นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
R
related topic
290948
release date

คลิกไปหน้าสารบัญ(1)
คลิกไปหน้าสารบัญ
(2)
คลิกไปหน้าสารบัญ(3)
คลิกไปหน้าสารบัญ(4)
เพื่อดูบทความใหม่สุด

เว็ปไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
จะช่วยแก้ปัญหาได้
ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๘ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
เว็ปไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานของท่านมายัง midarticle(at)yahoo.com หรือ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work and immediately places it in the public domain... [copyleft] กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร

The Midnight University

อรรถาธิบายเกี่ยวกับปอเนาะ
ยุบปอเนาะ - ดับหรือราดน้ำมันใส่ไฟใต้
เขียนโดย
อ. อับดุชชะกูร์ บิน ชาฟิอีย์ ดินอะ
(อับดุลสุโก ดินอะ)

บทความวิชาการเกี่ยวกับการอธิบายถึงโรงเรียนปอเนาะนี้
ทางกองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รับมาจากผู้เขียน


(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
บทความฟรี มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 684
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 9 หน้ากระดาษ A4)



ด้วยพระนามของอัลลอฮ. ผู้ทรงเมตตากรุณาเสมอ ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสดามูฮัมมัด
และผู้เจริญรอยตามท่าน และสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกท่าน

บทนำ
ณ อาคารรัฐสภา เมื่อวันที่ 14 ก.ย.48 ที่ผ่านมา นพ.วิชัย ชัยจิตวณิชกุล ส.ส.อุดรธานี ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ติดตามปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงถึงผลการทำงานที่ผ่านมาว่า ที่ประชุมได้ข้อสรุปว่า…

ขอเสนอให้ยกเลิกโรงเรียนปอเนาะที่สอนเฉพาะศาสนา โดยให้เปิดเป็นโรงเรียนสอนศาสนาเอกชน บรรจุการสอนวิชาสามัญเป็นภาษาไทยควบคู่ไปกับวิชาศาสนา เพราะเยาวชนที่ไม่รู้วิชาสามัญ ทำให้ไม่สามารถศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยได้ จึงจำเป็นต้องไปศึกษาต่อในประเทศมุสลิม เช่น อินโดนีเซีย หรือประเทศกลุ่มอาหรับ และยอมรับว่าที่ผ่านมามีครูสอนศาสนา บางส่วนได้รับการพัฒนาแนวคิดเรื่องการแบ่งแยกดินแดนและใช้ความรุนแรง

ใน พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายหลังการแถลงในครั้งนั้นสิ้นสุดไม่นาน กลุ่มประชาชนที่ทราบข่าวพากันจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์ไปต่างๆ นานา บรรดาผู้นำศาสนาทุกระดับนัดแนะรวมตัวหารือเกี่ยวกับข้อเสนอที่ขัดแย้งกับความรู้สึกของมุสลิมในพื้นที่ เสียงสะท้อนจากทั้งผู้นำศาสนา ปัญญาชน และนักวิชาการค่อยๆ ระงมดัง บางเสียงสะท้อนถึงขั้นที่ว่าข้อเสนอที่ให้ยุบปอเนาะนั้น เสมือนราดน้ำมันใส่ไฟใต้ระลอกใหม่ให้ยิ่งลุกโชนขึ้นไปอีก

นายครองชัย หัตถา นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์มุสลิมในมลายู มอ.ปัตตานี กล่าวว่า "พื้นที่ชายแดนใต้เป็นแหล่งกำเนิดปอเนาะ ซึ่งเป็นสำนักการศึกษาที่มุสลิมทั่วโลกรู้จัก โดยเฉพาะมุสลิมในภูมิภาคมลายู ซึ่งกินพื้นที่ตั้งแต่ภาคใต้ของไทย, ซาราวัก, หมู่เกาะสุมาตรา, ปาร์ปัวนิวกินี, ไปจนถึงมาดากัสกาของทวีปแอฟริกา ….มุสลิมในภูมิภาคมลายูนี้ล้วนเคยเดินทางมาเรียนในปอเนาะที่ปัตตานี ซึ่งเป็นต้นแบบของการศึกษาที่บริสุทธิ์ และนับเป็นสถานที่บ่มเพาะจริยธรรมอันดีงาม ซึ่งอาจจะเรียกว่าเป็นเบ้าหลอมของมุสลิมเลยก็ว่าได้"

