ผลงานภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบบทความบริการฟรีของ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

R
relate topic
160448
release date

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 561 หัวเรื่อง
การเมือง Marxist ปะทะ Pomo
โดย : ชัยนรินทร์ กุหลาบอ่ำ
นักวิชาการอิสระ
บทความบริการฟรีสำหรับนักศึกษา

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
The Midnight 's article

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ

Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com

เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะ
สามารถแก้ปัญหาได้

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
เว็ปไซท์นี้มีการคลิกโดยเฉลี่ยต่อวัน 14119-26256 ครั้ง สำรวจเมื่อเดือนสิงหาคม 47
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ เพื่อประโยชน์ต่อสังคม

คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

การเมือง-สังคม-วัฒนธรรม
เมื่อ Marxist ปะทะ Post Modern!!!
อิทธิพลแนวคิดต่อขบวนการภาคประชาชน

ชัยนรินทร์ กุหลาบอ่ำ
นักวิชาการอิสระ

หมายเหตุ: บทความทางวิชาการชิ้นนี้
เผยแพร่บนเว็ปไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ ๑๖ เมษายน ๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 14 หน้ากระดาษ A4)



ความนำ
แม้ถึงข้อถกเถียงต่างๆ ต่อสกุลความคิดของโพสต์โมเดิร์นจะยังเป็นเหมือนสิ่งที่เรียกว่า ลมแห่งแฟชั่น ความคิดที่ให้ค่าต่อสิ่งแหวกแนว ไม่มีใครเหมือนจนราวกับว่าใครต่อใคร ต้องกระโดดลงไปเล่น สำหรับผู้เขียนแล้วการทำเช่นนี้ ถือว่าเป็นงานชนิดหนึ่ง ที่ต้องใช้ความอุตสาหะ จดจ่อ ติดตามจนเป็นความสามารถที่จะเป็นผู้รู้ต่อสกุลโพสต์โมเดิร์น จะมิอาจทำได้ก็ตาม ทั้งนี้ก็มิได้หมายความว่าโพสต์ โมเดิร์น จะเป็นสกุลคิดที่ง่ายต่อผู้นิยม หรือ ยากต่อผู้มีอคติ เพราะตัวโพสต์ โมเดิร์นเองก็ยังปฏิเสธสิ่งที่เป็น ตัวคิด ตัวเขียน ตัวทำ ผู้เขียนจึงทำหน้าที่นี้โดยอาศัย การศึกษาความรู้ที่มีอยู่เท่าที่สามารถจะทำได้ ซึ่งส่วนสำคัญหนึ่ง ได้จากการทำกิจกรรมนักศึกษา ทั้งในและต่างสถาบัน ยังรวมถึงการเข้าไปร่วมกิจกรรมกับขบวนการแรงงานประกอบด้วย โดยแบ่งหัวข้อออกเป็น 5 หัวข้อ คือ

1. สกุลโพสต์ โมเดิร์น มีต้นกำเนิดที่มาที่ไปอย่างไร?
2. กระแสโพสต์ โมเดิร์น เข้ามามีอิทธิพลต่อปัญญาชน นักวิชาการไทยอย่างไร?
3. กระแสโพสต์ โมเดิร์น เข้ามามีอิทธิพลต่อคนรุ่นใหม่ นักเขียน นักวรรณกรรมอย่างไร?
4. โพสต์ โมเดิร์น กับมาร์กซิสต์ จำแนกเป็นมิตร หรือศัตรู ควรแยกเขาแยกเราหรือไม่?
5. ชุดแนวคิดและมหาวาทกรรม โพสต์ โมเดิร์นกับ มหาวาทกรรมมาร์กซิสต์ มีประโยชน์อย่างไรต่อกรรมาชีพ ผู้นำแรงงาน สหภาพแรงงาน NGOs


1.สกุลโพสต์ โมเดิร์น มีต้นกำเนิดที่มาที่ไปอย่างไร
...ประการแรก ขอสืบสาวถึงว่าอะไรคือหลักคิดหรือยอดสรุปปรัชญาของโพสต์ โมเดิร์น กล่าวคือ สัจธรรมสูงสุดอาจจะมีอยู่ แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่เราจะพูดถึงมันได้ ตราบใดที่เรายังคิดและสื่อสารความคิดผ่านภาษา ... แม้เราจะรู้ว่า ภาษาคืออุปสรรคในการเข้าถึง คิดถึง หรือพูดถึงสัจธรรม แต่นั้นก็เป็นอุปสรรคที่เราไม่อาจก้าวข้ามเพราะเราไม่มีสิ่งที่เรียกว่า Metalanguage ที่จะใช้อธิบายการทำงานของภาษาได้

เค้าเงื่อนแรกของตัวปรัชญา P.M. / Post Modern คือ มิติทางภาษา ภาษาจึงเป็นที่มาของความคิด หรือที่มาของทุกสิ่งที่เราจะอธิบายและมันก็ไม่ใช่สัจธรรมอะไรที่ชัดเจน ผมใคร่ขอสืบต่อไปว่าสกุลโพสต์ โมเดิร์น มีต้นกำเนิดสายธารแห่งความคิดเดิมจากนักปรัชญา ที่ชื่อว่า Nictzche (นิทส์เช่) ยุคเดียวกับ Karl Marx (คาร์ล มาร์กซ์) จุดยืนของนิทส์เช่ คือ ต้านทานความทันสมัยและไม่พอใจทุนนิยมที่มีแต่นิยมวัตถุ การพัฒนาเมืองแห่งโภคพรัพย์ เพราะ เป็นฐานมายาคติ แห่งการกดขี่ทำลายชีวิตมนุษย์ ฉะนั้น ต้องการกลับไปสู่ยุคก่อนทุนนิยม

นิทส์เช่ สรุปว่า ปัญหาของระบบทุนนิยมคือการนำเอาความคิดมาครอบงำสังคม และว่าอนาคตที่ไม่มีการกดขี่ขูดรีดย่อมทำไม่ได้ ซึ่งสามารถแยกความคิดของนิทส์เช่ ออกเป็น 2 ข้อ คือ

1.1 ถ้าจะปลดแอกตนเองต้องมองว่า "ความจริงในโลกไม่มี" ทุกอย่างเป็นวาทกรรม หรือนิยายที่หลากหลายและขัดแย้งกันเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

1.2 ความจริงไม่มีสิ่งเดียว ในสังคมมีศูนย์อำนาจหลายศูนย์ที่ผลิต "มหาวาทกรรม" หรือ "นิยาย" เพื่อครอบงำสังคม มุมมองนี้มีประโยชน์ในการเข้าใจวิธีผูกขาดมุมมองในสังคม

