ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
ผลงานภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบบทความบริการฟรีของ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

R
relate topic
241247
release date

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 496 หัวเรื่อง
ข้อร้องเรียนของกลุ่มศึกษาเขตการค้า
เสรีภาคประชาชน
เภสัชกรหญิง สำลี ใจดี และคณะ
นำเสนอต่อรัฐบาลและประชาชน
The Midnight 's article

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ

Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com

เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะ
สามารถแก้ปัญหาได้

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
เว็ปไซท์นี้มีการคลิกโดยเฉลี่ยต่อวัน 14119-26256 ครั้ง สำรวจเมื่อเดือนสิงหาคม 47
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ เพื่อประโยชน์ต่อสังคม

คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

สรุปผลการพิจารณาศึกษาของคณะอนุกรรมาธิการ
เพื่อพิจารณาการจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีของรัฐบาลไทยกับประเทศต่างๆ

หนังสือร้องเรียนของ
กลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชน

โดยผู้เสนอ เภสัชกรหญิง สำลี ใจดี และคณะ


หมายเหตุ:
บทความชิ้นนี้ได้รับการส่งมาให้เผยแพร่ ผ่าน email ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กรรณิการ์ กิจติเวชกุล บก. www.ftawatch.org
Kannikar KIJTIWATCHAKUL (Kar) Thai Action on Globalization
409 Soi Rohitsuk, Pracharatbamphen Rd. Huay Kwang, Bangkok 10320 Thailand
Tel.66-2-6910718-20 Fax.66-2-6910714 Mobile 66-9-7701872

(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 15 หน้ากระดาษ A4)

 

บทนำ
กลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA WATCH - Thai Citizen Sector) เป็นภาคีเครือข่ายของกลุ่มนักวิชาการจากสถาบันการศึกษาของรัฐและเอกชน นักกฎหมาย นักกิจกรรมทางสังคม เครือข่ายเกษตรกรรายย่อย เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี-เอดส์ เครือข่ายผู้บริโภค และองค์กรพัฒนาเอกชน ไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลได้ตัดสินใจเร่งนำประเทศไทยเข้าสู่การทำความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement: FTA) กับประเทศต่างๆ พร้อมกับนำเสนอผลประโยชน์ที่มุ่งเน้นการผลิตเพื่อส่งออก รวมทั้งเตรียมขยายกรอบการเจรจาให้ครอบคลุมทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเปิดเสรีการบริการทุกด้าน ทั้งทางการค้า การคมนาคม ฯลฯ ขยายการผูกขาดทรัพย์สินทางปัญญาโดยการจดสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิต การเพิ่มอายุสิทธิบัตร/ลิขสิทธิ์ ฯลฯ ซึ่งเป็นการสนับสนุนการเข้ามาของทุนข้ามชาติ และให้ความสำคัญแก่ยุทธศาสตร์โลกาภิวัตน์ของชาติอุตสาหกรรมตะวันตก มากกว่าแนวคิดเกื้อหนุนชุมชนท้องถิ่น และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการพึ่งตนเองของสังคมไทย

กลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชน ได้ศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้น พบว่า ความตกลงเขตการค้าเสรีในปัจจุบันได้เกิดผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อชีวิตชาวไทยกลุ่มต่างๆ เช่น

1. ความตกลงเขตการค้าเสรีกับประเทศจีนได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตเกษตรกรที่มีอาชีพปลูกหอม กระเทียม ผลไม้เมืองหนาว โดยเฉพาะกระเทียมได้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่การปลูกที่ลดลงจาก 130,000 ไร่ เหลือเพียง 50,000 ไร่

2. หากรัฐบาลเซ็นสัญญาความตกลงเขตการค้าเสรีกับประเทศออสเตรเลียในวันที่ 5 กรกฎาคม ศกนี้ จะส่งผลกระทบต่อครอบครัวผู้เลี้ยงโคนมที่มีมากกว่า 100,000 ราย (สหกรณ์โคนม 117 แห่ง) เกษตรกรรายย่อย 1 ล้านคน และกลุ่มโคเนื้อ 1 ล้านครอบครัว รวมทั้ง วัตถุดิบอาหารสัตว์และผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ จากนม และจะเกิดผลกระทบมากยิ่งขึ้น เพราะประเทศนิวซีแลนด์ก็แสดงท่าทียืนยันที่จะต้องได้ผลประโยชน์ได้ไม่น้อยกว่าประเทศออสเตรเลีย นอกจากนี้ ความตกลงยังได้เปิดโอกาสให้กับอุตสาหกรรม และบริการหลายด้านกับนักลงทุนออสเตรเลียให้เข้ามาลงทุนได้ ตั้งแต่ศูนย์แสดงสินค้านานาชาติ สถาบันการศึกษา โรงแรม เหมืองแร่ ฯลฯ โดยรัฐบาลไทย ไม่สามารถควบคุมการถ่ายโอนผลประโยชน์ได้ ในทางกลับกัน ออสเตรเลียเปิดโอกาสให้ประเทศไทยเพียงแค่สถาบันสอนการนวดไทย ทำอาหารไทย หากเกิดการลงทุนจำนวนเงินเกิน 10 ล้านแหรียญออสเตรเลีย ก็ต้องขออนุญาตจากกกรมการลงทุนของออสเตรเลีย และยังมีข้อยกเว้นห้ามลงทุนเรื่องสนามบิน หนังสือพิมพ์ การกระจายเสียง ฯลฯ จึงไม่ได้เอื้อให้กับการลงทุนของไทยก่อนการทำเอฟทีเอ

3. ในกรอบความตกลงเขตการค้าเสรีกับประเทศอเมริกา จะทำให้เกิดผลกระทบอย่างกว้างขวางกับหลายกลุ่มในหลายๆ ด้าน เพราะมีการเจรจาครอบคลุมทุกเรื่อง เช่น ทรัพย์สินทางปัญญา การค้าบริการ การลงทุน การธนาคาร โทรคมนาคม มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี เช่น มาตรการสุขอนามัย แหล่งกำเนิดสินค้า สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ เป็นต้น ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ จะส่งผลกระทบต่อกลุ่มต่างๆ มากในปัจจุบัน เช่น

- ส่งผลกระทบต่อระบบผูกขาดทรัพย์สินทางปัญญาที่มากกว่าความตกลงระหว่างประเทศ WTO เช่น การให้สิทธิเด็ดขาดในเรื่องข้อมูลยา (Data Exclusivity) การขยายอายุสิทธิบัตร ซึ่งจะส่งผลต่อการผูกขาดยา ราคายาที่แพงกระทบต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในปัจจุบัน และรวมถึงการจดสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิต

- กระทบต่อระบบตุลาการศาลไทย เช่น กลไกการระงับข้อพิพาทภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรี ต้องใช้ระบบอนุญาโตตุลาการมาทำหน้าที่แทน ซึ่งเท่ากับให้สิทธิพิเศษต่อผู้ลงทุนต่างชาติในการเลือกวิธีระงับข้อพิพาทได้เอง จะส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทย

- ภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรี สหรัฐอเมริกาจะผลักดันให้ไทยเปิดตลาดสินค้าจีเอ็มโอและรวมทั้งการผลักดันให้มีการปลูกพืชจีเอ็มโอในระดับไร่นา ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบการผลิตของชาวไร่ชาวนาอย่างมหาศาล

- ความตกลงเขตการค้าเสรีที่สหรัฐอเมริกากำหนด จะส่งผลกระทบที่รุนแรงกว้างขวาง จนถึงขั้นปรับเปลี่ยนระบบและโครงสร้างทางเศรษฐกิจสังคมของประเทศไทย เช่น การลงทุน ด้านการเงินการธนาคาร การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ธุรกิจเช่าซื้อลีสซิ่ง และธุรกิจร่วมลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนของบรรษัทข้ามชาติในการค้าและการบริการ

จากการติดตามกระบวนการดำเนินการจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีในช่วงเวลาที่ผ่านมา พบว่าการทำความตกลงเขตการค้าเสรีของรัฐบาล ไม่เน้นการศึกษาวิจัยถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้น โปร่งใส่น้อย ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนที่จะได้รับผลกระทบในอนาคต เป็นการเจรจาแบบ ไปตายเอาดาบหน้า หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องนี้ โดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์ไม่ได้แสดงท่าทีตั้งแต่แรกเรี่มที่จะฟังความคิดเห็นหรือปรึกษาหารือกับภาคส่วนต่างๆ ดังกล่าว ข้อมูลในการเจรจาทุกอย่างทำเป็นภาษาอังกฤษ และอ้างว่าเป็นความลับยังเปิดเผยไม่ได้ เพิ่งจะเผยแพร่ร่างคำแปลข้อตกลงเป็นภาษาไทยที่ไม่ครบถ้วนบนเว็บไซต์เมื่อไม่กี่วันมานี้

แม้รัฐบาลจะปรึกษาหารือกับภาคธุรกิจเอกชนบางกลุ่ม ก็ไม่ได้สะท้อนว่ารัฐบาลรับฟังความเห็นนั้นๆ อย่างแท้จริง และเสียงท้วงติงจากภาคประชาสังคมที่เผยแพร่ออกสู่สาธารณะก็ไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาล

ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ยังไม่คำนึงถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 3 และ 4 ว่า การปกครองของไทยเป็นระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุขและใช้อำนาจสูงสุดทาง รัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล การเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทยกับคู่ค้าทุกประเทศ เป็นการดำเนินการโดยฝ่ายบริหารเพียงฝ่ายเดียว ไม่มีส่วนร่วมของฝ่ายนิติบัญญัติ เอกสารทุกอย่างเปิดเผยไม่ได้ คณะกรรมาธิการของรัฐสภา ก็ตรวจสอบไม่ได้

โดยเฉพาะเมื่อเร็วๆ นี้ ที่คณะกรรมาธิการการต่างประเทศของวุฒิสภา พยายามติดต่อขอข้อมูลจากการจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างไทย-ออสเตรเลีย เพื่อตรวจสอบข้อตกลงและรายการสินค้าไทยประมาณ 300 รายการ ที่จะถูกลดภาษีเป็น 0% ทันที เมื่อความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย มีผลบังคับใช้ (ในวันที่ 1 มกราคม 2548) ซึ่งคาดว่าจะมีผลกระทบโดยตรงต่อเกษตรกร ผู้บริโภค และผู้ประกอบการชาวไทย แต่กระทรวงพาณิชย์ก็บ่ายเบี่ยง แม้กระทั่งในวันที่ความตกลงได้ผ่านมติของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2547 คณะกรรมาธิการฯ ได้ขอดูรายละเอียดของความตกลงที่รัฐบาลกำลังจะไปลงนามอีกครั้งก็ยังถูกปฏิเสธ ในขณะที่ฝ่ายออสเตรเลียแถลงข่าวการนำเสนอต่อรัฐสภา และเปิดเผยความตกลง/รายชื่อสินค้าที่เจรจากับไทยในเว็บไซต์

การกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจและสังคมของทุนข้ามชาติที่เข้ามาในประเทศไทยแบบนี้ จะเกิดผลกระทบโดยตรงต่อระบบการเมืองการปกครองไทย เพราะความเป็นอิสระหรืออธิปไตยของชาติจะลดลง จากการตัดสินใจของรัฐบาลในเรื่องนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศที่จะได้รับผลกระทบด้านลบจะได้รับการเยียวยาอย่างไร และที่สำคัญที่สุดคือ ใคร รัฐบาล หรือรัฐสภา เป็นผู้มีสิทธิตัดสินใจนำพาประเทศเข้าสู่ทางเลือกเช่นนี้

กลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชน จึงใคร่ถือโอกาสนี้เรียนเสนอข้อมูลต่อ ฯพณฯ ประธานรัฐสภา ผู้ซึ่งเป็นตัวแทนสูงสุดของฝ่ายนิติบัญญัติ และสมาชิกรัฐสภาผู้ทรงเกียรติ เพื่อตรวจสอบการดำเนินการของรัฐบาลในการเร่งจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ โดยลำพัง และทำงานในลักษณะปกปิดข้อมูล โดยไม่คำนึงถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 224

เนื่องจากรัฐบาลมีข้อผูกพันตามรัฐธรรมนูญที่ต้องให้ความเคารพต่ออำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย ในการนำประเทศไปผูกพันกับความตกลงระหว่างประเทศ และกระบวนการใช้อำนาจอธิปไตยที่ว่านี้ จะต้องให้ความเคารพยึดถือการมีส่วนร่วมตัดสินใจในกระบวนการเจรจา เพื่อหาฉันทามติร่วมกันจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายอย่างทั่วถึง ทั้งก่อนเริ่มและระหว่างการเจรจา บนหลักความโปร่งใส และการเป็นองค์กรธรรมาภิบาลที่ดี ทั้งนี้ โดยการนำประเด็นที่จะเจรจา และ/หรืออยู่ระหว่างการเจรจามาเปิดเผยต่อสาธารณะ พร้อมทั้งจัดให้มีการประชุมรับฟังข้อคิดเห็นสาธารณะเพื่อหาฉันทามติ และหรือทำการศึกษาวิจัยเพื่อพิจารณาผลกระทบควบคู่กับการหาทางป้องกัน-แก้ไขที่เหมาะสมก่อนที่จะเจรจาต่อไป

