นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
R
related topic
220948
release date

คลิกไปหน้าสารบัญ(1)
คลิกไปหน้าสารบัญ
(2)
คลิกไปหน้าสารบัญ(3)
คลิกไปหน้าสารบัญ(4)
เพื่อดูบทความใหม่สุด

เว็ปไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
จะช่วยแก้ปัญหาได้
ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๒๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๘ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
เว็ปไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานของท่านมายัง midarticle(at)yahoo.com หรือ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work and immediately places it in the public domain... [copyleft] กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร

The Midnight University

รำลึกย้อนหลัง-ประสบการณ์ในอดีต
deja vu จากประเวศ วะสี ถึง ประมวล รุจนเสรี
ดร. สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


บทความชิ้นนี้ทางกองบรรณาธิการได้นำมาจากกระดานข่าวมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน หัวข้อที่ 07629 - 30
ประกอบด้วยงานเขียน ๒ ชิ้นคือ
๑. deja vu จากประเวศ วะสี ถึง ประมวล รุจนเสรี
๒.
deja vu ปัญหา "พระราชอำนาจ" ใน พ.ศ.2499 :
กรณีหยุด แสงอุทัย ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
บทความฟรี มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 677
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๔๘

(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 6.5 หน้ากระดาษ A4)

 



1. deja vu จากประเวศ วะสี ถึง ประมวล รุจนเสรี
เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ในช่วงเวลานี้พอดี (กรกฎาคม-สิงหาคม 2538 ประเวศ วะสี ได้เปิดการรณรงค์ที่เรียกว่า "ปฏิรูปการเมือง" ด้วยการเสนอให้ราษฎรไทย พร้อมใจกัน "คืนพระราชอำนาจ" ให้พระมหากษัตริย์ เพื่อที่จะได้ทำการ "ปฏิรูปการเมือง" ในครั้งนั้นบรรดาปัญญาชน "ทวนกระแส" และกลุ่มที่ภายหลังมาเรียกกันว่า "การเมืองภาคประชาชน" (สนนท. เป็นต้น) ได้ออกมาขานรับข้อเสนอของประเวศเป็นเสียงเดียว ธีรยุทธ บุญมี ร่วมสนับสนุนด้วยการเขียนบทความ "ศึกษาพระราชดำรัส 'เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม'"

ขณะที่เสกสรรค์ ประเสริฐกุล นอกจากเป็น 1 ในคณะกรรมการที่จัดทำข้อเสนอ "ปฏิรูปการเมือง" ที่ประเวศ เป็นประธาน ในเวลาใกล้ๆกันนั้น และในกรณีอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกัน ก็ได้เคยเขียนแล้วว่า "ทุกวันนี้ในสังคมไทยมีสถาบันและผู้คนอีกมากที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง จะไม่ให้ยอมรับนับถือกันเลยหรือ" (นัยยะต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสิ่งไม่ผิดพลาด [unmistakeable] - เสกสรรค์กำลังวิพากษ์รัฐที่มาจากการเลือกตั้ง)

หลังจากนั้นไม่นาน เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ และราชสำนักได้ออกมารณรงค์เรื่อง "เศรษฐกิจพอเพียง" คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ได้ระดมปัญญาชนระดับ "หัวกะทิ" จัดอภิปรายสนับสนุน ไม่มีใครในหมู่ปัญญาชนผู้ยิ่งใหญ่ที่เข้าร่วมอภิปรายครั้งนั้น (เสน่ห์ จามริก, นิธิ เอียวศรีวงศ์, เกษียร เตชะพีระ และชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์) จะได้ชี้ออกมาเลยว่า การเสนอประเด็นสาธารณะในสังคมประชาธิปไตยนั้น เงื่อนไขพื้นฐานอย่างหนึ่งคือ ต้องอนุญาตให้อภิปราย เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย และวิพากษ์วิจารณ์ได้ ไม่เช่นนั้น การเสนอก็เป็นเพียงการบังคับด้วยอำนาจของรัฐและกฎหมายเท่านั้น ทุกคนเต็มใจที่จะ "เกาะ" (hang on) การรณรงค์ครั้งนั้นอย่างเงียบๆด้วย ในฐานะ "ข้าแผ่นดิน" ที่ดี

