ทะลุทะลวงความสัมพันธ์เชิงอำนาจ กรณีโครงสร้างระบบสุขภาพ / บทความถอดเทปใหม่ ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
บทความถอดเทปนี้ เป็นการสนทนากันระหว่าง นักศึกษาพยาบาลที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาเอก มหาวิทยาลัยมหิดล ติดต่อมาเพื่อขอร่วมพูดคุยกับคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2544 เวลา 14.00-17.00 น. มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเห็นว่า การสนทนากันครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อการทำความเข้าใจโครงสร้างระบบสุขภาพ และความสัมพันธ์เชิงอำนาจเกี่ยวกับบุคลากรในวงการสาธารณสุข จึงนำมาเผยแพร่ในที่นี้สำหรับนักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน

โครงสร้างการรักษาพยาบาลที่ Foucault พูดถึงนี่ มันเป็นโครงสร้างอำนาจ ไม่ใช่โครงสร้างของการดูแลตัวเอง หรือเป็นนายตัวเอง อันนี้ไม่ใช่. โครงสร้างสุขภาพที่เราจัดการมาในสองสามร้อยปีที่ผ่านมา มันเป็นโครงสร้างอำนาจโดยมีโรงพยาบาลเป็นกระทรวงกลาโหมของโครงสร้างอันนี้ อันนี้คือประเด็นที่ผมอยากพูดถึง....

แต่ถ้าพยาบาลคิดว่า ตัวน่าจะมีบทบาทอยู่ในสถาบันที่พวกหมอได้สัมปทานไปหมดแล้ว ผมว่ามันไม่มีทาง. นอกจากว่าต้องสู้กันอย่างหนัก ล้มล้างกัน ทะเลาะกัน ทำสงครามกัน เพื่อจะชิงเอาตัวสถาบันนี้กลับคืนมา และผมไม่แน่ใจว่าไอ้ตัวสถาบันแบบนี้ ตกอยู่ในมือพยาบาลจะดีกว่าตกอยู่ในมือหมอ

นิธิ เอียวศรีวงศ์

CP
MP
WB
contents P.
member P.
webboard
หากภาพ และ ตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลงมา จะแก้ปัญหาได้
ภาพประกอบโดย Marcel Paquet Botero ชื่อภาพ The Grandmother เทคนิคสีน้ำมันบนผ้าใบ 1982.
H
home
181044
release date

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ


Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

สนใจสมัครเป็นสมาชิก
กรุณาคลิกที่ปุ่ม member page
ส่วนผู้ที่ต้องการดูหัวข้อบทความ
ทั้งหมด ที่มีบริการอยู่ขณะนี้
กรุณาคลิกที่ปุ่ม contents page
และผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น
หรือประกาศข่าว
กรุณาคลิกที่ปุ่ม webboard

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
(midnightuniv(at)yahoo.com)


his
midnight's
history
Free Remote Education for All : Midnight University 2001

ในบางครั้งเวลาที่ฟังในเรื่องของ holistic ที่ว่า จะต้องอยู่ร่วมกัน การสร้างภูมิคุ้มกันในการปรับเปลี่ยนอะไรต่างๆ ซึ่งมันก็เห็นนะคะว่า คนไข้บางคนเขาก็ทำแล้วก็ได้ผล แต่ว่ามันเป็นเรื่องของ paradox มันเป็นเรื่องที่อยู่ท่ามกลางความขัดแย้งจริงๆ ถึงอย่างไร ในส่วนที่เราจะไปส่งเสริมอะไร แต่มนุษย์เราในที่สุด มันก็มีช่วงหนึ่งที่เราต้องเจ็บป่วย แล้วพยาบาลต้องเจออย่างนี้แน่... อาจารย์จะมีข้อเสนอแนะไหมคะว่า คนที่ทำงานอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งแบบนี้

ชัชวาล : ผมขอเล่าเสริมนะครับ ที่ผมเคยเข้าไปร่วมฟังการสัมนาการปฏิรูปการสาธารณสุข มีข้อมูลว่า จำไม่ได้ว่า Harvard หรือที่ไหนนะครับ ที่ตั้งคำถามว่า "หมอ"นี่จะร้องไห้กับคนไข้ได้ไหม ? คืออย่างนี้ครับ วิธีการรักษาแบบแพทย์แผนปัจจุบัน ได้แยก"คนไข้"กับ"หมอ" เป็น subject กับ object อันนี้เกิดจากการทดลองของนิวตัน เป็นเรื่องของ mechanic ใครไปทดลองก็ได้ผลเหมือนกัน ไม่ขึ้นอยู่กับ subject ว่าใครเป็นใคร เพราะฉะนั้น การแต่งชุดสีขาวก็ดี การที่แยกคนไข้ออกจากหมอ และไม่เอาจิตใจไปผูกพันกัน อันนี้จะเป็นหัวใจหลักของแพทย์แผนตะวันตกเลยทีเดียว.

พอมาเป็นคำถามแบบนี้ว่า แพทย์สามารถร้องไห้กับคนไข้ได้หรือไม่ ? มันเป็นคำถามที่เกิดขึ้นมาจากการมองผ่านทฤษฎีสัมพัทธภาพ คือเกี่ยวข้องกัน รู้สึกเป็นญาติ ซึ่งคำถามแบบนี้ผมก็มองว่า ในวิชาชีพพยาบาลซึ่งใกล้ชิดกับคนไข้มาก ผมคิดว่าพยาบาลจำนวนมากร้องไห้กับคนไข้ เพราะว่าเขามีความผูกพัน เขาเห็นทุกวัน เขาเหมือนญาติอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ผมคิดว่า อันนี้เป็นสิ่งที่เป็นคำถามที่สำคัญมาก เป็นจุดเปลี่ยนของศตวรรษเหมือนกัน

ประการที่สองคือ"สีขาว" ผมคิดว่าสีขาวเป็นสีแห่งการแบ่งแยกที่สำคัญมากเลย เพราะนิยามของ"สีขาว"ที่ว่า"สะอาด"นั้น มันเป็นนิยามใหม่ที่เป็นนิยามของฝรั่ง ผมเคยคุยกับอาจารย์นิธิว่าทำไมต้องขาว อาจารย์ก็บอกว่า มันนิยามมาจากสีผิว ขาวมันหมายถึงต้องสะอาดนะ สีอื่นมันเป็น color หมด.

เพราะฉะนั้น ในหนังสือเรื่อง"เยินเงาสลัว"ของนักคิดชาวญี่ปุ่น ที่เขียนถึงเรื่องความสลัว และความมืด คือต่อต้านในเรื่องของความสว่างและความขาว เพราะเขาถือว่า ความสว่างและความขาวเป็นความหยาบคายอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น คนในท้องถิ่นของภูมิภาคแถบนี้, วัตถุสิ่งของ เขาจะไม่ขัดให้มันวาวเพราะเขาถือว่ามันเป็น classic ที่สุดแล้ว. การขัดให้มันเป็นเงามัน คุณหยาบคายกับแสงมากเลย ดังนั้นเขาจึงเสนอว่า ทำไมในวงการพยาบาลญี่ปุ่น จึงต้องไปใส่ชุดสีขาว ทำไมจะใส่ชุดสีที่คนญี่ปุ่นใส่ไม่ได้หรือ คือคุณจะได้คุ้นกับคนไข้ เป็นพวกเดียวกันอะไรอย่างนี้เป็นต้น. ผมก็มีเรื่องเสริมแค่นี้ว่า มันมีอะไรบางอย่างที่เขาคิดซึ่งมันไม่เหมือนกันที่เราคิดในปัจจุบัน

อาจารย์เล็ก : เคยเรียนพยาบาลมาตั้งแต่ระดับปริญญาตรี ปัจจุบันก็พยายามเอาความรู้พยาบาลไปใช้กับชาวบ้าน ก็คือที่ไปทำงานกับชุมชนในด้านสร้างเสริมสุขภาพ กำลังมาคิดว่า ทำไมพยาบาลจะต้องมานึกถึงเรื่องของการ reform ระบบพยาบาลใหม่ จำได้ว่าเมื่อก่อนนี้ ตั้งแต่ Florence Nightingale ถือตะเกียง มันมีคำๆหนึ่ง เรื่องของการเกิด Florence Nightingale ขึ้นมา เพราะว่ามันมีบทบาทอันหนึ่งที่เราเรียกว่า independent role เข้าใจว่าทุกๆสาขาอาชีพก็จะต้องมี independent role ของเขา

ที่นี้เรามาขยายคำจำกัดความของ independent role ของพยาบาล ว่ามันคืออะไรกันแน่. คำว่า independent role มันไม่น่าจะแค่กับแพทย์เท่านั้น เพราะตอนช่วงหลังๆมานี่ เห็นการพัฒนาการของนักกายภาพบำบัด ทำไมบทบาทของกายภาพบำบัดมันชัดเจนขึ้นมากกว่าพยาบาล ในขณะที่พยาบาลของเรามีมาตั้งหลายร้อยปี ใช่ไหมคะ ตรงนั้นมันคืออะไร ? ก็พยายามเข้าไปศึกษากับนักกายภาพบำบัดว่า อะไรทำให้เขามีบทบาทเด่นขึ้นมา พยาบาลอาจจะต้องมองตรงนี้ ซึ่งเห็นด้วยกับอาจารย์นิธิว่าเรา อาจจะต้องไปเน้นเรื่องของนอกระบบมากขึ้น นอกระบบอย่างไร ? คือคำถามที่เราจะต้องไปแกะออกให้ได้ว่าอย่างไร ?

ได้คุยกับนักศึกษาพยาบาลที่มาเรียนเรื่องสรีรวิทยาด้วย นักศึกษาบางคนมาบ่นว่า ไม่อยากเรียน ไม่อยากเป็นพยาบาล แต่ที่เรียนเพราะสอบติด. ก็ถามว่า คุณรู้สึกว่าเป็นพยาบาลแล้ว เป็นอย่างไร ? นักศึกษาก็ตอบว่า ก็เหมือนผู้ใช้แรงงานธรรมดา. อ้าว! แล้วมาเรียนทำไม เรามาเรียนด้วยสมองไม่ใช่หรือ ? อันนี้จะต้องสร้างให้เขามี image ต่อสิ่งที่เขาเรียน ซึ่งจะต้องนำไปใช้ อันนี้เป็นประเด็นหนึ่งที่อยากจะพูดถึงวิชาชีพพยาบาล

เคยไปดูงานที่เขาทำงานสร้างเสริมสุขภาพที่อยุธยา ไปดูทั้งในโรงงาน และในโรงพยาบาลด้วย ก็เกิดข้อขัดแย้งอยู่หลายอย่างเหมือนกัน ก็คือ ไม่ว่าที่ไหน แพทย์ก็ยังเป็นผู้นำอยู่เสมอ. เพื่อนตัวเองก็เป็นทั้งแพทย์และพยาบาลอยู่ที่นั่น แต่ว่าสภาพที่นั่นมันเป็นสภาพที่เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน โรงพยาบาลที่นั่น บทบาทพยาบาลเด่นพอสมควร แล้วเขาจะมีการสร้างพยาบาลขึ้นมาทำหน้าที่เป็น... ไม่ทราบเรียกว่าอะไร คือต้องเข้าไปในชุมชน เข้าไปสร้างกลุ่มชาวบ้านในชุมชนให้ดูแลรักษาตัวเองให้ได้ และก็เกิดขึ้นอย่างนั้นได้จริงๆ ก็คือ

