ผลงานภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบบทความบริการฟรีของ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

R
relate topic
060648
release date

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 584 หัวเรื่อง
เวทีชาวบ้านในยุคโลกาภิวัตน์
ภัควดี วีระภาสพงษ์ : เรียบเรียง
นำมาจากกระดานข่าวขนาดยาวของ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

The Midnight 's article

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ

Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com

เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะ
สามารถแก้ปัญหาได้

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
เว็ปไซท์นี้มีการคลิกโดยเฉลี่ยต่อวัน 14119-26256 ครั้ง สำรวจเมื่อเดือนสิงหาคม 47
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ เพื่อประโยชน์ต่อสังคม

คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

รายงานเวทีสังคมโลกที่เมืองปอร์โตอาเลเกร
เวทีสังคมโลก เวทีชาวบ้านยุคโลกาภิวัตน์
ภัควดี วีระภาสพงษ์
เรียบเรียงจาก
"The Last Porto Alegre: Discerning the state of the World Social Forum after five years"
Mark Engler, February 14, 2005.
มาร์ค อิงเลอร์ เป็นนักเขียนจากเมืองนิวยอร์กซิตี
เขาเขียนทัศนะวิจารณ์ให้ Foreign Policy in Focus (www.fpif.org)
และมีเว็บไซท์ของตัวเองอยู่ที่ www.democracyuprising.com)


หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้นำมาจากกระดานข่าวขนาดยาวของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
http://board.dserver.org/m/midnightuniv/00001308.html
เวทีสังคมโลกครั้งที่ 5: ก้าวสู่แอฟริกา อำลาปอร์โตอาเลเกร - ภัควดี [30/05/2005 14:35] (0)

เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 8 หน้ากระดาษ A4)





เวทีสังคมโลก เวทีชาวบ้านยุคโลกาภิวัตน์
เวทีสังคมโลกครั้งที่ 5 : ก้าวสู่แอฟริกา อำลาปอร์โตอาเลเกร

ไม่ใช่ปารีสหรือโตเกียว ปักกิ่งหรือนิวยอร์ก ไม่ใช่เซาเปาลูหรือรีโอเดจาเนโร แต่ชาวเมืองปอร์โตอาเลเกรจะบอกคุณอย่างมั่นใจว่า เมืองขนาดกลางที่มีประชากร 1.5 ล้านคน ซึ่งตั้งอยู่เกือบใต้สุดของประเทศบราซิลนี่แหละที่เป็น "ป้อมปราการด่านสุดท้ายของสังคมนิยมและร็อคแอนด์โรล"

ไม่ผิดนักหรอก ซุ้มขายของที่เต็มไปด้วยเสื้อยืดสีดำสกรีนภาพวงดนตรี Iron Maiden ตั้งอยู่ดาษดื่นตามตลาดนัด และเทศบาลของเมืองนี้เป็นที่มั่นมานานของพรรค PT ซึ่งเป็นพรรคแรงงานของบราซิล แต่วันนี้ เมืองปอร์โตอาเลเกรมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก โดยเฉพาะในหมู่ผู้คนที่มีแนวคิดวิพากษ์วิจารณ์ระบบทุนนิยม, บรรษัทข้ามชาติ และการรุกรานทางทหารของสหรัฐอเมริกา เพราะเมืองนี้เป็นบ้านเกิดของ เวทีสังคมโลก (World Social Forum)

ห้าปีก่อน หลังจากการประท้วงองค์การการค้าโลกที่ซีแอตเติ้ลในปลายปี ค.ศ. 1999 ซึ่งกลายเป็นตำนานการเปิดตัวของขบวนการสังคมใหม่ นักกิจกรรมหลายพันคนหลั่งไหลมาร่วมงานเวทีสังคมโลก เพื่อถกถึงปัญหาสารพัดอย่าง ตั้งแต่การล้มละลายของบริษัทเอนรอนไปจนถึงไอเอ็มเอฟ การจัดงานดำเนินติดต่อกันมาทุกปีจนครบปีที่ 5

แนวคิดหลักที่สำคัญ
แนวคิดหลักเบื้องหลังคือ การสร้างสมัชชาประชาชนขนาดใหญ่ที่ทุกคนมีส่วนร่วม เพื่อให้ภาพและแนวทางที่ขัดแย้งแตกต่างจาก"เวทีเศรษฐกิจโลก"(World Economic Forum) ซึ่งบรรดาผู้นำทางเศรษฐกิจโลกมาประชุมกันทุกปีที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

เวทีสังคมโลกดึงดูดผู้มาร่วมงานที่แตกต่างหลากหลาย มีตั้งแต่ประมุขระดับประเทศไปจนถึงนักทวนกระแสวัฒนธรรมที่เร่ร่อนไปอย่างเสรี ในบรรดาฝูงชนถึง 155,000 คน ที่มาร่วมงานในปีนี้ เมื่อปลายเดือนมกราคม 48 ที่ผ่านมา (ตัวเลขประเมินของผู้จัดงาน) กลุ่มที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวมากที่สุด น่าจะเป็นบรรดาสื่อมวลชนที่แห่มาทำข่าว และนั่งอ้าปากค้างตามวงประชุมที่มีการถกเถียงกันอย่างเผ็ดร้อน

