H

เว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ทางเลือกเพื่อการศึกษาสำหรับสังคมไทย :

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 355, 356 หัวเรื่อง
การพิสูจน์ศิลาจารึกหลักที่ ๑
ชัชวาล ปุญปัน : มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
นิธิ เอียวศรีวงศ์ : มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน


(บทความนี้ยาวประมาณ 12 หน้า)
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะแก้ปัญหาได้

บทความของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน สามารถคัดลอกไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการได้ หากนำไปใช้ประโยชน์ กรุณาแจ้งให้ทราบที่

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com

220247
release date
R
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆของเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
Wisdom is the ability to use your experience and knowledge to make sensible decision and judgements

พิสูจน์ศิลาจารึกหลักที่ ๑
การตรวจพิสูจน์ศิลาจารึกหลักที่ ๑ ด้วยวิธีวิทยาศาสตร์
ชัชวาล ปุญปัน
ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
จารึกพ่อขุนรามคำแหง วรรณคดีประวัติศาสตร์การเมืองแห่งกรุงสยาม

นิธิ เอียวศรีวงศ์
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน


บทความรวม ๒ เรื่องนี้ ยาวประมาณ 12 หน้ากระดาษ A4
เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2547
(เคยเผยแพร่แล้วในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๗)

บทความวิชาการว่าด้วยการพิสูจน์ศิลาจารึกหลักที่ ๑
ประกอบด้วยผลงานวิชาการ ๒ เรื่องดังนี้

๑. การตรวจพิสูจน์ศิลาจารึกหลักที่ ๑ ด้วยวิธีวิทยาศาสตร์
๒. จารึกพ่อขุนรามคำแหง วรรณคดีประวัติศาสตร์การเมืองแห่งกรุงสยาม

 


๑. การตรวจพิสูจน์ศิลาจารึกหลักที่ ๑ ด้วยวิธีวิทยาศาสตร์
ชัชวาล ปุญปัน ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

"เมื่อนำข้อมูลที่ได้จากการศึกษาวิจัยด้วยวิธีวิทยาศาสตร์ มาพิจารณาร่วมกับข้อมูลที่ได้จากการศึกษาประวัติการค้นพบ และการเก็บรักษาศิลาจารึกหลักที่ ๑ ดูจะเป็นไปไม่ได้ที่ศิลาจารึกหลักที่ ๑ ถูกทำขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น หรือในสมัยรัชกาลที่ ๔..."

ข้างต้นนี้คือ บทสรุปของงานวิจัยเรื่อง "การตรวจพิสูจน์ศิลาจารึกหลักที่ ๑ ด้วยวิธีวิทยาศาสตร์" ที่นักวิทยาศาสตร์จากกองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร ร่วมกับนักวิทยาศาสตร์จากกองวิเคราะห์ กรมทรัพยากรธรณี ได้ช่วยกันศึกษาค้นคว้าเพื่อพิสูจน์ข้อสงสัยที่มีมานานหลายทศวรรษแล้วว่า ศิลาจารึกหลักที่ ๑ ทำขึ้นในสมัยใดกันแน่

บทความทางวิชาการดังกล่าวตีพิมพ์ในนิตยสารศิลปากร ปีที่ ๓๔ เล่มที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๓๔ หน้า ๘๗-๑๐๓ หลังจากเริ่มต้นวิจัยมาตั้งแต่ปี ๒๕๓๒ ผลการตรวจพิสูจน์ดังกล่าวได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง

ผมจำได้ว่า หลังจากนั้นไม่นาน มีการเชิญวิทยากรมานำเสนอผลงานวิจัยนี้ ที่สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คนฟังเต็มห้องประชุมทีเดียว ผมมีโอกาสไปฟังการบรรยาย และเห็นคล้อยตามว่าน่าจะเป็นเช่นนั้น มีนักวิชาการบางท่านลุกขึ้นกล่าวขอบคุณผู้วิจัยว่า ได้ช่วยคลี่คลายปมปัญหาที่คาใจแก่วงวิชาการด้านนี้มาเป็นเวลานานให้ลุล่วงไปได้

ต่อมาภายหลังเมื่อมีการถกเถียงเรื่องนี้คราใด ก็มักจะมีข้อโต้แย้งจากผู้ที่เห็นว่าพ่อขุนรามคำแหงเป็นผู้สร้างศิลาจารึกหลักที่ ๑ ยกผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์มาอ้าง ว่าได้พิสูจน์ไว้แล้ว ดูเหมือนว่า คำตอบทางวิทยาศาสตร์จะจบแล้ว แน่นอนแล้ว ชัดเจน ไม่มีอะไรจะต้องมาเถียงกันอีก บางท่านก็ถึงกับบอกว่า การตั้งข้อสงสัยว่าใครเป็นผู้สร้างศิลาจารึกหลักนี้ ระวังจะกลายเป็นผู้หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ของทั้งพ่อขุนรามคำแหง และรัชกาลที่ ๔ เอาเลยทีเดียว

เรื่องนี้ กลับมาเป็นประเด็นสาธารณะอีกครั้งหนึ่ง เมื่อองค์การยูเนสโกประกาศยกย่องให้ศิลาจารึกหลักที่ ๑ เป็น "มรดกแห่งความทรงจำโลก" มีข้อโต้แย้งถกเถียงปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์อีกครั้งในเดือนกันยายน ๒๕๔๖ ที่ผ่านมา แน่นอนว่า เหตุผลจากการตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ก็ถูกนำมาอ้างอีกครั้ง แต่ก็ไม่มีใครร่วมถกในประเด็นนี้ด้วย

ผมเพิ่งมาสนใจเอาเมื่อเกิดกรณีมรดกแห่งความทรงจำโลกนี้เอง ว่าประเด็นการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์นั้นเป็นอย่างไร? พยายามตามหางานพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ ก็ได้จากบทความตีพิมพ์ในนิตยสารศิลปากรดังกล่าวเพียงบทความเดียว ดังนั้นข้อสงสัยทั้งหมดของผม จะอิงจากผลการพิสูจน์ที่ตีพิมพ์เมื่อปี ๒๕๓๔ ฉบับนี้ เป็นหลัก

หลังจากที่ได้ศึกษางานวิจัย การตรวจพิสูจน์ศิลาจารึกหลักที่ ๑ ด้วยวิธีวิทยาศาสตร์ เท่าที่ผมพอจะจับประเด็นต่างๆ ได้แล้ว ผมพบว่าจริงๆ แล้วการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ยังมิได้จบดังที่เข้าใจกัน คือเข้าใจว่า พิสูจน์ได้แล้วว่าพ่อขุนรามคำแหงเป็นผู้สร้าง แต่ที่จริงไม่ใช่เช่นนั้น ขอให้ดูบทสรุปประโยคต่อจากที่ยกมาข้างบน

"แต่ทั้งนี้ มิได้หมายความว่า จะเป็นการยืนยันว่า ศิลาจารึกหลักที่ ๑ ทำขึ้นในสมัยพ่อขุนรามคำแหง อาจจะเป็นช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่งในสมัยสุโขทัยก็ได้" หมายความว่า ผลการพิสูจน์ด้วยวิธีวิทยาศาสตร์ ไม่ยืนยันว่าศิลาจารึกหลักที่ ๑ ทำในสมัยพ่อขุนรามคำแหง แต่บอกว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะทำในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ด้วยเหตุนี้เอง ใครที่เอาผลการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ไปอ้างว่า ศิลาจารึกหลักที่ ๑ ทำโดยพ่อขุนรามคำแหง จึงไม่ตรงกับข้อสรุปของการพิสูจน์ดังกล่าว

