระเจ้าชาห์แห่งอิหร่าน ซูฮาโตของอินโดนีเซีย ปิโนเช่ต์ของชีลี
- ประชาธิปไตยที่เกิดจากการแทรกแซงจากภายนอกเป็นหลักคือ อิรัค หรือญี่ปุ่น มีการบุกเข้าไปยึดประเทศนั้นก่อน แล้วค่อยสร้างประชาธิปไตยขึ้นภายหลัง

เส้นแบ่งนี้ไม่สมบูรณ์ เพราะมีประเด็นที่ก้ำกึ่ง คลุมเครือ เปิดโอกาสให้โต้แย้งเยอะ

จีน ถ้าเราคว้านลึกเข้าไปในแต่ละกรณี จะพบว่ามันก็ไม่ได้นำเข้าร้อยเปอร์เซนต์เพียวๆ ก็ไม่ได้เกิดขึ้นภายในประเทศร้อยเปอร์เซนต์เพียวๆหรอก เป็นการผสมผสานกัน เพียงแต่ด้านหลักมันนำเข้าเป็นหลัก หรือเกิดจากพลวัต พลังในประเทศเป็นหลัก คือถ้าแบ่งแบบนี้ผมคิดว่า ประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นภายในประเทศดีที่สุด ส่วนเผด็จการที่คนอื่นมามอบให้เป็นของขวัญระยำที่สุด

คำถามก็คือ เราจะยอมรับเผด็จการที่เกิดขึ้นจากภายในประเทศเป็นหลัก หรือจะเอาประชาธิปไตยที่คนอื่นมันมามอบให้ อันนี้ชัดคิดอยาก

ผมอยากจะบอกว่าในโลก คนเลือกแบ่งข้างกันเยอะ มีคนที่เห็นว่าประชาธิปไตยนำเข้ายังดีกว่าเผด็จการภายในประเทศ ได้แก่ รามอส ฮอร์ต้า ของติมอร์ตะวันออก, อดัม มิชนิค เคยสู้กับเผด็จการในโปแลนด์มาหลายสิบปี, วาสลาฟ ฮาเวล ประธานาธิบดีเชคโกสโลวาเกีย. จุดร่วมคือ คนพวกนี้เคยอยู่ร่วมกับเผด็จการมายาวนานในประเทศและทรมานกับมันมาก คือสำหรับพวกเขา ถ้ามีต่างชาติบุกเข้ามาโค่นเผด็จการอันเลวร้ายจะขอบพระคุณมาก. เอียน บูรูมา เป็นคนที่เขียนเรื่องญี่ปุ่น เรื่องจีน เรื่องเอเซียเยอะ กรณีเผด็จการจีนนี่โหดร้ายมาก, คริสโตเฟอร์ ฮิทเช่นส์อันนี้พวกฝ่ายซ้าย, เจอร์เกน ฮาร์เบอมาส อันนี้เป็นญาติทางความคิดของหลายท่าน

ส่วนสำหรับคนที่ไม่เอาประชาธิปไตยนำเข้าเลยได้แก่ เนลสัน มันเดลา, กลุ่มผู้ได้รางวัลโนเบลสันติภาพและวรรณกรรมจำนวนมาก เช่น กุนเดอ กราส, แดเนียล คอนเบนดิต อดีตฝ่ายซ้ายยุโรป ทุกวันนี้เป็น สส. ยุโรป, เปอรี่ แอนเดอสัน, โนม ชอมสกี้, ทาริก อาลี, อรุณดาติ รอย, วันทนา ศิวะ ที่ผมยกมานี้คือในบรรดานักคิดทั้งหลาย มันแตกจริงๆเรื่องนี้ มันไม่ใช่อะไรที่ตัดสินได้ง่ายๆ หรือไม่ใช่อะไรที่เราจะปัดได้ง่ายๆ

ถ้าเราจะวิจารณ์ประชาธิปไตยนำเข้า เราจะวิจารณ์ได้อย่างไรบ้าง เท่าที่นึกออกมีอยู่ 4 ข้อ

ข้อที่หนึ่ง, มันเป็นประชาธิปไตยที่ไม่มีอธิปไตย อันนี้เป็นข้อสังเกตของ อ.เสกสรร ประเสริฐ์กุล โดยรูปการและระเบียบทางการเมืองของประเทศอาจจะดูเป็นประชาธิปไตย แต่ไม่มีอำนาจในการตัดสินเรื่องจำนวนมากของประเทศตนเองที่โยงกับประเทศที่มีอิทธิพลเหนือ ดังนั้น จึงเป็นประชาธิปไตยที่ไม่มีอธิปไตยที่แท้จริง

