ผลงานภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบบทความบริการฟรีของ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

R
relate topic
180448
release date

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 562 หัวเรื่อง
ปาฐกถา ๗๐ ปี สุลักษณ์ ศิวรักษ์
โดย : นิธิ เอียวศรีวงศ์
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
บทความบริการฟรีสำหรับนักศึกษา

The Midnight 's article

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ

Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com

เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะ
สามารถแก้ปัญหาได้

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
เว็ปไซท์นี้มีการคลิกโดยเฉลี่ยต่อวัน 14119-26256 ครั้ง สำรวจเมื่อเดือนสิงหาคม 47
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ เพื่อประโยชน์ต่อสังคม

คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

ปาฐกถาพิเศษในวาระครบรอบ ๗๐ ปี
สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ในประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาไทย
นิธิ เอียวศรีวงศ์
นักวิชาการอิสระ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

หมายเหตุ: ปาฐกถานี้เคยได้รับการตีพิมพ์แล้วในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม
วันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ.๒๕๔๗
เผยแพร่บนเว็ปไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๑๘ เมษายน ๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 12 หน้ากระดาษ A4)


สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ในประวัติศาสตร์ ภูมิปัญญาไทย

นิธิ เอียวศรีวงศ์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
เขียนจากบันทึกย่อสำหรับการแสดงปาฐกถาพิเศษในวาระครบรอบ ๗๐ ปีสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ซึ่งมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ร่วมกับโรงเรียนรุ่งอรุณจัดขึ้น ในวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ ที่โรงเรียนรุ่งอรุณ บางมด กรุงเทพฯ

เมื่อผมได้รับคำขอร้องจากอาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ให้มาพูดเนื่องในงานฉลองอายุครบ ๗๐ ของคุณสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ผมรู้สึกทั้งอยากพูดและไม่อยากพูดไปพร้อมกัน

ที่ไม่อยากพูดก็เพราะรู้อยู่แล้วว่า คุณสุลักษณ์ต้องอยู่ในงานด้วย จึงต้องพูดอะไรเกี่ยวกับคุณสุลักษณ์ต่อหน้าคุณสุลักษณ์ ผมคงกระดากกระเดื่องอยู่ เพราะเคารพนับถือกันมานาน แต่ในขณะเดียวกันก็อยากพูด เพื่อแสดงความยินดีกับคุณสุลักษณ์ในวาระนี้

อันที่จริงการที่มีอายุ ๗๐ ปีเฉยๆ ไม่ใช่เหตุอันน่ายินดีอะไร พวกเราทุกคนในที่นี้ ถ้าทนหายใจไปเรื่อยๆ ก็จะมีอายุ ๗๐ กันถ้วนหน้า หากเฉพาะกรณีของคุณสุลักษณ์นั้นน่ายินดี เพราะเป็น ๗๐ ปีที่ได้ใช้ชีวิตของตัวมาอย่างมีคุณประโยชน์แก่สังคมเป็นอันมาก และยังสามารถดำรงตนในฐานะอันควรแก่การเคารพยกย่องสืบมาได้จนถึงวันนี้ ในท่ามกลางความผันผวนขึ้นลงของชีวิตในโลกปัจจุบัน ซึ่งมักจะดึงคนดีๆ ให้เสียคนไปได้ง่ายๆ อยู่เสมอ

สิ่งที่จะพูดต่อไปนี้ ผมได้รับความกรุณาจากอาจารย์สายชล สัตยานุรักษ์ ซึ่งกำลังทำวิจัยเกี่ยวกับปัญญาชนไทยอยู่จำนวนหนึ่ง และหนึ่งในบรรดาคนที่อาจารย์สายชลศึกษาคือคุณสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ผมจึงได้รับทราบและตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับคุณสุลักษณ์อยู่มากจากท่านอาจารย์สายชล อย่างไรก็ตามผมจับคุณสุลักษณ์ใส่ลงไปในเค้าโครงความคิดของผมเอง หากผิดพลาดอย่างไรก็เป็นความผิดของผมคนเดียว ไม่เกี่ยวกับอาจารย์สายชล

ปัญญาชนนอกระบบ
ในประวัติทั้งหมดของคุณสุลักษณ์ สิ่งที่สะดุดใจผมอย่างมากข้อหนึ่งคือการที่คุณสุลักษณ์ตัดสินใจและประกาศออกมาตั้งแต่แรกกลับจากอังกฤษว่าจะไม่เข้าสู่ระบบ ที่ผมเรียกว่าระบบในที่นี้ผมหมายความถึงไม่เข้ารับราชการ ไม่เข้าสู่วงการธุรกิจชนิดที่จะกลายเป็น "มืออาชีพ" ของวงการธุรกิจ และไม่เข้าสู่การเมือง (ในระบบ)

คุณสุลักษณ์ให้เหตุผลที่ไม่เข้ารับราชการไว้อย่างน้อยสองอย่าง คือราชการไม่มีสมรรถภาพ และไม่อยากรับใช้เผด็จการ การที่พูดว่าราชการไม่มีสมรรถภาพนั้น ผมเข้าใจว่าคุณสุลักษณ์มีความหมายเฉพาะในที่นี้ซึ่งควรอธิบาย

ระบบราชการแผนใหม่ซึ่งสถาปนามาตั้งแต่ ร.๕ ในฐานะที่เป็นผู้นำความเปลี่ยนแปลงมาสู่สังคมไทยนั้น คุณสุลักษณ์ให้การยอมรับ จะเห็นได้ว่าคุณสุลักษณ์ยกย่องสรรเสริญทั้ง ร.๕ และเจ้านายซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงของระบบราชการนั้นหลายพระองค์ โดยเฉพาะสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ แต่คุณสุลักษณ์เห็นว่าในเวลาต่อมา ราชการไม่ใช้คนดี จึงทำให้ราชการไม่มีพลังอีกต่อไป

หากถามว่าพลังอะไร ก็คงพอมองเห็นคำตอบได้ว่า พลังที่จะนำสังคมไปสู่ความเปลี่ยนแปลงให้ดียิ่งขึ้นไปอีก หรือพูดง่ายๆ ว่าพลังปฏิรูปสังคมไทยให้พ้นจากความเสื่อมทรามที่พบได้ในขณะนั้น (อย่างที่ราชการเคยทำสำเร็จในระยะแรก) ฉะนั้นสมรรถภาพที่คุณสุลักษณ์เรียกร้องจากราชการจึงไม่ใช่เพียงแค่ความสามารถที่จะตอบสนองนโยบายของผู้ปกครองประเทศ (ซึ่งขณะนั้นคือเผด็จการทหาร) เท่านั้น แต่หมายถึงสมรรถภาพที่จะนำการปฏิรูปในทุกๆ ทางมาสู่ตัวระบบราชการเอง และสู่สังคมไทยทั้งหมด