และก่อนที่จะมีการดำเนินการเพื่อขอความเห็นชอบตามรัฐธรรมนูญมาตรา 224 รัฐบาลสมควรเปิดโอกาสให้รัฐสภาได้มีโอกาสซักถาม และมีการอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติ เพื่อพิจารณาความตกลงที่ได้ยกร่างในแต่ละหัวข้อการเจรจา เพื่อแก้ไขปรับปรุงความตกลงให้มีความรัดกุม ก่อนที่รัฐบาลจะนำร่างความตกลงที่ทุกฝ่ายมีฉันทานุมัติร่วมกันแล้ว ดำเนินการเจรจา และขอความเห็นชอบต่อรัฐสภาตามมาตรา 224 แห่งรัฐธรรมนูญต่อไป ซึ่งเป็นการสร้างวัฒนธรรมหรือจารีตประเพณีที่ดี เพื่อเป็นหลักปฏิบัติในทางการเมืองที่ดีต่อไป ในการคุ้มครองประชาชาติไทยผู้ได้รับผลกระทบด้านลงจากการจัดทำเขตการค้าเสรีเหล่านี้

ประธานได้พิจารณาแล้วมีดำริส่งเรื่องให้คณะกรรมาธิการการพาณิชย์ สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาดำเนินการตามที่เห็นสมควร

การพิจารณาของคณะกรรมาธิการการพาณิชย์
คณะกรรมาธิการได้พิจารณา และเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย

1. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
2. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
3. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
4. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
5. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
6. ผู้ร้องเรียน เภสัชกรหญิง สำลี ใจดี และคณะ

ต่อจากนั้น คณะกรรมาธิการได้ตั้งคณะอนุกรรมาธิการขึ้นมาคณะหนึ่งเพื่อพิจารณาศึกษาการจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีของรัฐบาลไทยกับประเทศต่างๆ มีรายชื่อดังนี้

1.   นายสุรชัย เบ้าจรรยา                                   ประธานคณะอนุกรรมาธิการ
2. ดร.ระวัง เนตรโพธิ์แก้ว                                 อนุกรรมาธิการ
3. นายธราพงษ์ สีลาวงษ์                                   อนุกรรมาธิการ
4. นายรุ่งโรจน์ จักรชัยรุ่งเรือง                           อนุกรรมาธิการ
5. นางยุพดี วิภัติภูมิประเทศ                              อนุกรรมาธิการ
6. นางสุภาพิมพ์ หย่องตุก                                 อนุกรรมาธิการ
7. นายสุรพงษ์ ทองมา                                      อนุกรรมาธิการ
8. นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์                              อนุกรรมาธิการ
9. นายจักรชัย โฉมทองดี                                  อนุกรรมาธิการ
10. นางสาวสุรีรัตน์ ตรีมรรคา                          อนุกรรมาธิการ
11. นางอัญชนา วิทยาธรรมธัช                         ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการ (กระทรวงพาณิชย์)
12. นายมาส ตันหยงมาส                                 ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการ (กระทรวงพาณิชย์)
13. นายณัฐวัชร์ จันทร์วิเมลือง                         ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการ (กระทรวงพาณิชย์)
14. นายพินิจ กอศรีพร                                     ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการ (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์)
15. นายจันทร์ธิดา มีเดช                                  ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการ (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์)
16. นายวีรชัย พลาศรัย                                    ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการ (กระทรวงการต่างประเทศ)
17. นายชุตินทร คงศักดิ์                                  ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการ (กระทรวงการต่างประเทศ)
18. นางภัทรวรรณ เวชชศาสตร์                       ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการ (กระทรวงการต่างประเทศ)
19. นางสาวสุชาดา วราภรณ์                            ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการ (กระทรวงอุตสาหกรรม)
20. นายสมชาย หาญหิรัญ                                ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการ (กระทรวงอุตสาหกรรม)
21. นายศิริรุจ จุลกะรัตน์                                  ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการ (กระทรวงอุตสาหกรรม)
22. นายแพทย์ อำนวย กาจีนะ                           ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการ (กระทรวงสาธารณสุข)

         อำนาจหน้าที่
         1. พิจารณาศึกษาปัญหาการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีของรัฐบาลไทยกับประเทศต่างๆ
         2. กำหนดแนวทางและมาตรการในการแก้ไขปัญหาเสนอต่อคณะกรรมาธิการ เพื่อนำกราบเรียนประธานรัฐสภาต่อไป

         การพิจารณาของคณะอนุกรรมาธิการ 
         คณะอนุกรรมาธิการได้พิจารณาโดยเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมประชุม สรุปได้ดังนี้

การจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ
ความตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา
เริ่มทำเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2545 ในการประชุมรัฐมนตรีเอเปค ณ เมืองลอส คาบอส ประเทศเม็กซิโก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และผู้แทนการค้าสหรัฐ ได้ลงนามใน Trade and Investment Frame work Agreement: TIFA เป็นที่พอใจของทั้งสองฝ่าย และเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2546 นายกรัฐมนตรีไทยและประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ได้เห็นชอบร่วมกันให้เริ่มเจรจา FTA ระหว่างไทย-สหรัฐฯ เจรจาภายในเดือนมิถุนายน 2547 กรอบในการเจรจามีการครอบคลุมกว้างขวางและมีเป้าหมายการค้าระหว่างกัน (Comprehensive and Commercially Meaningful) ทั้งในเรื่องการค้าสินค้า มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี เช่น มาตรการด้านสุขอนามัย แหล่งกำเนิดสินค้า สิ่งทอ การค้าบริการ การเงินการธนาคาร โทรคมนาคม การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ นโยบายการแข่งขัน ทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้าและการพาณิชย์

ความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย
กรอบในการเจรจาครอบคลุมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจทุกด้าน การเจรจาแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ เปิดเสรีด้านการค้าสินค้า บริการและการลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจสาขาต่างๆ ได้จัดตั้งคณะเจรจา และ Expert Groups เพื่อเจรจาในรายละเอียดเฉพาะเรื่อง สำหรับแนวทางในการเจรจาใช้หลักการต่างตอบแทน ที่ให้ผลประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่ายและสอดคล้องกับกฎระเบียบของ WTO คำนึงถึงความแตกต่างของระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจของไทยและออสเตรเลีย ระยะเวลาในการเปิดเสรีควรเร็วกว่าการเปิดเสรีภายใต้กรอบ Asia Pacific Cooperation: APEC แต่สำหรับไทยจะไม่เกินกว่าและเร็วกว่า ASEAN Free Trade Area : AFTA และวิธีการเจรจาใช้ Requests/Offers ทั้งสินค้าและบริการ พิธีการลงนามการค้าเสรี (Trade - Australia Free Trade Agreement: TAFTA) ในวันที่ 5 กรกฎาคม 2547 คาดว่าการลดอากรตามความตกลง และจะเริ่มมีผลในวันที่ 1 มกราคม 2548

ความตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างไทย-อินเดีย
เริ่มเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2546 ได้มีการลงนามกรอบความตกลงจัดตั้งเขตการค้าเสรีไทย-อินเดีย กรอบการเจรจากำหนดให้เปิดเสรีโดยลดภาษีเหลือร้อยละ 0 ภายในปี 2553 การค้าบริการและการลงทุน ให้ทยอยเปิดเสรีในรายสาขาที่มีความพร้อมก่อน โดยจะเริ่มต้นเจรจารายละเอียดตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 การลดภาษีสินค้าบางส่วนทันที (Early Harvest Scheme: EHS) จำนวน 84 รายการ ได้แก่ ผลไม้ (เงาะ ลำไย มังคุด ทุเรียน) อาหารทะเลกระป๋อง ตู้เย็น เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์ เป็นต้น ความร่วมมือทางเศรษฐกิจให้มีการขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนในสาขาที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน เช่น เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร การท่องเที่ยว การสาธารณสุข การเงินและการธนาคาร การก่อสร้าง เป็นต้น ส่วนกลไกในการเจรจาได้จัดตั้งคณะกรรมการเจรจาการค้าไทย-อินเดีย เพื่อเจรจาในรายละเอียดของการดำเนินการเพื่อเปิดเสรีทางการค้าสินค้า บริการ และการลงทุน

กรอบความตกลงว่าด้วยการเป็นพันธมิตรทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดระหว่างไทยกับบาห์เรน
กรอบในการเจรจาใน Framework Agreement(FA) มีสาระสำคัญ 3 ส่วน คือ การลดภาษีก่อน (Early Harvest) ความตกลงเขตการค้าเสรี (Free trade Agreement: FTA) เปิดเสรีด้านการค้า สินค้า บริการและการลงทุนและการขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจในด้านต่างๆ แนวในการเจรจาให้มีผลทางปฏฺบัติในด้านการลดภาษีศุลกากรระหว่างกันก่อน ส่วนด้านอื่นๆ จะมีการเจรจาในขั้นต่อไป ประเด็นที่อาจเป็นอุปสรรคคือ บาห์เรนขอให้ไทยเปิดการค้าบริการสาขาการเงิน แต่ไทยต้องรอนโยบายหลัก

ความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-เปรู
กรอบการเจรจาครอบคลุมสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน โดยมีเป้าหมายเป็นเขตการค้าเสรีที่สมบูรณ์ในปี 2558 ยกเว้นสินค้าที่มีความอ่อนไหวจะพิจารณาเป็นรายการไป แนวทางในการเจรจาความตกลงว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นระหว่างไทยกับเปรู เป็นพื้นฐานในการจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีไทย-เปรู โดยครอบคลุมในเรื่องการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน ทั้งในด้านความร่วมมือและอำนวยความสะดวก รวมทั้งความร่วมมือในด้านอื่นๆ ได้แก่ การขนส่งและการท่องเที่ยว

ความตกลงว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดระหว่างไทย-นิวซีแลนด์
กรอบในการเจรจาครอบคลุมการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน รวมทั้งกฎเกณฑ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการค้า อาทิเช่น มาตรการสุขอนามัย อุปสรรคเทคนิคต่อการค้า

ความตกลงเขตการค้าอาเซียน ไทย-จีน
กรอบการเจรจาครอบคลุมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจในทุกด้าน การเจรจาแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ Early Harvest, FTA เปิดเสรีด้านการค้า การค้าบริการ และการลงทุน, การขยายความร่วมมือด้านอื่นๆ เช่น เกษตร เทคโนโลยีสารสนเทศ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เป็นต้น แผนการเจรจาในเรื่อง การลดภาษีที่เหลือ กฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการค้าสินค้าให้เสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2547

ความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-จีน
เริ่มเมื่อวันที่ 15-19 มิถุนายน 2546 ไทยและจีนได้ตกลงเร่งลดภาษีสินค้าผักและผลไม้ทุกรายการ เหลือ 0% ทันทีภายในวันที่ 1 ตุลาคม 2546 โดยมีกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า กำหนดให้สินค้าต้องผ่านกระบวนการผลิต โดยใช้วัตถุดิบภายในประเทศทั้งหมด กลไกการเจรจาได้มีคณะเจรจาไทย-จีน โดยใช้กรอบความร่วมมืออื่นๆ อาทิ Joint Economic Commission: JC เป็นเวทีหารือและสนับสนุน

ความร่วมมือหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดระหว่างไทย-ญี่ปุ่น
เริ่มเจรจาต้นปี 2547 โดยมีกระทรวงการต่างประเทศ เป็นหน่วยงานประสานงานกลาง กลไกในการเจรจาได้จัดตั้ง Working Group เพื่อเตรียมการสำหรับการเจรจาทำความตกลง (Japan-Thailand Closer Economic Partnership: JTEP) ซึ่งรวมถึงการจัดทำ FTA ด้วย กระทรวงพาณิชย์ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการ เรื่องการเปิดการค้าเสรีการค้าสินค้า บริการ และการลงทุน การส่งเสริมการค้าและการลงทุน การยุติข้อพิพาท ความร่วมมือด้านนโยบายการแข่งขันและทรัพย์สินทางปัญญา และการค้าผ่านสื่ออิเล็คทรอนิกส์

ผลดี-ผลเสีย จากการทำความตกลงเขตการค้าเสรี
ข้อดี

1. ทำให้เกิดโอกาสที่สินค้าและบริการไทยเข้าสู่ตลาดต่างประเทศได้สะดวกขึ้น อันส่งผลให้ปริมาณการค้าของไทยกับประเทศคู่ภาคีสูงขึ้น ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นในภาพรวม

2. ลดต้นทุนทางเศรษฐกิจในภาพรวม โดยเฉพาะผู้ผลิตของไทยสามารถสรรหาวัตถุดิบราถูก


3. เป็นกลไกผลักดันการปรับปรุงโค
รงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศ และการปรับตัวของภาครัฐและภาคเอกชน ด้วยการเสริมสร้างขีดความสามารถในการผลิต/การแข่งขัน ตอบสนองนโยบายของรัฐบาล ที่จะส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าและการลงทุนในระดับภูมิภาค


4. ส่งเสริมการลงทุนภายในประเทศ และดึงดูด FDI จากต่างประเทศ

5. เป็นกลไกเตรียมความพร้อมของไทยสำหรับกระบวนการเปิดเสรีทางการค้าภายใต้กรอบพหุภาคี (WTO)

ข้อเสีย

1. ผู้ที่ได้รับประโยชน์อาจเป็นผู้ประกอบการที่ร่วมลงทุนกับต่างชาติ ซึ่งอาจต้องอาศัยเงินลงทุนต่างชาติมากขึ้น อันจะทำให้ผลกำไรบางส่วนออกนอกประเทศ ในขณะที่สินค้าเกษตร/อุตสาหกรรม อาจยังประสบปัญหามาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี รวมทั้งมาตรการสุขอนามัยของคู่ภาคีจำกัดอยู่ ก็จะทำให้สินค้าดังกล่าวสามารถส่งออกได้ตามที่ต้องการ

2. ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศของไทยที่ยังปรับตัวไม่ทันตามระยะเวลาที่ไทยต้องปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้ความตกลง

3. กลุ่ม NGOs มองว่า การจัดทำความตกลง FTA จะกระทบอธิปไตยของไทยในแง่ที่ไทยจะต้องยอมเปลี่ยนแปลงกฎหมายเพื่อเปิดรับการค้าและการลงทุนจากต่างชาติมากขึ้น

