ผลงานภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบบทความบริการฟรีของ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

R
relate topic
010548
release date

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 568 หัวเรื่อง
แรงงานพม่าและเรื่องชาตินิยม
อดิศร เกิดมงคล และ
บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์
บทความบริการฟรีสำหรับนักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน
The Midnight 's article

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ

Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com

เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะ
สามารถแก้ปัญหาได้

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
เว็ปไซท์นี้มีการคลิกโดยเฉลี่ยต่อวัน 14119-26256 ครั้ง สำรวจเมื่อเดือนสิงหาคม 47
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ เพื่อประโยชน์ต่อสังคม

คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

แรงงานต่างด้าวชาวพม่าและความรุนแรง
ปัญหาแรงงานพม่า และ มายาคติความเป็นชาติไทย
อดิศร เกิดมงคล และ บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์
อดิศร เกิดมงคล
เจ้าหน้าที่คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า(กรพ.)
และเครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ(Action Network for Migrants)
บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์
นักศึกษาปริญญาโท สาขาพัฒนาชนบทศึกษา สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล

หมายเหตุ: ต้นฉบับนี้เดิมชื่อ
"แรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่า: การสถาปนาพื้นที่ว่างริมขอบของสังคมไทย"
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ได้รับมาจากผู้เขียน และเล็งเห็นว่าเป็นเอกสารที่มีคุณประโยชน์ควรต่อการเผยแพร่ต่อสังคมไทย
แต่เนื่องจากเอกสารต้นฉบับมีความยาวมาก ทางกองบรณาธิการจึงได้มีการตัดทอนและจะทยอยนำเสนอ
โดยพยายามรักษาเนื้อหาให้ใกล้เคียงกับต้นฉบับมากที่สุด

เผยแพร่บนเว็ปไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 26 หน้ากระดาษ A4)

 

บทนำ
5 ธันวาคม 2547 โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ได้ถ่ายทอดสดการโปรยนกสันติภาพในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภาพที่ปรากฏนอกเหนือจากการที่นกกระดาษสันติภาพนับล้านตัว ได้ปลิวร่ายหล่นลงสู่พื้นดินท่ามกลางเส้นทางบินของกองทัพอากาศ ผสานกับการที่ประชาชนเป็นจำนวนมากต่างออกมารอรับนกกระดาษที่ร่วงหล่นมาอย่างตั้งใจแล้ว เราพบว่ามีเพลงๆหนึ่งได้ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงและถูกเปิดให้ประชาชนในแผ่นดินไทยฟังซ้ำแล้วซ้ำเล่าในช่วงนี้ คือ "เพลงรักกันไว้เถิด"

 รักกันไว้เถิด	                        เราเกิดร่วมแดนไทย
 จะเกิดภาคไหนไหน               ก็ไทยด้วยกัน
 เชื้อสายประเพณี                   ไม่มีขีดคั่น
 เกิดใต้ร่มธงไทยนั้น               ปวงชนทุกคนคือไทย.................

เพลงนี้ครูในโรงเรียนชั้นประถมศึกษาสอนให้บรรดาเด็กนักเรียนร้องกันในชั้น ป. 2 เมื่อประมาณกว่า 20 ปี และไม่น่าเชื่อว่าวันนี้เพลงๆนี้จะกลายมาเป็นเพลงที่ถูกร้องกันไปทั่วผืนดินถิ่นแหลมทอง สิ่งนี้ทำให้เกิดความรู้สึกกังวลใจ และเกิดการตั้งคำถามขึ้นว่า ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? ผู้เขียนเห็นว่าเพลงนี้ก่อให้เกิดความรักชาติอย่างไม่ตั้งคำถาม แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธว่าความรักชาติเป็นสิ่งไม่ดี แต่ก็ชวนให้ตั้งคำถามต่อมาว่า ถ้ารักชาติแล้วทำให้ไม่รัก/เกลียดคนที่ไม่ใช่คนที่เรารู้สึกว่าเป็นคนชาติเดียวกับเรา มันจะเกิดอะไรขึ้น? ลองคิดเล่นๆดูว่า

ถ้าวันหนึ่งเพื่อนมนุษย์ในนามของ"แรงงานข้ามชาติที่มาจากประเทศพม่า"ที่วันนี้ต่างแยกย้ายกระจัดกระจายเป็นจิ๊กซอว์เล็กๆในโรงงาน ในบ้านเรือน ในเรือกสวนไร่นา ถ้าวันหนึ่งพวกเขาลุกขึ้นมาเรียกร้องหาความเป็นธรรม ลุกขึ้นมาทวงถามความเป็นคนเหมือนกับเราๆท่านๆ จะเกิดอะไรขึ้นกับพวกเขา?

บทความชิ้นนี้ตั้งใจเขียนขึ้นมาเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองให้กับวันแรงงานข้ามชาติสากล 18 ธันวาคม 2547(1) ที่ผ่านมา กับอีกส่วนหนึ่งเป็นการเปิดพื้นที่/ยืนยันตัวตนให้กับเสียงของกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่ถูกกดทับไว้ กลุ่มคนกลุ่มนี้ย้ายถิ่นมาจากประเทศพม่า วันนี้ "เรา" เรียก "เขา" ในนามว่า "แรงงานข้ามชาติที่มาจากประเทศพม่า
(1) วันที่องค์การสหประชาชาติได้มีการจัดทำอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติและครอบครัว ค.ศ. 1990 เพื่อให้แรงงานข้ามชาติและแรงงานอพยพในประเทศต่างๆได้รับการคุ้มครองในฐานะที่เป็นมนุษย์ และในฐานะเป็นแรงงานที่มีส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของโลก เนื่องจากปรากฎการณ์การย้ายถิ่นเพื่อแสวงหางานทำเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลก ขณะเดียวกันแรงงานข้ามชาติก็มักจะถูกละเมิดสิทธิในด้านต่างๆอันเนื่องมาจากการเป็นคนข้ามชาติ ข้ามวัฒนธรรม ขาดโอกาสในการเข้าถึงกลไกการคุ้มครองของประเทศนั้นๆ )

"กลุ่มแรงงานข้ามชาติที่มาจากประเทศพม่า"นี้ มีการสร้างสังคมและรูปแบบการดำเนินชีวิตเป็นของตนเองที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก กระบวนการสร้างตัวตนในการดำรงอยู่ของพวกเขาเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือระเบียบวิธีคิดประเภท middle class ideology เนื่องจาก"พวกเขา"ในสายตาคนบางกลุ่มถูกทำให้กลายเป็นกลุ่มคน"นอกพรมแดน" ถูกจัดให้อยู่ในพื้นที่นอกระเบียบหรืออยู่ชายขอบ(marginality) พร้อมกับความเชื่อบางอย่างที่ผลิตมาจากระเบียบศูนย์กลาง(center)ว่า"พวกเขา"เป็นพวกสกปรกและอันตราย

ที่น่าสนใจคือ เราพบว่าอัตลักษณ์ของ"พวกเขา"ที่สร้างขึ้นมาเพื่อตอบโต้กับภาวะที่มิได้ร้องขอนี้มีพลังแอบแฝงบางอย่าง พลังนี้เป็นพลังที่ท้าทายต่ออำนาจที่กระทำต่อพวกเขา แง่หนึ่งเปิดโปงให้เห็นด้านมืดของภาวะการเป็นศูนย์กลาง อีกแง่หนึ่งกลับเป็นการสถาปนาพื้นที่และยืนยันตัวตนในฐานะมนุษย์คนๆหนึ่งที่มีสิทธิมีเสียงและต้องการพื้นที่เหมือนกับเราๆท่านๆ

สาระสำคัญที่ต้องการนำเสนอในบทความนี้คือ การวิเคราะห์ว่า

- ปรากฏการณ์การย้ายถิ่นของแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่ามีจุดเริ่มต้นอย่างไร?
และปรากฏการณ์นี้ช่วยให้เราๆท่านๆได้เรียนรู้สิ่งใดบ้าง?
- สังคมมีกระบวนการสร้างความรุนแรงให้กับแรงงานข้ามชาติผ่านเทคนิคอำนาจของ"แนวคิดเรื่องชาตินิยม" อย่างไร?
- ภาวการณ์เป็นคนชายขอบ(Marginal people)ถูกก่อรูปขึ้นมาให้กับตัวตนของแรงงานข้ามชาติได้อย่างไร?
- ถ้า"พวกเขา"ต้องการก้าวข้ามไปให้พ้นภาวะดังกล่าว มีกระบวนการใดซึ่งเป็นทางออก-ทางรอด-ทางเลือก?

งานชิ้นนี้ไม่หวังว่าจะเป็นตัวแทนหรือการสร้างความเข้าใจในทั้งหมดของปรากฏการณ์ของแรงงานข้ามชาติที่มาจากประเทศพม่า ที่ดำรงอยู่ / เกิดขึ้น / แปรเปลี่ยน / ซับซ้อน / หลากหลายมิติอยู่ในสังคมไทยแห่งนี้ อันที่จริงกลับรู้สึกด้วยซ้ำว่างานชิ้นนี้จะยิ่งไปกดทับเสียงของ "พวกเขา" ผ่านเทคนิคอำนาจของการนำเสนอเองในการที่จะเลือกคิด เลือกเขียน เลือกรับรู้ เลือกตีความ ผ่านความเข้าใจของผู้เขียนที่มีต่อ"พวกเขา"

งานชิ้นนี้หวังเพียงเล็กๆว่า ชีวิตและตัวตนของคนข้ามชาติเหล่านี้ที่พยายามสร้างพื้นที่เป็นของตนเองดังที่ได้รับรู้มานั้น เมื่อเราสามารถศึกษาวิถีชีวิตของพวกเขาโดยผ่านตัวตนของพวกเขาเองแล้ว เราจะเข้าใจพวกเขามากขึ้นว่า

พวกเขามิใช่เป็นเพียงผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย, แรงงานเถื่อน, หรือผู้ค้ายาเสพติด อย่างที่เราเข้าใจ และเมื่อนั้นเราจะสามารถขจัดอคติเชิงลบที่มีต่อพวกเขา หันมามองพวกเขาอย่างเข้าใจ อย่างจำแนกแยกแยะบนความเคารพของความแตกต่างอย่างสมานฉันท์มากยิ่งขึ้น ไม่กีดกันผลักไส ตลอดจนสามารถเปิดพรมแดน ทั้งพรมแดนทางภูมิศาสตร์และพรมแดนอคติที่อยู่ในใจเราให้เปิดรับพวกเขายิ่งขึ้น และที่สุดแล้วเราจะมองเห็นความเป็นมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรี มีคุณค่า มีศักยภาพ มีสิทธิ มีเสียงเหมือนกับเรานั่นเอง

เรียนรู้เรื่องปรากฎการณ์การย้ายถิ่นของแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่า
ท่ามกลางการเดินทางของโลกาภิวัตน์ ปรากฏการณ์การย้ายถิ่นข้ามพรมแดนเป็นสภาวการณ์ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาให้ความสำคัญของรัฐบาลแทบทุกประเทศ การย้ายถิ่นข้ามชาติเป็นประเด็นที่ทวีความสำคัญมากขึ้นในทุก

ภูมิภาคของโลกในสามช่วงทศวรรษสุดท้ายของศตวรรษที่ 20 เป็นประเด็นสำคัญในการกำหนดนโยบายของประเทศต่างๆจำนวนมาก มีการคาดทำนายว่าในศตวรรษที่ 21 นี้ จะเป็นศตวรรษของการย้ายถิ่นข้ามชาติและตัวปรากฏการณ์นี้จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการเมืองอย่างไม่เคยเกิดขึ้นในประชาคมโลกมาก่อน (2)
(2) กฤตยา อาชวนิจกุล, สถานะความรู้เรื่องแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยและทิศทางการวิจัยที่พึงพิจารณา (นครปฐม: โครงการพัฒนาและปรับปรุงฐานข้อมูลแรงงานต่างชาติผิดกฎหมาย สนับสนุนโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ, 2546) หน้า 1.