อันที่จริงในปัจจุบัน การไม่มีความหวังกับระบบราชการว่าจะเป็นผู้นำความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีแก่สังคมนั้น เป็นเรื่องธรรมดา เพราะไม่มีใครคิดหวังอะไรกับระบบราชการอีกแล้ว แต่ความคิดอย่างนี้ใน พ.ศ. ๒๕๐๕ ไม่ใช่เป็นเรื่องธรรมดานัก ผมเข้าใจว่าในช่วงนั้นปัญญาชนไทยส่วนใหญ่ยังเชื่อว่าต้องเข้าไปสู่ตัวระบบเพื่อแก้ระบบ (หรืออย่างน้อยก็ถ่วงดุลไม่ให้ระบบเสื่อมทรามลงไปกว่านั้น) ยิ่งคิดว่าจะต้องหาเครื่องไม้เครื่องมืออื่นๆ ที่ไม่ใช่ราชการ เพื่อปฏิรูปสังคมกันขนานใหญ่ยิ่งเป็นเรื่องใหญ่เกินตัวกว่าที่คนทั่วไปใน พ.ศ. ๒๕๐๕ จะคิดไปได้

ดูเหมือนคุณสุลักษณ์ได้ตัดสินใจไปตั้งแต่นั้นแล้วว่า ถ้าจะทำอะไรที่ใหญ่ๆ และสำคัญขนาดนั้น ที่ยืนซึ่งเหมาะสมที่สุดคืออยู่ข้างนอกระบบ แล้วสร้างความเคลื่อนไหวที่กระทบถึง "ปัญญาชน" (คำที่คุณสุลักษณ์ฟื้นกลับมาใช้ใหม่จนแพร่หลาย) เกิดเป็นเครือข่ายที่จะผลักดันความเปลี่ยนแปลงมาสู่สังคม

ผมอยากตั้งข้อสังเกตไว้ในตอนนี้ด้วยว่า วิธีคิดที่มองว่าสังคมไทยเคยถูกเปลี่ยนแปลงจากผู้นำซึ่งใช้ราชการเป็นเครื่องมือก็ตาม การออกมาสร้างเครือข่ายของ "ปัญญาชน" ก็ตาม การยกย่องความสามารถและคุณธรรมของผู้นำในอดีตก็ตาม ฯลฯ ทั้งหมดนี้ยังไม่มีอะไรเชื่อมโยงกับชาวบ้านร้านถิ่นเลย เป็นเรื่องของคนดีคนเก่งข้างบนนำสังคมไปสู่สิ่งดีเท่านั้น นี่เป็นแนวโน้มอันแรงกล้าในความคิดของคุณสุลักษณ์สืบมา นั่นก็คือแนวโน้มไปในทางชนชั้นนำนิยม (elitism) แม้ในภายหลังเมื่อคุณสุลักษณ์เข้ามาสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงกับสามัญชนที่เป็นชาวบ้านแล้ว แนวโน้มชนชั้นนำนิยมในความคิดก็ยังปรากฏอยู่ เพียงแต่ต้องนิยามชนชั้นนำ (elite) กันในอีกความหมายหนึ่งเท่านั้น

ผมควรกล่าวด้วยว่า แนวคิดชนชั้นนำนิยมนั้นเป็นจารีตทางภูมิปัญญาของไทยมานาน ไม่ว่าจะมองจากแง่คติธรรมราชา หรือการสร้างภาพความสำเร็จของการปฏิรูปการปกครองของ ร.๕ แนวคิดอย่างนี้แพร่หลายในหมู่คนไทยผู้มีการศึกษาทั่วไปด้วย ประหนึ่งว่ามีผู้นำที่ดีเสียอย่างเดียว ทุกอย่างก็ดีไปเอง โดยประชาชนมีบทบาทเชิงรับเท่านั้น เมื่อพิจารณาจารีตทางภูมิปัญญาเช่นนี้ประกอบ อาจกล่าวได้ว่าคุณสุลักษณ์เป็น elitist หรือนักชนชั้นนำนิยมน้อยกว่าปัญญาชนไทยอื่นๆ ด้วยซ้ำ เพราะอย่างน้อยคุณสุลักษณ์มองเห็นบทบาทของประชาชนทั่วไปว่ามีความสำคัญอยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะความคิดในระยะหลังของคุณสุลักษณ์

การไม่เข้าสู่ "มืออาชีพ" ในวงการธุรกิจนั้นอธิบายง่าย ถ้าใครคิดอะไรใหญ่อย่างคุณสุลักษณ์ใน พ.ศ. ๒๕๐๕ ก็ไม่น่าจะเข้าสู่ระบบโดยผ่านวงการธุรกิจ นอกจากนักธุรกิจในช่วงทศวรรษ ๒๕๐๐ มาจนถึงทศวรรษ ๒๕๑๐ ไม่อยู่ในฐานะผู้นำทางสังคมแล้ว วงการธุรกิจเองนั่นแหละที่เฟะฟอนอยู่กับความพัวพันกับการเล่นเส้นสายและคอร์รัปชั่นกับผู้คุมอำนาจทางการเมืองอย่างออกหน้า

ฉะนั้นเมื่อบวกกับอิทธิพลนักคิดกรีก ที่ทำให้คุณสุลักษณ์มองว่าการทำอะไรเพียงเพื่อหวังกำไรส่วนตัว ไม่มีประโยชน์แก่ส่วนรวมเป็นสิ่งที่ไม่ใช่คุณธรรมแล้ว ก็ไม่มีทางที่คุณสุลักษณ์จะเข้าสู่วงการธุรกิจแต่อย่างใด

ในส่วนการเมือง ในช่วงนั้นไม่มีช่องที่คนภายนอกจะเข้าสู่วงการเมืองได้ นอกจากยอมเข้าไปอยู่ในเส้นสายของเผด็จการ ครั้นการเมืองเปิดกว้างขึ้นในภายหลัง ก็ดังที่ได้เห็นกันอยู่แล้วว่าช่องทางอันไร้มลทินในการเข้าถืออำนาจทางการเมืองนั้นไม่มีในวงการเมืองไทย การเมือง (ในระบบ) จึงไม่ใช่ช่องทางที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่สิ่งที่ดีกว่าได้

ผมสะดุดใจกับการที่คุณสุลักษณ์ตัดสินใจไม่เข้าสู่ระบบก็เพราะว่า ถ้าเรามองย้อนหลังไปในประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาไทย เราจะพบว่าปัญญาชนไทยที่อยู่นอกระบบนั้นมีน้อยมาก และในจำนวนน้อยนั้นมักประสบชะตากรรมที่เลวร้ายต่างๆ นานาอยู่เสมอ บางคนติดคุก บางคนต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศจนเสียชีวิต บางคนถูกกล่าวหาว่าวิกลจริต บางคนถูกฆ่า บางคนถูกผลักให้ไปอยู่ในป่า

ร้ายไปกว่านั้น เผด็จการสฤษดิ์-ถนอม-ประภาส ยังประสบความสำเร็จในการลบความทรงจำของคนไทยที่มีต่อผลงานและความคิดของปัญญาชนนอกระบบไปได้แทบจะสิ้นเชิง เรียกได้ว่าสามารถ "กำจัด" (exclusion) ได้ทั้งคนและความคิดของเขาออกไปจากสังคมได้เลย

ส่วนใหญ่ของปัญญาชนไทยนับตั้งแต่โบราณกาลมาจนถึงสมัยหลัง คิดอะไรก็ไม่พ้นตัวระบบ คิดการใหญ่ก็คิดจะต้องเข้าไปชิงอำนาจในระบบ คิดการเล็กก็คิดจะใช้ระบบเป็นเครื่องมือ คิดโกงก็คิดจะหาช่องในระบบซึ่งสะสมทรัพยากรมากมายนานาชนิดของสังคมไว้ในมือ