ข้อที่สอง, ระบอบที่ตั้งขึ้นแบบนี้ขาดความชอบธรรม ชาตินิยมในประเทศ คือถ้าคุณเป็นนายกที่อเมริกันมาตั้งให้ ทุกวันนี้ประธานาธิบดีของอัฟกานิสถาน นายฮามิด คาร์ไซ ซึ่งอเมริกันมาตั้งให้หลังจากถล่มตาลีบันพังลงไปแล้ว เชื่อไหมครับ เหมือนกับกษัตริย์อยุธยาหลายองค์ คือคนคุ้มกันเป็นชาวต่างชาติ เป็นอเมริกัน. สมัยอยุธยาคนคุ้มกันกษัตริย์เป็นคนญี่ปุ่นบ้าง เพราะไว้ใจไม่ได้. กรณีอย่างอัฟกานิสถาน ถ้าคุณเป็นประชาชน คุณมองดูประธานาธิบดีของตัวเอง มีอเมริกันเป็นผู้คุ้มกันทั้งหมด มันทำลายความชอบธรรมอย่างมาก

ข้อที่สาม, ประชาธิปไตยไม่ได้งอกมาจากปากกระบอกปืนอเมริกัน. พวกฝ่ายซ้าย ประธานเหมาเคยพูดว่า อำนาจรัฐเกิดจากปากกระบอกปืน อันนี้เขาล้อว่า ประชาธิปไตยไม่ได้เกิดจากปากกระบอกปืนอเมริกัน เขาพูดประโยคนี้เพราะว่า รมช.กลาโหม ซึ่งเป็นสายเหยี่ยวของอเมริกัน เป็นคนออกมาบอกว่า การบุกยึดอิรัคถูกต้องแล้วไปสร้างประชาธิปไตยให้ เหมือนกันกับญี่ปุ่น จำได้ไหมว่าญี่ปุ่นเป็นอะไร ญี่ปุ่นเป็นประเทศเผด็จการทหาร รุกรานคนอื่นไปทั่วเอเซีย อเมริกาไปโค่นแล้วให้ประชาธิปไตย ญี่ปุ่นกลายเป็นธงนำประชาธิปไตย เป็นตลาดเสรีของเอเซียและรุ่งโรจน์มาจนกระทั่งทุกวันนี้ อิรัคก็เหมือนกัน อิรัคจะเป็นธงนำประชาธิปไตย และตลาดเสรีของตะวันออกกลาง

คนที่แย้งเขาบอกว่า มึงอ่านประวัติศาสตร์เล่มไหนวะ เขาบอกว่า บริบทตอนที่อเมริกาไปทำให้ญี่ปุ่นเป็นประชาธิปไตย เป็นบริบทสงครามเย็นและปิดล้อมคอมมิวนิสต์ อเมริกาต้องการจะเอาญี่ปุ่นเป็นฐานเพื่อปิดล้อมคอมมิวนิสต์จีนและโซเวียดในเวลานั้น วิธีที่อเมริกันทำคือ ดึงพวกอาชญากรสงครามของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นชนชั้นนำของญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ไอ้ตัวที่ไปบุกคนอื่นเขานั่นแหละ ให้กลับมาเป็นผู้มีอำนาจ มีคนหนึ่งเป็นรัฐมนตรีอุตสาหกรรมในสมัยสงครามได้มาเป็นนายกฯญี่ปุ่นด้วย ทำไมจึงเอาพวกที่เคยรบด้วยอย่างเอาเป็นเอาตายกลับมา เข้าใจว่าเพื่อต้านคอมฯ ดังนั้นในแง่หนึ่ง เป็นการดึงเอาคนที่มือเปื้อนเลือดกลับเข้ามาสร้างประชาธิปไตยขึ้นในประเทศญี่ปุ่น แล้วมาแบ่งงานกันทำ

มีการแบ่งงานการทำที่ชัดเจนมาก มีข้อมูลการพูดคุยระหว่างผู้นำอเมริกาอย่างชัดเจนว่า อเมริกาจะยึดหรือจะเป็นกำลังทหารที่ยึดเอเซีย ญี่ปุ่นช่วยเป็นฐานเศรษฐกิจ แล้วชนชั้นนำญี่ปุ่นพวกที่บุกประเทศต่างๆในสมัยสงครามโลกครั้งที่สองยอมวางดาบซามูไรแล้วค้าขายแทน และเป็นฐานพลังทางเศรษฐกิจของทุนนิยมที่อเมริกานำเข้ามาในเอเซีย

