ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
ผลงานภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบบทความบริการฟรีของ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

R
relate topic
141247
release date

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 493 หัวเรื่อง
คู่มือเลือกตั้งเพื่อประชาธิปไตย
สำหรับคนไทยทุกคน
โดย คณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
The Midnight 's Politics

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ

Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com

เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะ
สามารถแก้ปัญหาได้

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
เว็ปไซท์นี้มีการคลิกโดยเฉลี่ยต่อวัน 14119-26256 ครั้ง สำรวจเมื่อเดือนสิงหาคม 47
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ เพื่อประโยชน์ต่อสังคม

คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

การออกแบบประชาธิปไตยในอนาคต
คู่มือเลือกตั้ง ๔ ไม่เลือก ๑๐ เลือก สำหรับคนไทย
คณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
การกำหนดทิศทางและนโยบายสาธารณะ ภาคประชาชน

หมายเหตุ:
คู่มือการเลือกตั้งฉบับนี้ แถลงอย่างเป็นทางการครั้งแรก ณ ลานปรีดี พนมยงค์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กรุงเทพฯ
วันที่ 10 ธันวาคม 2547 เวลา 09.30 - 11.30 น.
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 39 หน้ากระดาษ A4)

 

แถลงการณ์ 4 ไม่เลือก 10 เลือก
คู่มือการเลือกตั้ง 2548


สังคมไทยกำลังจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นอีกวาระหนึ่งในต้นปี 2548 นี้ ในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง นักการเมือง พรรคการเมือง ต่างพยายามเสนอนโยบายให้ประชาชนได้เลือก แต่นโยบายที่เสนอต่อประชาชนในการเลือกตั้งก็มีข้อจำกัด เนื่องจากอาจไม่ครอบคลุมเนื้อหาและประเด็นต่างๆ ที่ประชาชนเห็นว่ามีความสำคัญ อีกทั้งการรอเลือกนโยบายจากผู้ลงสมัครเลือกตั้ง ก็ทำให้ประชาชนอยู่ในฐานะของกบเลือกนายในทางการเมือง

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มีความเห็นว่าแทนที่จะรอรับนโยบายจากนักการเมืองแต่เพียงฝ่ายเดียว สังคมควรช่วยกันสร้างและสนับสนุนนโยบายต่างๆ ที่พิจารณาว่าเป็นประโยชน์ต่อสังคม เพื่อให้นักการเมืองได้มองเห็นความต้องการและรับเอานโยบายดังกล่าวไปปฏิบัติ อันจะเป็นการทำให้สังคมมีพลังในการกำหนดทิศทางนโยบายสาธารณะมากขึ้น

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนมีความเห็นว่า มี 14 ประเด็นโดยแบ่งเป็น "4 ไม่เลือกและ 10 เลือก" ที่ควรนำมาพิจารณาสำหรับการเลือกตั้งครั้งต่อไป ดังต่อไปนี้

4 ไม่เลือก
1. ไม่เลือกคนมือเปื้อนเลือดและหัวใจสมุน
2. ไม่เลือกคนล้าหลังคลั่งชาติ
3. ไม่เลือกนายหน้านายทุน
4. ไม่เลือกคนไทยหัวใจอเมริกัน
10 เลือก
1. เลือกผู้มุ่งมั่นกระจายที่ดินให้ถึงมือประชาชน
2. เลือกคนที่มีเจตนาและสามารถยุติวงจรคอรัปชั่น
3. เลือกผู้ที่แสดงเจตจำนงและผลักดันกฎหมายลูก
4. เลือกผู้ที่รังเกียจและมุ่งมั่นป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน
5. เลือกผู้ที่รู้เท่าทันโลกาภิวัตน์
6. เลือกผู้ที่เข้าใจคุณค่าศาสนธรรมในทางการเมือง
7. เลือกผู้ที่ผลักดันประชาธิปไตยทางตรง
8. เลือกผู้ที่ไม่ทรยศต่อการปฏิรูปการศึกษา
9. เลือกผู้ที่มุ่งมั่นในการสร้างพลังของสังคมเพื่อตรวจสอบรัฐบาล
10. เลือกผู้ที่พัฒนาทุนนิยมไทยให้พ้นจากความล้าหลังโดยไม่ลืมสังคม

อย่างไรก็ตาม เราตระหนักดีว่าแม้จะมีการเสนอนโยบายจากสังคมเกิดขึ้น แต่หากอาศัยเพียงกระบวนการหย่อนบัตร ก็อาจทำให้นักการเมืองพร้อมจะบิดพลิ้วสิ่งที่ได้ให้สัญญากับประชาชนไว้ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายที่มาจากข้อเสนอแนะของประชาชน หรือแม้กระทั่งกับนโยบายของตนเองก็ตาม การจะทำให้ข้อเสนอของสังคมเป็นนโยบายที่เข้มแข็งจึงไม่อาจยุติลงเพียงการหย่อนบัตร หากต้องเป็นกระบวนการทางสังคมที่คอยตรวจสอบ ผลักดัน และวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่องเท่านั้น ดังนั้นในข้อเสนอของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจึงไม่ได้จำกัดบทบาทไว้แค่การกาบัตรในวันเลือกตั้ง

หาก ส.ส. ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง พรรคการเมือง สื่อมวลชน และบุคคลหรือองค์กรอื่นใดมีความเห็นสอดคล้องกับเรา ก็ขอให้ร่วมกันเผยแพร่คู่มือการเลือกตั้งนี้ให้กระจายออกไปสู่สาธารณะอย่างกว้างขวาง ด้วยความหวังว่าจะทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ มีความหมายต่อการกำหนดทิศทางของสังคมไทยมากขึ้น ด้วยน้ำมือของคนไทยร่วมกัน

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนและองค์กรพันธมิตร
10 ธันวาคม 2547

๔ ไม่เลือก (รายละเอียด)
1. ไม่เลือกคนมือเปื้อนเลือดและหัวใจสมุน
สำหรับความรุนแรงเป็นปรากฎการณ์ที่พบเห็นอยู่ทั่วไป และอย่างต่อเนื่องในสังคมไทย ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือความรุนแรงจากการใช้กำลังทำร้ายร่างกาย เข่นฆ่า คุกคาม ข่มขู่ ทั้งในระหว่างประชาชนกันเอง เช่น ผู้ใหญ่ทำร้ายเด็ก สามีทำร้ายภรรยา เจ้าหนี้ทำร้ายลูกหนี้ นักเรียนนักศึกษายกพวกตีกัน ฯลฯ และระหว่างรัฐกับประชาชน

ความรุนแรงในอีกรูปแบบหนึ่ง อาจมองเห็นได้ไม่ชัดเจน แต่ทำร้ายผู้คนได้ไม่แพ้กัน คือ การปฏิเสธความเป็นคนที่เท่าเทียมกัน ปฏิเสธการได้รับการปฏิบัติที่เสมอกัน เช่น การมองกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ (เช่นคนที่พูดภาษาไทยกลางไม่ชัดหรือพูดไม่ได้ นับถือศาสนาอื่น) ว่าเป็นคนอื่น และปฏิเสธสิทธิที่เขาพึงมีพึงได้ ไม่รับรองสิทธิความเป็นพลเมือง เช่น การไม่ยอมให้สัญชาติไทย หรือคนจนในสังคมไทย ที่ถูกผลักให้เป็นคนชายขอบ ไม่เคยได้รับการยอมรับในความคิดเห็น ภูมิปัญญา และวิถีชีวิตที่พวกเขาเลือก เช่น กรณีชาวบ้านเขื่อนปากมูลที่ถูกบอกให้ละทิ้งวิถีชีวิตชาวประมงที่เขาพึ่งพาตัวเองได้ ไปเป็นคนงานรับจ้างที่ไร้ความมั่นคง โดยรัฐอ้างว่าเขาต้อง "ปรับตัว" ให้เข้ากับการพัฒนาของรัฐ

เมื่อสังคมปฏิเสธความเป็นคนที่เสมอกันของกลุ่มคนบางกลุ่มในสังคม สังคมก็พร้อมที่จะยอมให้รัฐใช้ความรุนแรงปฏิบัติต่อคนเหล่านั้น รัฐบาลชุดปัจจุบันได้อาศัยจุดอ่อนนี้ของสังคมไทย และสร้างความรุนแรงให้เกิดมากขึ้นในระยะเวลา ๓ ปีกว่าที่ผ่านมา

กรณีที่ขัดต่อสำนึกมนุษยธรรมของคนทั้งโลกอย่างรุนแรง คือกรณีการเสียชีวิตของประชาชนกว่า ๒,๕๐๐ ราย โดยอ้างว่าบุคคลเหล่านั้นเป็นผู้ค้ายาเสพติด และเป็นการฆ่ากันเอง รัฐบาลทำให้การติดยาเสพติดของคนในสังคมเป็นความเลวร้ายและรุนแรงจนถึงขั้นต้องประกาศ "สงคราม" (ทั้ง ๆ ที่ยังไม่มีข้อมูลยืนยันอย่างชัดเจนว่า มีผู้ติดยาเสพติดในสังคมจำนวนเท่าไรกันแน่ เป็นคนกลุ่มใดบ้าง) ผู้ค้ายาเสพติดถูกทำให้กลายเป็นปีศาจร้าย ไม่ใช่มนุษย์ ดังนั้นเมื่อรัฐใช้ความรุนแรงเข้าจัดการกับคนที่ถูกอ้างว่าเป็นผู้ค้ายา สังคมก็ให้การยอมรับ ทั้งๆ ที่เมื่อมีการขอให้ตรวจสอบสาเหตุการเสียชีวิตพร้อมทั้งแสดงหลักฐานต่างๆ ทางหน่วยงานของรัฐก็ไม่สามารถชี้แจงให้ชัดเจนได้ นอกจากนี้ในหลายกรณียังถูกเสนอว่าเป็นวิสามัญฆาตกรรม

การเสียชีวิตของคน ๒,๕๐๐ กว่าคนโดยไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจน ถือได้ว่า รัฐบาลไม่ให้ความสำคัญต่อกระบวนการยุติธรรม มุ่งเน้นแต่จะใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา ซึ่งมีผลที่อาจทำให้ผู้บริสุทธิ์ต้องเสียชีวิตไปโดยไม่ได้แก้ข้อกล่าวหา ที่สำคัญยังไม่มีการศึกษาที่ชี้ชัดว่า การปราบปรามอย่างรุนแรงนี้ได้ทำให้ผู้ที่เสพยาเสพติดมีจำนวนน้อยลง

ในทางตรงข้ามข้อมูลจากตำรวจกลับแสดงว่า อาชญากรรมที่เกี่ยวเนื่องกับยาเสพติดของเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม ๒๕๔๗ เพิ่มขึ้นเป็น ๑๗,๓๙๕ กรณี เมื่อเทียบกับของเดือนมกราคม-เมษายน ๒๕๔๗ ซึ่งมีจำนวน ๑๕,๑๔๗ กรณี นั่นก็คือยาเสพติดซึ่งมีราคาสูงขึ้นอย่างมากหลังการปราบปรามอย่างไร้มนุษยธรรม มีทีท่าว่าจะหวนกลับมาระบาดเท่าเดิมอีก

การใช้ความรุนแรงโดยกลไกของรัฐ ยังถูกนำมาใช้กับชาวบ้านที่ไม่ต้องการโครงการพัฒนาของรัฐ และมาชุมนุมประท้วงอย่างสันติภายใต้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ โดยอ้างว่าชาวบ้านเหล่านี้ขัดขวางความก้าวหน้าของประเทศ เช่น กรณีชาวบ้านที่ต่อต้านเขื่อนปากมูลที่มาชุมชนหน้าทำเนียบรัฐบาล ส่วนการชุมนุมของชาวบ้านจะนะต่อต้านท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย รัฐบาลกลับยินยอมหรืออยู่เบื้องหลังการใช้กำลังตำรวจเข้าปะทะอย่างโหดร้าย การใช้ความรุนแรงในกรณีต่างๆ ดังกล่าวนอกจากจะไม่ได้ทำให้ปัญหาหมดไป ยังถือได้ว่าเป็นละเมิดสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญด้วย

กรณีล่าสุดคือ ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งได้เริ่มมาตั้งแต่เดือนมกราคม ๒๕๔๗ จนถึงปัจจุบันนี้ มีการอ้างจากฝ่ายรัฐว่าบุคคลที่ก่อความไม่สงบเป็นผู้ต้องการแบ่งแยกดินแดน โดยใช้ศาสนาที่แตกต่างมาเป็นเครื่องมือ วิธีการที่รัฐบาลใช้เป็นด้านหลักก็ยังคงเป็นการใช้ความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นการนำทหารและตำรวจเข้าไปในพื้นที่จำนวนมาก การประกาศกฎอัยการศึก การคุกคามข่มขู่ ซึ่งผลที่ตามมาคือการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นทุกวัน ทั้งของประชาชนที่บริสุทธิ์และเจ้าหน้าที่ของรัฐ

ในหลายกรณีมีหลักฐานชัดเจนว่าการฆ่าประชาชนโดยทหารหรือตำรวจ เป็นการเข้าใจผิดของฝ่ายรัฐหรือเพราะไม่สามารถควบคุมตนเองได้ การอ้างว่าเพราะเจ้าหน้าที่มีความหวาดระแวง เพราะเคยถูกทำร้ายมาก่อนย่อมไม่สามารถฟังได้ เจ้าหน้าที่และโจรต่างก็มีอาวุธทั้งสองฝ่าย แต่เจ้าหน้าที่ได้รับสิทธิตามกฎหมายให้มีอาวุธเพื่อปกป้องผู้บริสุทธิ์ และได้รับการฝึกฝนให้เป็นบุคคลที่ต้องสามารถปฎิบัติงานได้แบบมืออาชีพ มิใช่ตระหนกตกใจอยู่ตลอดเวลา ถ้าไม่เช่นนั้นแล้ว ตำรวจจะต่างจากโจรได้อย่างไร

แต่เหตุการณ์ในภาคใต้ก็หาได้สงบลงเพราะวิธีการรุนแรงที่รัฐบาลส่งเสริมไม่ สถานการณ์กลับเลวร้ายลงตลอดมา ความไว้วางใจระหว่างประชาชนในพื้นที่และรัฐบาล ซึ่งเปราะบางมากอยู่แล้วจากอดีตที่ผ่านมา ยิ่งเปราะบางมากขึ้นจนแทบจะขาดสะบั้นลง ไม่เคยมียุคใดสมัยใดที่การเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชนในภาคใต้ จะสั่นคลอนบุรณภาพและอธิปไตยของรัฐไทยยิ่งไปกว่าภายใต้นโยบายใช้ความรุนแรงของรัฐบาลทักษิณ ทั้งๆ ที่ส่วนใหญ่ของประชาชนในภาคใต้ ไม่ได้ต้องการแยกตัวออกจากรัฐไทยแต่อย่างใด

และไม่นานมานี้เอง ก็มีผู้เสียชีวิตลง ๘๗ คนที่ตากใบ จากการใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมของประชาชน กลายเป็นข่าวอื้อฉาวไปในสื่อต่างๆ ทั่วโลก และสร้างความตกตะลึงแก่บุคคลทั่วไป ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ

จากเหตุการณ์ทั้งหมดดังกล่าวได้แสดงให้เห็นแล้วว่า การใช้ความรุนแรงมิได้เพียงแต่ไม่สามารถยุติความขัดแย้งที่เกิดขึ้น แต่ยังทำให้เกิดความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นตามมา เป็นการกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงที่มีอยู่แล้วในสังคมไทยให้ปรากฎมากขึ้น

เราจึงเห็นว่ารัฐบาลชุดใหม่ ควรมีนโยบายที่จะลดความรุนแรงในสังคมไทยอย่างจริงจัง โดยรัฐต้องเป็นตัวแบบที่สำคัญในการไม่ใช้ความรุนแรงกับประชาชนในทุกกรณี รัฐต้องเป็นตัวอย่างแก่ประชาชนในการเคารพกฎหมาย เคารพกระบวนการยุติธรรม และเมื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐคนใดใช้ความรุนแรง ละเมิดกฎหมายต้องได้รับการลงโทษในทันที

รัฐต้องให้ความเป็นธรรมและสิทธิแก่ชาวบ้านในการรักษาทรัพยากรของชุมชน ชาวบ้านต้องมีสิทธิเลือกวิถีชีวิตที่พวกเขาคิดว่าเหมาะสม ผู้นำรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องมีทัศนคติที่ให้ความสำคัญกับชีวิตทุกชีวิต ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นใคร มีสถานภาพทางสังคมอย่างไร นับถือศาสนาใด ทุกคนมีสิทธิในการได้รับการเคารพเท่าเทียมกันในฐานะมนุษย์ภายใต้รัฐธรรมนูญเดียวกัน

เราใคร่เรียกร้องให้ประชาชนเปิดเวทีเพื่อซักถามทัศนคติ และความคิดเห็นของผู้สมัคร ส.ส.ต่อกรณีความรุนแรงในสังคมไทย โดยเฉพาะที่กระทำโดยรัฐเสียเองอย่างจริงจัง หากเขาไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรง เขาจะต้องสัญญาว่าจะดำเนินการทางการเมืองอย่างไร เพี่อระงับการใช้ความรุนแรงของรัฐบาลอย่างได้ผล เราควรช่วยกันตรวจสอบอย่าให้คนกระหายเลือดเข้าไปสนับสนุนรัฐบาลกระหายเลือดเป็นอันขาด

2. ไม่เลือกคนล้าหลังคลั่งชาติ
ในกระแสโลกาภิวัตน์ซึ่งขับเคลื่อนโดยผลประโยชน์ของบรรษัทข้ามชาตินั้น ปราการสำคัญที่จะปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนทั่วไปในทุกประเทศคือชาติหรือประชาชาติ อย่างน้อยชาติก็เป็นไวยากรณ์ที่ยอมรับกันทั่วไปในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และเป็นส่วนหนึ่งในอัตลักษณ์ของผู้คนในยุคปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม พัฒนาการของรัฐชาติไทยยังมีปัญหาเพราะไม่ได้คลี่คลายไปถึงจุดสมบูรณ์ของความเป็นประชาชาติ นั่นก็คือชาติไทยไม่ส่อนัยะความหมายไปยังประชาชนหรือพลเมืองเป็นหลัก ในขณะเดียวกัน ชาติไทยกลับไปผูกพันความเป็นพลเมืองเข้ากับอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์สมมติอันหนึ่งที่เรียกว่า"ไทย" ทำให้เกิดปัญหากับประชาชนอีกจำนวนมากที่ไม่อาจรับอัตลักษณ์นั้นมาถือเป็นของตัวได้

