ผลงานภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบบทความบริการฟรีของ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

R
relate topic
090548
release date

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 572 หัวเรื่อง
ย้อนพิจารณาประวัติศาสตร์จีน
สิทธิพล เครือรัฐติกาล
อาจารย์หลักสูตรจีนฯ
มหาวิทยาลัยรังสิต

บทความฟรีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
The Midnight 's article

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ

Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com

เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะ
สามารถแก้ปัญหาได้

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
เว็ปไซท์นี้มีการคลิกโดยเฉลี่ยต่อวัน 14119-26256 ครั้ง สำรวจเมื่อเดือนสิงหาคม 47
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ เพื่อประโยชน์ต่อสังคม

คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

ทบทวนประวัติศาสตร์จีนในทัศนะใหม่
ย้อนพินิจสงครามฝิ่นและประธานาธิบดีหวังจิงเว่ย
สิทธิพล เครือรัฐติกาล
อาจารย์หลักสูตรจีนในระบบเศรษฐกิจโลก มหาวิทยาลัยรังสิต

หมายเหตุ: ผลงานวิชาการชิ้นนี้ ประกอบด้วย ๒ บทความ
๑. สงครามฝิ่นและสนธิสัญญาหนานจิงในทัศนะใหม่
๒. ย้อนพินิจประธานาธิบดีหวังจิงเว่ย

เผยแพร่บนเว็ปไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 6 หน้ากระดาษ A4)

 

 

๑. สงครามฝิ่นและสนธิสัญญาหนานจิงในทัศนะใหม่
ในประวัติศาสตร์จีน สงครามฝิ่นและสนธิสัญญาหนานจิง (The Opium War and The Treaty of Nanjing ค.ศ. ๑๘๔๐-๑๘๔๒) ที่จีนทำกับอังกฤษ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของความตกต่ำของจีนสมัยราชวงศ์ชิง (The Qing Dynasty ค.ศ. ๑๖๔๔-๑๙๑๑) หลังจากที่เคยขึ้นสู่จุดสูงสุดในรัชสมัยจักรพรรดิคังซี หย่งเจิ้ง และเฉียนหลงในศตวรรษที่ ๑๘

ข้อตกลงในสนธิสัญญาฉบับนี้นำมาซึ่งความอัปยศอดสูแก่ประเทศจีนเป็นอย่างยิ่ง จีนต้องเปิดเมืองท่าค้าขาย ยกเกาะฮ่องกงให้อังกฤษ เสียค่าปฏิกรรมสงคราม กำหนดอัตราภาษีได้เพียงร้อยละ ๕ รวมทั้งต้องให้สิทธิสภาพนอกอาณาเขตแก่อังกฤษอีกด้วย และหลังจากเหตุการณ์ในครั้งนี้แล้วจีนยังต้องเผชิญการคุกคามจากชาติตะวันตกและญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งเหมาเจ๋อตงประกาศสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๔๙ จีนจึงได้ลุกขึ้นยืนอย่างสง่าในเวทีระหว่างประเทศ

แนวคิดทางประวัติศาสตร์เช่นนี้ครอบงำการศึกษาประวัติศาสตร์ของจีนทั้งในประเทศจีนและประเทศต่างๆทั่วโลก ดูได้จากหนังสือของนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์จีนยุคใหม่ที่นิยมใช้กันในสถาบันการศึกษาในโลกตะวันตก เช่น The Rise of Modern China ของ Immanuel C.Y. Hsu หรือในประเทศไทย เช่น ประวัติศาสตร์จีน ของ ทวีป วรดิลก ต่างอยู่ในกรอบความคิดนี้ด้วยกันทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตามหากเราย้อนดูประวัติศาสตร์การทูตของจีน นับแต่โบราณแล้วจะพบว่าจีนมีความยืดหยุ่นในการปรับตัวทางการทูตตามสถานการณ์ต่างๆเป็นอย่างดี โดยที่มิได้ถือตัวอยู่ตลอดเวลาว่าตนเองเป็นศูนย์กลางของโลกและผู้อื่นจะต้องนอบน้อมต่อตนเสมอไป ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ สมัยราชวงศ์ซ่ง (The Song Dynasty ค.ศ. ๙๗๕- ๑๒๗๙) ซึ่งเป็นยุคที่จีนอ่อนแอด้านกำลังทหารอย่างยิ่ง

