R
relate topic
160148
release date
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 508 หัวเรื่อง
การต่อต้านกระแสโลกาภิวัตน์
วัชรพล พุทธรักษา
นิสิตปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
The Midnight 's article
เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะ
สามารถแก้ปัญหาได้
midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com

คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

Anti-Globalization Movements
ขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านโลกาภิวัตน์
วัชรพล พุทธรักษา
นิสิตปริญญาโทภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สมาชิกมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาวิชา องค์กรนอกภาครัฐในกระบวนการกำหนดนโยบาย
ภาคการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2547 ภาควิชาการปกครอง
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 17 หน้ากระดาษ A4)

 

ขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านโลกาภิวัตน์ หรือในอีกหลายๆชื่อไม่ว่าจะเป็นขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านบรรษัทนิยม หรือขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านระบบทุนนิยม เป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมระดับโลกที่มีความแตกต่างหลากหลายอย่างมาก และมีความน่าสนใจอย่างยิ่ง

บทความชิ้นนี้ มุ่งนำเสนอข้อมูลเบื้องต้นในภาพรวมเกี่ยวกับขบวนการเคลื่อนไหวดังกล่าวว่า ขบวนการเคลื่อนไหวนี้ถือกำเนิดขึ้นมาได้อย่างไร เราจะสามารถจำแนกประเภทที่แตกต่างกันของขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านโลกาภิวัตน์นี้ได้กี่ประเภท อะไรบ้าง และขบวนการเหล่านี้มีจุดมุ่งหมายในการเคลื่อนไหว ค่านิยมหรืออุดมการณ์ร่วมกันอย่างไร, มีการจัดองค์กรหรือการรวบรวมสมาชิกได้โดยวิธีไหน, และมีข้อวิพากษ์วิจารณ์ต่อขบวนการเคลื่อนไหวนี้อย่างไรบ้าง นอกจากนี้ ยังได้นำเสนอเหตุการณ์การเคลื่อนไหวที่สำคัญที่เกิดขึ้นโดยสังเขปอีกด้วย


บทนำ
ขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านโลกาภิวัตน์ (Anti-Globalization Movement) เป็นทัศนคติทางการเมืองอย่างหนึ่ง ของผู้ที่มีมุมมองด้านลบต่อกระแสโลกาภิวัตน์ เป็นความพยายามในระดับรากหญ้า โดยได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นปัญญาชนจำนวนหนึ่ง

ขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านโลกาภิวัตน์ เป็นขบวนการเคลื่อนไหวที่มีลักษณะของความแตกต่างหลากหลายเป็นอย่างมาก นอกจากเราจะเรียกขบวนการเคลื่อนไหวตามชื่อดังกล่าวแล้ว เรายังสามารถเรียกขบวนการเคลื่อนไหวนี้ได้ในอีกหลายๆชื่อ เช่น ในความคิดเห็นของ Susan George ในงานสมัชชาสังคมโลกครั้งแรก ที่ประเทศบราซิล ในปี ค.ศ. 2001 เรียกขบวนการเคลื่อนไหวที่มาร่วมกันในงานนี้ว่า "Pro-Globalization" เพราะพวกเรา ได้มาร่วมกันแลกเปลี่ยนมิตรภาพ ความเป็นปึกแผ่น ความมั่งคั่ง และทรัพยากร ซึ่งกันและกัน

Alex Callinicos มีความเห็นว่าควรที่จะเรียกขบวนการเคลื่อนไหวประเภทนี้ว่า "Anti-Capitalist" มากที่สุด ทั้งนี้เพราะนักเคลื่อนไหวส่วนใหญ่ มีความคิด/ความต้องการที่คิดว่าสามารถเปลี่ยนแปลงระบบทุนนิยมร่วมกันได้นั่นเอง ขณะที่ในงานของ Amory Starr เห็นว่าควรจะเรียกว่า ขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านบรรษัทนิยม (Anti-Corporate Movement) มากกว่า

นอกจากนี้ Giovanni Arghi, Terence Hopkins และ Immanuel Wallerstein ได้เรียกขบวนการเคลื่อนไหวนี้ว่า "Anti-Systemic Movement" เพราะพวกเข้ามีความเห็นว่าขบวนการเคลื่อนไหวดังกล่าว มิได้มีลักษณะของการรณรงค์ที่เป็นประเด็นเฉพาะของผู้เรียกร้องแต่อย่างใด แต่ขบวนการเคลื่อนไหวนี้เกิดขึ้นโดยมีเหตุจูงใจร่วมกันในลักษณะที่มีความหลากหลายเป็นอย่างมาก เช่น มีการเรียกร้องในประเด็นเรื่องการค้าเสรี, เรื่องสิ่งแวดล้อม, เรื่องหนี้สินของประเทศในโลกที่สาม เป็นต้น

การเกิดขึ้นของขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านโลกาภิวัตน์ เป็นเหตุมาจากผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ "Neo-Liberalism" ที่เริ่มกำเนิดขึ้นนับตั้งแต่การสิ้นสุดลงไปของระบอบคอมมิวนิสต์ในช่วงคริสตทศวรรษ 1990 และปัจจัยสำคัญที่ทำให้ภาพของเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมชัดเจนมากขึ้น เป็นผลมาจาก "ฉันทามติวอชิงตัน" (Washington Consensus)

สำหรับฉันทามติวอชิงตัน มีผลในทางนโยบายต่อผู้นำ/ผู้บริหารทั่วโลกไม่น้อยกว่า 10 เรื่องด้วยกัน ดังที่ยอมรับร่วมกันว่าเป็น "วาระแห่งเสรีนิยมใหม่" (Neo-Liberal Agenda) ซึ่งมีผลต่อเรื่องต่างๆไม่ว่าจะเป็น วินัยทางการคลัง (Fiscal discipline), การให้ความสนใจเป็นพิเศษในเรื่องรายจ่ายสาธารณะ (Public expenditure priority), การปฏิรูประบบภาษี (Tax reform), การเปิดเสรีทางการเงิน (Financial liberalization), อัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่คงที่ (Competitive exchange rate), การเปิดเสรีทางการค้า (Trade liberalization), การลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (Foreign direct investment), การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ (Privatization), การยกเลิกการควบคุมราคา (Deregulation) และสิทธิในที่ดิน (Property rights)

ผลจากนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่นี้ส่งผลกระทบไปทั่วโลก เมื่อปรากฏว่าระบบ เสรีนิยม/ทุนนิยม เป็นระบบที่ก่อให้เกิดการกระจายรายได้ที่ไม่เท่าเทียมกัน เกิดการเอารัดเอาเปรียบกันระหว่างผู้ที่มีทุนมากกว่า กับ ผู้ที่มีน้อยกว่า/ผู้ที่ไม่มีทุนเลย ซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหาทางสังคมตามมาอย่างมากไม่ว่าจะเป็นปัญหาความยากจน, ความเหลื่อมล้ำทางสังคม, ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ความเด่นชัดของการเกิดขึ้นของขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านโลกาภิวัตน์ ปรากฏขึ้นจากเหตุการณ์ที่ Seattle ในปี ค.ศ. 1999 ในการประชุม WTO เพื่อกำหนดรอบเจรจาการค้าใหม่ โดยมีวาระสำคัญอย่างยิ่งในเรื่องการเปิดเสรีทางการค้าและบริการ

