ผลงานภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบบทความบริการฟรีของ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

R
relate topic
030148
release date

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 502 หัวเรื่อง
การจัดการทรัพยากรภาคประชาชน
ไพสิฐ พาณิชย์กุล
นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

The Midnight 's article

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ

Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com

เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะ
สามารถแก้ปัญหาได้

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
เว็ปไซท์นี้มีการคลิกโดยเฉลี่ยต่อวัน 14119-26256 ครั้ง สำรวจเมื่อเดือนสิงหาคม 47
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ เพื่อประโยชน์ต่อสังคม

คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

บทความทางด้านนิติรัฐศาสตร์
ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมใต้อำนาจรัฐไทย

ไพสิฐ พาณิชย์กุล
สาขานิติศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


หมายเหตุ:
บทความชิ้นนี้เดิมชื่อ "สังคมและสิ่งแวดล้อมใต้อำนาจรัฐ(ไทย)ที่อยู่เหนือกฎหมาย
"
เผยแพร่บนเว็ปไซต์แห่งนี้ครั้งแรก วันที่ ๓ มกราคม ๒๕๔๘
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 15 หน้ากระดาษ A4)


 

ในบทความนี้ประกอบด้วยเนื้อหา 2 ส่วนกล่าวคือ
ส่วนที่ 1 หลักการสำคัญที่เป็นพื้นฐานของกรอบที่จะใช้เป็นแนวทางและเครื่องมือในการ
ประเมินผลในทางกฎหมาย

ส่วนที่ 2 การวิเคราะห์ประเมินผลการดำเนินงานของรัฐบาลด้านการบริหารจัดการ
ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ผ่านมา

ส่วนที่ 1 หลักการสำคัญที่เป็นพื้นฐานของกรอบที่จะใช้เป็นแนวทางและเครื่องมือในการประเมินผลในทางกฎหมาย
บทนำ : ปมปัญหาจากระบอบสังคมการเมือง

เมื่อกล่าวถึงสังคม ก็ต้องกล่าวถึง "รัฐ" และในเช่นเดียวกันที่เมื่อกล่าวถึง "รัฐ"ก็ต้องกล่าวถึง "กฎหมาย" ด้วยเสมอ ปัญหาที่เป็นประเด็นถกเถียงกันทั้งในทางทฤษฎีและในสภาพความเป็นจริงก็คือ ระหว่าง "สังคม" "รัฐ" และ "กฎหมาย" อะไรควรจะใหญ่และอะไรควรจะเล็ก และเมื่อใดที่จะต้องแสดง "ความใหญ่" และ "ความเล็ก" ออกมา และปัญหาที่ยากไปกว่านั้นในทางทฤษฎีก็คือ ไม่ว่าจะเป็น "สังคม " " รัฐ " และ " กฎหมาย " ใครคือผู้แสดงหรือกระทำในนามของ สังคม รัฐ และ กฎหมาย

ประเด็นทั้งหมดดังที่กล่าวมาไปเกี่ยวข้องสัมพันธ์อยู่กับหลายๆศาสตร์หลากหลายสาขาวิชา และแกนหลักของคำถามทั้งหมดที่กล่าวมาจริงๆแล้วก็คือ ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างประชาชนที่เป็นองค์ประกอบของสังคม กับผู้ที่อยู่ในฐานะ/ตำแหน่งที่ใช้อำนาจในนามของรัฐ และผู้ที่ใช้อำนาจในนามของกฎหมายควรจะเป็นอย่างไร

กรอบคิดในการมองปัญหาเช่นนี้ในทางวิชาการเป็นกรอบคิดที่ทำให้รายละเอียดต่างๆของปัญหาตกหล่นไปจากสภาพความเป็นจริง ทั้งนี้ด้วยเหตุผลที่ว่า เมื่อ เรากล่าวถึงคำว่า "สังคม" ก็ดี คำว่า "รัฐ" ก็ดี หรือคำว่า "กฎหมาย" ก็ดี มีความแตกต่างกันในระดับความรับรู้ ความเข้าใจ และในระดับความคิด เป็นอย่างมาก ดังนั้น เมื่อสังคมไทยไม่ได้เป็นสังคมที่มีโครงสร้างทางสังคมในแนวดิ่งที่เอื้อต่อการมีส่วนร่วม แต่มีโครงสร้างทางการเมืองและวัฒนธรรมที่รวมศูนย์ในฐานะศูนย์กลางของคำสั่ง ขอบเขตความหมายของคำต่างๆเหล่านั้นก็พลอยที่หดตามลงมาด้วย ความคับแคบของความคิดความรู้ ภายใต้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจเช่นนี้ จึงเป็นสภาวะที่อันตรายต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก

สภาพความรับรู้เช่นนี้ค่อยๆเกิดขึ้นในสังคมไทยมาเป็นระยะๆ และสั่งสมจนเกิดเป็นวัฒนธรรมทางการเมือง เริ่มมาตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างองค์กรทางการเมืองการปกครอง และทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยในยุคของอำนาจเผด็จการ(ทั้งเผด็จการทหารและเผด็จการสภา) ในขณะเดียวกันภายใต้ยุคกระแสโลกาภิวัฒน์ที่แผ่อิทธิพลเข้ามาในสังคมไทย แม้จะทำให้เกิดการเปิดกว้างในหลายมิติของสังคมไทย แต่ด้วยเหตุที่เป็นสังคมแห่งความไม่เท่าเทียมและมีโครงสร้างทางความคิด โครงสร้างทางเศรษฐกิจ และการเมืองที่กดทับคนในระดับล่างๆ ผลประโยชน์อย่างมากมายมหาศาลที่เกิดขึ้นภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ ก็ตกแก่คนที่เข้าถึงช่องทางต่างๆ

และยิ่งตนเองเป็นผู้ผูกขาดธุรกิจที่อาศัยโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ด้วยแล้ว ก็สามารถทำให้เกิดเผด็จการทุนนิยมขึ้นมา เมื่อสามารถที่จะทำให้อำนาจทางการเมืองได้มาด้วยยุทธวิธีทางการเมืองที่ใช้นโยบายประชานิยมอย่างเข้มข้น และการรวบอำนาจผูกขาดทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นพัฒนาการของเผด็จการทุนนิยมที่เกิดบนโครงสร้างทางสังคมแบบเดียวกัน เพียงแต่เปลี่ยนอำนาจรัฐที่ถูกผูกขาดโดยผู้ใช้กำลังทหาร มาเป็นทุนที่เข้ามาแทนที่และใช้อำนาจ