ในปัจจุบันมีประชาชนนับเป็นหลายล้านคนทั้งที่มีสัญชาติไทยตามกฎหมาย และไม่มีสัญชาติไทยแต่อาศัยอยู่ในประเทศมาหลายชั่วคน ที่ถูกกีดกันออกไปจากความเป็นพลเมืองที่เสมอภาคกับคนอื่น วัฒนธรรมของเขาถูกเหยียดหยามหรือละเลยในเนื้อหาการศึกษา และในการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐ ในหลายกรณีไม่อาจเข้าถึงบริการของรัฐได้ รวมทั้งถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนเพราะความเป็นพลเมืองที่ไม่สมบูรณ์ดังกล่าว

ชาติไทยในฐานะที่เป็นปราการป้องกันประชาชนจากผลกระทบในทุกทางของกระแสโลกาภิวัตน์นั้นเอง กลับเป็นปราการที่อ่อนแอ ฉะนั้น รัฐบาลใหม่จึงต้องทำความเข้าใจเรื่องนี้ให้ดี และมีภาระที่จะต้องพัฒนาความเป็นชาติที่สมบูรณ์ของไทยขึ้นอย่างจริงจัง นับตั้งแต่การให้สิทธิพลเมืองอย่างสมบูรณ์แก่ประชาชนที่ชีวิตของเขาไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องอาศัยอยู่และสืบลูกหลานบนแผ่นดินไทยนี้เท่านั้น เราไม่อาจบรรลุความมั่นคงของชาติโดยการกีดกันคนเหล่านี้ออกจากความเป็นพลเมือง แต่ต้องยอมรับให้เขาอาศัยอยู่ในแผ่นดินไทยต่อไป ตรงกันข้าม เราอาจบรรลุความมั่นคงของชาติได้ดีกว่า ถ้ายอมรับประชาชนเหล่านี้ โดยมีกระบวนการสร้างความเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพของชาติอย่างเดียวกับที่เราต้องทำกับสมาชิกของชาติไทยอยู่แล้ว

รัฐบาลใหม่ควรให้ความสำคัญแก่การศึกษาเรียนรู้ ทั้งในการศึกษาในระบบและนอกระบบ ถึงความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์และวัฒนธรรม ตลอดจนวิถีชีวิตของประชาชนและพลเมืองไทย เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ การเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งความแตกต่างทางชาติพันธุ์, วัฒนธรรม (และเพศ) ควรถือเป็นความผิดทางอาญา และอาจเป็นเหตุให้ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งได้ด้วย

การปลุกกระแสชาตินิยมไม่ควรกระทำเพื่อให้เกิดการแตกแยกขึ้นในหมู่ประชาชน เพราะรากฐานของความปรองดองเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของชาติ ไม่ได้เกิดจากความเหมือนกัน แต่เกิดจากการยอมรับความแตกต่างกันต่างหาก ความรักชาติไม่ใช่การคล้อยตามผู้นำ หรือคล้อยตามมติมหาชน แต่คือความชื่นชมสิทธิเสรีภาพ ที่ชาติของเราสามารถอำนวยให้แก่คนทุกกลุ่มที่แตกต่างกันได้อย่างเสมอภาค ชาติต้องเป็นองค์รวมที่เราทุกคนสามารถเลือกจะเดิน และเติบโตไปตามครรลองที่ตนเองเลือกอย่างอิสระเสรี และอย่างรอบรู้ นี่คือคุณค่าของชาติที่รัฐบาลใหม่น่าจะปลูกฝังลงในประชากรไทยอย่างแข็งขัน

ฉะนั้น ความเป็นธรรมและประชาธิปไตยจึงเป็นหัวใจของชาติ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองคือภัยและศัตรูที่แท้จริงของชาติ เพราะกระแสชาตินิยมใดๆ ก็ไร้ความหมาย ถ้าคนกลุ่มเล็กๆ เป็นกลุ่มเดียวที่เก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากนโยบายของชาติไปเกือบหมด ปล่อยให้คนส่วนใหญ่ไร้โอกาส ไร้อำนาจและไร้ศักดิ์ศรี ชาติที่จะมีความหมายต่อพลเมืองทุกคนได้ จึงต้องเป็นชาติที่ให้โอกาสแก่คนทุกกลุ่มที่จะใช้เวทีสาธารณะ เพื่อการต่อรองอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งในสังคมประชาธิปไตยทุกแห่ง ไม่ได้มีเพียงการเลือกตั้งและสถาบันผู้แทนราษฎรเท่านั้น แต่มีเวทีสาธารณะที่เปิดกว้างทางอื่นๆ อีกมาก เช่น สื่อ การจัดองค์กร การศึกษา ตลอดจนการแสดงออกทางศิลปะและวัฒนธรรมที่ไม่ถูกครอบงำ

เราควรตรวจสอบความรักชาติของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ถ้าความรักชาติของเขามีความหมายแต่เพียงชักธงชาติไว้ตลอด ๒๔ ชั่วโมง หรือพร่ำพูดแต่คำว่าชาติและความเป็นไทย หรือประณามปรปักษ์ทางการเมืองของตัวว่าไม่มีความเป็นไทย ในกรณีเช่นนั้น ความรักชาติของเขาตื้นเขิน ก่อให้เกิดความแตกแยก และไม่เหมาะกับสภาพโลกาภิวัตน์ ที่จะต้องอาศัยชาติที่เข้มแข็งเป็นปราการป้องกันสิทธิเสรีภาพของพลเมือง อย่าเลือกคนประเภทนี้เข้าไปเป็นผู้แทนของเรา

ตรงกันข้าม ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่มีความเข้าใจนัยะสำคัญของความเป็นชาติในยุคโลกาภิวัตน์ คือความร่วมมือกันของพลเมือง โดยตั้งอยู่บนฐานของความยุติธรรมและประชาธิปไตย ยอมรับความแตกต่างของกันและกัน มุ่งจะปรับปรุงการศึกษา วัฒนธรรม และการบริหารที่จะทำให้เราบรรลุความเป็นชาติอย่างมีประสิทธิภาพ นั่นคือผู้สมัครที่เราควรเลือกให้เป็นผู้แทนของเรา

3. ไม่เลือกนายหน้านายทุน
หลังการล่มสลายของจักรวรรดิคอมมิวนิสต์ มีคนจำนวนมากเข้าใจว่าระบบทุนนิยมคือคำตอบสุดท้าย และทางดำเนินของทุกสังคมในอนาคตคือการก้าวเข้าสู่ความสัมพันธ์ที่มีตลาดเป็นตัวกำหนดไปทุกอย่าง สิ่งใดที่เข้าไปกำกับควบคุมกลไกตลาด แม้เพื่อประโยชน์ของสังคมก็พึงหลีกเลี่ยง รัฐจึงไม่มีบทบาทปกป้องคุ้มครองประชาชนอีกต่อไป เพราะเชื่อว่ากลไกตลาดจะทำงานไปในทางที่เป็นคุณแก่ประชาชนเองโดยอัตโนมัติ แม้แต่สวัสดิการพื้นฐานเช่นการรักษาพยาบาล การศึกษา ฯลฯ ก็ถูกนำเข้าสู่ตลาด

อย่างไรก็ตาม กาลเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมาได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การดำเนินนโยบายเสรีนิยมอย่างสุดโต่งเช่นนี้ ได้ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ แก่ประชาชนในประเทศเหล่านั้นอย่างกว้างขวาง นับตั้งแต่การว่างงานในระยะเวลาที่ยาวขึ้น การเข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาลที่จำเป็นสำหรับชีวิตและวัยของตนเอง แม้แต่โอกาสที่จะเข้าถึงการศึกษาในระดับสูงก็ลดลง กล่าวโดยสรุป มาตรฐานการครองชีพของประชาชน แม้แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้วก็ต่ำลง เพราะนโยบายเสรีนิยมสุดขั้วดังกล่าว เพราะผลที่แท้จริงของนโยบายเสรีนิยมสุดขั้ว คือการเปิดเสรีในการทำกำไรกันอย่างไม่อั้น ให้แก่กลุ่มคนหยิบมือเดียวที่ได้เปรียบอยู่แล้ว เหตุดังนั้น จึงเกิดปรากฏการณ์กระจุกตัวของทรัพย์สินในมือคนน้อยลงไปเรื่อยๆ ทั่วไปหมดทั้งโลก

ในกรณีประเทศไทย เมื่อเปรียบเทียบสภาพทางการเมืองกับประเทศพัฒนาแล้ว จะเห็นได้ว่า ขาดความสมดุลย์ของอำนาจทางการเมืองในระหว่างกลุ่มประชาชนต่างๆ อย่างมาก เพราะทุนนิยมที่พัฒนามาในประเทศไทยนั้นเป็นทุนนิยมล้าหลัง กล่าวคือไม่ได้พัฒนากลไกทางการเมืองและสังคมให้แก่คนกลุ่มต่างๆ เพื่อถ่วงดุลย์อำนาจระหว่างกันอย่างได้ผล ฉะนั้นลัทธิเสรีนิยมใหม่ซึ่งกำลังแพร่หลายในโลกตะวันตก โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา จะยิ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำและทุกข์ยากแสนสาหัสแก่ประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศไทยเสียยิ่งกว่าในโลกตะวันตกหลายเท่า

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยหลายชุดที่ผ่านมาดูจะไม่เข้าใจพิษภัยของเสรีนิยมใหม่ และทุนนิยมล้าหลังของตนเอง กลับพยายามดำเนินตามกระแสการพัฒนาที่ไม่เป็นธรรมนี้อย่างหลับหูหลับตา มีการเข้าไปทำข้อตกลงกับองค์กรระหว่างประเทศบางองค์กร หรือกับประเทศมหาอำนาจ เพื่อเปิดเสรีทางการเงิน บริการ การค้า การลงทุนด้านต่างๆ โดยไม่กลั่นกรองว่าส่วนใดที่จำเป็นต้องสงวนไว้สำหรับเป็นสวัสดิการของประชาชนไทย หรือเป็นโอกาสสำหรับประชาชนไทยจะเติบโตต่อไปก่อนเข้าสู่การแข่งขันระดับโลก อีกทั้งไม่ได้เร่งรัดพัฒนาส่วนที่เป็นจุดแข็งในวัฒนธรรมหรือเศรษฐกิจไทย เพื่อจะทำให้ไทยสามารถพึ่งตนเองในการเข้าแข่งขันในตลาดโลกได้

แม้แต่รัฐบาลของพรรคไทยรักไทย ซึ่งเคยทำทีท่าว่าจะขัดขืนแรงกดดันของมหาอำนาจทุนนิยมและองค์กรระหว่างประเทศ ซึ่งวางเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรมแก่ประเทศไทย ในที่สุดกลับร่วมมือกับทุนนิยมโลก ในการเปิดประเทศไทยให้แก่การหากำไรอย่างไม่อั้นของบริษัทข้ามชาติของประเทศทุนนิยม จึงทำตัวเหมือนเป็นนายหน้าให้แก่ทุนนิยมโลก ซ้ำเป็นนายหน้าที่คุมอำนาจทางการเมืองของประเทศได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเสียด้วย

เช่นความพยายามจะเร่งรัดบีบคั้นให้มีการขายรัฐวิสาหกิจ ประเภทที่ทำกำไรงามเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ รัฐวิสาหกิจบางประเภทเคยทำหน้าที่เป็นหลักประกันสวัสดิการพื้นฐานบางอย่างของประชาชน เช่น ด้านพลังงาน และขนส่งคมนาคม ก็กำลังจะถูกขายให้แก่ตลาด พื้นที่ป่า แม้แต่ในเขตวนอุทยานก็กำลังจะถูกพร่าเอามาทำกำไรกันในเชิงธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการทำกระเช้าไฟฟ้า และไนท์ซาฟารีสำหรับธุรกิจท่องเที่ยว

หรือการเปิดพื้นที่สำหรับการลงทุนประเภทต่างๆ นำเอากลไกตลาดเข้ามาจัดการกับทรัพยากรซึ่งเป็นพื้นฐานการดำรงชีวิตของผู้คนเช่นน้ำ จะนำเอาที่ราชพัสดุไปให้เอกชนลงทุนพัฒนา ทั้งๆ ที่หลายแห่งเป็นที่พำนักอาศัยของประชาชนผู้ยากไร้ ดำริจะให้โรงเรียนมีชื่อขายพันธบัตรแก่ผู้ปกครองซึ่งต้องการส่งบุตรหลานเข้าเรียน แม้รัฐธรรมนูญกำหนดให้การศึกษาในช่วง ๑๒ ปีแรกจะต้องให้เปล่า และรัฐน่าจะมีเป้าหมายให้เกิดความเสมอภาคในการศึกษาขึ้นอย่างแท้จริง

นับวันประชาชนไทยจะยิ่งตกอยู่ในความไม่มั่นคงของชีวิตมากขึ้น เนื่องจากรัฐบาลกลายเป็นนายหน้าให้แก่นายทุนทั้งในประเทศและต่างชาติ ถือโอกาสจากการเปิดเสรีอย่างไม่ยั้งคิดเหล่านี้บ่อนทำลายความมั่นคงทุกด้านของชีวิตลง

เราจึงใคร่เรียกร้องสังคมให้ใส่ใจกับเรื่องนี้ให้ดี ควรร่วมกันสร้างหลักประกันว่า รัฐบาลที่เราจะเลือกเข้ามาบริหารนั้น จะต้องถือเป็นพันธกิจของตนในการพัฒนาทุนนิยมไทยในด้านการเมืองและสังคม อันควรเป็นพันธกิจที่สำคัญกว่าตัวเลขจีดีพี หรือผลตอบแทนของตลาดหลักทรัพย์ ผู้สมัคร ส.ส.ที่เราควรเลือกต้องมีความเข้าใจประเด็นนี้อย่างชัดเจน พร้อมทั้งมีแผนงานว่าจะผลักดันรัฐบาลข้างหน้าในการพัฒนาการเมืองและสังคมของทุนนิยมอย่างไร เพื่อให้ไทยพ้นจากการเป็นทุนนิยมล้าหลัง

ในขณะเดียวกัน ผู้สมัครต้องเข้าใจภยันตรายของเสรีนิยมใหม่ โดยเฉพาะภยันตรายที่พึงบังเกิดแก่ประเทศที่ยังเป็นทุนนิยมล้าหลังอย่างไทย เขาควรรู้ว่าไทยจะต้องวางเงื่อนไขอะไรบ้างในการเปิดเสรี มีสิ่งใดบ้างที่ไม่ควรนำเข้าตลาดในทันที และสิ่งใดบ้างที่ไม่ควรนำเข้าตลาดเลย เพื่อจะทำให้รัฐสามารถปกป้องสังคมจากความผันผวนต่างๆ ของชีวิตได้ดีขึ้น

ดังนั้น ขอประชาชนไทยอย่าเลือกผู้สมัครที่ไม่ใส่ใจเรื่องนี้ โดยเฉพาะที่อวดอ้างแต่ตัวเลขจีดีพีหรือความจำเริญทางเศรษฐกิจ โดยไม่สนใจชะตากรรมของประชาชนทั่วไป

4. ไม่เลือกคนไทยหัวใจอเมริกัน
คนไทยกำลังกอดขีปนาวุธสัญชาติอเมริกันที่พุ่งเร็ว เพื่อนำไปสู่เป้าหมายของการทำลายตัวเอง

ดังที่ทราบกันอยู่แล้วว่า นับจากหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา ที่รัฐบาลไทยได้เลือกที่จะอาศัยฉายาอำนาจของสหรัฐในการป้องกันตนเอง แต่นโยบายนี้ไม่ได้มุ่งที่ความปลอดภัยของชาติโดยตรง แต่กลับเอาชาติไทยของเราไปผูกติดอยู่กับยุทธศาสตร์โลกของสหรัฐ ประเทศไทยจะถูกรุกรานหรือไม่ มิได้ขึ้นอยู่กับประเทศไทยเอง กลับขึ้นอยู่กับว่าความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับมหาอำนาจอื่นตึงเครียดถึงขนาดที่จะเปิดสงครามท้องถิ่นในภูมิภาคใดของโลกหรือไม่ ฉะนั้นหากประเทศไทยถูกรุกรานจริง กองกำลังหลักที่จะใช้ปกป้องบ้านเมืองกลับเป็นกองกำลังของสหรัฐ ดังนั้นกองทัพไทยจึงถูกพัฒนาขึ้นเพื่อทำภารกิจเป็นส่วนหนึ่งในยุทธศาสตร์โลกของสหรัฐเป็นสำคัญ

จุดมุ่งหมายที่แท้จริงของการผูกติดทางการเมืองระหว่างประเทศกับสหรัฐตลอดมาจึงไม่ใช่ความปลอดภัยของชาติ หากเพราะผู้มีอำนาจในบ้านเมืองซึ่งล้วนดำรงอำนาจทางการเมืองจากฐานอำนาจของกองทัพ ต่างต้องการให้สหรัฐสนับสนุนอำนาจการเมืองภายในของตัวเองด้วยความช่วยเหลือด้านต่างๆ เหตุดังนั้นความสัมพันธ์ทางการเมืองกับสหรัฐที่ผ่านมา ไทยจึงตกเป็นเบี้ยรองบ่อนตลอด เปิดให้การแทรกแซงของสหรัฐทั้งทางตรงและทางอ้อมและในทุกด้าน ทั้งหมดนี้เพียงเพื่อรักษาอำนาจทางการเมืองของผู้ปกครอง ซึ่งส่วนใหญ่มักฉ้อฉลเท่านั้น

ในขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดวัฒนธรรม"ตามก้นอเมริกัน"ในบรรดาผู้ปกครองไทยสืบมา แม้ในภายหลังไม่ได้อาศัยแต่กองทัพเป็นฐานอำนาจเพียงอย่างเดียวก็ตาม ทั้งนี้รวมไปถึงชนชั้นนำของสังคมไทยทั้งหมด ซึ่งมักจะถูกวัฒนธรรมอเมริกันครอบงำ ทั้งโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว เป็นส่วนใหญ่

ดังนั้นเมื่อสถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเปลี่ยนไป เช่นหมดยุคสงครามเย็นซึ่งแบ่งโลกออกเป็นสองขั้ว และนโยบายของรัฐบาลไทยเปลี่ยนไปสู่การสร้างระยะห่างที่ใกล้เคียงกันระหว่างไทยกับมหาอำนาจต่างๆ ของโลก วิธีคิดตามวัฒนธรรม"ตามก้นอเมริกัน"จึงยังติดอยู่ในหมู่ผู้นำและชนชั้นนำไทยอย่างเหนียวแน่น อะไรที่อเมริกันว่าดี ก็ว่าดีไปตามเขา อเมริกันว่าชั่ว ก็ชั่วไปตามเขา ฉะนั้นในสถานการณ์ที่ละเอียดอ่อนเช่นนี้ วัฒนธรรม"ตามก้นอเมริกัน"ในสมองของผู้นำและชนชั้นนำ จึงทำให้ไทยมีพลังสำหรับการต่อรองให้ได้จุดที่สมดุลที่สุดในความสัมพันธ์เกิดขึ้นได้ยาก