แต่เมื่อกาลล่วงเลยมาจนถึงบัดนี้ เราอาจกล่าวได้ว่า การตัดสินใจของคุณสุลักษณ์ในครั้งนั้นไม่ผิด นั่นก็คือคุณสุลักษณ์ได้ฟันฝ่าความพยายามของระบบที่จะ "กำจัด" คุณสุลักษณ์ออกไปได้สำเร็จ อย่างน้อยก็ในระดับหนึ่ง ในขณะที่คุณสุลักษณ์สามารถส่งผลกระทบของตัวสู่สังคมไทยมากกว่าที่จะเข้าไปทำได้ในระบบอย่างแน่นอน

และแม้ว่าในระยะหลังจากทศวรรษ ๒๕๒๐ เป็นต้นมา ระบบของไทยตอบโต้ความเปลี่ยนแปลงด้วยการเปิดกว้างขึ้น พยายามผนวกกลุ่มนอกระบบ (ซึ่งขยายตัวมากขึ้นด้วยเหตุปัจจัยหลายอย่าง และหนึ่งในหลายอย่างนั้นคือ การทำงานของคุณสุลักษณ์ ศิวรักษ์ อยู่ด้วย) เข้ามาสู่ตัวระบบ หรือเชื่อมโยงกับระบบมากขึ้น คุณสุลักษณ์ก็ยังดำรงตนอยู่นอกระบบอย่างค่อนข้างจะเคร่งครัดสืบมา ไม่ว่าจะดูจากการแต่งกาย หรือคำพูดข้อเขียน ไปจนถึงการดำเนินกิจกรรมต่างๆ

ดูเหมือนระบบไทยกลืนไม่เข้าคายไม่ออกกับปัญญาชนนอกระบบคนนี้ เพราะ "กำจัด" ก็ไม่สำเร็จแท้ กลืนเข้ามาก็กลืนไม่ลง

ผมขอออกนอกเรื่องตรงนี้ด้วยว่า ผมได้กล่าวแล้วว่านับตั้งแต่ทศวรรษ ๒๕๒๐ ระบบตอบโต้การเติบโตของกลุ่มนอกระบบโดยการเลือกกลืนเข้ามา แต่ถ้ายิ่งเปิดมากกลืนมาก ระบบก็ไม่อาจดำรงอยู่อย่างเก่าได้ ต้องเปลี่ยนไปสู่ระบบที่เปิดกว้างแก่คนหลากหลายกลุ่ม (สมดังเจตนารมณ์ส่วนหนึ่งของคุณสุลักษณ์) อย่างไรก็ตามหากกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่เข้าสู่ระบบเช่นกลุ่มทุน สามารถยึดครองระบบไปได้บางส่วน เช่นยึดครองระบบการเมืองไว้ได้ กลุ่มนั้นก็ต้องพยายามปิดระบบลงหรือเข้าไปควบคุมกลุ่มนอกระบบอื่นๆ วิธีควบคุมที่มีประสิทธิภาพที่สุดคือการ "กำจัด" ซึ่งไม่ได้หมายถึงเพียงการฆ่าหรือการจับติดคุกเท่านั้น แต่หมายถึงทำอะไรก็ตามที่ทำให้ความคิดของเขาถูกสังคมปัดออกไปโดยไม่ต้องไตร่ตรอง

เรื่องนี้ไม่เชื่อก็ถามอัมมาร สยามวาลา, ธีรยุทธ บุญมี, เอ็นจีโอ หรือสมัชชาคนจนดูก็ได้

สารที่ให้แก่สังคมไทย
ในเรื่องนี้ต้องขอออกตัวไว้ก่อนว่า แม้ได้อ่านงานเขียนของคุณสุลักษณ์มามาก แต่ก็ไม่ได้เก็บรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบ ฉะนั้นสิ่งที่จะพูดในเรื่องนี้จึงมีลักษณะเป็น "ความประทับใจ" ของนักอ่านคนหนึ่งมากกว่า

ผมคิดว่าสารสำคัญที่คุณสุลักษณ์ส่งแก่สังคมตลอดมานับตั้งแต่เริ่มมีบทบาท ก็คือสังคมไทยมีปัญหาที่ไม่รู้จักตัวเอง หรือไม่รู้จักความเป็นไทย ในระยะแรกดูเหมือนคุณสุลักษณ์จะนิยามความเป็นไทยด้วยวัฒนธรรมของคนชั้นสูง แต่ต่อมากลับนิยามด้วยชีวิตที่เรียบง่ายของชาวบ้าน และพระพุทธศาสนา ความเปลี่ยนแปลงตรงนี้มีนัยะสำคัญมากกว่านิยมเจ้าหรือนิยมไพร่

อันที่จริงปัญญาชนไทยนับตั้งแต่อดีตได้พูดถึงการหวนกลับมายึดความเป็นไทยกันนานแล้ว โดยเฉพาะปัญญาชนที่เป็นคนชั้นสูง และความเป็นไทยตามนิยามของปัญญาชนเหล่านั้นย่อมแนบแน่นอยู่กับระบบ (การเมือง, สังคม, เศรษฐกิจ) ที่ดำรงอยู่ ในทางวัฒนธรรมก็แสดงออกให้เห็นได้ชัดเจนด้วยแบบแผนประเพณี, อุดมคติและวิถีชีวิต (ในอุดมคติ) ของคนชั้นสูง

ฉะนั้นในระยะแรกหรือ "ยุคผ้านุ่ง" ของคุณสุลักษณ์ แม้ว่าเป็นปัญญาชนนอกระบบที่วิพากษ์วิจารณ์ระบบ แต่ก็เห็นสอดคล้องกับปัญญาชนอื่นในหลักการสำคัญๆ หลายอย่าง เช่นการเมืองรวมศูนย์ เห็นความสำคัญที่จะต้องปฏิรูปแก้ไขระบบ จนสามารถเป็นพลังของความเปลี่ยนแปลงเหมือนเดิม จะแก้โดยกัปตันเรือใบหรือคนดีคนเก่งที่ได้รับอำนาจในการนำระบบก็ตาม

ที่สอดคล้องกับปัญญาชนอื่นอีกอย่างหนึ่งก็คือ แม้วิพากษ์วิจารณ์ทุนนิยมและต่อต้านทุนนิยมข้ามชาติมานาน แต่ก็ไม่ถึงขัดแย้งกันอย่างแตกหัก ยังมีทางไกล่เกลี่ยกันได้ ถ้าฝ่ายนำในระบบทุนมีสำนึกถึงผลประโยชน์ส่วนรวม มีโครงการอยู่หลายโครงการด้วยกันที่คุณสุลักษณ์ได้พยายามดึงเอานักธุรกิจหรือนายทุนให้เข้ามาร่วมกันทำกิจกรรมเพื่อสังคม โดยจัดตั้งในรูปมูลนิธิหรืออื่นๆ

จุดเปลี่ยนที่สำคัญเกิดขึ้นตามที่คุณสุลักษณ์เองได้พูดไว้ก็คือ เมื่อได้พบกับท่านสิทธิพร และได้ออกค่ายร่วมกับนักศึกษา ทำให้สนใจคนยากคนจน ได้เห็นความยากจนอย่างชัดเจน