ปีนี้ไม่ใช่ครั้งแรกของการจัดงานเวทีสังคมโลกก็จริง แต่มีเค้าลางหลายอย่างว่ามันอาจจะเป็นปีสุดท้ายที่จัดงานกันที่ปอร์โตอาเลเกร ความเป็นเมือง "หัวก้าวหน้า" ของปอร์โตอาเลเกร ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เวทีสังคมโลกมาจัดงานที่นี่ตั้งแต่แรก กำลังถูกตั้งคำถาม หลังจากในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา นายกเทศมนตรีที่ชนะการเลือกตั้งกลับกลายเป็นฝ่ายตรงข้ามของพรรค PT แต่ในเมื่อการจัดเวทีสังคมโลกสร้างผลดีทางเศรษฐกิจแก่เมืองนี้อย่างมิอาจประเมินได้ นายกเทศมนตรีคนใหม่จึงต้องยอมกลืนน้ำลายตัวเอง จากที่เคยวิจารณ์มหกรรมนี้ว่าเป็น "ดิสนีย์แลนด์ทางอุดมการณ์"

กระนั้นก็ตาม เมืองอื่น ๆ กำลังเรียกร้องขอเป็นเจ้าภาพจัดงานบ้าง (การจัดงานที่ผ่านมาทั้ง 5 ครั้ง มีเพียงปีที่แล้ว คือ ค.ศ. 2004 เท่านั้น ที่ย้ายไปจัดงานที่เมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย) แต่โอกาสการเป็นเจ้าภาพดูจะค่อนข้างยากขึ้นกว่าเดิม เพราะนับแต่นี้ไป การจัดงานจะมีขึ้นทุกสองปี ส่วนในปีหน้าที่ว่างเว้นงานใหญ่ นักเคลื่อนไหวทั้งหลายจะหันไปเน้นการจัดสมัชชาในระดับภูมิภาคแทน

ประธานาธิบดีบราซิล ลูอิส อีนาเซียว "ลูลา" ดา ซิลวา
"ผมเป็นนักรบทางการเมือง" ประธานาธิบดีบราซิล ลูอิส อีนาเซียว "ลูลา" ดา ซิลวา ในเสื้อแจ๊กเก็ตสีขาว กล่าวปราศรัยในสนามกีฬา ที่มีประชาชนมาชุมนุมกันอย่างแน่นขนัดในวันแรกของการเปิดงาน "ผมเป็นส่วนหนึ่งของที่นี่" แต่เสียงโห่ร้องกระหึ่มของผู้สนับสนุนพรรค PT กลับถูกกลบด้วยเสียงของสื่อมวลชนที่ช่วยกันกระพือข่าวของผู้ประท้วงกลุ่มไม่ใหญ่นัก ซึ่งออกมาตำหนิลูลาที่ยังชำระหนี้ต่างประเทศของบราซิลต่อไป และไม่ยอมสลัดหลุดจากนโยบายทางเศรษฐกิจตามใบสั่งของไอเอ็มเอฟ

กระนั้นก็ตาม เป็นความจริงที่ประธานาธิบดีลูลา อดีตคนงานโรงงานเหล็กและผู้นำสหภาพแรงงาน ซึ่งหลายคนเคยฝากความหวังว่าจะเป็นวีรบุรุษฝ่ายซ้าย เมื่อตอนที่เขาก้าวขึ้นสู่อำนาจเมื่อสองปีก่อน แต่การบริหารประเทศที่ผ่านมาของลูลา ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักตามเวทีอภิปรายต่าง ๆ ตลอดทั้งสัปดาห์ เช่นเดียวกับปีก่อน ๆ ลูลาไปร่วมงานเวทีเศรษฐกิจโลกที่ดาวอสในปีนี้ด้วย โดยกล่าวว่า มันเป็นภารกิจที่เขาต้องไปเผชิญหน้ากับผู้นำโลกที่มั่งคั่ง เพื่อเรียกร้องให้ขจัดความยากจนและบุกเบิก "ภูมิศาสตร์ใหม่" ทางการเมืองที่ประเทศในซีกโลกใต้ไม่จำเป็นต้องยอมทนเป็นเบี้ยล่าง

ประธานาธิบดีอูโก ชาเวซ แห่งเวเนซุเอลา
เป็นความจริงอีกเช่นกันที่ลูลาไม่ได้รับการต้อนรับอย่างอุ่นหนาฝาคั่งที่เวทีสังคมโลก เมื่อเปรียบเทียบกับประธานาธิบดีอูโก ชาเวซ แห่งเวเนซุเอลา ซึ่งเป็นคนปราศรัยปิดงานในสนามกีฬาที่แออัดยัดทะนานพอ ๆ กัน เขาใส่เสื้อยืดรูปเช เกวาราสีแดงสดใสพอ ๆ กับสีหมวกเบเรต์ของกอง รปภ. ประจำตัว ชาเวซไม่ค่อยพูดถึง "ความเป็นหุ้นส่วน" กับซีกโลกเหนือเหมือนลูลา และมีลีลาออกไปทางป่าวประณาม "ลัทธิจักรวรรดินิยม" มากกว่า

ในการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนก่อนการปราศรัย ชาเวซประกาศว่า เวทีสังคมโลกเป็นหนึ่งใน "มหกรรมทางการเมืองที่สำคัญที่สุดในรอบปีบนโลกใบนี้" เขาเอ่ยอ้างถึง "การปฏิวัติตามแนวทางโบลิวาร์" (วีรบุรุษที่เป็นผู้นำการปลดปล่อยหลายประเทศในละตินอเมริกาจากอาณานิคม) และกล่าวหาการรัฐประหารที่พยายามโค่นล้มตัวเขาในปี ค.ศ. 2002 ว่า "สั่งตรงมาจากยูเอสเอ" แถมยังเหน็บต่ออีกว่า "คุณนาย 'คอนโดเลนเซีย' ไรซ์ อาจพูดว่า อูโก ชาเวซเป็นพลังด้านลบในละตินอเมริกา ผมขอบอกว่า รัฐบาลของสหรัฐอเมริกาคือพลังด้านลบที่เลวร้ายที่สุดในโลกทุกวันนี้!"

การจัดงานแบบประชาธิปไตยรากหญ้า
แม้ในขณะที่สองประธานาธิบดีปราศรัยปิดหัวปิดท้ายงาน วิทยากรคนอื่น ๆ อีกหลายสิบคนก็เปิดวงอภิปรายพร้อม ๆ กันในกระโจมและโกดังว่าง ที่กระจายตลอดระยะทางเกือบสามไมล์ริมฝั่งแม่น้ำไกวบาของเมืองปอร์โตอาเลเกร ในเวทีสังคมโลกครั้งก่อน ๆ การจัดงานมีขึ้นที่มหาวิทยาลัยคาทอลิก และในตอนเช้าจะมีการประชุมใหญ่ที่เปิดให้ผู้ร่วมงานทุกคนเข้าฟังองค์ปาฐกพิเศษ ส่วนในปีนี้ มหกรรมทั้งหมดดำเนินไปในรูปแบบของการประชุมเชิงปฏิบัติการย่อย ๆ ที่ "จัดการกันเอง" แม้จะได้รับคำชมว่าเป็นการจัดงานแบบประชาธิปไตยรากหญ้า แต่มันก็ทำให้ความสำนึกถึงวัตถุประสงค์ส่วนรวมขาดหายไปไม่น้อย และตอกย้ำความรู้สึกว่า มีการประชุมมากมาย ทั้งใหญ่ทั้งเล็ก ดำเนินไปพร้อมกันหมด

"สามปีก่อน ทุกคนพูดถึงแต่แผนโคลอมเบีย (Plan Colombia เป็นแผนการฟื้นฟูประเทศโคลอมเบียที่สหรัฐอเมริกาให้การสนับสนุนทางการเงิน ประเด็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมากคือสงครามต่อต้านยาเสพย์ติด ที่ใช้วิธีให้เครื่องบินพ่นยาฆ่าต้นโคคา แต่ไปทำลายพืชที่เป็นอาหารและก่อมลภาวะแก่สิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง) สองปีก่อนก็พูดถึงแต่อิรัก" นักกิจกรรมคนหนึ่งที่เคยร่วมงานปอร์โตอาเลเกรหลายครั้งบอก มาปีนี้เธอระบุว่า สิทธิในการเข้าถึงน้ำสะอาดในฐานะสาธารณูปโภคส่วนรวม กลายเป็นประเด็นร้อนแรงของเวทีสังคมโลก

แต่เมื่อดูตารางการอภิปรายที่หนาถึงหลายร้อยหน้า ว่าด้วยสารพัดประเด็นตั้งแต่ปัญหาความยากจน, การค้า, สงครามและหนี้สิน ไปจนถึงเรื่องซอฟต์แวร์แบบโอเพนซอร์ส, การค้าผู้หญิงและเด็กหญิง รวมทั้งผลกระทบของวัฒนธรรมต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม การพยายามชี้เจาะจงลงไปว่า ประเด็นไหนเป็นประเด็นหลักของงาน ไม่น่าจะทำได้เลย

เค้าลางแห่งความขัดแย้ง
การมาปรากฏตัวของลูลาและชาเวซเองก็กลายเป็นประเด็นให้ถกเถียง และชี้เป็นนัย ๆ ถึงทิศทางที่เวทีสังคมโลกอาจกำลังต่อยอดไปถึง นั่นคือ"อำนาจรัฐ" ความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญที่สุดประการหนึ่งในละตินอเมริการะยะหลังคือ การขึ้นสู่อำนาจของรัฐบาลเอียงซ้าย ไม่เฉพาะในบราซิลและเวเนซุเอลา ยังรวมถึงอาร์เจนตินา, อุรุกวัย, เอกวาดอร์และชิลี เพียงแต่เอียงมากเอียงน้อยต่างกันไปเท่านั้นเอง