แต่ผลกระทบและความหน้ากลัวของอันตรายซึ่งเกิดจากการที่ทุนนิยมเผด็จการกระทำการอย่างใดๆทางเศรษฐกิจ ทางสังคม ทางการเมือง ทางวัฒนธรรม และทางกฎหมาย ภายใต้ยุคและกระแสโลกาภิวัฒน์ ก็คือ การที่กลไกของทุนนิยมสามารถที่จะเปิดตลาดโดยใช้นโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐที่ตนผูกขาดไว้ และสามารถที่จะทำให้มีสินค้าใหม่ๆเข้าสู่ตลาด โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่า การทำให้เกิดตลาดนั้นๆหรือสินค้านั้นๆ เป็นสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรมและเป็นธรรมหรือไม่

อีกประการหนึ่งก็คือ ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ที่มีการไหลเวียนของผู้คน การไหลเวียนของเงิน การไหลเวียนของสินค้าและบริการ และการไหลเวียนของข้อมูล ดังนั้นในเงื่อนไขดังกล่าวนี้เมื่อเผด็จการรัฐสภากับทุนนิยมเผด็จการกลายเป็นหนึ่งเดียวกัน ก็ทำให้เกิดข้อสงสัยเป็นอย่างยิ่งว่า สังคมไทย จะเหลืออะไรที่เป็นสังคมไทย เพราะทั่วทั้งโลกสามารถที่จะเข้าถึงได้ แต่ในเวลาเดียวกัน คนส่วนใหญ่ก็ยังไม่สามารถที่จะใช้ประโยชน์จากช่องทางที่เราเปิดให้คนอื่นเข้ามา แม้จะเป็นประเทศของเราเอง

ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่าด้วยพัฒนาการของโครงสร้างสังคมเศรษฐกิจและการเมืองที่เป็นมาเช่นนี้ จึงส่งผลถึงกระบวนการสร้างความรู้ความเข้าใจทางการเมืองของสังคมไปด้วย ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่ว่า "ความรู้" ดังกล่าวใครเป็นผู้สร้าง และใครเป็นผู้ที่จะต้องถูกยัดเยียดให้ต้องรู้ หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ อะไรบ้างที่เป็นเรื่องที่เราจำเป็นต้องรู้ อะไรบ้างเป็นเรื่องที่ฟุ่มเฟือยไม่เป็นประโยชน์ อะไรบ้างเป็นอวิชา ตรงไหนที่เป็นแก่น ส่วนไหนที่เป็นกระพี้ อะไรบ้างที่เป็นเพียงข้อมูล ฯลฯ กระบวนการสร้างความรู้ดังกล่าวนี้ จึงเป็นกระบวนการที่จำเป็นสำหรับภาคประชาชน ที่จะต้องมีครอบครองไว้ เพื่อใช้ในการแสวงหาความรู้ในโลกของข้อมูลข่าวสาร

ดังนั้นหากเราจะกล่าวถึงรัฐ/รัฐบาล ในทางด้านนโยบายของรัฐ กฎหมาย จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอิงพื้นฐานข้อมูล ความคิด ประเด็นที่สังคมสนใจ ขึ้นมาเป็นกรอบที่สะท้อนความเป็นจริงในการพิจารณา ดังนั้น ในการวิเคราะห์ผลการดำเนินงานของรัฐบาลด้านการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อนำผลการวิเคราะห์ไปใช้ประโยชน์ ในการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม จะใช้กรอบในการวิเคราะห์ โดยตั้งอยู่บนปมปัญหาของระบอบสังคมการเมืองดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น

เครื่องมือในการพิจารณาเพื่อวิเคราะห์ถึงแนวโน้มเกี่ยวกับกฎหมาย : เราจะวิเคราะห์กันอย่างไร
สืบเนื่องจากการจะครบวาระของกลไกหลักในการใช้อำนาจตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นกลไกในตรากฎหมายให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชน คือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือเป็นกลไกในการบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย คือรัฐบาล(1) และในขณะเดียวกันสิ่งที่ควรจะต้องนำมากล่าวถึงด้วยก็คือ กลไกในการระงับข้อพิพาท ซึ่งก็คือ ศาล ทั้ง ๓ สถาบันดังกล่าวเป็นองค์กรหลักในทางการเมืองการปกครองและกฎหมายของประเทศ ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่ามีความชอบธรรมที่จะใช้อำนาจในนามของสังคม เพื่อประโยชน์ในการปกป้องดูแลรักษาแก้ปัญหาให้กับสังคม และขณะเดียวกันในอีกด้านหนึ่งก็สามารถใช้อำนาจดังกล่าวในการพัฒนาสังคมได้ด้วย(2)

ดังนั้น เป้าหมาย ประการแรกที่จะต้องพิจารณาก็คือว่ารูปแบบวิธีการใช้อำนาจขององค์กรต่างๆดังที่กล่าวมาควรจะเป็นอย่างไร และ ด้วยหลักการที่เป็นหัวใจสำคัญของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอยู่ที่จะต้องไม่ผูกขาดอำนาจ ดังนั้น ในระบอบการปกครองแบบนี้จะต้องมีระบบในการป้องกันการผูกขาดการใช้อำนาจด้วยวิธีการที่หลากหลาย เช่น การกำหนดระยะเวลาให้อยู่ในตำแหน่ง การที่จะต้องขอความเห็นชอบจากประชาชนในการเข้าสู่ตำแหน่ง การดำรงตำแหน่ง รวมตลอดถึงกระบวนการในการใช้อำนาจ และการควบคุมติดตามประเมินผลในการใช้อำนาจของรัฐ ดังนั้น สิ่งที่จะต้องพิจารณาในประการต่อมาคือ ระบบการประเมินผลในด้านต่างๆเป็นระยะๆ จึงเป็นกระบวนการที่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนำมาพิจารณา เพื่อเป็นธง/วัตถุประสงค์เป้าหมายของการวิเคราะห์

หากรับในหลักการปกครองเช่นนี้ เครื่องมือในการวิเคราะห์เพื่อตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐ ในนามของสังคมว่าเป็นไปตามหลักการที่มีเป้าหมาย/วัตถุประสงค์ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนหรือไม่

เราสามารถที่จะตรวจสอบโดยเครื่องมือหรือมาตรการต่างๆในทางกฎหมายดังต่อไปนี้


1. การตรวจสอบว่ารัฐบาลดำเนินการตามรัฐธรรมนูญในฐานะที่เป็นกติกาสูงสุดของประเทศ ในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหรือไม่

2. การตรวจสอบว่ารัฐบาลดำเนินการตามหลักการที่เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศ ในส่วนเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมหรือที่ประชาชนได้รับประโยชน์หรือไม่

3. การตรวจสอบว่ามีโครงสร้างของระบบการจัดการที่มีประสิทธิภาพในการจัดการเพียงพอหรือไม่ ระบบการจัดการที่มีประสิทธิภาพประกอบด้วยระบบย่อยดังต่อไปนี้

