ผลงานภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบบทความบริการฟรีของ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

R
relate topic
190748
release date

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 617 หัวเรื่อง
การเมืองในมุมมองวัฒนธรรม
ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์
นักวิชาการอาวุโส
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
บทความบริการฟรี ม.เที่ยงคืน
The Midnight 's free article

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ

Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com

เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะ
สามารถแก้ปัญหาได้

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
เว็ปไซท์นี้มีการคลิกโดยเฉลี่ยต่อวัน 30,779 สูงสุด 51,792 สำรวจเมื่อเดือน มิ.ย. 48
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ เพื่อประโยชน์ต่อสังคม

คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

การเมือง สังคม และวัฒนธรรม
มองการเมืองไทยผ่านมุมสังคมและวัฒนธรรม
ศ.ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์

นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

หมายเหตุ : รวมบทความทางการเมืองที่เคยตีพิมพ์แล้ว ของ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์
๑. รับน้อง ๒. 2. การเมืองครับ ทำครัวค่ะ ๓.
3. สื่อกับทางเลือกที่สาม
รวบรวมโดยกองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๔๘

(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 10.5 หน้ากระดาษ A4)


 

1. รับน้อง
ตามตำนานการรับน้องใหม่ที่พวกจุฬาฯ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่มีประเพณีรับน้องเล่า ว่ากันว่าเริ่มจากนิสิตในหอพักก่อน (ตั้งแต่สมัยที่ยังมี "หอวัง" ซึ่งอยู่ในสนามกีฬาศุภชลาศัยปัจจุบัน) โดยนำเอาประเพณีทำนองเดียวกันซึ่งมหาวิทยาลัยของอังกฤษทำมา "เล่น" บ้าง

ประเพณีพิธีกรรมคือเครื่องมือการสร้างและ/หรือตอกย้ำแบบแผนความสัมพันธ์ทางสังคม แม้ว่าอังกฤษและพวกจุฬาฯ รุ่นแรกๆ ทำพิธีแกล้งน้องเพียงวันเดียว (ที่จริงคืนเดียว) แต่ที่จริงก็คือการสร้าง/และหรือตอกย้ำความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างรุ่นพี่และรุ่นน้องต่อจากนั้นนั่นเอง แน่นอนครับ ด้วยความหวังว่า ความเหลื่อมล้ำของอำนาจระหว่างรุ่นพี่และรุ่นน้อง ซึ่งแสดงให้เห็นในพิธีกรรมนี้ จะดำรงอยู่อย่างถาวร

ส่วนพิธีกรรมจะได้ผลแค่ไหนขึ้นอยู่กับเงื่อนไขทางสังคม ในอังกฤษพิธีกรรมรับน้องล้มเหลว เพราะเงื่อนไขทางสังคมที่จะทำให้คนยอมรับอำนาจของคนอื่นเพียงเพราะเขาเป็น "รุ่นพี่" มีน้อย หรือแทบไม่มีเลย จึงยากที่จะทำให้เกิดแบบแผนความสัมพันธ์ชนิดที่พิธีกรรมรับน้องสร้างขึ้นอย่างถาวร

ตรงกันข้าม สังคมไทยสมัยใหม่ (คือหลัง ร.5 เป็นต้นมา) มีเงื่อนไขหลายอย่างที่ทำให้แบบแผนความสัมพันธ์เช่นนี้เป็นความสัมพันธ์กระแสหลัก จึงทำให้การรับน้องขยายตัวอย่างแพร่หลายในสถาบันการศึกษาทุกแห่งและทุกระดับ รวมทั้งขยายตัวออกไปสู่พิธีกรรมอื่นๆ ในชีวิตน้องใหม่ทั้งปี เช่น การประชุมเชียร์และการออกกำลังกายทุกเย็น เพื่อตอกย้ำความเหลื่อมล้ำของอำนาจ และการยอมรับในความเหลื่อมล้ำนั้น

มีเรื่องที่ผมอยากสะกิดให้คิดเพื่อเข้าใจประเด็นตรงนี้อยู่สองเรื่อง

เรื่องแรก การรับน้องในเมืองไทยนั้นเป็นเรื่องของอำนาจอย่างชัดเจน อย่าไปดัดจริตหาเหตุผลอื่นๆ เลยครับ เพราะมันชัดเสียจนน่าจะขวยปากที่จะไปยกให้เรื่องอื่น นอกจากนี้ เรื่องอำนาจก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายนะครับ ในทุกสังคม สมาชิกย่อมต้องเรียนรู้ แบบแผนความสัมพันธ์เชิงอำนาจของสังคมที่ตัวจะต้องใช้ชีวิตอยู่ต่อไปทั้งนั้น

เรื่องที่สอง ก็คือ การศึกษาโดยเฉพาะอุดมศึกษาเป็นประตูเข้าสู่ความเป็นชนชั้นนำของสังคมไทยสมัยใหม่ และในวัฒนธรรมของชนชั้นนำสมัยใหม่ของไทยนั้น แบบแผนความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ลดหลั่นเป็นลำดับชั้นอย่างชัดเจนมีความสำคัญมาก เพราะจำลองมาจากความสัมพันธ์ขององค์กรราชการ การเรียนรู้แบบแผนความสัมพันธ์เชิงอำนาจเช่นนี้ จึงมีความสำคัญสำหรับคนที่จะก้าวเข้าสู่ชนชั้นนำของสังคม

น่าสังเกตนะครับว่า ประเพณีรับน้องใหม่เริ่มที่มหาวิทยาลัยก่อน แล้วจึงขยายไปสู่โรงเรียนมัธยมและประถม ที่น่าสังเกตต่อมาก็คือ โรงเรียนมัธยมที่รับประเพณีรับน้องใหม่มาอย่างถึงพริกถึงขิงคือโรงเรียน "ผู้ดี๊ผู้ดี" เช่น โรงเรียนสาธิตของทุกมหาวิทยาลัย หรือโรงเรียนดังอื่นๆ เพราะเด็กมัธยมเหล่านี้ล้วนอยู่ในครรลองที่จะก้าวผ่านประตูไปสู่ความเป็นชนชั้นนำทั้งสิ้น

ผมไม่เคยได้ยินว่าโรงเรียนประชาบาลวัดหลังเขามีการรับน้องใหม่เลย ก็เด็กทุกคนในโรงเรียนต่างรู้ว่า จบแล้วกูก็ออกไปทำนา หรือรับจ้างเหมือนพ่อแม่กูนั่นเอง และในสังคมแบบนั้นมีแบบแผนความสัมพันธ์เชิงอำนาจอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่ได้จำลองมาจากความสัมพันธ์ขององค์กรราชการ