ถึงตอนนี้คุณสุลักษณ์ต่อต้านทุนนิยม แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่เห็นด้วยกับมาร์กซิสม์ คุณสุลักษณ์พูดถึงประชาธิปไตยแบบไทย (ซึ่งต้องไม่ทุนนิยมและไม่มาร์กซิสต์) ประชาธิปไตยแบบไทยดังกล่าวนี้คุณสุลักษณ์มองเห็นว่ามีอยู่อย่างแข็งแรงในประเพณีสงฆ์ของพระพุทธศาสนา และในหมู่บ้าน

ถ้าย้อนกลับไปดูจารีตทางภูมิปัญญาไทยนับตั้งแต่รัชกาลที่ ๕ ลงมา จะหาปัญญาชนที่มองเห็นความสำคัญของคนเล็กๆ หรือยกย่องวัฒนธรรมของคนเล็กๆ ในชนบทแทบไม่ได้เอาเลย แม้แต่ปัญญาชนสามัญชนที่อยู่นอกระบบเช่นเทียนวรรณ หรือ ก.ศ.ร.กุหลาบ ก็มองประชาชนคนธรรมดาว่าขาดการศึกษาและไร้สติปัญญา ต้องได้รับการนำจากคนเก่งคนดีเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ปัญญาชนไทยที่เป็นข้อยกเว้นมีอยู่น้อยมาก และในบรรดาจำนวนน้อยเหล่านั้นที่เด่นชัดที่สุดคงจะเป็นท่านรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์

นี่คงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้คุณสุลักษณ์ซึ่งเปลี่ยนจุดยืนไปแล้ว กลับมามองเห็นความยิ่งใหญ่ของท่านรัฐบุรุษอาวุโส

ผมเข้าใจว่าจุดเปลี่ยนอันนี้ซึ่งมาพร้อมกับการปฏิเสธทั้งทุนนิยมและมาร์กซิสม์ นำคุณสุลักษณ์ไปสู่การแสวงหาทางเลือกอย่างเป็นล่ำเป็นสัน คุณสุลักษณ์เป็นกำลังสำคัญที่ผลักดันให้มีการแปลงานของนักคิดทางเลือกต่างๆ ออกมาเป็นภาษาไทย ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา, การแพทย์, เศรษฐศาสตร์, การเกษตร และในเวลาต่อมาก็ผลักดันทางเลือกเหล่านี้ด้วยกิจกรรมอื่นๆ มากกว่าสิ่งพิมพ์อีกมาก ตลอดจนถึงดำรงชีวิตแบบ "ทางเลือก" ให้เห็นอย่างเปิดเผยด้วย

ความเห็นเกี่ยวกับเจ้าก็เริ่มเปลี่ยนไป หนังสือเรื่อง "คันฉ่องส่องเจ้า" (ซึ่งเข้าใจว่าพิมพ์ครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๕๒๕) ยกย่อง ร.๔ และ ร.๕ แต่คุณสุลักษณ์เห็นว่าพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองรัชกาลนั้นผิดที่ไม่ยอมกระจายอำนาจ ฉะนั้นการปฏิรูปของทั้งสองรัชกาลจึงไม่ใช่ทางนำไปสู่ประชาธิปไตย ในขณะเดียวกันคุณสุลักษณ์ยกพระพุทธศาสนาว่าเป็นประชาธิปไตย และเป็นคำตอบของสังคมไทย จนแม้แต่เห็นว่าศาสนาย่อมมีความสำคัญเหนือสถาบันพระมหากษัตริย์

ความเป็นไทยที่คุณสุลักษณ์ค้นพบและนำเสนอ จึงแตกต่างจากความเป็นไทยที่ปัญญาชนไทยเคยเสนอมาแล้ว เพราะรากฐานของความเป็นไทยไม่ได้อยู่ในวังอีกต่อไป หากไปอยู่ในหมู่บ้านและชีวิตที่แนบแน่นกับคติธรรมของพระพุทธศาสนา

นี่เป็นจุดแตกหักที่สำคัญ เพราะไม่ได้เพียงอยู่นอกระบบ แต่ดูเหมือนจะแตกหักกับระบบไปเลย อันเป็นเหตุให้คุณสุลักษณ์กลายเป็นปัญญาชนนอกคอกที่คนในแวดวงปัญญาไม่สู้จะอยากนับตัวเองเป็นพวกเดียวกันนัก

หากดูปฏิกิริยาของผู้คนในแวดวงนี้ที่มีต่อสารอันแรกใน "ยุคผ้านุ่ง" ที่คุณสุลักษณ์สื่อต่อสังคม คุณสุลักษณ์ได้รับการต้อนรับอย่างดีจากคนในแวดวงนี้อย่างกระตือรือร้นพอสมควร ลองย้อนกลับไปดูจดหมายจากผู้อ่านที่เขียนลงสังคมศาสตร์ปริทัศน์เพื่อสนับสนุน "ผ้านุ่ง" จะเห็นรายชื่อของคนมีชื่อเสียงในปัจจุบันจำนวนไม่น้อยซึ่งไม่ได้ยืนอยู่ฝ่ายเดียวกับคุณสุลักษณ์อีกแล้ว หลายคนกลายเป็นคุณหญิง แต่อีกหลายคนยังอยากเป็นอยู่เท่านั้น แม้กระนั้นก็ไม่ปรารถนาที่จะมีชื่อว่าสนับสนุนอะไรที่เป็นสุลักษณ์ ศิวรักษ์ อีกเลย เปรียบเทียบกับสารอันที่สอง ซึ่งเรียกร้องให้กลับไปสู่ความเป็นไทยโดยยกเอาประโยชน์และวิถีวัฒนธรรมของคนเล็กๆ ขึ้นเป็นหลัก คุณสุลักษณ์ไม่ได้รับการต้อนรับจากคนแวดวงปัญญาอย่างสารอันแรก เพราะรับไม่ได้

คนในแวดวงปัญญาแม้จนในระยะหลังก็ยังอยากไต่เต้าในระบบ พร้อมจะนุ่งผ้านุ่ง แต่ไม่พร้อมจะนุ่งกางเกงชาวนาอย่างคุณสุลักษณ์

สารที่ให้แก่สังคมโลก
ที่แตกต่างจากปัญญาชนไทยในอดีตอย่างสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ คุณสุลักษณ์เชื่อมโยงความเป็นไทยที่มีฐานอยู่ในหมู่บ้านและพระพุทธศาสนานี้กับการที่โลกจะหลุดพ้นจากวิกฤต นั่นคือมองสิ่งที่ไทยเผชิญอยู่กว้างกว่าประเทศไทย ศัตรูสำคัญของมนุษย์ในปัจจุบันนี้คือทุนข้ามชาติและทุนนิยมสมัยใหม่ ซึ่งก่อให้เกิดความพังทลายของชีวิตผู้คนและสิ่งแวดล้อมไปทั่ว เราจะสู้กับวิกฤตนี้ได้ก็โดยการรื้อฟื้นคุณธรรมแบบชาวบ้านไทยซึ่งมีฐานอยู่ที่หลักธรรมในพระพุทธศาสนา (จากทุกนิกาย ไม่เฉพาะแต่เถรวาทแบบไทยเท่านั้น)