การประชุม WTO ในรอบนี้ได้เกิดการชุมนุมประท้วงจากผู้เข้าร่วมขบวนมากกว่า 40,000 คน โดยมีผู้เข้าร่วมชุมนุมหลักจากองค์กรแรงงานแห่งอเมริกา (เช่น ผู้ขับรถบรรทุก, กรรมกรท่าเรือ, ช่างเครื่องในโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น) นอกจากนี้ยังประกอบไปด้วยกลุ่ม NGOs จำนวนมากและกลุ่มนักกิจกรรมที่ทำการรณรงค์ในประเด็นต่างๆ เช่น เรื่องสิ่งแวดล้อม, การค้าที่เป็นธรรม, ประเทศลูกหนี้ในโลกที่สามฯลฯ

ด้วยจำนวนและความแข็งแกร่งของผู้ร่วมชุมนุมประท้วงในครั้งนี้ ได้ก่อให้เกิดการส่งเสริมให้ตัวแทนจากประเทศโลกที่สามได้มีที่ยืนต่อสู้กับประเทศมหาอำนาจ ที่เอาเปรียบประเทศที่ไร้ทางสู้ได้ ด้วยเหตุนี้การประชุม WTO ในรอบนี้จึงได้ถูกระงับไป และระบบเสรีนิยมใหม่ อย่างน้อยก็ถูกทำให้หยุดไปชั่วขณะหนึ่ง. เหตุการณ์การประท้วงที่ประสบความสำเร็จที่ Seattle ได้ช่วยให้ "ความมั่นใจ" กับประชาชนนับล้านคนทั่วโลก ในการที่จะเผชิญกับเสรีนิยมใหม่ต่อไป

ลักษณะหนึ่งของโลกาภิวัตน์ ก็คือ การเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วของการประชุมทางเศรษฐกิจต่างๆ เช่น G8, IMF, EU, APEC, FTAA เป็นต้น แต่ทั้งนี้การประท้วงก็เกิดขึ้นอย่างแพร่กระจายไปทั่วเช่นกัน เช่น การประท้วงที่ Washington (16 April 2000), Millau (30 June 2000), Melbourne (11 September 2000), Prague (26 September 2000), Seoul (10 October 2000), Nice (6-7 December 2000), Washington (อีกครั้ง 20 January 2001), Quebec City (20-1 April 2001), Gothenburg (14-16 June 2001), Genoa (20-1 July 2001) เป็นต้น

ซึ่งการประท้วงที่ Genoa ถือได้ว่าเป็นจุดสูงสุดของการประท้วงขนาดใหญ่ ทีมีต่อการประชุม G8 เมื่อตำรวจปราบจราจลได้ใช้ความรุนแรงในการสลายผู้ชุมนุม อันเป็นเหตุให้เยาวชนท้องถิ่นคนหนึ่งต้องถูกยิง. ภายหลังเหตุการณ์ที่ Genoa ขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านทุนนิยม/โลกาภิวัตน์ ก็เริ่มชัดเจนมากขึ้นเรื่อยมา

ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นว่าขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านโลกาภิวัตน์นี้มีความหลากหลายเป็นอย่างมาก ซึ่งสามารถจำแนกตามแนวความคิดของ Alex Callinicos ได้ 6 ประเภทดังต่อไปนี้ (Callinicos เห็นว่าควรจะเรียกขบวนการเคลื่อนไหวดังกล่าวว่า "Anti-Capitalism" ดังนั้น การจำแนกในส่วนนี้จึงขอใช้คำว่า "Anti-Capitalism" แทนคำว่า "Anti-Globalization")

1) Reactionary anti-capitalism
ขบวนการเคลื่อนไหวประเภทนี้เป็นขบวนการเคลื่อนไหวของพวกฝ่ายขวา ที่มองว่าขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านทุนนิยมเสรี ควรที่จะพัฒนาไปในทาง "มืออาชีพ" ที่ใช้วิธีการลอบบี้ และให้คำปรึกษากับทางภาครัฐ หรือพรรคการเมืองกระแสหลัก เพื่อให้องค์กรเหล่า ยอมรับข้อเสนอของภาคประชาชน/ประชาสังคม และพวกฝ่ายขวา มักเสนอให้ลดบทบาทของเวทีมวลชนใหญ่ๆลง ไม่ควรจัดงานถี่เกินไป

2) Bourgeois anti-capitalism
ขบวนการเคลื่อนไหวประเภทนี้ ยอมรับระบบเสรีนิยมใหม่โดยอ้างว่า ระบบทุนนิยมตลาด สามารถแก้ปัญหาของมนุษยชาติได้ แต่ก็มีข้อโต้แย้งอยู่บ้างว่าระบบเสรีนิยม ควรจะต้องรับฟัง และตอบสนองต่อข้อวิจารณ์/ข้อเรียกร้องต่อ "ประชาสังคม" ด้วย

3) Localist anti-capitalism
ขบวนการเคลื่อนไหวประเภทนี้พยายามที่จะพัฒนาความสัมพันธ์ในระดับย่อย ระหว่าง"ผู้ผลิต"กับ"ผู้บริโภค" อันจะนำไปสู่ความยุติธรรมทางสังคม และมีเศรษฐกิจที่มีความพอเพียงในตัวเอง ดังนั้น จึงยังคงยอมรับระบบตลาดในการทำหน้าที่เท่าที่เหมาะสม

4) Reformist anti-capitalism
ขบวนการเคลื่อนไหวประเภทนี้สนับสนุนให้หันกลับไปใช้ระบบทุนนิยมแบบเข้มงวด (เต็มไปด้วยกฎระเบียบ/ข้อบังคับจากรัฐ) เช่นที่เคยใช้มาในยุคหลังสงคราม ตลอดจนสนับสนุนให้มีการเปลี่ยนแปลงในระดับนานาชาติ/ที่เป็นสากล (ตัวอย่างเช่น Tobin tax) ซึ่งจะเป็นการกลับไปสู่การมีอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างเข้มแข็งของรัฐชาติ

5) Autonomist anti-capitalism
ขบวนการเคลื่อนไหวประเภทนี้ ให้ความสนใจในเรื่องรูปแบบการกระจายอำนาจของเครือข่าย การรวบรวมกลยุทธ์ของขบวนการเคลื่อนไหวที่ให้ความสำคัญกับเรื่องศีลธรรม ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้เกิดทางเลือกอื่น นอกเหนือจากทุนนิยมได้

6) Socialist anti-capitalism
ขบวนการเคลื่อนไหวประเภทนี้เห็นว่า หนทางเดียวที่จะเป็นทางเลือกนอกจากทุนนิยมได้นั่นคือ การใช้ระบบเศรษฐกกิจแบบวางแผนที่เป็นประชาธิปไตย

ขณะที่ Alex Callinicos มองว่าสามารถจำแนกประเภทของขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านโลกาภิวัตน์ได้เป็น 6ประเภทดังกล่าวมาแล้ว ตามทัศนะของ Amory Starr มองว่าสามารถจำแนกขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านโลกาภิวัตน์ออกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆด้วยกัน ดังตารางต่อไปนี้

ที่มา: Amory Starr(2001), p149.