มีคนไข้ที่มาโรงพยาบาลด้วย cva ไม่รู้สึกตัวเลย จนกระทั่งรักษาอยู่ในโรงพยาบาลสักพักหนึ่งแล้วก็กลับบ้าน เนื่องจากไม่มีเงินรักษาต่อ พยาบาลก็จะต้องไปเยี่ยมผู้ป่วยที่บ้าน ถ้าเป็นพยาบาลทั่วไปก็ไปเยี่ยม ไปดูแลทำแผลอะไรต่างๆ แต่ที่นี่เขาไม่ได้ทำอย่างนั้น เขาไปดูทั้งสังคม เขาไปดูสภาพผู้ป่วยว่าเป็นอย่างไร ปรากฎว่า ผู้ป่วยคนนี้อายุมากแล้ว และลูกหลานออกไปทำงานหมดเลย ทั้งบ้านไม่มีใครอยู่ กลับไปบ้านเขาก็นอนป่วยอยู่คนเดียวที่บ้าน แต่รอบบ้านมีใครอยู่บ้าง มีเด็กอยู่ อายุ 5 ขวบยังไม่ไปโรงเรียน พยาบาลก็ไปสอนเด็กคนนี้ให้มาดูแลคุณตาบ้าง ดูแลอย่างไร ? เช่นให้กินน้ำบ้าง เทน้ำใส่แก้ว แล้วเอาหลอดใส่ให้คุณตาเขาดูด อันนี้ก็เป็นแนวทางหนึ่งที่วิชาชีพพยาบาลออกไปสู่ชุมชน. ดิฉันดูแล้วเห็นว่า อืม! นอกบทบาท ยังมีอะไรอยู่เยอะที่เราทำได้ ... พยาบาลนำหน้าแพทย์ไปในเรื่องของ health promotion

อีกเรื่องหนึ่งที่เมื่อสักครู่นี้พูดถึงเรื่อง Over Investigation กับเรื่องของ Over Medical ...ช่วงเดียวกับที่ไปเยี่ยมโรงพยาบาล โรงพยาบาลนั้นเป็นโรงพยาบาล 30 เตียง แต่ปรากฏว่าวันนั้นมีเครื่องมือใหม่เข้ามาของทันตแพทย์ คนขายก็บอกว่า เพิ่งขายที่นี่เป็นแห่งแรก แม้แต่โรงพยาบาลในจังหวัดยังไม่มีเลยนะ. เราก็รู้สึกว่า เอ๊ะ! เราจะทำในเรื่องของ health promotion แต่เรากลับไปส่งเสริมเรื่องของการใช้เทคโนโลยีที่แพงๆมากขึ้นในโรงพยาบาลเล็กๆ.

สมัยก่อนไปดูโรงพยาบาล 30 เตียงนี่ ไม่มีอะไรเลย แต่ปัจจุบันนี้ อุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆอยู่ในโรงพยาบาล 30 เตียงหมด ก็เลยไม่แน่ใจเหมือนกันว่า มันเป็นนโยบายของผู้บริหารโรงพยาบาลนั้นเอง หรือว่าเป็นของกระทรวงสาธารณสุขที่ต้องส่งเทคโนโลยีต่างๆให้กับโรงพยาบาล ซึ่งดูเหมือนกับว่า หน้าที่ในการดูแลสุขภาพไม่ใช่หน้าที่ของประชาชน แต่เป็นหน้าที่ของโรงพยาบาล

ทพ. อุทัยวรรณ : ขอนิดเดียวครับ ที่บอกว่าหลุดนี่ หลุดจากอะไร ? ตราบใดที่เรายังเวียนว่ายอยู่ในโลกแห่งโรค ใช้คำว่า disease orientation มันชัดเจนมากเลยว่า เราจะต้องตกอยู่ในกับดักของวิชาชีพ และวิชาชีพที่เราตกอยู่ในกับนั้น เป็นวิชาชีพที่มีปมด้อย ต้องยอมรับสภาพนี้ครับ.

เพราะอะไร ทำไม preventive medicine จึงหายไปจากโลกนี้เร็วกว่าที่ควร ? ผมตอบคำถามนี้ได้ว่า แท้จริงแล้ว เรื่องต่างๆที่มันวิกฤตก็คือว่า มันมีนักบริหารที่มองดูจำนวนเงินมหึมาที่เข้ามาอยู่ในระบบของสุขภาพนี้ ก็คือว่า ยิ่งทำไปแทนที่โรคมันจะลด มันไม่ลด ทั้งๆที่นโยบายมันลดโรค มันไล่ไปตั้งแต่เรื่องของ primary prevention, secondary prevention, tertiary prevention ทำไปเท่าไหร่ก็เพียงแค่ลดโรค ซึ่งแนวทางก็คือว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่ทำให้เกิดการทะลุทะลวงมากขึ้น เมื่อใส่สายระโยงระยางไปมากขึ้น ความล้มเหลวของระบบสุขภาพก็ยิ่งเห็นได้ชัดเจนมากขึ้น

แต่ในทางตรงข้าม ถ้ามองมาข้างล่างมันเป็นเรื่องของ minimal disease แต่ถ้ามองขึ้นไปข้างบน ก็คือ จาก disease prevention ที่เป็น primary prevention มันมี primary health promotion เคียงคู่กันมา. เคียงคู่กันยังไง ? primary prevention คืออาณาจักรแห่งนักวิชาชีพทั้งหมด ตรงนี้แปลว่าอะไร ? ไม่ว่านักสังคมศาสตร์ นักมานุษยวิทยา จนกระทั่งถึงหมอ ไล่มาตั้งแต่ disease prevention แรกจนถึงขั้นสูง มันอยู่ในโลกตรงนี้ทั้งหมด.

แต่ถ้าหากทะลุทะลวงขึ้นมาข้างบน มันเป็นเรื่องของ Health และ primary health promotion มันเริ่มต้นจากประชาชนจะเริ่มตระหนักถึงสิ่งที่เขาควรจะทำกับตัวเองอย่างไร ? ทะลุขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง เขาจะอยู่ดูแลคุณภาพชีวิตของเขา ตัวเขาเอง ชุมชนของเขา ครอบครัวของเขาอย่างไร ? มันจะขยับขึ้นไปในลักษณะของการเป็น secondary health promotion และที่สุดยอดก็คือว่า ในเรื่องของ tertiary health promotion ซึ่งเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่มิติใหม่ที่สามารถควบคุมดูแลวิชาชีพได้ ควบคุมดูแลตัวเองได้ ควบคุมดูแลอนาคตของตัวเองได้ ปั้นแต่งอนาคตของตัวเองได้ ซึ่งตรงนี้ครับซึ่งผมคิดว่า พยาบาลสามารถจะปรับบทบาทใหม่ จากเดิมที่เคยเป็น care giver จากเดิมที่เคยเป็นผู้รับเหมาทำแทน มาเป็น healt promoter.

และการเป็น health promoter ไม่จำเป็นต้องเป็น health promoter ในลักษณะเก่า ไปสอนสุขศึกษา ไปเจาะ ไปไช ไปสร้างวาทกรรมที่เกี่ยวกับเรื่องของ preventive medicine ที่เอาโรคเป็นตัวนำ ในขณะที่ผมคิดว่ากับดักของวิชาชีพ ไม่ว่าแพทย์หรือทันตแพทย์ก็ตาม ตกอยู่ภายใต้เงื่อนไขของวิทยาการระบาดทั้งหมด วิทยาการระบาดที่คนดีถูกนำไปไว้ที่หนึ่ง ของเราเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเรื่องโรค แล้วเราไปตั้งต้นที่โรคซึ่งค้นหาไม่พบ ถ้ายิ่งค้นหาพบได้ เราจะยิ่งรู้สึกวิเศษ และเมื่อเข้าสู่สภาวะของโรค เราก็ตามกับดักนั้นไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นตกอยู่ในกับดักแห่งความทุกข์ร่วมไปกับคนไข้ด้วย

เพราะฉะนั้น ทำอย่างไรเขาจะเกิดโรค, ก็จัดระเบียบไม่ให้เกิดโรค โดยเขาจัดเอง แล้วเราเข้าไปเป็นผู้ช่วย สนับสนุน ส่งเสริม จุดประกาย ก่อกระแส ไม่ใช่แต่เฉพาะปัจเจก แต่ทั้งระบบที่เปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่สิ่งที่ดีกว่าด้วย ผมคิดว่าประเด็นมันอยู่ตรงนี้คือ ทำอย่างไรเราจึงจะถอดใจของเราให้พ้นจากบ่วงของพยาบาลในยุคเก่า ที่ใช้เลือดและผ้าผืนสีขาวเป็นเดิมพัน

ผมคิดว่าสิ่งที่ Florence Nightingale ทำมา... ภรรยาผมก็เป็นพยาบาล พยาบาลเองก็ตกอยู่ในกับดักของเลือดและผ้าผืนสีขาว ทำอย่างไรจึงจะสามารถทำให้เกิด healthy community, healthy person, healthy city, healthy world

นิธิ : ผมมี 2 ประเด็นด้วยกันนะครับ ประเด็นแรกก็คือ เรื่องเกี่ยวกับพยาบาล ผมนึกถึงคำของท่านอาจารย์หมอประเวศ วะสี ท่านพูดถึงเรื่องของพยาบาลในระบบ ไม่ใช่พยาบาลที่ออกมาทำอะไรนอกระบบ ท่านบอกว่ามันเป็นอาชีพที่น่าสมเพชเวทนามาก เพราะว่ามันเปรียบเทียบไม่ได้เลยแม้แต่กับตำรวจจราจร คืออย่างนี้ ตำรวจจราจร คุณเป็นพลตำรวจ เคยโบกรถอยู่ คุณยังหวังว่าวันรุ่งขึ้น คุณยังเป็นนายสิบหรืออะไรก็แล้วแต่ แล้วคุณก็จะเริ่มดูการจราจรที่กว้างขึ้น คุณมี achievement ที่ใหญ่ขึ้นกว่าที่ยืนอยู่ตรงสี่แยก แล้วโบกมือให้รถวิ่ง

แต่พยาบาล เข้าทำงานวันแรกจนถึงวันสุดท้าย คุณได้เป็นหัวหน้าตึก คุณได้เป็น Ph.D. อะไรก็แล้วแต่คุณเหอะ แต่งาน achievement ที่คุณทำนั้นเหมือนเดิมตั้งแต่วันแรกที่เข้า จนถึงวันสุดท้ายที่ปลดเกษียร เหมือนเดิมหมด แล้วทั้งหมดนี้มันขัดธรรมชาติมนุษย์

มนุษย์เรานี้โตขึ้นแล้ว เราอยากจะใหญ่ขึ้น มากขึ้นตลอดเวลา แต่ว่าในระบบการแพทย์มันจะกดพยาบาลเอาไว้ ตลอดชีวิตของคุณที่ทำงาน ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้าย คุณไม่ได้ achieve อะไรขึ้นเลย เพราะฉะนั้น อันนี้ผม... คนที่เป็นหมอเองก็เห็นนะครับ คนที่เขามีความเป็นธรรมหน่อยเขาก็เห็นว่า ถ้าคุณ treat คนแบบนี้ คุณสูญเสียไปหมดเลย เพราะว่าเขามี potential ที่จะพัฒนาตัวเขาเอง ถ้าหากว่าคุณเปิดระบบให้เขาได้มีโอกาสพัฒนาไป คุณก็จะได้กำลังคนที่เก่งขึ้นๆตลอดเวลา

