ผลงานภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบบทความบริการฟรีของ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

R
relate topic
110648
release date

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 588 หัวเรื่อง
อุปสรรคของความสมานฉันท์
ดร.เกษียร เตชะพีระ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
The Midnight 's article

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ

Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com

เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะ
สามารถแก้ปัญหาได้

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
เว็ปไซท์นี้มีการคลิกโดยเฉลี่ยต่อวัน 14119-26256 ครั้ง สำรวจเมื่อเดือนสิงหาคม 47
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ เพื่อประโยชน์ต่อสังคม

คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

การทหาร-การเมือง-เรื่องภาคใต้
ตะปูตำเท้าบนก้าวย่างนโยบายความสมานฉันท์
ดร. เกษียร เตชะพีระ
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


หมายเหตุ : รวมผลงานที่เคยตีพิมพ์แล้วใน นสพ.มติชนรายวัน ของ อ.เกษียร เตชะพีระ ๔ เรื่อง
๑. ในวังวนแห่งความไม่สมานฉันท์(ตอนต้น) ๒. ในวังวนแห่งความไม่สมานฉันท์ (ตอนจบ)
๓. เหยี่ยวกับพิราบบนเส้นทางสมานฉันท์ (ตอนต้น) ๔. เหยี่ยวกับพิราบบนเส้นทางสมานฉันท์ (ตอนจบ)
เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 13 หน้ากระดาษ A4)




1. "ในวังวนแห่งความไม่สมานฉันท์(ตอนต้น)"
การลงไปใต้สุดหนแรกของผมเมื่อปลายปีที่แล้ว เป็นประสบการณ์ที่น่าสนใจ

โอกาสคือ เป็นล่ามติดสอยห้อยตามศาสตราจารย์อาวุโสชาวอินเดีย ไปช่วยแปลสดคำบรรยายของท่านเรื่อง "ตรวจบัญชีสันติภาพ" สู่คณาจารย์นักศึกษาและผู้สนใจที่นั่นฟัง โดยได้รับการดูแลต้อนรับจากชุมชนนักวิชาการผู้เหย้าอย่างอบอุ่น โอบอ้อมอารี และไหนๆ ก็ดั้นด้นไปถึงนู่นแล้ว จึงซอกแซกสอบถามพูดคุยกับผู้คนแถวนั้นแบบเป็นกันเอง บ้างเป็นงานเป็นการ บ้างตามแต่ช่องทางจังหวะจะอำนวย

ได้จับเข่าคุยเจาะลึกทั้งกับไทยพุทธและมลายูมุสลิมนานหลายชั่วโมง สดับตรับฟังและรับรู้ทรรศนะมุมมองและอารมณ์ความรู้สึกบางอย่างที่น่าคิด น่าห่วงใย น่านำมาเล่าสู่กันฟัง

ขอเริ่มที่ชาวไทยพุทธผู้เป็นชนส่วนใหญ่ในประเทศ แต่เป็นชนส่วนน้อยในพื้นที่ก่อน
เพื่อนไทยพุทธชาวใต้สุดที่เข้ามานั่งคุยกับผม เป็นฝ่ายเปิดฉากเสวนาแบบไม่ต้องเชื้อเชิญ เหมือนอัดอั้นตันใจ พูดไม่ได้ไอไม่ดัง เหมือนรอให้มีใครมาคุยด้วยตั้งนานแล้ว เหมือนอารมณ์ความรู้สึกชนส่วนน้อยท่ามกลางชนส่วนใหญ่แทบทุกที่ในโลกยังไงยังงั้น

พวกเขาเป็นคนท้องถิ่น เป็นไทยพุทธที่เกิดและเติบโต หรือย้ายเข้ามาทำงานตั้งถิ่นฐานครัวเรือนอยู่ท่ามกลางชุมชนมลายูมุสลิม ถ้าไม่ชั่วชีวิตก็นับสิบๆ ปี และยืนยันหนักแน่นว่า นมนานก่อนหน้านี้เราอยู่ด้วยกันอย่างสงบสุข เป็นมิตรกลมเกลียวเสมอมา เวลาไปจ่ายตลาด พ่อค้าแม่ขายมลายูก็พูดภาษาไทยด้วย แม้พวกเขาเองส่วนใหญ่จะพูดมลายูไม่ได้ฟังไม่ออกก็ตาม

จนมาหลายปีหลังนี้พวกเขาสังเกตเห็นและรู้สึกได้ว่า เพื่อนชาวมลายูมุสลิมรอบข้างชักเคร่งศาสนาเข้มข้นขึ้น รวมตัวเป็นกลุ่มก้อนเอกลักษณ์เหนียวแน่นกว่าเดิม พวกเขาอดรู้สึกไม่ได้ว่าตัวเองไม่ใช่พวก และต่างก็ค่อยๆ เขยิบห่างกันออกไป

มันมีรูปธรรมเล็กๆ น้อยๆ ที่บ่งบอกความเหินห่างดังกล่าว เรื่องทำนองนี้จะว่าเล็กก็เล็ก จะว่าใหญ่ก็ใหญ่ แล้วแต่มุมมอง ทว่าที่แน่ๆ คือมันติดค้างคาใจ เช่น ระหว่างกำลังเข้าแถวซักซ้อมทำพิธีที่จะจัดในวันสำคัญของบ้านเมือง เพื่อนๆ ชาวมลายูมุสลิมทั้งกลุ่มซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ ขอปลีกตัวไปทำละหมาดตอนเย็น ในการหาเสียงเลือกตั้งระดับต่างๆ บางทีก็มีการหยิบยกประเด็นว่าพวกเราชาวมลายูมุสลิม อย่าไปเลือกผู้สมัครที่เป็นไทยพุทธ

ความเคร่งศาสนาเป็นสิ่งดีงาม แต่เส้นแบ่งความเป็นส่วนตัวของบุคคลอยู่ตรงไหน? ในนามของศาสนธรรม, ชุมชนหรือพรรคพวกหรือรุ่นพี่ควรเข้ามากดดันกำกับหรือแม้แต่บังคับกลายๆ ซึ่งความประพฤติส่วนตัวของคนอื่นได้หรือไม่? แค่ไหนเพียงใด? และอย่างไร? เช่นในเรื่องชู้สาว เป็นต้น

ท่ามกลางบรรยากาศอึดอัด ห่างเหิน และขึงตึงดังกล่าว ความรุนแรงของการก่อการร้ายและความกลัวในรอบปีที่ผ่านมา ยิ่งทำให้พวกเขารู้สึกว่ามันเป็นช่วงปีที่แย่ที่สุด เลวร้ายที่สุดตลอดช่วงชีวิตที่อยู่ชายแดนใต้มาทีเดียว

"โทษทีนะครับ แต่เรื่องที่พวกพี่เล่าให้ผมฟังเนี่ย พี่เคยเอ่ยปากบอกเพื่อนๆ มลายูมุสลิมให้รับรู้เข้าใจความรู้สึกของพี่ตรงๆ อย่างที่พี่พูดให้ผมฟังตะกี้บ้างไหม?" ผมอดถามไม่ได้ "ไม่เคยหรอกครับ เดี๋ยวพวกเขาจะมองผมเป็นศัตรู"