Starr ได้จำแนกขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านโลกาภิวัตน์ออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ด้วยกัน ได้แก่ กลุ่มแรกคือ Contestation and Reform กลุ่มที่สองคือ Globalization from below และอีกกลุ่มคือ Delinking/Relocalization ซึ่งในแต่ละกลุ่ม Starr ก็ยังจำแนกเป็นขบวนการต่างๆย่อยลงไปอีกด้วย

1. Contestation and Reform
ขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านโลกาภิวัตน์ในกลุ่มนี้ตามแนวคิดของ Starr ประกอบไปด้วย ขบวนการเคลื่อนไหวที่มุ่งต่อสู้เพื่อแก้ไขในระดับโครงสร้าง, กลุ่มเพี่อสันติภาพและสิทธิมนุษยชน, กลุ่มที่เรียกร้องให้มีการปฏิรูปที่ดิน, กลุ่มที่ต่อต้านบรรษัทนิยมอย่างชัดแจ้ง

ขบวนการเคลื่อนไหวในกลุ่มนี้ มีความพยายามที่จะเข้าไปจัดการให้รัฐบาลแห่งขาติ สามารถที่จะเข้าไปมีบทบาทในการบังคับบรรษัทต่างๆได้ เพื่อให้กิจกรรมต่างๆของบรรษัทขนาดใหญ่ มีประสิทธิภาพ และได้รับการยอมรับจากประชาชนด้วย

ขณะที่บางขบวนการเคลื่อนไหว เช่น ขบวนการเคลื่อนไหวที่ต่อต้านบรรษัทนิยมอย่างชัดแจ้ง ดูเหมือนว่าจะมีลักษณะของความเพ้อฝัน/จินตนาการอยู่มาก กล่าวคือ ขบวนการเคลื่อนไหวดังกล่าว ปรารถนาที่จะให้ผู้คนในประเทศโลกที่หนึ่ง นอกจากจะสามารถยกระดับมาตรฐานชีวิตของตนเองได้ มีการบริโภค และเทคโนโลยีที่ดี แต่ขณะเดียวกันก็ช่วยบรรเทาหนี้สินของประเทศโลกที่สามไปด้วย, ช่วยทำลายระบบทหาร, ช่วยเหลือแรงงานในประเทศโลกที่สาม จากสภาพการทำงานที่ถูกเอาเปรียบอย่างมาก เป็นต้น

2. Globalization from below
ขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านโลกาภิวัตน์ในกลุ่มนี้ Starr ได้จำแนกเป็นขบวนการต่างๆได้แก่ กลุ่มที่เรียกร้องเรื่องสิ่งแวดล้อม, แรงงาน, สังคมนิยม, กลุ่มต่อต้าน FTA และซาปาติสตา ขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านโลกาภิวัตน์ในกลุ่มนี้มีการจัดตั้งขึ้นอย่างมีความหมายในฐานะที่เป็นรูปแบบสากลนิยมในรูปแบบใหม่

กลุ่มซาปาติสตามีความกล้าในการกระตุ้น เพื่อก่อให้เกิดพันธมิตรขึ้นระหว่างประเทศโลกที่หนึ่งกับชาวโลกที่สี่คือกลุ่มชนพื้นเมืองดั้งเดิม ซึ่งซาปาติสตาได้รับการสนับสนุนจากชาวชุมชนพื้นเมืองดั้งเดิมทั้งหมดในละตินอเมริกา และซาปาติสตา ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าความยั่งยืน, ความมีมนุษยธรรม และการมีชุมชนท้องถิ่นที่เป็นอิสระและเป็นประชาธิปไตย สามารถสร้างขึ้นได้

แต่รูปแบบสากลนิยมใหม่ของขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านโลกาภิวัตน์ในกลุ่มนี้ มิได้หมายความว่า จะได้รับการสนับสนุนจากชาวพื้นเมืองดั้งเดิมแต่เพียงเท่า ขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้าน FTA ได้แสดงให้เห็นว่าขบวนการของตน มีฐานสนับสนุนที่แข็งแกร่งจากทั้งนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ และจากนักกิจกรรมที่มีประสบการณ์ ในการท้าทายต่อธนาคารโลกและไอเอ็มเอฟมาแล้ว

มุมมองเกี่ยวกับโลกาภิวัตน์จากเบื้องล่างของสังคม ยังคงเป็นสิ่งที่ยังค้นหาทางออก/ค้นหาคำตอบอยู่ต่อไป ทั้งนี้เป็นเพราะว่ายังมีคำถามที่ไม่มีคำตอบอยู่อีกเป็นจำนวนมาก เช่น โลกาภิวัตน์จากเบื้องล่างของสังคม จะถูกจัดตั้ง/รวบรวม/สร้าง ขึ้นมาได้อย่างไร, รูปแบบที่เป็นเอกภาพของโลกาภิวัตน์จากเบื้องล่างของสังคม ควรจะเป็นอย่างไร, จะสามารถหลีกเลี่ยงระบบราชการได้อย่างไร และจะสามารถจัดการกับความแตกต่างหลากหลายได้อย่างไร คำถามเหล่านี้ ยังต้องค้นหาคำตอบกันต่อไป

3. Delinking/Relocalization
ขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านโลกาภิวัตน์บางขบวนการตามกลุ่มนี้ เช่น กลุ่มที่ต้องการการพัฒนาที่ยั่งยืน, กลุ่มชาตินิยมศาสนา, กลุ่มเคลื่อนไหวของธุรกิจขนาดเล็ก เป็นต้น

- กลุ่มที่ต้องการการพัฒนาที่ยั่งยืน มองว่าบรรษัทนิยม โดยบรรษัทขนาดใหญ่ ไม่มีความชอบธรรม และต้องการจะตัดขาดการเชื่อมโยงและไม่มีพื้นที่ให้สำหรับบรรษัทต่างๆในโลกของคนกลุ่มนี้

- กลุ่มขบวนการเคลื่อนไหวชาตินิยมศาสนา ให้ความสำคัญกับเรื่องของศีลธรรม จริยธรรม และความรัก ความปรารถนาดีในชุมชน และปฏิเสธสิ่งดึงดูดใจจากภาวะสมัยใหม่ด้วย

- กลุ่มเคลื่อนไหวของธุรกิจขนาดเล็ก ต้องการต่อต้านทุนนิยมขนาดใหญ่ โดยอาศัยศีลธรรม/จริยธรรมในการต่อสู้ และมุ่งต่อสู้ด้วยความสะดวกสบายในการบริโภค ด้วยราคาที่ถูก และปฏิเสธความชอบธรรมของบรรษัทขนาดใหญ่

อุดมการณ์และค่านิยมร่วมของขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านโลกาภิวัตน์ (Ideology and Value)
ค่านิยมและเป้าหมาย
ขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านโลกาภิวัตน์ต่างๆนี้ แม้ว่าจะมีความแตกต่างหลากหลายกันในทางอุดมการณ์ก็ตาม แต่ก็มีจุดมุ่งหมายหรือค่านิยมร่วมกัน ที่ปรารถนาจะให้เกิดขึ้นในสังคมโลกตามทัศนะของ Callinicos ซึ่งมี 4 ประการด้วยกันคือ

1) ความยุติธรรม (Justice)
2) ความมีประสิทธิภาพ (Efficiency)
3) ความเป็นประชาธิปไตย (Democracy)
4) ความยั่งยืน (Sustainability)

1) ความยุติธรรม (Justice)
ในเรื่องความยุติธรรมในสังคม Callinicos เห็นว่าเป็นเป้าหมายที่สำคัญมากของขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านโลกาภิวัตน์ ซึ่งในที่นี้ Callininicos มองว่าความยุติธรรม ควรประกอบไปด้วย เสรีภาพ(Liberty), ความเสมอภาค(Equality) และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน(Solidarity) ถ้าในสังคมสามารถตอบสนองปัจจัยทั้ง 3 ประการนี้แก่ปัจเจกชนส่วนใหญ่ได้ ความยุติธรรมในสังคมก็จะเกิดขึ้น

2) ความมีประสิทธิภาพ (Efficiency)
ความมีประสิทธิภาพของระบบเศรษฐกิจ ที่จะสามารถทำการผลิตได้อย่างเต็มที่ โดยมีความสามารถในการจัดสรร/การกระจายทรัพยากร/ผลผลิต ไปได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกันในสังคมได้ด้วย