นี่คือเครื่องมือสำคัญในการต่อสู้กับทุนนิยมสมัยใหม่ซึ่งแสดงตัวด้วยทุนข้ามชาติและบริโภคนิยม อันเป็นตัวทำลายคุณธรรม, ศีลธรรม, จริยธรรม, สิ่งแวดล้อม และประชาธิปไตยลงไป

ผมคิดว่าจุดยืนตรงนี้ทำให้คุณสุลักษณ์ยิ่งแตกต่างจากปัญญาชนไทยทั้งหมดที่ผ่านมา ไม่ว่าจะอยู่ในระบบหรือนอกระบบ เพราะเป็นครั้งแรกที่ปัญญาชนไทยวางสถานะของความคิดตัวเองไว้ในโลกกว้าง โดยไม่ให้เป็นสานุศิษย์ของแนวคิดที่อ้างความเป็นสากล (ของฝรั่ง) เพราะคุณสุลักษณ์เชื่อมโยงปัญหาของสังคมไทยกับปัญหาของฝรั่ง, จีน, แขก, ญี่ปุ่น, ธิเบต ฯลฯ ทั่วไปหมด

ปัญญาชนไทยที่ผ่านๆ มามองปัญหาและทางออกในขอบเขตของสังคมไทยเท่านั้น แม้ข้อเสนอของท่านเหล่านั้นบางเรื่องอาจถือได้ว่าเป็นคุณธรรมสากล แต่ก็ไม่มีใครคิดว่าข้อเสนอนั้นจะมีความหมายอะไรในโลกนอกประเทศไทย ไม่ได้คิดจากสถานการณ์จริงของโลก และไม่ได้คิดขึ้นมาเพื่อตอบปัญหาอะไรของโลก

ผมควรขยายความตรงนี้ด้วยว่า จริงอยู่มีปัญญาชนไทยบางคนที่พูดและเสนอทางออกของวิกฤตโลก โดยเฉพาะปัญญาชนนอกระบบ แต่เขาอาศัยทฤษฎีที่อ้างความเป็นสากลในการวิเคราะห์ เช่นเป็นธรรมดาที่ชาวมาร์กซิสต์ย่อมมองปัญหาของสังคมไทยเชื่อมโยงไปกับพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของโลกทั้งหมด ไม่สามารถแยกประเทศไทยออกมาโดดๆ ได้

นอกจากปัญญาชนที่อาศัยทฤษฎีซึ่งอ้างความเป็นสากลแล้ว ก็เป็นธรรมดาอีกเหมือนกันที่ปัญญาชนทางศาสนา (ซึ่งอ้างความเป็นสากลเหมือนกัน) ย่อมมองปัญหาทางศีลธรรมของไทยว่าเชื่อมโยงกับโลกภายนอก เช่นกล่าวว่า ความเสื่อมโทรมทางศีลธรรมของสังคมไทยทุกวันนี้มีเหตุมาจากอิทธิพลวัฒนธรรมตะวันตก แม้กระนั้นปัญญาชนทางศาสนาส่วนใหญ่ ก็ยังพยายามจำกัดมุมมองให้เป็นเฉพาะสังคมไทยเท่านั้น เช่นไม่สืบค้นต่อไปว่าวัฒนธรรมตะวันตกที่เห็นว่าไม่ดีนั้นแท้จริงแล้ว มีเหตุแห่งความเสื่อมโทรมมาจากไหนเป็นต้น หรือเชื่อมโยงกับกิเลสมนุษย์อย่างไรบ้างเป็นต้น ดูเหมือนปัญญาชนทางศาสนาคนเดียวที่เป็นข้อยกเว้นคือหลวงพ่อพุทธทาสภิกขุ ซึ่งเป็นที่นับถือของคุณสุลักษณ์อย่างสูง

ฉะนั้นจึงอาจเป็นไปได้ด้วยว่า ความแตกต่างของคุณสุลักษณ์ในแง่ที่วางสถานะตัวเองในโลกกว้างนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ แต่เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสทางภูมิปัญญาในสังคมไทยที่ได้ผ่านความเคลื่อนไหวของชาวมาร์กซิสต์มาอย่างหนัก ในขณะเดียวกันภายใต้อิทธิพลวิธีคิดของท่านพุทธทาส ก็ทำให้การมองปัญหาที่เกิดในเมืองไทยเชื่อมโยงกับกระแสโลกของคุณสุลักษณ์ไม่ใช่การแหกคอกออกไปคนเดียว หากมีรากฐานวิธีคิดทำนองนี้มาในสังคมไทยอยู่บ้างแล้ว

อย่างไรก็ตามบางทีคนไทยยังไม่คุ้นกับการวางตำแหน่งของปัญญาชนไทยในโลกกว้างอย่างนี้ ทำให้มองบทบาทของคุณสุลักษณ์ด้วยความคลางแคลงใจ พร้อมจะเชื่อว่าคุณสุลักษณ์ทำงานให้ซีไอเอบ้าง, เคจีบีบ้าง, หรือมิฉะนั้นก็คงมีวาระซ่อนเร้นอะไรบางอย่างขององค์กรลับระหว่างประเทศ เพราะยากที่จะเข้าใจได้ว่าคุณสุลักษณ์ไปยุ่งกับเรื่องของทะไล ลามะทำไม คิดว่าคนไทยควรยุ่งกับเรื่องนี้ได้แค่จะประคองตัวให้พ้นจากอำนาจของจีนได้อย่างไรเท่านั้น

ในขณะเดียวกันคุณสุลักษณ์ก็นำเอาคำตอบจากกลุ่มปัญญาชนทวนกระแสทั่วโลกมาเผยแพร่ เพื่อชี้ให้เห็นความเป็นสากลของวิกฤตและทางออกของสังคมไทย และชี้ให้เห็นความสอดคล้องกับวิถีไทยของชาวบ้านและพระพุทธศาสนา ฉะนั้นสารของคุณสุลักษณ์ที่ให้แก่สังคม จึงไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะสังคมไทยเท่านั้น แต่เป็นทางเลือกสำหรับโลกทั้งหมด โดยเฉพาะโลกที่พัฒนาอุตสาหกรรมไปไกลแล้ว นับเป็นเหตุให้คุณสุลักษณ์เป็นปัญญาชนไทยคนเดียวที่มีเครือข่ายอยู่ในต่างประเทศกว้างขวางกว่าที่ปัญญาชนไทยคนใดเคยมีมา

ด้วยเหตุดังนั้นสารที่คุณสุลักษณ์เสนอจึงมักถูกมองว่า "หัวรุนแรง" เสมอ เพราะเนื้อแท้คือการพลิกกลับวัฒนธรรมทางภูมิปัญญาของไทยไปเลย (แสดงผ่านเครื่องแต่งกาย, วิถีชีวิต และคำพูดข้อเขียนที่ "แรง") ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็เช่น คุณสุลักษณ์นิยามว่าสังคมที่ดีคือสังคมที่ผู้คนมีคุณธรรม-ศีลธรรม-จริยธรรม (ดูเหมือนคุณสุลักษณ์ใช้ในความหมายที่ต่างกันทั้งสามคำ) ในขณะที่ปัญญาชนไทยนับตั้งแต่รัชกาลที่ ๕ วางเป้าไว้ที่ความศรีวิไลหรือการพัฒนา ซึ่งใช้สังคมตะวันตกเป็นบรรทัดฐาน