สัมพันธบทคิดของนิทส์เช่ คือ การย้อนกลับไปหาจิตนิยมแบบเยอรมัน ของ Emmanuel Kant (เอมมานูเอล คานท์)ซึ่งงานทางปรัชญาของคานท์ ให้ความสำคัญกับมนุษย์ ที่ปฏิเสธจริยธรรมของพระ ซึ่งเน้นถึงความรู้สึกของปัจเจกชน ที่พัฒนาไปสู่เหตุผลแห่งเสรีภาพ หรือ ตัวตนอันถาวร ด้วยความตั้งใจของจิต ถ้ามนุษย์ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ และต้องไม่ถูกควบคุมโดยกฎของธรรมชาติ อนึ่งว่า "หัวใจมีเหตุผลของมันเองที่สมองไม่มีวันจะเข้าใจ" อาทิ เป็นหน้าที่ของพ่อค้าที่จะไม่โกงในการค้า แต่พ่อค้าที่ไม่โกงในการค้าเพราะกลัวเสียลูกค้าจะขาดความเชื่อถือ และพ่อค้าผู้นี้ก็ไม่ถือว่าทำด้วยความมีศีลธรรม

ในยุคปัจจุบันมีนักคิดแนวโพสต์โมเดิร์น / หลังทันสมัยพัฒนากระบวนขึ้นใหม่ ได้แก่ Michel Foucault (มิเชล ฟูโก) Jacques Derrlda (แดร์ริดา) Lyotard (ลีโอทาร์ด) ทั้ง 3 ท่านเป็นนักคิดส่วนหนึ่งของโพสต์โมเดิร์น ที่มีอิทธิพลต่อข้อวิจารณ์ต่างๆ จุดรวมใหญ่ทั้ง 3 ท่าน มี 3 จุด คือ

1. เชื่อว่าความจริงในโลกที่มีลักษณะหลากหลาย และกระจัดกระจาย เชื่อมสื่อดั่งเครือข่ายคอมพิวเตอร์ หรือสังคมมีลักษณะ "ล้ำความจริง" เช่น ชาวเขาจะมีความจริงที่ไม่เหมือนชาวเมือง คือชาวเขาจะรักธรรมชาติมากกว่าชาวเมือง ชาวเมืองจะรักธรรมชาติน้อยกว่าชาวเขา (สภาพวัตถุมากกว่าชาวเขา) ขึ้นอยู่กับว่าวาทกรรมทางการผลิตของใครมีประสิทธิภาพมากกว่ากัน เช่น ถ้าชาวเขามีหัวหน้าเผ่า หัวหน้าชุมชนที่รักธรรมชาติ เขาก็จะใช้ชุดความคิด วาทกรรมการครอบงำให้ลูกบ้านเอาเยี่ยงอย่างเขา ส่วนในเมืองการรักธรรมชาติเป็นเพียงวาทกรรมที่ทำให้เขารู้สึกว่าธรรมชาติ คือ สถานที่ผ่อนคลายจากงานการ

2. มนุษย์ไม่สามารถวิเคราะห์ทำความจริงแบบ objective วัตถุวิสัยได้ คือ จะเน้นที่วิธีการทำให้จริงและไม่จริง ถ้าเราใช้ทฤษฎีแบบใหม่ที่พยายามอธิบายสังคม เราไม่สามารถหาทางเลือกที่แตกต่างจากระบบปัจจุบันได้ เพราะทุกทางเลือกที่อ้างว่าใหม่มีลักษณะเหมือนระบบเดิม คือ พยายามเผด็จการทางความคิดอย่างชัดเจน

3. ชนชั้นไม่สำคัญ ความขัดแย้งทางชนชั้นลดลง เน้นผู้บริโภคแบบปัจเจกชน แทนผู้ผลิตแบบชนชั้น โดยดูจากแมกซ์ เวเบอร์(Max Weber) นักสังคมศาสตร์ชาวเยอรมัน ให้ค่าการบริโภคของคนแต่ละคนทำให้เขามีศักยภาพขึ้นมาได้ หมายถึง รวมความต่อการบริโภคสัญญะของสินค้า-ศิลปะ ง่ายต่อการเข้าถึง ดังนั้น ปัจเจกชนที่มีความคิดอย่างแรงกล้าย่อมทำอะไรด้วยความปรารถนาที่มีพลังมหาศาล

2. กระแสโพสต์โมเดิร์น เข้ามามีอิทธิพลต่อปัญญาชนนักวิชาการไทยอย่างไร
...มีสาเหตุ 3 ประการใหญ่ๆ

1) ความผิดหวังกับลัทธิสตาลิน ที่เข้าใจว่าระบบสตาลินเป็นเผด็จการที่คลอดจากเลนิน

2) ความผิดหวังกับสิ่งที่คนรุ่น ค.ศ.1968 (ปฏิวัติกระฎุมภี / ชนชั้นกลาง) หรือคนรุ่น 2511 เข้าใจว่าคอมมิวนิสต์ล่มสลายไปแล้ว หรือคนรุ่น 2511 เปรียบเทียบในไทยว่าพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย / พ.ค.ท. เป็นพรรคที่ใช้ทฤษฎีมาร์คซิสต์

3) ไม่ต้องการช่วงชิงอำนาจจากรัฐแล้ว กลไกเหตุผลเป็นสิ่งที่แข็งกระด้าง อำนาจที่มาจากกลไกเหตุผลเขี่ยชีวิตเล็กๆน้อยๆของคนเล็กๆออกจากสังคมของรัฐ และเห็นว่าอำนาจรัฐที่จะช่วงชิงต้องใช้ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีช่วงชิงพื้นที่เล็กๆแต่กระจัดกระจายทั่วๆไปหมด โดยนิยมวิธีท้าทายหลากหลาย ... ขอนำผลงานของ ดร.ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร กับหนังสือที่ชื่อว่า "วาทกรรมการพัฒนา" จุดใหญ่ใจความของหนังสือเล่มนี้ ปฎิเสธการพัฒนา เพราะการพัฒนามีชุดความคิดเดียวที่อธิบายความสลับซับซ้อนของระบบโครงสร้างใหม่โลกาภิวัฒน์และหาทางออกแก่สังคมไม่ได้ อธิบายโดยสังเขป เสนอไว้ว่า


"วาทกรรมการพัฒนา" วาทกรรมมาจากภาษาอังกฤษว่า Discourse ซึ่งมาจาก อ.สมเกียรติ จันทะนะ คณะสังคมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ วาทกรรม คือ กระบวนการในการสร้าง ผลิต เอกลักษณ์และความหมายให้กับสรรพสิ่งต่างๆในสังคมที่ห่อหุ้ม อาทิ ความรู้ ความจริง อำนาจ ตัวตนของเรา / อัตลักษณ์ หรือกรณี อ.อานันท์ กาญจนพันธุ์ ให้นิยาม "วาทกรรม" ว่า การผลิตความรู้เพื่อเป็นความจริง และนำไปควบคุมคนอื่นจำแนกลักษณะออกเป็น ๔ ประเภท

