เว็ปไซท์นี้มีการคลิกโดยเฉลี่ย 3-50000 ครั้งต่อวัน สำรวจเมื่อเดือนมิถุนายน 2548 - ขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่ให้ใช้พื้นที่
ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกวันที่ ๒๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ : มหาวิทยาลัย.เที่ยงคืนไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
R
210848

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 645 หัวเรื่อง
ระบบอุดมศึกษาของอินเดีย
ดร. ประมวล เพ็งจันทร์ :

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

บทความฟรีของ ม.เที่ยงคืน
Midnight 's free article

related topic
release date
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็ปไซตมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนนี้ จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขใดๆ เพื่อประโยชน์ต่อการนำไปใช้อ้างองทางวิชาการอย่างสมบูรณ์
เว็ปไซต์ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ออกแบบขึ้นมาเพื่อให้แสดงผลกับ Display properties : screen area 600 X 800 pixels ซึ่งจะให้ภาพที่คมชัดและสมบูรณ์ที่สุด หากประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาด font ลง จะทำให้การแสดงผลบนหน้าจอถูกต้อง (เว็ปเพจนี้พัฒนาขึ้นวันที่ 180848)
สนใจบทความที่ผ่านมาแล้ว คลิกไปอ่านได้ที่ภาพ

คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

อาณานิคมอุดมศึกษา
ระบบอุดมศึกษาของอินเดียในปัจจุบัน
ดร. ประมวล เพ็งจันทร์
ภาควิชาปรัชญาและศาสนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

หมายเหตุ
บทความชิ้นนี้ตัดมาบางส่วนจากบทที่ 3 ของโครงการศึกษาค้นคว้าเพื่อจัดทำหนังสือสารคดี
เรื่อง ระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษาของอินเดีย
ได้รับทุนอุดหนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
ชุดโครงการอาณาบริเวณศึกษา 5 ภูมิภาค


บทความฟรี มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 645

เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๔๘

(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 27.5 หน้ากระดาษ A4)

 


ระบบอุดมศึกษาของอินเดียในปัจจุบัน

ระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษาของอินเดียในปัจจุบัน เปรียบเทียบให้เห็นภาพได้ง่าย ๆ คล้าย ๆ กับบ้านที่ถูกออกแบบและสร้างไว้โดยชาวอังกฤษ ซึ่งมีวิถีชีวิต วัฒนธรรมในการกินอยู่ และวัตถุประสงค์ของการใช้บ้านแตกต่างไปจากชาวอินเดีย แต่เมื่อผู้ออกแบบและสร้างบ้านออกไปจากอินเดียแล้ว บ้านหลังนี้ก็ตกเป็นสมบัติของอินเดีย ชาวอินเดียจำต้องอยู่ในบ้านหลังนี้ เพราะถ้ารื้อบ้านหลังนี้ทิ้งไปก็จะไม่มีบ้านอยู่อาศัย จะสร้างบ้านหลังใหม่ขึ้นมาก็ไม่มีพื้นที่และงบประมาณ ตลอดทั้งแรงงานที่จะสร้างบ้านใหม่ได้ สิ่งที่พอจะทำได้ภายใต้เงื่อนไขและข้อจำกัดที่มีอยู่ก็คือ อยู่ไปแล้วค่อย ๆ รื้อปรับปรุงบ้านที่มีผู้สร้างไว้ ให้เหมาะสมกับวิถีชีวิต และวัตถุประสงค์ของการใช้บ้านของตนเอง

ข้ออุปมาว่าด้วยบ้านของคนอื่นเป็นฉันใด ข้ออุปมัยว่าด้วยระบบการศึกษาที่คนอื่นกำหนดให้ก็เป็นฉันนั้น ชาวอังกฤษได้ออกแบบสร้างระบบอุดมศึกษาขึ้นในสังคมอินเดีย ก็เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ปกครองชาวอังกฤษ ที่ต้องผลิตบุคลากรขึ้นเพื่อใช้งานในระบบการปกครองของอังกฤษ จึงไม่แปลกเลยที่นักการศึกษาอินเดียในปัจจุบันจะกล่าวว่า มหาวิทยาลัยอินเดียในยุคอาณานิคม มีหน้าที่เพียงแค่ผลิตเสมียนให้กับระบบการปกครองอาณานิคมเท่านั้น

เมื่ออินเดียได้รับเอกราชทางการปกครองแล้ว ระบบการศึกษาก็กลายเป็นมรดกตกทอดที่สังคมอินเดียได้รับมา ผู้นำชาวอินเดียรู้ดีว่า ระบบการศึกษาอันเป็นผลผลิตจากยุคอาณานิคมนั้นไม่เหมาะสมกับวิถีชีวิตของชาวอินเดีย แต่การยกเลิกไปเลยนั้นไม่สามารถจะทำได้ ทางเดียวที่จะทำได้คือใช้ไปก่อน แล้วค่อย ๆ แก้ไขปรับปรุงต่อเติม แต่จนกระทั่งปัจจุบันนี้ การแก้ไขรื้อปรับระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษาของอินเดียก็ยังไม่แล้วเสร็จ

1. ปรัชญาอุดมศึกษาอินเดีย : ความหมายและคุณค่าที่คาดหวัง
ปัญหาในทางการศึกษา ที่เป็นปัญหาใหญ่สำหรับอินเดียคือ ปัญหาทางปรัชญาการศึกษา เพราะตัวปรัชญาการศึกษานี้ไม่สามารถลอกเลียนหรือมอบหมายให้คนต่างวัฒนธรรมมากำหนดให้ได้ ขณะที่อินเดียมีประวัติและพัฒนาการทางอุดมศึกษามายาวนานนับเป็นเวลาหลายพันปี แต่ปรากฏว่าอุดมศึกษาของอินเดียในยุคปัจจุบัน กลับถูกกำหนดรูปแบบและเป้าหมายทางการศึกษาโดยคนต่างวัฒนธรรมโดยเฉพาะคือ นักปกครองชาวอังกฤษที่เข้ามาค้าขาย แสวงหาผลประโยชน์ทางการค้าจากทรัพยากรและประชากรอินเดีย ระบบอุดมศึกษาที่อังกฤษออกแบบและสร้างไว้เป็นระบบอุดมศึกษาที่มีเป้าหมายอยู่ที่การแสวงหาผลประโยชน์ทางการค้า และปรัชญาทางการศึกษาที่เป็นรากฐานของระบบอุดมศึกษานี้ผู้นำของอินเดียก็รู้ดี แต่ไม่รู้จะเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร เพราะปรัชญาทางการศึกษาเป็นเรื่องอุดมคติที่เป็นนามธรรมและจะต้องเป็นสำนึกของสังคม ไม่ใช่เป็นความรู้สึกของคนใดคนหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะส่วนบุคคล

ในสังคมอินเดียนั้น อุดมศึกษามีความหมายสำคัญยิ่งต่อความเป็นมนุษย์ของบุคคลแต่ละคน ทั้งนี้เพราะการศึกษาระดับอุดมศึกษาคือ กระบวนการทำบุคคลหนึ่ง ๆ ให้เกิดเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ชาวอินเดียเชื่อว่าบุคคลแต่ละคนจะมีการเกิด 2 ครั้ง คือ

ครั้งแรก เกิดจากครรภ์มารดา เป็นการเกิดมามีชีวิต
ครั้งที่สอง เป็นการเกิดจากการเรียนรู้ เป็นการเกิดมาเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์

ระบบการเกิด 2 ครั้งนี้รู้จักกันดีในชื่อว่า "ทวิชาติ"

- มารดาให้กำเนิดชีวิต
- การศึกษาให้กำเนิดความหมายแห่งความเป็นมนุษย์

ตัวปรัชญาทางการศึกษา เป็นเรื่องของเป้าหมาย และความหมายของการศึกษา
ระดับอุดมศึกษา ในยุคพระเวท อุดมศึกษาหมายถึงการศึกษาพระเวท บุคคลผู้ศึกษาพระเวทจนจบไตรเพท จะได้ชื่อว่าเป็นผู้ได้เกิดครั้งที่สองแล้ว พราหมณ์ผู้ที่จะสามารถประกอบพิธีทางศาสนาให้ผู้อื่นได้นั้น จะต้องเป็นพราหมณ์ผู้ได้รับการเกิดครั้งที่ 2 มาแล้วเท่านั้น

ในสังคมชาวพุทธ การได้บวชเรียนศึกษาพระธรรม-วินัยแล้ว จะได้ชื่อว่าเป็นผู้ได้เกิดครั้งที่สอง ส่วนในสังคมฮินดู ผู้ที่ได้บำเพ็ญเพียรในพรหมจารีอาศรมจนรู้แจ้ง "ธรรมะ" แล้ว จะได้ชื่อว่าเป็นผู้ผ่านการเกิดครั้งที่สองแล้ว

ความเชื่อในระบบทวิชาติของชาวอินเดียนี้สามารถยืนยันความหมายและความสำคัญของอุดมศึกษาในสังคมอินเดียในอดีตได้เป็นอย่างดี ความเชื่อ ความเข้าใจ ในความหมายของการศึกษาแบบนี้คือสิ่งที่เรียกกันว่า ปรัชญาอุดมศึกษาของอินเดีย

เป้าหมายของการศึกษาสัมพันธ์อยู่กับเป้าหมายของชีวิต และชีวิตมนุษย์ถูกกำหนดเป้าหมาย และความสำนึกในความเป็นมนุษย์ตามคติแห่งวัฒนธรรมของแต่ละชุมชน แต่ละสังคม เป้าหมายชีวิตของชาวอินเดียถูกกำหนดจากกรอบความเชื่อทางศาสนา และความหมายแห่งชีวิตของชาวอินเดีย ก็ถูกนิยามขึ้นจากคติทางศาสนาที่สั่งสมและสืบทอดกันมาเป็นเวลายาวนาน วันหนึ่งเมื่อคติแห่งความเชื่อนั้นถูกรบกวนและกระทบจนล้มลง ความหมายแห่งชีวิตก็พร่าเลือน เพราะเป้าหมายแห่งชีวิตไม่ชัดเจนในห้วงแห่งสำนึก

ในอดีต เป้าหมายแห่งชีวิตคือ ความเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติและสรรพสิ่ง ความหมายแห่งชีวิตจึงอยู่ที่การอ่อนน้อมโค้งคารวะต่อความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ การศึกษาตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงอุดมศึกษา ต่างเป็นกระบวนการที่จะนำพาผู้ศึกษาไปสู่สภาวะแห่งความเป็นมนุษย์ที่กลมกลืนกับธรรมชาติ ในจิตสำนึกของชาวอินเดียในอดีต ผู้มีการศึกษาจะไม่มีจิตสำนึกแห่งความปรารถนาที่เอาชนะโลกแห่งธรรมชาติ มีเพียงแต่ความสำนึกจะทำให้ตนเองให้เป็นธรรมชาติที่กลมกลืนกับสรรพสิ่ง

เป้าหมายและทิศทางทางการศึกษาโดยเฉพาะอุดมศึกษาของอินเดียในอดีต ไม่ว่าในยุคพระเวท ยุคพุทธศาสนา หรือยุคฮินดู จึงล้วนเป็นไปในทิศทางเดียวกันคือโมกษะ อันได้แก่ สภาวะที่มนุษย์ไม่เป็นปฏิปักษ์หรือปรปักษ์ต่อธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ ความอยาก ความปรารถนาอันเป็นไปภายในจิตสำนึกของมนุษย์ จึงถูกกำกับควบคุมด้วยกระบวนการศึกษา แต่เมื่อมาถึงช่วงที่พ่อค้าวาณิชเข้ามากำหนดทิศทางการศึกษา ความหมายแห่งชีวิตและความหมายแห่งการศึกษามิได้เป็นเช่นคติเดิมของอินเดียอีกแล้ว