3.1 ระบบการจัดองค์กรในการดำเนินการที่มีประสิทธิภาพ
3.2 ระบบการบริหารงานบุคคล/เครือข่ายที่มีประสิทธิภาพ
3.3 ระบบการจัดสรร/บริหารงบประมาณที่มีประสิทธิภาพ
3.4 ระบบข้อมูลข่าวสารสาระสนเทศที่มีประสิทธิภาพ
3.5 ระบบการตรวจสอบติดตามตรวจสอบประเมินผลที่มีประสิทธิภาพ

4. การตรวจสอบว่ามีกฎหมายที่วางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมที่ตั้งอยู่บนแนวทางการมีส่วนร่วมของประชาชนตามหลักการปกครองที่ดีหรือไม่

ในบทความนี้ผู้เขียนขอเสนอ เครื่องมือที่ใช้เป็นกรอบและแนวทางในการวิเคราะห์ระบบกฎหมาย ที่เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดังที่กล่าวมาข้างต้น เพื่อเป็นทั้งการประเมินผล และเป็นข้อเสนอต่อสังคม เพื่อนำไปสู่กระบวนการที่จะทำให้เกิดนโยบายสาธารณะภาคประชาชนอย่างแท้จริง มากกว่าที่จะเสนอต่อพรรคการเมืองเพื่อรับไปดำเนินการเท่านั้น เพราะสถานการณ์เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ไม่อาจที่จะรอให้รัฐเพียงฝ่ายเดียวเท่านั้นเป็นผู้รับผิดชอบ

ด้วยเหตุนี้ เราในฐานะที่เป็นสมาชิกของสังคมไทยและเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศน์ของโลก ควรที่จะต้องลงมือทำเดี๋ยวนี้ในทันที แม้กฎระเบียบยังไม่พัฒนาไปให้ทันสมัย เพราะหัวใจของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมคือ อำนาจของประชาชนในการบริหารจัดการทรัพยากรของชาติ

ส่วนที่ 2 การวิเคราะห์ประเมินผลการดำเนินงานของรัฐบาล ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ผ่านมา
กระบวนการในการประเมินผล
เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อรัฐบาล (ภายใต้การนำของพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร)ซึ่งเข้ามารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2544 จนถึงปัจจุบัน การประเมินผลการดำเนินการในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงเป็นการประเมินผลที่ให้ความสำคัญต่อ การกระทำของรัฐบาล(act of government) เป็นหลัก ทั้งนี้เนื่องจากปัญหาทางด้านการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในหลายกรณีที่เกิดขึ้นไม่ได้ริเริ่มจากรัฐบาลชุดนี้ (แต่ก็มิได้หมายความว่ารัฐบาลจะยกเป็นข้ออ้างที่จะปฎิเสธความรับผิดชอบ) แต่แม้รัฐบาลชุดนี้มิได้ริเริ่มไว้ก็ตาม แต่ในฐานะที่เป็นรัฐบาลได้กระทำการอย่างใดๆที่ทำให้ปัญหาดังกล่าวได้รับการแก้ไขหรือทำให้ดีขึ้นหรือไม่ กรณีเช่นนี้ก็ถือเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องหยิบขึ้นมาประเมินผลด้วยเช่นกัน

และควรกล่าวไว้ ณ ที่นี้ด้วยว่า ประเด็นเรื่องประเมินผลการกระทำของรัฐบาลในเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะการกระทำทั้งหลายที่เกิดจากองค์กรหรือสถาบันในทางกฎหมายที่เป็นรัฐบาลเท่านั้น แต่ยังมีการกระทำของรัฐสภาและการกระทำของศาล ซึ่งเป็นองค์กร/สถาบันที่ใช้อำนาจรัฐด้วย และส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชาติด้วยเป็นอย่างมากแต่ก็ไม่ค่อยที่จะหยิบยกมากล่าวถึงเท่าที่ควร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในส่วนที่เกี่ยวกับองค์กร/สถาบันตุลาการ ซึ่งในเอกสารนี้จะหยิบยกมากล่าวถึงในบางประเด็น

และนอกจากนั้น ด้วยข้อจำกัดของระยะเวลาและลักษณะของงานที่เป็นไป ในเชิงการวางแนวคิดการประเมินการกระทำของรัฐบาลในทางกฎหมายที่จะต้องพิจารณาในรายละเอียด ดังที่ได้กล่าวให้เห็นประเด็นที่จะต้องพิจารณาในแง่มุมต่างๆดังปรากฏในส่วนที่ 1 จึงทำให้การประเมินผลการวิเคราะห์ครั้งนี้ จะใช้กระบวนการเชิงเปรียบเทียบระหว่างการกระทำของรัฐบาลในบางแง่มุม ที่จะสามารถสะท้อนการกระทำของรัฐบาลว่ามีลักษณะหรือข้อบ่งชี้ที่เป็น (หรือไม่เป็น) ไปตามหลักการในการใช้อำนาจรัฐ ที่ให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของประชาชน และมีเป้าหมายต่อการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างไร (ซึ่งแนวทางการเปรียบเทียบดังกล่าว อาจจะมีข้อโต้แย้งจากฝ่ายการเมือง/คนของรัฐบาลได้ว่าเลือกที่จะหยิบประเด็นมาโจมตี แต่ก็มีความจำเป็นอันไม่อาจที่จะหลีกเลี่ยงได้ ที่จะต้องอาศัยวิธีการเช่นนี้ เพราะสามารถที่จะให้ภาพที่ชัดที่สุดและตรงไปตรงมามากที่สุด)

ประเด็นสำคัญในการวิเคราะห์เพื่อประเมินผลในเชิงนโยบายและการกระทำของรัฐบาล

1. อะไรเป็นผลงานของรัฐบาลในทางด้านการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ภายใต้คำใหญ่ๆที่เรียกกันว่า "รัฐ" เราจะทราบได้อย่างไรว่า กรณีใดเป็นหรือไม่เป็นผลงานของรัฐบาล แนวทางหนึ่งในทางกฎหมาย ที่มักจะใช้กันในการควบคุมตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐเพื่อสร้างความชัดเจนหรือมีเส้นแบ่งว่ากรณีใดที่เป็นการกระทำจริงๆของรัฐบาล ก็คือ การพิจารณาว่า เป็นการกระทำของรัฐบาล การกระทำใดเป็นการกระทำของฝ่ายปกครอง(ส่วนราชการที่ใช้อำนาจตามกฎหมาย) การกระทำใดเป็นการกระทำทางรัฐสภา และการกระทำใดเป็นการกระทำทางตุลาการ