แล้วทำอย่างไรระหว่างญี่ปุ่นกับอเมริกาที่ร่วมมือกันนี้ มันส่งเสริมประชาธิปไตยในประเทศต่างๆแถวนี้จริงแหละ คือมันส่งอาวุธไปให้ซูฮาร์โตในอินโดนีเซีย มันส่งอาวุธไปให้มาคอสที่ฟิลิปปินส์ …

ข้อที่สี่, จักรวรรดิ์นิยมประชาธิปไตย โดยอเมริกันเป็นคนร่างโดยถือเอาลัทธิตะวันตกเป็นศูนย์กลางโลก ก็คือ ประชาธิปไตยเป็นของดี คือคิดอย่างนี้ก็ได้ครับ คือเป็น"มิชชันนารีทางการเมือง" มิชชันนารีหรือพระมิซังคือคนที่มาเผยแพร่ศาสนา ผู้ได้พบพระผู้เป็นเจ้า ดีใจเหลือเกิน มีคริสตศาสนาเป็นสัจธรรมของโลก การจะเก็บไว้คนเดียวเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เห็นแก่ตัว ควรจะเอาสัจธรรมนี้ไปเผยแพร่ให้แก่คนทั้งโลก

อเมริกาพบว่าประชาธิปไตยของมันดีเหลือเกิน และมันเป็นมิชชันนารี เพราะมันอยากเอาประชาธิปไตยไปเผยแพร่ทั่วโลก โดยคิดอยากจะให้คนทั้งโลกเหมือนกับตะวันตก เหมือนกับคนอเมริกัน หัวใจของมันเป็น racism อย่างหนึ่ง เป็นลัทธิเชื้อชาตินิยม คือ ของดีเกิดที่นี่กับคนผิวขาว กับคนที่มีความคิดความเชื่อแบบนี้ ของเลวๆ สิ่งที่เลวร้ายเกิดกับอารยธรรมอื่น เช่น อิสลาม

Terrorist ในโลกขอให้สังเกต มักจะผิวไม่ขาว ไม่ดำก็คล้ำ และมีลักษณะ racial profiling เยอะมาก ถ้าคุณไปตามสนามบินโลกตะวันตกทุกวันนี้ ถ้าคุณ look Arab หรือ look black แบบ Middle East คุณจะถูกเรียกตัวไปตรวจ อาจารย์ชัยวัฒน์ คณะผมโดนแล้ว คือแก South Asian จริงๆ แกเป็นแขก ตอนไปอิตาลี เจ้าหน้าที่เดินมาถึงแกแล้วหยุดเลย กรากเข้าไปหาแกแล้วขอดูบัตร แกก็ถามเจ้าหน้าที่คนนั้นว่า การที่คุณตรวจผมเพราะหน้าตาของผมเป็นอย่างนี้ใช่ไหม?

มาถึงประเด็นใหญ่ที่สี่ คือ การกลับมาของ"ปริศนาชาตินิยม" คือ ในขณะที่อเมริกาเข้าสู่จักรวรรดิ์ประชาธิปไตย และเผยแพร่ประชาธิปไตยไปทั่วโลก มันก็ย่อมนำไปสู่การเกิดขึ้นของชาตินิยมที่ต่อต้านอเมริกันไปทั่วโลก ในแง่กลับกัน วิธีการเข้าใจจักรวรรดิ์นิยมอเมริกาปัจจุบันที่เรียกว่า จักรวรรดิ์ประชาธิปไตย คือมันคิดแบบชาตินิยม ชาตินิยมอเมริกาไม่เหมือนกับชาตินิยมที่อื่น ลักษณะเฉพาะของมันและจากการที่มันบาดเจ็บจากเหตุการณ์ 9/11 ทำให้มันพร้อมที่จะเข้าไปสู่การรุกรานประเทศอื่น

ภาพลักษณ์ของอเมริกาตกต่ำลงทั่วโลก ท่าทีที่มีต่ออเมริกาเป็นไปในทางลบมากยิ่งขึ้นในช่วงรัฐบาล Bush โดยเฉพาะช่วงหลังสงครามอัฟกานิสถาน จากการสำรวจของหน่วยงานอเมริกาเองที่เรียกว่า Pew Research Center เขาสำรวจคน 38,000 คนใน 44 ประเทศ เผยผลออกมาปลายปีที่แล้ว พบว่ากระแสการต่อต้านอเมริกาขึ้นสูงในหลายประเทศทั่วโลก