ยิ่งหลังจากนโยบายพัฒนา(ซึ่งทำตามคำสั่งของธนาคารโลกอันมีอเมริกันกำกับอยู่เบื้องหลัง) สหรัฐกลายเป็นแหล่งทุนและตลาดสำคัญในการระบายสินค้าของไทยมากขึ้นทุกที (ปัจจุบันตลาดอเมริกันมีมูลค่าประมาณ ๑๗% ของการส่งออกของไทย) ยิ่งทำให้ผู้นำไทยและชนชั้นนำไทยสูญสิ้นความคิดอ่านที่จะปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ ปล่อยให้สหรัฐบีบคั้นเอารัดเอาเปรียบได้ตามใจชอบ โดยอ้างว่าเพื่อรักษาแหล่งทุนและตลาดสำคัญนี้ไว้

อย่าลืมด้วยว่า เราดำเนินนโยบายพัฒนามาเกือบตลอดภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร และนโยบายพัฒนาที่เราใช้นั้นเป็นการพัฒนาที่ไม่เป็นธรรม และไม่ยั่งยืน เป็นนโยบายเพิ่มผลผลิตมวลรวมโดยวิธีรีดเอาทรัพยากรและแรงงานผู้คนไปกระจุกไว้กับคนจำนวนน้อย และคนจำนวนน้อยนี้แหละที่เก็บเกี่ยวผลกำไรได้เต็มที่จากแหล่งทุนและตลาดอเมริกัน และคนจำนวนน้อยนี้แหละที่เข้ามาถืออำนาจโดยตรงหรือโดยอ้อมในระบบเลือกตั้งของประชาธิปไตยไทย

ไม่แต่เพียงด้านการเมืองและเศรษฐกิจเท่านั้น แม้ด้านวัฒนธรรมผู้นำไทยก็ปล่อยให้อเมริกันครอบงำ อย่างไม่เปิดให้มีทางเลือกที่หลากหลาย เช่นระบบและโครงสร้างการศึกษาไทยนั้นลอกเลียนระบบและโครงสร้างของสหรัฐมาอย่างใกล้ชิด เช่นเดียวกับการจัดการด้านการจราจร น้ำ การบริหารบริษัท กองทัพ สื่อ ฯลฯ ล้วนตกอยู่ใต้การชี้นำหรือการลอกเลียนอเมริกันทั้งสิ้น และยิ่งถูกครอบงำทางวัฒนธรรมมากขึ้นเท่าไร โอกาสที่ไทยจะคิดและกระทำอย่างอิสระ ไม่ว่าในทางเศรษฐกิจ การเมือง หรือวัฒนธรรมก็ยิ่งริบหรี่ลงไปเรื่อยๆ ไม่จำเป็นต้องพูดถึงการต่อรองเรื่อง FTA การส่งทหารไปอิรักครั้งใหม่ หรือการปล่อยให้ซีไอเอเข้าไปปฏิบัติภารกิจในจุดล่อแหลมต่างๆ ของประเทศ ฯลฯ ผู้นำไทยและชนชั้นนำไทยกลับเห็นว่า เป็นความช่วยเหลือหรือความกรุณาปราณีของสหรัฐไปเสียหมด

ฉะนั้นวัฒนธรรม"ตามก้นอเมริกัน"จึงเป็นภยันตรายอย่างใหญ่หลวงต่อประเทศชาติ เราจึงใคร่เรียกร้องให้ประชาชนผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้ง พยายามกำจัดเหยื่อของวัฒนธรรม"ตามก้นอเมริกัน"ออกไปจากวงการเมืองไทย ด้วยการไม่เลือกบุคคลเหล่านั้นเข้าไปเป็นตัวแทนของเรา

เราควรตรวจสอบและประเมินเองว่า บุคคลที่เสนอตัวให้เราเลือกต่างๆ นั้น มีความเข้าใจภยันตรายของวัฒนธรรม"ตามก้นอเมริกัน"มากน้อยเพียงไร เขามีจุดยืนอย่างไรในการรักษาผลประโยชน์ของชาติบ้านเมืองเมื่อต้องสัมพันธ์กับสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็นในทางการเมืองระหว่างประเทศ ทางเศรษฐกิจ หรือในทางวัฒนธรรมก็ตาม ทั้งนี้รวมถึงกลวิธีอันชาญฉลาดในการเพิ่มอำนาจต่อรองของไทยในวงเจรจากับสหรัฐด้วย

๑๐ เลือก (รายละเอียด)
1. เลือกผู้มุ่งมั่นกระจายที่ดินให้ถึงมือประชาชน
การจัดการที่ดินยังคงเป็นปัญหาสำคัญสำหรับสังคมไทย ทั้งนี้เพราะในปัจจุบันมีเกษตรกรประมาณ ๑,๕๐๐,๐๐๐ ครอบครัว ที่ส่วนหนึ่งไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง และอีกส่วนมีที่ดินทำกินแต่ไม่พอเพียงต่อการยังชีพ

แม้ว่าสภาพสังคมไทยจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วจากนโยบายการพัฒนาอันมีผลให้ภาคการเกษตรลดความสำคัญลง แต่ตราบจนกระทั่งทุกวันนี้ประชาชนประมาณ ๑๔ ล้านคน ก็ยังดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยการทำเกษตร อย่างน้อยก็เป็นบางส่วนในการดำรงชีวิต การขาดแคลนที่ดินทำกินจึงเป็นปัญหาสำคัญที่ควรต้องได้รับความใส่ใจเหนือสิ่งอื่นใด

ที่ผ่านมาได้มีความพยายามในการแก้ไขด้วยการปฏิรูปที่ดิน การตราพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 โดยมีเป้าหมายเพื่อจัดที่ดินให้แก่เกษตรกรผู้ยากไร้ได้มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง แต่ในช่วงระยะเวลา 3 ทศวรรษหลังการปฏิรูปที่ดิน ก็ไม่ได้ทำให้เกษตรกรรายย่อยมีที่ดินและความมั่นคงในการถือครองที่ดินแต่อย่างใด

เนื่องจากการปฏิรูปที่ดินที่ได้กระทำไปภายใต้กฎหมายฉบับนี้ เป็นการนำเอาพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมมาแจกจ่ายให้แก่เกษตรกร โดยที่มิได้มีการวางมาตรการที่ทำให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดิน บุคคลที่เป็นเจ้าของที่ดินรายใหญ่ก็ยังคงสามารถถือครองที่ดินของตนได้ต่อไป และโดยที่ปราศจากการจำกัดปริมาณการถือครองดิน จึงเป็นแรงจูงใจให้เกิดความต้องการครอบครองที่ดินโดยรูปแบบต่างๆ ทั้งที่ชอบและไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะที่ดินกลายเป็นทรัพย์สินเพื่อเก็งกำไรในตลาดที่ให้ผลตอบแทนสูงมาก ทั้งระยะสั้นและระยะยาว

ดังข่าวเรื่องการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ภายใต้การสมคบกันระหว่างผู้มีอิทธิพลและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกิดขึ้นอย่างหนาหูมาโดยตลอด หรือการเข้าครอบครองที่ดินในพื้นที่ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กลับกลายเป็นผู้มีอันจะกินแทนเกษตรกรซึ่งไม่มีที่ดินทำกิน

นโยบายแปลงสินทรัพย์ให้เป็นทุน ยิ่งจะทำให้เกษตรกรสูญเสียที่ดินรวดเร็วขึ้น พร้อมกันไปกับการที่ที่ดินจะกระจุกตัวอยู่ในมือคนจำนวนน้อยเพิ่มขึ้น การที่บุคคลสามารถนำที่ดินที่แม้จะมิใช่เป็นเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ไปเป็นหลักประกันในการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินได้ จะมีประโยชน์เฉพาะหน้ากับเกษตรกรส่วนใหญ่ในระยะสั้นเท่านั้น ในระยะยาวตราบเท่าที่ยังไม่มีการสร้างกลไกที่จะทำให้เกิดความมั่นคงในการถือครองที่ดินด้านอื่น เช่นเพิ่มอำนาจต่อรองของเกษตรกรในตลาด การคืนการจัดการทรัพยากรให้แก่ชุมชนท้องถิ่น เช่น ผ่านพ.ร.บ.ป่าชุมชน ฯลฯ โอกาสที่ที่ดินจะหลุดไปจากมือเกษตรกรก็เป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อันจะเป็นผลให้เกษตรกรต้องหลบหลีกเข้าสู่การเป็นแรงงานไร้ฝีมือในระบบอุตสาหกรรม ซึ่งกำลังย้ายฐานการผลิตไปสู่ประเทศที่ค่าแรงต่ำกว่าประเทศไทย ยิ่งทำให้ปัญหาแรงงานซึ่งเป็นปัญหาที่หนักมากอยู่แล้วทรุดหนักลงไปอีก

ภายใต้การเปิดให้มีการแสวงหาประโยชน์จากการเก็งกำไรที่ดินอย่างเสรี ก็เป็นผลให้ที่ดินเป็นจำนวนมากหลุดไปจากมือเกษตรกรเข้าสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมิได้นำไปสู่การทำประโยชน์ในที่ดินทำกินแต่อย่างใด เป็นเพียงการถือครองที่ดินเพื่อรอให้ราคาพุ่งสูงตามกระแสของตลาด ที่ดินรกร้างว่างเปล่าเป็นจำนวนมากจึงถูกทอดทิ้งไว้ อันเป็นภาพที่ขัดแย้งกับการไร้ที่ดินทำกินของเกษตรกรจำนวนมหาศาล

นอกจากนี้การส่งเสริมเกษตรกรรมเชิงพาณิชย์ ที่มีผลให้เกษตรกรต้องผูกติดกับระบบตลาดมากขึ้น ก็มีส่วนสำคัญต่อการทำให้เกษตรกรต้องประสบกับความผันผวนไปตามระบบตลาด ยิ่งราคาพืชผลมีความแกว่งไกวมากเพียงใด ความมั่นคงของเกษตรกรก็ลดน้อยลงไปเพียงนั้น

การปฏิรูปที่ดินจึงจำเป็นต้องคำนึงถึงประเด็นสำคัญ ๓ ประการดังต่อไปนี้

๑. การปฏิรูปที่ดินต้องก่อให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดิน การถือครองที่ดินในจำนวนที่เกินความจำเป็นโดยมิได้ทำประโยชน์ ต้องถูกจำกัดโดยอาศัยมาตรการต่างๆ เช่น มาตรการทางภาษี

๒. ต้องสร้างมาตรการและกลไกที่ทำให้เกิดความมั่นคงแก่เกษตรกรรายย่อย ในการถือครองที่ดิน เพื่อมิให้ที่ดินหลุดมือไปจากเกษตรกรได้โดยง่าย เช่น การไม่อนุญาตให้มีการเก็งกำไรในที่ดิน แต่นอกจากนี้ลำพังเพียงสถานะของปัจเจกบุคคล อาจไม่มีพลังเพียงพอต่อการเผชิญกับการคุกคามจากระบบเศรษฐกิจแบบเสรี จึงจำเป็นต้องให้อำนาจกับชุมชนในการเข้ามามีส่วนร่วมกับจัดการที่ดิน

๓. แม้ว่าจะกระจายการถือครองที่ดินให้ไปอยู่ในมือของเกษตรกร แต่ยังต้องคำนึงถึงระบบการผลิตที่เอื้อต่อวิถีชีวิตของเกษตรกรรายย่อย เนื่องจากการส่งเสริมภาคเกษตรกรรมในปัจจุบันมุ่งเน้นไปในเชิงของเกษตรเชิงพาณิชย์ ที่ทำให้เกษตรกรต้องผูกติดกับระบบตลาดมากขึ้น ทั้งในด้านการผลิตและจำหน่าย การสนับสนุนและส่งเสริมระบบการผลิตเพื่อให้เกิดการพัฒนาตามความสามารถของเกษตรกร เช่น เกษตรกรรมแบบอินทรีย์ การใช้ปุ๋ยธรรมชาติ การเพาะปลูกแบบหมุนเวียนโดยไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมี การใช้ที่ดินสาธารณะมาทำการเพาะปลูกในบางช่วง ฯลฯ จะเป็นการสร้างความเข้มแข็งของเกษตรกรให้บังเกิดขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องอาศัยเงินและตลาดเพียงอย่างเดียว

เราจึงเรียกร้องให้พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง เสนอนโยบายที่ดินอย่างชัดเจน เพื่อให้ประชาชนพิจารณาว่า นโยบายเหล่านี้จะสามารถแก้ไขปัญหาที่ดิน อันเป็นปัญหาที่หนักหนาสากรรจ์สำหรับสังคมไทยในขณะนี้ได้มากน้อยเพียงไร แท้จริงแล้ว นโยบายที่ดินซึ่งเป็นธรรมและมุ่งจะให้ประชาชนระดับรากหญ้าสามารถเข้าถึงปัจจัยการผลิตพื้นฐานนี้ จะสามารถแก้ปัญหาความยากจนได้ยิ่งกว่าการอัดฉีดเงินลงไปเพียงอย่างเดียว

2. เลือกคนที่มีเจตนาและสามารถยุติวงจรคอรัปชั่น
ดังที่ทราบกันอยู่แล้วว่า การทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นมะเร็งร้ายที่เกาะกินประเทศไทยมานาน และนับวันยิ่งเลวร้ายลงเรื่อยๆ แทนที่จะดีขึ้นบ้างตามการพัฒนาของการศึกษาและการพัฒนาประชาธิปไตย ผลร้ายของการคอร์รัปชั่นตกแก่ทุกด้านของสังคมไทย ขัดขวางการพัฒนาการเมือง ทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการแพงขึ้นโดยใช่เหตุ ทำลายเยื่อใยทางศีลธรรมของสังคม บ่อนเซาะกระบวนการยุติธรรมจนหาหลักเกณฑ์ในการดำเนินชีวิตไม่ได้

ยิ่งไปกว่านั้นในระยะหลัง การคอร์รัปชั่นยังขยายจากการ"ขโมย"ในรูปแบบต่างๆ มาสู่การ"รังแก"คนอ่อนแอไปทั่วหน้า เช่นการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินแย่งเอาที่ดินสาธารณประโยชน์ หรือแม้แต่ที่ดินกรรมสิทธิ์เอกชนไปให้แก่ผู้ติดสินบนเจ้าพนักงาน หรือช่วยโจรปล้นสดมภ์ประชาชน เช่น หลอกขายบ้านจัดสรรบนที่ดินสาธารณะให้ลูกค้า

คอร์รัปชั่นจึงไม่ใช่เรื่องที่จะถือว่าธุระไม่ใช่ เป็นเรื่องของคนชั่วที่เราไม่เกี่ยวไม่ได้อีกต่อไปแล้ว สังคมไทยต้องร่วมมือกันในการทำให้การคอร์รัปชั่นในบ้านเมืองของเราลดลง จนถึงยุติลงไปให้ได้ การเลือกตั้งถือเป็นโอกาสหนึ่งที่เราจะตั้งเงื่อนไขแก่ผู้สมัคร อันจะนำไปสู่การตรวจสอบควบคุมการคอร์รัปชั่นในบ้านเมือง เราไม่ควรปล่อยให้นักการเมืองสร้างเงื่อนไขเอาเอง แล้วอ้างว่าจะทำให้การคอร์รัปชั่นลดลง เพราะนักการเมืองเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้ประโยชน์จากการคอร์รัปชั่นอย่างมหาศาล จึงยากที่จะเห็นพวกเขาเอาจริงเอาจังกับคอร์รัปชั่น

มีเงื่อนไข ๓ อย่างในระบบบริหารรัฐกิจของไทยที่ทำให้เกิดการคอร์รัปชั่นขึ้นคือ

๑. การปล่อยให้อำนาจวินิจฉัยตกเป็นของตำแหน่ง ผู้ที่ดำรงตำแหน่งนับตั้งแต่ชั้นผู้น้อยระดับตำรวจจราจร ขึ้นไปถึงอธิบดี ปลัดกระทรวงและรัฐมนตรี ใช้อำนาจวินิจฉัยนี้ในการหาผลประโยชน์ใส่ตัวได้ง่ายมาก ในขณะเดียวกันเราก็ไปกำหนดให้การทำอะไรก็ตาม ต้องผ่านการวินิจฉัยเพื่ออนุมัติของราชการไปเสียทุกอย่าง แม้แต่จะเปลี่ยนชื่อตนเอง ก็มีระเบียบกำหนดว่านายทะเบียนมีอำนาจจะยับยั้งได้ ทั้งๆ ที่ควรเป็นเรื่องที่เจ้าของชื่อเพียงแต่ไปแจ้งให้นายทะเบียนทราบเท่านั้น

ฉะนั้นมาตรการอันแรกที่จะบรรเทาการคอร์รัปชั่นของวงราชการลงคือการลดอำนาจวินิจฉัยที่ไม่จำเป็นลงเสียให้หมด อำนาจวินิจฉัยที่ราชการและการเมืองมีนั้นยังใช้กันอย่างไม่เป็นกระบวนการ และไม่เปิดเผยหรือโปร่งใสนัก ขึ้นอยู่กับความเห็นส่วนตัวของผู้มีอำนาจวินิจฉัย แทนที่จะมีการกำหนดเงื่อนไขที่ชัดเจนแน่นอนว่า ผู้ขออนุมัติมีสิทธิ์ได้รับการอนุมัติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากสามารถทำตามเงื่อนไขของการขออนุมัติได้ครบถ้วน ในกรณีที่จำเป็นต้องใช้การวินิจฉัยเข้ามาช่วยตัดสิน ก็ควรทำให้การวินิจฉัยเป็นกระบวนการที่สามารถตรวจสอบและพิสูจน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้ผู้ขออนุมัติสามารถร้องอุทธรณ์การวินิจฉัยได้

กระบวนการใช้อำนาจวินิจฉัยอีกหลายอย่าง ควรทำโดยเปิดกว้างให้คนนอกราชการเข้ามามีส่วนร่วม ในหลายกรณีคนนอกเช่นชุมชนมีข้อมูลดีกว่าราชการเสียอีก และมีระบบตรวจสอบกันเองจนทำให้ใช้อำนาจวินิจฉัยไปในทางฉ้อฉลได้ยาก เช่น การพิสูจน์สัญชาติของชนส่วนน้อย คนในชุมชนรู้จักคนที่ขอสัญชาติอย่างดีกว่าราชการแน่ อีกทั้งยากที่คนทั้งชุมชนจะ"ขาย"บัตรประจำตัวให้คนต่างด้าว ดังการใช้อำนาจวินิจฉัยอย่างปิดลับคนเดียวของนายอำเภอหรือกำนัน