ก. อำนาจ เลือกที่จะให้ความรู้และความไม่รู้แก่สังคม คือการกำหนดตัวรู้และไม่รู้ ถ่ายทอดไปในลักษณะแบบทางการ สร้างสั่งสมความเชื่อ กติกาให้คุณให้โทษ อาทิ ยาเสพติด บุหรี่เป็นสิ่งถูกกฎหมาย ยาเสพติด กัญชาผิดกฎหมาย

ข. ความรู้ เป็นเรื่องของความรุนแรงและการทำลายล้างมากกว่าเป็นเรื่องของความสงบสุข แม้แต่ตัวมนุษย์เอง ก็สามารถถูกลดทอนลงเป็นเพียงวัตถุ หรือสิ่งที่ถูกศึกษา

ค. สุดยอดของอำนาจและการครอบงำ อยู่ที่การสร้างตัวตน เช่น ในสมัยกรีกและโรมัน วาทกรรมการพัฒนา การดูแลตัวเองสำคัญมากกว่าเพราะถ้าตัวเราแข็งแรงก็สามารถดูแลผู้อื่นได้ ต่อมาเข้าสู่ยุควาทกรรมการพัฒนาการรู้จักตนเอง และการประณามการดูแลตัวเองเป็นความเห็นแก่ตัว แต่การรู้จักตนเองต้องผ่านการเคร่งครัด เจียมตัวรู้จักฐานะตนเอง หรือจากระบบครอบงำหนึ่งไปสู่อีกระบบหนึ่งของการครอบงำ (Archaeology + Genealogy)

ง. เล่นเกมส์ภาษา ว่าด้วยความจริงกลับไปหาอัตตลักษณ์หลังสมัยใหม่ ดร.ไชยรัตน์ เสนอว่าควรสนับสนุนขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมแบบใหม่ อาทิ การดื้อแพ่งทางกฎหมายของประชาชน (Civil Disobidience) สร้างเครือข่ายประชาสังคมการเมืองเชิงสัญญะ เช่น กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนำตัวเองผูกกับต้นไม้ ที่หน่วยงานที่รับคำสั่งจากรัฐทำดำเนินการโค่นตัดต้นไม้, หนุ่มสาวแม่บ้าน ชนชั้นกลาง นายทุนน้อย คนว่างงาน คนจรจัด คนเกษียณอายุทำงานรวมตัวกันในลักษณะประเด็นที่น่าสนใจ

ศิโรตน์ คล้ามไพบูลย์ ให้ความหมายของคำว่า "ความรู้" ในแบบฉบับโพสต์ โมเดิร์น ความรู้เหมือนกระจก ส่วนโลกเหมือนวัตถุ ที่เราจะเอากระจกไปส่องให้เห็นได้อย่างถ้วนทั่ว สำหรับโพสต์ โมเดิร์น แล้ว วัตถุนั้นอยู่ห่างไกลจนไม่มีทางที่กระจกบานใดจะส่องได้อย่างทั่วถึง และการจ้องมองวัตถุนั้นก็สัมพันธ์อย่างมากกับตัวตน และตำแหน่งแห่งที่ของบุคคลผู้ถือกระจกเอง ภาพที่เป็นมันไม่ใช่เป็นเพียงภาพตัวแทน ที่ไม่มีวันจะเป็นจริงได้ กล่าวง่ายๆ(ผู้เขียน)คือ เราไม่อาจมองคนอื่นหลุดจากความคิดของตัวเราและเข้าใจคนอื่นทั้งหมดได้

ศิโรตน์กล่าวอีกว่า ปฏิกิริยาที่ผู้คนจำนวนไม่น้อยมีต่อความคิด ความเชื่อ ความรู้แบบแผนการปฏิบัติ สถาบันและอื่นๆอีกมากมายที่แสดงไวพจน์ของภาวะสมัยใหม่ เช่น ประชาธิปไตย และใช้งานของ Richard Rorty (รอตี้) ที่โจมตีการปฏิวัติรัสเซียที่ปิดฉากไปแล้ว ควรที่จะโยนศัพท์แสงการเมืองของทุนนิยมและสังคมนิยมทิ้งไป

เพราะทฤษฎีดังกล่าวไม่ได้ขจัดความทุกข์ยากลำบากออกไปจากสังคมมนุษย์ ไม่ต่างอะไรจากความฝันกระฎุมภีที่จะสร้างรัฐสวัสดิการที่เท่าเทียม
อาจารย์ไชยันต์ ไชยพร อธิบายว่าสำหรับ รอตี้ "ความรัก" สำคัญกว่า "ความรู้" การเมืองหลังสมัยใหม่ คือ การต่อรองประนีประนอมระหว่างคนกลุ่มต่างๆด้วยความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ

3. กระแสโพสต์ โมเดิร์น มีอิทธิพลต่อนักเขียนวรรณกรรม คนรุ่น 2000 อย่างไร? ...
โพสต์ โมเดิร์น มีลักษณะเป็นความสงสัยต่อสิ่งที่สลับซับซ้อน จนคุณพจนา จันทรสันติ(กวี นักแปล นักเขียนร่วมสมัย) เตือนว่าควรสงสัยพร้อมกับค้นหาความจริง คนรุ่นใหม่หลายคนอาจคิดไปว่า คือ การสร้างจินตนาการใหม่ๆต่อสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ การขบฏต่อสิ่งเดิมๆ กรอบเดิมๆ ไม่สนใจการเมืองแบบซ้ายหรือขวา จะเห็นได้ว่าภาวะทุนนิยมผลักไสไล่ส่งจากครอบครัวชาวบ้านไปสู่ภาวะปัจเจกที่สนใจต่อสิ่งแคบๆรอบตัว

แต่เมื่อเราดูงานเขียนที่มีอิทธิพลต่อคนรุ่นใหม่ เช่น โน้ต อุดม แต้พานิช(นักเขียน แนวขยะวรรณกรรม) ถึง ปราบดา หยุ่น(นักเขียนรางวัลซีไรต์) อย่างงาน โทษฐานที่รู้จักกัน ของโน้ต จะมีการใช้การเล่นคำ การให้ความหมายต่อสิ่งหนึ่งและแก้ปัญหาโดยนำความหมายอีกแบบหนึ่งมาแก้ปัญหา ซึ่งเราอาจจะเรียกว่าความคิดเชิงบวก เช่นตอนหนึ่งในกตัญญู กตเวทิตีนที่ว่า "เจ้าของส่วนใหญ่มักทำให้ตีนน้อยใจในขณะอาบน้ำ...ไหนๆก็มีตีนเป็นของตนเองแล้ว กะอีแค่รักษาเอาไว้เอาใจใส่กับมันสักนิด...คุณรัจักและสนิทสนมกับตีนดีแล้วคุณจะไม่โกรธเลย ถ้ามีใครด่าคุณว่าไอ้หน้าส้นตีน"