จักรพรรดิราชวงศ์ซ่งถึงกับยอมส่งบรรณาการและเงินทองไปให้ชนเผ่าชี่ตันและชนเผ่าซีเซี่ย เพื่อแลกกับสันติภาพที่จะมีขึ้นในราชอาณาจักร ด้วยเหตุนี้จึงมีนักวิชาการที่ศึกษาแบบแผนการทูตของจีน เช่น ศาสตราจารย์ Michael H. Hunt แห่งมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลน่า สหรัฐอเมริกา จึงให้ความเห็นไว้ในหนังสือของเขาชื่อ The Genesis of Chinese Communist Foreign Policy ว่าสนธิสัญญาหนานจิง ไม่ได้นำมาซึ่งการเสียเกียรติภูมิของจีน หากแต่เป็นเพียงการสะท้อนแบบแผนทางการทูตที่จีนเคยปฏิบัติมาแต่โบราณเท่านั้น

การพิจารณาเปรียบเทียบสนธิสัญญาหนานจิงกับข้อตกลงที่ราชวงศ์ชิงทำกับรัฐอื่นในเวลาใกล้เคียงกัน จะทำให้เข้าใจประเด็นที่กล่าวมาชัดเจนขึ้น ในหนังสือ The Search for Modern China ของศาสตราจารย์ Jonathan D. Spence แห่งมหาวิทยาลัยเยล สหรัฐอเมริกา ได้ชี้ให้เห็นความคล้ายคลึงกันระหว่างสนธิสัญญาหนานจิง กับข้อตกลงที่ราชวงศ์ชิงทำกับรัฐสุลต่านโคคานด์ (The Sultanate of Kokand) ที่ตั้งอยู่ในเอเชียกลางใน ค.ศ. ๑๘๓๕ หรือ ๗ ปีก่อนหน้าสนธิสัญญาหนานจิง

ตามข้อตกลงฉบับนี้ ราชวงศ์ชิงได้ให้สิทธิพิเศษแก่โคคานด์ ด้วยการอนุญาตให้โคคานด์ส่งผู้แทนมาประจำอยู่ในหลายเมืองในซินเจียงของจีน โดยผู้แทนเหล่านี้มีอำนาจทางกงสุลและทางศาลเหนือชาวต่างชาติทั้งมวลในเขตอัลติชาร์ (Altishahr) ของซินเจียง โคคานด์ยังได้รับอนุญาตให้เก็บภาษีสินค้าที่ชาวต่างชาตินำมาขายในบริเวณนี้อีกด้วย นอกจากนี้ชาวโคคานด์ในเขตอัลติชาร์ของซินเจียงยังได้รับการลดหย่อนภาษีโดยจ่ายเพียงครึ่งเดียวของอัตราเต็ม รวมทั้งสินค้าที่ส่งออกจากเขตอัลติชาร์ไปยังโคคานด์ยังได้รับการยกเว้นภาษีขาออก จะเห็นได้ว่าราชวงศ์ชิงมอบสิทธิพิเศษต่างๆมากมายแก่รัฐสุลต่านโคคานด์เพื่อแลกกับความมั่นคงของพรมแดนจีนด้านตะวันตก

Spence ยังชี้ให้เห็นอีกด้วยว่า ขุนนางผู้ใหญ่หลายคนที่มีส่วนร่วมในการทำข้อตกลงฉบับนี้นั้นต่อมาก็ได้มามีส่วนร่วมในการเจรจาทำสนธิสัญญาหนานจิงกับอังกฤษใน ค.ศ. ๑๘๔๒ ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้อย่างมากว่าในทัศนะของราชวงศ์ชิง สนธิสัญญาหนานจิงมีหลักการและเหตุผลเดียวกับข้อตกลงกับรัฐสุลต่านโคคานด์และจีนสมัยราชวงศ์ซ่ง นั่นคือ การให้สิทธิพิเศษแก่ "คนเถื่อน" เพื่อสันติภาพและความมั่นคงของประเทศนั่นเอง

หนังสือ Rebellions and Revolutions: China from the 1800s to the 1980s ของ Jack Gray นักวิชาการแห่งมหาวิทยาลัยซัสเซ็กซ์ สหราชอาณาจักรฯ ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมที่น่าสนใจว่า ในความเป็นจริงแล้วสนธิสัญญาหนานจิง มิได้ลงโทษหรือข่มเหงจีนอย่างรุนแรงแต่ประการใด สนธิสัญญาฉบับนี้เป็นเพียงการวางกฎเกณฑ์ทางการค้าระหว่างจีนกับอังกฤษให้ชัดเจนยิ่งขึ้นเท่านั้น การยึดเกาะฮ่องกงเป็นเพียงการที่อังกฤษต้องการหาสถานที่สำหรับเป็นสำนักงานของผู้แทนการค้าอังกฤษในจีน