ไม่น่าแปลกใจแต่อย่างไรที่ท่ามกลางการใช้อำนาจวินิจฉัยที่มากเกินไป ไม่เป็นกระบวนการและไม่โปร่งใสเช่นนี้ ข้าราชการไทย ทั้งฝ่ายประจำและการเมือง จึงได้ชื่อเป็นหนึ่งในผู้คอร์รัปชั่นสูงสุดระดับโลก ถึงเอาข้าราชการฟินแลนด์มาก็จะฉ้อฉลทุจริตอย่างนี้ และถึงเพิ่มเงินเดือนเท่าไรก็ไม่ช่วยให้การคอร์รัปชั่นลดลง เพราะการคอร์รัปชั่นเป็นส่วนหนึ่งของระบบมากกว่าของบุคคล


๒. ประเทศไทยเป็นอีกประเทศหนึ่งที่เปิดเผยข่าวสารของราชการน้อยมาก แม้มีกฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการ ที่ให้สิทธิแก่ประชาชนในการขอข้อมูลข่าวสารได้ แต่กระบวนการล่าช้าและแม้การที่จะต้องร้องขอผ่านกรรมการเช่นนี้ก็แสดงอยู่แล้วว่า หน่วยราชการไม่พร้อมจะเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของตนเองแก่สาธารณชน

เงื่อนไขสำคัญที่สุดของการบรรเทาปัญหาคอร์รัปชั่นคือการทำให้ระบบบริหารโปร่งใส นั่นก็คืออาจถูกตรวจสอบได้ตลอดเวลา มีข้อมูลข่าวสารที่เผยแพร่แก่สาธารณชนไว้ควบคุมให้ราชการต้องรับผิดต่อการกระทำของตนเอง ไม่ใช่ปล่อยให้ราชการเป็นฝ่ายชี้แจงโดยประชาชนขาดข้อมูลในการตรวจสอบคำชี้แจงนั้นๆ

การประมูลโครงการต่างๆ อย่างเปิดเผย เช่นการประมูลผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ซึ่งรัฐบาลชุดปัจจุบันเคยสัญญาว่า จะบังคับให้ทุกหน่วยราชการต้องปฏิบัติ ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ป้องกันการทุจริต และเป็นตัวอย่างของการบริหารอย่างโปร่งใส แต่รัฐบาลได้เลิกผลักดันนโยบายนี้อย่างเอาจริงเอาจังไปเสียแล้ว

๓. จากประสบการณ์ของประเทศอื่นๆ ในเอเชียที่ประสบความสำเร็จในการปราบคอร์รัปชั่น เราจะพบว่า เงื่อนไขสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ การจับกุมดำเนินคดีกับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และนักการเมืองที่ทุจริตอย่างจริงจัง การจับกุมลงโทษข้าราชการชั้นผู้น้อยที่ทุจริตไม่ช่วยยับยั้งการคอร์รัปชั่นได้ ในประเทศไทย แม้มีการตั้ง ปปป. และ ปปช. ขึ้น แต่สถิติการจับกุมและดำเนินคดีกับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และนักการเมืองที่ทุจริตยังน้อยมาก ร้ายไปกว่านั้นข้าราชการที่มีคดีมัวหมองหลายคนยังกลับได้รับการยอมรับโดยพรรคการเมือง นำมาเป็นที่ปรึกษาบ้าง ทำงานบางด้านช่วยนายกรัฐมนตรีเป็นพิเศษบ้าง และหลายคนเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองโดยไม่มีพรรคการเมืองใดรังเกียจ

ตราบเท่าที่รัฐบาลยังไม่เอาจริงเอาจังกับการทุจริตของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และนักการเมืองในสังกัดของตนเอง ก็ยากที่จะทำให้การคอร์รัปชั่นในประเทศไทยหมดไป เราใคร่เรียกร้องให้ประชาชนตั้งคำถามกับผู้สมัครเกี่ยวกับการปราบปรามคอร์รัปชั่นว่า พวกเขามีความคิดเห็นอย่างไร เพื่อจะคัดนักตีฝีปากออกไปจากนักการเมืองที่ได้ใคร่ครวญเรื่องนี้มาอย่างจริงจัง

เราควรถามเขาว่า เขาจะจัดการสามปัญหานี้คือ อำนาจวินิจฉัยที่ล้นเกิน ไม่มีกระบวนการและไม่โปร่งใสอย่างไร เขาจะจัดการเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารของราชการอย่างไร เขาจะจัดการกับการจับกุมดำเนินคดีกับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และนักการเมืองที่ทุจริตให้รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพได้อย่างไร

ในฐานะสมาชิกของพรรคการเมือง เขาจะดำเนินการอย่างไรให้พรรคการเมืองของเขารับเอาความคิดของเขาเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายปราบปรามการคอร์รัปชั่นของพรรค

3. เลือกผู้ที่แสดงเจตจำนงและผลักดันกฎหมายลูก
นับตั้งแต่การบังคับใช้รัฐธรรมนูญเมื่อ พ.ศ.๒๕๔๐ ด้วยหวังจะให้เป็นเครื่องมือนำไปสู่การปฎิรูปการเมือง ทั้งในส่วนของการทำให้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนเป็นจริง ได้รับการเคารพจากทุกองค์กรของรัฐ และการทำให้การบริหารจัดการบ้านเมืองเป็นไปอย่างโปร่งใสตรวจสอบได้
นัยะสำคัญอยู่ที่การมีส่วนร่วมทางการเมืองของภาคประชาชนในการบริหารบ้านเมืองในสามด้าน คือ การกำหนดนโยบาย, การปฏิบัติ, และการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ.

แต่ในทางปฏิบัติ กลับไม่มีการนำหลักการเรื่องนี้ไปใช้บังคับอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการกำหนดสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ที่บัญญัติไว้อย่างชัดเจน จากการกำหนดหลักการสำคัญเพื่อเป็นกรอบในการตรากฎหมายเฉพาะ เช่น ในมาตรา ๕๗ วรรคสอง ที่กำหนดว่าต้องมีการตรากฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค โดยจัดให้มีองค์การอิสระซึ่งประกอบด้วยตัวแทนของผู้บริโภคทำหน้าที่ให้ความเห็นในการตรากฎหมาย และในการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค จนบัดนี้ การดำเนินการดังกล่าวเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ไม่ได้รับการเอาใจใส่จากรัฐอย่างจริงจัง

สิ่งที่เกิดขึ้นมีผลกระทบต่อสิทธิของประชาชนโดยทั่วไป จากการกำหนดนโยบายของรัฐ เช่นการใช้พันธุ์พืชหรือสัตว์ที่ได้รับการปรับแต่งพันธุกรรม การใช้สินค้าบริโภคที่มาจากสิ่งดังกล่าว แต่ผู้บริโภคไม่ได้รับรู้ถึงผลกระทบอันเป็นที่เคลือบแคลงสงสัย และไม่มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ การชดใช้เยียวยาผู้ที่ได้รับความเสียหายจากสินค้าและบริการ ก็ไม่ได้รับความสะดวกจากการใช้สิทธิดังกล่าวแต่อย่างใด ดังนั้นจะเห็นได้ว่า สิทธิต่างๆของผู้บริโภคถูกปล่อยไปตามยถากรรม

อีกตัวอย่างที่สำคัญได้แก่ สิทธิในการแสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วมในการทำโครงการขนาดใหญ่ เช่นการทำประชาพิจารณ์ ที่แม้จะมีการบัญญัติรับรองสิทธิตามรัฐธรรมนูญไว้ในหลายมาตรา แต่กลับไม่มีการตรากฎหมายเพื่อรองรับให้มีผลในทางปฏิบัติ เช่น การกำหนดโครงการขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม กลายเป็นการตัดสินใจของรัฐ โดยบางครั้งมีการอ้างว่าเป็นโครงการและการบริหารงานแบบ CEO ที่ไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างแท้จริง เพื่อเข้าไปมีส่วนในการตัดสินใจ กำหนดกรอบนโยบายและดำเนินการ มิใช่เป็นเพียงตรายางในการสร้างความชอบธรรมแก่โครงการที่ตัดสินใจมาก่อนล่วงหน้าแล้ว กฎเกณฑ์ต่างๆในเรื่องนี้ เป็นระเบียบกฎเกณฑ์ตามกฎหมายเก่า เช่นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดทำประชาพิจารณ์ หรือการกำหนดให้มีการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ก็ยังคงเป็นการใช้แนวปฏิบัติแบบเดิม

การไม่มีกรอบระยะเวลาในการตรากฎหมายและดำเนินการให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างแท้จริง เป็นอีกข้อหนึ่งที่ต้องได้รับความสนใจ เพราะเวลาที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นถึงการละเลยเพิกเฉย ในการบังคับการให้เป็นไปตามสิทธิในรัฐธรรมนูญ ยิ่งในตัวกฎหมายเหล่านี้ไม่มีการระบุกรอบเวลาเหมือนกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ยิ่งทำให้เกิดการละเมิดสิทธิเสรีภาพมากยิ่งขึ้น

การใช้กฎหมายที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการใช้สิทธิ เช่น การตีความขององค์กรส่วนใหญ่ทำให้การบังคับใช้รัฐธรรมนูญเป็นหมัน เพราะแทนที่จะมีการใช้กฎหมายได้โดยตรงจากที่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแล้ว กลับมีการอธิบายว่าต้องมีการออกกฎหมายรองรับเสียก่อน ยิ่งก่อให้เกิดความจำเป็นจะต้องตรากฎหมายลูกตามรัฐธรรมนูญมากขึ้นเท่านั้น แม้ในทางที่ควรจะเป็น ต้องมีการตีความให้บังคับใช้มาตราต่างๆในรัฐธรรมนูญได้โดยตรงและทันทีก็ตาม

นอกจากการเร่งผลักดันให้มีการตรากฎหมายลูกเพื่อรองรับสิทธิตามรัฐธรรมนูญแล้ว ยังต้องเร่งแก้ไขกฎหมายและระเบียบข้อบังคับต่างๆ ที่ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งกระจายอยู่ตามกฎหมายทั่วไป จากการมีรัฐสภาและรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าการปฎิบัติตามแนวทางดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง

การละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเกิดขึ้นเป็นระยะ เช่น การจับกุมไปจนถึงการวิสามัญฆาตกรรมที่ไม่อยู่ภายใต้กฎหมาย การไม่รับรู้ถึงสิทธิเสมอภาคของบุคคล โดยอาศัยความแตกต่างทางกายหรือฐานะทางเศรษฐกิจหรือชาติพันธุ์เข้ามาเป็นเครื่องกีดกัน การไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีส่วนร่วม ความล่าช้าของการพิจารณากฎหมายป่าชุมชน การกระทำที่ไม่เพียงแต่จะไม่คุ้มครองแล้วยังเสมือนเป็นการละเมิดสิทธิ เช่นการบริหารกิจการโดยกีดกันและไม่ส่งเสริมเสรีภาพในการประกอบอาชีพ

ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ระบบการเมืองและการบริหารประเทศในปัจจุบัน ยังเป็นรูปแบบที่อยู่บนอำนาจการตัดสินใจตามแนวคิดของคนกลุ่มเดียว โดยขาดการรับฟังจากรอบด้าน การบริหารราชการเยี่ยงบริษัทจำกัดได้ละเลยการรับรู้ถึงสิทธิของประชาชนไปอย่างมาก

เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างของสิ่งที่ขัดขวาง และบ่อนทำลายการดำรงอยู่ของสังคมประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งของบุคคลเดินดินธรรมดา ซึ่งยังคงต้องอาศัยกฎหมายเป็นฐานแห่งสิทธิที่จะกล่าวอ้างอิงได้ ประกอบกับการอาศัยการปรับโครงสร้างทั้งระบบให้เอื้อต่อการส่งเสริมสิทธิ

ตลอดช่วงเวลา ๗ ปี ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปเพื่อรับรองสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ โดยการตรากฎหมายลูกในส่วนที่ยังไม่มี โดยการแก้ไขกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ความจำเป็นจะต้องแก้ไขเริ่มจากกฎหมายที่เป็นรากฐานการดำรงอยู่ของชาวบ้าน ในการการกำหนดนโยบาย การปฏิบัติ ตลอดจนถึงการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ

เราในฐานะของประชาชน จึงขอเรียกร้องให้ผู้ที่เสนอตัวจะเข้ามาทำหน้าที่เป็นรัฐบาลและรัฐสภา ได้แสดงเจตจำนงที่จะผูกพันและปฎิบัติตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ โดยการเสนอกฎหมายและปรับแก้กฎหมายต่างๆ ให้เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ หรือสอดคล้องกับเจตนารมณ์ เราใคร่เรียกร้องให้พรรคการเมืองที่เสนอตัวให้ประชาชนเลือกตั้งในครั้งนี้ ได้เสนอประเด็นของกฎหมายที่จะออกมารองรับรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน รวมทั้งการปรับแก้กฎหมายใดให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดกรอบเวลาอย่างแน่ชัดด้วยว่าจะทำได้เมื่อใด หากได้เป็นพรรคที่จัดตั้งรัฐบาลหรือร่วมรัฐบาล

4. เลือกผู้ที่รังเกียจและมุ่งมั่นป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน
ผลประโยชน์ทับซ้อน คือสถานการณ์ที่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลซึ่งบริหารงานสาธารณะ จะได้ประโยชน์ส่วนตัวจากการตัดสินใจ โดยใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลนั้นๆ ฉะนั้นการตัดสินใจจึงไม่ได้ทำเพื่อมุ่งประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้ง หากแต่มุ่งจะหากำไรให้ธุรกิจของตนหรือครอบครัวเท่านั้น ดังนั้นจึงอาจเรียกผลประโยชน์ทับซ้อนได้อีกอย่างหนึ่งว่าคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย เช่น

สนับสนุนทางการเงินแก่พรรคการเมือง หรือติดสินบนข้าราชการประจำและการเมือง ดังภายหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจในปี ๒๕๔๐ เป็นต้นมา กลุ่มธุรกิจเข้ามามีบทบาททางการเมืองโดยตรงเพิ่มมากขึ้น จนในที่สุดก็เข้ามากุมอำนาจรัฐโดยตรง ในการเลือกตั้งเมื่อพ.ศ..๒๕๔๔ พรรคไทยรักไทยซึ่งชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้นนั้น แม้จะมีนักการเมืองและข้าราชการเก่าเข้ามาร่วมอยู่ด้วยมาก แต่แท้จริงแล้วตกอยู่ภายใต้การกำกับอย่างรัดกุมเหมือนเป็นบริษัทของนายทุนโดยตรง โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจสื่อสารที่เชื่อมต่อเข้ามาสู่อำนาจทางการเมืองอย่างก้าวกระโดด และเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในสังคมไทย

การที่ผู้บริหารรัฐดำรงตำแหน่งในสองด้าน ด้านหนึ่งทำหน้าที่บริหารประเทศ อีกด้านหนึ่งดำเนินธุรกิจ ส่งผลให้ธุรกิจส่วนตัวเติบโตอย่างรวดเร็ว มูลค่าหุ้นของบริษัทที่นายกรัฐมนตรีเป็นเจ้าของเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าบริษัทที่มีพื้นฐานดีทั่วไปหลายเท่าตัว บริษัทที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับผู้บริหารรัฐบาลถูกเรียกกันในตลาดหลักทรัพย์ว่า "หุ้นทักษิณ" ซึ่งนักเล่นหุ้นให้ราคาสูงเพราะทำกำไรจากการซื้อขายได้มาก การบริหารประเทศกลายเป็นการสร้างโอกาสให้กับธุรกิจของตน การดำเนินกิจกรรมทางการเมืองที่ผ่านมาของรัฐบาลปัจจุบัน เป็นเครื่องยืนยันว่าเป็นรัฐบาลชุดผลประโยชน์ทับซ้อนหรือคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายที่อื้อฉาวที่สุด

ยิ่งกว่านี้ ธุรกิจของนายกรัฐมนตรีและครอบครัวยังเป็นธุรกิจที่ได้รับสัมปทานจากรัฐหรือเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐโดยตรงไม่ต่ำกว่า 3 กิจการ ได้แก่กิจการโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเป็นคู่สัญญากับการสื่อสารแห่งประเทศไทย กิจการดาวเทียม ซึ่งเป็นคู่สัญญากับกรมไปรษณีย์โทรเลข และกิจการโทรทัศน์ระบบยูเอ็ชเอฟ ซึ่งเป็นคู่สัญญากับสำนักงานปลัดนายกรัฐมนตรี ปัญหาจึงมีว่ารัฐภายใต้เจ้าของธุรกิจเหล่านี้จะสามารถกำกับควบคุมสัมปทานและสัญญาให้เป็นประโยชน์ต่อรัฐได้อย่างไร

ทั้งนี้ยังไม่นับรวมถึงธุรกิจการเมืองแวดล้อมที่นอกเหนือไปจากวงศาคณาญาติของผู้นำ เช่น กลุ่มทีเอ กลุ่มลอกซ์อินโฟซึ่งได้ร่วมทุนกับเอไอเอส กลุ่มบีอีซีเทโร กลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ กลุ่มไทยเจริญคอมเมอร์เชียล และสุราแสงโสม กลุ่มไทยฟิล์มอินดัสทรี และควอลิตี้โปรดักส์(เนสท์กาแฟ) และกลุ่มซัมมิสออร์โตพาร์ต เป็นต้น

การก้าวเข้ามายึดกุมอำนาจรัฐ พร้อมกับผลประโยชน์ที่ติดตัวมา ทำให้เกิดพฤติกรรมการซุกหุ้น การโอนหุ้นให้กับบุตร เครือญาติ บริวารระดับคนขับรถและแม่บ้าน และการหลบเลี่ยงการตรวจสอบของกฎหมายในรูปแบบต่างๆ แล้วพัฒนาความแนบเนียนเหนือชั้นในการบริหารผลประโยชน์ที่ทับซ้อนนี้จนเป็นการทุจริตเชิงนโยบาย หรือคอร์รัปชั่นเชิงบูรณาการ ทั้งนี้ด้วยความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เอื้อประโยชน์ให้แก่กิจการต่างๆอย่างกระตือรือร้น ทำให้ผู้บริหารกิจการแผ่นดินเข้ายึดครองธุรกิจแบบสัมปทานผูกขาดเช่นกิจการดาวเทียม เข้ายึดครองธุรกิจที่ได้สัมปทานระยะยาวเช่นโทรศัทพ์มือถือและดาวเทียม เข้ายึดครองธุรกิจที่ใช้ทรัพยากรสาธารณะที่มีจำกัดเช่น คลื่นความถี่ และยึดครองธุรกิจที่มีกิจการรวบอำนาจผูกขาดไว้ด้วยกัน เช่น ระบบไอซีที