จากนั้นผู้วิจัยระบุต่อไปจนจบข้อสรุปว่า "การศึกษาวิจัยด้วยวิธีนี้ มิได้เป็นการกำหนดอายุของศิลาจารึก แต่เป็นการเปรียบเทียบริ้วรอย และองค์ประกอบที่ผิวที่เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากกระบวนการสึกกร่อน ผุพัง สลายตัวของศิลาจารึกหลักที่ ๑ เทียบกับศิลาจารึกหลักอื่นๆ ของสุโขทัย และศิลาจารึกของรัตนโกสินทร์ (ถ้ามี) เป็นที่น่าเสียดายที่ยังค้นไม่พบศิลาจารึกหรือวัตถุโบราณสมัยรัตนโกสินทร์ที่ทำด้วยหินทรายแป้งชนิดเดียวกันนี้ จึงยังไม่สามารถเปรียบเทียบให้เห็นข้อแตกต่างอย่างชัดเจน" (หน้า ๑๐๑)

ในการตรวจสอบนั้น ผู้วิจัยใช้ศิลาจารึกและโบราณวัตถุที่ทำจากหินทรายแป้ง (Calcareous siltstone) เช่นเดียวกับหลักที่ ๑ มาเป็นตัวเปรียบเทียบ คือ ศิลาจารึกหลักที่ ๔๕, ศิลาจารึกหลักที่ ๓, ศิลาจารึกภาษามคธ และภาษาไทย กล่าวถึงชีผ้าขาวเพสสันดร ตัวอักษรสมัย พ.ศ. ๑๙๐๐ และพระแท่นมนังคศิลาบาตร

ผมเห็นว่า การยังไม่พบศิลาจารึกที่ทำในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ จากหินชนิดเดียวกันกับศิลาจารึกหลักที่ ๑ มาตรวจสอบเปรียบเทียบแบบเดียวกันนั้น เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะตราบใดที่ยังไม่สามารถพิสูจน์ว่ามันแตกต่างอย่างไร ข้อพิสูจน์ว่าเหมือน ก็ยังเลื่อนลอยไม่หนักแน่น กล่าวคือ ผลการวิจัยที่ว่า ริ้วรอยที่เกิดจากการสึกกร่อน ผุพัง สลายตัวของผิวหิน ระหว่างศิลาจารึกหลักที่ ๑ คล้ายคลึงกับศิลาจารึกหลักที่รู้แน่ๆ ว่าทำในสมัยสุโขทัย แล้วจึงมาสรุปว่า น่าจะทำในสมัยสุโขทัย ไม่ใช่รัตนโกสินทร์ตอนต้น แต่กลับไม่มีริ้วรอยการสึกกร่อนจากจารึกที่ทำในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นมาเทียบนั้น เท่ากับว่าการศึกษาวิจัยยังทำไม่เสร็จ จึงไม่ควรสรุปว่า "...ดูจะเป็นไปไม่ได้ที่ศิลาจารึกหลักที่ ๑ ถูกทำขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น..." หากจะสรุปโดยเคร่งครัดในหลักฐานควรจะบอกว่า "ยังตอบไม่ได้ว่าสร้างในสมัยใด จนกว่าจะมีหลักฐานอื่นๆ นอกจากสมัยสุโขทัย มาตรวจสอบเสียก่อน" เป็นต้น เพราะถ้ามีศิลาจารึกหินทรายแป้ง ที่ทำในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้นมาเทียบแล้วเกิดพบว่าคล้ายกับศิลาจารึกหลักที่ ๑ ขึ้นมาอีก ย่อมเกิดคำถามแน่นอน

ด้วยเหตุนี้ที่ผู้วิจัยเองก็ "เสียดาย" ที่ยังค้นไม่พบศิลาจารึกสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ที่จะเอามาเทียบให้เห็นความแตกต่างได้ เพราะการทดลองเพื่อตรวจสอบจำเป็นต้องมีตัวเทียบ ตัวเทียบจะเป็นตัวที่ทำให้เราทราบได้ว่า มีอันอื่นเปลี่ยนไปอย่างไร ภายใต้เงื่อนไขเดียวกัน เมื่อเปรียบกับตัวเทียบ

ในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ เมื่อเราจะวัดความเปลี่ยนแปลงของตัวทดลองใดๆ เราสามารถกำหนดตัวเปรียบเทียบหรือตัวควบคุม กับตัวที่จะแปรไป ภายใต้เงื่อนไขเวลาของการทดลองแบบเดียวกัน แล้วศึกษาว่าตัวแปรจะแปรไปอย่างไร เมื่อเทียบกับตัวควบคุม

แต่ในเรื่องศิลาจารึก เป็นเรื่องของระยะเวลาที่ยาวนานเป็นร้อยเป็นพันปี จะทำแบบในห้องทดลองไม่ได้ นั่นคือ จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีการทางวิทยาศาสตร์ใดๆ ที่จะสามารถวัดอายุของการจารึกลงบนศิลาว่าจารึกลงเมื่อใดโดยตรงได้* วิธีที่จะหาอายุ มักจะเป็นการหาร่องรอยของการผุพังอยู่กับที่ (Weathering) ซึ่งอาจจะพอเป็นร่องรอยในการวิเคราะห์ได้บ้าง แต่ไม่สามารถระบุเวลาที่แน่นอน ส่วนใหญ่มักจะใช้วิธีเปรียบเทียบกับการผุพังของศิลาจารึกที่ทำจากหินชนิดเดียวกันและอยู่ในสภาพแวดล้อมเดียวกันมาตลอดระยะเวลาหลายร้อยหลายพันปีนั้น

ดังนั้นรายงานการตรวจพิสูจน์ฉบับนี้จึงระบุสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ดังต่อไปนี้ "แต่ถ้าจะให้พิสูจน์ว่าศิลาจารึกหลักที่ ๑ ทำขึ้นหลังจากศิลาจารึกหลักอื่นๆ ของสุโขทัย เป็นเวลานานเท่าใด คงจะพิสูจน์ไม่ได้..." และ "บอกไม่ได้ว่าหินนั้นๆ ถูกสกัดมาใช้งานเมื่อใด" (หน้า ๘๘) เพราะในเรื่องการกำหนดอายุของหินด้วยวิธีทางธรณีวิทยานั้น จะบอกเพียงอายุของหินที่ใช้ทำศิลาจารึกว่าเกิดขึ้นมากี่ร้อยล้านปีมาแล้ว แต่บอกไม่ได้ว่าถูกสกัดมาใช้เมื่อใด นี่คือขีดจำกัด

ที่ผมกล่าวมาตั้งแต่ต้น เป็นการเสนอประเด็นของงานวิจัยว่า การวิจัยนี้ต้องการหาอะไร? และมีขีดจำกัดไม่สามารถหาอะไรได้บ้าง? มีข้อสรุปอย่างไร? ข้อสรุปที่นำมาใช้อ้างในภายหลังไม่ตรงกับข้อสรุปของการวิจัยอย่างไร? เป็นต้น

ต่อไปผมจะศึกษาการตั้งสมมติฐาน, การทดลองตรวจสอบ, การแสดงผล และการวิเคราะห์ข้อมูลที่นำมาเป็นผลสรุปงานตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์นั้น

สงสัยการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์
ดังได้กล่าวแล้วว่าผู้วิจัยศึกษาเปรียบเทียบริ้วรอยที่เกิดจากการสึกกร่อน และองค์ประกอบทางเคมีบนผิวของศิลาจารึกสมัยสุโขทัย กับศิลาจารึกหลักที่ ๑ โดยอาศัยหลักที่ว่าหินที่อยู่กลางแจ้งเป็นเวลานานหลายร้อยปี ย่อมสึกกร่อนมากกว่าหินที่อยู่กลางแจ้งเป็นเวลาสั้นๆ หรืออาจไม่ได้อยู่กลางแจ้งเลย ผู้วิจัยได้ตั้งสมมติฐานไว้ดังนี้

"ถ้าศิลาจารึกหลักที่ ๑ ทำขึ้นในสมัยสุโขทัย จะมีระยะเวลาที่ถูกทอดทิ้งอยู่กลางแดดกลางฝนเป็นเวลานานกว่า ๕๐๐ ปี ก่อนที่จะถูกเคลื่อนย้ายมาเก็บรักษาในกรุงเทพฯ และการที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพบศิลาจารึกหลักนี้โดยง่ายภายในระยะเวลาอันสั้น แสดงว่าขณะที่ถูกพบ ศิลาจารึกหลักนี้ไม่ได้อยู่ใต้ดิน และอาจจะไม่เคยอยู่ใต้ดินเลยก็ได้ เพราะฉะนั้นผิวของศิลาจารึกหลักที่ ๑ น่าจะมีริ้วรอยที่เกิดจากการสึกกร่อน เนื่องจากสภาวะแวดล้อมทางธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบทางเคมี ใกล้เคียงกับศิลาจารึกหลักอื่นๆ ที่ทำขึ้นในสมัยสุโขทัย โดยมีข้อแม้ว่าต้องเป็นหินชนิดเดียวกัน มีองค์ประกอบทางเคมีใกล้เคียงกัน และอยู่ในสภาพแวดล้อมคล้ายคลึงกัน

แต่ถ้าศิลาจารึกหลักที่ ๑ ถูกทำขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ประมาณ ๑๕๐ ปีมาแล้ว หลังจากทำเสร็จไม่นานก็นำมาเก็บรักษาในที่ร่มมาโดยตลอด เพราะฉะนั้น ริ้วรอยการสึกกร่อน และองค์ประกอบทางเคมีบนผิวของศิลาจารึกหลักนี้ย่อมจะแตกต่างจากศิลาจารึกหลักอื่นๆ ที่ทำขึ้นในสมัยสุโขทัย ซึ่งถูกทอดทิ้งอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานานหลายร้อยปีอย่างแน่นอน"

จากสมมติฐานที่ผมยกมา มีข้อน่าสังเกตกรณีที่ผู้วิจัยตั้งโจทย์ว่า ถ้าจารึกหลักที่ ๑ ทำในสมัยสุโขทัย ก็น่าจะอยู่กลางแดดมา ๕๐๐ กว่าปี และตอนที่พระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎไปพบนั้น ก็พบได้โดยง่าย น่าจะอยู่บนดิน ฉะนั้นผิวของศิลาจารึกน่าจะมีริ้วรอยการสึกกร่อนและการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบทางเคมี ใกล้เคียงกับศิลาจารึกหลักอื่นๆ ที่ทำโดยหินชนิดเดียวกัน และรู้แน่ว่าทำในสมัยสุโขทัยเช่นกัน

แต่ถ้าศิลาจารึกหลักที่ ๑ ทำในต้นรัตนโกสินทร์ เมื่อดูประวัติการพบก็น่าจะอยู่กลางแดดไม่กี่ปี ก็นำมาไว้ในร่ม ดังนั้นริ้วรอยการเสื่อมสลายจะต้องแตกต่างจากศิลาจารึกสุโขทัย

ต่อสมมติฐานเช่นนี้ ผมสงสัยว่า อะไรก็ตามที่เกี่ยวกับหินนั้น การบอกความเปลี่ยนแปลงของริ้วรอยที่เกิดจากการสึกกร่อน จะบอกช่วงห่างของระยะเวลาได้แค่ไหน จึงเห็นความแตกต่างได้

ประเด็นก็คือ ปรากฏการณ์การผุพังอยู่กับที่ มีลักษณะไม่เป็นเชิงเส้น (Non-linear) คือ มีความสัมพันธ์กับองค์ประกอบต่างๆ แบบไม่ตรงไปตรงมา และตัววัตถุคือหินนั้น ไม่เป็นสารเนื้อเดียวกัน (Heterogeneous) ด้วยเหตุนี้จึงยากที่จะบอกว่า การผุพังแปรผันตรง กับเวลา กล่าวคือ เป็นไปได้หรือไม่ ที่เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง การเปลี่ยนแปลงของแต่ละหลัก จะเข้าใกล้กันมากขึ้น จนไม่สามารถบอกความแตกต่างได้

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อทำจารึกบนหินมาหลักหนึ่งแล้ว ต่อมาอีก ๑๐ ปี ทำอีกหลักหนึ่งด้วยหินชนิดเดียวกัน ถ้าตรวจพิสูจน์ในขณะนั้น ย่อมจะเห็นความแตกต่างระหว่างสองหลักได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ๓๐๐ ปี จารึกทั้งสองหลัก มีอายุ ๓๑๐ ปี และ ๓๐๐ ปี จะเริ่มบอกความแตกต่างไม่ได้ว่าหลักนี้อายุ ๓๑๐ ปี อีกหลักอายุ ๓๐๐ ปี

ประเด็นของผมก็คือ เป็นตัวเลขอะไรที่จะเริ่มบอกไม่ได้ เช่น ๓๕๐ ปี กับ ๒๐๐ ปี หรือ ๕๐๐ ปี กับ ๒๐๐ ปี นี่คือความไม่เป็นเชิงเส้นของกระบวนการผุพัง เพราะฉะนั้น ในช่วงของเวลาแค่เป็นร้อยปี อาจไม่แตกต่างกันก็ได้ ถ้ายังไม่มีเครื่องมือหรือวิธีการที่แม่นยำพอจะแยกความแตกต่างนั้นได้ นี่คือข้อสงสัยของผม

ประเด็นต่อมาก็คือ ในสมมติฐานของผู้วิจัยที่บอกว่า ถ้าจารึกหลักที่ ๑ ทำขึ้นในสมัยสุโขทัย จะมีระยะเวลาถูกทอดทิ้งอยู่กลางแดดกว่า ๕๐๐ ปี เพราะการที่ไปพบได้โดยง่ายก็แสดงว่า ไม่ได้อยู่ใต้ดิน และอาจไม่เคยอยู่ใต้ดินเลย ตรงนี้ผมเห็นว่า ไม่สามารถสรุปเช่นนี้ได้ ระยะเวลา ๕๐๐ ปี เป็นระยะเวลาที่ยาวนาน จนไม่สามารถบอกได้เลยว่ามันอยู่ในสภาพอย่างไรมาบ้าง รู้เพียงแต่ว่า ไปพบอยู่บนดินเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๖ เท่านั้น (ประวัติการค้นพบศิลาจารึกหลักที่ ๑ ก็ยังเป็นข้อถกเถียงอยู่ว่าพบจริงหรือไม่ แต่เนื่องจากเป็นประเด็นทางประวัติศาสตร์ จึงขอยกไว้ก่อน ไม่นำมากล่าวในที่นี้)

การตั้งสมมติฐานแบบนี้ จึงดูเป็นการเจาะจงที่จะให้เงื่อนไขว่า อันหนึ่งอยู่กลางแดดกลางฝนกว่า ๕๐๐ ปี ส่วนอีกอันหนึ่ง ถ้าทำในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ก็ต้องอยู่ในร่มมาเป็นเวลา ๑๕๖ ปี ก่อนทำวิจัย