"แรงงานข้ามชาติ" หรือที่เรียกตามภาษาราชการว่า "แรงงานต่างด้าว" เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดจากการเคลื่อนย้ายแรงงานจากประเทศหนึ่งสู่อีกประเทศหนึ่ง โดยมีลักษณะที่มีปฏิสัมพันธ์กับอีกสังคมและ/หรืออีกวัฒนธรรมหนึ่งผ่านการว่าจ้างแรงงาน ซึ่งการเคลื่อนย้ายลักษณะดังกล่าวนี้เกิดขึ้นในแทบทุกภูมิภาคของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบันที่การสื่อสารคมนาคมมิได้เป็นอุปสรรคต่อการเดินทางของมนุษย์ดังเช่นอดีต ผนวกรวมกับปัจจัยทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมที่มีความรวดเร็วและซับซ้อนมากขึ้น จนอาจกล่าวได้ว่า "แรงงานข้ามชาติ" เป็นอาการอย่างหนึ่งอันเกิดจากภาวะ "ทุนนิยมโลกาภิวัตน์"

แรงงานข้ามชาติเป็นปรากฏการณ์ของวัฒนธรรมโลกาภิวัฒน์ที่มีลักษณะร่วมที่สำคัญห้าประการ ได้แก่ (3)
(3) สุริยา สมุทคุปติ์ และพัฒนา กิติอาษา. มานุษยวิทยากับโลกาภิวัฒน์: ข้อเสนอเบื้องต้นเกี่ยวกับ "แรงงานข้ามชาติ" และ"นักมานุษยวิทยา" ในบริบทของวัฒนธรรมโลก. (นครราชสีมา: ห้องไทยศึกษานิทัศน์, สำนักวิชาเทคโนโลยีสังคม, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี, 2538) หน้า 88-89.

ประการแรก เป็นปรากฏการณ์ระดับนานาชาติ เนื่องจากเป็นการเดินทางจากประเทศหนึ่งเข้าไปทำงานในอีกประเทศหนึ่ง จากระบบเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมหนึ่งเข้าไปติดต่อสัมพันธ์ (ผ่านการจ้างงาน) กับอีกระบบหนึ่ง สะท้อนให้เห็นว่าพรมแดนของรัฐชาติที่เคยถูกปิดกั้นด้วยอุดมการณ์ทางการเมืองหรือการกีดกันทางเศรษฐกิจในช่วงสงครามเย็นได้เปิดกว้างมากขึ้น
ประการที่สอง แรงงานข้ามชาติ แท้ที่จริงก็คือการไหลเวียนของกำลังคนในวัยทำงานจากประเทศที่ระบบเศรษฐกิจที่มีภาคเกษตรกรรมเป็นหลักไปยังประเทศที่มีอุตสาหกรรมและบริการเป็นหัวใจสำคัญของระบบเศรษฐกิจของประเทศ จากประเทศที่ยากจนกว่าไปยังประเทศที่ร่ำรวยมากกว่า

ประการที่สาม ความยากจนและความต้องการโอกาสในชีวิต ยังคงเป็นแรงผลักที่สำคัญของการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามชาติ แรงงาน ไม่ว่าจะเป็นกรรมกร คนทำงานบ้านหรือโสเภณีต่างก็ดิ้นรนทำงานหาเงินเพื่อส่งกลับไปช่วยเหลือครอบครัวของตน เงินตราต่างประเทศไม่เพียงแต่จะช่วยเหลือครอบครัวของแรงงานแต่ละคนแล้วยังช่วย
หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจของประเทศได้อีกด้วย

ประการที่สี่ ปมปัญหาของแรงงานข้ามชาติซับซ้อนและหลากหลายมากขึ้น เช่น เกี่ยวข้องกับการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (กรณีของฟิลิปปินส์) การแพร่ระบาดของโรคเอดส์ การขยายตัวของแก๊งใต้ดินข้ามชาติที่ทำธุรกิจผิดกฎหมาย เช่น การลักลอบขนคนเข้าเมือง การลักลอบค้าประเวณีและยาเสพติดในบางกรณี เป็นต้น

ประการสุดท้าย แรงงานข้ามชาติ เป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อนให้เห็นว่าสังคมนานาชาติในโลกสมัยใหม่มีการติดต่อเชื่อมโยงกันทางเศรษฐกิจ การเมือง การติดต่อสื่อสารและสังคมวัฒนธรรมมากขึ้น แรงงานจากไทยและฟิลิปปินส์ช่วยให้ธุรกิจการก่อสร้างในไต้หวันเจริญก้าวหน้า คนทำงานบ้านและคนเลี้ยงเด็กจากฟิลิปปินส์ ช่วยให้คนในวัยทำงานของฮ่องกงและสิงคโปร์มีเวลาทำงานมากขึ้น เป็นต้น

ในกรณีของประเทศไทยการย้ายถิ่นข้ามพรมแดนไปมาระหว่างประชาชน 2 ประเทศที่พรมแดนติดต่อกัน เช่น ไทย-พม่า ไทย-ลาว ไทย-กัมพูชา และไทย-มาเลเซีย เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ในอดีตการย้ายถิ่นเป็นไปเพื่อการกวาดต้อนประชาชนของฝ่ายที่ปราชัยจากการรบพุ่งไปเป็นประชาชนของประเทศตนเอง

แต่ในปัจจุบันการย้ายถิ่นเป็นเรื่องของการเปิดเสรีทางการค้า การลงทุนของประเทศที่มีความพร้อมมากกว่า

สำหรับประเทศพม่าการย้ายถิ่นนับเป็นความเฉพาะที่แตกต่างจากประเทศอื่นๆที่กล่าวมาข้างต้น นอกจากปัจจัยจากประเทศต้นทางที่เป็นปัจจัยผลักดันทางด้านเศรษฐกิจแล้ว อันได้แก่ รัฐบาลได้นำนโยบายเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมพม่ามาใช้ ทำให้ประชาชนต้องอดอยากยากแค้น เกิดภาวะเงินเฟ้อ และเกิดภาวะความยากจนอัตคัดขึ้นในทุกพื้นที่

ปัจจัยทางด้านการเมืองมีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับการย้ายถิ่น โดยเฉพาะในเรื่องของความไม่ปลอดภัยในการดำรงชีวิต เช่น การที่รัฐบาลเผด็จการทหารพม่าได้ยึดอำนาจการปกครองประเทศเบ็ดเสร็จ มีการปกครองแบบรัฐบาลเผด็จการทหาร ปฏิเสธบทบาทพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ปราบปรามขบวนการนักศึกษาระหว่างมีการชุมนุมประท้วงของประชาชน ในวันที่ 8 สิงหาคม 1988, การต่อสู้ระหว่างกองกำลังชนกลุ่มน้อยกับรัฐบาลทหารพม่าในช่วง 10-15 ปี ที่ผ่านมา และการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศ

นอกจากปัจจัยผลักดันดังที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ปัจจัยดึงดูดในประเทศไทยก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ส่งผลให้เกิดการการย้ายถิ่น คือ การที่ประเทศไทยมีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงมากจนทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม

การอพยพย้ายถิ่นจากประเทศพม่าไม่ใช่ลักษณะของการเข้าตามตรอกออกตามประตู ไม่ใช่การเดินอย่างสง่าผ่าเผยข้ามด่านที่เปิดอย่างเป็นทางการ แต่เป็นลักษณะของการ "ลอดรัฐ" เข้ามาตามช่องทางต่างๆ กล่าวคือ ชนกลุ่มน้อยจากพม่ายังคงถูก "บีบบังคับ" ให้ลี้ภัยออกนอกประเทศอย่างไม่ขาดสาย เพราะรัฐบาลพม่ามีนโยบายในการเข้าไปจัดการและควบคุม "พื้นที่" ที่ชนกลุ่มน้อยอาศัยอยู่อย่างเข้มข้น อาทิเช่น

โครงการโยกย้ายถิ่นฐานใหม่ (Resettlement Programs) ซึ่งมุ่งเน้นบังคับให้ชาวบ้านต้องโยกย้ายออกจากที่อยู่เดิม โดยที่บางครั้งก็ไม่ได้จัดหาที่อยู่ใหม่ให้ หรือจัดสรรที่อยู่ซึ่งง่ายต่อการควบคุม หรือเป็นพื้นที่ซึ่งมีสภาพแย่กว่าที่อยู่เดิมเป็นต้น นอกจากนี้ยังมีปฏิบัติการที่เข้าไปจัดการกับชีวิตประจำวันของผู้คน เช่น การเกณฑ์แรงงานหรือไปเป็นลูกหาบให้ทหารพม่า หรือทหารพม่าเข้าไปทำร้ายร่างกายของประชาชนโดยที่กฎหมายไม่สามารถคุ้มครองใดๆได้ สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดการอพยพย้ายถิ่นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ (4)
(4) สุรสม กฤษณะจูฑะ. สิทธิของผู้พลัดถิ่น :ศึกษากรณีชาวไทใหญ่จากประเทศพม่า. (กรุงเทพมหานคร:งานวิจัยชุดโครงการการพัฒนาระบบสวัสดิการสำหรับคนจนและคนด้อยโอกาสในสังคมไทย, 2546) (เอกสารอัดสำเนา)

เมื่อมีการเคลื่อนย้ายคนกลุ่มนี้เข้ามามาก นอกเหนือจากสถานภาพการเข้ามาเป็นแรงงานแล้ว นัยสำคัญของการเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายก็ติดตามมาอย่างยากจะหลีกเลี่ยง ดังนั้นจึงพบว่ารัฐราชการไทยได้เกิดการตื่นตระหนกและลุกขึ้นมาจัดการกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ด้วยการใช้มุมมองที่เริ่มต้นจาก"ปรากฏการณ์ที่เป็นปัญหา" การจัดการกับปัญหาหรือสภาวการณ์ดังกล่าวของรัฐราชการไทยได้วางอยู่บนพื้นฐานที่สำคัญอยู่สองประการ คือ

ความต้องการจัดการกับปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมืองเพื่อแก้ไขปัญหาความมั่นคง และความต้องการแรงงานไร้ฝีมือทดแทนแรงงานไทยที่ขาดแคลนในภาคการผลิตบางส่วน

ซึ่งในส่วนหลังนี้เองก็มีการตั้งคำถามที่สำคัญว่าแรงงานที่นำมาทดแทนนั้นจะต้องเป็นแรงงานราคาถูกด้วยใช่หรือไม่ ทั้งนี้เพื่อตอบสนองต่อความได้เปรียบในการแข่งขันทางการค้าของผู้ประกอบการในประเทศไทย สิ่งที่สำคัญก็คือ ทั้งสองความต้องการนี้ก็ได้กลายเป็นแนวคิดสำคัญในการจัดการแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ภายใต้ภาวการณ์ที่สังคมไทยยังให้ความสำคัญกับวาทกรรม "ความมั่นคงแห่งชาติ" ที่มุ่งเน้นการ"จัดระเบียบ"เพื่อก่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยภายใน นโยบายของรัฐไทยต่อผู้ย้ายถิ่นเองก็มีความไม่ต่อเนื่อง ขลุกขลักลักลั่น ไม่ไปในทางเดียวกัน และมักจะนิยมใช้นโยบาย "ลด" จำนวนผู้ย้ายถิ่นให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ หรือมีนโยบายผลักดันกลับไปสู่ภูมิลำเนาเมื่อโอกาสเอื้ออำนวย

แต่ขณะเดียวกันด้วยสถานภาพของการเป็นผู้หลบหนีเข้าเมือง อคติของสังคมไทยต่อแรงงานข้ามชาติ ประกอบกับแนวคิดในการจัดการของรัฐไทยที่ผ่านมาก็วางอยู่บนฐานแนวคิดเรื่องของความมั่นคงแห่งชาติและเรื่องของการต้องการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานเป็นหลัก ไม่ได้ให้ความสำคัญต่อการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ เท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อสิทธิแรงงานอันเป็นเรื่องพื้นฐานสำคัญในการดำรงชีวิตของแรงงานเหล่านี้และเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะสร้างสังคมให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสงบสุข

การละเมิดสิทธิมนุษยชนในรูปแบบต่าง ๆ(5) โดยเฉพาะปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติที่เกิดขึ้น ได้แก่
(5) อดิศร เกิดมงคล บรรณาธิการ. จากแรงงานทาสสู่แรงงานเถื่อน (กรุงเทพมหานคร: เฟื่องฟ้าพริ้นติ้ง, 2546) บทนำ.