ขณะที่นายอับลดุลอาซิส ยานยา ประธานชมรมสถาบันปอเนาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวแสดงความผูกพัน และความสำคัญที่ปอเนาะมีต่อชาวมุสลิมในพื้นที่ว่า ปอเนาะเป็นเบ้าหลอมทางจริยธรรมของมุสลิม สร้างคนให้เป็นคน เป็นศูนย์รวมทางจิตใจ รวมทั้งยังเป็นที่พึ่งของคนยากไร้ มุสลิมทุกคนล้วนต้องเคยผ่านการใช้ชีวิตในปอเนาะมาแล้วทั้งสิ้น

"และเราก็รู้สึกยินดีที่รัฐบาลไทยช่วยเหลือปอเนาะให้อยู่ได้มาโดยตลอด แต่ระยะหลังปอเนาะกลับต้องถูกเพ่งเล็ง เพราะมีกลุ่มผู้ไม่หวังดีไปก่อความไม่สงบแล้วก็เข้าไปหลบซ่อนในปอเนาะ ทำให้ภาพลักษณ์เสียหายและถูกมองไปในทางที่ไม่ดี ซึ่งเราเองก็ให้ความร่วมมือกับภาครัฐเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวอยู่" (โปรดดู www.manager.co.th)

ทำความรู้จัก 'ปอเนาะ
รากศัพท์ของคำว่า "ปอเนาะ" เป็นคำภาษามลายูปัตตานีเพี้ยนมาจากภาษาอาหรับว่า FUNDOK อ่านว่าฟุนโด๊ก แปลว่า กระท่อม ที่พัก หรือโรงแรม
ความหมายในที่นี้หมายถึง "สำนักศึกษาเล่าเรียนวิชาการศาสนาอิสลาม"

สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ ฉบับทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) สงขลา ฉบับ พ.ศ.๒๕๒๙ เล่ม ๗ ระบุความเป็นมาว่า เชื่อกันว่าปอเนาะเกิดขึ้นในประเทศอียิปต์ แล้วแพร่มาสู่เอเชียที่ประเทศมาเลเซียก่อน ต่อมาจึงแพร่เข้าสู่เส้นทางใต้ของประเทศไทย ในสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยเริ่มที่ปัตตานีเป็นแห่งแรก แล้วขยายไปสู่ท้องถิ่นที่มีชาวไทยมุสลิมทั้งในภาคใต้และภาคกลาง

"ปอเนาะ" ถือเป็นการศึกษาเพื่อชุมชนแบบพึ่งตนเอง เกิดที่ปัตตานีเมื่อ ๒๐๐ ปีมาแล้ว โดยปอเนาะแรกคือ บืดนังดายอ ใกล้ๆ ต.สะนอ, อ.ยะรัง, จังหวัดปัตตานี

ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (สช.) เขตการศึกษา ๒ ระบุว่า กระทรวงศึกษาธิการ ประกาศระเบียบกระทรวงฯ ว่าด้วยการปรับปรุงส่งเสริมปอเนาะ ออกมาเมื่อปี ๒๕๐๔ สาระสำคัญคือ ให้ปอเนาะยื่นเรื่องขอขึ้นทะเบียนต่อทางราชการ