อย่างไรก็ตาม เมื่อผมดูภาพศิลาจารึกหลักที่ ๑ กับหลักที่ ๓ และหลักที่ ๔๕ แล้ว กลับพบว่า จารึกหลักที่ ๑ ดูใหม่กว่าและสมบูรณ์กว่าอีกสองหลักมากทีเดียว

ข้อสงสัยต่อมาก็คือ การเสนอผลจากการถ่ายภาพด้วยกล้องจุลทรรศน์แบบต่างๆ แล้วเปรียบเทียบภาพถ่ายนั้น ภาพส่วนหนึ่งใช้กล้องจุลทรรศน์แบบโพลาไรซ์ เพื่อดูความแตกต่างของปริมาณแคลไซต์ที่ผิวหิน กับส่วนที่อยู่ด้านในของผิวนั้น โดยเรียกผิวที่อยู่ด้านนอกโดนแดดลม สัมผัสกับสภาพแวดล้อมภายนอกว่า ด้านที่expose และเรียกด้านในถัดเข้าไป ด้านที่ยังไม่สัมผัสกับสภาพแวดล้อมว่า ด้านที่ไม่ถูก expose แล้วนำเสนอ ทั้งของจารึกหลักที่ ๑, ๓, ๔๕ และหลักที่กล่าวถึงชีผ้าขาวเพสสันดร ให้เห็นถึงการลดลงของปริมาณแคลไซต์ ระหว่างผิวที่ expose กับไม่ expose ซึ่งเมื่อผมสังเกตดูก็เห็นว่ามันลดลง แต่ขณะเดียวกันภาพของแต่ละหลักก็มีลักษณะเฉพาะของตนเอง

ในการแสดงภาพอีกส่วนหนึ่งนั้น ผู้วิจัยใช้ภาพถ่ายจากกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราด (Scanning Electron Microscope : SEM) เมื่อนำมาเปรียบเทียบกัน ผมเห็นว่ายังลักลั่นอยู่

โบราณวัตถุ ภาพชั้นผิว หลักที่ ๑ หลักที่ ๓ หลักที่ ๔๕ พระแท่นมนังคศิลาบาตร

ด้านที่ expose ภาพขยาย ๓,๕๐๐ เท่า ภาพขยาย ๑,๐๐๐ เท่า ภาพขยาย ๑,๐๐๐ เท่า ไม่มี เพราะไม่ได้รับอนุญาตให้สกัดออกมา

ที่ไม่ถูก expose ไม่มีแสดง ภาพขยาย ๑,๕๐๐ เท่า ไม่มีแสดง ภาพขยาย ๑,๐๐๐ เท่า

จะเห็นว่า ภาพถ่ายด้วย SEM นั้น นำมาแสดงให้ดูด้วยกำลังขยายไม่เท่ากัน เช่น ด้านที่ expose ของหลักที่ ๑ ใช้ภาพกำลังขยาย ๓,๕๐๐ เท่า ขณะที่ หลักที่ ๓ และหลักที่ ๔๕ ใช้ภาพกำลังขยาย ๑,๐๐๐ เท่า

ขณะเดียวกัน ด้านที่ไม่ถูก expose ของหลักที่ ๑ และหลักที่ ๔๕ ไม่มีมาแสดงให้ดู คงเหลือแต่ภาพจากหลักที่ ๓ และจากพระแท่นมนังคศิลาบาตรเท่านั้น แต่หลักที่ ๓ ก็ขยายเสีย ๑,๕๐๐ เท่า ขณะที่พระแท่นมนังคศิลาบาตร ขยาย ๑,๐๐๐ เท่า

สรุปแล้วภาพจากกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราดไม่สามารถนำมาเทียบกับอะไรได้ เป็นแต่แสดงไว้เฉยๆ

อันนี้อาจเกิดจากปัญหาการคัดรูปมาตีพิมพ์ก็ได้ แต่จริงๆ แล้วควรคัดรูปที่มีกำลังขยายเท่ากันมาพิมพ์เทียบกันให้ดู เช่น ถ้าจะเทียบให้เห็นที่ ๓,๕๐๐ เท่า ก็ถ่าย ๓,๕๐๐ เท่า ให้เหมือนกันหมด จะได้ตัดประเด็นเรื่องกำลังขยายไม่เท่ากันออกไปได้ เรื่องนี้ก็เป็นข้อหนึ่งที่ผมสงสัย

การทดลองที่ถือว่าสำคัญอีกวิธีหนึ่งของงานวิจัยนี้ ก็คือ การใช้เครื่อง Energy Dispersive X-rays Spectrometer มาตรวจวิเคราะห์ปริมาณแร่ธาตุบนผิวของตัวอย่าง ทั้งส่วนที่ expose และ ไม่ได้ expose โดยอาศัยหลักที่ว่า เมื่อยิงลำแสงอิเล็กตรอนจากกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราดไปยังผิวของตัวอย่าง ลำแสงอิเล็กตรอนจะทำให้เกิดรังสีเอกซ์ (X-ray) ที่มีพลังงานต่างๆ ขึ้นอยู่กับชนิดของธาตุที่เป็นองค์ประกอบ ซึ่งเมื่อวัดพลังงานของรังสีเอกซ์ที่เกิดขึ้น จะสามารถคำนวณหาปริมาณแร่ธาตุที่เป็นองค์ประกอบบนจุดเล็กๆ แต่ละจุดบนตัวอย่างได้

เมื่อผู้วิจัยเปรียบเทียบผลการวิเคราะห์หลายๆ จุดบนตัวอย่างแต่ละตัวอย่าง แล้วหาค่าเฉลี่ย ก็พบว่า ผิวของศิลาจารึกหลักที่ ๑ หลักที่ ๓ หลักที่ ๔๕ และหลักที่กล่าวถึงชีผ้าขาวเพสสันดร ด้านที่ expose ต่อสภาวะแวดล้อม มีปริมาณแร่และธาตุ แตกต่างจากด้านที่ไม่ expose ในสัดส่วนที่ผู้วิจัยระบุว่าใกล้เคียงกันทั้ง ๔ หลัก ดังนี้

- ปริมาณซิลิกอน (Si) และซิลิกา (SiO2) ซึ่งเป็นองค์ประกอบของแร่ควอตซ์ ที่ผิวด้านนอกของตัวอย่าง สูงกว่าด้านใน (ที่ไม่ expose) ประมาณ ๓-๑๐%
- ปริมาณอะลูมิเนียม (Al) และอะลูมินา (Al2O3) ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของแร่เฟลด์สปาร์และแร่คลอไรด์ ที่ผิวด้านนอกของตัวอย่าง ต่ำกว่าด้านใน ประมาณ ๒-๑๐%
- ปริมาณแคลเซียม (Ca) และแคลเซียมออกไซด์ (CaO) ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของเนื้อประสาน ที่ผิวด้านนอกต่ำกว่าด้านใน ประมาณ ๓-๑๐%

ผมเห็นว่าประเด็นนี้น่าสนใจ กล่าวคือ ผู้วิจัยพยายามบอกว่าทั้งหลักที่ ๑, หลักที่ ๓, หลักที่ ๔๕ และหลักที่กล่าวถึงชีผ้าขาวเพสสันดร มีสัดส่วนการเพิ่มและลดของแร่ธาตุบางตัว ในลักษณะเดียวกัน จึงน่าจะบอกได้ว่า ทั้ง ๔ หลัก ทำในสมัยเดียวกัน คือสมัยสุโขทัย