1. การถูกขูดรีดจากนายหน้าในระหว่างการขนย้ายแรงงานข้ามประเทศ
การเดินทางเข้ามาเป็นแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยนั้น กลุ่มนายหน้าเป็นบุคคลสำคัญที่จะนำพาพวกเขาเดินทางเข้ามาแสวงหาชีวิตใหม่ในประเทศไทยได้ นายหน้าเหล่านี้จะเป็นผู้จัดการการเดินทางทั้งหมดของแรงงานข้ามชาติ เริ่มตั้งแต่เรื่องการเดินทาง จัดหาที่พัก และการหางานให้ทำ แรงงานที่เข้ามาหางานทำในประเทศไทย มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพึ่งพิงนายหน้าเหล่านี้

คนพม่าที่ทำหน้าที่เป็นนายหน้าส่วนใหญ่บ้างก็เป็นคนที่แรงงานรู้จักไม่ว่าจะเป็นญาติพี่น้อง เพื่อน หรือคนในหมู่บ้านเดียวกัน หรือเป็นคนที่ไม่รู้จักกันมาก่อน แต่ได้รับการแนะนำให้ไปติดต่อ หรือนายหน้าเองเป็นผู้ที่เข้าไปชักชวนและเสนองานให้ทำ ซึ่งมีทั้งแบบที่ไปหาถึงหมู่บ้านหรือนัดหมายให้มาเจอกันที่ชายแดน

ในขบวนการนายหน้ารวมทั้งที่เป็นคนพม่าและคนไทย นายหน้าทำงานได้ต้องมีความสัมพันธ์ หรือมีความสามารถในการติดต่อกับเจ้าหน้าที่ของรัฐบางคนในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เช่น การจ่ายส่วยค่าผ่านทาง จนถึงการเป็นหุ้นส่วนในการนำพาแรงงานเข้าเมือง หลายครั้งเจ้าหน้าที่รัฐเองเป็นผู้นำแรงงานข้ามชาติเหล่านี้เดินทางข้ามชายแดนเข้ามาหางานทำในเมืองใหญ่ๆ

การจ่ายเงินให้นายหน้าเพื่อหลบหนีเข้าเมืองมาหางานทำ มิได้เป็นหลักประกันความปลอดภัย เพราะแรงงานข้ามชาติต้องเดินทางแบบหลบซ่อนในรูปแบบต่างๆ เช่น ซ่อนตัวอยู่ในรถขนส่งสิ่งของ พืชผักต่างๆ ซึ่งค่อนข้างยากลำบากอันตรายและเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุถึงขั้นเสียชีวิต แรงงานหญิงหลายคนเสี่ยงต่อการถูกข่มขืน ล่วงละเมิดทางเพศจากนายหน้าหรือเจ้าหน้าที่รัฐเมื่อถูกจับกุมได้ ขบวนการนายหน้าบางส่วนทำหน้าที่เป็นเสมือนพวกค้าทาสในอดีต แรงงานข้ามชาติโดยเฉพาะผู้หญิงมักจะถูกนายหน้าหลอกไปขายให้แก่สถานบริการ และบังคับให้แรงงานหญิงเหล่านี้ค้าบริการทางเพศหรือขายบริการให้แก่ชาวประมงที่ต้องออกทะเลเป็นเวลานาน

การจ่ายค่านายหน้า นายหน้าโดยส่วนใหญ่จะใช้วิธีเก็บเงินโดยตรงที่นายจ้าง และนายจ้างจะหักจากค่าแรงของแรงงานอีกต่อหนึ่ง ซึ่งกลายเป็นข้ออ้างของนายจ้างที่จะไม่จ่ายค่าแรงให้แก่แรงงาน ทำให้หลายกรณีที่แรงงานข้ามชาติทำงานโดยไม่ได้รับค่าจ้างเลย

2. ต้องเผชิญกับสภาพการทำงานที่เลวร้าย
ลักษณะงานที่แรงงานข้ามชาติเข้ามารับจ้างทำงานส่วนใหญ่ ถูกจัดให้อยู่ในประเภท 3 ส. คือ สุดเสี่ยง แสนลำบาก และสกปรก ในขณะเดียวกันต้องทำงานหนักและได้รับค่าแรงที่ไม่เป็นธรรม งานบางประเภทเป็นงานที่ไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับฤดูกาล เช่น งานในภาคเกษตร ซึ่งต้องทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานานๆหลายชั่วโมงและไม่มีวันหยุด บางกรณีแรงงานจะถูกใช้ให้ไปทำงานที่ผิดกฎหมาย เช่น ให้ไปตัดไม้ในเขตป่าสงวนซึ่งเสี่ยงต่อการถูกจับกุมโดยนายจ้างจะไม่รับผิดชอบใดๆทั้งสิ้นต่อสิ่งที่เกิดขึ้น

ปัญหาของแรงงานข้ามชาติแตกต่างกันไปตามลักษณะของงาน จำแนกพอเป็นสังเขปได้ ดังนี้

2.1. งานในภาคเกษตรกรรม ได้รับค่าแรงต่ำ ไม่มีความแน่นอนในการทำงานเพราะเป็นงานตามฤดูกาล นอกจากนี้แรงงานในภาคเกษตรกรรมยังไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานของไทย ปัญหาที่พบมากที่สุด คือ การไม่ได้รับค่าแรงจากนายจ้าง เนื่องจากนายจ้างจะใช้วิธีการบ่ายเบี่ยงไม่ยอมจ่ายค่าแรง ด้วยการอ้างว่าหักค่าใช้จ่ายจากส่วนอื่นๆแล้วหรือบางครั้งใช้วิธีการแจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาจับกุมแรงงานเหล่านี้

2.2. ในภาคประมงทะเล แรงงานข้ามชาติมักต้องออกทะเลเป็นเวลานาน นับตั้งแต่ 4 เดือนจนถึงนานเป็นปี โดยต้องทำงานอย่างหนัก มีเวลาพักผ่อนวันละไม่กี่ชั่วโมง สภาพความเป็นอยู่ค่อนข้างลำบาก รวมถึงเรื่องอาหารและยารักษาโรคที่มีเพียงเพื่อให้อยู่รอดไปวันๆเท่านั้น นอกจากนี้ยังเสี่ยงต่อการถูกทำร้ายร่างกายและถูกฆ่าจากหัวหน้างานหรือไต้ก๋งเรือ หากทำงานไม่เป็นที่พอใจหรือเมื่อเกิดมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกัน เรื่องราวการทำร้ายฆ่าฟันมักจะเงียบหายไปจนแรงงานข้ามชาติเรียกสถานการณ์แบบนี้ว่า"นักโทษทางทะเล" ลูกเรือที่ออกเรือเข้าไปทำประมงในเขตแดนทะเลของประเทศอื่น ยังเสี่ยงต่อการถูกจับกุมของเจ้าหน้าที่ในประเทศนั้นๆด้วย

2.3. งานรับใช้ในบ้าน แรงงานต้องทำงานตั้งแต่เช้าจนค่ำมืด บางรายทำงานบ้านแล้วยังต้องทำงานในร้านขายของหรือทำงานในบ้านญาติของนายจ้างโดยได้รับค่าแรงจากนายจ้างคนเดียว แรงงานที่ทำงานเป็นคนรับใช้ในบ้าน ส่วนใหญ่มักถูกห้ามมิให้ติดต่อกับคนภายนอก โดยนายจ้างจะให้เหตุผลว่ากลัวแรงงานนัดแนะให้คนข้างนอกเข้ามาขโมยของในบ้าน รวมทั้งอาจจะถูกนายจ้างดุด่าว่ากล่าวอย่างรุนแรง รวมถึงการทำร้ายร่างกายด้วย

2.4. แรงงานห้องแถว แรงงานข้ามชาติที่ถูกหลอกให้เข้าไปทำงานในโรงงานห้องแถวจะถูกกักให้ทำงานอยู่แต่เฉพาะในโรงงาน และต้องทำงานอย่างหนักตั้งแต่เช้าไปจนเกือบเที่ยงคืน โดยนายจ้างจะเป็นผู้จัดเตรียมอาหารให้ ซึ่งเป็นอาหารที่แย่มากบางครั้งนำอาหารที่เกือบเสียแล้วมาให้แรงงานทาน บางกรณีแรงงานได้รับประทานอาหารเพียงวันละ 2 มื้อ และไม่เพียงพอ

2.5. แรงงานก่อสร้าง แรงงานในภาคการก่อสร้างเป็นกิจการที่พบว่าแรงงานข้ามชาติจะถูกโกงค่าแรงบ่อยที่สุด ปัญหาค่าแรงนับเป็นปัญหาหลักที่อยู่คู่กับแรงงานข้ามชาติตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน และพบในแทบทุกกิจการ โดยที่นายจ้างมักจะผลัดผ่อนค่าแรงไปเรื่อยๆ เมื่อแรงงานเข้าไปทวงค่าแรง มักจะได้รับคำตอบว่าหักเป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆไปหมดแล้ว หรือหากเป็นเงินจำนวนมากๆบางรายมักจะใช้วิธีแจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปจับกุมแรงงานข้ามชาติเพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายเงิน

ในขณะเดียวกันแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่เมื่อยังไม่ได้รับค่าแรงมักจะดำรงชีวิตโดยการหยิบยืมเงินหรือเอาข้าวของจากร้านค้าต่างๆด้วยการติดหนี้สินไว้ก่อน เมื่อไม่มีเงินจ่ายหนี้ทำให้แรงงานอยู่ในภาวะยากลำบาก ในหลายกรณีแรงงานไม่ได้รับค่าแรงอย่างเต็มที่ คือ นายจ้างให้แรงงานทำงานไปก่อน 25 วันและจ่ายเพียง 15 วัน โดยค่าจ้าง 10 วันที่เหลือ นายจ้างใช้เป็นกลวิธีควบคุมแรงงานไม่ให้คิดหนีหรือไม่ทำงาน

ในแง่ของกฎหมายคุ้มครองแรงงาน มีบทบัญญัติบังคับให้นายจ้างจ่ายค่าตอบแทนให้แรงงานตามค่าแรงขั้นต่ำที่กำหนด แต่ปรากฏว่าค่าแรงของแรงงานข้ามชาติเกือบทั้งหมดจะได้รับต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ โดยเฉลี่ยจะอยู่ในอัตราตั้งแต่ 40 - 120 บาทต่อวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแทบพื้นที่ชายแดน รายได้ต่อวันสูงสุดไม่เกินวันละ 80 บาท และน้อยรายนักที่จะได้รับค่าแรงล่วงเวลาตามที่กฎหมายกำหนดไว้ โดยในบางพื้นที่ต้องทำงานวันละ 12 - 14 ชั่วโมงโดยไม่ได้รับค่าล่วงเวลาเลย

3. การถูกทำร้ายร่างกายและล่วงละเมิดทางเพศ
ปัญหาภาษาเป็นปัญหาสำคัญประการหนึ่งของแรงงานข้ามชาติ เมื่อแรงงานข้ามชาติไม่สามารถสื่อสารกับนายจ้างได้มากนัก ทำให้นายจ้างหลายรายไม่เข้าใจและเกิดความรู้สึกไม่พอใจแรงงานข้ามชาติ แรงงานข้ามชาติจึงมักถูกนายจ้างด่าทออย่างหยาบคาย ทั้งนี้อาจเนื่องด้วยอคติทางชาติพันธุ์ประกอบ บางครั้งถึงกับลงมือทำร้ายแรงงานข้ามชาติอย่างรุนแรง บางกรณีจนถึงขั้นเสียชีวิต แรงงานข้ามชาติหนึ่งจำนวนไม่น้อยถูกนายจ้างหรือคนในบ้านของนายจ้างข่มขืน ล่วงละเมิดทางเพศ และ/หรือบางครั้งนายจ้างที่เป็นผู้หญิงเองก็เพิกเฉยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

4. ความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่รัฐ
เนื่องจากแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่เป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย ไม่มีบัตรอนุญาตทำงานจึงหวาดกลัวต่อการถูกจับกุม ทำให้แรงงานส่วนใหญ่ใช้วิธีจ่ายเงินให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็น "ค่าคุ้มครอง" เพื่อไม่ให้ตนเองถูกจับกุม ประกอบกับที่ผ่านมา แม้รัฐบาลมีนโยบายให้แรงงานข้ามชาติจดทะเบียนเพื่อขออนุญาตทำงาน แต่นายจ้างมักจะยึดบัตรอนุญาตของแรงงานเอาไว้ทำให้แรงงานข้ามชาติเหล่านี้ไม่รอดพ้นจากการถูกจับกุมของเจ้าหน้าที่

แรงงานหลายคนจึงรู้สึกว่าการมีหรือไม่มีบัตรอนุญาตทำงานไม่มีความแตกต่างกันมากนัก เพราะยังไงต้องจ่ายเงิน "ค่าคุ้มครอง" ให้กับเจ้าหน้าที่อยู่ดี ทำให้แรงงานข้ามชาติหลายคนใช้วิธีการจ่ายส่วยให้แก่เจ้าหน้าที่แทนการไปจดทะเบียน

แรงงานข้ามชาติจำนวนมากไม่มีเงินจ่ายค่าส่วยจะถูกจับกุมคุมขัง ปัญหาการจับกุมคุมขังของแรงงานข้ามชาติมีความรุนแรงอยู่มาก นอกจากเรื่องของห้องขังที่แออัดยัดเยียด ปัญหาสภาพความเป็นอยู่ อาหารประจำวันและห้องน้ำของผู้ถูกคุมขัง ยังพบว่ามีการทำร้ายร่างกายแรงงานข้ามชาติที่ถูกจับกุมโดยทั้งจากเจ้าหน้าที่และผู้ช่วยผู้คุมซึ่งเป็นนักโทษไทยที่อยู่ในที่คุมขัง

มีการทุบตีทำร้ายแรงงานข้ามชาติที่ถูกจับกุมหากไม่พอใจจนถึงขั้นบาดเจ็บอย่างรุนแรงจนถึงเสียชีวิต มีการข่มขืน ล่วงละเมิดทางเพศ การกระทำอนาจารต่อผู้ต้องขังที่เป็นแรงงานข้ามชาติหญิง เช่น ให้ผู้ต้องขังชายช่วยตัวเองหน้าห้องผู้ต้องขังหญิง ไปจนถึงการข่มขืนกระทำชำเราผู้ต้องขังหญิง โดยนักโทษชายที่เป็นคนไทยต่อหน้าเจ้าหน้าที่ที่ไม่ใส่ใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หรือบางครั้งเจ้าหน้าที่รัฐบางคนก็เป็นผู้กระทำเสียเอง

จากที่กล่าวมาทั้ง 4 ข้อใหญ่ๆจะเห็นได้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเหล่านั้นเป็นปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้น ซ้อนทับกันตั้งแต่ความรุนแรงทางกายภาพที่ปรากฎเห็นได้ชัด ดังเช่น กรณีการทำร้ายร่างกาย การล่วงละเมิดทางเพศ และการฆ่า ไปจนถึงความรุนแรงทางโครงสร้างที่มองไม่เห็นได้ชัดเจนนัก เช่น การปกครองประเทศโดยระบอบเผด็จการทหาร การมีนโยบายรัฐที่ไม่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชน การกดขี่แรงงาน การขูดรีดค่าแรง รวมไปถึงกระบวนการคอรัปชั่นที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศต้นทางและในประเทศไทย

นอกจากนี้ยังมีความรุนแรงที่แฝงเร้นอีกชนิดหนึ่ง ซึ่ง"เรา"อาจลืมเลือนไปหรือไม่คิดว่ามันดำรงอยู่ คือความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากอคติและความเคยชิน จะเห็นได้ชัดว่าหากเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงที่มีต่อคนเหล่านี้ขึ้น หลายคนมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา หลายคนมองว่าเป็นเรื่องสมควรแล้วที่คนเหล่านี้จะได้รับ หลายคนรับรู้แล้วลืมเลือนมันไป ปัญหาของความรุนแรงชนิดนี้ไม่ได้อยู่ที่การทำร้ายร่างกาย แต่เป็นการสร้างความชอบธรรมให้แก่ความรุนแรงที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่โดยไม่รู้ตัว

ที่สำคัญคือผู้ที่กระทำความรุนแรงประเภทนี้ก็ไม่รู้ตัวเช่นกันว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดความรุนแรง และที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ แท้จริงแล้วพวกเขาเหล่านั้นก็เป็นเหยื่อของความรุนแรงด้วยเช่นกัน

5. ความรุนแรงเชิงอคติทางชาติพันธุ์
ปัญหาหนึ่งที่เป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิต่อแรงงานข้ามชาติ คือ ปัญหาอคติทางชาติพันธุ์ที่มีต่อแรงงานข้ามชาติ มีการสร้างและผลิตซ้ำผ่านสื่อหรือกลไกต่าง ๆ ในสังคมเพื่อตอกย้ำให้เห็นว่าแรงงานข้ามชาติเหล่านี้เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐต้องทำการควบคุมอย่างจริงจัง แรงงานข้ามชาติเหล่านี้เข้ามาแย่งงานแรงงานไทยต้องไล่ออกไปให้หมด ทั้งที่แรงงานเหล่านี้เข้ามาทำงาน "3 ส." งานที่แรงงานไทยส่วนใหญ่ไม่ทำกันแล้ว

แนวคิดและการผลิตซ้ำทำให้สังคมไทยสร้างภาพความหวาดระแวงต่อแรงงานข้ามชาติโดยเฉพาะแรงงานพม่า คิดว่าแรงงานข้ามชาติเป็นตัวอันตรายน่ากลัว แรงงานข้ามชาติเองต้องคอยหลบๆซ่อนๆด้วยเกรงว่าจะถูกจับกุมทำร้าย สภาพการณ์เหล่านี้ถูกสร้างเป็นภาพมายาที่กดทับให้สังคมไทยหวาดระแวงแรงงานข้ามชาติ เกิดเป็นคำถามสำคัญว่าในฐานะมนุษย์ที่อยู่ร่วมพรมแดนติดต่อกัน จะดำรงสถานภาพของมิตรภาพและสันติสุขต่อกันได้อย่างไร ในเมื่อต่างหวาดระแวงปราศจากความไว้วางใจต่อกันและกัน

ในช่วงที่ผ่านมาสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากเรื่องแรงงานข้ามชาติก็คือ สังคมที่ดำรงอยู่ด้วยความกลัว เราถูกทำให้กลัวในซึ่งกันและกัน คนไทยกลัวแรงงานพม่า กลัวว่าพวกเขาเหล่านั้นจะมาทำร้ายตนเอง กลัวพวกเขาเหล่านั้นจะก่อเหตุร้ายกับคนรอบข้างของตนเอง ในขณะเดียวกันแรงงานข้ามชาติก็กลัวคนไทยจะมาทำร้ายพวกเขา กลัวคนไทยจะแจ้งความจับพวกเขา กลัวการถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายพวกเขา กลัวนายจ้างจะทำร้ายพวกเขา กลัวการถูกส่งกลับไปสู่ความไม่ปลอดภัยในประเทศของตนเอง

ความกลัวเหล่านี้ไม่ใช่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ เป็นความกลัวที่ถูกสร้างขึ้นจากการรับรู้ผ่านสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการบอกเล่า การนำเสนอข่าว การประชาสัมพันธ์โดยรัฐ จากการศึกษา และรวมถึงจากการไม่รู้ เช่น เรากลัวเพราะเราไม่สามารถสื่อสารกับพวกเขาได้ ซึ่งก่อให้เกิดฐานคติที่เป็นลบต่ออีกฝ่ายหนึ่ง และสังคมได้ผลิตซ้ำฐานคติเหล่านี้ครั้งแล้วครั้งเล่า จนกลายเป็นความปกติ ความเคยชิน และสุดท้ายกลายเป็นเรื่องธรรมชาติของใครหลายคนไป

การดำรงอยู่ของ "สังคมแห่งความกลัว" นี้เองที่ช่วยเสริมสร้างให้ความรุนแรงทางกายภาพเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำให้การกดขี่ขูดรีดคนข้ามชาติเหล่านี้เกิดขึ้นเหมือนเป็นเรื่องปกติ จนกระทั่งกลายเป็นแนวนโยบายแนวปฏิบัติของรัฐ และกลายเป็นความชอบธรรมให้แก่ความรุนแรงในรูปแบบต่างๆไป

การสร้างความรุนแรงผ่าน"ความเป็นอื่น"ให้แรงงานข้ามชาติ ผ่านเทคนิคอำนาจของ"ความเป็นรัฐชาติ"

- ต้นเดือนเมษายน 2546 ตำรวจที่อำเภอพบพระ จังหวัดตาก ได้กักขังชายพม่าไม่ทราบชื่อ
นายหนึ่ง เมื่อตรวจตรวจพบว่าเขาเป็นผู้เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย เขาถูกขังในกรงที่ใช้สำหรับสุนัขแห่งหนึ่งที่จุดตรวจของหมู่บ้าน วันหนึ่งในขณะที่เขาพยายามจะหนี ตำรวจเห็นและเรียกให้กลับมา ระหว่างที่เขาหันกลับเดินมาหาตำรวจเขาก็ถูกยิงที่หน้าอก ชาวบ้านที่เห็นเหตุการณ์จึงเล่าเรื่องราวให้คนงานพม่าอื่นๆฟังและร่างของชายคนนั้นถูกพบในท้องทุ่งในวันต่อมา

- วันที่ 13 เมษายน 2546 กลุ่มบุคคลที่อยู่ภายใต้การดูแลของตำรวจและอาสาป้องกันภัยพลเรือน ได้ตีชายพม่าไม่ทราบชื่อจนถึงแก่ชีวิตที่ป้ายรถเมล์แห่งหนึ่งในกรุงเทพ ชายผู้เคราะห์ร้ายรายนี้บังเอิญเดินสะดุดล้มท่ามกลางกลุ่มอันธพาลที่ทะเลาะกันอยู่ ทำให้คนในกลุ่มเบี่ยงความสนใจมาที่เขา
สมาชิกในเครื่องแบบของอาสาป้องกันภัยพลเรือนยืนดูอยู่ก่อนที่จะแจ้งตำรวจที่อยู่ใกล้ๆให้มาพาผู้เคราะห์ร้ายไปกุมขัง เช้าวันต่อมาร่างที่ไร้วิญญาณของเขาถูกนำออกไปโดยรถบรรทุก ไม่มีรายงานถึงการดำเนินการใดๆต่อผู้กระทำทั้งๆที่มีพยานรู้เห็นเหตุการณ์มากมาย

- กลางเดือนพฤษภาคม 2546 เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ได้ละเมิดกฎหมายโดยการกักขังและต่อมาสังหารแรงงานพม่าที่เข้าเมืองอย่างถูกต้อง 6 คน เตน ฮัน อายุ 28 ปี, เตน นาย อายุ 44 ปี, เอ มิน อายุ 22 ปี, นวย เล อายุ 19 ปี, หม่อง หม่อง อายุ 24 ปี, และ อา นยา ซะ อายุ 22 ปี, ชายทั้งหมดนี้ถูกมัดรวมกันที่หน้าบ้านของผู้ใหญ่บ้านก่อนจะถูกนำไปฆ่า ผู้ใหญ่บ้านถูกตั้งข้อหาฆาตกรรมแต่ก็ได้รับการประกันตัวออกไป นอกจากนั้นไม่มีใครถูกตั้งข้อหาอีก แม้ว่ามีพยานบุคคลและพยานแวดล้อมมากมายบ่งชี้ถึงความเกี่ยวข้องของเจ้าหน้าที่รักษากฎหมาย พยานส่วนมากและญาติของผู้เสียชีวิตถูกส่งกลับไปยังพม่า และการดำเนินคดีเกิดขึ้นโดยไม่มีทนายฝ่ายโจทก์แต่อย่างใด

- เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยได้ข่มขืนฆ่า ธันดา คลาง วัย 25 ปี ที่แม่สอด จังหวัดตาก เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2546 ตำรวจจับผู้ต้องหาหลังจากที่เห็นว่าเพื่อนร่วมงานของเธอกว่าพันคนประท้วงแสดงความไม่พอใจ และเข้าทำร้ายผู้ต้องหา ซึ่งต่อมายอมรับสารภาพ อย่างไรก็ตามพยานผู้เห็นเหตุการณ์เปิดเผยว่า มีคนอีกอย่างน้อยสองคนน่าจะมีส่วนรู้เห็นในเหตุการณ์นี้ แต่ไม่ได้ถูกนำมากล่าวถึงแต่อย่างใด (6)
(6) ข้อมูลจาก http://www.statelessperson.com/