พ่อค้าเหล่านั้นเข้ามาสู่อินเดียเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ทางการค้า ทรัพยากรธรรม ชาติและผืนแผ่นดินอินเดีย ไม่ได้มีความหมายว่าเป็นเทพเจ้าเหมือนที่ชาวอินเดียคิด หากแต่เป็นสินค้าที่จะแปรไปเป็นกำไรคือเงิน ประชากรบนแผ่นดินอินเดียไม่ใช่พี่น้องที่มาจากเทพเจ้าองค์เดียวกัน หากแต่เป็นแรงงานที่จะเป็นกำลังในการแปรทรัพยากรธรรมชาติให้เป็นสินค้าที่มีราคาในท้องตลาด ด้วยระบบคิดเช่นนี้ การศึกษาจึงไม่ใช่กระบวนการเดินทางสู่เป้าหมายคือ ความเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติอีกแล้ว หากแต่เป็นกระบวนการแปรรูปทรัพยากรมนุษย์ให้เป็นเครื่องมือในการผลิตสินค้าสำหรับขายในท้องตลาด เพื่อผลประโยชน์ คือ กำไร อันเป็นเงิน

ด้วยเป้าหมายทางการศึกษาที่ต้องการฝึกฝนชาวอินเดียให้เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีความสามารถในการผลิตและค้าขายตามระบบการค้า อุดมศึกษาอินเดียในยุคใหม่จึงมีเป้าหมายทางการศึกษาอยู่ที่การแปรรูปมนุษย์ให้เป็นปัจจัยในการผลิตและการค้า กระบวนการศึกษาจึงถูกกำหนดทิศทางให้มุ่งไปสู่เป้าหมาย คือ การทำให้มนุษย์มีศักยภาพที่จะผลิตและสนองตอบกลไกของระบบตลาด

ด้วยปรัชญาการศึกษาเช่นนี้ มหาวิทยาลัยในยุคอาณานิคมจึงมีหน้าที่ผลิตเสมียนให้กับบริษัทอิสต์อินเดีย และต่อมา เมื่อบริษัทไม่ขาดแคลนแรงงานแล้ว มหาวิทยาลัยก็เพิ่มวัตถุประสงค์ของการศึกษา ให้เป็นการกล่อมเกลาประชากรอินเดีย ให้เป็นประชาชนที่ไม่เป็นอุปสรรคขัดขวางการค้าและการปกครองของชาวอังกฤษ วัตถุประสงค์นี้ถูกประกาศด้วยคำพูดอันไพเราะว่า เพื่อสร้างอินเดียวรรณะใหม่ ที่มีผิวกายและเลือดเนื้อเป็นอินเดีย แต่มีรสนิยมและคุณธรรม จริยธรรมแบบอังกฤษ

ณ วันนี้ อินเดียมีความเป็นเอกราชทางการปกครอง แต่เอกราชทางความคิด ความสำนึกในความเป็นมนุษย์ตามคตินิยมของอินเดียได้เกิดขึ้นแล้วหรือยัง

ผู้นำอินเดียยุคใหม่ต่างทราบกันดีว่า ระบบการศึกษาที่ผู้ปกครองชาวอังกฤษสถาปนาไว้ในสังคมอินเดียยุคอาณานิคม ไม่เหมาะสมกับชาวอินเดียและสังคมอินเดีย ทั้งนี้ก็เพราะอุดมศึกษานั้นไม่ได้มีความหมายและคุณค่า ในทางเกื้อกูลต่อชาวอินเดียและสังคมอินเดียเลย หากแต่เป็นไปในทางตรงกันข้ามคือ เบียดเบียนทำลายชาวอินเดียและระบบคุณค่าอันดีงามของสังคมอินเดียที่มีมาแต่โบราณกาล

ท่านมหาตมะ คานธี ได้ชี้ให้เห็นว่าข้อเสียหายของระบบการศึกษาที่จัดให้ชาวอินเดียโดยผู้ปกครองอังกฤษ มีในลักษณะต่อไปนี้

1. เป็นการศึกษาที่ส่งเสริมและสนับสนุนการปกครองที่อยุติธรรม นั่นคือ เป็นการศึกษาที่เอื้อให้เกิดความอยุติธรรม และความรุนแรงในสังคม โดยประชาชนทั่วไปไม่สำนึกรู้

2. เป็นการศึกษาที่วางตั้งอยู่บนคติความเชื่อและวัฒนธรรมของต่างชาติ ที่ไม่สอดคล้องกับคติ ความเชื่อ และวัฒนธรรมเดิมของอินเดีย ระบบการศึกษาที่ว่านี้จึงไม่ยอมให้มีพื้นที่ทางการศึกษาแบบอินเดียเหลืออยู่เลย

3. การศึกษาที่จัดให้โดยผู้ปกครองชาวอังกฤษ ให้ความสำคัญเฉพาะการพัฒนาสมอง (The Mental Development) แต่ไม่ได้ให้ความสนใจต่อการพัฒนาความสามารถและจิตใจ (It dose not give emphasis in hand and heart)

4. สื่อแห่งการเรียนรู้ ที่ใช้ภาษาและระบบคิดแบบอังกฤษ ทำให้มโนภาพและจินตนาการของอินเดียแตกสลายโดยสิ้นเชิง

ด้วยความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการศึกษาแบบอังกฤษ ท่านมหาตมะ คานธี จึงเรียกร้องให้มีการจัดการศึกษาแบบใหม่ ที่มีเป้าหมายอยู่ที่

1. ความเป็นเอกราช ทั้งในทางการเมือง สังคมและศาสนา
2. ต้องใช้กระบวนการศึกษาแบบอินเดีย ที่จะสามารถสร้างผลผลิตให้สำนึกในความเป็นอินเดีย
3. การศึกษาที่จะนำไปสู่การปลดปล่อยชาวอินเดีย ให้รอดพ้นจากการต้องพึ่งพาอาศัยเครื่องอุปโภค บริโภค ที่เป็นสินค้าของชาวอังกฤษ
4. ความสำนึกชาตินิยม ซึ่งสำนึกถึงความเป็นอินเดียที่ไม่ด้อยไปกว่าชนชาติใด ๆ ในโลกนี้

ท่านมหาตมะ คานธี ซึ่งชาวอินเดียยกย่องให้เป็นบิดาแห่งชาติอินเดียใหม่ เป็นเพียงผู้หนึ่งที่แสดงปฏิกิริยาทางการศึกษา และเรียกร้องให้มีการกำหนดปรัชญาทางการศึกษาใหม่ อันเป็นการกำหนดโดยชาวอินเดีย จากรากฐานของชาวอินเดีย และเพื่อชาวอินเดีย

ถ้าจะกล่าวสรุปอย่างสั้น ๆ ที่สุด การศึกษาทุกระดับ ตั้งแต่ประถมถึงอุดมศึกษา จะต้องเป็นไปเพื่อ

- ความเป็นอินเดียที่ปลอดพ้นจากการครอบงำของต่างประเทศ ทั้งในแง่การเมือง เศรษฐกิจ และค่านิยมในสังคม
- ความรัก ความผูกพัน และความภาคภูมิใจ ในความเป็นอินเดีย
- สร้างเสริมอุดมศึกษาแห่งความเป็นชาวอินเดีย ที่เป็นตัวของตัวเอง และมีความเป็นเอกลักษณ์แห่งอินเดียที่ไม่ด้อยกว่าชนชาติใด ๆ ในโลกนี้
- สร้างอุดมการณ์และจินตนาการแห่งชีวิต ที่มุ่งสู่ความเป็นมนุษย์ที่สูงส่ง มีพลังเหนือกระแสโลก

ความเป็นอินเดีย ไม่ว่าจะปรากฏในบุคคล เช่น คนอินเดีย ความคิด ความเชื่อ อันเป็นศาสนาหรือลัทธิความเชื่อของอินเดีย จะต้องเป็นอินเดียที่มีคุณต่อสังคมโลก ความเป็นอินเดียดังกล่าวมานี้ จะไม่สามารถเกิดขึ้นมาได้ด้วยการร้องขอ หรือวิงวอนให้ผู้ใดผู้หนึ่งมอบให้ได้ แต่สามารถจะเกิดขึ้นมาได้ก็ด้วยการร่วมมือร่วมใจกัน สร้างสรรค์ขึ้นมาโดยชาวอินเดียยุคใหม่ ทุกชนชั้น ทุกวรรณะ ทุกเพศ และทุกวัย และกระบวนการสร้างสรรค์ความเป็นอินเดียดังที่ปรารถนานั้น จะปรากฏเป็นจริงได้ก็ด้วยการศึกษา

- การศึกษา ที่จะก่อให้เกิดความเป็นอินเดียขึ้นในตัวชาวอินเดีย
-การศึกษา ที่จะให้กำเนิดความหมาย และคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์ตามคตินิยมอินเดีย
- การศึกษา ที่บรรพบุรุษของอินเดียในอดีตได้เคยแสดงให้ปรากฏไว้แล้ว

ดร. ราธกฤษณัน นักการศึกษาและนักปรัชญาอินเดีย ได้กล่าวมอบภาระและหน้าที่นี้ไว้กับมหาวิทยาลัยอินเดียยุคใหม่ว่า
"มหาวิทยาลัย จะต้องแบกรับภาระหน้าที่ในการสร้างชาติ และภาระกิจนี้จะมีผลให้สัมผัสได้ก็ต่อเมื่ออารยธรรมและวัฒนธรรมอันรุ่งเรืองในอดีต ได้ผลิกฟื้นคืนชีพกลับมาให้ปรากฏในยุคปัจจุบันอีก"

ความหมายและคุณค่าของการศึกษาระดับอุดมศึกษาในความคาดหวังของสังคมอินเดียนั้น เป็นความคาดหวังด้วยความเชื่อว่า อินเดียในอดีตเคยสถาปนาระบบอุดมศึกษาที่ก่อให้เกิดความหมายและคุณค่าอันสูงส่งตามความคาดหวังนี้มาแล้ว เพราะฉะนั้น เราชาวอินเดียทั้งมวล สามารถจะร่วมมือร่วมใจกัน ทำให้อารยธรรมและวัฒนธรรมอันรุ่งเรืองในอดีต กลับผลิกฟื้นขึ้นมาได้อีกอย่างแน่นอน

2 ระบบและรูปแบบการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา
โครงสร้างระบบการศึกษาของอินเดีย เป็นโครงสร้างที่กำหนดให้การศึกษาระดับประถมและมัธยมใช้ระยะเวลาในการศึกษา 12 ปี โดยแบ่งขั้น (Grade) เป็น 12 ขั้น คือ จากขั้น 1 ถึง ขั้น 12 ส่วนอุดมศึกษา เป็นการศึกษาต่อจากขั้น 12 โดยกำหนดให้การศึกษาระดับปริญญาตรีมีระยะเวลา 3 ปี เพื่อจบการศึกษาเป็นบัณฑิตเกียรตินิยม (Honour) และ 2 ปี สำหรับการศึกษาเป็นบัณฑิตธรรมดา การศึกษาระดับปริญญาโท 2 ปี และระดับปริญญาเอก 3-5 ปี

ระบบกำหนดขั้นการศึกษา โดยใช้เวลาเป็นเกณฑ์กำหนดนี้ เป็นการกำหนดอย่างหยาบ ๆ เพื่อให้มีระบบของเวลาเป็นตัวเทียบเคียงว่า การศึกษาของแต่ละรัฐที่จัดนั้น ขั้นไหนของรัฐใด เทียบเท่ากับอีกรัฐหนึ่งในขั้นใด ตัวอย่างความแตกต่างที่เห็นได้ง่าย เช่น การศึกษาระดับประถมและมัธยม 12 ปีนั้น แต่ละรัฐต้องไปกำหนดซอยย่อยลงไป การศึกษาชั้นประถมนั้น ไม่มีปัญหาในการกำหนดเกณฑ์มาตรฐาน เพราะแต่ละรัฐต่างก็จัดการกันเอง แล้วรับผิดชอบผลผลิตของระดับประถมเข้าสู่ระดับมัธยมของระบบเดียวกัน

แต่ในชั้นมัธยมนี้เริ่มมีปัญหา เพราะนักเรียนที่จบมัธยมจากรัฐหนึ่ง อาจจะต้องไปเรียนระดับอุดมศึกษาอีกรัฐหนึ่ง ปัญหาในการเทียบเคียงมาตรฐาน เช่น บางรัฐจัดการศึกษาระดับมัธยม โดยการแบ่งออกเป็นมัธยมต้นและมัธยมปลาย โดยมีมัธยมปลายปีสุดท้ายเป็นปีที่ 12 ของการศึกษาก่อนเข้าสู่ระดับอุดมศึกษา แต่บางรัฐไปจัดการศึกษาให้มีชั้นเตรียมอุดมศึกษา (Pre-University Education) โดยรับเอานักเรียนที่จบชั้นมัธยมเข้ามาสู่ระบบก่อนจะเข้าสู่ระบบอุดมศึกษา และเวลาในการศึกษาในระดับเตรียมอุดมศึกษานี้ อาจทำให้มากเกิน 12 ปี ของเกณฑ์เวลาก่อนอุดมศึกษา

