นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
R
related topic
220948
release date

คลิกไปหน้าสารบัญ(1)
คลิกไปหน้าสารบัญ
(2)
คลิกไปหน้าสารบัญ(3)
คลิกไปหน้าสารบัญ(4)
เพื่อดูบทความใหม่สุด

เว็ปไซต์เผยแพร่ความรู้
เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลด text size ของ font ลง
จะช่วยแก้ปัญหาได้
ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๒๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๘ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
เว็ปไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
สำหรับผู้สนใจส่งบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน กรุณาส่งผลงานของท่านมายัง midarticle(at)yahoo.com หรือ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com
The author of this work hereby waives all claim of copyright (economic and moral) in this work and immediately places it in the public domain... [copyleft] กรุณานำบทความไปใช้ต่อโดยอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร

The Midnight University

จดหมายเปิดผนึกถึง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี
ข้อเสนอการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย-สหรัฐฯรอบที่ ๕
นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ
ประธานคณะกรรมาธิการต่างประเทศ วุฒิสภา


บทความชิ้นนี้ทางกองบรรณาธิการได้รับมาผ่าน email มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ทางกอง บก.มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเห็นว่ามีสาระที่น่าจับตามอง จึงนำมาเผยแพร่บนเว็ปเพจแห่งนี้

(บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา)
บทความฟรี มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 675
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๔๘

(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 6.5 หน้ากระดาษ A4)

 

เรื่อง ข้อเสนอต่อการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย-สหรัฐฯ รอบที่ 5
เรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี / หัวหน้าคณะเจรจา FTA ไทย-สหรัฐฯ

ตามที่รัฐบาลไทยและรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ได้กำหนดให้มีการเจรจาจัดทำเขตการค้าเสรี (Free Trade Area) ระหว่างไทย -สหรัฐอเมริกา ตั้งแต่เมื่อเดือนตุลาคม 2546 โดยมีการเจรจามาเป็นลำดับ และจะมีการเจรจาในรอบที่ 5 ขึ้น ในระหว่างวันที่ 26-30 กันยายน 2548 ณ มลรัฐฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกานั้น

คณะกรรมาธิการต่างประเทศได้ติดตามศึกษานโยบายเรื่องการเจรจาเขตการค้าเสรีของรัฐบาลมาโดยตลอด มีการศึกษาเก็บข้อมูลในพื้นที่ จัดประชุมสัมมนาทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค เพื่อรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อประเทศไทย ในครั้งล่าสุดเมื่อเดือนสิงหาคม 2548 ได้มีการเดินทางไปยังประเทศเม็กซิโก เพื่อศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) ซึ่งใช้บังคับมากว่า 11 ปี

สำหรับการเจรจา FTA ไทย-สหรัฐ ในรอบที่ 5 นี้ ทางคณะกรรมาธิการต่างประเทศ วุฒิสภา ใคร่ขอเสนอจุดยืนและท่าทีการเจรจาของฝ่ายไทย เพื่อให้การเจรจา FTA เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติโดยรวมอย่างเต็มที่ โดยมีรายละเอียดในตามหัวข้อการเจรจาที่สำคัญๆดังนี้

1. เรื่องทรัพย์สินทางปัญญาและสาธารณสุข
จุดยืนของไทย : ไทยควรยึดถือการปฏิบัติตามความตกลง TRIPs และ และปฎิญญาโดฮาว่าด้วยการสาธารณสุข โดยไม่ให้มีการกำหนดมาตรฐานการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่สูงไปกว่าความตกลงดังกล่าว เนื่องจากจะกระทบการเข้าถึงยา และการรักษาสุขภาพของประชาชนอันเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน

ข้อเสนอต่อการเจรจา
- ให้นำเรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่จะกระทบต่อเรื่องยาออกจากการเจรจา FTA เนื่องจากไทยได้ปฏิบัติตามความตกลง TRIPs อยู่แล้ว นอกจากนี้ รัฐบาลไทยได้แถลงจุดยืนในเรื่องนี้ไปแล้ว ผ่านทางคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (ตามหนังสือชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมของรัฐบาลไทยต่อ UN) ดังนั้น จึงไม่ควรมีการเจรจาในเรื่องนี้ต่อไปอีก

- ถ้าไม่สามารถนำเรื่องนี้ออกจากการเจรจาได้ ประเทศไทยควรมีข้อเจรจาดังนี้

ปฏิเสธไม่ให้มีการขยายอายุสิทธิบัตรเพื่อชดเชยความล่าช้าของกระบวนการจดสิทธิบัตร เนื่องจากมีการศึกษา(1) พบว่าความล่าช้าของกระบวนการจดสิทธิบัตรยา เกิดเนื่องจากผู้ขอรับสิทธิบัตรไม่ยื่นข้อมูลให้พิจารณาคำขอ ซึ่งตาม พ.ร.บ. สิทธิบัตร มาตรา 29 ให้เวลา 5 ปี จากการศึกษาพบว่า คำขอรับสิทธิบัตรใน IPC A61K ที่เกี่ยวกับยา ใช้เวลาในช่วงนี้ ประมาณ 5 ปี ส่งผลให้เวลารวมเฉลี่ยของการออกสิทธิบัตร 7 - 9 ปี ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลที่ทางสหรัฐจะมาเรียกร้องให้ขยายอายุการคุ้มครองสิทธิบัตร โดยอ้างเหตุความล่าช้าในกระบวนการจดสิทธิบัตร

ปฏิเสธข้อเรียกร้องของสหรัฐเรื่องสิทธิผูกขาดข้อมูลผลการทดสอบความปลอดภัยยา และข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง (Data exclusivity) เนื่องจากการผูกขาดตลาดจากข้อมูลนี้จะไม่ใช้กับยาที่มีการคุ้มครองสิทธิบัตรอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ในกรณีประเทศไทยมีระบบสิทธิบัตรที่เข้มงวดและประสิทธิภาพ นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขโดยองค์การอาหารและยา (อ.ย.) ได้ดำเนินการคุ้มครองความลับ (Data Protection) ของยาตามพระราชบัญญัติความลับทางการค้า ในขั้นตอนขึ้นทะเบียนตำรับยาอย่างถูกต้อง และเป็นไปตามความตกลง TRIPs อยู่แล้ว

ปฏิเสธข้อเรียกร้องที่จะเป็นการจำกัดสิทธิของประเทศไทยที่มีอยู่ในความตกลง TRIPs เพื่อการดูแลคุ้มครองรักษาประชาชนไทย เช่น การใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ (Compulsory Licensing) การนำเข้าซ้อน (Parallel Import) เป็นต้น

ทั้งนี้ หากตลาดยาถูกผูกขาดโดยการเพิ่มอายุสิทธิบัตรและผูกขาดข้อมูลตามข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบด้านราคา ทำให้ยาแต่ละชนิดมีราคาแพงขึ้น 0.1 - 1.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี (ประมาณ 4 - 44 ล้านบาท) ซึ่งภายในระยะเวลา 10 ปีของการผูกขาด ยาแต่ละตัวจะแพงขึ้น 13.9 - 90.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 556 - 3,608 ล้านบาท) จากประมาณการยาขึ้นทะเบียนใหม่เฉลี่ยปีละ 60 ชนิด จะทำให้รายจ่ายของประเทศต้องเพิ่มขึ้น 6.4 - 65.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อหนึ่งปี (ประมาณ 256-2,636 ล้านบาท) ของการผูกขาดทางการตลาด และหากบริษัทยาสามารถผูกขาดยาได้ถึง 10 ปี ค่าใช้จ่ายด้านยาจะสูงถึง 836.7 - 5,411.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ(ประมาณ 33,468 - 216,456 ล้านบาท)(2)