ต่อมาในปี ๒๕๐๘ รัฐบาลมีมติคณะรัฐมนตรีให้ปอเนาะที่ขึ้นทะเบียนแล้ว แปรสภาพเป็นโรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลาม ให้ปรับปรุงการเรียนการสอนให้ได้มาตรฐาน ให้มีหลักสูตรการสอน มีชั้นเรียน โต๊ะ เก้าอี้ กระดานดำ มีระยะจบการศึกษาที่แน่นอน และให้เปิดสอนวิชาสามัญด้วย. ทางราชการจะช่วยเหลือส่งเสริมโดยการให้เงินอุดหนุน ส่งครูไปช่วยสอนวิชาสามัญ และผ่อนปรนในเรื่องคุณสมบัติบางประการของเจ้าของ ผู้จัดการ ครูใหญ่ และครูผู้สอน โดยไม่ต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ พ.ศ.๒๔๙๗ อย่างเคร่งครัด

ปี ๒๕๑๐ คณะรัฐมนตรีมีมติให้เร่งรัดปอเนาะที่ขึ้นทะเบียนแล้วทั้งหมด ให้มาขอแปรสภาพจากปอเนาะเป็นโรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลาม ให้เสร็จสิ้นภายใน ๑๕ มิถุนายน ๒๕๑๔ ไม่เช่นนั้นให้ถือว่าปอเนาะนั้นล้มเลิกไป และหลังจากนั้นห้ามก่อตั้งปอเนาะขึ้นมาอีก หากจะตั้งต้องเปิดสอนในรูปแบบของโรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลามเท่านั้น

ถึงปี ๒๕๑๔ มีปอเนาะจำนวนมากถึง ๔๒๖ แห่ง มายื่นความจำนงขอแปรสภาพกับทางการ แต่บางแห่งที่เคยขึ้นทะเบียนด้วยความจำยอม เนื่องจากถูกบีบจากทางการ ถูกข่มขู่จากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ก็ไม่ยอมแปรสภาพ อีกบางส่วนยอมแปรสภาพจากปอเนาะไปสู่ระบบโรงเรียน แต่สอนเฉพาะวิชาศาสนาเท่านั้น ตามหลักสูตรและแผนการสอนที่โรงเรียนปอเนาะแห่งนั้นๆ กำหนดขึ้นเอง และนอกจากนี้ยังมีปอเนาะแห่งใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา

การศึกษาของมุสลิมจึงแบ่งออกเป็นสองรูปแบบ คือ "ปอเนาะ" อันเป็นรูปแบบการศึกษาดั้งเดิมของท้องถิ่นกับการศึกษาในระบบ "โรงเรียน" ที่เรียกกันติดปากว่า โรงเรียนปอเนาะ ซึ่งมีการแบ่งชั้นเรียน มีชุดเครื่องแบบ มีโต๊ะเก้าอี้นั่งเรียน มีการนับชั้น และกำหนดระยะจบการศึกษา และโรงเรียนปอเนาะยังแบ่งออกเป็นสองประเภท คือ สอนทั้งวิชาสามัญและศาสนา กับสอนเฉพาะวิชาศาสนาเพียงอย่างเดียว

ในปี ๒๕๒๖ ชื่อโรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลามถูกรัฐบาลเปลี่ยนเป็น โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม เพื่อสอดคล้องตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. ๒๕๒๕ และออกระเบียบการให้เงินอุดหนุนแก่โรงเรียนเอกชนฯ ที่สอนวิชาสามัญควบคู่วิชาศาสนาอิสลาม ฉบับแก้ไขครั้งล่าสุดออกมาเมื่อปี ๒๕๔๕ ให้เงินอุดหนุนแก่โรงเรียนที่ได้มาตรฐานตามมาตรา ๑๕ (๑) ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์เต็ม ส่วนโรงเรียนที่อยู่ในระยะเตรียมความพร้อม และโรงเรียนที่เพิ่งจดทะเบียนหลังวันออกระเบียบให้เงินอุดหนุน ๖๐ เปอร์เซ็นต์ แต่สำหรับโรงเรียนที่สอนเฉพาะวิชาศาสนา จะไม่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล เงื่อนไขนี้สร้างความน้อยเนื้อต่ำใจให้แก่ปอเนาะหลายแห่ง