4. ความตกลงการค้าเสรีรวมประเด็นใหม่ ได้แก่ การลงทุน การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เกินกว่า WTO การคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและคุ้มครองแรงงานนั้น อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อนโยบายและส่งผลกระทบต่อผู้ผลิต/ผู้บริโภคของไทย

แนวทางในการเตรียมการเจรจาการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ หน่วยงานที่รับผิดชอบ
ได้มีวางแผนรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นหรือไม่อย่างไร
ประเด็นการพิจารณามีดังนี้

1. ในเรื่องการศึกษาทางภาครัฐได้ศึกษาในวงจำกัดมากเกินไปหรือไม่ โดยมองในรูปการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการเพิ่มขึ้นของรายได้ แต่ผลกระทบในแต่ละกลุ่มแต่ละ Sector ซึ่งเป็นรายย่อย เช่น เกษตรกรผู้เพาะปลูกพืชผลทางการเกษตร กรณีตัวอย่างที่ไทยทำการค้าเสรีกับออสเตรเลีย ในการนำเข้าโคนมมีผลกระทบหรือไม่ และได้มีการเตรียมล่วงหน้าก่อนการเจรจาหรือไม่ อย่างไร
แนวทางการดำเนินการ ที่รัฐบาลจะทำการตกลงการค้าเสรีกับประเทศใดประเทศหนึ่งนั้น ได้มีการศึกษาผลดีผลเสียที่ไทยได้รับ ตลอดจนได้วางกลยุทธ์ในการรับมือกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น โดยได้จ้างนักวิชาการจากสถาบัน TDRI หรือสถาบันอื่นๆ ทำการสำรวจในเชิงลึกถึงรายละเอียดในแต่ละ Sector ซึ่งการทำ FTA นั้นมีทั้งได้เปรียบและเสียเปรียบ แต่หากมองในภาพรวมทั้งประเทศแล้วไทยได้เปรียบทางการค้า

2. การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ได้มีโอกาสเข้าร่วมรับฟังและมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นหรือไม่อย่างไร ประชาชน เกษตรกรหลายๆ กลุ่ม รวมถึงหน่วยงานภาครัฐวิสาหกิจและผู้มีส่วนได้เสีย
แนวทางในการดำเนินการ เจรจาทำความตกลงการค้าเสรีได้มีการประชุม และเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย รวมทั้งกลุ่มภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องในสาขาบริการการลงทุนร่วมรับฟัง ตลอดจนได้มีการชี้แจงประชาชนผู้ที่สนใจทุกท่านได้รับทราบผ่านทาง Website

3. ฝ่ายนิติบัญญัติมีส่วนร่วมในการเจรจา แต่บทบาทรายละเอียดในเนื้อหามีเรื่องอะไรบ้าง และเป้าหมายสูงสุดที่ได้จากการเจรจา (Maximum Position) คืออะไร และสิ่งที่คาดว่าไม่ได้จากการเจรจาเนื่องจากสาเหตุอะไร เพื่อเป็นสิ่งที่จัดได้ว่ามีประสิทธิจากการเจรจาได้สำเร็จหรือบรรลุเป้าหมาย

แนวทางการดำเนินการ ในด้านรายละเอียดของข้อมูลที่กระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการไปแล้วนั้น ได้ให้คำชี้แจงคณะกรรมาธิการหลายคณะทั้งในสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาของคณะกรรมาธิการต่อไป

แนวทางแก้ไขปัญหาอันจะเกิดขึ้นจากการทำ FTA กับประเทศต่างๆ นั้น ผู้ร้องเรียนจากกลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชน ได้สรุปประเด็นข้อซักถามกับหน่วยงานที่รับผิดชอบในการทำ FTA ของรัฐบาลมี 9 ประเด็น ซึ่งสรุปดังนี้

ประเด็นที่หนึ่ง เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า อาจมีผลกระทบจากการทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างประเทศ ที่มีผลด้านสาธารณสุขแยกเป็น 2 ประเด็นหลัก ดังนี้

1. การขยายเวลาครอบคลุมสิทธิบัตรจาก 20 ปี เป็น 25 ปี ในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา (TRIPs - Agreement on Trade Related Intellectual Properties Rights) เกี่ยวข้องกับสิทธิบัตรยาซึ่งไทยได้แก้ไขกฎหมายในปี 2535 ให้สอดคล้องกับ TRIPs ก่อนกำหนดเวลาล่วงหน้า 8 ปี ผลกระทบที่ไทยได้รับด้านสุขภาพ มีด้านราคาที่มีสิทธิบัตรสูงขึ้น ด้านการเข้าถึงยาจำเป็นของประชาชน ด้านค่าใช้จ่ายสุขภาพของประเทศ และด้านการสกัดการพัฒนาอุสาหกรรมการผลิตยาชื่อสามัญในประเทศ(Generic Name) ซึ่งหากมีการต่อรอง เพื่อขยายเวลาการคุ้มครองสิทธิบัตรของตัวยาต่อไป จะทำให้ประเทศไทยต้องพึ่งยานำเข้าจากต่างประเทศจำนวนมาก และส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสุขภาพพลานามัยของประชาชน ดังนั้นไทยควรมีจุดยืนที่ชัดเจนที่จะไม่เจรจาเพื่อขอให้มีการต่อรอง เพื่อเพิ่มอายุการคุ้มครองสิทธิบัตรยา แต่มีการเรียกร้องให้ลดอายุสิทธิบัตรยาลง เพื่อให้สามารถเข้าถึงยาได้อย่างทั่วถึง

2. การจำกัดการใช้ข้อมูลที่ไม่เปิดเผยในการขออนุญาตวางตลาด (Data Exclusivity) ซึ่งมีผลทำให้ผู้ผลิตยาไทยไม่สามารถผลิตได้ในเวลารวดเร็ว เป็นแนวทางทางปฏิบัติที่ประเทศพัฒนาแล้วนำมาต่อรอง และบังคับเพื่อเปิดโอกาสให้มีการขยายเวลาการผูกขาดทางการตลาดของตัวยาที่หมดการคุ้มครองทางสิทธิบัตรแล้ว ทั้งนี้เพื่อให้อุตสาหกรรมชื่อยาสามัญในประเทศ ไม่สามารถขึ้นทะเบียนตำรับยาชื่อสามัญได้ เพราะมีการจำกัดข้อมูลวิจัยทางด้านความปลอดภัย และประสิทธิผลที่มีอยู่แล้วของยาต้นแบบหมดการคุ้มครองลง ดังนั้น ไทยควรมีจุดยืนที่เข้มแข็งในการคัดค้านการขยายเวลาการผูกขาดทางตลาด

สำหรับท่าทีในการเจรจาในด้านทรัพย์สินทางปัญญากับประเทศสหรัฐอเมริกา อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาเป็นหัวหน้าคณะเจรจา มีผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วมอยู่ในคณะเจรจา ซึ่งการเจรจาเป็นไปตามกรอบที่ได้ตกลงไว้ตามกฎหมายไทย ก่อนการเจรจามีการประชุมล่วงหน้ากำหนดเป็นท่าทีร่วมของราชการ ถ้ามีการปรับเปลี่ยนจะนำข้อมูลมาปรึกษาก่อนตัดสินใจ