สังคมจะช่วยกันกำจัดการเมืองแบบผลประโยชน์ทับซ้อนนี้ได้อย่างไร ? มีข้อควรพิจารณา ๓ ประเด็น

ประเด็นแรก คือความโปร่งใส หมายถึงความสามารถในการที่จะถูกตรวจสอบได้ สังคมต้องตั้งคำถามกับนโยบายของนักการเมืองว่า จะสนับสนุนกระบวนการการตรวจสอบนักการเมืองให้มีความเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพหรือไม่ เหตุการณ์ที่ผ่านมาเช่นกรณีที่รัฐบาลใช้การออกพระราชกำหนดภาษีสรรพสามิต ซึ่งการออกเป็นพระราชกำหนดนั้น ทำให้ไม่มีการพิจารณาเป็น ๓ วาระ ผู้แทนราษฎรจำเป็นต้องรับหรือไม่รับร่างนี้ทั้งฉบับ นี่เป็นตัวอย่างของการที่กลไกรัฐสภาสูญเสียความสามารถในการตรวจสอบเพื่อให้เกิดความโปร่งใส จนทำให้การเอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มธุรกิจที่เข้ามาผูกขาดอำนาจทางการเมือง กลายเป็นความชอบธรรมทางกฎหมายขึ้นมา

ด้วยเหตุดังนั้น เราจึงเรียกร้องให้รัฐบาลใหม่จะต้องหาทางทำให้กลไกการตรวจสอบในระบอบประชาธิปไตย ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ สามารถทำงานได้อย่างอิสระและมีประสิทธิภาพ ไม่แต่เพียงให้สัญญาว่าจะทำเท่านั้น แต่ต้องเสนอการปฏิรูปในเชิงโครงสร้างอย่างเป็นรูปธรรมว่า จะทำอะไรบ้าง เพื่อให้เกิดความมั่นคงแก่กลไกทั้งทางการเมืองและสังคมดังกล่าว

ประเด็นต่อมาคือ ต้องอุดช่องโหว่ของกฎหมาย เช่นการโอนทรัพย์สินไปให้แก่ญาติ บริวาร ลูก เมีย ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะต้องไม่สามารถกระทำได้อีกต่อไป ต้องยกสิทธิเด็ดขาดของการจัดการธุรกิจไปให้แก่นิติบุคคลอื่นตามกฎหมาย เช่น กฎหมายตลาดหลักทรัพย์ และตามความเห็นของ ปปช. เป็นต้น

ที่ผ่านมาการโอนหุ้นในเครือชินคอร์ปให้แก่ภรรยา บุตร และบุคคลใกล้ชิดของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ไม่ทำให้อำนาจที่แท้จริงในการเป็นเจ้าของกิจการเปลี่ยนแปลงไป เป็นแค่เพียงการแสดงอย่างหนึ่ง ว่าได้ทำถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งๆที่เป็นการหลบเลี่ยงด้วยการใช้ช่องโหว่ของกฎหมาย

เราจึงเรียกร้องให้รัฐบาลใหม่ที่จะมาจากการเลือกตั้งเสนอมาตรการที่ชัดเจนว่า จะแก้กฎหมายต่างๆ เหล่านี้อย่างไร เพื่อเป็นหลักประกันว่าผู้ที่เข้ามาบริหารบ้านเมือง จะไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับการวางนโยบายเพื่อประโยชน์ส่วนรวม และควรจะกำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจนว่า จะดำเนินการให้แล้วเสร็จเมื่อใดด้วย

ประเด็นสุดท้ายคือ กระบวนการสร้างนโยบายสาธารณะ หมายถึงนโยบายที่เกิดจากการเรียนรู้ร่วมกันของสังคม จนเกิดความเข้าใจ เห็นคุณค่าและนำไปสู่การปฏิบัติ การกำหนดนโยบายสาธารณะจะต้องเน้นไปที่การเปิดพื้นที่ทางสังคม ให้มีส่วนร่วมเสนอประเด็นต่างๆของนโบบายจากทุกๆฝ่ายอย่างกว้างขวาง เช่น จากประชาชน องค์กรพัฒนาเอกชน สื่อมวลชน นักวิชาการ องค์กรสนับสนุนการวิจัยนโยบาย ภาคธุรกิจเอกชน องค์กรทำงานด้านนโยบาย ฝ่ายการเมือง ผู้แทนองค์กรอิสระ ฯลฯ

กระบวนการสร้างนโยบายสาธารณะ จะต้องเกิดจากฐานความรู้ที่ได้จากการศึกษาวิจัย เรียนรู้ในสภาพความเป็นจริงอย่างลึกซึ้ง จะต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง มิใช่เกิดจากอำนาจรัฐ หรือ จากกลุ่มบุคคลไม่กี่กลุ่มโดยปราศจากการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และจะต้องเกิดจากอุดมคติที่ต้องการความถูกต้องดีงาม และผลประโยชน์ของคนทั้งหมด มิใช่เพื่อผลประโยชน์แฝงเร้นของคนบางคนหรือบางกลุ่ม
การวางนโยบายสาธารณะซึ่งจะเกิดผลในวงกว้างได้นั้น

ต้องเริ่มจากการแสวงหาข้อมูลและความรู้อย่างรอบด้านที่สุดเพื่อนำมาสู่ข้อสรุปว่ามีนโยบายอะไรบ้างที่รัฐจะต้องกระทำ แล้วนำเรื่องนี้กลับเข้ามาสู่สาธารณะให้พิจารณาอภิปรายและสร้างความเข้าใจร่วมกันในทางปฏิบัติขึ้น

ถ้าเราสามารถสร้างกระบวนการสร้างนโยบายสาธารณะให้เป็นจริงขึ้นมาได้ โอกาสที่กลุ่มผลประโยชน์ทับซ้อนจะเข้ามายึดกุมอำนาจรัฐก็จะเป็นไปได้ยากขึ้น การเป็นนายหน้าหาผลประโยชน์ของกลุ่มธุรกิจการเมือง ดังที่เป็นอยู่ก็จะยากยิ่งขึ้น

ในโอกาสที่จะมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ จำเป็นที่สังคมจะต้องทบทวนบทบาทและท่าทีเพื่อสร้างพลังในการกำกับ ควบคุม และตรวจสอบ นักเลือกตั้ง ที่จะเข้ามาเป็นฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติอย่างเข้มข้นกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา สังคมไทยต้องไม่ยินยอมให้กลุ่มบุคคลที่ล้วนแล้วแต่มีผลประโยชน์ส่วนตัว ซึ่งอาจทับซ้อนกับประโยชน์ส่วนรวมเข้ามายึดกุมอำนาจรัฐ โดยไม่มีการตรวจสอบและกำกับอย่างรัดกุมจากสังคมอีกต่อไป

5. เลือกผู้ที่รู้เท่าทันโลกาภิวัตน์
โลกาภิวัตน์ อันหมายถึงการเชื่อมโยงส่วนต่างๆ ของโลกเข้าหากันอย่างใกล้ชิด ทั้งในทางเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม ปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นมาแต่โบราณแล้ว แต่ปัจจัยที่ทำให้เกิดความเชื่อมโยงในสมัยนั้น มีเพียงประการเดียวคือการค้า จึงทำให้การเชื่อมโยงด้านต่างๆ ที่กล่าวแล้วนั้นมีลักษณะผิวเผินกว่าปัจจุบันเป็นอันมาก

เหตุที่การเชื่อมโยงของโลกาภิวัตน์ในปัจจุบันมีความใกล้ชิดเป็นพิเศษ เป็นผลมาจากการปฏิวัติการสื่อสารคมนาคม เปิดโอกาสให้การเคลื่อนย้ายทุน การกระจายการผลิตข้ามรัฐ การเคลื่อนย้ายแรงงาน การเข้าถึงตลาดและแหล่งวัตถุดิบ ทำได้โดยไม่มีพรมแดนประเภทใดขวางกั้น และด้วยเหตุดังนั้น การดำเนินการทางการเมืองทั้งภายในและระหว่างประเทศจึงเชื่อมโยงเข้าหากัน อย่างที่ไม่มีประเทศใดสามารถดำเนินการอย่างเป็นอิสระแท้จริงได้ เช่นเดียวกับการแพร่หลายของวัฒนธรรมจากสังคมหนึ่งไปยังอีกสังคมหนึ่ง ก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและมีพลังไปกำหนดความสัมพันธ์ของผู้คนในสังคมอื่นๆ ทั่วทั้งโลก

อย่างไรก็ตาม ลักษณะโลกาภิวัตน์ดังกล่าวนี้ไม่ใช่สิ่งที่ดำเนินไปโดยอาศัยพลังของเทคโนโลยีและกลไกตลาดล้วนๆ หากถูกกำกับด้วยผลประโยชน์ของบริษัทข้ามชาติในประเทศมหาอำนาจอย่างใกล้ชิด นั่นก็คือกำหนดให้อะไรเชื่อมโยงกับอะไร ในลักษณะใด และในเงื่อนไขอย่างไรอยู่ตลอดเวลา

ฉะนั้นท่าทีของรัฐต่างๆที่มีต่อโลกาภิวัตน์ จึงไม่ควรเป็นท่าทียอมจำนนอย่างราบคาบ ถือเสมือนหนึ่งว่าโลกาภิวัตน์เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ ที่มนุษย์ต้องยอมรับอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หรือร้ายไปกว่านั้น คือฉวยโอกาสทำกำไรกันในหมู่บริษัทบริวารของผู้นำ โดยไม่ใส่ใจต่อผลกระทบในทางร้ายอันตกแก่ประชาชนในสังคม

แท้จริงแล้ว "ท้องถิ่น"ต่างๆ ในโลกที่ถูกเชื่อมโยงให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนี้ ก็ยังมีพลังที่จะเลือกพัฒนาไปในทิศทางที่เหมาะกับสภาพการณ์ใน"ท้องถิ่น"ของตนเองได้ตามสมควร เพียงแต่ว่าสังคมและรัฐจะต้องทำความเข้าใจและรู้เท่าทันโลกาภิวัตน์ให้ดี ไม่ฉวยโอกาสหากำไรกันอย่างมักง่าย และอย่างไม่ยุติธรรมเท่านั้น เพราะถึงที่สุดแล้ว ความสามารถในการพึ่งตนเองได้ก็ยังเป็นหัวใจสำคัญของการดำรงอยู่ในโลกาภิวัตน์

เรามีข้อเสนอว่า ในทางวัฒนธรรมต้องมีการเสริมสร้างความรู้ให้ประชาชนตระหนักถึงการครอบงำที่ดำรงอยู่ มิใช่ร่วมสร้างกระแสบริโภคนิยมให้เพิ่มมากขึ้นดังที่รัฐบาลปัจจุบันกระทำอยู่

การครอบงำทางวัฒนธรรมอันเป็นเงื่อนไขสำคัญของการครอบงำทุกชนิด ทำให้เกิดการยอมรับในวัฒนธรรมของประเทศเหล่านั้นว่าเหนือกว่า ดีกว่า ไม่เห็นถึงคุณค่าวัฒนธรรมที่มีอยู่ในสังคมตนเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคุณธรรม (มาตรฐานการตัดสินเรื่องความดี ความเลว) ระบบการศึกษาที่เน้นเรื่องการแข่งขัน ความสำเร็จของปัจเจก หรือแม้แต่เรื่องความงามที่ต้องงามแบบตะวันตก คือ ขาว สูง คนที่ผิวคล้ำกลายเป็นความไม่งาม อีกทั้งยังปลุกกระแสบริโภคนิยมผ่านการบริโภคสินค้าเชิงสัญลักษณ์ เช่น การบริโภคสินค้าแบรนด์เนม เพื่อยกคุณค่าความเป็นตัวตนของผู้ใช้ สินค้าเหล่านั้นล้วนเป็นสินค้าที่ต่างชาติเป็นเจ้าของทั้งสิ้น

ส่วนการต่อรองเรื่องการค้าระหว่างประเทศ ประเทศไทยควรใช้ระบบพหุพาคี เข้าร่วมกลุ่มกับประเทศที่มีผลประโยชน์ใกล้เคียงกัน และทำการต่อรองในฐานะกลุ่มประเทศในเวทีการค้าโลก(WTO) เนื่องจากการทำข้อตกลงในรูปแบบประเทศต่อประเทศ หรือข้อตกลงเปิดการค้าเสรี (FTA) ประเทศไทยในฐานะที่เป็นประเทศเล็ก มักจะตกอยู่ในฝ่ายที่เสียเปรียบ ดังเช่น ข้อตกลงระหว่างประเทศจีนและไทย และประเทศออสเตรเลียกับไทย และผู้ที่เสียเปรียบมากที่สุดก็มักจะเป็นเกษตรกรไทยที่ไม่มีอำนาจในประเทศ

อย่างไรก็ตาม ถ้าจำเป็นต้องมีข้อตกลงเปิดการค้าเสรีกับประเทศใด ข้อตกลงที่จะเกิดขึ้นควรเป็นเรื่องของประชาชนไทย ไม่ใช่เป็นการกระทำของ "ผู้เชี่ยวชาญ" เพียงไม่กี่คน เพราะผลกระทบจะมีต่อคนหลายกลุ่มในระยะยาว รัฐบาลควรจะต้องมีการชี้แจงรายละเอียดของข้อตกลงที่รัฐบาลต้องการจะทำกับต่างประเทศต่อสาธารณชน อีกทั้งการรับรู้ข้อตกลงล่วงหน้า จะทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถเตรียมการเพื่อรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น มิใช่ทำการตกลงอย่างรีบเร่งโดยที่สาธารณชนไม่ได้รับรู้เช่นในปัจจุบัน

รัฐบาลต้องสร้างและสนับสนุนกระบวนการมีส่วนร่วมของคนทุกกลุ่ม เพื่อก่อให้เกิดการต่อรองระหว่างกลุ่มที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ นอกจากจะทำให้กระบวนการตัดสินใจเป็นประชาธิปไตยแล้ว กระบวนการสาธารณะเช่นนี้ ยังช่วยเพิ่มพลังต่อรองของรัฐบาลกับต่างประเทศขึ้นอย่างมากอีกด้วย

ในกรณีที่เกี่ยวข้องกับพืชตัดแต่งพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) รัฐบาลจำเป็นต้องให้ความสำคัญในกรณีนี้อย่างยิ่ง เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม และเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรระดับต้น ๆ ของโลก และประเทศยังมีความหลากหลายทางชีวภาพอยู่ในระดับต้น ๆ ของโลกอีกด้วย การรับเอาเทคโนโลยีทางการเกษตร เช่น พืชจีเอ็มโอ ที่ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องความปลอดภัยในระยะยาว ทั้งแก่ผู้บริโภคและระบบนิเวศ รวมทั้งกระแสการไม่ยอมรับจากประเทศต่าง ๆ ในโลก ย่อมไม่ส่งผลดีต่อการส่งออกทางการเกษตรของไทย และไม่สอดคล้องกับความต้องการที่จะเป็นครัวของโลกและอาหารปลอดภัย รวมทั้งเราไม่ได้เป็นเจ้าของเทคโนโลยีในด้านนี้ ทั้งยังอาจเป็นเหตุทำลายความหลากหลายทางชีวภาพซึ่งเป็นจุดแข็งของไทยในอนาคตด้วย

ในขณะที่เกษตรกรกลายเป็นผู้ต้องพึ่งพิงบริษัทเกษตรข้ามชาติ แทนที่จะเป็นผู้ผลิตและพัฒนาเทคโนโลยีที่ปลอดภัยของตนเอง ซึ่งเกษตรกรไทยได้มีการทำอยู่บ้างแล้ว เช่นการผลิตยาฆ่าแมลงศัตรูพืชจากสมุนไพร หรือแม้แต่พัฒนาพันธุ์ข้าวและพันธุ์พืชอื่นที่เหมาะสมกับสภาพการเพาะปลูกของตนเอง รัฐบาลควรให้การสนับสนุนให้ความสามารถในด้านนี้ของเกษตรกรไทยกล้าแข็งขึ้นอย่างจริงจัง ซึ่งอาจทำให้ประเทศสามารถยืนบนขาตนเองในด้านการเกษตรได้อย่างแท้จริง ทั้งยังเป็นผู้ส่งออกผลิตผลเกษตรอินทรีย์รวมทั้งเทคโนโลยีการเกษตรที่ปลอดภัยที่สำคัญของโลก

นี่เป็นตัวอย่างของการใช้ความสามารถของคนใน"ท้องถิ่น"เป็นฐานการพัฒนา รวมถึงการมองเห็นช่องว่างในตลาดโลกที่เราอาจได้ประโยชน์ แทนที่จะจำนนต่อเงื่อนไขของโลกาภิวัตน์ซึ่งบริษัทข้ามชาติย่อมกำหนดให้เราเป็นฝ่ายเสียเปรียบตลอดไป

นอกจากนี้ รัฐต้องปรับปรุงโครงสร้างทางสังคมให้เกษตรกรไทยสามารถพึ่งพาตนเอง มีความเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง มีอำนาจในการต่อรอง ผ่านทางการให้สิทธิแก่ชุมชนในการจัดการทรัพยากรในชุมชนเพื่อดูแลรักษาทรัพยากร และใช้ประโยชน์ทรัพยากรเพื่อการดำรงอยู่ของชุมชนอย่างยั่งยืน ที่ทำได้ทันทีคือการผลักดันให้ พ.ร.บ.ป่าชุมชน ผ่านสภาผู้แทนราษฎรและบังคับใช้เป็นกฎหมาย ตลอดจนทำให้ผู้ผลิตด้านการเกษตร เข้าถึงปัจจัยการผลิตที่สำคัญได้อย่างทั่วหน้า เช่น ที่ดิน น้ำ พันธุ์พืช ปุ๋ย ฯลฯ