- 8 ก.ค. 2545 น.ส.มะซู หรือมาซู คนงานชาวพม่าถูกฆาตกรใจโหดรุมซ้อมทารุณ ใช้น้ำมันเบนซินราดตัวจุดไฟเผาทั้งเป็น นำขึ้นรถยนต์ไปทิ้งริมถนนสายอุทัยธานี-ทัพทัน หน้าสถานีวิทยุกระจายเสียงบ้านเขากิ่ว หมู่ 5 ต.ดอนขวาง อ.เมืองอุทัยธานี โดยพลเมืองดีผ่านมาพบนำส่ง รพ.อุทัยธานี และเสียชีวิตในเวลาต่อมา หลังเกิดเหตุทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีคำสั่งให้ตำรวจรื้อฟื้นคดีขึ้นมาใหม่ เนื่องจากเป็นคดีอุกฉกรรจ์ ฆาตกรลงมือเหี้ยมโหด โดยไม่เกรงกลัวกฎหมายบ้านเมือง จากเบาะแสและแนวทางการสืบสวนพบว่า คดีนี้มีคนมีสีเป็นผู้บงการอยู่เบื้องหลัง เนื่องจากสงสัยว่า น.ส.มะซูเป็นคนขโมยทรัพย์สินของนายจ้าง จึงรุมซ้อมเพื่อให้รับสารภาพ ก่อนจะใช้น้ำมันราดจุดไฟเผานำร่างไปโยนทิ้งริมถนน (7)
(7) ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 7 กรกฎาคม 2547.

จากที่กล่าวมาข้างต้นคือเหตุการณ์บางเหตุการณ์ของการใช้ความรุนแรงกับแรงงานข้ามชาติที่มาจากประเทศพม่าในพื้นที่ภาคส่วนต่างๆของสังคมไทย เกิดอะไรขึ้นกับคนเหล่านี้? ทำไมเขาต้องถูกทำร้าย ถูกข่มขืน ถูกจับกุมโดย "คนไทยซึ่งเป็นเจ้าของบ้าน"ด้วย? ความโอบอ้อมอารีของคนไทยหายไปไหน? ไหนบอกว่านี้เป็นเมืองพุทธ? ตอนนั้นไม่มีใครช่วยเหลือพวกเขาเลยหรือ? คำถามเหล่านี้วนเวียนปรากฎซ้ำแล้วซ้ำเล่าตลอเวลาดที่เราได้รับรู้เหตุการณ์

หากเราลองพยายามวิเคราะห์ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น หลายแนวคิดทฤษฏีทางสังคมศาสตร์ชี้ชวนให้เห็นว่า เมื่อพูดถึงแรงงานข้ามชาติ คำที่จะปรากฏมาพร้อมกับคำๆนี้ คือ คำว่าแรงงานเถื่อน ผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย ผู้ค้ายาเสพติด หลายต่อหลายครั้งคำเหล่านี้เองเมื่อลองตั้งคำถามกับความรู้สึกเหล่านี้อย่างจริงจัง จะพบว่าภายใต้ความรู้สึกที่ทำให้ปรากฎคำเหล่านี้เกิดขึ้นมาได้เกิดขึ้นภายใต้วาทกรรม "ชาตินิยม" วาทกรรมที่ถูกสร้างขึ้นมาในยุคล่าอาณานิคม เมื่อมันถูกนำไปเชื่อมโยงเข้ากับ "คนไทย" "รัฐไทย" ทำให้วาทกรรมดังกล่าวไม่ได้ปฏิบัติการแค่ในระดับพื้นที่ที่ควบคุมคนกลุ่มนี้ไว้ แต่ลงลึกในระดับของตัวบุคคลที่ทำให้ไม่ว่าใครก็ตามที่เป็นแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติที่มาจากประเทศพม่ากลายเป็นบุคคลอันตราย บุคคลที่ต้องผลักดันกลับประเทศ

ชาตินิยม คนไทย และรัฐไทย
ปรากฏการณ์เหล่านี้เองพิสูจน์ให้เห็นว่า วาทกรรมเรื่องชาติ เรื่องรัฐชาติได้เข้ามาทำลายและลดทอนความเป็นพลเมืองที่มีสิทธิมีเสียงลงอย่างเห็นได้ชัด รัฐชาติได้มาพร้อมกับประวัติศาสตร์การสร้างตัวตนและการสร้างความเป็นอื่นให้กับชนในชาติ ทำให้คนบางกลุ่มในชาติกลายเป็น "คนอื่น" ของชาติอย่างตั้งใจ

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์ (8) ได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า…
(8) บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์. "ความเป็นชาติ : รัฐชาติ และชาตินิยมในยุคโลกาภิวัตน์" ในวารสารอักษรศาสตร์ (ปีที่ 21 ฉบับที่ 2 ธันวาคม 2541-พฤษภาคม 2542), หน้า 24-73.

รัฐชาติเป็นปรากฏการณ์สมัยใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงสามศตวรรษที่ผ่านมานับจากศตวรรษที่ 18 ในด้านหนึ่งรัฐชาติมีพัฒนาการมาจากรัฐแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อันเป็นความพยายามของฝ่ายกษัตริย์ยุโรปราชวงศ์ต่างๆที่พยายามรวมศูนย์อำนาจมาไว้ที่ตัวกษัตริย์ และลดบทบาทและอำนาจของศาสนจักรภายใต้การนำขององค์สันตปาปา

รัฐชาติแรกสุดในความหมายแบบสมัยใหม่กำเนิดจากการประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกาจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษในปี ค.ศ.1776 และกำเนิดจากการปฏิวัติฝรั่งเศสเมื่อปี ค.ศ.1789 ซึ่งได้นำความคิดที่ถือว่าองค์อธิปัตย์ของรัฐก็คือประชาชน(พลเมือง) และเจตจำนงทั่วไปของประชาชน(พลเมือง) คือ ผลประโยชน์ของชาติมาจัดรูปแบบการปกครองที่เป็นรูปธรรมขึ้น

ความคิดแบบชาตินิยม(Nationalism) ได้ปรากฏตนขึ้นในยุคใหม่ในฐานะอุดมการณ์ทางการเมืองที่ถูกผู้ปกครองรัฐนำมาใช้ในรัฐชาติ เพื่อปลุกเร้าอารมณ์รวมหมู่ของพลเมืองในรัฐตนให้อุทิศตนเพื่อรัฐ และใช้เป็นกาวประสานความแตกต่างที่เป็นจริงที่ปรากฏในประชากรพื้นถิ่นต่างๆ ที่ถูกรวมมาเป็นพลเมืองอยู่ใต้ร่มธงแห่งรัฐเดียวกัน รัฐชาติและความคิดแบบชาตินิยมจึงได้กลายเป็นสิ่งที่ส่งเสริมกันและกันในการดำรงสถานะในยุคใหม่ จากพื้นฐานที่ชนกลุ่มใหญ่ภายใต้รัฐชาติหนึ่งๆมักมีบทบาทครอบงำการปกครองของรัฐชาตินั้นๆ

แบบแผนการใช้ชีวิตของกลุ่มตนจึงถูกนำมาส่งเสริม กำหนด กระทั่งบังคับให้เป็นรูปแบบพื้นฐานทางจารีตของรัฐชาตินั้นๆ ความคิดแบบชาตินิยมที่เรียกร้องพลเมืองให้มีความจงรักภักดีต่อชาติตนจึงถูกย้ำให้เป็นเรื่องของการปกป้องสายเลือดหรือชาติพันธุ์ และมีการสร้างมายาภาพเรื่องความเป็นเนื้อเดียวกันทางวัฒนธรรม ซึ่งอิงการมีชาติพันธุ์เดียวกันที่เรียกว่าความคิด
ชาตินิยมแบบเน้นชาติพันธุ์(Ethnic Nationalism) ผลิตผลจากชาตินิยมในรูปนี้ก็คือจักรวรรดินิยม(Imperialism) ของรัฐชาติตะวันตกในศตวรรษที่ 19

ความคิดแบบชาตินิยมทางชาติพันธุ์อาจพัฒนาไปสู่ความคิดแบบคลั่งชาติ(Chauvinism) หรือความคิดแบบคลั่งเผ่าพันธุ์ (Ethnocentrism) ที่ถึงขั้นทำลายล้างกลุ่มชนที่มองว่าเป็นศัตรูได้เสมอ หรือกล่าวอย่างง่ายๆ ชาตินิยม ก็คือ แนวความคิดที่เน้นว่าผลประโยชน์ของชาติเป็นที่สิ่งสำคัญแรกสุด เหนือผลประโยชน์ของกลุ่ม ของชนชั้น หรือของปัจเจกบุคคล นั่นเอง

ในสังคมตะวันตก รัฐชาติเกิดจากความจำเป็นที่ต้องการรวมคนที่มีภาษาและวัฒนธรรมแบบเดียวกันเข้าด้วยกัน ภายใต้ชุมชนทางการเมืองชนิดใหม่ที่เรียกว่า "ชาติ" จากนั้นจึงสร้างรัฐขึ้นมา เพื่อดูแล บริหาร และเป็นตัวแทนของรัฐชาติ จึงเรียกอย่างเต็มรูปว่า "รัฐ-ชาติ"

แต่ในกรณีของ "ประเทศโลกที่สาม" กระบวนการสร้างชาติและรัฐชาติในสังคมที่มีกลุ่มเชื้อชาติ/ชาติพันธุ์หลากหลาย ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องไปสลายบรรดาเอกลักษณ์ต่างๆของสังคมเดิมลง ภายใต้ข้ออ้างของการรวมชาติ/การสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวในชาติ แล้วสร้างเอกลักษณ์ชุดใหม่ขึ้นมาสวมรอยแทนที่เรียกว่า "เอกลักษณ์ประจำชาติ"

ซึ่งโดยทั่วๆไปแล้ว "เอกลักษณ์ประจำชาติชุดนี้" ได้มาจากการชูเอกลักษณ์ของกลุ่มเชื้อชาติ/ชาติพันธุ์หลักในสังคม เป็นสิ่งที่แต่ละชาติ แต่ละวัฒนธรรมกำหนด/สร้างขึ้นภายหลัง ผ่านกระบวนการอบรมเลี้ยงดู และผ่านระบบการศึกษา เป็นระบบความหมาย/ระบบคุณค่าที่สร้างความเป็นชาติ และเอกลักษณ์ตัวตนของคนในชาตินั้นๆขึ้นมา โดยกระทำผ่านการสร้างตำนาน เรื่องเล่าต่างๆเพื่อสร้างตัวตนของชาติขึ้นมา(identity tales/narratives) ในรูปของประวัติศาสตร์ วรรณคดี วัฒนธรรมพื้นบ้าน ระบบสัญลักษณ์ต่างๆ เพื่อสร้างความรู้สึกร่วมของคนในชาติให้เกิดขึ้น โดยเรื่องเล่าเหล่านี้จะเน้นถึงจุดกำเนิด ความต่อเนื่อง ขนบธรรมเนียมประเพณี จารีตปฏิบัติ พิธีกรรมประจำชาติ

สิ่งที่สำคัญที่สุดในกระบวนการสร้างเอกลักษณ์ประจำชาติ ได้แก่
(1) การสร้างมายาคติพื้นฐานว่าด้วยกำเนิดของชาติ วีรบุรุษประจำชาติ
(2) การตอกย้ำความเจ็บปวดรวดร้าวร่วมกันของคนในชาติ
(3) การสร้างความคิดเรื่องชาติพันธุ์ที่บริสุทธิ์ว่าชาติคือที่รวมของคนเชื้อชาติเดียวกัน และเชื้อชาติของตนเองมีความสูงส่งกว่า สามารถกว่า เหนือกว่าเชื้อชาติอื่นๆ (Racism)