หากพิจารณาบนหลักคิดเช่นนี้ ก็จะช่วยให้เราสามารถที่จะพิจารณาผลงานได้ถูกต้องยิ่งขึ้น ว่าเรื่องใดที่เป็นการเหมารวมว่าเป็นผลงานของตน และในส่วนของภาคประชาชนก็สามารถที่จะแยกแยะและระบุได้ชัดขึ้นว่า ใครเป็นผู้กระทำ/หรือไม่กระทำ แล้วส่งผลต่อการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

และถ้าหากเรานำหลักการนี้ไปตรวจสอบจากเอกสารต่างๆ ที่อ้างหรือแถลงว่าเป็นผลงานของรัฐบาลในทางด้านสิ่งแวดล้อม โดยส่วนใหญ่แล้ว เป็นการกระทำของฝ่ายปกครองหรือฝ่ายราชการประจำของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมฯ(3) ดังนั้น บนหลักเกณฑ์เช่นนี้ สามารถที่จะกล่าวอย่างตรงไปตรงมาได้ว่า รัฐบาลชุดนี้ไม่มีนโยบายหรือไม่มีการกระทำใดๆที่ให้ความสำคัญหรือไม่มีความคิดหรือไม่มีสำนึก ในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติในแนวทางการอนุรักษ์ที่ประชาชนมีส่วนร่วม เมื่อเปรียบเทียบกับนโยบายอื่นๆที่รัฐบาลให้ความสำคัญ เช่น นโยบายสามสิบบาทรักษาทุกโรค

การไม่ให้ความสำคัญในแง่ของการจัดลำดับความสำคัญของเรื่องเช่นนี้ ก็เท่ากับเป็นการทำให้ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การมีส่วนร่วมของประชาชน อยู่ในสภาพถูกเพิกเฉยทางนโยบาย ซึ่งก็เท่ากับเป็นการทำให้สภาพทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ถูกทำให้ลดระดับของความสำคัญลง

และยิ่งไปกว่านั้น ในกระบวนการปฎิรูประบบราชการที่เน้นเป้าหมายว่า จะต้องมีแผนงานโครงการที่สอดคล้องกับนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล (ซึ่งไม่มีมิติหรือสำนึกเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างจริงจัง / และพร่องไปในเรื่องของการให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์) ก็ยิ่งทำให้เห็นถึงการกระทำของรัฐบาล และการกระทำของฝ่ายปกครอง ที่จงใจเก็บซุกซ้อนประเด็นเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนและการอนุรักษ์ โดยไม่นำมาเป็นประเด็นสาธารณะ และนั้นเท่ากับเป็นการทำลายหลักการประชาธิปไตย ที่นับวันจะทำให้เกิดคำถามในเชิงความชอบธรรม / ความชอบด้วยกฎหมายของระบบการปกครองภายใต้การนำของรัฐบาล ที่ใช้นโยบายประชานิยม


2. สำนึกของผู้ทำนโยบาย ผู้กำกับนโยบาย กับการมีส่วนร่วมของประชาชนและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติแบบมีส่วนร่วม

แม้จะมีความชัดเจนว่า ไม่มีอะไรที่เป็นนโยบายของรัฐบาลที่สนับสนุนเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมแบบมีส่วนร่วมและยั่งยืน นอกจากจะอ้างเอาผลการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่เป็นการทำงานปรกติมาเป็นผลงานแล้ว ในแง่ของการกระทำในด้านอื่นๆในฐานะที่เป็นการกระทำของรัฐบาลในหลายๆโครงการ ที่มีการเสนอและคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบหรืออนุมัติ ในหลายๆโครงการสะท้อนให้เห็นถึงสำนึกหรือความคิดเบื้องหลังของผู้นำรัฐบาลที่ชัดเจนว่ามีท่าที ที่ไม่เชื่อ ไม่ศรัทธา เห็นว่าเป็นข้อด้อย เป็นเงื่อนไขที่ถ่วงบุคลิกภาพของการตัดสินใจในฐานะผู้นำการเปลี่ยนแปลง ดังจะเห็นได้จาก

2.1 กรณีการเรียกร้องให้ฟื้นฟูสภาพระบบนิเวศน์แม่น้ำมูลที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนด้วยวิธีการเปิดเขื่อน ก็ดี

2.2 การให้ความเห็นชอบโครงการสร้างโรงไฟฟ้าบ่อนอก หินกรูด ด้วยการผลักดันในทุกๆทางเพื่อทำให้การก่อสร้าง และการดำเนินการให้โรงงานสามารถเปิดดำเนินการได้รวดเร็ว ทั้งๆที่กระบวนการต่างๆไม่ได้ดำเนินการขั้นตอนของกฎหมาย

2.3 ท่าทีต่อการดำเนินการกรณีปัญหาท่อก๊าซจะนะ ที่ปล่อยให้กระบวนการของระบบราชการ และทุนที่ไม่มีสำนึกทางสิ่งแวดล้อมจัดการแต่ฝ่ายเดียว โดยอาศัยความได้เปรียบในด้านฐานะทางเศรษฐกิจ ทางข้อมูล ทางสื่อ และอำนาจทางการเมือง จนในที่สุดทำให้ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน และร้องขอให้รัฐคุ้มครองสิทธิตามรัฐธรรมนูญ รวมถึงเครือข่ายกลายเป็นผู้ร้ายของสังคม

2.4 กรณีปัญหาเรื่องผลกระทบจากพืชตัดต่อพันธุ์กรรม ที่ส่วนราชการร่วมกับทุนข้ามชาติและสถาบันการศึกษานำเข้ามาใช้ ในขณะยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนเกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

2.5 กรณีการทำข้อตกลงทางการค้ากับประเทศต่างๆ( FTA) ในขณะที่ยังไม่ได้เตรียมการใดที่จะส่งผลกระทบต่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและการมีส่วนร่วมของประชาชน เช่น กรณีการเปิดพื้นที่ป่าเพื่อปลูก/ผลิตสินค้า เพื่อการส่งออกโดยผู้ประกอบการรายใหญ่ เช่น กรณีสวนส้มในพื้นที่ภาคเหนือ กรณีหอมหัวใหญ่ กระเทียม ลำไย เป็นต้น โดยไม่ได้มีการวางแผนในการจัดการผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวกับ ที่ดิน ป่าไม้ แหล่งน้ำ หรือแม้กระทั้งการเชิญชวนให้มีการตั้งนิคมอุตสาหกรรมในหลายพื้นที่ รวมถึงกรณีที่เป็นปัญหาในปัจจุบันที่พื้นที่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เป็นต้น

2.6 กรณีโครงการแปลงสินทรัพย์เป็นทุนที่นำมาใช้กับที่ดิน และทะเล ที่ยังไม่มีความชัดเจนในเชิงรายละเอียดของโครงการและการป้องกันผลกระทบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต่อทรัพยากรธรรมชาติและกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ทำให้เกิดการรุกเข้าไปครอบครองโดยหวังจะได้ประโยชน์จากนโยบายดังกล่าว