ยิ่งไปกว่านั้น รังสรรค์ ธนะพรพันธ์ ปัญญาชน "ทวนกระแส" ผู้ยิ่งใหญ่อีกคนหนึ่ง ได้เขียนบทความ "ยกระดับ" ข้อเสนอเรื่อง "เศรษฐกิจพอเพียง" ของพระมหากษัตริย์ไทย ขึ้นเป็น "ฉันทามติกรุงเทพ" และเสนอว่า นี่เป็นขบวนการทางความคิด ("ภายใต้การนำของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว") ที่ต่อต้านจักรวรรดินิยมอเมริกา (ที่เขาเรียกว่า "ฉันทามติวอชิงตัน") คือยกระดับข้อเสนอนี้ให้เป็นทฤษฎีและขบวนการระดับโลก นับว่าเป็นตัวอย่างของ "ข้าแผ่นดิน" ที่ดีเด่นอีกคนหนึ่ง

อีกไม่กี่ปีต่อมา ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ได้เปิดการรณรงค์ "คัดค้านการย้ายธรรมศาสตร์จากท่าพระจันทร์ไปรังสิต" ในบรรดาประเด็นที่นำเสนอ นอกจากเรื่อง "จิตวิญญาณของธรรมศาสตร์" เหตุการณ์ 14 ตุลา และ 6 ตุลา และป๋วย อึ๊งภากรณ์แล้ว ที่สำคัญคือ สัญญา ธรรมศักดิ์ "คนของแผ่นดิน" และเสนอว่า การที่ผู้บริหารขณะนั้น เปลี่ยนงบประมาณการสร้าง "ศูนย์ประชุมนานาชาติเฉลิมพระเกียรติ" ที่ทีมผู้บริหารของชาญวิทย์-รังสรรค์ตั้งไว้ ไปเป็นการก่อสร้างอาคารสังคมศาสตร์ "เป็นการกระทำที่มิบังควร" (โปรดสังเกตคำที่ใช้ เปรียบเทียบกับประมวล-สนธิ ในขณะนี้) เพราะ "ทำให้ธรรมศาสตร์ของเราขาดโอกาสที่จะร่วมเฉลิมฉลองวาระมหามงคล" (50 ปีขึ้นครองราชย์)

ในระหว่างเวลา 10 ปีจากที่ประเวศ เสนอให้ "คืนพระราชอำนาจ" มาถึงปัจจุบัน นอกจากกรณีอันโดดเด่นของปัญญาชนผู้มีชื่อเสียงเหล่านี้แล้ว ยังมีกรณีที่ไม่เป็นที่รู้จักกันอีกมากของคนระดับที่ไม่เด่นดัง โดยเฉพาะในวงการที่เรียกว่า NGO ซึ่งอ้าง "คำสอนของพ่อ" (ชื่อบทนำเว็ปไซต์ thaingo ครั้งหนึ่ง) มาเสนอๆ เช่น กรณี 2500 ศพ, หรือกรณีของบุคคลที่มีชื่อเสียง แต่เป็นกิจกรรมที่ไม่เป็นที่รับรู้กันแพร่หลาย เช่น แอ๊ด คาราบาว เป็นนายแบบให้กับโป๊สเตอร์โฆษณาหนังสือ "บ้านพ่อ"

บทความบางเรื่องของนิธิที่เสนอเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่ง "แนบแน่น" กับประชาชน เป็นเหมือนเครื่อง "ถ่วงอำนาจ" รัฐบาล, หรือการให้ความชอบธรรมกับมโนภาพที่ใช้กันแพร่หลายในหมู่ "ภาคประชาชน" เรื่อง "พลังแผ่นดิน" ในบทความบางเรื่องของเขา หรือกรณี เมื่อมีการกล่าวหานักข่าวฝรั่งว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แล้วนักข่าวฝรั่งโต้ว่าเป็นการรายงานข่าวอย่างซื่อตรง เสน่ห์ จามริก ในฐานะ "ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน"ให้สัมภาษณ์โต้นักข่าวฝรั่ง (ไม่ใช่โต้รัฐบาลที่ตั้งข้อหา) ว่า "ฝรั่งชอบใช้สิทธิมนุษยชนเป็นข้ออ้าง" ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ

เมื่อมองในแง่นี้ หนังสือและการรณรงค์เรื่อง "พระราชอำนาจ" ของคนอย่างประมวล รุจนเสรี และสนธิ-คำนูญ แห่งเครือผู้จัดการ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร อันที่จริง นับเป็นเรื่องที่ให้ความรู้สึกที่ฝรั่งเรียกว่า deja vu เสียด้วยซ้ำ (โดยเฉพาะการที่ สนธิ-คำนูญ ออกมาเคลื่อนไหว นับว่าเหมือนกับกรณี "คืนพระราชอำนาจ" เพื่อ "ปฏิรูปการเมือง" เมื่อ 10 ปีก่อนอย่างยิ่ง)

นักคิดผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งเคยกล่าวว่า "เหตุการณ์อันสำคัญทางประวัติศาสตร์ทั้งหลาย มักเกิดขึ้นซ้ำ 2 ครั้ง ครั้งแรกในแบบ tragedy ครั้งที่ 2 แบบ farce" เขาลืมกล่าวเสริมว่า เหตุการณ์ครั้งหลังยิ่งอ้างความสำคัญของตนมากเท่าไร ก็ยิ่งมีลักษณะ farcical มากขึ้นเท่านั้น กรณีรณรงค์ "คืนพระราชอำนาจ" เพื่อ "ปฏิรูปการเมือง" ของประเวศกับคณะ อย่างน้อย ยังมีจุดมุ่งหมายที่จะสร้างรัฐธรรมนูญใหม่ แต่กรณีประมวล ซึ่งประกาศความจงรักภักดี ไม่ยอมให้ใครมาล่วงละเมิด "พระราชอำนาจ" อย่างเด็ดขาดนั้น มีจุดมุ่งหมายอันสำคัญเพื่อ..... รักษาตำแหน่งให้กับข้าราชการผู้หนึ่ง! ลักษณะ farcical ที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ ขณะที่ประมวลประกาศอย่างคอขาดบาดตาย วิจารณ์รัฐบาลและพรรคการเมืองที่เขาสังกัดว่ากำลัง "ละเมิดพระราชอำนาจ" ซึ่งเป็นสิ่งที่เขา "ยอมไม่ได้" นั้น จนบัดนี้ เวลาผ่านไปเป็นปีแล้ว เขายังไม่ยอมแม้แต่ลาออกจากพรรค เพื่อแสดงการประท้วงการกระทำอันร้ายแรงที่ยอมไม่ได้นั้น!!

แน่นอนว่า ระดับความปราณีตทางปัญญา (intellectual sophistication) ของประมวล เทียบไม่ได้กับปัญญาชนผู้มีชื่อเสียงทั้งหลายที่กล่าวมาในตอนต้น แต่เพราะเหตุผลนี้ จึงต้องถามในด้านกลับว่า การกระทำของบรรดาปัญญาชนเหล่านั้น จะต่างอะไรกับประมวลบ้าง ทั้งๆที่มีความเหนือกว่าทางปัญญาเช่นนั้น? และ การที่งานซึ่งขาดความปราณีตระดับประมวล สามารถกลายเป็นเรื่องที่ผู้คนถือสาอย่างจริงจังเช่นนี้ (ขนาดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดอภิปราย "ทางวิชาการ" ให้) ไม่เป็นการสะท้อนว่า เพราะพื้นที่ทางปัญญา (intellectual space) ที่ปัญญาชนผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลายสร้างขึ้นในระยะหลายปีที่ผ่านมา มีส่วนเปิดทางให้กับภาวะที่งานแบบประมวล กลายเป็นงาน "สำคัญ" ขึ้นมาได้?

2. deja vu ปัญหา "พระราชอำนาจ" ใน พ.ศ.2499 : กรณีหยุด แสงอุทัย ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
ผู้ที่อ่านบทความของผมใน ฟ้าเดียวกัน ฉบับใหม่ คงเห็นว่า ผมได้ชี้แจงว่า บทความดังกล่าว ("ความเป็นมาของคำว่า 'นาถ' ใน 'พระบรมราชินีนาถ'") เป็นบทความเรื่องแรกในบทความ 3 เรื่องที่กล่าวถึงความสัมพันธ์-ความขัดแย้งระหว่างราชสำนักกับรัฐบาลสมัยครึ่งหลังทศวรรษ 2490 (คือยุค "กึ่งพุทธกาล") บทความเรื่องที่ 2 จะเกี่ยวกับกรณีที่ ดร.หยุด แสงอุทัย ถูกกล่าวหาว่า หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ในปี 2499 ในที่นี้ ผมขอเล่าโดยสรุปถึงเนื้อหาสำคัญของบทความดังกล่าว (ซึ่งผมยังทำไม่เสร็จดี) เนื่องจากมีประเด็นที่ชวนให้คิดเปรียบเทียบกับกรณีวิวาทะ เรื่อง "พระราชอำนาจ" ที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน

หยุด แสงอุทัย เป็นนักกฎหมายที่มีชื่อเสียง ความสามารถ และบทบาทมากที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ หนังสือตำรากฎหมายของเขาหลายเล่มยังถือเป็นมาตรฐานสำหรับนักเรียนนิติศาสตร์ในปัจจุบัน (แม้แต่ตำราอธิบายกฎหมายที่เลิกใช้แล้ว คือ คำอธิบายประมวลกฎหมายอาญา ร.ศ.127 ของเขา ก็เพิ่งได้รับการตีพิมพ์ใหม่ในรูปเล่มหรูหรา เมื่อเร็วๆนี้เอง) ในปี 2499 เขาเป็น "มือกฎหมาย" อันดับหนึ่งของรัฐบาล เพราะมีตำแหน่งเป็นเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา (ในระหว่างที่มีการวิวาทะ ที่กำลังจะเล่าต่อไปนี้ มีผู้เรียกเขาอย่างล้อเลียน โดย "แปล" ชื่อเขาเป็นภาษาอังกฤษตรงๆว่า "ดร. Stop Sunlight" ซึ่งผมคิดว่าเป็น "ฉายา" ที่น่าทึ่งดี แม้ว่าความจริง ชื่อต้นของเขามาจาก "สายหยุด")

วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2499 หยุด แสงอุทัย ได้อ่านบทความออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงของรัฐบาล ชื่อ "อำนาจและความรับผิดชอบในระบอบประชาธิปไตย" ไม่กี่วันต่อมา ส.ส.สังกัดพรรครัฐบาลของจอมพล ป.ในขณะนั้นคนหนึ่ง (พรรคเสรีมนังคศิลา) ได้ยื่นเรื่องถึงตำรวจขอให้สอบสวนดำเนินคดีกับหยุด ในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จากข้อความบางตอนของบทความนั้น หลังจากนั้น บรรดาหนังสือพิมพ์ต่างพากันเขียนโจมตีเขาเป็นการใหญ่ ทั้งในบทนำ และคอลัมภ์ประจำ รวมถึง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ด้วย

จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ ไม่ใช่บทความของหยุด แต่เป็นพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระราชทานออกอากาศทางวิทยุก่อนหน้าบทความของหยุด 2 สัปดาห์ คือในคืนวันที่ 25 มกราคม 2499 เนื่องในโอกาส "วันกองทัพบกไทย" (ชื่อที่เรียกวันนั้นในขณะนั้น) ในพระราชดำรัสดังกล่าว ซึ่งสร้างความ "ฮือฮา" ให้กับวงการเมืองอย่างยิ่ง ในหลวงทรงกล่าวตอนหนึ่งว่า "ทหารจึงต้องปฏิบัติตนให้เหมาะสมกับที่ตนได้รับความไว้วางใจ ไม่ควรไปทำหรือเกี่ยวข้องในกิจการที่ไม่อยู่ในหน้าที่โดยเฉพาะของตน เช่น ไปเล่นการเมือง ดังนี้เป็นต้น" ซึ่งถูกตีความโดยทั่วไปว่า เป็นพระราชวิจารณ์รัฐบาลและกลุ่มปกครอง ("คณะรัฐประหาร" หรือ ร.ป.) ในขณะนั้นโดยตรง

ในทัศนะของผม พระราชดำรัสวันที่ 25 มกราคม 2499 มีความสำคัญอย่างยิ่งทางประวัติศาสตร์ คือเป็นครั้งแรกหลัง 2475 ที่พระมหากษัตริย์ทรงแสดงความเห็นทางการเมือง-สังคมของพระองค์เองต่อสาธารณะโดยตรง (ผมไม่นับกรณีการถกเถียงกับรัฐบาลของรัชกาลที่ 7 ก่อนสละราชย์ เพราะทรงเขียน หรือมีพระราชดำรัสถึงรัฐบาล มากกว่าสาธารณะ การตีพิมพ์เผยแพร่ใน "แถลงการณ์สละราชย์" เป็นเรื่องภายหลัง)