โลกาภิวัตน์ นอกจากจะหมายถึงการครอบงำทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของบรรษัทข้ามชาติแล้ว ในอีกด้านหนึ่งยังหมายถึง การเชื่อมโยงเครือข่ายประชาชนในโลกผ่านการติดต่อสื่อสารที่รวดเร็ว ดังนั้นเราจึงควรให้ความสำคัญต่อความคิดเห็นของประชาคมโลกด้วย การสื่อสารที่รวดเร็วและกว้างขวางนี้ เอื้อให้เกิดการเคลื่อนไหวร่วมกันของพลโลกเพื่อปฏิบัติการทางการเมืองเศรษฐกิจหรือสังคมอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน ดังนั้นรัฐบาลจะดูเบาโลกาภิวัตน์ในแง่นี้ไม่ได้เป็นอันขาด

การดำเนินนโยบายที่ขัดแย้งกับกระแสของประชาคมโลกมีอันตราย เช่น กรณีการลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ในประะเทศพม่าที่ได้รับการต่อต้านไปทั่วโลก ไทยในฐานะที่เป็นประเทศผู้นำประชาธิปไตยในภูมิภาคนี้ กลับไม่ยอมมีบทบาทอย่างใดในการชักจูงผลักดันให้ประชาชนชาวพม่าได้รับการปฏิบัติที่ดีขึ้นจากรัฐบาลของตนเอง ได้แต่เข้าไปลงทุนหากำไรจากทรัพยากรของพม่า หรือใช้แรงงานราคาถูกอย่างเอารัดเอาเปรียบจากประชาชนที่ถูกกดขี่ของพม่า นโยบายต่างประเทศที่มีอันตรายในระยะยาวเหล่านี้ ก่อให้เกิดประโยชน์หรือกำไรแก่นายทุนจำนวนน้อยนิดเดียวของไทย

เราใคร่เรียกร้องสังคมไทยให้ทำความเข้าใจกับโลกาภิวัตน์ให้ดี ปัญหาสำคัญก็คือประเทศไทยจะดำรงอยู่ท่ามกลางโลกาภิวัตน์อย่างไร จึงจะไม่เสียเปรียบแต่ฝ่ายเดียว และประชาชนทุกกลุ่มจะได้ประโยชน์จากโลกาภิวัตน์โดยทั่วหน้ากัน ความเข้าใจของเราในเรื่องเหล่านี้ สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการตรวจสอบพรรคการเมืองว่า ควรมอบหมายอำนาจให้เขาเป็นผู้บริหารจัดการสังคมไทยในท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์หรือไม่

6. เลือกผู้ที่เข้าใจคุณค่าศาสนธรรมในการเมือง
ศาสนธรรมเป็นหลักการพื้นฐานของประชารัฐ เพราะศาสนธรรมคือหลักการทางจิตที่กำหนดความหมายและคุณค่าในทางสังคม โดยเฉพาะความหมายและคุณค่าเกี่ยวกับความดีและความงาม ปราศจากหลักการเช่นนี้ การรวมตัวกันเป็นประชารัฐก็ไม่ให้คุณประโยชน์แก่ใครเลย เหตุดังนั้นจึงถือว่าผู้ปกครองต้องประพฤติธรรม หรือมีธรรมของผู้ปกครองกำกับการบริหารของตน เช่น การกล่าวเท็จเป็นการละเมิดธรรมของผู้ปกครองที่ร้ายแรง เพราะความชอบธรรมของอำนาจในการปกครองนั้นมาจากการยอมรับของประชาชน และการยอมรับไม่ได้มาจากบัตรเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมาจากคุณความดีบางประการที่ประชาชนยกย่องด้วย

ศาสนาทุกศาสนาต่างมีหลักธรรมเป็นกรอบกำหนดระบบคุณค่าในสังคม โดยมีกรอบของศาสนธรรมที่เป็นหลักกำหนดวิถีชีวิตของปัจเจกชนและคตินิยมของชุมชน เรารวมตัวกันเป็นประชารัฐ โดยทุกคนยอมเสียสละเสรีภาพส่วนตัวบางส่วน เพื่อจรรโลงความเป็นประชารัฐเอาไว้ ก็เพราะเราทุกคนต่างมุ่งหวังจะได้บรรลุถึงคุณค่าที่ต่างคนต่างยึดถือว่าเป็นเป้าหมายสูงสุดในชีวิต ไม่ว่าคุณค่านั้นจะสังกัดอยู่ในศาสนธรรมของศาสนาใดก็ตาม

ยิ่งกว่านี้ศาสนธรรมของทุกศาสนายังให้คุณค่าแก่สันติวิธี คุณธรรม และความเคารพต่อเพื่อนมนุษย์และสิ่งแวดล้อม อันเป็นหลักการพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย และการพัฒนาอย่างยั่งยืน ศาสนธรรมจึงเป็นหลักการสำคัญที่ขาดไม่ได้ของการวางนโยบายสาธารณะ ในขณะเดียวกันก็เป็นเครื่องมือสำคัญที่ประชาชนจะใช้ในการตรวจสอบรัฐบาล นั่นก็คือ นโยบายใดที่ขัดแย้งหรือต่อต้านศาสนธรรมไม่น่าจะมีผลดีต่อสาธารณชน

ประเด็นเกี่ยวกับนโยบายของพรรคการเมืองได้ถูกนำมาวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง และเชื่อว่า นับจากนี้ไปการต่อสู้กันทางนโยบายจะเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ จากประสบการณ์ ๓ ปีกว่าที่รัฐบาลพรรคไทยรักไทยได้บริหารประเทศมา ทำให้ได้ประจักษ์ว่า การเสนอนโยบายและการดำเนินนโยบายของรัฐโดยพรรคไทยรักไทย ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องศาสนธรรม ไม่ว่าจะเป็นอุดมธรรมหรือจริยธรรม ดังเช่นปล่อยให้เกิดการฆ่าตัดตอน โดยอ้างว่า เพื่อแก้ปัญหายาเสพติด กว่า ๒,๕๐๐ ชีวิตต้องสังเวยให้แก่การวางนโยบายสาธารณะที่เห็นชีวิตมนุษย์เป็นเหมือนผักปลา ท่าทีที่ไม่ให้คุณค่าแก่ชีวิตนั้นเอง ที่เป็นอันตรายต่อสังคมเสียยิ่งกว่าอื่นใดทั้งสิ้น

ผลจากท่าทีแบบนี้ก็คือ มีคนต้องสูญเสียชีวิตเพราะการดำเนินนโยบายสาธารณะที่ผิดพลาดตามมาอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการจัดการกับสถานการณ์ในภาคใต้ ซึ่งทำให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่ต้องเสียชีวิตไปเป็นอันมาก จนมีผู้ประมาณว่า การปกครองของรัฐบาลไทยรักไทย ทำให้คนไทยต้องเสียชีวิตประมาณปีละ ๑,๐๐๐ คน

รัฐบาลไทยรักไทยส่งเสริมอบายมุข โดยอ้างว่าเพื่อนำเงินที่ได้มาไปช่วยเหลืออุดหนุนการศึกษาของคนยากจน และด้วยการอ้างเช่นนี้ ทำให้สังคมสับสนกับระบบคุณค่าในสังคม อุดมธรรมทางศาสนาไม่มีความหมายต่อชีวิตและชุมชน สัจธรรมทางศาสนาไม่ได้เป็นเงื่อนไขที่จำเป็นสำหรับการเรียนรู้ของประชาชน จริยธรรมของศาสนาต่างๆ ก็ถูกเมินเฉย เพราะเกิดกระแสค่านิยมใหม่จากการกล่อมเกลาของรัฐที่มุ่งผลประโยชน์ทางการเมืองเฉพาะหน้าในสนามแข่งขัน เพื่อแย่งชิงอำนาจรัฐ

กระแสค่านิยมใหม่ที่เห็นความมั่งคั่งร่ำรวยเป็นสรณะเช่นนี้ นับเป็นอันตรายต่อสังคมอย่างยิ่ง เพราะทำให้ผู้คนหลงใหลว่า การมีเงินเป็นคุณค่าในตัวเอง ไม่ว่าจะได้เงินมาจากความหมั่นเพียร เสี่ยงโชค หรือแม้แต่คดโกงก็ไม่มีความแตกต่างกัน ทั้งนี้นับว่าสอดคล้องกับนโยบายด้านอื่นๆ ของไทยรักไทยที่แก้ปัญหาต่างๆ โดยการหว่านเงินลงไป ไม่สนใจว่าจะเป็นการพัฒนาศักยภาพของผู้คนได้เต็มขีดความสามารถของเขาหรือไม่ เราจะมีประชากรที่ไร้คุณค่าซึ่งเคยยึดถือกันมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ ไม่ว่าจะเป็นการประหยัดอดออม ความบากบั่นหมั่นเพียร ความซื่อสัตย์ การบังคับควบคุมใจของตัวเอง หรือการมีสันโดษ

ด้วยเหตุดังนั้น เราจึงหวังว่า รัฐบาลใหม่ที่จะมาจากการเลือกตั้ง จะต้องเป็นรัฐบาลที่ให้ความเคารพต่อศาสนธรรมอย่างจริงใจ นโยบายพัฒนาต้องไม่มีความหมายแคบๆ แต่เพียงมีเงินมากๆ เท่านั้น หากต้องหมายถึงคุณภาพของผู้คนที่สูงขึ้น ทั้งในทางวัตถุและในทางจิตใจ นโยบายสาธารณะใดๆ ควรจะมีความสอดคล้องกับหลักศาสนธรรม อย่างน้อยก็อธิบายได้ด้วยหลักศาสนธรรม ไม่ใช่อาศัยแต่ดัชนีของตลาดหลักทรัพย์ หรือตัวเลขการขยายตัวของจีดีพีเท่านั้น

ในขณะเดียวกันเราก็ใคร่เรียกร้องให้สังคมใช้ศาสนธรรมในการตรวจสอบและกำกับนโยบายของรัฐมากขึ้น อย่าหลงไปกับตัวเลขทางเศรษฐกิจซึ่งส่วนใหญ่เป็นตัวเลขทางธุรกิจมากกว่าเศรษฐกิจด้วยซ้ำ เพราะเราไม่ใฝ่ฝันถึงสังคมที่มั่งคั่งแต่เร่าร้อนเป็นอนาคตของสังคมไทย

ประชาชนควรซักถามคาดคั้นผู้สมัครรับเลือกตั้งให้กระจ่างว่า นโยบายของพรรคของเขานั้นสอดคล้องกับหลักศาสนธรรมเป็นอันดีมากน้อยเพียงใด ผู้สมัครที่มองเห็นชีวิตตื้นเขินเพียงแต่สัญญาว่าจะทำให้ประชาชนร่ำรวยอย่างทันตาเห็น ไม่น่าจะมีคุณสมบัติดีพอที่จะเป็นผู้แทนของประชาชนซึ่งมองชีวิตได้ลุ่มลึกกว่านั้นมาก

7. เลือกผู้ที่ผลักดันประชาธิปไตยทางตรง
แกนหลักประการหนึ่งของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน คือ การเมืองภาคประชาชน แต่ภายใต้กระแสการเมืองการปกครองแบบรวมศูนย์ และระบบเศรษฐกิจทุนนิยมแบบผูกขาด ส่งผลให้บทบาทรัฐและทุนเป็นหนึ่งเดียวกัน เมื่อเป้าหมายของทุนคือการขยายตลาดที่สามารถทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างกลายเป็นสินค้าได้ และประการสำคัญเมื่อเจ้าของทุนสามารถเข้ามาเป็นผู้ใช้อำนาจรัฐเสียเองโดยตรง ก็ทำให้อำนาจรัฐยิ่งถูกใช้ไปในทางที่เสริมทุน รัฐและทุนเกื้อหนุนกันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย จนลืมนึกถึงหน้าที่ของรัฐ ละเลยกฎกติกา ข้อห้าม จรรยาบรรณ ในการใช้อำนาจรัฐเสียสิ้น

สภาวการณ์ทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองเช่นนี้ ทำให้โครงสร้างทางสังคมที่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ได้สร้างกลไกกติกาต่างๆทั้งในเชิงที่เป็นหลักการและกระบวนการ รวมถึงมีการกำหนดเงื่อนไขและมาตราการต่างๆมากมายเพื่อปรับเปลี่ยนบทบาทของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นกลไกภาครัฐที่ใช้อำนาจบริหาร อำนาจในการตรากฎหมาย และกลไกกระบวนการยุติธรรมในการระงับข้อพิพาท กลับถูกบิดเบือน ชักนำ และบ่อยครั้งเป็นการบังคับทั้งทางตรงทางอ้อม ทั้งโดยอาศัยอำนาจรัฐและอำนาจเถื่อนต่อภาคประชาชนอย่างไม่มีทางเลือก ปัญหาดังกล่าวนี้ นับวันจะทวีความรุนแรงและเป็นอันตรายโดยปราศจากกลไกของรัฐ สังคม หรือแม้กระทั้งสื่อที่จะให้ความคุ้มครองได้

ในขณะเดียวกันการที่ทุนยึดกุมรัฐอย่างเบ็ดเสร็จ ก็ทำให้กลไกที่เป็นทางการของระบอบประชาธิปไตยเป็นหมันไปหมด ไม่ว่าจะเป็นรัฐสภา องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ สื่อ และระบบราชการทั้งระบบ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ประชาชนสูญเสียพื้นที่สาธารณะในการเข้าไปกำกับควบคุม และมีส่วนร่วมกับการบริหารบ้านเมืองไปโดยสิ้นเชิง สิทธิเสรีภาพและบทบาทของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญให้หลักประกันไว้กำลังไร้ความหมาย และในความเป็นจริงก็มีการละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานซึ่งรัฐธรรมนูญให้การรับรองโดยเจ้าหน้าที่รัฐอย่างโจ่งแจ้งอยู่เสมอมา

ท่ามกลางการรวมศูนย์ร่วมกันระหว่างอำนาจรัฐและทุนดังที่เป็นอยู่ ทางออกที่เป็นทางหลักก็คือการรู้ให้เท่าทันอำนาจทั้งสอง และทางที่จะทำเช่นนั้นได้ จำเป็นที่จะต้องมีการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการส่งข่าวเตือนภัย แลกเปลี่ยนประสบการณ์ความสำเร็จและล้มเหลว ตลอดจนข้อมูลในทุกๆด้าน และที่สำคัญเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อตั้งรับ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องช่วยกันสร้างและกำหนดญัตติสาธารณะสำหรับภาคประชาชนที่จะเลือกทางในวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่เรามีส่วนในการกำหนดเองได้ เพื่อสู้กับการกำหนดโดยระบบการเมืองที่ถูกชักนำโดยความคิดของทุน

หนทางที่จะไปสู่การที่เราพอจะมีพื้นที่ โอกาส จังหวะ ที่จะกำหนดชีวิตความเป็นอยู่ของเราได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหันกลับมาให้ความสำคัญกับการเมืองภาคประชาชน ตามที่บัญญัติไว้แล้วในรัฐธรรมนูญอย่างจริงจัง กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ การทำให้กลไกตามรัฐธรรมนูญในส่วนที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนในระดับล่างเป็นจริงขึ้นมา แต่ต้องไม่ไปพึ่งพาอาศัย หรือฝากอนาคตทั้งหมดไว้กับกลไกของรัฐแต่เพียงอย่างเดียว จะต้องขยายวงเครือข่ายในระหว่างภาคประชาชนด้วยกันออกไปเองให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ดังที่มีความก้าวหน้าที่เป็นรูปธรรมในการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน ในส่วนที่เกี่ยวกับเครือข่ายฐานทรัพยากรธรรมชาติเป็นตัวอย่าง และน่าที่จะหยิบบทเรียนดังกล่าวมาต่อยอดเคลื่อนไหวต่อไป

ในประเทศที่ระบบเศรษฐกิจเข้มแข็ง ระบบการปกครองท้องถิ่นยิ่งจะต้องเข้มแข็ง บทเรียนจากประเทศต่างๆที่เราไปนำแบบอย่างการปกครองมาเลียนแบบใช้ จะไม่มีทางประสบความสำเร็จได้เลย หากละเลยการสร้างความเข้มแข็งทั้งทางตรงและทางอ้อมให้แก่ชุมชนท้องถิ่น และเพราะประเทศไทยละเลยอำนาจของชุมชนท้องถิ่น จึงประสบความล้มเหลวในด้านต่างๆ ตลอดมา ดังจะเห็นได้จากการที่นโยบายของรัฐที่นำลงไปสู่ท้องถิ่นทั้งหลายมักล้มเหลวไม่เป็นท่า แนวโน้มของรัฐบาลนายทุน กลับพยายามพัฒนาการบริหารแบบรวมศูนย์ให้เข้มข้นขึ้นไปอีก ต้องการแต่จะยัดเยียดและสั่งการตามสายงานราชการบนวิธีการแบบธุรกิจ และในที่สุดปัญหาทั้งหมดก็สุมกองอยู่ที่ท้องถิ่น พร้อมหนี้สิน ความขัดแย้ง และการล่มสลายของเครือข่ายภาคประชาชน ทั้งนี้ยังไม่ต้องกล่าวถึงนโยบายอื่นๆที่ขูดรีดจากท้องถิ่นล้วนๆ เพื่อสนองนโยบายทางเศรษฐกิจที่ชุมชนท้องถิ่นไม่ได้ประโยชน์อย่างใด

ดังนั้น การให้โอกาสแก่ประชาสังคม ชุมชน และท้องถิ่นที่จะคิดและตัดสินใจอนาคตของตนเองในทุกๆด้านโดยรัฐให้การสนับสนุนจึงเป็นสิ่งที่จะต้องทำอย่างเร่งด่วนและจริงจัง

รัฐบาลใหม่ที่จะมารับผิดชอบในอนาคตจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เราใคร่เรียกร้องให้ประชาชนซักถาม ตรวจสอบนโยบายด้านนี้ของผู้สมัครรับเลือกตั้งให้ชัดเจน เขาจะผลักดันให้เกิดการเปิดพื้นที่สาธารณะของภาคประชาชนอย่างไร เช่น เขาจะยอมให้รัฐบาลสลายการชุมนุมของประชาชนด้วยการยกกฎหมายย่อย เช่น กีดขวางการจราจรขึ้นมาปราบปรามหรือไม่ และยิ่งถ้ารัฐบาลใช้มาตรการรุนแรงกับผู้ประท้วง เขาจะตอบโต้รัฐบาลอย่างไร ไม่ว่าในฐานะส.ส.ฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล เขาจะผลักดันการกระจายอำนาจไปสู่ชุมชนหรือไม่อย่างไร เช่น เขาจะผลักดันให้รัฐบาลมอบหมายภารกิจอะไรเพิ่มเติมให้แก่องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นบ้าง เป็นต้น