เมื่อเกิดสงครามอิรัค มีคนเดินขบวนทั่วโลกในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ถึง 8 ล้านคนใน 5 ทวีป อันนี้เป็นการยืนยันได้ว่าภาพลักษณ์ของอเมริกันตอนนี้ตกต่ำทั่วโลก กระแสต่อต้านอเมริกาแรงเป็นพิเศษในโลกอาหรับและมุสลิม และน่าเชื่อว่าจะพัฒนาเป็นขบวนการติดอาวุธหรือกบฎต่อต้านอเมริกาในอิรัค

เมื่อเช้านี้ผมฟังข่าว BBC เพิ่งตายไปอีกหนึ่ง บาดเจ็บห้าคน ที่เมืองทางตอนใต้ของอิรัค มีนักรบจรยุทธเอาจรวด อาร์พีจี. ไปยิงใส่. ผู้บัญชาการทหารในสงครามอิรัคบอกว่าสงครามยังไม่จบ ทหารอเมริกันยังคงถูกยิ่งบาดเจ็บล้มตายไปทุกวัน อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้สงครามจรยุทธต่อต้านอเมริกาในตะวันออกกลางคงสำเร็จยาก ก่อนอื่นก็คือ ไม่มีป่าในทะเลทราย แต่เหตุผลเบื้องลึกมีมากกว่านั้น คือเงื่อนไขชัยชนะของขบวนการปลดปล่อยประชาชาติอาณานิคมตะวันตกอย่างสงครามโลกครั้งที่สองได้หมดลงไปแล้ว เงื่อนไขเหล่านั้นคืออะไร

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง มีขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราชในหลายประเทศในโลก อาจด้วยเพราะเงื่อนไข 3 ข้อ

1. เงื่อนไขทางทหาร พัฒนาการของเทคโนโลยีทางทหารบางอย่าง โดยเฉพาะอาร์ก้า คืออาวุธเบาประจำตัว ไรเฟิลอัตโนมัติ ระเบิดมือ วัตถุระเบิด ทุ่นระเบิด จรวดยิงรถเกาะ อาร์พีจี. จรวดยิงเครื่องบินแบบพกพาได้ shoulder to air มันช่วยลดความได้เปรียบของกองทัพยึดครองของเจ้าอาณานิคมตะวันตกเหนือนักรบจรยุทธ์พื้นเมืองให้น้อยลง การพัฒนาสิ่งเหล่านี้ทำให้มีความเป็นไปได้ที่เวียดกงจะรบกับอเมริกา อาจจะไม่ชนะแต่มันรบได้ยื้อ

2. เงื่อนไขการเมืองก็คือว่า มีอุดมการณ์สมัยใหม่ที่ต่อต้านจักรวรรดิ์นิยมเกิดขึ้น โดยเฉพาะชาตินิยมบวกคอมมิวนิสต์ หรือชาตินิยมบวกสังคมนิยมฝ่ายซ้ายบางรูป พร้อมกับอุดมการณ์แบบนั้นที่ให้ความหวัง ให้กำลังใจ มีรูปการจัดตั้งและสร้างผู้ปฏิบัติงานตามมา เป็นผู้ปฏิบัติงานซึ่งทำหน้าที่ปลุกระดมมวลชนมาเข้าร่วมขบวนการ แต่มีเงื่อนไขการทหาร เงื่อนไขอุดมการณ์ทางการเมือง

3. สุดท้ายคือเงื่อนไขทางจิตวิทยา คือ ประชาชนและชนชั้นนำของประเทศเมืองแม่ เช่นอเมริกาในสงครามเวียดนาม อังกฤษในสงครามที่เคนยา เกิดความรู้สึกล้าสงคราม ไม่อยากรบต่อเพื่อธำรงรักษาอาณานิคมไว้ เพราะว่ามันเปลี่ยนความคิดแล้ว ในสังคมนั้นไม่ยอมรับอีกต่อไปที่จะส่งคนไปรบไปตายเพื่อยึดประเทศอื่นมาเป็นขี้ข้า อีกส่วนหนึ่งเพราะประเทศเมืองแม่ทั้งหลายพบว่า ยึดอาณานิคมไว้แล้วใช้กำลังทหารไปรุกรานยึดครองเขา มันไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ

เงื่อนไขเหล่านี้หมดไปโดยสำคัญ ภายใต้จักรวรรดิ์อเมริกัน เงื่อนไขทางทหาร เกิดการพัฒนาของทหารใหม่ซึ่งผมคิดว่า เป็นทหารที่เข้าใจชัดที่สุดคือ แบบดาร์ก ไวเดอร์ ในเรื่อง Star War คือมืดและติดเกาะทั้งตัว พร้อมด้วยหมวกเหล็ก ใส่เสื้อเกราะและหมวกกันกระสุนที่เบาและคล่องตัว พร้อมทั้งเครื่องส่องที่มองเห็นในตอนกลางคืน ทำให้ฝ่ายจรยุทธ์สูญเสียความได้เปรียบเรื่องความมืด

อันนี้ไม่ได้แปลว่าจะไม่เปลี่ยนในอนาคตอันยาวไกล อาจจะเปลี่ยนได้ก็คือ อาจจะมีกล้องวิเศษส่องให้เห็นตอนกลางคืน และอาจจะมีอาวุธเจาะเกราะ นึกออกไหมครับว่า อันนี้มันทำให้การรบเพื่อจะเอาชนะกำลังยึดครองอเมริกาแบบที่พวกเวียดกงเคยทำในอดีต มันทำได้ยากขึ้น แล้วเมื่อเผชิญกับสงครามแบบ Asymmetry คือฝ่ายยึดครองเหนือกว่าเยอะ แล้วรบไม่ได้แบบนี้ มันก็จะไปรบแบบจรยุทธ์ รบแบบ terrorism แทน ดังนั้น เงื่อนไขการรบแบบจรยุทธหมด เงื่อนไขการรบแบบ terrorism เข้ามาแทนที่ ก็คือใช้อาวุธระเบิดต่างๆไปบอมบ์ทำลายพลเรือนหรือเป้าอื่นๆ

เงื่อนไขการเมือง คือความล้มเหลวโดยทั่วไปของบรรดารัฐชาตินิยมในตะวันออกกลางและที่อื่นๆ กู้เอกราช ยึดอำนาจ ไล่เจ้าอาณานิคมกับสมุนรับใช้เดิมออกไปแล้ว แต่ล้มเหลวในการสร้างรัฐและพัฒนาเศรษฐกิจสังคมให้ทันสมัย ตะวันออกกลางเป็นกลุ่มประเทศที่ไม่ค่อยมีการเมืองเสรี และเศรษฐกิจมีปัญหา ประเทศที่รวย รวยเพราะน้ำมัน คือมันเหมือนกับสร้างชาติแล้ว แต่ไม่เห็นสำเร็จเลย บวกกับวิกฤตอุดมการณ์สังคมนิยมทั่วโลก ชาตินิยมก็ไม่สำเร็จ สังคมนิยมก็เผชิญวิกฤต ทำให้ไม่ปรากฏพรรคปฏิวัติ นำโดยผู้ปฏิบัติงานที่สามารถเคลื่อนไหวระดมมวลชนเข้าร่วมเช่นดังในอดีต หวังจะเห็นพรรคแบบนี้ ตอนนี้ไม่เห็นเลย ไม่แน่ว่าจะสร้างได้ด้วย ดังนั้นจึงออกมาเป็น Islamic Fundamentalism คือ คนก็หันไปหาศาสนา เคร่งศาสนาอิสลาม เอาอันนี้เป็นอุดมการณ์ เพื่อยึดเพื่อสู้กับจักรวรรดิ์

อันที่สามคือเงื่อนไขจิตวิทยา อเมริกาเคยหักศึกตอนสงครามเวียดนาม. 9/11 การโจมตีที่ World Trade Center ทำให้อเมริกาหายหักศึก แต่ก่อนมันไปรบเวียดนามแล้วไม่เอาแล้วโว้ย ส่งคนไปตายตั้งเยอะ แต่พอมันโดนเอง มันเจ็บช้ำมาก มีกลุ่มอาการที่เรียกว่า ชาตินิยมบาดแผล(wounded nationalism) หรือชาตินิยมบาดเจ็บ

อันนี้ต้องลงมาที่ชาตินิยมอเมริกานิดหนึ่ง ชาตินิยมอเมริกามีลักษณะประหลาดๆอยู่ 4 ข้อ

1. ชาตินิยมอเมริกาไม่เห็นตัวเองเป็นชาตินิยม มันเป็นชาตินิยมมาก มันโคตรจะรักชาติมากเลย แต่มันไม่เห็นตัวเองว่าเป็นชาตินิยม