แต่ผมสงสัยวิธีการสรุปแบบนี้ กล่าวคือ เป็นที่ทราบกันดีว่า ศิลาจารึกหลักที่ ๔๕ ที่เรียกว่า ศิลาจารึกปู่ขุนจิดขุนจอดนั้น หน่วยขุดแต่ง กองโบราณคดี กรมศิลปากร "ขุดพบ" ได้ที่ริมเสาเบื้องขวาหน้าวิหารกลาง ด้านหลังของวิหารสูง ในวัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย เมื่อพุทธศักราช ๒๔๙๙ นั่นคือหลักที่ ๔๕ จมดินมานานเท่าใดไม่ทราบ เพิ่งขุดขึ้นก่อนจะตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๒ แค่ ๓๓ ปี เท่านั้น แต่ผลการตรวจยังไปใกล้เคียงกับหลักที่ ๑ ซึ่งสมมติฐานบอกว่า ถ้าสร้างในสมัยสุโขทัย ก็ต้องอยู่กลางแดดกลางฝนนานถึง ๕๐๐ ปี ก่อนจะมาอยู่ในร่ม

ลองคิดดูว่าหลักหนึ่งเพิ่งขึ้นมาอยู่บนดินได้ ๓๓ ปี อีกหลักอยู่บนดิน ๕๐๐ ปี และมาอยู่ในร่ม ๑๕๐ กว่าปี กลับมาเหมือนกัน แสดงว่าต้องมีปัญหาอะไรบางอย่าง

ปัญหานั้นก็คือ ความน่าเชื่อถือของตัวเลข ๓-๑๐%, ๒-๑๐% หมดไปในทัศนะของผม กล่าวคือ ปริมาณแร่ธาตุบางชนิดที่ลดลง ๒-๑๐%, ๓-๑๐% ของผิวด้านนอกเทียบกับผิวด้านใน และบางชนิดดูเหมือนเพิ่มขึ้น ๓-๑๐% นั้น ไม่สามารถนำมาสู่ข้อสรุปว่า มันควรจะสร้างในสมัยเดียวกันได้ เพราะเงื่อนไขแวดล้อมของตัวจารึก ต่างกันอย่างชัดๆ ค่า ๒-๑๐% จึงเป็นค่าที่กว้างเกินกว่าที่จะนำมาตีความได้ แม้แต่ถ้าพบว่ามีค่าแค่ ๕% เท่ากันพอดี ยังต้องมีประเด็นวิเคราะห์อื่นๆ เพิ่มเติมอีกมาก

อย่าลืมว่าจารึกแต่ละหลักแม้จะทำจากหินทรายแป้งเหมือนกัน แต่องค์ประกอบภายในแตกต่างกัน มันไม่เป็นเนื้อเดียวกัน (Heterogeneous) ดังได้กล่าวไว้แล้ว

ผมกลับสรุปได้ในทางตรงกันข้ามว่า ค่า ๒-๑๐% นั้นไม่สามารถจำแนกแยกแยะความแตกต่างระหว่างหลักหนึ่งที่จมดินอยู่ กับอีกหลักที่อยู่กลางแจ้งได้ และด้วยเหตุนี้ ผลการวิเคราะห์ที่ได้จึงกลายเป็นข้อหักล้างวิธีพิสูจน์นี้เสียเอง

ชวนเยาวชนสนใจวิทยาศาสตร์ศิลาจารึก
มีการทดลองที่ผู้วิจัยต้องการพิสูจน์ให้แน่ชัดขึ้น กล่าวคือ ได้สกัดส่วนหนึ่งของตัวอักษรส่วนหางของ "ล" บนด้านที่ ๓ ของศิลาจารึกหลักที่ ๑ แล้วนำมาตัดและขัดเป็นแผ่นหินบาง แล้วตรวจสอบด้วยกล้องจุลทรรศน์แบบโพลาไรซ์ เพื่อดูว่าผิวของหินตรงร่องที่เกิดจากการแกะสลักตัวอักษรนั้นมีการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบในลักษณะเดียวกันกับผิวส่วนอื่นๆ (ที่ไม่มีตัวอักษร) ของศิลาจารึกหลักที่ ๑ หรือไม่

ผลปรากฏว่า ปริมาณแคลไซต์ลดลงมาใกล้เคียงกัน

ผู้วิจัยสรุปว่า การแกะสลักตัวอักษร น่าจะทำในช่วงเดียวกัน หรือใกล้เคียงกันกับการสกัดหินออกมา การพิสูจน์นี้ ผู้วิจัยต้องการตัดข้อสงสัยที่ว่า อาจมีผู้พบแท่งหินนี้ที่สุโขทัย แต่ไม่มีคำจารึก แล้วนำมาจารึกขึ้นทีหลัง

ตรงนี้ ผมเพียงแต่ตั้งข้อสังเกตว่า เราไม่ทราบว่าระยะเวลาห่างกันเท่าใด ที่วิธีการตรวจแบบนี้จะบ่งบอกความแตกต่างได้ เช่น ที่ได้ตั้งคำถามไว้แล้วว่า สกัดมาแล้วจารึกเลย หรือ ๕ ปีค่อยจารึก หรือ ๕๐ ปีค่อยจารึก เมื่อเวลาผ่านไปนานเท่าใด จึงเริ่มจะบอกความแตกต่างไม่ได้อีกต่อไป

ข้อที่ผมเห็นว่าสำคัญที่สุด คือ การไม่มีจารึกที่ทำด้วยหินทรายแป้งชนิดเดียวกัน แต่ทำในสมัยต้นอยุธยา, กลางอยุธยา, ปลายอยุธยา และต้นรัตนโกสินทร์มาเปรียบเทียบกัน

ตราบใดที่ยังไม่มีการตรวจสอบกับสิ่งที่ถูกตั้งข้อสงสัย ผมเห็นว่า การพิสูจน์ยังไม่สำเร็จ ยังต้องช่วยกันศึกษาค้นคว้าต่อจากสิ่งที่ผู้วิจัยได้ใช้ความพยายามในการเริ่มต้นมาแล้วต่อไป

ถึงตรงนี้ ผมอยากเสนอให้

๑. สถาบันการศึกษาหรือสถาบันวิจัย ที่มีเครื่องมืออุปกรณ์ ไม่ว่าจะเป็นกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน, X-ray fluoresence, X-ray Diffraction Analysis ฯลฯ และนักวิทยาศาสตร์ที่สนใจจะศึกษาวิจัยเรื่องนี้ ได้ช่วยกันออกความคิดเสนอวิธีการตรวจสอบหาอายุของการจารึกหลักที่ ๑ โดยวิธีไม่ทำลายเนื้อสาร (Non-Destructive Testing : NDT) และโดยใช้หินตัวอย่างที่ทางกรมศิลปากรได้สกัดออกมาวิจัย (ซึ่งคิดว่าน่าจะเก็บไว้) ไปศึกษาตามวิธีการและเทคนิควิธีตามที่จะคิดออกแบบ ให้แต่ละแห่งแยกกันทำวิจัยอย่างอิสระ แล้วนำผลมาเสนอต่อสาธารณะร่วมกัน น่าจะเป็นประโยชน์มาก และ

๒. ประกาศให้เยาวชนและผู้สนใจทั่วไป ได้เสนอความคิด จะหาวิธีการศึกษาว่า ศิลาจารึกหลักที่ ๑ นี้ จารึกขึ้นเมื่อใด จัดเป็นกิจกรรมขึ้นในโอกาสสำคัญ เช่น ทำเป็นโครงการวิทยาศาสตร์ในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ไม่แน่ว่าเราอาจจะได้ความคิดดีๆ จากเยาวชนอย่างนึกไม่ถึงก็ได้

