ผลงานภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบบทความบริการฟรีของ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

R
relate topic
080348
release date

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 538 หัวเรื่อง
ชุมชนคนรักแผ่นดินแม่
กรรณิการ์ กิจติเวชกุล : เขียน
www.localtalk2004.com
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
The Midnight 's article

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ

Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com

เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะ
สามารถแก้ปัญหาได้

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
เว็ปไซท์นี้มีการคลิกโดยเฉลี่ยต่อวัน 14119-26256 ครั้ง สำรวจเมื่อเดือนสิงหาคม 47
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ เพื่อประโยชน์ต่อสังคม

คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

โลกาภิวัตน์ ปะทะ ท้องถิ่นพัฒนา
ชุมชนคนรักแผ่นดินและวิถีธรรมชาติ
กรรณิการ์ กิจติเวชกุล


หมายเหตุ:
บทความทางวิชาการชิ้นนี้ เป็นการรวบรวมงานเขียน ๒ ชิ้นคือ
๑. เทอร่า มาเดร์ : แผ่นดินแม่
๒. ไอเรต : กลุ่มผู้เฒ่านักสู้จากดินแดนโลกที่ ๓
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ
นันทา เบญจศิลารักษ์ บ.ก.
http://www.localtalk2004.com

(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 9 หน้ากระดาษ A4)

 

 

๑. เทอร่า มาเดร์ แผ่นดินแม่
เมื่อวันที่ 21-22 ตุลาคม 2547 ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมระดับโลกที่น่าสนใจการประชุมหนึ่ง แม้การประชุมนี้จะไม่ได้เป็นข่าวตามสื่อสารมวลชนเท่าที่ควร แต่ความสำคัญของการประชุมนี้ยังควรถูกกล่าวถึง การประชุมที่ว่านี้คือ การประชุมระดับโลกของชุมชนอาหารโลก หรือ Terra Madre (เทอร่า มาเดร์)

เทอร่า มาเดร์ หรือ "แผ่นดินแม่" อันเป็นการแสดงความเคารพต่อแผ่นดินที่สร้างอาหาร สร้างคน สร้างชุมชนทั่วโลก การประชุมระดับโลกครั้งนี้จัดขึ้นที่ เมืองตูริน ประเทศอิตาลี มีผู้มาร่วมงานถึง 4,888 คน มาจาก 1,202 ชุมชนอาหาร ของ 128 ประเทศทั่วโลก จนต้องกระจายผู้ร่วมงานไปพักตามที่ต่างๆ ในภูมิภาคพีมอนเต้ (Peimonte Region) ของอิตาลีเป็นรัศมี 100 กิโลเมตรรอบที่ประชุม

ชุมชนอาหารในที่นี้หมายถึงทั้ง ผู้ผลิต เกษตรกร ชาวประมง คนเลี้ยงสัตว์ ผู้ผลิตอาหาร ตลอดจนผู้บริโภค ซึ่งในที่นี้เรียกว่า ผู้ผลิตร่วม (co-producer) เพราะไม่ต้องการให้ผู้บริโภค บริโภคอย่างไม่คิดอะไรเท่านั้น แต่ควรต้องตระหนักถึงบทบาทของตัวเองในการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ ทรัพยากร และชีวิตชุมชนด้วย

งานครั้งนี้ มีตัวแทนจากเครือข่ายเกษตรทางเลือกของไทย 5 กลุ่มเข้าร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ค้นหาความยั่งยืนของโลก กลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์ ภาคเหนือ ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 200 ครอบครัว เกษตรกรปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตจากการปลูกเชิงเดี่ยวมาทำเกษตรอินทรีย์ เน้นการปลูกพืชท้องถิ่น เหลือจึงขาย ขณะนี้มีการตั้งตลาดสีเขียวเพื่อเป็นการพบปะกับผู้บริโภคโดยตรงใจกลางเมืองเชียงใหม่ทุกสัปดาห์ ทุกวันนี้ แม้ไม่มีเงินเหลือเก็บมากมาย แต่ก็สามารถยืดอกได้ว่า ไม่มีหนี้

ชุมชนผู้ปลูกข้าวหอมมะลิอินทรีย์ จังหวัดสุรินทร์ เริ่มปรับเปลี่ยนมาปลูกข้าวอินทรีย์ตั้งแต่ปี 2535 มีสมาชิกกว่า 700 คน สามารถเชื่อมต่อกับจังหวัดให้มีนโยบายและงบประมาณมาสนับสนุนเกษตรทางเลือก สามารถส่งออกสินค้าผ่านโครงการการค้าที่เป็นธรรม (Fair Trade) จุดยืนของกลุ่มนี้ชัดเจน ไม่ขายข้าวให้กับซีพี ที่ตอนนี้กำลังโดดลงมาแย่งชิงตลาดอินทรีย์ด้วย (แต่เป็นอินทรีย์?? แบบใช้สารเคมี 30%)