ผมอยากจะเรียนว่า เวลาที่มองเรื่องของการแพทย์ ทำไมผมจึงใช้เรื่องของโครงสร้างมาวิเคราะห์บทบาทของ แพทย์ พยาบาล, เทคนิคการแพทย์, ตลอดจนกระทั่งถึงบริษัทยาและอื่นๆในอเมริกา ว่ามันเป็นโครงสร้างอำนาจทั้งหมดแล้วก็มันเป็นเรื่องการหาผลประโยชน์ เป็นเรื่องของอำนาจที่มีลำดับขั้นลดหลั่นกันลงมา ซึ่งไม่จำเป็นต้องวิเคราะห์ในแนวนี้ วิเคราะห์ในแนวอื่นก็ได้ แต่ผมพอใจที่จะวิเคราะห์ในแนวนี้เพราะว่า

เรื่องมะเร็ง เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนมาก ที่เชียงใหม่นี่ พยาบาลทางเชียงใหม่คงทราบดี อาจารย์เก่าท่านหนึ่งเป็นมะเร็งจนกระทั่งเสียชีวิตไปแล้ว แกคงทราบอยู่ว่า ตอนที่ท่านเป็นมะเร็ง ท่านเลือกที่จะรักษาตัวเองด้วยชีวจิต ท่านถูกกดดันมากเลยนะจากลูกศิษย์ของท่านที่เป็นแพทย์เอง ด้วยความหวังดีต่อท่าน กดดันท่านต่างๆนาๆถึงขนาดกับบอกว่า ถ้าเผื่อว่าฉีด chemo ไปแล้ว แค่นั้นเข็มแค่นี้เข็มแล้ว แล้วท่านจะขอหยุดฉีด ถ้าเผื่อว่ามันเกิดเป็นอะไรอีก ท่านจะต้องประกาศนะว่า ที่ท่านตายเพราะเหตุผลว่าท่านไปกินชีวจิต ไม่ใช่เพราะว่า chemo และอื่นๆ

ผมยังไม่เคยได้ยินคนไข้มะเร็งคนไหนประกาศเลยบ้างว่า ฉันตายเพราะ chemo ฉันตายเพราะแกมาผ่าฉัน ฉันตายเพราะเอาไฟมาจี้ฉัน แต่ว่าบังคับท่านไว้เลยว่า พอท่านตายต้องรีบประกาศเสียก่อนว่า ท่านตายเพราะชีวจิต. ไอ้ท่าที อย่างที่อาจารย์สมจิตพูด ถึงขนาดห้ามไม่ยอมให้คนนั้นคนนี้เข้ามาพูดในโรงเรียนแพทย์ ท่าทีทั้งหมดเหล่านี้ผมว่ามันน่าเสียดายนะ

จริงๆก็ทราบอยู่แล้วว่า ในวงการแพทย์แผนปัจจุบันยังจัดการเรื่องมะเร็งไม่ได้ และมันน่าจะเป็นท่าทีของการแสวงหาความรู้ ไม่ใช่ท่าทีของการปิดกั้น เพราะว่าทางเลือกของคนที่ฉีด chemo ทางเลือกของคนที่กินชีวจิต ทางเลือกของคนที่กิน macho-biotic หรืออะไรก็แล้วแต่ที่ไม่ใช่ไม่ทำอะไรเลย ปล่อยให้มันตายไปเอง แต่ละคนจะย่างเข้าไปสู่สุขภาพที่ดีขึ้น เลวลง จนกระทั่งถึงตายแตกต่างกัน ซึ่งเราน่าจะเก็บความรู้เหล่านี้เอาไว้ เก็บไว้ทำไม ก็เพื่อจะบอกคนไข้ให้เขาเลือกไงว่า ถ้าคุณฉีด chemo การจะรอดนั้นมันมีสักเท่าไหร่ แล้วต่อไปข้างหน้าคุณจะเผชิญอะไรบ้าง และถ้าไม่รอดจะเป็นอย่างไรบ้าง ถ้าคุณไปทำอย่างนั้น คุณจะเกิดอะไรขึ้น จะเป็นยังไงบ้าง จากสถิติที่เป็นจริง ไม่ใช่จากอคติของตัวเอง. แต่ไม่ทำกันเลย กลับกีดกันความรู้เหล่านี้

แต่ในขณะเดียวกัน สิทธิของคนป่วย สิทธิผู้ป่วย 10 ข้อ, 1 ใน 10 ข้อเหล่านั้น เขาบอกว่าให้เรามีสิทธิเลือก. เลือกได้อย่างไร เราเลือกในความโง่ไม่ได้ เราต้องเลือกในความรู้ แล้วคุณก็เป็นคนสร้างความรู้ แต่คุณไม่ยอมสร้าง ทั้งหมดนี้ทำให้ผมวิเคราะห์มองเรื่องการแพทย์เป็นเรื่องของอำนาจ เพราะว่าการที่คุณยินยอมให้มีการกินชีวจิตได้... ชีวจิตกับการฉีด chemo มันต่างกันตรงนี้นิดเดียวเอง ไม่ใช่ว่าจะกินผักหรือกินเนื้ออะไรต่างๆนาๆ ไอ้นั่นมั่นเรื่องปลีกย่อย. การตัดสินใจควบคุมโรคภัยไข้เจ็บ อยู่ในมือใคร ชีวจิตมันอยู่ในมือคุณ แต่ถ้าฉีด chemo มันอยู่ในมือแพทย์ ผมว่าความต่างมันอยู่ตรงนี้

ทุกครั้งที่พูด อาจจะเป็นอคติหรืออะไรก็แล้วแต่ ผมถึงชอบวิเคราะห์เรื่องของหมอว่า มันเป็นเรื่องของความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ทั้งกับคนไข้ กับหมอ กับพยาบาล กับเทคนิคการแพทย์ กับผู้อำนวยการโรงพยาบาล หรือกับอะไรก็แล้วแต่

วารุณี ภูริสินสิทธิ์ : มี 2 ประเด็นคือ โดยบทบาทของพยาบาล ดิฉันคิดว่ามีบทบาทอยู่ในตัวของมันเอง คือตัวเองมีประสบการณ์อยู่โรงพยาบาลเยอะ ทั้งตัวเอง ทั้งพ่อ-แม่ จะเข้าโรงพยาบาลบ่อย และตัวเองจะเป็นคนเฝ้าตลอด เพราะฉะนั้น จะค่อนข้างสัมพันธ์กับพยาบาลเยอะ

และตัวเองก็มีโอกาสได้ไปพยาบาล ดิฉันคิดว่าในพฤติกรรมของการให้การรักษาพยาบาล ในตัวมันเองมีคุณค่าอยู่ ถามว่า ถ้าพยาบาลไม่ก้าวหน้าไปถึงจุดอื่นเลย แสดงว่าอาชีพนี้มันไม่มีคุณค่าเลยหรือ ? ซึ่งอันนี้คิดว่าไม่จริง แม้ว่าคนเป็นพยาบาลระดับล่าง ไม่ต้องเป็นหัวหน้าตึกด้วยซ้ำ ทำงานมา 30 ปี ดิฉันคิดว่าในชีวิตเขาก็ทำคุณค่ามากมายมหาศาล สำหรับคนที่เจ็บป่วย อันนี้เป็นประเด็นแรก

แต่ขณะเดียวกัน ก็เห็นด้วยว่าพยาบาลควรมีโอกาสมากขึ้นในการพัฒนาศักยภาพ ดิฉันเคยมีเพื่อนคนหนึ่งซึ่งเรียนพยาบาลและเรียนเก่งมาก แล้วได้ไปอยู่ห้องผ่าตัด เท่าที่เข้าใจพยาบาลแบ่งเกรดกันเองด้วยใช่ไหมคะ? ถ้าเกรดดีหน่อยก็ไปอยู่ห้องผ่าตัด ปรากฏว่าเขาทำงานไปแค่สองปี เขาก็ออกจากพยาบาลแล้วก็ไปเรียนวิชาอื่น แล้วก็ได้ดอกเตอร์ไปทางด้านอื่น คล้ายกับว่า พอคนที่รู้สึกว่าตัวเองมีความสามารถ จะไม่อยู่ในอาชีพนี้ต่อไป คือรู้สึกว่าฉันจะไม่สามารถพัฒนาตัวเองได้มากกว่า คือไม่ได้พัฒนาศักยภาพที่ฉันมีอยู่อย่างเต็มที่. ดังนั้น จึงเห็นด้วยว่า ถ้าตัวโครงสร้างมันบังคับอยู่ มันก็เป็นเรื่องที่ต้องเปลี่ยนแปลง

ตัวเองเคยมีโอกาสได้ไปเข้าโรงพยาบาลที่ต่างประเทศ ดิฉันแปลกใจมากเลยเวลาที่เราไปตรวจอะไร ส่วนใหญ่เรารู้สึกว่าเราต้องพบแพทย์ แต่ปรากฏว่าเขาให้เราพบพยาบาลหมดเลยนะคะ แล้วพยาบาลก็จะเป็นคนตัดสินใจว่า เขาจะตรวจยังไง และถ้าเป็นเรื่องอะไรง่ายๆเขาก็จะตรวจเอง แม้แต่ตรวจช่องคลอด เขาก็ตรวจเองในระดับต้นๆ.

เท่าที่ทราบนี่ ในประเทศไทย พยาบาลไม่มีสิทธิ์ทำ. หรือว่าการให้คำแนะนำ เขาจะสามารถจะจัดการในระดับขั้นต้นได้หมดเลย เพราะฉะนั้น คิดว่า ในลักษณะของพยาบาลเองในบ้านเราก็ไม่เหมือนที่อื่น เพราะที่อื่นเขายังมีโอกาสพัฒนาศักยภาพเยอะ แต่ถึงที่สุดแล้วโดยลักษณะงานของตัวมันเอง ดิฉันคิดว่า มันก็มีคุณค่าอยู่

ล่าสุดที่ไปเฝ้าแม่ที่โรงพยาบาล และมีความรู้สึกจนต้องมาบ่นกับเพื่อนที่เป็นพยาบาลก็คือ ผิดหวังมากเพราะพยาบาลในปัจจุบันที่โรงพยาบาลเอกชน จะมีลักษณะเหมือนกับคนรับใช้มากกว่าที่จะเป็นพยาบาล คือพยายามจะเอาใจทุกอย่างเพราะว่าเขามีการให้ทิป ซึ่งดิฉันรู้สึกว่าเป็นสภาพที่ถูกดูถูก เพราะการทำอาชีพพยาบาล การทำงานมันเป็นลักษณะของอาชีพ แต่ทำไมมันถึงขั้นนี้แล้วพยาบาล อันนี้ต้องคิดเหมือนกันเพราะมันค่อยๆไปอยู่ในระบบทุนจนกระทั่งอาชีพนี้เหมือนกับอาชีพให้บริการ เพื่อต้องการทิปเพียงเท่านั้น ซึ่งถ้ามันตกต่ำถึงขั้นนั้นมันรุนแรงและตกต่ำมาก