มันเป็นคำตอบที่ผมฟังแล้วเย็นยะเยียบใจ ความจริงจะเป็นเช่นนั้นหรือไม่ ผมไม่ทราบ และพูดให้ถึงที่สุดก็อาจจะไม่สำคัญ ที่สำคัญอยู่ตรงอย่างน้อยฝ่ายหนึ่งก็รู้สึกเช่นนั้น ไม่มีอะไรจะบ่มเพาะบาดแผลแห่งความไม่เข้าใจกันหรือเข้าใจผิดเล็กๆ น้อยๆ ทางวัฒนธรรมจนกลัดหนองลุกลามใหญ่โตเรื้อรังได้เท่ากับความวังเวง ความเงียบ และการไม่เปิดอกพูดจาสื่อสารกันอีกแล้ว

และถ้าไม่พูดจากันออกมา ต่างฝ่ายต่างไม่ใจกล้า ใจใหญ่ ใจกว้าง ใจเย็นพอจะทะเลาะถกเถียงกันอย่างสันติและเป็นมิตรแล้ว จะไปรู้ความจริงในใจซึ่งกันและกัน(intersubjective truth) ได้อย่างไรว่า เส้นที่ฝ่ายหนึ่งถือสาห้ามข้าม ห้ามล่วงล้ำ ห้ามแตะจริงๆ อยู่ตรงไหน? เพื่อที่อีกฝ่ายจะได้รับฟังเหตุผล ให้ความเคารพและถอดออกมาซะ, เส้นไหนที่ฝ่ายหนึ่งคิดว่าโอเค พอจะแตะได้ ล่วงได้ เขยิบขยับได้ ปรับเปลี่ยนได้? เพื่อที่อีกฝ่ายจะได้เสนอเหตุผลขอร้องต่อรองให้ขีดใหม่ให้เหมาะกว่าเก่า ฝ่ายหนึ่งจะรู้ได้อย่างไรว่าอีกฝ่ายรู้สึกเช่นใดต่อเส้นเหล่านี้? เมื่อต่างฝ่ายต่างไม่รู้เพราะไม่ได้คุยกัน ก็เลยทึกทักกันไปเองว่าทุกเส้นขึงตึงแตะไม่ได้หมด เส้นที่ขีดขวางยืดระยะห่างทางวัฒนธรรมระหว่างสองฝ่ายจึงย่อมเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ

ทั้งที่เราต่างฝ่ายต่างไม่ต้องเห็นตรงกันก็ได้ แต่อยากรู้ความจริงในใจซึ่งกันและกันว่าคุณคิดคุณรู้สึกอย่างไร? เราจะได้เอาความคิดความรู้สึกของคุณมาคำนึง ประกอบการวางตัวกำหนดท่าทีของเราในฐานะเพื่อนร่วมสังคมเดียวกัน แม้จะต่างวัฒนธรรมกัน

พื้นที่แห่งเดียวที่เสียงข้างน้อยจะพูดกับเสียงข้างมากได้อย่างเสียงดังฟังชัด และปลอดโปร่งโล่งใจคือพื้นที่แห่งความเสมอภาค, อำนาจใดที่ไม่ยึดมั่นหลักความเสมอภาค อำนาจใดที่ไปสร้างความเหลื่อมล้ำกันให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะประเภทที่รวมศูนย์ยัดเยียดลงมาจากส่วนกลางแล้วเลือกข้าง เลือกปฏิบัติ จึงย่อมบ่อนทำลายพื้นที่เสวนาสาธารณะระหว่างเสียงข้างน้อยกับเสียงข้างมากอย่างที่สุด ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม

ในภาวะอันเงียบวังเวงอย่างที่เป็นอยู่ พวกเขาก็เหมือนผู้คนที่อยู่ปะปนแต่ไม่เชื่อมโยงกัน, อยู่เคียงข้างแต่ต่างหากจากกัน(They mix but do not combine, they live side by side but separately.), เป็นสภาวะ "พหุสังคม" (plural society) ที่ไม่อาจเชื่อมโยงก่อรูปรวมตัวเป็นพลังประชาสังคมแห่งชาติเดียวกันได้ ยิ่งถ้ารัฐไปกดขี่รังแกชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ด้วยแล้ว, ก็ย่อมเป็นเชื้อไฟให้ชนส่วนใหญ่คับแค้นแสดงปฏิกิริยาหันเข้าข้างในเกาะกลุ่มกันเอง และแยกตัวออกห่างชนส่วนน้อยไม่สิ้นสุด

ทางเลือกคือ รัฐพึงปฏิบัติต่อเสียงข้างมากและเสียงข้างน้อยอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน ในฐานะที่ทุกคนไม่ว่าใคร ต่างเป็นบุคคลผู้ทรงสิทธิพลเมือง และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อันรัฐต้องเคารพเหมือนกัน แล้วหาทางแก้ไขความเหลื่อมล้ำไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจ สังคม อันเป็นมรดกตกทอดเชิงโครงสร้างจากอดีตให้บรรเทาเบาบางลงอย่างเป็นธรรม

แล้วในฐานะชาวไทยพุทธส่วนน้อยท่ามกลางชาวมลายูมุสลิมส่วนใหญ่ ในสถานการณ์ก่อการร้ายรุนแรงและความหวาดหลัวในพื้นที่ พวกเขาคิดเห็นอย่างไรกับมาตรการตอบโต้ ปราบปรามอย่างแข็งกร้าวของรัฐบาลที่ผ่านมา?

เชื่อมั้ย, พวกเขาไม่เห็นด้วยหรอกครับ พวกเขาไม่เชื่อว่าการปราบแหลก ปราบดะ ปราบไปทั่ว จะแก้ไขปัญหาได้ รังแต่เพิ่มพรรคพวกให้ผู้ก่อการร้ายด้วยซ้ำ พี่คนหนึ่งซึ่งผ่านช่วงสงครามต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์สมัย "ท.ป.ท.ภาคใต้รุกรบช่ำชอง" ปักธงแดงเหนือเทือกเขาบรรทัดมายืนยันว่า ต้องทำแบบเดิมนั่นแหละ ใช้การเมืองนำ ให้เขาเปลี่ยนใจวางปืนเลิกรบ จะให้การทหารฆ่าให้หมดน่ะ ไม่ได้หรอก ไม่มีทางก่อนจะกำชับกำชาผมทิ้งท้ายว่า อย่าระบุชื่อเสียงเรียงนามพวกเขาที่มาคุยด้วยเด็ดขาด เดี๋ยวเพื่อนๆ มลายูมุสลิมจะเคืองเอา

ตกค่ำวันเดียวกัน ผมก็ได้รับการเชิญชวนให้ไปพบปะพูดคุยกับกลุ่มนักศึกษามลายูมุสลิมที่ทำกิจกรรมอยู่ในพื้นที่ผมรีบตอบตกลงด้วยความยินดี

2. "ในวังวนแห่งความไม่สมานฉันท์ (ตอนจบ)"
การลงไปใต้สุดหนแรกของผมเมื่อปลายปีที่แล้วเป็นประสบการณ์ที่น่าสนใจ หลังจากมีโอกาสสนทนากับเพื่อนไทยพุทธที่เป็นคนท้องถิ่นยาวพอสมควร ตกค่ำวันเดียวกัน ผมได้รับเชิญชวนให้ไปพบปะพูดคุยกับกลุ่มนักศึกษามลายูมุสลิมที่ทำกิจกรรมอยู่ในพื้นที่ ผมรีบตอบตกลงด้วยความยินดี