หรือบางรัฐ จัดให้มีระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (Higher Secondary Education) ในขณะอีกรัฐหนึ่ง อาจจัดให้มีการศึกษาระดับหลังมัธยม และก่อนอุดมศึกษา ที่เรียกว่า Intermediate Course ความแตกต่างหลากหลายในระบบการศึกษาก่อนอุดมศึกษาเช่นนี้ ทำให้ระยะเวลาในการศึกษาระดับอุดมศึกษาถูกกำหนดให้ไม่เท่ากันอีก จนปัจจุบันนี้หลักสูตรระดับปริญญาตรีของแต่ละรัฐก็ไม่เท่ากัน เช่น ขณะที่รัฐอุตรประเทศ หลักสูตรปริญญาตรีสายศิลปศาสตร์ (B.A.) มีระยะเวลา 2 ปี (สำหรับปริญญาตรีธรรมดา) แต่หลักสูตรปริญญาศิลปศาสตร์ของรัฐเกราล่า ใช้เวลา 3 ปี คำอธิบายของความแตกต่างนี้อยู่ที่ว่า รัฐอุตรประเทศมีขั้นเตรียมมหาวิทยาลัย ก่อนเข้าสู่หลักสูตรปริญญาตรี ในขณะที่รัฐเกราล่าไม่มี

ภายใต้ข้อกำหนดระบบการศึกษาโดยใช้เวลาเป็นตัวกำหนดนี้ รูปแบบการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาถูกกำหนดโดยโครงสร้างการบริหารจัดการศึกษาโดยระบบมหาวิทยาลัย (University System) ซึ่งระบบนี้ถูกออกแบบไว้โดยนักการศึกษาชาวอังกฤษ ตั้งแต่ยุคอาณานิคม ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

พัฒนาการของอุดมศึกษาอินเดียที่เริ่มต้นที่ระบบวิทยาลัย (College) แล้วพัฒนามาสู่ระบบมหาวิทยาลัย (University) ซึ่งระบบมหาวิทยาลัยนี้ ในยุคแรกที่อังกฤษออกแบบไว้นั้น เป็นเพียงแค่ศูนย์กลางการบริการทางวิชาการเท่านั้น ดังเช่นมหาวิทยาลัยต้นแบบทั้ง 3 แห่งคือ มหาวิทยาลัยกัลกัตตา มหาวิทยาลัยบอมเบย์ และมหาวิทยาลัยมัทราส

มหาวิทยาลัยทั้ง 3 แห่งนี้ คือ ศูนย์ควบคุมการบริหารจัดการทางวิชาการของวิทยาลัยต่าง ๆ ในเขตการศึกษาของตนเอง เช่น มหาวิทยาลัยกัลกัตตาเป็นศูนย์ควบคุมการศึกษาของวิทยาลัยตั้งแต่เหนือสุด คือ ซิมลาไปจนถึงใต้สุดคือ ลังกา และตะวันออกสุด คือ วิทยาลัยในพม่า หน้าที่หลักของมหาวิทยาลัยคือ ควบคุมมาตรฐานการศึกษา โดยการออกข้อสอบ ตรวจข้อสอบ แล้วมอบปริญญาบัตรให้กับผู้ผ่านการสอบตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด

โดยรูปแบบนี้ มหาวิทยาลัยในเบื้องต้นจึงไม่ได้หมายถึงสถานที่เพื่อการศึกษา แต่เป็นเพียงแค่ศูนย์กลางการบริหารการศึกษา แต่ต่อมา เมื่อมีมหาวิทยาลัยเกิดเพิ่มมากขึ้น โดยการแยกวิทยาลัยไปเป็นมหาวิทยาลัยใหม่ เช่น เมื่อเกิดมหาวิทยาลัยปัญจาบ (คศ.1882) และมหาวิทยาลัยอัลลาฮะบาด (ค.ศ.1887) นั้น เป็นการแยกตัวออกจากมหาวิทยาลัยกัลกัตตา นั่นคือ เดิมทั้งปัญจาบและอัลลาฮะบาด ต่างเป็นวิทยาลัยอันเป็นสถานที่ศึกษาระดับอุดมศึกษาอยู่แล้ว แต่อยู่ภายใต้การควบคุมกำกับโดยมหาวิทยาลัยกัลกัตตา

แต่เมื่อยกระดับเป็นมหาวิทยาลัยซึ่งก็หมายความว่า ต่อไปนี้มหาวิทยาลัยใหม่เหล่านั้น มีอำนาจเป็นของตัวเอง ไม่ต้องขึ้นกับมหาวิทยาลัยกัลกัตตาอีกต่อไป คือ สามารถออกข้อสอบได้เอง ตรวจข้อสอบเอง ให้ปริญญาบัตรเอง ภายใต้ชื่อมหาวิทยาลัยใหม่ และเมื่อเป็นเช่นนี้ มหาวิทยาลัยใหม่คือ มหาวิทยาลัยปัญจาบจึงไม่ใช่เพียงแค่ศูนย์ควบคุมการบริหารจัดการอุดมศึกษาเพียงอย่างเดียว หากแต่เป็นสถานที่สำหรับการเรียนการสอนด้วย เพราะเป็นสถานที่ศึกษาระดับอุดมศึกษาอยู่ก่อนแล้วเมื่อครั้งยังเป็นวิทยาลัย

การแยกตัวออกมาของวิทยาลัยในสังกัด ได้กลายมาเป็นแนวทางให้วิทยาลัยต่าง ๆ เริ่มมองหาทางที่จะเป็นมหาวิทยาลัยบ้าง โดยเฉพาะวิทยาลัยในเขตปกครองของมหาราชา (Prince Raj) ซึ่งแตกต่างจากเขตการปกครองของอังกฤษ (British Raj) อยู่แล้ว เพราะมีมหาราชาเป็นผู้ปกครอง ภายใต้อำนาจกำกับของรัฐบาลอังกฤษ ดังมีตัวอย่างของมหาวิทยาลัยไมซอร์ ซึ่งเริ่มต้นจากการที่วิทยาลัยมหาราชา (Maharaja College) ซึ่งขึ้นกับมหาวิทยาลัยมัทราส แต่เป็นวิทยาลัยอยู่ในเขตปกครองของมหาราชาแห่งไมซอร์ และได้รับการอุปถัมภ์โดยงบประมาณของมหาราชาแห่งไมซอร์

ดังนั้น เมื่อทางไมซอร์เห็นว่า วิทยาลัยบางแห่ง แยกตัวเป็นอิสระและยกระดับเป็นมหาวิทยาลัยได้ วิทยาลัยมหาราชา ก็ปรารถนาจะยกระดับเป็นมหาวิทยาลัยบ้าง และในที่สุดมหาวิทยาลัยมัทราชก็ยอมให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยไมซอร์ (University of Mysore) ขึ้น ในปี ค.ศ.1916 โดยให้มหาวิทยาลัยไมซอร์เป็นผู้ควบคุมกำกับวิทยาลัยต่าง ๆ ในแคว้นไมซอร์ ไมซอร์จึงได้ชื่อว่าเป็นมหาวิทยาลัยแห่งรัฐแห่งแรกของอินเดีย (The First State University)

ด้วยกระบวนการปรับเปลี่ยนที่เกิดขึ้นต่อเนื่องกันนับตั้งแต่ยุคอาณานิคม จวบจนเมื่ออินเดียได้รับเอกราช การปรับเปลี่ยนระบบและรูปแบบอุดมศึกษาก็ยังเป็นไปไม่หยุดนิ่ง จนถึงขณะนี้ สามารถจะสรุปประเภทและลักษณะของระบบอุดมศึกษาของอินเดียในส่วนของการเป็นสถาบันอุดมศึกษาได้ ในลักษณะต่อไปนี้

สถาบันอุดมศึกษา
อุดมศึกษาของอินเดีย หมายถึง การศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ซึ่งอาจจะมีชื่อเรียกแตกต่างกัน ตามลักษณะและประเภทของสถาบันอุดมศึกษานั้น ๆ แต่เพื่อจะทำความเข้าใจเกี่ยวกับสถาบันอุดมศึกษาของอินเดีย ได้โดยไม่สับสนและยุ่งยาก จึงขอแบ่งสถาบันอุดมศึกษาของอินเดียเป็น 2 ระดับ คือ

1. ระดับวิทยาลัย (College) และ
2. ระดับมหาวิทยาลัย (University)

1. วิทยาลัย (College)
ในระบบอุดมศึกษาของอินเดีย วิทยาลัยมีอยู่ 4 ประเภท คือ

1.1 วิทยาลัยรัฐบาล (Government College)
1.2 วิทยาลัยเอกชน (Private College)
1.3 วิทยาลัยวิทยาเขต (University College)
1.4 วิทยาลัยวิชาชีพ (Professional College)

1.1 วิทยาลัยรัฐบาล (Government College) หมายถึง วิทยาลัยที่เป็นส่วนราชการและถูกจัดตั้งขึ้นด้วยงบประมาณแผ่นดิน เป็นวิทยาลัยที่อยู่ในสังกัดของรัฐบาลท้องถิ่นหรือรัฐบาลกลางก็ได้ คณาจารย์และเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่าง ๆ ของวิทยาลัยนี้เป็นข้าราชการ วิทยาลัยนี้จะต้องขึ้นตรงกับมหาวิทยาลัยแห่งใดแห่งหนึ่ง และทำการเรียนการสอน ตามหลักสูตรของมหาวิทยาลัยที่เป็นต้นสังกัด

1.2 วิทยาลัยเอกชน (Private College) เป็นวิทยาลัยที่บริหารจัดการโดยองค์กรเอกชนที่ไม่ใช่ส่วนราชการ องค์กรที่เป็นเจ้าของวิทยาลัยเอกชนนี้ อาจจะเป็นองค์กรทางศาสนา หรือองค์กรอิสระอื่น ๆ ก็ได้ คณาจารย์และเจ้าหน้าที่ของวิทยาลัยเอกชน มีสถานะเป็นลูกจ้าง หรือพนักงานขององค์กรที่เป็นเจ้าของวิทยาลัย วิทยาลัยเอกชนนี้ ก็ต้องขึ้นกับมหาวิทยาลัยแห่งใดแห่งหนึ่งเสมอ เพราะวิทยาลัยเอกชนนี้ จะต้องดำเนินกิจการด้านการเรียนและการสอนตามหลักสูตรของมหาวิทยาลัยต้นสังกัด และเมื่อนักศึกษาจบการศึกษา ก็จะได้รับปริญญาของมหาวิทยาลัยต้นสังกัดนั้น

1.3 วิทยาลัยวิทยาเขต (University College) เป็นวิทยาลัย ที่มีสถานะเป็นส่วนราชการของมหาวิทยาลัย กิจการทั้งหมดของวิทยาลัยวิทยาเขตนี้ เป็นไปภายใต้การควบคุม ดูแล จัดการโดยมหาวิทยาลัย ทั้งนี้ก็เพราะวิทยาลัยประเภทนี้มีสถานะคล้าย ๆ กับคณะต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย

1.4 วิทยาลัยวิชาชีพ (Professional College) เป็นวิทยาลัยที่ทำการเรียน การสอนตามหลักสูตรวิชาชีพเฉพาะ เช่น วิทยาลัยพยาบาล วิทยาลัยการแพทย์ วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาลัยวิชาชีพนี้ มีทั้งที่เป็นส่วนราชการ และที่เป็นกิจการของเอกชน แต่ไม่ว่าจะเป็นของรัฐหรือของเอกชน ก็จะต้องสังกัดอยู่ในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษา ที่เทียบเท่ามหาวิทยาลัย เหมือนวิทยาลัยทั้ง 3 ประเภทข้างต้น