ผมต้องทำความเข้าใจ ประเด็นสำคัญหนึ่งในที่นี้ว่า หลัง 2475 เป็นที่ยอมรับร่วมกัน ทั้งฝ่ายรัฐบาลและรัชกาลที่ 7 และต่อมาคือผู้สำเร็จราชการพระองค์, ในหลวงอานันท์ และในหลวงปัจจุบัน ว่า พระมหากษัตริย์ไม่สามารถมีพระราชดำรัส, พระราชหัตถเลขา, หรือพระบรมราชโองการต่อสาธารณะได้ โดยไม่ผ่านการเห็นชอบของรัฐบาลก่อน นี่เป็นหลักการของการปกครองระบอบ "รัฐธรรมนูญ" หรือ "ประชาธิปไตย" ที่ปฏิบัติกันทั่วไปทางสากล เหตุผลในเรื่องนี้คือสิ่งที่ หยุด แสงอุทัย จะอธิบายในบทความที่กล่าวถึง และผมจะสรุปต่อไป สมัยหนึ่งถึงกับมีการถกเถียงในหมู่รัฐบาลว่า พระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์ที่มีถึงราชวงศ์ต่างประเทศเป็นต้น ต้องผ่านการเห็นชอบจากรัฐบาลหรือไม่

ในทางปฏิบัติ รัชกาลที่ 7, คณะผู้สำเร็จฯ, ในหลวงอานันท์ ถึงในหลวงปัจจุบัน ได้ปฏิบัติตาม "ประเพณี" การปกครองระบอบรัฐธรรมนูญนี้มาโดยตลอด จนถึงจุดที่กำลังกล่าวถึง (คำว่า "ประเพณี" นี้ ในหลวงปัจจุบันทรงเรียกการปฏิบัตินี้เอง ดังจะได้เล่าต่อไป) ที่น่าสนใจ คือ แม้แต่พระราชดำรัสวันที่ 25 มกราคม 2499 เอง ก็มีการนำเข้าสู่ที่ประชุม ครม. ก่อนการออกอากาศ แต่ผมเข้าใจว่า (หลักฐานเรื่องนี้ไม่เด็ดขาด ผมจะอธิบายในบทความจริง)

เนื่องจากร่างพระราชดำรัสถูกนำเสนออย่างกระชั้นชิดมาก คือก่อนเวลาออกอากาศไม่กี่ชั่วโมง (ปกติต้องนำเสนอล่วงหน้าหลายวัน) รัฐบาลเองจึงยอมให้ออกอากาศไป เพราะถ้าห้ามการออกอากาศ หมายกำหนดการจะเสียไป อีกเหตุผลหนึ่ง (ผมกำลังคาดการณ์) คือรัฐบาลอาจจะไม่ต้องการจะขัดแย้งกับในหลวงโดยตรง "ประเพณี" ที่กำลังพูดถึงนี้ อันที่จริงอยู่ได้ในลักษณะที่ "เป็นที่เข้าใจกันโดยปริยาย" ว่า ร่างพระราชดำรัสที่ฝ่ายราชสำนักเตรียม จะไม่มีลักษณะการเมือง ไม่เคยมีกรณีแบบนี้มาก่อน (ความจริงที่ว่า นี่เป็นพระราชดำรัสที่ได้รับการกราบบังคมทูลจาก และทรงพระราชทานต่อ กองทัพบกซึ่งขณะนั้นอยู่ภายใต้การนำของสฤษดิ์ ก็อาจจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลตัดสินใจไม่ยับยั้งการออกอากาศ)

ดังที่กล่าวข้างต้น พระราชดำรัสวันกองทัพบก เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในวงการเมืองอย่างมากเป็นเวลาหลายวัน แต่ก็ดูเหมือนจะเงียบหายไป (รัฐบาลได้พยายามมีมาตรการภายในที่จะป้องกันไม่ให้เกิดกรณีเช่นนี้อีก ซึ่งผมจะอธิบายในบทความ) แต่แล้วในคืนวันที่ 7 กุมภาพันธ์ หยุด แสงอุทัย ได้อ่านบทความของเขาออกอากาศ (เขาอธิบายภายหลังว่า เดิมเขามีหมายกำหนดการจะออกอากาศในปลายเดือน แต่เนื่องจากผู้ที่ถูกกำหนดให้พูดเดิมป่วย จึงเลื่อนของเขาขึ้นมา)