ปราบดา หยุ่น ก็ใช้วิธีการเขียนที่ฮิวเมอริสต์ คือ ครูอบ ไชยวสุ สร้างรูปแบบการใช้ความคิด "ขบคิด" และ "ขันเงียบ" ประชดประชันซึ่งคุณภาพดังกล่าวห่างหายไปนานในแวดวงวรรณกรรม นักเขียนรุ่นดังกล่าวก็มีที่มามิใช่จากแนวคิดโพสต์ โมเดิร์นเสมอไป แล้วนิตยสารที่ชื่อ POMO ของเสี้ยวจันทร์ แรมไพร ที่เน้นชีวิตเล็กๆ ของศิลปินหาตัวจับยาก เช่น พราย ปฐมพร ปฐมพรมาเป็นหน้าปกจะว่าไปแล้วจุดยืนของหนังสือดังกล่าว ก็ไม่ต่างอะไรกับหนังสือวัยรุ่น แต่เป็นฉบับที่นักเขียนเคยสนใจต่อเหตุการณ์ทางการเมืองมาก่อนจึงมีภาพลักษณ์อีกชนิดหนึ่ง

แต่อย่างไรก็ตามนักเขียนแนวสังคมนิยม อย่างกุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือศรีบูรพา หรือแนวค้นหาความจริงเช่น คมทวน คันธนู, มานพ ถนอมศรี, ก็ยังเป็นที่นิยมอยู่ ขึ้นกับว่าประสบการณ์ในการศึกษาในการทำกิจกรรมของนักศึกษาก็เป็นส่วนหนึ่งในการผลักเขาเข้าหรือออกจากโลกแห่งความจริงในตัวหนังสือ

4. โพสต์ โมเดิร์น กับ มาร์กซิสต์ เป็นมิตรหรือศัตรู ควรแยกเขาแยกเราหรือไม่? ...
สายความคิดของโพสต์โมเดิร์นหรือเทรดดิชั่นมาจากจินตภาพแห่งความสุข ตักอุ่นๆที่ประกอบไปด้วยปรัชญาเยอรมัน คานท์ พหุนิยมปฏิบัตินิยม ฟูโก สัมพันธนิยมมืออันบอบบางของประชาสังคม ตาและตีนเป็นประกายป้อมปราการของอนาธิปัตย์ ไม่มีอะไรอีกแล้วที่จะร้อยรัดกลัดกลึงกระแสแห่งความคิดอันหลากหลาย ผูกอย่างมีระเบียบแต่ไร้วินัยทางการเมือง พยายามไม่เหมือนใคร เฉกเช่นโพสต์ โมเดิร์น รากฐานของโพสต์โมเดิร์นกลุ่มใหญ่หนึ่งมาจากการวิจารณ์มาร์กซิสต์แนวสตาลิน

มาร์กซิสต์ในอังกฤษแนวปฏิวัติถาวร Trotsky/ ลีออน ทรอท์สกีอย่าง อเล็คซ์ คาลินิคอส วิจารณ์โพสต์โมเดิร์นว่าเป็น "แนวคิดที่เกิดจากปัญญาชนอดีตฝ่ายซ้าย ที่กำลังไต่เต้าสู่ความมั่งมีในสถานการณ์ที่ขบวนการแรงงานตะวันตกประสบความพ่ายแพ้" สังเกตกรณีการเมืองในประเทศไทย ปัญญาชนอดีตฝ่ายซ้าย(มิได้เสนอนะครับว่าท่านเหล่านี้จะเป็นโพสต์ โมเดริ์น)ที่ไม่เข้าใจระบบสตาลิน เหมาเจ๋อตง หรือเข้าใจว่าเป็นแนวมาร์กซิสต์ได้เข้าร่วมกับรัฐบาลไทยรักไทย แต่ไม่มีการถกเถียง คัดค้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ หรือ การชำระประวัติศาสตร์ 6 ตุลา 19 ยังอยู่นอกกระแสความสนใจของพวกท่าน

ความบกพร่องของโพสต์โมเดิร์น / หลังสมัยใหม่ ....

1) นำเสนอการต่อสู้อย่างไร้ทิศทางไม่ฟันธงถึงความยุติธรรมและไม่มีประสิทธิภาพของทุนนิยม ทุนนิยมมีหลักคิดปฏิบัติคือ พลังผลิตต่อความสัมพันธ์ทางการผลิตเชื่อมเร่ง การหมุนรอบของปัจจัยทุนให้เร็วที่สุดเพื่อกระจายวัตถุปัจจัยสินค้าสนองตอบตลาดโลกมากที่สุด ตามกลไกตลาดเสรี ซึ่งสภาพจริงการสนองตอบอัตราการผลิตกระจุกตัวอยู่แก่ "เมือง" ใหญ่ๆ การแยก "คน"กับ "เมือง" สู่ความเป็น "พลเมือง" เป็นความ "ศิวิไลซ์"(Civilization)ทางเลือก "ใหม่" ต้องยอม "จำนน" คนตกเป็น "สัตว์เศรษฐกิจ" นี่คือประสิทธิภาพหรือไร้ประสิทธิภาพ "ทุนนิยม"

2) หมกมุ่นอยู่กับในรั้วมหาวิทยาลัย เน้นปากท้องระยะสั้น แต่มักไม่มีทางออกไว้ให้ ละเลยปัญหาการเมืองซึ่งส่งผลเสียต่อความเข้มแข็งของสหภาพแรงงานระยะยาว คือ ในการดำเนินทางสายคิดโพสต์โมเดิร์นตั้งโดยสมมติฐานว่า "ไม่เชื่ออะไรทั้งนั้น"การปฏิเสธ "โลก" สามารถก่อได้ภายใน"สถาบัน" และเชื่อใน"ผลประโยชน์"ระยะสั้นๆซึ่งเข้าได้ดีกับ "รั้วมหาวิทยาลัย"