8. เลือกผู้ที่ไม่ทรยศต่อการปฏิรูปการศึกษา
หนทางที่ประเทศไทยจะดำรงอยู่ได้ในกระแสโลกาภิวัตน์ คือเร่งปฏิรูปการศึกษา ทั้งนี้ไม่ใช่เพื่อการแข่งขันทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ที่สำคัญกว่าคือการพัฒนาที่แท้จริงจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่เพิ่มขีดความสามารถของคนอย่างเท่าเทียมกัน เพื่อทำให้คนไทยทุกกลุ่มสามารถปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้อย่างมีความสุข สามารถรักษาความเป็นธรรมในสังคมอย่างมีสติ

ทั้งรัฐธรรมนูญและ พ.ร.บ.การศึกษา พ.ศ.๒๕๔๒ มุ่งจะปฏิรูปการศึกษาในสองประเด็นที่มีความสำคัญคือ

๑. เปิดให้คนไทยสามารถเข้าถึงการศึกษาในระบบได้อย่างน้อย ๑๒ ปีโดยเท่าเทียมกัน
๒. เปิดให้คนไทยสามารถเข้าถึงการศึกษาได้ในทุกวัย ทุกสถานภาพและทุกเงื่อนไข หรือทำให้การศึกษาตลอดชีวิตเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้จริงแก่คนไทยทั่วไป

แต่ที่ผ่านมารัฐบาลทุกชุดไม่ได้ให้ความสำคัญแก่เจตนารมณ์ในสองประการนี้อย่างแท้จริง เช่นจนถึงทุกวันนี้ แม้โรงเรียนรัฐบาลเลิกเก็บค่าเล่าเรียน แต่กลับตั้งราคาให้แก่กิจกรรมต่างๆ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาอย่างปฏิเสธไม่ได้ไว้ในราคาแพง รวมแล้วสูงกว่าค่าเล่าเรียนในแต่ละเทอมเสียอีก ก่อความยากลำบากอย่างสาหัสให้แก่ผู้ปกครองที่ยากจน และอาจเป็นเหตุให้ต้องเอาลูกออกจากโรงเรียนก่อนจะครบ ๑๒ ปี

เงินยืมเพื่อการศึกษาซึ่งทำมาสองรัฐบาลแล้ว ก็ขาดการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ธุรกิจการศึกษาของเอกชน เข้ามาแสวงหากำไรอย่างไม่รับผิดชอบจากนักเรียน-นักศึกษาของตนอยู่เสมอ และมีเด็กยากจนอีกมากที่ไม่สามารถเข้าถึงเงินยืมนี้ได้ด้วยเหตุผลต่างๆ กัน

ในด้านเนื้อหาและกระบวนการการศึกษาซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการปฏิรูปการศึกษา แทบจะไม่ได้รับความสนใจจากนักการเมืองที่เข้าไปบริหารบ้านเมืองเลย ส่วนใหญ่ของโรงเรียนตลอดจนถึงมหาวิทยาลัยก็ยังเน้นการท่องจำมากกว่าการเรียนรู้ จุดมุ่งหมายของ พ.ร.บ.การศึกษา ซึ่งต้องการให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วม กลับถูกทำให้ไร้ความหมายเพราะการปรับโครงสร้างของรัฐเปลี่ยนได้แต่รูปแบบภายนอก ในขณะที่เนื้อหาภายในก็ยังพยายามรักษาการรวมศูนย์เอาไว้เหมือนเดิม

ในส่วนการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งจะต้องสร้างแหล่งเรียนรู้นานาชนิดอย่างกว้างขวาง รัฐแทบไม่ได้ลงทุนอะไรมากไปกว่าไอซีที เช่น ไม่มีการจัดพิพิธภัณฑ์สำหรับการเรียนรู้ด้านต่างๆให้แพร่หลายสำหรับประชาชน ไม่ใช่สำหรับส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยว ไม่มีรัฐบาลใดคิดจะงดภาษีนำเข้าวัสดุการศึกษา เช่น ตำรับตำรา เครื่องดนตรี เครื่องมือวิทยาศาสตร์ วิดีทัศน์ที่ให้ความรู้ด้านต่างๆ ตลอดจนเครื่องไม้เครื่องมืออื่นๆ ซึ่งจะเปิดการเรียนรู้ได้กว้างขวางขึ้น สื่อวิทยุและโทรทัศน์ซึ่งประชาชนเข้าถึงได้มาก ไม่เคยได้รับการปรับปรุงไปในทางที่จะให้เป็นช่องทางเรียนรู้แต่อย่างใด คงเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อแก่สินค้า และการเมืองของผู้มีอำนาจเหมือนเดิม

แหล่งเรียนรู้นอกระบบชนิดต่างๆ ซึ่ง พ.ร.บ.การศึกษาสนับสนุนให้เกิดขึ้น ไม่เคยได้รับความสนใจอย่างจริงจังจากนักการเมือง การศึกษาตลอดชีวิตเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อ มีแหล่งเรียนรู้อยู่รอบตัวที่ผู้คนสามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวก

การทำให้การศึกษาของชาติเป็นเครื่องมือแห่งการพัฒนามนุษย์ จึงต้องเริ่มจากการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ จากการปฏิรูประบบโรงเรียนไปเป็นการทำให้การเรียนรู้ในโรงเรียนและการเรียนรู้หลักสูตรวิชาการ สามารถเชื่อมโยงสู่การเรียนรู้ในชีวิตประจำวัน และสู่ปัญหาของผู้เรียนได้ อย่างน้อยที่สุดคือ การเปิดหรือสร้างความยืดหยุ่นให้แก่เนื้อหาหลักสูตรในแต่ละท้องถิ่นแต่ละฐานวัฒนธรรม โดยการทำให้ผู้เรียนและชุมชนรอบโรงเรียน มีสิทธิมีส่วนกำหนดเนื้อหาการเรียนรู้ร่วมกับโรงเรียนในระดับใดระดับหนึ่ง

นอกจากนี้ ควรส่งเสริมแหล่งเรียนรู้ และกลุ่ม - องค์กรหรือชุมชนที่จัดการความรู้นอกสถาบันการศึกษาทางการ ซึ่งปัจจุบันขยายตัวไปมาก ได้เข้ามาเชื่อมต่อความรู้ชุมชนกับระบบความรู้ในโรงเรียน ซึ่ง พรบ.ปฏิรูปการศึกษา พ.ศ.2542 มาตรา 12 และ 18(3) รวมถึงมาตรา 25 และ 29 ได้ให้สิทธิชุมชน องค์กร เหล่านี้จัดการศึกษาได้เอง หรือประสานเชื่อมต่อกับระบบโรงเรียนก็ได้ รวมถึงการสนับสนุนทั้งทางวิชาการและทรัพยากรแก่แหล่งเรียนรู้นอกโรงเรียนเหล่านี้ด้วย

ที่สำคัญคือ การเร่งรัดจัดทำกฎกระทรวงที่รองรับความชอบธรรมในการมีส่วนร่วมจัดการศึกษาของภาคประชาชนตามมาตราที่กล่าวข้างต้น ตลอดจนส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยคำนึงถึงการสร้าง"เงื่อนไขเชิงสังคม"แก่การเรียนรู้ อาทิ วิทยุเพื่อการศึกษา โทรทัศน์เพื่อการศึกษา หรือสื่อสาธารณะเพื่อการเรียนรู้ที่หลากหลาย ทั้งพิพิธภัณฑ์ อุทยานเพื่อการเรียนรู้ต่างๆ ชุมชนเพื่อการเรียนรู้ ฯ หรือ"พื้นที่ดีๆ" ที่เอื้อแก่การเรียนรู้ตลอดชีวิตของคนทุกวัย

ตลอดจนการมีมาตรการควบคุม ตรวจสอบสื่อที่คุกคามเด็ก เยาวชนและครอบครัว ทั้งนี้โดยมองให้เห็นถึงความเชื่อมโยงการปฏิรูปการศึกษา ที่ต้องดำเนินการไปพร้อมกับการปฏิรูประบบราชการ การปฏิรูปสื่อ การปฏิรูปการปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น โดยรัฐพึงจัดทำนโยบายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดสรรงบประมาณโดยเฉพาะรายได้ของท้องถิ่น เพื่อสนับสนุนกิจกรรมการเรียนรู้ของชุมชน โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมบริหารจัดการ

เราในฐานะผู้เลือกตั้ง ควรตรวจสอบความคิดเห็นของผู้สมัครให้ถ่องแท้ว่า เขามีความเห็นอย่างไรในเรื่องดังต่อไปนี้ และพร้อมจะให้สัญญาว่าจะร่วมกับเราในการผลักดันให้เป็นผลจริงจังหรือไม่

1. เปิดการมีส่วนร่วมปฏิรูปการศึกษาจากภาคสังคม โดย (1) ปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการ
ปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ภาครัฐและหน่วยการศึกษา (2) ทบทวน ปรับปรุงนโยบาย กฎหมาย
และระเบียบปฏิบัติที่เป็นอุปสรรคต่อการใช้สิทธิจัดการศึกษาจากสังคม (3) เร่งเตรียมความพร้อม
ให้องค์กรทางสังคมจัดการศึกษาได้ ทั้งนี้รวมถึงการเร่งออกกฎกระทรวงที่รองรับความชอบธรรม

2. เร่งเตรียมความพร้อมให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีความรู้ความเข้าใจต่อการปฏิรูปการศึกษาแบบมีส่วน
ร่วม ภายใต้ปรัชญาการศึกษาเพื่อให้คนเกิดความรักต่อการเรียนรู้

3. สนับสนุนทั้งทางทรัพยากร วิชาการ และโครงสร้างพื้นฐานแก่การจัด"การศึกษาทางเลือก"ที่เกิดขึ้นโดยองค์กรทางสังคมต่างๆ ทั้งครอบครัวบ้านเรียน (Home School ) กลุ่มชุมชนและองค์กรชุมชน สถานประกอบการ สถาบันทางศาสนา เป็นต้น

4. กำหนดมาตรการทางภาษีที่เป็นธรรมและปฏิบัติได้จริง เพื่อจูงใจให้เอกชนและภาคธุรกิจ ลงทุนด้านการศึกษาตลอดชีวิตให้มากขึ้น

5. ให้ความสำคัญสูงสุดแก่การปฏิรูปการศึกษาที่สังคมมีส่วนร่วม โดยการยกระดับให้การปฏิรูปการศึกษาเป็น "วาระแห่งชาติ" ที่ทุกภาคส่วน ไม่แต่เฉพาะหน่วยงานด้านการปฏิรูปการศึกษา จะร่วมรณรงค์ สร้างสำนึกและสร้างปฏิบัติการด้านการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลาย ในปริมาณที่มากและกว้างขวางทั่วประเทศ

9. เลือกผู้ที่มุ่งมั่นในการสร้างพลังของสังคมเพื่อตรวจสอบรัฐบาล
รัฐบาลที่นำโดย พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ได้ทำให้สังคมการเมืองไทยต้องพากันวิตกว่า บัดนี้การเมืองของไทยกำลังมุ่งหน้าไปสู่ระบบการเมืองแบบมหาอำนาจเชิงเดี่ยว เฉกเช่นเดียวกับการเมืองในระดับโลก โดยไม่มีพรรคการเมือง องค์กร หรือสถาบันอื่นใด สามารถขึ้นมามีบทบาทในการถ่วงดุลรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แม้ว่าการสร้างฝ่ายบริหารที่เข้มแข็ง (Strong Executive) จะเป็นเป้าหมายหนึ่งของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ เพื่อให้เกิดฝ่ายบริหารที่มีความมั่นคงและต่อเนื่องในการบริหารราชการแผ่นดิน แต่รัฐธรรมนูญก็มิได้มุ่งหมายที่จะให้เกิดสภาวะของเผด็จการรัฐสภาที่มองเห็นคำวิจารณ์ หรือความเห็นต่างเป็นเพียงเสียงนกเสียงกาหรือเป็นความเห็นของวัวควาย และปฏิเสธการตรวจสอบจากองค์กรอื่น

ดังเห็นได้จากรัฐธรรมนูญได้สร้างกลไกและกระบวนการต่างๆ ที่จะทำให้เกิดการตรวจสอบอย่างกว้างขวางด้วยเช่นกัน ดังการจัดตั้งองค์กรขึ้นทำหน้าที่กำกับและตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐในหลายด้าน การรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการเข้าถึงและรับรู้ข้อมูลข่าวสาร แต่ดูราวกับว่ากระบวนการต่างๆ เหล่านี้ไม่ประสบผลในความเป็นจริงแต่อย่างใด

การให้ความสำคัญแก่กระบวนการและกลไกในการตรวจสอบจึงเป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยให้ไม่เกิดมหาอำนาจเดี่ยวขึ้นในสังคมไทย หรือเกิดขึ้นได้ยากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน การพิจารณาถึงกระบวนการต่างๆ เพื่อควบคุมและกำกับรัฐบาลที่เข้มแข็งจึงเป็นประเด็นที่ต้องได้รับการให้ความใส่ใจ ซึ่งในที่นี้มีประเด็นนำเสนอ ๓ ข้อ คือ

๑. องค์กรอิสระ เป็นรูปแบบขององค์กรที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน โดยความคาดหวังว่าจะสามารถเข้ามามีบทบาทในฐานะขององค์กรตรวจสอบ และควบคุมการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐในด้านต่างๆ ให้เป็นไปอย่างโปร่งใส เป็นอิสระไม่ถูกครอบงำจากอิทธิพลหรืออำนาจของนักการเมือง

แต่ภายหลังจากที่มีการจัดตั้งองค์กรอิสระขึ้น และได้มีการปฏิบัติหน้าที่มาช่วงระยะเวลาหนึ่งจวบจนกระทั่งปัจจุบัน การทำงานของหลายองค์กรถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงแนวทางการทำงานรวมถึงการแทรกแซงจากนักการเมือง องค์กรอิสระหลายองค์กรจึงจำเป็นต้องได้รับการทบทวนและประเมินถึงสภาพปัญหา อย่างน้อยที่ปรากฏอย่างชัดเจนคือ การแทรกแซงในกระบวนการสรรหาบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในองค์กรที่มีบทบาทสำคัญเช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และการแทรกแซงในขั้นตอนการทำงานขององค์กรอิสระ
นอกจากความยุ่งยากที่เกิดขึ้นกับองค์กรอิสระที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นมาแล้ว มีองค์กรอิสระอีกหลายองค์กรที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่น องค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อม องค์กรอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ยังไม่มีรัฐบาลใดนับตั้งแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นต้นมา ให้ความสนใจในการผลักดันให้เกิดการจัดตั้งขึ้น ซึ่งรวมถึงรัฐบาลชุดปัจจุบันที่ไม่เคยแสดงท่าทีด้วยเช่นกัน

ทั้งที่องค์กรอิสระเหล่านี้จะสามารถมีบทบาทอย่างมากต่อการปกป้องสิทธิของประชาชนในด้านต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมาได้ถูกละเมิดทั้งจากหน่วยงานของรัฐและเอกชนอย่างกว้างขวาง จึงจำเป็นต้องมีการผลักดันให้เกิดการจัดตั้งองค์กรต่างๆ เหล่านี้ขึ้น

๒. สื่อมวลชน เป็นองค์กรที่มีบทบาทอย่างสำคัญต่อการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐ เสรีภาพของสื่อมวลชนจึงมีความหมายอย่างมาก องค์กรอิสระในการจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุและโทรทัศน์จึงต้องได้รับความสนใจ เพราะเป็นองค์กรที่เข้ามาทำหน้าที่กำกับดูแลและวางกติกาในการใช้สื่อมวลชน ดังเห็นได้จากตัวแทนของรัฐและทุนต่างพยายามเข้ามามีส่วนในองค์กรนี้อย่างชัดแจ้ง โดยไม่มีความรู้สึกว่าได้กระทำในสิ่งที่กำลังเป็นการโกงกินในระดับนโยบายแต่อย่างใด

ในเรื่องของการแทรกแซงสื่อ ปัจจุบันก็เกิดขึ้นในรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงจากเดิมซึ่งเป็นการใช้อำนาจรัฐแบบดิบเถื่อน เช่น การทุบแท่นพิมพ์ ปิดโรงพิมพ์ มาสู่การเข้าเป็นผู้ถือหุ้น การซื้อโฆษณาในสื่อมวลชนต่างๆ เป็นมูลค่ามหาศาล รวมถึงการให้ประโยชน์ต่อตัวนักข่าว ฯลฯ ที่กล่าวมาเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่จนทุกวันนี้ สื่อมวลชนเองก็อาจยังไม่ตระหนักว่ามีการแทรกแซงในการปฏิบัติหน้าที่ของตน

การวางกฎเกณฑ์เพื่อควบคุมไม่ให้กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ซึ่งรวมถึงรัฐวิสาหกิจด้วยเข้ามาครอบงำสื่อ เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยทำให้เสรีภาพของสื่อมีความหมายเกิดขึ้นได้จริง

๓. ภาคประชาชน ด้วยความไร้น้ำยาขององค์กรอื่นดังที่ได้กล่าวมา บทบาทของภาคประชาชนในการเคลื่อนไหว เพื่อแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นปัญหาต่างๆ จึงมีความสำคัญในฐานะของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย ที่ไม่ได้ถูกจำกัดสิทธิไว้เพียงการหย่อนบัตรลงในหีบเลือกตั้งเท่านั้น และจะเป็นพลังที่สำคัญในการตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ ดังเห็นได้จากการเคลื่อนไหวอย่างเข้มแข็งของประชาชน ได้นำมาสู่การปรับปรุงแก้ไขนโยบายของรัฐ เช่น โครงการโรงงานบำบัดน้ำเสียที่สมุทรปราการ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การปรับปรุงแก้ไของค์กรอิสระมิให้ถูกครอบงำ ตลอดจนการละเว้นการแทรกแซงด้วยอำนาจการเมืองและทุน ย่อมเกิดขึ้นได้ยาก หากพรรคการเมืองที่จัดตั้งรัฐบาลคุมเสียงข้างมากในสภาอย่างเด็ดขาดเสียจน แม้แต่กระบวนการตรวจสอบภายในระบบการเมืองกระทำไม่ได้ เช่นความพยายามที่จะได้ที่นั่งในสภาเกิน ๔๐๐ ที่นั่ง เพื่อกีดกันมิให้ฝ่ายค้านเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีโดยสิ้นเชิง

ในขณะที่รัฐบาลมีความมั่นคงทางการเมืองจนเกินความจำเป็นเช่นนี้ ย่อมเป็นธรรมดาอยู่เองที่รัฐบาลย่อมฟังเสียงของประชาชนน้อยลง รัฐบาลแน่ใจได้ว่า ไม่ว่าประชาชนจะเคลื่อนไหวอย่างไร ก็ไม่สามารถทำให้เสียงของ ส.ส.ในสังกัดพรรคการเมืองของตนหวั่นไหวไปได้ เราจึงมีแต่ ส.ส.ที่มีหน้าที่ยกมือและรับเงินเดือนเท่านั้น ไม่อาจมีตัวแทนที่แท้จริงของประชาชนในการตรวจสอบและมีส่วนร่วมทางการเมืองของเราได้