ในขณะเดียวกันคุณสุลักษณ์ก็แตกต่างจากปัญญาชนทั่วไปที่ไม่ได้มองอะไรในระบบเป็นเครื่องมือไปสู่ความเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่ชาติ (อย่างหลวงวิจิตรฯ) ไม่ใช่การเมือง (อย่าง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช) และไม่ใช่การศึกษา (อย่างอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์) แต่คุณสุลักษณ์คิดว่าสังคมไทยเองต้องเป็นเครื่องมือในการนำตัวเองไปสู่สังคมที่ดี โดยเริ่มจากปัจเจกบุคคลที่มีสำนึก รวมและสร้างกลุ่มกัลยาณมิตร สร้างเครือข่ายของกลุ่ม จนเกิดเป็นพลังทางสังคมขึ้นมา

(วิธีนี้จะได้ผลจริงหรือไม่จะไม่กล่าวถึง หากดูเฉพาะกรณีของคุณสุลักษณ์ นับว่าเครือข่ายก่อให้เกิดผลกระทบแก่สังคมได้กว้างขวางมากซึ่งจะพูดถึงข้างหน้า)

น่าสังเกตด้วยว่าวิธีการดังกล่าวนี้จะถือว่าเป็นแนวคิดชนชั้นนำนิยมก็ได้ เพียงแต่ต้องไม่นิยาม "ชนชั้นนำ" ที่ทรัพย์, อำนาจ หรือเกียรติยศ ไม่ใช่สถานภาพทางการศึกษา, ไม่ใช่สถานภาพทางราชการ แต่เป็นชนชั้นนำที่สำนึก และคนมีสำนึกเหล่านี้เองที่จะเป็นผู้นำความเปลี่ยนแปลงมาสู่สังคม โดยอาศัยกลุ่มและเครือข่ายกัลยาณมิตรที่ทำงานเสริมกันและกันอย่างหลากหลาย

จึงนับว่าสอดคล้องกับคุณสุลักษณ์เองที่ยึดคนและคุณธรรมส่วนตัวของบุคคลว่ามีความสำคัญ และมักเรียกร้องให้สังคมยกย่องบุคคลที่ควรยกย่อง ไม่ใช่เพื่อบุคคลเหล่านั้น แต่เพื่อประโยชน์ของสังคมเอง ไม่ว่าจะเป็นกรมพระยาดำรงฯ, ท่านสิทธิพร, หรือท่านรัฐบุรุษอาวุโสก็ตาม และเราได้พบแนวความคิดเช่นนี้มานับตั้งแต่ระยะแรกที่คุณสุลักษณ์เข้ามาทำงานสาธารณะแล้ว

การเน้นคุณสมบัติส่วนตัวของบุคคลอย่างมากเช่นนี้ยังสอดคล้องกับวิธีเรียนรู้ของคุณสุลักษณ์เอง ซึ่งแสดงให้เห็นในงานจำนวนมาก กล่าวคือเรียนรู้จากบุคคลมาก และถือว่าสำคัญกว่าการเรียนรู้จากหนังสือ วิธีคิดที่เน้นความสำคัญของบุคคลอย่างมากเช่นนี้ทำให้ทุกครั้งที่คุณสุลักษณ์วิเคราะห์ประวัติศาสตร์ ก็จะพูดถึงการกระทำหรือไม่กระทำของบุคคลเป็นปัจจัยสำคัญ และทุกครั้งที่วิเคราะห์ปัจจุบัน ก็จะทำอย่างเดียวกัน โดยแทบจะไม่ได้มองในด้านโครงสร้างอย่างจริงจัง ยกเว้นการอ้างถึงอย่างกว้างๆ เช่น ทุนนิยมข้ามชาติ, บริโภคนิยม, วัตถุนิยม ฯลฯ เท่านั้น

ประเมินผลกระทบ
ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า ระบบของสังคมไทยมีวิธี "ขจัด" ปัญญาชนนอกระบบ (และนอกคอก) หลายอย่างหลายวิธี และมักทำได้อย่างแนบเนียนพอสมควรด้วย เช่นกล่าวหาว่า "หัวรุนแรง", "อยากดัง", "วิปริต" และ "วิกลจริต" (อยู่ในกลุ่มเดียวกัน อ่อนแก่ผิดกันเท่านั้น แต่ทั้งหมดเกี่ยวข้องกับลักษณะที่บกพร่องของบุคคลคนนั้น) หรือสัมพันธ์หรือเชื่อมโยงกับคนที่ระบบได้ขจัดออกไปแล้ว เช่น เป็นสานุศิษย์ของคนนั้น, "สูญเสียผลประโยชน์", "รับเงินต่างชาติ", "มีแผนการลับ", "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ", "กบฏภายในและภายนอกราชอาณาจักร" (อยู่ในกลุ่มเดียวกัน ทั้งหมดคือการดำเนินการทางการเมืองที่ระบบของสังคมไทยสามารถทำให้คนไทยจำนวนไม่น้อยเชื่อว่าเป็นอันตรายต่อชาติ)

ทั้งนี้ไม่นับการขจัดที่ใช้วิธีซึ่งไม่แนบเนียนนัก เช่น จับติดคุกขังลืม ไปจนถึงลอบสังหาร, "ตัดตอน", ให้ ป.ป.ง.ยึดทรัพย์, หรือไล่เข้าป่า ฯลฯ (อันเป็นวิธีที่เมื่อพิจารณาโดยรวมแล้ว ไม่อาจขจัดออกไปจากสังคมได้จริง ดังเช่นบุคคลที่มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาไทยหลายคนได้เคยโดนกระทำมาแล้ว เช่น คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์, คุณจิตร ภูมิศักดิ์, คุณทองใบ ทองเปาด์, คุณอุดม สีสุวรรณ, หรือแม้แต่คุณอารีย์ ลีวีระ ก็กลายเป็นหนึ่งในวีรบุรุษของสื่อมวลชนไทยไป)

ในบรรดาวิธีที่แนบเนียนทั้งหลายนั้น คุณสุลักษณ์ได้เผชิญมาแล้วหลายอย่าง แม้ต้องระเหเร่ร่อนออกไปจากบ้านเมืองเป็นครั้งคราว แต่ก็ไม่อาจขจัดคุณสุลักษณ์ออกไปจากสังคมได้ ไม่แต่เพียงความคิดความเห็นที่นอกคอกของคุณสุลักษณ์ยังดำรงอยู่เท่านั้น คุณสุลักษณ์ยังมีพื้นที่ในการส่งความคิดความเห็นเช่นนั้นสืบมาได้อย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้

ผมคิดว่า ความยืนยงของคุณสุลักษณ์ในแง่นี้มาจากเครือข่าย สมกับข้อเสนอของคุณสุลักษณ์เองที่ว่าปัญญาชนผู้มีสำนึกต้องสร้างเครือข่ายของกัลยาณมิตร เพื่อให้เกิดพลังในการเปลี่ยนแปลงสังคม