3) สนใจแต่คนชั่วคนดี ไม่มองถึงความไร้ยางอายหน้าด้านของกลไกตลาดเสรีคือ รัฐสามารถเลือกส่วนการบริหารจัดสรรงบประมาณ และเลือกลงทุนกระตุ้นการลงทุน ภาคอุตสาหกรรมหนัก อุตสาหกรรมบริการ วัตถุประสงค์การลงทุนเจตนาแต่อัตรากำไรสูงสุดในที่สุดสภาพการควบคุมอัตรากำไรตกแก่การเมืองโลก วัฒนธรรมท้องถิ่นภายในประเทศกำลังพัฒนาถูกเลือก เพื่อแลกกับกลไกตลาดเสรี

4) สนใจแนวปฏิรูปอ่อนๆซึ่งมองไม่เห็นว่าการปฏิรูปมาจากการปฏิวัติ ไม่ใช่สะกดคำว่า "ปฏิวัติ" คือโพสต์ โมเดิร์นมองการหาความรู้ของนักปฏิวัติมาร์กซิสต์สืบจาก อ่านหนังสือหนักๆ ซึ่งวิธีการนี้โพสต์ โมเดิร์นพยายามปฏิเสธ และหาการสืบค้นเริ่มจากอะไรก่อนก็ได้ ไปๆมาตัวโพสต์ โมเดิร์นจะนั่งทบทวน และ ปิดตัวเงียบเพื่ออ่านหนังสือหนักๆ เพราะแม้การปฏิเสธโลกเล็กๆน้อยๆทฤษฎีจำเป็นต้องถูกบรรจุในหัวสมอง


5) ไม่เคยศึกษาประวัติศาสตร์โซเวียต 1917 - 1928 ว่าปัจเจกชนชาติกลุ่มน้อยมีการดึงพลังสร้างสรรค์ของแต่ละท่านแต่ละชาติพันธุ์มาใช้อย่างมีพลัง ปัญหาการกดขี่ชนกลุ่มน้อยไม่มีปรากฏให้เห็น การที่โพสต์โมเดิร์นยกปัจเจกชนมาคุ้มครองก่อนโดยมองที่พลังการบริโภค เท่ากับว่าส่งเสริมให้ปัจเจกชนเป็นวัตถุ เช่นเดียวกับวัตถุที่ปัจเจกชนบริโภคนั้นเอง และแม้การมีสหภาพแรงงานจึงเป็นเรื่องยากมากๆ

6) ไม่เข้าใจว่าประชาธิปไตยรวมศูนย์ของเลนินว่าเป็นกระบวนการกำหนดนโยบายทางการเมือง คือโพสต์ โมเดิร์นจะเหมาเอาการรวมศูนย์ทั้งหมดเป็นเผด็จการและการชิงชังดังกล่าวทำให้ลืมบรรยากาศแห่งข้อโต้แย้ง ถกเถียง ก่อนที่จะลงมติกำหนดแผนนโยบายและ มติที่ออกมาต้องไม่ละเลยเสรีภาพของเสียงข้างน้อย

5. ชุดแนวคิดและมหาวาทกรรมโพสต์ โมเดิร์น
กับ มหาพรรณาวาทกรรมของมาร์กซิสต์ให้ประโยชน์อะไรต่อกรรมาชีพ ... ?

กลุ่มโพสต์โมเดิร์น จำแนกเป็น 2 กลุ่มคือ

1) กลุ่มประนีประนอม ซึ่งแนวคิดกลุ่มนี้จะนำสิ่งที่มาร์กซิสต์วิเคราะห์ และให้ภาพที่ชัดเจนต่อ นักคิดในกลุ่มนี้จึงนำมาใช้ประสมประสานกับแนวคิดหลังสมัยใหม่

2) กลุ่มสุดขั้ว จะมองว่าที่สุดของยุคสมัยจบสิ้นไปแล้ว มีแต่แนวคิดหลังสมัยใหม่เท่านั้นที่ปัจจุบันตลอดกาล และมองว่าปัญหาที่ดำรงอยู่ขณะนี้หาใช่ความจริงทั้งหมดไม่ สภาพปัญหา มาจากหลากหลายแหล่งที่มาต่างกันไป การมองลักษณะแยกส่วนพื้นที่นี้ หรือโจทย์หลายๆโจทย์ทำให้มองจุดยุทธศาสตร์ของปัญหาในเรื่องอำนาจเป็นสิ่งที่สร้างกันขึ้นมาเอง

ถ้ากรรมาชีพ ขบวนการแรงงาน ผู้นำ NGOs มีมุมมองรับเอาแนวคิดโพสต์โมเดิร์นมาใช้
หรือปรับใช้ก็ตามขบวนการสากลจะมีผลดีหรือผลเสียอย่างไร? ....

ประการแรก การออกแบบการต่อสู้จะเน้นไปตัวผู้บริโภคที่มีพลังการบริโภคเป็นผู้นำ ไม่จำเป็นต้องรวมกลุ่มจัดตั้งอย่างเหนียวแน่น การประชุมใครอยากพูดอะไรก็พูด ประสบการณ์ของผู้พูดถือเป็นเรื่องสำคัญ ในเวลาเดียวกันประสบการณ์ก็เป็นสิ่งที่น่าเบื่อ พื้นที่ของการพูดที่สั้น กระชับจะมีพลังชักจูงที่โพสต์โมเดิร์นต้องการ ลักษณะเหมือนคำขวัญดิจิตอล ข้อสังเกตคือ เมื่อออกแบบเช่นนี้การเตรียมตัว ความกระตือรือร้น หมั่นอ่าน หมั่นคิด หมั่นถก หมั่นถามจะเป็นเพียงแรงจูงใจระยะสั้น เพราะโพสต์โมเดิร์นถือว่าใครพูดก็ตามก็เป็นสิ่งจริงและลวงในเวลาเดียวกัน

ประการที่สอง เนื้อหาการต่อสู้หลังสมัยใหม่ไม่มีอัตตลักษณ์ที่แน่นอน ไม่มีความสำนึกในตน ไม่ยอมรับการตัดสินคุณค่าว่าอะไรคือสิ่งที่ดีงามและจริง ไม่มีองค์ประธานหรือเรียกว่าทฤษฎีรื้อสร้าง และโพสต์โมเดิร์นยังนำสูตรของ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ที่ว่าไม่มีอะไรเร็วกว่าแสง ถ้าเราทำให้วัตถุมีความเร็ว ใกล้เคียงความเร็วของแสงเวลาจะยืดและพื้นที่จะหดเล็กลง คือ สนใจประวัติศาสตร์การกดขี่ขูดรีดที่กรรมาชีพได้รับนั้น โพสต์โมเดิร์นไม่มีคำตอบไว้ให้ ขึ้นอยู่กับกรรมาชีพแต่ละคน ยิ่งอาจถูกกดขี่ขูดรีดต่างกันก็ได้ และการคิดปฏิวัติอย่างฉับพลันจึงเป็นสิ่งที่โพสต์โมเดิร์นถือเป็นหัวใจ