การรักษาพยาบาลโดยตัวมันเองทุกคนคงสัมผัสได้ ถ้าคุณไม่มีความรักจะไม่มีวันทำได้ ดิฉันเรียนรู้จากตัวเองว่า การเช็ดก้น คนถ่าย เราจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องสกปรกมาก ดิฉันมีโอกาสทำให้กับแม่ และรู้สึกว่า ไอ้ความรู้สึกที่เราผูกพัน และเรารัก ทำให้เรารู้สึกว่าสิ่งที่เรียนรู้มาตลอดว่าเป็นเรื่องสกปรก มันกลับไม่ใช่. กับพยาบาล ถ้าคุณจะเป็นพยาบาลที่ดีคุณต้องมีตรงนี้ ดิฉันไม่ทราบว่าเรียกร้องเกินไปหรือเปล่านะ แต่ว่ามันก็สร้างยากมาก ไม่รู้ว่ามันจะมีกระบวนการสร้างอย่างไร ? คือมันเป็นอาชีพพิเศษ และจะเห็นว่าส่วนใหญ่ผู้หญิงทำนะคะ และผูกพันกับส่วนที่ลึกมากของมนุษย์ ตรงนี้มันต้องรักษาไว้เพราะมันสำคัญมาก แต่ก็ไม่รู้ว่าจะรักษากันได้หรือเปล่า

ไม่ว่าคุณจะพูดเรื่องของโครงสร้างหรืออะไรก็ตาม ตรงนี้มันเป็นประเด็นที่ต้องรักษาเอาไว้ และถ้าคุณไม่มีความรัก คุณทำอะไรไม่ได้เลยในแง่ของการดูแล ซึ่งขอเล่าประสบการณ์นะคะคือ แม่เขาก็ถ่าย แล้วเขารู้สึกว่าเขาไม่กล้าถ่ายมาก เพราะกลัวพยาบาลโกรธ เพราะพยาบาลก็จะรู้สึกว่าถ่ายอยู่นั่นแหละ เลอะเทอะ ต้องเปลี่ยนเตียงตลอดเวลา พอเราฟังแบบนี้ก็รู้สึกแย่ ก็เลยบอกว่า ถ้างั้นคุณไม่ต้องทำ เราทำเอง อะไรแบบนี้เป็นต้น. ซึ่งคล้ายๆกับว่า ถ้าจิตวิญญานตรงนั้นมันหมดไป มันก็ไม่เหลืออะไร

เสริมศรี สันตติ : มีความรู้สึกว่า หัวข้อที่เรานำมาให้กับคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนวันนี้ ค่อนข้างจะสร้างความอึดอัดสักนิดหนึ่ง เพราะรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องส่วนตัวของพวกเรา แล้วก็เอามาพูดซึ่งคนอื่นอาจจะไม่ทราบว่าเรา เอ๊ะ! ทำไมมันถึงมีปมด้อยอะไรอย่างนี้จึงมาพูดกันอะไรอย่างนี้ ก็เข้าใจนะคะ แต่มีความรู้สึกว่า ไม่ทราบว่ามันเกิดความคิดเรื่องจุดด้อยที่เกิดในวิชาชีพนี้มาตั้งแต่เมื่อไหร่

คือพอเรากลับไปดูในประวัติศาสตร์ของเราว่า มันเริ่มต้นด้วยลักษณะงานที่มันเป็นแบบนี้ แล้วก็อีกอย่างหนึ่งที่เราเคยพูดกันในงานสัมนาว่า หรือเป็นเพราะว่า มันเหมือนกับมีจุดด้อยซ้อนกัน 2 ชั้น 3 ชั้น คือเป็นผู้หญิงด้วย แล้วแถมมาเป็นพยาบาลอีก มันเหมือนกับเป็นอะไรที่มันเป็นผู้หญิงซึ่งมันถูกครอบโดยอำนาจ หรือโครงสร้างที่ผู้ชายเป็นใหญ่ในวิชาชีพสุขภาพ และอีกอันหนึ่งก็คือ ด้วยการเป็นวิชาชีพเองที่เป็นพยาบาลเอง ที่ต้องให้การดูแลคนไข้ ก็เลยเหมือนเป็นปมด้อยซ้ำๆ พอเทียบกับแพทย์ซึ่ง as a man, as a physician ซึ่งเหมือนกับเป็นจุดเด่น 2 ชั้นเข้าไปอีก ก็เลยทำให้อะไรที่มันกว้างขึ้น มันก็ทำให้เกิดแรงกดดันในวิชาชีพของเราที่มันเป็นอย่างนี้

อีกอันหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกอย่างนี้ก็คือว่า มันเป็นเรื่องส่วนตัวมากๆในวิชาชีพก็คือ บางครั้งก็ทำให้มันเกิดขึ้นเอง เหมือนอย่างที่อาจารย์บอกว่า มันกลายเป็นเราซึ่งเป็นผู้รับใช้อำนาจ หรืออยากจะได้ tip อะไรเล็กๆน้อยๆ เหมือนกับการทำอย่างนั้นไม่เป็น professional ซึ่งเราก็เห็นทางออกของเราว่า การที่จะมาต่อสู้แบบที่ท่านอาจารย์นิธิพูด เพื่ออยู่ในระบบ เพื่อจะมาแย่งอำนาจ มันก็เหมือนเดิมอีก แทนที่เราจะแย่งอำนาจกับหมอ เราน่าจะกลับมาดูวิชาชีพของเราว่า น่าจะทำอะไรได้มากกว่านี้ คือ more professional มากกว่านี้ คือหันมาดูว่า จริงๆแล้วสังคมคาดหวังให้เราทำอย่างไร แล้วเราควรรับผิดชอบทำอันนั้นให้ดีที่สุด ไม่ใช่คิดว่าตัวจะต้องถูกกดอยู่ เราน่าจะมองว่าอะไรที่เราสามารถจะทำให้ประชาชนได้มากยิ่งขึ้น เพื่อแสดงให้ประชาชนเห็นว่า เราสามารถจะเรียกร้องหรือเป็นตัวแทนให้เราเรียกร้องสิ่งที่เป็นภาวะพื้นฐานทางสุขภาพให้เขาได้ แทนที่จะมาแย่งชิงอำนาจกันอยู่ในสถาบันที่บอก

นักศึกษาพยาบาล (11) : ขออนุญาตเสริมนะคะ ที่อาจารย์มองว่า พยาบาลเป็นธุรกิจหรือเปล่า ? เพื่อจะมองว่าเป็นหญิงอาชีพพิเศษ ก็คือ จริงๆแล้วก็พยาบาลก็พยายามที่จะทำอะไรขึ้นมากันเยอะ เพื่อที่จะผลักดันอะไรต่างๆให้เกิดขึ้น แต่สิ่งที่มันค้างอยู่ในใจเราเองก็คือว่า เราเป็นผู้ให้มาโดยตลอด เพราะฉะนั้น จะไปเรียกร้องสิทธิ์อะไรต่างๆ อย่างผลประโยชน์ เราพูดไม่ได้ เป็นสิ่งที่หยาบคายสำหรับเรา. อย่างที่อาจารย์พูดมาว่า พยาบาลต้องให้ด้วยใจรัก เหมือนกับว่าเราไม่ต้องคิดเรื่องเงิน ถ้าพยาบาลพูดเรื่องเงินขึ้นมา มันเหมือนกับไม่ใช่เรื่องวิชาชีพ นี่คือสิ่งที่เราคิดกันมาตลอด.

อย่างเรื่องของการปฏิรูปสุขภาพ ก็มีเรื่องของเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง พอพยาบาลเข้ามาพูดเรื่องนี้ ก็มีการตั้งข้อสังเกตว่าเราพูดถึงเรื่องเงิน ดังนั้นบางส่วนจึงไม่ค่อยกล้าที่จะออกมาต่อสู้ เบื้องหลังเราต้องการที่จะแสดงให้เห็นว่าเรามีจุดยืน มีจุดที่ต้องการจะพัฒนาวิชาชีพของเรา แต่เผอิญเข้าไปเกี่ยวพันกับเรื่องเงิน หรือเรื่องอะไรบ้างส่วนหนึ่ง

ถ้าถามว่า มีการปลูกฝังเด็กรุ่นใหม่ที่จะขึ้นมาทำวิชาชีพนี้มีใจรักไหม ? ก็จะมีบางคนที่ได้กระทำ เช่น จะบอกนักศึกษาเลยว่า ... บางคนก็รู้สึกรังเกียจที่จะต้องไปเช็ดอุจาระ หรืออะไรก็ตาม ก็บอกนักศึกษาไปว่า สิ่งนั้นถ้าคิดให้ดีนะคะ ในครอบครัวเราเอง มันเป็นสิ่งที่เราอยากจะปิดบัง ไม่อยากจะเปิดเผยให้ใครรู้ เมื่อไหร่ก็ตามที่เราได้ล่วงล้ำเข้าไป ไปดูแลเขา ไปเช็ดตัวให้เขา นั่นคือเขาไว้ใจเรา เหมือนกับว่าเราเป็นญาติคนหนึ่งที่ได้มีสิทธิ์เข้าไปดูแลในเรื่องซึ่งเขาต้องการจะปกปิดเป็นความลับ. ก็พยายามจะให้เด็กเข้าใจว่า นั่นคือสิ่งที่พยาบาลเราทำได้ แล้วเป็นสิ่งที่คนไข้เขายอมรับและเห็นในคุณค่า ไม่ใช่ว่าเราเป็นสาวใช้แล้วไปเช็ดอึ เช็ดอะไรให้คนไข้. อันนี้อยากจะปลูกฝังให้เขารู้สึกว่า นี่คือสิ่งที่เราได้รับเกียรติ ที่เขาได้ให้เราได้ทำให้

สมจิต : สิ่งที่อาจารย์พูดถึง และที่อาจารย์นิธิพูดถึงว่า อาจารย์ประเวศบอกว่า พยาบาลตั้งแต่ขวบปีแรก ทำงานไป ทำไปเถอะไม่รู้กี่ปี คุณไม่มีสิทธิ์แม้แต่สั่งยาแก้หวัด. จริงๆที่เราทำอยู่ ผิดกฎหมายทั้งนั้นนะคะ เราต้องยอมรับ แต่เราก็อยู่ได้ ช่างหัวมันกฎหมาย เพราะจริงๆแล้ว พอเราอยู่ในโรงพยาบาลชุมชน สถานีอนามัย คนไข้ต้องขอยา เขาขอมาเราก็ให้ไป แล้วก็แปลกนะคะสำหรับบ้านเมืองนี้ มันมีกฎหมายที่แพทย์จะมีอำนาจในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม แล้วก็จะบอกเลยว่า มีระเบียบของกระทรวง ซึ่งระเบียบของกระทรวงจะอนุญาตให้ปฏิบัติในสถานที่เหล่านี้ ซึ่งเป็นที่ราชการทั้งหมดของกระทรวงสาธารณสุข ภายใต้ความรับผิดชอบของแพทย์ แต่จริงๆแล้วแพทย์ไม่ได้อยู่นะคะ พยาบาลเป็นคนอยู่ แต่ความรับผิดชอบของแพทย์คือ มีอะไรเกิดขึ้นเขาบอกว่าแพทย์รับผิดชอบให้ แต่แพทย์ไม่อยู่ ซึ่งตรงนี้แปลกมาก นั่นก็คือว่า จริงๆแล้วอันตรายต่อประชาชนนะคะ ถ้าตัวเองจะมองในแง่ของอันตราย มันก็อันตรายต่อประชาชนเหมือนกัน ถ้าพยาบาลไม่ถูกฝึกมาให้ดี