3) ความเป็นประชาธิปไตย (Democracy)
สิ่งสำคัญอย่างยิ่งประการหนึ่ง ซึ่งขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านโลกาภิวัตน์ต้องการอย่างมากนั่นก็คือ "ประชาธิปไตย" ที่มีการกระจายอำนาจในการปกครอง/การตัดสินใจ ให้สามารถปกครองตนเอง เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มตนได้อย่างครบถ้วนที่สุด ขณะเดียวกันก็ต้องการให้การเมืองในระดับชาติ มีความเป็นประชาธิปไตย คือยึดหลักการคำนึงถึงประโยชน์ของประชชาชนส่วนรวมเป็นหลัก มีความรับผิดชอบ โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้เป็นต้น

4) ความยั่งยืน (Sustainability)
Callinicos ได้อ้างข้อสังเกตจาก Bellamy Foster ว่าการพัฒนาที่ยั่งยืน ควรที่จะต้องมีเงื่อนไขอย่างน้อย 3 ด้วยกันได้แก่

- อัตราการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่ผลิตขึ้นใหม่ได้ ต้องอยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้เมื่อเทียบกับอัตราการผลิตใหม่ของทรัพยากร ๆ
- อัตราการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่ผลิตขึ้นใหม่ไม่ได้ ต้องไม่เกินไปจากทรัพยากรที่มีอยู่
- มลภาวะ และที่อยู่อาศัยของพืชและสัตว์ ต้องไม่ถูกทำลายมากไปกว่าความสามารถในการปรับตัวของสิ่งแวดล้อม

ในเรื่องของความยั่งยืนถือเป็นอีกเป้าหมายที่สำคัญของขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านโลกาภิวัตน์ ทั้งนี้เพื่อการมีสภาพชีวิต ความเป็นอยู่ของปัจเจกบุคคลที่ดี รวมไปถึงลูกหลานในอนาคตอีกด้วย

อุดมการณ์และเหตุผลของขบวนการเคลื่อนไหว
เนื่องจากขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านโลกาภิวัตน์ มีลักษณะของความแตกต่างหลากหลายเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของแรงงาน, ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อม, ความปลอดภัยทางโภชนาการ, พันธุวิศวกรรม ฯลฯ

ดังนั้น ในด้านอุดมการณ์และเหตุผลในการเคลื่อนไหวของขบวนการ จึงย่อมมีความแตกต่างหลากหลายออกไปเป็นธรรมดา เหตุผลและอุดมการณ์ของแต่ละขบวนการ บางครั้งก็อาจจะเกื้อกูล และส่งเสริมต่อกัน แต่ในบางครั้งก็อาจจะขัดแย้งกันเองก็ได้เช่นกัน แต่ทั้งนี้ก็มิได้หมายความว่าแต่ละขบวนการ จะมีความแตกต่างทางอุดมการณ์อย่างสุดขั้วแต่อย่างใด ขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านโลกาภิวัตน์ อาจกล่าวได้ว่ามี อุดมการณ์และเหตุผลร่วมกันอยู่บางประการต่อไปนี้

ประการแรก การทำให้ท้องถิ่น ชุมชน ได้มีโอกาสในการตัดสินใจด้วยตนเอง
การมีอำนาจอธิปไตยของท้องถิ่น/ชุมชน นับเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่การปกป้อง คุ้มครองในประเด็นปัญหาอื่นๆของท้องถิ่นได้ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวัฒนธรรมชุมชน, การคุ้มครองระบบนิเวศวิทยาของท้องถิ่น เป็นต้น

ประการที่สอง เนื่องจากการค้าเสรีที่เป็นหนึ่งในกระแสโลกาภิวัตน์ ได้สร้างความเสื่อมให้กับทรัพยากรธรรมชาติในประเทศยากจนเป็นอันมาก เนื่องจากการเข้ามากอบโกยทรัพยากร โดยการย้านฐานการผลิตมายังประเทศด้อยพัฒนาโดยบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ (Multi/Trans National Corporation) ดังนั้น อุดมการณ์ร่วมที่เกิดขึ้นจึงได้แก่ การแก้ไขปัญหาการกอบโกยทรัพยากรดังกล่าว เช่น สโลแกนของผู้ประท้วงที่ว่า "People and planet before profits", "The Earth is not for sale" เป็นต้น

แต่ทั้งนี้เนื่องจากขบวนการเคลื่อนไหวดังกล่าว เป็นขบวนการเคลื่อนไหวสากล ที่มีความแตกต่างหลากหลายทั้งในด้านอุดมการณ์ และจุดมุ่งหมายเฉพาะ ดังนั้นแม้ว่าจะมีค่านิยม หรือจุดมุ่งหมายร่วมกันอยู่บ้างดังกล่าว ก็ต้องยอมรับความเป็นจริงของความแตกต่างหลากหลาย ดังที่ Marcos ได้ให้ความเห็นว่า "เป็นสิ่งจำเป็นที่เราจะต้องสร้างโลกอีกโลกหนึ่งขึ้นมา ซึ่งเป็นโลกที่มีที่ทางสำหรับโลกทุกใบ และเป็นโลกที่สามารถรวมเอาความแตกต่างจากโลกทุกใบมาไว้ร่วมกันได้"

การจัดองค์กร/การรวบรวมสมาชิก (Organization)
แม้ว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จะได้มีการมุ่งเน้นและให้ความสำคัญกับการสร้างทางเลือกจากระดับรากหญ้า (Grassroots alternatives) ที่มีต่อกระแสโลกาภิวัตน์ แต่ขบวนการเคลื่อนไหวส่วนใหญ่ และที่สามารถสังเกตเห็นได้ส่วนมาก ยังคงมีลักษณะของการจัดองค์กร/การรรวบรวมสมาชิกในลักษณะกระจายในวงกว้าง ผ่านการรณรงค์โดยตรง และการไม่เชื่อฟังรัฐของชุมชน

แนวการปฏิบัติเช่นนี้ภายใต้ชื่อ People's Global Action Network บางครั้งก็มีความพยายามที่จะผูกรวมเหตุผลอันแตกต่างหลากหลาย ของขบวนการเคลื่อนไหวต่างๆเข้าด้วยกันเป็นหนึ่งเดียว นั่นคือ เป็นการต่อสู้เพื่อโลกใบนี้ (Global Struggle) และการเปิดเผย/แสดงออกอย่างชัดเจนในเรื่องสาเหตุ/เป้าหมายของขบวนการเคลื่อนไหว เป็นสิ่งที่ดีที่ช่วยก่อให้เกิดสำนึกของความเป็นปึกแผ่น (Sense of solidarity) และยังจะเป็นการวางรากฐานสำหรับกระบวนการสร้างความสมานฉันท์ (Consensus process) อันเป็นพื้นฐานของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน (Basis of unity) อีกด้วย

การจัดองค์กรของขบวนการเคลื่อนไหว
แม้ว่าขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านโลกาภิวัตน์นี้ จะขาดรูปแบบการจัดองค์กรแบบเป็นทางการร่วมกัน แต่ขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านโลกาภิวัตน์ก็ประสบความสำเร็จใน การจัดการ/การจัดองค์กร ในการประท้วงขนาดใหญ่ได้ ทั้งนี้โดยอาศัย "เทคโนโลยีสารสนเทศ" (Information technology) ที่ทันสมัยในการช่วยแพร่กระจายข้อมูล ข่าวสาร และการรวบรวม/จัดระเบียบให้กับขบวนการเคลื่อนไหว