วิทยาลัยทั้ง 4 ประเภทนี้ วิทยาลัยประเภทที่ 2 คือ วิทยาลัยเอกชน มีจำนวนมากที่สุด ประมาณ 70 % ของจำนวนวิทยาลัยที่มีอยู่ทั่วอินเดียทั้งหมด ซึ่งมีอยู่ 9,906 วิทยาลัย วิทยาลัยทั้ง 9,906 แห่งนี้ จะต้องสังกัดอยู่กับมหาวิทยาลัยแห่งใดแห่งหนึ่งเสมอ

ในบรรดาวิทยาลัยทั้งหมด ถ้าจะจำแนกตามลักษณะของวิชาการที่มีการเรียน การสอนในวิทยาลัยแต่ละแห่งแล้ว สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ

1. วิทยาลัยการศึกษาทั่วไป (College of General Educations)
2. วิทยาลัยการศึกษาอาชีพ (College of Professional Educations)

วิทยาลัยทั้ง 2 ประเภท จะกระจายอยู่ทั่วประเทศอินเดียตามรัฐและดินแดนสหภาพ

วิทยาลัยทั้ง 2 ประเภทนี้ ส่วนใหญ่แล้วจะรับผิดชอบในการจัดการศึกษาระดับปริญญาตรี (Under-Graduate Courses) แต่ก็มีบางวิทยาลัยที่มีการจัดการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา (Post-Graduate Courses) ในระดับปริญญาโท - เอก ด้วย ส่วนมากของวิทยาลัยที่มีการเรียนการสอนถึงระดับปริญญาโท-เอก มักจะเป็นวิทยาลัยเก่า ๆ และตั้งอยู่ในเมืองใหญ่ ๆ

วิทยาลัยที่มีการจัดการศึกษาระดับปริญญาตรี ทั้งด้านการศึกษาทั่วไป จำนวน 7,782 แห่ง และ ทางด้านการศึกษาอาชีพ จำนวน 2,124 แห่งนี้ มีทั้งที่เป็นวิทยาลัยรัฐบาลและวิทยาลัยเอกชน แต่ไม่ว่าจะเป็นของรัฐบาลหรือเอกชน วิทยาลัยแต่ละแห่งจะต้องจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรของมหาวิทยาลัยที่เป็นต้นสังกัดของวิทยาลัยนั้น ๆ เช่น วิทยาลัยที่อยู่ในเขตพื้นที่การศึกษาของมหาวิทยาลัยกัลกัตตา ก็ต้องสังกัดกับมหาวิทยาลัยกัลกัตตา และจะต้องจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรของมหาวิทยาลัย จบแล้ว ก็จะได้รับปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยกัลกัตตา

ความแตกต่างของวิทยาลัย 2 ประเภทนี้อยู่ที่เนื้อหาสาระของการศึกษา โดยวิทยาลัยการศึกษาทั่วไปจะจัดการเรียนการสอนในสายวิชาการทั่วไป ซึ่งประกอบไปด้วยการศึกษาใน 3 สายหลัก คือ

1. สายศิลปศาสตร์ เป็นการศึกษาเพื่อให้ได้ปริญญาศิลปศาสตร์บัณฑิต(Bachelor of Arts = B.A.)
2. สายวิทยาศาสตร์ เป็นการศึกษาเพื่อให้ได้ปริญญาวิทยาศาสตร์บัณฑิต (Bachelor of Science = B.Sc.)
3. สายพาณิชยศาสตร์ เป็นการศึกษาเพื่อให้ได้ปริญญาพาณิชยศาสตร์บัณฑิต(Bachelor of Commerce = B.Com.)

การศึกษาในสายวิชาการทั่วไปทั้ง 3 สายนี้ โดยทั่ว ๆ ไปแล้วจะมีอยู่ใน 2 ประเภทของหลักสูตร คือ หลักสูตรปริญญาตรีธรรมดา (Pass Courses) จัดเป็นหลักสูตร 2 ปีการศึกษา และหลักสูตรปริญญาตรีเกียรตินิยม (Honour Courses) เป็นหลักสูตร 3 ปีการศึกษา

วิทยาลัยการศึกษาทั่วไปที่มีชื่อเสียงและตั้งอยู่ในเมืองใหญ่ จะมีหลักสูตรการเรียนการสอนให้นักศึกษาเลือกครบทั้ง 3 สายวิชา และให้เลือกได้ทั้งหลักสูตรเกียรตินิยม และหลักสูตรธรรมดา ส่วนวิทยาลัยเล็ก ๆ ในเขตชนบท อาจจะเปิดสอนในบางสาขาวิชา และบางสายวิชาการเท่านั้น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละวิทยาลัย

สำหรับวิทยาลัยในสายวิชาชีพนั้น เกือบทั้งหมดสอนเฉพาะระดับปริญญาตรี ในสาขาเฉพาะทางของวิทยาลัยการอาชีพนั้น ๆ เช่น วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ (Engineering College) ก็จะสอนเฉพาะวิชาในสายวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อรับปริญญาวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต (Bachelor of Engineering = BE.) ในสาขาวิชาเอกต่าง ๆ ของสายวิศวกรรมศาสตร์

ในปัจจุบันนี้ วิทยาลัยการศึกษาวิชาชีพได้มีพัฒนาการที่เปลี่ยนไปจากเดิมมาก ทั้งนี้ก็เพราะความนิยมในการศึกษาด้านวิชาชีพมีสูงขึ้น และมีการแข่งขันกันมาก สถาบันอุดมศึกษาส่วนใหญ่ เมื่อจัดตั้งขึ้นแล้วไม่นิยมจัดตั้งแบบสหวิทยาเขตดังเช่นอดีต แต่มักจะเป็นแบบวิทยาเขตเดี่ยวและก็จะมีการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอกภายในที่เดียวกัน ที่เป็นเช่นนี้เพราะเหตุมาจากการศึกษาทางด้านวิชาชีพต้องอาศัยอุปกรณ์ในการเรียน การสอน ที่ต้องลงทุนสูง การจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาในสายวิชาชีพจึงไม่นิยมแบ่งเป็นระดับวิทยาลัย และมหาวิทยาลัย ตามลักษณะของการศึกษาวิชาการทั่วไป

ด้วยเหตุนี้สถาบันอุดมศึกษาทางด้านวิชาชีพ เช่น สถาบันเทคโนโลยีแห่งอินเดีย จึงรวมศูนย์อยู่สถานที่เดียวกัน แล้วทำการสอนทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ในที่เดียวกัน การกระจายการศึกษาก็จะกระจายโดยการจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีแห่งอินเดีย ออกไปตามเขตพื้นที่การศึกษา ดังเช่น ปัจจุบันที่มีสถาบันเทคโนโลยีแห่งอินเดียกระจายอยู่ทั่วอินเดีย 7 แห่ง ทุก ๆ แห่ง เป็นสถาบันระดับมหาวิทยาลัย โดยไม่มีวิทยาลัยเล็ก ๆ กระจายอยู่ตามเมืองต่าง ๆ เหมือนกับมหาวิทยาลัยในอดีต หรือแม้แต่วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ ที่เคยกระจายไปตามเมืองต่าง ๆ ที่สุดแล้ว ก็ต้องหันกลับมาจัดตั้งให้เป็นสถาบันเทคโนโลยีแห่งชาติ (National Institute of Technology) แบบสถาบันเทคโนโลยีแห่งอินเดีย วิทยาลัยการศึกษาอาชีพจึงไม่ได้มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นเหมือนวิทยาลัยการศึกษาทั่วไป

2. มหาวิทยาลัย (University)
ในการศึกษาเพื่อจะทำความเข้าใจเกี่ยวกับระบบมหาวิทยาลัยของอินเดียนั้น คนนอกสังคมอินเดียอาจจะสงสัยเกี่ยวกับชื่อเรียกมหาวิทยาลัย ที่มีข้อความขยายแตกต่างกันไปตามลักษณะและประเภทของมหาวิทยาลัย ในเบื้องต้นนี้ จึงขอทำความเข้าใจเกี่ยวกับชื่อเรียกมหาวิทยาลัยแต่ละประเภทเสียก่อนดังนี้คือ

2.1 Affiliating University = มหาวิทยาลัยสหวิทยาลัย
2.2 Unitary University = มหาวิทยาลัยวิทยาเขตเดี่ยว
2.3 Federal University = มหาวิทยาลัยสหวิทยาเขต
2.4 Single Faculty University = มหาวิทยาลัยเฉพาะทาง
2.5 Open University = มหาวิทยาลัยเปิด
2.6 Central University = มหาวิทยาลัยรัฐบาลกลาง
2.7 State University = มหาวิทยาลัยรัฐบาลท้องถิ่น
2.8 Residental University = มหาวิทยาลัยกินนอน
2.9 Teaching University = มหาวิทยาลัยจัดการเรียน การสอน
2.10 Deemed University = สถาบันอุดมศึกษาเทียบเท่ามหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยแต่ละประเภท มีความหมายตามลักษณะและประเภทมหาวิทยาลัยดังนี้

2.1 มหาวิทยาลัยสหวิทยาลัย เป็นมหาวิทยาลัยที่ตัวองค์กรมหาวิทยาลัยเองไม่มีบทบาทหน้าที่ในการจัดการเรียนการสอน ภาระหน้าที่ของมหาวิทยาลัยประเภทนี้อยู่ที่การควบคุมดูแลและรักษามาตรฐานทางวิชาการของวิทยาลัยในสังกัดให้ได้มาตรฐาน ทั้งนี้ โดยการที่มหาวิทยาลัยเป็นผู้กำหนดหลักสูตร ออกข้อสอบ ทำการสอบ ตรวจข้อสอบ และให้ปริญญาบัตรแก่ผู้ศึกษาที่เรียนจบตามหลักสูตร

2.2 มหาวิทยาลัยวิทยาเขตเดี่ยว เป็นมหาวิทยาลัยที่มีบทบาทหน้าที่ในการจัดการเรียนการสอนภายในมหาวิทยาลัยเอง โดยที่ทุก ๆ สายงานของมหาวิทยาลัยเป็นไปภายในบริเวณพื้นที่เดียวกัน ทั้งการบริหารจัดการ และการเรียนการสอนก็เป็นภารกิจของมหาวิทยาลัยทั้งสิ้น

2.3 มหาวิทยาลัยสหวิทยาเขต เป็นมหาวิทยาลัยที่มีภารกิจแบบมหาวิทยาลัยอย่างที่ 2.2 ต่างกันแต่เพียงว่า มหาวิทยาลัยแบบที่ 2.3 นี้กระจายพื้นที่ของภารกิจในนามของมหาวิทยาลัยออกไปในหลายพื้นที่ แต่ละพื้นที่จะเรียกว่าวิทยาเขต มหาวิทยาลัยหนึ่ง ๆ ในแบบนี้ อาจจะมีวิทยาเขตกระจายอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ แต่ทุก ๆ วิทยาเขตต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัย

2.4 มหาวิทยาลัยเฉพาะทาง หมายถึงมหาวิทยาลัยที่เปิดทำการศึกษาเฉพาะทางในสาขาใดสาขาหนึ่ง เช่น มหาวิทยาลัยรุกกี เป็นมหาวิทยาลัยที่สอนเฉพาะทางด้านวิศวกรรมศาสตร์เท่านั้น (ปัจจุบันนี้ได้เปลี่ยนสถานภาพเป็นสถาบันเทคโนโลยีแห่งอินเดีย แห่งที่ 7 )

2.5 มหาวิทยาลัยเปิด เป็นมหาวิทยาลัยที่จัดการเรียนการสอนแบบการศึกษาทางไกลให้กับนักศึกษา โดยไม่จำเป็นต้องเข้าชั้นเรียน

2.6 มหาวิทยาลัยรัฐบาลกลาง หมายถึง มหาวิทยาลัยที่จัดตั้งขึ้นและอยู่ภายใต้สังกัดของรัฐบาลกลาง (The Government of India)

2.7 มหาวิทยาลัยรัฐบาลท้องถิ่น หมายถึง มหาวิทยาลัยที่จัดตั้งขึ้นและอยู่ภายใต้สังกัดของรัฐบาลท้องถิ่น (The Government of State)

2.8 มหาวิทยาลัยกินนอน หมายถึงมหาวิทยาลัยที่มีหอพักให้กับนักศึกษาที่เข้ามาศึกษาภายในมหาวิทยาลัยนั้น ๆ การเรียนการสอน ความเป็นอยู่ จะเป็นไปภายในมหาวิทยาลัย