ตำนาน/เรื่องเล่าเกี่ยวกับเอกลักษณ์ประจำชาติข้างต้น มักเป็นไปในทำนองการสร้างอดีตที่รุ่งเรือง เพื่อใช้เป็นฐานรากให้กับคนในชาติยึดเหนี่ยว ภาคภูมิใจ หวงแหน และหยิ่งในความเป็นชาติของตน พร้อมที่จะทำทุกอย่างแม้แต่สละชีวิต เพื่อปกป้องเรื่องเล่าเหล่านี้ นอกจากนี้การสร้างเอกลักษณ์ประจำชาติผ่านเรื่องเล่าต่างๆ กระทำควบคู่กันไปกับการสร้างความเป็นอื่นประจำชาติ(National otherness) ด้วย เช่น กรณีของคนอพยพโยกย้ายถิ่น ผู้ลี้ภัย และกลุ่มคนที่เรียกว่า Diaspora ในประเทศต่างๆในปัจจุบัน ที่ถูกมองว่าเป็น the alien other หรือความเป็นอื่นที่เป็นคนต่างชาติ กล่าวอีกนัยหนึ่ง ทุกชาติจะผลิต/สร้างความเป็นอื่นของตนขึ้นมา เพื่อใช้เป็นฐานในการสร้างเอกลักษณ์ประจำชาติ เอกลักษณ์ดำรงอยู่ได้ก็ด้วยความเป็นอื่น และนี่คือสารัตถะที่สำคัญยิ่งประการหนึ่งของการเมืองแบบรัฐชาติ

เอกลักษณ์ประจำชาตินี้เองที่นำไปสู่ประวัติศาสตร์การสร้างตัวตนแบบหนึ่งเดียวและความทรงจำร่วมแห่งชาติ ความทรงจำร่วมแห่งชาตินี้เองที่ไปทำหน้าที่เก็บกด ปิดกั้นความแตกต่างความของกลุ่มเชื้อชาติ/ชาติพันธุ์อื่นๆไว้ภายใต้เอกลักษณ์ชนิดใหม่ที่เรียกว่า "ความเป็นพลเมือง" ซึ่งมีนัยว่าทุกคนในชาติมีฐานะเท่าเทียมกัน เพราะเป็น "พลเมือง" ของชาติเดียวกันไม่มีการแบ่งแยกเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา เพศ วัฒนธรรม ชนชั้น วรรณะ หรือผิวสี เป็นต้น การเป็นพลเมืองของชาตินั้นๆ ก็คือ การบ่งบอกให้รู้ว่าใครเป็นใคร เป็นอะไร มีฐานะบทบาทอย่างไร ใครควรจะถูกผนวกเข้ามาเป็นพวกด้วย เงื่อนไขหลักเกณฑ์ใด และใครควรจะถูกขจัดออกไป

ฉะนั้นการสร้างตัวตนของรัฐชาติหนึ่งๆ จึงเป็นการไปเปลี่ยนสมดุลของกลุ่มเชื้อชาติ/ชาติพันธุ์ต่างๆในสังคมจากเดิมที่วางอยู่บนฐานของวัฒนธรรมสู่ฐานทางการเมือง ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาติ จึงได้มาด้วยการใช้อำนาจ/ความรุนแรงเข้าไปเก็บกดปิดกั้นกดทับความแตกต่างในชาติไว้ ไปจัดระบบระเบียบกลุ่มคนอื่นๆเชื้อชาติอื่นๆในชาติไว้ ผ่านกระบวนการสร้างความหลงลืมในรูปของตำนาน เรื่องเล่าขานประจำชาติแบบต่างๆ หรือผ่านยุทธศาสตร์เชิงวาทกรรม อย่างเช่นวลีเรื่อง "เอกภาพและความมั่นคงของชาติ" หรือ "การอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขระหว่างคนชาติพันธุ์ต่างๆ" เป็นต้น

กลุ่มเชื้อชาติ/ชาติพันธุ์ที่ถูกเก็บกด ปิดกั้น จากกระบวนการสร้างชาติดังกล่าว ก็จะพยายามเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องความเป็นอิสระให้กับตนเอง ในรูปของขบวนการปลดปล่อยเพื่อแยกออกไปตั้งรัฐ-ชาติของตนเอง (a nation liberation movement) ขณะเดียวกันกลุ่มเชื้อชาติ/ชาติพันธุ์หลักที่เป็น "ตัวแทน" ของชาติ และมีอำนาจรัฐอยู่ในมือก็จะปราบปรามกลุ่มเชื้อชาติ/ชาติพันธุ์เหล่านั้นให้ราบคาบไป(9)
(9) ไชยรัตน์ เจริญโอฬาร. วาทกรรมการพัฒนา (กรุงเทพมหานคร : วิภาษา ,2545), บทที่ 6.

คริสเตวา (Kisteva) นักปรัชญาฝรั่งเศส (อ้างใน บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์. "ความเป็นชาติ : รัฐชาติ และชาตินิยมในยุคโลกาภิวัตน์…", หน้า 38-45.) ได้เสนอคำอธิบายแนวคิดชาตินิยมในเชิงจิตวิเคราะห์ไว้ว่า เมื่อมีรัฐชาติใหม่ๆ จำนวนมากเกิดขึ้นพร้อมๆกันกับกระแสชาตินิยมแบบเน้นชาติพันธุ์ หรือวัฒนธรรมในรัฐใหม่เหล่านั้น ที่อ้างความแตกต่างทางสายเลือด ทางศาสนา และเกิดความขัดแย้งกันเองจนถึงขั้นต้องใช้กำลังอาวุธ เข้าประหัตประหารกันภายในรัฐและระหว่างรัฐ จนกระทั่งถึงขนาดพยายามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ดังที่เกิดขึ้น เช่น ในเขมร ในพม่า เป็นต้น การมุ่งกลับไปอิงรากเหง้าไม่ว่าจะเป็นชนชาติหรือศาสนาหรือวัฒนธรรมดังกล่าว อาจกล่าวได้ว่าเป็นการกลับไปหาโล่ป้องกันจากอดีต

กระบวนการดังกล่าวนี้มีพื้นฐานทางจิตมาจากการเกลียดชังตัวตน หลังจากได้เผชิญความกดดันจากทรราชย์เบ็ดเสร็จนิยมในอดีต ซึ่งได้พยายามสลายเอกลักษณ์แห่งตัวตนที่อิงกับปัจเจกภาพ วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ เพื่อให้เป็นคนแบบใหม่ที่มีตัวตนแบบใหม่ ตัวตนที่ถูกเกลียดชังนี้มีสองตัวตน กล่าวคือ

1. การเกลียดคนอื่นที่ไม่ได้ร่วมชาติกำเนิดกับเรา โดย "ตัวฉัน" ถอยตนค้นหาวัยเด็กที่ล่วงเลยมาและถอยเข้าหาหมู่ญาติใกล้ชิดด้วยความคาดหวังว่าจะเป็นที่ที่ "ตัวฉัน" ให้ความไว้วางใจได้ มากกว่าที่จะไว้วางใจ"คนต่างพวก" หรือคนอื่นที่ไม่ได้ร่วมชาติกำเนิดเดียวกับตัวเรา

2. การเกลียดตนเอง เมื่อผ่านการเผชิญกับความรุนแรง และเมื่อตัวปัจเจกบุคคล "ตัวฉัน" นี้เกิดความสิ้นหวังต่อคุณสมบัติของตนเอง เกิดหวั่นเกรงต่อเสรีภาพของตนเองซึ่งต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนที่มากเกินไป จึงถอยตนถอนตัวเข้าสู่โล่ปกป้องของครอบครัว ชาติพันธุ์ กลุ่มวัฒนธรรม หรือกลุ่มผิวสี

จากการเกลียดชังที่ปกป้องตนนี้เอง ที่ค่อยๆเฉได้ง่ายๆเข้าสู่การเกลียดชังที่ถึงขั้นต้องใช้การประหัตประหาร จากการอยู่ในสภาพของดวงจิตที่บาดเจ็บนี้ เราก็หันไปรอบๆทำการโจมตีชาติบ้านใกล้เรือนเคียง ที่ต่างก็เผชิญความเจ็บปวดอยู่เช่นกันจากทรราชย์เบ็ดเสร็จทางการเมือง และทางศาสนาในอดีต ตรงนี้จึงเป็นการมองหาช่วงที่เปราะในสายโซ่ของความเกลียดชัง เพื่อให้มาเป็นแพะรับบาปจากความตกอับของตนเอง แนวคิดชาตินิยมดังกล่าวจึงเป็นเพียงแค่ปฏิกิริยาของความเกลียดชังตัวตนของตนเอง และถ่ายโอนความเกลียดชังตัวตนของตนเองนี้ไปสู่คนอื่น(ตัวตนอื่นๆ)แทน

ต่อกรณีของรัฐไทยก็เช่นกัน เราพบว่าแนวคิดเรื่องรัฐชาติสมัยใหม่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อประมาณรัชกาลที่ 5 นี้เอง การเกิดขึ้นของสิ่งที่เรียกว่ารัฐนั้น เป็นปรากฏการณ์ค่อนข้างใหม่ในสังคมไทย แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือกรอบคิดที่ว่ารัฐชาติเป็นรูปแบบสุดท้ายของหน่วยทางการเมือง กลับได้รับการยอมรับกันทั่วไปทั้งในทางพฤตินัยและนิตินัย ความเป็นรัฐไทยสมัยใหม่ถูกนิยามด้วยลักษณะ 5 ประการ คือ มีอาณาเขต มีอธิปไตย มีอำนาจควบคุมทางเศรษฐกิจ มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม และมีศักดิ์ศรีฐานะเท่าเทียมรัฐอื่นในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ

การยึดถือลักษณะเช่นนี้เป็นเกณฑ์กำหนดภาวะความเป็นรัฐนั่นเอง ที่ก่อให้เกิดความคิดและความเชื่อสืบเนื่องตามมาว่ารัฐแบ่งแยกไม่ได้ หรือขาดคุณลักษณะใดลักษณะหนึ่งที่กล่าวมาไม่ได้ แต่หากพิจารณาในแง่สังคมวัฒนธรรม จะเห็นว่ารัฐไทยมีลักษณะเป็นรัฐพหุวัฒนธรรม กล่าวคือ มีกลุ่มคนหลากหลายเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม ดำรงอยู่ร่วมกัน แต่อำนาจทางการเมืองของรัฐไทยมักตกอยู่กับกลุ่มวัฒนธรรมที่เป็นเสียงข้างมากหรือเป็นกลุ่มที่มีอำนาจมาแต่ดั้งเดิม และการรักษาความมั่นคงของรัฐนั้น แท้ที่จริงก็คือการรักษาสถานภาพเดิมหรือความมั่นคงของกลุ่มวัฒนธรรมที่กุมอำนาจในรัฐนั่นเอง

ต่อกรณีนี้ ธงชัย วินิจจะกูล กล่าวไว้เช่นเดียวกันในคำบรรยายสำคัญของเขาเรื่อง "เรื่องราวจากชายแดน: สิ่งแปลกปลอมต่อตรรกะทางภูมิศาสตร์ของประวัติศาสตร์แห่งชาติไทย" ว่าชาติไทยวางอยู่บนฐานคติว่าความรู้และตรรกะทางภูมิศาสตร์บางแบบ เป็น "ความจริง" อย่างไม่ต้องสงสัย และหากตั้งข้อสงสัยกับความรู้แบบนี้ ประวัติศาสตร์ก็จะถูกสงสัยท้าทายไปด้วย

ธงชัยเรียกความรู้ทางภูมิศาสตร์แบบนี้ว่า "ตรรกะทางภูมิศาสตร์ของประวัติศาสตร์ไทย" (The Geographical Logic of Thai National History) ซึ่งแม้จะไม่ใช่ตรรกะชุดเดียวที่กำหนดประวัติศาสตร์ แต่ก็มีตรรกะชุดอื่นไม่มากนักที่มีบทบาทในลักษณะแบบเดียวกัน เพราะฉะนั้นความคิดเรื่องความเป็นชาติไทยจึงมีทำงานภายใต้การคิดถึงชาติโดยกรอบคิดเรื่องอาณาเขตดินแดน