2.7 นโยบายการเปิดพื้นที่ธรรมชาติใหม่เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว

2.8 โครงการตัดถนนเลียบอ่าวไทย

2.9 กรณีกระเช้าไฟฟ้าขึ้นดอยหลวงที่อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่

2.10 กรณีสวนสัตว์กลางคืน (Night Safari) พ่วงด้วยโครงการโรงแรมในเขตพื้นที่ป่า ที่ประชาชนใช้สอยอยู่และมีสิทธิตามกฎหมาย

กรณีการกระทำในเชิงนโยบายของรัฐบาลทั้งหมดที่กล่าวมา สามารถที่จะสะท้อนให้เห็นสำนึกเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมได้ว่า เป็นการเร่งในการนำเอาทรัพยากรไปใช้อย่างเข้มข้น โดยผลักภาระทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นต่อสังคมในระยะยาว ทั้งๆที่ก่อนที่จะผลักดันโครงการให้เป็นไปตามนโยบาย สามารถที่จะดำเนินการเพื่อเป็นการป้องกันปัญหาต่างที่จะเกิดขึ้นไว้ได้ แต่ไม่ได้ดำเนินการเพราะกลัวเสียบรรยากาศการลงทุน และกลัวว่าสิ่งที่ประกาศไว้เป็นนโยบายจะไม่สามารถเป็นไปตามนั้น เพราะเงื่อนไขทางด้านสิ่งแวดล้อมและการมีส่วนร่วม เป็นอุปสรรคที่จะทำให้ไม่เป็นโครงการที่ประกาศเอาไว้
3. การจัดระบบองค์กร/สถาบัน ที่เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ภายใต้การนำของรัฐบาลชุดนี้ การกระทำในเชิงนโยบายอย่างหนึ่งที่นับว่าเป็นจุดเด่นคือ การลงมือดำเนินการปฎิรูประบบองค์กร/สถาบันทางราชการ ภายใต้กระทำดังกล่าวทำให้การจัดระบบองค์กร/สถาบันภาครัฐ ที่เกี่ยวกับทรัพากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้รับอานิสงค์ไปด้วย จึงทำให้ระบบองค์กรสถาบันที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องดูแล การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รับการจัดระบบใหม่โดยเฉพาะองค์กรในส่วนกลาง ซึ่งจะทำให้เกิดผลในทางด้านบวกหรือด้านลบจะต้องศึกษากันในระยะยาว

แต่อย่างไรก็ตาม ผลของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ก็ทำให้เกิดความชงักงันในการดำเนินการในระยะต้น เพราะข้าราชการภายใต้องค์กรที่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ต้องปรับตัวภายใต้การเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับตนเอง แต่อย่างน้อยๆในส่วนของภารกิจอำนาจหน้าที่ขององค์กร ซึ่งแต่เดิมกระจัดกระจายก็มีการจัดภารกิจกันเสียใหม่ให้สอดคล้องกับหลักการ หรือการมีเป้าหมายขององค์กรที่ชัดเจนขึ้น

การดำเนินการจัดระบบองค์กร/สถาบันใหม่ดังกล่าวยังคงมีส่วนที่ยังได้ดำเนินการอีกหลายประการ เช่น ในส่วนที่เกี่ยวกับองค์กรที่ทำหน้าที่ในการชี้ขาดข้อพิพาทหรือศาล ซึ่งจำเป็นที่จะต้องพัฒนาขึ้นมาให้เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนเหมือนกับนานาอารยประเทศ (แต่ในประเด็นการปรับปรุงกระบวนการยุติธรรม ในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมสำหรับประเทศไทย อาจจะเป็นข้อจำกัดสำหรับรัฐบาลในฐานะฝ่ายบริหารที่ไม่อาจจะเข้าไปแทรกแซงฝ่ายตุลาการได้ จึงทำให้ภารกิจในส่วนนี้จึงขึ้นอยู่กับฝ่ายตุลาการโดยตรงที่จะต้องดำเนินการ ซึ่งรัฐบาลในฐานะที่เห็นปัญหาดังกล่าวอาจจะมีข้อเสนอแนะได้)

ในอีกส่วนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการจัดองค์กรก็คือ ราชการส่วนท้องถิ่นทั้งหลาย ในปัจจุบันมี กฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหลายๆฉบับ ที่มอบให้เป็นอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ก็ยังไม่ได้มีการมอบอำนาจที่ ทำให้องค์กรปกครองท้องถิ่นสามารถที่จะดำเนินการได้จริง ไม่ว่าจะเป็นอำนาจตามกฎหมาย อำนาจในการใช้จ่ายงบประมาณ ที่จะต้องได้รับการจัดสรรมาพร้อมๆกับภารกิจ รวมถึงอัตรากำลังบุคลากร/เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ

ทั้งนี้ยังไม่ได้กล่าวถึงขอบเขตอำนาจหน้าที่ที่เหมาะสม ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหลาย ที่จะต้องประสานความร่วมมืออย่างเป็นระบบและเป็นเอกภาพ ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่มีลักษณะเป็นแหล่งต่อเนื่องข้ามผ่านเส้นแบ่งพื้นที่ตามกฎหมาย ขององค์กรปกครองท้องถิ่นเหล่านี้ ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนในเรื่องดังกล่าว อันเป็นปัญหาใหญ่เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้อาจจะด้วยเหตุผลทางการเมือง ที่จะทำให้เกิดการต่อต้านพรรคการเมืองที่พยายามจะจัดระบบพื้นที่และเขตอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเสียใหม่ จึงยังเป็นปัญหาที่ต้องรอให้รัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาดำเนินการในส่วนนี้ต่อไป

การจัดองค์กรภายใต้นโยบายปฎิรูประบบราชการที่กำลังดำเนินการอยู่นี้ มีเป้าหมายสำคัญประการหนึ่งคือ การลดอัตรากำลังของข้าราชการลง ดังจะเห็นได้จากการจัดโครงการจูงใจให้ข้าราชการลาออกก่อนครบกำหนดเกษียรอายุ ผลกระทบจากมาตรการดังกล่าวนี้ ทำให้เจ้าหน้าที่ที่จะต้องเข้าไปตรวจสอบ ดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมน้อยลง แม้จะมีความพยายามในการเกลี่ยอัตรากำลัง แต่ก็ไม่สามารถที่จะทำให้ในส่วนของเจ้าหน้าที่ในระดับปฎิบัติการเพียงพอ