ความเปลี่ยนแปลงนี้กลายเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งสำหรับขบวนการสังคมใหม่ ซึ่งมีความสัมพันธ์อิหลักอิเหลื่อกับรัฐเสมอมา ในด้านหนึ่ง กลุ่มที่คัดค้านอำนาจและความไม่โปร่งใสของสถาบันการเงินระหว่างประเทศ มักยอมรับหลักการอำนาจอธิปไตยของรัฐโดยไม่มีข้อแม้ ด้วยเหตุผลว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งควรตัดสินใจด้วยตัวเองได้ว่า จะใช้นโยบายทางเศรษฐกิจแบบไหน จุดยืนของคนกลุ่มนี้กลับกลายเป็นปัญหาสำหรับกลุ่มขบวนการที่ต่อสู้ภายในประเทศที่ปกครองโดยผู้นำขวาจัด

ในอีกด้านหนึ่ง ความหวาดระแวงที่กลุ่มอนาธิปไตยมีต่อรัฐ กลายเป็นอุปสรรคต่อการแสวงหาทางออกที่นอกเหนือไปจากลัทธิเสรีนิยมใหม่ ความสำเร็จของโครงการกระจายสวัสดิการสังคมในเวเนซุเอลา และการที่อาร์เจนตินาตัดสินใจแข็งข้อต่อไอเอ็มเอฟ และพักชำระหนี้เกือบทั้งหมด ถูกหยิบยกมาเป็นบทพิสูจน์ว่าอำนาจรัฐยังมีประโยชน์อยู่บ้าง

อย่างไรก็ตาม กฎบัตรของเวทีสังคมโลกที่ไม่ยินยอมให้พรรคการเมืองใด ๆ มาร่วมงานอย่างเป็นทางการ ยังคงยึดถือกันอย่างเคร่งครัด ผู้ร่วมงานที่สนับสนุนแนวทางการปฏิรูปสังคมของชาเวซกล่าวว่า ความสำเร็จในด้านดีที่สุดของรัฐบาลเวเนซุเอลาคือ การเปิดทางให้ประชาชนมีส่วนร่วมตั้งแต่ระดับท้องถิ่นขึ้นมา และแม้กระทั่งกลุ่มคนที่พยายามปกป้องลูลาก็ยังกล่าวว่า ประชาชนต้องกดดันรัฐบาลต่อไปเพื่อให้รัฐหันมาสนใจความต้องการของผู้ยากไร้ที่เป็นคนส่วนใหญ่ในบราซิล

ระหว่างที่สองประธานาธิบดีปราศรัย ด้านนอกมีวงอภิปรายหลายสิบวงกำลังวางกลยุทธ์ว่าจะสร้างแรงกดดันอย่างไร เพื่อนำมาใช้กับทุกรัฐบาลอย่างไม่ไว้หน้า ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลเอียงซ้ายหรือเอียงไปทางไหนก็ตาม

ดาวเด่นบนเวทีสังคมโลก
"นี่ถ้าฉันอายุน้อยสักหน่อย" นักกิจกรรมผู้คร่ำหวอดคนหนึ่งบ่น "ฉันคงทนความร้อนได้ดีกว่านี้" ฤดูร้อนปลายเดือนมกราคมในปอร์โตอาเลเกรไม่ปรานีใคร ยามเช้าวันใหม่อาจนำความสดชื่นมาให้ใจชื้นว่า เมล็ดพันธุ์ของสังคมใหม่คงกำลังเพาะให้งอกงามในการประชุมร้อยแปดของวันนั้น แต่พอตกบ่าย รังสีร้อนแรงของดวงอาทิตย์แผดเผาชอนไชจนทำให้ใคร ๆ ก็อดรู้สึกไม่ได้ว่า ทั้งหมดนี้มันคุ้มกันหรือเปล่า

แม้จะได้ลูลามาช่วยออกสตาร์ท แต่หลังจากนั้นก็ไม่มีความชัดเจนว่า มีใครอีกที่จะทำให้งานเทศกาลร้อนระอุครั้งนี้มีความหมายขึ้นมา ชื่อบางชื่อในรายการที่คุ้นหูชาวอเมริกันซีกโลกเหนืออย่าง อรุณธาตี รอย, โนอัม ชอมสกี, นาโอมี ไคลน์ แม้กระทั่งโคฟี อันนัน กลับไม่เห็นวี่แววของตัวจริงในสถานที่และเวลาตามหมายกำหนดการ ไม่เคยมีการยืนยันแน่นอนว่า พวกเขาจะมาปรากฏตัวในบราซิล กระนั้น ยังมีดาวเด่นดวงอื่น ๆ พอทดแทนกันได้บ้าง

ในการประชุมใหญ่ที่มีชื่อหัวข้อว่า "ดอนกีโฮเตในวันนี้: ยูโทเปียและการเมือง" โฮเซ ซารามาโก นักเขียนรางวัลโนเบล และเอดัวร์โด กาเลอาโน นักเขียนชื่อดังชาวอุรุกวัย (บนเวทีอภิปรายที่มีแต่ผู้ชายอีกแล้ว) แสดงความคิดเห็นขัดแย้งกันเกี่ยวกับความใฝ่ฝันแบบดอนกีโฮเตกับนักกิจกรรมในสมัยนี้ ท่ามกลางผู้ฟังแน่นขนัดเต็มทุกม้านั่งในหอประชุมใหญ่