ผู้ประท้วง ได้จัดรวบรวม/จัดองค์กรของพวกเขาเองในลักษณะของการเป็น "กลุ่มที่ผูกพันใกล้ชิดกัน" (Affinity groups) ที่โดยทั่วไปแล้ว จะไม่มีลักษณะของสายการบังคับบัญชาแต่อย่างใด (Non-Hierarchy) และเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มคนที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน และมีเป้าหมาย หรืออุดมการณ์ทางการเมืองร่วมกัน

กลุ่มที่ผูกพันใกล้ชิดกันดังกล่าว จะมีการตั้งตัวแทนของกลุ่มในการร่างแผนการเพื่อพบปะ/ประชุมกัน แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากว่ากลุ่มในลักษณะนี้ มีลักษณะของการรวมตัวกันอย่างหลวมๆ ง่ายๆ จึงเป็นการง่ายที่จะถูกแทรกซึมเข้าไปในกลุ่มโดยเจ้าหน้าที่ของภาครัฐได้ ดังนั้น โดยส่วนใหญ่แล้วแผนการที่สำคัญๆ มักจะไม่ค่อยบังเกิดขึ้นจนกว่าจะถึงนาทีสุดท้ายที่จะเริ่มประท้วงแล้วนั่นเอง

กลยุทธ์ที่เป็นที่นิยมใช้ร่วมกันอันหนึ่งก็คือ การแบ่งกลุ่มผู้ประท้วงออกเป็นส่วนๆ โดยตั้งอยู่บนฐานคติของการตั้งใจที่จะละเมิด/ยับยั้งกฎหมาย ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ออกแบบมาเพื่อให้เป็นการลดความเสี่ยงจากทั้งทางกายภาพ และอันตรายจากอำนาจบังคับตามกฎหมายที่ต้องเผชิญหน้า

การเคลื่อนไหวของขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านโลกาภิวัตน์
ในส่วนนี้ ผู้เขียนได้นำเสนอถึงตัวอย่างเหตุการณ์การเคลื่อนไหว ของขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านโลกาภิวัตน์ที่ถือว่ามีความสำคัญ และเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป และได้สรุปเหตุการณ์การเคลื่อนไหวที่มีความสำคัญระหว่างปี ค.ศ. 1999 จนถึง ปี ค.ศ. 2003 เอาไว้โดยสังเขปดังนี้

- J18
การระดมการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ ครั้งแรกของขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านโลกาภิวัตน์ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน ค.ศ. 1999 โดยกลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านโลกาภิวัตน์ ได้มีการรวมตัวกันใน 12 เมืองใหญ่ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และที่ยูจีน มลรัฐโอเรกอน โดยผู้ประท้วงที่โอเรกอน ได้ก่อให้เกิดการจราจลขนาดย่อมๆโดยการขับไล่ตำรวจออกไปจากสวนสาธารณะโดยพวกอนาคิสต์ ซึ่งหนึ่งในแกนนำของพวกอนาคิสต์ Robert Thaxton ได้ถูกจับกุมตัวจากการทำร้ายร่างการเจ้าหน้าที่ตำรวจ จนถึงวันนี้ในปี ค.ศ. 2004 เขายังคงอยู่ในห้องขังเช่นเดิม

- Seattle/N30
การระดมพลการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ครั้งที่สองของขบวนการเคลื่อนไหว เป็นที่รู้จักกันในชื่อ "N30" ซึ่งเหตุการณ์นี้ได้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 30 กันยายน ค.ศ. 1999 โดยผู้ประท้วงได้ทำการขัดขวางการประชุมผู้แทน WTO ที่จัดขึ้นที่เมื่อง ซีแอทเทิล, สหรัฐอเมริกา. การประท้วงครั้งนี้ ได้มีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก โดยมีระยะเวลาการประท้วงไปจนถึงวันที่ 3 ธันวาคม ค.ศ.1999

ในการประท้วงข้างต้น ตำรวจปราบจราจลเมืองซีแอทเทิลร่วมกับกองกำลังป้องกันแห่งชาติ ได้โจมตีผู้ประท้วงด้วยอาวุธหลายอย่าง เช่น การใช้สเปรย์พริกไทย, แก๊สน้ำตา, กระสุนยาง เป็นต้น และได้มีผู้ประท้วงที่ถูกจับกุมมากกว่า 600 คน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ในการประท้วงยังก่อให้เกิดความเสียหายอื่นๆอีกเช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจเองก็ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก, ร้านค้าที่เป็นร้านสาขาขนาดใหญ่ ก็ตกเป็นเป้าโจมตีและทำลาย เช่น ร้านไนกี้, สตาร์บัคส์ เป็นต้น ด้วยความรุนแรงของเหตุการณ์ประท้วงนายกเทศมนตรีเมืองจึงได้ประกาศใช้กฎอัยการศึกเป็นการชั่วคราว

ในปี ค.ศ. 2002 เมืองซีแอทเทิลต้องจ่ายเงินไปมากกว่า 200,000 เหรียญให้กับการฟ้องร้องคดีเกี่ยวกับ การดำเนินงานของตำรวจเมืองซีแอทเทิล ที่ทำการจับกุมอย่างไม่ถูกต้อง, ไม่ยุติธรรม ซึ่งคดีก็ยังค้างคาอยู่จนทุกวันนี้

เนื่องจากจำนวนผู้ประท้วงที่ซีแอทเทิล มีมากอย่างน่าประหลาดใจ ดังนั้น ในเวลาต่อมาหลังจากการประท้วงครั้งนั้น หน่วยงานด้านการบังคับใช้กฎหมายทั่วโลก ก็ได้เริ่มมีท่าทีตอบโต้การประท้วงในการเตรียมการป้องกันความยุ่งยาก จากการประท้วงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ด้วยกลยุทธ์ที่หลากหลายยิ่งขึ้น และมีจำนวนผู้ประท้วงมากขึ้น โดยวิธีการแทรกซึมเข้าไปยังกลุ่มผู้ประท้วงเพื่อเข้าไปกำหนด/ชี้นำแผนการ/การเตรียมการของกลุ่ม เพื่อเป็นการขจัดผู้ประท้วงให้หมดไป

- Genoa
การประท้วงที่เจนัว จัดได้ว่าเป็นการประท้วงที่มีการนองเลือดมากที่สุด ในประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของยุโรป เป็นเหตุการณ์ที่มีผู้ประท้วงเสียชีวิตไปอย่างน้อย 3 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการถูกโจมตีจากเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกนับร้อยราย

การประท้วงที่เจนัวเป็นการประท้วงการประชุมของกลุ่มประเทศ G8 ช่วงระหว่างวันที่ 18-22 กรกฎาคม ปี ค.ศ. 2001 ที่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงอย่างมากนอกจากจะมีผู้ได้รับบาดเจ็บดังกล่าวแล้ว ยังมีผู้ถูกจับกุมภายใต้การบังคับใช้กฎหมายต่อต้านมาเฟีย และกฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายของอิตาลี อันมีผลให้มีผู้ถูกจับกุมเป็นจำนวนนับร้อยราย

การเคลื่อนไหวอื่นๆ
- Barcelona, Spain
ผู้คนส่วนใหญ่ เชื่อว่าการระดมการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ โดยส่วนใหญ่ มักจะเกิดขึ้นในประเทศที่พัฒนาแล้ว เพราะประเทศเหล่านี้ มีธรรมเนียมด้านเสรีภาพในการพูดที่เข้มแข็ง มีการยับยั้งควบคุมโดยตำรวจอย่างเหมาะสม มีการคุ้มครองสิทธิของชุมชน และยึดหลักการปกครองโดยใช้หลักกฎหมาย ตัวอย่างการเคลื่อนไหวหนึ่งจากประเทศเหล่านี้ ได้แก่ การเคลื่อนไหวที่เมือง บาร์เซโลน่า ประเทศสเปน โดยมีวัตถุประสงค์ของการประท้วง เพื่อเรียกร้อง และแสดงให้เห็นว่าการปกครองตนเองของผู้ประท้วง ดีกว่าการถูกควบคุมโดยการใช้กำลังรุนแรง