คุยกับนักศึกษาชายมลายูมุสลิม
สถานที่พบปะกลางดึกเป็นห้องประชุมโล่งกว้าง จัดวางโต๊ะยาว เก้าอี้ และพัดลมไม่กี่ตัวในตึกกิจกรรมนักศึกษา นักศึกษาชายมลายูมุสลิมแต่งกายลำลองเรียบง่ายราวสิบคนนั่งเรียงรายรอบโต๊ะ ชวนให้นึกถึงบรรยากาศคล้ายกันบนตึก อมธ.(องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) เมื่อสามสิบปีก่อน ชั่วแต่ไม่รกเท่า ผมเข้านั่งเก้าอี้หัวโต๊ะตามคำเชิญ

จะเปิดฉากคุยกับน้องๆ ผู้เหย้าที่เราไม่รู้จักคุ้นเคยอย่างไรดี? เพื่อหาทางขยับออกจากความเงียบนิ่งเคร่งขรึมอึดอัดเป็นทางการกลายๆ ผมก็เลยตัดสินใจเริ่มพูดคุยก่อน อย่าถามผมเลยครับว่าพูดอะไรไปบ้างเพราะจำรายละเอียดไม่ได้เสียแล้ว ด้นเอาสดๆ เดี๋ยวนั้นนั่นแหละ นึกออกเพียงเลาๆ ว่าเป็นเรื่องสถานการณ์บ้านเมืองทั่วไปและที่เกี่ยวกับภาคใต้โดยเฉพาะบ้าง พูดไปพูดมาสักยี่สิบนาที ก็ชักได้ยินเสียงตัวเองพล่ามเรื่อยเปื่อย กลอนพาไปตามเพลง จึงรู้ตัวว่าได้เวลาหุบปากและรับฟังน้องๆ นักศึกษามั่ง

สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น ผมไม่ได้คาดล่วงหน้ามาก่อน พวกเขาแนะนำตัวเองว่าพื้นเพเป็นคนมลายูมุสลิมจากท้องถิ่นต่างๆ ในห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ เรียนไต่ขึ้นมาตามระบบการศึกษาบันไดดาราทางการจนเข้ามหาวิทยาลัย ไม่มีความคิดการเมืองอะไรเป็นชิ้นเป็นอันมาก่อน มีแต่เพียงประสบการณ์ที่ได้พบเห็นชีวิตความเป็นอยู่การทำมาหากิน และความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่บ้านเมืองของครอบครัวตัวเอง และชาวบ้านใกล้เคียงจนเกิดเหตุปล้นปืนกองพันทหารพัฒนาที่นราธิวาสเมื่อ 4 มกราคม ศกก่อน

พวกเขาเริ่มรู้สึกได้และหันไปสนใจติดตามข่าวคราวความรุนแรงและการปราบปรามแบบเหวี่ยงแห จับแพะอุ้มหายหลายครั้งหลายคนในพื้นที่ใกล้ตัว จนกระทั่งเกิดการลุกขึ้นสู้เจ้าหน้าที่รัฐหลายจุดทั่วภาคใต้เมื่อ 28 เมษายน ตามมา มีผู้เสียชีวิตทั้งสองฝ่ายกว่าร้อยคน

ความร้ายแรงและผลสะเทือนลึกซึ้งกว้างไกลของเหตุการณ์ 28 เมษาฯ จุดประกายความอยากรู้อยากเห็นอยากเข้าใจ ที่มาที่ไปของ "ผู้ก่อการ" ที่เสียชีวิตเหล่านั้นในฐานะเพื่อนมนุษย์ เพื่อนคนไทยและเพื่อนชาวมลายูมุสลิมด้วยกัน ด้วยการริเริ่มอย่างเป็นไปเองและควักกระเป๋ากระเบียดกระเสียรค่ากินอยู่ ใช้จ่ายเบี้ยน้อยหอยน้อยของตัวเอง พวกเขาเรี่ยไรรวบรวมสตางค์ขึ้นรถสองแถวขี่มอเตอร์ไซค์ลงไปเสาะหาตามหมู่บ้านชนบท

จนได้พบปะทำความรู้จักพูดคุยไต่ถามครอบครัวญาติมิตรของ "ผู้ก่อการ" ว่าเป็นใครกันบ้าง? ฐานะอาชีพอยู่กินกันแบบไหน? ชีวประวัติภูมิหลังเป็นมาอย่างไร? มีทุกข์สุขโชคเคราะห์ ความฝันความหวังที่วาดไว้ในชีวิตส่วนตัวและครัวเรือนประการใด? ดำเนินชีวิตกิจวัตรประจำวันแบบไหนก่อนจะเดินทางไปสู่ชะตากรรมเช้าตรู่วันนั้น? เผื่อจะพบร่องรอยคำตอบที่พวกเขาอยากรู้นักว่า ทำไม?

ร่องรอยที่ได้ในแต่ละกรณีไม่ชัดเจนนัก บ่อยครั้งพวกเขาค้นพบคำถามใหม่มากกว่าคำตอบ แต่ความจริงของชีวิตที่พวกเขาเข้าไปพบเห็นเรียนรู้ อีกทั้งความวิปโยคจากการสูญเสียและทุกข์ยากในการยังชีพต่อของลูกเมียพ่อแม่ที่เหลืออยู่ข้างหลังของ "ผู้ก่อการ" ทำให้พวกเขาไม่อาจนิ่งเฉยดูดายอยู่ได้ อยากทำอะไรบ้างเท่าที่ทำได้เพื่อช่วยเหลือ อยากนำความจริงที่พวกเขาได้พบเห็นไปบอกกล่าว เล่าสู่สังคมในวงกว้างว่า มันอาจไม่ใช่อย่างที่ทึกทักปักใจเชื่อกันด้วยอคติหวาดกลัวเกลียดชัง

เพื่อนๆ พี่ๆ รวมทั้งผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการสื่อมวลชนและสิทธิมนุษยชน ที่ทราบข่าวงานกิจกรรมอาสาสมัครกันเองของพวกเขา เห็นความสำคัญของการเผยแพร่ความจริงเพื่อความเข้าใจของสังคม และการเยียวยาสมานแผลผู้สูญเสียทุกฝ่าย เพื่อการอยู่ร่วมกันของคนไทยร่วมชาติต่อไปข้างหน้า จึงยื่นมือเข้าช่วยเหลือสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการทำกิจกรรม อุปกรณ์ทำงานและเวทีในสื่อสิ่งพิมพ์ เพื่อรายงานเผยแพร่สิ่งที่พวกเขาพบเห็นต่อสาธารณชนวงกว้าง

ดังปรากฏเป็นหนังสือ 106 ศพ ความตายมีชีวิต เรื่องจริงไทยมุสลิมผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 28 เมษายน 2547 ในนามปากกา "ภูมิบุตรา" และเป็นฐานข้อมูลแก่รายงานพิเศษลงนิตยสารฟ้าเดียวกันปีที่ 2 ฉบับที่ 3 ประจำเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2547 ฉบับ "คนที่ตายใต้ฟ้าเดียวกัน"

แต่แล้วพวกเขาก็ถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงบุกตรวจห้องพัก รื้อค้นข้าวของ ตั้งข้อสงสัยเชิญตัวไปสอบถาม เฝ้าสังเกตติดตามนับแต่นั้นมา มิไยว่ากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อนมิตรครูบาอาจารย์จะออกมาแถลงชี้แจงยืนยันความบริสุทธิ์ของพวกเขา จนพวกเขาหวั่นใจไม่รู้แน่ว่าเมื่อไหร่ตัวเองอาจถูกจับกุม ทั้งที่ทำไปทั้งหมดก็เพื่อช่วยเหลือคนที่สูญเสียทุกข์ยาก และค้นหาเผยแพร่ความจริงตามสิทธิโดยชอบที่มี