กาเลอาโนพรรณนาถึงสภาวะขัดแย้งของโลกที่นวนิยายซึ่งได้รับการเชิดชูมาหลายศตวรรษ แต่กลับมีจุดเริ่มต้นในคุก "เพราะเซร์บันเตสเป็นหนี้ เช่นเดียวกับพวกเราในละตินอเมริกา" เขากล่าวว่าความใฝ่ฝันถึงสังคมอุดมคติคือพลังในการเปลี่ยนแปลงสังคม โดยอ้างถ้อยคำของเชในจดหมายฉบับสุดท้ายที่เขียนไปถึงพ่อแม่ว่า "อีกครั้งที่ผมรู้สึกเหมือนส้นเท้ากำลังสัมผัสกับซี่โครงของโรซินันเต" (โรซินันเตเป็นชื่อม้าของดอนกีโฮเต)

ซารามาโกไม่เห็นด้วย "ผมคิดว่า สังคมอุดมคติเป็นแนวคิดที่ยิ่งกว่าไร้ประโยชน์" เพราะ "สิ่งที่เปลี่ยนแปลงโลกไม่ใช่อุดมคติ แต่คือความจำเป็นต่างหาก" และ "เวลาและสถานที่เดียวที่การลงแรงของเราจะก่อให้เกิดผล ผลที่เรามองเห็นและประเมินได้ นั่นคือวันพรุ่งนี้...อย่ามัวรอสังคมอุดมคติเลย"

"แถลงการณ์ปอร์โตอาเลเกร"
บรรยากาศของเวทีสังคมโลกน่าจะโน้มเอียงไปทางทัศนะของกาเลอาโน แต่คำโต้แย้งของซารามาโกก็ได้รับการยืนปรบมือ ในตอนปลายสัปดาห์ กลุ่มคนดังผู้เข้าร่วมงานรวม 19 คน รวมทั้งสองนักเขียนข้างต้น ออกแถลงการณ์ที่มีชื่อว่า "แถลงการณ์ปอร์โตอาเลเกร" สาระสำคัญคือข้อเรียกร้อง 12 ข้อ มีอาทิเช่น ยกเลิกหนี้สิน, เก็บภาษีจากการโอนถ่ายเงินทุนเพื่อเก็งกำไรระหว่างประเทศ, ท้องถิ่นมีอำนาจในการควบคุมจัดการอาหารของตนเอง และปรับปรุงสถาบันการเงินระหว่างประเทศให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

นักวิจารณ์หลายคนออกมาโจมตีทันทีว่า แถลงการณ์ของกลุ่มคนดังเป็นการกระทำที่ขัดกับบุคลิกที่เน้นประชาธิปไตย "แนวระนาบ" ของเวทีสังคมโลก ผู้ลงนามในแถลงการณ์บางคนพยายามอธิบายว่า แถลงการณ์ฉบับนี้ เป็นแค่ข้อเสนอหนึ่งในจำนวนมากมายที่จะตามออกมา (การแถลงข่าวปิดงานของเวทีสังคมโลกระบุว่า มีถึง "352 ข้อเสนอ" ที่ได้รับการยอมรับ) ส่วนผู้ลงนามคนอื่น ๆ แสดงความคิดเห็นชัดเจนว่า การมีเค้าโครงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันคือหัวใจสำคัญ ที่จะผลักดันให้เวทีสังคมโลกก้าวไปข้างหน้าในฐานะพลังทางการเมือง

นี่คือประเด็นที่เป็นทั้งข้อดีและข้อด้อยของเวทีสังคมโลก และขบวนการสังคมใหม่มาแต่ไหนแต่ไร การปักหลักอยู่กับกระบวนการประชาธิปไตยในแนวระนาบที่ไม่มีผู้นำชัดเจน ช่วยสร้างให้เกิดเครือข่ายของขบวนการทางสังคมที่เข้มแข็งและดึงดูดคนรุ่นใหม่ ๆ "ผู้เบื่อหน่ายปูชนียบุคคล" เข้ามาได้มาก แต่ในขณะเดียวกัน การไม่มีผู้นำหรือแม้กระทั่งคณะผู้แทนอย่างเป็นทางการ ทำให้ข้อเสนอของขบวนการมีมากมายจนท่วมท้นและดูเหมือนสับสนยุ่งเหยิงไปหมด

ลงท้ายสื่อมวลชนที่ต้องการอะไรสักอย่างมาพาดหัวข่าว จึงมักหันไปหาเอ็นจีโอใหญ่ ๆ ที่มาร่วมงาน เช่น Oxfam หรือ Save the Children ซึ่งใช้เวทีสังคมโลกเป็นสถานที่ประกาศโครงการรณรงค์ระดับโลก เพื่อต่อต้านความยากจน

แม้จำนวนผู้มาร่วมงานจะน่าประทับใจ แต่ความหลากหลายยังคงมีไม่มากนัก 85% ของผู้ร่วมงานในปีนี้เป็นชาวละตินอเมริกา โดยมีชาวบราซิลเจ้าภาพครองอันดับหนึ่ง รองลงมาคือชาวอุรุกวัยและอาร์เจนตินาที่เป็นเพื่อนบ้านติดกัน ส่วนนักกิจกรรมในภูมิภาคอื่น ๆ ของโลก ราคาค่าเดินทางยังเป็นปัญหาสาหัส ตัวแทนสหภาพแรงงานใหญ่ ๆ ยังมาร่วมงานน้อยเหมือนเดิม จำนวนเอ็นจีโอก็ไม่เพิ่มขึ้นไปกว่าปีก่อน ๆ