กลุ่มประมงขนาดเล็ก จังหวัดตรัง ชาวประมง 13 หมู่บ้านเริ่มตั้งวงพูดคุยกันถึงประสบการณ์ และปัญหาที่เกิดจากเรือประมงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และจำนวนปลาที่ลดลงจากการใช้เครื่องมือประมงแบบทำลายล้าง ตั้งแต่ปี 2536 ทุกวันนี้พวกเขายังมุ่งมั่นที่จะอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อให้มีต่อทอดไปยังรุ่นลูกรุ่นหลาน

เครือข่ายเกษตรทางเลือก ภาคใต้ ชุมชนที่พยายามรักษาระบบการผลิตแบบดั้งเดิมที่เน้นความหลากหลายของต้นไม้ คงพันธุ์พืชผลไม้ท้องถิ่นให้รอดพ้นจากการรุกรานของสวนยางพารา และพวกเขายังพิสูจน์คนอยู่กับป่าได้อย่างยั่งยืน

ชุมชนผู้อนุรักษ์พันธุกรรมข้าวพื้นบ้านอีสาน กลุ่มนี้ตั้งขึ้นเมื่อปี 2544 เพื่ออนุรักษ์พันธุ์พื้นเมืองที่สูญหายไปนับจากที่รัฐบาลมีนโยบายเร่งการปลูกข้าวเพื่อการส่งออก

ความสำคัญของเทอร่า มาเดร์นั้น ไม่ได้อยู่ที่เวิร์คช็อบมากมายถึง 61 ห้องที่เจาะลึกในด้านต่างๆ เพราะผู้ร่วมประชุมมากเกินกว่าที่จะได้ถกถึงปัญหาและทางออกอย่างจริงจังได้ แต่ความยิ่งใหญ่ของเทอร่า มาเดร์ อยู่ที่มันเป็นจุดเริ่มต้นของการประกาศเปิดแนวรบอย่างเป็นทางการ กับอุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารทั้งในชาติ และข้ามชาติที่กำลังรุกรานเข้าทำลายชีวิตเกษตรกร ผู้ผลิตรายย่อย และผู้บริโภคทั้งในเชิงคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมชุมชน

คาร์โล เพรตินี ประธานมูลนิธิสโลว์ฟู้ด เจ้าภาพการจัดงานกล่าวว่า

"ชุมชนอาหารทำหน้าที่ทางยุทธศาสตร์ที่จะสร้างความเท่าเทียมกันของสังคม เพราะชุมชนเกษตรกรรมคือชุมชนของความเป็นพี่เป็นน้อง ปราศจากซึ่งความเห็นแก่ตัว ทุกคนร่วมใจกันปกป้องรักษาดำรงวัฒนธรรมและพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ของเรา เชื่อมประสานทั้งความรู้เก่าและใหม่ ถือเป็นหน้าที่สำคัญของคนที่เลี้ยงดูโลก เป็นสัญลักษณ์ระหว่างคน ธรรมชาติ และชีวิต อาหารจากทุกที่ ข้าวจากเอเชีย ฟูฟูจากแอฟริกา จาปาตีจากอินเดีย พาสต้าจากอิตาลี ขนมปังในยุโรป ฯลฯ แสดงถึงความหลากหลาย เศรษฐกิจที่ต่อต้านความอดอยาก

อย่างไรก็ตามความสำคัญของสิ่งเหล่านี้กำลังถูกทำลาย โดยการบงการและครอบงำของกลุ่มทุนที่แสวงหากำไรเพื่อคนส่วนน้อย เอารัดเอาเปรียบแรงงาน ทำลายสิ่งแวดล้อม การต่อสู้เพื่อปกป้องความหลากหลายจึงเป็นความสำคัญของเกษตรกรทั่วโลก สำหรับเราที่เป็นคนผลิตเพื่อแผ่นดินแม่ เพื่อสิทธิเสรีภาพและอธิปไตย เรามีสิทธิที่จะจัดการทรัพยากรของเราเอง และต่อต้านบรรษัทข้ามชาติที่ผลิตจีเอ็มโอและสารเคมีเป็นการผลิตที่ค้านกับธรรมชาติ

ชุมชนเดียวไม่สามารถต่อสู้ได้โดยลำพัง เพราะมันมีทั้งการล็อบบี้ กดดัน และทำลาย เราจึงต้องรวมตัวกันกระจายข้อมูลข่าวสารแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อรักษามรดกแผ่นดินไว้ ผู้บริโภคจะมีชีวิตที่ดีได้ก็ต่อเมื่อผู้บริโภคตระหนักถึงการเป็นผู้ผลิตร่วมของตัวเอง เพื่อความพอใจ คุณภาพ สิทธิชุมชน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เราจึงจะฝ่าวิกฤตนี้ไปได้ ขอให้เราใช้ความเป็นพี่น้อง เพื่อนำไปสู่อิสรภาพและความเท่าเทียม"