แหล่งที่มาของอำนาจในวัฒนธรรมไทยเดิม ซึ่งยังปรากฏให้เห็นในชุมชนเกษตรกรรมชนบทของปัจจุบัน มีความหลากหลายมาก ผมหมายความว่า เราไม่อาจจัดบันไดเพียงอันเดียวเพื่อวางทุกคนลงไปตามขั้นบันไดได้หมด คนรวยก็มีอำนาจบนบันไดอันหนึ่ง กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านก็มีอำนาจบนบันไดอีกอันหนึ่ง จ้ำหรือ แก่วัดซึ่งอาจจะยากจน แต่มีความรู้ที่ชาวบ้านเห็นว่าจำเป็นแก่ชุมชนก็มีอำนาจอยู่บนอีกบันไดหนึ่ง จนถึงที่สุดลุงแก่ๆ คนที่หุงข้าวกระทะได้เก่ง ก็มีอำนาจในอีกบันไดหนึ่ง เพราะถ้าแกไม่ช่วย ก็จัดงานเลี้ยงขนาดใหญ่ไม่ได้

ฉะนั้น อำนาจในวัฒนธรรมชาวบ้านจึงกระจายไปยังคนต่างๆ ในชุมชนอย่างกว้างขวาง ไม่ได้อยู่ในระบบลำดับขั้นของอำนาจเพียงระบบเดียว เหมือนองค์กรราชการ

ถ้านิยามอำนาจในระดับพื้นฐานเลย อำนาจคือความสามารถที่ทำให้คนอื่นทำตามความปรารถนาของตัว และในทุกสังคมมนุษย์ การใช้อำนาจย่อมมีความจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ปัญหาก็คือคนในวัฒนธรรมชาวบ้านอย่างที่ผมกล่าว ซึ่งมีอำนาจจากฐานที่ต่างกันจะใช้อำนาจแก่กันอย่างไร ?

นี่เป็นเรื่องละเอียดอ่อนอย่างมาก วัฒนธรรมชาวบ้านเชี่ยวชาญด้านกลวิธีที่หลากหลายและสลับซับซ้อน ในอันที่จะทำให้ความปรารถนาของตัวสัมฤทธิผล นับตั้งแต่แลกเปลี่ยนผลประโยชน์ รวมไปถึงสร้างความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์, ใช้เส้น (เช่น ดึงเอาญาติผู้ใหญ่หรืออุปัชฌาย์ของคนที่เราจะใช้อำนาจมาอยู่ฝ่ายเดียวกับเราก่อน), ใช้เสียงของคนหมู่มากบีบบังคับทางอ้อม, ยกย่องให้เป็นผู้นำอย่างเป็นทางการ, ฯลฯ

พูดให้ฟังขลังๆ ก็คือ ปฏิบัติการทางอำนาจ ของชาวบ้านละเอียดอ่อน และต้องใช้สติปัญญามากกว่าพวก "ปัญญาชน" ในมหาวิทยาลัยอย่างมาก เพราะ "ปัญญาชน" มีวัฒนธรรมของความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่จัดอำนาจไว้ในลำดับขั้นของบันไดเดียว ฉะนั้น การใช้อำนาจจึงง่ายมาก นั่นก็คือออกคำสั่ง ถ้าเกรงว่าเขาไม่เชื่อก็ข่มขู่ตะคอก ไปจนถึงใช้กำลังบังคับเอาด้วยวิธีต่างๆ ทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย

ชนชั้นนำไทยรู้จัก ปฏิบัติการเชิงอำนาจอยู่อย่างเดียว คือบีบบังคับ อีกทั้งไม่รังเกียจความรุนแรงที่จะใช้ในปฏิบัติการเชิงอำนาจอีกด้วย ขอแต่ให้ผู้ใช้ความรุนแรงนั้นยืนในตำแหน่งที่ถูกต้องของบันไดแห่งอำนาจเท่านั้น

นี่คือเหตุผลที่ผู้คนในสังคมซึ่งเข้าถึงสื่อพากันสนับสนุนการฆ่าตัดตอนในสงครามยาเสพติด, เคยสนับสนุนการใช้ความรุนแรงกับผู้ก่อความไม่สงบในภาคใต้, สนับสนุนการขจัดอาชญากรรมด้วยโทษที่รุนแรง เช่น จับอาชญากรคดีข่มขืนตอน หรือนำโทษประหารชีวิตมาใช้กับคดีอุกฉกรรจ์เพียงอย่างเดียวโดยไม่มีการลดหย่อน ฯลฯ ก็สั่งแล้ว ไม่ฟังนี่หว่า

ฉะนั้น ทุกครั้งที่ผู้คนซึ่งได้รับการศึกษาสูงๆ และสังกัดอยู่ในชนชั้นนำพูดว่า คนไทยชอบให้ใช้อำนาจเด็ดขาด, เฉียบขาด, เฉียบพลัน และรุนแรง ผมอดรู้สึกทุกครั้งไม่ได้ว่า พวกมึงเท่านั้นหรอกที่เป็นอย่างนั้น

ชาวบ้านไทยหลีกเลี่ยงการใช้อำนาจในลักษณะเช่นนี้เป็นอย่างยิ่ง กว่าชุมชนในชนบทจะตัดสินใจทำอะไรร่วมกันได้สักอย่าง มีการเจรจาต่อรอง โอ้โลมปฏิโลม รวมทั้งนวดเส้นเกาหลังกันมามาก จึงจะได้มติเอกฉันท์ของชุมชน โดยไม่มีใครสั่งให้ใครทำอะไร (อย่างออกหน้า) เลย

วัฒนธรรมราชการจึงเป็นเรื่องตลกในหมู่บ้านเสมอมาไงครับ เพราะทุกคนขอรับกระผมกับนายอำเภอเสมอ โดยไม่เคยทำตามที่นายอำเภอสั่งสักครั้งเดียว ก็นายอำเภอทุกคนต่างจบมหาวิทยาลัยและผ่านพิธีกรรมรับน้องมาแล้วทั้งนั้น ทั้งในฐานะรุ่นน้องและรุ่นพี่

ปัญหาอีกอย่างหนึ่งของรุ่นพี่ก็คือ จะกลืนอำนาจเถื่อนของตัวเข้าไปในระบบแห่งอำนาจที่เป็นทางการได้อย่างไร ตราบเท่าที่กลืนไม่ได้ ก็ยากที่จะทำให้รุ่นน้องยอมรับบันไดแห่งอำนาจอันเดียวได้ รุ่นพี่ที่จุฬาฯ ทำให้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างรุ่นพี่และรุ่นน้องกลายเป็น "ประเพณี" ซึ่งเป็นหนึ่งในคำขวัญของนิสิตมหาวิทยาลัยนั้น