2. เรื่องทรัพย์สินทางปัญญาและพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์
จุดยืนของไทย : ไทยควรยึดถือการปฏิบัติตามความตกลง TRIPs ที่ให้สิทธิประเทศไทยในการเลือกใช้การคุ้มครองพันธุ์พืชตามระบบกฎหมายเฉพาะ (sui generic system) ที่มีความเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม และขีดความสามารถในการพัฒนาทางเทคโนโลยีของไทย

เป้าหมายของไทยในการเจรจาประเด็นนี้ คือ การปรับปรุงแก้ไขระบบการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาให้มีความเป็นธรรม คุ้มครองสิทธิของเกษตรกรและประเทศไทยในฐานะที่เป็นแหล่งกำเนิดทรัพยากรชีวภาพ

ข้อเสนอต่อการเจรจา
- ไม่รับข้อเรียกร้องของสหรัฐในเรื่องการใช้ระบบสิทธิบัตรพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ และการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV) โดยยืนยันถึงสิทธิของประเทศไทยที่จะใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 ซึ่งเป็นกฎหมายที่อนุวัตรตามความตกลง TRIPs ในการคุ้มครองพันธุ์พืช

กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชของไทย ให้การคุ้มครองสิทธิของนักปรับปรุงพันธุ์พืชอย่างเพียงพอและเป็นธรรม ส่งเสริมการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์พืชใหม่ ในขณะเดียวกัน เป็นกฎหมายที่ให้การคุ้มครองสิทธิเกษตรกร ป้องกันปัญหาการนำพันธุ์พืชป่าและพันธุ์พืชพื้นเมืองไปใช้ประโยชน์โดยไม่ชอบธรรม ซึ่งในกฎหมายสิทธิบัตรหรืออนุสัญญา UPOV ไม่ได้ให้การคุ้มครองป้องกันไว้

- ประเทศไทยควรเรียกร้องให้นำหลักการและเงื่อนไขต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการกำกับดูแล การเข้าถึง การแบ่งปันผลประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรชีวภาพอย่างเป็นธรรม มาบรรจุไว้ในข้อตกลง FTA เช่น การกำหนดให้เปิดเผยแหล่งที่มา (disclosure of origin) ของทรัพยากรชีวภาพที่ใช้ในการปรับปรุงพันธุ์ การขอความยินยอมล่วงหน้าก่อนเข้าถึง (prior informed consent) เป็นต้น

3. เรื่องสิ่งแวดล้อม
จุดยืนของไทย : ให้ประเทศไทยสามารถกำหนดมาตรการที่กำกับดูแลป้องกันไม่ให้การค้าเสรีทำลายสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ และไม่มีเงื่อนไขที่เป็นการลดทอนอำนาจอธิปไตยของไทย

ข้อเสนอต่อการเจรจา
- ไม่ให้ข้อกำหนดในบทอื่นๆ ด้านการค้าเสรี เกิดความขัดแย้งหรือมีผลหักล้างหลักการที่ดี เพื่อการคุ้มครองดูแลสิ่งแวดล้อมในบทว่าด้วยสิ่งแวดล้อม (Environment Chapter)
เนื่องจากข้อกำหนดในบทอื่นๆ ของ FTA โดยเฉพาะในบทเรื่องการคุ้มครองการลงทุน (Investment Chapter) มีข้อกำหนดเงื่อนไขหลายประการ เพื่อคุ้มครองสิทธินักลงทุนจากสหรัฐไว้สูงมาก ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น รวมทั้งปัญหาข้อพิพาทระหว่างการลงทุนกับเรื่องสิ่งแวดล้อม ดังเช่นกรณีข้อพิพาทที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ระหว่างนักลงทุนสหรัฐกับรัฐบาลเม็กซิโก ภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA)