ประเด็นการเปิดเสรีภาคสาธารณสุข ส่งผลกระทบด้านการเคลื่อนย้ายบุคลากรด้านบริการทางการแพทย์ในการรองรับผู้ใช้บริการหรือไม่นั้น ปัจจุบันไทยยังไม่ได้รับผลกระทบด้านนี้เนื่องจากไทยยังไม่ได้เปิดบริการด้านสุขภาพให้กับประเทศใด ซึ่งแพทย์ต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทย มีข้อจำกัดว่าจะต้องผ่านการสอบใบประกอบโรคศิลป์ภายใต้การดูแลของสภาวิชาชีพแห่งประเทศไทย

ประเด็นที่สอง ผลดีผลเสียของสนธิสัญญาไมตรีฯ ที่ไทยทำกับสหรัฐอเมริกา กระทรวงการต่างประเทศ ไม่ได้ว่าจ้างให้มีการศึกษาผลดีผลเสีย แต่มีกระทรวงพาณิชย์ที่ได้ทำการศึกษาและได้มอบเอกสารให้คณะอนุกรรมาธิการเพื่อพิจารณาแล้ว

ประเด็นที่สาม เรื่องการแก้ไขปัญหากรณียกเว้นการปฏิบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง (MFN Exemption) ตามที่ไทยขอไว้กับ WTO เป็นระยะเวลา 10 ปี สำหรับสนธิสัญญาไมตรีและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจไทย-สหรัฐอเมริกา ซึ่งจะหมดอายุการขอยกเว้นในวันที่ 31 ธันวาคม 2547 เกี่ยวกับเรื่องนี้โดยไทยที่ยังไม่พร้อมที่จะให้การปฏิบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่งกับประเทศอื่น หลังจากที่ MFN Exemption หมดอายุ จึงจำเป็นต้องพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคีพร้อมกันไป ประกอบด้วยทางเลือกต่างๆ เช่น

1. การบอกเลิกสนธิสัญญาไมตรีฯ ซึ่งไทยสามารถทำได้ฝ่ายเดียว โดยจะมีผล 1 ปี ให้หลัง
2. ไม่ต้องดำเนินการเกี่ยวกับสนธิสัญญาทางไมตรีฯ แต่ขอต่ออายุ MFN Exemption จาก WTO
3. การขอ Waiver ภายใต้ WTO
4. การจัดทำ FTA ให้มีผลทดแทนสนธิสัญญาทางไมตรีฯ ในส่วนที่ไทยขอ MFN Exemption ไว้
5. การผสมผสานแนวทางดังกล่าวข้างต้น

ซึ่งในการพิจารณาทางเลือกดังกล่าว จำเป็นต้องบรรลุวัตถุประสงค์ 2 ประการ ได้แก่ 1) สอดคล้องกับเงื่อนไขที่ทั้งไทยและสหรัฐฯ ยอมรับได้และไม่ขัดกับทั้งสนธิสัญญามนตรีหรือหลักกฎหมายระหว่างประเทศ และ 2) สอดคล้องกับความตกลง WTO โดยที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงพาณิชย์ได้ร่วมมือกัน / ประสานท่าทีในเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด

ประเด็นที่สี่ เรื่องการดำเนินการแก้ไขปัญหาของความตกลงเขตการค้าเสรีที่จะทำกับประเทศต่างๆ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญา ในข้อ 4 ของ TRIPs เรื่อง MFN Exemption ภายใต้ FTA ครอบคลุมเฉพาะการค้าสินค้าและบริการ แต่ไม่ครอบคลุมทรัพย์สินทางปัญญา ดังนั้น หากในการเจรจา FTA มีการให้สิทธิประโยชน์เกินกว่า TRIPs (TRIPs Plus) จะอยู่บนพื้นฐาน MFN สำหรับการเจรจา FTA ของไทยในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่ผ่านมานั้น ใช้กรอบกฎหมายของไทยที่มีอยู่เป็นแนวทาง ซึ่งท่าทีในขณะนี้คือไม่รับพันธกรณีเกินกว่านั้น และต่อข้อห่วงกังวล/ข้อสังเกตของผูร้องเรียนที่ว่าการเจรจาแต่ละครั้งมีความคืบหน้า/การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว จึงอยากให้มีกลไกติดตามอย่างใกล้ชิดนั้น โดยที่ขณะนี้ไทยยังไม่มีนโยบายที่จะเจรจาเกินไปกว่ากรอบของกฎหมายไทย หากคู่เจรจาเรียกร้องเกินกว่านั้น ก็จำเป็นต้องกลับมาพิจารณาภายในประเทศระหว่างงานที่เกี่ยวข้องก่อนเสมอ

ข้อสังเกตของผู้ร้องเรียน ในการเจรจาทุกครั้งจะมีขบวนการเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละครั้ง ซึ่งจะมีข้อยกเว้น จึงอยากให้มีกลไกติดตามที่แน่ชัด

ประเด็นที่ห้า เกี่ยวกับกระบวนการเลือกสรรสินค้าที่คณะเจรจาฯ พยายามเปิดตลาดนั้น ในการกำหนดท่าทีของการเจรจาแต่ละประเทศได้มีการศึกษาก่อนที่จะทำ FTA ว่าสินค้าใดเป็นสินค้าที่ไทยจะได้เปรียบหรือเสียเปรียบ และสินค้าใดที่มีความอ่อนไหว รวมทั้งได้เชิญเกษตรกรเข้าหารือเพื่อให้ข้อมูลประกอบกาเจรจา นอกจากนั้นยังมีการเจรจาให้ความร่วมมือด้านความปลอดภัยของอาหาร (Food Safety) เพื่อยกระดับสินค้าไทยให้มีมาตรฐาน มีการรองรับมาตรฐานสินค้าร่วมกันเพื่อให้สินค้าไทยมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของทั่วโลก และยังได้มีการเจรจาความร่วมมือด้านการเชื่อมโยงระบบสหกรณ์ของสองประเทศเข้าด้วยกัน โดยเน้นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางด้านการค้าระหว่างชุมชนและการขยายตัวของตลาด