แล้วมีการพูดถึงกันมากเรื่องของ independent practice ว่า, ถ้า independent practice แล้ว พยาบาลจะต้อง train แต่ถ้าไปอยู่ตามสถานีอนามัย ก็อยู่ภายใต้การรับผิดชอบของแพทย์ ก็ไม่ต้อง train. ดิฉันคิดว่า อยู่ที่ไหนก็ตาม ไม่ว่า ใครจะรับผิดชอบก็ต้อง train อย่างดี ถ้าจะยุ่งในเรื่องของการรักษาโรคเบื้องต้น

คือการรักษาโรคเบื้องต้น กฎหมายไม่ได้อนุญาตให้วิชาชีพการพยาบาลทำเหมือนกับที่สหรัฐอเมริกา ที่อเมริกา คุณจบปริญญาตรีมา คุณทำได้แค่นี้, เมื่อมีประสบการณ์และได้รับการ train เป็นพิเศษ เขาเรียกว่าเป็นพยาบาลเวชปฏิบัติที่อาจารย์ไปเจอ เขาจะเป็นเหมือนกับ grade keeper ที่จะคอยดูแลรักษาเบื้องต้น ถ้าเขารักษาได้ หรือถ้าเขาจะ pv เขาก็จะ pv ได้ ถ้าเขาเห็นว่าผิดปกติเกินความสามารถเขาก็ส่งต่อ แล้วในระบบของอเมริกา ซึ่งคนอเมริกันนี่รวย แต่ว่าแปลกตรงที่ อเมริกาเขาใช้พยาบาลในการดูแลอย่างนี้ แล้วแพทย์เขาใช้ในการดูแลในเรื่องของ specialist เสียเป็นส่วนใหญ่ แล้วพยาบาลก็ทำได้ดี เพราะว่าความเอื้ออาทรมีอยู่เป็นพื้นฐานของพยาบาลอยู่แล้ว เพราะเราก็สอนพยาบาล รู้สึกเหมือนเจียมตัว พยาบาลทุกคนคล้ายๆอย่างนั้น. เวลาอยู่บน ward อาจารย์จะเห็นว่าถูก train อย่างนั้น

ยิ่งสมัยก่อนยิ่งแย่กว่านี้อีกนะคะ จะพูดกับหมอก็ไม่ได้สำหรับนักศึกษาพยาบาล เขาห้ามพูด ห้ามเถียง เพราะเราถูก train มาอย่างนั้น แต่ว่าสมัยนี้ โดยเฉพาะพวกมหาวิทยาลัย ยิ่งเชียงใหม่นี่ เขาอยู่กันรวมๆยิ่งออกเสียงอะไรได้มากขึ้น แต่ก็เห็นวิวัฒนาการของพยาบาลว่า จริงๆแล้วพื้นฐานของเราในความเอื้ออาทรมันมีดีอยู่แล้ว แต่ว่าด้วยกฎหมาย มันคล้ายๆกับให้พยาบาลทำ แต่ทำผิดกฎหมายตลอดเวลา ซึ่งตรงนี้ดิฉันคิดว่า ถ้าจะปฏิรูปอะไร ก็ทำให้มันถูกฝาถูกตัว ทำให้มันจริง คือปฏิรูปตามความที่มันเป็นจริง ตามธรรมชาติ แล้วทำให้มันดีขึ้น

นักศึกษาพยาบาล (12) : จากการมาสัมนาวันนี้ รู้สึกว่าตัวเองได้คำตอบที่ตัวเองสงสัยมาตั้งนานแล้ว คือว่า บทบาทของพยาบาล เราไม่ได้มีบทบาทของการรักษาแต่เพียงในโรงพยาบาลอย่างเดียว เราครอบครองบทบาททั้ง 4 มิติ คือในเรื่องของการฟื้นฟู, การป้องกัน, การส่งเสริมสุขภาพ, และการรักษาพยาบาล. แต่ว่าในสายตาของประชาชนมักจะมองไม่เห็นบทบาทอื่นๆนอกจากบทบาทการรักษาพยาบาล

เพราะว่าในประวัติที่ผ่านมา เราเน้นในเรื่องของการรักษาพยาบาลเป็นหลักส่วนใหญ่ ทั้งแผนของประเทศ หรือว่าแผนการพัฒนาฟื้นฟูประเทศก็เน้นเรื่องนี้ เพราะฉะนั้น บทบาท 3 อย่างที่เรามีอยู่ เราจึงถูกมองข้ามไป. แต่ว่า ณ วันนี้แล้ว เมื่อมีการปฏิรูประบบสุขภาพ เราคิดว่าบทบาทนี้ เราน่าจะมีโอกาสที่จะทำได้เพิ่มมากขึ้น แล้วก็เป็นความหวังของวิชาชีพพยาบาลของเราเหมือนกันว่า บทบาทที่อาจารย์แนะนำว่า มันต้องคิดออกนอกระบบ คือเราคิดอย่างนี้ในระบบมาตั้งนานแล้ว มันจะได้ชัดเจนขึ้นในปัจจุบัน

นักศึกษาพยาบาล (13) : ขอเสริมพี่นิดหนึ่งนะคะ พอดีมันก็มีอยู่แล้ว เพราะว่าตอนนี้เราปฏิรูประบบสุขภาพกันใหม่ แล้วบทบาทของพยาบาล เราก็จะเน้น primary care ซึ่งตรงนี้เราจะเน้นในบทบาทเชิงรุกมากกว่าเชิงรับ จะมีพยาบาลหลายคนที่ทำงานอยู่ทีมนี้ อย่างเช่น community health nursing เขาจะเข้าไปในชุมชนแต่ละชุมชน ซึ่งพยาบาลตรงนี้ก็จะเข้าไปติดต่อสัมพันธ์กับชาวบ้าน คืออย่างที่ ม.วลัยลักษณ์ที่พี่เขาทำ project อยู่ เขาจะเข้าไปกินอยู่กับชาวบ้านเลย ซึ่งก็จะรู้วิถีชีวิตของชาวบ้านว่า ชาวบ้านคิดอย่างไรเกี่ยวกับสุขภาพของเขา แล้วมุมมองที่ชาวบ้านมีต่อบุคลากรในทีมสุขภาพ เป็นอย่างไร ?

และจะมีพยาบาลอีกประเภทหนึ่งคือ เป็น APA นะคะ คืออย่างที่อาจารย์เจอที่อเมริกา ก็คือ พวกนี้จะเน้นในเรื่องของ secondary care ส่วนใหญ่ก็จะอยู่ในโรงพยาบาล แต่ถ้าอยู่นอกโรงพยาบาลก็จะเป็น primary care ซึ่งตรงนี้พยาบาลทำค่อนข้างเยอะ แต่ก็ยังมีปัญหาอยู่ตรงที่ว่า ประชาชนเองไม่เห็นบทบาทตรงนี้เท่าไหร่นัก อาจจะเป็นเพราะว่า มันมีคนซึ่งมาจากหลายวิชาชีพที่อยู่ในทีมสุขภาพ และได้เข้ามาร่วมทำตรงนี้ด้วย พอพยาบาลเข้าไป ประชาชนก็เรียกหมอๆ ซึ่งบางทีเราก็รู้สึกอึดอัดเหมือนกันเพราะเราเป็นพยาบาล แต่บางทีเราทำมากกว่าหมอเสียอีก

นักศึกษาพยาบาล (14) : รู้สึกดีใจนะคะที่พบว่า มีคนเห็นในสิ่งซึ่งพยาบาลทำอยู่ว่ามีคุณค่า งานด้านการพยาบาลมันมีคุณค่าสูงสุดอยู่แล้ว และเราก็ถูกปลูกฝังอย่างนี้มาตลอดตั้งแต่แรก เพราะถามตัวเองว่า แรกสุดรักอาชีพพยาบาลไหม ตอนเข้ามาไม่รักเลยนะคะ อยู่ดีๆมาให้เช็ด... งงเลย เพราะพ่อแม่เรา เราก็ไม่เคยทำให้ แต่ว่าอันนี้คือปรัชญาของพยาบาลเลย คือเราถูกวางความคิดอันนี้เอาไว้ว่า นี่คือสิ่งที่เราช่วยเขา เพราะเขาทำไม่ได้ และจะไม่มีประโยชน์หรือคุณค่าเลย ถ้าเราจะไปช่วยในสิ่งที่เขาทำได้ เราเห็นถึงคุณค่าตรงนี้ วิชาชีพนี้ถึงได้ยังคงอยู่ และสิ่งนี้ก็จะยังคงอยู่ในวิชาชีพ ไม่ใช่ว่า เราจะไปสรรหาอยากจะทำอะไรกว้างไกลกว่านี้ เพื่อเราจะละทิ้งสิ่งนี้นะคะ สิ่งนี้จะยังคงเป็นอยู่เพียงแต่ว่า เราอยากจะมีส่วนร่วมในการส่งเสริมสุขภาพ มีส่วนร่วมในการจะรับผิดชอบสุขภาพของประชาชน มากกว่าสิ่งที่เราทำอยู่แล้วในปัจจุบัน คือ ปัจจุบันเราทำมากกว่านั้น และอยากจะให้ได้รับการยอมรับมากขึ้น เพราะเราอยากจะมีส่วนร่วมมากกว่าที่อะไรก็ตามมาครอบเราอยู่

ชัชวาล : เมื่อสักครู่ผมคุยกับ อ.เกรียงศักดิ์ และผมมองคล้ายๆกันว่า เอ๊ะ! เป็นไปได้ไหมที่ว่า การที่อาจารย์บอกว่า การไปเช็ดอึ เป็นสิ่งที่มีคุณค่าอยู่แล้ว และได้ปลูกฝังเด็กในสิ่งเหล่านี้ ถามว่า มันเป็นวาทกรรมหรือเปล่า ที่ต้องการจะกดให้วิชาชีพนี้อยู่กับตรงนี้ ซื่อสัตย์ จงรักภักดีกับวาทกรรมอันนี้ เพื่อที่ว่าคุณจะได้ไม่ต้องไปคิดเรื่องอื่น คุณภูมิใจกับอันนี้มากเลย เราควรจะปฏิวัติความคิดนี้เลยดีไหม ? ไม่รู้นะครับ ผมเพียงแต่คิดได้ว่า เอ๊ะ! มันเกลี้ยกล่อมเรามากเกินไปหรือเปล่าให้รักสิ่งเหล่านี้

วารุณี : คือดิฉันคิดว่ามันเป็นวาทกรรมคนละอย่าง มันเป็นวาทกรรมที่เราไปลดคุณค่าสิ่งเหล่านี้ต่างหาก เราไปลดเรื่องการดูแล เรื่องการเช็ดอึ เช็ดฉี่ เทฉี่ เทอึ มันเป็นงานต่ำ. สำหรับตัวเองรู้สึกว่า สิ่งที่เรารู้สึกสกปรก ตั้งแต่ประเด็นแรกแล้ว เรามักจะเชื่อว่า ไอ้สิ่งที่เราถ่ายออกมาเป็นสิ่งสกปรก ที่จริงมันก็เป็นส่วนหนึ่งของเรา มันไม่ใช่สกปรก แต่พอเราไปคิดว่ามันสกปรก แล้วคนทำความสะอาดสิ่งสกปรก คนดูดส้วม คนเก็บขยะ เราก็รู้สึกว่ามันเป็นงานต่ำ พอมันเป็นงานต่ำ ค่าตอบแทนมันก็ต่ำไปด้วย. ดิฉันคิดว่าสังคมต้องไม่มองว่ามันเป็นงานต่ำ ถ้ามองว่ามันเป็นงานที่มีคุณค่าสังคมก็จะให้ค่าตอบแทนที่สูงขึ้น แล้วให้คุณค่ากับคนที่ทำงานนั้นสูงขึ้นด้วย