2. มันไม่เข้าใจชาตินิยมของคนอื่น ที่เป็นอย่างนี้เพราะ ชาตินิยมอเมริกามีลักษณะหลายอย่างซึ่งไม่เหมือนกับชาตินิยมอื่นๆของโลก กล่าวคือ

2.1 มันเป็นชาตินิยมประชาสังคม ประชาสังคมมีบทบาทมากในการทำให้คนอเมริกันรักชาติมากกว่ารัฐ รัฐมีบทบาทน้อย คนอเมริกันเป็นกลุ่มสังคมที่แบบมี civic action สูง มีกลุ่มช่วยตัวเอง มีกลุ่มกิจกรรมแก้ปัญหาต่างๆมากมาย แล้วกิจกรรมรักชาติทั้งหลายเกิดจากคนพวกนี้ มากกว่าที่รัฐจะมาบอก ตอนนี้ 8 โมงตรงเคารพธงชาติ กรุณาติดธงชาติตามสถานที่ราชการ อเมริกันทำอันนี้น้อยมาก มีความพยายามที่จะห้ามเผาธงชาติอเมริกัน มีการยื่นเรื่องนี้ต่อศาลสูงอเมริกัน 2 ครั้ง แต่ไม่ผ่าน บทบาทสำคัญกลับอยู่ที่ชาวบ้าน

2.2 มันเป็นชาตินิยมที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนเชื้อชาติ หรือศาสนา เท่ากับอุดมการณ์ทางการเมืองเรื่องประชาธิปไตย ขณะที่คุณตั้งอยู่บนชาติพันธุ์ เช่น ความเป็นไทย ความเป็นพม่า มันเฉพาะใช่ไหม มันของคนชาติพันธุ์นี้เท่านั้น หรือคนในลัทธิศาสนาก็จะแบ่งแยกกัน แต่มันเสือกตั้งอยู่บนประชาธิปไตย เสรีภาพ ตลาดเสรี ซึ่งฟังๆดูมันเหมือนกับ Universal ใครๆก็แชร์กับกูได้ แจกได้ นี่เป็นของดี มันเป็นชาตินิยมที่ว่ากูดี ไม่ใช่เพราะว่ากูเป็นอเมริกัน. Bush พูดหลังเหตุการณ์ 9/11 ว่าไม่มีเชื้อชาติอเมริกา มีแต่ความเชื่ออเมริกา. มันตั้งอยู่บนฐานความเชื่ออันนี้มันจึงเชื่อของมัน export ได้ทั่วโลก

3. มันเป็นชาตินิยมที่บาดเจ็บ พ่ายแพ้น้อยครั้ง หรือแทบไม่เคยเลย ขณะที่ชาตินิยมประเทศอื่นแพ้มา ถูกยึดครอง เจ็บช้ำ ถูกฆ่า แล้วสร้างชาติขึ้นมาจากการไล่เจ้าอาณานิคม ชาตินิยมอเมริกาไม่เคยหรือน้อยครั้งมาก นานแล้วไล่อังกฤษเมื่อ 200 ปีก่อน คือมันเป็นชาตินิยมที่ชนะบ่อย มีการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ สังคม ฉะนั้นมันจึงเป็นชาตินิยมที่หึกเหิมมาก

4. สุดท้ายมันเป็นชาตินิยมที่แลไปข้างหน้า ไม่ค่อยกลับไปกษัตริยา หรือศรีสุริโยทัยเท่าไหร่นัก แม่งโคตรเชื่อเลยว่า เราจะทำให้ดีขึ้น โลกข้างหน้า bright new world. ความจำสั้น เป็นชาตินิยมที่มองไปข้างหน้าและความจำสั้น พอมาเจอ 9/11 ชาตินิยมนี้บาดเจ็บ พอบาดเจ็บมันเลยเปิดด่านทะลวงจิตวิทยาชาวอเมริกันให้หายจากกลุ่มอาการหักศึกติดค้างจากความปราชัยในสงครามเวียดนาม บัดนี้มันพร้อมที่จะส่งทหารลูกหลานอเมริกันไปเสี่ยงชีวิตยึดครองต่างประเทศอีกครั้ง พร้อมจะอดกลั้นเพิกเฉยต่อการล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพ โกหกพกลม ปลิ้นปล้อนหลอกลวง