อะไรที่เป็น "ประเพณี" ไปแล้วนี่เลิกยากนะครับ เพราะถ้าเลิก "ประเพณี" นี้ได้ เดี๋ยวก็จะพาลไปเลิก "ประเพณี" โน้นเข้าอีก และมหาวิทยาลัยไทยโดยเฉพาะจุฬาฯ นั้น เขาตั้งขึ้นมาทำไมหรือครับ หนึ่งในหน้าที่หลักคือตั้งขึ้นมาเพื่อรักษา "ประเพณี" น่ะสิครับ โดยเฉพาะ "ประเพณี" ทางสังคมและการเมืองซึ่งให้อภิสิทธิ์แก่อภิสิทธิ์ชน ด้วยเหตุดังนั้น ความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่รุ่นพี่สร้างขึ้นครอบงำรุ่นน้อง (และแสดงออกให้สังคมได้รู้ผ่านพิธีกรรมรับน้อง) จึงได้รับการยอมรับและส่งเสริมโดยนัยยะจากมหาวิทยาลัยต่างๆ เสมอมา

สมัยผมเรียนจุฬาฯ บางคณะมีกฎห้ามไม่ให้น้องใหม่ใช้บันไดหน้าขึ้นตึกบางแห่ง อาจารย์คณะนั้นก็รู้ แต่ไม่เคยมีใครบอกน้องใหม่ว่า นี่ไม่ใช่กฎของมหาวิทยาลัย น้องใหม่ต้องแต่งเครื่องแบบของมหาวิทยาลัยให้ถูกต้องเป๊ะ บางครั้งมหาวิทยาลัยก็ช่วยกวดขันให้ด้วย แต่ไม่เคยกวดขันกับรุ่นพี่เลย (เช่น เด็กผู้หญิงต้องสวมถุงเท้าขาวจนกว่าจะผ่านปี 1 แล้ว)

มาในภายหลัง ผมพบว่าน้องใหม่ถูกบังคับขืนใจโดยเปิดเผยมากขึ้นในทุกมหาวิทยาลัย บังคับให้วิ่งและซ้อมเชียร์กันทุกเย็นจนดึกดื่น มีว้ากเกอร์ออกมา "ปฏิบัติการทางอำนาจ" ที่สิ้นปัญญาให้เห็น ฯลฯ แต่ไม่มีมหาวิทยาลัยไหนร้อนใจ ต่อแบบปฏิบัติของความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ไร้ความเท่าเทียม และทำลาย "มนุษยภาพ" อย่างซึ่งๆ หน้าเช่นนี้เลยสักแห่งเดียว

ถึงส่วนใหญ่ของน้องใหม่ไม่ได้ฆ่าตัวตายทางกาย แต่ทุกคนตายทางวิญญาณ และสติปัญญาไปหมดแล้ว ภายใต้สายตาของมหาวิทยาลัยนั้นเอง

ที่มหาวิทยาลัยไม่กระดิกทำอะไรตลอดมานั้น ก็เพราะลึกลงไปจริงๆ แล้ว ความสัมพันธ์เชิงอำนาจแบบนี้คือวัฒนธรรมของอาจารย์และผู้บริหารมหาวิทยาลัยนั่นเอง ก็ถูกแล้วไม่ใช่หรือที่น้องใหม่ซึ่งกำลังก้าวเข้าสู่ความเป็นชนชั้นนำของสังคม จะต้องเรียนรู้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจในวัฒนธรรมนี้

ปัญหารับน้องใหม่จึงไม่ใช่นอกหรือในสถานที่, หรือท่าเต้นที่น้องถูกบังคับให้ทำมันลามกอนาจารหรือไม่, หรือครูดูแลได้ทั่วถึงหรือไม่ ฯลฯ มันลึกกว่านั้นแยะครับ เพราะมันเกี่ยวกับวัฒนธรรมอำนาจของชนชั้นนำไทย ซึ่งรุ่นพี่, อาจารย์, ผู้บริหาร, สังคมคนอ่านหนังสือพิมพ์ หรือแม้แต่ตัวน้องใหม่เอง ต่างสังกัดอยู่ในวัฒนธรรมอำนาจอันเดียวกันนี้

ฉะนั้น ถ้าอยากแก้ไข ไม่ใช่ไปแก้ที่ตัวพิธีกรรมซึ่งทำหน้าที่เพียงช่วยตอกย้ำความสัมพันธ์ทางสังคม ที่ผู้คนยอมรับอยู่แล้วเท่านั้น แต่ต้องไปแก้ให้ระบบการศึกษาเป็นระบบการเรียนรู้ที่ไม่สร้างบันไดแห่งอำนาจบันไดเดียว เช่น มีเด็กที่ได้เป็นวีรบุรุษ-สตรีเต็มไปทั้งห้อง (เมื่อไหร่เด็กคะแนนบ๊วย แต่วาดเขียนเก่งจึงจะได้รับการยกย่องเท่ากับที่หนึ่งของห้องเสียที) ในขณะเดียวกันก็ต้องไปแก้ที่ระบบการเมือง, เศรษฐกิจและสังคมของกลุ่มชนชั้นนำนั่นแหละ ให้ยอมรับอำนาจที่หลากหลาย และ ปฏิบัติการทางอำนาจ ที่ต้องใช้เหตุผลกันมากขึ้น แทนที่จะใช้แต่ตำแหน่งบนขั้นบันได

อย่างไรก็ตาม ผมออกจะสงสัยด้วยว่า ถึงเราไม่ทำอะไรเลยสักอย่าง ระบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่จำลองมาจากองค์กรราชการ ซึ่งเป็นระบบความสัมพันธ์กระแสหลักในหมู่ชนชั้นนำไทย กำลังจะถูกท้าทายมากขึ้นจากระบบความสัมพันธ์แบบอื่นเรื่อยๆ ถึงจะยกกันขึ้นไปเป็นซีอีโอ นับวันซีอีโอก็ทำอะไรไม่สำเร็จมากขึ้น จนเกือบจะกลายเป็นตัวตลกไปแล้ว

เป็นไปได้หรือไม่ว่า ความรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้นในพิธีรับน้องและการปฏิบัติต่อน้องใหม่ในมหาวิทยาลัย คือสัญญาณของการล่มสลายของระบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่กำลังจะพ้นสมัยไปเสียแล้ว

2. การเมืองครับ ทำครัวค่ะ
ทุกครั้งที่นักการเมืองหญิงได้รับพระราชทานตราจุลจอมเกล้า ผมอดจะดีใจด้วยไม่ได้สักที เพราะเธอจะได้เลิกเป็นเจ๊เสียที ได้เป็นคุณหญิงหรือคุณ (อย่างเป็นทางการเมื่อเป็นโสด)