หัวใจสำคัญของบทความ "อำนาจและความรับผิดชอบในระบอบประชาธิปไตย" ของหยุด แสงอุทัย อาจสรุปได้ ดังนี้ …

ในระบอบประชาธิปไตย ถือว่า อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน ดังนั้น ผู้ที่ใช้อำนาจแทนประชาชน ไม่ว่าใครก็ตาม จึงต้องมีความรับผิดชอบต่อประชาชนควบคู่กันไปด้วย คือ ต้องสามารถถูกควบคุมจากประชาชนได้ ถูกตรวจสอบ และวิพากษ์วิจารณ์ว่าผิดได้ จนถึงถูกให้ออกจากตำแหน่งได้ (คำว่า "ความรับผิดชอบ" ในที่นี้ หยุด ไม่ได้เปรียบเทียบกับภาษาอังกฤษ แต่เขาหมายถึง accountability แน่นอน ซึ่งอาจจะเรียกบทความของเขาให้ตรงยิ่งขึ้นได้ว่า "อำนาจและการถูกตรวจสอบ/เอาผิดได้" หรือ power and accountability)

หลังจากนั้น เขาได้ยกตัวอย่างการที่ผู้มีอำนาจในระบอบประชาธิปไตย ถูกทำให้ต้องรับผิดชอบได้ (accountable) ในกรณีต่างๆ ตั้งแต่ คณะรัฐมนตรี, ส.ส. นักการเมือง พรรคการเมือง จนถึงรัฐสภา

เมื่อถึงกรณีพระมหากษัตริย์ เขาเสนอว่า เนื่องจากเราไม่ต้องการให้มีการเอาผิด วิพากษ์วิจารณ์ (คือ accountability) กับพระมหากษัตริย์ ดังนั้น พระมหากษัตริย์จึงควรต้องอยู่ในฐานะที่ไม่สามารถทำอะไรด้วยพระองค์เองได้ คือ ไม่มีอำนาจ นั่นเอง

(ตามข้อเสนอนี้ การที่พระมหากษัตริย์ต้องทรงมี "ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ" ก็เพราะ จะทรงทำอะไรด้วยพระองค์เองไม่ได้ ต้องทรงทำตามที่ "ผู้รับสนอง" เสนอ และให้การเห็นชอบด้วยเท่านั้น เพราะพระมหากษัตริย์ไม่สามารถจะถูกเอาผิดได้ แต่ประชาชนเอาผิดกับผู้รับสนองได้ ดังนั้น ผู้รับสนองจึงต้องเป็นผู้มีอำนาจแท้จริงในการตัดสินใจ (อำนาจมาพร้อมกับการถูกเอาผิดได้ หรือพูดในทางกลับกัน การถูกเอาผิดได้ของผู้รับสนอง ก็มาพร้อมกับอำนาจ นี่เป็นความเข้าใจต่อการมี "ผู้รับสนอง" ที่ไม่ตรงกับปัจจุบันซึ่งประมวลพูดถึง)

ต้องเข้าใจว่า การที่หยุด เสนอเช่นนี้ มาจากหลักการแรกสุดที่กล่าวในตอนต้น คือ ในระบอบประชาธิปไตย "อำนาจ" ต้องมาพร้อมกับ "ความรับผิดชอบ" หรือ "การถูกตรวจสอบ/เอาผิดได้" ไม่ว่ากรณีใดๆ ดังนั้น ถ้าไม่ต้องการให้มีการตรวจสอบ/เอาผิดได้กับพระมหากษัตริย์ ก็ต้องไม่ทรงมีอำนาจของพระองค์เอง

ในระบอบประชาธิปไตย ทุกคนที่มีอำนาจ ต้องถูกตรวจสอบ/เอาผิดได้ ถ้าถูกตรวจสอบ/เอาผิดไม่ได้ ต้องไม่มีอำนาจ