ทีละคน คนแล้วคนเล่า พวกเขาเล่าพลาง หยาดน้ำตาก็รินไหลเปื้อนหน้าพลาง ด้วยความเจ็บช้ำ เสียใจ น้อยอกน้อยใจ หวาดวิตกกับชะตากรรมของตัวเอง ของคนทุกข์ยากสูญเสียถูกกดขี่ข่มเหงรังแกที่ได้ไปพบ และของสังคมไทย

เด็กหนุ่มอายุสิบกว่ายี่สิบปีรอบโต๊ะคืนนั้นร้องไห้สะอึกสะอื้นกันแทบทุกคน พวกเขารู้สึกว่าตัวเองพยายามทำดีทำถูก แต่กลับโดนเล่นงานรังแกจากผู้มีอำนาจ พวกเขาไม่รู้ว่างั้นจะให้ทำอย่างไร?

ผมคลับคล้ายคลับคลาความรู้สึกแบบนี้เมื่อเกือบสามสิบปีก่อนตอน 6 ตุลาฯ 2519 ขณะที่เพื่อนร่วมรุ่นของเขาส่วนใหญ่ในที่อื่นๆ ของประเทศอาจกำลังเที่ยวผับ ซิ่งรถ ช็อบปิ้ง ดื่มเหล้า โด๊ปยา เพลินบริโภคนิยม หรือตั้งหน้าตั้งตาเรียนหนังสือ เพื่อทำเกรดรับใบปริญญาอย่างเอาเป็นเอาตาย พวกเขาเหมือนหนึ่งต้องถูกทำโทษเพียงเพราะอยากเสียสละเพื่อช่วยคนอื่น เพื่อแสวงหาความยุติธรรมและบอกเล่าความจริงแก่ส่วนรวม

ผมคิดไม่ออกว่าเราจะสมานฉันท์กันในสภาพที่ฝ่ายหนึ่งรู้สึกว่า ตนยังไม่ได้รับความยุติธรรม และความจริงดังกล่าวถูกปิดบังได้อย่างไร? ก่อนจากกันคืนนั้น ในฐานที่ผมเคยรู้สึกคล้ายๆ กับพวกเขามาบ้างและเคยตัดสินใจทำบางอย่างกับชีวิตมาในสมัยก่อน อีกทั้งได้เห็นได้รับรู้ได้อยู่กับผลพวงของมัน ผมจึงขอให้คำแนะนำสองสามอย่างแก่พวกเขาว่า ไม่ควรทำอะไร อย่างน้อยก็เพื่อเก็บรับบทเรียนจากอดีต

ผมขอร้องว่ากิจกรรมที่พวกเขาทำย่อมมีอุปสรรคลำบากเป็นธรรมดา แต่ถ้ารู้ตัวและเป็นไปได้ หากถึงคราวคับขัน อย่าเอาชีวิตไปเสี่ยง เพราะชีวิตไม่ได้มีเพียงแค่นี้ ยังมีอะไรอีกมากที่คนวัยหนุ่มสาวมีการศึกษาอย่างพวกเขาจะทำได้เพื่อตัวเองและส่วนรวมต่อไปข้างหน้า

ผมขออีกว่าทำอะไรก็แล้วแต่ที่เชื่อว่าถูกต้องดีงาม อย่าใช้ความรุนแรง เพราะผลของความรุนแรงนั้นเมื่อมันทำร้ายทำลายอะไรลงไปแล้ว เราไม่มีทางฟื้นคืนให้มันเหมือนเดิมได้อีก และผู้ที่บาดเจ็บล้มตายไปทุกคนต่างก็มีคนที่รักอาลัยเขา คนเหล่านั้นย่อมเจ็บช้ำเสียใจต่อการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักเหมือนๆ กันไม่ว่าจะฝ่ายใด

และสุดท้ายผมขอว่า ถ้าทำไหวและทำได้ อย่าเลิกสู้ อย่าเลิกทำสิ่งที่ถูกต้องดีงาม เพื่อช่วยผู้อื่นที่สูญเสียทุกข์ยาก เพื่อทำความยุติธรรมและความจริงให้ปรากฏ เพราะการเคลื่อนไหวต่อสู้อย่างสันติของพวกเขานี่แหละ ที่จะเป็นทางเลือก ทางออก สำหรับพี่น้องไทยพุทธและมลายูมุสลิมภาคใต้ผู้ปฏิเสธความรุนแรง แต่ก็รับไม่ได้กับอำนาจอยุติธรรมดังที่เป็นอยู่

3. "เหยี่ยวกับพิราบบนเส้นทางสมานฉันท์ (ตอนต้น)"
(เรียบเรียงปรับปรุง จากคำอภิปรายของผู้เขียนในงานเสวนา "แก้เงื่อน ถอดปม ความรุนแรงในสังคมไทย" จัดโดยเครือข่ายพุทธิกาเพื่อพระพุทธศาสนาและสังคมไทย ณ ห้องประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยศิลปากร(วังท่าพระ) กรุงเทพฯ, 19 พ.ค.2548 และในการเสวนาและวิเคราะห์สถานการณ์ชายแดนใต้ในโครงการสมานฉันท์ ผู้นำและองค์กรนักศึกษากับปัญหาชายแดนใต้ จัดโดยองค์การบริหารองค์การนักศึกษาและสภานักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ณ ตึก 19 อาคารเรียนรวม วิทยาเขตปัตตานี, 28 พ.ค.2548)

หากมองดูภาพรวมจากแง่มุมรัฐศาสตร์ ผมคิดว่าโจทย์หลักของ ปัญหาความรุนแรงทางการเมืองในสังคมไทยปัจจุบันคือ: "เราจะอยู่กับรัฐบาลเสียงข้างมากอย่างเด็ดขาด และเสียงข้างมากในสังคมการเมืองไทย ที่โน้มเอียงจะเชื่อว่า อำนาจรัฐรวมศูนย์, อำนาจทุน, ชาตินิยมคับแคบ และ ความรุนแรง แก้ไขปัญหาได้-อย่างไร?"

แต่หากกล่าวเฉพาะ ปัญหาความรุนแรงชายแดนภาคใต้ เราอาจมองผ่านความสัมพันธ์ใน 2 มิติคือ:-

1) ระหว่าง รัฐ กับ ผู้ก่อการกำเริบ-ผู้ก่อการร้าย(insurgents-terrorists)
2) ระหว่างชาวไทยพุทธส่วนน้อย กับ ชาวมลายูมุสลิมส่วนใหญ่ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้

ในที่นี้ ขอกล่าวถึงมิติแรกเป็นหลัก(ผมได้เขียนเล่าแง่มุมต่างๆ ของมิติที่สองไว้ในคอลัมน์นี้ช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมาในชื่อเรื่อง "ในวังวนแห่งความไม่สมานฉันท์")

เมื่อปลายเดือนเมษายนศกนี้ พลเอก Richard Myers ประธานคณะเสนาธิการร่วมของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นนายทหารผู้ดำรงตำแหน่งสูงสุดของประเทศนั้น ได้แถลงยอมรับว่าแม้กองทหารอเมริกันราวแสนห้าหมื่นคน จะโหมระดมปราบปรามดุเดือดรุนแรงเพียงใดในรอบปีที่ผ่านมา แต่การก่อการกำเริบต่อต้านทหารอเมริกันและรัฐบาลใหม่ด้วยอาวุธในอิรัก ก็มิได้อ่อนด้อยลงเลย เขากล่าวว่า:-