อย่างไรก็ดีดินแดนไม่ได้เป็นฐานคิดเพียงอย่างเดียวของความเป็นชาติไทย เพราะฐานคติที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่า "ดินแดน" ก็คือการยอมรับว่าชาติไทยเป็นของคนเชื้อชาติไทยอย่างไม่มีทางเป็นอื่นไปได้ ถึงขั้นที่หากคิดถึงชาติโดยออกไปจากกรอบอ้างอิงเรื่องเชื้อชาติแบบนี้ ความเป็นชาติไทยก็จะถูกสั่นคลอนและท้าทายอย่างรุนแรง

ทั้งหมดนี้ทำให้ความเป็น "เชื้อชาติ" เป็นปัญหาใหญ่ของชาติไทยตลอดเวลา จนกล่าวได้ว่าชีวิตประจำวันของคนไทยนั้น ส้องเสพ และพัวพันกับวาทกรรมความเป็นเชื้อชาติไทยไปทั้งหมด แน่นอนว่าสังคมไทยไม่มีประวัติเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เหมือนหลายสังคม จึงไม่ได้เป็นสังคมที่คลั่งเชื้อชาติ จนถึงแก่ฆ่าคนที่ผิดแปลกทางเชื้อชาติได้ เชื้อชาติที่ "ไม่ไทย" จึงไม่ใช่สิ่งที่ต้องถูกกำหลาบปราบปรามให้หมดสิ้นไป หากมีแต่เชื้อชาติที่เป็นภัยคุกคามดินแดนเท่านั้น ที่ถูกถือว่าเป็นอันตรายร้ายแรง

ถึงจุดนี้ ความเป็นชาติไทยจึงทำงานอยู่บนตรรกะที่สำคัญสองชนิด ตรรกะแรกคือตรรกะทางภูมิศาสตร์แห่งชาติ และตรรกะที่สองคือตรรกะเรื่องความเป็นเชื้อชาติแห่งชาติไทย นำไปสู่การคิดถึงชาติไทยในแบบแผนซึ่งเป็นพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่มีลักษณะทางเชื้อชาติอย่างชัดแจ้ง(Ethno geographical territorial space) ไม่ใช่ชาติซึ่งปราศจากลักษณะทางเชื้อชาติในแบบหลายสังคม ในตรรกะแบบนี้ความผิดแปลกทางเชื้อชาติและดินแดนเป็นเรื่องอันตราย จนอาจทำให้ถูกฆ่าได้อย่างโหดร้าย(10)
(10) ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์. "ชาติ, เชื้อชาติ และดินแดน" ใน http://www.thaimisc.com/freewebboard/php/vreply.php?user=midnightuniv&topic=4157

อดิศร เกิดมงคล ชี้ชวนให้เห็นต่อว่า นอกจากแนวคิดเรื่องชาตินิยมจะสร้างความเป็นอื่นบนท่ามกลางการใช้ความรุนแรงกดทับไว้แล้ว สำหรับสังคมไทยแนวคิดเรื่องทุนนิยมเสรีแห่งชาติยังสอดประสานรับกับการสร้างความเป็นอื่นอย่างสอดคล้องอีกเช่นกัน (11)
(11) ได้ความคิดมาจากการอภิปรายเรื่องแรงงานข้ามชาติ :ผลกระทบต่อสังคมไทย จัดโดยภาควิชาสังคมวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร วันที่ 8 ธันวาคม 2547 เวลา 09.00-12.00น.

ท่ามกลางการพัฒนาประเทศให้เป็นประเทศอุตสาหกรรมของไทย แรงงานเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการเกื้อหนุนการพัฒนาประเทศ ให้พัฒนาไปได้อย่างรุดหน้าและทัดเทียมประเทศอุตสาหกรรมอื่นๆ สำหรับการผลิตสินค้าครั้งหนึ่งๆ แรงงานเป็นทั้งปัจจัยและต้นทุนสำคัญหนึ่งในการผลิต หากต้นทุนสูงสินค้าที่ผลิตมาได้ก็ย่อมมีราคาสูงติดตามไปด้วย ดังนั้นการแสวงหากำไรสูงสุดจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของนายทุนผู้ประกอบการทั้งหลาย

และวิธีการหนึ่งที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่นำไปใช้เพื่อลดต้นทุนการผลิตนั้นคือ การจ้างแรงงานราคาถูกเข้าสู่กระบวนการผลิต ในขณะที่แรงงานไทยมีกฎเกณฑ์มาตรฐานค่าแรงที่นายทุนต้องปฏิบัติตามสูง(ในความรู้สึกของนายทุน) ทำให้ผู้ประกอบการไม่เต็มใจที่จะจ้างแรงงานไทย แรงงานราคาถูกโดยเฉพาะแรงงานที่มาจากประเทศพม่าจึงเป็นที่หมายปองสำหรับผู้ประกอบการ

หนังสือโศกนาฎกรรมสยามของวอลเดน เบลโลได้เขียนไว้อย่างชัดเจนว่า การพึ่งพาแรงงานอพยพซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานผิดกฎหมาย เป็นแรงงานราคาถูกที่หาง่าย และสามารถกดราคาได้ ฉะนั้นจึงไม่น่าประหลาดใจเลยที่ครั้งหนึ่ง ผู้ประกอบการได้รวมตัวกันตั้งกลุ่มผลประโยชน์ขึ้นมากดดันการตัดสินใจของรัฐบาลเพื่อทำให้แรงงานอพยพกลายเป็นแรงงานถูกกฎหมาย และอนุญาตให้คนเหล่านั้นทำงานได้ในสาขาอาชีพการประมง การเกษตร เหมืองแร่ ก่อสร้าง นาเกลือ โรงงานทำอิฐ และโรงงานทำโอ่งในปี 2539

ในขณะที่รัฐบาลและกลุ่มผู้ประกอบการอ้างว่าการกระทำดังกล่าวเป็นเรื่องจำเป็น เนื่องจากเกิดภาวะการขาดแคลนแรงงานไทย แต่นักวิชาการและองค์กรพัฒนาเอกชนกลับเห็นแตกต่างไปว่า เป้าหมายที่แท้จริงของการจ้างแรงงานเหล่านี้ก็คือ ต้องการสร้างพลังที่ทำให้ค่าจ้างถูกลงมากกว่า

หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547 ปีที่ 27 ฉบับที่ 9758 รายงานว่านายจ้างตากโอดขาดแคลนแรงงาน

"นายทวีกิจ จตุรเจริญคุณ รองประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตาก กล่าวว่า ขณะนี้แรงงานต่างด้าวในพื้นที่จังหวัดตาก ที่ขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวได้หลั่งไหลเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯและจังหวัดชั้นในจำนวนมาก ทั้งที่มีการขออนุญาตเปลี่ยนที่ทำงานอย่างถูกต้องและไม่ถูกต้อง โดยมีแนวโน้มการเคลื่อนย้ายออกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในเรื่องนี้จะส่งผลให้สถานประกอบการขาดแคลนแรงงานอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นผลของนโยบายที่ให้แรงงานต่างด้าวขอเปลี่ยนย้ายสถานประกอบการได้ ซึ่งหากจังหวัดตากขาดแรงงาน ย่อมกระทบต่อนโยบายที่กำหนดให้เป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจ ที่รัฐบาลได้ประกาศและอนุมัติงบประมาณในการดำเนินการ นอกจากนี้การที่คนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองเข้าไปอยู่ในจังหวัดชั้นในย่อมมีผลกระทบต่อความมั่นคงและสังคมอย่างแน่นอน

นายทวีกิจกล่าวว่า นายจ้างหลายรายแจ้งต่อสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตากว่า ลูกจ้างต่างด้าวที่ผ่านการขึ้นทะเบียน ที่มีเอกสารแสดงตนเลข 13 หลัก ถูกชักชวนให้ย้าย เปลี่ยนนายจ้างเข้าไปทำงานในจังหวัดชั้นใน จะได้ค่าจ้างที่สูงกว่า ทำให้คนต่างด้าวจำนวนมากหลงเชื่อยอมจ่ายเงินจำนวนมากเพื่อเดินทางเข้ามาสู่จังหวัดพื้นที่ชั้นใน โดยขณะนี้พื้นที่จังหวัดชายแดน อาทิ เชียงราย เชียงใหม่ ตาก ระนอง ได้มีขบวนการค้าแรงงานต่างด้าวเข้ามาชักชวนกลุ่มแรงงานต่างด้าว ให้เข้าทำงานในพื้นที่จังหวัดชั้นในโดยคิดค่านำส่งแรงงานจากพื้นที่ชายแดน คนละ 2-3 หมื่นบาท อีกทั้งแรงงานต่างด้าวบางส่วน แม้จะได้รับการขึ้นทะเบียนคนต่างด้าวเข้าเมือง แต่ยังไม่ผ่านการตรวจโรค อาจจะเป็นอันตรายต่อการแพร่ระบาดของโรค จึงควรเร่งให้มีการตรวจจับส่งกลับประเทศภูมิลำเนา เนื่องจากพ้นเงื่อนไขได้รับสิทธิให้อยู่ในประเทศไทย 1 ปี เมื่อออกนอกพื้นที่โดยไม่ได้รับอนุญาตให้เปลี่ยนย้ายสถานที่ทำงาน"

แต่สิ่งสำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ แม้นายทุนจะยินยอมให้แรงงานข้ามชาติเหล่านี้ผ่านเข้าสู่กระบวนการจัดการแรงงานอย่างถูกกฎหมาย แต่ก็มิได้หมายความว่าการเข้าสู่ขั้นตอนทางกฎหมายไทย จะเอื้อให้แรงงานข้ามชาติเหล่านี้ได้รับค่าแรงที่สอดคล้องกับมาตรฐานทางกฎหมายแรงงาน เพราะตัวตนหนึ่งนอกเหนือจากการเป็น "แรงงาน" แล้ว แนวคิดชาตินิยมผสานแนวคิดความมั่นคงแห่งชาติกลับไปตอกย้ำและกดทับให้ "แรงงาน" เหล่านี้ต้องดำรงภาวะการทำให้ถูกเป็นแรงงานเถื่อน ผู้น่ากลัว ผู้ค้ายาเสพติด ผู้เป็นภัยต่อความมั่นคงและสังคมไทยอยู่ด้วยเช่นกัน

นั้นหมายความว่า มันมีการกำหนดสถานการณ์บางอย่างขึ้นมาให้คนในสังคมไทยเข้าใจว่านี้คือความจริง โดยความจริงที่ถูกสร้างขึ้นมานี้ได้ไปสอดประสานกับความเจริญเติบโตรุดหน้าทางเศรษฐกิจไทย กล่าวคือ แรงงานข้ามชาติเหล่านี้ได้รับค่าแรงต่ำกว่าที่กฎหมายแรงงานไทยกำหนดไว้อยู่แล้ว มิพักถึงการถูกละเมิดสิทธิแรงงานนานัปการดังที่ได้กล่าวไว้ในตอนต้น

ฉะนั้นเมื่อแรงงานจะลุกขึ้นมาเรียกร้องหรือขอเพิ่มค่าแรงตามที่ตนควรได้รับ แนวคิดชาตินิยมผสานกับแนวคิดความมั่นคงแห่งชาติจะถูกหยิบขึ้นมาอธิบาย/โต้ตอบ/ตอกกลับสู่แรงงานทันทีว่า แรงงานเหล่านี้ "เป็นภัยต่อความมั่นคง ภัยร้ายแรงต่อสังคมไทย ผู้อกตัญญูไม่รู้ซึ้งข้าวแดงแกงร้อนที่คนไทยยื่นมือให้ จับส่งตำรวจให้รู้แล้วรู้รอดเสียเลยดีไหม" แล้วการถูกนิยามความหมายให้เช่นนี้จะมีแรงงานคนใดกล้าลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิที่ตนพึงได้ รวมทั้งกลับยิ่งไปทำให้นายทุนไทยกดทับชีวิตและตัวตนได้มากขึ้น เพราะความกลัวได้แทรกซึมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ ภายใต้การทำงานของแนวคิดทั้งสองที่ประสานกันได้เป็นอย่างดีและตั้งใจให้เกิดขึ้นมา