แปลตามตัว เจ๊ก็ไม่เสียหายอะไรหรอกครับ แต่ก็อย่างที่ผู้ใช้คำนี้กันทั่วไปรู้อยู่แล้ว เป็นการตีสนิทเชิงไม่ยกย่อง และเมื่อใช้กับนักการเมืองก็เหมือนมีนัยยะด้วยว่า อะไรที่เจ๊คิดหรือเจ๊ทำนั้นถึงจะน่ารักยังไงก็ไม่สลักสำคัญแก่ส่วนรวมนัก ผมไม่ได้หมายความว่านักการเมืองหญิงสมควรแก่การยกย่องกันทุกคน แต่ก็น่าจะถือเป็นกลางๆ ไว้ก่อน เหมือนนักการเมืองชายซึ่งกว่าจะถูกเรียกเฮียได้นั้น ต้องทำอะไรที่น่าขำหรือหน้าด้านมาจนเป็นที่ประจักษ์แล้ว

อย่างที่ทราบกันอยู่แล้วว่า ในวัฒนธรรมไทยนั้น ผู้หญิงถูกกีดกันออกจากพื้นที่ทาง "การเมือง" (พื้นที่สำหรับการตัดสินใจใช้ทรัพยากรสาธารณะ) ไม่ว่าจะเป็นการเมืองท้องถิ่น หรือการเมืองระดับชาติ คนทำสื่อทุกชนิดถือว่าการเมืองเป็นของแสลงสำหรับผู้หญิง คอลัมน์, รายการโทรทัศน์, วิทยุ หรือนิตยสารอะไรที่จะขายผู้หญิงจึงหลีกเลี่ยงการเมืองที่สุดเท่าที่จะทำได้

แม้แต่ผู้หญิงเองก็ยอมรับว่าผู้หญิงไม่สนใจการเมือง หรือบางคนอาจเลยเถิดไปถึงกับว่าการเมืองไม่เหมาะกับผู้หญิงเลยก็มี แม้แต่หนังสือพิมพ์รายวันที่ตั้งใจจะทำให้ผู้หญิงอ่าน ยังต้องบังการเมืองไว้ด้วยข่าวและบทความทางธุรกิจ

แต่ปัญหาที่ผู้หญิงต้องเผชิญในสังคมปัจจุบันนั้น จำเป็นต้องอาศัย "การเมือง" เข้าไปมีส่วนแก้ไขอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน ถึงไม่ได้แก้โดยตรง ก็เป็นการวางจุดเริ่มต้นของการแก้ไขไปในทิศทางที่จะบังเกิดผลได้ ผมขอยกตัวอย่างให้ดูเพียงบางด้าน ทั้งๆ ที่ผมรู้สึกว่าทุกด้านของชีวิตในสังคมปัจจุบัน การเมืองน่าจะเข้าไปมีส่วนแก้ไขปัญหาได้ทั้งนั้น

เช่นการถูกล่วงละเมิดทางเพศไปจนถึงถูกข่มขืน ซึ่งเป็นอาชญากรรมที่คุกคามความปลอดภัยของผู้หญิงไทยอย่างรุนแรงในปัจจุบัน (ตัวเลขที่มีผู้แสดงเมื่อเร็วๆ นี้ เฉพาะที่มีการแจ้งความก็น่าตกใจแล้ว) ทั้งหมดนี้ผมคิดว่าสะท้อนปัญหาใหญ่ในวัฒนธรรมไทยปัจจุบัน โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์หญิง-ชาย

แต่แนวทางการแก้ไขปัญหาซึ่งนักการเมือง (ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย) และสื่อรายวัน (ส่วนใหญ่ผู้ชายเป็นใหญ่) เสนอ กลับเป็นหนทางที่ยิ่งจะลิดรอนอำนาจของผู้หญิงลงไป เช่น อย่าแต่งกายล่อแหลม, อย่าเดินที่เปลี่ยว, อย่าไว้ใจคนอื่น, จนถึงที่สุด แม้แต่พรของธรรมชาติเช่น หน้าอกอิ่มหรือสะโพกผายก็อาจนำอันตรายมาให้แก่ผู้หญิงได้ สรุปก็คือ ที่ปลอดภัยของผู้หญิงมีอยู่แห่งเดียวในโลก ได้แก่บ้าน ภายใต้การดูแลปกป้องของพ่อหรือผัว ยิ่งไปกว่านี้ยังมีนัยของคำเตือนเหล่านี้อยู่ลึกๆ ด้วยว่า ในกรณีถูกล่วงละเมิดทางเพศทุกชนิด ผู้หญิงเป็นฝ่ายผิดด้วยเสมอ จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม

ถ้านักการเมืองหญิงไม่เข้าใจประเด็นสำคัญในเรื่องนี้ว่ามาจากวัฒนธรรมไทยปัจจุบัน ซึ่งส่งสัญญาณโดยนัยยะให้เข้าใจว่า ผู้หญิงคือเหยื่อโดยธรรมชาติของการล่วงละเมิดทางเพศเสมอ ตราบนั้นก็ยากที่จะแก้ปัญหานี้ได้

ในชนบท บทบาทสำคัญของผู้หญิงคือผู้ดูแลรับผิดชอบด้านอาหารของครอบครัว ไม่ใช่แค่เรื่องในครัวนะครับ แต่หมายถึงการหาและการจัดการทรัพยากรด้านอาหาร ทั้งในบ้านเรือนและในชุมชน แต่บทบาทสำคัญนี้ก็กำลังสูญสลายลงไป เพราะด้านหนึ่ง อาหารกำลังหมายถึงเงินซึ่งผู้ชายเป็นฝ่ายหาได้มาก (สูญเสียอำนาจการจัดการ) ในขณะที่อีกด้านหนึ่งทรัพยากรอาหารในท้องถิ่น ลังถูกทุนและรัฐแย่งเอาไปครอบครองหรือใช้ประโยชน์ในทางอื่นจนแทบไม่เหลือหลอ

ครั้งสุดท้ายที่ผมไปเกาะหน้าเมืองกระบี่ ได้พบชาวบ้านชุมนุมต่อต้านเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ซึ่งกำลังกระทำในสิ่งที่ป่าไม้ชอบทำคือถางป่าเพื่อปลูกป่า ชาวบ้านต้องการรักษาป่าธรรมชาติที่เขามีอยู่เพราะให้ประโยชน์ใช้สอยแก่เขามาก เกือบทั้งหมดของผู้ประท้วงคือผู้หญิงทั้งนั้นเลยครับ

นักการเมืองหญิงจะเข้าใจไหมหนอว่า การต่อสู้ของชาวบ้านเพื่อรักษาทรัพยากรท้องถิ่นไว้ในมือนั้น สัมพันธ์โดยตรงกับอำนาจของผู้หญิงเลยทีเดียว จากประสบการณ์ส่วนตัวที่ได้เคยเข้าสนับสนุนการประท้วงของชาวบ้านอยู่บ่อยๆ ผมพบว่าผู้หญิงนั้นเป็นหัวหอกทาง "การเมือง" (อย่าลืมคำนิยามของผมนะครับ คือพื้นที่สำหรับการตัดสินใจใช้ทรัพยากรสาธารณะ) ในระดับรากหญ้าอยู่เสมอ

ที่คนชั้นกลางรู้จักกันดีก็คือแม่ใฮ ซึ่งเป็นหัวหอกทวงคืนที่ทำกินจากการทำเขื่อนห้วยละห้า อันเป็นโครงการของรัฐที่ไม่เกิดคุณอะไรแก่ชาวบ้านเลย ทั้งนี้ยังไม่พูดถึงแม่อะไรต่อมิอะไรอีกมากมาย ที่ร่วมอยู่ในการประท้วงของสมัชชาคนจนหน้าทำเนียบ เอาเฉพาะบทบาทของผู้หญิงในการประท้วงเรื่องเดียว ก็สามารถทำวิทยานิพนธ์ได้เล่มเบ้อเริ่มแล้ว และจะได้เห็นว่านัก "การเมือง" หญิงในระดับรากหญ้าเหล่านี้ แม้ไม่ได้เป็นคุณหญิง แต่เธอก็ไม่ใช่ "เจ๊" อย่างแน่นอน

แต่นักการเมืองหญิงที่อยู่ในระบบกลับมองไม่เห็นบทบาทสำคัญทางการเมืองเหล่านี้ของผู้หญิง ยังมองเห็นบทบาทของผู้หญิงเฉพาะในครอบครัวเท่านั้น ซึ่งก็สำคัญนะครับ เพียงแต่ว่าหากมองผู้หญิงว่ามีบทบาทอยู่เพียงในครอบครัวเท่านั้น อย่างนี้ก็เป็นปัญหาแน่ เพราะสังคมปัจจุบันได้เปิดให้ผู้หญิงออกมามีบทบาทอื่นนอกบ้านอีกมากมาย และล้วนเป็นบทบาทที่มีความสำคัญทั้งนั้น

สอดคล้องกับคนทำทีวี, นิตยสารผู้หญิง และคอลัมน์ผู้หญิงในสื่อต่างๆ คือเน้นแต่บทบาทในครอบครัวของผู้หญิงด้านเดียว ซึ่งก็น่าประหลาดอยู่ เพราะไม่ว่าจะเหลียวซ้ายแลขวาไปที่ไหนในสังคมปัจจุบัน ก็จะมองเห็นผู้หญิงทำโน่นทำนี่นอกครอบครัวอยู่เต็มไปหมด แรงงานของอุตสาหกรรมและธุรกิจบางชนิด ไม่มีผู้ชายสักคนก็ยังมี

ผมจึงออกจะสงสัยว่า อุดมการณ์เก่าที่มอบบทบาทของผู้หญิงไว้ในครอบครัวเพียงอย่างเดียว เป็นม่านที่บังตานักการเมืองหญิงและคนทำสื่อเหล่านั้น เสียจนมองไม่เห็นความเป็นจริงที่ตำตาอยู่ทุกวันกระมัง ฉะนั้น เมื่อเราพูดถึงสิทธิทางการเมืองของผู้หญิง จึงไม่มีประโยชน์ที่จะไปมองตัวกฎหมาย ซึ่งไม่ได้กีดกันผู้หญิงจากพื้นที่ทางการเมืองแต่อย่างใด เพราะการกีดกันผู้หญิงจากการเมืองในสังคมไทยนั้นมาจากวัฒนธรรม ซึ่งร้ายกาจกว่ากฎหมาย เพราะมองเห็นไม่ชัดแต่มีอิทธิพลมากกว่า จนแม้แต่ตัวผู้หญิงเองก็ยอมรับการจำกัดบทบาททางการเมืองดังกล่าวว่าเป็นธรรมชาติและความชอบธรรม

เมื่อยอมรับก็มองไม่เห็นว่า ผู้หญิงในทุกวันนี้เผชิญปัญหาที่กว้างและสลับซับซ้อนกว่าเรื่องผัว-เมีย-ลูก หรือเรื่องครอบครัวมากนัก และ "การเมือง" เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างไม่ต้องสงสัย นักการเมืองของเราจึงมักประกาศจุดยืนในด้านสิทธิสตรีอย่างหนักแน่น แต่ในขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้รัฐแย่งทรัพยากรในท้องถิ่นจากชาวบ้านหน้าตาเฉย เพราะไม่เข้าใจว่านั่นมันเรื่องเดียวกัน

สิทธิสตรีของนักการเมืองหญิงและคนชั้นกลางในเมืองจึงจำกัดเพียงแค่เมื่อไรจะมีรัฐมนตรีหญิง, นายพลหญิง, นายกฯ หญิง และสามีหญิง (สามีแปลว่าเจ้าของ หรือนายบ้าน)

แม้ว่าในทุกวันนี้ ผู้หญิงไปเป็นกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน และ อบต. กันอยู่ไม่น้อย แต่เคยมีงานวิจัยของ คุณสุรพงษ์ โสธนะเสถียร พบว่า ในกรณีที่มีการเลือกผู้หญิงไปเป็นผู้นำทางการของท้องถิ่นนั้น มักเกิดขึ้นเนื่องจากความขัดแย้งในท้องถิ่นที่ยังไม่อาจขจัดไปได้ จึงเลือกผู้หญิงให้เข้ามาทำหน้าที่เพื่อไม่ให้ความขัดแย้งบานปลาย คงเป็นเพราะผู้หญิงมี "พรรคพวก" น้อยกว่าคู่ขัดแย้ง จึงไม่อาจสนับสนุนฝ่ายใดอย่างได้ผล

เรื่องนี้ทำให้นึกถึงประวัติศาสตร์ปัตตานี และรัฐมลายูบางแห่ง ที่เลือกเอาผู้หญิงเป็นรายา เหตุเพราะชนชั้นนำขัดแย้งกันสูงเสียจนไม่มีผู้ชายของฝ่ายใดชิงตำแหน่งรายาไปได้ อย่างไรก็ตาม งานวิจัยชิ้นนี้ทำมานานแล้ว (2532) ปัจจุบันสภาพการณ์การนำทางการเมืองของผู้หญิงในชนบทจะเปลี่ยนไปอย่างไร ผมก็ไม่ทราบ

"ผู้หญิงเก่ง" ก็เหมือนกันนะครับ คุณสมบัติที่เรียกว่า "เก่ง" นั่นคือคุณสมบัติที่วัฒนธรรมไทยถือว่าเป็นของผู้ชายทั้งนั้น ฉะนั้น "ผู้หญิงเก่ง" จึงเป็นคนละเพศคนละพันธุ์กับผู้หญิงธรรมดา กล่าวคือ เป็นข้อยกเว้นที่วัฒนธรรมไทยอนุญาตให้แก่ผู้หญิงพิเศษบางคนเท่านั้น

สิทธิทางการเมืองเป็นตัวอย่างของการเลือกปฏิบัติระหว่างเพศในสังคมไทย กล่าวคือ มันแฝงฝังอยู่ในวัฒนธรรมร่วมสมัยของเราเอง ไม่ปรากฏให้เห็นชัดอย่างที่ปรากฏในกฎหมาย แต่มันสะท้อนออกมาในชะตากรรมของผู้หญิง เช่น การมีเส้นทางอาชีพ (career path) ที่จำกัดกว่าผู้ชาย ได้รายได้โดยเปรียบเทียบน้อยกว่า ถูกกีดกันออกไปจากตำแหน่งบริหารระดับสูง ถูกกล่อมเกลาให้ตั้งเป้าหมายชีวิตไว้ต่ำ ฯลฯ

นักการเมืองหญิงควรทำความเข้าใจเรื่องนี้ให้ดี แล้วดำเนินการทางการเมืองไปในทิศทางที่จะเปิดให้ศักยภาพของผู้หญิงได้แสดงออกอย่างเต็มที่ในทุกๆ เรื่อง ไม่ใช่เฉพาะในพื้นที่ครอบครัวเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเป็นในพื้นที่สาธารณะอย่างเดียวกับผู้ชายด้วย

3. สื่อกับทางเลือกที่สาม
ผมมีสองเรื่องที่อยากพูดซึ่งซ้อนกันอยู่ ส่วนจะซ้อนกันอย่างไรนั้น ไม่เห็นชัดในทันที จึงจะเก็บไว้พูดตอนหลัง

เรื่องแรกก็คือ บัดนี้คนในพื้นที่ทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นทหาร, ตำรวจ, มหาดไทย, ผู้สื่อข่าว และชาวบ้านส่วนใหญ่เอง ต่างก็มีความเห็นพ้องต้องกันว่า คนที่ร่วมในขบวนการก่อความไม่สงบในภาคใต้นั้น มีไม่ถึง 1% ของประชากรทั้งหมด แต่น่าอัศจรรย์ไหม ที่คนไม่ถึง 1% นี้สามารถทำให้คนอื่นเงียบงันไปได้หมด โดยอาศัยวิธีการเพียงอย่างเดียวคือการก่อการร้าย ไม่ใช่เงียบงันเฉยๆ แต่หมายถึงถูกกำหนดให้ดำเนินวิถีชีวิตไปอีกอย่างหนึ่ง ตั้งแต่เช้าจรดค่ำ ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้าในเมือง, ชาวสวนยาง, ลูกจ้างกรีดยาง, ชาวสวน, และชาวนา แม้แต่ความสัมพันธ์ทางสังคมก็ถูกกระทบอย่างแรง เพราะความหวาดระแวงระหว่างกันมีสูงขนาดที่จะดำเนินชีวิตอย่างที่เคยเป็นมาไม่ได้

ไม่มีการก่อการร้ายที่ไหนในโลกจะมีประสิทธิภาพอย่างนี้ได้ ยกเว้นแต่ประชาชนในพื้นที่ร่วมมือกับผู้ก่อการร้าย แต่ในกรณีนี้ เรารู้อยู่แล้วว่าประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ไม่ได้ร่วมหรือแม้แต่เอาใจช่วยผู้ก่อการร้าย(ซึ่งทำร้ายญาติมิตรของเขาเองด้วย) ฉะนั้นจึงเหลือคำอธิบายเพียงอย่างเดียว นั่นก็คือประชาชนไม่มีทางเลือกอื่น เพราะไม่ไว้ใจทั้งสองฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐหรือฝ่ายก่อความไม่สงบ

เหตุดังนั้นจึงขึ้นไปนั่งรออยู่บนรั้ว ฝ่ายไหนชนะก็จะปรับตัวเข้าหาฝ่ายนั้น

อาจจะเห็นว่าท่าทีเช่นนี้เป็นท่าทีของคน "เอาตัวรอด" ซึ่งก็เป็นสัญชาตญาณมนุษย์ธรรมดาๆ แต่กว่าคนจะยอมตกอยู่ภายใต้สัญชาตญาณ "เอาตัวรอด" แบบนี้ คือแบบที่ไม่ประสงค์จะกำหนดชะตาชีวิตตัวเองเลย รอแต่ให้ผู้อื่นกำหนดให้อย่างเดียวเช่นนี้ เขาคงต้องผ่านชีวิตที่ไร้อำนาจมาอย่างเนิ่นนาน จนกระทั่งไม่คิดจะหาทางเลือกที่สามของตัวเอง เพื่อจะยืนอยู่ในจุดที่มีอำนาจต่อรองกับทุกฝ่ายที่เข้ามาสัมพันธ์กับชีวิตของเขา

ผมจึงคิดว่า หนทางแห่งความสมานฉันท์ ไม่น่าจะเกิดขึ้นจากการดึงให้ประชาชนในสามจังหวัดกลับมาเป็นพวกของรัฐ ซึ่งไม่ว่าจะดูจากประสบการณ์ในอดีตที่ผ่านมาของประชาชนก็ตาม ดูจากความสามารถในการปรับตัวของรัฐไทยเองก็ตาม หรือดูจากบรรยากาศทางการเมืองที่มีข้อจำกัดของความเปลี่ยนแปลงของรัฐไทยก็ตาม เป็นทางเลือกที่ไม่น่าจะทำได้สำเร็จ อย่างน้อยในช่วงเวลา 5 ปี 10 ปีข้างหน้า

แต่เราสามารถทำให้ประชาชนกลับมีอำนาจในการเลือกชะตาชีวิตของตัวได้ พูดอีกอย่างหนึ่งคือการเพิ่มพลังอำนาจให้แก่ผู้ไร้อำนาจ(empowerment) ไม่แต่เพียงไม่ควรขัดขวางกีดกันมิให้ประชาชนในพื้นที่รวมตัวกัน เพื่อทำกิจกรรมต่างๆ ที่เขาเห็นว่าสำคัญ หากเราควรสนับสนุนด้วยซ้ำ นอกจากนี้ก็ไม่ควรจำกัดเฉพาะกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น การหารายได้เพิ่มของกลุ่มแม่บ้าน หรือกิจกรรมทางวัฒนธรรม เช่นแสดงลิเกฮูลูเท่านั้น แม้แต่กิจกรรมทางการเมือง ซึ่งรัฐเองออกจะไม่ค่อยไว้วางใจ

เพราะประชาชนควรมีพลังอำนาจที่จะต่อรอง, ต่อต้าน หรือเรียกร้อง สิ่งที่เขาต้องการ ในท่ามกลางอำนาจอื่นๆ ที่แทรกเข้าไปกดดันชีวิตของเขา ไม่ว่าจะเป็นอำนาจรัฐ, ทุน หรืออำนาจของฝ่ายแข็งข้อต่อรัฐ

ในทรรศนะของผม กรณีตากใบจึงเป็นกรณีที่สะเทือนขวัญยิ่งกว่ากรือเซะหลายเท่านัก ไม่ใช่เพราะจำนวนศพมากกว่า แต่เพราะประชาชนใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ จะผิดถูกมีแต่ต้องเจรจาต่อรองกันเท่านั้น การสังหารหมู่ที่เกิดขึ้นจะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม ปิดโอกาสของการที่ประชาชนจะเคลื่อนไหว เพื่อหาหนทางเลือกที่สาม ซึ่งอาจไม่ตรงกับทางเลือกที่รัฐให้ และไม่ตรงกับที่กลุ่มก่อความไม่สงบให้

ผมควรเตือนไว้ด้วยว่า ทางเลือกที่สามทางการเมืองไม่จำเป็นต้องหมายถึงเลือกผู้ว่าฯ เอง, หรือขยายการปกครองแบบเทศบาลนครพัทยาและกรุงเทพฯ ไปใช้กับสามจังหวัดภาคใต้, หรือสถาปนาเขตปกครองพิเศษ ฯลฯ นั่นเป็นทางเลือกของนักการเมืองในกรุงเทพฯ ผมไม่ทราบว่าชาวบ้านในสามจังหวัดต้องการทางเลือกอะไร และผมเชื่อว่าพวกเขาก็ไม่ทราบเหมือนกัน ตราบจนกว่าพวกเขาจะมีพลังอำนาจในมือตนเอง จึงเคลื่อนไหวทางการเมืองได้อย่างเสรี และในกระบวนการนี้คงมีการต่อรองกับฝ่ายต่างๆ(เช่น ระหว่างคนในเมืองกับคนในชนบท ระหว่างภาครัฐและภาคชาวบ้าน) จนในที่สุดจึงจะได้คำตอบที่เป็นของพวกเขา

เรื่องที่สอง มาจากการสัมมนาของสมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย หัวข้อ "รายงานข่าวสถานการณ์ภาคใต้ ตามทรรศนะของผู้บริหารข่าว"

ผู้บริหารข่าวหลายท่านด้วยกันกล่าวจนดูเหมือนจะกลายเป็นข้อสรุปของการสัมมนาไปแล้วว่า รายงานข่าวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีการใส่ความรู้สึกลงไปในรายงาน จนทำให้สิ่งที่เกิดขึ้นดูร้ายแรงกว่าที่เป็นจริง ยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไป เพราะนักท่องเที่ยวหวาดวิตกบ้าง หรือเพราะทำให้ผู้ก่อการฯ มีความสำคัญมากกว่าความเป็นจริงบ้าง ในขณะเดียวกันก็เรียกร้องให้นักข่าวลงไปสัมภาษณ์ชาวบ้านให้มากขึ้น

ผมออกจะเห็นด้วยกับข้อสรุปนี้อย่างมาก แต่ไม่ได้หมายความว่านักข่าวและสื่อควรงดออกข่าวเหตุการณ์ก่อความไม่สงบ ซึ่งเกิดขึ้นจริงในภาคใต้ นั่นเป็นหน้าที่ของสื่ออยู่แล้ว แม้ว่าการรายงานความจริงอาจเท่ากับราดน้ำมันแทนน้ำลงไปก็ตาม ขออย่าให้สื่อกรุณาแก่ผู้อ่านมากถึงขนาดปั้นกระแสความคิดให้ด้วยการกล่าวเท็จ หรืองดกล่าวความจริงเลย

สิ่งที่ผมเห็นด้วยอย่างมากก็คือ ข่าวคราวเกี่ยวกับภาคใต้ทั้งหมดที่สังคมไทยมีโอกาสรับรู้ก็คือ สิ่งที่ฝ่ายรัฐต้องการจะบอกให้สังคมรู้ เพราะนักข่าวและสื่อเสนอแต่ความเข้าใจของเจ้าหน้าที่รัฐต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ใครถูกยิงเพราะอะไร เจ้าหน้าที่รัฐเป็นฝ่ายบอกแต่ผู้เดียว รายนี้มาจากกลุ่มก่อความไม่สงบ รายนี้เป็นเรื่องส่วนตัว รายนี้ยังไม่แน่ใจ ถ้าจะมีข่าวที่ขัดแย้งกันเองเกิดขึ้นบ้าง ก็เพราะเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งไม่เคยประสานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันให้สัมภาษณ์ขัดแย้งกัน

ชาวบ้านที่ผมเคยคุยด้วยเล่าเหตุการณ์ที่รายงานในหน้าหนังสือพิมพ์ไปอีกอย่างหนึ่ง ผมไม่ทราบหรอกว่าที่เขาเล่าหรือเขาเข้าใจนั้นจริงหรือไม่จริง แต่ทำให้เห็นตัวละครเพิ่มขึ้นในเหตุการณ์อีกมากทีเดียว ไม่จำกัดอยู่เฉพาะฝ่าย "พระเอก-ผู้ร้าย" อย่างที่สื่อรายงาน พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือมีมิติด้านลึกของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมากกว่าฝ่ายแข็งข้อ(insurgents)กับฝ่ายรัฐ

ไม่ใช่ผมไม่ทราบคนเดียวหรอก ผมเชื่อว่าผู้สื่อข่าวเองก็ไม่ทราบ เพราะอย่างที่ผู้เข้าร่วมสัมมนากล่าวไว้ ผู้สื่อข่าวไม่ยอมลงไปคุยกับชาวบ้าน(โดยส่วนตัว ผมเชื่อว่าแม้แต่เจ้าหน้าที่การข่าวของรัฐเองก็ไม่ทราบ เพราะการหาข่าวและวิเคราะห์ข่าวไปจำกัดอยู่กับแก่นเรื่อง "พระเอก-ผู้ร้าย" เพียงเรื่องเดียว ผลก็คือรัฐบาลแก้ไขสถานการณ์ไม่สำเร็จตลอดมา)