2.9 มหาวิทยาลัยจัดการเรียนการสอน หมายถึง มหาวิทยาลัยที่มีหน้าที่จัดการเรียน การสอนให้กับนักศึกษาโดยมหาวิทยาลัยเอง

2.10 สถาบันอุดมศึกษาเทียบเท่ามหาวิทยาลัย หมายถึง สถาบันอุดมศึกษาที่มีชื่อเรียกเป็นอย่างอื่น แต่มีสภาพเป็นอิสระและมีศักดิ์และสิทธิ์ เทียบเท่ามหาวิทยาลัยทุกประการ
สถาบันอุดมศึกษาระดับมหาวิทยาลัย หรือที่มีชื่อเรียกเป็นอย่างอื่น แต่มีสถานะเทียบเท่ามหาวิทยาลัย เป็นสถาบันที่ถูกจัดตั้งขึ้นโดยรัฐบาลแห่งอินเดีย (รัฐบาลกลาง) หรือรัฐบาลแห่งรัฐ (รัฐบาลท้องถิ่น) โดยการตราเป็นพระราชบัญญัติว่าด้วยสถาบันการศึกษานั้นจะต้องผ่านรัฐสภาแห่งอินเดีย ถ้าหากเป็นสถาบันที่ถูกจัดตั้งขึ้นและอยู่ภายใต้สังกัดของรัฐบาลแห่งรัฐ (รัฐบาลท้องถิ่น) พ.ร.บ. ก็จะต้องผ่านสภานิติบัญญัติของรัฐนั้น ๆ

สถาบันอุดมศึกษาที่มีการจัดตั้งในลักษณะเช่นนี้จะเป็นองค์กรอิสระ และมีอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ทุกประการ ซึ่งโดยทั่ว ๆ ไปแล้ว สถาบันอุดมศึกษาระดับมหาวิทยาลัยนี้ จะมีอำนาจในการจัดการศึกษา ค้นคว้าวิจัย และถ่ายทอดความรู้ที่ได้มาให้แก่ชุมชนและสังคมในเขตพื้นที่รับผิดชอบทางการศึกษาตามที่กฎหมายกำหนด อำนาจดังกล่าวนี้ จะถูกใช้ไปในลักษณะของการสร้างหลักสูตรการศึกษาในสาขาวิชาต่าง ๆ และระดับต่าง ๆ มีการจัดการเรียน การสอน การวิจัย การสอบ การให้ปริญญาบัตรแก่ผู้จบการศึกษาตามหลักสูตร รวมทั้งการมีอำนาจในการออกกฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อกำกับควบคุมสถาบันการศึกษาที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแล ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการศึกษาของรัฐหรือเอกชน หรืออำนาจอื่น ๆ ที่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษานั้น ๆ

ในปัจจุบันนี้สถาบันการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยและเทียบเท่ามหาวิทยาลัยมีอยู่ทั้งหมด 244 แห่ง กระจายอยู่ตามรัฐและดินแดนสหภาพ

สถาบันอุดมศึกษาทั้ง 244 แห่งนี้ มีทั้งที่สังกัดกับรัฐบาลกลาง และที่สังกัดกับรัฐบาลท้องถิ่น ตามลักษณะของการจัดตั้งว่าจัดตั้งขึ้นโดยรัฐบาลกลางหรือรัฐบาลแห่งรัฐ

ในแต่ละมหาวิทยาลัย จะมีการแบ่งส่วนงานในด้านการจัดการศึกษาออกไปตามกลุ่มวิชาที่เรียกว่า คณะ (Faculty) หรือ สำนัก (School) หรือ วิทยาลัย (College) แล้วแต่ชื่อเรียกของแต่ละมหาวิทยาลัย แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเรียกว่าคณะ โดยมักนิยมแบ่งออกเป็นคณะต่าง ๆ ดังนี้

- คณะศิลปศาสตร์ (Faculty of Arts)
- คณะวิทยาศาสตร์ (Faculty of Science)
- คณะพาณิชยศาสตร์ (Faculty of Commerce)
- คณะศึกษาศาสตร์ (Faculty of Education)
- คณะศิลปกรรมศาสตร์ (Faculty of Fine Arts)
- คณะนิติศาสตร์ (Faculty of Law) ฯลฯ

ชื่อคณะนี้ บางแห่งอาจจะมีชื่อเรียกต่างกัน แต่โดยความหมายเหมือนกันเช่น คณะศิลปศาสตร์ บางแห่งอาจจะตั้งชื่อเป็น คณะมนุษยศาสตร์ (Faculty of Humanities) หรือบางแห่งเป็นคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ (Faculty of Humanities & Social Science) แม้ชื่อเรียกคณะอาจจะต่างกัน แต่ชื่อปริญญาบัตรจะเหมือนกัน คือ จบปริญญาตรี จะได้ปริญญาศิลปศาสตร์บัณฑิต (Bachelor of Arts = B.A.) ปริญญาโทก็จะเป็น ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต (Master of Arts = M.A.)

ส่วนมหาวิทยาลัยเฉพาะทาง ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วงหลัง เมื่อการศึกษาวิชาชีพได้รับความนิยมสูง จึงทำให้เกิดมหาวิทยาลัยเฉพาะทางขึ้นมามาก การแบ่งส่วนงานทางวิชาการ ก็มีลักษณะเฉพาะที่ไม่ค่อยเหมือนกัน เช่น มหาวิทยาลัยทางด้านการเกษตร ก็จะมีการแบ่งส่วนงานวิชาการแตกต่างออกไป ชื่อเรียกส่วนงานด้านวิชาการนี้ก็จะไม่เหมือนกัน บางแห่งเรียกเป็นสำนัก (School) บางแห่งเรียกว่าวิทยาลัย (College)

ในแต่ละคณะนั้นจะแบ่งส่วนวิชาการย่อยออกไปเป็นภาควิชา (Department) ตัวอย่างเช่น คณะศิลปศาสตร์ ก็จะมีการแบ่งออกเป็นภาควิชา ซึ่งโดยทั่ว ๆ ไปก็จะประกอบด้วยภาควิชาเหล่านี้ อาทิเช่น

ภาควิชาประวัติศาสตร์ (Department of History)
ภาควิชาปรัชญา (Department of Philosophy)
ภาควิชาภาษาอังกฤษ (Department of English)
ภาควิชาสังคมวิทยา (Department of Sociology)
ภาควิชาเศรษฐศาสตร์ (Department of Economics)
ภาควิชารัฐศาสตร์ (Department of Political Science) ฯลฯ

มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งอาจจะมีหลักสูตรที่สัมพันธ์กับท้องถิ่นนั้น ๆ แล้วก็มีการจัดตั้งภาควิชาเฉพาะขึ้น เช่น ภาควิชาภาษาที่เป็นของท้องถิ่นนั้น ๆ หรือเป็นภาควิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับบุคคลสำคัญของท้องถิ่นนั้น ๆ เช่น ภาควิชาคานธีศึกษา (Department of Gandian Study)

หลักสูตรการศึกษาระดับอุดมศึกษา
หลักสูตรการศึกษาระดับปริญญาตรี จะถูกกำหนดตามโครงสร้างของคณะวิชาที่ต้องการศึกษา นั่นคือ นักศึกษาจะต้องสมัครเข้าศึกษาในคณะวิชาใดคณะวิชาหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นคณะศิลปศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะพาณิชยศาสตร์ ฯลฯ

แต่ละคณะจะมีโครงสร้างของหลักสูตรในคณะนั้น ๆ ซึ่งโดยทั่วไปจะประกอบไปด้วยวิชาเอก (Major Subjects) และวิชาศึกษาทั่วไป (General Education) และในหลาย ๆ มหาวิทยาลัยให้มีวิชาเลือก (Elective Subject)

วิชาเอกเป็นวิชาที่นักศึกษาจะต้องเลือกว่า จะเรียนวิชาอะไรบ้างให้เป็นวิชาเอกของตน ซึ่งมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ของอินเดียจะให้นักศึกษาเลือกวิชาเอก 3 วิชา ตัวอย่างเช่น ถ้านักศึกษาเข้าเรียนในคณะศิลปศาสตร์ นักศึกษาก็จะต้องเลือกเรียนวิชาที่มีอยู่ในคณะศิลปศาสตร์ 3 วิชาให้เป็นวิชาเอก นักศึกษาไทยที่ไปศึกษาระดับปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยอินเดีย สายศิลปศาสตร์จะมีวิชายอดฮิตคือ PPE ได้แก่การเลือก

P ตัวที่ 1 = Political Science (รัฐศาสตร์)
P ตัวที่ 2 = Philosophy (ปรัชญา) และ
E ตัวสุดท้าย = Economics (เศรษฐศาสตร์)

เมื่อกำหนดได้แล้วว่าจะเลือกเรียนวิชารัฐศาสตร์ ปรัชญา และเศรษฐศาสตร์ ให้เป็นวิชาเอก ก็จะต้องลงทะเบียนเรียนกระบวนวิชาของภาควิชารัฐศาสตร์ ภาควิชาปรัชญา และภาควิชาเศรษฐศาสตร์ ตามหลักสูตรที่ภาควิชานั้น ๆ เปิดสอนให้กับนักศึกษาแต่ละชั้นปี

จากตัวอย่างของนักศึกษาที่เลือก PPE เป็นวิชาเอกก็คือ ในชั้นปีที่ 1 ก็จะต้องลงทะเบียนเรียนวิชาเอกคือ รัฐศาสตร์ ปรัชญา และเศรษฐศาสตร์ ในระดับชั้นปีที่ 1 ตามที่ภาควิชานั้น ๆ กำหนด ในชั้นปีที่ 2 และ 3 ก็เช่นเดียวกัน ก็ต้องลงทะเบียนเรียนกระบวนวิชาของภาควิชานั้น ๆ ตามที่กำหนดให้ครบหลักสูตร 3 ปี เมื่อเรียนจบตามข้อกำหนดเช่นนี้ก็จะได้ชื่อว่าจบปริญญาตรีวิชาเอก รัฐศาสตร์ ปรัชญา และเศรษฐศาสตร์ (PPE)

ส่วนวิชาศึกษาทั่วไปหรือเรียกกันว่า GE นั้นเป็นวิชาบังคับเรียนที่นักศึกษาทุกคนจะต้องเรียน มหาวิทยาลัยของอินเดียเกือบทุกแห่งจะมีวิชา GE บังคับคล้าย ๆ กันคือ วิชาศาสนาและวัฒนธรรมอินเดีย ชื่อเรียกกระบวนวิชาอาจจะแตกต่างกันไป แต่เนื้อหาสาระจะเป็นการศึกษาเพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจในระบบคุณค่าแบบอินเดีย วิชา GE นี้ อาจจะมี 1 หรือ 2 กระบวนวิชา ขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของแต่ละมหาวิทยาลัย โดยทั่วไปวิชา GE จะถูกกำหนดให้ลงทะเบียนเรียนในปีที่ 1 ของการศึกษา

สำหรับวิชาเลือกนั้น จะกำหนดเงื่อนไขไว้กว้าง ๆ ในการเลือก เช่น ถ้านักศึกษาในสายศิลปศาสตร์ อาจจะมีข้อกำหนดให้เลือกกระบวนวิชาในสายวิทยาศาสตร์ หรือสายภาษาที่ไม่ซ้ำกับวิชาเอกที่เรียนอยู่ จุดมุ่งหมายของกระบวนวิชาเลือก ก็เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนในกระบวนวิชาที่จะทำให้เกิดความรู้ในมิติที่กว้างขึ้น

ในหลักสูตรปริญญาตรีซึ่งมีระยะเวลา 3 ปีนี้ มหาวิทยาลัยอินเดียทั่ว ๆ ไปจะมีหลักสูตรการเรียนให้เลือกอยู่ 2 ระดับ คือ

1. หลักสูตรบัณฑิตเกียรตินิยม (Honours degree)
2. หลักสูตรบัณฑิตธรรมดา (Pass degree)

