ผลงานภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบบทความบริการฟรีของ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

R
relate topic
140248
release date

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 525 หัวเรื่อง
ปริทัศน์ขบวนการก่อการร้าย
ดร. เกษียร เตชะพีระ
คณะรัฐศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
The Midnight 's article

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ

Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com

เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะ
สามารถแก้ปัญหาได้

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
เว็ปไซท์นี้มีการคลิกโดยเฉลี่ยต่อวัน 14119-26256 ครั้ง สำรวจเมื่อเดือนสิงหาคม 47
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ เพื่อประโยชน์ต่อสังคม

คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

ความรู้รัฐศาสตร์หลังสมัยใหม่
ปริทัศน์ขบวนการก่อร้าย : ฮามาส พยัคฆ์ทมิฬ ไออาร์เอ
เกษียร เตชะพีระ
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

หมายเหตุ: บทความวิชาการชุดนี้เคยตีพิมพ์แล้วในหนังสือพิมพ์มติชน
นำมาจากบทความ ๔ ตอนจบของผู้เขียน เรื่อง
๑.
ปริทัศน์การก่อร้าย : ฮามาส
๒. ปริทัศน์การก่อการร้าย : พยัคฆ์ทมิฬ
๓. ปริทัศน์การก่อการร้าย : ไออาร์เอ
๔. ปริทัศน์การก่อการร้าย บทสรุปและทางออก


เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2548
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 17 หน้ากระดาษ A4)

 

๑. ปริทัศน์การก่อร้าย : ฮามาส
ความนำ
"ในโลกนี้มีทั้งภารกิจที่ดีและภารกิจที่เลว, เราย่อมเห็นต่างกันได้เป็นธรรมดาว่าจะขีดเส้นแบ่งตรงไหน แต่มันไม่มีหรอกไอ้สิ่งที่เรียกว่า "ผู้ก่อการร้ายที่ดี" ไม่มีความทะยานอยากเพื่อชาติอันไหน และก็ไม่มีโทษกรรมฝังใจจากอดีตประการใด จะสามารถให้ความชอบธรรมแก่การฆ่าผู้บริสุทธิ์อย่างจงใจได้ รัฐบาลใดปฏิเสธหลักการนี้และพยายามเลือกสรรผู้ก่อการร้ายมาเป็นมิตรของตนแล้วไซร้ ก็จะได้เห็นดีกัน" (ประธานาธิบดีจอร์จ บุช จูเนียร์ แห่งสหรัฐอเมริกา)

"พวกมันไม่มีความยับยั้งชั่งใจทางศีลธรรมแต่อย่างใดในการฆ่าฟันผู้บริสุทธิ์ ถ้ามันมีปัญญาฆ่าได้ 70,000 แทนที่จะฆ่าแค่ 7,000 คน ยังจะมีใครสงสัยอีกรึว่ามันจะลงมือฆ่าและกระหยิ่มยิ้มย่องที่ได้ฆ่าเช่นนั้น? ดังนั้น เราไม่อาจประนีประนอมกับคนพรรค์นี้เด็ดขาด" (นายกรัฐมนตรีโทนี แบลร์ แห่งอังกฤษ)

"ผู้ก่อการร้ายที่ฆ่าฟันหรือเล่นงานพลเรือนผู้บริสุทธิ์ ย่อมสูญเสียสิทธิโดยชอบที่จะเรียกร้องใครต่อใครในหมู่วิญญูชนและนานาชาติ ที่เคารพกฎหมายให้มาเข้าใจภารกิจของตน... ฝ่ายหนึ่งถือหลักประชาธิปไตย, นิติธรรม และเคารพชีวิตมนุษย์ แต่อีกฝ่ายเป็นทรราช, เที่ยวประหารผู้คนตามอำเภอใจ, และสังหารหมู่ เราเป็นฝ่ายถูก พวกมันเป็นฝ่ายผิด เรื่องมันก็ง่ายๆ แค่นั้นเอง" (อดีตนายกเทศมนตรีมหานครนิวยอร์ก รูดอล์ฟ จูลีอานี)

ปฏิบัติการก่อการร้าย 11 กันยายน ค.ศ.2001 ปลุกชนอเมริกันทั้งชาติให้โกรธแค้น บนฐานความรู้สึกที่ว่าตนเป็นฝ่ายถูกต้องชอบธรรมอย่างสัมบูรณ์ เนื่องจากอเมริกาถูกโจมตีอย่างร้ายแรงก่อน พวกตนจึงมีสิทธิและหน้าที่โดยชอบที่จะต่อสู้กับการก่อการร้ายซึ่งเปรียบประดุจภูติผีปีศาจ

อเมริกาเชื่อว่าตนจะชนะเพราะภารกิจของตนชอบธรรม ดังที่ รูดอล์ฟ จูลีอานี นายกเทศมนตรีมหานครนิวยอร์ก ขณะนั้นฟันธงว่า:- "เราเป็นฝ่ายถูก พวกมันเป็นฝ่ายผิด เรื่องมันก็ง่ายๆ แค่นั้นเอง"

ทว่า แต่ไหนแต่ไร ในความเป็นจริงของการเมืองโลก "ศัตรูของศัตรูคือมิตร" ด้วยเหตุนี้ การนิยามว่า "ผู้ก่อการร้าย" เป็นใคร? และ "การก่อการร้าย" คืออะไร? จึงไม่ใช่เรื่องง่าย เช่น โอซามา บิน ลาเดน ซึ่งขึ้นแท่นกลายเป็นผู้ก่อการร้ายอันดับหนึ่งของโลกปัจจุบัน ขอถามว่าสมัยที่บิน ลาเดนรบจรยุทธ์ต่อต้านกองกำลังยึดครองของคอมมิวนิสต์โซเวียตในอัฟกานิสถาน เมื่อคริสต์ทศวรรษที่ 1980 นั้น จะถือว่าเขาเป็น "ผู้ก่อการร้าย" ไหม?

หรือขบวนการจรยุทธ์กู้ชาติของชาวเคิร์ดทุกวันนี้ ขอถามว่าจะถือพวกเขาเป็น "ผู้ก่อการร้าย" เวลาเคลื่อนไหวอยู่ในประเทศตุรกี แต่พลันกลับกลายเป็น "นักสู้กู้อิสรภาพ" เวลาอยู่ในอิรักกระนั้นหรือ?

กรณีก็เป็นดังที่อดีตนายกรัฐมนตรีอานันท์ ปันยารชุน เคยสะท้อนไว้หลังเหตุการณ์ 11 กันยาฯ ไม่นานว่า "ผู้ก่อการร้ายในมุมมองของคนหนึ่ง ก็คือนักสู้กู้อิสรภาพในมุมมองของคนอื่นนั่นเอง"

เพื่อเปิดขยายมุมมองในเรื่องที่เป็นประเด็นปัญหาหลักของการเมืองโลก, การเมืองภูมิภาคและการเมืองไทยเราเองทุกวันนี้ให้กว้างออกไป ผมใคร่เชิญชวนท่านผู้อ่านสำรวจวิเคราะห์ขบวนการที่ขึ้นชื่อว่า "ก่อการร้าย" ในภูมิภาคต่างๆ ของโลกสัก 2-3 ขบวนการ เริ่มจาก

1) ขบวนการฮามาสในปาเลสไตน์
2) ขบวนการพยัคฆ์ทมิฬในศรีลังกา และ
3) ขบวนการไออาร์เอในไอร์แลนด์เหนือ

ทั้งนี้ เพราะกล่าวให้ถึงที่สุดแล้ว มีแต่เข้าใจการก่อการร้ายเสียก่อนเท่านั้น จึงจะหาทางยุติมันลงได้

1) ขบวนการฮามาส
วันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ.2002 หนุ่มชาวปาเลสไตน์นายหนึ่งชื่อ อิสมาเอล ซึ่งกำลังเรียนวิชาศิลปะอยู่ในมหาวิทยาลัย ได้ขับรถจี๊ปไปยังด่านตรวจของทหารอิสราเอลใกล้กับนิคมชาวยิว ในเขตยึดครองบนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน, ทหารอิสราเอลประจำด่าน 2 นายจึงเดินเข้ามาหา ทันใดนั้นอิสมาเอลก็ปฏิบัติการเสียสละขั้นสูงสุด เพื่อภารกิจของตนโดยกดระเบิดพลีชีพตัวเองพร้อมทั้งฆ่าทหารอิสราเอลทั้งคู่ด้วย ปรากฏว่า อิสมาเอลเป็นสมาชิกขบวนการฮามาส ซึ่งเป็นกลุ่มอิสลามสู้รบที่ต้องการทำลายล้างรัฐชาติอิสราเอลให้พินาศลง

บาเชียร์ อัลมาซาวาบี พ่อของอิสมาเอลให้สัมภาษณ์หลังเกิดเหตุว่า ความจริงลูกชายเป็นเด็กอ่อนโยนขยันเรียน พ่อไม่เคยรู้ระแคะระคายมาก่อนเลยว่า ลูกจะไปทำอะไรเช่นนั้น จนกระทั่งมันสายเกินไป จำได้ว่าวันที่อิสมาเอลจะไประเบิดพลีชีพตัวเอง เขากำลังจะสอบที่มหาวิทยาลัย พ่อจึงพูดคุยให้เพียรพยายามสอบให้มากหน่อย ถ้าผลสอบออกมาคะแนนสูง จะได้หางานดีๆ ทำ ลูกก็ตกปากรับคำพ่อตามปกติราวกับจะไม่มีอะไรเกิดขึ้น