ดังนั้น จะต้องระบุในเชิงหลักการให้ข้อกำหนดในบทสิ่งแวดล้อมมีผลเหนือกว่า (prevail) ข้อกำหนดในบทอื่นๆ และจะต้องพยายามกำหนดรายละเอียด มาตรฐานขั้นต่ำของการดูแลจัดการสิ่งแวดล้อมไว้ในข้อตกลง FTA เพื่อป้องกันปัญหาข้อพิพาท หรือปัญหาการตีความในการนำกฎหมาย มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมมาใช้กำกับดูแลด้านการค้าและการลงทุน โดยเฉพาะกับนักลงทุน/ผู้ประกอบการของสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในอนาคต และเป็นปัญหายุ่งยากและซับซ้อนต่อการบังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมของไทยอย่างมีประสิทธิภาพ

- ไม่ควรให้มีข้อกำหนดใดๆ ในความตกลง FTA ที่ลดทอนอำนาจอธิปไตย (Sovereignty) ของประเทศไทย หรือเปิดโอกาสให้สหรัฐฯ สามารถแทรกแซงกระบวนการกำหนดหรือการใช้บังคับกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมของไทย เนื่องจากการกำหนดกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมและการใช้บังคับกฎหมายนั้นเป็นอำนาจอธิปไตยของแต่ละประเทศ ดังนั้น ไทยจะต้องปฏิเสธข้อเรียกร้องของสหรัฐที่บังคับให้ประเทศไทย บังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งนอกจากจะเกิดผลกระทบต่ออำนาจอธิปไตยแล้ว ยังจะกลายเป็นเครื่องมือกีดกันสินค้าจากประเทศไทยได้โดยอ้างเหตุผลด้านสิ่งแวดล้อม ถ้าไทยไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพตามเงื่อนไขใน FTA

- เนื่องจากประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกในความตกลงพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อม (Multilateral Environmental Agreements : MEAs) หลายฉบับ จึงมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดใน MEAs นั้นๆ เช่น อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ, พิธีสารเกียวโต, อนุสัญญาบาเซล ฯลฯ ดังนั้น จะต้องมีการระบุให้ชัดเจนว่า ข้อกำหนดต่างๆ ในความตกลง FTA จะต้องไม่มีผลต่อการจำกัดสิทธิของประเทศไทย หรือมีผลต่อการขัดขวาง สร้างอุปสรรคให้กับประเทศไทยในการปฏิบัติตามพันธกรณีของ MEAs ที่ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกอยู่ หรือจะเป็นภาคีสมาชิกในอนาคต

- ให้สหรัฐสนับสนุน ส่งเสริมให้ประเทศไทยสามารถบังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่สร้างอุปสรรค หรือข้อจำกัดต่อการดำเนินงานของไทย เช่น ในการเจรจาเรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งสหรัฐต้องการเพิ่มระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาให้สูงขึ้น ฝ่ายไทยต้องเรียกร้องให้สหรัฐยกเว้นการบังคับคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ในส่วนเทคโนโลยีที่เป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อม (Clean/ Green Technology) ให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าวต่อไทย ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยสามารถดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมได้ดียิ่งขึ้น

4. เรื่องการลงทุน
จุดยืนของไทย : การรักษาสงวนอำนาจอธิปไตยของประเทศไทยในการกำกับ ควบคุม และกำหนดนโยบายการลงทุน และนโยบายอื่นๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อการลงทุนจากต่างชาติได้อย่างเป็นอิสระ

ข้อเสนอต่อการเจรจา
- ปฏิเสธข้อเรียกร้องใดๆ ที่ให้มีการเปิดเสรีการลงทุนในทุกสาขา การเปิดเสรีตามหลักการไม่เลือกปฏิบัติต้องเป็นไปตามความพร้อมของประเทศคู่สัญญา ไทยควรเสนอให้เปิดเสรีแบบ "Progressive liberalization" ตามแบบข้อตกลงแกตส์ขององค์การการค้าโลก โดยให้แสดงความจำนงเปิดเสรีเป็นรายสาขาไปตามความพร้อมของประเทศ