"ผมคิดว่าสมรรถนะของพวกนั้นค่อนข้างคงเดิม คือเมื่อเกือบหนึ่งปีก่อนพวกนั้นเคยมีสมรรถนะแค่ไหน เดี๋ยวนี้ก็คงมีแค่นั้น"
("US admits Iraq insurgency undiminished", สำนักข่าว AFP - 27 April 2005)

สถานีวิทยุ BBC World Service ได้ขอสัมภาษณ์ความเห็นของ นายพลอดีตผู้บัญชาการทหารอังกฤษในสงครามอิรักครั้งหลังคนหนึ่ง ต่อคำแถลงข้างต้นนี้ เขากล่าวว่า:-

ธาตุแท้ของ ภารกิจรักษาสันติภาพ(peace-keeping mission หรือที่บ้านเราเรียกว่า "สร้างเสริมสันติสุข") อันเป็นสิ่งที่กองทหารอเมริกันกำลังปฏิบัติในอิรัก(และกองทหารไทยนับหมื่นกำลังปฏิบัติในชายแดนภาคใต้) นั้นไม่เหมือนสงครามเต็มรูปแบบตามปกติ ที่สองฝ่ายยกสรรพกำลัง แสนยานุภาพ ยาตราทัพเข้าห้ำหั่นกันตรงๆ, ฉะนั้น เอาเข้าจริงแล้วมันจึงเป็นสถานการณ์ที่ ไม่มีชัยชนะหรือความพ่ายแพ้ทางทหาร(no military victory or defeat) - อย่าไม่หาเลย โดยเฉพาะในกรณีผู้ก่อการฯมีมวลชนล้อมรอบสนับสนุน

หน้าที่แท้จริงของการรักษาสันติภาพหรือสร้างเสริมสันติสุข จึงไม่ใช่ช่วงชิงชัยชนะทางทหารซึ่งเป็นเรื่องผิดฝาผิดตัว, แต่คือ ซื้อเวลา (buying time น่าอัศจรรย์ว่า ข้อสังเกตของนายพลอังกฤษนี้เหมือนกันเด๊ะกับถ้อยคำที่นายทหารชั้นผู้ใหญ่ ฝ่ายข่าวกรองของไทยกล่าวกับเพื่อนอาจารย์ของผมเป็นการส่วนตัวว่า "ที่ทหารเราทำได้คือซื้อเวลา...") รอการตกลงแก้ไขทางการเมือง (political solution) ที่ฝ่ายการเมืองจะทำกัน....

หากนำข้อวิเคราะห์วิจารณ์สถานการณ์ในอิรักดังกล่าวมามองประยุกต์ เปรียบเทียบกับชายแดนภาคใต้บ้านเราก็อาจพิจารณาได้ว่า บัดนี้ถึงเวลาที่จะต้องคิดล่วงหน้า คิดเผื่อไปข้างหน้าอย่างกล้าหาญและละเอียดแล้วว่า อะไรคือการจัดระเบียบใหม่ทางการเมืองของชายแดนภาคใต้ ที่จะเป็นข้อตกลงแก้ไขทางการเมือง(political solution) ซึ่งทุกฝ่ายพอรับได้และอยู่ร่วมกันอย่างสันติได้ ไม่ว่าชาวไทยพุทธส่วนน้อยกับชาวมลายูมุสลิมส่วนใหญ่ในพื้นที่ และพี่น้องชาวไทยนานาศาสนาและเชื้อชาติที่เหลือของประเทศ บนพื้นฐานหลักการ 3 ไม่ คือไม่แยกดินแดน, ไม่ใช้ความรุนแรง, และไม่ปล่อยให้สภาพการเมืองแบบที่เป็นอยู่ ก่อปัญหากดขี่เดือดร้อนแบ่งแยก ขัดแย้ง ร้ายแรงต่อไป

(ในประเด็นนี้ โปรดดูบทรายงานทรรศนะ ของอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ ที่แสดงแก่สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศเมื่อคืนวันที่ 18 พ.ค.ศกนี้ ใน Richard Hermes, "Planting a seed of autonomy, not independence", Bangkok Post, 21 May 2005, p.8)

ในรอบปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้เดินแนวทางสายเหยี่ยวที่เน้นใช้กำลังรุนแรง ปราบปราม ในการแก้ปัญหาความรุนแรงชายแดนภาคใต้ เรื่องนี้มีผู้พูดกันมามากแล้วเกี่ยวกับอาการ "บ้ามาก็บ้าไป ก่อการร้ายมาก็ก่อการร้ายไป" ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม ในที่นี้ผมอยากจับลงไปตรงทรรศนะแนวคิด 2 ส่วนที่สำคัญน่าสนใจ ของหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงของไทยในแนวทางสายนี้

1) ทรรศนะที่อาจสรุปได้ว่าต้องใช้ความรุนแรงปราบฆ่าเพื่อ "กดขวัญศัตรูลงไป ปลุกขวัญมวลชนขึ้นมา" หากยืมคำขวัญของคอมมิวนิสต์แต่เดิมมาพูดแทน, ทรรศนะนี้มองว่าชาวบ้านที่อยู่ระหว่างผู้ก่อการกำเริบกับฝ่ายรัฐนั้นเป็นคนแบบ "ชนะไหนเล่นด้วยช่วยกระพือ เหมือนกระสือตอมอหิวาห์เพราะหน้าทน" - กล่าวคือไม่มีจุดยืนแน่นอนของตัวเอง ฝ่ายไหนเข้มแข็งกว่าก็พร้อมจะสวามิภักดิ์ด้วย

ฉะนั้น ทหารเราก็ต้องแสดงความเข้มแข็งล่ำบึ้กออกมา เพราะในที่สุดประชาชนจะยอมสยบอยู่กับฝ่ายเข้มแข็ง(ทรรศนะนี้ผู้รับผิดชอบระดับสูงของกองทัพ และกระทรวงกลาโหมกล่าวยืนยันซ้ำซากหลายครั้ง) และวิธีสำแดงแสนยานุภาพอันเข้มแข็งก็คือประกาศกฎอัยการศึก, ส่งกำลังทหารลงไปเต็มพื้นที่, เชือดไก่ให้ลิงดู เป็นต้น

น่าสนใจที่ทรรศนะดังกล่าวเหมือนกันเด๊ะกับทรรศนะทหารอเมริกันสายเหยี่ยว ตอนบุกถล่มเมืองฟัลลูจาห์เมื่อปีก่อน, รวมทั้งที่กำลังบุกเมืองรามาดีตอนนี้ และจะทยอยบุกเมืองแหล่งต่อต้านอื่นๆ ในอิรักต่อไปข้างหน้า คือ เราต้องเปล่งแสนยานุภาพเข้มแข็งออกมา แล้วประชาชนซึ่งเป็นพวกนั่งอยู่บนรั้ว(sitting on the fence) เห็นประจักษ์เข้า ก็จะลงจากรั้วมาทางฟากเรา เข้าข้างเราเอง