คุณสุลักษณ์เป็นปัญญาชนไทยที่สร้างเครือข่ายได้กว้างขวางมากที่สุด-ปัญญาชนไทยในอดีตที่สร้างเครือข่ายได้กว้างคือปัญญาชนที่เป็นผู้บริหารราชการ เช่น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ หรือกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ซึ่งมี "ลูกศิษย์ลูกหา" ในวงราชการจำนวนมาก แต่ด้วยเหตุผลหลายอย่างที่จะไม่กล่าวในที่นี้ เครือข่ายในวงราชการขยับเขยื้อนอะไรในเชิงสังคมได้ไม่มากนัก ไม่จำเป็นต้องพูดถึงการขยับเขยื้อนเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม แม้แต่ขยับเขยื้อนเพื่อช่วยปกป้อง "ครู" ยังทำได้จำกัด และไม่ประสบความสำเร็จด้วยซ้ำ

ฉะนั้นไม่ว่าจะเอาคุณสุลักษณ์ไปเปรียบเทียบกับปัญญาชนคนไหนก็ตาม จะพบว่าคุณสุลักษณ์มีเครือข่ายที่กว้างขวางกว่าทั้งสิ้น ยิ่งเอาไปเปรียบกับปัญญาชนนอกระบบ เช่น เทียนวรรณ หรือนายนรินทร์กลึง ก็จะยิ่งเห็นว่าปัญญาชนไทยนอกระบบรุ่นก่อนๆ แทบไม่มีเครือข่ายของตัวเองที่กว้างขวางพอจะรองรับการผลักดันไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมเอาเลย

ยิ่งในด้านเครือข่ายต่างประเทศซึ่งคุณสุลักษณ์ก็มีอย่างกว้างขวางในสามทวีปหรือสี่ทวีปเป็นอย่างน้อย ก็จะยิ่งเห็นว่าคุณสุลักษณ์เป็นปัญญาชนไทยที่โดดเด่นในแง่การสร้างเครือข่ายอย่างยิ่ง ทำให้มีอุปสรรคแก่ระบบของไทยที่จะใช้วิธีแนบเนียนในการขจัดคุณสุลักษณ์ เช่นสมมติว่าถ้าคุณสุลักษณ์ถูกฟ้องและต้องโทษในคดีอาญาซึ่งมักใช้ในการขจัดปัญญาชนนอกคอก ผลกระทบที่เกิดขึ้นภายในก็นับว่าใหญ่หลวง และเปิดสถาบันต่างๆ ในระบบให้ตกอยู่ใต้คำวิพากษ์วิจารณ์มากยิ่งขึ้น ในขณะที่งานเขียนของคุณสุลักษณ์กลับจะถูกตีพิมพ์ซ้ำ ในขณะเดียวกันพื้นที่สำหรับเสนอความคิดเห็นของคุณสุลักษณ์ก็ไม่ถูกปิดลง เพราะคุณสุลักษณ์อาจใช้วารสารในต่างประเทศเป็นเวทีของตัวแทนสื่อตาขาวในเมืองไทย งานเหล่านั้นก็จะถูกแปลและย้อนกลับมาขายดี (ยิ่งขึ้น) ในเมืองไทย สรุปคือได้ไม่คุ้มเสีย

ในขณะเดียวกันเครือข่ายในต่างประเทศก็ช่วยทำให้การกล่าวหาเพื่อขจัดคุณสุลักษณ์ทำได้ยากขึ้น นอกจากช่วยเปิดพื้นที่ให้คุณสุลักษณ์ดังได้กล่าวแล้ว สถานะของคุณสุลักษณ์เองต่อเครือข่ายเหล่านั้นคือเป็นผู้ที่ได้รับความนับถืออย่างกว้างขวาง ก็ช่วยให้การกล่าวหาคุณสุลักษณ์ทำได้ยากขึ้น เช่นกล่าวหาว่ามีลักษณะบกพร่องบางอย่าง ("หัวรุนแรง", "อยากดัง", "วิปริต", ...) ก็ยังมีข้อที่สาธารณชนสงสัยอยู่ว่า ถ้าอย่างนั้นทำไมฝรั่งถึงนับถือคุณสุลักษณ์ ในเมื่อคนไทยนับถือฝรั่งเป็นทุนอยู่แล้ว ถึงจะรังเกียจคุณสุลักษณ์อย่างไร ก็อดแย้งตัวเองไม่ได้ว่าคุณสุลักษณ์ที่น่ารังเกียจนั้นเป็นที่นับถือของฝรั่ง ดังนั้นจะขจัดคุณสุลักษณ์ได้สำเร็จ ก็ต้องเริ่มด้วยการขจัดฝรั่งในเครือข่ายที่ประสานกับคุณสุลักษณ์ในต่างประเทศเสียก่อน ยิ่งทำได้ยากขึ้น

ความปลอดภัยในระดับหนึ่งที่คุณสุลักษณ์จะไม่ถูกขจัดออกไปด้วยวิธีแนบเนียนเช่นนี้ ผมคิดว่ายิ่งทำให้มีอันตรายแก่คุณสุลักษณ์มากขึ้น เพราะจำเป็นที่ระบบต้องหันไปใช้วิธีที่แนบเนียนน้อยกว่า เช่น "ตัดตอน" เสีย แล้วไม่สามารถจับคนร้ายได้เป็นต้น ข้อนี้กล่าวขึ้นเพื่อเตือน

เครือข่ายของคุณสุลักษณ์นั้นมีลักษณะแตกต่างจากเครือข่ายของปัญญาชนไทยที่สำคัญก็คือ เครือข่ายของปัญญาชนไทยทั่วไปมักมีลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าสำนักกับสานุศิษย์ โดยมีเจ้าสำนักเป็นศูนย์กลางของความสัมพันธ์ (แปลว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างสานุศิษย์กันเองน้อยกว่า หรือมีความสัมพันธ์ในแนวราบน้อยกว่า)

คุณสุลักษณ์เป็นปัญญาชนคนหนึ่งที่มีคนอื่นถือตัวว่าเป็น "ศิษย์" อยู่มาก แต่เท่าที่ผมได้สังเกตมาหรือรู้มา เหล่าคนที่เป็น "ศิษย์" เหล่านี้ ไม่มีสักคนเดียวที่ไม่มีข้อวิพากษ์วิจารณ์คุณสุลักษณ์ ทั้งในเชิงจริงจังหรือในเชิงล้อเลียน อีกจำนวนหนึ่งซึ่งเคยนับถือคุณสุลักษณ์ ก็กลับแตกกันไปจนเลิกนับถือกันไปเลยก็มี จึงอาจกล่าวได้ว่า เหล่า "ศิษย์" เหล่านี้เวียนมาสัมผัสทำงานร่วมกับคุณสุลักษณ์ในช่วงใดช่วงหนึ่ง แล้วก็เวียนหลุดออกไป กลายเป็นกลุ่มใหม่ที่เติบโตขึ้นอย่างอิสระจากคุณสุลักษณ์ แม้ยังมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน หรือช่วยเหลืออนุเคราะห์กันและกันอยู่สืบมาก็ตาม แต่เป็นกลุ่มอิสระที่หลุดพ้นจากฉายาของคุณสุลักษณ์ไปในเชิงการดำเนินงาน แต่เพราะรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับคุณสุลักษณ์ไว้เหมือนเดิม จึงจัดได้ว่าเป็นเครือข่ายที่เชื่อมโยงกับคุณสุลักษณ์ในทางใดทางหนึ่ง ห่างบ้างใกล้บ้าง