และแม้จีนจะต้องเปิดเมืองท่าค้าขายเพิ่มรวม ๕ เมือง ก็เป็นเพียงการขยายโอกาสทางการค้าโดยที่อังกฤษมิได้คิดยึดครองดินแดนใดๆในแผ่นดินใหญ่ของจีนเลย จนกระทั่งหลังจากการทำสนธิสัญญาชิโมโนเซกิ (The Treaty of Shimonoseki) ระหว่างจีนกับญี่ปุ่นใน ค.ศ. ๑๘๙๕ มหาอำนาจต่างๆรวมทั้งอังกฤษจึงพากันแข่งขันแสวงหาเขตอิทธิพลในจีนจน นำไปสู่เหตุการณ์ที่เรียกว่า การรุมผ่าแตงโมจีน (The Partition of China) ในปลายทศวรรษ ๑๘๙๐

จากมุมมองที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น ทำให้เราเห็นว่า การมองสงครามฝิ่นและสนธิสัญญาหนานจิงในเชิงการถูกลบหลู่ดูหมิ่นศักดิ์ศรีนั้น เป็นการมองที่ไม่รอบด้าน เพราะในความเป็นจริงแล้วเหตุการณ์นี้กระทบต่อความรู้สึกของราชวงศ์ชิงน้อยมาก และมันมิได้ต่างอะไรจากข้อตกลงที่ทำกับรัฐสุลต่านโคคานด์เมื่อ ๗ ปีก่อนหน้านั้น

การสรุปเช่นนี้นำมาซึ่งอีกคำถามหนึ่งว่า ถ้าสงครามฝิ่นและสนธิสัญญาหนานจิงมิใช่จุดเริ่มต้นของความอัปยศอดสูในประวัติศาสตร์จีนยุคใหม่ แล้วเหตุการณ์ใดจะถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นเล่า คำตอบก็คือ สงครามระหว่างจีนกับกองทัพพันธมิตรอังกฤษ-ฝรั่งเศส ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๕๖-๑๘๖๐ นั่นเองที่เป็นจุดเริ่มต้นของความรู้สึกเสียเกียรติภูมิของจีน

เนื่องจากในครั้งนี้กองทัพอังกฤษ-ฝรั่งเศสที่จีนมองว่าเป็น "คนเถื่อน" ได้เข้าไปถึงศูนย์กลางอำนาจของจักรวรรดิจีน ณ กรุงปักกิ่ง เผาพระราชวังหยวนหมิงหยวน และตามข้อตกลงสันติภาพในครั้งนี้จีนยอมให้ต่างชาติมาตั้งสถานทูตในกรุงปักกิ่งได้ และจีนเองต้องส่งทูตไปประจำยังดินแดนของ "คนเถื่อน" อีกด้วย ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการยอมรับเอาหลักการของตะวันตกว่าด้วยความเท่าเทียมกันทางอธิปไตยของรัฐ (The Sovereign Equality of States) มาใช้ในจีน อันขัดแย้งกับระเบียบโลกเดิมของจีนที่ถือว่าตนมีสถานะสูงที่สุดอย่างสิ้นเชิง

ดังที่ปรากฏในบทความของศาสตราจารย์หวางเสี่ยวชิวแห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง เรื่อง เปรียบเทียบการปฏิรูปประเทศระหว่างจีน-ไทย-ญี่ปุ่นในครึ่งหลังคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ (แปลโดย รองศาสตราจารย์อาทร ฟุ้งธรรมสาร) ว่า ชนชั้นนำของจีนมองการบุกปักกิ่งของอังกฤษและฝรั่งเศสว่าเป็น "เหตุร้ายที่ไม่เคยปรากฏในรอบหลายพันปี" และทำให้กลุ่มผู้นำจีนหลัง ค.ศ. ๑๘๖๑ เช่น พระองค์เจ้าชายกง (Prince Gong ค.ศ. ๑๘๓๓-๑๘๙๘) เจิงกั๋วฟาน (Zeng Guofan ค.ศ. ๑๘๑๑-๑๘๗๒) จั่วจงถัง (Zuo Zongtang ค.ศ. ๑๘๑๒-๑๘๘๕) หลี่หงจาง (Li Hongzhang ค.ศ. ๑๘๒๓-๑๙๐๑) ตระหนักในสถานะอันอ่อนแอของจีน และนำไปสู่การดำเนินนโยบายที่เรียกว่า การสร้างตนเองให้เข้มแข็ง (Self-Strengthening Movement) และการฟื้นฟูรัชสมัยถงจื้อและกวางสู (The Tongzhi and Guangxu Restoration) ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๖๑-๑๘๙๔ เพื่อรับมือกับภัยคุกคามจากชาติตะวันตกนั่นเอง