ปัญหาดังกล่าวนี้ทำให้เกิดข้อจำกัดและเป็นข้ออ้างที่จะไม่เข้าไปดูแลตรวจสอบ ซึ่งยิ่งทำให้ปัญหาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยิ่งมีปัญหาหนักขึ้น ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว การบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วม นอกจากที่จะต้องให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมในระดับการจัดทำนโยบายแล้ว ยังจะต้องให้ความสำคัญกับการจัดการแบบมีส่วนร่วม และจำเป็นที่จะต้องพัฒนาหลักกฎหมาย แนวทางการปฎิบัติ กฎระเบียบ ระบบงบประมาณ ระบบการตรวจสอบติดตามประเมินผล เพื่อวางแนวทางการจัดการแบบมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐกับภาคประชาชน

สำหรับการวางแนวทางการจัดการข้างต้น จำเป็นที่จะต้องจัดระบบการจัดองค์กรเสียใหม่ที่จะต้องรับรองสถานะภาพของประชาชน ในฐานะปัจเจกหรือในฐานะกลุ่ม/ชุมชน ให้มีตำแหน่งแห่งที่และสถานะในทางกฎหมายในลักษณะที่เป็นหุ้นส่วนการจัดการ อีกทั้งยังจะเป็นการสอดคล้องกับหลักการตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ การจัดระบบองค์กรแนวใหม่นี้ จึงเป็นประเด็นที่ท้าทายต่ออำนาจของระบบราชการ และอำนาจของความรู้ที่เป็นอยู่ในเวลานี้ว่า จะฝ่าวิกฤติการระบบการจัดการที่เป็นปัญหาอย่างไร

4. การจัดอัตรากำลังคนและระบบการบริหารงานบุคคลภาครัฐกับการมีส่วนร่วมของประชาชน
ประเด็นเรื่องการจัดอัตรากำลังคนและระบบการบริหารงานบุคคล ในกรณีเรื่องการจัดการภาครัฐ เป็นทั้งปัญหาและเป็นทั้งโอกาส ในการพัฒนาระบบการบริหารงานบุคคลสำหรับภาครัฐและภาคประชาชน ในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ในส่วนนี้จึงเป็นปัญหาที่ถามต่อระบบการบริหารจัดการที่ผูกโยงกันระหว่าง ระบบการจัดองค์กร/สถาบัน ระบบการบริหารงานบุคคล และระบบงบประมาณ ว่าจะใช้แนวทางในการบริหารแบบรวมศูนย์อำนาจ หรือจะกระจายอำนาจ

หากคิดจะรวมศูนย์ ก็ต้องตอบคำถามต่อสังคมให้ได้ว่าจะรับผิดชอบอย่างไร ต่อปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หากจะกระจายอำนาจ ก็จะต้องไม่ใช้การกระจายอำนาจในมิติเดิมๆอีกต่อไป แต่จะต้องเป็นการกระจายอำนาจในลักษณะที่ข้ามพ้นไปจากองค์กรการปกครองที่ติดยึดกับพื้นที่ และจะต้องเป็นการกระจายอำนาจที่เน้นการจัดการร่วมกับเครือข่ายอนุรักษ์ในรูปแบบที่หลากหลาย

นโยบายการจัดอัตรากำลังคนและการบริหารบุคคลเช่นนี้ ในปัจจุบันจะรอคำตอบจากภาครัฐไม่ได้ ดังนั้นจึงมีความพยายามในการเข้ามาจัดการเองโดยตรง เพื่อปกป้องรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ตนเองซึ่งต้องพึ่งพาอยู่ อันนี้ถือได้ว่าเป็นสิทธิตามธรรมชาติอย่างหนึ่งที่ทำให้มีความชอบธรรมที่จะทำเช่นนั้นได้ เนื่องจากการปกปักษ์รักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเอาไว้ มีคุณค่าที่สูงกว่าการปกป้องระบบการจัดการของรัฐที่ไม่เป็นธรรม

5. การจัดสรรงบประมาณเพื่อส่งเสริมหรือสนับสนุนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและการสนับสนุนการมีส่วนร่วม
ภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ที่มาของงบประมาณภาครัฐเป็นปัญหาใหญ่ ที่จะต้องกำหนดหรือวางแผนเป็นอย่างดี องค์กรที่จะทำหน้าที่ดังกล่าวมักจะมีผลประโยชน์ทับซ้อน และมีส่วนได้เสียในการกำหนดนโยบาย ด้วยที่มาของงบประมาณที่เป็นปัญหาเช่นนี้ จึงทำให้การจัดสรรงบประมาณมีการเรียงลำดับความสำคัญ และได้รับการจัดสรรเป็นไปตามอำนาจการต่อรองในทางการเมือง มากกว่าที่จะใช้ประเด็นความสำคัญเร่งด่วนในการกำหนด

ดังนั้น เมื่อสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของรัฐบกพร่องไป การให้ความสำคัญที่จะจัดสรรงบประมาณจึงเป็นปัญหาตามไปด้วย และแม้จะได้รับการจัดสรรงบประมาณมาแล้ว หากระบบการบริหารยังรวมศูนย์อำนาจในการจัดการอยู่ ก็ทำให้การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ไม่เป็นไปตามแนวทางที่จะแก้ปัญหาที่ทำให้ปัญหาดังกล่าวหมดไปอย่างถาวร และประกอบกับการไม่เปิดโอกาสให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง รวมถึงระบบการตรวจสอบการใช้อำนาจที่ไม่ดี ปัญหาการทุจริตโดยอ้างการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมจึงเกิดขึ้น ดังจะเห็นได้จากกรณีโครงการสร้างระบบบำบัดน้ำเสียคลองด่าน โครงการปลูกป่า โครงการจัดซื้ออุปกรณ์ป้องกันไฟป่า โครงการสร้างเขื่อน ฯลฯ

นอกจากปัญหาในเชิงการทุจริตงบประมาณแล้ว ยังมีปัญหาในระบบการบริหารงบประมาณทั้งระบบ ที่ไม่สามารถทำให้องค์กรในระดับปฎิบัติ สามารถที่จะนำงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด ไปบริหารให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดได้ เพราะระเบียบวิธีการที่หยุมหยิบเกินที่จะเผชิญกับสภาพปัญหาที่รุมเร้า ซึ่งเป็นปัญหาดังเช่นที่นายกรัฐมนตรี เคยแสดงความไม่พอใจอย่างรุนแรง ต่อระบบการเบิกจ่ายงบประมาณในการแก้ปัญหา

และในทำนองเดียวกัน เมื่อการแก้ปัญหารอไม่ได้ ประชาชนในพื้นที่หลายแห่งจึงระดมแรงงาน/งบประมาณ ที่จะเข้าไปดำเนินการเองบางพื้นที่ และก็ทำได้สำเร็จเป็นอย่างดี แต่หลายๆพื้นที่เกิดเป็นปัญหาที่พิพาทกัน ระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับประชาชน จึงทำให้สภาพความร่วมมือยากที่จะพัฒนาต่อไปได้ สิ่งเหล่านี้ยิ่งทำให้เกิดการขาดทุนทางสังคม เพราะระเบียบงบประมาณอันหยุมหยิมที่ผูกติดอยู่กับเจ้าหน้าที่ ที่ไม่เข้าใจและเข้าไม่ถึงปัญหา