ฉะนั้น เราจึงใคร่เรียกร้องให้ประชาชนใช้วิจารณญาณในการเลือกตั้ง เพื่อให้เกิดการถ่วงดุลย์อำนาจในระบบการเมืองตามสมควร เช่นเมื่อเลือก ส.ส.เขตจากพรรคใด ก็จะไม่เลือก ส.ส.ตามบัญชีรายชื่อจากพรรคนั้นอีก เป็นต้น ในขณะเดียวกันควรหลีกเลี่ยงที่จะเลือกพรรคการเมืองที่ไม่มีหลักการ พร้อมจะร่วมรัฐบาลไม่เลือกหน้าเลือกฤดู เพราะพรรคการเมืองประเภทนี้ยิ่งทำให้กลไกการตรวจสอบในระบบการเมืองยิ่งเป็นไปไม่ได้มากขึ้น

10. เลือกผู้ที่พัฒนาทุนนิยมไทยให้พ้นจากความล้าหลังโดยไม่ลืมสังคม
แม้ว่าตัวเลขของผลผลิตมวลรวมของโลกจะเพิ่มขึ้นตลอดมา แต่โลกที่เราเผชิญอยู่เวลานี้และในอนาคตเป็นโลกที่จนลง ไม่ว่าจะมองในแง่ความหมดเปลืองของทรัพยากรที่มีอยู่ หรือในแง่ของทรัพย์สมบัติที่อยู่ในมือของผู้คนส่วนใหญ่ของโลกก็มีปริมาณน้อยลงไปเรื่อยๆ

คนที่มีรายได้น้อยกว่า ๑ เหรียญสหรัฐมีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก ๑.๑ พันล้านคนในปี ๑๙๘๕ เป็น ๑.๒ พันล้านคนในปี ๑๙๙๘ คาดว่าจำนวนนี้จะเพิ่มสูงขึ้นไปเรื่อยๆ จากการศึกษาของธนาคารโลกพบว่า คนจนเหล่านี้กระจายอยู่ในยุโรปตะวันออก เอเชียใต้ ละตินอเมริกา คาริบเบียน และซับซาฮาราในแอฟริกา

ความยากจนที่เพิ่มขึ้นยังปรากฏแฝงอยู่ในประเทศพัฒนาแล้วโดยทั่วไปด้วย เช่นในสหรัฐ รายได้ที่แท้จริงของแรงงาน(เมื่อคำนวณหักค่าเงินเฟ้อแล้ว)กลับลดลงไปเท่ากับปลายทศวรรษ ๑๙๕๐ เกือบครึ่งหนึ่งของแรงงานในสหรัฐมีเพียงงาน part-time ทำเลี้ยงชีพเป็นปรกติ ในยุโรปตะวันตกซึ่งรายได้สำคัญส่วนหนึ่งของประชาชนมาจากสวัสดิการหลายรูปแบบที่รัฐจัดให้ แต่ในระยะหลังๆ มานี้ สวัสดิการเหล่านั้นกลับถูกตัดรอนโดยรัฐบาลทุกประเทศ แม้แต่ในประเทศที่พรรค"สังคมประชาธิปไตย"เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลก็ตาม

ในเยอรมันซึ่งเคยเป็นประเทศที่อำนวยสวัสดิการสังคมอย่างดี ก็ประสบปัญหาเดียวกันนี้ ซ้ำแรงงานยังต้องยอมเพิ่มชั่วโมงทำงานในแต่ละสัปดาห์โดยไม่มีค่าตอบแทน เพื่อดึงให้อุตสาหกรรมไม่ปิดโรงงานย้ายไปยังแหล่งแรงงานราคาถูกในประเทศกำลังพัฒนา โบนัสเดือนที่ ๑๓ ซึ่งแรงงานเยอรมันเคยได้รับมาจนเป็นประเพณีกลายเป็นรายได้ที่ไม่แน่นอนดังเดิม อาจถูกลดหรือถูกงดได้

การกระจายความยากจนไปยังผู้คนเพิ่มมากขึ้นอย่างไม่อาจหยุดยั้งได้นี้ เกิดขึ้นจากการกระจุกตัวของทรัพย์สมบัติไว้ในมือคนจำนวนน้อยลงเรื่อยๆ ในทางตรงกันข้ามกับความยากจน หากสำรวจความร่ำรวยในแต่ละประเทศ ก็จะพบปรากฏการณ์เดียวกันว่า คนรวยกลับถือครองทรัพย์สมบัติเพิ่มขึ้นอย่างมาก ในขณะที่คนจนมีส่วนแบ่งในทรัพย์สมบัติน้อยลงไปอย่างมากเช่นกัน

ดังที่ทราบกันอยู่แล้วว่า ปรากฏการณ์ทั้งสองอย่างที่กล่าวแล้วนี้เกิดขึ้นในประเทศไทยเช่นกัน บางกรณีเกิดขึ้นในอัตราที่รุนแรงกว่าที่ปรากฏในระดับโลกด้วยซ้ำ ปรากฏการณ์อันน่าเศร้าเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะกระแสโลกาภิวัตน์ที่ผลักดันและกำกับโดยบรรษัทข้ามชาติ กลายเป็นนโยบายของประเทศมหาอำนาจและองค์กรระหว่างชาติต่างๆ ในฐานะประเทศเล็กๆ ถึงไทยไม่อาจต้านทานกระแสโลกาภิวัตน์ของบรรษัทข้ามชาติได้โดยตรง แต่เราต้องรู้เท่าทัน และระมัดระวังสุขุมรอบคอบในการเปิดประเทศด้านต่างๆ โดยการนำเอาเงื่อนไขของสัญญาการค้าระหว่างประเทศมาสู่เวทีสาธารณะอย่างเปิดเผย นอกจากควรรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมกันแล้ว ยังควรลงทุนกับการศึกษาวิจัยผลกระทบของเงื่อนไขต่างๆ ให้ถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจ

ในแง่การจัดการภายในประเทศ รัฐบาลใหม่ควรตระหนักว่า ความจริงแล้ว เรากำลังอยู่ในโลกที่จนลง ไม่ใช่โลกที่รวยขึ้น อันเราจะได้โอกาสหยิบฉวยความรวยนั้นมาใส่ตัวอย่างง่ายๆ ฉะนั้น แทนที่จะผลักทุกคนออกไปเผชิญกับการแข่งขันที่ไม่เท่าเทียมในตลาดโลก รัฐบาลใหม่ควรคิดถึงการสร้างเกราะคุ้มกันที่จะรักษาประชาชนให้รอดพ้นจากการถูกบรรษัทข้ามชาติ(ซึ่งร่วมมือกับนายทุนชาติ)ปล้นสดมภ์

เกราะที่มีความสำคัญเป็นอันดับแรกคือการรักษาฐานทรัพยากรของชาติเอาไว้ในมือของประชาชน รวมทั้งต้องเร่งกระจายอำนาจการจัดการทรัพยากรให้อยู่ในมือประชาชนเพิ่มมากขึ้น ฉะนั้นนโยบายแปลงสินทรัพย์เป็นทุนจะต้องทำด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ นโยบายนี้จะต้องไม่ทำให้ทรัพยากรการผลิตที่มีอยู่จำกัดหลุดไปจากมือของประชาชนที่ยากจน ทรัพย์สินสาธารณะที่ควรแปลงเป็นทุนต้องไม่รวมทรัพยากรการผลิตพื้นฐาน เช่น ที่ดิน น้ำ ป่า เป็นต้น

ความคิดที่ว่าจะสร้าง"เถ้าแก่"จำนวนน้อยขึ้นเพื่อให้เกิดการจ้างงานคนหมู่มาก ตั้งอยู่บนฐานคิดที่ว่าโลกนี้จะรวยขึ้น เพราะธุรกิจของเถ้าแก่ย่อมอยู่ได้โดยอาศัยตลาดโลกซึ่งจะมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ แต่โลกกำลังจนลง จึงมีกำลังซื้อสินค้าของเถ้าแก่น้อยลง หรือมิฉะนั้นเถ้าแก่ก็ต้องผลิตสินค้าสำหรับคนจำนวนน้อยที่ใช้เทคโนโลยีสูงเท่านั้น ประชาชนที่ไม่มีฐานทรัพยากรอยู่ในมือเลยจึงไม่ใช่แรงงานที่เถ้าแก่ต้องการ เพราะความรู้ที่เขามีอยู่ไม่เหมาะกับการผลิตลักษณะนั้น

ตรงกันข้าม ฐานทรัพยากรที่อยู่ในมือประชาชนในเวลานี้ (หรือที่ควรจะกระจายออกไปให้มากขึ้น) กลับเป็นหลักประกันความมั่นคงแก่ชีวิตของเขายิ่งกว่าอื่นใดทั้งสิ้น ซึ่งเท่ากับมีหลักประกันความมั่นคงให้แก่ชาติไปพร้อมกัน ไม่ว่าจะเกิดความผันผวนใดๆ ในตลาดโลก ประเทศไทยก็จะเผชิญได้อย่างไม่ทรุดโทรมเกินไป ดังกรณีวิกฤตเศรษฐกิจที่เพิ่งผ่านมาชี้ให้เห็น

ฉะนั้น แทนที่จะนำเอาที่ดินไปเป็นทุนในรูปของเงินเพียงอย่างเดียว รัฐบาลใหม่ควรเพิ่มคุณภาพของทุนที่ดินเดิมซึ่งมีอยู่แล้ว โดยการสนับสนุนการผลิตด้านเกษตรกรรมที่ให้ความมั่นคงแก่ชีวิตของเกษตรกร เช่น การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ การเลิกปลูกพืชเชิงเดี่ยว เพิ่มอำนาจต่อรองกับตลาดให้แก่เกษตรกรทั้งโดยกระบวนการผลิต การเก็บรักษาพืชผล และความร่วมมือในรูปสหกรณ์ชนิดต่างๆ เป็นต้น

แทนที่จะเน้นวัฒนธรรมกระแสทุน ที่เน้นแต่ความสำคัญของเงิน แบบใครเฮงใครได้ แล้วเอาตัวรอดไปคนเดียว รัฐบาลใหม่ควรเน้นวัฒนธรรมของการเอื้อเฟื้อแบ่งปัน การทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และการมัธยัสถ์อดออม ซึ่งทั้งหมดเหล่านี้ล้วนเป็นทรัพย์ซึ่งใช้เป็น"ทุน"ได้ทั้งสิ้น รัฐบาลควรเป็นหัวหอกสำคัญอันหนึ่งของการต่อต้านกระแสบริโภคนิยม ซึ่งผลักให้คนหาเงินทั้งทางตรงทางคด เพื่อเอามาบำเรอความจำเป็นที่ถูกบริษัทร้านค้าสร้างขึ้น ทั้งๆ ที่ไม่ใช่ความจำเป็นจริงของชีวิตเลย

ฉะนั้นรัฐบาลจึงไม่ควรส่งเสริมการพนันทุกรูปแบบ ทัศนคติต่อชีวิตของนักการพนันคือการเสี่ยงดวง ไม่ใช่การทำงานด้วยความซื่อสัตย์ และมัธยัสถ์อดออม ยิ่งเรามีประชากรที่มีทัศนคติต่อชีวิตอย่างนี้เพิ่มมากขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งทำให้ชาติต้องอับจนในโลกที่ยากจนมากขึ้นเพียงนั้น ยิ่งกว่านี้ การทำให้การพนันฝังตัวเข้าไปในระบบจัดการทางสังคมของรัฐ เช่นใช้เงินจากการพนันเพื่อเป็นทุนเล่าเรียนของนักเรียนยากจนก็ตาม ใช้เป็นเงินนอกงบประมาณสำหรับการพัฒนาในท้องถิ่นก็ตาม ก็เท่ากับเป็นการขยายผลร้ายของการพนันให้แก่สังคมหนักมากขึ้น เพราะทำให้รายได้จากการพนันเป็นส่วนที่ขาดไม่ได้ของระบบจัดการของรัฐ การพนันกลายเป็นสถาบันที่จำเป็นอันหนึ่งของรัฐเหมือนตำรวจ ทหาร กรมป่าไม้ หรือกระทรวงสาธารณสุข อย่าลืมว่า รัฐไทยต้องใช้เวลาร่วมศตวรรษกว่าจะปลดตนเองจากแหล่งรายได้สำคัญคือการพนัน ยาฝิ่น และโสเภณีได้

รัฐบาลใหม่ควรถือว่าการกระจายรายได้ และการกระจายทรัพยากรการผลิตโดยเฉพาะที่ดิน เป็นนโยบายสำคัญที่สุดที่จะต้องเร่งดำเนินการ เพื่อทำให้เกิดตลาดภายในที่เข้มแข็ง แทนตลาดบริโภคนิยมโดยสินเชื่อ ความพอมีพอกินจะกระจายไปยังคนหมู่มาก รวมทั้งจะเกิดเงินทุนภายในมากขึ้นทำให้การพึ่งพิงทุนจากต่างประเทศลดลง แทนที่รัฐบาลจะเน้นแต่ความเติบโตทางเศรษฐกิจ ควรให้ความสำคัญกว่าแก่ความเป็นธรรม และความยั่งยืนของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เพราะสองอย่างนี้ต่างหากที่จะทำให้คนไทยเผชิญกับความยากจน ซึ่งขยายตัวในโลกปัจจุบันได้อย่างแข็งแรงกว่า ในขณะเดียวกันก็ทำให้ประชาธิปไตยไทยมีฐานของความเป็นจริงในชีวิตคน มากกว่าหีบบัตรเลือกตั้งซึ่งนับวันก็ยิ่งถูกกำกับควบคุมโดยธุรกิจการเมืองในรูปแบบที่ซับซ้อนมากขึ้นทุกที

รัฐบาลใหม่ควรเข้าใจว่า ชัยชนะในการแข่งขันทางธุรกิจในโลกไม่ใช่ชัยชนะของชาติ ความยากจนที่แผ่ซ่านไปทั่วโลกดังที่กล่าวข้างต้นชี้ให้เห็นว่า ธุรกิจที่"ถึงฝั่ง"แล้วอาจไม่ได้ทำให้สังคมหรือประชาชนดีขึ้นแต่อย่างใด ชัยชนะที่แท้จริงของชาติมาจากความผาสุกและความมั่นคงในชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่ ไม่ใช่กำไรที่เพิ่มขึ้นของบางบริษัท หรือการเพิ่มขึ้นของมูลค่าหุ้นซึ่งมีคนจำนวนน้อยถือครองอยู่ ถึงอย่างไรต้องไม่ลืมคำของคาร์ล โปลันยีที่ว่า "เศรษฐกิจเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสังคม"เท่านั้น ไม่ใช่ทั้งหมดของสังคมอยู่ที่เศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว

เราใคร่เรียกร้องให้พี่น้องประชาชนอย่าไว้วางใจผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือพรรคการเมืองที่อ้างว่าจะทำให้ประเทศไทยมั่งคั่งร่ำรวยเหมือนประเทศ G7 เพราะแสดงว่าเขาไม่ได้ใส่ใจสภาวการณ์ที่เป็นจริงของโลกและของประเทศ ในทางตรงกันข้าม พี่น้องประชาชนควรตรวจสอบความคิดของผู้สมัครว่า ไทยควรเตรียมการอย่างไรบ้างเพื่อเผชิญกับโลกที่ยากจน ผู้สมัครใส่ใจอย่างจริงจังต่อการกระจายทรัพยากรในประเทศหรือไม่ และจะใช้วิธีการอะไรบ้าง เขามองแต่การส่งออกเป็นสรณะหรือความยั่งยืนของทรัพยากรซึ่งเป็นฐานชีวิตให้แก่ประชาชนส่วนใหญ่ และเขามีนโยบายใดบ้างในการที่จะช่วยประกันความยั่งยืนนี้

 

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 450 เรื่อง หนากว่า 5000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com




 

H
ถึงเวลาแล้ว ที่เราจะไม่ปล่อยให้พรรคการเมืองเป็นผู้เร่ขายนโยบายสาธารณะ เราในฐานะประชาชนจะขอลุกขึ้นทวงสิทธิ์เพื่อกำหนดทิศทางและนโยบายสาธารณะเอง

พัฒนาการของรัฐชาติไทยยังมีปัญหาเพราะไม่ได้คลี่คลายไปถึงจุดสมบูรณ์ของความเป็นประชาชาติ นั่นก็คือชาติไทยไม่ส่อนัยะความหมายไปยังประชาชนหรือพลเมืองเป็นหลัก ในขณะเดียวกัน ชาติไทยกลับไปผูกพันความเป็นพลเมืองเข้ากับอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์สมมติอันหนึ่งที่เรียกว่า"ไทย" ทำให้เกิดปัญหากับประชาชนอีกจำนวนมากที่ไม่อาจรับอัตลักษณ์นั้นมาถือเป็นของตัวได้

ดังที่ทราบกันอยู่แล้วว่า นับจากหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา ที่รัฐบาลไทยได้เลือกที่จะอาศัยฉายาอำนาจของสหรัฐในการป้องกันตนเอง แต่นโยบายนี้ไม่ได้มุ่งที่ความปลอดภัยของชาติโดยตรง แต่กลับเอาชาติไทยของเราไปผูกติดอยู่กับยุทธศาสตร์โลกของสหรัฐ ประเทศไทยจะถูกรุกรานหรือไม่ มิได้ขึ้นอยู่กับประเทศไทยเอง กลับขึ้นอยู่กับว่าความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับมหาอำนาจอื่นตึงเครียดถึงขนาดที่จะเปิดสงครามท้องถิ่นในภูมิภาคใดของโลกหรือไม่ ฉะนั้นหากประเทศไทยถูกรุกรานจริง กองกำลังหลักที่จะใช้ปกป้องบ้านเมืองกลับเป็นกองกำลังของสหรัฐ ดังนั้นกองทัพไทยจึงถูกพัฒนาขึ้นเพื่อทำภารกิจเป็นส่วนหนึ่งในยุทธศาสตร์โลกของสหรัฐเป็นสำคัญ

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 480 เรื่อง หนากว่า 5500 หน้า ในรูปของ CD-ROM ในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง) สนใจสั่งซื้อได้ที่
midnightuniv(at)yahoo.com
หรือ ส่งธนาณัติถึง
รศ.สมเกียรติ ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202

กรุณาส่งธนาณัติไปยัง รศ.สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50202
อย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์