 

๒. ย้อนพินิจประธานาธิบดีหวังจิงเว่ย
การรุกรานจีนของกองทัพพระจักรพรรดิญี่ปุ่นระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๑ - ๑๙๔๕ ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์จีนว่าเป็นเหตุการณ์ที่ย่ำยีศักดิ์ศรีของชนชาติจีนอย่างรุนแรงที่สุด ในมุมมองของทั้งฝ่ายกั๋วหมินตั่งและฝ่ายคอมมิวนิสต์ถือว่า คนจีนที่ยอมเข้าสวามิภักดิ์ต่อญี่ปุ่น อาทิ ผู่อี้ (Puyi) อดีตจักรพรรดิองค์สุดท้ายของจีนที่ร่วมมือกับญี่ปุ่นสถาปนารัฐแมนจูกัวใน ค.ศ. ๑๙๓๒ หรือ หวังจิงเว่ย (Wang Jingwei) ผู้นำคนสำคัญของพรรคกั๋วหมินตั่งที่ร่วมมือกับญี่ปุ่นตั้งรัฐบาลที่หนานจิงใน ค.ศ. ๑๙๔๐ ต่างถูกมองว่าเป็นผู้ทรยศต่อประเทศด้วยกันทั้งนั้น

อย่างไรก็ตามหากเราพิจารณาประวัติศาสตร์การทูตของจีนแล้วจะพบว่า การเข้าด้วยกับศัตรู (collaboration) นั้น เป็นหนึ่งในกลวิธีที่จีนใช้ในการรักษาความมั่นคงของตนมาแต่โบราณ หาใช่เป็นการทรยศต่อประเทศเสมอไปไม่ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือกรณีการจลาจลของนักมวยในจีน ค.ศ. ๑๙๐๐ เมื่อพระนางฉือซี (Empress Dowager Cixi) อาศัยกำลังของพวกนักมวยประกาศสงครามกับกองทัพมหาอำนาจ ๘ ชาติ คือ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ออสเตรีย-ฮังการี รัสเซีย ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา

ขุนนางผู้ใหญ่ของราชวงศ์ชิงบางคน เช่น หลี่หงจาง (Li Hongzhang) จางจื้อต้ง (Zhang Zhidong) ต่างพากันขัดรับสั่งและหันไปเจรจาสันติภาพกับศัตรู แม้การกระทำของพวกเขาเหล่านี้จะดูเป็นการทรยศต่อพระราชสำนัก หากแต่ในที่สุดแล้วมันได้ช่วยต่ออายุของราชวงศ์ชิงมาได้อีกทศวรรษหนึ่งก่อนที่จะล่มสลายลงหลังการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๑๑

ด้วยเหตุนี้การมองผู้ที่เข้าด้วยกับศัตรูว่าเป็นผู้ทรยศไปเสียทั้งหมดจึงเป็นการประเมินที่อาจจะไม่ยุติธรรมเท่าใดนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีรัฐบาล "หุ่นเชิด" ของญี่ปุ่นที่หนานจิงภายใต้การนำของประธานาธิบดีหวังจิงเว่ยระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๐-๑๙๔๕ ซึ่งได้รับการประเมินใหม่โดยงานของนักวิชาการตะวันตกและตะวันออกนับตั้งแต่ทศวรรษที่ ๑๙๗๐ เป็นต้นมา อาทิ