ตามระบบการศึกษาในระดับปริญญาตรีของอินเดียนั้น การได้รับปริญญาเกียรตินิยม ไม่ใช่เพราะได้คะแนนสูงแล้วมหาวิทยาลัยให้ปริญญาเกียรตินิยม ดังที่ระบบการศึกษาของไทยปฏิบัติ แต่ความหมายของปริญญาเกียรตินิยมในระบบการศึกษาของอินเดียนั้น มีความหมายว่า นักศึกษาผู้นั้นต้องลงทะเบียนเรียนตามหลักสูตรปริญญาเกียรตินิยม ที่มหาวิทยาลัยกำหนดไว้ คือ หลักสูตรปริญญาเกียรตินิยมจะมีความลุ่มลึกทางวิชาการมากกว่าหลักสูตรธรรมดา และนักศึกษาผู้มีสิทธิ์ลงทะเบียนเรียนปริญญาเกียรตินิยม ก็ต้องมีคุณสมบัติตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด คือ ต้องมีผลการเรียนระดับปริญญาตรีปีที่ 1 อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด เพราะฉะนั้นผู้ที่ต้องการเรียนให้ได้ปริญญาเกียรตินิยมจะต้องเป็นผู้เรียนดี แต่ไม่จำเป็นที่คนเรียนดีทุกคนจะต้องจบปริญญาเกียรตินิยม

การเรียนหลักสูตรเกียรตินิยมนี้มีเฉพาะในวิทยาลัยใหญ่ ๆ เท่านั้น เพราะเหตุนี้เวลาวิทยาลัยต่างๆ ประกาศประชาสัมพันธ์ชื่อเสียงของวิทยาลัย คำประกาศที่วิทยาลัยแต่ละแห่งนิยมประกาศคือ มีหลักสูตรเกียรตินิยมให้นักศึกษาได้เรียน การประชาสัมพันธ์ด้วยข้อความเช่นนี้ ก็เพื่อยืนยันว่ามาตรฐานการเรียนการสอนของวิทยาลัยนั้นสูง ถึงระดับที่สามารถสอนกระบวนวิชาที่เป็นหลักสูตรเกียรตินิยมได้

การสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีนั้น นอกจากจะมีการจำแนกเป็นปริญญาตรีเกียรตินิยมและปริญญาตรีธรรมดาแล้ว นักศึกษาผู้จบแต่ละคนก็จะถูกจัดให้มีระดับ (Division) ของการจบการศึกษา ซึ่งในระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษาของอินเดียได้กำหนดระดับของการจบการศึกษาไว้ 3 ระดับ คือ

ระดับที่ 1 (First Division)
ระดับที่ 2 (Second Division)
ระดับที่ 3 (Third Division)

ระดับการจบการศึกษานี้ ถูกกำหนดโดยคะแนนรวมของผลการเรียนตลอดหลักสูตร ซึ่งมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งอาจจะมีเกณฑ์กำหนดว่าจะต้องเป็นคะแนนเท่าใด ได้ระดับไหน แต่โดยทั่ว ๆ ไปแล้ว จะมีเกณฑ์กำหนดดังนี้ คือ

60 % ขึ้นไป = ระดับที่ 1
45 - 59 % = ระดับที่ 2
35 - 44 % = ระดับที่ 3
ต่ำกว่า 35 % จะไม่จบการศึกษา

มาตรฐานการสอบผ่านของแต่ละกระบวนวิชานั้น โดยทั่วไปจะกำหนดไว้ว่า ต้องไม่ต่ำกว่า 20 % แต่คะแนนรวมของทุกวิชาจะต้องไม่ต่ำกว่า 35 % จึงจะถือว่าเรียนจบหลักสูตร

ระบบการให้คะแนนนี้ ไทยกับอินเดียมีความแตกต่างกันมาก ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะระบบการสอบแตกต่างกัน ในขณะที่อินเดียยังเป็นการสอบแบบอัตนัยที่นักศึกษาจะต้องเขียนคำตอบแบบบรรยายยาว ๆ แต่ในขณะที่ไทยมักจะเป็นการสอบแบบปรนัย และเกณฑ์ในการให้คะแนนก็แตกต่างกัน จึงก่อให้เกิดปัญหาในการเทียบเคียงความหมายของระดับคะแนนระหว่างไทยกับอินเดียอยู่เสมอ

เมื่อนำผลการเรียนของนักศึกษาที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยในประเทศไทยไปใช้ในอินเดีย อินเดียก็จะแปลกใจว่าทำไมจึงได้คะแนนสูงมากเหลือเกิน เช่น จบปริญญาตรีเมืองไทยได้คะแนนประมาณ 60 - 70 % ซึ่งไทยเราเองถือเป็นคะแนนที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับผู้อื่นในการสอบระดับเดียวกัน แต่เมื่ออินเดียเห็นก็จะนึกว่าเป็นคะแนนที่สูงมาก เพราะระบบการประเมินผลของเขา ใครได้คะแนนถึง 60 % ก็นับว่าสูงสุดแล้ว ในทางกลับกัน เมื่อมีนักศึกษาจบมาจากมหาวิทยาลัยอินเดียได้คะแนนประมาณ 40 - 50 % ซึ่งนับว่าเป็นคะแนนที่สูงมากแล้ว แต่คนไทยจะตกใจว่าจบการศึกษามาได้อย่างไร ด้วยคะแนนเพียงแค่นี้

ในเอกสารแสดงผลการศึกษาและในปริญญาบัตรจะมีรายละเอียดเพื่อแสดงว่า บัณฑิตที่จบการศึกษามานั้น จบการศึกษาในระดับใด และเป็นปริญญาประเภทใด - เกียรตินิยมหรือธรรมดา

ตามระบบการศึกษาของอินเดีย การจบปริญญาตรีระดับที่ 3 จะมีค่าและความหมายเท่ากับไม่จบ เพราะส่วนใหญ่แล้วเวลาจะไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท ก็จะต้องจบปริญญาตรีไม่ต่ำกว่าระดับที่ 2 หรือถ้าจะไปสมัครทำงาน ตำแหน่งงานส่วนใหญ่ก็จะระบุว่าต้องจบปริญญาตรี ไม่ต่ำกว่าระดับที่ 2 หรือบางตำแหน่งงานจะกำหนดไว้เลยว่า ต้องจบการศึกษาปริญญาตรีระดับที่ 1 เท่านั้น เพราะเหตุนี้การจบการศึกษาระดับปริญญาตรีในระดับที่ 3 จึงไม่มีความหมายที่จะนำไปศึกษาต่อหรือสมัครเข้าทำงาน

ที่กล่าวมานี้เป็นไปในความหมายของหลักสูตรปริญญาตรีสายวิชาการทั่ว ๆ ไป แต่ถ้าเป็นหลักสูตรปริญญาตรีสายวิชาชีพ ก็อาจจะมีรายละเอียดของระยะเวลาการศึกษา และเงื่อนไขของการศึกษาที่แตกต่างกันไปตามลักษณะวิชาชีพนั้น ๆ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วหลักสูตรการศึกษาสายวิชาชีพจะอยู่ในระยะเวลา 4-5 ปี ตัวอย่างเช่น

วิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต หลักสูตร 4 ปี
พยาบาลศาสตร์บัณฑิต หลักสูตร 4 ปี
แพทย์ศาสตร์บัณฑิต หลักสูตร 5 ปี

หลักสูตรระดับปริญญาตรี จะเป็นไปภายใต้กรอบวิชาการที่แต่ละคณะหรือหน่วยงานระดับคณะกำหนดขึ้น วิทยาลัยที่จัดการศึกษาระดับปริญญาตรีจะเป็นผู้ดูแลจัดการให้นักศึกษาแต่ละคนได้ศึกษาตามหลักสูตรที่มหาวิทยาลัยกำหนด

ส่วนหลักสูตรระดับปริญญาโทนั้น จะเป็นไปเฉพาะภายในกรอบวิชาของภาควิชาที่จะกำหนดรายวิชาว่า จะต้องลงทะเบียนเรียนกระบวนวิชาอะไรบ้าง ทั้งที่เป็นกระบวนวิชาบังคับและกระบวนวิชาเลือกตามระดับชั้นที่กำหนด ภาควิชาแต่ละภาควิชาจะเป็นผู้รับผิดชอบจัดการเรียน การสอน ตามหลักสูตรที่มหาวิทยาลัยวางไว้

ส่วนการศึกษาระดับก่อนปริญญาเอก (M.Phil) และระดับปริญญาเอก (Ph.D.) จะเน้นไปที่การศึกษาวิจัยเป็นหลัก จึงไม่มีหลักสูตรที่ชัดเจน


ระบบการคัดเลือกนักศึกษาเข้าสู่สถาบันอุดมศึกษา
สถาบันอุดมศึกษาของอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นวิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัย รวมทั้งสถาบันอุดมศึกษาที่เทียบเท่าอื่น ๆ ใช้ระบบการคัดเลือกที่เรียกว่า "แอ็ดมิชชัน" (Admission) มาตั้งแต่เริ่มต้นระบบมหาวิทยาลัยในยุคอาณานิคม

คำว่า "แอ็ดมิชชัน" เป็นคำพูดทับศัพท์ภาษาอังกฤษที่มีใช้ในภาษาท้องถิ่นของอินเดียเกือบทุกภาษา ทั้งนี้เพราะระบบการคัดเลือกนักศึกษาเข้าศึกษา เป็นส่วนหนึ่งของระบบการศึกษาของอินเดีย ที่ประชาชนชาวอินเดียต่างคุ้นเคยเป็นอย่างดีว่า "แอ็ดมิชชัน" ในภาษาอินเดียหมายถึงการได้เข้าเรียนในสถาบันการศึกษา

การคัดเลือกเข้าศึกษาระดับปริญญาตรี
การสมัครเข้าศึกษาระดับปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในส่วนของปริญญาตรีสายศิลปศาสตร์บัณฑิต (B.A.) วิทยาศาสตร์ (B.Sc.) และพาณิชยศาสตร์บัณฑิต (B.Com.) จะไม่ยากในการได้แอ็ดมิชชัน ยกเว้นเฉพาะวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในเมืองใหญ่ ซึ่งมีผู้สมัครขอแอ็ดมิชชันเป็นจำนวนมากกว่าที่ตั้งรับ แต่ถ้าผู้ต้องการศึกษาไม่เลือกวิทยาลัยแล้ว ก็จะได้เข้าเรียนตามที่ต้องการ เพราะมีวิทยาลัยจำนวนมากเปิดรับโดยไม่จำกัดจำนวน

การสมัครเข้าเรียนระดับปริญญาตรีสายวิชาการทั่วไปนี้ มีลักษณะคล้าย ๆ กับการสมัครเข้าเรียนในโรงเรียนมัธยมศึกษาของไทยคือ ถ้าไม่เลือกวิทยาลัย ก็ไม่มีปัญหาในการเข้าเรียน แต่ที่เป็นปัญหาเพราะมีกระแสค่านิยมที่ต้องการแอ็ดมิชชันเข้าสู่วิทยาลัยที่มีชื่อเสียง และตั้งอยู่ในเขตเมืองใหญ่ ๆ

ส่วนแอ็ดมิชชันเพื่อเข้าเรียนในวิทยาลัยสายวิชาชีพ เช่น วิศวกรรมศาสตร์ (B.E.) จะได้ยาก เพราะมีความต้องการสูงและมีจำนวนรับจำกัด ในกรณีเช่นนี้ การได้แอ็ดมิชชันก็เป็นเรื่องยาก นักเรียนที่มีผลการเรียนดี ๆ เท่านั้น ที่จะได้แอ็ดมิชชันเข้าศึกษาในวิทยาลัยสายวิชาชีพที่พ่อแม่ผู้ปกครองนิยมส่งบุตรหลานเข้าศึกษา