- ไม่ยอมรับข้อเสนอของสหรัฐที่ให้รวมการลงทุนระยะสั้นประเภทต่างๆ (Portfolio investments) ประเทศไทยควรยึดถือว่า "การลงทุน" หมายถึงการลงทุนระยะยาวแบบการลงทุนโดยตรงเท่านั้น

- ปฏิเสธไม่รับข้อเรียกร้องของสหรัฐในเรื่อง "Investor-to-State Dispute Settlement" เนื่องจากจะเป็นการลดอำนาจอธิปไตยไปผูกพันตามความยินยอม (Consent) ที่อาจให้ไว้ล่วงหน้าหรือเมื่อเกิดข้อพิพาทแล้ว แม้จะกล่าวอ้างว่าเป็นการใช้อำนาจอธิปไตยในการเลือกที่จะไปผูกพันก็ตาม แต่ผลก็คือการลดสถานะของรัฐไปผูกพันกับเอกชน จากระดับมหาชนไปสู่ระดับเอกชน การระงับข้อพิพาทการลงทุนจะต้องกระทำระหว่าง "รัฐต่อรัฐ" (State-to-State) เท่านั้น

- บัญญัติข้อตกลงในลักษณะ Carve-out หรือ ให้บทบัญญัติด้านสิ่งแวดล้อมตลอดจนมิติทางสังคมอื่นๆ เช่น การอนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรม การรักษาความมั่นคงทางอาหาร ฯลฯ เป็นบทบัญญัติที่มีผลเหนือ (Prevail) ข้อบทด้านการลงทุน เพื่อเป็นการคุ้มครองอำนาจอธิปไตยของรัฐในการกำหนดนโยบายสาธารณะ และเพื่อป้องกันปัญหาข้อพิพาทในอนาคต

- กำหนดมาตรฐานขั้นต่ำในการดูแลจัดการสิ่งแวดล้อม การรับผิดชอบต่อสังคมของนักลงทุน (TNCs Responsibility Approach) ไว้ในข้อตกลง FTA ซึ่งถือเป็นข้อผูกพัน (Obligation) ที่ไม่อาจจะหยิบยกขึ้นมาเป็นข้อพิพาทได้ เพราะเป็นหน้าที่ภายใต้ความผูกพันของสนธิสัญญา และหลีกเลี่ยงปัญหาการตีความ

5. เรื่องกระบวนการเจรจา FTA
จุดยืนของไทย : ให้กระบวนการเจรจา FTA มีความโปร่งใส สอดคล้องกับหลักการ บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ
ข้อเสนอต่อการเจรจา
- ให้ไทยยกเลิกข้อสัญญาการรักษาความลับในการเจรจา เพราะเป็นประเพณีปฏิบัติที่ไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน ขัดกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญของไทย รวมทั้งกฎหมาย Trade Promotion Authority ของสหรัฐ ในประเด็นเรื่องความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมของประชาชน นอกจากนี้ ยังไม่เป็นผลดีต่อคณะเจรจาฝ่ายไทย ทั้งในแง่สร้างข้อจำกัดต่อการปรึกษาหารือกับผู้เชี่ยวชาญ หรือกับภาคประชาชน และสร้างความระแวงสงสัยต่อการเจรจา

- ให้รัฐสภาของไทยและประชาชนมีบทบาท มีส่วนร่วมต่อการเจรจา ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการเพิ่มอำนาจต่อรองของคณะเจรจาฝ่ายไทย สร้างความโปร่งใส ลดความระแวงสงสัยต่อเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน และเป็นการปฏิบัติที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ 22222222

ง ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 224 อย่างเคร่งครัด(3) โดยการเสนอเรื่องการลงนาม FTA ให้รัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบ ทั้งนี้ ตามเงื่อนไขในมาตรา 224 นั้น นอกจากจะเป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงกฎหมายของไทยแล้ว ยังมีเงื่อนไขเรื่องการเปลี่ยนแปลง "เขตอำนาจแห่งรัฐ" อีกด้วย

การหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญนั้น จะทำให้เกิดผลกระทบและความเสียหายอย่างมากในภายหลัง อาจทำให้ข้อตกลง FTA มีผลเป็นโมฆะเนื่องจากรัฐบาลลงนามผูกพันโดยขัดกับข้อบัญญัติในรัฐธรรมนูญ

คณะกรรมาธิการต่างประเทศ วุฒิสภา หวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อเสนอทั้งหมดของคณะกรรมาธิการฯ จะเป็นประโยชน์ต่อการเจรจาของประเทศไทย และขอได้โปรดแจ้งผลการเจรจา FTA ไทย-สหรัฐ ในรอบที่ 5 ให้ทางคณะกรรมาธิการฯ ได้ทราบในโอกาสแรก จักขอบคุณยิ่ง

ขอแสดงความนับถือ

( นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ )
ประธานคณะกรรมาธิการต่างประเทศ วุฒิสภา

 

เชิงอรรถ
(1) Jiraporn Limpananont, Wanna Sriwiriyanuphap, "Patent Stutus Of New Drugs In Thailand", FAPA 2004 ABSTRACTS "Asian Congress of Pharmaceutical Science and Practice" 20th CONGRESS of FAPA, November 30 - December3, 2004

(2) ภญ.ชุติมา อครีพันธ์ และคณะฯ, การคาดการณ์ผลกระทบในประเด็นการขยายความคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่มีต่อราคาและการเข้าถึงเวชภัณฑ์, 2548

(3) รัฐธรรมนูญ มาตรา 224. พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งอำนาจในการทำหนังสือสัญญาสันติภาพ สัญญาสงบศึก และสัญญาอื่นๆ กับนานาประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ
หนังสือสัญญาใดที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือเขตอำนาจแห่งรัฐ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามสัญญา ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา

 


 

บทความวิชาการฟรีที่ผ่านมา ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ
สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 650 เรื่อง หนากว่า 8500 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com

 

 

 

คำโปรย คัดลอกมาจากบทความ เพื่อให้มองเห็นเนื้อความที่น่าสนใจบางส่วน

ข้อเสนอต่อการเจรจา FTA ไทย-สหรัฐฯ ว่าด้วยเรื่องการลงทุน

- ปฏิเสธไม่รับข้อเรียกร้องของสหรัฐในเรื่อง "Investor-to-State Dispute Settlement" เนื่องจากจะเป็นการลดอำนาจอธิปไตยไปผูกพันตามความยินยอม (Consent) ที่อาจให้ไว้ล่วงหน้าหรือเมื่อเกิดข้อพิพาทแล้ว แม้จะกล่าวอ้างว่าเป็นการใช้อำนาจอธิปไตยในการเลือกที่จะไปผูกพันก็ตาม แต่ผลก็คือการลดสถานะของรัฐไปผูกพันกับเอกชน จากระดับมหาชนไปสู่ระดับเอกชน การระงับข้อพิพาทการลงทุนจะต้องกระทำระหว่าง "รัฐต่อรัฐ" (State-to-State) เท่านั้น

- บัญญัติข้อตกลงในลักษณะ Carve-out หรือ ให้บทบัญญัติด้านสิ่งแวดล้อมตลอดจนมิติทางสังคมอื่นๆ เช่น การอนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรม การรักษาความมั่นคงทางอาหาร ฯลฯ เป็นบทบัญญัติที่มีผลเหนือ (Prevail) ข้อบทด้านการลงทุน เพื่อเป็นการคุ้มครองอำนาจอธิปไตยของรัฐในการกำหนดนโยบายสาธารณะ และเพื่อป้องกันปัญหาข้อพิพาทในอนาคต

H
ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่ฟรี