และขอต่อประเด็นของตัวเองเมื่อครู่นี้ คือ ดิฉันไม่ได้รู้สึกว่าพยาบาลจะต้องเป็นนางฟ้า แล้วไม่คิดถึงเรื่องเงินเลย เพียงแต่ว่า ดิฉันคิดว่าการต่อสู้มันมีอยู่ 2 ระดับ คือถ้าในระดับโครงสร้าง คุณต้องสู้ คุณต้องเรียกร้องว่า ค่าตอบแทนต้องอยู่ในระดับที่เราคิดว่าเราอยู่ได้ แต่ในระดับปัจเจก มันก็ต้องมีศักดิ์ศรี เพราะอย่างสมมุติเราจ้างพยาบาลมาคืนหนึ่ง 400 บาท เรารู้ว่าเราจ้างเขา แต่เมื่อเขาทำตัวเป็นมืออาชีพ เราให้เกียรติเขานะคะ เราไม่ได้รู้สึกว่าเขาต้องมารับใช้เราทุกอย่าง แต่เมื่อเขาทำตัวเป็นมืออาชีพ เราก็ให้เกียรติเขา เราไม่มองดูว่านั่นเป็นการจ้าง. คิดว่าต้องสู้ใน 2 ระดับ

สมจิต : พอดีนะคะที่อาจารย์บอกว่าจะให้พยาบาลซื่อสัตย์กับการเช็ด... อยู่ที่เตียงคนไข้ เราก็พูดออกไปถึงเรื่องของการส่งเสริมให้เขาสู่ชุมชนอะไรต่างๆ คือ อย่างไรก็ตาม พยาบาลก็จะต้องกระจายกันอยู่ทั้งในโรงพยาบาลใหญ่ โรงพยาบาลชุมชน บางคนก็อาจจะไปมีอาชีพอิสระ ต่อไปเมื่อเราทำดี กฎหมายจะเป็นยังไงก็ตามแต่ อบต.อาจจะจ้างเราก็ได้ เพราะเรารับผิดชอบได้ และถ้าหากว่าในโลกของสังคมประชาธิปไตย ใครที่รับผิดชอบ หรือตอบสนองปัญหาของประชาชนได้อย่างมีคุณภาพ คนนั้นควรมีสิทธิ์ที่จะมาทำ ไม่ใช่ถูกกีดกันโดยกฎหมายบางอย่างที่ไม่ให้เราทำ เราคงต้องคิดถึงตรงนี้ให้มากๆ

ครั้งหนึ่งเมื่อเขาจะให้เงินพิเศษพยาบาล จริงๆแล้วพยาบาลของเรา เรื่องเงินแล้วไม่ค่อยเท่าไหร่ สิ่งที่พยาบาลต่อสู้ มักจะต่อสู้ในเรื่องของ"เอกสิทธิ์" คล้ายๆไม่อยากอยู่ภายใต้การครอบงำ อย่างที่อาจารย์ว่า เราเป็นแขนขาก็จริง แต่เราอยากจะมีหัวสมองที่สั่งแขนขาของเราให้ทำงานด้วย ไม่ใช่เป็นแบบ ใครจะให้ทำอะไรก็ทำ ทำไปตลอด.

ทีนี้ครั้งหนึ่ง เขาจะให้เงินพิเศษสำหรับวิชาชีพ เป็นวิชาชีพขาดแคลนของพยาบาล ซึ่งขณะนี้ก็เป็นปัญหาอยู่ คือว่า กพ.บอกเลยให้ลองไปดูซิว่า งานพยาบาลเป็นงานที่ต้องการความรู้ความชำนาญเป็นพิเศษหรือเปล่า ถ้าต้องการความรู้ความชำนาญเป็นพิเศษถึงจะเอาเงินไปได้ สำหรับค่าวิชาชีพ แต่คิดว่าถ้างานนั้นให้คนอื่นทำได้ ก็ไม่น่าจะเอา ซึ่งนั่นก็ต่อสู้กันมาแล้วก็เห็นว่า พยาบาลตั้งแต่ C6 ถึงจะได้ แต่เด็กไม่ได้นะคะ ที่เขาเที่ยวเช็ดอะไรอยู่นี่ เพราะเขามองว่าไอ้งานนี้ คนอื่นทำแทนก็ได้ เขาถึงไม่ให้

ประการที่สอง ท่านปลัดเพิ่งเซ็นหนังสือออกไปเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2544 นี้ คือรัฐบาลเขามีเงิน 5000 กว่าล้านบาท เข้าใจว่าเขาให้เอามาปรับปรุงระบบสุขภาพ สิ่งที่เขาปรับก็คือว่า เขาต้องการให้แพทย์ ทันตแพทย์ ออกไปทำงานในชุมชนทุรกันดาร แล้วเขาก็เอามาให้เป็นรางวัล ซึ่งพยาบาลฟังแล้วก็เดือดร้อนมาก คือถ้าเป็นแพทย์กับทันตแพทย์ ออกไปอยู่ในที่ทุรกันดารจะได้เงินเดือนเพิ่มเดือนละ 2 หมื่น ส่วนพยาบาลได้ 2 พัน เภสัชได้ 1 หมื่น. ถ้าในที่ปกติ แพทย์กับทันตแพทย์จะได้ 1 หมื่น เภสัชก็จะได้ 5 พัน ส่วนพยาบาลไม่ต้องเอาไปอะไรอย่างนี้นะคะ ซึ่งตรงนี้เราก็เห็นว่า มันไม่ยุติธรรม จึงอยากเรียนให้อาจารย์ทราบว่าสังคมมองแบบนี้ ก็พาให้พยาบาล บางทีก็ไขว้เขว

ดิฉันเห็นด้วยกับอาจารย์ประเวศเป็นอย่างมาก อาจารย์ประเวศพูดหลายๆครั้งที่ว่า... พยาบาลนี่ก็แปลกนะคะ ตกปีหนึ่งไม่เคยสั่งยาแก้หวัดได้ ทำมา 10 ปีก็สั่งยาแก้หวัดไม่ได้ พยาบาลที่เขาทำงานมีประสบการณ์เยอะๆ เขามองคนไข้เขาจะรู้นะคะว่าคนไข้เป็นโรคอะไร แต่เขาห้ามพูด ห้าม diag (diagnosis) ออกมานะคะ ว่าคนไข้คนนี้เป็นไฮเปอร์ไทรอยด์ ไม่ใช่โรคหัวใจหรอก เพราะว่าเขาเห็นมาตั้ง 10 กว่าปีแล้ว ถ้าคนมาอย่างนี้ แล้วกระสับกระส่าย แล้วนอนราบได้ เขาก็จะรู้ แต่เขาพูดไม่ได้ เพราะโดยวิชาชีพพูดไม่ได้ เราไม่มีสิทธิ์ diag ถ้า diag หมอจะโกรธ แล้วเขาอาจจะไขว้เขวไปทางอื่น เพราะฉะนั้น เราก็ต้องมีวิธีรายงาน ซึ่งพยาบาลเราก็รู้จักเล่นเกม คือเราก็จะรายงานให้อาการเหมือนกับไฮเปอร์ไทรอยด์ เพราะเรารู้แล้วเราก็พยายามชี้นำ

ที่อาจารย์ประเวศพูดก็คือ อันหนึ่งนะคะว่า พยาบาลนี่น่าสงสาร โดยเฉพาะคนที่อยู่ ICU อาจารย์เห็นพยาบาลเอาผ้าพันขา ถามว่าทำไมถึงเอาผ้าพันขา พยาบาลก็ตอบว่า อาจารย์หนูไม่เคยได้นั่งเลย หนูวิ่งตลอดเวลา เมื่อยตลอดเวลา แล้วก็คลุมหัวด้วย อาจารย์ก็บอกว่า พยาบาลพวกนี้เหรอ end up ด้วย old maid ที่ยากจน

เกรียงศักดิ์ เชษฐพัฒนวนิช : ผมขอต่อประเด็น อ.ชัชวาลนิดหนึ่ง เกี่ยวกับการบอกว่า พยาบาลทำงานอะไรที่มันดูต่ำ สกปรก แล้วสร้างความรู้สึกให้พยาบาลรู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้เสียสละ ผมว่ามันเป็นประเด็นอันหนึ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องในเชิงศีลธรรม แต่ว่าประเด็นของมันก็คือ ว่า จริงๆแล้วตรงนั้น ตรงความรู้สึกที่ทำให้พยาบาลทำหน้าที่อย่างนั้น สร้างความรู้สึกว่าพยาบาลสำคัญมาก มันไปกลบหลายๆอย่าง มันไปกลบความเสมอภาค มันไปกลบความก้าวหน้าอะไรบางอย่างของพยาบาลซึ่งมีตัวตนอย่างอื่นด้วย ไม่ใช่มีหน้าที่ทำอะไรซึ่งเป็นสิ่งสกปรก หรือทำอะไรที่ถูกจัดชั้นให้ต่ำกว่าหมอ.

ผมว่าประเด็นมันอยู่ตรงนั้น ไม่ใช่ว่าเราเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย. ประเด็นมันอยู่ที่ว่า ทุกวิชาชีพมันก็ต้องมีความรัก ไม่ใช่เฉพาะพยาบาล คือทุกวิชาชีพมันก็ต้องมีความเสียสละ มีความรัก หรือว่าทำอะไรได้ทุกอย่างถ้าหากว่ามันมีประโยชน์. เพราะฉะนั้น ผมยังยืนยันว่า การที่บอกว่าพยาบาลเป็นผู้เสียสละ หรืออะไรต่างๆ มันเป็นวาทกรรมเพื่อที่จะกดพยาบาลไว้

นิธิ : คือผมเห็นด้วยกับ อ.ชัชวาล แต่จริงๆแล้ว อะไรคือวาทกรรม ทุกอย่างเป็นหมด ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่า ไอ้นี่จริงจึงไม่ใช่วาทกรรม ผมว่าไม่ใช่ มันขึ้นอยู่กับว่าคุณเอาคำพูดไม่ว่าจริงหรือไม่จริงก็ตามแต่ ไปใช้เพื่อที่จะจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจอย่างไร ถ้าคุณเอาไปใช้จัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจมันคือวาทกรรม ถึงแม้ว่ามันจริงก็ตาม

อย่างกรณีที่บอกว่า พยาบาลมีหน้าที่หลักคือเช็ดอึเช็ดฉี่นี่ มันเป็นวาทกรรมเพราะอะไร ? ผมจำได้ว่า เมื่อตอนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จะเปิดสอนปริญญาตรีพยาบาล หมอคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้บริหารคณะแพทย์ในเวลาต่อมา เป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัยในเวลาต่อมา บอกเลยว่า จะเรียกอะไรกันวะ จะเรียนทำไมปริญญาตรี แค่เช็ดอึเช็ดฉี่จะเรียนปริญญาตรีทำไม ไม่เห็นด้วยเลยกับการที่พยาบาลจะเปิดปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นต้น

แสดงว่าในกรณีที่พูดถึงเรื่องการเช็ดอึเช็ดฉี่ ถูกทำให้เป็นประโยชน์ในการจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างแพทย์กับพยาบาล. ตรงกันข้ามกับสิ่งที่อาจารย์วารุณีบอกว่า นี่คือสิ่งที่มีคุณค่านะ นี่คือสิ่งที่แสดงความเป็นมนุษย์อย่างแท้จริง มีคุณค่าสูงสุด นี่ก็เป็นวาทกรรมอีกอย่างหนึ่ง เพื่อจะชิงอำนาจนั้นกลับคืนมาไง. เพราะฉะนั้น ผมคิดว่า ไม่ได้ขัดแย้งกันระหว่าง อ.ชัชวาลพูด กับ อ.วารุณีพูด เป็นวาทกรรมทั้งนั้นแหละ เพียงแต่ว่าคุณจะใช้มันเพื่อชิงอำนาจกันอย่างไร ?