(ดูตัวอย่างทรรศนะของพลเรือโทเกษียณอายุ Bernard Trainor แห่งกองกำลังนาวิกโยธินสหรัฐ และสมาชิกสมทบอาวุโสของ Council on Foreign Relations ซึ่งเป็นสถาบันคลังสมองทรงอิทธิพลด้านนโยบายต่างประเทศในสหรัฐ, และพันเอกเกษียณอายุ W. Patrick Lang แห่งกองทัพบกสหรัฐ อดีตนายทหารหน่วยปฏิบัติการรบพิเศษ และนักวิเคราะห์ตะวันออกกลางขององค์การข่าวกรองกลาโหมสหรัฐ ในรายการโทรทัศน์ "IRAQ: WHAT NOW?", PBS Online NewsHour, 7 April 2004 และดูคำสัมภาษณ์วิเคราะห์แนวโน้มนโยบายดังกล่าวนี้ของสหรัฐ ในปัจจุบันโดย Seymour Hersh ในรายการวิทยุ Seymuor Hersh: Iraq "Moving Towards Open Civil War", Democracy Now, 11 May 2005)

2) แต่อนิจจาศัตรูอยู่ไหนก็ไม่รู้ หาไม่ง่าย เพราะผู้ก่อการฯซุ่มซ่อน ทำสงครามกองโจรในเมืองและก่อการร้าย ไม่ปรากฏตัว หรือเมื่อปรากฏตัวก็ไม่แต่งเครื่องแบบพกบัตรสมาชิก ไม่ร้องบอกชื่อแซ่องค์กรผู้นำอย่างแต่ก่อน ทำให้ฝ่ายรัฐเหมือนตกอยู่ในสภาพติดอาวุธพร้อมรบตั้งแต่หัวจรดเท้า แต่เดินหูหนวกตาบอดเข้าไปในพื้นที่ ไม่รู้ว่าศัตรูอยู่ที่ไหน กุมสภาพไม่ได้ว่าเป็นอย่างไร ดังปรากฏคำแถลงเปิดอก ยอมรับความล้มเหลวของงานข่าวกรองภาครัฐอยู่เนืองๆ นับแต่ต้นปี พ.ศ.2547 มา

ท่ามกลางสภาพดังกล่าวจึงเกิดกระแส ตรรกะข่าวกรอง (the logic of intelligence) ซึ่งตั้งอยู่และดำเนินงานบน ความสงสัย หรือ suspicion ขึ้นสูงกลบท่วม ตรรกะของระบบกฎหมาย (the logic of the legal system) ซึ่งตั้งอยู่และดำเนินงานบน ข้อพิสูจน์ หรือ proof จนจมมิดในคดีต่างๆ ที่เกี่ยวกับความมั่นคงและการก่อการร้ายชายแดนภาคใต้

ตรรกะข่าวกรองได้เข้าครอบงำการทำงานของฝ่ายความมั่นคงของรัฐและนโยบายรัฐบาล, ทำให้เจ้าหน้าที่และผู้นำการเมืองหวาดระแวง(paranoid) มองเห็นเหตุการณ์เล็กย่อมหยุมหยิมในท้องที่เป็นส่วนหนึ่งของการสมคบคิดกันวางแผนร้ายข้ามชาติหรือระดับโลก

มองเห็นกลุ่มหรือบุคคลอิสระต่างๆ เป็นเอเย่นต์ขององค์การลับที่เข้มแข็งเป็นปึกแผ่น มีหน่วยจัดตั้ง เครือข่ายและขุมกำลังผู้ก่อการฯใหญ่โตมโหฬารหลายหมื่นคน สามารถยึดกุมบงการองค์การปกครองท้องถิ่นในพื้นที่ได้เบ็ดเสร็จ ให้ความสำคัญแก่สิ่งที่มองไม่เห็นหรือล่องหนแต่สันนิษฐานไว้ก่อนว่าซุกซ่อนไว้("มือที่สาม") เหนือสิ่งที่มองเห็นหรือเปิดเผย

ถือว่าผู้ต้องสงสัยเท่ากับผู้ที่ผิดแล้ว(suspicion = established guilt) แทนที่จะถือว่าผู้ที่ถูกหลักฐานพิสูจน์มัดแน่นเท่านั้นจึงจะเป็นผู้ผิด(proof = guilt) ตามหลักนิติธรรม ดังนั้น จึงแทนที่จะยกประโยชน์ให้จำเลยหากมีข้อสงสัยที่ชอบด้วยเหตุผล(reasonable doubt) ตามหลักปล่อยคนผิดไปร้อยคน ดีกว่าลงโทษผู้บริสุทธิ์คนเดียว, การณ์ก็กลับตาลปัตรเป็นยกโทษให้โจทก์ แม้โจทก์จะมีความระแวงสงสัยที่ไม่ชอบด้วยเหตุผล(unreasonable suspicion) ตามหลักลงโทษผู้บริสุทธิ์ร้อยคน ดีกว่าปล่อยคนผิดไปแม้แต่คนเดียว

กล่าวคือ ถ้ามึงน่าสงสัย เป็นผู้ต้องสงสัย แต่กูไม่มีหลักฐานมัดตัวเอาผิดเล่นงานมึงได้ชัดเจน กูก็ขอจับมึงหรือดีกว่านั้นคืออุ้มมึงมาก่อน แล้วซ้อมทรมานรีดเค้นปากคำให้มึงรับสารภาพว่าผิดจริงอย่างที่ถูกสงสัย ถ้าไม่รับก็ฟาดเอาเตะเอากระทืบเอาฉี่รดปาก เอาช็อร์ตด้วยไฟฟ้า เอาแขวนคอเอา ในที่สุดมึงทนเจ็บปวดทรมานไม่ได้ก็คายคำสารภาพว่า...โอยๆ กลัวแล้วครับ หยุดทีเถอะครับ ผมยอมรับว่าผิดจริงอย่างที่บอกครับ....ตามที่กูสงสัยออกมา

เป็นอันว่า suspicion = guilt ซ.ต.พ. ข่าวกรองกูถูกต้องจริงๆ เฮ! ดังปรากฏซ้ำแล้วซ้ำเล่าตามปากคำที่จำเลยให้การในชั้นศาล บางครั้งทั้งน้ำตาว่าตนถูกเจ้าหน้าที่ทรมานให้รับสารภาพในคดีหมอแวกับพวกถูกหาว่าเป็นสมาชิก JI, คดีจับกุมผู้ต้องสงสัย 5 คนปล้นปืนกองพันพัฒนาฯ, คดีกำนันโต๊ะเด็งกับพวกซัดทอดวุฒิสมาชิก และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรภาคใต้บางคนว่าบงการปล้นปืนกองพันพัฒนาฯ เป็นต้น

รัฐที่ถูกครอบงำโดยตรรกะข่าวกรองจึงสร้างศัตรูขึ้นมาในที่ที่ไม่มีศัตรู

ซึ่งก็เหมือนกันเด๊ะอีกนั่นแหละกับสิ่งที่อเมริกันทำในสงครามต่อต้านการก่อการร้ายทั่วโลก ไม่ว่าที่คุกอาบู กราอิบในอิรัก, ค่ายกักกันอ่าวกวนตานาโมในคิวบา, คุกที่ฐานทัพอากาศบากรัมในอัฟกานิสถาน รวมทั้งการลักพาตัวผู้ต้องสงสัยก่อการร้ายส่งออกไปฝากให้ช่วยทรมาน รีดเค้นปากคำในมิตรประเทศอื่นที่ขึ้นชื่อเรื่องปัญหาสิทธิมนุษยชน เช่น จอร์แดน, โมร็อกโก, อียิปต์, ซีเรีย, ซาอุดีอาระเบีย, อุชเบกิสถาน

(ดูรายงานข้อมูลและข้อวิเคราะห์เรื่องนี้โดยพิสดารใน Somini Sengupta and Salman Masood, "Guantanamo Comes to Define U.S. to Muslims", The New York Times, 21 May 2005; Stephen Grey, "United States: trade in torture", Le Monde diplomatique, April 2005, pp. 4-5; Laurent Bonelli, "On suspicion fo not being one of us", Le Monde diplomatique, April 2005, pp. 8-9.)