ข้อความสำคัญที่สุดที่หยุดอธิบายเรื่องนี้ คือข้อความต่อไปนี้

"ในขณะนี้ปรากฏว่าได้มีการวิพาษ์วิจารณ์การกระทำของพระมหากษัตริย์ในที่ชุมนุมสาธารณะหรือในทางหนังสือพิมพ์อยู่บ้าง ซึ่งไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะตามรัฐธรรมนูญนั้น องค์พระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ฉะนั้นในทางรัฐธรรมนูญพระมหากษัตริย์จึงทรงกระทำผิดมิได้ (The King Can Do No Wrong) (และพระมหากษัตริย์จะทรงกระทำผิดมิได้ก็ต่อเมื่อพระองค์มิได้ทรงกระทำอะไรโดยพระองค์เอง-สมศักดิ์) แต่ทรงกระทำตามคำแนะนำของรัฐมนตรีหรือประธานสภาผู้แทนราษฎรซึ่งจะเป็นผู้รับผิดชอบแทนพระองค์"

"องค์พระมหากษัตริย์ไม่พึงตรัสสิ่งใดอันเป็นปัญหาหรือเรื่องราวที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจการเมืองหรือทางสังคมของประเทศโดยไม่มีรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ" (คือโดยไม่ได้รับความยินยอมจากรัฐบาลก่อนนั่นเอง - สมศักดิ์)

ผมจะไม่เล่ารายละเอียดของพายุทางการเมืองที่เกิดจากบทความของหยุด ในที่นี้ เพียงแต่ขอสรุปว่า ในที่สุดทางตำรวจได้ยืนยันว่า สิ่งที่หยุดพูด ไม่ผิดกฎหมาย จอมพล ป.เองก็ออกมาให้สัมภาษณ์ปกป้องหยุดว่า "หรือพวกคุณต้องการให้องค์พระมหากษัตริย์ทรงทำทุกอย่างได้โดยไม่ต้องมีผู้รับสนอง"

แน่นอนว่า ฝ่ายปรปักษ์ทางการเมืองของจอมพล ป.ย่อมไม่เห็นด้วย ที่น่าสนใจมากในความเห็นของผม คือการวิจารณ์ของคึกฤทธิ์ ปราโมช (สยามรัฐ 12 กุมภาพันธ์ 2499) คึกฤทธิ์ ไม่ได้ปฏิเสธอย่างแท้จริงว่า สิ่งที่หยุดเสนอไม่ถูกหลักประชาธิปไตย แต่ strategy ของเขา คือ ปฏิเสธว่าระบอบที่เป็นอยู่ไม่ใช่ประชาธิปไตย "ประชาธิปไตยที่ไหนบ้างที่นายกรัฐมนตรีเป็นทหารประจำการ? ประชาธิปไตยที่ไหนบ้างที่ผู้บัญชาการทหารทุกกองทัพมาเป็นรัฐมนตรีอยู่ในคณะ?.....ฯลฯ" (คึกฤทธิ์ยังเสนอเหมือนกับที่ตอนนี้กำลังพูดกันคือ ในหลวงทรงเป็น "จอมทัพ" จึงมีสิทธิ์ที่จะมีพระบรมราโชวาทต่อกองทัพบกโดยตรง ไม่ต้องมีผู้รับสนองหรือได้รับการยินยอมจากรัฐบาลก่อน)

ผมขอจบการเล่าเรื่องนี้เพียงนี้ แต่ขอ "ปิดท้าย" ด้วย พระราชดำรัสอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งในทัศนะของผม มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อย่างยิ่งเช่นกัน กล่าวคือหลังเหตุการณ์ปี 2499 แล้วประมาณ 4 ปี (นี่คือสมัยสฤษดิ์) ทรงมีพระราชดำรัสครั้งหนึ่ง โดยที่ไม่ได้ทรงมีร่างพระราชดำรัสล่วงหน้า เพื่อให้รัฐบาลเห็นชอบก่อน (พูดแบบชาวบ้านคือ ทรงพระราชทานแบบ "สด") ทรงกล่าวถึงเรื่องนี้ ดังนี้