หมออุทัยวรรณ : ผมมองว่า จริงๆแล้วมันขึ้นอยู่กับว่าตอนที่ทำงานอยู่นั้น คิดยังไง ? ประเด็นสำคัญตรงนี้ครับ ถ้าคนเก็บขยะ คนกวาดถนน ทำหน้าที่ของเขาอย่างซื่อสัตย์ ผมคิดว่านั่นคือสิ่งที่น่านับถือ ประเด็นนี้ก็เช่นเดียวกัน. ถ้าพยาบาลคนหนึ่งบอกว่า ผู้ช่วยพยาบาลต่างหากเป็นคนเช็ดอึ ตรงนี้ซิคือปัญหา แล้วมันเกิดขึ้นแล้วในสังคมไทย ก็คือว่า ถ้า อ.เกรียงศักดิ์ บอกว่า เรื่องของอึ เรื่องของฉี่ เป็นเรื่องต่ำ และคนที่จะสนองเรื่องนี้ได้คือ ผู้ช่วยพยาบาล ผมคิดว่ามีปัญหาขึ้นมาละ มันขึ้นอยู่กับว่าในขณะที่ตนเองกำลังอยู่ในฐานะของ nurse ซึ่งคนไข้ต้องการการดูแลจากเรา เรากลับบอกว่า ไม่เอา อันนี้เป็นปัญหา

ประเด็นนี้ต้องตีให้แตกว่าเรากำลังทำหน้าที่อะไรอยู่ ถ้าผมเกิดในช่วงนั้น เขาให้รักษาโรค แล้วผมไม่รักษา ผมบอกว่า เฮ้ย! ส่งเสริมสุขภาพ เรียบร้อยเลย. ฉะนั้น ต้องเป็นให้เป็น ตรงนี้ต่างๆหากว่า เราเป็น เป็นหรือเปล่า. แต่ถ้าพยาบาลเข้ามาอยู่ในสายวิชาการ จะต้องทำงานวิจัย แน่นอนที่สุด พยาบาลไม่ต้องไปเช็ดอึเช็ดฉี่.

ผมคิดว่าประเด็นมันไม่ได้อยู่ตรงที่อึหรือฉี่ มันอยู่ที่ว่าเราเคารพในอาชีพของเราในลักษณะไหน ? ถ้าเราไม่เคารพ เราจะดูถูก ดูหมิ่นเหยียดหยามมัน แล้วใช้วิธีการไต่ขึ้นไปในลักษณะที่เรียกว่า ความเป็นราชการ หรือความเป็น specializationบวก คำว่า hierarchy ถ้าเรายึด hierarchy และ specialization นักฟิสิกส์ ก็จะมีนักฟิสิกส์ Nobel Prize ซึ่งเราภาคภูมิใจในความเป็นฟิสิกส์ เราภาคภูมิใจในความเป็นพยาบาลในลักษณะไหน ? ตรงนี้ หัวใจเท่านั้นที่จะรู้

ไพสิฐ พาณิชย์กุล : ผมจะขอกลับไปสู่ประเด็นที่ว่า คิดอย่างไรกับพยาบาล ซึ่งผมจะมาโยงกับเรื่องกฎหมาย. หลายครั้งที่มีการพูดถึงเรื่องกฎหมาย และกฎระเบียบต่างๆที่ห้ามไว้ จริงๆแล้วกฎหมายก็คือวาทกรรมอีกอย่างหนึ่ง ในส่วนตัวของผม เวลาที่มองกฎหมาย อยากจะให้กฎหมายมีชีวิตชีวา ผมว่าเราต้องฝ่าฝืนกฎหมาย เหมือนกับที่พยาบาลทำอยู่ แต่ที่เป็นอย่างนี้เพราะ กฎหมายบ้านเรามันตั้งอยู่บนสมมุติฐาน 2-3 อย่าง

อย่างที่ที่หนึ่งก็คือ เชื่อว่ามันมีโครงสร้างที่ลงตัวอยู่แล้ว เป็นธรรมอยู่แล้วในตัวมันเอง ซึ่งจะทำหน้าที่ตามที่ถูกจัดวางไว้ เช่นถ้าเป็นพยาบาลก็ เช็ดตู้ เช็ดเตียง เช็ดขี้ เช็ดเยี่ยวต่อไป นั่นก็เป็นภาระที่ถูกกำหนดไว้ แต่ในความเป็นจริงแล้วมันมีความพยายามที่จะฝ่าฝืนอยู่ ซึ่งตรงนี้ก็จะไปโยงกับการกำหนดมาตรฐาน ซึ่งนับตั้งแต่ เกณฑ์ที่ว่าอะไรคือความสะอาด ก็เลยเกิดวิธีในการดูแลรักษาความสะอาด มีมาตรฐานโยงไปถึงระบบ ISO ต่างๆ ตามเข้ามา

อีกอันหนึ่งคือว่า วิธีการที่จะทำให้เกิดการรักษาวาทกรรม กฎหมายใช้วิธีการห้าม แทนที่จะมุ่งส่งเสริม คิดว่าอันนี้เป็นลักษณะเด่นของกฎหมายบ้านเรา ที่ห้ามอย่างโน้น ห้ามอย่างนี้ แทนที่จะไปหามาตรการใหม่ๆที่จะมาส่งเสริมพฤติกรรมของมนุษย์ให้ปรับพฤติกรรมไปในทางที่ดีขึ้น

ยกตัวอย่างเช่น กฎหมายเกี่ยวกับการจราจร ซึ่งห้ามอย่างนั้นห้ามอย่างนี้ แต่พฤติกรรมของมนุษย์ชอบท้าทาย ฉะนั้นการฝ่าฝืน การขับรถเร็วต่างๆ โทษจับ โทษปรับจึงไม่มีความหมาย ก็เลยเปลี่ยนรูปแบบให้ไปบำเพ็ญประโยชน์จากสังคมแทน เช่นไปเก็บขยะ ไปทาสี ไปช่วยทำเครื่องหมายจราจร ซึ่งบ้านเราก็ยังไม่ได้ไปไกลถึงตรงนั้น

ผมพบว่าตัวกฎหมายของบ้านเราผูกติดอยู่กับระบบราชการเป็นส่วนใหญ่ และคนที่บังคับใช้กฎหมายถูกมองว่าเป็นแต่ราชการเท่านั้น ซึ่งที่จริงแล้ว ถ้ามองกฎหมายในความหมายส่วนตัวแล้ว คิดว่า คนที่จะบังคับใช้กฎหมายมันไม่ใช่แต่ระบบราชการ แต่ต้องเป็นคนในสังคมที่ต้องบังคับใช้กฎหมายด้วย. ถ้าเกิดว่าคนทั้งสังคมมาร่วมกันบังคับใช้กฎหมายแล้ว จะนึกถึงนวัตกรรมใหม่ๆในทางสังคมที่จะมาทำให้เกิดการปรับพฤติกรรมของคน ยกตัวอย่างเช่น กรณีของพื้นที่ทางเหนือซึ่งมีการดูแลลุ่มน้ำ หรือการจัดการป่า ซึ่งได้มีการปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ใหม่ๆ

เพราะฉะนั้น ถ้ามองจากท่าทีของกฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือว่า มันมีการฝ่าฝืนกฎหมายจนเป็นเรื่องปกติธรรมดา กฎหมายบ้านเรามีเยอะ ยิ่งลึกเข้าไปในอาชีพต่างๆก็มีมาตรฐานอีกระดับกำหนดไว้ แต่การฝ่าฝืนกฎหมายเราจะรู้สึกท้องอืดท้องเฟ้อขึ้นมาทันที เมื่อไหร่ที่ต้องการจะหาแพะ เกิดการดิ้นรนควานหาว่าใครต้องรับผิด กรณีอย่างนั้นก็จะตามล่าหาคนที่รับผิด. แต่ถ้าเผื่อว่าไม่มีเหตุการณ์ที่ต้องหาคนมาลงโทษ ก็ทำการฝ่าฝืนกันเป็นปกติ.

ผมเองเป็นนักกฎหมาย และฝ่าฝืนกฎหมายเป็นประจำ เช่น กฎหมายเรื่องหมวกกันน็อก เวลาผมเข้าห้องสอน ผมจะถามนักศึกษาว่า วันนี้คุณฝ่าฝืนกฎหมายแล้วหรือยัง ? ก็เพื่อต้องการจะบอกว่า กฎหมายที่เราควรจะฝ่าฝืน คือกฎหมายที่มันไม่เป็นธรรม กฎหมายที่มันควรจะต้องปรับตัวเองให้สอดคล้องกับสังคม

แต่ทีนี้ไอ้วาทกรรมที่มันครอบงำความคิดเรา แล้วทำให้เกิดมายาคติอย่างหนึ่ง ซึ่งเวลาเรามองกฎหมายนี่ เป็นการมองในลักษณะว่า กฎหมายคือความถูกต้องในตัวมันเอง แทนที่จะมองว่ามันเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งของสังคมที่นำมาใช้ในการปรับความสัมพันธ์กัน เพราะฉะนั้น เมื่อกฎหมายต้องมาทำหน้าที่ในการปรับความสัมพันธ์ มันจึงต้องทำหน้าที่เหมือนกับสปริงที่คอยรองรับแรงกระแทกในสังคม ให้มันยืดหยุ่นอยู่ตลอดเวลาตามสภาพความเปลี่ยนแปลง สภาพอย่างนี้มันไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในสภาพสังคมของเราที่รวมศูนย์แบบนี้

ประเด็นหนึ่งซึ่งผมรู้สึกว่า ในการดิ้นรน ต่อสู้ เรียกร้อง ที่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย เช่น สั่งยา วินิจฉัยโรค หรืออะไรต่างๆ พยาบาลน่าจะพูดออกไปดังๆไม่ต้องไปกลัวหมอ เพราะผมคิดว่า การทำบทบาทอันนั้น เป็นการเปลี่ยนภารกิจใหม่ของคนที่ทำหน้าที่พยาบาลในสายตาของคนที่เข้าไปในโรงพยาบาลว่า คนที่สวมชุดสีขาว คอยมาเข็นเตียงหรืออะไรต่างๆ ก็สามารถตอบคำถามเบื้องต้นที่สามารถจะให้ทางเลือกกับเขาได้ ซึ่งการดิ้นรนแบบนั้นเป็นการดิ้นรนไปสู่ภาวะที่ดีกว่า เป็นธรรมมากกว่า ซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดาในทางกฎหมาย แต่เรามักจะไปมองว่ามันผิดกฎหมาย