ตามสถิติจากการสำรวจล่าสุดของ สช. มีโรงเรียนปอเนาะกว่า ๕๕๐ โรง แบ่งเป็นโรงเรียนสอนศาสนาอย่างเดียว ๓๐๐ โรง และที่เปิดสอนทั้งวิชาสามัญและศาสนาประมาณกว่า ๒๐๐ โรง โดยไม่นับรวมปอเนาะที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน

ปอเนาะที่ผ่านการแปรสภาพเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ได้รับการพัฒนามาเป็นลำดับ กระทั่งปัจจุบัน การบริหารและการดำเนินกิจการของโรงเรียนเป็นไปอย่างมีระบบ บุคลากรได้รับการพัฒนาอบรม อาคารสถานที่มั่นคงถาวรและได้รับการประเมินจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษาดั่งโรงเรียนสามัญทั่วประเทศไทย

ในด้านหลักสูตร ได้นำเอาหลักสูตรสามัญศึกษาของโรงเรียนมัธยมต้น และมัธยมปลายมาใช้อย่างเต็มรูปแบบ มีโรงเรียนที่มีชื่อเสียงมากมายเช่น ธรรมวิทยามูลนิธิ, พัฒนาวิทยา, จ.ยะลา. ดารุสสลาม, อัตตัรกียะห์, จ.นราธิวาส. ดรุณวิยา, บำรุงอิสลาม, จ. ปัตตานี เป็นต้น. ซึ่งนักเรียนสามารถเข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัยในประเทศทุกสาขาวิชา และต่างประเทศในหลายมหาวิทยาลัยไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย ออสเตรเลีย อังกฤษ และสหรัฐในหลักสูตรสามัญและโลกอาหรับในหลักสูตรศาสนา. บางโรงเรียนเปิดสอนตั้งแต่อนุบาล-มัธยมปลาย

ส่วนหลักสูตรศาสนาอิสลามได้แบ่งชั้นเรียนเป็น ๑๐ ชั้นปี ได้แก่ หลักสูตรอิสลามศึกษาตอนต้น (- อิบติดาอียะฮฺ ปีที่ ๑-๔ -) หลักสูตรอิสลามศึกษาตอนกลาง (- มุตาวัซซีเตาะฮฺ ปีที่ ๕-๗) และหลักสูตรอิสลามศึกษาตอนปลาย (- ซานาวียะฮฺ ปีที่ ๘-๑๐) มาตรฐานของโรงเรียน และผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของนักเรียน ทำให้โรงเรียนปอเนาะได้รับความสนใจมาก เพราะนักเรียนมีความรู้ทั่งศาสนาและสามัญ ดั่งสโลแกนของบางโรงที่กล่าวว่า "ความรู้ทางโลกปราศจากศาสนา โลกจะสงบสุขได้อย่างไร"

สำหรับปอเนาะที่สอนเฉพาะศาสนาอิสลามอย่างเดียว
(ศาสนาอิสลามแบบดั้งเดิมซึ่งนพ.วิชัย ชัยจิตวณิชกุล ส.ส.อุดรธานี ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอให้ยุบ)

ปอเนาะประเภทนี้ เป็นสถาบันที่สอนศาสนาและวัฒนธรรมอิสลามแก่เยาวชนและประชาชนทั่วไป ทั้งนี้โดยมีผู้ที่มีความรู้ทางด้านศาสนาอิสลาม และต้องมีภาวะเป็นผู้นำของชุมชนที่เรียกว่า`ตุวันคูรู ในภาษามลายูหรือ "โต๊ะครู" และโต๊ะครูในที่นี้ คือ เจ้าของปอเนาะด้วย การจัดตั้งปอเนาะเป็นไปตามความศรัทธาของชุมชน ที่ต้องการให้มีสถาบันการสอนศาสนาอิสลาม ปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรมอันดีงามตามหลักศาสนาอิสลามแก่ เยาวชนมุสลิม โดยมีโต๊ะครูซึ่งจะเป็นทั้งผู้สอนและผู้จัดการปอเนาะ