4. เหยี่ยวกับพิราบบนเส้นทางสมานฉันท์ (ตอนจบ)
สัปดาห์ก่อนได้วิเคราะห์บุคลิกทางความคิดบางประการของแนวทางสายเหยี่ยวไปแล้ว สัปดาห์นี้จะขอวิเคราะห์วิจารณ์ สภาพเงื่อนไขและอุปสรรคในการทำงานของสายพิราบ ซึ่งมีคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติเป็นธงนำ

การปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์แก้ปัญหาความรุนแรงภาคใต้ของรัฐบาลทักษิณ มาสู่แนวทางสมานฉันท์-สันติวิธีเมื่อเร็วๆ นี้น่าจะเกิดจากเหตุปัจจัยหลักๆ 2-3 ประการ คือ

1) ข้อมูลจากพื้นที่และสภาพความเป็นจริงของสถานการณ์เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า แนวทางสายเหยี่ยวแต่เดิมแก้ปัญหาไม่ได้ กลับรังแต่ซ้ำเติมให้ปัญหารุนแรงยิ่งขึ้นจนอาจลุกลามเกินควบคุม กล่าวคือ เหตุโจมตีก่อกวนรายวันยังมีไม่ขาดสาย(น่าลองพินิจพิเคราะห์ดูให้ดีว่า มันเป็นปฏิบัติการเชิงรุกเพื่อ "แยกดินแดน" หรือกลไกป้องกันตนเอง(defense mechanisms) ของผู้ต่อต้านรัฐในพื้นที่กันแน่? หรือทั้งสองอย่าง? เพื่อวางมาตรการรับมือให้เหมาะสม)

งานมวลชนล้มเหลว(พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ผบ.ตำรวจแห่งชาติ มติชนรายวัน, 20 พ.ค.2548), เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ไม่ปฏิบัติตามนโยบายของฝ่ายสั่งการ หากไม่เห็นด้วย(นายกฯทักษิณ ชินวัตร มติชนรายวัน, 19 พ.ค.2548), และงานข่าวกรองต้องปรับแล้วปรับอีก แก้โครงสร้างเปลี่ยนตัวเจ้าหน้าที่ไม่หยุดหย่อน(รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ Bangkok Post, 14 May 2005)

2) แรงกดดันวิพากษ์วิจารณ์แนวทางนโยบายสายเหยี่ยว ของรัฐบาลจากทางสากลเริ่มแผ่ขยายลุกลาม นับแต่ประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนด้วยกันที่เป็นอิสลาม คือ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย, สหประชาชาติ ประเทศมหาอำนาจ และองค์การเอ็นจีโอระหว่างประเทศที่อยู่ในระบอบเฝ้าระวังสิทธิมนุษยชนสากล, และนานาประเทศมุสลิม รวมทั้งองค์การการประชุมโลกอิสลาม จนน่าวิตกว่าข้อกล่าวหาว่ารัฐบาลไทยดำเนินนโยบายกีดกันแบ่งแยกทางศาสนา และเชื้อชาติต่อชนส่วนน้อยชาวมลายูมุสลิมภาคใต้ จะนำไปสู่การตรวจสอบจากภายนอกเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ จนอาจกลายเป็นข้ออ้างในการแทรกแซงจากต่างชาติได้

3) ณ จังหวะคับขันหัวเลี้ยวหัวต่อที่นายกฯทักษิณ มีดำริ "คิดใหม่ ทำใหม่" จะใช้การแบ่งโซนพื้นที่ชายแดนภาคใต้ 3 สี มาเป็นเกณฑ์กำหนดการจัดสรรงบประมาณการพัฒนา ได้เกิดปรากฏการณ์พิสดารน่าอัศจรรย์ของการประสานเสียงคัดค้านทักท้วงทัดทาน ในลักษณะแนวร่วมกลายๆ ระหว่างนักวิชาการ เอ็นจีโอ และนักการเมือง "รู้ทันทักษิณ" ขาประจำ กับสมาชิกชนชั้นนำและบุคคลในวงการชั้นสูงนอกรัฐบาล โดยเฉพาะที่สังกัดสถาบันตามประเพณี ตั้งแต่อดีตนายกรัฐมนตรีไปจนถึงองคมนตรีบางท่าน ที่เป็นห่วงเป็นใยว่ารัฐบาลจะเดินถลำลึกผิดทางจนเหตุการณ์ลุกลามไปกันใหญ่ ในกรณีคอขาดบาดตายเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยและบูรณภาพเหมือนดินแดนของประเทศเช่นนี้

จนกระแสเสียงดังกล่าวถักทอก่อตัวเป็นตาข่ายมติมหาชนล้อมดึงนายกฯทักษิณและรัฐบาล ให้หันเหนโยบายไปสู่ทิศทางใหม่

อย่างไรก็ตาม การหันไปเดินแนวทางสายพิราบของรัฐบาลยังทำแบบครึ่งๆ กลางๆ เพราะรัฐบาลก็อยู่ท่ามกลางการแวดล้อมของกลุ่มพลังการเมืองต่างๆ ในสังคมไทยและโลกที่ไม่ได้มีแต่เฉพาะฝ่ายที่กล่าวถึงข้างต้น หากยังมีกองทัพ, ตำรวจ, หน่วยงานความมั่นคงและข่าวกรองอื่นๆ, กลุ่มอุดมการณ์ขวาหันตลอดศก, จักรวรรดินิยมอเมริกา, สื่อมวลชนที่สะใจกับการเชียร์มวยข้างสนามอย่างไม่รับผิดชอบ, ผู้ไม่รู้แต่มีความเห็นมากมาย, อนารยชนเกลียดแขก เกลียดตุ๊ด เกลียดนักวิชาการ เกลียดเอ็นจีโอ เกลียดนักสิทธิมนุษยชน เกลียดคนไม่พับนกกระดาษ เกลียดหมดนั่นแหละ ใครก็แล้วแต่ที่ไม่เหมือนกูผู้วนเวียนสิงสู่เป็นสัมภเวสีอยู่ตามเว็บบอร์ด, รายการโฟนอินทางวิทยุและเท็กซ์ เมสเสจทางทีวีต่างๆ

ท่ามกลางการชักเย่อดึงไปทางโน้นที ดึงมาทางนี้ทีของพลังหลากหลายฝ่ายในสังคมการเมืองไทยและประชาคมโลก พิราบที่เราได้มาจากรัฐบาลทักษิณจึงถูกขลิบปีกเป็นแค่ "คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ" หรือในพากย์อังกฤษว่า The National Reconciliation Commission : NRC กล่าวคือ เพื่อความสมานฉันท์เดี่ยวๆ โดดๆ ไม่ยักเผื่อแผ่รวมเอาความยุติธรรมและความจริงไว้ในเป้าหมายแห่งชาติด้วย(reconciliation without justice and truth) ไม่เหมือนคณะกรรมการทำนองเดียวกันนี้ที่อื่นในโลก ซึ่งจะต้องมีประเด็นความยุติธรรมและความจริงประกบเป็นกระสายอยู่ด้วยเสมอ อาทิ