เพื่อแก้ปัญหาการแข่งขันกันเพื่อให้ได้แอ็ดมิชชันในสถาบันการศึกษาที่เป็นยอดนิยม เช่น สถาบันเทคโนโลยีแห่งอินเดีย (Indian Institute of Technology = IIT) จึงได้เริ่มใช้ระบบการสอบที่เรียกว่า แอ็ดมิชชัน เทสต์ (Admission Test) ทั้งนี้ก็เพราะในแต่ละปีจะมีผู้สมัครขอแอ็ดมิชชันเป็นจำนวนมาก จากข้อมูลผู้สมัครขอแอ็ดมิชชันที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งอินเดีย นิวเดลี ในปีการศึกษา 2001 - 2 มีจำนวนมากถึง 100,000 คน ขณะที่สถาบันสามารถรับได้เพียงแค่ 2,000 คน เท่านั้น นั่นคือใน 50 คนจะมีผู้ได้แอ็ดมิชชันเพียง 1 คน การคัดเลือกโดยดูจากผลการเรียนในระดับมัธยมศึกษาอาจจะไม่รัดกุมพอ เพราะนักเรียนมาจากที่ต่าง ๆ กัน ทางสถาบันเทคโนโลยีแห่งอินเดียจึงจัดให้มีแอ็ดมิชชันเทสต์ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการให้แอ็ดมิชชันแก่นักศึกษา
อย่างไรก็ตาม การแข่งขันกันเพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาก็มีทางเลือกให้เสมอ ถ้าจะยกกรณีการศึกษาทางด้านวิศวกรรมศาสตร์เป็นตัวอย่างก็จะพบว่า มีสถาบันอุดมศึกษาทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ให้เลือก เช่น ถ้าไม่ได้แอ็ดมิชชันเข้าศึกษาในสถาบันเทคโนโลยีแห่งอินเดีย ก็ยังมีสถาบันการศึกษาทางด้านนี้ที่รองลงไปคือ สถาบันเทคโนโลยีแห่งชาติ (National Intitute of Technology = NIT) หรือ วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ (Engineering College) ที่มีอยู่ทั่วอินเดีย แต่ทั้งนี้ ปัญหาก็อยู่ที่กระแสค่านิยมเรื่องสถาบันที่ไทยและอินเดียก็มีเหมือนกัน

การคัดเลือกเข้าศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา
การศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา หมายถึง การศึกษาระดับปริญญาโท (Master degree) ปริญญาก่อนปริญญาเอก (Master of Philosophy degree) และปริญญาเอก (Doctor of Philosophy degree) ในระดับบัณฑิตศึกษานี้ การได้แอ็ดมิชชันจะยากขึ้น ทั้งนี้ก็เพราะข้อกำหนดคุณสมบัติของการศึกษาต่อระดับปริญญาโท ปริญญาก่อนปริญญาเอกและปริญญาเอก จะกำหนดจากคุณสมบัติของผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีมาว่า จะต้องจบการศึกษามาจากสาขาใดบ้าง และจะต้องมีผลการศึกษาระดับใด แต่เกณฑ์ขั้นต่ำก็จะต้องจบปริญญาตรีขั้นที่ 2 เป็นอย่างต่ำ บางสาขาวิชาที่มีการแข่งขันสูง อาจจะกำหนดให้จบปริญญาตรี ขั้นที่ 1

อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การศึกษาระดับปริญญาโทขึ้นไปได้แอ็ดมิชชันยาก ก็เพราะ การศึกษาระดับนี้ส่วนใหญ่จะอยู่ในสถาบันอุดมศึกษาระดับมหาวิทยาลัย หรือไม่ก็เป็นวิทยาลัยขนาดใหญ่ที่มีการจัดการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา (Post-Graduate College) ซึ่งมีจำนวนน้อย ประกอบกับการให้แอ็คมิสชั่นแก่ผู้สมัครเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาโทของแต่ละมหาวิทยาลัย จะมีข้อกำหนดและขั้นตอนในการคัดเลือกที่แตกต่างกันไป ไม่มีเกณฑ์มาตรฐานที่แน่นอน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชื่อเสียงและมาตรฐานทางวิชาการของมหาวิทยาลัยนั้น ๆ มหาวิทยาลัยใดที่มีชื่อเสียงและมีผู้สมัครเข้าเรียนต่อเป็นจำนวนมาก ขั้นตอนในการคัดเลือกก็ซับซ้อนและยุ่งยาก ในขณะที่มหาวิทยาลัยใดไม่ได้รับความนิยมมากนัก ก็จะมีขั้นตอนที่ง่าย ๆ คล้าย ๆ กับระดับปริญญาตรี

ส่วนการศึกษาระดับก่อนปริญญาเอกและระดับปริญญาเอก ก็จะมีวิธีการที่จำเพาะลงไปในแต่ละสาขาวิชา โดยส่วนใหญ่แล้วการคัดเลือกจะดูจากเค้าโครงการทำวิจัยที่นักศึกษาผู้สมัครจะต้องเสนอให้กับทางคณาจารย์สาขาวิชานั้น ๆ ในแต่ละมหาวิทยาลัย

ระบบการเรียนการสอน
ระบบการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยในอินเดีย ยังเป็นไปตามรูปแบบที่วางไว้ตั้งแต่แรกเริ่มระบบมหาวิทยาลัยในยุคอาณานิคมของอังกฤษคือ มหาวิทยาลัยจะเป็นผู้กำหนดหลักสูตรการเรียนและเนื้อหาสาระ กระบวนวิชาของแต่ละหลักสูตร
ในหลักสูตรหรือโปรแกรมการเรียนของแต่ละหลักสูตร มหาวิทยาลัยจะกำหนดว่ามีรายวิชาอะไรบ้าง แต่ละรายวิชาประกอบด้วยหัวข้ออะไรบ้าง ตลอดทั้งกำหนดหนังสือที่จะอ่านประกอบการศึกษาในรายวิชานั้น ๆ

อาจารย์ผู้สอนประจำกระบวนวิชาจะสอนตามหัวข้อที่ถูกกำหนดไว้ และพยายามหาวิธีการสอนให้นักศึกษาเข้าใจเนื้อหาสาระของวิชาที่ตนเองสอนให้มากที่สุด ทั้งนี้ก็เพราะอาจารย์ผู้สอนมีหน้าที่เฉพาะการสอนเท่านั้น ไม่มีอำนาจในการสอบประเมินผลการเรียนของนักศึกษาที่ตนเองสอน อาจารย์ผู้สอนและนักศึกษาผู้เรียนต่างก็ไม่รู้ว่ามหาวิทยาลัยจะออกข้อสอบอย่างไร ในหัวข้อใดบ้าง เพราะฉะนั้นทั้งอาจารย์และนักศึกษาจะต้องทำการเรียนการสอนไปตามหัวข้อในแต่ละรายวิชาให้ครบทุกหัวข้อ

ด้วยเงื่อนไขที่เป็นเช่นนี้ บรรยากาศในการเรียนจึงไม่ใช่อยู่ที่การนั่งฟังหรือจดจำสิ่งที่อาจารย์บอกเพียงอย่างเดียว แต่ต้องทำความเข้าใจให้ได้ว่าหัวข้อนั้น ๆ สาระสำคัญคืออะไร ถ้าอาจารย์ผู้สอนยังไม่สามารถอธิบายให้กระจ่างชัดได้ ก็ต้องซักถามให้กระจ่างจนพอใจ และด้วยเงื่อนไขนี้ตัวอาจารย์ผู้สอนเองก็ต้องแสดงความสามารถในการสอนด้วยการหาวิธีการที่จะทำให้นักศึกษาเข้าใจบทเรียนอย่างลุ่มลึกที่สุด เพราะถ้าหากนักศึกษาสอบได้คะแนนไม่ดี ก็จะเป็นผลเสียต่อชื่อเสียงของอาจารย์ เพราะจะไม่ได้ความเชื่อถือจากนักศึกษา แต่ถ้าหากอาจารย์ท่านใดสอนให้นักศึกษาเข้าใจเนื้อหาสาระของวิชาได้ดี ก็จะได้รับการยอมรับและยกย่องในหมู่นักศึกษา

บรรยากาศเช่นนี้แตกต่างไปจากมหาวิทยาลัยในสังคมไทยมาก เพราะในมหาวิทยาลัยไทย นักศึกษาจะไม่ค่อยสนใจว่าอาจารย์ท่านใดสอนดีหรือไม่ดี แต่จะสนใจว่าอาจารย์ท่านใดให้เกรดดีหรือคะแนนสูงแก่นักศึกษา แม้ขณะที่เรียนก็ไม่สนใจว่าอาจารย์พูดผิดหรือถูก สนใจอยู่แต่เพียงว่าอาจารย์พูดอะไรแล้วจะได้จำไปตอบคำถาม (ข้อสอบ) ที่อาจารย์เป็นผู้กำหนดขึ้น ทั้งนี้ก็เพราะในระบบมหาวิทยาลัยไทย อาจารย์เป็นผู้มีอำนาจในการสอน สอบ และประเมินผลการเรียนด้วยการตรวจข้อสอบของนักศึกษาที่ตนเองสอน แล้วก็วินิจฉัยให้คะแนนนักศึกษาด้วยตนเอง ด้วยเงื่อนไขเช่นนี้จึงทำให้อาจารย์ในมหาวิทยาลัยไทยมีอำนาจเหนือนักศึกษา ประดุจดังพระผู้เป็นเจ้าที่มีอำนาจกำหนดชะตาชีวิตของนักศึกษา

นักศึกษามหาวิทยาลัยอินเดีย จะให้ความสำคัญกับความรู้และความสามารถในการสอนของอาจารย์สูงมาก โดยเฉพาะการศึกษาระดับปริญญาตรี นักศึกษาจะต้องหาข้อมูลว่าในกระบวนวิชาหนึ่ง ๆ ซึ่งมีอาจารย์สอนหลาย ๆ คน นั้น อาจารย์ท่านใดสอนดีที่สุด ก็จะแห่กันไปเรียนในห้องที่อาจารย์ท่านนั้นสอน จนปรากฏว่าอาจารย์ที่มีความรู้ดี มีความสามารถสอนให้เข้าใจได้ง่ายก็จะมีนักศึกษาไปลงทะเบียนเรียนเป็นจำนวนมาก ขณะที่อาจารย์บางท่านเกือบจะไม่มีนักศึกษาไปลงทะเบียนเรียน

ปรากฏการณ์เช่นนี้เป็นสิ่งที่น่าหวาดกลัวมากสำหรับอาจารย์ใหม่ที่ยังไม่เป็นที่รู้จักของนักศึกษา เพราะจะเกิดความกลัวว่าจะไม่มีนักศึกษามาลงทะเบียนเรียนในห้องที่ตนเองสอน ด้วยสถานการณ์เช่นนี้ทำให้อาจารย์ใหม่ต้องหาสิ่งอื่น ๆ มาชดเชยเช่น เอาใจใส่ดูแลนักศึกษาอย่างดีด้วยการหาหนังสือเรียนให้นักศึกษายืมหรือช่วยติวพิเศษให้ เพื่อช่วยเหลือลูกศิษย์ของตนเองให้สอบได้คะแนนดี

บรรยากาศและเงื่อนไขเช่นที่กล่าวมานี้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์-ศิษย์ เป็นไปด้วยความเกื้อกูลต่อกันและกันเป็นอย่างดี มีอาจารย์หลาย ๆ ท่านที่แม้จะมีประสบการณ์ในการสอนมานานจนมีชื่อเสียงในหมู่ลูกศิษย์แล้ว แต่ท่านก็ยังอนุเคราะห์ศิษย์ด้วยการช่วยเหลือเกื้อกูลในเรื่องต่าง ๆ ท่านให้เหตุผลว่า ที่ทำเช่นนี้เพราะเคยทำสมัยที่มาเป็นอาจารย์ใหม่ ๆ และเกรงว่าจะไม่มีลูกศิษย์มาเรียนด้วย จึงต้องทำทุก ๆ อย่างให้ลูกศิษย์พอใจ แม้ต่อมาจะมีชื่อเสียงแล้วก็ยังถือปฏิบัติเหมือนเดิม เพราะทำจนเคยชินไปแล้ว

ระบบการเรียนของอินเดียที่ให้อาจารย์มีหน้าที่สอนอย่างเดียวนี้ แม้จะมีส่วนดีอยู่มากตรงที่ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์และลูกศิษย์เป็นความสัมพันธ์เชิงเกื้อกูล ไม่ใช่ความสัมพันธ์เชิงอำนาจเหมือนในระบบการศึกษาของไทย แต่ก็มีส่วนด้อยอยู่เหมือนกัน ในแง่ของการทำให้นักศึกษาไม่เห็นความสำคัญของอาจารย์ แล้วนำไปสู่การมองข้ามการเรียนรู้จากครู-อาจารย์ ทั้งนี้ก็เพราะเมื่ออาจารย์ไม่มีอำนาจในการออกข้อสอบและตรวจข้อสอบ อำนาจของอาจารย์เหนือลูกศิษย์ก็ไม่มีเลย