การประท้วงที่บาร์เซโลน่าในครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 มีนาคม ปี ค.ศ. 2002 ที่ผ่านมา โดยมีผู้เข้าร่วมมากกว่า 250,000 คน แต่การประท้วงครั้งดังกล่าว ไม่ได้ก่อให้เกิดการบาดเจ็บแก่บุคคลแต่ละฝ่ายอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม การประท้วงก็ได่ก่อให้เกิดการเสียหายต่อทรัพย์สินสาธารณะและทรัพย์สินของเอกชนอยู่บ้าง

- Argentina
การประท้วงในอาร์เจนตินา เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 2002 ซึ่งเป็นปีที่อาร์เจนตินาต้องประสบกับวิกฤติทางเศรษฐกิจอย่างหนัก โดยมีผู้เข้าร่วมประท้วงรัฐบาลกลางอาร์เจนตินานับล้านคน ในวันที่ 19, 20 ธันวาคม 2002 กลุ่มผู้ประท้วงในเมืองหลวง บูเอโนส ไอเรส ได้ใช้ความรุนแรงเพื่อพยายามขับไล่ประธานาธิบดี De la Rua ประธานาธิบดีในขณะนั้น จนเป็นเหตุให้มีผู้ประท้วง 32 รายต้องเสียชีวิตลง

นับจากเหตุการณ์นั้น พลเมืองอาร์เจนตินาได้เริ่มมีความพยายามที่จะพัฒนา "ทางเลือก" ของระบบเศรษฐกิจที่มีรากฐานจากชุมชนภายในประเทศ, มีโครงสร้างทางสังคมและระบบชุมชนท้องถิ่น ที่มีอิสระในการปกครองตนเองได้ ดังสโลแกนที่เป็นที่รู้จักกันดีที่ว่า "Everybody out (of government)! Nobody stays!" ซึ่งเป็นการชี้ให้เห็นว่า ประชากรชาวอาร์เจนตินา ไม่เพียงแต่เอือมระอากับการทุจริต คอร์รัปชั่นในรัฐบาลเท่านั้น แต่ยังเอือมระอาและสิ้นศรัทธาต่อโครงสร้างทางการปกครองทั้งหมดทุกภาคส่วนด้วย

สรุปเหตุการณ์การเคลื่อนไหวที่สำคัญของขบวนการนับจากปี ค.ศ. 1999 ถึงปี ค.ศ. 2003

1999
- 30 พฤศจิกายน -ซีแอทเทิล, สหรัฐอเมริกา การประท้วงการประชุม WTO ระดับรัฐมนตรีครั้งที่สาม

2000
- 16 เมษายน -วอชิงตัน ดีซี, สหรัฐอเมริกา การประท้วง กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)
- 1 พฤษภาคม -ทั่วโลก, การประท้วงในวันแรงงาน
- 29 กรกฎาคม -ฟิลาเดลเฟีย, สหรัฐอเมริกา การประชุมแห่งชาติของพรรครีพับลิกัน
- 11 สิงหาคม -ลอสแอนเจลีส, สหรัฐอเมริกา การประชุมแห่งชาติของพรรคเดโมแครต
- 11 กันยายน -เมลเบิน, ออสเตรเลีย การประชุมเวทีเศรษฐกิจโลก
- 26 กันยายน -ปราก, สาธารณรัฐเช็ก ธนาคารโลกและไอเอ็มเอฟ
- 20 พฤศจิกายน -มอนทรีอัล, ควีเบ็ก การประชุม G20

2001
- 20 มกราคม -วอชิงตัน ดีซี, สหรัฐอเมริกา การเข้ารับตำแหน่งของบุช
- 27 มกราคม -ดาวอส, สวิตเซอร์แลนด์ การประชุมเวทีเศรษฐกิจโลก
- 20 เมษายน -ควีเบ็ก ซิตี, แคนาดา การประชุมสุดยอดแห่งอเมริกา
- 15 มิถุนายน -โกเทนเบอร์ก, สวีเดน การประชุมสุดยอดสหภาพยุโรป
- 20 กรกฎาคม -เจนัว, อิตาลี การประชุม G8
- 29 กันยายน -วอชิงตัน ดีซี, สหรัฐอเมริกา การประท้วงของกลุ่มผู้ต่อต้านระบบทุนนิยม, ผู้ต่อต้านสงคราม

2002
- 1 กุมภาพันธ์ -นิวยอร์ก ซิตี, สหรัฐอเมริกา/ปอร์โต อัลเลเกร, บราซิล เวทีสมัชชาสังคมโลก ที่จัดขึ้นอย่างคู่ขนานกับเวทีเศรษฐกิจโลก
- 15 มีนาคม -บาร์เซโลนา, สเปน การประชุมสุดยอดสหภาพยุโรป
- 20 เมษายน -วอชิงตัน ดีซี, สหรัฐอเมริกา ประท้วงต่อต้านสงครามต่อต้านการก่อการร้าย
- 26 มิถุนายน -แคลการี, แอลเบอตา และ ออตตาวา, ออนตาริโอ ประเทศแคนาดา การประชุม G8
- 27 กันยายน -วอชิงตันดีซี, สหรัฐอเมริกา การประท้วงไอเอ็มเอฟและธนาคารโลก

2003
- สุดสัปดาห์ของวันที่ 15 กุมภาพันธ์ -ทั่วโลกมีการประท้วงต่อต้านการทำสงครามกับอิรัก มีผู้เข้าร่วมประท้วงมากกว่า 12 ล้านคน
- มีนาคม, เมษายน -ประท้วงต่อต้านการทำสงครามกับอิรัก ทั่วโลก
- 28 กรกฎาคม -มอนทรีอัล, ควีเบ็ก
- 14 กันยายน -แคนคูน, เม็กซิโก การประชุมระดับรัฐมนตรี WTO ครั้งที่ 5 ต้องสิ้นสุดลง
- ตุลาคม -การประชุมเวทีเศรษฐกิจโลก ในระดับภูมิภาค ที่กรุงดับลิน ในการประชุมสุดยอดเกี่ยวกับศักยภาพในการแข่งขันของทวีปยุโรป ต้องถูกยกเลิกไป
- 20 พฤศจิกายน -ไมอามี, การระดมพลต่อต้านเขตการค้าเสรีแห่งอเมริกา (FTAA)

นอกจากการเคลื่อนไหวของขบวนการเคลื่อนไหวต่างๆดังที่สรุปมานี้ ยังมีการเคลื่อนไหวต่อต้านโลกาภิวัตน์อีกจำนวนมาก ที่มีความแตกต่างกันไปทั้งในเรื่องของประเด็นเรียกร้อง เป้าหมาย วิธีการ และขนาดของขบวนการ

World Social Forum; WSF
การเคลื่อนไหวหนึ่งที่เริ่มเป็นที่รู้จัก และเป็นที่รับรู้กันในสังคมมากขึ้นเกี่ยวกับการต่อสู้เรียกร้องเพื่อต่อต้านกับกระแสโลกาภิวัตน์นั่นก็คือ "เวทีสมัชชาสังคมโลก" (World Social Forum; WSF) ที่จัดขึ้นต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่า 4 ปีแล้วนั่นเอง