ในเดือนเดียวกันนั้น ขบวนการฮามาสยังได้ส่งมือระเบิดพลีชีพ โจมตีดิสโก้เธคในกรุงเทล อาวีฟ สังหารวัยรุ่นอิสราเอลไปอีก 21 คน ปฏิบัติการสู้รบที่มุ่งฆ่าทั้งทหารและผู้บริสุทธิ์ดังกล่าว ย่อมเข้าข่ายเป็น "การก่อการร้าย" ชัดเจน

ตัวแทนขบวนการฮามาสอธิบายปฏิบัติการ "ก่อการร้าย" ดังกล่าวของตนว่า:-

"ไม่มีใครชอบให้นองเลือด ไม่มีใครชอบฆ่ากันหรอก แต่อิสราเอลนั่นแหละ ละเมิดสนธิสัญญาสันติภาพที่ทำกับปาเลสไตน์ก่อน ละเมิดซ้ำแล้วซ้ำเล่ามาตั้งนานแล้ว เมื่อ 7 ปีก่อน อิสราเอลทำสัญญากับเรา แล้วก็ละเมิด ไม่เคยรักษาสัญญาเลย มิหนำซ้ำอิสราเอลยังคุมทุกอย่าง มีอาวุธครบสารพัด ไม่ว่าเครื่องบิน รถถัง รถไถกลบ แล้วดูสิฝ่ายปาเลสไตน์เรามีอะไรมั่ง? อย่างน้อย(การระเบิดพลีชีพ) นี่ก็ทำให้ทั้งสองฝ่ายต่างตกอยู่ในความหวาดกลัวเท่าเทียมกันไง"

นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญการศึกษาการก่อการร้ายเรียกมันว่า "อาวุธของผู้อ่อนแอ" กล่าวคือผู้ก่อการร้ายถือว่าการก่อการร้าย เป็นวิธีการทางทหารหนทางเดียว ที่ใช้สำหรับต่อสู้ศัตรูที่แข็งแกร่งกว่าได้อย่างพอฟัดพอเหวี่ยงบ้าง

กล่าวในแง่การเมือง ต่อคำวิพากษ์วิจารณ์ของ รูดอล์ฟ จูลีอานี ข้างต้นว่าผู้ก่อการร้ายย่อมสูญเสียสิทธิโดยชอบที่จะเรียกร้องให้ใครต่อใครมาเข้าใจภารกิจของตนนั้น ฝ่ายก่อการร้ายโต้กลับว่า ที่พวกตนต้องหันไปใช้ความรุนแรงก็เพราะ ความเชื่อ(ซึ่งอาจถูกหรือผิดก็ตามที) ว่าพวกตนถูกปฏิเสธที่จะเรียกร้องดังกล่าวตลอดมา

ดอกเตอร์อาซัน ทามีมี ผู้อำนวยการสถาบันอิสลามการเมืองในกรุงลอนดอน ซึ่งเป็นผู้เห็นอกเห็นใจขบวนการฮามาสสะท้อนความเชื่อดังกล่าวออกมาว่า:-

"จะให้ผมทำไงในฐานะชาวปาเลสไตน์ในเมื่อจู่ๆ บ้านแม่ของผมถูกผู้อพยพชาวยิวจากยุโรปตะวันออกเข้ามายึดครอง จะให้ทำไงในเมื่อผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์เป็นแสนๆ ถูกทิ้งให้ซังกะตายอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย จะให้พวกเขาทำไงในเมื่ออเมริกันทุ่มเงินเป็นพันๆ ล้านดอลลาร์มาสนับสนุนให้อิสราเอล คงความเหนือกว่าไว้ ให้สามารถปราบเราต่อไปได้ แน่ล่ะ ผมจะตะโกน จะร้องให้คนช่วยแต่ถ้าไม่มีใครฟัง สุดท้ายก็ต้องหันไปใช้กำลัง มันไม่มีทางเลือกอื่น"

คำกล่าวของดอกเตอร์ทามีมีข้างต้น สะท้อนความรู้สึกแค้นอุกอั่งใจ ที่กดดันให้คนอย่างอิสมาเอลเริ่มเดินไปบนหนทางก่อการร้ายนั่นเอง, ในทางกลับกัน ฮามาสก็อาศัยความโกรธแค้นในหมู่ผู้ยากไร้ไม่มีสิ่งสูญเสียนี่แหละ ออกเที่ยวหาสมัครพรรคพวกขยายกำลัง, ส่งผลให้จุดแข็ง ลักษณะเด่นและอาวุธสำคัญที่สุดของขบวนการฮามาส กลับไม่ใช่ดินระเบิดร้ายแรงสุดยอดใดๆ หากคือ ฐานมวลชนสนับสนุนอันเข้มแข็งเหนียวแน่น

ดอกเตอร์แมกนัส แรนสตอร์พ แห่งศูนย์ศึกษาการก่อการร้ายและความรุนแรงทางการเมือง, มหาวิทยาลัยเซนต์แอนดรูส์ ประเทศอังกฤษ ชี้แจงประเด็นนี้ว่า:-"ฮามาสเที่ยวออกหาสมาชิกในหมู่ผู้ยึดมั่นศรัทธาศาสนาตามมัสยิด และคนยากไร้ตามสมาคมอิสลาม แมวมองของฮามาสจะคอยสังเกตหาผู้พอมีแววจะเป็นมือระเบิดพลีชีพในอนาคตได้ เข้าไปติดต่อทำความรู้จักแล้วทดสอบลองใจดู

"ขั้นแรก ฮามาสจะนัดแนะผู้เป็นเป้าขยายไปทำละหมาดยามเช้าตรู่ที่มัสยิดตอนตีห้า ถ้าไม่มีกำลังใจฝืนตื่นไปตามนัด ก็แสดงว่าไม่ศรัทธายึดมั่นพอ ถือว่าไม่ผ่านการทดสอบ

"ขั้นถัดไป ฮามาสจะลองใจดูว่าหนักแน่น สุขุมเยือกเย็นในยามหน้าสิ่วหน้าขวานหรือไม่ โดยให้ผู้เป็นเป้าขยายลักลอบขนปืนพกข้ามเขตยึดครองฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน ปกติถ้าใครถูกจับได้ว่าลอบพกปืนภายในเขตควบคุมของปาเลสไตน์ จะถูกจำคุก 10 ปี แต่ถ้าไปถูกจับได้ตรงด่านตรวจของอิสราเอลละก็ จะมีโทษจำคุกตลอดชีวิต เหล่านี้เป็นกระบวนการกล่อมเกลาฝึกฝนหล่อหลอมสมาชิกฮามาสทางสังคม คือให้ลองทำอะไรผิดกฎหมาย ทำอะไรที่หวาดเสียวสุ่มเสี่ยงดู แล้วประเมินระดับความเครียดทางจิตใจ"

มือระเบิดพลีชีพของฮามาสทุกคน รวมทั้งอิสมาเอลจะบันทึกวิดีโอตัวเองไว้ในวันก่อนปฏิบัติการ ชี้แจงเหตุผลที่ทำและสั่งเสียครอบครัว หากปฏิบัติการสำเร็จ จะมีการนำวิดีโอม้วนนั้นออกฉายทางสถานีโทรทัศน์ปาเลสไตน์ เพื่อสดุดีวีรภาพอันอาจหาญของมือระเบิดผู้พลีชีพ จากนั้นฮามาสจะมอบม้วนวิดีโอให้แก่ครอบครัวมือระเบิด เพื่อเป็นอนุสรณ์ที่ระลึก

ในกรณีอิสมาเอล ปรากฏว่า พ่อแม่ของเขาเอาม้วนวิดีโอที่อิสมาเอลบันทึกสั่งเสียไว้มาเปิดดูบ่อยจนเทปยืด บาเชียร์พ่อของเขากล่าวว่า:-"ผมภูมิใจที่อิสมาเอลระเบิดตัวเอง เพราะเขาทำเพื่อพระเจ้าและเพื่อประชาชนเรา เราเห็นพวกอิสราเอลยิงถล่มเราทุกวัน ฆ่าเรา พังทำลายบ้านช่องของเราในเขตดินแดนปาเลสไตน์ ดังนั้น ชาวปาเลสไตน์จึงอยากเป็นวีรชนพลีชีพกันแทบทุกคน ผมภูมิใจที่อิสมาเอลเป็นวีรชนพลีชีพ อย่างน้อยการตายแบบนั้นก็ยังดีกว่าตายเปล่าๆ กลางถนน"

ศาสตราจารย์เอ็ดฮูด สปรินสาก ชาวยิว คณบดีคณะรัฐศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยใกล้กรุงเยรูซาเลม กล่าวว่า ต้องเข้าใจจุดแข็งของขบวนการอย่างฮามาสให้ดี ในสายตาชาวปาเลสไตน์ ฮามาสไม่ใช่ภูติผีปีศาจที่ไหน ตรงกันข้าม กลับมีภาพลักษณ์เป็นองค์การทางสังคม ที่ทรงความสำคัญยิ่งต่อชุมชนปาเลสไตน์ในเขตยึดครอง ทำงานด้วยความบริสุทธิ์ ซื่อตรง ไม่คอร์รัปชั่น(เทียบกับองค์การพีแอลโอที่ขึ้นชื่ออื้อฉาวเรื่องทุจริต)