สำหรับความคืบหน้าของการเจรจากับประเทศญี่ปุ่น ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศหัวหน้าคณะเจรจานั้น ในการเจรจาฯ ไทยจะนำเสนอท่าทีที่เป็นประโยชน์สูงสุด (Maximum Position) โดยนำสินค้าทุกรายกรเข้าสู่การพิจารณา โดเฉพาะสินค้าไทยมีศักยภาพ/สินค้าที่สำคัญของไทย และเป็นที่ต้องการของญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 หัวหน้าคณะเจรจาฯ พร้อมหัวหน้ากลุ่มเจรจา (1 + 5) ได้หารือกันที่สวนสามพราน สรุปว่า เรื่องข้าวจะถูกนำออกจากการเจรจาฯ เนื่องจากข้าวเป็นสินค้าอ่อนไหวของญี่ปุ่น โดยปัจจุบัน ไทยก็สามารถส่งออกข้าวไปญี่ปุ่นได้อยู่แล้ว สำหรับสินค้าที่เหลือทุกรายการยังอยู่ในกรอบการเจรจาฯ โดยระหว่างวันที่ 8 - 10 พฤศจิกายน 2547 จะมีการเจรจา inter-sessional เรื่องการค้าสินค้า ณ โรงแรมเซ็นจูรี ปาร์ค

ประเด็นที่หก ขณะที่การศึกษาของ TDRI ระบุว่าการเจรจา FTA ของไทย ควรจะจำกัดแค่เพียง สหรัฐอเมริกา จีน และญี่ปุ่น รัฐบาลใช้เหตุผลในการที่จะเปิดการเจรจา FTA เพิ่มขึ้นอีกกับกลุ่มประเทศยุโรป เช่น สวิตเซอร์แลนด์ และไอซ์แลนด์

ผู้แทนสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมว่า สำนักงานฯ ได้ว่าจ้าง TDRI ทำการศึกษา โครงการจัดทำรูปแบบของการศึกษาผลกระทบของภาคอุตสาหกรรม อันเนื่องมาจากการเปิดเสรีแบบทวิภาคี โดยมีเป้าหมายเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์การเปิดเสรีในกรอบทวิภาคีที่เอื้อประโยชน์สูงสุดต่อภาคอุตสาหกรรมไทย ตลอดจนเพื่อเสนอแนวคิด เทคนิค และวิธีการเพื่อพิจารณาผลกระทบการเจรจาเพื่อเปิดเสรีทางการค้าของไทยต่อภาคอุตสาหกรรม และการปรับตัวภาคอุตสาหกรรมในการเตรียมความพร้อมในอุตสาหกรรมภายในประเทศ

ซึ่งจากเป้าหมายการศึกษาดังกล่าว จะเห็นว่าการศึกษาจำกัดเฉพาะภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ในการพิจารณาการเปิดเสรีของรัฐบาล ได้มีการพิจารณาการเปิดเสรีการค้า การลงทุนในสาขาการเกษตร/อุตสาหกรรม และการบริการ ดังนั้นจึงไม่สามารถนำผลการศึกษาดังกล่าวมาเป็นบรรทัดฐานที่รัฐบาลควรเปิดเสรีเฉพาะเพียง 3 ประเทศ ดังกล่าวข้างต้น

สำหรับประเด็นที่รัฐบาลทำความตกลงเขตการค้าเสรีกับประเทศอื่นมากกว่า 10 ประเทศ รวมทั้ง 3 ประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา จีน และญี่ปุ่น ซึ่งจากการศึกษาของสถาบัน TDRI พบว่า รัฐบาลทำการค้าเสรีกับ 3 ประเทศ มีผลประโยชน์ไม่แตกต่างจาการทำ FTA เมื่อเปรียบเทียบกับอีกหลายประเทศ ซึ่งจากคำชี้แจงของผู้แทนกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ผลประโยชน์ที่ได้รับสูงสุดเป็นภาคอุตสาหกรรมไทย แต่ในการเจรจาของรัฐบาล ได้ครอบคลุมยุทธศาสตร์ด้านการค้าสินค้าและบริการ รวมทั้งการลงทุนด้วย

ประเด็นที่เป็นข้อสังเกตของผู้ร้องเรียน ในการศึกษาของภาครัฐบาลควรจะมีการนำเสนอด้านสินค้าอื่นควบคู่ไปด้วยกัน เช่นการบริการและสินค้าเกษตร ซึ่งข้อสังเกตที่ผ่านมามีการเจรจาก่อนที่มีการศึกษาและเตรียมการภายหลัง ซึ่งทำให้รัฐบาลใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัดทั้งในเชิงงบประมาณและบุคลากรโดยสิ้นเปลือง ส่วนในเรื่องรายงานการศึกษาโดยใช้โมเดลทางเศรษฐศาสตร์ ยังไม่ได้รวมต้นทุนที่จะเกิดขึ้นจากความตกลง ดังนั้น การนำผลการศึกษาไปใช้ควรระมัดระวัง

ประเด็นที่เจ็ด เกี่ยวกับการเปิดเสรีการลงทุนระยะสั้นนั้น นโยบายของไทยช่วง 30 ปีที่ผ่านมากัน portfolio investment ออกจากการเจรจาเรื่องการคุ้มครองการลงทุน สำหรับสหรัฐฯและญี่ปุ่นนั้นยังไม่มีความตกลงเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนกับไทย ซึ่งในการเจรจา FTA กับทั้งสองประเทศนั้น จึงรวมเรื่องนี้ด้วย และไทยก็ยังมีท่าทีที่ไม่ต้องการให้ครอบคลุมการลงทุน portfolio investment โดยจะเน้นการลงทุนโดยตรงที่เป็นไปตามคำจำกัดความของ IMF กล่าวคือ กำหนดให้มีมูลค่าตั้งแต่ร้อยละ 10 ของสัดส่วนทุนในบริษัท นอกจากนี้ ไทยยังเรียกร้องให้มีมาตรการปกป้องดุลการชำระเงินในการเจรจา FTA กับทุกประเทศ ซึ่งจะอนุญาตให้ไทยดำเนินมาตรการควบคุมการไหลเวียนเงินทุนระยะสั้น ในกรณีที่มีปัญหาดุลการค้าชำระเงิน

ประเด็นที่แปด เกี่ยวกับกระบวนการยุติข้อพิพาทระหว่างรัฐกับนักลงทุนต่างชาติ ตามหลักการแล้ว ตามความตกลงส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนที่ไทยมี นักลงทุนต่างชาติสามารถนำข้อพิพาทกับรัฐบาลเสนออนุญาโตตุลาการต่างประเทศได้ด้วย และไทยมีกฎหมายพร้อมปฏิบัติอยู่แล้ว โดยฉบับล่าสุด กระทรวงยุติธรรม สำนักงานยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด กระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานด้านกฎหมายของไทยได้ร่วมกันยกร่างพระราชบัญญัติอณุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 เพื่อเป็นทางเลือก / ลดจำนวนการร้องคดีต่อศาลไทย

ส่วนประเด็นเรื่องข้อเสนอของสหรัฐฯ เกี่ยวกับกระบวนการระงับข้อพิพาทนั้น กระทรวงการต่างประเทศจะจัดการประชุมเตรียมการเจรจาเขตการค้าเสรีไทย-สหรัฐฯ ว่าด้วยเรื่องการลงทุน ในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2547 ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาข้อเสนอดังกล่าวของสหรัฐฯ สรุปได้ว่า ตัวบทที่สหรัฐฯ เสนอมีรายละเอียดมากกว่าที่เคยได้รับในอดีต อันเป็นผลจากประสบการณ์ของสหรัฐฯ ใน NAFTA จึงจำเป็นที่หน่วยงานด้านกฎหมายของไทยจะต้องศึกษาอีกระยะหนึ่ง

ข้อสังเกตกรณีพิพาทของรัฐบาลแคนาดากับสหรัฐอเมริกาในการที่บริษัทน้ำมันของสหรัฐได้เติมสารชนิดหนึ่งลงในน้ำมัน ซึ่งแคนาดาได้อ้างว่าสารชนิดที่เติมลงไปจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน แต่บริษัทน้ำมันของสหรัฐได้ให้เหตุผลว่า เป็นสิทธิในการลงทุน เมื่อเป็นเช่นนี้ หากเกิดข้อเรียกร้องกับประเทศไทย รัฐบาลไทยจะไม่มีมาตรการหารือนโยบายใดในการปกป้องสุขภาพของประชาชนไทย

ประเด็นที่เก้า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการทำ FTA จะหนุนระบบเศรษฐกิจพอเพียงทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติได้หรือไม่นั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ผลจากการทำ FTA มีส่วนช่วยลดอุปสรรคทางการค้าทั้งมาตรการทางภาษี และมาตรการที่มิใช่ภาษี ซึ่งจะเป็นการช่วยขยายตลาดสินค้าในประเทศให้มากขึ้น ผลผลิตที่ได้จากระบบเศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำเข้าตลาดชุมชน และเมื่อเกิดการรวมกลุ่มในรูปสหกรณ์ ก็จะทำให้ชุมชนแข็งแกร่งขึ้น สามารถรวมตัวกับสินค้าที่มีคุณภาพและส่งออกไปต่างประเทศได้ ซึ่งระยะยาว FTA และระบบเศรษฐกิจพอเพียงจะหนุนเสริมซึ่งกันและกันทั้งในชุมชนและระดับชาติ

ข้อสังเกตของผู้ร้องเรียน ในกรณีความเชื่อมโยงระหว่างการทำ FTA และการส่งเสริมระบบเศรษฐกิจพอเพียง ในขณะที่เศรษฐกิจไทยพึ่งพิงปัจจัยภายนอกในระดับสูงอยู่แล้ว การทำ FTA ตามแนวทางที่รัฐกำลังเร่งดำเนินการอยู่จะทำให้เศรษฐกิจไทยในภาพรวมและเศรษฐกิจในระดับรากหญ้า รวมถึงชุมชนในชนบท จะต้องพึ่งพิงปัจจัยภายนอกในการพัฒนามากขึ้น ซึ่งจะเป็นการขัดขวางการพัฒนาในระบบเศรษฐกิจพอเพียง

ข้อเสนออนุกรรมาธิการ
1. กระบวนการเจรจาเขตการค้าเสรี เป็นสิ่งที่ต่อเนื่องและใช้ระยะเวลานาน ฉะนั้นทางรัฐสภาควรมีกลไกในการติดตามผลการเจรจา เพื่อขอทราบความคืบหน้าจากผู้เจรจาได้เป็นระยะ และดำเนินการตามรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด ตลอดจนให้รัฐบาลนำเสนอกรอบการเจรจาและร่างความตกลงที่จะลงนามให้รัฐสภาได้พิจารณากรอบความตกลง และร่างความตกลงโดยไม่มีการลงมติ และหากความตกลงนั้นขอความเห็นต่อรัฐสภาก่อนที่จะลงนาม เพื่อให้ฝ่ายนิติบัญญัติได้มีส่วนร่วมกับฝ่ายบริหารในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

2. ให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน โดยใช้กระบวนการจัดทำประชาพิจารณ์ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี

3. ให้รัฐบาล/รัฐสภา ได้จัดทำร่างกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติการจัดทำความตกลงระหว่างประเทศ ที่กำหนดขั้นตอน กระบวนการ และการเข้าเป็นภาคีในความตกลงระหว่างประเทศ

ข้อสังเกตของที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการ
ที่ปรึกษาอนุกรรมาธิการ ที่ได้รับการแต่งตั้งจากส่วนราชการต่างๆ มีความเห็นว่า กระบวนการเจรจาเขตการค้าเสรีเป็นสิ่งที่ต่อเนื่อง จึงยินดีร่วมมือกับรัฐสภา และประชาชนในการให้ข้อมูลและรับทราบความคิดเห็น และเห็นว่าผู้เจรจาและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการโดยสอดคล้องตามรัฐธรรมนูญโดยเคร่งครัด

 

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 450 เรื่อง หนากว่า 5000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com




 

H
ข้อร้องเรียนเพื่อการตรวจสอบและความโปร่งใส กรณี รัฐบาลไทยได้ทำการเจรจาและทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ ทั้งนี้เพื่อคุ้มครองประชาชาติไทย

จากการติดตามกระบวนการดำเนินการจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีในช่วงเวลาที่ผ่านมา พบว่าการทำความตกลงเขตการค้าเสรีของรัฐบาล ไม่เน้นการศึกษาวิจัยถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้น โปร่งใส่น้อย ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนที่จะได้รับผลกระทบในอนาคต เป็นการเจรจาแบบ ไปตายเอาดาบหน้า...กระทรวงพาณิชย์ไม่ได้แสดงท่าทีตั้งแต่แรกเรี่มที่จะฟังความคิดเห็นหรือปรึกษาหารือกับภาคส่วนต่างๆ

โดยเฉพาะเมื่อเร็วๆ นี้ ที่คณะกรรมาธิการการต่างประเทศของวุฒิสภา พยายามติดต่อขอข้อมูลจากการจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างไทย-ออสเตรเลีย เพื่อตรวจสอบข้อตกลงและรายการสินค้าไทยประมาณ 300 รายการ ที่จะถูกลดภาษีเป็น 0% ทันที เมื่อความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย มีผลบังคับใช้ (ในวันที่ 1 มกราคม 2548) ซึ่งคาดว่าจะมีผลกระทบโดยตรงต่อเกษตรกร ผู้บริโภค และผู้ประกอบการชาวไทย แต่กระทรวงพาณิชย์ก็บ่ายเบี่ยง แม้กระทั่งในวันที่ความตกลงได้ผ่านมติของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2547 คณะกรรมาธิการฯ ได้ขอดูรายละเอียดของความตกลงที่รัฐบาลกำลังจะไปลงนามอีกครั้งก็ยังถูกปฏิเสธ ในขณะที่ฝ่ายออสเตรเลียแถลงข่าวการนำเสนอต่อรัฐสภา และเปิดเผยความตกลง/รายชื่อสินค้าที่เจรจากับไทยในเว็บไซต์

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 480 เรื่อง หนากว่า 5500 หน้า ในรูปของ CD-ROM ในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง) สนใจสั่งซื้อได้ที่
midnightuniv(at)yahoo.com
หรือ ส่งธนาณัติถึง
สมเกียรติ ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202

กรุณาส่งตั๋วแลกเงินไปยัง สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50202
อย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์