บทความของ Lin Han-sheng เรื่อง A New Look at Chinese Nationalist Appeasers ตีพิมพ์ในหนังสือ China and Japan: Search for Balance since World War I เมื่อ ค.ศ. ๑๙๗๘ รวมทั้งงานศึกษาของ Hwang Dongyoun ชื่อ Some Reflections on Wartime Collaboration in China: Wang Jingwei and his group in Hanoi เมื่อ ค.ศ. ๑๙๙๘ หรือแม้แต่หนังสือประวัติศาสตร์จีนแนวชาตินิยมที่นิยมใช้กันในสถาบันการศึกษาของโลกตะวันตกชื่อ The Rise of Modern China ของ Immanuel C.Y. Hsu นักประวัติศาสตร์เชื้อสายจีนแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานตาบาบาร่า สหรัฐอเมริกา ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. ๑๙๗๐ ก็ได้ประเมินหวังจิงเว่ยอย่างรอบด้านมากขึ้นเช่นกัน

ก่อนการรุกรานจีนของญี่ปุ่นครั้งใหญ่ใน ค.ศ. ๑๙๓๗ นั้น หวังจิงเว่ยดำรงตำแหน่งประธานสภาบริหารแห่งชาติ (The Executive Yuan) ซึ่งมีสถานะเสมือนประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐจีน ขณะที่เจียงไคเช็ค (Jiang Jieshi) ดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุดทางทหาร แม้ว่าคนทั้งสองจะแก่งแย่งการเป็นผู้นำพรรคกั๋วหมินตั่งหลังอสัญกรรมของ ดร. ซุนยัดเซ็น (Sun Yat-sen) ใน ค.ศ. ๑๙๒๕ แต่ในด้านการต่างประเทศนั้นผู้นำทั้งสองตระหนักดีว่าจีนในขณะนั้นอ่อนแอเกินกว่าจะต้านทานแสนยานุภาพของญี่ปุ่นได้ และการทำสงครามกับญี่ปุ่นมีความสำคัญรองลงไปจากการรักษาความมั่นคงภายใน ด้วยการปราบปรามพรรคคอมมิวนิสต์จีน

ด้วยเหตุนี้ทั้งสองจึงได้ร่วมมือกันดำเนินนโยบายจำยอมต่อความต้องการของศัตรู (appeasement) ดังจะเห็นได้จากการที่จีนไม่ตอบโต้ญี่ปุ่น กรณีการสถาปนารัฐแมนจูกัวใน ค.ศ. ๑๙๓๒ และในช่วงไม่กี่ปีหลังจากนั้นจีนยังได้ทำข้อตกลงที่เอื้อประโยชน์ต่อญี่ปุ่นหลายฉบับ เช่น ข้อตกลงสงบศึกตังกู่ (The Danggu Truce ค.ศ. ๑๙๓๓) ซึ่งจีนยอมสละแมนจูเรียและเย่อเหอ (Rehe) ให้ญี่ปุ่น ข้อตกลงเหอ-อูเมสึ (The He-Umezi Agreement ค.ศ. ๑๙๓๕) ซึ่งจีนยอมถอนทหารและเจ้าหน้าที่ออกจากมณฑลเหอเป่ย (Hebei) เป็นต้น

ความร่วมมือระหว่างเจียงไคเช็คกับหวังจิงเว่ยมาสิ้นสุดลงเมื่อเกิดเหตุการณ์นครซีอาน (The Xi'an Incident) ในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๓๖ เมื่อนายพลจางเสวียเหลียง (Zhang Xueliang) จับเจียงไคเช็คเป็นตัวประกันแล้วบังคับให้เขาร่วมมือกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนในการต่อต้านญี่ปุ่น หลังจากนั้นเป็นต้นมาเจียงไคเช็คก็เชื่อว่า พลพรรคกั๋วหมินตั่งและประชาชนจีนส่วนใหญ่ต้องการให้เขาต่อต้านญี่ปุ่น

เมื่อญี่ปุ่นบุกจีนที่สะพานมาร์โคโปโลชานนครปักกิ่ง (สมัยนั้นเรียกเป่ยผิง หมายถึง สันติภาพทางเหนือ) ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๓๗ เจียงไคเช็คจึงเดินหน้าทำสงครามกับญี่ปุ่น ขณะที่หวังจิงเว่ยยังคงความคิดที่ว่าจีนอ่อนแอเกินไปที่จะต้านทานกองทัพญี่ปุ่น ประชาชนจีนจะได้รับความลำบาก อีกทั้งเขายังมองต่อไปว่า การทำสงครามกับญี่ปุ่นจะทำให้พรรคกั๋วหมินตั่งอ่อนแอลง จนเสียเปรียบพรรคคอมมิวนิสต์จีนในที่สุด