ช่วยชาวบ้านจริงจัง เปิดคลีนิครักษาผู้เจ็บป่วย เปิดโรงเรียนสอนเด็กเล็กลูกหลาน ให้บริการสวัสดิการสังคมสงเคราะห์การกุศลต่างๆ มากมายแก่ชาวปาเลสไตน์ผู้ตกทุกข์ได้ยาก, พึงเข้าใจว่าสิ่งที่น่าอัศจรรย์และสนใจที่สุดเกี่ยวกับฮามาส ไม่ใช่ว่าพวกเขาก่อการร้ายฆ่าคนไปเท่าไหร่, หรือเอาชีวิตใครไปบ้าง, แต่อยู่ตรงชีวิตที่บรรดาสมาชิกฮามาส พร้อมยอมพลีให้แก่ภารกิจอย่างหน้าชื่นตาบานต่างหาก

ดอกเตอร์แมกนัส แรนสตอร์พ อธิบายจุดแข็งและยุทธศาสตร์ยุทธวิธีของฮามาส ในการต่อสู้กับรัฐอิสราเอลว่า:-

"ฮามาสใช้วิธิเผชิญหน้า และยั่วยุให้ฝ่ายอิสราเอลหลวมตัวตอบโต้… การที่ฮามาสเป็นทั้งองค์การทางสังคม, การเมืองและการทหารอยู่ในตัวเอง ช่วยประกอบเข้าเป็นสภาวะเสริมกันและกันที่ทรงพลังยิ่ง เพราะเป็นกลุ่มอิสลามสู้รบที่มีฐานมวลชนกว้างขวาง ทำงานรากหญ้าพยายามทำให้สังคมปาเลสไตน์กลับไปเคร่งอิสลามใหม่ ฮามาสจึงสามารถเคลื่อนม็อบจำนวนมหาศาลได้ทันควัน และซ่อนผู้ปฏิบัติงานของตนท่ามกลางทะเลประชาชน ซึ่งเป็นฐานสนับสนุนอันกว้างไพศาลได้มิดชิดกลมกลืน"

ลักษณะอิงมวลชนรากหญ้าอย่างแนบแน่น จึงจำแนกฮามาสออกจากขบวนการก่อการร้ายแห่งยุคคริสต์ทศวรรษที่ 1970 อาทิ ขบวนการกองพลน้อยแดงในอิตาลี, ขบวนการบาเดอร์-ไมน์ฮอฟในเยอรมนีตะวันตก หรือขบวนการกองทัพแดงในญี่ปุ่น ซึ่งใช้วิธีวางเพลิง วางระเบิด ปล้นธนาคาร ลักพาตัว จับตัวประกัน ลอบสังหารผู้นำการเมือง ธุรกิจ และการทหาร เป็นต้น ทว่า ลักษณะที่เป็นจุดอ่อนร่วมกันของขบวนการก่อการร้ายเหล่านี้คือ ขาดฐานมวลชน สังคมไม่สนับสนุน ในที่สุดจึงถูกทางการโดดเดี่ยว, ตามล่าและกวาดล้างปราบปรามสิ้นซากไปในที่สุด

ตรงข้ามกับฮามาส ที่เมื่อปฏิบัติการก่อการร้ายรุนแรง -> ยั่วให้อิสราเอลเอาคืนด้วยการตีโต้หนักกลับไปบ้าง -> ส่งผลให้มติมหาชนปาเลสไตน์ ยิ่งเจ็บแค้นขุ่นเคืองรุนแรงสุดขั้วขึ้น -> กลับเป็นการช่วยทางอ้อมให้ฮามาสขยายเครือข่ายสมาชิก และฐานมวลชนแผ่กว้างออกไปและแข็งแกร่งขึ้นอีก!

กลายเป็นว่า ยิ่งอิสราเอลตีหนักเท่าไหร่ ฮามาสก็ยิ่งโตขึ้นเท่านั้น!

๒. ปริทัศน์การก่อการร้าย : พยัคฆ์ทมิฬ
2) ขบวนการพยัคฆ์ทมิฬ
สมัยก่อนเซ็นข้อตกลงหยุดยิง "ถาวร" กับรัฐบาลศรีลังกาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.2002....

ทุกเดือน ขบวนการพยัคฆ์ทมิฬ (The Liberation Tigers of Tamil Eelam หรือชื่อย่อว่า LTTE ก่อตั้งปี ค.ศ.1976 เป็นขบวนการของชนส่วนน้อยชาวทมิฬ-ฮินดู ที่ก่อกบฏเพื่อแยกดินแดนเป็นอิสระจากประเทศศรีลังกา ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวสิงหล-พุทธ) จะผลิตวิดีโอโฆษณาชวนเชื่อเดือนละม้วน ส่งออกมาจากป่าชุ่มฝนภาคเหนือของประเทศ อันเป็นเขตยึดครองของตน

วิดีโอดังกล่าวเปิดฉากด้วยเสียงขับร้องเพลงในท่วงทำนองโศกาลัยและสดุดี พลางฉายภาพหลุมศพขุดกลบใหม่เรียงรายเป็นทิวแถว แถวแล้วแถวเล่า เหนือหลุมจะมีป้ายหินจารึกบอกสังกัดหน่วยกรมกองของผู้เสียชีวิตแต่ละคน เหล่านี้ก็คือหลุมศพของบรรดาวีรชนผู้พลีชีพประจำเดือนนั้นๆ ของขบวนการพยัคฆ์ทมิฬนั่นเอง

เสียงเพลงค่อยแผ่วลง และเสียงอ่านรายชื่อผู้พลีชีพเรียงลำดับไปทีละคนกังวานขึ้นแทน พออ่านชื่อใครก็จะปรากฏภาพถ่ายใบหน้าของคนนั้นขึ้นบนจอ ผู้พลีชีพบางรายใส่ชุดดำเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกว่า เขาหรือเธอสังกัดหน่วย "พยัคฆ์ดำ" ซึ่งเป็นหน่วยรบชั้นนำและทรงเกียรติของขบวนการพยัคฆ์ทมิฬ ที่รับมอบหมายให้ปฏิบัติภารกิจระเบิดพลีชีพเป็นการเฉพาะ

พวกนี้แหละที่ระเบิดตัวเองสังหารนายกรัฐมนตรี ราจีฟ คานธี แห่งอินเดีย เมื่อ ค.ศ.1991, และสังหารประธานาธิบดีรณสิงเห เปรมาดาสา แห่งศรีลังกา เมื่อ ค.ศ.1993

กล้องตัดไปยังภาพฝูงชนร้องไห้ตีอกชกหัวอาลัยรักเหล่าวีรชนผู้พลีชีพ ชายอ้วนเตี้ยผิวดำมิดหมีในชุดเดินป่า คอห้อยแคปซูลยาพิษไซยาไนด์ตามกฎของขบวนการ (สำหรับกลืนฆ่าตัวตายไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่จับเป็น) กำลังยืนบนแท่นกล่าวปราศรัยต่อฝูงชน ในโอกาสวันระลึกวีรชนผู้พลีชีพของขบวนการ วันที่ 27 พฤศจิกายน

เขาคือ เวฬุพิลไล ปราบาการัน ผู้นำสูงสุดของพยัคฆ์ทมิฬ แม่ของวีรชนผู้พลีชีพรายหนึ่งเข้าไปกุมมือท่านผู้นำแล้วก้มจุมพิตด้วยความเคารพรัก

ขบวนการพยัคฆ์ทมิฬจะผลิตวิดีโอทำนองนี้ม้วนใหม่ทุกเดือน เป้าหมายอันดับแรกของมันคือ เพื่อดึงดูดหนุ่มสาวทมิฬ-ฮินดูรายใหม่ ให้เข้าเป็นสมัครพรรคพวก

ดอกเตอร์ ปีเตอร์ ชอล์ก อดีตอาจารย์รัฐ ศาสตร์มหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ในออสเตรเลีย และปัจจุบันเป็นผู้เชี่ยวชาญการก่อการร้ายสากล และภูมิภาคเอเชียอาคเนย์สังกัดแรนด์ คอร์เปอเรชั่น บริษัทที่ปรึกษาวิจัยด้านความมั่นคงในวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา อธิบายเรื่องนี้ว่า:-

"ปกติแล้ว การหาสมัครพรรคพวกของขบวนการพยัคฆ์ทมิฬ จะรวมศูนย์ที่คนหนุ่มสาวเสมอ เพราะยังไม่มีพันธะอะไรมากมายกับโลก อาจเป็นโสดอยู่ กระทั่งไม่มีพ่อแม่ด้วยซ้ำ หลายครั้งขบวนการจะใช้ผู้หญิงเป็นมือระเบิดพลีชีพ เนื่องจากดึงดูดความสนใจกองกำลังรักษาความมั่นคงน้อยกว่า ทั้งนี้ เพราะอาวุธแบบฉบับที่มือระเบิดพลีชีพพยัคฆ์ทมิฬใช้คือ เข็มขัดระเบิดคาดเอว ซึ่งวัฒนธรรมศรีลังกานั้นค่อนข้างลังเลต่อการค้นตัวผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

"สมาชิกหน่วยพยัคฆ์ดำจะได้รับการฝึกอย่างกว้างขวาง ตั้งแต่ฝึกจิตใจ หัดให้ปฏิบัติงานตามลำพังได้ ฝึกงานข่าวกรองและต่อต้านการหาข่าวกรองของศัตรู ฝึกฝนร่างกายอย่างทรหดบึกบึนเหลือเชื่อ รวมทั้งสอนเทคนิคการต่อต้านรัฐบาลด้วยอาวุธมากมาย

"เมื่อใครได้รับคัดเลือกเป็นพยัคฆ์ดำ ซึ่งถือเป็นเกียรติสูงสุดในหมู่พยัคฆ์ทมิฬ เขาหรือเธอก็จะถูกแยกออกจากพรรคพวก คนคนเดียวที่รู้แน่ว่าใครบ้างเป็นพยัคฆ์ดำใครไม่ใช่ ก็คือปราบาการันนั่นแหละ"