ตอนนี้กำลังมีการเปิดโปงแหลกเลยว่า weapon of mass destruction มันไม่มี ผิดกฎหมายและอยุติธรรมที่ Bush และ Blair กระทำต่อเพื่อนมนุษย์ต่างชาติ และต่อเพื่อนร่วมสังคมของอเมริกันมากขึ้น ของเหล่านี้เลวร้ายทั้งนั้น แต่เพื่อชาติ ในนามของการป้องกันประเทศจากการก่อการร้าย การรักษาความมั่นคงปลอดภัย และการล้างแค้นทวงถามความเป็นธรรมคืนแก่ชาติตนที่ตกเป็นเหยื่อ อเมริกันมองว่าตนเป็นเหยื่อของการก่อการร้าย

Victim mentality มันร้ายมาก มันเหมือนกับการที่ชาวยิว โอ้โห! โดนนาซีฆ่าเป็นล้าน ทำไมมันขยี้ชาวปาเลสไตน์ได้เหี้ยมอย่างนั้น เพราะมันมี victim mentality มันคิดคล้ายๆอย่างนี้ ทีพวกฉันยังโดนการก่อการร้าย 9/11 อย่างไม่เป็นธรรมเลย พวกแกหมายถึงอัฟกันและอิรัค โดนรัฐบาลของฉันส่งทหารไปบุก บาดเจ็บล้มตายมาก ถึงจะไม่ค่อยถูกทำนองคลองธรรมเท่าไหร่ แต่มันก็เป็นเรื่องธรรมดา โลกของความเป็นจริงมันก็โหดร้ายอย่างนี้แหละ อย่าเอะอะโวยวายไปเลย. อเมริกันพร้อมจะอดกลั้นต่อการที่รัฐบาลของมันทำมากขึ้น เพราะมันรู้สึกว่ามันโดนคนอื่นทำ

ผลปรากฎจากการสำรวจ pole ของชาวอเมริกันว่า 42-56% ปักใจเชื่อว่า ซัดดัม ฮุสเซน เกี่ยวพันกับการโจมตีเมื่อ 9/11 แม้ไม่เคยมีหลักฐานเลยก็ตาม แม้ว่าจนกระทั่งปัจจุบันยังหา weapon of mass destruction อาวุธมหาวินาศไม่พบ ทั้งที่มันถูกใช้เป็นข้ออ้างหลักในการบุกอิรัค. โดนัล รัมเฟล รมต.กลาโหมสหรัฐฯ แก้เกี้ยวหน้าตาเฉยว่า เป็นไปได้ว่าอิรัคทำลายอาวุธเคมีชีวภาพทิ้งไปแล้วก่อนเกิดสงครามอีก ถ้าเป็นเช่นนั้น อเมริกันบุกเข้าไปทำไม ?

ในคำให้สัมภาษณ์ที่ยาวเหยียดของ Wolfowitz รมช.กลาโหมสหรัฐฯ กับนิตยสารฉบับหนึ่งซึ่งตอนนี้อยู่บนเว็ปไซค์กระทรวงกลาโหมของสหรัฐ ยาวเกือบ 20 หน้า แกพูดตรงไปตรงมาว่า ที่ตอนนั้นให้เหตุผลเรื่องอาวุธมหาวินาศมาให้ความชอบธรรมกับการบุกอิรัค ทำไปด้วย bureaucratic reason หรือ เหตุผลทางระบบราชการ เพราะมันเป็นเหตุผลเดียวที่ทุกคนตกลงกันได้ พอ Wolfowitz ให้สัมภาษณ์ออกมาอย่างนี้ หนังสือพิมพ์อังกฤษจ่าหัวตัวเป้งสองฉบับ we are conned แปลว่า"เราถูกแหกตา"

แต่กระนั้นก็ยังสำรวจพบว่า ผลของชาตินิยมบาดเจ็บ ชาวอเมริกันราวครึ่งหนึ่งหรือ 50% พร้อมจะหนุนสงครามบุกอิหร่าน เพื่อป้องกันไม่ให้อิหร่านได้อาวุธนิวเคลียร์เอาไว้ในครอบครอง อิหร่านจะสามารถผลิตอาวุธนิวเคลียร์ได้ภายในสองปี ตามการประเมินของแหล่งข่าวยุโรป แม้ว่ารัสเซียจะเลิกช่วยเหลือก็ตาม ที่สำคัญก็คือว่า สิ่งที่คนซึ่งเป็นผู้วิเคราะห์เรื่องนี้กลัวก็คือว่า ถ้าเกิดมีการก่อการร้ายในอเมริกา ขนาดใหญ่แบบ 9/11 อีกครั้ง มันจะเชื่อคำโกหกแบบไหน? นายกฯประเทศอะไรไม่รู้ ปากคอเลาะร้าย พูดจาไม่สุภาพ ดุด่าคนในประเทศทุกวัน วันก่อนก็พูดจาฟังไม่เข้าหู. ท่านประธานาธิบดี สงสัยมันจะตั้งใจเป็นใหญ่ในโลก, Preventive War.