ความน่าสนใจยังอยู่ที่ การประชุมครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากหน่วยราชการและรัฐบาลอิตาลี ทั้งเทศบาลเมือง องค์กรจัดการส่วนภูมิภาค (ส่วนราชการระดับภูมิภาคของอิตาลี) และกระทรวงเกษตรและป่าไม้ของอิตาลี ที่ออกทุน (ค่าเดินทาง ที่พัก และค่าอาหารทุกมื้อ) เชื้อเชิญชุมชนอาหาร (Food communities) มาจากทั่วโลก และ เทอร่า มาเดร์ ยังสามารถดึงความร่วมมือและยกย่องเจตนารมณ์อันมุ่งมั่นของหน่วยราชการและนักการเมืองที่ต้องการปกป้องประชนและแผ่นดินของตนเอง

การเลือกสถานที่จัดงานที่ เมืองตูริน (Turin) เมืองที่เป็นสถานที่จัดงาน ถือว่าเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรม ที่นี่มีโรงงานผลิตรถยนต์เฟียตขนาดใหญ่ ดูช่างขัดกับงานที่ว่าด้วยเกษตรกรรมและอาหาร แต่ประเด็นนี้ได้รับการไขข้อข้องใจจาก เอ็นโซ่ คีโก้ ประธานภูมิภาคพีมอนเต้ (อิตาลีแบ่งการปกครองเป็น 21 ภูมิภาค ตูรินอยู่ในภูมิภาคพีมอนเต้) ว่า

หลายปีที่ผ่านมานี้ เมืองตูรินเป็นศูนย์กลางความต่อสู้และเคลื่อนไหวทางการเมืองและวัฒนธรรม เพื่อปกป้องอาหารปลอดภัยให้กับพลเมืองในภูมิภาค เพราะปีนี้จะเป็นปีที่การประกาศห้ามปลูกจีเอ็มโอของสหภาพยุโรปจะหมดอายุ ดังนั้นเพื่อเป็นการปกป้องสิ่งแวดล้อม ภูมิภาคพีมอนเต้ซึ่งเป็นหน่วยปกครองของรัฐ จึงประกาศให้ ภูมิภาคพีมอนเต้เป็นภูมิภาคปลอดจีเอ็มโอ ภูมิภาคแรกของโลก

"ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ประชาชนพยายามหาหนทางที่จะปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพและวิถีชีวิตชนบท พร้อมไปกับการสร้างทางเลือกให้คนรุ่นใหม่ การต่อสู้นี้อาจถูกตีความเหมือนขบวนการเกษตรกรล้าหลังคร่ำครึ แต่แท้ที่จริงแล้วมันเป็นการต่อสู้เพื่อเสรีภาพ"

ไม่เพียงแค่ภูมิภาคพีมอนเต้ที่ลุกขึ้นมาประกาศไม่เอาจีเอ็มโอ ภูมิภาคทัสคานี่ ที่อยู่ใต้ลงไปก็ต่อสู้เข้มข้นไม่แพ้กัน

นับตั้งแต่ พ.ศ. 2503 เป็นช่วงเร่งปฏิวัติอุตสาหกรรมของอิตาลี แต่ปรากฏว่า คนยากจนลง ตกงานมากขึ้น ทั้งๆที่ผลผลิตมากขึ้น ทำให้มีคนเริ่มคิดหนทางไปสู่ความยั่งยืน ที่ผูกพันกับฟาร์มขนาดเล็ก วัฒนธรรม ประเพณี และสิ่งแวดล้อม

ในที่สุด เมื่อปี 2543 ภูมิภาคทัสคานี่ ได้ออกกฎหมายฉบับแรกที่ปกป้องสิทธิเกษตรกรในเมล็ดพันธุ์ ส่วนกฎหมายฉบับที่ 2 กำลังจะคลอดในเร็ววันนี้ เป็นการปกป้องสิทธิชุมชนในความหลากหลายทางพันธุ์พืช เพื่อป้องกันเกษตรกรจะถูกฟ้องจากการปนเปื้อนจีเอ็มโอ เพื่อให้ประชาชนสามารถปลูกได้ แลกเปลี่ยน และเก็บเพื่อขยายพันธุ์ต่อได้

ตัวแทนจากภูมิภาคทัสคานี่ เล่าให้ฟังว่า ทั้งคณะรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีซิลวิโอ เบอร์ลุสโคนี่ มีรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและป่าไม้คนเดียวเท่านั้น ที่ค้านจีเอ็มโออย่างจริงจัง ทั้งคณะรัฐมนตรีไม่มีใครเอาด้วย แต่ยังเก่งที่สามารถยันเอาไว้ได้ อันที่จริง อิตาลีเป็นเพียงประเทศเดียวในโลกที่ประกาศห้ามจีเอ็มโอในอาหารเด็กมานานแล้ว ส่วนประเทศอื่นๆเป็นแต่เพียงการบังคับติดฉลากเท่านั้น

ที่สุดของงานคงต้องยกให้ บิ๊กเซอร์ไพรส์ตอนปิดงาน คือ การปรากฏตัวของเจ้าฟ้าชายชาร์ล มกุฏราชกุมารแห่งอังกฤษ ผู้อุทิศที่ดินของพระองค์เพื่อการทดลองเกษตรทางเลือก และแสดงเจตนารมณ์คัดค้านจีเอ็มโอโดยตลอด
ข้อความต่อไปนี้ คือ พระราชดำรัสโดยสรุปของพระองค์