ขบวนการพยัคฆ์ทมิฬนั้น มีทั้งเคลื่อนพลเข้าทำยุทธการขนาดใหญ่กับกองกำลังฝ่ายรัฐบาล ฉะนั้น บางส่วนพยัคฆ์ทมิฬจึงมีฐานะเป็นกองทัพธรรมดาที่รบสงครามกลางเมือง, ทว่า ขณะเดียวกันพยัคฆ์ทมิฬก็ใช้มือระเบิดพลีชีพ โจมตีเป้าที่ไม่ใช่ทางการทหาร จึงทำให้มันมีส่วนเป็นขบวนการก่อการร้ายด้วย

การเคลื่อนไหวของชนส่วนน้อยชาวทมิฬ-ฮินดู เพื่อเรียกร้องอิสรภาพจากชาวสิงหล-พุทธ ส่วนใหญ่เริ่มขึ้นอย่างสันติในคริสต์ทศวรรษที่ 1950 แต่พอถึงคริสต์ทศวรรษที่ 1970 การเคลื่อนไหวดังกล่าวก็หันไปใช้ความรุนแรง ส่งผลให้รัฐศรีลังกาตอบโต้ด้วยการปราบปรามอย่างโหดเหี้ยม

ดอกเตอร์โจนาธาน สเปนเซอร์ ศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยาภูมิภาคเอเชียใต้ แห่งมหาวิทยาลัยเอดินเบอเรอะแห่งสกอตแลนด์ ระบุว่า การปราบโหดของรัฐบาลนี่แหละ ที่ทำให้มวลชนหันไปสนับสนุนพยัคฆ์ทมิฬ เขาอธิบายว่า:-

"ในปี ค.ศ.1983 เกิดเหตุรุนแรงต่อชาวทมิฬส่วนน้อยอย่างกว้างขวางทั่วศรีลังกา ตอนนั้นแหละที่ขบวนการพยัคฆ์ทมิฬพลิกเปลี่ยนจากองค์กรเล็กๆ กลายไปเป็นกองทัพจรยุทธ์อย่างทุกวันนี้ มูลเหตุอันแท้จริงที่ทำให้หันไปใช้ความรุนแรง จึงเกิดจากลักษณะแบบแผนที่การเมืองเรื่องชาติพันธุ์ ดำเนินมาในศรีลังกาตลอด 40-50 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อความพยายามประท้วงโดยสันติ ถูกรัฐบาลปราบปรามในคริสต์ทศวรรษที่ 1970 และต้นคริสต์ทศวรรษที่ 1980"

สรุปก็คือรัฐศรีลังกาโต้ตอบการก่อการร้ายด้วยการก่อการร้าย (เรียกแบบไทยๆ ว่า "บ้ามาก็บ้าไป", "ตาต่อตา ฟันต่อฟัน" ฯลฯ) แล้วมันไม่ได้ผล การณ์กลับกลายเป็นว่าตัวการที่จัดส่งกำลังพลเม็ดเลือดใหม่ ไปให้ขบวนการพยัคฆ์ทมิฬได้อย่างทรงประสิทธิผลที่สุด ได้แก่ความป่าเถื่อนโหดร้ายที่กองกำลังรักษาความมั่นคงของรัฐศรีลังกาปฏิบัติต่อพลเรือนชาวทมิฬนั่นเอง!

แม้แต่ประธานาธิบดีจันทริกา กุมาราตุงคะ (ได้รับเลือกตั้งต่อกันสองสมัยจาก ค.ศ.1994-ปัจจุบัน และตัวเองเคยรอดชีวิตหวุดหวิด จากระเบิดลอบสังหารของพยัคฆ์ทมิฬ ที่ฆ่าคนไป 38 คนระหว่างรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งในปี ค.ศ.1999 แต่ก็ได้รับบาดเจ็บทุพพลภาพ) ก็ยอมรับว่าประธานาธิบดีคนก่อนๆเธอ ได้ดำเนินสิ่งที่บัดนี้เธอเรียกอย่างเปิดเผยว่า "การก่อการร้ายโดยรัฐ" ซึ่งแทนที่จะสามารถบั่นทอนทำลายขบวนการพยัคฆ์ทมิฬลง กลับโอละพ่อไปเสริมความเข้มแข็งให้พยัคฆ์ทมิฬขึ้นอีก ท่านประธานาธิบดีกล่าวว่า:-

"มีคนถูกฆ่าเป็นหมื่นๆ ก่อนเราเข้ารับตำแหน่ง และเราหยุดมันหมด ฉันยอมรับว่ามันมีการทำอะไรเกินเลยกันไป เป็นการเกินเลยที่เกิดขึ้นแบบกรณียกเว้น ไม่ใช่เป็นกฎเกณฑ์, ฉันไม่ได้บอกว่าเรายอมรับสิ่งเหล่านั้น โดยส่วนตัวแล้วฉันจะไม่มีวันยอมรับของพรรค์นั้นเด็ดขาด, แต่อย่างหนึ่งที่ฉันอยากพูดก็คือเราเป็นรัฐบาลประชาธิปไตย เรามีคน 55,000 คนในกองกำลังตำรวจที่รัฐบาลชุดก่อนรับเข้ามา, พวกเขาถูกฝึกให้ฆ่า ปล้น และล้างผลาญ และเราสามารถเอาเรื่องเล่นงานได้ 950 คนในจำนวนนั้น แน่ล่ะเท่านั้นมันไม่พอหรอก ฉันเห็นด้วย เวลาแค่ 6 ปีน่ะมันไม่ยาวนานพอที่จะยุติการก่อการร้ายโดยรัฐ ที่ดำเนินมาตั้ง 17 ปีหรอก"

นับแต่เข้ารับตำแหน่ง ประธานาธิบดีกุมาราตุงคะ ดำเนินแนวทางสองด้านคู่ขนานกันไปต่อสงครามกลางเมือง "ด้านการเมือง"เธอเสนอให้อำนาจปกครองตนเอง แก่เขตที่ชาวทมิฬหนาแน่นทางภาคเหนือและตะวันออกของประเทศ

ส่วน"ด้านการทหาร"เธอพยายามช่วงชิงความได้เปรียบในสนามรบ รัฐบาลของเธอดำเนินปฏิบัติการลับมากกว่ารัฐบาลชุดก่อนๆ โดยส่งสปายสายลับฝ่ายรัฐบาลปลอมตัวแทรกซึมเข้าเขตพื้นที่ควบคุมของพวกพยัคฆ์ทมิฬ เพื่อลอบสังหารผู้นำขบวนการ

ผลจากการปลิดชีพผู้นำพยัคฆ์ทมิฬโดดเด่นหลายรายด้วยวิธีนี้ ทำให้ขบวนการหมกมุ่นฝังหัวกับเรื่องความมั่นคงบ้างเช่นกัน ปักใจเชื่อว่าพวกตนกำลังถูกพวกเดียวกันเองหักหลังอย่างเป็นระบบ ก็เลยหันไปเล่นงานผู้ต้องสงสัยในเขตฐานมวลชนสนับสนุนของตน แบบเหวี่ยงแหเหมารวมทั้งชุมชน โดยกวาดจับผู้คนเอามาคุมตัวและสอบสวนลงโทษด้วยวิธีการที่บ่อยครั้งป่าเถื่อนโหดร้าย ไม่ต่างจากที่หน่วยงานความมั่นคงของรัฐใช้นั่นเอง

ปรากฏการณ์ดังกล่าว นับเป็นภัยคุกคามที่อาจแยกขบวนการพยัคฆ์ทมิฬ ออกจากอาวุธอันแข็งแกร่งที่สุดของตัว นั่นคือ"การสนับสนุนของมวลชน". นายเดวิด บี.เอส. เจรา นักหนังสือพิมพ์ชาวศรีลังกา ผู้จับเรื่องชาวทมิฬมาตลอดชี้ว่า:-

"สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นตอนนี้คือ พอพยัคฆ์ทมิฬคิดว่ามีพวกลักลอบแอบแฝงอยู่ในเขตพื้นที่ควบคุมของตัว คอยคบคิดกับศัตรู พยัคฆ์ทมิฬก็ทำแบบเดียวกันนั่นแหละ นั่นคือบุกค้นพื้นที่ต้องสงสัย กวาดจับผู้คนเอาไปคุมตัวกักกันไว้เหมือนกัน และบ่อยครั้งก็มักสอบสวนด้วยวิธีการป่าเถื่อนด้วย ทีนี้พอทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ สิ่งเดียวกับที่เกิดขึ้นในเขตควบคุมของรัฐ ที่ประชาชนพากันแปลกแยกจากรัฐ ก็อาจเกิดขึ้นในเขตควบคุมของพยัคฆ์ทมิฬได้เหมือนกัน แต่ผมไม่คิดว่าตอนนี้จะเป็นปัญหาร้ายแรงหนักหนาอะไรหรอกนะ แต่ถ้าขืนทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ นานวันเข้า คนอาจยิ่งรู้สึกแปลกแยกจากขบวนการได้"

การรักษาฐานสนับสนุนของประชาชนให้ยั่งยืน สำคัญต่อพยัคฆ์ทมิฬทั้งในศรีลังกาเองและต่างประเทศ กล่าวเฉพาะในศรีลังกา มันช่วยให้ได้กำลังพลใหม่ แต่สำหรับในเครือข่ายชุมชนพลัดถิ่นชาวทมิฬจำนวนมหาศาลทั่วโลก มันช่วยให้ได้เงินทุนสนับสนุนมา ปีเตอร์ ชอล์ก ให้ข้อมูลภูมิหลังเรื่องนี้ว่า:-

"พยัคฆ์ทมิฬพึ่งพาเงินทุนอุดหนุนโพ้นทะเลมาก และได้สร้างโครงข่ายหนุนช่วยทางสากลที่น่าจะวิเศษพิสดารที่สุด ในบรรดากลุ่มติดอาวุธต้านรัฐบาลทั้งหลาย ไม่ว่าที่ใดในโลกเงินทุนมากมายที่หามาได้จากประเทศอย่างแคนาดา ออสเตรเลีย อังกฤษ สวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส เป็นต้น เป็นส่วนประกอบสำคัญยิ่งในงบประมาณทำสงครามทั้งหมดของขบวนการ เงินเหล่านี้บ้างก็ได้มาด้วยการข่มขู่

บ่อยครั้งยักย้ายถ่ายเทมาจากเงินบริจาคให้องค์กรถูกต้องชอบธรรมแต่เดิม เพื่อหนุนช่วยโครงการพัฒนาในเมืองจาฟนา(เมืองหลักภาคเหนือของศรีลังกาในเขตอิทธิพลของพยัคฆ์ทมิฬ), ในกรณีอื่นๆ ก็เป็นการให้เงินแก่องค์กรบังหน้าของพยัคฆ์ทมิฬโต้งๆ เลย เช่น องค์การเพื่อการฟื้นฟูบูรณะชาวทมิฬ (The Tamil Rehabilitation Organization) ซึ่งปรากฏว่าสำนักงานองค์กรนี้ในลอนดอน ถูกปิดและทรัพย์สินถูกยึดไปแล้ว ด้วยข้อหาเป็นองค์กรก่อการร้าย"

ประเทศไทยภายใต้รัฐบาลทักษิณ ได้ร่วมผลักดันกระบวนการสันติภาพระหว่างรัฐบาลศรีลังกากับขบวนการพยัคฆ์ทมิฬ โดยให้ใช้ประเทศไทยเป็นเวทีเจรจาอย่างเปิดเผยเป็นทางการระหว่างสองฝ่าย เมื่อเดือนกันยายน ค.ศ.2002 ซึ่งมีความคืบหน้าตามสมควร อาทิ ฝ่ายรัฐบาลศรีลังกา ยกเลิกคำสั่งให้ขบวนการพยัคฆ์ทมิฬเป็นองค์การต้องห้าม, ข้างพยัคฆ์ทมิฬก็ยกเลิกข้อเรียกร้องแยกดินแดนตั้งรัฐอิสระ, สองฝ่ายแลกเชลยศึกกัน, และเริ่มเจรจาแบ่งอำนาจ โดยจะให้สิทธิปกครองตนเองแก่ชนส่วนน้อยชาวทมิฬในภาคเหนือ และตะวันออกของประเทศ ที่เป็นเขตซึ่งชาวทมิฬเป็นคนส่วนใหญ่ ฯลฯ

ก่อนที่กระบวนการสันติภาพจะสะดุดกึก ชะงักงันและร่อแร่จะอับปางเพราะความขัดแย้งการเมืองภายในศรีลังกาอย่างรุนแรง ระหว่างนายกรัฐมนตรีรานิล วิกรามาสิงเห กับประธานาธิบดีกุมาราตุงคะ จนฝ่ายนายกฯตกจากอำนาจไป, และแม้เผชิญภัยพิบัติสึนามิคนตายหลายหมื่นร่วมกันแล้ว แต่รัฐบาลกับพยัคฆ์ทมิฬก็ยังมิวายขัดแย้ง, ต้องรอให้รัฐบาลนอร์เวย์คนกลางเจ้าเก่า เข้ามาหาทางไกลเกลี่ยประคับประคองใหม่ ขณะที่ไทยก็กำลังเผชิญกับปัญหาก่อการร้ายของเราเอง...

มีบทเรียนอะไรบ้างไหมที่ไทยจะเรียนรู้ได้จากเส้นทางชุ่มเลือดแห่งสงครามและสันติภาพที่ศรีลังกาเดินมาถึงจุดนี้?

๓. ปริทัศน์การก่อการร้าย : ไออาร์เอ
คอลัมน์เรียงคนมาเป็นข่าวโดย "พลุน้ำแข็ง" ในมติชนรายวัน ประจำวันพุธที่ 19 มกราคมศกนี้ ระบุว่า หลังเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วไปวันที่ 6 กุมภาพันธ์ หากไทยรักไทยชนะได้จัดตั้งรัฐบาล....

"พ.ต.ท.ทักษิณ" จะขับเคลื่อนกู้วิกฤต 3 จังหวัดภาคใต้เป็นลำดับแรกสุด ไม่มีการประนีประนอม...เตรียมแผนพิฆาต 3 จังหวัดภาคใต้ครั้งใหญ่แทนที่จะให้ "ผู้ก่อการร้าย" ใช้พลังมวลชนกดดันอำนาจรัฐ กลับตรงกันข้ามจะใช้อำนาจรัฐหรือกำลังทหารลงปูพรมชนิด "เต็มพื้นที่...ปูพรมทุกจุด บางตำบล-บางอำเภออาจจะเต็มไปด้วยกำลังของทหาร...

ก้าวแรกคือการตั้ง "กองพลทหารราบที่ 15" อันเป็นกองพลใหม่ส่งไปประจำการใน 3 จังหวัดภาคใต้แบบเต็มอัตราศึก...เพื่อกุดหัวผู้ก่อการร้ายและแนวร่วมไม่ให้ผุดไม่ให้เกิด พร้อมกับใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดปราบปราม ทั้งจับตาย-อุ้ม-จับกุม ชนิดที่เรียกว่า "ล้างป่าช้า" 3 จังหวัดภาคใต้ เข้าสูตร "เราถอยไม่ได้อีกแล้ว" ....จัดการ 3 จังหวัดเพื่อให้คนอีก 73 จังหวัดรู้สึกอบอุ่น
(มติชนรายวัน, 19 ม.ค.2548, น.4)

สรุปก็คือประธานาธิบดีบุชใช้ "ทุนทางการเมือง" ที่ได้มาจากการชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกันรอบสองเข้าลุยแหลกเมืองฟัลลูจาห์ในอิรักฉันใด, นายกฯ ทักษิณก็เตรียมใช้ "ทุนทางการเมือง" ที่คาดว่าจะได้มาจากการชนะเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรอีกรอบ เข้าลุยแหลกสามจังหวัดภาคใต้ฉันนั้น
อย่างไรไม่ทราบ อ่านข้อความข้างต้นแล้ว แทนที่จะอบอุ่น ผมกลับรู้สึกหนาวยะเยียบจับใจราวน้ำแข็ง

ในทางกลับกัน คอลัมน์เรียงคนมาเป็นข่าวสองวันก่อนหน้านั้นโดยคุณ "ชโลทร" ได้ร้องทักว่ามาตรการ "รัฐทหาร" ที่ทุ่มงบฯ "15,000 ล้านบาท" สร้างกองทัพใหม่ในพื้นที่ แม้จะเป็นทางแก้ปัญหาที่รัฐบาลเชื่อว่าจะได้ผล แต่ยังมีหลายฝ่ายที่เห็นว่า เป็นการขี่ช้างจับตั๊กแตน ที่ความรุนแรงหนักขึ้นมาเพราะนโยบายการแก้ไขที่ผิดพลาดมาตั้งแต่ต้น โดยผู้มีอำนาจประเมินปัญหาต่ำกว่าความเป็นจริง ควรหาทางแก้ด้วย "สันติวิธี" มากกว่าตั้ง "รัฐทหาร" ขึ้นมา (มติชนรายวัน, 17 ม.ค.2548, น.4)

ทว่า คุณ "ชโลทร" ก็อดรำพึงปิดท้ายด้วยความอัดอั้นตันใจมิได้ว่า "แต่อย่างว่า"สันติวิธี"ที่จะได้ผลนั้น คนที่ไม่เห็นด้วยกับสร้าง"รัฐทหาร"ก็ยังคิดไม่ออกว่ารูปธรรมควรเป็นอย่างไร"

ด้วยความเคารพ ปัญหาว่าแนวทาง "รัฐทหาร" ที่จะนำมา "ล้างป่าช้า 3 จังหวัดภาคใต้" นั้น เอาเข้าจริงมันสำแดงพลังความเด็ดขาดไม่ประนีประนอม หรือสำแดงอาการคิดเก่าทำเก่า ผิดพลาดเอ๋อเหรอมาแต่ต้นแล้วก็ยังดื้อรั้นยืนกราน จะผิดพลาดเอ๋อเหรอซ้ำซากของผู้ใช้กันแน่? และรูปธรรมของแนวทาง "สันติวิธี" จะเป็นฉันใดได้บ้างนั้น?

มีตัวอย่างข้อมูลจาก ประสบการณ์บทเรียนในการแก้ปัญหาการก่อการร้ายของนานาอารยประเทศ พอจะยกเป็นนิทัศน์อุทาหรณ์มาให้เพื่อนชาวไทย ผู้ยังกอปรด้วยสติสัมปชัญญะได้ลองใช้วิจารณญาณ และเหตุผลค้นคว้าไตร่ตรองทบทวนดูอย่างรอบคอบรัดกุม ก่อนที่จะผลีผลาม "จัดการ 3 จังหวัด" ให้มันรู้แล้วรู้แร่ดไป

3. ขบวนการไออาร์เอ
ไออาร์เอ หรือกองทัพสาธารณรัฐไอร์แลนด์(พูดให้ครบถ้วนคือ Provisional Irish Republican Army แยกตัวจาก Official IRA ซึ่งปฏิเสธความรุนแรง-มาก่อตั้งต่างหากปลายปี ค.ศ.1969) เป็นชื่อขบวนการของชนส่วนน้อยชาวไอริช-คาทอลิก ในดินแดนตอนเหนือของเกาะไอร์แลนด์ ที่ต่อสู้ด้วยอาวุธกับกองทหารอังกฤษและชนส่วนใหญ่ชาวสก๊อต-โปรเตสแตนต์ ด้วยวิธีการต่างๆ อาทิ ซุ่มโจมตี ลอบสังหาร ปล้นธนาคาร รวมทั้งใช้ยุทธวิธีก่อการร้าย โดยวางระเบิดเป้าที่เป็นพลเรือนมาต่อเนื่องกว่า 30 ปี

ทั้งนี้ เพื่อบีบคั้นกดดันให้อังกฤษถอนทหารจากไอร์แลนด์เหนือ, ยุติการปกครองของอังกฤษในเทศมณฑล 6 แห่งที่นั่น, และแยกดินแดนดังกล่าวออกจากประเทศสหราชอาณาจักร เพื่อเข้ารวมเป็นประเทศเดียวกับสาธารณรัฐไอร์แลนด์(คาทอลิก) ซึ่งครองดินแดนส่วนที่เหลือของเกาะในที่สุด (สาธารณรัฐไอร์แลนด์แยกตัวจากเครือจักรภพบริติช และสถาปนาเป็นสาธารณรัฐอิสระตั้งแต่เดือนธันวาคม ค.ศ.1948), โดย IRA มีพรรคชาตินิยมไอริชชื่อ ซินเฟน(Sinn Fein) เป็นปีกการเมืองที่ต่อสู้เพื่อบรรลุเป้าหมายเดียวกันอย่างเปิดเผย

การที่ไออาร์เอยืนหยัดต่อสู้กับกองทหารอังกฤษ และชนชาวสก๊อต-โปรเตสแตนต์ส่วนใหญ่ในไอร์แลนด์เหนือมาได้ยาวนาน ปมเงื่อนสำคัญชี้ขาดเพราะ สามารถรักษาฐานมวลชนสนับสนุนอันเข้มแข็งไว้ได้ ทั้งจากชุมชนไอริช-คาทอลิกในพื้นที่เอง และจากชุมชนไอริช-คาทอลิกพลัดถิ่นต่างแดน โดยเฉพาะในอเมริกาและแคนาดา ซึ่งเป็นแหล่งที่มาของเงินทุนอุนหนุนผ่านองค์กรบังหน้าที่เรียกว่า "นอร์เอด"

แน่นอนว่ายุทธวิธีก่อการร้าย วางระเบิดสังหารประชาชนผู้บริสุทธิ์ของไออาร์เอ เป็นสิ่งที่รัฐบาลอังกฤษเจ้าทุกข์รับไม่ได้, ในปี ค.ศ.1990 นายจอห์น เมเจอร์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษแห่งพรรคอนุรักษ์นิยมสมัยนั้น ถึงแก่ลั่นวาจากลางสภาสามัญว่า จะไม่มีวันยอมอ่อนข้อให้การก่อการร้ายเด็ดขาด:-

"ผมเชื่อว่าทั้งสภาคงถือว่าการกระทำของพวกนั้นน่าทุเรศสิ้นดี แน่ใจได้เลยว่า พวกนั้นจะไม่มีทางระเบิดเปิดทางให้ตัวเองกลับสู่โต๊ะเจรจาได้เด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นเดี๋ยวนี้หรือขั้นตอนใดในอนาคต"

ที่น่าสนใจคือถึงตอนนั้น แม้ไออาร์เอจะยังรณรงค์วางระเบิดก่อการร้ายอยู่ แต่ก็เรียกร้องขอเจรจาพร้อมกันไปด้วย ดังปรากฏว่าในปี ค.ศ.1990 เดียวกันนั้นเอง นายมาร์ติน แมกกินนีส อดีตผู้บัญชาการหน่วยรบไออาร์เอและตอนนั้นกลายเป็นสมาชิกชั้นนำของซินเฟน ได้แถลงต่อสาธารณชนว่า ถึงเวลาแล้วที่ทั้งสองฝ่ายควรมาร่วมกันตรวจสอบดูว่า ทำไมหนุ่มสาวชาวไอริชผู้นิยมการปกครองระบอบสาธารณรัฐทั้งรุ่น จึงเลือกหันไปใช้ความรุนแรง เขากล่าวว่า:-

"ที่เรากำลังเห็นก็คือมันต้องมีการมาวิเคราะห์ มาอภิปรายกันอย่างจริงจัง ว่าทำไมสิ่งเหล่านี้ถึงเกิดขึ้น ทำไมหนุ่มสาวชาวไอริชจึงรู้สึกว่าพวกเขาไม่มีทางเลือกอื่น เบื้องหน้าการครอบงำของรัฐบาลต่างชาติ เบื้องหน้าการกดขี่ของรัฐบาลต่างชาติ และกำลังทหารของมัน ทำไมคนหนุ่มสาวจึงหันไปฆ่าฟันเอาชีวิตคนอื่น"

ตอนที่มาร์ติน แมกกินนีส กล่าวถ้อยคำข้างต้น เขายังเป็นบุคคลต้องห้าม พูดออกวิทยุของไม่ได้ ต้องให้คนอื่นอ่านคำแถลงแทน ทว่าชั่วสิบปีให้หลัง เขาก็กลายเป็นรัฐมนตรีศึกษาธิการในรัฐบาลไอร์แลนด์เหนือ ที่แบ่งปันอำนาจกันระหว่างพรรคซินเฟนกับพรรคอุลสเตอร์ ยูเนียนิสท์ ของชาวโปรเตสแตนต์ที่นิยมอังกฤษ

มันเป็นรัฐบาลผสมปกครองตนเอง ที่เกิดจากสองฝ่ายต่างยอมอ่อนข้อรอมชอม ถอยกันคนละครึ่งก้าว กล่าวคือ ชาวไอริช-คาทอลิก ได้ร่วมรัฐบาลแบ่งอำนาจปกครองตนเองในไอร์แลนด์เหนือ

ในทางกลับกัน ดินแดนไอร์แลนด์เหนือก็ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักร มิได้แยกตัวเข้ารวมกับสาธารณรัฐไอร์แลนด์ พร้อมกันนั้น ไออาร์เอก็ยอมตกลงระงับการต่อสู้ด้วยอาวุธ และจะสละวางอาวุธทั้งหมด ในที่สุด มาร์ติน แมกกินนีส รัฐมนตรีศึกษาฯ อดีตผู้ก่อการร้ายไออาร์เอกล่าวเรื่องนี้ว่า:-

"แน่ล่ะครับว่า ผมรอวันที่ต้นเหตุแห่งวิกฤตการเมืองทั้งปวง จะถูกขจัดปัดเป่าให้พ้นทางไป และรัฐมนตรีทุกท่าน สมาชิกสมัชชาผู้แทนทุกคน จะสามารถลงมือทำงานกันต่อได้ เพราะเรามีงานต้องทำ ไม่ว่างานการศึกษา สาธารณสุข เศรษฐกิจ สร้างอาชีพ ฯลฯ มันเป็นงานที่ประชาชนเขาเลือกเรามาทำที่นี่ และเรามีหน้าที่ต่อประชาชนเหล่านั้น เรามีหน้าที่ต่อผู้ลงคะแนนเสียงเลือกเราทั้งหมด ที่จะต้องลงมือทำงานกันต่อ และหยุดเรื่องงี่เง่าในอดีตเสีย"

อะไรหรือที่ช่วยพลิกสถานการณ์ และเปลี่ยนอดีตผู้ก่อการร้ายให้กลายเป็นรัฐมนตรีที่รับผิดชอบขยันทำงานแบบนี้?

คำตอบอยู่ที่การค่อยๆ เปลี่ยนใจเปลี่ยนท่าทีของชุมชนไอริช-คาทอลิก ซึ่งเป็นฐานมวลชนสนับสนุนของไออาร์เอ ให้หันมาไม่ยอมรับและปฏิเสธการก่อการร้าย อันเป็นยุทธวิธีของไออาร์เอเองด้วยเหตุผลทางศีลธรรม! เมื่อมวลชนไม่เอาด้วยกับการก่อการร้าย ไออาร์เอก็ไม่มีทางเลือกต้องหันมาเดินหนทางสันติตาม

เรื่องมันเกิดขึ้นแบบนี้ครับ…

๔. ปริทัศน์การก่อการร้าย บทสรุปและทางออก
วันอาทิตย์ที่ 8 พฤศจิกายน ค.ศ.1987 อันเป็นวันระลึกผู้เสียชีวิตในสงครามโลกทั้งสองครั้ง ประจำปีของอังกฤษ ขบวนการไออาร์เอได้วางระเบิดพาเหรดรำลึกวันดังกล่าว ณ เมืองเดนนิส สกิลเลน ในไอร์แลนด์เหนือ เป็นผลให้คนตาย 11 คน บาดเจ็บอีกมาก คนตายทั้งหมดเป็นพลเรือน

แม้การก่อการร้ายจะมีหลากชนิดหลายขนาด นับแต่วินาศกรรมขับเครื่องบินโดยสารพุ่งชนตึกเมื่อ 11 กันยายน ค.ศ.2001 ในอเมริกาซึ่งมีเหยื่อหลายพันคน มาจนถึงการวางระเบิดร้านก๋วยเตี๋ยว "โบราณเก๋ากึ๊ก" ที่ยะลาส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บล้มตายนับสิบ หรือการได้ยิงรถนักเรียนโรงเรียนสายบุรีแจ้งประชาคารที่ปัตตานี จนเด็กนักเรียนบาดเจ็บสองคนเมื่อเร็วๆ นี้

แต่สิ่งหนึ่งที่มีร่วมกันคือคนตาย คนเจ็บซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านร้านตลาดรวมทั้งผู้หญิง คนแก่ เด็กเล็กที่บริสุทธิ์ ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ไม่ได้เข้าร่วมการรบราฆ่าฟันไม่ว่าฝ่ายไหน ขณะญาติมิตร ผู้ประสบเหตุหรือเจ้าหน้าที่กู้ภัยแพทย์พยาบาล ก็พยายามช่วยชีวิตเหยื่อสุดความสามารถ ท่ามกลางความโกลาหลวุ่นวาย ควันระเบิด คาวเลือด เศษเนื้อ ชิ้นส่วนอวัยวะ....

หนึ่งในจำนวนผู้เสียชีวิตจากระเบิดไออาร์เอครั้งนั้นได้แก่ มารี วิลสัน พยาบาลสาวผู้มาร่วมขบวนพาเหรดพร้อมพ่อคือ กอร์ดอน วิลสัน ที่ได้รับบาดเจ็บแต่รอดชีวิต

การโจมตีดังกล่าวเป็นที่ทุเรศรังเกียจรับไม่ได้ในหมู่มวลชน ที่เป็นฐานสนับสนุนของไออาร์เอเอง จนถึงกับคุกคามความอยู่รอดของไออาร์เอ ตัวกอร์ดอน วิลสัน ได้รับความสงสารเห็นอกเห็นใจจากสาธารณชนล้นหลามและกลายเป็นปากเสียงตัวแทนทางศีลธรรม ของเหยื่อผู้สูญเสียจากการก่อการร้ายที่ได้การยอมรับอย่างสูง

ในปี ค.ศ.1993 ไออาร์เอก่อเหตุวางระเบิดที่เมืองวอร์ริงตัน ในอังกฤษ ซึ่งสังหารเด็กเล็กไปสองคน เป็นผลให้กอร์ดอน วิลสัน อดรนทนไม่ได้ ลุกขึ้นมาประท้วงท้าทายทั้งขบวนการไออาร์เอ และชุมชนชาวไอริชคาทอลิก ซึ่งเป็นบ่อเกิดและหลังพิงของขบวนการนั้นเอง เขาแถลงว่า:-

"พวกคุณพูดยังไงก็ฟังไม่ขึ้นและผมฟังยังไงก็เชื่อไม่ลงว่า ระเบิดลูกที่พวกคุณวางในเมืองเดนนิส สกิลเลนนั้นมุ่งต่อเป้ากองกำลังรักษาความมั่นคงเท่านั้น ซึ่งจะว่ากันไป แม้แต่ในกรณีนั้นก็ยังถือว่าผิดแล้วในความเห็นผม, ผมรับคำแถลงของพวกคุณไม่ได้, ผมไม่เชื่อคำแถลงของพวกคุณเมื่อคุณบอกผมว่า คุณไม่ได้ตั้งท่าจะฆ่าพลเรือนผู้บริสุทธิ์, ผมไม่เชื่อคำแถลงของพวกคุณที่คุณบอกผมเรื่องวางระเบิดสองลูกกลางเมืองวอร์ริงตัน ซึ่งฆ่าเด็กเล็กไปสองคน ทั้งที่ไม่มีกองกำลังรักษาความมั่นคงอยู่แถวนั้นเลย"

ในลักษณะท่าทีเดียวกันนี้ การที่ 3 ผู้นำอิสลามแห่งจังหวัดปัตตานี ได้แก่ นายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลาม, นายสุรพงษ์ ราชมุดา นายกสมาคมมุสลิม และนายนิมุกตา วาบา นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนเอกชน ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ประฌามกลุ่มผู้ก่อเหตุยิงนักเรียนโรงเรียนสายบุรีแจ้งประชาคาร บาดเจ็บข้างต้น จึงสำคัญยิ่ง เพราะมันอาจเป็นจุดเริ่มต้นการค่อยๆ ก่อตัวเป็น พลังฉันทามติพื้นฐานทางศีลธรรมของชุมชนมลายูมุสลิมในพื้นที่เอง ที่จะต่อต้านการก่อการร้ายต่อพลเรือนผู้บริสุทธิ์ทุกเชื้อชาติศาสนา ทั้งโดยฝ่ายกลุ่มผู้ก่อการและฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ, จำกัดและกำกับทั้งระดับและขอบเขตความรุนแรงในพื้นที่ให้บรรเทาเบาบางลง รวมทั้งชักนำความขัดแย้งไปสู่ทิศทางแห่งการแสวงหาทางออกทางการเมือง

ในกรณีไอร์แลนด์เหนือ ความเปลี่ยนแปลงในทิศทางดังกล่าวบังเกิดขึ้นได้ก็เมื่อ

1) ฝ่ายไออาร์เอยอมรับในที่สุดว่า ความรุนแรง ไม่สามารถนำมาซึ่งการแยกดินแดนไอร์แลนด์เหนือไปรวมกับสาธารณรัฐไอร์แลนด์เป็นเอกภาพ
2) ฝ่ายรัฐบาลอังกฤษยอมรับว่า ลำพังวิธีการทางการทหาร ไม่สามารถปราบปรามเอาชนะการก่อการร้ายได้

การยอมรับแบบรัฐบาลอังกฤษข้างต้น นับเป็นเรื่องลำบากยากใจที่สุดสำหรับรัฐใดๆก็ตาม ที่ต้องต่อสู้กับการก่อการร้าย เพราะมันนำไปสู่สภาวะอิหลักอิเหลื่อเหมือนอยู่ระหว่างเขาควายที่ว่า ใจหนึ่งรัฐบาลก็อยากจะยอมรับว่า ข้อร้องทุกข์ทางการเมืองบางอย่างของบรรดาผู้ที่สนับสนุนขบวนการก่อการร้ายนั้น มีเหตุผลชอบธรรม ควรรับฟังแก้ไข, แต่อีกใจหนึ่ง รัฐบาลก็ไม่อยากถูกมองว่าตัวเองอ่อนข้อให้การก่อการร้าย ; แล้วจะทำอย่างไรดี?

พึงสังเกตว่าจุดร่วมประการหนึ่งของขบวนการไออาร์เอในไอร์แลนด์เหนือ, ขบวนการพยัคฆ์ทมิฬในศรีลังกา, และขบวนการฮามาสในปาเลสไตน์ก็คือ ถึงแม้ทั้ง 3 ขบวนการ จะใช้วิธีการก่อการร้าย แต่โดยเป้าหมายแล้ว พวกเขามองตัวเองเป็น ขบวนการปลดปล่อยประชาชาติในทางการเมือง

เอ็ดฮูด สปรินสาก ศาสตราจารย์รัฐศาสตร์ ซึ่งตัวเองเป็นชาวอิสราเอล เชื่อว่าขบวนการแบบนี้มีแต่ต้องรับมือด้วยการเจรจา, ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ก็ตาม ประวัติศาสตร์บ่งชี้ว่าพวกเขาระเบิดเปิดทางให้ตัวเองขึ้นสู่โต๊ะเจรจาได้จริงๆ นั่นแหละ เขากล่าวว่า:-

"ในประวัติศาสตร์ของการก่อการร้าย องค์การก่อการร้ายต่อต้านรัฐบาลส่วนใหญ่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จมากนัก แต่กรณีที่ไม่สำเร็จเหล่านั้นมักไม่ค่อยเกี่ยวกับขบวนการปลดปล่อยประชาชาติ หรือการต่อสู้กู้อิสรภาพสักเท่าไหร่, และในหลายต่อหลายแง่ เราก็อาจมองสิ่งที่ชาวปาเลสไตน์กำลังทำอยู่ว่า เป็นสงครามปลดปล่อยเพื่ออิสรภาพ ว่าพวกเขากำลังต่อสู้เพื่ออิสรภาพของตัวเองได้ อย่างน้อยก็จากมุมมองของพวกเขาเอง แม้จะไม่ใช่จากมุมมองของอิสราเอลก็ตาม, มันยากมากที่จะยับยั้งกิจกรรมของขบวนการปลดปล่อย ในที่สุดจนแล้วจนรอด คุณจะยุติความขัดแย้งแบบนั้นได้ก็แต่โดยการเจรจา ไม่ใช่ด้วยกำลัง"

เช่นกัน โจนาธาน สเปนเซอร์ ศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยาภูมิภาคเอเชียใต้ แห่งมหาวิทยาลัยเอดินเบอระ แห่งสกอตแลนด์ ก็เชื่อว่าไม่มีทางปราบปรามขบวนการแบบนี้ได้ด้วยวิธีการทางการทหารเท่านั้น:-

"ผมคิดว่าหลักฐานทั้งหมดบ่งชี้ว่า ความพยายามทำนองปราบแหลกทางการทหารในเขตพื้นที่ชาวทมิฬ รังแต่ทำให้ปัญหาร้ายแรงขึ้น อันที่จริงการใช้ยุทธวิธีทางการทหารอย่างหยาบๆ ในอดีตนั่นแหละ ที่เป็นมูลเหตุใหญ่ที่สุดประการเดียวที่ทำให้ขบวนการพยัคฆ์ทมิฬเติบใหญ่ขึ้น จนกลายเป็นองค์การแบบที่เป็นอยู่ตอนนี้ ถ้าหากจะมียุทธศาสตร์อันหนึ่งอันใดที่เห็นได้ชัดว่า มันจะไม่ได้เรื่องแล้ว นั่นก็คือยุทธศาสตร์ที่จะเอาชนะพวกพยัคฆ์ทมิฬด้วยการทหารอย่างสุดกำลัง"

แต่ถึงอย่างนั้น มันก็เห็นกันอยู่จะจะมิใช่หรือ ว่าเสี่ยงมากหากฝ่ายรัฐบาลเกิดยอมอ่อนข้อเปิดเจรจาทางการเมืองกับขบวนการก่อการร้าย?

เสี่ยงตรงที่องค์การก่อการร้ายทั้งหลายแหล่ก็อาจสรุปบทเรียนว่า "ใช้ความรุนแรงแล้วได้ผลนี่หว่า" แล้วก็เลยได้ใจเอาอย่างมั่ง, ฉะนี้แล้ว การยอมรับและแก้ไขมูลเหตุทางการเมืองของการก่อการร้ายหรือนัยหนึ่ง "ใช้การเมืองนำการทหาร" นั้นจะมิกลายเป็นการให้ท้าย ยุยงส่งเสริมคนอื่นๆ ให้หันมาใช้วิธีรุนแรงเพื่อบรรลุเป้าหมายของตนมั่งหรือ?

ต่อเรื่องนี้ ดอกเตอร์ โคเนอร์ แกร์ตี้ ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายสิทธิมนุษยชนแห่ง London School of Economics and Political Science ชี้แจงว่ากรณีไอร์แลนด์เหนือเป็นตัวพิสูจน์ว่าความเสี่ยงดังกล่าวเป็นเรื่องที่เผชิญหน้าและเอาชนะมันได้ เขาอธิบายว่า:-

"ถ้าคุณเจอกลุ่มที่ดึงกำลังมาจากชุมชนหนึ่งๆ, ที่มีฐานแข็งแกร่งในสังคม, ที่มีสมรรถนะที่จะผลิตซ้ำกำลังสมาชิกขององค์กร ผลิตซ้ำตัวมันเอง หรือกระทั่งเติบใหญ่ขึ้น แบบนี้แล้วลำพังการอ้างว่ามันเป็นพวกบ้าคลั่งหรือโจร และฉะนั้นจึงต้องจัดการกับมันเยี่ยงคนบ้าหรือโจร ก็เท่ากับสร้างเงื่อนไขให้ความรุนแรงแบบนั้นคลี่คลายขยายตัวไปเรื่อยๆ

"คราวนี้ในไอร์แลนด์เหนือนั้นน่ะ เป็นเวลานมนานกาเลมาแล้ว ที่พวกไออาร์เอมาจากชุมชนหนึ่ง ชุมชนนั้นอาจไม่ได้สนับสนุนไออาร์เออย่างแข็งขัน แต่ก็เข้าใจว่าขบวนการมีฐานะที่ทางตรงไหนอย่างไรในชุมชน ฉะนั้นจึงไม่อาจจัดการกับไออาร์เอเยี่ยงองค์การโจรห้าร้อยธรรมดาได้

เมื่อรัฐบาลอังกฤษตระหนักรับความจริงข้อนี้ และพัฒนาแนวทางท่าทีที่แยบคายและหลักแหลมลึกซึ้งยิ่งขึ้น ไปจัดการปัญหาทางการเมืองซึ่งก่อให้เกิดความรุนแรงในไอร์แลนด์เหนือขึ้นมา จึงนับเป็นเครดิตอย่างสูงยิ่งของรัฐบาล และก็ปรากฏว่ามันประสบผลสำเร็จตามมาเป็นชุดอย่างน่าประหลาดใจ ในเวลาอันสั้นมากเลยทีเดียว ซึ่งลงเอยด้วยการหยุดยิง แต่ทั้งหลายทั้งปวงนี้มันห่างไกลกันมากกับการบอกว่า นี่เป็นผลจากการก่อการร้าย, ว่าการก่อการร้ายมันทำงานได้ผลอย่างตื้นๆ ง่ายๆ แบบนั้น"

ในยุคอันยิ่งใหญ่แห่งขบวนการปลดปล่อยประชาชาติ ที่นำพาชาติต่างๆ ในเอเชียและแอฟริกาให้เป็นอิสระจากการปกครองในระบอบอาณานิคมของยุโรปนั้น ฮิวจ์ แกตสเคลล์ อดีตรัฐบุรุษชาวอังกฤษ และผู้นำพรรคแรงงานหลังสงครามโลกครั้งที่สอง(ค.ศ.1906-1963) เคยตั้งข้อสังเกตว่า:

"ไม่ช้าก็เร็ว ผู้ก่อการร้ายทั้งหลายแหล่ก็คงจะลงเอย มานั่งร่ำดื่มกันอยู่ในโรงแรมดอร์เชสเตอร์อันหรูหราของลอนดอนนี่แหละ"

เส้นทางเดินจาก "ผู้ก่อการร้าย" -> "นักสู้กู้อิสรภาพ" -> "นักประชาธิปไตย" -> "รัฐบุรุษ" นั้นเอาเข้าจริงก็มีผู้เดินผ่านกันมานักต่อนักแล้วและเป็นที่รู้จักกันดี ไม่ว่าจะเป็นอดีตประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ และผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เนลสัน มันเดลา, ประธานาธิบดีชานาน่า กุสเมา แห่งติมอร์ตะวันออก, หรือแม้แต่รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีบางท่านในคณะรัฐบาลปัจจุบันของไทยเอง

ในทางกลับกัน ก็มีเส้นทางอีกสายหนึ่งที่ตัดคู่ขนานกันมา มันเป็นทางเดินของรัฐทั้งหลายในการต่อสู้กับการก่อการร้าย ซึ่งเริ่มจากความปักใจเชื่ออย่างเบ็ดเสร็จเด็ดเดี่ยวว่า เราเป็นฝ่ายถูกและมันเป็นฝ่ายผิด -> แล้วหักเหยอกย้อนสลับซับซ้อนเคว้งคว้างวกวนไป ท่ามกลางกองศพนับหมื่นๆ ทะเลเลือดและธารน้ำตา -> กว่าจะมาถึงจุดที่ต้องยอมตระหนักรับอย่างเจ็บปวดในที่สุดว่ าเรื่องของการก่อการร้ายนั้นน่ะ มันอาจจะไม่ง่ายๆ ตื้นๆ อย่างนั้นเสมอไป....

ใช่ไหมครับว่าที่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร?

 


สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 500 เรื่อง หนากว่า 6000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com




 

H
รวบรวมบทความวิชาการเรื่อง "ปริทัศน์ขบวนการก่อการร้าย : ฮามาส พยัคฆ์ทมิฬ ไออาร์เอ" เขียนโดย ดร.เกษียร เตชะพีระ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ไม่มีใครชอบฆ่ากันหรอก แต่อิสราเอลนั่นแหละ ละเมิดสนธิสัญญาสันติภาพที่ทำกับปาเลสไตน์ก่อน ละเมิดซ้ำแล้วซ้ำเล่ามาตั้งนานแล้ว เมื่อ 7 ปีก่อน อิสราเอลทำสัญญากับเรา แล้วก็ละเมิด ไม่เคยรักษาสัญญาเลย มิหนำซ้ำอิสราเอลยังคุมทุกอย่าง มีอาวุธครบสารพัด ไม่ว่าเครื่องบิน รถถัง รถไถกลบ แล้วดูสิฝ่ายปาเลสไตน์เรามีอะไรมั่ง? อย่างน้อย(การระเบิดพลีชีพ) นี่ก็ทำให้ทั้งสองฝ่ายต่างตกอยู่ในความหวาดกลัวเท่าเทียมกัน

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 500 เรื่อง หนากว่า 6000 หน้า ในรูปของ CD-ROM ในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง) สนใจสั่งซื้อได้ที่
midnightuniv(at)yahoo.com
หรือ ส่งธนาณัติถึง
สมเกียรติ ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202

กรุณาส่งตั๋วแลกเงินไปยัง สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50202
อย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์

สรุปก็คือรัฐศรีลังกาโต้ตอบการก่อการร้ายด้วยการก่อการร้าย (เรียกแบบไทยๆ ว่า "บ้ามาก็บ้าไป", "ตาต่อตา ฟันต่อฟัน" ฯลฯ) แล้วมันไม่ได้ผล การณ์กลับกลายเป็นว่าตัวการที่จัดส่งกำลังพลเม็ดเลือดใหม่ ไปให้ขบวนการพยัคฆ์ทมิฬได้อย่างทรงประสิทธิผลที่สุด ได้แก่ความป่าเถื่อนโหดร้ายที่กองกำลังรักษาความมั่นคงของรัฐศรีลังกาปฏิบัติต่อพลเรือนชาวทมิฬนั่นเอง! แม้แต่ประธานาธิบดีจันทริกา กุมาราตุงคะ (ได้รับเลือกตั้งต่อกันสองสมัยจาก ค.ศ.1994-ปัจจุบัน ) ก็ยอมรับว่าประธานาธิบดีคนก่อนๆเธอ ได้ดำเนินสิ่งที่บัดนี้เธอเรียกอย่างเปิดเผยว่า "การก่อการร้ายโดยรัฐ" ซึ่งแทนที่จะสามารถบั่นทอนทำลายขบวนการพยัคฆ์ทมิฬลง กลับโอละพ่อ ไปเสริมความเข้มแข็งให้พยัคฆ์ทมิฬขึ้นอีก...

 

 

ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๘ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ
เจ้าของพื้นที่ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ
R