แต่ใช่ว่าเวทีสังคมโลกจะไม่มีวาระที่เป็นรูปธรรมออกมาให้เห็น กลุ่มนักกิจกรรมต่อต้านสงครามลงมติให้วันที่ 19-20 มีนาคม เป็นวันรณรงค์สากลเพื่อต่อต้านสงคราม (การประท้วงครั้งใหญ่ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์เมื่อสองปีก่อน มีจุดกำเนิดที่เวทีสังคมโลกเช่นกัน) และทางฝ่ายกลุ่มนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมก็ช่วยกันวางยุทธศาสตร์ร่วมกัน เพื่อรณรงค์เกี่ยวกับปัญหาความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

บรรยากาศเวทีสังคมโลก
ย้อนกลับไปสมัยที่เวทีสังคมโลกจัดกันในมหาวิทยาลัย ฝ่ายคาทอลิคมักหาทางขัดขวางการขายเสื้อยืดที่มีเครื่องหมายการปฏิวัติ แต่ในเมื่อปีนี้ไม่มีเงื่อนไขอะไรมาเหนี่ยวรั้งการทำมาค้าขายอีก ซุ้มขายอาหารและของที่ระลึกจึงผุดขึ้นตลอดแนวฝั่งแม่น้ำ และลามเข้าไปในพื้นที่จัดการประชุม การตั้งค่ายเยาวชนไว้ตรงกลางพื้นที่จัดงานเวทีสังคมโลก ยิ่งสร้างบรรยากาศเหมือนงานเทศกาลวู้ดสต็อก เมืองกระโจมที่รองรับคนหนุ่มสาวถึง 35,000 คน ครึกครื้นไปด้วยการแสดงและเสียงกลอง การละเล่นรอบกองไฟในยามดึกดื่น ไปจนถึงวัฒนธรรมฮิปฮอป และศิลปะกราฟิตี(แบบพ่นสีบนฝาผนัง)

ไม่น่าแปลกใจที่บรรยากาศแบบงานคาร์นิวัลจะเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกมาเหน็บแนม หรือถึงขั้นตำหนิติเตียนจากฝ่ายที่ไม่อยากเห็นการจัดเวทีสังคมโลก แต่พื้นที่เปิดเช่นนี้แหละที่ผู้ร่วมงานรากหญ้าได้เตร็ดเตร่ พบปะ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและค้นพบแรงบันดาลใจ โดยเฉพาะการปะทะสังสรรค์กันระหว่างนักกิจกรรมจากซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้

ผู้นำสตรีคนหนึ่งจากศูนย์แรงงานไมอามี ได้ไปเยี่ยมชมไร่นาที่เคยรกร้างแห่งหนึ่งใกล้เมืองปอร์โตอาเลเกร ที่ดินผืนนี้ในปัจจุบันตกอยู่ภายใต้การยึดครองของขบวนการแรงงานไร้ที่ดิน (MST) ของบราซิล เธอกล่าวว่า "เราได้พบขบวนการของชาวบราซิลที่มีการจัดตั้งแบบเดียวกับเรา...นั่นช่วยให้เราทั้งสองฝ่ายต่างมีกำลังใจ"

การเดินเล่นไปเรื่อย ๆ อาจให้ประสบการณ์ที่แปลกใหม่ไม่รู้ลืม เหมือนนักกิจกรรมชาวอเมริกันคนหนึ่งเล่าว่า ขณะที่เธอเดินไปด้วยความ "เหนื่อย ร้อน นอนไม่พอ" เธอบังเอิญไปเจอการประชุมเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินและ "วรรณะจัณฑาล" ของอินเดีย ข้อเท็จจริงที่จับต้องได้ของความไร้บ้าน และไร้ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างปลุกเธอให้ตื่นเต็มตา และเมื่อชาวอินเดียกลุ่มนั้นเปล่งเสียงร้องเพลงหรือสวดอะไรสักอย่าง เธอเล่าว่า "มันเป็นการป่าวร้องที่จริงใจและไร้การปรุงแต่งที่สุดที่ฉันเคยพบเห็นมา... ฉันไม่รู้จะอธิบายอย่างไรถึงความรู้สึกพิเศษที่ได้ยืนอยู่ตรงหน้าพวกเขา"

ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดและคุรุด้านฟรีซอฟต์แวร์ ลอเรนซ์ เลสสิก เขียนไว้ในบล็อกของตน เล่าถึงการเดินผ่านค่ายเยาวชนไปกับรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมของบราซิล จิลเบร์ตู จิล อดีตนักร้องนักดนตรีชื่อดัง จิลได้รับการต้อนรับจากคนหนุ่มสาวสลับกันไประหว่างการประท้วงอย่างมีอารมณ์เพื่อเรียกร้องวิทยุเสรี (จิลชอบและสนุกกับการวิวาทะ) กับการขอให้ร้องเพลงพ็อพยอดนิยมของตน (โดยมีคนร้องตามเป็นกลุ่มใหญ่)