ดังนั้นเมื่อนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ฟูมิมาโร โคโนเอ (Fumimaro Konoe) เสนอขอเจรจาสันติภาพกับจีนเมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๓๘ หวังจิงเว่ยซึ่งขณะนั้นไปตั้งขบวนการสันติภาพอยู่ที่กรุงฮานอยของเวียดนาม จึงพยายามเกลี้ยกล่อมให้เจียงไคเช็ครับข้อเสนอนี้แต่ไม่สำเร็จ อีกทั้งคนสนิทของเขาชื่อ เจิ้งจงหมิง (Zeng Zhongming) ถูกกลุ่มขวาจัดในพรรคกั๋วหมินตั่งลอบสังหารในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๓๙

หวังจิงเว่ยจึงตัดสินใจเดินทางไปญี่ปุ่นในเดือนพฤษภาคมของปีนั้นเพื่อเจรจาตั้งรัฐบาลของตนเอง การกระทำของเขาในครั้งนี้ได้รับการประณามจากฝ่ายกั๋วหมินตั่ง โดยได้ขับไล่เขาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค และฝ่ายคอมมิวนิสต์ก็ประณามว่า เขาคือนายพลอู๋ซานกุ้ย (Wu Sangui) ผู้เปิดประตูด่านซานไห่กวนให้กองทัพแมนจูบุกเข้ายึดประเทศจีนเมื่อ ค.ศ. ๑๖๔๔

รัฐบาลของหวังจิงเว่ยที่มีญี่ปุ่นสนับสนุนได้รับการจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๔๐ มีนครหนานจิงเป็นเมืองหลวง หวังจิงเว่ยเป็นประธานาธิบดี และโจวโฝไห่ (Zhou Fohai) คนสนิทของเขาเป็นรองประธานาธิบดีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตลอดระยะเวลาของรัฐบาลหนานจิงของหวังจิงเว่ย แม้เขาต้องยอมต่อข้อเรียกร้องของญี่ปุ่นหลายเรื่อง เช่น การยอมรับรองรัฐบาลแมนจูกัว การยอมให้ญี่ปุ่นใช้เกาะไห่หนานเป็นฐานทัพเรือ เป็นต้น แต่หวังจิงเว่ยก็สามารถรักษาผลประโยชน์ของชาวจีนไว้ได้หลายเรื่อง อาทิ

ในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๐ ญี่ปุ่นยอมให้รัฐบาลหนานจิงมีธนาคารกลางเป็นของตนเองซึ่งช่วยทำให้ระบบการเงินมีเสถียรภาพมากขึ้น ต่อมาในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๔๓ รัฐบาลหนานจิงประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา เพื่อแลกกับการที่ญี่ปุ่นส่งมอบอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่นคืนให้ พร้อมกับยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตของญี่ปุ่นในจีนที่มีมาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ ๑๙ และเมื่อญี่ปุ่นกำลังจะปราชัยใน ค.ศ. ๑๙๔๕ รัฐบาลหนานจิงยังได้แอบส่งสิ่งของและทองคำให้แก่กองทัพกั๋วหมินตั่ง เพื่อใช้ในการรบกับญี่ปุ่นด้วย

และเพื่อเป็นการสร้างความชอบธรรมให้แก่ระบอบของเขา หวังจิงเว่ยจึงให้มีการจัดพิมพ์หนังสือชื่อ China and Japan, natural friends- unnatural enemies: a guide for China's foreign policy by Sun Yat-sen เพื่อเป็นการย้ำว่าเขาได้ทำตามเจตนารมณ์ของ ดร.ซุนยัดเซ็น ที่ต้องการเห็นจีนและญี่ปุ่นร่วมมือกันสร้างแนวร่วมแห่งเอเชีย (Pan-Asianism) เพื่อต่อต้านจักรวรรดินิยมตะวันตก