คงเป็นที่รับรู้กันทั่วว่า ข้าพเจ้าไม่เชื่อว่า พืชตัดต่อพันธุกรรมจะเป็นส่วนหนึ่งของความยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ คงต้องตั้งคำถามว่า เทคโนโลยีใหม่นี้เป็นผลผลิตที่ชาญฉลาดหรือไม่ หรือเป็นแค่ตัวขยายผลประโยชน์ ในระยะยาวมันจะช่วยแก้ปัญหาให้มนุษยชาติหรือจะกลายเป็นเพิ่มปัญหา

แม้ว่าความเป็นไปได้ของหายนะอาจจะไม่มาก แต่ก็ยังมีคำถามต่อไปอีกว่า เป็นหนทางที่ถูกแล้วหรือที่จะเลือกเดินทางนี้ ถ้าเอาเงินที่ลงทุนไปในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพตลอดระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา ไปลงทุนเกษตรกรรมยั่งยืนในประเทศกำลังพัฒนา ข้าพเจ้าเชื่อว่า เราจะได้เห็นความก้าวหน้าที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง

การใช้ระบบเกษตรอุตสาหกรรมเข้าไปแทนที่ระบบเกษตรดั้งเดิมทำลายทุนทั้งทางสังคมและในเชิงความหลากหลายทางชีวภาพ ทำลายอัตลักษณ์วัฒนธรรมที่ยึดโยงกับที่ดิน และพรากมนุษย์ออกจากความสัมพันธ์ที่มีความหมายที่มีต่อธรรมชาติและอาหารที่พวกเขากิน อุตสาหกรรมที่ขาดศิลปะคือความโหดเหี้ยม

อาหารที่พวกคุณผลิต ไม่ใช่เพียงแค่อาหาร เพราะมันเป็นตัวแทนของวัฒนธรรมวิถีชีวิตเกษตรกร เป็นประวัติศาสตร์วิถีชีวิตชนบท แสดงความเอาใจใส่ในชีวิตสัตว์ แสดงความรักในผืนดิน เป็นตัวแทนความทรงจำในวัยเยาว์ ความรู้และภูมิปัญญาที่ร่ำเรียนจากบรรพบุรุษ ความรู้และมีความเข้าใจในสภาพแวดล้อมและภูมิอากาศท้องถิ่นเป็นอย่างดี และยังแสดงทั้งความหวังและความกลัวของคนรุ่นที่ก้าวสู่ความสำเร็จ พวกคุณได้ทำเกษตรกรรมที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง

ข้าพเจ้าขอสรรเสริญพวกท่าน.

 

๒. ไอเรต : กลุ่มผู้เฒ่านักสู้จากดินแดนโลกที่ 3
ชื่อของกลุ่มไอเรต (IRATE) แห่งพอร์ตเคมบลา อาจไม่เป็นที่รู้จักกว้างขวางมากนัก แม้กระทั่งในออสเตรเลียก็ตาม แต่สำหรับในเขตพื้นที่ อิลลาวาร์รา รัฐนิวเซาท์เวลส์แล้ว ชื่อของไอเรตติดอันดับต้นๆ ของกลุ่มชาวบ้านที่มีการรวมตัวอย่างเข้มแข็ง และกระทำการต่อกรกับนักลงทุนและหน่วยงานของรัฐ เพื่อเรียกร้องอากาศบริสุทธิ์สะอาดกลับคืนมายังถิ่นกำเนิดของตน และที่สำคัญไอเรตได้ทำให้เรารู้จักอีกด้านของออสเตรเลีย

ไอเรต (IRATE) หรือ ชาวอิลลาวาร์ราผู้คัดค้านการปล่อยมลพิษ ( Illawarra Residents Against Toxic Emission ) มีสมาชิกกลุ่มประมาณ 30 คนที่ส่วนมากเป็นหญิงสูงวัยทั้งวัยแม่ วัยย่า วัยยาย จนถึงวัยคุณทวดที่ลุกขึ้นมาสู้เพื่อชุมชนและลูกหลานของตนเอง ขณะที่คนรุ่นใหม่หรือคนทำงานสนใจการจ้างงานมากกว่าชีวิต

อุตสาหกรรม ฝันร้ายของท้องถิ่น
พอร์ตเคมบลา เมืองที่ได้ชื่อว่าเป็นโลกแห่งอุตสาหกรรมประจำเขตอิลลาวาร์รา อยู่ห่างจากซิดนีย์ที่ทุกคนคุ้นเคยลงมาทางใต้ประมาณ 100 กิโลเมตร ชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่เป็นแรงงานอพยพตามนโยบายกวาดต้อนแรงงานจากยุโรปช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ประกอบด้วยคนหลายเชื้อชาติ หลากวัฒนธรรม ทำให้โดยพื้นฐานแล้ว ชาวพอร์ตเคมบลาไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ในการสื่อสารเช่นชาวออสเตรเลียทั่วไป และบางส่วนก็พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ทำให้ไม่ได้รับการเหลียวแลจากรัฐ จนบ่อยครั้งพวกเขาเรียกชุมชนของเขาว่า โลกที่ 3 (Third World) เหมือนไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของออสเตรเลียซึ่งเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว

เดิมทีพอร์ตเคมบลาเคยเป็นพื้นที่ที่ได้ชื่อว่าอุดมสมบูรณ์มากแห่งหนึ่ง มีทะเลสาบขนาดยักษ์ ด้านหนึ่งเป็นชายหาดที่งดงาม อีกด้านเป็นภูเขาป่าฝนอันอุดมสมบูรณ์โอบล้อม แหล่งน้ำอุดมไปด้วยปลา ผืนดินสะอาดและอากาศบริสุทธิ์

เส้นทางของโรงงานอุตสาหกรรมในพอร์ตเคมบลาเริ่มต้นขึ้นที่โรงหลอมทองแดงขนาดเล็กในปี 2451 ที่นับเป็นการเริ่มต้นอย่างสง่างาม เพราะถือเป็นการสร้างเมืองแห่งนี้ให้มีชีวิตชีวา ทว่ากระบวนการผลิตแทบทุกขั้นตอนล้วนก่อให้เกิดอันตราย โดยเฉพาะกับคนงานนับตั้งแต่กระแสไฟฟ้าที่ใช้ในการสกัดทองแดง กรดซัลฟูริกจำนวนมหาศาล ที่ส่งก๊าซพิษออกมากัดผิวและทำลายเนื้อเยื่อต่างๆ ในร่างกาย สารพิษไม่ได้จำกัดอยู่แค่โรงงาน เพราะทั้งซัลเฟอร์ไดอ็อกไซด์และฝุ่นได้ปกคลุมไปทั่วชุมชนเล็กๆ แห่งนี้

แต่ผลดีต่อเศรษฐกิจของพอร์ตเคมบลา และผลกำไรของเจ้าของโรงงานได้กลบปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อมไปจนสิ้น ในช่วงนั้นกลุ่มควันพิษ และผงฝุ่นที่พวยพุ่งออกมาจากโรงงาน เป็นเสมือนสัญลักษณ์ของความเจริญก้าวหน้า แม้แต่ชาวบ้านเองก็ดูภูมิใจที่มีโรงงานแห่งนี้ตั้งอยู่ในชุมชน และอีกหลายโรงงานก็ทยอยตามเข้ามา ทั้งโรงถลุงเหล็ก โรงงานผลิตปุ๋ยเคมี ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่นำมาซึ่งมลพิษสู่ชุมชนพอร์ตเคมบลาเช่นกัน

สัญญาณอันตรายเริ่มมาเยือน
ปี 2483 ชาวบ้านพอร์ตเคมบลาเริ่มรับถึงสัญญาณอันตรายของมลพิษที่สะสมมาเป็นเวลายาวนาน ความตระหนักในเรื่องมลพิษทางอากาศจึงเริ่มส่งเสียงดังมากยิ่งขึ้นท่ามกลางความเงียบ หน้าต่างของบ้านเรือน และโรงเรียนประถมข้างโรงงานต้องถูกปิดตาย เนื่องจากเป็นหนทางเดียวที่ทำให้ผู้คนพอหายใจได้ ความตายของคนในชุมชนอันเนื่องมากจากมะเร็งเกิดขึ้นราวใบไม้ร่วง …

จดหมายและตัวแทนของชุมชนถูกส่งไปยังหน่วยงานของรัฐในระดับท้องถิ่น ทำให้มีการตรวจสารตะกั่วในเลือดของเด็กในชุมชน แต่ผลการตรวจถูกเก็บเป็นความลับดำมืด เพราะผลของมันน่าตกใจกว่าที่คาด นับจากนั้นเป็นต้นมา ชาวบ้านพอร์ตเคมบลาเริ่มจับตาถึงระดับของฝุ่น และสารพิษที่พ่นออกมาจากโรงงานสกัดทองแดง จนกลายเป็นประเด็นที่สำคัญขั้นมาในราวปลายปีนั้นเอง

ปลายปี 2523 และต้นปี 2533 เกิดปัญหาภายในโรงงานทั้งจากภาวะเศรษฐกิจ และต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มสูงขึ้น จนนำไปสู่การปิดโรงงานสกัดทองแดงอย่างสมบูรณ์ในปี 2536 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ชาวบ้านพอร์ตเคมบลาหายใจได้อย่างสะดวก และได้สูดอากาศที่บริสุทธิ์ สดชื่นนับตั้งแต่เริ่มมีโรงงานมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา

หลายคนอาจจะเข้าใจว่าถึงจุดจบของการปล่อยมลพิษจากโรงงานสกัดทองแดงในพอร์ตเคมบลา แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทญี่ปุ่นจำนวน 2 แห่งกลับเชื่อมั่นว่าโรงงานดังกล่าวยังมีศักยภาพในการทำกำไรได้อีก หากมีการพัฒนากระบวนการผลิตให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้น จึงนำไปสู่การซื้อกิจการต่อจากเจ้าของรายเดิม และได้รับใบอนุญาตและกระบวนการทางสิ่งแวดล้อมอย่างรวดเร็วผิดปกติ โดยมีชาวบ้านเพียง 12 ครอบครัวเท่านั้นที่ได้รับแจ้ง

รัฐนิวเซ้าท์เวลส์ อ้างว่า การเปิดเดินเครื่องครั้งใหม่ของโรงงานสกัดทองแดง จะใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ไม่ปล่อยมลพิษออกสู่อากาศเกินกว่ามาตรฐาน ได้รับการยกเว้นภาษี และได้รับอนุญาตให้ปล่อยสารพิษที่ไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของกฎหมายออกสู่บรรยากาศได้ การเปิดเดินเครื่องครั้งใหม่ของโรงงานสกัดทองแดง ก่อให้เกิดการแสดงออกรูปแบบใหม่ของชาวบ้าน

คราวนี้ชาวบ้านพอร์ตเคมบลาใช้มาตรการของตัวเอง ไม่ใช่ผู้ตามที่เชื่องอีกต่อไป เริ่มมีการจัดวงพูดคุยกัน มีการเดินขบวนประท้วงไปตามท้องถนน จนกระทั่ง แสดงความโกรธอย่างเปิดเผยต่อเจ้าของโรงงานรายใหม่ ชาวบ้านไม่ต้องการเจรจา หรือการเสียเวลาในการอ่านข้อมูลต่างๆ ในรายละเอียดอีกต่อไปแล้ว พวกเขาเริ่มกระบวนการต่อสู้เพื่อถามหาความเป็นธรรมทางด้านสิ่งแวดล้อมด้วยตนเอง

จากการสำรวจความเห็นของประชาชนพบว่า กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของชาวบ้านในพื้นที่ คัดค้านการเปิดโรงงาน ทำให้เกิดแรงสนับสนุนจากสาธารณชนอย่างรวดเร็ว แต่ในสายตารัฐ และนักลงทุน การมีส่วนร่วมของประชาชนดูจะไม่ใช่ประเด็น

ก่อกำเนิดกลุ่มไอเรต
ปลายปี 2539 กลุ่มชาวอิลลาวาร์รา ผู้คัดค้านการปล่อยมลพิษ (Illawarra Residents Against Toxic Emission) หรือ ไอเรต (IRATE) ได้ถือกำเนิดขึ้นเพื่อขยายแนวร่วมนอกเหนือจากการค้านโรงหลอมทองแดง โดยหยิบยกประเด็นทางด้านสุขภาพมาเป็นหลัก จนถูกจับตาอย่างมากจากหน่วยงานของรัฐและนักลงทุน ซึ่งถือได้ว่ากระบวนการของไอเรตมีความก้าวหน้าไปเรื่อยๆ แม้ภาครัฐจะเชื่อว่าปัญหาเกิดขึ้น เพียงเพราะกลุ่มชาวบ้านยังได้รับข้อมูลไม่เพียงพอ

เพราะความเชื่อว่าศาลและกระบวนการยุติธรรมจะเป็นที่พึ่งและเป็นความหวังสุดท้ายที่จะหยุดยั้งการเดินเครื่องครั้งใหม่ของโรงงานสกัดทองแดงได้ เช่นเดียวกับความเชื่อมั่นว่าจะใช้กระบวนการทางศาล เพื่อเปิดเผยข้อมูลผลกระทบทางด้านสุขภาพต่อสาธารณชน และจะนำไปสู่ชัยชนะในการต่อสู้

สมาชิกของกลุ่มคือ คุณป้าเฮเลน แฮลมินตัน (Helen Hamilton) ตัดสินใจใช้ชื่อของตนเองในการฟ้องร้องต่อศาล พร้อมกับยื่นขอรับการช่วยเหลือทางกฏหมาย ซึ่งได้รับเงินช่วยเหลือจากแผนกช่วยเหลือทางกฏหมายของรัฐนิวเซาท์เวลล์ จำนวน 18,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย พร้อมกับจัดหาทนายมาช่วยเหลือ

ข่าวคราวความคืบหน้าในการนำเรื่องฟ้องต่อศาลของคุณป้าเฮเลน ได้แพร่กระจายออกไปทั่วทุกสารทิศ การต่อสู้ของเธอได้รับการตอบรับจากสื่อมวลชนอย่างมากมาย เพราะถือว่าเป็นการต่อสู้ของคนในชุมชนที่ถูกสละทิ้งเพื่อการพัฒนา

อย่างไรก็ตามขณะที่ทั้งคุณป้าเฮเลนและไอเรต ต่างก็ได้รับแรงสนับสนุนจากชุมชนและเครือข่ายจากองค์กรอื่นๆ เพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ทางด้านนักลงทุนและผู้ว่าการรัฐนิวเซาท์เวลล์ กลับแสดงอาการเย้ยหยันด้วยการเปรียบเปรยว่า การให้ความช่วยเหลือคุณป้าเฮเลน ก็ไม่ต่างอะไรกับการทำให้กลายเป็นตัวตลกที่สมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น เพราะสิ่งที่คุณป้าเฮเลนกระทำลงไปนั้น ไม่มีอะไรมากไปกว่าการสร้างความยุ่งยาก เพื่อให้เกิดการชะลอโครงการในการพัฒนาเมืองวูลองกองเท่านั้นเอง