"นี่คือรัฐมนตรีของรัฐบาล เผชิญหน้าตรง ๆ กับผู้สนับสนุนและผู้คัดค้าน" เลสสิกเขียน "ไม่มีปืน ไม่มีคนในชุดดำ ไม่มีความตื่นเต้นโกลาหล ไม่มีสื่อมวลชนห้อมแหน ลองวาดภาพดูเองก็แล้วกัน"

ในอีกที่หนึ่ง เราได้เห็นนักเรียนไฮสกูลกลุ่มหนึ่งกำลังลากเก้าอี้มานั่ง ท่ามกลางฝูงชนล้นหลามหน้าโกดังที่แน่นขนัด ซึ่งเป็นสถานที่จัดอภิปรายของนักทฤษฎีหลายคน เรามองไม่เห็นผู้ร่วมอภิปราย แต่จากลำโพงที่กระจายเสียงผู้อภิปรายออกมาด้านนอกที่ร้อนระอุ ไม่ว่าใครก็ต้องฉุกคิดได้ว่า นี่คือภาพเหตุการณ์เรียบง่ายที่น่าตื่นเต้นและน่าจดจำ

การได้มองดูกลุ่มวัยรุ่นที่ทนนั่งกลางแดดเปรี้ยง ตั้งอกตั้งใจฟังคำบรรยายทางทฤษฎีนามธรรมที่ฟังแทบไม่รู้เรื่อง จากตัวจริงเสียงจริงของไมเคิล ฮาร์ดท์ ผู้ร่วมเขียนหนังสือ Empire อันลือลั่น ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น "แถลงการณ์ลัทธิคอมมิวนิสต์ยุคใหม่" มันเป็นภาพที่ทำให้เกิดศรัทธาแช่มชื่นในความอดทนและอุทิศตัวของเยาวชนรุ่นต่อไป

เวทีสังคมโลก เวทีชาวบ้านยุคโลกาภิวัตน์
คงมีนักกิจกรรมหัวก้าวหน้าไม่กี่คนที่กล้าพูดว่า เวทีสังคมโลกเป็นมหกรรมที่สมบูรณ์แบบไร้ที่ติ แต่ก็มีน้อยคนเช่นกัน รวมทั้งบรรดานักวิจารณ์ปากกล้าทั้งหลาย ที่จะกล้าออกมาฟันธงว่า เวทีสังคมโลกไม่มีคุณูปการอะไรเลย หากประเมินมหกรรมของนักเคลื่อนไหวด้วยสายตาที่ไม่ลำเอียง ผลลัพธ์ที่ออกมาคงมีทั้งดีและไม่ดีผสมปนเปกันไปเป็นสีเทา ๆ

ถ้ามองย้อนกลับไปดูเวทีสังคมโลกทั้ง 5 ครั้งที่ผ่านมา เรามีข้อสรุปและความคาดหวังอะไรบ้าง?

แนวคิดเบื้องต้นของการจัดมหกรรมแบบนี้ยังถือว่าใช้ได้ เราต้องยอมรับว่า การมีสถานที่สักแห่งให้ขบวนการสังคมใหม่ได้มาปะทะสังสรรค์แลกเปลี่ยนกัน สถานที่รวมพลของบรรดาผู้คนที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจในการสร้างสรรค์ยุทธศาสตร์ เพื่อเผชิญหน้ากับปัญหาในโลกโลกาภิวัตน์ เป็นสิ่งที่มีคุณูปการหาน้อยไม่ ยิ่งเมื่อนึกถึงความมั่งคั่งหรูหราที่เมืองดาวอส เรายิ่งสมควรมีสถานที่สักแห่งไว้คอยเตือนสติ และเรียกร้องความชอบธรรมให้โลกอีกใบหนึ่งที่ไม่เหมือนกับโลกที่เป็นอยู่

ในฐานะพื้นที่สร้างสรรค์ในเชิงบวก ซึ่งแตกต่างจากพื้นที่ประท้วงของมวลชนในการประชุมองค์การการค้าโลกหรือไอเอ็มเอฟ เวทีสังคมโลกเปิดโอกาสล้ำค่าในการแสวงหาเส้นทางเลือกใหม่ ๆ ในยุคโลกาภิวัตน์ อิทธิพลที่มันส่งผลกระทบต่อดาวอส จนเดี๋ยวนี้บรรดาผู้นำทั้งหลายต้องออกมาถ่ายรูปวางท่าใคร่ครวญปัญหาเกี่ยวกับความยากจนและโรคเอดส์ เป็นข้อดีที่ปฏิเสธไม่ได้

เวทีสังคมโลกมีการเติบโตและขยายตัวตลอดมา งานในแต่ละปีใหญ่กว่าปีที่แล้วเสมอ ในแง่นี้ มันไม่ได้หยุดนิ่งหรือถอยหลังเลย ผู้นำขบวนการสังคมต่าง ๆ ให้ความสนใจกับมันมากขึ้น พอ ๆ กับนักกิจกรรมรากหญ้าที่ดั้นด้นมาด้วยตัวเอง มันยังเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่แตกต่างจากวงอภิปรายในมหาวิทยาลัยแบบเดิม ๆ