6. ระบบการจัดการฐานข้อมูลข่าวสารสารสนเทศที่มีประสิทธิภาพ
เมื่อการให้ความสำคัญในระดับนโยบาย เกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แบบมีส่วนร่วมและยั่งยืนไม่ถูกให้ความสำคัญ ผลที่ตามมาก็คือระบบงานพื้นฐานอื่นๆ ก็จะเป็นปัญหาที่ได้รับผลกระทบตามไปด้วย

ระบบฐานข้อมูลสารสนเทศในทางด้านการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งที่จำเป็นและสามารถที่จะสะท้อนให้เห็นภารกิจต่างๆ ที่จะต้องดำเนินการวางแผน จัดสรรงบประมาณ วางอัตรากำลัง ประเมินสถานะการณ์ ฯลฯ ที่จำเป็นจะต้องนำมาใช้ประกอบการวางแผนบริหารจัดการ เมื่อประเมินจากสิ่งที่มีอยู่ของระบบสารสนเทศทางด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของไทย ณ เวลานี้ สามารถที่จะเป็นคำตอบในหลายๆประเด็นคำถาม ที่สะท้อนความล้มเหลวของระบบการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และไม่ได้ล้มเหลวเฉพาะปัญหาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่หมายถึงความล้มเหลวทั้งหมดในทุกๆด้านของประเทศไทย ที่ตั้งอยู่บนความร่ำรวยหลากหลายของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงภูมิปัญญาความรู้มากมาย

7.ระบบการตรวจสอบติดตามตรวจสอบประเมินผลที่มีประสิทธิภาพ
ด้วยเหตุที่รัฐรวมถึงสังคมไทย ไม่ได้ให้ความสำคัญต่อระบบการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมแบบมีส่วนร่วมและยั่งยืน เพราะในอดีตที่ผ่านมาทรัพยากรธรรมชาติมีอยู่มากมาย ปัญหาต่างๆทางสิ่งแวดล้อมยังไม่รุนแรง ดังนั้นการจะนำเอาทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ประโยชน์จึงเป็นไปอย่างที่ไม่รู้คุณค่า เพราะมัวแต่ไปนึกถึงมูลค่าทางเศรษฐกิจ การเน้นทางด้านการใช้อย่างเข้มข้น จึงไม่เคยนึกถึงระบบการตรวจสอบ แต่นึกถึงการจัดสรรแทน

โดยเหตุนี้ ความล้มเหลวของระบบการบริหารจัดการ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ผ่านมา จึงสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนที่สุดว่า สังคมไทยขาดระบบการตรวจสอบติดตามประเมินผลที่มีประสิทธิภาพ และแม้ในปัจจุบัน ภาคประชาชนพยายามที่จะลุกขึ้นมาพัฒนา และดำเนินการเพื่อติดตามตรวจสอบประเมินผลหลายๆโครงการ แต่ปรากฏว่าประสบกับอุปสรรคต่างๆมากมายที่ทำให้ระบบการติดตามตรวจสอบไม่เกิดผล ทั้งๆที่มีกฎหมายบัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่าเป็นความผิด หรือไม่ชอบด้วยขั้นตอนของกฎหมาย

8. การใช้อำนาจรัฐตามหลักนิติรัฐ ในกรณีการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ประชาชนมีส่วนร่วม
กระบวนการใช้อำนาจรัฐ เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องกล่าวถึงในทุกๆรัฐ สำหรับกรณีประเทศไทยในระยะสิบปีที่ผ่านมา อาจจะกล่าวได้ว่าพัฒนาการของกฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และระบบการควบคุมตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ มีพัฒนาการไปในระดับที่น่าพอใจในเชิงบทบัญญัติ แต่ในเชิงวัฒนธรรมในการใช้อำนาจของนักกฎหมาย ยังไม่ได้นำหลักการดังกล่าวมาใช้อย่างเต็มที่ และในหลายๆกรณีจงใจที่จะเลี่ยงกฎหมายแม้จะเป็นกฎหมายสูงสุดก็ตาม

ดังนั้น ถ้าหากถามว่าความล้มเหลวของระบบการบริการจัดการ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ล้มเหลว ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมและไม่เป็นไปในแนวทางการจัดการแบบยั่งยืนเกิดขึ้นเพราะอะไร? นอกจากโครงสร้างของระบบกฎหมายทั้งระบบที่เป็นสาเหตุสำคัญดังที่กล่าวมาข้างต้น ประกอบกับการขาดสำนึกในระดับนโยบายแล้ว กระบวนการใช้อำนาจตามกฎหมายก็ตั้งอยู่บนวัฒนธรรมบริโภคนิยม อำนาจนิยม และความไม่รู้ทั้งสุจริตและทุจริตของผู้สร้างกฎหมาย ผู้บังคับใช้กฎหมาย และผู้ชี้ขาด

โดยเหตุนี้ เมื่อตรวจสอบโดยอาศัยเครื่องมือหรือมาตรการต่างๆในทางกฎหมายดังที่กล่าวมาทั้งหมดแล้ว จะเห็นได้ว่า สังคมและสิ่งแวดล้อมภายใต้อำนาจรัฐ(ไทย) ไม่ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมแบบมีส่วนร่วมและยั่งยืนเท่าที่ควร เป็นไปตามบุญตามกรรม ในหลายกรณีประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเหมือนกับตัวถ่วงการพัฒนา และในหลายๆครั้งที่รัฐ (รัฐบาลและราชการ) วางตัวอยู่เหนือกฎหมาย

ข้อเสนอต่อสังคมและพรรคการเมืองเพื่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแบบมีส่วนร่วมและยั่งยืน
ข้อเสนอต่อภาคประชาชน

1. ประสานความร่วมมือ บนการยอมรับความแตกต่างทางความคิด และแนวทางในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมแบบมีส่วนร่วม โดยมีเป้าหมายร่วมกันว่าจะต้องเกิดระบบการจัดการบนแนวทางแบบพอเพียงและยั่งยืน โดยอิงอยู่บนฐานของความรู้

2. นำหลักการที่รัฐธรรมนูญกำหนด และบทบัญญัติของกฎหมายที่เป็นไปเพื่อการสร้างความร่วมมือในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมแบบมีส่วนร่วมและยั่งยืน
มาปฎิบัติเป็นแบบอย่างให้กับรัฐ เพราะประชาชนก็เป็นผู้ที่มีหน้าที่ในการปฎิบัติตามกฎหมาย

3. ร่วมกันปฎิรูประบบกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อแนวทางในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมแบบมีส่วนร่วมและยั่งยืน ทั้งระบบ รวมถึงสร้างความรับรู้ให้เกิดขึ้นกับนักกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักกฎหมายที่อยู่ในตำแหน่งสำคัญๆ ทั้งนี้ร่วมถึงผู้ที่ดำรงตำแหน่งที่ใช้อำนาจตามกฎหมายด้วย

4. ไม่วางเฉยกับการใช้อำนาจรัฐ ที่จงใจละเมิดหลักนิติรัฐ หลักการบริการกิจการบ้านเมืองที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต่อโครงการขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ข้อเสนอต่อพรรคการเมืองและนักการเมือง

1. ทำตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด โดยเฉพาะในหลักการสำคัญๆที่เกี่ยวกับบทบาทภาคประชาชน ต่อการมีส่วนร่วมในทุกๆระดับ ในการจัดทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

2. ประกาศจุดยืนให้ชัดเจนและกำหนดเป้าหมายที่เป็นรูปธรรมว่า จะทำอะไรและอย่างไร ที่จะทำให้เกิดระบบในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมแบบมีส่วนร่วมและยั่งยืน แม้จะได้รับเลือกตั้งหรือไม่ก็ตาม หรือแม้จะได้เป็นรัฐบาลหรือไม่ก็ตาม อาทิเช่น จะผลักดันกฎหมายอะไรบ้าง ฯลฯ

3. จัดทำนโยบายและแผนการดำเนินการในฐานะนักการเมือง และในฐานะพรรคการเมือง ที่จะปฎิรูประบบกฎหมายเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติแ ละสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนอย่างจริงจัง และครอบคลุมมิติต่างๆที่เป็นปัญหาดังที่ได้สะท้อนให้เห็นแล้วในส่วนที่ 2

4. ให้การสนับสนุนต่อกิจกรรมของภาคประชาชนในการดำเนินการตาม ข้อ 1- 4อย่างจริงจัง

 

เชิงอรรถ
(1) กรณีครบวาระของรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎร ภายใต้การนำของพรรคไทยรักไทย

(2) เมื่อกล่าวถึงการประเมินผลงานของรัฐบาล ในอดีตที่ผ่านมา บทความหรืองานวิชาการที่ทำการศึกษาเพื่อประเมินผลการทำงานหรือการใช้อำนาจ มักจะกล่าวถึงการทำงานของรัฐ ในฐานะที่เป็นผลงานของรัฐบาล แต่การประเมินในลักษณะดังกล่าวทำให้เราละเลยกลไกการใช้อำนาจทางกฎหมาย โดยพิจารณาแต่ด้านเดียวคือด้านของรัฐบาล ในขณะที่ กลไกของระบบกฎหมาย ตามหลักอำนาจอธิปไตย หลักการแบ่งแยกอำนาจ และ หลักการควบคุมตรวจสอบถ่วงดุล แล้วประกอบด้วย องค์กรที่ใช้อำนาจที่จะต้องสอดประสานการใช้อำนาจที่สมดุลระหว่างอำนาจต่างๆ ดังนั้น เมื่อเรากล่าวถึงอำนาจรัฐ จึงไม่ควรที่จะดูแต่เฉพาะการใช้อำนาจของรัฐบาลเท่านั้น ควรที่จะดูถึงการใช้อำนาจของรัฐสภา และ ศาลต่างๆด้วย จึงจะเห็นภาพและปัญหาที่แท้จริงของการใช้อำนาจในนามของ " รัฐ " ไทย และจะช่วยทำให้เกิดความชัดเจนในการวิเคราะห์ปัญหา และจัดทำข้อเสนอแนะ

(3) ดูรายละเอียดเรื่องการกระทำของรัฐบาล การกระทำทางนิติบัญญัติหรือการกระทำของรัฐสภา และ การกระทำทางตุลาการ ใน " นิติกรรมทางปกครอง " ดร.ฤทัย หงส์ศิริ คู่มือ การศึกษาวิชากฎหมายปกครอง จัดพิมพ์โดย สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา 2540 หน้า 249-257

 


สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 450 เรื่อง หนากว่า 5000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com




 

H
บทความวิชาการ สาขานิติศาสตร์ เรื่อง "ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมภายใต้อำนาจรัฐไทย" เขียนโดย ไพสิฐ พาณิชย์กุล, สาขานิติศาสตร์ คณะสังคมฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ดังนั้น บนหลักเกณฑ์เช่นนี้ สามารถที่จะกล่าวอย่างตรงไปตรงมาได้ว่า รัฐบาลชุดนี้ไม่มีนโยบายหรือไม่มีการกระทำใดๆที่ให้ความสำคัญหรือไม่มีความคิดหรือไม่มีสำนึก ในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติในแนวทางการอนุรักษ์ที่ประชาชนมีส่วนร่วม เมื่อเปรียบเทียบกับนโยบายอื่นๆที่รัฐบาลให้ความสำคัญ เช่น นโยบายสามสิบบาทรักษาทุกโรค นโยบายพักชำระหนี้ หรือนโยบายกองทุนหมู่บ้าน เป็นต้น

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 500 เรื่อง หนากว่า 6000 หน้า ในรูปของ CD-ROM ในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง) สนใจสั่งซื้อได้ที่
midnightuniv(at)yahoo.com
หรือ ส่งธนาณัติถึง
สมเกียรติ ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202

กรุณาส่งตั๋วแลกเงินไปยัง สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50202
อย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์

ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
เมื่อสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของรัฐบกพร่องไป การให้ความสำคัญที่จะจัดสรรงบประมาณจึงเป็นปัญหาตามไปด้วย และแม้จะได้รับการจัดสรรงบประมาณมาแล้ว หากระบบการบริหารยังรวมศูนย์อำนาจในการจัดการอยู่ ก็ทำให้การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ไม่เป็นไปตามแนวทางที่จะแก้ปัญหาที่ทำให้ปัญหาดังกล่าวหมดไปอย่างถาวร และประกอบกับการไม่เปิดโอกาสให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง รวมถึงระบบการตรวจสอบการใช้อำนาจที่ไม่ดี ปัญหาการทุจริตโดยอ้างการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมจึงเกิดขึ้น ดังจะเห็นได้จากกรณีโครงการสร้างระบบบำบัดน้ำเสียคลองด่าน โครงการปลูกป่า โครงการจัดซื้ออุปกรณ์ป้องกันไฟป่า โครงการสร้างเขื่อน ฯลฯ นอกจากปัญหาในเชิงการทุจริตงบประมาณแล้ว ยังมีปัญหาในระบบการบริหารงบประมาณทั้งระบบด้วย