ผมคิดว่าอิทธิพลที่แท้จริงของคุณสุลักษณ์ต่อสังคมไทยนั้น ผ่านเครือข่ายเช่นนี้มากกว่าผ่านตัวคุณสุลักษณ์โดยตรงเสียอีก และถ้ามองการทำงานของเครือข่ายเหล่านี้ ก็จะพบว่าเป็นกลุ่มที่เสนอทางเลือกแก่สังคมไทยกว้างขวางและหลากหลายที่สุดเท่าที่เคยมีมา (ถ้าไม่นับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) ไม่ว่าจะเป็นบริโภคทางเลือก, พุทธศาสนาทางเลือก, การแพทย์ทางเลือก, เศรษฐกิจทางเลือก, การศึกษาทางเลือก ฯลฯ ไม่ว่าจะพูดถึงทางเลือกอะไรในโลกสมัยปัจจุบัน ก็จะมีองค์กรอะไรสักองค์กรหนึ่งที่เป็นเครือข่ายของคุณสุลักษณ์ทำกิจกรรมอยู่

ด้วยเหตุดังนั้นคุณสุลักษณ์เองจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของทางเลือกในชีวิตของโลกปัจจุบันซึ่งเด่นที่สุดในสังคมไทย ความเป็นปัญญาชนนอกระบบของคุณสุลักษณ์จึงยิ่งเด่นชัดมากขึ้น เพราะถ้าปัญญาชนไทยจะเสนอทางเลือก ก็มักเป็นทางเลือกในระบบเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ทางเลือกที่คุณสุลักษณ์และเครือข่ายเสนอนั้นล้วนเป็นทางเลือกนอกระบบเสียทั้งนั้น

ถ้าจะประเมินความสำเร็จ ผมคิดว่ามีความสำเร็จมาก (แต่อาจจะไม่ใช่เพราะคุณสุลักษณ์และเครือข่ายเพียงอย่างเดียว ต้องคิดถึงความเปลี่ยนแปลงที่สังคมไทยต้องเผชิญในโลกปัจจุบันด้วย)

ถึงคนส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้ทางเลือกเหล่านี้ แต่คนส่วนใหญ่ไม่เห็นว่าการใช้ทางเลือกเหล่านี้เป็นเพราะผู้ใช้ "หัวรุนแรง", "อยากดัง", "วิปริต" ฯลฯ เช่นการที่คนไข้กระทำอะไรบางอย่างให้แก่ตนเอง เป็นส่วนหนึ่งของการรักษาพยาบาลที่รับได้ ฉะนั้นใครจะกินแมคโครไบโอติกส์ (หนังสือแปลเกี่ยวกับเรื่องนี้พิมพ์ออกเป็นภาษาไทยครั้งแรกโดยเครือข่ายหนึ่งของคุณสุลักษณ์) หรือชีวจิต หรือนั่งสมาธิ ฯลฯ ก็ไม่ถูกต่อต้านจากสังคม

ยิ่งไปกว่านี้ ตัวระบบเองก็พยายามปรับตัวเพื่อรับเอาทางเลือกเหล่านี้เข้ามาในตัวระบบ (ซึ่งถ้าทำสำเร็จก็จะทำให้ทางเลือกเหล่านี้เซื่องลง) เช่น เกษตรกรรมไร้สารพิษ, เกษตรกรรมธรรมชาติ, เศรษฐกิจพอเพียง, หรือโรงเรียนที่นักเรียนมีส่วนร่วมในการบริหาร ฯลฯ ซึ่งแสดงถึงน้ำหนักของผลกระทบที่คุณสุลักษณ์และเครือข่ายได้ทำไว้

ถ้าถามว่าทางเลือกยังมีความจำเป็นแก่สังคมไทยภายหน้ามากขึ้นหรือไม่
ผมคิดว่ามากขึ้น เพราะตัวระบบเองได้พิสูจน์ให้เห็นแก่คนมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าไม่สามารถตอบปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตของผู้คนได้ ในขณะที่การแก้ตัวระบบเองก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะประสบความสำเร็จแต่อย่างใด ฉะนั้นนับวันคนจะยิ่งมองหาทางเลือกนอกระบบมากขึ้น แล้วเขาก็จะพบสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ยืนเด่นอยู่ที่นั่นตลอด

 

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 560 เรื่อง หนากว่า 7000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com




 

H
เว็ปไซต์ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ออกแบบขึ้นมาเพื่อใช้กับ Display properties : screen area 600 X 800 pixels ซึ่งจะให้ภาพที่คมชัดและสมบูรณ์ที่สุด

ระบบของสังคมไทยมีวิธี "ขจัด" ปัญญาชนนอกระบบ (และนอกคอก) หลายอย่างหลายวิธี และมักทำได้อย่างแนบเนียนพอสมควรด้วย เช่นกล่าวหาว่า "หัวรุนแรง", "อยากดัง", "วิปริต" และ "วิกลจริต" (อยู่ในกลุ่มเดียวกัน อ่อนแก่ผิดกันเท่านั้น แต่ทั้งหมดเกี่ยวข้องกับลักษณะที่บกพร่องของบุคคลคนนั้น) หรือสัมพันธ์หรือเชื่อมโยงกับคนที่ระบบได้ขจัดออกไปแล้ว เช่น เป็นสานุศิษย์ของคนนั้น เป็นต้น

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 550 เรื่อง หนากว่า 7000 หน้า ในรูปของ CD-ROM ในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง) สนใจสั่งซื้อได้ที่
midnightuniv(at)yahoo.com
หรือ ส่งธนาณัติถึง
สมเกียรติ ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202

กรุณาส่งธนาณัติแลกเงินไปยัง
สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50202
อย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์

คุณสุลักษณ์เป็นปัญญาชนคนหนึ่งที่มีคนอื่นถือตัวว่าเป็น "ศิษย์" อยู่มาก แต่เท่าที่ผมได้สังเกตมาหรือรู้มา เหล่าคนที่เป็น "ศิษย์" เหล่านี้ ไม่มีสักคนเดียวที่ไม่มีข้อวิพากษ์วิจารณ์คุณสุลักษณ์ ทั้งในเชิงจริงจังหรือในเชิงล้อเลียน อีกจำนวนหนึ่งซึ่งเคยนับถือคุณสุลักษณ์ ก็กลับแตกกันไปจนเลิกนับถือกันไปเลยก็มี จึงอาจกล่าวได้ว่า เหล่า "ศิษย์" เหล่านี้เวียนมาสัมผัสทำงานร่วมกับคุณสุลักษณ์ในช่วงใดช่วงหนึ่ง แล้วก็เวียนหลุดออกไป กลายเป็นกลุ่มใหม่ที่เติบโตขึ้นอย่างอิสระจากคุณสุลักษณ์ แม้ยังมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน หรือช่วยเหลืออนุเคราะห์กันและกันอยู่สืบมาก็ตาม แต่เป็นกลุ่มอิสระที่หลุดพ้นจากฉายาของคุณสุลักษณ์ไปในเชิงการดำเนินงาน แต่เพราะรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับคุณสุลักษณ์ไว้เหมือนเดิม ...

ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๘ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ
เจ้าของพื้นที่ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