การเรียนการสอนในปอเนาะ จะเน้นการเรียนรู้หลักศรัทธา, คัมภีร์อัลกุรอาน, อรรถาธิบายอัลกุรอาน, วจนะศาสดา, กฏหมายอิสลาม, มารยาทอิสลาม และมารยาทกับต่างศาสนิก, ภาษาอาหรับ, สำนวนโวหารอาหรับ, ตรรกศาสตร์, ปรัชญาอิสลาม, ดาราศาสตร์, โดยศึกษาจากตำราที่เป็นภาษาอาหรับ หรือ "ภาษามลายูอักษรยาวี" ซึ่งเรียกว่า "กีตาบยาวี" โดยตำราทั้งสองภาษา ใช้สำนวนภาษาของคนสมัยก่อน (คนสมัยนี้อ่านแล้วยากแก่การเข้าใจ ต้องเรียนกับโต๊ะครูหรือผ่านการศึกษาระบบปอเนาะอย่างเดียวเท่านั้นจึงจะเข้าใจ)

ในส่วนของโต๊ะครูปอเนาะแต่ละคนนั้น จะมีความรู้ ความถนัด รวมทั้งวิธีการถ่ายทอดความรู้สู่ผู้เรียนที่แตกต่างกัน รูปแบบ ช่วงชั้น ช่วงเวลา หลักสูตรและการวัดผลที่แน่นอน อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของโต๊ะครู มีทั้งโต๊ะครูสอนเองหรือลูกศิษย์ที่โต๊ะครูเห็นว่า สามารถช่วยสอนแทนได้ในบางวิชา ทั้งนี้โดยไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆ. ในส่วนของผู้เรียน สามารถเรียนได้ตลอดชีวิต หรือจนกว่าผู้เรียนจะขอลาออกไปประกอบอาชีพ หรือในกรณีโต๊ะครูพิจารณาแล้วว่ามีความรู้ เพียงพอแล้ว

ผู้มาเรียนปอเนาะจะต้องเป็นผู้ที่ผู้ปกครองนำมาฝากไว้กับโต๊ะครู และต้องอยู่ ในบ้านที่เป็นกระท่อมหรือปอเนาะ ซึ่งจะตั้งเรียงรายอยู่ในบริเวณบ้านของโต๊ะครู หรือบ้าน ที่โต๊ะครูกำหนดให้อยู่ ผู้เรียนจะต้องหาอาหารและรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง เฉลี่ยคนละ 30-50 บาทต่อวัน ในปอเนาะบางแห่งมีคนชราและผู้ยากไร้ อยู่ด้วย

มีผู้เรียนหลากหลายกลุ่มอายุปะปนกัน ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ และคนชรา การเรียนการสอนจะแยกกันเด็ดขาดระหว่างผู้หญิงและผู้ชาย ผู้เรียนปฏิบัติตนอยู่ในระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัด การแต่งกายถูกต้องมิดชิดตามหลักศาสนา

นักเรียนที่มาเรียนในปอเนาะจะมีทั้งที่จบชั้นประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย มหาวิทยาลัย บางคนเรียนหลักสูตรปอเนาะในเวลากลางคืนและหลังรุ่งสางส่วนกลางวันหากเป็นนักเรียนก็จะไปโรงเรียนที่เขาสังกัด หากเป็นผู้ใหญ่กลางวันจะทำงาน (เพราะฉะนั้นการบรรจุการสอนวิชาสามัญเป็นภาษาไทยจึงไม่จำเป็น)

การจัดตั้งปอเนาะใช่ว่าใครคิดจะตั้งก็ตั้งได้ ผู้ก่อตั้งจะต้องมีความรู้ทางศาสนาชั้นสูง มีความตั้งใจจริง มีจิตใจบริสุทธิ์ และตั้งมั่นในความเสียสละอย่างแรงกล้าการสร้างปอเนาะ ทีละหมาด สาธารณูปโภคต่างได้รับการช่วยเหลือจากผู้มีจิตศรัทธาในชุมชนและนอกชุมชน

การเติบโตของปอเนาะขึ้นอยู่กับชื่อเสียงของโต๊ะครูเป็นสำคัญ โต๊ะครูที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ประชาชนให้การยอมรับ มักจะมีผู้มาสมัครเป็นลูกศิษย์เป็นจำนวนมากเช่นปอเนาะดาลอที่ปัตตานี ปอเนาะจะมีขนาดเล็ก หรือใหญ่ ขึ้นอยู่กับสถานภาพและความรู้ ความสามารถของผู้เป็นเจ้าของดังได้กล่าวแล้ว

การดำรงอยู่ของปอเนาะ ขึ้นอยู่กับความเลื่อมใสศรัทธาของผู้ปกครองนักเรียน ฉะนั้นเมื่อโต๊ะครูถึงแก่กรรม และไม่มีทายาทสืบต่อ หรือประชาชนเสื่อมความนิยม ก็จะล้มเลิกกิจการไปเอง จึงมักพบเห็นปอเนาะร้างมีปรากฏอยู่ทั่วไป

การเรียนในปอเนาะไม่ใช่เรียนเพื่อรับปริญญา หรือศึกษาต่อในระบบโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยทั้งในหรือต่างประเทศ การเรียนการสอนในปอเนาะไม่ใช่เพื่อประกอบอาชีพแต่การเรียนการสอนในปอเนาะคือการทำให้ผู้เรียนได้เข้าใจหลักคำสอนของศาสนาอิสลาม

หลักคำสอนของศาสนาอิสลามในปอเนาะมีทั้งพื้นฐานความรู้ทั่วไปที่ทุกคนจะต้องรู้และนำไปปฏิบัติ ในขณะเดียวกันมีหลักคำสอนสำหรับผู้ที่ต้องการเรียนเป็นถึงระดับผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ(อิสลามศึกษา)

การถือกำเนิดปอเนาะในภาคใต้นั้นมิใช่เพื่อสนองอารมณ์ หรือธุรกิจแต่จริงๆแล้วเพื่อสนองหลักการศึกษาศาสนาอิสลามเพราะอิสลามสอนให้มนุษย์มีการศึกษาตลอดชีวิตและเก่ง ดี มีสุข ซึ่งสอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาชาติ ปี พ.ศ.2542 (โปรดดู พรบ.การศึกษา 2542 หมวดที่1-4)
มุสลิมที่ดีต้องศึกษาหาความรู้ตลอดเวลา และปฏิบัติตามคำสอนของศาสนาอย่างเคร่งครัด ดังปรัชญาของอิสลามที่ว่า "จงศึกษาตั้งแต่อยู่ในเปลจนถึงหลุมฝังศพ" หรือ "ผู้มีความรู้ มีหน้าที่สอนผู้ที่ไม่รู้" หรือ "ผู้ที่ดีเลิศ คือผู้ที่เรียนและสอนกุรฺอาน" ดังนั้น ปอเนาะจึงเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต และเป็นแหล่งเผยแผ่ศาสนาในคราวเดียวกัน

ในอดีตปราชญ์อิสลามระดับอาเซียนถือกำเนิดจากระบบปอเนาะในจังหวัดชายแดนใต้เช่น เชคดาวุด เชคอะห์มัด จนถึงโต๊ะครูอาเยาะเดร์ สะกัม (โปรดดู หนังสือ อูลามาอ์เบอร็ซาร็ปัตตานี เขียนโดย อะห์หมัด ฟัตฮี) ด้วยจุดเด่นของปอเนาะดังกล่าวทำให้การศึกษาอิสลามระบบปอเนาะใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ดีที่สุดในประเทศไทยและกลุ่มอาเซียนด้วยกัน จึงทำให้มีมุสลิมจากภาคอื่นๆ มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย กัมพูชาและเวียดนามมาศึกษาเล่าเรียนที่นี่