-คณะกรรมการเพื่อความจริงและความสมานฉันท์แห่งชาติ(The Naional Commission on Truth and Reconciliation) ของชิลี

-คณะกรรมการเพื่อความจริงและความสมานฉันท์(The Truth and Reconciliation Commission) ของแอฟริกาใต้

-คณะกรรมการเพื่อความยุติธรรมและความสมานฉันท์(The Justice and Reconciliation Commission) ของโมร็อกโก เป็นต้น

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

ก็เพราะจากประสบการณ์ของนานาประเทศ ที่ผ่านสถานการณ์แตกแยกขัดแย้งกันเองภายในชาติอย่างรุนแรงถึงเลือดตกยางออกแล้วค่อยๆ หันหน้ามาสมานฉันท์กันนั้น สรุปได้ว่ากระบวนการสมานฉันท์เกิดจากดุลกำลังระหว่างอำนาจใหม่กับอำนาจเก่า ที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นเงื่อนไขพื้นฐานสำคัญ

ทว่าในกรณีของไทยปัจจุบัน อำนาจรัฐบาลไม่ได้เปลี่ยน ยังคงกุมอยู่ในมือกลุ่มอำนาจเดิม(ทักษิณ ณ ไทยรักไทย), คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ แม้ส่วนหนึ่งจะเกิดจากสถานการณ์ที่ค่อนข้างคับขัน รุนแรง บีบคั้น แต่อีกส่วนหนึ่งก็เกิดจากรัฐบาลอนุมัติสมยอมด้วย, ลักษณะชื่อฉายาและภารกิจของมันจึงสะท้อนการรอมชอมประนีประนอม พบกันครึ่งทางระหว่างพลังฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการจัดการแก้ไขปัญหาความรุนแรงชายแดนภาคใต้

เพราะถ้าจะเอาทั้งความยุติธรรมและความจริง(justice&truth) ด้วยเต็มร้อย พลังการเมืองบางฝ่าย โดยเฉพาะหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบด้านความมั่นคงโดยตรงอาจรับไม่ได้(หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือให้ไม่ได้) แต่คำถามก็คือ แล้วเราจะสมานฉันท์กันบนพื้นฐานความอยุติธรรม(injustice) และอสัตย์อธรรม(lies) เข้าไปได้อย่างไร?

สภาพตอนนี้จึงเป็นการสมานฉันท์ครึ่งใบคาบลูกคาบดอกยังไงพิกล

ฝ่ายพิราบมีคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติเป็นแกนนำเสนอทางเลือกทางการเมืองต่อการแก้ปัญหาภาคใต้ เปิดพื้นที่สิทธิเสรีภาพทางการเมืองให้ประชาสังคมและภาคประชาชน โดยเฉพาะในชายแดนภาคใต้เองเข้าร่วมแก้ปัญหา ซึ่งถ้ามองในแง่ดีโดยตัวกระบวนการของมันเอง ที่เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม ก็อาจนำไปสู่การหยิบยกเปิดประเด็นแสวงหาความยุติธรรม และความจริงขึ้นมาเองก็เป็นได้

ในทางกลับกัน ฝ่ายพิราบก็ต้องประชันกับฝ่ายเหยี่ยว ซึ่งมีอดีตนักการเมืองขวาจัดเป็นโฆษกรายวันเช้ายันเย็นและกองทัพเป็นฐานทางสถาบัน ต่างฝ่ายต่างก็เข้าไปแวดล้อมรัฐบาลทักษิณเหมือนดาวล้อมเดือน เพื่อชักเย่อดึงไปในทิศทางที่ตนปรารถนา ส่วนรัฐบาลก็ปล่อยให้ทั้งเหยี่ยวกับพิราบต่างฝ่ายต่างดำเนินงานแก้ปัญหาคู่ขนานสวนทางกันไปด้วยกันทั้งคู่

ภาพที่ออกมาจึงสับสนปนเปพิกล จะว่าเป็นเหยี่ยวก็ไม่ใช่ พิราบก็ไม่เชิง อาจจะค่อนๆ ไปทางอีแร้งก็เป็นได้




 

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 580 เรื่อง หนากว่า 7500 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com




 

หากนำข้อวิเคราะห์วิจารณ์สถานการณ์ในอิรักดังกล่าวมามองประยุกต์ เปรียบเทียบกับชายแดนภาคใต้บ้านเราก็อาจพิจารณาได้ว่า บัดนี้ถึงเวลาที่จะต้องคิดล่วงหน้า คิดเผื่อไปข้างหน้าอย่างกล้าหาญและละเอียดแล้วว่า อะไรคือการจัดระเบียบใหม่ทางการเมืองของชายแดนภาคใต้ ที่จะเป็นข้อตกลงแก้ไขทางการเมือง(political solution) ซึ่งทุกฝ่ายพอรับได้และอยู่ร่วมกันอย่างสันติได้ ไม่ว่าชาวไทยพุทธกับชาวมลายูมุสลิม

อย่างไรก็ตาม การหันไปเดินแนวทางสายพิราบของรัฐบาลยังทำแบบครึ่งๆ กลางๆ เพราะรัฐบาลก็อยู่ท่ามกลางการแวดล้อมของกลุ่มพลังการเมืองต่างๆ ในสังคมไทยและโลกที่ไม่ได้มีแต่เฉพาะฝ่ายที่กล่าวถึงข้างต้น หากยังมีกองทัพ, ตำรวจ, หน่วยงานความมั่นคงและข่าวกรองอื่นๆ, กลุ่มอุดมการณ์ขวาหันตลอดศก, จักรวรรดินิยมอเมริกา, สื่อมวลชนที่สะใจกับการเชียร์มวยข้างสนามอย่างไม่รับผิดชอบ, ผู้ไม่รู้แต่มีความเห็นมากมาย, อนารยชนเกลียดแขก เกลียดตุ๊ด เกลียดนักวิชาการ เกลียดเอ็นจีโอ เกลีย ดนักสิทธิมนุษยชน เกลียดคนไม่พับนกกระดาษ เกลียดหมดนั่นแหละ ใครก็แล้วแต่ที่ไม่เหมือนกูผู้วนเวียนสิงสู่เป็นสัมภเวสีอยู่ตามเว็บบอร์ด, รายการโฟนอินทางวิทยุและเท็กซ์ เมสเสจทางทีวีต่างๆ

ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๑๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๘ : บทความทั้งหมดของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ
เจ้าของพื้นที่ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ
เว็ปไซต์ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ออกแบบขึ้นมาเพื่อใช้กับ Display properties : screen area 600 X 800 pixels ซึ่งจะให้ภาพที่คมชัดและสมบูรณ์ที่สุด
H

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 580 เรื่อง หนากว่า 7500 หน้า
ในรูปของ CD-ROM ในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง) สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com

หรือ ส่งธนาณัติถึง
สมเกียรติ ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202
กรุณาส่งธนาณัติแลกเงินไปยัง สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50202 และอย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์

บทความที่ผ่านมา เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์กับการเมือง หากนักศึกษา และสมาชิกสนใจ สามารถคลิกไปอ่านได้จากที่นี่...