ผลงานภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบบทความบริการฟรีของ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

R
relate topic
290648
release date

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 601 หัวเรื่อง
ประชาธิปไตยกับการแก้ปัญหา
จังหวัดชายแดนภาคใต้
ดร.วัน กาเดร์ เจ๊ะมาน : เขียน

ปริญญา นวลเปียน และ
นิพนธ์ โซะเฮง : แปล

The Midnight 's article

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ

Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com

เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะ
สามารถแก้ปัญหาได้

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
เว็ปไซท์นี้มีการคลิกโดยเฉลี่ยต่อวัน 21,878 สูงสุด 32,795 สำรวจเมื่อเดือน พ.ค. 48
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ เพื่อประโยชน์ต่อสังคม

คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

การเมืองนำการทหาร
กระบวนการประชาธิปไตย
กับการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
ดร.วัน กาเดร์ เจ๊ะมาน : เขียน
อดีตรองศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอิสลามนานาชาติมาเลย์เซีย (International Islamic University Malaysia)
ดร.วัน กาเดร์ เจ๊ะมาน มีผลงานทางวิชาการโดดเด่นเกี่ยวกับขบวนการแบ่งแยกดินแดนของชาวมุสลิมในภาคใต้ของประเทศไทยและฟิลิปปินส์
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขายังมีบทบาทเป็นที่รับรู้กันว่าอยู่ในฐานะผู้นำของขบวนการ BERSATU ที่เปิดเผยตัวเป็นที่รู้จักในสังคมไทยมากที่สุด
เขาเป็นชาวปัตตานีโดยกำเนิด เคยทำงานอยู่ในสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท (รพช.)
สังกัดกระทรวงมหาดไทยเมื่อภายหลังจบการศึกษาทางด้านปริญญาตรีทางรัฐศาสตร์จากประเทศสหรัฐอเมริกา
ก่อนที่จะจบปริญญาโทในประเทศมาเลย์เซียและปริญญาเอกจากประเทศออสเตรเลีย
ในปัจจุบันได้เปลี่ยนไปถือสัญชาติมาเลย์เซียและพำนักอยู่ในประเทศมาเลย์เซีย

ปริญญา นวลเปียน และนิพนธ์ โซะเฮง : แปล
อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น จังหวัดกาญจนบุรี
แปลจาก Wan Kadir Cheman, "Democratization and National Integration:
Malay Muslim Community in Southern Thailand",
Intellecual Discourse, 2003. Vol. 11, No. 1, 1-26.


เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 26 หน้ากระดาษ A4)




บทคัดย่อ :
กล่าวได้ว่าในบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนในปัจจุบัน ได้ให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจและสิทธิการปกครองตัวเองของประชาชนชาวไทย แต่น่าสังเกตเป็นอย่างยิ่งว่าภายใต้กระบวนการการสร้างความเป็นประชาธิปไตย ( Process of Democratization) ที่กำลังเกิดขึ้น เป็นกระบวนการที่ช่วยส่งเสริมกระบวนการบูรณาการแห่งชาติ (National Integration) หรือไม่ บทความนี้ได้ถกประเด็นว่าการเข้ามามีส่วนร่วมของชาวมาเลย์มุสลิมในภาคใต้ในระบบการเมืองของไทยทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น อันนำไปสู่กระบวนการการหล่อหลอมแบบค่อยเป็นค่อยไปนั้นเป็นผลโดยตรงของกระบวนการการสร้างความเป็นประชาธิปไตย กรณีดังกล่าวนี้ แท้ที่จริงแล้วแนวทางการสร้างความเป็นประชาธิปไตยหาได้เป็นอุปสรรคต่อความพยายามในการบูรณาการแห่งชาติของรัฐบาลไทย แต่ในทางตรงกันข้ามกลับจะเป็นการส่งเสริมกระบวนการการบูรณาการแห่งชาติของรัฐไทยที่ได้พยายามดำเนินการมาโดยตลอดนั่นเอง

ระบอบประชาธิปไตยคือรูปแบบการปกครองที่ประชาชนเป็นผู้ใช้อำนาจทางการเมือง และมีเป้าหมายสูงสุดอยู่ที่การสร้างสรรค์ "สังคมแห่งเสรีภาพและความเสมอภาคของพลเมือง เป็นสังคมที่คุณค่าของปัจเจกชนจะได้รับการรับรองและคุ้มครอง เป็นสังคมที่ไร้ซึ่งสิทธิพิเศษอันได้มาจากชาติกำเนิด ทรัพย์สิน หรือสถานภาพใดๆ"(1) ถึงแม้ว่าระบบที่มนุษย์เป็นผู้กำหนดขึ้น (Man-made System) จะไม่อาจเทียบเทียมได้กับที่ "พระเจ้าประทาน" (Revealed system) ดังเช่นในระบบแห่งอิสลาม แต่ก็ต้องยอมรับว่าแนวคิดพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย ก็มีความสอดคล้องอยู่กับหลักการและคุณค่าแห่งอิสลามในระดับหนึ่ง

กรณีผลกระทบจากกระบวนการประชาธิปไตยที่มีต่อกระบวนการบูรณาการแห่งชาตินั้น สามารถกล่าวได้ว่า การบูรณาการแห่งชาติก็คือ กระบวนการที่ได้นำเอาสถาบันต่างๆ ตัวอย่างเช่น สังคม การศึกษา และศิลปะบันเทิง มาสร้างสรรค์ให้เหมาะสมกับบรรดามวลสมาชิกแห่งรัฐ โดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ ศาสนา และความเป็นมา ทั้งนี้ก็เพื่อเป้าหมายในการก่อร่างสังคมที่มีเอกภาพภายใต้ขอบเขตอำนาจของรัฐชาติที่เป็นปึกแผ่น (A Unified Nation-State) ดังที่ คาร์ล ดอยช์ (Karl Deutsch) นิยามความหมายของบูรณาการว่าคือ "ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มที่ต่างก็ต้องพึ่งพาอาศัยต่อกัน และเข้ามาร่วมกันสร้างสรรค์สิทธิการครอบครองในระบบที่พวกเขาขาดแคลนลงไปได้"(2)

เมื่อกล่าวตามคำนิยามนี้ สมเหตุสมผลแล้วที่จะสันนิษฐานได้ว่า การสร้างความเป็นประชาธิปไตยซึ่งต้องการลดทอนการรวมศูนย์อำนาจ (Decentralization) อาจจะช่วยอำนวยการบูรณาการแห่งชาติก็ได้ การศึกษาชิ้นนี้จึงมุ่งตรวจสอบความสัมพันธ์กันระหว่าง "กระบวนการการสร้างความเป็นประชาธิปไตยในประเทศไทย" กับ"ความพยายามของรัฐบาลไทยในการบูรณาการชุมชนกลุ่มน้อยชาวมาเลย์มุสลิม"

ชาวมาเลย์มุสลิมในพื้นที่สี่จังหวัดภาคใต้ของไทย
ชาวมาเลย์มุสลิมคือชนกลุ่มใหญ่ในพื้นที่สี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ตารางที่ 1 แสดงให้เห็นถึงจำนวนประชากรของชาวมาเลย์มุสลิมช่วงปี ค.ศ.1990 และ 2000



อย่างที่ไม่อาจพบเห็นได้ในชนกลุ่มน้อยอื่นๆ เช่น ชาวล้านนาในภาคเหนือ และชนเชื้อชาติลาวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ชุมชนชาวมาเลย์มุสลิมมีการต่อต้านอย่างแข็งขันต่อการบูรณาการแห่งชาติ
ทั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากปัจจัยที่สำคัญแห่งความไม่ลงรอยกันระหว่าง"ชาวมาเลย์มุสลิม"และ"ชาวไทยพุทธ"ซึ่งไม่สามารถไกล่เกลี่ยกันได้โดยง่าย โดยอาศัยกระบวนการแห่งการพัฒนาและการสร้างความทันสมัยใหม่ (Modernization) ด้วยเหตุว่าไม่เฉพาะแต่เพียงฐานะทางประวัติศาสตร์อันมีอยู่จริงของราชอาณาจักรปาตานี (ช่วงระหว่างปี ค.ศ.1475-1902) เท่านั้น แต่รวมถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรม เชื้อชาติ และศาสนา ซึ่งถูกใช้เป็น "เครื่องบ่งชี้ทางการเมืองและวัฒนธรรม" เพื่อที่จะสนับสนุนข้ออ้างความเป็นเอกลักษณ์ชนชั้นรองของประเทศของพวกเขา

จากผลพวงของประวัติศาสตร์การเมืองยุคอาณานิคม ชุมชนชาวมาเลย์มุสลิมได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของรัฐประชาชาติไทย (Thai Nation-State) เมื่อมีการบีบบังคับผนวกรวมดินแดนแห่งราชอาณาจักรปาตานีเข้ามา ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาชาวมาเลย์มุสลิมยังคงยึดมั่นอยู่กับดินแดนดั้งเดิม ซึ่งปัจจุบันคือบริเวณพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ทั้งนี้ กลุ่มชาวมาเลย์มุสลิมได้สำเหนียกถึงเหตุผลของการแบ่งแยกดินแดนว่า ไม่เฉพาะแต่มีเงื่อนไขในทางประวัติศาสตร์สังคมรองรับเท่านั้น แต่เรื่องดังกล่าวมีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติอยู่ด้วย ถ้าหากพวกเขาได้รับการสนับสนุนอย่างเพียงพอจากบรรดาประเทศและองค์กรภายนอกที่เห็นอกเห็นใจ หรือหากว่าเกิดความล้มเหลวหรือความอ่อนแอขึ้นภายในองค์กรปกครองส่วนกลางของไทย

เหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่ก่อความยุ่งยากให้กับการบูรณาการกลุ่มชนชาติส่วนน้อย ก็คือ การปฏิเสธจากชนชาติส่วนน้อยนั่นเอง ดังนั้น กระบวนการอันครอบคลุมของการสร้างความเป็นสมัยใหม่ อันหมายถึงการส่งเสริมเศรษฐกิจแบบตลาด การเพิ่มจำนวนคนรู้หนังสือ และการปรับปรุงเส้นทางการคมนาคม ก็ไม่อาจที่จะนำไปสู่การผสมผสานทางวัฒนธรรมที่เป็นเนื้อเดียวกันภายในพื้นที่ดังกล่าวได้ ดังที่ คลิฟฟอร์ด กี๊ตซ์ (Clifford Geertz) ได้ถกว่ากระบวนการสร้างความทันสมัย (Modernization) "ไม่สามารถทำให้ตัดขาดจากสำนึกในทางชาติพันธุ์นิยม (Ethnocentrism) ออกไปได้ มันเพียงแค่ทำให้ทันสมัยขึ้นมาเท่านั้นเอง" (3)

อันที่จริงเห็นได้ว่า ภาวะความเป็นสมัยใหม่ไม่ได้ช่วยหลอมละลายความภาคภูมิในชาติพันธ์ลงได้ ดังนี้แล้วการสร้างความเป็นประชาธิปไตยช่วยให้คำอธิบายที่สนับสนุนต่อความตึงเครียดทางชาติพันธุ์ และส่งผลดีต่อการบูรณาการแห่งชาติได้หรือไม่ ถือเป็นโจทย์สำคัญยิ่งที่การศึกษาครั้งนี้จะได้อธิบายต่อไป

วิถีประชาธิปไตยของไทย
ประเทศไทยไม่เคยตกเป็นอาณานิคมโดยตรงของชาติตะวันตก เฉกเช่นเดียวกับบรรดาชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อื่นๆ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะพ้นไปจากอิทธิพลแห่งชาติตะวันตก เพราะหลักการและแนวคิดแบบตะวันตก ได้แพร่กระจายในประเทศไทยอย่างมีประสิทธิภาพตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การปฏิรูปแรกเริ่มทางการเมืองและการทหารที่สำคัญเกิดขึ้นในรัชสมัยนี้เอง

อย่างไรก็ตาม วิถีแห่งประชาธิปไตยและการพัฒนาทางการเมือง ก็ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างแท้จริงจนกระทั่งกลุ่มนายทหารและข้าราชการพลเรือน ได้ก่อการปฏิวัติเดือนมิถุนายน ค.ศ.1932 (พ.ศ.2475) เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่ดำรงสืบเนื่องมายาวนานหลายศตวรรษ ไปสู่การปกครองระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญขึ้นแทนที่