หากรัฐคำนึงถึงจุดเด่นข้อนี้และช่วยเหลือพัฒนาอย่างถูกต้องไม่แน่ประเทศไทยสามารถเป็นศูนย์กลางอิสลามศึกษาในระบบปอเนาะระดับอาเซียน อันจะดึงเม็ดเงินจากเพื่อนบ้านได้ในที่สุด(ผู้ว่าซีอีโอ 3 จังหวัดซึ่งมีงบนับร้อยล้าน น่าจะทำปอเนาะนานาชาติในฝันแข่งกับการท่องเที่ยวดูว่า ใครจะนำเงินตราต่างประเทศมากกว่ากัน)
อ. อาหมัด เบ็ญอาหลีผู้ครำวอดวงการศึกษา และทำงานนื้นที่มานาน (อดีตผู้ตรวจราชการ สพท.นราธิวาส เขต ๒ ปัจจุบันรองผู้นวยการ สพท.สงขลา เขต ๒) เคยเสนอว่า ในเมื่อปอเนาะเป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ของชุมชน การใช้ปอเนาะเป็นสื่อกลางในการเชื่อมโยงกลไกภาครัฐสู่ภาคประชาชน จึงเป็นทางเลือกที่ไม่ควรมองข้าม

เพื่อให้การบริหารจัดการปอเนาะได้รับการพัฒนาไปในทิศทางที่ถูกต้อง เหมาะสมกับสภาพปัจจุบัน และสอดคล้องกับนโยบายพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐบาลควรมีแนวทางดำเนินการ ดังนี้

๑. จดทะเบียนปอเนาะที่เหลืออยู่ทุกแห่ง ให้เข้าสู่ระบบที่ถูกต้อง เพื่อความสะดวกในการพัฒนาและดูแลอย่างใกล้ชิด

๒. ควรให้เงินอุดหนุนเป็นค่าตอบแทนแก่โต๊ะครู และครูสอนศาสนาตามความเหมาะสม เนื่องจากบุคคลเหล่านี้มีความรับผิดชอบสูง ทั้งด้านการจัดการเรียนการสอนและการอบรมจริยธรรม

๓. ควรให้การสนับสนุนด้านอาคารสถานที่ โต๊ะ เก้าอี้นักเรียน และครุภัณฑ์ที่จำเป็นพร้อม ทั้งห้องสมุด เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ของผู้เรียน

๔. สนับสนุนสื่อการสอนประเภทต่างๆ

๕. ควรให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องร่วมกันบูรณาการการพัฒนาปอเนาะในด้านต่างๆ ดังนี้ กระทรวงศึกษาธิการ ดูแลด้านการศึกษาและงานอาชีพ, กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้การสงเคราะห์คนชราและผู้ยากไร้, กระทรวงสาธารณสุข ดูแลด้านสุขภาพอนามัย, และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ส่งเสริมด้านการกีฬาและนันทนาการ

แต่เมื่อ "ปอเนาะ" ถูกมองในแง่ร้ายและเสนอให้ยกเลิกสถาบันปอเนาะที่สอนเฉพาะศาสนา และบังคับให้เปิดเป็นโรงเรียนสอนศาสนาเอกชน บรรจุการสอนวิชาสามัญเป็นภาษาไทยควบคู่ไปกับวิชาศาสนา เพราะเยาวชนที่ไม่รู้วิชาสามัญ ทำให้ไม่สามารถศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยได้ เป็นการเข้าใจบริบท บทบาท ภารกิจของปอเนาะที่มีต่อชุมชนที่ไม่น่าถูกต้องนัก หากรัฐศึกษาและวิจัยแล้วพบว่า ปอเนาะคือโรงงานก่อการร้ายและการยุบสถาบันปอเนาะทำให้การก่อร้ายหายไปจากชายแดนใต้ ก็ขอเชิญรัฐจัดการ และประชาชนก็คงไม่ต่อต้านท่านอย่างแน่นอน