วิธีการเปิดให้แสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ จะส่งเสริมให้เยาวชนได้สนใจเรียนรู้ประวัติความเป็นมาของสังคมอย่างกระตือรือร้น อย่างมีชีวิตชีวา อย่างรู้สึกมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ เราสามารถจัดให้เป็นกิจกรรมหนึ่ง ในการเฉลิมฉลองมรดกแห่งความทรงจำของโลกอย่างมีคุณค่าได้ และน่าจะช่วยกันสร้างสรรค์บรรยากาศแบบนี้ให้เกิดขึ้นในสังคม

กรณีศิลาจารึกหลักที่ ๑ ยังมีอะไรน่าสนใจ ติดตามศึกษาค้นคว้าอีกมาก โดยเฉพาะการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ เป็นแค่เพียงเริ่มต้น มาถึงจุดที่ไม่ยืนยันว่าศิลาจารึกหลักนี้ทำในสมัยพ่อขุนรามคำแหงเท่านั้น ยังไม่จบ ขณะเดียวกันการค้นคว้าหาหลักฐานจากศาสตร์อื่นก็รุดหน้าไปมากแล้ว

ขอขอบคุณผู้วิจัยที่ทำให้เรื่องของวิทยาศาสตร์มาสัมพันธ์กับสังคมและวัฒนธรรมโดยมีความจริงเป็นเป้าหมาย มิใช่มีแต่วิทยาศาสตร์ที่ทำหน้าที่รับใช้อำนาจ ไม่ว่าจะเป็นอำนาจรัฐหรืออำนาจของบริโภคนิยมที่มีแต่จะบิดเบือนและทำลายความจริงอยู่ตลอดมา

เชิงอรรถ * ผู้สนใจศึกษาวิธีการตรวจสอบวัตถุโบราณด้วยวิธีวิทยาศาสตร์ ดูได้จาก website ของ The British Museum ในส่วนของ The Department of Scientific Research http://www.thebritishmuseum.ac.uk/science/index.html

 

๒. จารึกพ่อขุนรามคำแหง วรรณคดีประวัติศาสตร์การเมืองแห่งกรุงสยาม
นิธิ เอียวศรีวงศ์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

อาจารย์พิริยะ ไกรฤกษ์ วางระเบิดไว้สองลูกในหนังสือเล่มนี้ ลูกหนึ่งเล็ก ลูกหนึ่งใหญ่

ข้อเสนอสองประการซึ่งถือว่าเป็นระเบิดของท่านก็คือ หนึ่ง จารึก "รามคำแหง" ไม่ได้ทำในสมัยรามราช ไม่ได้ทำในสมัยที่อาจเรียกได้ว่า "สุโขทัย" และไม่ได้ทำขึ้นในสมัยต้นอยุธยา สอง แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวต่างหากที่ได้ทรงทำจารึกหลักนี้ขึ้น ด้วยเหตุผลการเมืองภายในและระหว่างประเทศในสมัยของพระองค์

ความจริงแล้ว จารึกรามคำแหงซึ่งถูกนักปราชญ์ฝรั่งเศสกำหนดไว้ตายตัวว่าน่าจะเขียนขึ้นทั้งหลักใน พ.ศ. ๑๘๓๕ พร้อมกับพระแท่นมนังคศิลาได้ถูกตั้งข้อสงสัยและเสนอคำอธิบายแก้ไขมานานแล้ว อย่างน้อยข้อความในตอนแรกที่ใช้สรรพนามว่ากู กับข้อความในตอนหลังที่อ้างถึง "เมื่อชั่วพ่อขุนรามคำแหง" ก็มีผู้ตั้งข้อสังเกตมานานแล้วว่าน่าจะเขียนกันขึ้นคนละครั้ง แม้อาจจะในรัชกาลเดียวกันก็ตาม

หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุ รัชนีทรงเสนอว่า จารึกทั้งหลักนั้นน่าจะจารึกเพื่อโฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองกันขึ้นในสมัยพญาลิไท แต่ก็มีผู้ค้านว่า ถ้าอย่างนั้นทำไมจึงไม่ใช้อักขรวิธีแบบเดียวกับจารึกอื่นๆ ของสมัยพญาลิไทเล่า ท่านก็ทรงอธิบายว่าพญาลิไทน่าจะได้ข้อความตอนต้นซึ่งพ่อขุนรามคำแหงทรงพระราชนิพนธŒไว้ที่ใดที่หนึ่งจริง จึงเอามาเริ่มต้นจารึกแล้วก็ลอกเลียนอักขรวิธีแบบนั้นทั้งหลัก น่าสังเกตด้วยว่าถ้าพญาลิไททรงทำจารึกนี้ขึ้นจริงดังที่ "ท่านจันทร์" เสนอ พญาลิไทไม่ได้เพียงแต่นำเอาพระราชนิพนธ์ของ "ปู่พญา" มาจารึกลงในหินเท่านั้น แต่ยังตั้งพระทัยที่จะแปลงข้อความที่เติมเข้าไปใหม่ให้ดูประหนึ่งว่าเป็นของเก่าเมื่อยังใช้อักขรวิธีอีกอย่างหนึ่งด้วย การกระทำอย่างนี้ชาวบ้านเรียกว่า "ปลอม" จารึก ฉะนั้นพญาลิไทจึงเป็นกษัตริย์พระองค์แรกที่ถูกนักประวัติศาสตร์กล่าวหาว่าปลอมจารึกหลักนี้

อย่างไรก็ตาม ข้อคัดค้านว่าจารึกรามคำแหงไม่น่าจะทำในสมัยรามราชที่หนักข้อกว่านั้นเป็นของนายไมเคิล วิกเกอรี ซึ่งวิจารณ์พระนิพนธ์ของหม่อมเจ้าจันทร์จิรายุ และตีพิมพ์ครั้งแรกในวารสารสยามสมาคมใน พ.ศ. ๒๕๒๑ ประเด็นสำคัญก็คือนายวิกเกอรีเห็นว่ามีการตีความจารึกหลักนี้แบบขอไปทีมาก โดยเฉพาะข้อที่ไม่ลงรอยกับหลักฐานร่วมสมัยอื่นๆ ก็มักถูกตีความให้สอดคล้องกันไปอย่างง่ายๆ เช่น เหตุใดจึงเอาสระไว้บนบรรทัดเดียวกับพยัญชนะ ก็อธิบายว่าเป็นเพราะอัจฉริยภาพของพ่อขุนรามคำแหง หรือเพราะถึงอย่างไรก็เอาพยัญชนะควบกล้ำและตัวสะกดไว้บนบรรทัดเดียวกันอยู่แล้ว

หรือเหตุใดจารึกซึ่งอ้างว่าเขียนขึ้นด้วยตัวอักษรและอักรวิธีแบบใหม่จึงสะกดคำไม่ตรงกัน ก็อธิบายว่าเพราะใช้เสมียนจดหลายคนจึงจดไม่ตรงกัน แต่เสมียนจะเรียนการสะกดคำจากสำนักอื่นใดได้อีก ในเมื่อเป็นอักษรและอักขรวิธีแบบใหม่เพิ่งคิดขึ้น) นายวิกเกอรีจึงเห็นพ้องกับ "ท่านจันทร์" ว่า จารึกรามคำแหงนั้นไม่น่าจะทำขึ้นในสมัยรามคำแหง ที่ยิ่งไปกว่า "ท่านจันทร์" ก็คือ นายวิกเกอรีดูจะส่อว่า แม้แต่สมมติว่าทำขึ้นในสมัยพญาลิไทก็ดูจะยังไม่สอดคล้องกับหลักฐานร่วมสมัยอื่นๆ นัก