อย่างไรก็ตามโพสต์โมเดิร์นจะไม่ประณามต่อปัจเจกชนที่เข้าไปเผชิญสู้ต่อผู้มีอำนาจอย่างท้าทาย แม้ปัจเจกชนผู้นี้จะสร้างสิ่งสะท้อนกลับต่อขบวนการกรรมาชีพในลักษณะลบ ในแง่ดังกล่าวนี้โพสต์โมเดิร์นจะยกย่องด้วยซ้ำว่าผู้นี้กล้าปฏิบัติ เมื่อสังเกตความคิดทางการเมืองของไอน์สไตน์จะให้คุณค่ามากในเรื่อง ความรักในการปกป้องตนเองต้องเป็นไปเพื่อให้ได้การยอมรับจากสังคม ดั่งความรอบคอบทางการเมือง ผู้นำจักไม่ใช้ความกล้าส่วนตัวแลกกับอิสรภาพ สันติภาพ นี้คือจุดหนึ่งอันโพสต์โมเดิร์น ประเมินไม่ออก

อีกหนึ่งลักษณะที่แพร่หลายของเนื้อหาความคิดโพสต์โมเดิร์นคือ ประพันธกร มิใช่สิ่งสำคัญที่สุด ขึ้นอยู่กับการตีความของผู้อ่านแต่ละคนมากกว่า และมโนทัศน์ "สัมพันธบท" คือ แต่ละตัวบทไม่ได้เป็นอิสระจากกันแต่มีความสัมพันธ์อย่างซับซ้อน ไม่มีสาเหตุหนึ่งสู่สาเหตุหนึ่งที่แน่นอน หรือปฏิเสธความริเริ่มของประพันธกร ในแง่นี้กรรมาชีพต้องสร้างความคิดอันเลื่อนลอย หรือปรุงแต่งจินตภาพความคิดไม่มีวันจบ ซึ่งเป็นการติดกับดักความใคร่ทางปัญญาไม่ต้องการข้อสรุปแน่ชัด

ประการที่สาม โลกอุดมคติของโพสต์โมเดิร์นไม่มีอะไรเป็นแบบอย่าง ไม่มีอะไรเป็นศูนย์กลาง มีแต่ผลจากการปฏิบัติของการเรียนรู้ร่วมเท่านั้นที่สร้างโลกอุดมคติได้ หรือถ้าไม่ได้ก็ไม่สำคัญ วิชั่น หรือวิสัยทัศน์เป็นสิ่งที่ครอบงำผู้คน ดังนั้น มองไปข้างหน้าก็อาจคล้ายการมองไปข้างหลัง ไม่มีอะไรต่างกันเท่าไร ประจวบกับสิ่งที่โพสต์โมเดิร์นวางไว้ คือ โลกแห่งการไร้การกขี่ขูดรีดย่อมทำไม่ได้ ความเท่าเทียมไม่สามารถสร้างจริงได้

มหาวาทกรรมมาร์กซิสต์ มีข้อดีข้อเสีย ผลดี ผลเสียอย่างไรต่อขบวนการกรรมาชีพสากล
มหาวาทกรรมมาร์กซิสต์ คือ เรียนรู้ระบบโลกว่ามีความจริงที่ต้องยอมรับอาทิ ในเรื่อง สงครามจักรวรรดินิยมเกิดจากแนวโน้มการขยายการพัฒนาของระบบทุนในขณะเกิดวิกฤติ เศรษฐศาสตร์กระแสหลักไม่เข้าใจทฤษฏีมูลค่าแรงงานส่วนเกิน กรรมาชีพจะไม่แบ่งแยก บุรุษ-สตรี-ตุ๊ด-ทอม-เกย์และกรณีปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น การตัดต่อพันธุกรรมชีวภาพ GMOs จะแอบแฝงซ้อนเร้นการต่อสู้ทางชนชั้นอยู่ตลอดเวลา

มหาวาทกรรมมาร์กซิสต์มีผลอย่างไร ต่อกรรมาชีพ
ประการแรก การออกแบบการต่อสู้เน้นที่การรวมตัวจัดตั้งของกรรมาชีพพื้นฐาน และผู้นำที่กรรมาชีพไว้ใจและสนับสนุนให้มีสหภาพแรงงานทุกๆพื้นที่ แต่เป้าหมายดังกล่าวอยู่ที่การต่อสู้ในแบบการเมืองชนชั้น โดยไม่ละเลยปัญหาปากท้อง วิเคราะห์การเคลื่อนไหวทางการเมืองภายในภายนอก ติดตามเฝ้าดู ประชุมสม่ำเสมอ เน้นการประชุมคนงานพื้นฐานและนักศึกษา มอบหมายให้เขานำเสนอปัญหา วิเคราะห์เศรษฐศาสตร์การเมืองสังคม และทุกคนต้องยอมรับว่าการเสียหน้าที่ตัวนำเสนอ เป็นสิ่งกระตุ้นเร่งเร้ามากกว่าหดหู่ท้อแท้


ประการที่สอง เนื้อหาคือการนำแนวคิดมาร์กซิสต์มาวิเคราะห์สังเคราะห์โลกทุนนิยม โลกาภิวัฒน์ อะไรคือแนวคิดมาร์กซิสต์มีขั้นตอนเริ่มจากการศึกษา

1. ปรัชญาวัตถุนิยมประวัติศาสตร์วิภาษวิธี (ปรัชญาเยอรมัน)

2. เศรษฐศาสตร์การเมืองอังกฤษ / มูลค่าแรงงานส่วนเกิน

3. สังคมนิยมฝรั่งเศสกับการปฏิวัติฝรั่งเศส ทฤษฎีดังกล่าวเพียงกรรมาชีพพื้นฐานหรือคนงานพื้นฐานที่อ่านภาษาไทยออกก็สามารถเข้าใจได้ เพราะงานนักสังคมนิยมในอดีต เช่น สุภา ศิริมานนท์ , สมัคร บุราวาศ ,กุหลาบ สายประดิษฐ์ ฯลฯ ก็หาอ่านได้ไม่ยาก มิใช่ทฤษฎีหอคอยงาช้าง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการรววมกลุ่มเป็นกลุ่มศึกษาจะสร้างแรงจูงใจได้มากขึ้น และถ้านักศึกษาเข้ามาร่วมกลุ่มศึกษาด้วยเป็นการดีในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพราะภาวะความเป็นนักศึกษาจะมีปัจจัยให้ต้องคิดต้องถามเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จะขาดก็คือ การเห็นปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม กรรมาชีพพื้นฐานจึงช่วยให้ปัญหานี้ลดลงหรือหายไปได้ และกลุ่มศึกษาที่จัดตั้งขึ้นนั้นจะไม่แยกปัญหาปากท้องออกจากปัญหาการเมืองชนชั้น