แปลกไหม ในท่ามกลางข่าวจริงหรือข่าวลือของชาวบ้านว่า การอุ้มยังมีอยู่ ไม่เคยมีผู้สื่อข่าวตามไปเจาะดูเป็นตัวอย่างว่าบุคคลที่ถูกอุ้มไปนั้นคือใคร และสถานการณ์การหายตัวของเขานั้นเป็นอย่างไร แปลกไหม ไม่มีผู้สื่อข่าวสักคนได้รับความไว้วางใจจากฝ่ายแข็งข้อ ให้ได้โอกาสสัมภาษณ์แบบเจาะลึกกับตน โดยไม่เปิดเผยชื่อ

ผมไม่ทราบว่าสื่อไม่ขวนขวายจะหาโอกาสนั้น หรือสื่อไม่ได้รับความไว้วางใจจากทั้งชาวบ้านและฝ่ายแข็งข้อ จนกระทั่งไม่มีทางหาโอกาสดังกล่าวได้เลย ถ้าเช่นนั้นสื่อก็ควรถามตัวเองว่าทำไม ถ้าสื่อไม่อยู่ในฐานะที่ได้รับความไว้วางใจจากตัวละครทุกฝ่ายในเหตุการณ์ สื่อยังสามารถทำหน้าที่ของตนได้อยู่อีกหรือ

และด้วยเหตุดังนั้น สังคมไทยและรัฐบาลไทยจึงมืดมิดกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในภาคใต้ มองไม่เห็นความสลับซับซ้อนของปัญหา เราทุกคนนั่งมองสถานการณ์ในภาคใต้เหมือนดูหนัง คือนั่งลุ้นให้ฝ่ายพระเอกชนะเสียที ระหว่างนี้ก็ได้แต่นั่งเฮให้แก่คำพูดมันๆ ของแม่ทัพ นายกอง และรัฐมนตรีกลาโหมไปวันๆ

สองเรื่องนี้ซ้อนกันอยู่ตรงที่ว่า การเพิ่มพลังอำนาจให้แก่ประชาชนในพื้นที่ เพื่อจะทำให้เขาสามารถค้นหาทางเลือกที่สามซึ่งเป็นของเขาเองนั้น ไม่อาจเกิดขึ้นได้ในสังคมที่ไม่ยอมรู้เรื่องของภาคใต้มากไปกว่าการต่อสู้ระหว่างรัฐและผู้แข็งข้อ

การที่ประชาชนในพื้นที่เข้าไม่ถึงสื่อ(หรือสื่อไม่ขวนขวายพอจะให้เสียงของเขาดัง) การรวมตัวโดยสงบ เพื่อเรียนศาสนา, เพื่อระดมเงินสำหรับการเดินทางไปฮัจญ์, หรือเพื่อประท้วงการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งไม่เป็นที่ไว้ใจของตน ฯลฯ จึงทำให้สังคมไทยเข้าใจการกระทำของเขาไม่ได้ และพร้อมจะยอมรับทันทีว่าเขาคือกลุ่มก่อความไม่สงบ

สื่อที่ทำงานอย่างรับผิดชอบ จะสร้างทางเลือกที่สามให้แก่ประชาชนได้มาก ไม่ว่าจะเป็นประชาชนในสถานการณ์ก่อความไม่สงบ หรือประชาชนในสถานการณ์อื่นใดก็ตาม




 

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 590 เรื่อง หนากว่า 7800 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com




 

อย่างที่ทราบกันอยู่แล้วว่า ในวัฒนธรรมไทยนั้น ผู้หญิงถูกกีดกันออกจากพื้นที่ทาง "การเมือง" (พื้นที่สำหรับการตัดสินใจใช้ทรัพยากรสาธารณะ) ไม่ว่าจะเป็นการเมืองท้องถิ่น หรือการเมืองระดับชาติ คนทำสื่อทุกชนิดถือว่าการเมืองเป็นของแสลงสำหรับผู้หญิง คอลัมน์, รายการโทรทัศน์, วิทยุ หรือนิตยสารอะไรที่จะขายผู้หญิงจึงหลีกเลี่ยงการเมืองที่สุดเท่าที่จะทำได้ (นิธิ เอียวศรีวงศ์)

ข่าวคราวเกี่ยวกับภาคใต้ทั้งหมดที่สังคมไทยมีโอกาสรับรู้ก็คือ สิ่งที่ฝ่ายรัฐต้องการจะบอกให้สังคมรู้ เพราะนักข่าวและสื่อเสนอแต่ความเข้าใจของเจ้าหน้าที่รัฐต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ใครถูกยิงเพราะอะไร เจ้าหน้าที่รัฐเป็นฝ่ายบอกแต่ผู้เดียว รายนี้มาจากกลุ่มก่อความไม่สงบ รายนี้เป็นเรื่องส่วนตัว รายนี้ยังไม่แน่ใจ ถ้าจะมีข่าวที่ขัดแย้งกันเองเกิดขึ้นบ้าง ก็เพราะเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งไม่เคยประสานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันให้สัมภาษณ์ขัดแย้งกัน ชาวบ้านที่ผมเคยคุยด้วยเล่าเหตุการณ์ที่รายงานในหน้าหนังสือพิมพ์ไปอีกอย่างหนึ่ง ผมไม่ทราบหรอกว่าที่เขาเล่าหรือเขาเข้าใจนั้นจริงหรือไม่จริง แต่ทำให้เห็นตัวละครเพิ่มขึ้นในเหตุการณ์อีกมากทีเดียว ไม่จำกัดอยู่เฉพาะฝ่าย "พระเอก-ผู้ร้าย" อย่างที่สื่อรายงาน

ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ : บทความทั้งหมดของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ
เจ้าของพื้นที่ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ
เว็ปไซต์ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ออกแบบขึ้นมาเพื่อใช้กับ Display properties : screen area 600 X 800 pixels ซึ่งจะให้ภาพที่คมชัดและสมบูรณ์ที่สุด
H

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 600 เรื่อง หนากว่า 8000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM ในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง) สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com

หรือ ส่งธนาณัติถึง
สมเกียรติ ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202
กรุณาส่งธนาณัติแลกเงินไปยัง สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50202 และอย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์

บทความวิชาการฟรีที่ผ่านมา ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข เพื่อประโยชน์ต่อการนำไปใช้อ้างอิง