WSF ถือกำเนิดขึ้นอันเนื่องมาจาก การรวมตัวกันของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมหลายๆฝ่าย ที่ได้รับความเดือดร้อน/ได้รับผลกระทบจาก กระแสโลกาภิวัตน์/ทุนนิยมเสรี/เสรีนิยมใหม่ร่วมกัน ทั้งนี้เพราะโลกาภิวัตน์/เสรีนิยมใหม่ ได้ก่อให้เกิดปัญหาในประเทศโลกที่สาม/ประเทศโลกใต้ ที่มีลักษณะร่วมกันทั่วโลก คือต้องเผชิญกับอำนาจรวมศูนย์ที่เข้มแข็งของรัฐ และทุนจากบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ ที่เข้าไปกอบโกยทรัพยากร/ผลประโยชน์จากประเทศเหล่านั้น

ทั้งนี้ต้นเหตุมาจากนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม/ทุนนิยม ที่พยายามสร้างให้ระบบเศรษฐกิจเสรี การค้า การลงทุน ที่เสรี ภายใต้การช่วยเหลือ/เอื้อประโยชน์ประเทศโลกที่หนึ่ง จากองค์กรระหว่างประเทศที่สำคัญ เช่น WTO, IMF, WORLD BANK, ADB เป็นต้น

ดังนั้น ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน/ได้รับผลกระทบจาก กระแสโลกาภิวัตน์/ทุนนิยมเสรี/เสรีนิยมใหม่ จึงได้มีการพยายามแสวงหาหนทางร่วมกันเพื่อแสดงออกถึงการต่อต้าน โลกาภิวัตน์เสรีนิยมใหม่ ในการสร้างเวทีสมัชชาสังคมโลกขึ้นมา เพื่อร่วมกันต้านโลกาภิวัตน์กระแสหลัก และเป็นพื้นที่ที่ไม่ใช่แค่การประท้วงเท่านั้น แต่ WSF จะเป็นที่เปิดซึ่งหลายๆฝ่ายได้ร่วมกันคิดถึงการสร้าง โลกอีกใบ (Another World) ที่เอื้อประโยชน์ต่อคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกันได้อีกด้วย

WSF ใน 3 ครั้งแรก ได้จัดขึ้นที่เมืองปอร์โต อัลเลเกร (Porto Alegre) เมืองหลวงของรัฐ ริโอ แกรนเด โด ซูล (Rio Grande do Sul) ในปี ค.ศ. 2001-2003 ที่ผ่านมา ขณะที่ WSF ครั้งล่าสุด จัดขึ้นที่เมืองมุมไบ (Mumbai) ประเทศอินเดีย

WSF ได้รับความสนใจจากกลุ่มเคลื่อนไหว/ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมจากทั่วโลกมากขึ้นทุกปี จากปีแรกที่มีผู้เข้าร่วมประมาณ 30,000 คน ขณะที่ในครั้งล่าสุดที่ผ่านมามีผู้เข้าร่วมมากถึงกว่าหนึ่งแสนคน และกิจกรรมของ WSF ก็ได้มีการพัฒนาขึ้นจากครั้งแรกที่มีลักษณะของการชูประเด็นเพื่อต่อต้านโลกาภิวัตน์เป็นหลัก มากกว่าที่จะมีการสำรวจแนวทาง หรือค้นหา โลกาภิวัตน์ทางเลือกอย่างเป็นรูปธรรม

ดังนั้น WSF ครั้งที่สอง จึงมีกิจกรรมที่ครอบคลุมการออกแบบยุทธศาสตร์ต่อต้านโลกาภิวัตน์ และนอกจากนั้น ยังมีการแลกเปลี่ยนกันในรายละเอียดของกระบวนทัศน์ทางเลือกด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ, นิเวศวิทยา, และสังคมด้วย จนกระทั่ง WSF ครั้งล่าสุดที่อินเดีย เป็นการขยายขบวนการสากลจากส่วนอื่นๆของโลกทั้งละตินอเมริกา และยุโรป มาสู่เอเชีย ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญที่ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในเอเชียจะได้มีความสมานฉันท์ร่วมกัน

WSF ได้ก่อให้เกิดการขยายตัวขึ้นอย่างมากของเวทีสังคม/สมัชชาต่างๆ (Social Forum) ในภูมิภาคต่างๆทั่วทั้งโลก ไม่ว่าจะเป็นเวทีสังคมของทวีปยุโรป, เอเชีย, Pan-Amazon และเวทีสังคมในระดับประเทศต่างๆ เช่น อาร์เจนตินา, ปาเลสไตน์, อุรุกวัย, โคลัมเบีย, แคนาดา, โปรตุเกส, สวิตเซอร์แลนด์, เวเนซุเอลา เป็นต้น

การขยายตัวของเวทีสังคมดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงกระแสการต่อต้านคัดค้านโลกาภิวัตน์กระแสหลัก เพื่อแสวงหาหนทางใหม่ๆ เช่น การแสวงหาโลกาภิวัตน์ทางเลือก ระบบเศรษฐกิจ/การปกครองที่เป็นธรรมกับคนทุกคนในสังคม

ข้อวิพากษ์/วิจารณ์ที่มีต่อขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านโลกาภิวัตน์
ขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านโลกาภิวัตน์ มิได้เป็นขบวนการเคลื่อนไหวที่ได้รับการสนับสนุน หรือได้รับการยอมรับจากผู้คนทุกคนในสังคม เพราะฉะนั้น ย่อมเป็นเรื่องปกติที่จะต้องเกิดมีข้อวิพากษ์/วิจารณ์เกี่ยวกับขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านโลกาภิวัตน์อย่างแน่นอน

ในส่วนของผู้เขียน สามารถสรุปข้อวิพากษ์/วิจารณ์เกี่ยวกับขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านโลกาภิวัตน์โดยสังเขปได้บางประการดังนี้

ประการแรก ขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านโลกาภิวัตน์ จะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากจากกลุ่มนักการเมือง, กลุ่มนักวิชาการฝ่ายขวา, กลุ่มนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก และกลุ่มผู้สนับสนุนนโยบายการค้าเสรี ซึ่งจะสังเกตได้ว่ากลุ่มต่างๆเหล่านี้ จะเป็นกลุ่มที่มองว่าโลกาภิวัตน์เป็นประโยชน์ และมีผลดีมากกว่าผลเสีย

ประการที่สอง ขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านโลกาภิวัตน์จะถูกวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่ม โลกาภิวัตน์ประชาธิปไตย (Democratic globalization) ซึ่งเป็นกลุ่มที่สนับสนุนโลกาภิวัตน์อย่างสุดขั้ว (Pro-globalization) ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องการให้ทุกๆกิจกรรมของมนุษยชาติ และสถาบันระดับโลก ได้รับเอาอุดมการณ์เสรีประธิปไตยเข้าไปใช้อย่างเต็มที่

ประการที่สาม ข้อวิพากษ์วิจารณ์หลักพื้นฐานที่สุด ซึ่งขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้าน โลกาภิวัตน์ได้ประสบนั่นก็คือ ข้อวิจารณ์ที่ว่าขบวนการเคลื่อนไหวนี้ขาดเป้าหมายที่ชัดเจน และมุมมองของผู้เข้าร่วมระท้วง ก็มีความแตกต่างหลากหลายมากจนบางครั้งก็อาจจะขัดแย้งกันเองได้

ประการที่สี่ ข้อวิพากษ์วิจารณ์ที่สำคัญประการหนึ่ง ก็คือ ข้อวิจารณ์ที่ว่าขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านโลกาภิวัตน์ สามารถทำการประท้วงได้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของสิทธิมนุษยชน, ต่อต้านการค้าเสรี, ต่อต้านการตัดแต่งพันธุกรรมพืช เป็นต้น แต่ว่าขบวนการเคลื่อนไหวดังกล่าว กลับไม่ได้นำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน และเป็นรูปธรรมให้แต่อย่างใด