ประการที่สาม โลกอุดมคติสังคมนิยมเปรียบเหมือนออกซิเจนหล่อเลี้ยงหัวใจและสมอง เช่น การปฏิรูปกับการปฏิวัติเป็นสิ่งที่มาร์กซิสต์มุ่งมั่นปรารถนา การปฏิวัติที่ดีก็นำไปสู่การปฏิรูปที่ดีด้วย และส่วนใหญ่การปฏิรูปมาจากการปฏิวัติ เช่น ในประเทศไทย พฤษภาทมิฬ ปี 2535 ก็นำไปสู่รัฐธรรมนูญประชาชาติประชาธิปไตยนายทุน คือนายทุนช่วงชิงการนำไปได้ และการปฏิรูปที่ดีก็อาจนำไปสู่การเรียกร้องให้รัฐเก็บภาษีมรดก เก็บภาษีทรัพย์สิน เพื่อสร้างรัฐสวัสดิการ

กรณีการเรียกร้องให้มีการสร้างสหภาพ หรือรูปแบบสหภาพในกรณีการแก้ไขกฎหมาย เช่น ในมหาวิทยาลัยควรมีรูปแบบคล้ายสหภาพในการให้อาจารย์จัดตั้งขึ้นมาเอง แม้แต่การเรียกร้องให้มีสหภาพของผู้ค้าบริการทางเพศก็ควรมี เพราะเป็นการคุ้มครองปกป้อง โปร่งใสกว่าระบบสายเส้น นายหน้ารูปแบบต่างๆ

การจัดระเบียบวินัยมิใช่สิ่งที่เลวร้ายเสมอไป (รูปแบบการจัดระเบียบวินัยอันเลวร้ายมาจากบนลงล่าง เช่น พรรคนาซีของฮิตเลอร์ หรือพรรคสายสตาลิน) ระเบียบวินัยที่ดีมาจากการกำหนดจากล่างสู่บน คือ จากคนงานพื้นฐานหรือกรรมาชีพพื้นฐานไปสู่นโยบายคุมคนส่วนมาก โลกอุดมคติและระเบียบวินัยจึงมิใช่คำพูด / คำสั่งปากเปียกปากแฉะ หรือพูดปากฉีกจนถึงรูหู ที่มาจากคนส่วนน้อยที่มีอำนาจต่อคนส่วนใหญ่

ความบกพร่องและข้อกังขาของสถาบันมาร์กซิสต์

1. ศัตรูทางการเมืองเมื่อกากบาทความเป็น "เขา" ภาพแช่นิ่งตายตัว กลายสภาพลัทธิมาร์กซ์เป็นศาสนาที่แปลกแยกต่อ นักมนุษยธรรม มโนธรรม อุดมคติ บิดเบนกลายพันธุ์สู่ศาสนาปฎิฐานนิยมชนิดใหม่ขึ้นมา ข้อกังขาจุดหมายสันติภาพรูปแบบมาร์ซิสต์ที่ไม่ผ่านการบ่มเพาะวินัยแห่งศาสนาตัวแปรนี้ เป็นแรงเหวี่ยงสู่อารมณ์ดิบสัญชาตญานสัตว์แห่งรูปการณ์ หวาดระแวงไม่มีจุดสิ้นสุด


2. ทฤษฎีมูลค่ากำไรส่วนเกิน สู่ คุณค่าแรงงานยังเป็นปัญหานามธรรม วิธีตอบจึงเหลือรอยตอบในลักษณะปรัชญามากกว่าเหตุผลทางคณิตศาสตร์เศรษฐศาสตร์

3. กรอบการเมืองขั้วอำนาจเดียว หรือ เผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ มักจะไปติดกรอบผู้นำแรงงาน / ผู้นำความคิดคนใดคนหนึ่งเสมอของการสร้างสังคมคอมมิวนิสต์ คือ ข้อเงื่อนสาระแห่งวิธีปฏิวัติ การอ้างความชอบธรรมนี้ ถ่ายสภาพดำรงไว้ระบอบเศรษฐกิจเดิมแต่ตั้งบนฐานประชาธิปไตยทางชนชั้นผู้นำกรรมาชีพ ส่งผลลัพธ์ถึงการไม่เอื้ออำนวยพื้นที่สร้างสรรค์ประชาธิปไตยแท้จริง

สรุป
โลกที่เคลื่อนไหวโดยน้ำมือมนุษย์มาจากสายความคิดต่างๆ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง ในโลกที่มีปัญหาอันหมักหมมจากกลไกธรรมชาติที่มนุษย์สร้างขึ้น จึงสมควรที่จะสะสางโดยส่วนสำคัญ หนึ่ง คือ การวิจารณ์โต้ตอบ ถกถาม สาธยายจึงนำไปสู่ข้อความคิด…แห่งการเริ่มต้นสร้างโลกใหม่ ซึ่งเราหวังว่าโลกเก่ากำลังจะตายจากไปในที่สุด

 

บรรณานุกรม

จันทนี เจริญศรี สังคมวิทยาโพสต์โมเดิร์น สำนักพิมพ์วิภาษา พิมพ์ครั้งที่ ๒, ๒๕๔๕
จุมพฎ คำสนอง วารสารสังคมศาสตร์ ปีที่ ๓๐ ฉบับที่ ๒ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันเพ็ญ บงกชสถิตย์ แปล ชีวิตและความคิดของนักปรัญชาเล่ม ๒ โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์ธรรมศาสตร์ ๒๕๓๕

จรัญ โฆษณานันท์ นิติปรัญชา สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง พิมพ์ครั้งที่๔, ๒๕๔๑
ดร.ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร วาทกรรมการพัฒนา สำนักพิมพ์วิภาษาพิมพ์ครั้งที่ ๒, ๒๕๔๓
ดร. ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร สัญวิทยา.โครงสร้างนิยม.หลังโครงสร้างนิยม.กับการศึกษารัฐศาสตร์ สำนักพิมพ์วิภาษา พิมพ์ครั้งที่๑, ๒๕๔๕

อุดม แต้พานิช โทษฐานที่รู้จักกันสำนักพิมพ์สามสี พิมพ์ครั้งแรก ๒๕๓๗
ปราบดา หยุ่น เมืองมุมฉาก รวมสิบสองเรื่องสั้น สำนักพิมพ์แพรวสุดสัปดาห์ พิมพ์ครั้งที่๔, ๒๕๔๕
ฮิวเมอริสต์ ส้วมสาธารณะพิมพ์งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ๒๕๔๕