29 พฤษภาคม 2540 วันประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ที่สมาชิกของกลุ่มไอเรตจำได้แม่นยำ เพราะเป็นวันที่ศาลที่ดินและสิ่งแวดล้อม เริ่มกระบวนการไต่สวนเฮเลน วีดีโอแห่งความทรงจำฉายภาพให้เห็นถึงความมั่นใจของไอเรต แห่งพอร์ตเคมบลา ที่ส่วนมากเป็นคนสูงวัย ทั้งวัยแม่ วัยย่า วัยยาย จนถึงวัยคุณทวด ต่างพากันขนข้าวของทั้งเอกสารและธง เดินทางเข้าสู่มหานครซิดนีย์ โดยใช้รถไฟเป็นยานพาหนะตั้งแต่รุ่งเช้า

… ไม่มีใครรู้เลยว่าเกิดอะไรขึ้นกับรัฐบาลแห่งรัฐนิวเซาท์เวลล์

เพราะเพียงแค่ 12 ชั่วโมงก่อนหน้าที่การไต่สวนจะเริ่มขึ้น ตัวแทนของรัฐบาลมาถึงศาล และยื่นขอให้ยกเลิกการไต่สวนดังกล่าว ด้วยเหตุผลว่าเมื่อเวลา 20.44 น.ของเมื่อวานนี้ (28 พฤษภาคม 2540) รัฐมนตรีของกระทรวงผังเมือง ได้อนุมัติพระราชบัญญัติให้พอร์ตเคมบลาเป็นพื้นที่พัฒนาพิเศษ (Port Kembla Development (Special Provision) Bill) รับรองการเปิดดำเนินการของโรงงานหลอมทองแดงว่า ผ่านกระบวนการที่ถูกต้องทุกประการแล้ว

เรียกว่าเป็นการออกกฎหมายก่อนหน้าที่จะมีการพิจารณาคดีเพียงไม่กี่ชั่วโมง ซึ่งแน่นอนว่ากฎหมายฉบับดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่อการพิจารณาคดีของเฮเลน เพราะกฎหมายพิเศษฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 30 มิถุนายน 2540

ท่ามกลางการตกตะลึงของไอเรต มีข้อมูลมากมายที่ยืนยันว่าชุมชนต้องเสี่ยงต่อผลกระทบด้านสุขภาพ แต่ยังไม่ถูกเปิดเผยต่อสาธารณชนผ่านการพิจารณาคดีในศาล ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่ารัฐบาลในประเทศโลกเสรีจะกล้ากระทำการดังกล่าวในช่วงเวลาสุดท้ายเช่นนี้…

คุณป้าโอลีฟ ทบทวนเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นเมื่อหลายปีก่อนอย่างช้าๆ แม้น้ำเสียงจะราบเรียบและมุ่งมั่นเช่นทุกครั้งที่ได้มีโอกาสพูดคุยกัน ทว่าน้ำตาของหญิงชราวัย 69 ปีก็คลอเบ้า….

"พวกเราทำงานกันวันละไม่ต่ำกว่า 10 ชั่วโมง เพื่อรวบรวมข้อมูลให้ได้มากที่สุด สำหรับชาวบ้านอย่างเราที่จะต้องมีการต่อสู้ในชั้นศาล…หนัก...หนักมากสำหรับคนอย่างพวกเรา …แต่ความรู้สึกในวินาทีที่รู้ว่ารัฐบาลออกกฎหมายมาเพื่อล้มคดีของเราบอกได้อย่างเดียวว่า..รู้สึกเหมือนถูกชกที่ท้อง เพราะไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่ารัฐบาลจะทำกับเราแบบนี้…เราเดินทางเข้าซิดนีย์ด้วยความมุ่งมั่นว่าจะต้องชนะ แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น…พวกเรานั่งรถไฟกลับบ้านด้วยความรู้สึกมึนงง สับสน แต่ก็ปรึกษาหารือกันว่าเราจะต้องทำงานหนักอีกหลายอย่างในวันพรุ่งนี้…"

ในขณะที่คุณป้าเฮเลน เจ้าของคดีได้บันทึกความรู้สึกที่เกิดขึ้น ณ วินาทีนั้นไว้เป็นลายลักษณ์อักษรว่า
"…ในวันนั้น… ฉันรู้สึกรังเกียจขยะแขยง และละอายใจที่เกิดมาเป็นคนออสเตรเลีย การต่อสู้ครั้งนี้ทำให้เราเข้าใจได้มากยิ่งขึ้นว่า สิ่งเหล่านี้ยังสามารถเกิดขึ้นได้ในสังคมที่เป็นประชาธิปไตยอย่างออสเตรเลีย…"

