ผลงานภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบบทความบริการฟรีของ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

R
relate topic
030748
release date

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 604 หัวเรื่อง
สื่อกับการเมือง : ศึกษาทฤษฎี Hegemony
มัทนา เจริญวงศ์ : แปลและเรียบเรียง
มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
บทความบริการฟรี ม.เที่ยงคืน
The Midnight 's article

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ

Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com

เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะ
สามารถแก้ปัญหาได้

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
เว็ปไซท์นี้มีการคลิกโดยเฉลี่ยต่อวัน 21,878 สูงสุด 32,795 สำรวจเมื่อเดือน พ.ค. 48
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ เพื่อประโยชน์ต่อสังคม

คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

การศึกษาสื่อมวลชน
แกรมชี่กับทฤษฎี Hegemony และ Ideology
มัทนา เจริญวงศ์ : แปลและเรียบเรียง

สาขาสื่อสารมวลชน คณะวิทยาการสารสนเทศ
มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้เดิมชื่อ
การศึกษาสื่อมวลชน ด้วยทฤษฎีการครอบครองความเป็นใหญ่ทางอุดมการณ์
แปลและเรียบเรียงจากบทความชื่อ
Theory of Hegemony and Ideology
เขียนโดย Dr.Chad Raphael
Santa Clara University

เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๔๘

(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 9.5 หน้ากระดาษ A4)


 

ทฤษฎีการครอบครองความเป็นใหญ่(Hegemony)
แก่นของทฤษฎีการครองครองความเป็นใหญ่/การครอบครองความเป็นเจ้า (Hegemony) ก็คือ ทฤษฎีนี้พยายามจะอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างความมีเสถียรภาพของอำนาจทางการเมือง และการควบคุมทางสังคมในสังคมทุนนิยมประชาธิปไตย ซึ่งในปัจจุบันประเทศส่วนใหญ่ของโลกล้วนเป็นสังคมลักษณะนี้ทั้งสิ้น เช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกา, ประเทศส่วนใหญ่ในยุโรปตะวันตก ตลอดจนพยายามอธิบายการเกิดขึ้นของภาวะวิกฤติต่างๆ การเกิดสงครามโลก หรือแม้แต่สภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ

นักคิดต้นตำรับทฤษฎีนี้ คือ อันโตนิโอ แกรมชี่ ในปี ค.ศ. 1971 แกรมชี่ได้แสดงความเห็นว่า พลังอำนาจทางการเมืองในประเทศเสรีประชาธิปไตยที่แท้จริงไม่ได้ถูกแสดงผ่านรูปแบบที่รัฐบาลเป็นผู้ใช้อำนาจนั้น ในลักษณะของการจองจำนักโทษการเมืองในคุก, การสังหารผู้ประท้วงคัดค้าน

แต่พลังอำนาจทางการเมืองที่แท้จริงได้ถูกใช้ผ่าน "อุดมการณ์" (ideology) หรือ ทัศนคติ/มุมมองที่สำคัญในการมองโลก ซึ่งความคิดและสัญลักษณ์ต่างๆที่ประกอบขึ้นมาเป็นอุดมการณ์ โดยทั่วไปจะถูกกำหนดขึ้นมาโดยผู้ปกครอง ด้วยอำนาจที่ได้มาอย่างถูกต้องตามกฎหมายและ "อุดมการณ์"นี้เองที่เป็นตัวช่วยให้ผู้ปกครองสามารถปกครองพลเมืองของตนได้อย่างราบรื่น หรืออย่างน้อยที่สุดก็เป็นที่ยอมรับของพลเมือง (เป็นการยอมรับด้วยใจไม่ใช่ด้วยการบังคับ/ใช้กำลัง)

ในยุคเศรษฐกิจแบบศักดินา(ยุคกลางของยุโรป-ทาส คือ แรงงานที่จะต้องอุทิศแรงกายให้แก่เจ้าของที่ดินและมีชีวิตอยู่ภายใต้การกดขี่ของเจ้าของที่ดิน) ทาสจะถูกปกครองโดยชนชั้นศักดินา ขณะเดียวกันชนชั้นศักดินาก็จะถูกปกครองโดยกษัตริย์ ซึ่งในลักษณะสังคมแบบนี้ โครงสร้างทางการเมืองทั้งหมดและชุดความคิด(set of ideas) จะถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการปกครองทาสอย่างชอบธรรมตามกฎหมาย และเพื่อควบคุมดูแลทรัพย์สมบัติความมั่งคั่งของชนชั้นสูงและกษัตริย์

ชุดของความคิดหรืออุดมการณ์ในสังคมแบบนี้ ได้แก่ ความคิดที่ว่า "กษัตริย์ คือ ผู้ได้รับพรจากพระเจ้า " ดังนั้นจึงเป็นความชอบธรรมความถูกต้องที่กษัตริย์จะเป็นผู้ปกครอง แนวคิดนี้ในสมัยปัจจุบันอาจจะ "โบราณ" แต่ก็เป็นความคิดที่ช่วยให้คนสมัยก่อนปกครองสังคมได้ยาวนานนับศตวรรษ

แม้ว่าแกรมชี่จะได้รับแรงบันดาลใจหลักๆมาจากคาร์ล มาร์กซ์ แต่ทฤษฎีของแกรมชี่แตกต่างจากทฤษฎีมารก์ซิสต์แบบดั้งเดิมอย่างสิ้นเชิง

ทฤษฎีมาร์กซิสต์แบบดั้งเดิมมีความเชื่อว่า สังคมแต่ละสังคมจะเป็นเช่นไรขึ้นอยู่กับระบบเศรษฐกิจ กล่าวอีกนัยหนึ่งว่า เศรษฐกิจเป็นตัวกำหนดรูปแบบของสังคม เศรษฐกิจ คือ ฐานของสังคม และเศรษฐกิจเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อโครงสร้างส่วนบน(superstructure) ซึ่งประกอบด้วย สถาบันทางการเมือง, สถาบันที่เกี่ยวข้องกับพลเมือง, วัฒนธรรมและความเชื่อ (1)

ตามแนวคิดของมาร์กซ์ เขาเชื่อว่าเศรษฐกิจเป็นตัวกำหนดพฤติกรรม ความคิดทางการเมืองและพื้นที่ทางวัฒนธรรมของประชาชนในสังคม ซึ่งเมื่อนำแนวคิดของมาร์กซ์ไปอธิบายสังคมศักดินา จะอธิบายได้ว่าความคิดทางการเมืองของพลเมืองที่เชื่อว่า กษัตริย์ คือ ผู้ได้รับพรจากพระเจ้า กษัตริย์จึงมีความชอบธรรมในการปกครองนั้นเป็นผลมาจากระบบเศรษฐกิจแบบศักดินาที่กษัตริย์และชนชั้นสูง คือ เจ้าของที่ดิน ที่ดิน คือ ทรัพย์สิน เป็นสถานที่ที่ทาสต้องมาเพาะปลูก มาทำให้ที่ดินงอกเงย มีค่าขึ้นมา ทว่าทาสไม่มีสิทธิ์เป็นเจ้าของหรือเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากแรงงานของตน

ในขณะที่แกรมชี่เห็นว่า "ชุดของความคิด" และสัญลักษณ์ที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นอุดมการณ์ที่ใช้ในการปกครองเป็นปัจจัยที่มีพลัง และเป็นตัวกำหนดโครงสร้างของแต่ละสังคมเท่าๆกับปัจจัยเศรษฐกิจ แต่เรย์มอนด์ วิลเลี่ยม นักคิดชาวอังกฤษเห็นว่า ความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างส่วนบนและส่วนล่างเป็นความสัมพันธ์ที่ยากจะระบุให้ชัดเจนว่าอะไรเป็นตัวกำหนดอะไร คือ ต้องพิจารณาด้วยเหตุผล เพราะทั้งสองต่างส่งผลกระทบและสร้างความเปลี่ยนแปลงซึ่งกันและกัน ดังนั้นทฤษฎีการครอบครองความเป็นใหญ่ จึงแตกต่างจากทฤษฎีมาร์ซิสต์แบบดั้งเดิม โดยเชื่อว่าสถาบันทางวัฒนธรรมและความคิด เป็นปัจจัยที่มีพลังในการขัดเกลามนุษย์ และเป็นตัวบอกว่ามนุษย์จะมีชีวิตอย่างไรต่อไป

จะเห็นได้ว่าในทัศนะของแกรมชี่ กลไกหรือพลังที่ใช้ในการควบคุมปกครองสังคมนั้นมีความสลับซับซ้อนมากกว่าที่มาร์กซ์คิด มาร์กซ์สนใจผู้ปกครองโดยนำชนชั้นปกครองไปผูกอยู่กับการเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต เช่น ใคร คือ เจ้าของโรงงาน, ที่ดิน, เครื่องจักร หรืออะไรก็ตามที่ใช้ผลิตผลผลิตได้

สำหรับมาร์กซ์ รัฐบาลและสถาบันทางสังคมต่างๆในสังคมทุนนิยมมีความเป็นอิสระจากเจ้าของปัจจัยการผลิตน้อยมาก รัฐบาลในมุมมองของมาร์กซ์ ก็คือ คณะกรรมการที่ทำหน้าที่จัดการแบ่งสรรผลประโยชน์ทั้งหมดให้ชนชั้นนำอย่างลงตัว

แต่แกรมชี่ไม่ได้มองว่าพลังในการปกครองสังคมจะผูกติดอยู่กับชนชั้นนำ (เจ้าของปัจจัยการผลิต) หรือชนชั้นใดชนชั้นหนึ่งเป็นการเฉพาะ แต่มองว่าสังคมจะถูกปกครองโดยคนกลุ่มหนึ่งในช่วงเวลาหนึ่งๆ พอช่วงเวลาผ่านไปก็เป็นไปได้ที่กลุ่มอื่นจะขึ้นมามีอำนาจแทน ดังนั้นในมุมมองของแกรมชี่ กลุ่มที่ทำหน้าที่ปกครองสังคม จะเรียกว่า "historical bloc" หรือกลุ่มประวัติศาสตร์

ลักษณะของ" historical bloc" คือ กลุ่มคนที่มาจากกลุ่มต่างๆไม่จำเป็นต้องเป็นชนชั้นใดชนชั้นหนึ่ง แต่มีผลประโยชน์ร่วมกัน และมีการแบ่งสรรอำนาจทางการเมืองกันได้ลงตัวในห้วงเวลาหนึ่ง (คือ เป็นกลุ่มผลประโยชน์ที่ตกลงกันได้ในช่วงเวลาหนึ่งๆ) เช่น กรณีการเกิดขึ้นของกลุ่มขวาใหม่ในสหรัฐอเมริกา ที่ช่วยให้รีพับลิกันได้รับชัยชนะทั้งในทำเนียบขาวและในวุฒิสภาในปี 1980 กลุ่มขวาใหม่เกิดจากการรวมตัวกันของคนหลายกลุ่ม(coalition of multinational corporations) อาทิ ชาวเมืองที่ต้องการให้ลดการเก็บภาษีลง กลุ่มคริสเตียนที่ค่อนข้างอนุรักษ์นิยม, แรงงานผิวขาวที่ไม่ชอบนโยบายของเดโมแครต อย่างไรก็ตามในปี 1992 บิล คลินตันก็สามารถสลายการรวมตัวกันของกลุ่มขวาใหม่นี้ได้ และทำให้เดโมแครตได้รับชัยชนะไปในที่สุด

แกรมชี่ให้คำจำกัดความของ "การครอบครองความเป็นใหญ่" ว่าเป็นกระบวนการที่ชนชั้นซึ่งมีบทบาทโดดเด่นในสังคมหรือชนชั้นที่เป็นคนจำนวนไม่มาก ใช้สถาบันทางสังคมบางสถาบัน เช่น สถาบันสื่อมวลชน(โดยอาศัยอภิสิทธิ์บางอย่างที่ทำให้เข้าถึงสถาบันเหล่านี้ได้) เป็นเครื่องมือในการธำรงไว้ซึ่งพลังทางการเมืองและเศรษฐกิจของกลุ่มตน โดยผ่าน "อุดมการณ์หลัก" ของสังคมนั่นเอง

ตามปกติ"อุดมการณ์หลัก"ของสังคมแต่ละแห่ง ก็คือ ชุดของแนวความคิดพื้นฐานที่จัดว่าเป็นสามัญสำนึกของพลเมืองในสังคมนั้นๆ ซึ่งอีกนัยหนึ่งก็คือ ร่องรอยของการจัดสรรอำนาจอย่างถูกต้องตามกฎหมาย "อุดมการณ์หลัก"ของสังคม ทำให้โครงสร้างของอำนาจดูราวกับว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ เรื่องปกติธรรมดา หรือ เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องปกติเช่นกันที่ "อุดมการณ์หลัก"จะถูกท้าทายเป็นระยะ (เพราะตามความเชื่อของแกรมชี่ อุดมการณ์เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้น เพื่อรักษาอำนาจเดิมให้คงไว้ เมื่อถูกสร้างขึ้น ไม่ได้มีอยู่เอง จึงเป็นเรื่องธรรมดา ที่ต้องถูกท้าทายด้วยอุดมการณ์ใหม่ๆจากกลุ่มอื่นที่แสวงหาอำนาจเช่นกัน)

ตัวอย่างของอุดมการณ์หลักในสังคม เช่น

1. "ความยากจนเป็นเรื่องธรรมดา" แต่ข้อเท็จจริงในอดีตก็มีหลายสังคมที่จัดสรรผลประโยชน์ความมั่งคั่งให้เท่าเทียมกันอย่างเป็นธรรม ดังนั้นคนส่วนใหญ่ของประเทศจึงไม่จำเป็นต้องยากจน

2. "เราไม่มีทางไปต่อกรกับรัฐบาลหรือข้าราชการได้หรอก" แต่จำนวนที่ประชาชนลุกขึ้นมาฟ้องร้องรัฐบาลก็มีไม่น้อย

3. "คนดำฉลาดน้อยกว่า และขี้เกียจมากกว่าคนผิวขาว คนผิวขาวจึงต้องเป็นนายเพื่อคอยควบคุมการทำงาน แต่ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ก็คือ ทาสผิวดำนั้นทำงานหนักและทำงานได้นานกว่าคนผิวขาว ซึ่งเป็นนาย มิหนำซ้ำยังไม่มีหลักฐานใดบ่งชี้ว่ามีเชื้อชาติใดเฉลียวฉลาดกว่าเชื้อชาติอื่น

4. "คนเอเชียอ่อนน้อมถ่อมตัว จึงไม่มีทางเป็นผู้นำที่ดีได้" แต่ข้อเท็จจริงก็คือ คนเอเชียก็ปกครองประเทศของตนเองได้ก่อนที่คนผิวขาวจะขึ้นฝั่งมาประเทศเขาเสียอีก

5. "อเมริกาเป็นแดนแห่งโอกาสที่เท่าเทียม" แต่หลายคนกลับเริ่มต้นโอกาสของตนในสลัม ขณะที่หลายคนเริ่มต้นโอกาสจากแมนชั่นสุดหรู
อย่างไรก็ตาม "อุดมการณ์"ที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการปกครอง จะมีหลักสากลอยู่ กล่าวคือ เป็นอุดมการณ์ที่พยายามทำให้พลเมืองเชื่อว่า "ผลประโยชน์ที่คนบางกลุ่มได้รับเป็นผลประโยชน์ของทุกคน" เช่น นโยบายที่บอกว่าจะเก็บภาษีคนรวยน้อยลง เพื่อให้คนรวยนำเงินมาลงทุนและสร้างงานให้คนว่างงานในสังคม เราจะทราบได้อย่างไรว่า คนรวยเหล่านั้นนำเงินไปสร้างงานจริง และเราจะทราบได้อย่างไรว่างานแต่ละตำแหน่งนั้นต้องใช้เงินลงทุนเท่าไร

สิ่งเหล่านี้แกรมชี่เชื่อว่า เป็นผลมาจากการทำงานของ"กลไกทางอุดมการณ์" ซึ่งได้ผลกว่าการใช้"กลไกอำนาจรัฐ" เข้าบังคับโดยตรง โดยมีเป้าหมายเพื่อรักษาไว้ซึ่งอำนาจของกลุ่มตน อำนาจเหล่านี้จะมีประสิทธิผลมากที่สุดเมื่อไม่ได้ใช้ผ่านการอบรมสั่งสอนที่เปิดเผย หรือการเซ็นเซอร์อย่างเป็นทางการ แต่ใช้ผ่านกระบวนการสร้างความเชื่อ ค่านิยม และมุมมองในการมองโลกของบุคคล ดังนั้น"อุดมการณ์"ในความหมายของแกรมชี่ จึงแตกต่างไปจากอุดมการณ์ในความหมายทั่วไปๆ

การสร้างและการแพร่กระจายอุดมการณ์เป็นกระบวนการที่ซับซ้อน ในแง่นี้สถาบันวัฒนธรรมจะมีบทบาทสำคัญมาก ในฐานะที่เป็นผู้สร้างมุมมองในการมองโลกที่สำคัญแก่พลเมืองของสังคม นอกเหนือจากสถาบันครอบครัว องค์กรศาสนา และสถาบันสื่อสารมวลชน

บทบาทของสื่อมวลชนในมุมมองของทฤษฎีการครอบครองความเป็นใหญ่
นักทฤษฎีสำนักนี้มักจะมองว่า บทบาทหลักของสื่อมวลชนไม่ได้ทำตัวเป็น"สุนัขเฝ้าบ้าน" เฝ้าติดตามตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล แต่มักจะค้ำจุนรัฐบาลทุนนิยมด้วยการพยายามขจัดมุมมองที่ว่า เรามีความแตกต่างทางชนชั้น ข่าวสารในสื่อมักจะถูกขัดเกลาซ้ำแล้วซ้ำเล่า จากอุดมการณ์ของผู้ปกครองในสังคมทุนนิยมประชาธิปไตย เช่น การนำเสนอข่าวสารเกี่ยวกับนักการเมืองระดับสูง ความร่วมมือระหว่างผู้นำภาคธุรกิจ และความเป็นมิตร สมานฉันท์ระหว่างกลุ่มทางสังคมและชนชั้นต่างๆ

Daniel Hallin ศึกษาการใช้อุดมการณ์ระหว่างสงครามเย็น เพื่อหาคำตอบว่าทฤษฎีการครอบครองความเป็นใหญ่สามารถนำมาปรับใช้กับสื่อมวลชนได้อย่างไร และพบว่าหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา สหรัฐอเมริกาใช้กลไกอุดมการณ์ทำงานโดยแสดงให้ชาวโลกเห็นว่า นาทีนี้โลกกำลังเป็นสนามสู้รบระหว่าง"โลกเสรี" และลัทธิอันตรายอย่าง "คอมมิวนิสต์"ที่กำลังแผ่อิทธิพลไปทั่วโลกภายใต้การนำของโซเวียต

มุมมองเช่นนี้ช่วยทำให้คำว่า "สันติภาพ" หรือ "ความสงบสุข" ซึ่งมักจะถูกสหรัฐอเมริกาใช้อ้างอิงการกระทำของตน เมื่อเข้าไปรุกล้ำ/แทรกแซงอธิปไตยของชาติอื่น เป็นเรื่องสมเหตุสมผล

นับแต่ปี 1945 เป็นต้นมา สหรัฐอเมริกาพาประเทศต่างๆ (แน่นอนว่ามากที่สุดเท่าที่จะชักจูง หรือบังคับทางอ้อมได้)เข้าสู่ระบบทุนนิยมเสรีโลกที่สหรัฐเป็นผู้นำทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ นอกจากนี้ "สงครามเย็น" ยังทำให้ชาวอเมริกันตระหนักและเชื่อมั่นในภาวะความเป็นผู้นำโลกของประเทศตน ความเชื่อเช่นนี้ได้แพร่กระจายไปทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว และช่วยให้ชาวอเมริกันยอมรับการตัดสินใจของรัฐบาลได้อย่างง่ายดาย อาทิ

การเรียกเก็บภาษีในอัตราที่สูงขึ้นเพื่อใช้เป็นค่าประกันชีวิตทหารอเมริกันที่ถูกส่งไปรบที่เกาหลี, เวียดนาม และประเทศอื่นๆ ภาพภยันอันตรายจากคอมมิวนิสต์ที่คุกคามใกล้เข้ามาอย่างเกินจริง ยังทำให้รัฐบาลสามารถปกปิดนโยบายต่างประเทศ, นโยบายทางการทหารจำนวนมาก ให้เป็นความลับจากสื่อมวลชนและประชาชนได้อย่างชอบธรรม ภายใต้ข้ออ้างว่าเพื่อความมั่นคงของประเทศ

นอกจากนี้ Hallin ยังศึกษาเนื้อหาข่าวสงครามเวียดนามที่ออกอากาศทางโทรทัศน์ระหว่างปี1960-1979 รวมทั้งข่าวสหรัฐอเมริกาเข้าแทรกแซงทางการเมือง และทางการทหารบรรดาประเทศในอเมริกากลาง อาทิ เอลซัลวาดอร์ นิคารากัว ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างปี1980-1989 แล้วพบว่า หลังสงครามเวียดนามสิ้นสุดลง พลังอำนาจของอุดมการณ์ว่าด้วย "สงครามเย็น" ก็อ่อนแรงลงด้วย เนื่องจากชนชั้นนำเริ่มตั้งคำถามวิพากษ์วิจารณ์นโยบายต่างประเทศของสภาคองเกรสอย่างเผ็ดร้อน แต่รัฐบาลก็ยังคงใช้อุดมการณ์ดังกล่าวต่อไป

ในปี 1980-1989 นักข่าวต่างพากันรายงานว่า รัฐบาลนายเรแกนเรียกร้องให้กองกำลังสหรัฐเข้าแทรกแซงประเทศในกลุ่มอเมริกากลาง ข้อเรียกร้องดังกล่าวถูกนำเสนอในลักษณะที่ชอบธรรม เมื่อยกเหตุผลว่าขณะนั้นคิวบาซึ่งปกครองประเทศด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ และสหภาพโซเวียตกำลังมีอิทธิพลเหนือดินแดนดังกล่าว มาประกอบการรายงานข่าว

ทัศนะคติในการรายงานข่าวดังกล่าวเป็นมุมมองเดียวกันกับสภาคองเกรส แต่นักข่าวยังตอกย้ำทัศนคตินี้ให้ชัดเจนขึ้นด้วยการรายงานข่าว โดยใช้แหล่งข่าวรัฐบาลและชนชั้นนำทางการเมืองมาเป็นผู้แสดงความคิดเห็น อภิปรายโต้เถียงกันในประเด็นการแทรกแซงที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะวิธีการจัดการและรักษาอำนาจในต่างประเทศของสหรัฐให้มีประสิทธิผลมากที่สุด อาทิ การนำเสนอว่าจะนำการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยเข้ามาสู่ภูมิภาคนี้ได้อย่างไร และการแสวงหาพันธมิตรทางการทหาร ขณะที่ตีพิมพ์เนื้อหาข่าวเกี่ยวกับความเห็น ท่าทีของพลเมืองอเมริกันที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าวน้อยมาก

Hallin แสดงความเห็นว่า เหตุการณ์ที่อเมริกากลางแสดงถึงกรอบความคิดที่สหรัฐอเมริกา และโซเวียตมีต่อประเทศโลกที่สามผ่านกลไกอุดมการณ์ว่าด้วยสงครามเย็น กล่าวคือ ประเทศโลกที่สาม ไม่ต่างอะไรกับเวทีต่อสู้ช่วงชิงผลประโยชน์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียต เป็นสนามที่ผู้นำโลกใช้เพื่อสำแดงพลังอำนาจเหนืออีกฝ่ายหนึ่ง

ดังนั้นเนื้อหาข่าวในมุมท้องถิ่น อาทิ รัฐบาลใหม่ที่สหรัฐเข้าไปแทรกแซงนี้ จะจัดการปัญหาความไม่เท่าเทียมกันทางสังคมที่เป็นสาเหตุหลักของการต่อสู้ดิ้นรนอย่างไร ความปรารถนาของชาวท้องถิ่นที่อยากปลดแอกประเทศตน จากการครอบครองของกองทัพสหรัฐ ภายหลังจากตกอยู่ภายใต้จักรวรรดินิยมสหรัฐในเวลาไม่กี่ปี ฯลฯ จึงแทบจะไม่มีปรากฏให้เห็น

เช่นเดียวกับการรายงานข่าวของประเทศกำลังพัฒนาส่วนมาก ข่าวเกี่ยวกับกลุ่มประเทศอเมริกากลาง มีแนวโน้มจะถูกนำเสนอในลักษณะที่ดินแดนแห่งนี้ปราศจากประวัติศาสตร์ เป็นสถานที่ที่เกิดความขัดแย้งซึ่งเต็มไปด้วยความซับซ้อนยากยิ่งจะเข้าใจ และละเลยการกล่าวถึงชนพื้นเมือง เจ้าของประเทศที่แท้จริง

กรอบความคิดลักษณะนี้ย่อมปฏิเสธประวัติศาสตร์ที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ประวัติศาสตร์ซึ่งสหรัฐอเมริกาเป็นผู้สนับสนุนให้ตระกูลเพียงหยิบมือ ทว่ามีฐานะร่ำรวยขึ้นปกครองเอลซัลวาดอร์และนิคารากัว ความละโมบของคนกลุ่มนี้เป็นชนวนปะทุให้เกิดการกบฏในเวลาต่อมา แนวคิดเกี่ยวกับสงครามเย็นจึงเป็นเครื่องมือที่ทำให้มหาอำนาจทั้งสองประเทศใช้เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ ภายใต้ข้ออ้างว่าเข้าไปแทรกแซงการเมือง เศรษฐกิจในประเทศด้อยพัฒนา ป่าเถื่อน เพื่อนำความศิวิไลซ์ไปมอบให้

Tod Gitlin นำทฤษฎีการครอบครองความใหญ่มาปรับใช้กับการศึกษาเนื้อหาข่าวภายในประเทศ โดยศึกษาเนื้อหาข่าวโทรทัศน์ของ CBS ในปีค.ศ. 1980 และในหนังสือพิมพ์ News York Times ซึ่งรายงานข่าวเกี่ยวกับกลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคมของนักศึกษาในสหรัฐที่เรียกตนเองว่า Students for a Democratic Society (SDS) (2) ในระยะแรกองค์กร SDS ได้เคลื่อนไหวทางการเมืองในหลายประเด็นด้วยกัน อาทิ เรื่องสิทธิพลเมืองของชาวอเมริกัน-อัฟริกัน แต่หลังจากนั้นเยาวชนกลุ่มนี้ก็หันไปทุ่มเท อุทิศตนให้กับการชุมนุมประท้วงต่อต้านสงครามเวียดนาม

ในปี 1968 กลุ่ม SDS เดินขบวนประท้วงรัฐบาลสหรัฐที่ยังคงดื้อแพ่งส่งทหารไปรบในสงครามเวียดนามที่ถนนกลางนครชิคาโก การประท้วงครั้งนี้จบลงด้วยรัฐบาลสั่งให้กำลังตำรวจเข้ากวาดล้างและทำร้ายผู้เดินขบวน ด้วยไม้กระบองและแก๊สน้ำตา ภาพดังกล่าวแพร่ออกไปทั่วประเทศผ่านจอโทรทัศน์

Gitlin เห็นว่า ขบวนการทางสังคมที่มีเป้าหมายชัดเจนว่า ต้องการต่อต้านประท้วงนโยบายรัฐและขัดต่อผลประโยชน์ของชนชั้นนำ( elites) เช่น กลุ่ม SDS นั้น ถูกสื่อมวลชนลดคุณค่าเป้าหมายที่แท้จริงลงไป ด้วยการลดความสำคัญหรือแก่นแท้ที่อยู่ในสาร(message) ซึ่งกลุ่ม SDS สื่อสารออกมา ตลอดจนบั่นทอนความเห็นอกเห็นใจ ความเข้าใจจากสาธารณะชนในฐานะที่เป็นนักต่อต้านที่กล้าท้าทายอำนาจรัฐ

Gitlin เชื่อมั่นว่า มีวิธีการต่างๆมากมายที่นักข่าวใช้ในการรายงานข่าวการเดินขบวนประท้วง การชุมนุมต่อต้าน จะโดยตั้งใจหรือไม่รู้ตัว ดังนี้

1. การทำให้ภาษา (ทั้งวัจนะภาษาและอวัจนภาษา) และเป้าหมายของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมไม่มีความสำคัญ

2. การแบ่งแยกอย่างชัดเจน ด้วยการเสนอว่าสมาชิก SDS ทุกคนเป็นพวกนิยมความรุนแรงอย่างสุดขอบ

3. รายงานโดยเน้นไปที่รอยร้าวภายในขบวนการ

4. เพ่งความสนใจไปที่จุดเล็กๆ เรื่องเล็กน้อย เช่น แสดงให้เห็นว่าพฤติกรรมของผู้เดินขบวนประท้วง เป็นพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนไปจากบรรทัดฐานของสังคม , ผู้มาชุมนุมประท้วงไม่ได้อยู่ในฐานะตัวแทนของสาธารณะชน หรือเสนอวาทะ กิริยาท่าทางของผู้เดินขบวน ในทางที่ยั่วยุให้สาธารณะชนโกรธเคือง

5. บิดเบือนจำนวนผู้เข้าร่วมประท้วงให้น้อยลง เพื่อสะท้อนนัยะว่าไม่มีความสำคัญ ไม่มีความหมาย ไม่ใช่เรื่องของคนส่วนใหญ่

6. บิดเบือนผลของการเคลื่อนไหวต่อต้านว่าไร้ค่า ไม่มีผลใดๆทั้งสิ้น

7. เน้นการนำเสนอภาพลักษณ์ผู้ประท้วงในลักษณะที่ผูกติดอยู่กับความรุนแรงเท่าที่จะเป็นไปได้

8. ทำให้ข้อเรียกร้องและป้ายข้อความต่อต้าน กลายเป็นเรื่องที่ขัดต่อ หรือไม่ได้รับรองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เช่น การเรียกผู้ประท้วงขณะเดินขบวนว่า "กลุ่มที่เรียกขานกันว่าขบวนมาร์ชเพื่อสันติภาพ" หรือแสดงให้เห็นว่า บทบาทของผู้ประท้วงนั้น เป็นบทบาทที่แต่งตั้งสถาปนาตนเองขึ้นมาเป็นผู้นำชุมชน เป็นต้น

Gitlin พบว่าบ่อยครั้งที่สื่อมวลชนนำเสนอข่าวเกี่ยวกับขบวนการ SDS ในลักษณะเดียวกับการรายงาน
ข่าวอาชญากรรม แม้ว่ารัฐธรรมนูญสหรัฐในขณะนั้นจะรับรองสิทธิพื้นฐานของพลเมือง พลเมืองสามารถยื่นอุทธรณ์ให้รัฐบาลแก้ไขปรับปรุงนโยบาย ที่รู้สึกว่าตนถูกปฏิบัติอย่างไม่ยุติธรรมได้ รวมทั้งให้สิทธิในการแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี

นอกจากนี้ เนื้อหาด้านลบส่วนใหญ่ยังเป็นผลมาจากสื่อมวลชน มีแนวโน้มในการนำเสนอข่าวโดยเน้นไปที่ตัวเหตุการณ์ มากกว่าให้ความสำคัญกับสถานการณ์ บริบทแวดล้อม, เน้นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมากกว่าข้อตกลง, รายงานข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นโดยอิงความคืบหน้าของเหตุการณ์ มากกว่าจะอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และอ้างอิงพึ่งพาแหล่งข่าวจากฝ่ายรัฐบาลเป็นส่วนใหญ่

Gitlin ยังแสดงให้เห็นว่า เนื้อหาข่าวในสื่อมวลชนเข้าไปเปลี่ยนแปลงขบวนการทางสังคม (social movement) โดยใช้ประสบการณ์ในฐานะที่เป็นผู้นำนักศึกษาในขบวนการ SDS มาแสดงให้เห็นภาพการขับเคลื่อนของขบวนการทางสังคม ที่อิงแอบอยู่กับเนื้อหาข่าวที่ปรากฏในสื่อมวลชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสรรหาสมาชิกใหม่ การกระตุ้นให้สาธารณชนสนใจมุมมองความคิดของพวกเขา ตลอดจนการกระทำของกลุ่มและการทำให้ผู้กำหนดนโยบายหันมารับฟัง

เขาพบว่าเนื้อหาในข่าว มีอิทธิพลต่อการเลือกสมาชิกของกลุ่มมาทำหน้าที่ในฐานะโฆษกกลุ่ม และทำให้ผู้นำทางการเมืองกลายเป็นบุคคลมีชื่อเสียง เมื่อสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น แทนที่จะสนใจว่าขบวนการทางสังคมนี้มีเหตุผลอย่างไร ความสนใจก็เปลี่ยนไปอยู่ที่ในบรรดาผู้นำขบวนการ ใครจะพูดจาดุเด็ดเผ็ดมันกว่ากัน การได้ไปปรากฏอยู่ในเนื้อหาสื่อมวลชนบ่อยๆเหมือนจะทำให้ได้รับอภิสิทธิ์อื่นๆตามไปด้วย แม้ว่าการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในทางปฏิบัติ จะได้ประสิทธิผลที่น้อยกว่าการออกไปจัดกิจกรรมภายนอกที่ไม่มีสื่อมวลชนมาทำข่าว เช่น การออกไปเคาะประตูให้ข่าวสารณรงค์ตามบ้านเรือนทีละหลังๆ ก็ตามที

นายทุนผู้ให้การสนับสนุนและคนอื่นๆ ก็ยังชอบใช้ความสนใจจากสื่อมวลชนมาเป็นวิธีหนึ่งในการวัดผลกระทบ หรือความสำเร็จของขบวนการทางสังคม ดังนั้นเนื้อหาในสื่อมวลชนจึงสามารถขัดเกลาอัตลักษณ์(identity)ของกลุ่มที่เกิดขึ้นได้ในท้ายที่สุด เนื่องจากสมาชิกของกลุ่มค่อยๆเปลี่ยนตัวเองให้มีสีสันเพื่อดึงความสนใจ ให้ได้มาซึ่งชื่อเสียง การยอมรับจากสื่อมวลชน ซึ่งส่งผลต่อการดึงสมาชิกใหม่ๆมาเข้าร่วมขบวนการอีกทอดหนึ่งด้วย

นอกจากนี้ Gitlin ยังตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับภาวะการพึ่งพิงเนื้อหาในสื่อมวลชนว่า ขบวนการทางสังคมบางกลุ่มที่มีจำนวนสมาชิกไม่มาก มักจะพึ่งพาเนื้อหาในสื่อมวลชนสูง เพื่อเผยแพร่มุมมองทัศนะของตน เพราะไม่สามารถระดมประชาชนจำนวนมากให้มาเดินขบวนต่อต้านหรือวิ่งเต้นล็อบบี้รัฐบาลได้ ขบวนการทางสังคมเหล่านี้มักจะออกแบบเครื่องแต่งกาย ริ้วขบวนให้"ขึ้นกล้อง"และ"น่าดึงดูด" เพื่อเอาเรียกความสนใจจากสื่อมวลชน

ขณะเดียวกันขบวนการทางสังคมที่มีสมาชิกสนใจเข้าร่วมมาก มีเป้าหมายทางสังคมที่กว้างขวาง มักจะใช้สื่อมวลชนเป็นช่องทางหาสมาชิกใหม่ๆมาเข้าร่วมขบวนการ และเอาชนะใจประชาชนจากโปรแกรมกิจกรรมการเคลื่อนไหวของตน ตัวอย่างที่ดีและร่วมสมัยในกรณีหลังนี้ ก็คือ กลุ่มเคลื่อนไหวที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม และรณรงค์จัดการปัญหาอย่างหลากหลายตั้งแต่ระดับโลกจนถึงพื้นที่บางพื้นที่ อาทิ ปัญหาโลกร้อน การเกิดฝนกรด ไปจนถึงภัยอันตรายต่างๆที่คุกคามสิ่งมีชีวิตบนโลก ซึ่งต้องการความร่วมมือจากประชาคมโลกทั้งหมด เป็นต้น

ส่วนขบวนการทางสังคมที่ต้องการแก้ไขปัญหาสังคม ในเชิงปฏิรูปมากกว่าต้องการการเปลี่ยนแปลงในเชิงปฏิวัติ มักจะดูราวกับสามารถเข้าไปควบคุมเนื้อหาในสื่อมวลชน และได้รับความยุติธรรมจากสื่อมวลชนมากกว่า กล่าวโดยสรุปก็คือ สื่อมวลชนจะรายงานข่าวขบวนการทางสังคม ที่แสดงออกว่ามีจุดมุ่งหมายกระตุ้นให้ประชาชน หันมาสนใจปัญหาเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างเฉพาะเจาะจง มากกว่ารายงานข่าวขบวนการทางสังคมที่มีจุดมุ่งหมายในการท้าทายหรือทวนกระแสทุนนิยม

ข้อจำกัดของทฤษฎีการครอบครองความเป็นใหญ่
ข้อวิพากษ์ทฤษฎีการครอบครองความเป็นใหญ่ประการหนึ่งก็คือ การถกเถียงในประเด็นที่นักวิชาการสาย Hegemony เชื่อว่า พลังของขบวนการทางสังคมมีรากฐานมาจากการเมือง และการเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาข่าวในสื่อมวลชน เนื่องจากนักวิชาการบางคนเห็นว่าทฤษฎี Hegemony มักจะมองพลเมืองในลักษณะที่เป็นกลุ่มที่จัดตั้งขึ้น เพื่อทำกิจกรรมในลักษณะท้าทายอำนาจรัฐ(ขบวนการทางสังคม) และมีพลังที่ประกอบขึ้นจากองค์ประกอบหลายส่วน โดยที่สื่อมวลชนเข้ามามีอิทธิพลต่อการเข้าเป็นสมาชิก และลดคุณค่าความสำคัญของขบวนการลง ทั้งๆที่หลายครั้งขบวนการทางสังคมมักจะเรียนรู้วิธีการที่จะปรับวิธีการต่อสู้ตัวเอง เข้าหาพลังอำนาจของเศรษฐกิจระบบทุนนิยมและรัฐบาล หรือปิดกั้นไม่ให้สาธารณะชนเข้ามามีส่วนร่วมในวาทกรรม(discourse)ที่เกิดขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นถกเถียงเรื่องแนวคิดที่นักทฤษฎี Hegemony แบ่งแยก"การปฏิรูป" ออกจาก "การปฏิวัติ"อย่างชัดเจน ทั้งๆที่ขบวนการทางสังคมที่มีเป้าหมาย ไม่ว่าจะปฏิรูปหรือปฏิวัติ ต่างมีความสัมพันธ์กันอยู่และเป็นความสัมพันธ์ที่ต้องพิจารณาด้วยเหตุผลเป็นกรณีๆไป รวมทั้งการศึกษาเนื้อหาข่าวในสื่อมวลชนโดยปราศจากการยืดหยุ่น ขาดการพิจารณาว่า ในหลายกรณีนักเคลื่อนไหวทางสังคมในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของผู้ส่งสาร ได้เรียนรู้ธรรมชาติของข่าว วิธีการรายงานข่าว และรู้จักใช้กลยุทธ์เฉพาะตัวในการส่งสาร เพื่อกระตุ้นให้นักข่าวสนใจเนื้อหาสารของตนโดยไม่ได้สูญเสียอัตลักษณ์และเป้าหมายแรกเริ่มของตนเองแต่อย่างใด เช่น

กลุ่มกรีนพีซที่ใช้กลยุทธ์ในการสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิผล ทำให้สื่อมวลชนหันมาสนใจกิจกรรมรณรงค์ของตนอย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ เรื่องการล่าปลาวาฬที่ผิดกฎหมาย การตัดต้นไม้เก่าแก่ในป่าแคลิฟอร์เนียเหนือ การตั้งเตาเผาขยะและกลบฝังขยะมีสารพิษในชุมชนคนผิวสีซึ่งมีรายได้ต่ำ เป็นต้น

ส่วนจุดบอดอื่นๆในการนำทฤษฎี Hegemony มาปรับใช้กับการศึกษาสื่อมวลชน ได้แก่ กรณีที่ผู้ศึกษามักมองความสัมพันธ์ระหว่าง ระบบเศรษฐกิจและสถาบันสื่อมวลชนไปในทางลบ โดยที่ในบางกรณีอาจจะไม่ได้เป็นเช่นนั้น ดังนั้นจึงต้องพึงระลึกไว้ว่า เราใช้ทฤษฎีเป็นเครื่องมือที่พยายามอธิบายบทบาทที่แท้จริง และบทบาทที่ควรจะเป็นของสื่อมวลชนในสังคมประชาธิปไตย ไม่ใช่อธิบายหน้าที่ของข่าว โดยไม่ได้ให้ข้อเสนอแนะหรือวิสัยทัศน์ในการเสนอข่าวที่ควรเป็นภายใต้ระบอบประชาธิปไตย