รุ่งวิทย์ สุวรรณอภิชน ศรีบูรพา ศรีแห่งวรรณกรรมไทย สำนักพิมพ์พาสิโก ๒๕๒๒
พลศักดิ์ จิรไกรศิริ วรรณกรรมการเมือง สำนักพิมพ์กราฟิคอาร์ต ๒๕๒๒
คมทวน คันธนู วรรณกามแห่งสยามคดี สำนักพิมพ์มิ่งมิตรพิมพ์ครั้งแรก ๒๕๔๕

วิทยากร เชียงกูล บรรณาธิการ บทกวีและเรื่องสั้นดีเด่นของสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย ๒๕๒๑ พิมพ์ครั้งแรก ๒๕๒๒
กนก สงิมทอง นิตยสาร POMO ลำดับ 3 สำนักพิมพ์ แอล.ที.เพรส
แถลงการณ์ พรรคคอมมิวนิสต์ คาร์ล มาร์กซ์, เฟรเดริค เองเกลส์ โดยสถาบันวิทยศาสตร์สังคม(ประเทศไทย)พิมพ์ มิถุนายน ๒๕๔๔

ใจ อึ๊งภากรณ์ อะไรนะลัทธิมาร์คซ์? ชมรมหนังสือประชาธิปไตยแรงงาน๒๕๔๒
ใจ อึ๊งภากรณ์และคณะ การเมืองไทยในทัศนะลัทธิมาร์คซ์ ชมรมหนังสือประชาธิปไตยแรงงาน ๒๕๔๓
สังคมนิยมจากล่างสู่บน นักมาร์คซิสต์คิดอย่างไรเกี่ยวกับ… กลุ่มประชาธิปไตยแรงงาน ๒๕๔๔

กำพล ศรีถนอม แปล อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เขียนเมื่อเป็นไม้ใกล้ฝั่ง ชุดวิทยาศาสตร์น่ารู้ สำนักพิมพ์สมิต พิมพ์ครั้งที่ ๗, ๒๕๔๓
วี.ไอ.เลนิน จะทำอะไรดี แปลสุรเสกข์ สุวิชญา สำนักพิมพ์สากล พิมพ์ครั้งที่ ๒, ๒๕๒๖
ทวีป วรดิลก แปล ALIENTION ปรัชญาว่าด้วยความผิดแปลกสภาวะ สำนักพิมพ์วสี พิมพ์ครั้งแรก ๒๕๒๔

ปรีดี บุญซื่อ ปีศาจวิทยาของการเปลี่ยนแปลง สำนักพิมพ์เคล็ดไทย เมษายน ๒๕๒๕

 

เอกสารอ้างอิง
ใจ อึ๊งภากรณ์ แปล Against Postmondernism(1912) Alex Callinicos (Polity Press)

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ โพสต์โมเดิร์นคืออะไร??? จากปฎิกิรียาแบบมาร์กซ์สู่การเมืองแบบปฏิบัตินิยม

พิชิต ลิขิตกิจสมบูลย์ ปัญหาบางประการในทฤษฎีมูลค่าแรงงานแบบมาร์กซเสียน วารสารเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ ปีที่๑๑ ฉบับที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๓๖

ดร.ปรีชา เปี่ยมพงศ์สานต์ เศรษฐศาสตร์การเมืองแห่งความหายนะ หรือ หายนะของเศรษฐศาสตร์การเมือง ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๔๔

อานันท์ กาญจนพันธุ์ ตัวตนแรงงานสำคัญอย่างไร ในกระแสทุนนิยมเสรีใหม่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๔๖

สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย วารสารส่องทาง ปีที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๔๖


โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย เจาะโลกแรงงาน ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๔๖

ประชาธิปไตยแรงงาน วารสาร เพื่อสร้างพรรคกรรมาชีพ ปีที่๔ ฉบับที่๖ มีถุนายน ๒๕๔๔

 

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 530 เรื่อง หนากว่า 6500 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com




 

H
เว็ปไซต์ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ออกแบบขึ้นมาเพื่อใช้กับ Display properties : screen area 600 X 800 pixels ซึ่งจะให้ภาพที่คมชัดและสมบูรณ์ที่สุด

ความหมายของคำว่า "ความรู้"ในแบบฉบับโพสต์ โมเดิร์น ความรู้เหมือนกระจก ส่วนโลกเหมือนวัตถุ ที่เราจะเอากระจกไปส่องให้เห็นได้อย่างถ้วนทั่ว สำหรับโพสต์ โมเดิร์น แล้ว วัตถุนั้นอยู่ห่างไกลจนไม่มีทางที่กระจกบานใดจะส่องได้อย่างทั่วถึง และการจ้องมองวัตถุนั้นก็สัมพันธ์อย่างมากกับตัวตน และตำแหน่งแห่งที่ของบุคคลผู้ถือกระจกเอง ภาพที่เป็นมันไม่ใช่เป็นเพียงภาพตัวแทน ที่ไม่มีวันจะเป็นจริงได้

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 550 เรื่อง หนากว่า 7000 หน้า ในรูปของ CD-ROM ในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง) สนใจสั่งซื้อได้ที่
midnightuniv(at)yahoo.com
หรือ ส่งธนาณัติถึง
สมเกียรติ ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202

กรุณาส่งธนาณัติแลกเงินไปยัง
สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50202
อย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์

โลกอุดมคติสังคมนิยมเปรียบเหมือนออกซิเจนหล่อเลี้ยงหัวใจและสมอง เช่น การปฏิรูปกับการปฏิวัติเป็นสิ่งที่มาร์กซิสต์มุ่งมั่นปรารถนา การปฏิวัติที่ดีก็นำไปสู่การปฏิรูปที่ดีด้วย และส่วนใหญ่การปฏิรูปมาจากการปฏิวัติ เช่น ในประเทศไทย พฤษภาทมิฬ ปี 2535 ก็นำไปสู่รัฐธรรมนูญประชาชาติประชาธิปไตยนายทุน คือนายทุนช่วงชิงการนำไปได้ และการปฏิรูปที่ดีก็อาจนำไปสู่การเรียกร้องให้รัฐเก็บภาษีมรดก เก็บภาษีทรัพย์สิน เพื่อสร้างรัฐสวัสดิการ กรณีการเรียกร้องให้มีการสร้างสหภาพ หรือรูปแบบสหภาพในกรณีการแก้ไขกฎหมาย เช่น ในมหาวิทยาลัยควรมีรูปแบบคล้ายสหภาพในการให้อาจารย์จัดตั้งขึ้นมาเอง แม้แต่การเรียกร้องให้มีสหภาพของผู้ค้าบริการทางเพศก็ควรมี

ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๘ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ
เจ้าของพื้นที่ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