ปี 2000 โรงงานสกัดทองแดงที่พอร์ตเคมบลาทดลองเดินเครื่องเป็นครั้งแรก เชื่อหรือไม่ว่าเพียงแค่ค่ำคืนแรกของการทดลองเดินเครื่องก็ทำให้ชาวบ้านพอร์ตเคมบลาผวาตื่นกลางดึก เพราะทั้งเสียง ทั้งกลิ่น ทำให้ชาวบ้านโดยเฉพาะคนแก่ ต้องลุกขึ้นมาไออย่างรุนแรง ไม่เว้นแม้กระทั่งคุณป้าเฮเลน แฮมิลตัน ในขณะที่คุณป้าโอลีฟ ร๊อดเวล รองประธานกลุ่มไอเรต วัยเฉียด 70 ปี ต้องลุกขึ้นมาคว้ากล้องวีดีโอเพื่อบันทึกภาพกลุ่มควันสีขาวพวยพุ่งขึ้นมาจากปล่องควันของโรงงานสกัดทองแดงเพื่อเป็นหลักฐาน รถยนต์ที่จอดอยู่ตามบ้านเรือนต้องถูกทำความสะอาดเพราะฝุ่นที่ปะปนออกมาจากกลุ่มควันพิษ

และเชื่อหรือไม่ว่าเครื่องดักจับมลพิษที่ติดตั้งอยู่รอบๆ โรงงานจำนวน 5 เครื่องที่ผ่านการโฆษณาในหน้าหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นว่า มีประสิทธิภาพสูงส่งและพร้อมที่จะเดินเครื่อง กลับไม่แสดงค่ามลพิษที่ผิดปกติแต่อย่างใด
…ฝันร้ายได้กลับคืนสู่ชาวพอร์ตเคมบลาอีกครั้ง

นี่คือสิ่งที่ชาวไอเรตอยากฝากให้คนไทยได้ทำความรู้จักกับประเทศออสเตรเลียให้มากยิ่งขึ้นก็คือ แท้จริงแล้วประเทศออสเตรเลียก็ไม่ต่างไปจากประเทศอื่นใดในโลก ที่เห็นผลประโยชน์และคุณค่าของนักลงทุนมากกว่าคุณภาพ คุณค่าของชีวิต และสิ่งแวดล้อม…

 

 

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 500 เรื่อง หนากว่า 6000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com




 

H
รวมบทความวิชาการ ๒ เรื่อง เพื่อคนรักแผ่นดินในวิถีชุมชนท้องถิ่น ภายใต้หัวข้อเรื่อง"ชุมชนคนรักแผ่นดินและวิถีธรรมชาติ" เขียนโดย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล

ชุมชนเดียวไม่สามารถต่อสู้ได้โดยลำพัง เพราะมันมีทั้งการล็อบบี้ กดดัน และทำลาย เราจึงต้องรวมตัวกันกระจายข้อมูลข่าวสารแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อรักษามรดกแผ่นดินไว้ ผู้บริโภคจะมีชีวิตที่ดีได้ก็ต่อเมื่อผู้บริโภคตระหนักถึงการเป็นผู้ผลิตร่วมของตัวเอง เพื่อความพอใจ คุณภาพ สิทธิชุมชน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เราจึงจะฝ่าวิกฤตนี้ไปได้ ขอให้เราใช้ความเป็นพี่น้อง เพื่อนำไปสู่อิสรภาพและความเท่าเทียม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 530 เรื่อง หนากว่า 6500 หน้า ในรูปของ CD-ROM ในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง) สนใจสั่งซื้อได้ที่
midnightuniv(at)yahoo.com
หรือ ส่งธนาณัติถึง
สมเกียรติ ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202

กรุณาส่งธนาณัติแลกเงินไปยัง สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50202
อย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์

การใช้ระบบเกษตรอุตสาหกรรมเข้าไปแทนที่ระบบเกษตรดั้งเดิมทำลายทุนทั้งทางสังคมและในเชิงความหลากหลายทางชีวภาพ ทำลายอัตลักษณ์วัฒนธรรมที่ยึดโยงกับที่ดิน และพรากมนุษย์ออกจากความสัมพันธ์ที่มีความหมายที่มีต่อธรรมชาติและอาหารที่พวกเขากิน อุตสาหกรรมที่ขาดศิลปะคือความโหดเหี้ยม...
อาหารที่พวกคุณผลิต ไม่ใช่เพียงแค่อาหาร เพราะมันเป็นตัวแทนของวัฒนธรรมวิถีชีวิตเกษตรกร เป็นประวัติศาสตร์วิถีชีวิตชนบท แสดงความเอาใจใส่ในชีวิตสัตว์ แสดงความรักในผืนดิน เป็นตัวแทนความทรงจำในวัยเยาว์ ความรู้และภูมิปัญญาที่ร่ำเรียนจากบรรพบุรุษ ความรู้และมีความเข้าใจในสภาพแวดล้อมและภูมิอากาศท้องถิ่นเป็นอย่างดี

ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ
เจ้าของพื้นที่ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