++++++++++++++++++++++++++++++

อ้างอิง

(1) โครงสร้างส่วนบนของสังคมมาจากแนวคิดที่เชื่อว่า สังคมและการจัดรูปองค์กรต่างๆพัฒนาขึ้นมาอย่างเป็นระบบ แต่นักคิดแต่ละคนก็มีความคิดพื้นฐานที่ต่างกันออกไป ตามแนวคิดของคาร์ล มาร์กซ์ โครงสร้างส่วนบนของสังคม คือ สถาบันทางกฎหมาย, สถาบันทางสังคม วัฒนธรรมและการเมือง โดยที่มีโครงสร้างทางเศรษฐกิจทำหน้าที่เป็นโครงสร้างส่วนล่างหรือฐานให้กับสังคมนั้นๆ (โครงสร้างส่วนล่างในแนวคิดของมาร์กซ์ สำคัญกว่าโครงสร้างส่วนบน เพราะเป็นตัวกำหนด ( determining )ว่าสังคมจะเป็นไปในรูปแบบใด


(2) SDS เป็นกลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคมที่เกิดจากการรวมตัวของเหล่านิสิตนักศึกษาและหนุ่มสาวอเมริกันในระหว่างปี ค.ศ. 1960-1969 มีบทบาทโดดเด่นอย่างมากในการต่อต้านสงครามเวียดนาม

 

+++++++++++++++++++++++++++++

หมายเหตุ : คำว่า Hegemony ซึ่งคุณมัทนา เจริญวงศ์ แปลว่า การคอบครองความเป็นใหญ่ หรือ ครอบครองความเป็นเจ้า นั้น อาจจะไม่เหมาะสม เพราะให้ความรู้สึกในเชิงบังคับควบคุมมากไป ("เป็นใหญ่" "เป็นเจ้า")

กรัมชี่ใช้ศัพท์ภาษาอิตาลี 2 คำ สับเปลี่ยนกัน สำหรับ hegemony คือ egemonia กับ direzione สลับกัน (เป็นส่วนใหญ่ แน่นอนไม่ใช่ทั้งหมด เพระเขาเองมีความไม่แน่นอน ในการให้ความหมาย egemonia เหมือนกัน) ซึ่ง direzione หมายถึง lead, direct "นำ" ซึ่งเข้ากับไอเดียเรื่อง hegemony (เวลาแปลงานของเลนินที่ใช้คำว่า rukuvodstvo ซึ่งแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า hegemony (อย่าลืมว่ากรัมชี่ ยืม-ดัดแปลงไอเดียเรื่อง hegemony มาจากการวิวาทะของชาวพรรครัสเซีย) จะแปลเป็นอิตาลีว่า direzione คือ lead, direct (ดูการอธิบายเรื่องเหล่านี้ของ Quintin Hoare ผู้แปล Prison Notebooks ในฉบับพิมพ์ของ International Publishers หน้า55)

เคยเห็นคนแปลในภาษาไทยว่า "อำนาจนำ" ซึ่งอาจจะใกล้กว่า "ความเป็นใหญ่/เป็นเจ้า" แต่โดยส่วนตัวก็ยังไม่ถึงกับแน่ใจเต็มที่นัก (ชอบที่มีคำว่า "นำ" ไม่แน่ใจคำว่า "อำนาจ")

จาก : สมาชิก

 

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 590 เรื่อง หนากว่า 7800 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com




 

พลังอำนาจทางการเมืองที่แท้จริงได้ถูกใช้ผ่าน "อุดมการณ์" (ideology) หรือ ทัศนคติ/มุมมองที่สำคัญในการมองโลก ซึ่งความคิดและสัญลักษณ์ต่างๆที่ประกอบขึ้นมาเป็นอุดมการณ์ โดยทั่วไปจะถูกกำหนดขึ้นมาโดยผู้ปกครอง ด้วยอำนาจที่ได้มาอย่างถูกต้องตามกฎหมายและ "อุดมการณ์"นี้เองที่เป็นตัวช่วยให้ผู้ปกครองสามารถปกครองพลเมืองของตนได้อย่างราบรื่น หรืออย่างน้อยที่สุดก็เป็นที่ยอมรับ...

ตามแนวคิดของมาร์กซ์ เขาเชื่อว่าเศรษฐกิจเป็นตัวกำหนดพฤติกรรม ความคิดทางการเมืองและพื้นที่ทางวัฒนธรรมของประชาชนในสังคม ซึ่งเมื่อนำแนวคิดของมาร์กซ์ไปอธิบายสังคมศักดินา จะอธิบายได้ว่าความคิดทางการเมืองของพลเมืองที่เชื่อว่า กษัตริย์ คือ ผู้ได้รับพรจากพระเจ้า กษัตริย์จึงมีความชอบธรรมในการปกครองนั้นเป็นผลมาจากระบบเศรษฐกิจแบบศักดินาที่กษัตริย์และชนชั้นสูง คือ เจ้าของที่ดิน ที่ดิน คือ ทรัพย์สิน เป็นสถานที่ที่ทาสต้องมาเพาะปลูก มาทำให้ที่ดินงอกเงย... ในขณะที่แกรมชี่เห็นว่า "ชุดของความคิด" และสัญลักษณ์ที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นอุดมการณ์ที่ใช้ในการปกครองเป็นปัจจัยที่มีพลัง และเป็นตัวกำหนดโครงสร้างของแต่ละสังคมเท่าๆกับปัจจัยเศรษฐกิจ

ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ : บทความทั้งหมดของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ
เจ้าของพื้นที่ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ
เว็ปไซต์ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ออกแบบขึ้นมาเพื่อใช้กับ Display properties : screen area 600 X 800 pixels ซึ่งจะให้ภาพที่คมชัดและสมบูรณ์ที่สุด
H

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 600 เรื่อง หนากว่า 8000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM ในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง) สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com

หรือ ส่งธนาณัติถึง
สมเกียรติ ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202
กรุณาส่งธนาณัติแลกเงินไปยัง สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50202 และอย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์

บทความวิชาการฟรีที่ผ่านมา ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