ในบทความซึ่งเขาเสนอต่อที่ประชุมไทยศึกษา ประเทศออสเตรเลีย พ.ศ. ๒๕๓๐ เขาอาศัยภาษาศาสตร์และเนื้อความในจารึกรามคำแหง เพื่อชี้ให้เห็นความไม่ลงรอยของจารึกนี้กับหลักฐานอื่นๆ อย่างละเอียด แม้ว่าคำถามหลักของเขาจะเกี่ยวกับประเด็นการประดิษฐ์ตัวอักษรไทยขึ้นเป็นครั้งแรก แต่การวิเคราะห์ของเขาทั้งด้านภาษาศาสตร์และด้านเนื้อหาของจารึก กลับนำไปสู่คำถามถึงความน่าเชื่อถือของจารึก เพราะเขาเชื่อว่าเขาได้พบข้อความที่พิสูจน์ได้ว่าไม่จริงในจารึกอยู่มาก ถึงระดับที่ว่าผู้ทำจารึกนี้ตั้งใจ "ปลอม" ทีเดียว

อันที่จริงอาจารย์พิริยะเองได้เคยเขียนบทความเสนอความไม่ลงรอยของจารึกกับอายุของสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมที่จารึกอ้างถึงไว้แล้ว จนต้องตั้งคำถามกับจารึกหลักนี้ว่าสร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ ๑๙ จริงหรือ

เฉพาะในส่วนที่ตั้งคำถามกับจารึกรามคำแหงเหล่านี้ อาจารย์พิริยะได้รวมเอาบทความของท่านเกี่ยวกับเรื่องนี้มาไว้ในหนังสือเล่มนี้ทั้งหมด ยิ่งไปกว่านี้ยังจับเอาคำในจารึกแทบจะทุกบรรทัดมาเปรียบเทียบความหมายกับจารึกสุโขทัยหลักอื่น และพบว่าจารึกหลักนี้ใช้คำและความหมายที่ไม่ปรากฏในจารึกสุโขทัยหลักอื่นอยู่จำนวนมาก บางคำก็เป็นความหมายที่ใช้ในสมัยหลังมากๆ ยิ่งกว่านี้ท่านยังได้ยกเนื้อความในจารึกที่น่าสงสัยขึ้นมาให้ดูอีกมากว่า เนื้อความเหล่านี้ไม่สอดคล้องกับจารึกหลักอื่นบ้าง ไม่สอดคล้องกับหลักฐานทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ศิลปะบ้าง

แต่นี่ยังเป็นระเบิดลูกเล็ก เพราะข้อสงสัยของท่านในเรื่องนี้ค่อยๆ ก่อตัวมาในวงวิชาการไทยศึกษานานแล้ว ถึงอาจจะไม่เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป ก็ไม่ก่อความระคายเคืองมากนัก ถึงกระนั้นมันก็ยังเป็นระเบิดอยู่ดี เพราะทำให้เกิดการตอบโต้ไปทั่วโลกในประเทศที่มีการศึกษาไทยคดีหลายประเทศ ถ้าไม่นับการตอบโต้ด้วยอารมณ์ของนักวิชาการบางท่านแล้ว โดยทั่วไปก็ต้องถือว่ามีคุณประโยชน์ในทางวิชาการ เพราะอย่างน้อยก็ทำให้นักวิชาการ (ภาษาศาสตร์, ประวัติศาสตร์ศิลปะ, อ่านจารึก และประวัติศาสตร์) ต้องทบทวนจุดยืนของตนเองในเรื่องดังกล่าว บางส่วนก็อาจเพิ่มพูนความรู้ให้แก่วงวิชาการได้มากขึ้น

ระเบิดลูกใหญ่ที่อาจารย์พิริยะโยนเข้าสู่วงวิชาการผ่านหนังสือเล่มนี้คือข้อที่อาจารย์พิริยะเสนอว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั่นแหละที่ทรงทำจารึกหลักนี้ขึ้น อันที่จริงมีนักปราชญ์แต่ก่อนเคยสงสัยทำนองนี้มาแล้ว แต่ท่านพูดเชิง "ทีเล่นทีจริง" จนไม่อาจก่อให้เกิดผลกระเทือนในทางวิชาการได้

มีนักวิชาการรวมทั้งตัวอาจารย์พิริยะเองได้เสนอมาก่อนหน้านี้แล้วว่า จารึกรามคำแหงไม่น่าจะทำในรัชสมัยของพระองค์ ตลอดจนถึงไม่น่าจะทำในพุทธศตวรรษที่ ๑๙ จารึกรามคำแหงเป็นเอกสารโฆษณาชวนเชื่อทางการเมือง (ซึ่งทำให้ไม่น่าเชื่อถือในฐานะหลักฐานทางประวัติศาสตร์) แต่จารึกรามคำแหงก็อาจเป็นจารึกสุโขทัยก็ได้ หรืออย่างต่ำลงมาก็อาจเป็นจารึกที่ทำขึ้นในสมัยต้นอยุธยา แต่ก็หาเหตุผลได้ยากว่าทำขึ้นทำไม แต่ทั้งหมดนี้ยังไม่มีใครชี้ออกมาตรงๆ ว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทำจารึกหลักนี้ขึ้น

การชี้ว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจาอยู่หัวเป็นผู้ทำจารึกหลักนี้เป็นระเบิดในทางวิชาการก็เพราะ กว่าจะถึงสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เวลาได้ผ่านไปกว่า ๕๐๐ ปี ทุกอย่างที่กล่าวไว้ในจารึกหลักนี้จึงเชื่อไม่ได้สักอย่างเดียว ไม่สามารถใช้เป็นหลักฐานสำหรับศึกษาประวัติศาสตร์สุโขทัยได้เลย อะไรต่างๆ ในเมืองไทยปัจจุบันทั้งที่สำคัญและไม่สำคัญ (นับตั้งแต่ระบบพ่อปกครองลูกไปจนถึงพิธีเผาเทียนเล่นไฟ สำหรับขายนักท่องเที่ยว) ซึ่งอ้างถึงจารึกหลักนี้ล้วนไม่มีฐานความเป็นจริงแม้แต่น้อย เนื้อหาของประวัติศาสตร์ไทยที่เกี่ยวกับสุโขทัยซึ่งมักอ้างจารึกหลักนี้ทั้งหมดมัดเก็บใส่ตู้ได้เลย

ฉะนั้นข้อเสนอทางวิชาการประการที่สองของอาจารย์พิริยะ จึงเป็นระเบิดลูกใหญ่

และเมื่อมันระเบิดขึ้น ผมคิดว่ามันระเบิดใส่อาจารย์พิริยะด้วย เพราะอาจารย์พิริยะผูกข้อเสนอทั้งสองข้อเข้าด้วยกัน ฉะนั้นในขณะที่อาจารย์พิริยะชี้ให้เห็นความไม่ลงรอยกับยุคสมัยของจารึกรามคำแหง ท่านก็ต้องพิสูจน์ความลงรอยของจารึกกับยุคสมัยของต้นรัตนโกสินทร์ไปพร้อมกัน และข้อนี้พิสูจน์ไม่ได้ง่ายเลย

เช่น ท่านต้องพิสูจน์ว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจาอยู่หัวต้องทรงเคยได้อ่านจารึกสุโขทัยหลักอื่น (คือหลักที่ ๒, ๓, ๔, ๕, ๗, ๘, ๙ และ ๔๕) มาแล้ว ท่านต้องพิสูจน์ว่าหนังสือไตรภูมิพระร่วงไม่ใช่งานเขียนซึ่งสืบเนื่องกับงานเดิมในสมัยสุโขทัย ท่านต้องพิสูจน์ว่าจินดามณีฉบับความแปลก (สมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ) ต้องมีการเขียนแทรกในปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๔ และพิสูจน์คำ, สำนวน, ความคิด และศิลปวัตถุหรือเครื่องราชูปโภคต่างๆ ว่าต้องไม่มีมาก่อนในช่วงร้อยกว่าปีของจารึกสุโขทัย และห้าร้อยกว่าปีหลังจากนั้นด้วย

ยังมีข้อพิสูจน์อีกอย่างหนึ่งซึ่งในทัศนะของผมก็หนักหนาสาหัสอยู่เหมือนกัน คือ หนึ่ง พิสูจน์ว่ามีเหตุผลทางการเมืองที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะต้องทรง "ปลอม" จารึกรามคำแหงขึ้น ในข้อนี้ท่านได้ใช้หน้ากระดาษจำนวนมากเพื่อพิสูจน์หรือให้เหตุผลจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในสมัยนั้น และสอง พิสูจน์ได้ว่าเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจาอยู่หัวทรง "ปลอม" จารึกขึ้นแล้ว ก็ได้ทรงใช้จารึกปลอมนั้นให้เป็นประโยชน์ตามพระราชปณิธานทางการเมืองดังที่กล่าวไว้ เช่น ทรงอ้างถึงบ่อยหรือโปรดให้พิมพ์เผยแพร่เพื่อจะได้รู้เห็นกันกว้างขวาง เป็นต้น

ท่านอาจารย์พิริยะประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหนในการป้องกันไม่ให้ระเบิดลูกใหญ่นี้ระเบิดใส่ตัวท่านเอง ผู้อ่านต้องใช้วิจารณญาณของตนเอง และที่สำคัญกว่านั้นคือ ควรตรวจสอบหลักฐานที่เกี่ยวข้อง แล้วลองตีความให้ต่างไปจากท่านดูเองบ้าง หากได้พบการตีความอื่นซึ่งดูจะแยบคายกว่า ก็เอาข้อเสนอใหม่นี้ไปตรวจสอบกับหลักฐานต่างๆ ดูให้แน่ชัดอีกครั้ง ทำได้ดังนี้ก็จะเกิดความเจริญงอกงามในทางวิชาการ เพราะแม้ว่าจะมีการตอบโต้กันในเรื่องนี้มานานอย่างไร ก็จะปฏิเสธไม่ได้ว่าจารึกรามคำแหงนั้นมีปัญหาที่ต้องการคำอธิบายอีกมาก ไม่จำเป็นว่าความเห็นเกี่ยวกับจารึกรามคำแหงจะต้องถูกจำกัดอยู่เพียงสอง คือระหว่างความเห็นของอาจารย์พิริยะและปรปักษ์ของท่านเท่านั้น

เท่าที่ผมได้รู้จักอาจารย์พิริยะโดยส่วนตัว และเท่าที่ได้สดับตรับฟังเรื่องราวเกี่ยวกับท่าน ผมแน่ใจว่าอาจารย์พิริยะเป็นนักวิชาการโดยชีวิตจิตใจเลยทีเดียว ด้วยเหตุดังนั้นท่านคงมีความพอใจเป็นอันมากที่จะเกิดการศึกษาและข้อสรุปเกี่ยวกับจารึกรามคำแหงใหม่ แม้ว่าจะเป็นข้อสรุปที่แตกต่างจากข้อเสนอของท่านก็ตาม หนังสือเล่มนี้ซึ่งเกิดจากความมานะ พยายาม และความใฝ่ใจ ต่อความจริงเยี่ยงนักวิชาการของท่าน จะยิ่งเป็นผลงานที่น่าภาคภูมิใจขึ้นไปอีก เพราะสำเร็จประโยชน์ที่แท้จริงทางวิชาการสมดังเจตนารมณ์ของท่านแล้ว

เขียนเมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๖

 

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา I ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้

1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งย่อหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ
(กรณีตัวหนังสือสีจาง ให้เปลี่ยนสีเป็นสีเข้มในโปรแกรม Microsoft-word)

 

H

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ


Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

สนใจสมัครเป็นสมาชิก
กรุณาคลิก member page
ส่วนผู้ที่ต้องการดูหัวข้อบทความ
ทั้งหมด ที่มีบริการอยู่ขณะนี้
กรุณาคลิกที่ contents page
หรือหน้าสารบัญ ซึ่งมีอยู่ 2 หน้า
และผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น
หรือประกาศข่าว
กรุณาคลิกที่ปุ่ม webboard

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com

เดือนกุมภาพันธ์ พศ.๒๕๔๗
รวมบทความทางวิชาการโดยคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ๒ เรื่อง ว่าด้วยการพิสูจน์ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง
ข้อเสนอสองประการซึ่งถือว่าเป็นระเบิดของท่านก็คือ หนึ่ง จารึก "รามคำแหง" ไม่ได้ทำในสมัยรามราช ไม่ได้ทำในสมัยที่อาจเรียกได้ว่า "สุโขทัย" และไม่ได้ทำขึ้นในสมัยต้นอยุธยา สอง แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวต่างหากที่ได้ทรงทำจารึกหลักนี้ขึ้น ด้วยเหตุผลการเมืองภายในและระหว่างประเทศในสมัยของพระองค์ (ตัดมาบางส่วนจากบทความ)

ท่านจันทร์ทรงอธิบายว่าพญาลิไทน่าจะได้ข้อความตอนต้นซึ่งพ่อขุนรามคำแหงทรงพระราชนิพนธ์ไว้ที่ใดที่หนึ่งจริง จึงเอามาเริ่มต้นจารึกแล้วก็ลอกเลียนอักขรวิธีแบบนั้นทั้งหลัก น่าสังเกตด้วยว่าถ้าพญาลิไททรงทำจารึกนี้ขึ้นจริงดังที่ "ท่านจันทร์" เสนอ พญาลิไทไม่ได้เพียงแต่นำเอาพระราชนิพนธ์ของ "ปู่พญา" มาจารึกลงในหินเท่านั้น แต่ยังตั้งพระทัยที่จะแปลงข้อความที่เติมเข้าไปใหม่ให้ดูประหนึ่งว่าเป็นของเก่าเมื่อยังใช้อักขรวิธีอีกอย่างหนึ่งด้วย การกระทำอย่างนี้ชาวบ้านเรียกว่า"ปลอม"จารึก

 

 

ระเบิดลูกใหญ่ที่อาจารย์พิริยะโยนเข้าสู่วงวิชาการผ่านหนังสือเล่มนี้คือข้อที่อาจารย์พิริยะเสนอว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั่นแหละที่ทรงทำจารึกหลักนี้ขึ้น อันที่จริงมีนักปราชญ์แต่ก่อนเคยสงสัยทำนองนี้มาแล้ว แต่ท่านพูดเชิง "ทีเล่นทีจริง" จนไม่อาจก่อให้เกิดผลกระเทือนในทางวิชาการได้ (ibid.)

รวมบทความเกี่ยวกับศิลาจารึก ๒ เรื่อง :
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์ และ ชัชวาล ปุญปัน