วันนี้เราอาจไม่รู้จัก "คนย้ายถิ่น/พลัดถิ่นที่มาจากประเทศพม่า" เสียด้วยซ้ำ มิพักต้องกล่าวถึงเฉพาะตัวตนของแรงงานข้ามชาติที่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของคนพลัดถิ่นเท่านั้น ความรับรู้ของคนไทยที่มีต่อคำว่า"พม่า"อาจเข้าใจได้เพียงสงครามระหว่างกรุงหงสาวดีกับกรุงอโยธยาที่ถูกกล่าวถึงอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ซึ่งสงครามที่เกิดขึ้นในวันเวลานั้นมิเกี่ยวข้องกับคนพลัดถิ่นในสถานการณ์ปัจจุบันเสียด้วยซ้ำ คำว่า"พม่า"อาจมีความหลากหลายและทับซ้อนมากกว่าเพียง "มึงมาเผากู" "กูก็ต้องกลับไปฆ่าคนของมึง" ลองทบทวนอย่างจริงจังเราอาจจะยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า แรงงานข้ามชาติ(ที่เราเรียกว่าแรงงานต่างด้าว)คือใคร แน่ใจหรือว่าแรงงานต่างด้าวที่เราๆท่านๆเข้าใจนั้นมีอยู่จริง แรงงานต่างด้าวที่ว่านั้นอาจจะเป็นประดิษฐกรรมของรัฐไทยในการจัดการกับความเป็นอื่น เพื่อยืนยันความเหมือน/ความมีตัวตนของชาติไทย(ที่ไม่มีจริง)ก็เป็นได้

ความเป็นอื่นแบบฝั่งอิระวดีที่เดินทางมาตอกย้ำนี้ กลับทำให้เราทั้งรักทั้งเกลียดและไม่ไว้ใจ อยากจะขับไล่ไสส่งออกไป แต่ก็ทำไม่ได้อย่างเต็มที่ เพราะมันยิ่งใหญ่มีพลังอำนาจทางเศรษฐกิจ เป็นฐานพลังขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่สำคัญของไทยอยู่ ถ้าขาดแรงงานต่างด้าวหรือพม่าๆพวกนี้ไป เศรษฐกิจไทยฤาจะคงมั่นและค้ำจุนประเทศไทยให้อยู่ได้ในระบบทุนนิยมเสรีวันนี้

จากกรณีปรากฎการณ์ความรุนแรงตัวอย่างที่ยกมาแสดงไว้ในตอนต้นนั้น ถ้าเราวิเคราะห์ปรากฏการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นอาจชวนให้เห็นภาพสะท้อนด้านอัปลักษณ์/น่าสะพึงกลัวของสังคมไทยบางภาพก็เป็นไปได้ (12)
(12) ได้ความคิดจากชัยวัฒน์ สถาอานันท์. อาวุธที่มีชีวิต (กรุงเทพมหานคร: ฟ้าเดียวกัน, 2547), หน้า 91-95.

กล่าวคือ ปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดจากการใช้ความรุนแรงกับแรงงานข้ามชาติที่เกิดขึ้นนี้น่าจะผิดแผกไปจากความคิดความเชื่อทั่วๆไปเกี่ยวกับสังคมไทย ภายใต้อิทธิพลมายาคติหลักว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่สงบสันติอารีอารอบ แต่กับเหตุการณ์ทางสังคมที่ค่อยๆปรากฏขึ้นกลับกลายเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ ควรปกปิดหรือผลักไสไปอยู่ที่ชายขอบแห่งวาทกรรมสังคม ปรากฏการณ์การใช้ความรุนแรงกับแรงงานข้ามชาติได้สะท้อนแง่มุมบางด้านให้ได้เรียนรู้ ดังนี้

1. การดำรงอยู่ของความรุนแรงชนิดนี้สะท้อนว่าสังคมไทยบางส่วนกำลังบิดเบี้ยว อึดอัด อาจถึงกับแตกร้าว การวิเคราะห์ปรากฎการณ์ที่แรงงานข้ามชาติถูกใช้ความรุนแรงจึงอาจถือเป็นภาพตัวแทน(Representation) สะท้อนความผิดปกติบิดเบี้ยว และเช่นเดียวกับแนวทางการศึกษาภาพตัวแทนทั้งหลาย ทุกครั้งที่ถือบางภาพเป็นตัวแทนก็หมายความว่าภาพนั้นก็ไม่ใช่ตัวจริง เพราะภาพร่างตัวแทนย่อมไม่อาจทดแทนภาพของตัวจริงได้อย่างสัมบูรณ์

ขณะเดียวกันการนำเสนอบางสิ่งหรือบางปรากฎการณ์ในฐานะตัวแทนของอะไรบางอย่าง (representing something) ย่อมหมายความว่าอีกบางสิ่งหรือปรากฎการร์อื่นกำลังถูกทดแทนหรือทำให้หายไปไม่ปรากฎ (absence of some other things) ในทางกลับกันหากหลงเข้าใจว่า แรงงานข้ามชาติ คือ ผู้มาแย่งงานคนไทย ผู้นำเชื้อโรคร้ายเข้ามา ผู้ฆ่า ผู้ค้ายาเสพติด เห็นได้ว่าการโฆษณา การประกาศ การประชาสัมพันธ์จากหน่วยงานราชการต่างๆ ภาพเหล่านี้ก็จะเป็นตัวแทนทางสังคมด้านหนึ่ง ซึ่งย่อมหมายความว่าอีกบางส่วน เช่น การกระทำทารุณต่อแรงงานข้ามชาติ การละเมิดสิทธิหรือการถูกทำร้ายจากนายจ้างคนไทย ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในสังคม จะกลายเป็นส่วนเสี้ยวของปรากฏการณ์ทางสังคมที่ขาดหายไปเช่นกัน

2. ในฐานะภาพสะท้อนทางสังคมอาจชวนให้คิดต่อไปได้ว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวส่งผลต่อสังคมโดยรวมอย่างไร ปรากฏการณ์ที่คนไทยกลายเป็นผู้ก่อความรุนแรงหรือกลายเป็นผู้ที่ละเมิดสิทธิ แสดงให้เห็นว่าสังคมไทยกำลังทรุดโทรมอ่อนแอ ที่สำคัญวิธีการที่สังคมจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ ก็น่าจะสะท้อนภาพสังคมนั้นๆได้เป็นอย่างดี

3. ถ้าเราอธิบายความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้นว่า นายจ้างที่ทำทารุณกรรมต่อแรงงานข้ามชาติล้วนผิดปกติทางจิต เราคงต้องตั้งคำถามต่อไปว่า ถ้าผู้คนในสังคมล้วนผิดปกติทางจิตจริง หมายความว่าเกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทยที่เป็นบริบทแวดล้อมเราอยู่ เป็นไปได้หรือไม่ว่าที่พวกเขาเจ็บป่วยทางจิต ก็เพราะสังคมนั้นเองที่กำลังวิปลาสป่วยไข้ผิดปกติอยู่ด้วยเช่นกัน

ถ้าตัวสังคมป่วยไข้วิปลาส เป็นไปได้หรือไม่ว่ามีบางสิ่งผิดปกติ ทั้งในระดับโครงสร้างของสังคมอย่างระบบการจัดการทางเศรษฐกิจ ระเบียบทางการเมือง หรือสถาบันทางกฎหมายซึ่งทำหน้าที่ดูแลกระจายความยุติธรรมในสังคม ทั้งในระดับวัฒนธรรมซึ่งเป็นตัวแปรที่ทั้งมองเห็นได้ยากกว่าและเปลี่ยนแปลงช้ากว่าสถาบันและระเบียบทางการเมือง วัฒนธรรมของมนุษย์อาจถือได้ว่าเป็นไวยากรณ์ทางสังคม(social grammar) ที่ทำหน้าที่ให้ความชอบธรรมกับพฤติกรรมอย่างการใช้ความรุนแรงต่อแรงงานข้ามชาติที่เกิดขึ้น

4. วิธีที่สังคมจัดการกับความรุนแรงที่เกิดขึ้น สะท้อนให้เห็นว่า "เรา" กลัวแรงงานข้ามชาติ ความกลัวแรงงานข้ามชาติที่เกิดขึ้น กลายเป็นการผลักไสไม่ให้ที่ทางกับพวกเขา การที่ทำให้คนรู้สึกไม่มีที่ทาง ไร้ความรัก ความสัมพันธ์กับผู้อื่น หรือไม่ไว้วางใจกันแล้วเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะผลักเขาเข้าไปสู่วงจรแห่งความรุนแรงได้ง่ายขึ้น

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับแรงงานข้ามชาติถ้าวิเคราะห์กันอย่างที่สุดมันมีกระบวนการในการให้ความชอบธรรมกับประชาชนไทยบางคน/บางกลุ่ม/บางพวก โดยมี"รัฐ"คอยค้ำจุนความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงอยู่เบื้องหลัง หลายครั้งเราขลาดเกินไปที่จะตั้งคำถามว่า "รัฐมีสิทธิหรือไม่ที่จะจัดการ/สังหาร/ใช้ความรุนแรงกับคนในชาติที่ถูกทำให้แตกต่าง/หรือแตกต่างจากที่รัฐต้องการ?"

การอ้างความชอบธรรมแบบง่ายๆว่าเพื่ออนาคตที่ดีของชาติมาเป็นเหตุผลในการใช้ความรุนแรง เป็นสิ่งสะท้อนถึงความมักง่ายของวัฒนธรรมไทยที่มีต่อตัวตนของความเป็นมนุษย์ เอาชาติมาลดทอน หรือลบคุณค่าความเป็นมนุษย์ของพวกเขาให้ด้อยค่าลงไป การณ์กลับกลายสะท้อนให้เห็นยิ่งขึ้นว่าชาติไทยกลายเป็นชาติที่โหดร้าย ไม่สนใจชีวิตของมนุษย์ที่ได้รับผลกระทบมาตั้งแต่ยังมิได้โยกย้ายถิ่นเสียด้วยซ้ำ

 

 

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 560 เรื่อง หนากว่า 7000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com




 

H

งานในภาคเกษตรกรรม ได้รับค่าแรงต่ำ ไม่มีความแน่นอนในการทำงานเพราะเป็นงานตามฤดูกาล นอกจากนี้แรงงานในภาคเกษตรกรรมยังไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานของไทย ปัญหาที่พบมากที่สุด คือ การไม่ได้รับค่าแรงจากนายจ้าง เนื่องจากนายจ้างจะใช้วิธีการบ่ายเบี่ยงไม่ยอมจ่ายค่าแรง ด้วย หรือบางครั้งใช้วิธีการแจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาจับกุมแรงงานเหล่านี้ (เพื่อเบี้ยวค่าแรง)

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 560 เรื่อง หนากว่า 7000 หน้า ในรูปของ CD-ROM ในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง) สนใจสั่งซื้อได้ที่
midnightuniv(at)yahoo.com
หรือ ส่งธนาณัติถึง
สมเกียรติ ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202

กรุณาส่งธนาณัติแลกเงินไปยัง
สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50202
อย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์

...เมื่อมีรัฐชาติใหม่ๆ จำนวนมากเกิดขึ้นพร้อมๆกันกับกระแสชาตินิยมแบบเน้นชาติพันธุ์ หรือวัฒนธรรมในรัฐใหม่เหล่านั้น ที่อ้างความแตกต่างทางสายเลือด ทางศาสนา และเกิดความขัดแย้งกันเองจนถึงขั้นต้องใช้กำลังอาวุธ เข้าประหัตประหารกันภายในรัฐและระหว่างรัฐ จนกระทั่งถึงขนาดพยายามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ดังที่เกิดขึ้น การมุ่งกลับไปอิงรากเหง้าไม่ว่าจะเป็นชนชาติหรือศาสนาหรือวัฒนธรรมดังกล่าว อาจกล่าวได้ว่าเป็นการกลับไปหาโล่ป้องกันจากอดีต กระบวนการดังกล่าวนี้มีพื้นฐานทางจิตมาจากการเกลียดชังตัวตน หลังจากได้เผชิญความกดดันจากทรราชย์เบ็ดเสร็จนิยมในอดีต ซึ่งได้พยายามสลายเอกลักษณ์แห่งตัวตนที่อิงกับปัจเจกภาพ วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ (Kisteva)

 

ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ
เจ้าของพื้นที่ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ
เว็ปไซต์ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ออกแบบขึ้นมาเพื่อใช้กับ Display properties : screen area 600 X 800 pixels ซึ่งจะให้ภาพที่คมชัดและสมบูรณ์ที่สุด