"วันนี้ขอยกตัวอย่างประเพณีที่ดีและไม่ดี ตามประเพณีการปกครองประเทศ โอวาทของพระมหากษัตริย์หรือพระราชดำรัส ต้องเขียนเพื่อให้รัฐมนตรีรับสนอง แต่เดี๋ยวนี้ก็กำลังพูดไม่ใช่อ่าน เพราะว่าได้ทำตามประเพณีอันหนึ่งของคนไทย [ที่] ไม่สู้ดี คือ ทำเกินประเพณีฝรั่ง โอวาทนี้เพิ่งเตรียมเมื่อบ่าย 2 โมงนี้เท่านั้นเอง ควรจะเตรียมมานานแล้ว แต่เห็นว่าไม่จำเป็น อาจจะไม่รู้เรื่องเท่าไรนัก นี่เป็นตัวอย่างประเพณีที่ไม่ดีที่เราไม่ควรจะทำตาม"

นี่เป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งใหม่หลัง 2475 ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นสิ่งที่เราคุ้นเคยกัน คือการที่พระมหากษัตริย์ทรงสามารถ (มี "พระราชอำนาจ") ที่จะทรงมีพระราชดำรัสได้ตามพระราชหฤทัยของพระองค์ โดยไม่ต้องรอการเห็นชอบจากรัฐบาลก่อน ความสำคัญอันใหญ่หลวงของเรื่องนี้ คงไม่จำเป็นต้องอธิบาย (ขอเพียงแต่นึกถึงพระราชดำรัส 4 ธันวาคมของทุกปี) ที่น่าสังเกตคือ เมื่อทรงมีพระราชดำรัสนี้ ยังทรงกล่าวถึงวิธีปฏิบัติตั้งแต่หลัง 2475 มาจนถึงจุดนั้นว่า เป็น "ประเพณีการปกครองประเทศ" ซึ่งการที่ทรง "ทำเกิน" ในครั้งนั้น เป็นการ "ไม่สู้ดี" แต่หลังจากนั้นไม่นาน การพระราชทานพระราชดำรัสในลักษณะนี้ ก็ได้กลายเป็นองค์ประกอบสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับสังคมไทยไป
(ผมจะวิเคราะห์เรื่องนี้โดยละเอียดในบทความใหม่อีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งยังไม่ได้ตั้งชื่ออย่างเป็นทางการ แต่มีชื่อแบบไม่เป็นทางการทำนอง "พระราชดำรัสพระราชทาน 'สด' ก่อน 14 ตุลา")

 

 

 

บทความวิชาการฟรีที่ผ่านมา ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 650 เรื่อง หนากว่า 8500 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

คำโปรย คัดลอกมาจากบทความ เพื่อให้มองเห็นเนื้อความที่น่าสนใจบางส่วน

นักคิดผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งเคยกล่าวว่า "เหตุการณ์อันสำคัญทางประวัติศาสตร์ทั้งหลาย มักเกิดขึ้นซ้ำ 2 ครั้ง ครั้งแรกในแบบ tragedy (โศกนาฏกรรม) ครั้งที่ 2 แบบ farce"(ตลก ไร้สาระ)เขาลืมกล่าวเสริมว่า เหตุการณ์ครั้งหลังยิ่งอ้างความสำคัญของตนมากเท่าไร ก็ยิ่งมีลักษณะ farcical มากขึ้นเท่านั้น
กรณีรณรงค์ "คืนพระราชอำนาจ" เพื่อ "ปฏิรูปการเมือง" ของประเวศกับคณะ อย่างน้อย ยังมีจุดมุ่งหมายที่จะสร้างรัฐธรรมนูญใหม่ แต่กรณีประมวล ซึ่งประกาศความจงรักภักดี ไม่ยอมให้ใครมาล่วงละเมิด "พระราชอำนาจ" อย่างเด็ดขาดนั้น มีจุดมุ่งหมายอันสำคัญเพื่อ..... รักษาตำแหน่งให้กับข้าราชการผู้หนึ่ง! ลักษณะ farcical ที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ ขณะที่ประมวลประกาศอย่างคอขาดบาดตาย วิจารณ์รัฐบาลและพรรคการเมืองที่เขาสังกัดว่ากำลัง "ละเมิดพระราชอำนาจ" ซึ่งเป็นสิ่งที่เขา "ยอมไม่ได้" นั้น จนบัดนี้ เวลาผ่านไปเป็นปีแล้ว เขายังไม่ยอมแม้แต่ลาออกจากพรรค
เพื่อแสดงการประท้วงการกระทำอันร้ายแรงที่ยอมไม่ได้นั้น!!
(ดร. สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล - มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)

H
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี