R
relate topic
180148
release date
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 509 หัวเรื่อง
บทวิพากษ์ปัญญาชนไทย
ทศพร โชคชัยผล
โต๊ะสังคม-คุณภาพชีวิต
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
The Midnight 's article
18th January 2005
เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะ
สามารถแก้ปัญหาได้
midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com

คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

บทความเชิงวิพากษ์นักวิชาการ
บทวิพากษ์นักวิชาการไทยอับจนทางปัญญา
ทศพร โชคชัยผล
โต๊ะสังคม-คุณภาพชีวิต นสพ.กรุงเทพธุรกิจ


บทความนนำมาจากกระดานข่าวขนาดยาวของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จากหัวข้อเรื่อง"เผด็จการทางปัญญา"
หมายเหตุ : หน้าเว็ปเพจนี้เป็นการรวบรวมบทความ ๒ ชิ้น ประกอบด้วย
๑. เผด็จการทางปัญญา และ ๒. เหลียวหลังแลหน้า - เมื่อรากหญ้าอ่านข้อความระหว่างบรรทัด
บทความชิ้นแรกเป็นบทวิจารณ์ของทศพร โชคชัยผล ส่วนบทความชิ้นที่สองเป็นรายงานข่าวและความคิดเห็นของ ไสว บุญมา
นำมารวมกันเพื่อให้เห็นภาพกว้างบรรยายกาศการประชุมทีดีอาร์ไอ ๔๘

(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 10 หน้ากระดาษ A4)

 

๑. เผด็จการทางปัญญา
ทศพร โชคชัยผล : โต๊ะสังคม-คุณภาพชีวิต
ทำเนียบรุ่น คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มธ. รุ่นที่ 30

สัมมนาวิชาการประจำปี 2547 ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือรู้จักกันโดยย่อว่าทีดีอาร์ไอ ที่เพิ่งจบลงไปเมื่อสัปดาห์ก่อน คือวันที่ 27-28 พ.ย. ที่ผ่านมา มีทั้งเรื่องที่น่าปลื้มใจและเศร้าใจปนกันไป
ที่ปลื้มใจคือมีผู้เข้าร่วมสัมมนา ที่เป็นระดับผู้นำชุมชนมาร่วมงานไม่น้อย แถมผู้นำชุมชนเหล่านี้พูดจาแบบชาวบ้านแท้ๆ ใช้คำง่ายๆ ตรงไปตรงมา ฟังแล้วเป็นเสมือนน้ำทิพย์ที่หลั่งลงมาบนใจอันห่อเหี่ยว เพราะเป็นคำที่แสดงความจริงใจขนานแท้ ไม่เหมือนคำจากปากของปัญญาชนหรือผู้มีการศึกษาสูงกว่า ที่ประดิดประดอยหรูหราเกินความเข้าใจของคนธรรมดาๆ พูดไทยคำฝรั่งคำ จนเกิดสงสัยขึ้นมาว่าเข้าใจสิ่งที่พูดจริงๆหรือเปล่าหนอ

แต่ที่น่าเศร้าใจคือเกิดปรากฏการณ์ ที่ผมจะขอเรียกว่า "เผด็จการทางปัญญา" เป็นคำนิยามเฉพาะผมคนเดียวนะครับ คนอื่นจะเข้าใจอย่างนี้หรือไม่นั้น ก็ขึ้นกับมุมมองก็แล้วกัน แต่ขอเรียกอย่างนี้ เพราะศัพท์กำลังฮิตติดตลาดการเมืองไทย เนื่องจากมีคนวิจารณ์การเมืองไทยยุคนี้ว่าเป็นเผด็จการรัฐสภา แต่ผมก็เห็นคนจำนวนไม่น้อย รวมทั้งบรรดานักการเมือง เห็นดีเห็นงามกับสิ่งที่รัฐบาลทักษิณทำ หากบอกว่าเป็นเผด็จการ ก็น่าประหลาดเหมือนกัน เพราะเราคุ้นกับเผด็จการที่ใช้อำนาจให้คนเชื่อ นั่นแสดงว่าเผด็จการยุคใหม่ ไม่ต้องใช้อำนาจอย่างว่า แต่คนก็เชื่อกันฝังจิตฝังใจ ดังนั้น ผมว่าน่าจะใช้ได้กับคำนิยามข้างต้น

เรื่องของเรื่องก็เกิดขึ้นในการสัมมนาตลอดทั้งสองวัน ทั้งหมดทั้งหลายทั้งปวงก็มาจากสัมมนาวันแรกแท้ๆ
การสัมมนาวันแรก เริ่มด้วยหัวข้อการอภิปรายของผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์, ดร.วีรพงษ์ รามางกูร และดร.สิปปนนท์ เกตุทัต, ดร.อานัติ อาภาภิรม อดีตประธานทีดีอาร์ไอ ยกย่องทั้ง 3 ท่านว่าเป็น "ปราชญ์"ของสังคมตามสายงานความเชี่ยวชาญของแต่ละท่าน

เป็นการอภิปรายทั่วไปเปิดงานสัมมนาในหัวข้อ "เหลียวหลังแลหน้า : ยี่สิบปีเศรษฐกิจสังคมไทย" โดยใช้เวลาคนละประมาณ 25 นาที หลังจากอภิปรายเวทีใหญ่เสร็จ ก็มีการสัมมนาหัวข้อย่อยอีกมาก โดยแบ่งเป็นห้องๆ ใครชอบห้องไหน สนใจหัวข้อไหนก็สามารถเข้าร่วมได้ตามสะดวก แต่ที่น่าประหลาดก็คือหลายเวที โดยเฉพาะหัวข้อทางด้านการเปลี่ยนแปลงทางสังคม มีการกล่าวถึง "นิธิ" เป็นบทเกริ่นนำกันแทบทุกห้อง แม้กระทั่งการสรุป "สิ่งที่ได้"จากการสัมมนาในวันสุดท้าย

ผมก็อดคิดไม่ได้ว่านี่มัน "เผด็จการทางปัญญา"ชัดๆ ทำไมคนร่วมสัมมนาเกือบพันคนถึงเป็นเช่นนั้นได้ บรรยากาศการสัมมนา ยกเว้นหัวข้อเศรษฐกิจไทย-เศรษฐกิจโลก ทุกห้องมีชื่อ "นิธิ" อยู่เสมอ ประหนึ่งว่าเป็นการประกาศ "สัจจธรรม"ก็ปานนั้น

ก่อนที่ผมจะเทียบเคียงสิ่งที่เรียกว่า "เผด็จการทางปัญญา"กับสิ่งที่เกิดจากการระดมสมองประจำปีของทีดีอาร์ไอ อยากจะสรุปสิ่งที่ "นิธิ"พูดถึงสังคมไทยใน 20 ปีข้างหน้า ซึ่ง "นิธิ"ใช้เวลาอภิปรายประมาณ 25 นาที ดังนี้( ซึ่งอาจจะตกหล่นบ้าง แต่เชื่อว่าไม่ตกหล่นในประเด็นสำคัญ)

ข้อเสนอของ "นิธิ"
"นิธิ"กล่าวนำเชิงออกตัวหน่อยๆว่า ไม่มีความเชี่ยวชาญเรื่องสถิติตัวเลข ดังนั้นสถิติต่างๆที่หยิบขึ้นมาในการอภิปรายอาจมีความคลาดเคลื่อน เพียงแต่หยิบยกขึ้นมาเพื่อประกอบข้อเสนอให้เห็นสังคมไทยใน 20 ปีข้างหน้า สังคมไทยอีก 20 ปีข้างหน้าในสายตาของ "นิธิ" คือ มีการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างของประชากร จากเดิมที่มีลักษณะเหมือนปิระมิด กล่าวคือ ประชากรมีอายุน้อยจำนวนมากกว่าผู้สูงอายุ มีผู้อายุระหว่าง 15-34 ปี จำนวนมากสุด

แต่อีก 20 ปีข้างหน้า โครงสร้างประชากรจะเปลี่ยนไป เพราะสาธารณสุขดีขึ้น อาหารการกินดีขึ้น คนอายุยาวนานขึ้น ประชากรวัยระหว่าง 30-49 ปี จะกลายเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ นั่นคือรูปร่างประชากรจะเปลี่ยนจากรูปเหมือนปิรามิดเป็นเหมือนปรางค์ ฐานแคบ ป่องตรงกลาง ความกว้างตรงยอดจะมากขึ้น

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรนี้เองจะเป็นตัวกำหนดหลายสิ่งหลายอย่างในสังคม "เหยื่อ"ลัทธิบริโภคในปัจจุบันจะกลายเป็นคนที่มีอายุมากขึ้น บริโภคของที่มีคุณภาพมากขึ้น นั่นคือประชากรจะมีส่วนกำหนดลักษณะ "ตลาด" ในระดับที่มากพอควร

ไม่เพียงแต่เรื่องการบริโภคเท่านั้น การเปลี่ยนแปลงจะขยายวงไปที่ศิลปวัฒนธรรมด้วย ที่เห็นได้ชัดคืออุตสาหกรรมบันเทิงจะเปลี่ยนไปตามวุฒิภาวะมากขึ้น เช่น หนังไทยปัจจุบัน เปลี่ยนไปอย่างมากจากอดีต กล่าวคือมีคุณภาพมากขึ้น เนื่องจากตลาดไม่ใช่วัยรุ่น(?)

จากนั้น "นิธิ"ฉายภาพลงไปถึงชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย โดยตั้งคำถามว่า "คนไทยจะใช้ชีวิตอยู่อย่างไร" คำตอบของ "นิธิ"ก็คือชนบท คนส่วนใหญ่ยังอยู่ในชนบท แต่เป็นเรื่องยากจะแบ่งออกจากกันได้อย่างไร ที่นิยมแบ่งกันคือเขตเทศบาล-นอกเทศบาล ซึ่งในที่นี้ "นิธิ"น่าจะหมายถึงพื้นที่ชนบท ที่ไม่ได้อยู่ในเขตเมือง ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่ก็ยังใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น

"นิธิ"เห็นว่าในระดับหมู่บ้านเราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น เช่น การมียานพาหนะเพิ่มขึ้นในทุกภาค ทำให้คนเข้าไปทำมาหากินในเมืองมากขึ้น แต่มียังมีชีวิตอยู่ในชนบท ขณะที่ภาคเกษตรก็จะมีการใช้เครื่องจักรมากขึ้น เพื่อทดแทนกำลังคนที่ไปหากินในเมือง นอกจากนี้ การใช้ "สื่อ"ของคนชนบทกับคนในเมืองจะเหมือนกัน รับและใช้สื่อแบบเดียวกัน

"นิธิ"สรุปว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า ตลาดของชนชั้นกลางจะโตเร็วกว่าจำนวนของชนชั้นกลาง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงคมนาคมและการสื่อสารนั่นเอง

ต่อจากนั้น "นิธิ"ตั้งคำถามว่า "คนไทยจะทำอะไรกิน" คำตอบก็คือ คนชนบทจะยังคงผูกพันกับภาคการเกษตรมากบ้างน้อยบ้าง แต่จำนวนคนภาคการเกษตรจะลดลงอย่างช้าๆ "นิธิ"ยกสถิติว่าคนภาคการเกษตรจะลดลง 7% ในทุก 10 ปี และในอีก 20 ปีข้างหน้าก็จะลดลงอีกมาก เว้นแต่สินค้าภาคเกษตรจะมีราคา

ส่วนผู้ประกอบการและลูกจ้างคนอื่น ส่วนใหญ่คนเหล่านี้จะเข้าสู่ภาคพาณิชยกรรม รองลงมาคือภาคบริการ โดยสัดส่วนลูกจ้างจะสูงมากขึ้น ซึ่งในอีก 20 ปีตัวเลขจะสูงมาก คนอีกกลุ่ม คือ คนที่ช่วยเหลือธุรกิจครอบครัวโดยไม่ได้รับค่าจ้าง ยกตัวอย่างภาคใต้ มีสัดส่วนถึง 26.6% ภาคอีสาน 47.5% ตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าสถาบันครอบครัวมีบทบาทพอควร แต่ความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัวจะค่อยๆลดลง ซึ่งจะเห็นได้จากแรงงานส่วนนี้ลดลงทุกภาคและลดลงอย่างสม่ำเสมอ

คนกลุ่มนี้ "นิธิ"เห็นว่าจะส่งผลต่อสังคมมาก บางส่วนจะเข้าสู่ภาคเกษตรกรรมมากขึ้น หรือไม่ก็ว่างงานมากขึ้น หรือไม่เช่นนั้นก็กลายเป็นผู้ประกอบการรายเล็กมากขึ้น เช่น แม่ค้าขายกล้วยปิ้ง "นิธิ"เสนอเป็นเชิงนโยบายทางสังคมว่า เราควรจะพัฒนาฝีมือแรงงาน การศึกษา เราต้องคิดถึงคนกลุ่มที่อยู่นอกระบบให้มากขึ้น เพราะเขาจะต้องหลุดออกจากสถานะเดิมในอีก 20 ปีข้างหน้า

"นิธิ"ตั้งคำถามต่อมาว่า "คนไทยจะหลับนอนที่ไหน" คำตอบคือบ้าน แต่บ้านของตัวเองจะปลูกสร้างด้วยวัสดุที่คงทนถาวรมากขึ้น โดยหยิบยกสถิติการปลูกบ้านในทุกภาค มีสัดส่วนเท่ากันคือ 90% ปลูกบ้านใหม่ด้วยสิ่งคงทนถาวร จะไม่มีการเก็บ Public Space กล่าวคือคนไทยจะถอยเข้าสู่ "ปราการ"ส่วนตัวมากขึ้น เพราะ Public Space หายไป

เราไม่ได้สร้างพื้นที่สาธารณะไว้ เรามีน้อยมาก เดิมทีเรามีวัด แต่ขณะนี้ความเป็นสาธารณะน้อยลง คนไทยไม่มีพื้นที่สาธารณะสำหรับใช้สอย และสร้างปราการด้วยสิ่งปลูกสร้างด้วยถาวรวัตถุมากขึ้น และผลสุดท้ายทำให้สังคมอ่อนแอ คำถามต่อมาคือ "สังคมไทยสงบสุขขึ้นหรือไม่" คำตอบก็คือ ไม่น่าจะเป็นสังคมที่สงบสุข

จากนั้น "นิธิ"ยกตัวอย่างสถิติของตำรวจถึงอาชญากรรมในพื้นที่ต่างๆ แต่ตำรวจจับคนร้ายได้เพียง 10% ดังนั้นในอีก 20 ปีข้างหน้า ตัวเลขก็ไม่น่าจะลดลง "นิธิ"เห็นว่า การปฏิรูปกรมตำรวจเป็นเรื่องใหญ่มาก พอๆกับเรื่องการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะมีนักการเมืองกล้าทำหรือไม่

จากนั้น "นิธิ"กล่าวถึงสิ่งแวดล้อม เห็นว่าคนไทยอยู่ในประเทศที่ไม่ค่อยสะอาดเท่าใดนัก เช่น การกำจัดขยะ ซึ่ง 65.9% กำจัดโดยการเผา ที่เหลือเทศบาลเก็บไปกำจัด ส่วนที่เหลือเป็นปุ๋ยน้อยมาก เมื่อประเทศพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมมากขึ้น ลักษณะขยะก็จะเปลี่ยนไป กำจัดยากขึ้น และต้องใช้เทคโนโลยีมากขึ้น แต่ยิ่งทุ่มเทกำจัดขยะมากเท่าไร ก็ไม่ได้ผล ดังนั้นเราต้องใช้พลังทางสังคมเข้ามาช่วย

ต่อมาเป็นด้านการใช้ชีวิตประจำวัน "นิธิ"เห็นว่าเมื่อเทียบกับญี่ปุ่น ใต้หวัน จีน ถือว่าคนไทยทำงานไม่มากในแต่ละวัน ราวๆ 3.8 ชั่วโมง เราใช้เวลากับทีวีราว 2.9 ชั่วโมง ที่เหลือกับเรื่องอื่นๆ ดังนั้น "สื่อ" จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง หากใครต้องการปฏิรูปการศึกษา โดยไม่สนใจปฏิรูปสื่อ ก็เลิกคิดไปได้ และหากทำเพื่อธุรกิจ ก็เลิกคิดจะให้สื่อทำอะไรให้กับสังคม

ส่วนตัวเลขที่เป็นสถิติที่แสดงถึงกิจกรรมทางสังคมอื่นๆนั้น ยังไม่มีตัวเลข ว่ากิจกรรมหลายอย่างหายไปหรือไม่
ถามว่า "คนไทยจะตายอย่างไร" คำตอบก็คือ ตายเหมือนฝรั่ง การตายด้วยการติดเชื้อจะลดลง เนื่องจากระบบสาธารณสุขดีขึ้น แต่จะตายเหมือนฝรั่งจากโรคความเครียด มะเร็ง

"นิธิ"สรุปว่าคนไทยกำลังหดตัวเข้าหาตัวเองมากขึ้น จะกลายเป็นปัจเจกมากขึ้น ที่น่าเป็นห่วงคือศีลธรรมจะเสื่อม กลายเป็นศีลธรรมของปัจเจก. แต่สังคมไทยยุคก่อน คนไทยไม่มีสิ่งที่เรียกว่าศีลธรรมของปัจเจก แม้แต่เซ็กซ์ก็เป็นเรื่องของครอบครัว ของสังคม เมื่อคนกลายเป็นปัจเจกมากขึ้น แต่เราไม่มีศีลธรรมมาควบคุมปัจเจก ไม่มีศิลธรรมเชิงปัจเจกเข้าคุม เราจึงมีช่องโหว่อย่างยิ่ง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องพัฒนาศีลธรรมเชิงปัจเจกขึ้นมาเพื่อควบคุม

บรรยากาศโรคคลั่ง "นิธิ"
ทั้งหมดเป็นข้อสรุปที่เกิดขึ้นจากการนำเสนอในช่วง 25 นาที ซึ่งผู้ฟังจะได้ภาพรวมของคนไทยในอีก 20 ปีข้างหน้า ตั้งแต่เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย จนถึงสภาพแวดล้อมทางสังคมทั่วไป แต่การอภิปรายในเวทีย่อย ได้หยิบยกความเห็นข้างต้นมาประกอบการสัมมนาแทบทุกห้อง ซึ่งนับว่าน่าแปลกอย่างยิ่ง เมื่อเทียบกับผู้นำเสนอบทความเอง แม้แต่บางคนที่เสนอบทความเองก็เถอะ ยังต้องกล่าวข้อสังเกตข้างต้นเกี่ยวกับสภาพสังคมที่ "นิธิ"เสนอไว้
นี่ขนาด "นิธิ"พูดเสร็จก็กลับทันที หากอยู่ร่วมวงสัมมนาด้วย บรรยากาศน่าจะเปลี่ยนจากวง "สัมมนา" เป็นการ "บรรยาย" ในห้องเรียนเป็นแน่แท้

หากใครไม่ไดเข้าร่วมสัมมนา อาจจะนึกภาพไม่ออกว่าสัมมนาของทีดีอาร์ไอเป็นอย่างไร จะขอเล่าโดยสังเขปดังนี้

หัวข้อสัมมนาประจำปี คือ "เหลียวหลังแลหน้า : ยี่สิบปีเศรษฐกิจสังคมไทย" ได้ยินมาว่าห้ามมีประเด็นเกี่ยวกับการเมืองอย่างเด่นชัด ดังนั้น หัวข้อสัมมนาในกลุ่มอื่น อาทิ การเปลี่ยนแปลงของคนไทยและสภาพแวดล้อม, การเปลี่ยนแปลงของประเทศไทย ในด้านต่างๆ เช่นสิ่งแวดล้อม การพัฒนาพื้นที่ การเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจของประเทศ เป็นต้น

ไม่มีหัวข้อเกี่ยวกับการเมืองเลย ซึ่งสอดคล้องกับข่าวซุบซิบว่าห้ามมีประเด็นทางการเมือง(แม้แต่ "นิธิ"ก็ไม่พูด) แม้ว่าที่พูดกันทั้งวันนั้น เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการเมืองทั้งนั้น ซึ่งหมายถึงการเมืองในความหมายที่กว้างกว่าเรื่องของพรรคการเมือง

ในทุกเวทีของสัมมนากลุ่มย่อย มีผู้เสนอบทความ บ้างเป็นข้อเขียนเก่า บ้างเป็นข้อเขียนที่เสนอในงานเป็นการเฉพาะ บ้างเป็นงานวิจัย(ส่วนใหญ่แค่รวบรวมสถิติ ผสมกับการอธิบายข้อมูลพื้นๆเสียมากกว่า) รวมแล้วมีบทความเสนอกว่า 20 ชิ้น เอกสารมีความหนานับพันหน้า ดังนั้น หัวข้อของบทความจึงมีความหลากหลายอย่างยิ่ง

ตั้งแต่เรื่องประเด็นทางสังคม เรื่องประชากร เรื่องกระบวนการยุติธรรม เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องการเปลี่ยนแปลงจากการพัฒนา เรื่องแนวโน้มและทิศทางเศรษฐกิจไทยในบริบทโลก เมื่อพิจารณาจากบทความเหล่านี้ก็น่าจะมีการนำเสนออะไรที่เป็นชิ้นเป็นอันมากกว่านี้ แต่ตรงกันข้าม กลับเอาเรื่องเก่ามาเล่าใหม่(และไม่ได้ลึกซึ้งมากไปกว่าเดิม) บางบทก็เอารายงานเก่าๆของหน่วยราชการแนบมาด้วย ถึงขนาดมีอาจารย์บางคนที่เข้าร่วมสัมมนาบ่นขณะกำลังเดินหาห้องเพื่อเข้าฟังว่ากำลังหาสิ่งที่เป็นงานวิจัยจริงๆ ไม่ใช่ประเภท "ตัดแปะ" ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าหาเจอหรือเปล่า และคำเช่นว่านั้นหมายความว่าอย่างไร

แต่ก็แล้วไปเถอะ เพราะถึงอย่างไร ข้อมูลจากสิ่งที่เรียกว่า "ตัดแปะ"นี้แหละ เป็นข้อมูลส่วนใหญ่ที่ "นิธิ"ใช้มาประกอบการข้อเสนอ ไม่ว่าจะเป็นประชากร สถิติอาชญากรรม การสร้างบ้านเรือน ฯลฯ ซึ่งไม่ใช่เป็นสิ่งผิดแต่อย่างใด เมื่อฟัง "นิธิ"จบแล้วพลิกดูข้อมูลด้านใน ดูเหมือนว่า "นิธิ"หยิบเอาข้อมูล จากบทโน้นนิดนี่หน่อย มาประกอบการวิเคราะห์ เพื่อให้มีความน่าเชื่อถือยิ่งขึ้นในยุคที่คนคลั่งตัวเลข

จึงกลายเป็นว่า "นิธิ"ใช้ข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์ จากนั้นคนที่นำเสนอข้อมูลนั่นเอง ที่ถึงบางอ้อว่า "เป็นเช่นนี้เอง" ดูเหมือนว่าหากไม่ได้ "นิธิ" เจ้าของข้อมูลก็คิดไม่ออกบอกไม่ถูก ดังนั้นจึงต้องกล่าวถึงกันทุกห้อง โดยเฉพาะประเด็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและสภาพแวดล้อมของไทย

คำถามก็คือ หากตัดชื่อ "นิธิ"ออกไป คนจะกล่าวถึงหรือไม่ คนจะเกิดความสงสัยการตีความข้อมูลหรือไม่ ผู้เข้าร่วมสัมมนาจะคล้อยตามแนววิเคราะห์นี้หรือไม่

อาทิ ประเด็นเรื่องลักษณะที่อยู่อาศัยที่ปลูกสร้างถาวรวัตถุนั้น แสดงถึงการสร้าง "ปราการ"ของคนและสะท้อนถึงลัทธิ"ปัจเจกนิยม"หรือไม่ คนไทยไม่มีศีลธรรมสำหรับคุมปัจเจกจึงหรือไม่ คำว่าปัจเจกที่ใช้เป็นคำของปัญญาชนฝรั่งหรือไม่ เพื่อใช้เรียกปรากฏการณ์ทางสังคมที่ซับซ้อนให้เข้าใจ "อย่างง่าย"หรือไม่ สังคมในอนาคตที่ไม่สงบนั้น ดูได้จากสถิติอาชญากรรมอย่างเดียวหรือไม่ เรื่องนี้เกี่ยวกันอย่างไรกับจำนวนประชากรของคนไทยที่เพิ่มมากขึ้นหรือไม่ ฯลฯ

สรุปก็คือข้อเสนอของ "นิธิ"มีมากมายในการเปิดประเด็นให้ "ถกเถียงได้" ไม่ใช่สัจจธรรมหรือแนวการวิเคราะห์ที่ดีที่สุด ซึ่งก็น่าจะมีแนวอื่น แต่ปรากฏว่าวงสัมมนา มีนักวิชาการนับร้อยจากหลายวงการหาไม่เห็น ซึ่งน่าแปลกอย่างยิ่ง น่าแปลกอย่างยิ่งจริงๆ

คำถามก็คือทำไมอิทธิพล "นิธิ"จึงมีมากในวงสัมมนาเช่นนี้ ด้านหนึ่งไม่อาจปฏิเสธได้ว่า "นิธิ"เป็นปราชญ์ทางสังคมที่ยิ่งใหญ่ในยุคนี้ และมีการวิเคราะห์สังคมได้อย่างลึกซึ้งยากจะหาใครเทียบได้ แต่อีกด้านหนึ่งก็น่าแปลกว่า ทำไมดูเหมือนประหนึ่งว่าองค์ความรู้ทั้งมวลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และสังคมไทย มาถึงจุดสูงสุดเสียแล้ว เหมือนกับ "ความรู้" หยุดนิ่งตรง "นิธิ" นี่เอง ทั้งๆที่สังคมเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
(ผมได้ยินคนวิจารณ์ว่า "นิธิ"เป็นพวก Historism ผมไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร ใครรู้ช่วยบอกที)

บทสรุป
ข้อความข้างต้น มิได้อยากวิพากษ์วิจารณ์ แต่ต้องการสะท้อนบรรยากาศทาง "ปัญญา"ของสังคมที่มันดูแปลกๆ หากมีสิ่งที่เรียกว่า "ปัญญา" อยู่จริง และไม่อยากให้เกิดบรรยากาศทางวิชาการเช่นนี้
"ปัญญา"ที่แท้ น่าจะเป็นปัญญาที่มาแก้ปัญหาของผู้คน มากกว่าปัญญาที่เกิดจากการคิดตามๆกันไป ซึ่งหากเป็นเช่นนี้นับว่าอันตรายอย่างยิ่งต่อสังคมไทย และหากเป็นอยู่อย่างนี้ ต้องขอบอกว่าเลิกฝันไปได้ที่รัฐบาลหรือคนที่อยู่ในอำนาจรัฐจะยอมรับ อย่างดีก็เป็นพวก "ขาประจำ"

ก่อนจบ อยากจะยกคำของ "นิธิ" ที่เขียนใน "คำชี้แจง" ไว้ในประชุมพงศาวดารฉบับราษฎร์ ที่ "นิธิ"เป็นบรรณาธิการ ซึ่งเป็นการปรับปรุงพงศวดารครั้งใหญ่ในโครงการหนังสือวิชาการเครืออมรินทร์ ดังนี้

"เอกสารชุดสำคัญและมีคุณค่าสำหรับไทยคดีศึกษา คือชุดประชุมพงศาวดาร เริ่มพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2457 โดยพระดำริริเริ่มของสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อทรงดำรงตำแหน่งกรรมสัมปาทิกของหอพระสมุดวชิรญาณ หนังสือชุดนี้ได้รับรวบรวมพิมพ์เอกสารชั้นต้น และเอกสารสำคัญออกเผยแพร่ เพื่อสะดวกแก่การศึกษาค้นคว้าของผู้ใฝ่ใจศึกษาประวัติศาสตร์ไทย แต่ก็มีคุณค่าสำหรับการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องของไทยด้านต่างๆด้วย นับว่าได้ทรงเริ่มต้นงานที่มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อไทยคดีศึกษาสืบมา

ด้วยข้อจำกัดหลายประการ ซึ่งสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงชี้แจงไว้ในคำนำหนังสือนั้นบ้างแล้ว การพิมพ์เอกสารเหล่านี้ย่อมมีข้อบกพร่องบ้าง อย่างไรก็ดี แม้หนังสือชุดนี้จะถูกพิมพ์ซ้ำอีกหลายครั้งในเวลาต่อมา ครบทั้งชุดบ้าง พิมพ์ปลีกๆเป็นบางภาคบ้างก็ตาม แต่ก็ไม่มีการปรับปรุงคุณภาพของเอกสารเลย เช่น

ไม่มีแม้แต่การทำดัชนีค้นคำท้ายเรื่องเสริมเข้าไป เพื่อสะดวกแก่การใช้ นอกจากนี้ไม่มีการนำกลับไปตรวจสอบกับต้นฉบับจริงเพื่อความถูกต้อง แม้ว่าในบางกรณีได้พบต้นฉบับเป็นหลายสำนวน มากกว่าเมื่อครั้งที่สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพโปรดให้นำไปพิมพ์ก็ตาม ก็ไม่มีการนำเอาต้นฉบับหลายสำนวนเหล่านี้มาศึกษาเปรียบเทียบเพื่อสร้างฉบับเดิมแท้ขึ้นมา พร้อมทั้งคำอธิบายกระบวนการศึกษาและเชิงอรรถชี้ข้อต่างของแต่ละสำนวน หนังสือชุดที่เป็นประหนึ่งอนุสาวรีย์อันยิ่งใหญ่ของสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ จึงถูกพิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำอีก โดยไม่มีการปรับปรุงคุณภาพให้สูงขึ้นเพื่อสนองตอบพระดำริมีคุณของพระองค์ท่านแต่อย่างไร...."
หาเปรียบในทำนองเดียวกัน ก็น่าจะเป็นข้อเตือนสติอะไรเล็กๆน้อยๆได้บ้าง


๒. บ้านเขาเมืองเรา : เหลียวหลังแลหน้า - เมื่อรากหญ้าอ่านข้อความระหว่างบรรทัด
ดร.ไสว บุญมา
นำมาจาก หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 3 ธันวาคม 2547

ในช่วงนี้มีงาน "เหลียวหลัง แลหน้า" เกิดขึ้นติดๆ กัน แต่ละงานยิ่งใหญ่ การสัมมนาวิชาการประจำปี 2547 ของสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ชื่อว่า "เหลียวหลังแลหน้า: ยี่สิบปีเศรษฐกิจสังคมไทย" มีความยิ่งใหญ่ในแง่ของการมองเมืองไทยจากสายตาของปราชญ์ว่า เกิดอะไรในช่วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมา และจะเกิดอะไรในอีก 20 ปีข้างหน้า

ปราชญ์ส่วนหนึ่งเป็นผู้ที่สังคมไทยรู้จักดี เช่น ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ดร.สิปปนนท์ เกตุทัต และ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ อีกส่วนหนึ่งเป็นปราชญ์รุ่นใหม่ ซึ่งกำลังสร้างงานวิจัยหลากหลายด้าน การมองของปราชญ์เสริมด้วยสายตาของผู้เข้าร่วมงานอีกหลายร้อยคน ในรูปของการประชุมย่อย ดังที่ชื่อของการสัมมนาบ่งบอก สิ่งที่หายไปได้แก่ ด้านการเมือง แม้มันจะเป็นตัวแปรสำคัญของวิวัฒนาการเกือบทุกอย่าง

แม้ชื่อของงานจะมีส่วนคล้ายกับงานของรัฐบาล แต่บรรยากาศของ 2 งานนี้มีความต่างกัน ในงานของทีดีอาร์ไอ ไม่มีการเฉลิมฉลองเอิกเกริกทั้งที่เป็นงานครบรอบ 20 ปีของการก่อตั้งสถาบันแห่งนี้ นั่นคงสะท้อนถึงความแตกต่างระหว่างนักวิชาการกับนักการเมือง

การสัมมนาแบ่งออกเป็น 4 ส่วน โดยสองส่วนแรกเป็นงานของปราชญ์ และสองส่วนหลังเป็นการระดมสมองของผู้ร่วมงาน เนื้อหาของงานหลากหลาย ทีดีอาร์ไอพิมพ์รายงานอันมีค่าแจกล่วงหน้าเป็นจำนวนมาก ยกเว้นเนื้อหาของการอภิปรายโดย ดร.วีรพงษ์ ดร.สิปปนนท์ และ ดร.นิธิ ฉะนั้นจึงจะกล่าวถึงเฉพาะส่วนที่ 3 ปราชญ์นี้อภิปรายเท่านั้น

ดร.วีรพงษ์ พูดถึงด้านเศรษฐกิจสองประเด็นที่น่าสนใจเป็นพิเศษ เพราะไม่ค่อยมีผู้กล่าวถึงมาก่อน ประเด็นแรกเกี่ยวกับความอ่อนแอและความเข้มแข็งทางการเมือง ซึ่งเป็นปัจจัยทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 แต่ไม่เกิดเมื่อปี 2527 ซึ่งรัฐบาลมีความเข้มแข็ง จึงสามารถลดค่าเงินบาทได้เมื่อสถานการณ์บ่งบอก หากรัฐบาลในช่วงปี 2538-39 มีความเข้มแข็งเช่นเดียวกัน และสามารถลดค่าเงินบาทได้ นโยบายทุ่มเงินสำรองเพื่อปกป้องค่าเงินบาท และวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ก็ไม่เกิดขึ้น

ประเด็นนี้มีข้อความระหว่างบรรทัดหลายอย่าง สองอย่างดูจะมีนัยสำคัญที่สุด อย่างแรก การเลือกตั้งครั้งหน้าควรจะได้รัฐบาลที่เข้มแข็ง นั่นคงหมายถึงพรรคใดพรรคหนึ่งชนะการเลือกตั้งอย่างเด็ดขาด อาจเป็น 400 เสียง อย่างที่สอง รัฐบาลที่เข้มแข็งจะต้องเอาผลประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่ผลประโยชน์ของนักการเมือง และพวกพ้อง ดังที่เป็นข้อวิพากษ์อย่างกว้างขวางอยู่ในปัจจุบัน

รัฐบาลที่เข้มแข็งเป็นดาบ 2 คม มีโอกาสพาชาติไปสู่ความรุ่งเรืองและความล่มจมได้พอๆ กัน เฟอร์ดินันด์ มาร์คอส ของฟิลิปปินส์ เป็นอุทาหรณ์ที่ดี ในกรณีของเมืองไทย รัฐบาลที่ไม่มีใครสามารถถ่วงดุลอำนาจได้จะพาชาติไปสู่ความล้มเหลวมากกว่าความรุ่งเรือง

ประเด็นที่ 2 แม้การพัฒนาในอดีตจะก่อให้เกิดช่องว่างที่กว้างขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างผู้มีรายสูง และผู้มีรายได้ต่ำ แต่ช่องว่างระหว่างคน 2 กลุ่มนี้แคบลงในด้านการบริโภค ข้อความระหว่างบรรทัดในที่นี้คือ สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นดี เพราะผู้ที่ได้ส่วนจากการพัฒนาไม่มากนัก ก็สามารถบริโภคได้คล้ายกับผู้ที่ได้รับผลของการพัฒนาไปเกือบทั้งหมด แต่ในขณะเดียวกันยังมีข้อความระหว่างบรรทัดอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งชี้ว่า ผู้มีรายได้ต่ำพยายามบริโภคเยี่ยงผู้ที่มีรายได้สูง การบริโภคเช่นนั้นเกิดขึ้นได้เพราะการกู้หนี้ยืมสิน ปัญหาหนี้เน่าจึงเป็นข่าวอยู่ไม่ขาด และยังมีอีกปัญหาหนึ่งซึ่งไม่ค่อยเป็นข่าวนัก นั่นคือ การขายของเก่ากิน โดยเฉพาะไร่นาซึ่งปู่ ย่า ตา ยาย สะสมไว้แต่ครั้งเก่าก่อน

ดร.สิปปนนท์ พูดถึงด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ซึ่งสื่อดูจะไม่ให้ความสำคัญเท่าไรนัก ข้อความระหว่างบรรทัดมีมาก โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับป่าและทรัพยากรพลังงาน เช่น น้ำมันปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ การขยายตัวของจีดีพี และการกินดีอยู่ดีอันเกิดจากการตัดไม้ทำลายป่า และการขุดเอาทรัพยากรใต้ดินขึ้นมาเผานั้น เป็นเพียงภาพลวงตาเพราะการกินดีอยู่ดีจากปัจจัยเช่นนี้ เปรียบเสมือนการรื้อเอาฝา และหลังคาบ้านมาทำฟืน ภาพลวงตานี้เป็นอีกลักษณะหนึ่งของการขายของเก่ากิน

ดร.สิปปนนท์ ไม่ได้ฟันธงลงไปอย่างแน่ชัดว่า ป่าของไทยยังลดลงต่อไปหรือไม่ แต่นั่นคงไม่สำคัญเท่ากับผลของการทำลายป่า และเผาพลังงาน เช่น ฝนแล้ง น้ำท่วมฉับพลัน มลพิษในอากาศ และภาวะเรือนกระจกที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ร้ายยิ่งไปกว่านั้นประชาชนส่วนน้อยเท่านั้นที่ตระหนักว่า ส่วนประกอบของตัวเลขจีดีพีที่สดสวยนั้น ประกอบด้วยส่วนที่ลวงตาจำนวนมาก นอกจากการเผาป่าและน้ำมัน พวกเขาจึงไม่เข้าใจว่า การมีกินวันนี้คือการไม่มีบ้านอยู่ในวันหน้า

ดร.นิธิ พูดถึงด้านสังคม ซึ่งมีประเด็นน่าสนใจไม่น้อยกว่ากัน ข้อความระหว่างบรรทัดมีมาก และที่เกี่ยวกับ 2 ประเด็น ดูจะมีความสำคัญยิ่ง ประเด็นแรกเป็นการหดหายไปของที่โล่งซึ่งชุมชนเคยใช้ร่วมกัน เช่น ลานวัดและสนามโรงเรียน พร้อมกันนั้นคนไทยก็ปลีกตัวออกไปอยู่ในบ้าน หรือป้อมปราการของตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ วิวัฒนาการเช่นนี้เสริมทัศนคติแนว "ธุระไม่ใช่" ให้แกร่งขึ้นอีก การปกครองระบอบประชาธิปไตยของไทยต้องง่อยเปลี้ยเพราะทัศนคติแนวนี้

อีกประเด็นเกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย ซึ่งตอนนี้มีน้อยมาก เพราะราว 10% ของผู้กระทำผิดเท่านั้นถูกจับได้ ดร.นิธิเรียกร้องให้มีการปฏิรูปตำรวจ นั่นมีความจำเป็นแต่จะปฏิรูปตำรวจสักเท่าไรคงไร้ผลหากคนไทยไม่เคารพกฎหมาย ไม่ต้องดูอะไรมาก หากจะจับผู้ขับมอเตอร์ไซค์ และรถยนต์ย้อนลูกศรเพียงอย่างเดียว เราคงต้องเพิ่มตำรวจจราจรอีกหลายเท่าตัว นอกจากจะไม่ค่อยเคารพกฎหมายแล้ว โดยทั่วไปคนไทยยังไม่ค่อยเคารพกฎเกณฑ์ด้านศีลธรรมจรรยา และด้านความเหมาะสม การไม่เคารพกฎเกณฑ์ของสังคมเป็นดัชนีชี้บ่งความด้อยพัฒนาทางด้านจิตใจ

การสัมมนาดูจะมีความคาดหวังว่า ในอีก 20 ปีข้างหน้า ปัจจัยต่างๆ จะทำให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่การพัฒนาที่คล้ายประเทศที่พัฒนาแล้ว และคนไทยจะมีคุณลักษณะคล้ายคนในประเทศเหล่านั้นด้วย

ผู้อยู่ในระดับรากหญ้าคนหนึ่ง ซึ่งเพิ่งกลับจากการเยือนออสเตรเลียฟันธงว่า "ต่อให้คุณตายแล้วเกิดใหม่อีก 10 ชาติ คุณก็จะไม่เห็นคนไทยเป็นเช่นนั้น" เขาประเมินเรื่องนี้จากการขายไข่ในชนบทของออสเตรเลีย ซึ่งมีไข่และกระปุกใส่สตางค์วางอยู่บนรถเข็น แต่ไม่มีคนเฝ้า เขาบอกว่า หากเป็นบ้านเราทั้งเงิน รถและไข่ จะอันตรธานไปในเวลาอันสั้น นั่นอาจเป็นการประเมินที่ค่อนข้างจะโหดร้ายไปสักหน่อย

ในฐานะผู้อยู่ในระดับรากหญ้าด้วยกัน เมื่อนำสิ่งที่ได้จากการสัมมนา รวมทั้งสิ่งที่ปราชญ์ละไว้ในระหว่างบรรทัดจำนวนมาก มารวมเข้ากับสิ่งอื่นซึ่งกำลังเกิดขึ้นรอบๆ ตัว อย่าว่าแต่จะก้าวไปเป็นประเทศพัฒนากับเขาใน 20 ปีเลย หากเมืองไทยสามารถเลี่ยงวิกฤติใหญ่ๆ ได้ภายใน 10 ปีข้างหน้า ก็ควรจะถือว่า นั่นเป็นโชคดีมหาศาลแล้ว

 

 

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 500 เรื่อง หนากว่า 6000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com


 

 

 

 

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจ หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนคลิกูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ : มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
H

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 500 เรื่อง หนากว่า 6000 หน้า ในรูปของ CD-ROM ในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง) สนใจสั่งซื้อได้ที่ e-mail address midnightuniv(at)yahoo.com / midnight2545(at)yahoo.com หรือ ส่งธนาณัติถึง ...สมเกียรติ ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202 กรุณาส่งธนาณัติไปยัง สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50202

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งาน
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจท่านใด ประสงค์ที่จะนำเสนอบทความบนเว็ปไซต์แห่งนี้ ส่งมาได้ทุกวันที่ midnight2545(at)yahoo.com
ผลงานภาพประกอบดัดแปลงด้านซ้าย ใช้ประกอบบทความบริการฟรีของ เว็ปไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็ปเพจ ดูแลคุณภาพโดยกองบรรณาธิการ
The Midnight University : The Non-mainstream Higher Education : 16th January 2005 : midnightuniv(at)yahoo.com
ข้อความข้างต้น มิได้อยากวิพากษ์วิจารณ์ แต่ต้องการสะท้อนบรรยากาศทาง "ปัญญา"ของสังคมที่มันดูแปลกๆ หากมีสิ่งที่เรียกว่า "ปัญญา" อยู่จริง และไม่อยากให้เกิดบรรยากาศทางวิชาการเช่นนี้ "ปัญญา"ที่แท้ น่าจะเป็นปัญญาที่มาแก้ปัญหาของผู้คน มากกว่าปัญญาที่เกิดจากการคิดตามๆกันไป ซึ่งหากเป็นเช่นนี้นับว่าอันตรายอย่างยิ่งต่อสังคมไทย

"นิธิ"ตั้งคำถามต่อมาว่า "คนไทยจะหลับนอนที่ไหน" คำตอบคือบ้าน แต่บ้านของตัวเองจะปลูกสร้างด้วยวัสดุที่คงทนถาวรมากขึ้น โดยหยิบยกสถิติการปลูกบ้านในทุกภาค มีสัดส่วนเท่ากันคือ 90% ปลูกบ้านใหม่ด้วยสิ่งคงทนถาวร จะไม่มีการเก็บ Public Space กล่าวคือคนไทยจะถอยเข้าสู่ "ปราการ"ส่วนตัวมากขึ้น เพราะ Public Space หายไป เราไม่ได้สร้างพื้นที่สาธารณะไว้ เรามีน้อยมาก เดิมทีเรามีวัด แต่ขณะนี้ความเป็นสาธารณะน้อยลง คนไทยไม่มีพื้นที่สาธารณะสำหรับใช้สอย และสร้างปราการด้วย

คำถามก็คือทำไมอิทธิพล "นิธิ"จึงมีมากในวงสัมมนาเช่นนี้ ด้านหนึ่งไม่อาจปฏิเสธได้ว่า "นิธิ"เป็นปราชญ์ทางสังคมที่ยิ่งใหญ่ในยุคนี้ และมีการวิเคราะห์สังคมได้อย่างลึกซึ้งยากจะหาใครเทียบได้ แต่อีกด้านหนึ่งก็น่าแปลกว่า ทำไมดูเหมือนประหนึ่งว่าองค์ความรู้ทั้งมวลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และสังคมไทย มาถึงจุดสูงสุดเสียแล้ว เหมือนกับ "ความรู้" หยุดนิ่งตรง "นิธิ" นี่เอง ทั้งๆที่สังคมเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ (ผมได้ยินคนวิจารณ์ว่า "นิธิ"เป็นพวก Historism ผมไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร ใครรู้ช่วยบอกที)