สิ่งหนึ่งที่ผมอยากจะชวนทำด้วยก็คือว่า แทนที่จะทำเฉพาะในกลุ่มของพยาบาล เรามาทำร่วมกับกลุ่มอื่นๆได้หรือเปล่า อย่างเช่นกลุ่มสามล้อที่เขาเก็บขยะ ซึ่งทำหน้าที่ขจัดความสกปรกของสังคม ของชุมชน เขาก็มีลักษณะเหมือนกัน ร่วมกันกับพยาบาล. ถ้าหากว่าสามารถพูดในประเด็นเหล่านี้ให้เห็นภาพได้ เชื่อมโยงกันได้ ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องที่พยาบาลก็จะมีแนวร่วมจากเครือข่ายต่างๆ แต่ด้วยการที่เราติดอยู่ในกับดักความคิดเรื่องความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และ hierarchy ทางสังคมที่กำหนด มันจึงทำให้เราไม่สามารถที่จะหาแนวร่วมเครือข่ายความร่วมมือจากแนวอื่นเข้ามา

ทีนี้อีกประเด็นหนึ่งที่พูดมาก่อนหน้านี้คือ การแสวงหาความร่วมมือหรือบทบาทใหม่ๆของพยาบาลในทางสังคมว่าจะทำอะไร ผมก็คล้ายๆกับถูกตั้งคำถามอ้อมๆ แล้วก็ถามตรงไปบ้างว่า กรณีร่วมมือกับ อบต. จะเป็นยังไง ? ผมคิดถึงบางคนที่เบื่อจากอาชีพพยาบาล ออกไปแล้วไปขายประกัน ผมคิดว่า กรณีนั้นเขาใช้ความรู้ในเรื่องสุขภาพไปในทางเลือกใหม่ๆ ซึ่งเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของคนที่มีความรู้ในด้านสุขภาพ ไปชักชวนคนให้มาดูแลเรื่องสุขภาพผ่านการประกันชีวิต

แต่ถ้าไม่มองเรื่องของการประกันสุขภาพเป็นเรื่องของธุรกิจ หรือการแสวงหารายได้เข้าสู่ตัวเอง ความคิดในทำนองเดียวกันนี้ ถ้าหากว่าสามารถไปทำในชุมชน มันมีอยู่หลายพื้นที่ที่เขาตั้งกองทุนของหมู่บ้านขึ้นมา แล้วเขาก็ช่วยกันในการที่จะให้สวัสดิการทางด้านสุขภาพ แต่ที่นี้ผมคิดว่าถ้าคิดไปถึงจุดนั้น มันอาจจะถึงทางตัน ดังนั้นจึงลองไปมองอีกด้านหนึ่งก็คือ

อย่างเช่นจะทำอย่างไรที่จะชวนให้คนในสังคมไม่กินลิโพวิตันดี แล้วเก็บเงินในแต่ละวันมาเข้ากองทุนนี้เสีย หรือว่าการที่ อบต.เอง สามารถที่จะออกกฎระเบียบต่างๆในการใช้ถุงพลาสติกในหมู่บ้าน แทนที่จะซื้อกันเข้ามาแล้วมาทิ้งเป็นขยะ ก็เก็บเงินเหล่านั้นโดยไม่ซื้อถุงพลาสติก แล้วนำเงินนั้นมาเข้ากองทุนดูแลสุขภาพ อันนี้เป็นลักษณะของการทำให้ชุมชนเป็นบรรยากาศของการเสริมสร้างสุขภาพ แล้วก็ตีราคามันออกมาเป็นตัวเลขให้เห็นว่า ถ้าหากเรา save ตรงนั้นได้ เราจะมีเงินมาช่วยดูแลสุขภาพเท่าไร

พยาบาลก็จะมีบทบาทในการชักนำให้สังคมได้ร่วมมือกันวางแผนในการจัดการด้านสุขภาพ ซึ่งด้านหนึ่ง อบต. ก็มีบทบาทตรงนี้อยู่ แต่ในขณะเดียวกัน เราอาจจะใช้ความได้เปรียบในแง่ของการที่รู้ถึงโรคบางอย่างซึ่งมันอาจจะป้องกันได้ เข้าไปทำแผนเพื่อที่จะป้องกัน ซึ่งอาจจะเริ่มจากจุดเล็กๆ เช่นเตรียมการสำหรับโรคที่จะมาตามฤดูกาลในรอบปี หรือกรณีของการที่จะป้องกันเรื่องของการใช้ผงชูรส ซึ่งมีผลกระทบกับสุขภาพ ให้ชาวบ้านตัดรายจ่ายเหล่านั้นทิ้งไปแล้วนำมาเข้ากองทุนดูแลสุขภาพแทน

หมออุทัยวรรณ : สิ่งที่ อ.ไพสิฐ พูดถึง ผมคิดว่าเป็นหัวใจของวันนี้ คือแทนที่พยาบาลจะจ่อมจมด้วยความระทมทุกข์ในโลกของการรักษาพยาบาลแต่เพียงอย่างเดียว เราสลัดกรอบความคิดนั้นทิ้ง. พยาบาลมีความสามารถสูงยิ่งในการ empower คน ทำอย่างไรถึงจะยกระดับขึ้นมาอีกขั้นหนึ่ง ด้วยการ empower community ผมคิดว่า community empowerment ในสมัยนี้ เป็นสุดยอดของวิชาชีพด้านสุขภาพ ทำอย่างไรถึงจะให้ชุมชนได้รับการก่อกระแสจากพยาบาลที่จะเข้าไปทำในเรื่องของ "ซาเล้งที่รัก" ทำอย่างไรถึงจะทำให้คนที่สิ้นหวังในชีวิต จนกระทั่งต้องเข้าไปอยู่ในโลกของยาบ้า กลับมาทำให้เกิด identity crisis ก็คือ เด็กที่อยู่ในชุมชนที่ไม่รู้หัวนอนปลายเท้า ไร้รากนี่ กลับมาค้นหาตัวตนอย่างที่เราค้นหาวิชาชีพของเรา

ประเด็นสุดท้ายก็คือว่า ทำอย่างไรถึงจะก่อกระแสสังคม ประสานแล้วก็เอื้อมมือไปทำให้อีกคนหนึ่งซึ่งตกอยู่ในสภาวะที่ถูกครอบงำ หลุดพ้นจากการถูกครอบงำ. พยาบาลจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกลับไปดูว่า การศึกษาของตัวเองถูกครอบงำมาขนาดไหน ? education for power หรือว่า for inequity complex แทนที่จะเป็น education for inequity complex ให้เป็น education for liberation ได้ไหม ? คือการศึกษาเพื่อปลดปล่อย.

ประเด็นก็คือว่า ในขณะนี้นักศึกษาในมหาวิทยาลัย ไม่เฉพาะพยาบาลเท่านั้น นักศึกษาแพทย์ ทันตแพทย์ ตลอดจนถึงนักศึกษาฟิสิกส์และศึกษาศาสตร์ เป็นไปหมด ดังที่พูดกันไปว่า ยิ่งเรียนยิ่งโง่ ถูกครอบงำอย่างไม่มีที่สิ้นสุด. ถามว่า การศึกษาที่ทำให้คนในชุมชนลุกขึ้นมา ก่อการอะไร แล้วทำให้คนเปลี่ยนแปลง สังคมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีกว่า แทนที่จะอาศัยยาบ้า แทนที่จะอาศัย RCA สามารถปรับยุทธศาสตร์ใหม่ กลายเป็นพัฒนาศักยภาพของตัวเองอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ผมคิดว่า พยาบาลสามารถที่จะพัฒนาศักยภาพคนอื่น และพัฒนาศักยภาพของตัวเองให้ใช้ potentiality ได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ในวิชาชีพและในชีวิตด้วย และผมก็พยายามจะก้าวให้พ้นสิ่งเหล่านั้นทั้งหมด จนกระทั่งลาออกจากหมอ จากราชการมาเป็นนายอุทัยวรรณที่อยู่ในฐานะของประชาชนคนหนึ่ง. บทเรียนนี้ราคาแพงมาก เพราะว่า วิชาชีพทันตแพทย์นั้นฝังรากลึกอยู่กับ professionalism และผมเป็นคนแรกที่เป็นขบถที่กระโดดออกจากวงภายในร้อยปีที่ผ่านมา เพราะฉะนั้น ผมถึงถูกเชิญให้ไปพูดในเร็วๆนี้ว่า ทำไมผมถึงทำอย่างนั้น ภายใต้ผู้ฟังที่เป็นทันตแพทย์ประมาณ 100 กว่าคน ซึ่งเขากำลังจะพูดถึงบทบาทใหม่ของทันตแพทย์สภา และที่ตลกที่สุดก็คือว่า เขาให้ผมไปในนามของประชาชน

 

คลิกกลับไปหน้าแรกของบทความนี้

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

 

P2
back to
Page1

สมจิต หนุเจริญกุล : ขอกลับมาที่อาจารย์พูดเบื้องต้นเลย ที่อาจารย์พูดถึงโลก"กลไก"ว่า ทางการแพทย์ เรายอมรับแล้วว่า เราใช้วิธีการต่อสู้กับโรค วิธีการรักษาของเราเป็นวิธีการที่รุนแรง อย่างยานี่เราจะเรียกว่า anti ทั้งนั้นเลย, anti นั่น anti นี่ ชื่อมันก็บอกว่ามัน anti หรือผ่าตัด เราจะต้องจัดการมันเสีย

ตัวดิฉันเองทำงานกับคนไข้มะเร็ง วิจัยอะไรก็อยู่ในเรื่องของมะเร็ง แล้วก็ที่อาจารย์พูด หลายครั้งที่เรารู้สึกว่าเราอยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง ที่อาจารย์บอกว่า ในโลกของ holistic เราจะอยู่กับโรค เราจะอยู่กับมันโดยไม่ไปทำลายมัน ซึ่งตรงนี้ได้ก่อให้เกิดข้อโต้เถียงกันมาก ก็คงจะเห็นนะคะว่า ทางแพทย์เขาบางครั้งไม่ให้พวกนี้เข้าโรงพยาบาลเลย เขาบอกเลยว่า ที่นี่เป็นโรงเรียนแพทย์ ถ้าคนนี้มาพูด จะทำให้เสื่อมเสียเพราะว่า มันมา anti-chemotherapy... คือพยาบาลทำงานอยู่ตรงนั้น เราก็ต้องฉีดยาเคมีบำบัดแน่นอน แล้วเราก็รู้นะคะว่า คนไข้ไม่ได้ใช้วิธีนี้อย่างเดียว ต้องยอมรับเลย เขาเล่าให้ฟังหมดว่าเขาไปกินยาอะไรมา เขาไปใช้พลังแสงอาทิตย์มา แต่เขาห้ามเราว่าอย่าไปบอกหมอ เดี๋ยวหมอเขาจะไม่พอใจที่ไปใช้วิธีอย่างอื่น

แต่ตรงนี้ เวลาที่เราใช้ยาเคมีบำบัด หรือใช้อะไร เรารู้ว่าเราไปฆ่าเซลล์มะเร็ง และเราก็รู้ว่ามันก็มีผลต่อเซลล์ปกติด้วย และมันก็คงทำให้ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ในทางหลักวิทยาศาสตร์เราก็อธิบายอย่างนั้น แต่ว่าในฐานะที่เราทำงานอยู่กับแพทย์ ถ้าพูดเรื่องอย่างนี้ไม่ได้นะคะว่ามันทำให้ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ งั้นถ้าเขาไม่ตอบสนอง โรคของเขามันอาจจะไปเร็ว เราคงพูดไม่ได้เพราะเราต้องอยู่ในระบบแบบนั้น