แต่เวทีสังคมโลกก็ต้องสลัดตัวให้หลุดจากความซ้ำซาก การเปลี่ยนไปจัดงานสองปีครั้งถือเป็นการตัดสินใจที่เฉียบแหลม แม้ว่าการย้อนกลับมาจัดงานที่เมืองปอร์โตอาเลเกรอีกจะถือเป็นความผิดพลาดอย่างหนึ่ง เพราะครั้งที่แล้วที่มันย้ายไปจัดที่เมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย ช่วยสร้างผลดีให้มันมากมาย หากเวทีสังคมโลกจะก้าวต่อไปข้างหน้า มันต้องดึงการมีส่วนร่วมจากภูมิภาคอื่น ๆ ของโลกเข้ามาให้มากขึ้น การจัดเวทีสังคมโลกในปี ค.ศ. 2007 ในแอฟริกา จึงส่งสัญญาณที่ดีในแง่นี้

งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา หากใครเดินเล่นริมแม่น้ำไกวบาในเย็นวันสุดท้ายของการจัดงาน ในสายลมอ่อนที่พัดโบกมาจากแม่น้ำ ผู้คนมากหน้าหลายตายังอ้อยอิ่งกลางแสงสนธยา คนกลุ่มหนึ่งใส่เสื้อตราสหภาพนั่งเล่นอยู่ริมถนน คุยกับพ่อค้าขายเนื้อย่าง

ชาวบราซิลคณะหนึ่งแสดงศิลปะการต่อสู้ของทาสอยู่กลางถนน กลุ่มต่อต้านบุชยืนแจกใบปลิวเชิญชวนให้เข้าเยี่ยมเว็บไซท์ มีการแสดงระบำเป็นวงกลมหน้ากระโจมเรียกร้องสิทธิของชาวพื้นเมือง ชั่วขณะนั้น ไม่ต้องสงสัยเลยว่า เมืองปอร์โตอาเลเกรคงใจหายและอาลัยอาวรณ์เหมือนกันที่ต้องเห็นเวทีสังคมโลกโบกมืออำลา

ภัควดี วีระภาสพงษ์
เรียบเรียงจาก
Mark Engler, "The Last Porto Alegre: Discerning the state of the World Social Forum after five years"
February 14, 2005.
(มาร์ค อิงเลอร์ เป็นนักเขียนจากเมืองนิวยอร์กซิตี เขาเขียนทัศนะวิจารณ์ให้ Foreign Policy in Focus (www.fpif.org) และมีเว็บไซท์ของตัวเองอยู่ที่ www.democracyuprising.com)


 

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 580 เรื่อง หนากว่า 7500 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com




 

H

แนวคิดเบื้องต้นของการจัดมหกรรมแบบนี้ยังถือว่าใช้ได้ เราต้องยอมรับว่า การมีสถานที่สักแห่งให้ขบวนการสังคมใหม่ได้มาปะทะสังสรรค์แลกเปลี่ยนกัน สถานที่รวมพลของบรรดาผู้คนที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจในการสร้างสรรค์ยุทธศาสตร์ เพื่อเผชิญหน้ากับปัญหาในโลกโลกาภิวัตน์ เป็นสิ่งที่มีคุณูปการหาน้อยไม่ ยิ่งเมื่อนึกถึงความมั่งคั่งหรูหราที่เมืองดาวอส เรายิ่งสมควรมีสถานที่สักแห่งไว้คอยเตือนสติ

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 580 เรื่อง หนากว่า 7500 หน้า ในรูปของ CD-ROM ในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง) สนใจสั่งซื้อได้ที่
midnightuniv(at)yahoo.com
หรือ ส่งธนาณัติถึง
สมเกียรติ ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202

กรุณาส่งธนาณัติแลกเงินไปยัง
สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50202
อย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์

"สามปีก่อน ทุกคนพูดถึงแต่แผนโคลอมเบีย (Plan Colombia เป็นแผนการฟื้นฟูประเทศโคลอมเบียที่สหรัฐอเมริกาให้การสนับสนุนทางการเงิน ประเด็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมากคือสงครามต่อต้านยาเสพย์ติด ที่ใช้วิธีให้เครื่องบินพ่นยาฆ่าต้นโคคา แต่ไปทำลายพืชที่เป็นอาหารและก่อมลภาวะแก่สิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง) สองปีก่อนก็พูดถึงแต่อิรัก" นักกิจกรรมคนหนึ่งที่เคยร่วมงานปอร์โตอาเลเกรหลายครั้งบอก มาปีนี้เธอระบุว่า สิทธิในการเข้าถึงน้ำสะอาดในฐานะสาธารณูปโภคส่วนรวม กลายเป็นประเด็นร้อนแรงของเวทีสังคมโลก แต่เมื่อดูตารางการอภิปรายที่หนาถึงหลายร้อยหน้า รวมทั้งผลกระทบของวัฒนธรรม การพยายามชี้เจาะจงว่า ประเด็นไหนเป็นประเด็นหลักของงาน ไม่น่าจะทำได้เลย

ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๘ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ
เจ้าของพื้นที่ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ
เว็ปไซต์ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ออกแบบขึ้นมาเพื่อใช้กับ Display properties : screen area 600 X 800 pixels ซึ่งจะให้ภาพที่คมชัดและสมบูรณ์ที่สุด