มีนักศึกษาอินเดียจำนวนมากที่คิดว่าการเรียนให้ได้คะแนนสูง ๆ ไม่เกี่ยวกับอาจารย์เลย เพราะสามารถไปหาซื้อหนังสือเก็งข้อสอบมาทบทวน และการเตรียมตัวสอบให้ดีมีความหมายดีกว่ามานั่งฟังอาจารย์สอน นักศึกษาอินเดียจำนวนมากจึงเป็นเพียงแค่นักสอบ โดยที่ไม่ต้องเป็นนักศึกษา ทั้งนี้ก็เพราะการเรียนมีความสำคัญน้อยกว่าการสอบ นักศึกษากลุ่มนี้ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเตรียมสอบโดยไม่สนใจการเรียนเลย และนี้เป็นปัญหาหนึ่งซึ่งก่อให้เกิดภาวะวิกฤตในระบบอุดมศึกษาของอินเดีย เพราะมหาวิทยาลัยอินเดียทำให้การเรียนเป็นเพียงแค่ส่วนย่อยของการสอบ แทนที่การสอบจะเป็นส่วนย่อยของการเรียน

ระบบการสอบ
ดังที่กล่าวไว้ในระบบการเรียน ถึงภาวะวิกฤตในระบบอุดมศึกษาของอินเดีย ที่การสอบสำคัญกว่าการเรียน ทั้งนี้ก็เพราะระบบอุดมศึกษาของอินเดียได้แยกการเรียนและการสอบออกจากกัน โดยให้อาจารย์แต่ละวิทยาลัยมีหน้าที่สอนอย่างเดียว โดยที่มหาวิทยาลัยมีหน้าที่จัดการสอบตั้งแต่ออกข้อสอบ ตรวจข้อสอบ และให้ปริญญาบัตรแก่ผู้สอบผ่านตามหลักสูตร

ระบบที่ทำให้มหาวิทยาลัยมีอำนาจด้วยเงื่อนใขของการควบคุมคณาจารย์และนักศึกษาผ่านการสอบนี้ มีผลทำให้หัวใจสำคัญของการศึกษาอยู่ที่การสอบ และภารกิจของมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยประเภทสหวิทยาลัย อยู่ที่การจัดการสอบให้สำเร็จลุล่วงไปตามกำหนดการที่วางใว้ในแต่ละปี ความสำเร็จและความล้มเหลวของผู้บริหารมหาวิทยาลัยก็วัดกันที่ความสามารถในการจัดการสอบ และการประกาศผลการสอบให้ได้ตามกำหนดเวลา

ระบบการสอบของแต่ละมหาวิทยาลัยจะรวมศูนย์อยู่ที่ฝ่ายการสอบของมหาวิทยาลัยที่ให้อาจารย์ที่ทำการสอนอยู่ในวิทยาลัยต่าง ๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัยนั้นเป็นผู้ออกข้อสอบส่งมาที่มหาวิทยาลัย แล้วจะมีคณะกรรมการคัดเลือกข้อสอบที่ส่งมาจากวิทยาลัยต่าง ๆ โดยใช้หลักสูตรที่มหาวิทยาลัยประกาศใช้เป็นกรอบกำหนดคัดเลือกข้อสอบที่ตรงตามหลักสูตร ในวิชาหนึ่งก็จะมีข้อสอบที่อาจารย์ผู้สอนในวิทยาลัยต่างๆ ส่งมาให้มหาวิทยาลัย แต่ละวิชาก็จะมีข้อสอบเป็นจำนวนหลายร้อยข้อ ที่ซ้ำ ๆ กัน คณะกรรมการระดับมหาวิทยาลัยจะเลือกเอาข้อสอบมาเป็นข้อสอบประจำปีเพียง 7 ข้อ เพื่อให้นักศึกษาที่ลงทะเบียนเรียนวิชานั้นเลือกตอบเพียง 5 ข้อ ข้อสอบทั้งหมดจะเป็นแบบอัตนัย โดยมีเวลาสอบแต่ละวิชา 3 ชั่วโมง

นักศึกษาจะต้องตอบข้อสอบแบบอัตนัยจำนวน 5 ข้อให้ได้ดีที่สุดคือ ต้องตรงประเด็นที่สุด ชัดเจนที่สุด และก็ครอบคลุมลุ่มลึกในเนื้อหาสาระนั้นมากที่สุด

เมื่อสอบเสร็จแล้ว มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งก็จะส่งกระดาษคำตอบของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยของตนไปให้อีกมหาวิทยาลัยหนึ่งเป็นผู้ตรวจคำตอบ มหาวิทยาลัยที่รับกระดาษคำตอบไปแล้วก็จะส่งไปให้อาจารย์ที่สอนวิชานั้นทั้งในมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยเป็นผู้ตรวจกระดาษคำตอบ โดยอาจารย์ผู้ตรวจไม่รู้ว่าเป็นของนักศึกษาผู้ใด จากวิทยาลัยใด เพราะในกระดาษคำตอบจะมีแต่ชื่อมหาวิทยาลัยและรหัสประจำตัวนักศึกษาเท่านั้น เมื่อตรวจเสร็จแล้วผลการสอบและกระดาษคำตอบก็จะถูกส่งคืนให้มหาวิทยาลัยที่เป็นเจ้าของเพื่อประกาศผลการสอบต่อไป

เมื่อประกาศผลการสอบแต่ละวิชาแล้ว ถ้าหากนักศึกษาไม่พอใจหรือคลางแคลงใจก็มีสิทธิ์ทำเรื่องขอให้มีการตรวจข้อสอบใหม่ได้ โดยนักศึกษาผู้นั้นต้องยื่นคำร้องให้ตรวจข้อสอบใหม่ และจะต้องเสียค่าธรรมเนียมการตรวจข้อสอบใหม่ตามอัตราที่กำหนด กระดาษคำตอบที่ต้องการให้ตรวจใหม่จะถูกส่งไปให้ผู้ตรวจคนใหม่ตรวจ โดยมีขั้นตอนในการตรวจที่ละเอียดกว่าการตรวจครั้งแรกคือ จะมีผู้ตรวจอย่างน้อย 2 คน โดยแต่ละคนจะไม่รู้ว่าผู้ตรวจคนอื่นให้คะแนนแต่ละข้ออย่างไร

เมื่อได้ผลการตรวจครั้งที่สองจากผู้ตรวจ 2 คนแล้ว ก็จะเอามารวมกัน แล้วหารด้วย 2 เป็นผลการสอบที่ตรวจใหม่ แต่ถ้าหากว่าผลการตรวจของกรรมการ 2 คนหลังมีความแตกต่างกันมาก ก็ให้ตรวจสอบกับการตรวจครั้งแรกแล้วดูว่า หนึ่งในสามคนที่ตรวจกระดาษคำตอบนั้นใครให้คะแนนแตกต่างไปมากที่สุดก็ตัดทิ้งไป แต่รวมคะแนน 2 คนที่ให้คะแนนใกล้เคียงกัน แล้วหารด้วย 2 เป็นผลการสอบที่ยุติ ห้ามมิให้มีการยื่นคำร้องเพื่อขอตรวจใหม่อีก

การยื่นคำร้องเพื่อขอให้ตรวจกระดาษคำตอบใหม่นี้เป็นเรื่องปกติของนักศึกษาอินเดีย มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งก็ได้รับค่าธรรมเนียมการขอให้ตรวจกระดาษคำตอบใหม่ เป็นรายได้ของมหาวิทยาลัย ซึ่งแต่ละปีก็มีมากพอสมควร

ด้วยระบบการสอบที่มุ่งเน้นไปที่การเขียนคำตอบแบบอัตนัย ทำให้นักศึกษาอินเดียมีความสามารถในการเขียนหนังสือดีมาก เพราะแต่ละคนกว่าจะจบการศึกษาแต่ละระดับมาได้ ต้องเขียนหนังสือมาอย่างชำนาญ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยบางแห่งจะมีคำสั่งในกระดาษคำตอบเลยว่า คำตอบแต่ละข้อจะต้องมีความยาวไม่น้อยกว่ากี่หน้ากระดาษคำตอบ ถ้าคำตอบใดมีปริมาณน้อยกว่าที่กำหนด กรรมการจะไม่ตรวจคำตอบในข้อนั้น ในการทำข้อสอบของนักศึกษานั้นจึงมีหลักอยู่ว่าจะตอบผิดหรือตอบถูกไม่สำคัญ สำคัญว่าจะต้องเขียนให้มาก ๆ เข้าไว้

ดังนั้น นอกจากความรู้ที่จะเขียนตอบแล้ว นักศึกษาอินเดียจึงต้องมีเทคนิคในการตอบ เช่น เขียนตัวอักษรโต ๆ เว้นวรรคห่าง ๆ ขึ้นย่อหน้าบ่อย ๆ ทำประเด็นย่อย ๆ ให้เป็นข้อ ๆ มีบทเกริ่นนำแต่ละข้อที่แสดงภูมิรู้ และจบลงด้วยข้อความสรุปที่คมคาย

ระบบการสอบตามที่กล่าวมานี้เป็นระบบการสอบของสถาบันอุดมศึกษาในสายวิชาการทั่วไป สำหรับสถาบันอุดมศึกษาในสายวิชาชีพนั้นมีความแตกต่างไปตามลักษณะแห่งวิชาชีพ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วมุ่งเน้นไปที่การทดสอบจากการฝึกฝนและทดลองในห้องปฏิบัติการหรือพื้นที่ศึกษาทดลอง

 

 

 

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 640 เรื่อง หนากว่า 8400 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 150 บาท(รวมค่าส่ง)
(เริ่มปรับราคาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com




 

 


 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ
เจ้าของพื้นที่ www.thaiis.com
ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะดูบทความอื่นๆให้คลิกที่ข้อความต่อไปนี้ ไปหน้าสารบัญ
ภาพประกอบดัดแปลง เพื่อใช้ประกอบบทความบริการฟรีของ
H
ข้อความบางส่วนคัดลอกมาจากบทความบนหน้าเว็ปเพจนี้
ภาษาอังกฤษวันละคำ : univocal - haveing only one possible meaning; unambiguous.
ด้วยเป้าหมายทางการศึกษาที่ต้องการฝึกฝนชาวอินเดียให้เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีความสามารถในการผลิตและค้าขายตามระบบการค้า อุดมศึกษาอินเดียในยุคใหม่จึงมีเป้าหมายทางการศึกษาอยู่ที่การแปรรูปมนุษย์ให้เป็นปัจจัยในการผลิตและการค้า กระบวนการศึกษาจึงถูกกำหนดทิศทางให้มุ่งไปสู่เป้าหมาย คือ การทำให้มนุษย์มีศักยภาพที่จะผลิตและสนองตอบกลไกของระบบตลาด
ด้วยปรัชญาการศึกษาเช่นนี้ มหาวิทยาลัยในยุคอาณานิคม
จึงมีหน้าที่ผลิตเสมียนให้กับบริษัทอิสต์อินเดีย
คลิกไปหน้าสารบัญ(1)
คลิกไปหน้าสารบัญ
(2)
คลิกไปหน้าสารบัญ(3)
คลิกไปหน้าสารบัญ(4)
เพื่อดูบทความใหม่
แต่ละหน้าสารบัญ จะมีบทความอยู่ 200
เรื่อง ซึ่งสามารถเข้าไปค้นหาข้อมูลได้
วิธีการค้นข้อมูล ให้กด Ctrl + F แล้วพิมพ์
ข้อความภาษาไทย บางส่วนของชื่อเรื่อง
หรือชื่อคนเขียน หากค้นไม่พบ หรือหน้าที่
ต้องการอ่านใช้การไม่ได้ กรุณาแจ้งข้อขัด
ข้องไปยังผู้ดูแลระบบการให้บริการได้ที่

midnightuniv(at)yahoo.com

midnight2545(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 640 เรื่อง หนากว่า 8500 หน้า ในรูปของ CD-ROM ในราคา 150 บาทสนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com
หรือ ส่งธนาณัติถึง สมเกียรติ ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202
กรุณาส่งธนาณัติแลกเงินไปยัง สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50202 อย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ผู้รับ