หรือว่าการยุบปอเนาะ(หรือเพียงแต่แนวคิดของคนมีฐานะผู้ทรงคุณวุฒิสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ติดตามปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี) จะเป็นเสมือนราดน้ำมันใส่ไฟใต้ระลอกใหม่ให้ยิ่งลุกโชนขึ้นไปอีก
สุดท้ายในขณะทีสื่อ(เช่นมติชน และคุณสนธิ ลิ้มทองกุล) กำลังถูกคุกคามจากพลังทุนนิยมที่ไร้จรรยาบรรณ

ผู้เขียนขอดุอาอ์(พร) จากอัลลอฮ ซุบฮานะฮุ วะ ตะอาลา โปรดทรงรวมพลังของพวกเราให้อยู่บนทางนำ และรวมหัวใจของพวกเราอยู่บนความถูกต้อง และความมุ่งมั่นของพวกเราอยู่บนการงานที่ดี และสามารถฟันฝ่าการคุกคามจากพลังทุนนิยมที่ไร้จรรยาบรรณ และขอทรงทำให้ วันนี้ของพวกเราดีกว่าเมื่อวาน และให้พรุ่งนี้ของพวกเราดีกว่าวันนี้ แท้จริงพระองค์นั้นเป็นผู้ทรงได้ยินและทรงอยู่ใกล้และนำความสงบสุขสู่จังหวัดชายแดนใต้ และประเทศชาติทั้งมวลด้วยเทอญ
อามีน

โดย อ. อับดุชชะกูร์ บิน ชาฟิอีย์ ดินอะ
(อับดุลสุโก ดินอะ)
[email protected]



 

 

บทความที่นำเสนอก่อนหน้านี้ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 680 เรื่อง หนากว่า 9500 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

คำโปรย คัดลอกมาจากบทความ เพื่อให้มองเห็นเนื้อความที่น่าสนใจบางส่วน
H
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประกอบบทความฟรีสำหรับนักศึกษา จัดทำโดยมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เพื่อให้ทุกคนที่สนใจศึกษาสามารถ เข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายหรือค่าธรรมเนียมใดๆทั้งสิ้น
ผู้มาเรียนปอเนาะจะต้องเป็นผู้ที่ผู้ปกครองนำมาฝากไว้กับโต๊ะครู และต้องอยู่ ในบ้านที่เป็นกระท่อมหรือปอเนาะ ซึ่งจะตั้งเรียงรายอยู่ในบริเวณบ้านของโต๊ะครู หรือบ้าน ที่กำหนดให้อยู่ ผู้เรียนจะต้องหาอาหารและรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง ในปอเนาะบางแห่งมีคนชราและผู้ยากไร้ อยู่ด้วย
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี

นายครองชัย หัตถา นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์มุสลิมในมลายู มอ.ปัตตานี กล่าวว่า "พื้นที่ชายแดนใต้เป็นแหล่งกำเนิดปอเนาะ ซึ่งเป็นสำนักการศึกษาที่มุสลิมทั่วโลกรู้จัก โดยเฉพาะมุสลิมในภูมิภาคมลายู ซึ่งกินพื้นที่ตั้งแต่ภาคใต้ของไทย, ซาราวัก, หมู่เกาะสุมาตรา, ปาร์ปัวนิวกินี, ไปจนถึงมาดากัสกาของทวีปแอฟริกา ….มุสลิมในภูมิภาคมลายูนี้ล้วนเคยเดินทางมาเรียนในปอเนาะที่ปัตตานี ซึ่งเป็นต้นแบบของการศึกษาที่บริสุทธิ์ และนับเป็นสถานที่บ่มเพาะจริยธรรมอันดีงาม ซึ่งอาจจะเรียกว่าเป็นเบ้าหลอมของมุสลิมเลยก็ว่าได้"
ขณะที่นายอับลดุลอาซิส ยานยา ประธานชมรมสถาบันปอเนาะ... กล่าวแสดงความผูกพัน และความสำคัญที่ปอเนาะมีต่อชาวมุสลิมในพื้นที่ว่า ปอเนาะเป็นเบ้าหลอมทางจริยธรรมของมุสลิม