ประธานาธิบดีหวังจิงเว่ยถึงแก่อสัญกรรมเมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๔ หลังจากนั้นไม่ถึงหนึ่งปี รัฐบาลหนานจิงของเขาก็ถึงกาลอวสานพร้อมกับความพ่ายแพ้ของญี่ปุ่น Susan H. Marsh ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ในบทความของเธอเรื่อง Zhou Fo-hai: The Making of a Collaborator ตีพิมพ์ในหนังสือ The Chinese and the Japanese: Essays in Political and Cultural Interaction เมื่อ ค.ศ. ๑๙๘๐ ว่า รัฐบาลหนานจิงของหวังจิงเว่ยน่าจะได้รับความนิยมจากประชาชนพอสมควร เพราะเมื่อรัฐบาลนี้ล่มสลายลงแล้ว กลับไม่มีการลุกฮือขึ้นของประชาชนเพื่อแสดงความโกรธแค้นต่อหวังจิงเว่ยและพรรคพวกของเขาเลย อย่างไรก็ตามในเวลาต่อมาพรรคพวกของเขาต่างถูกจับยิงเป้าโทษฐานเป็นผู้ทรยศต่อประเทศ

หวังจิงเว่ยจึงเป็นบุคคลที่ควรได้รับการประเมินอย่างรอบด้านมากขึ้นในประวัติศาสตร์จีน เขามองว่าการทำสงครามกับญี่ปุ่น จะนำมาซึ่งความหายนะของชาติและประชาชนจีน อีกทั้งยังทำให้พรรคกั๋วหมินตั่งอ่อนกำลังลงจนเสียเปรียบพรรคคอมมิวนิสต์ ความคิดของเขาถูกต้องหรือไม่เป็นสิ่งที่น่าพินิจพิจารณา แต่มีความจริงอยู่อย่างหนึ่งว่า

ภายหลังจากสิ้นสุดสงครามได้เพียง ๔ ปี พรรคคอมมิวนิสต์จีนของเหมาเจ๋อตง (Mao Zedong) ก็ได้รับชัยชนะในสงครามกลางเมืองและสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้นเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๙ ส่วนพรรคกั๋วหมินตั่งต้องถอยร่นไปยังเกาะไต้หวันตราบจนทุกวันนี้

 

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 570 เรื่อง หนากว่า 7200 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com




 

H

ในประวัติศาสตร์จีน สงครามฝิ่นและสนธิสัญญาหนานจิง (The Opium War and The Treaty of Nanjing ค.ศ. ๑๘๔๐-๑๘๔๒) ที่จีนทำกับอังกฤษ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของความตกต่ำของจีนสมัยราชวงศ์ชิง หลังจากที่เคยขึ้นสู่จุดสูงสุดในรัชสมัยจักรพรรดิคังซี หย่งเจิ้ง และเฉียนหลงในศตวรรษที่ ๑๘ ข้อตกลงในสนธิสัญญาฉบับนี้นำมาซึ่งความอัปยศอดสูแก่ประเทศจีนเป็นอย่างยิ่ง จริงหรือ?

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 570 เรื่อง หนากว่า 7200 หน้า ในรูปของ CD-ROM ในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง) สนใจสั่งซื้อได้ที่
midnightuniv(at)yahoo.com
หรือ ส่งธนาณัติถึง
สมเกียรติ ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202

กรุณาส่งธนาณัติแลกเงินไปยัง
สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50202
อย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์

ดังที่ปรากฏในบทความของศาสตราจารย์หวางเสี่ยวชิวแห่ง มหาวิทยาลัยปักกิ่ง เรื่อง เปรียบเทียบการปฏิรูปประเทศระหว่างจีน-ไทย-ญี่ปุ่นในครึ่งหลังคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ (แปลโดย รองศาสตราจารย์อาทร ฟุ้งธรรมสาร) ว่า ชนชั้นนำของจีนมองการบุกปักกิ่งของอังกฤษและฝรั่งเศสว่าเป็น "เหตุร้ายที่ไม่เคยปรากฏในรอบหลายพันปี" และทำให้กลุ่มผู้นำจีนหลัง ค.ศ. ๑๘๖๑ เช่น พระองค์เจ้าชายกง (Prince Gong) เจิงกั๋วฟาน (Zeng Guofan) จั่วจงถัง (Zuo Zongtang) หลี่หงจาง (Li Hongzhang) ตระหนักในสถานะอันอ่อนแอของจีน และนำไปสู่การดำเนินนโยบายที่เรียกว่า การสร้างตนเองให้เข้มแข็ง (Self-Strengthening Movement)

ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ
เจ้าของพื้นที่ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ
เว็ปไซต์ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ออกแบบขึ้นมาเพื่อใช้กับ Display properties : screen area 600 X 800 pixels ซึ่งจะให้ภาพที่คมชัดและสมบูรณ์ที่สุด