สรุป ก็คือว่า ถ้าการวิเคราะห์แบบนี้มันวิ่งไปแบบนี้ แปลว่า terrorism หนึ่ง, การที่คนมุ่งไปที่การตีความศาสนาอิสลามแบบเคร่งอีกหนึ่ง, แล้วชาตินิยมอเมริกาที่บาดเจ็บอีกหนึ่ง. สามอันนี้ น่าจะนำไปสู่วงจรอุบาทว์ของ Terrorism and War ก็คือ เกิดการโจมตีหรือ terrorism ขนานใหญ่ในอเมริกา คนอเมริกันรู้สึกโกรธมากแล้วก็บุกอีกประเทศหนึ่ง คนในประเทศนั้นโกรธมาก การก่อการร้ายก็จะทำไปไปเรื่อยๆ

มีเหตุผลเหมือนกันที่พวก"นีโอคอน"บอกว่า สงครามต่อต้านการก่อการร้ายเป็น A war without end คือถ้าทำแบบนี้จะไม่มีจุดสิ้นสุดจริงๆ น่าเชื่อว่ามันจะนำไปสู่การทำลายประชาธิปไตยในอเมริกาเอง และในประเทศอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับอเมริกา

 

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา I ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้

1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งย่อหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ
(กรณีตัวหนังสือสีจาง ให้เปลี่ยนสีเป็นสีเข้มในโปรแกรม Microsoft-word)

บทความฟรี ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ หากนำไปใช้เพื่อประโยชน์ดังกล่าว กรุณาอ้างอิงตามสมควร - สมาชิกและผู้สนใจทุกท่าน ถ้าประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง

ชาตินิยมอเมริกัน มันเป็นชาตินิยมที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนเชื้อชาติ หรือศาสนา เท่ากับอุดมการณ์ทางการเมืองเรื่องประชาธิปไตย ขณะที่คุณตั้งอยู่บนชาติพันธุ์ เช่น ความเป็นไทย ความเป็นพม่า มันเฉพาะใช่ไหม มันของคนชาติพันธุ์นี้เท่านั้น หรือคนในลัทธิศาสนาก็จะแบ่งแยกกัน แต่มันเสือกตั้งอยู่บนประชาธิปไตย เสรีภาพ ตลาดเสรี ซึ่งฟังๆดูมันเหมือนกับ Universal ใครๆก็แชร์กับกูได้ แจกได้ นี่เป็นของดี มันเป็นชาตินิยมที่ว่ากูดี ไม่ใช่เพราะว่ากูเป็นอเมริกัน. Bush พูดหลังเหตุการณ์วันที่ 11 กันยายน 2001 ว่าไม่มีเชื้อชาติอเมริกา มีแต่ความเชื่ออเมริกา มันตั้งอยู่บนฐานความเชื่ออันนี้มันจึงเชื่อของมัน export ได้ทั่วโลก...

 

มันเป็นชาตินิยมที่พ่ายแพ้น้อยครั้ง หรือแทบไม่เคยเลย ขณะที่ชาตินิยมประเทศอื่นแพ้มา ถูกยึดครอง เจ็บช้ำ ถูกฆ่า แล้วสร้างชาติขึ้นมาจากการไล่เจ้าอาณานิคม ชาตินิยมอเมริกาไม่เคยหรือน้อยครั้งมาก นานแล้วไล่อังกฤษเมื่อ 200 ปีก่อน คือมันเป็นชาตินิยมที่ชนะบ่อย มีการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ สังคม ฉะนั้นมันจึงเป็นชาตินิยมที่หึกเหิมมาก
สุดท้ายมันเป็นชาตินิยมที่แลไปข้างหน้า และเชื่อเลยว่า เราจะทำให้โลกดีขึ้น โลกข้างหน้า bright new world - เป็นชาตินิยมที่มองไปข้างหน้าแต่ความจำสั้น
N
next
R
random
(คลิกไปอ่านตอนที่ ๒)