ประการสุดท้าย ในเรื่องของแรงจูงใจในการระดมผู้เข้าร่วมประท้วง ก็ยังคงเป็นคำถามอยู่ สำหรับบางกลุ่ม เชื่อมั่นว่ากุญแจสำคัญในการระดมคือ ตรอทสกี้ยิสต์ (Trotskyite) ที่มองว่าสามารถใช้ใครก็ได้ที่เป็นผู้คับข้อง/ขัดเคืองใจ (Grievances) ในการกระตุ้นและก่อให้เกิดการปฏิวัติโดยใช้ความรุนแรงเป็นหลัก

ขณะที่ผู้ที่เห็นตรงข้ามกันกลับมองว่า ขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านโลกาภิวัตน์ มีลักษณะโครงสร้างอำนาจในแนวระนาบ (Horizontal power structure) ดังนั้น อำนาจที่จะเป็นกูญแจหลักในการระดม จึงมีอยู่จำกัด และนอกจากนั้น โครงสร้างระบบการสื่อสารในประเทศร่ำรวย ทำให้การใช้ความรุนแรงในการปฏิวัติ ไม่อาจเกิดขึ้นจริงได้เลย

สรุป
ขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านโลกาภิวัตน์ หรือในชื่อเรียกอื่นๆ เป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่ถือกำเนิดมาจากการต้องการเรียกร้อง และความเสียเปรียบของผู้เสียเปรียบต่อกระแส โลกาภิวัตน์ที่แพร่กระจายไปทั่วโลก

ขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านโลกาภิวัตน์ เป็นขบวนการเคลื่อนไหวที่มิได้มีความเป็นเอกภาพ หรือมีความเป็นหนึ่งเดียวกัน เพื่อการเรียกร้องในประเด็นปัญหาใดๆเป็นการเฉพาะเจาะจง แต่ขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านโลกาภิวัตน์ เป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในระดับโลกที่มี "ลักษณะร่วม" ซึ่งมีความคล้ายคลึงกันในบางประเด็นปัญหา บางแง่มุม บางสถานที่ อันเกิดจากผลของกระแสโลกาภิวัตน์ทั่วทั้งโลก

ดังนั้น ขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านโลกาภิวัตน์ จึงย่อมมีความแตกต่างหลากหลายเป็นอย่างมาก ทั้งในเรื่องของประเด็นปัญหาที่เรียกร้อง ความแตกต่างด้านค่านิยม อุดมการณ์ การจัดองค์กร การระดมสมาชิก ฯลฯ ทั้งหลายดังกล่าวนี้ ไม่อาจชี้ชัดเป็นการเฉพาะลงไปได้ว่า ขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านโลกาภิวัตน์ต่างๆ จะมีประเด็นเรียกร้อง ค่านิยม อุดมการณ์ การจัดองค์กร อย่างไร

ในทัศนะของผู้เขียนมองว่า แม้ขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านโลกาภิวัตน์จะมีความแตกต่างหลากหลายดังที่กล่าวมา แต่เนื่องจากประเด็นปัญหาการถูกเอาเปรียบจากกระแสโลกาภิวัตน์ นับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น และยังไม่มีท่าทีในการหาทางออกโดยการประนีประนอมปัญหาได้อย่างลงตัวแต่อย่างใด

ภาวะดังกล่าวข้างต้นนี้เอง จะเป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้ขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านโลกาภิวัตน์ จะสามารถดำรงอยู่ต่อไปได้ เพื่อต่อสู้/เรียกร้องความไม่เป็นธรรมจากกระแสโลกาภิวัตน์ไปได้อีกนานเท่านาน

แปล/เรียบเรียง และสรุปจาก
- Alex Callinicos. 2003. The anti-capitalism manifesto. Polity Press.
- Amory Starr. 2001. Naming the enemy: Anti-corporate movements confront globalization. Pluto Press.
- http://encyclopedia.thefreedictionary.com/antiglobalization

- ฟ้าเดียวกัน. 2546. ปีที่ 1 ฉบับที่ 2. เมษายน-มิถุนายน.
- ฟ้าเดียวกัน. 2547. ปีที่ 2 ฉบับที่ 2. เมษายน-มิถุนายน.


 

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 500 เรื่อง หนากว่า 6000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com


 

 

 

 

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจ หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนคลิกูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ : มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
H

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 500 เรื่อง หนากว่า 6000 หน้า ในรูปของ CD-ROM ในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง) สนใจสั่งซื้อได้ที่ e-mail address midnightuniv(at)yahoo.com / midnight2545(at)yahoo.com หรือ ส่งธนาณัติถึง ...สมเกียรติ ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202 กรุณาส่งธนาณัติไปยัง สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50202

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งาน
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจท่านใด ประสงค์ที่จะนำเสนอบทความบนเว็ปไซต์แห่งนี้ ส่งมาได้ทุกวันที่ midnight2545(at)yahoo.com
ผลงานภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบ
บทความบริการฟรีของ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

บทความทุกชิ้นที่เผยแพร่บนเว็ปไซต์นี้ ดูแลคุณภาพโดยกองบรรณาธิการ หากพบข้อผิดพลาด หรือไม่สามารถคลิกอ่านได้บางเรื่อง กรุณาแจ้งให้ทราบด้วย ขอบคุณครับ
The Midnight University : The Non-mainstream Higher Education : 16th January 2005 : midnightuniv(at)yahoo.com
ในการประท้วงที่ Genoa ถือได้ว่าเป็นจุดสูงสุดของการประท้วงขนาดใหญ่ ทีมีต่อการประชุม G8 ตำรวจปราบจราจลได้ใช้ความรุนแรงในการสลายผู้ชุมนุม อันเป็นเหตุให้เยาวชนคนหนึ่งต้องถูกยิง ภายหลังเหตุการณ์ที่ Genoa ขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านทุนนิยมก็เริ่มชัดเจนมากขึ้น
สำหรับฉันทามติวอชิงตัน มีผลในทางนโยบายต่อผู้นำ/ผู้บริหารทั่วโลกไม่น้อยกว่า 10 เรื่องด้วยกัน ดังที่ยอมรับร่วมกันว่าเป็น "วาระแห่งเสรีนิยมใหม่" (Neo-Liberal Agenda) ซึ่งมีผลต่อเรื่องต่างๆไม่ว่าจะเป็น วินัยทางการคลัง (Fiscal discipline), การให้ความสนใจเป็นพิเศษในเรื่องรายจ่ายสาธารณะ (Public expenditure priority), การปฏิรูประบบภาษี (Tax reform), การเปิดเสรีทางการเงิน (Financial liberalization), อัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่คงที่ (Competitive exchange rate), และอื่นๆ
เนื่องจากการค้าเสรีที่เป็นหนึ่งในกระแสโลกาภิวัตน์ ได้สร้างความเสื่อมให้กับทรัพยากรธรรมชาติในประเทศยากจนเป็นอันมาก เนื่องจากการเข้ามากอบโกยทรัพยากร โดยการย้านฐานการผลิตมายังประเทศด้อยพัฒนาโดยบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ (Multi/Trans National Corporation) ดังนั้น อุดมการณ์ร่วมที่เกิดขึ้นจึงได้แก่ การแก้ไขปัญหาการกอบโกยทรัพยากรดังกล่าว เช่น สโลแกนของผู้ประท้วงที่ว่า "People and planet before profits", "The Earth is not for sale" เป็นต้น