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี ค.ศ.1932 ก็ไม่สามารถสร้างความเข้มแข็งให้กับระบอบประชาธิปไตยของไทยได้ ซึ่งเป็นผลจากการเกิดความแตกแยกด้านแนวคิดทางการเมืองภายในคณะราษฎร์ด้วยกันเอง กล่าวคือ กลุ่มนายทหารซึ่งนำโดยหลวงพิบูลสงคราม เห็นว่า กองทัพโดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทัพบกนั้นก็คือตัวแทนของภาวะความเป็นสมัยใหม่ ดังนั้น จึงควรเป็นสถาบันหลักในการสร้างชาติยุคใหม่

ในขณะที่กลุ่มข้าราชการพลเรือนซึ่งนำโดยนายปรีดี พนมยงค์ ให้ความสำคัญกับพรรคมวลชนที่มาจากพลังประชาชน โดยเชื่อว่าเป็นรากฐานที่จะส่งเสริมบรรยากาศประชาธิปไตย แต่ในท้ายที่สุดกลุ่มนี้ก็ได้มีส่วนในการสร้างระบอบอำนาจปกครองโดยทหารขึ้นในเวทีการเมืองไทย กล่าวได้ว่า การก่อการรัฐประหารโดยกลุ่มทหารได้กลายเป็นวงจรหนึ่งของการเมืองไทย ในช่วงเวลาระหว่างปี ค.ศ.1932-1991 (พ.ศ.2475 - 2534) กลุ่มทหารได้ก่อการรัฐประหาร 17 ครั้ง และมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญไปถึง 15 ฉบับ

การรัฐประหารถือเป็นวิธีการสำหรับการผลัดเปลี่ยนอำนาจของผู้นำทหาร และรัฐธรรมนูญถูกใช้เป็นเครื่องมือในรับรองอำนาจรวมถึงการสืบทอดอำนาจของรัฐบาลทหาร รวมถึงพรรคการเมืองเฉพาะกิจที่ถูกตั้งขึ้นมารองรับการเลือกตั้งโดยรัฐบาลทหารชุดต่างๆ ก็ไม่อาจถือเป็นรูปแบบของกระบวนการประชาธิปไตยที่แท้จริงได้ เนื่องจากเป็นเพียงขั้นตอนของการเพิ่มความชอบธรรมในการรักษาอำนาจเอาไว้เท่านั้น

ระบอบการปกครองแบบทหารที่เข้มแข็งที่สุดของการเมืองไทย ดำรงอยู่ในช่วงเวลาระหว่างปี ค.ศ.1958-1973 (พ.ศ.2501 - 2516) กล่าวคือช่วงห้าปีแรกอยู่ภายใต้กฏอัยการศึกในสมัยปฏิวัติของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และช่วงเวลาหนึ่งทศวรรษต่อมาโดยรัฐบาลเผด็จการทหารของจอมพลถนอม กิติขจร ช่วงเวลาดังกล่าวนี้ รัฐบาลทหารได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจและมีนโยบายช่วยเหลือภาคชนบท โดยการเร่งสร้างสาธารณูปโภคด้านต่างๆ ให้เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลทหารทั้งสองชุดก็มีภาพของระบอบเผด็จการ นิยมการปราบปรามฝ่ายตรงข้าม และมีปัญหาเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น จนกระทั่งได้เกิดกระแสเรียกร้องรัฐธรรมนูญจากประชาชน และนำไปสู่เหตุการณ์เดินขบวนทางการเมืองครั้งใหญ่ของนักเรียน นิสิต นักศึกษาภายใต้การนำของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) ในปี ค.ศ.1973 ขับไล่รัฐบาลจอมพลถนอม และนำไปสู่จุดสิ้นสุดของระบอบเผด็จการโดยทหาร

หลังยุคของจอมพลถนอมสิ้นสุดลงนายสัญญา ธรรมศักดิ์ ก็ได้เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลชั่วคราว ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปในปี ค.ศ.1975 (พ.ศ.2518) ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม รัฐบาลชุดนี้ก็มีเวลาบริหารประเทศอยู่เพียงสิบเดือนก็ต้องประกาศยุบสภา ผลการเลือกตั้งทั่วไปในปี ค.ศ.1976 (พ.ศ.2519) ทำให้พี่ชายของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ คือ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นคนต่อมา แต่รัฐบาลชุดดังกล่าวนี้ก็ถูกยึดอำนาจโดยกลุ่มทหารหลังจากอยู่ในตำแหน่งได้เพียงหกเดือน รัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งทั้งสองชุด (ค.ศ.1975-1976) ได้สะท้อนให้เห็นว่าไม่สามารถอาศัยกลไกทางประชาธิปไตยและกระบวนการทางรัฐสภาใดๆ เพื่อแก้ไขปัญหาของชาติหรือระงับความขัดแย้งภายในชาติลงได้เลย

การเมืองไทยสมัยต่อมาถึงแม้ว่าจะมีรัฐบาลอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่ก็รับรู้กันในนามของ "ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ" ประกอบด้วยรัฐบาลสมัย พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ (ค.ศ.1977-1980) (พ.ศ. 2520 - 2523) และพล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ (ค.ศ.1980-1988) (พ.ศ. 2523 - 2531) ถัดมาเป็นรัฐบาลผสมจากการเลือกตั้งทั่วไปในปี ค.ศ.1988 ของ พล.อ. ชาติชาย ชุณหวัณ นายกรัฐมนตรีที่เป็นอดีตนายทหารและนักธุรกิจ รัฐบาลชุดนี้ถูกวิจารณ์ว่ามีภาพลักษณ์ของ "ธุรกิจการเมือง" อย่างชัดเจน และเมื่อรัฐบาลต้องเผชิญวิกฤติศรัทธาทางการเมืองภายหลังการปรับคณะรัฐมนตรี กลายเป็นเหตุผลให้กลุ่มทหารฉวยโอกาสเข้ายึดอำนาจในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1991(พ.ศ. 2534)(4)

การชุมนุมต่อต้านระบอบการปกครองของทหารในปี ค.ศ.1992 (พ.ศ. 2535) คือบันทึกหน้าใหม่แห่งประวัติศาสตร์การนองเลือดในการเมืองไทยอีกครั้ง และเป็นการแสดงให้เห็นว่าประชาชนไทยไม่ต้องการให้อำนาจของทหารเข้ามาผูกขาดทางการเมืองอีกต่อไป รวมทั้งถือเป็นการแสดงเจตนารมย์ให้มีการปฏิรูปการเมืองตามวิถีทางประชาธิปไตย ในที่สุดรัฐบาลภายหลังจากเหตุการณ์รัฐประหารปี ค.ศ.1991 และการชุมนุมประท้วงของประชาชนในปี ค.ศ.1992 กล่าวคือรัฐบาลภายใต้การนำของนายอานันท์ ปันยารชุน นายชวน หลีกภัย นายบรรหาร ศิลปอาชา และ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ต่างก็มีความเห็นสอดคล้องกันว่าถึงเวลาที่ต้องผลักดันให้เกิดการปฏิรูปการเมืองอย่างแท้จริง โดยขั้นตอนแรกตามเจตนารมณนี้คือการเรียกร้องการใช้รัฐธรรมนูญฉบับประชาธิปไตย

รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับที่ 16 ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม ค.ศ.1997 (พ.ศ. 2540) ได้รับการยอมรับว่ามีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่เคยใช้บังคับมาแล้วทั้ง 15 ฉบับ นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี ค.ศ.1932 (พ.ศ. 2475)เป็นต้นมา และถือเป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมโดยตรงในการจัดทำรัฐธรรมนูญ จนเป็นที่มาของคำว่ารัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญฉบับนี้เกี่ยวข้องกับประเด็นและปัญหามูลฐานต่างๆที่สำคัญสำหรับการส่งเสริมและสร้างสรรค์รัฐบาลและสังคมแบบประชาธิปไตย

รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนได้ถูกร่างขึ้นโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่จัดตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1997 ประกอบด้วยสมาชิกที่มีความรู้และมีประสบการณ์เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านการเมือง, รัฐศาสตร์, การบริหารรัฐกิจ หรือกฎหมาย จำนวนรวม 99 คน ด้วยวิธีการร่างรัฐธรรมนูญที่หลากหลาย รวมทั้งการกำหนดให้สภาร่างรัฐธรรมนูญต้องรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนไทย เกี่ยวกับข้อบัญญัติและโครงสร้างของรัฐธรรมนูญอย่างกว้างขวางในทุกขั้นตอนให้เสร็จสิ้นภายในกรอบระยะเวลา 231 วัน ฉะนั้น จึงก่อให้เกิดสำนึกในการสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญ และตระหนักถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากบทบัญญัติแห่งร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวอย่างสูงยิ่ง

วันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ.1997 ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จึงถูกเสนอเข้าสู่รัฐสภาเพื่อพิจารณาและแก้ไข(5) ก่อนที่จะมีการลงพระปรมาภิไธยและประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับใช้เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ค.ศ.1997 (พ.ศ. 2540) แทนรัฐธรรมนูญฉบับปี ค.ศ.1991 (พ.ศ. 2534)

สาระสำคัญบางประการของรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน
รัฐธรรมนูญฉบับปี ค.ศ.1997 บรรจุเอาหลักการพื้นฐานเกี่ยวกับประชาธิปไตยในหลายประการอย่างที่ไม่เคยมีมาในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้านี้ อาทิ ด้านการส่งเสริมและพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพของประชาชน ด้านการรับรองสิทธิในการมีส่วนร่วมของประชาชนในทางการเมืองและการปกครอง ด้านการควบคุมและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และด้านการปรับปรุงโครงสร้างของการเมืองและการปกครองท้องถิ่นให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น ข้อบัญญัติเหล่านี้มีใว้ใช่เฉพาะแต่ในทางทฤษฎีเหมือนกับรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ ไม่ แต่หมายความว่าบทบัญญัติเหล่านี้ต้องนำไปยึดปฏิบัติในทุกตัวบททีเดียว

เนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีอยู่ 335 มาตรา แบ่งออกเป็น 12 หมวด สาระสำคัญหลายข้อยังคงยึดถือหลักการพื้นฐานทั่วไป เช่นเดียวกับที่ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญของประเทศประชาธิปไตยต่างๆ อาทิการบัญญัติว่าประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยซึ่ง "มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" (มาตรา 2) การบัญญัติคุ้มครอง "ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ และเสรีภาพของบุคคล" (มาตรา 4) และการบัญญัติประกัน "เสรีภาพในทางวิชาการ" (มาตรา 42)

นอกจากนั้นยังมีการบัญญัติหลักการพิเศษอื่นๆ ซึ่งเจตนาให้มีผลทางใดทางหนึ่งเป็นการเฉพาะ เช่นบทบัญญัติให้การไปใช้สิทธิเลือกตั้งเป็น "หน้าที่" (มาตรา 68) บุคคลผู้สมัครรับเลือกตั้งเข้าสู่รัฐสภาจะต้องสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาตรี (มาตรา 107) และจำกัดมิให้ผู้เป็นสมาชิกหรือผู้ดำรงตำแหน่งอื่นๆ ของพรรคการเมืองเข้าสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา (มาตรา126)(6)

กล่าวคือ บทบัญญัติมาตรา 68 สะท้อนความต้องการที่จะลดการโกงหรือการทุจริตการเลือกตั้ง โดยเชื่อว่า หากอัตราผู้ใช้สิทธิเลือกเลือกตั้งสูงขึ้น ก็จะทำให้การซื้อเสียงหรือการทุจริตการเลือกตั้งโดยวิธีอื่นๆ กระทำได้ยากตามไปด้วย บทบัญญัติมาตรา 107 (3) ต้องการให้ได้สมาชิกแห่งรัฐสภาเป็นผู้ที่มีการศึกษาและความรู้เพียงพอสำหรับการทำหน้าที่ ขณะที่มาตรา 126 (1) ต้องการให้สมาชิกวุฒิสภามีความเป็นกลางและสามารถทำหน้าที่ได้อย่างอิสระ

ไม่น้อยกว่าสี่สิบมาตราของรัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน ซึ่งระบุถึงหลักเกณฑ์เรื่องต่างๆ เอาไว้หลายประการ รวมทั้งให้มีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบ และรายงานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน พร้อมทั้งนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาให้กับผู้รับผิดชอบดำเนินการต่อไป

นอกจากนี้รัฐธรรมนูญยังได้เปิดโอกาสให้ประชาชนไทยสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในขั้นตอนทางการเมืองและการปกครองอีกหลายแนวทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านทางสถาบันทางการเมืองอย่างพรรคการเมืองและรัฐสภา รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันผ่อนปรนให้ประชาชนสามารถจัดตั้งพรรคการเมืองได้ง่ายกว่ารัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. 2001 (พ.ศ. 2544) ซึ่งมีพรรคการเมืองเข้าร่วมส่งผู้สมัครรวม 37 พรรคการเมือง ในจำนวนนั้นเป็นพรรคการเมืองใหม่ที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นครั้งแรกรวมอยู่ด้วยถึง 28 พรรคการเมือง

ในด้านของรัฐสภาแบ่งออกเป็นสภาผู้แทนราษฎรที่ประกอบด้วยจำนวนสมาชิก 500 คน และวุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิก 200 คน นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้สมาชิกของทั้งสองสภามาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน จากก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาที่ประกอบด้วยข้าราชการทหารและพลเรือนเป็นหลัก การเปลี่ยนแปลงการแต่งตั้งมาสู่การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาโดยตรง ไม่เพียงแสดงถึงความก้าวหน้าตามหลักการประชาธิปไตยเท่านั้น แต่ยังเพิ่มโอกาสการมีส่วนร่วมให้กับประชาชนด้วย

ขั้นตอนวิธีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภานั้นจะกำหนดให้พื้นที่ของจังหวัดเป็นหน่วยการเลือกตั้งหนึ่ง จำนวนสมาชิกวุฒิสภาในแต่ละจังหวัดจะขึ้นอยู่กับอัตราประชากรของจังหวัดเปรียบเทียบกับจำนวนประชากรทั้งประเทศ แล้วคิดเป็นสัดส่วนจากจำนวนสมาชิกวุฒิสภาสองร้อยคน โดยในปัจจุบันตกอยู่ที่ตัวเลขจำนวนประชากรประมาณ 310,000 คน ต่อสมาชิกวุฒิสภา 1 คน

ส่วนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบ่งออกเป็นสองระบบคือ ระบบแบ่งเขตเลือกตั้งและระบบบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง จากจำนวนสมาชิกทั้งหมด 500 คน โดยมาจากระบบแบ่งเขตเลือกตั้งรวม 400 คน และระบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง (Party-list) 100 คน คิดเป็นสัดส่วนจำนวนประชากรประมาณ 155,000 คน ต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 1 คน

การเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง แต่ละพรรคการเมืองต้องนำเสนอหนึ่งบัญชีรายชื่อ เรียงตามลำดับผู้สมัครรับเลือกตั้งไม่เกิน 100 รายชื่อ สัดส่วนของผู้ได้รับการเลือกตั้งขึ้นอยู่กับคะแนนเสียงทั้งหมดที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับทั้งประเทศ อย่างไรก็ตาม พรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนเสียงทั้งหมดไม่ถึงร้อยละห้าของผู้ใช้สิทธิทั้งหมดทั่วประเทศจะถือว่าไม่มีตัวแทนได้รับการเลือกตั้งเข้าสู่สภา

นอกจากนั้นรัฐธรรมนูญยังกำหนดรูปแบบการมีส่วนร่วมทางการเมือง โดยให้สิทธิแก่ประชาชนในการร้องเรียนให้วุฒิสภาดำเนินการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เช่น นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งประธานศาลฎีกาในกรณีที่เห็นว่าประพฤติตนไม่เหมาะสมกับตำแหน่ง ด้วยเงื่อนไขว่าประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 50,000 คน เข้าชื่อร่วมกันเป็นหนังสือเสนอ เพื่อให้วุฒิสภาดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายต่อไป

สำหรับสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเรื่องการควบคุมและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดความความสุจริตและโปร่งใสของผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมืองและตำแหน่งทางการบริหารในรัฐบาล สมาชิกสภานิติบัญญัติ สถาบันที่สำคัญที่ทำตามจุดประสงค์ดังกล่าวประกอบด้วยวุฒิสภา รวมทั้งองค์กรอิสระอย่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ศาลรัฐธรรมนูญ และศาลปกครอง วิธีการที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวคือการแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตน รวมทั้งการถอดถอนผู้ที่ถูกตรวจสอบพบว่ามีความผิดทุจริตคอร์รัปชั่นออกจากตำแหน่ง

การปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. และศาลรัฐธรรมนูญที่ได้รับความสนใจจากสาธารณะมากที่สุด หนีไม่พ้นสองกรณีอื้อฉาวของนักการเมืองคนสำคัญคือ กรณีแรกองค์กรอิสระทั้งสองได้มีมติให้ตัดสิทธิทางการเมืองของ พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ จากการแจ้งแสดงรายการทรัพย์สินอันเป็นเท็จในช่วงที่เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในสมัยรัฐบาลชุดนายชวน หลีกภัย และกรณีต่อมาคือการที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติด้วยคะแนนแปดต่อเจ็ดเสียงให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พ้นจากข้อกล่าวหาในทำนองเดียวกัน ซึ่งมีผลให้เขาหลุดพ้นข้อกล่าวหาและสามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปได้

ข้อสังเกตประการสุดท้ายเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็คือประเด็นเกี่ยวกับการกระจายอำนาจและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในมาตรา 284 ที่ระบุว่า "องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหลายย่อมมีความเป็นอิสระในการกำหนดนโยบาย การปกครอง การบริหาร การบริหารงานบุคคล การเงินและการคลัง และมีอำนาจหน้าที่ของตนเองโดยเฉพาะ" หากจะเปรียบเทียบกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ แล้ว รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนได้มุ่งเปลี่ยนแปลงการรวมศูนย์อำนาจไว้ในส่วนกลางไปสู่การปกครองตนเองของท้องถิ่นขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมรูปแบบของการปกครองตนเองดังกล่าวก็ต้องอยู่ภายใต้หมวดแรกของรัฐธรรมนูญที่บัญญัติให้ "ประเทศไทยเป็นหนึ่งเดียวซึ่งแบ่งแยกมิได้"

ในข้อวิเคราะห์สุดท้ายนี้ใคร่อธิบายถึงเหตุผลบางประการที่ทำให้ชาวไทยส่วนใหญ่เรียกขานรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน กล่าวคือ

1) เป็นรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นจากประชาชนและเพื่อประโยชน์ของประชาชนเอง
2) เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดฉบับหนึ่ง และ
3) นับเป็นพื้นฐานสำคัญยิ่งสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่จะนำมาซึ่งเสถียรภาพ การพัฒนา และความเจริญรุ่งเรืองแก่ประเทศชาติ

ความพยายามในการบูรณาการของไทยกับการต่อต้านของชาวมาเลย์มุสลิม
นับตั้งแต่ช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ที่อำนาจรัฐศูนย์กลางที่กรุงเทพฯ ได้ผนวกเอาราชอาณาจักรมาเลย์แห่งปาตานีเข้าเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรสยาม(7) ปาตานีก็ได้ถูกแบ่งแยกออกเป็นเจ็ดหัวเมือง ได้แก่ ปัตตานี สายบุรี หนองจิก ยะหริ่ง ยะลา รามัน และระแงะ โดยให้มีฐานะเป็นหัวเมืองที่ต้องจัดส่งเครื่องราชบรรณาการ (Tributary) เป็น "ดอกไม้เงินดอกไม้ทอง" (Bunga Mas dan Perak) ถวายกษัตริย์ไทยเป็นจำนวนหนึ่งถึงสองครั้งต่อปี

(1) ขั้นตอนแรกของความพยายามในการบูรณาการเข้าสู่ความเป็นไทยก็คือ การสลายระบอบการปกครองแบบมาเลย์มุสลิม (สุลต่านและรายา) ด้วยการใช้ผู้ปกครองและข้าราชการที่เป็นคนไทยที่ได้รับการแต่งตั้งจากกระทรวงมหาดไทยที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นในกรุงเทพฯมาเป็นกลไกในการปกครองแทน สุลต่านและรายาในเจ็ดหัวเมืองมองว่า ความพยายามดังกล่าวของศูนย์กลางอำนาจที่กรุงเทพฯว่าเป็นการรุกล้ำทางการเมือง และปฏิเสธที่จะยอมรับอำนาจรัฐไทยในฐานะผู้ปกครองชาวมาเลย์ บรรดาผู้ปกครองต่างร่วมมือกันสั่งให้ผู้ใต้บังคับบัญชาบอยคอตการร่วมประชุม และการติดต่อกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยรวมทั้งควบคุมข้าราชการไทยที่ได้รับการแต่งตั้งมิให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการได้ในพื้นที่ของชาวมาเลย์มุสลิม

ผู้เข้าร่วมกับผู้ปกครองและขุนนางชาวมาเลย์มุสลิมในการต่อต้านความพยายามในการบูรณาการของรัฐไทยดังกล่าวคือ ผู้นำศาสนา (อูลามาอฺ)(8) ในกลุ่มมุสลิมมาเลย์ซึ่งเชื่อว่า การสวามิภักดิ์ของมุสลิมต่อระบอบการปกครองของพวกปฏิเสธศรัทธาโดยปราศจากการต่อต้านนั้น ไม่เป็นที่อนุญาตในอิสลาม

นอกจากนั้นพวกขุนนางชาวมาเลย์ได้ยื่นอุทธรณ์ไปยังข้าหลวงอังกฤษในฐานะผู้ปกครองมลายูในสิงคโปร์เพื่อให้เข้ามาไกล่เกลี่ย แต่ไม่เป็นผลเนื่องจากอังกฤษก็เลือกที่จะไม่เข้ามาแทรกแซงอุบัติภัยทางการเมืองของปาตานี เหตุการณ์ครั้งนั้นคือปฐมบทแห่งความสำเร็จของนโยบายบูรณาการสู่ความเป็นไทย ผู้ปกครองมาเลย์ถูกถอดถอน และอำนาจหน้าที่ทางการเมือง สังคมและการปกครองของทั้งเจ็ดหัวเมืองค่อยๆถูกถ่ายโอนไปยังเจ้าหน้าที่และข้าราชการของไทยในที่สุด

(2) มาตราการการบูรณาการที่มีประสิทธิภาพขั้นที่สอง ที่ดำเนินการโดยกรุงเทพฯคือ การใช้กฎหมายไทยแทนกฎหมาย "ชาริอะห์" (กฎหมายอิสลาม) (9) และ "อาดัต" (กฎประเพณี) (10) ที่เคยใช้อยู่เดิม เว้นไว้แต่กฎหมายเกี่ยวกับการสมรสและมรดก มาตรการดังกล่าวสร้างความขุ่นมัวต่อความรู้สึกอย่างกว้างขวางต่อสังคมมาเลย์มุสลิม ซึ่งโดยทั่วไปแล้วสังคมมุสลิมจะยึดมั่นอยู่กับหลักการของชาริอะห์และอาดัต ในฐานะที่เป็น "ศูนย์กลางของวิถีการดำเนินชีวิตทั้งมวล" (11) เมื่อเกิดคดีพิพาทขึ้นมาชาวมาเลย์มุสลิมในพื้นที่บางส่วนจึงเลือกที่จะข้ามไปฟ้องร้องคดีกันในรัฐเพื่อนบ้าน เช่น กลันตัน เคดาห์ เปอร์ลิส และตรังกานู นอกจากนั้นบางคนถึงกับอพยพไปยังประเทศซาอุดิอาราเบีย และประเทศมุสลิมอื่นๆ

(3) ขั้นตอนที่สามที่สำคัญยิ่งต่อการบูรณาการชุมชนมุสลิมเชื้อสายมาเลย์คือ การประกาศบังคับใช้พระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับ ค.ศ.1921 (พ.ศ. 2464) มุสลิมเชื้อสายมาเลย์มองพระราชบัญญัตินี้ว่า เป็นความพยายามที่จะสลายทางประเพณีและศาสนาของพวกเขาลงไป เพราะสำหรับพวกเขาแล้วจำเป็นอย่างยิ่งที่เยาวชนของพวกเขาต้องไม่รับการอบรมทางการศึกษาแบบอื่นๆ นอกเหนือจากตามแบบฉบับอิสลาม

ปฏิกิริยาในการต่อต้านพระราชบัญญัตินี้ก็คือ เหล่าอดีตผู้นำทางการเมืองเดิมและผู้นำทางศาสนาบางกลุ่มได้ออกคำสั่งให้ชาวบ้านน้ำใส อำเภอมายอ จังหวัดปัตตานีให้ตอบโต้ด้วยการยุติการจ่ายภาษีแก่รัฐบาลไทย (12) และเกิดการเดินขบวนประท้วงขึ้นในพื้นที่ดังกล่าวในปี 1922 (พ.ศ. 2465) และกองกำลังของรัฐไทยได้เข้ามาในพื้นที่เพื่อนำความสงบกลับคืนมา

ในปี ค.ศ.1923 (พ.ศ. 2466) รัฐบาลไทยต้องประกาศทบทวนการบังคับใช้นโยบายดังกล่าวในจังหวัดมาเลย์มุสลิม เพื่อลดความตึงเครียดในพื้นที่ รัฐบาลไทยมีความรู้สึกว่าจะสูญเสียดินแดนปาตานีให้อังกฤษไป หากว่านโยบายในการบูรณาการทางการเมือง และวัฒนธรรมมาเลย์มุสลิมถูกนำมาใช้ตามอำเภอใจ แนวนโยบายใหม่เพื่อจัดการกับชาวมุสลิมถูกนำมาใช้เพื่อชดเชยการปฏิบัติ และกฎระเบียบของรัฐไทยที่ปรากฎว่าไม่สอดคล้องกับหลักการศาสนาอิสลามและวัฒนธรรมของชาวมาเลย์ การจัดเก็บภาษีกับชาวบ้านมาเลย์ก็ได้รับการลดหย่อน ยิ่งไปกว่านั้น วิธีการในการปลูกฝังความจงรักภักดีรัฐบาลไทยโดยผ่านกระบวนการสร้างความเป็นประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากประเทศไทยประกาศใช้รัฐธรรมนูญระบอบประชาธิปไตยในปี ค.ศ.1932 (พ.ศ. 2475)

ชาวมุสลิมเชื้อสายมาเลย์ได้ปรับตัวให้ตอบสนองกับการใช้การบูรณาการทางการเมืองและวัฒนธรรมที่ไม่แข็งกร้าวของรัฐไทย ด้วยการต่อต้านที่ลดความรุนแรงลงเช่นกันในช่วงระหว่างปี ค.ศ.1923-38 (พ.ศ. 2466 - 2481) อันที่จริงแล้วมันกลับเป็นช่วงเวลาของการหล่อหลอมสำนึกแห่งเอกภาพทางเชื้อชาติขึ้นในกลุ่มชาวมาเลย์มุสลิม ขณะที่ผู้นำชาวปาตานีในพื้นบางฝ่ายที่เชื่อว่าพวกเขาสามารถที่จะได้รับความยินยอมจากทางรัฐบาลไทย และยังสามารถดำรงใว้ซึ่งอัตลักษณ์แห่งมาเลย์มุสลิมเอาไว้ได้ด้วยการมีส่วนร่วมในระบบการปกครองของไทยที่ดำรงอยู่

ขณะที่บางฝ่ายก็ถือว่าการผ่อนปรนแก่อำนาจรัฐไทยเป็นการประวิงเวลาเพื่อรอคอยโอกาสที่เหมาะสม ผู้นำปาตานีตระหนักว่าพวกเขาคงไม่สามารถจะอาศัยการสนับสนุนจากบรรดารัฐ "พี่น้อง" (Brothers) ทางภาคเหนือของมลายา อาทิ เคดาห์ กลันตัน เปอร์ลิส และตรังกานู เนื่องจากการควบคุมทางการเมืองอยู่ในอำนาจของอังกฤษ และนอกจากเหตุผลดังกล่าว เต็งกู อับดุล กาเดร์ คามารุดดิน (อดีตเจ้าผู้ครองรัฐปาตานี) ผู้ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้นำการต่อต้านรัฐบาลไทยมาตั้งแต่ ค.ศ.1915 (พ.ศ. 2458) ได้อสัญกรรมลงในปี ค.ศ.1933 (พ.ศ. 2476)

ภายใต้ระบอบปกครองชาตินิยมสุดขั้วของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ช่วงปี ค.ศ.1938-44 (พ.ศ. 2481 - 2487) สถานการณ์ไม่ความสงบและการต่อต้านอำนาจรัฐไทยในพื้นที่เริ่มปรากฏขึ้นอีกครั้ง เมื่อรัฐบาลดำเนินนโยบายส่งเสริมวัฒนธรรมไทย และพยายามเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมของชนชาติส่วนน้อย รวมทั้งเข้มงวดไปถึงการแต่งกายให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด ในปี ค.ศ.1939 (พ.ศ. 2482) ชาวมาเลย์มุสลิมถูกห้ามแต่งกายตามธรรมเนียมมาเลย์ดั้งเดิม ห้ามใช้ภาษามาเลย์ ตลอดจนการปฏิบัติตามจารีตทางศาสนาอิสลาม (13)

ท่ามกลางกระแสความไม่พอใจต่อนโยบายดังกล่าวที่แผ่ไปทั่วพื้นที่ เต็งกู มาห์มุด มาห์ยุดดิน บุตรชายของ เต็งกู อับดุล กาเดร์ ได้สืบทอดอุดมการณ์ในการต่อสู้ของบิดาด้วยการจัดตั้งขบวนการเคลื่อนไหวขึ้นในมลายา ในนามของ "สมาคมประชาชาติมาเลย์แห่งปาตานี" หรือ Gabungan Melayu Patani Raya (GAMPAR) มีเป้าหมายเพื่อต้องการแบ่งแยกดินแดนปาตานีเข้าร่วมกับรัฐมาเลย์ในคาบสมุทรมลายู และในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ฮัจยีสุหลง บิน อับดุล กาเดร์ ครูสอนศาสนาผู้มีชื่อเสียงก็จัดตั้ง "ขบวนการประชาชนแห่งปาตานี" หรือ Patani People's Movement (PPM) กล่าวได้ว่าทั้งสองขบวนการก็คือการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยตนเองในรูปแบบขบวนการที่ยังคงดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องจนปัจจุบันนี้

นโยบายการศึกษาภาคบังคับที่ใช้ในปี ค.ศ.1921 (พ.ศ. 2464) และวัฒนธรรมของไทยกระบวนการบูรณาการวัฒนธรรมที่เริ่มในปี ค.ศ.1939 (พ.ศ. 2482) ล้มเหลวอย่างมากที่จะส่งเสริมการแพร่กระจายการศึกษาและวัฒนธรรมของไทยในหมู่มุสลิมเชื้อสายมาเลย์ เมื่อตระหนักถึงความล้มเหลวดังกล่าว รัฐบาลไทยในยุคของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ดำเนินนโยบาย "ปฏิรูปการศึกษา" ในจังหวัดนราธิวาส ปัตตานี สตูล และยะลา เปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาแบบดั้งเดิมของมุสลิมในพื้นที่ที่เรียกว่า "ปอเนาะ" มาเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ซี่งอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลมากยิ่งขึ้น

ในทางประวัติศาสตร์ ปอเนาะมีบทบาทสำคัญทางการศึกษาศาสนาอิสลามก่อนที่ปาตานีจะถูกผนวกเข้ากับรัฐไทยในเวลาต่อมา อันที่จริงแล้วปาตานีมีสถานะเป็นศูนย์กลางของการศึกษาอิสลามที่สำคัญที่สุดในคาบสมุทรมลายูนับตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 จนถึงต้นช่วงศตวรรษที่ 20(14) ระบบการศึกษาแบบปอเนาะครั้งหนึ่งเคยเป็นสถาบันทางการศึกษาที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง ชาวมุสลิมในภูมิภาคนี้เองจากปอเนาะเป็นแหล่งให้ความรู้ทางศาสนาอิสลามซึ่งมุสลิมทุกคนจำเป็นจะต้องศึกษาหาความรู้ และปอเนาะเหล่านี้ก็คือแหล่งผลิตนักวิชาการศาสนา ซึ่งได้รับความเคารพนับถือจากสังคมมุสลิมในปาตานีมาอย่างยาวนาน

สาระสำคัญของนโยบายปรับปรุงการศึกษาสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ คือการบังคับให้ปอเนาะทุกแห่งต้องขึ้นทะเบียนกับทางการและบังคับให้ใช้ภาษาไทยในหลักสูตรใหม่ที่รัฐบาลกำหนดขึ้น และรายวิชาเกี่ยวกับศาสนาที่จะทำการเรียนการสอนจะต้องได้รับการอนุมัติจากกระทรวงศึกษาธิการ ในปี ค.ศ. 1971 มีปอเนาะจำนวน 109 แห่ง จากจำนวนที่มีอยู่ทั้งหมด 535 แห่ง ต้องปิดตัวเองลงเนื่องจากไม่สามารถดำเนินตามนโยบายที่รัฐบาลไทยกำหนดไว้ได้ (15)

การทดแทนรูปแบบการศึกษาจากปอเนาะดั้งเดิมด้วยโรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลาม ได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อระบบการศึกษาของมุสลิมในพื้นที่สี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สถานศึกษาดังกล่าวต่างประสบปัญหาในการยกระดับมาตรฐานการศึกษาในวิชาสามัญให้เทียบเท่าโรงเรียนของรัฐ และในส่วนของวิชาศาสนาก็ต้องสูญเสียความเข้มข้นทางวิชาการลงไป นอกจากนั้นผู้เรียนยังต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการศึกษาของโรงเรียน ทั้งด้านวิชาสามัญและวิชาศาสนา ซึ่งเป็นภาระยุ่งยากและแพงยิ่งกว่าค่าใช้จ่ายในระบบโรงเรียนของรัฐ

ทั้งฝ่ายรัฐบาลก็ได้เร่งรัดความพยายามที่จะเพิ่มจำนวนโรงเรียนของรัฐในจังหวัดที่มีชาวมุสลิมเชื้อสายมาเลย์อาศัยอยู่อย่างต่อเนื่อง โรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลามกลับลดลงอย่างชัดเจน กล่าวคือ จากจำนวน 535 แห่ง ลดลงเหลือ 426 โรง ในปี ค.ศ.1971(พ.ศ. 2514) และเหลือเพียง 189 โรง ในปี ค.ศ.1991 (พ.ศ. 2534) เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว โรงเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาของรัฐมี 1218 โรง รวมถึงสถาบันการศึกษาชั้นสูงระดับวิทยาลัยครูและมหาวิทยาลัยอย่างละหนึ่ง (16) และอีกหลายสถาบันในระดับอาชีวศึกษา กล่าวได้ว่าทุกหมู่บ้านมีโรงเรียนระดับประถมศึกษาของรัฐหนึ่งโรงและทุกอำเภอมีโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาของรัฐหนึ่งโรง

จำนวนโรงเรียนที่ลดต่ำของโรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลาม ในพื้นที่สี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้รับการคาดหวังจากรัฐบาลเอง โรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลามบางส่วนไม่สามารถบรรลุเงื่อนไขของกฏระเบียบนานับประการที่ตั้งขึ้นมาของรัฐบาลไทย บางโรงที่เหลืออยู่ก็ต้องสูญเสียเอกลักษณ์ความเป็นสถาบันวิชาการทางศาสนาลงไป ผู้ประกอบการเองก็ต้องประสบปัญหาอันหนักหน่วงในการแสวงหาเงินทุนให้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ยังคงมีโรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลามขนาดใหญ่อยู่จำนวนหนึ่ง ที่เปลี่ยนแปลงตัวเองไปสู่รูปแบบของมูลนิธิเพื่อให้สามารถขอรับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลได้ ซึ่งก็หมายความว่าจะต้องถูกควบคุมจากรัฐบาลไทยมากขึ้นด้วยเช่นกัน

กล่าวได้ว่าการเปลี่ยนแปลงรูปแบบจากปอเนาะดั้งเดิมมาเป็นโรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลาม ก็คือความพยายามขั้นสุดท้าย ที่จะบ่อนทำลายความเป็นสถาบันของปอเนาะ ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อแนวนโยบายบูรณาการสู่ความเป็นไทย การแทรกหลักสูตรวิชาสามัญโดยครูที่เป็นคนไทยเป็นช่องทางหนึ่งของการนำค่านิยมและวัฒนธรรมไทยเข้าสู่สังคมมาเลย์มุสลิม ถึงแม้ว่าสถาบันเหล่านี้ได้พยายามต้านทานไว้อย่างเต็มที่ก็ไม่อาจที่จะปกป้องความเป็น "ป้อมปราการทางวัฒนธรรม" (Cultural fortification) และสถาบันที่เป็นแหล่งผลิตนักวิชาการด้านศาสนา สำหรับสังคมมาเลย์มุสลิมได้อีกต่อไปเหมือนดังที่ปอเนาะเคยเป็น

(4) นอกจากนโยบายด้านการศึกษาดังกล่าวแล้ว ยังมีความพยายามของรัฐบาลไทยที่จะทำให้ชาวมาเลย์มุสลิมกลายเป็นประชากรส่วนน้อยในเขตพื้นที่ของตนเอง ด้วยการเพิ่มจำนวนชาวไทยพุทธในพื้นที่ให้มากขึ้น กล่าวคือรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ได้ดำเนินโครงการจัดตั้งนิคมสร้างตนเองขึ้นในสี่จังหวัดมาเลย์มุสลิม มีการสนับสนุนให้ชาวไทยพุทธจากนอกพื้นที่ โยกย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานในนิคมสร้างตนเองโดยจัดสรรที่ดินให้ครอบครัวละประมาณ 17-25 ไร่ (7-10 เอเคอร์) เป้าหมายของรัฐบาลไทยคือจะทำให้ชาวมุสลิมเชื้อสายมาเลย์ เป็นประชาชนกลุ่มน้อยในพื้นที่จังหวัดของเขาเอง

ชาวมาเลย์มุสลิมเผชิญกับทุกขั้นตอนในการใช้มาตราการที่รุนแรงในการบูรณาการทางการเมืองและวัฒนธรรมที่กล่าวมาข้างต้นด้วยการต่อต้านหลากหลายรูปแบบ ทั้งด้วยวิธีการรุนแรงและสันติวิธี กล่าวคือ หากเมื่อใดที่รัฐบาลไทยได้ผ่อนคลายแรงกดดันทางการเมืองและวัฒนธรรม พร้อมกับดำเนินกระบวนการทางประชาธิปไตย เช่น เป็นยุคของการเลือกตั้งและเปิดกว้างต่อกระบวนการมีส่วนร่วมทางการเมือง บรรดาชาวมาเลย์มุสลิมก็ดูเหมือนจะยอมรับต่อแนวทางแห่งประชาธิปไตยดังกล่าวนั้น โดยปราศจากการต่อต้านอย่างรุนแรงใดๆ ออกมา รวมทั้งมีท่าทีประหนึ่งจะยอมรับต่อกระบวนการบูรณาการแห่งชาติในฐานะของ "ชาวไทยมุสลิม" ได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม ตราบจนปัจจุบันนี้ก็ยังปรากฏรูปแบบต่างๆ ในการต่อต้านอำนาจรัฐไทยให้เห็นอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรูปแบบของขบวนการปลดปล่อยตนเองของชนชาวมาเลย์มุสลิม

ประวัติศาสตร์การต่อสู้ของขบวนการปลดปล่อยปาตานี
นับตั้งแต่การจัดตั้ง GAMPAR ขึ้นในดินแดนมาลายาของ เต็งกู มาห์มุด มายุดดิน และ PPM ในปาตานีโดย ฮัจยีสุหลง อับดุล กาเดร์ เมื่อช่วงภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ขบวนการปลดปล่อยตนเองของชาวมาเลย์มุสลิมก็ถูกจัดตั้งขึ้นอีกหลายกลุ่มด้วยกัน ซึ่งต่างมีเป้าหมายเพื่อปลดปล่อยดินแดนปาตานีให้เป็นเอกราชอย่างแท้จริง แตกต่างไปจาก GAMPAR ที่ต้องการต่อสู้เพื่อนำดินแดนปาตานีเข้าร่วมกับบรรดารัฐมาเลย์แห่งมาลายาที่ต่างอยู่ใต้การปกครองของอังกฤษในเวลานั้น

อาจกล่าวได้ว่าทั้งหลักการแห่งศาสนาอิสลามและแนวคิดเรื่องชาตินิยม ต่างมีส่วนสำคัญยิ่งในการหล่อหลอมให้เกิดกลุ่มนักชาตินิยมอิงศาสนา (Religious-oriented nationalism) ขึ้นในปาตานี และกลุ่มเกลียดชังชาวต่างเชื้อชาติ (Xenophobes) ที่ต้องการต่อสู้เพื่อความเป็นเอกราชอย่างสมบูรณ์ สำหรับพวกเขาแล้วสิ่งที่จำเป็นมากที่สุดสำหรับศาสนาอิสลามก็คือ ในฐานะมุสลิมต้องต่อสู้เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นตามแนวทางแห่งอิสลามโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพวกเขาต้องอยู่ในสถานะที่ถูกเอาเปรียบ ผู้ที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพและการปกครองตนเองจึงถูกถือว่าเป็นการต่อสู้ในหนทางของศาสนาอิสลาม

นอกจากนี้แนวคิดทางการเมืองของตะวันตกและหลักกฎหมายบางอย่าง ถูกมองว่า ขัดแย้งกับหลักการชาริอะห์ ดังนั้นการต่อสู้ของพวกเขาจึงเป็นอีกหนึ่งการกระทำเพื่อปกป้องศาสนาอิสลามโดยการสร้างสังคมที่อยู่บนฐานของหลักกฎหมายชาริอะห์ขึ้นมาใหม่ ซึ่งพวกเขาเห็นว่า เป็นคำสั่งจากพระผู้เป็นเจ้าที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ (17)

กล่าวเฉพาะขบวนปลดปล่อยปาตานีที่ยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในปัจจุบันมีจำนวนทั้งหมดถึง 8 กลุ่ม ได้แก่
1. แนวร่วมปลดปล่อยอิสลามปาตานี หรือ "บีไอพีพี" (Barisan Islam Pembebasan Patani -BIPP)
2. แนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติ หรือ "บีอาร์เอ็น" (Barisan Revolusi Nasional -BRN)
3. องค์กรกู้เอกราชสหปาตานี หรือ "พูโล" (Patani United Liberation Organization -PULO)
4. สภาแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติ "บีอาร์เอ็น-เค" (Barisan Revolusi Nasional-Kongres -BRN-K)
5. ขบวนการมูจาฮีดีนปาตานี หรือ "จีเอ็มพี" (Gerakan Mujahidin Patani -GMP)
6. ขบวนการอูลามาปาตานี หรือ "จียูพี" (Gerakan Ulama Patani -GUP) และ
7. ขบวนการมูจาฮีดินอิสลามปาตานี หรือ "จีเอ็มไอพี" (Gerakan Mujahidin Islam Patani -GMIP)
8. แนวร่วมเพื่อเอกราชแห่งปาตานี หรือ "เบอร์ซาตู" (Barisan Bersatu Kemerdekaan Patani -BERSATU)

(หมายเหตุ : จนกระทั่งในปี ค.ศ.1991 ได้มีข้อตกลงร่วมระหว่าง 6 กลุ่มแรกจัดตั้งองค์กรร่วม (Umbrella Organization) ใช้ชื่อว่า แนวร่วมเพื่อเอกราชแห่งปาตานี หรือ "เบอร์ซาตู" (Barisan Bersatu Kemerdekaan Patani -BERSATU) ซึ่งในปัจจุบันได้ถูกกล่าวหาอย่างต่อเนื่องจากรัฐบาลไทยว่าเป็นกลุ่มที่กำลังเคลื่อนไหวสร้างความรุนแรงขึ้นในพื้นที่)

ถึงแม้ว่าขบวนการปลดปล่อยปาตานีเหล่านี้ มีความแตกต่างกันอยู่บ้างทั้งในแง่มุมของอุดมการณ์ ยุทธวิธี และสมาชิกของกลุ่ม ขบวนการทั้งหมดนี้ต่างมองรัฐบาลไทยว่าเป็นอำนาจอาณานิคม ขบวนการเหล่านี้จึงเน้นการถืออาวุธต่อสู้เพื่อให้บรรลุถึงความเป็นเอกราช ในช่วงระหว่างปี ค.ศ.1970-1975 (พ.ศ. 2513 - 2518) การปฏิบัติการแบบกองโจรของขบวนการเหล่านี้ปฏิบัติการแข็งขันมาก

กล่าวได้ว่าชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อิทธิพลของขบวนการในจังหวัดนราธิวาส ปัตตานี และยะลา จำนวนมากเข้าร่วมกับฝ่ายขบวนการปลดปล่อยต่างๆ ไม่โดยทางตรงก็โดยทางอ้อม โดยที่ชาวบ้านเหล่านั้นจะได้รับคำเตือนจากกลุ่มขบวนการถึง "วายิบ" (ข้อผูกมัด)(18) สำหรับพวกเขาที่ต้องเข้าร่วมในการต่อสู้ และมีการหยิบยกเอา "ฮาดิษ" (ตัวบท)(19) ของท่านศาสดาที่เล่าโดย อาบี ซาอิด อัล-ค๊อดรี (Abi Said al-Khudri) ถ้อยความว่า "ผู้ศรัทธาที่ดีที่สุดในหมู่พวกเจ้าคือ ผู้ที่ต่อสู้ในหนทางของพระผู้เป็นเจ้าด้วยทรัพย์สินของเขาและชีวิตของเขา" (20)

ในช่วงที่มีการต่อต้านอำนาจรัฐไทยอย่างเข้มแข็งที่สุดของชาวมุสลิมเชื้อสายมาเลย์ระหว่างปี ค.ศ.1968-1975 (พ.ศ. 2511 - 2518) รัฐบาลไทยจัดส่งหน่วยปฏิบัติการทางอาวุธที่เป็นกองทหาร ตำรวจ และอาสาสมัคร จำนวนมากเข้าไปในพื้นที่ ข้อมูลของทางการไทยรายงานว่ามีการปะทะกับกองกำลังติดอาวุธในพื้นที่ถึง 385 ครั้ง มีจำนวนชาวมาเลย์มุสลิมเสียชีวิตรวม 329 ราย ในขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐไทยเสียชีวิต 165 ราย มีผู้ถูกจับกุม 1,208 ราย ยึดอาวุธชนิดต่างๆ ได้ 1,546 รายการ และทำลายหน่วยที่ตั้งหรือค่ายของฝ่ายกองโจรลงได้ 250 ค่าย (21)

กล่าวได้ว่ารัฐบาลไทยได้ใช้หลากหลายยุทธวิธีทั้งการปราบปราม และจิตวิทยาจูงใจในการต่อสู้กับขบวนการปลดปล่อยปาตานีเหล่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจัดตั้งศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) (22) เป็นฝ่ายดำเนินการในพื้นที่ ร่วมกับมาตรการทางอาวุธที่มีกองทัพภาคที่ 4 เป็นฝ่ายดำเนินการ เพื่อแยกภารกิจออกตามยุทธวิธีในการต่อสู้เพื่อเอาชนะขบวนการแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่ให้ได้ และมีการใช้วิธีการเปิดเจรจากับฝ่ายขบวนการต่างๆ ในระดับกลุ่มอย่างเป็นทางการและการเจรจาหรือชักจูงใจเป็นรายบุคคล

อาจพิจารณาได้ว่าแนวทางการเปิดเจรจาเป็นทางการประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง เนื่องจากมีบางกลุ่มยอมยุติการเคลื่อนไหวไปบ้าง แต่ทว่ากลุ่มที่ยอมจำนนเหล่านั้นมักจะเป็นเพียงแนวร่วมหรือเป็นผู้หลบหนีคดีอาญา มิใช่สมาชิกระดับผู้ปฏิบัติการแต่อย่างใด ส่วนกรณีของการใช้วิธีการจูงใจนั้น เจ้าหน้าที่ทางการไทยมุ่งเป้าหมายไปที่ผู้ปฏิบัติการหรือระดับแกนนำของกลุ่ม ซึ่งไม่อาจจะประสบความสำเร็จมากนัก อันเนื่องจากกลไกภายในขบวนการ ไม่ได้รวมศูนย์อำนาจไว้ให้ระดับแกนนำเหล่านั้นสามารถชี้นำได้อย่างเบ็ดเสร็จจนเกิดผลตามที่ต้องการได้

กล่าวได้ว่าเหตุผลที่ขบวนการปลดปล่อยปาตานีต่างๆ ไม่อาจแสดงบทบาทที่เข้มแข็งได้มากนัก ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ได้แก่

ประการแรก การเติบโตของขบวนการขึ้นอยู่กับแรงจูงใจด้านเชื้อชาติและศาสนาเป็นหลัก แต่อ่อนด้อยในทางการจัดตั้งองค์กรเพื่อการต่อสู้อย่างแท้จริง
ประการต่อมา ขบวนการเหล่านี้ไม่อาจจะสร้างการยอมรับในเวทีระดับนานาชาติได้อย่างกว้างขวางพอ และ
ประการสุดท้าย ก็คือ การเคลื่อนไหวที่ขาดการติดต่อประสานงานกันระหว่างกลุ่มขบวนการต่างๆ ที่มีอยู่

ในขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่า นอกจากประเทศไทยเป็นรัฐที่มีความเข้มแข็งแล้ว ยังเป็นรัฐที่ผ่านประสบการณ์ในการบูรณาการชนชาติส่วนน้อยต่างๆ ภายในประเทศมาอย่างโชกโชน การต่อสู้ของขบวนการปลดปล่อยปาตานีจึงไม่อาจบรรลุเป้าหมายได้ง่ายดายนัก แต่การต่อสู้ก็ยังต้องดำเนินต่อไปเนื่องจากขบวนการเหล่านี้ ถูกกระตุ้นด้วยเงื่อนไขของความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา และประวัติศาสตร์ ซึ่งไม่อาจจะแก้ไขได้ด้วยแนวทางการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมใดๆ

กระบวนการประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมของชาวมาเลย์มุสลิม
ในปี ค.ศ.1980 (พ.ศ. 2523) พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีของไทยในขณะนั้น ได้ดำเนินนโยบายที่โน้มนำประชาธิปไตยรู้จักกันในนามนโยบาย "การเมืองนำการทหาร" เป็นความพยายามที่จะจัดการเพื่อยุติการต่อสู้กับกองกำลังติดอาวุธ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) และประกาศคำสั่งที่ 66/23 มีหลักปฏิบัติที่สำคัญว่า

1. ให้นำนโยบายการเมืองนำการทหาร มาใช้ในการต่อสู้เพื่อเอาชนะฝ่ายคอมมิวนิสต์และกองกำลังติดอาวุธอื่นๆ
2. นโยบายการเมืองนำการทหารจะได้รับการปฏิบัติอย่างจริงจังเพื่อหลีกเลี่ยงสงครามประชาชน
3. การต่อกรด้วยอาวุธกับฝ่ายตรงข้ามจะต้องเปลี่ยนแปลงเป็นการปฏิบัติด้วยสันติวิธี

ในปี ค.ศ.1981 พล.ท.หาญ ลีนานนท์ แม่ทัพภาคที่ 4 ก็ได้ประกาศนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาภาคใต้ ตามคำสั่งที่ 751/2524 หรือเรียกว่านโยบาย "ใต้ร่มเย็น" ซึ่งได้รับการกำหนดให้เหมาะสมกับเงื่อนไขต่างๆ ของพื้นที่ และนำมาสู่การจัดตั้งศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) รวมทั้งกองกำลังผสมพลเรือนตำรวจและทหารที่ 43 (พตท. 43) (23) มีภารกิจในการรักษาความมั่นคงให้ปลอดจากการเคลื่อนไหวของขบวนการปลดปล่อยปาตานีในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

รัฐบาลสมัย พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ได้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านความมั่นคงในช่วงปี ค.ศ.1988-1993 (พ.ศ. 2531 - 2536) มีสาระสำคัญของนโยบายสนับสนุนให้เกิดความปรองดองทางสังคม โดยการให้เสรีภาพในการปฏิบัติตามหลักการศาสนาและวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งนโยบายดังกล่าวยังได้รับการสานต่อจากรัฐบาลของนายชวน หลีกภัย จนถึงปี ค.ศ.1998 (พ.ศ. 2541) ในขณะเดียวกันรัฐบาลสมัยนี้ก็ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่มากขึ้นด้วย

พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรีสมัยต่อมาได้ให้ความสนใจกับการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับชาวมุสลิมในพื้นที่ภาคใต้อย่างจริงจัง โดยมีเห็นว่าเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องแก้ไขด้วยความละเอียดอ่อน รัฐบาลได้กำหนดนโยบายเกี่ยวกับพื้นที่จังหวัดมาเลย์มุสลิมภายใต้การดำเนินการของกองทัพภาคที่ 4 ใช้ชื่อเป็นภาษามาเลย์ว่า "ฮารับปัน บารู" หรือ นโยบาย "ความหวังใหม่" มีวัตถุประสงค์เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย 3 ประการคือ

1. เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ การยกระดับจิตสำนึกทางการเมืองแบบประชาธิปไตย และการสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในการอยู่ร่วมกันอย่างปรองดองในสังคมระดับท้องถิ่นและระดับชาติ

2. เพื่อส่งเสริมเอกภาพท่ามกลางความแตกต่างทางเชื้อชาติ ลดความหวาดระแวงและความไม่ไว้วางใจกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชนในพื้นที่

3. เพื่อรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น และสนับสนุนให้ประชาชนเข้ามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาภายในท้องถิ่นของตน

ภายใต้เจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน สภาความมั่นคงแห่งชาติได้กำหนดนโยบายความมั่นคงแห่งชาติในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือเป็นแผนแม่บทสำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาในพื้นที่ระหว่างปี ค.ศ.1999-2003 (พ.ศ. 2542 - 2546) วัตถุประสงค์ของนโยบายดังกล่าวประกอบด้วย

1. เพื่อพัฒนาศักยภาพของประชาชนและสังคมในภาครัฐและภาคเอกชน และเพื่อสร้างความตระหนักและความพร้อมต่อการปรับตัวให้เข้ากับเอกลักษณ์ และวิถีชีวิตดั้งเดิมของประชาชนในพื้นที่

2. เพื่อยกระดับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในพื้นที่ห้าจังหวัด ส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาและการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ เพื่อลดความขัดแย้งและสร้างสันติสุขกับความมั่นคงให้เกิดขึ้น (24)


อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยยังคงต้องการการบริหารเชิงบูรณาการที่มีประสิทธิภาพ ในการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ จำเป็นจะต้องมีการมอบหมายการปฏิบัติงานที่ชัดเจน แผนการการปฏิบัติงานสนับสนุนและความจำเป็นก่อนหลังในการปฏิบัติงานต่างๆ ตลอดจนการระดมความคิดและความร่วมมือของทุกภาคส่วนในพื้นที่ ความสำเร็จของนโยบายยังต้องขึ้นอยู่กับระดับของความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของรัฐและชาวมาเลย์มุสลิมในพื้นที่

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หน่วยงานของรัฐจะต้องเข้าใจถึงแนวทางที่แท้จริงของการนำนโยบายไปปฏิบัติ และเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาต่างๆ อันจะนำไปสู่ทางออกของปัญหาเกี่ยวข้องกับความมั่นคง อันเกิดจากความเคลื่อนไหวเพื่อแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่ จนสามารถสร้างสังคมที่มั่นคงและมั่งคั่งตามนโยบายที่กำหนดไว้ได้ (25)

กล่าวได้ว่านโยบายต่างๆ ของรัฐบาลไทยที่กล่าวมา ถูกโน้มนำไปสู่การสร้างความเป็นประชาธิปไตยและความเข้าใจเรื่องความแตกต่างทางวัฒนธรรม สะท้อนถึงความต่อเนื่องของนโยบายบูรณาการแห่งชาติ โดยการพยายามนำสังคมมาเลย์มุสลิมเข้าสู่ระบบการเมืองไทย คาดหวังให้ผู้มีแนวคิดแบ่งแยกดินแดน หันเข้ามาใช้แนวทางสันติในระบบการเมืองแทนการต่อสู้ทางอาวุธในท้ายที่สุด

การมีส่วนร่วมทางการเมืองของชาวมาเลย์มุสลิม
กระบวนการการสร้างความเป็นประชาธิปไตยภายใต้นโยบายต่างๆ ของรัฐบาลไทย เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการต่อสู้ของผู้นำชาวมาเลย์มุสลิม ซึ่งปฏิเสธการเคลื่อนไหวเพื่อแบ่งแยกดินแดน หรือการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยตัวเอง แต่เลือกที่จะเข้ามีส่วนร่วมกับกระบวนการทางการเมืองภายในประเทศ ด้วยเชื่อว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายทางการเมืองและสร้างอำนาจต่อรอง ขณะเดียวกันก็ยังคงรักษาไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของชุมชนมาเลย์มุสลิมของตน การตัดสินใจของพวกเขาในการเข้าสู่เวทีการเลือกตั้งภายใต้ระบบการเมืองไทยมีพื้นฐานมาจากประสบการณ์ในอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี ค.ศ.1976 (พ.ศ. 2519) ในครั้งนี้ผู้สมัครที่เป็นชาวมุสลิมของพรรคประชาธิปัตย์ สามารถผ่านการเลือกตั้งเข้าสู่รัฐสภาได้ทั้ง 8 ที่นั่ง ในพื้นที่สี่จังหวัดคือ ปัตตานี 3 ที่นั่ง นราธิวาส 3 ที่นั่ง ยะลา 1 ที่นั่ง และสตูลอีก 1 ที่นั่ง

ชัยชนะครั้งประวัติศาสตร์ในเวทีการเมืองของตัวแทนชาวมุสลิมดังกล่าว เป็นผลมาจาก 2 เหตุการณ์สำคัญคือ เหตุการณ์แรกมีสาเหตุจากกลุ่มทหารไทยสังหารเยาวชนมุสลิม 5 ราย ในเดือนธันวาคม ค.ศ.1975 (พ.ศ. 2518) จนเป็นชนวนให้เกิดการประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดขึ้นในพื้นที่ โดยชาวมุสลิมนับพันคนจัดชุมนุมประท้วงภายในบริเวณมัสยิดกลางปัตตานีอย่างต่อเนื่องนาน 45 วัน มีชาวมุสลิมอย่างน้อย 25 รายถูกสังหาร และอีก 40 รายได้รับบาดเจ็บจากการปราบปรามของเจ้าหน้าที่ไทย (26) และอีกสาเหตุหนึ่งมาจากจิตสำนึกทางการเมืองของชาวมุสลิมในพื้นที่ ซึ่งสะสมขึ้นในช่วงสามปีที่ประชาธิปไตยเบ่งบาน (ค.ศ.1973-1976) (พ.ศ. 2516 - 2519) ภายหลังการล่มสลายของระบอบอำนาจนิยมสมัยรัฐบาลถนอม-ประภาส

การที่ผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์ในสี่จังหวัดสามารถครองที่นั่งทั้งหมดของพื้นที่เอาไว้ได้ และพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ส่งผลให้นายซิดดิก ชารีฟ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนราธิวาส ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (27) นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่มีชาวมาเลย์มุสลิมเข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี

เหตุการณ์รัฐประหาร 6 ตุลาคม ค.ศ.1976 (พ.ศ. 2519) ทำให้ชาวมาเลย์มุสลิมขาดความไว้วางใจต่อเสถียรภาพทางการเมืองไทย โดยแสดงความสนใจและเข้ามีส่วนร่วมกับการเลือกตั้งทั่วไปในปี ค.ศ.1979 (พ.ศ. 2522) น้อยลงอย่างเห็นได้ชัดเจน เปิดโอกาสให้นักการเมืองที่เป็นชาวไทยพุทธมีความหวังที่จะแย่งที่นั่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในพื้นที่ได้มากขึ้น แต่ผลการเลือกตั้งก็ปรากฏออกมาว่าผู้สมัครชาวไทยพุทธสามารถแทรกเข้ามาได้เพียง 3 ที่นั่ง จากจำนวน 9 ที่นั่ง ของพื้นที่สี่จังหวัด

ผลจากการประกาศนโยบาย "การเมืองนำการทหาร" ในปี ค.ศ.1981 (พ.ศ. 2524) ซึ่งเพิ่มพูนระดับของกระบวนการการสร้างความเป็นประชาธิปไตยในพื้นที่ของชาวมุสลิม ของชาวมาเลย์มุสลิมโดยทั่วๆไปต่างเต็มใจที่จะเข้ามามีส่วนร่วมด้วยความกระตือรือร้น และการมองโลกในแง่ดีในการเลือกตั้งทั่วไปปี ค.ศ.1983 (พ.ศ. 2526) การลือกตั้งครั้งนี้ไม่เหมือนกับในปี 1976 (พ.ศ. 2519) ซึ่งผู้สมัครมุสลิมไม่มีแนวทางทางการเมืองร่วมกัน พวกเขามาจากหลายพรรคการเมืองแล้วมาแข่งขันระหว่างมุสลิมด้วยกันเอง ผลการเลือกตั้งดังที่แสดงในตารางที่ 2 ถึงแม้ว่ามีผู้สมัครที่เป็นชาวมาเลย์มุสลิมสามารถเอาชนะการเลือกตั้งได้รวม 7 ที่นั่ง จากจำนวน 9 ที่นั่งของพื้นที่สี่จังหวัด แต่ก็ไม่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนใดได้รับตำแหน่งสำคัญในรัฐบาลสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นการแสดงให้เห็นถึงการขาดเอกภาพในการสร้างอำนาจต่อรองทางการเมือง ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สังกัดพรรคการเมืองแตกต่างกันจากหกพรรคก่ารเมือง

บทเรียนทางการเมืองครั้งนั้นทำให้นักการเมืองมาเลย์มุสลิมตระหนักต่อการรวมตัวกัน เพื่อสร้างอำนาจต่อรองทางการเมืองให้กับประชาชนในพื้นที่ โดยนักการเมืองและผู้นำชาวมาเลย์มุสลิมในพื้นที่สี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ร่วมประชุมที่ถูกจัดขึ้นในวันที่ 8 มีนาคม และ 6 พฤษภาคม ค.ศ.1986 (พ.ศ. 2529) นำไปสู่มติให้มีการรวมกลุ่มเป็นพันธมิตรทางการเมืองในชื่อของกลุ่ม "เอกภาพ" หรือ "วาดะห์" มีการเลือกให้นายเด่น โต๊ะมีนา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปัตตานี ดำรงตำแหน่งประธานกลุ่ม และให้มีกรรมการอีก 12 คน เพื่อขับเคลื่อนการเมืองรูปแบบใหม่ภายใต้วัตถุประสงค์ 6 ประการได้แก่

1. เพื่อสร้างเอกภาพในหมู่พี่น้องมุสลิมในประเทศไทย
2. เพื่อปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของมุสลิม
3. เพื่อพัฒนาการเมือง เศรษฐกิจ การศึกษา และสังคมของมุสลิม
4. เพื่อปลูกฝังค่านิยมทางการเมืองที่ถูกต้องในหมู่พี่น้องมุสลิม
5. เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางแห่งอิสลามในหมู่พี่น้องมุสลิม และ
6. เพื่อส่งเสริมและพัฒนาระบอบประชาธิปไตย (28)

ในวันที่ 8 พฤษภาคม ค.ศ.1986 (พ.ศ. 2529) แกนนำกลุ่มวาดะห์ได้ร่วมประชุมเพื่อหารือเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะมีขึ้นในวันที่ 27 มิถุนายน ค.ศ.1986 หนึ่งในมติสำคัญของกลุ่มก็คือ ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ทางกลุ่มวาดะห์จะส่งผู้สมัครลงในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้น (29) การที่กลุ่มวาดะห์เลือกสังกัดพรรคประชาธิปัตย์เป็นเหตุให้ สมาชิกของกลุ่มถอนตัวจากกลุ่มวาดะห์ ทั้งนี้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 3 คนดังกล่าวสังกัดพรรคการเมืองอื่น

ในการเลือกตั้งทั่วไปปี 1986 (พ.ศ.2529) ที่มีขึ้นกลุ่มวาดะห์ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อชิงชัยใน 8 ที่นั่ง จากจำนวน 9 ที่นั่งของสี่จังหวัด ภายหลังการเลือกตั้งปรากฏว่าทางกลุ่มได้รับเลือกตั้งเป็นจำนวน 5 ที่นั่ง ในจำนวนนั้นรวมถึงผู้สมัครของกลุ่มจำนวน 2 คน ซึ่งมิใช่ชาวมุสลิมรวมอยู่ด้วย ส่วนสี่ที่นั่งที่เหลือคือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 3 คนที่ถอนตัวจากกลุ่มวาดะห์ได้รับเลือกตั้งจากประชาชนในพื้นที่อีกครั้ง และอดุลย์ภูมิณรงค์ นักการเมืองผู้ช่ำชองได้รับเลือกตั้งในจังหวัดยะลา นักการเมืองทั้งสี่คนดังกล่าวต่างสังกัดพรรคการเมืองอื่น อย่างไรก็ตาม ภายหลังการเลือกตั้งนายพิชัย รัตตกุล หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ได้เสนอรายชื่อสมาชิกของกลุ่มเข้าดำรงตำแหน่งตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลผสมของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ทำให้กลุ่มวาดะห์เข้าร่วมกับกลุ่มของนายวีระ มุสิกพงศ์ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ถอนตัวจากพรรคประชาธิปัตย์ และจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ชื่อพรรคประชาชน

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 22 มีนาคม ค.ศ.1992 (พ.ศ. 2535) กลุ่มวาดะห์เข้าร่วมกับพรรคความหวังใหม่ ซึ่ง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ จัดตั้งขึ้นเนื่องจากแกนนำกลุ่มวาดะห์เห็นว่า พล.อ.ชวลิต เป็นนักการเมืองที่มีความจริงใจในการพัฒนาชุมชนมุสลิมในภาคใต้ ผลการเลือกตั้งครั้งนี้กลุ่มวาดะห์ได้รับการเลือกตั้ง 7 ที่นั่งจากทั้งหมด 10 ที่นั่ง ส่วนที่นั่งที่เหลือเป็นของมุสลิมที่ไม่สังกัดกลุ่มวาดะห์ เมื่อพรรคความหวังใหม่ไม่สามารถเป็นพรรคร่วมรัฐบาล จึงทำให้สมาชิกลุ่มวาดะห์เป็นสมาขิกพรรคฝ่ายค้านไปด้วย

ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 13 เดือนกันยายน 1992 (พ.ศ. 2535) กลุ่มสมาชิกวาดะห์ที่เข้าร่วมกับพรรคใหม่อย่างพรรคความหวังใหม่ ต้องเผชิญกับการชิงชัยที่เข้มข้นจากกลุ่มมุสลิมที่สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ปรากฎว่า กลุ่มวาดะห์ได้รับเลือกตั้ง 6 ที่นั่ง อีก 4 ที่นั่งมาจากพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีนายชวน หลีกภัย เป็นหัวหน้าพรรค ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ที่ได้รับการเลือกตั้งรวม 69 ที่นั่ง จากจำนวนสมาชิกในสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด 376 ที่นั่ง ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้งและมีพรรคความหวังใหม่เข้าร่วมในรัฐบาลผสมที่มีนายชวน หลีกภัย ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ในรัฐบาลชุดนี้นักการเมืองมุสลิมเข้าดำรงตำแหน่งสำคัญในคณะรัฐมนตรีและสภาผู้แทนราษฎร อย่างไม่เคยมีปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ กล่าวคือ นายเด่น โต๊ะมีนา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกลุ่มวาดะห์ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในสัดส่วนของพรรคความหวังใหม่ และ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมุสลิมจากจังหวัดนครศรีธรรมราช ของพรรคประชาธิปัตย์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นของนายวันมูหะหมัดนอร์ มะทา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมุสลิมของกลุ่มวาดะห์ นอกจากนั้น ในช่วงปี ค.ศ.1991-1995 (พ.ศ. 2534 - 2538) การเมืองระดับท้องถิ่นในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ ก็มีสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่เป็นชาวมาเลย์มุสลิมรวมกันถึง 76 คน ของที่นั่งทั้งหมด 86 ที่นั่ง

ส่วนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ภายใต้บทบังคับของรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเมื่อวันที่ 6 มกราคม ค.ศ. 2001 (พ.ศ. 2544) ปรากฏว่าจำนวน 13 ที่นั่งของพื้นที่สี่จังหวัดมีผู้สมัครมุสลิมได้รับเลือกถึง 12 ที่นั่ง โดยมีผู้สมัครที่มิใช่มุสลิมได้รับเลือกตั้งเพียงที่นั่งเดียวในจังหวัดยะลา ในจำนวน 12 ที่นั่งของผู้สมัครชาวมุสลิมเป็นของสมาชิกกลุ่มวาดะห์ 6 ที่นั่ง* และในรัฐบาลของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร แกนนำของกลุ่มคือนายวันมูหะหมัดนอร์ มะทา ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยภายหลังการปรับคณะรัฐมนตรี

(* หมายเหตุ : เนื่องจากต้นฉบับของบทความนี้ผู้เขียนได้เขียนขึ้นภายหลังการเลือกตั้งในวันที่ 6 มกราคม พ.ศ.2544 (ค.ศ.2001) จึงควรพิจารณาผลการเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่มีขึ้นในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2548 (ค.ศ.2005) ซึ่งกลุ่มวาดะห์และกลุ่มดารุสลาม (ที่เป็นอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์) ในสังกัดพรรคไทยรักไทยต้องประสบกับความพ่ายแพ้อย่างหนัก กล่าวคือไม่สามารถรักษาที่นั่งในการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไว้ได้เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งทั้ง 11 ที่นั่งในพื้นที่สามจังหวัดคือ ปัตตานี นราธิวาส และยะลา เป็นของผู้สมัครสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ถึง 10 ที่นั่ง ส่วนอีก 1 ที่นั่งของนราธิวาสเป็นของผู้สมัครสังกัดพรรคชาติไทย ในขณะที่เก้าอี้ ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งในจังหวัดสงขลาและสตูลก็ตกเป็นของพรรคประชาธิปัตย์ทั้งหมด กรณีของผลการเลือกตั้งครั้งล่าสุดภายหลังเหตุการณ์ความไม่สงบตลอดปีเศษก่อนหน้าที่จะมีการเลือกตั้งขึ้น ควรพิจารณาถึงผลการเลือกตั้ง ส.ส. ใน พ.ศ. 2519 (ค.ศ.1976) ร่วมด้วย [ผู้แปล])

ตามบทบังคับของรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน กำหนดให้สมาชิกวุฒิสภามาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน ซึ่งการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา ถูกจัดให้มีขึ้นเป็นครั้งแรกในวันที่ 4 มีนาคม ค.ศ.2000 (พ.ศ. 2543) ผลการเลือกตั้งในสี่จังหวัด ปรากฏว่ามีผู้นำชาวมาเลย์มุสลิมได้รับการเลือกตั้งเป็นจำนวน 4 ที่นั่ง ในขณะที่มีผู้สมัครชาวไทยพุทธได้รับการเลือกตั้งเข้ามาจำนวน 2 ที่นั่ง (โปรดดูตารางที่ 3)

การเข้ามีส่วนร่วมทางการเมืองของชาวมาเลย์มุสลิม ซึ่งเป็นชนชาติส่วนใหญ่ในพื้นที่สี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สะท้อนให้เห็นว่าชาวมาเลย์มุสลิมในพื้นที่สี่จังหวัดชายแดนภาคใต้เต็มใจที่จะได้รับการบูรณาการตามกระบวนการทางการเมือง ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของรัฐประชาชาติไทย (Thai nation-state) อย่างไม่ต้องสงสัย เช่นเดียวกับการที่ศูนย์กลางอำนาจรัฐและชาวไทยโดยทั่วไปที่เป็นชนชาติส่วนใหญ่ของประเทศ ต่างก็ยอมรับในสิทธิการมีส่วนร่วมทางการเมืองของชาวมาเลย์มุสลิม และอาจกล่าวได้ว่ากระบวนการดังกล่าวเป็นความสัมพันธ์ต่างพึ่งพากัน ถึงแม้ว่าต่างฝ่ายต่างก็ระแวดระวังกันอยู่บ้างก็ตาม

เนื่องจากกระบวนการทางการเมืองทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น ทำให้นักการเมืองมาเลย์มุสลิมสามารถเข้าไปใช้ความรู้ความสามารถ เพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องมาเลย์มุสลิมของพวกเขาได้ และถ้าหากว่ากระบวนการมีส่วนร่วมทางการเมืองยังคงเปิดกว้างสำหรับชาวมาเลย์มุสลิมต่อไป ก็จะเป็นกลไกสำคัญในการเสริมสร้างกระบวนการบูรณาการแห่งชาติให้สมบูรณ์ขึ้นได้

บทสรุป
ประวัติศาสตร์ความพยายามการใช้นโยบายบูรณาการแห่งชาติของรัฐบาลไทยต่อชาวมาเลย์มุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ชี้ให้เห็นว่า เมื่อใดที่รัฐบาลไทยดำเนินนโยบายเชิงบังคับต่างๆ เช่น นโยบายหล่อหลอมทางวัฒนธรรม ในช่วง ค.ศ.1923-1938 พ.ศ. 2466 - 2481) และพระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับ ค.ศ.1921 (พ.ศ. 2464) นโยบายเชิงบังคับเหล่านี้ประสบผลสำเร็จน้อยมาก แต่เมื่อใดที่การดำเนินนโยบายบูรณาการแห่งชาติ โน้มเอียงไปทางประชาธิปไตยดังเช่นวิธีการการปลูกฝังความจงรักภักดีทางการเมืองของรัฐไทย โดยผ่านกระบวนการการสร้างความเป็นประชาธิปไตย และการมีส่วนร่วมทางการเมืองในยุคสมัยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบประชาธิปไตยในปี ค.ศ.1932 (พ.ศ.2475) ผลพวงที่ได้รับกลับเห็นผลมากกว่า

ขณะที่เส้นทางสู่ความเป็นประชาธิปไตยในประเทศไทยเป็นไปอย่างช้าๆชนชาติส่วนน้อยต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ถูกบูรณาการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐชาติไทยอย่างสมบูรณ์แล้ว แต่รัฐบาลไทยก็ยังไม่สามารถบูรณาการชนชาติมาเลย์มุสลิมอย่างได้ผล ขึ้นอยู่กับเหตุผลสำคัญสองประการคือ

นโยบายบูรณาการแห่งชาติของรัฐบาลไทยก่อนปี ค.ศ.1981 (พ.ศ. 2524) มักมีเนื้อหาของการกดขี่และบีบบังคับต่อชนชาติมาเลย์มุสลิม และจิตสำนึกทางเชื้อชาติกับความเป็นเอกภาพในกลุ่มของชนชาติมาเลย์มุสลิมยังคงฝังแน่น ทั้งนี้เพราะบริเวณพื้นที่สี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สอดประสานกับเส้นแบ่งเขตของวัฒนธรรมชุมชน ศาสนา ภาษา และตำแหน่งแหล่งที่ทางประวัติศาสตร์ของตนเองเป็นอย่างดี

ช่วงระยะหลังปี ค.ศ.1981 (พ.ศ. 2524) รัฐบาลไทยได้เริ่มเปลี่ยนแปลงแนวทางบูรณาการแห่งชาติในพื้นที่ มาสู่การแสวงหาความร่วมมือและการพัฒนากระบวนการประชาธิปไตย นับเป็นจุดเปลี่ยนแปลงสำคัญที่ทำให้ชาวมาเลย์มุสลิมส่วนใหญ่ หันให้การยอมรับต่อนโยบายและโครงการของรัฐมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เหล่าผู้นำในพื้นที่หันมาแสดงบทบาทในระบบทางการเมืองของไทย ด้วยการเข้ามีส่วนร่วมในกระบวนการเลือกตั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น ซึ่งทำให้พวกเขาสามารถสร้างโอกาสและการต่อรองอำนาจทางการเมือง รวมทั้งการนำเอาความรู้ความสามารถไปใช้ในการช่วยเหลือและพัฒนาด้านต่างๆ ในพื้นที่ได้

นอกจากนั้นสมาชิกกลุ่มแบ่งแยกดินแดนจำนวนมาก ได้ให้ความสนใจต่อกระบวนการนิรโทษกรรมของรัฐบาลไทยและบางส่วนก็เข้ามอบตัวกับทางการไทย รวมทั้งมีกลุ่มแบ่งแยกดินแดนหลายกลุ่มได้การต่อสู้ทางอาวุธและเข้าร่วมเจรจาทางการเมืองกับรัฐบาลไทยแล้ว

ภายใต้บทบัญญัติมาตรา 284 ของรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ค.ศ.1997 (พ.ศ. 2540) ได้ให้การรับรองในสิทธิและอำนาจทางการเมืองในการปกครองตนเองโดยองค์กรปกครองถิ่นต่างๆ เอาไว้ ทำให้ชนชาติส่วนน้อยรวมทั้งชนชาวมาเลย์มุสลิมที่เคยขาดโอกาสและอำนาจต่อรองใดๆ ในทางการเมืองเต็มอกเต็มใจที่จะใช้เป็นช่องทางในการเข้ามีส่วนร่วมและบูรณาการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐชาติไทยได้เป็นอย่างดี

สรุปได้ว่าในกรณีของชาวมาเลย์มุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย การเข้ามามีส่วนร่วมของพวกเขาในระบบการเมืองไทย อันนำมาซึ่งการบูรณาการแห่งชาติเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งจากกระบวนการการสร้างความเป็นประชาธิปไตย ในกรณีนี้กระบวนการการสร้างความเป็นประชาธิปไตยไม่ได้เป็นอุสรรคต่อความพยายามในการบูรณาการของรัฐบาลไทย ตรงกันข้ามกระบวนการการสร้างความเป็นประชาธิปไตยกลับเอื้ออำนวยต่อกระบวนการบูรณาการแห่งชาติที่รัฐบาลไทยคาดหวังมาอย่างยาวนาน


++++++++++++++++++++++++++

บรรณานุกรม

1. Encyclopedia International, vol. 5, 1968, 522.
2. Karl W. Deutsch, The Analysis of the International Relations (London: Prentice-Hall International, 1988), 212.
3. Clifford Geertz, ed., Old Societies and New States (New York: The Free Press, 1963), 154.
4. W.K. Che Man,"Thailand" in Norma Mahmood ed., Rethinking Political Dewelopment in Southeast Asia (Kuala Lumpur: University of Malaya Press, 1994), 135-145.
5. Public Relations Committee of the Constituent Assembly, Initial Draft of the People's Constitution (Bangkok: Public Relations Committee of Constituent Assembly, 1997). 20-23 (in Thai).

6. Council of State, Constitution of the Kingdom of Thailand (Bangkok: Office of the Council of state, 1997).
7. "สยาม" เคยเป็นชื่อประเทศอย่างเป็นทางการของไทยมาจนถึง ค.ศ.1939 และใช้เรียกประเทศในช่วงเวลาสั้นๆ อีกครั้งระหว่าง พ.ศ.1946-1949 ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อประเทศเป็นประเทศไทย (Thailand) อันสื่อความหมายไปในทางชาตินิยมและความเหนือกว่า (Irredentism) ของชนชาติไทย
8. "อูลามะอฺ" คำในภาษาอาหรับหมายถึงผู้นำทางศาสนาอิสลาม (ผู้แปล)
9. "ชาริอะห์" คำในภาษาอาหรับ ถือเป็นกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญหลักของอิสลามที่ครอบคลุมและชี้นำทุกมิติของชีวิตมุสลิมทั้งมวล เพื่อที่จะแยกแยะระหว่าง "ความถูกต้อง" กับ "ความผิด" ในทรรศนะของอัลลอฮ์ (พระมหาบริสุทธิ์และผู้สูงส่ง) โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน Abdul Fadl Mohsin Ebrahim, Biomedical Issues: Islamic Perspective (Kuala Lumpur: A.S. Noordeen, 1988), p. 13. (ผู้แปล)
10. "อาดัต" คำในภาษาอาหรับหมายความถึงประเพณีท้องถิ่น คือแนวทางที่ยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาตามความชอบของสังคม โดยที่ไม่มีแนวทางการปฏิบัติใดๆ ที่มีที่มาจากตัวบทของอัลกุรอานและ ฮาดิษ ซึ่งอาจจะขัดกันหรือไม่ขัดกันกับอัลกุรอาน และฮาดิษ (ผู้แปล)

11. Clifford Geertz, Islam Observed: Religious Development in Morocco and Indonesia (Chicago: University of Chicago Press, 1968), 111.
12. ในที่นี้ คำว่า "ปัตตานี" หมายถึงหนึ่งในจังหวัดมาเลย์มุสลิมในภาคใต้ของประเทศไทย ในขณะที่คำว่า "ปาตานี" ใช้ในความหมายของอดีตรัฐอิสระของชาวมาเลย์มุสลิม.
13. W. K. Che Man, Muslim Separatism: The Moros of Southern Philippines and the Malays of Southern Thailand (Singapore: Oxford University Press, 1990), 62-66.
14. Robert Winzeler, "The Social Organization of Islam in Kelantan" in William R. Roff ed., Kelantan: Religion, Society and Politics in Malay State (Kuala Lumpur: Oxford University Press, 1974), 266.
15. Songkhram Choenphiban, "Assimilation Policy of Muslims in the Four Southern Provinces" (M.A. Thesis, Chulalongkorn University, 1975), 117 (in Thai).

16. Education Region II, Education Statistics: Private Islam Religious Schools (Yala: Education region II, 1991) (in Thai).
17. Alexander Cudsi and Ali Dessouki, ed., Islam and Power (London: Croom Helm, 1981), 5-11.
18. "วายิบ" คำในภาษาอาหรับหมายถึงคือข้อกำหนดใช้ต่างๆ ของอัลลอฮ์ (ศ.บ.) ที่ส่งผ่านมาทางผู้นำสาส์นคือท่านศาสดามูฮัมหมัด (ขอความสันติสุขจงประสบแด่ท่าน) ถ้าไม่ปฏิบัติตามต้องได้รับโทษทั้งในโลกนี้และโลกหน้า สำหรับการลงโทษในโลกนี้กับผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามนั้นจะขึ้นอยู่กับกลไกการบังคับใช้ที่สร้างขึ้นและมีอยู่ในสังคมด้วย (ผู้แปล)
19. "ฮาดิษ" เป็นคำในภาษาอาหรับหมายถึง ตัวบทและเรื่องต่างๆ ที่รวบรวมจากคำกล่าว การกระทำ และแม้แต่การนิ่งเงียบของท่านศาสดามูฮัมหมัด (ซ.ล.) ซึ่งถูกรวบรวมโดยบรรดาสาวกผู้ใกล้ชิดกับท่านศาสดา หลังจากที่ท่านศาสดาได้อสัญกรรมไปแล้ว ฮาดิษถูกใช้ในการอรรถาธิบายและเป็นส่วนสนับสนุนเพิ่มเติมควบคู่กับอัลกุรอานหรือเป็นส่วนประกอบในการพิจารณาข้อปัญหาใดๆ ในศาสนาอิสลาม โปรดดูเพิ่มเติมใน Abdul Fadl Mohsin Ebrahim, Biomedical Issues: Islamic Perspective (Kuala Lumpur: A.S. Noordeen, 1988), p. 13. (ผู้แปล)
20. Zakaria Muhyi al-Nawawi, Riyad al-Salihin (Beirut: Mu'assasah Manahil al-'Irfan, n.d.), 585.

21. Manas Megarat, "The Failure of Subjugating Terrorists of the Three Southern Provinces" (Research Document for Police Officer Course, Yingor Police Station, 1977).
22. ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้ถูกยุบเลิกไปโดยรัฐบาลไทยเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2545.
23. กองกำลังผสม "พลเรือน ตำรวจและทหารที่ 43" (พตท.43) ได้ถูกยุบเลิกไปพร้อมกับ ศอ.บต. เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2543.
24. Office of the National Security Council of Thailand, "National Security Policy for the Southern Border Provinces, 1999-2003" (Bangkok: Office of the National Security Council of Thailand, 1999), 85-90.
25. Ibid.

26. W.K. Che Man, Muslim Separatism, 101.
27. สำหรับประเทศไทยแล้วตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยนับรวมอยู่ในคณะรัฐมนตรี (ครม.) เช่นเดียวกับรัฐมนตรีว่าการ.
28. Che Ma Che Omar Chapakia, "Thai Politics and Reaction of Muslim Society in Southern Thailand 1932-1994" Ph.D. Dissertation, University of Malaya, 1997), 302.
29. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบันกำหนดให้ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องสังกัดพรรคการเมือง โดยไม่อนุญาตให้มีการลงสมัครอย่างอิสระอีกต่อไป.

 

 

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 590 เรื่อง หนากว่า 7800 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com




 

ในขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่า นอกจากประเทศไทยเป็นรัฐที่มีความเข้มแข็งแล้ว ยังเป็นรัฐที่ผ่านประสบการณ์ในการบูรณาการชนชาติส่วนน้อยต่างๆ ภายในประเทศมาอย่างโชกโชน การต่อสู้ของขบวนการปลดปล่อยปาตานีจึงไม่อาจบรรลุเป้าหมายได้ง่ายดายนัก แต่การต่อสู้ก็ยังต้องดำเนินต่อไปเนื่องจากขบวนการเหล่านี้ ถูกกระตุ้นด้วยเงื่อนไขของความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา และประวัติศาสตร์

ประวัติศาสตร์ความพยายามการใช้นโยบายบูรณาการแห่งชาติของรัฐบาลไทยต่อชาวมาเลย์มุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ชี้ให้เห็นว่า เมื่อใดที่รัฐบาลไทยดำเนินนโยบายเชิงบังคับต่างๆ เช่น นโยบายหล่อหลอมทางวัฒนธรรม ในช่วง พ.ศ. 2466 - 2481 และพระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับ พ.ศ. 2464 นโยบายเชิงบังคับเหล่านี้ประสบผลสำเร็จน้อยมาก แต่เมื่อใดที่การดำเนินนโยบายบูรณาการแห่งชาติ โน้มเอียงไปทางประชาธิปไตยดังเช่นวิธีการการปลูกฝังความจงรักภักดีทางการเมืองของรัฐไทย โดยผ่านกระบวนการการสร้างความเป็นประชาธิปไตย และการมีส่วนร่วมทางการเมืองในยุคสมัยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ผลพวงที่ได้รับกลับเห็นผลมากกว่า

ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๘ : บทความทั้งหมดของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ
เจ้าของพื้นที่ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ
เว็ปไซต์ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ออกแบบขึ้นมาเพื่อใช้กับ Display properties : screen area 600 X 800 pixels ซึ่งจะให้ภาพที่คมชัดและสมบูรณ์ที่สุด
H

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 600 เรื่อง หนากว่า 8000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM ในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง) สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com

หรือ ส่งธนาณัติถึง
สมเกียรติ ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202
กรุณาส่งธนาณัติแลกเงินไปยัง สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50202 และอย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์

บทความวิชาการฟรีที่ผ่านมา ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน หากนักศึกษาและสมาชิกท่านใตสนใจ สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...คลิกที่ภาพ