ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
ผลงานภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบบทความบริการฟรีของ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

R
relate topic
241147
release date

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 479 หัวเรื่อง
สัมภาษณ์ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ
กรณีเหตุการณ์รุนแรงที่ตากใบ
สัมภาษณ์โดย กองบรรณาธิการ ไทยโพสต์ แทบลอยด์
ม.เที่ยงคืน ขออนุญาตเผยแพร่ต่อ

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ

Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com

เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณขาลดขนาดของ font ลง จะ
สามารถแก้ปัญหาได้

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
เว็ปไซท์นี้มีการคลิกโดยเฉลี่ยต่อวัน 14119-26256 ครั้ง สำรวจเมื่อเดือนสิงหาคม 47
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ เพื่อประโยชน์ต่อสังคม

คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

บทสัมภาษณ์วุฒิสมาชิก
สังคมนิติรัฐได้ผลกว่ากระแสพับนกกระดาษ
น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ
โดย กองบรรณาธิการ ไทยโพสท์ แทบลอยด์


หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้ คัดลอกมาจากกระดานข่าวมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
โดยผู้ที่ใช้นามว่า"วิภาวี"นำมาเผยแพร่ และได้แจ้งแหล่งที่มาจาก
http://www.thaipost.net/index.asp?bk=tabloid&post_date=21/Nov/2547&news_id=98268&cat_id=220100
ต้นฉบับของบทสัมภาษณ์นี้เป็นของ ไทยโพสต์ แทบลอยด์ เรื่องปก "พับนก พับเหยี่ยว"
โดยกองบรรณาธิการ ได้พูดคุยกับ น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ
ทางมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขออนุญาตไทยโพสต์ ณ ที่นี้ เผยแพร่ต่อเพื่อประโยชน์สังคมไทย
(บทความทั้งหมดยาวประมาณ 12 หน้ากระดาษ A4)

 


พับนก-พับเหยี่ยว
21 พฤศจิกายน 2547 กองบรรณาธิการ
นักวิชาการ 160 คนที่เข้าชื่อยื่นหนังสือเรียกร้องให้ใช้สันติวิธีแก้ปัญหาภาคใต้ และเข้าพบนายกรัฐมนตรีเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา 22 คน คงคิดไม่ถึงว่า ณ วันนี้สถานการณ์จะพลิกกลับถึงขั้นนี้

นักวิชาการคนหนึ่ง-ด้วยความปรารถนาดี เมื่อเห็นว่านายกรัฐมนตรีแสดงท่าทีอันดี ยินดีให้เข้าพบ ก็คิดว่าควรจะนำอะไรไปมอบให้นายกรัฐมนตรีเป็นการแสดงความปรารถนาดีบ้าง ถ้าจะเอากระเช้าดอกไม้ ก็คงไม่เหมาะ เลยหยิบเอานกกระดาษ-สัญลักษณ์แห่งสันติภาพ ที่ศิลปินกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งเคยรณรงค์มาก่อนหน้านี้ ไปมอบให้นายกรัฐมนตรีเป็นสัญลักษณ์ของการใช้สันติวิธีแก้ไขปัญหา

ฉับพลันทันใดนั้น ท่านผู้นำผู้เป็นเจ้าแห่งโปรโมชั่น ก็ฉวยนกกระดาษไปจากมือของอาจารย์ ประกาศชักชวนประชาชนพับนก 62 ล้านตัวไปโปรยใน 3 จังหวัดภาคใต้เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ปลุกกระแสสร้างความฮือฮาดึงเอาดารานักร้องออกมาพับนกกันกว้างขวาง กระแสสันติวิธีกลายเป็นกระแสพับนก และกระแสพับนกก็กลายเป็นกระแสสร้างความนิยมให้แก่ท่านผู้นำในการเลือกตั้งที่จะมาถึง โดยกลบกระแสการตรวจสอบความรุนแรงในเหตุการณ์ตากใบทมิฬจนหมดสิ้น

ขอโทษกลายเป็นเรื่องขี้หมา สาระที่อาจารย์ 160 คนเสนอไปกลายเป็นเรื่องไร้สาระ ไม่สำคัญเท่าการพับนก พับนกไปด้วยปลุกกระแสขวาจัดไปด้วย ปลุกระดมกลุ่มพลังมวลชนต่างๆ ออกมาด่าทอ ส.ว. และองค์กรสิทธิมนุษยชนที่เข้าไปตรวจสอบกรณีตากใบ สันติภาพและความสมานฉันท์ถูกลากไปเข้าคู่กับกระแสรักชาติสุดโต่ง โดยมีท่านผู้นำขี่ความนิยมอยู่ทั้งสองกระแส นักวิชาการ องค์กรสิทธิมนุษยชน องค์กรประชาชน หรือพรรคฝ่ายค้าน ถูก "ล้อมปราบ" บดขยี้ในพื้นที่ทางความคิด ใครวิจารณ์การพับนกกลายเป็นพวกขวางโลกไม่รักสันติ ใครตรวจสอบความรุนแรงกลายเป็นผู้ไม่รักชาติ ใครเรียกร้องให้สหประชาชาติเข้ามาตรวจสอบก็กลายเป็นชักศึกเข้าบ้าน

หนำซ้ำ 160 อาจารย์ก็ยังกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เมื่อรัฐบาลเล่นเกมเหนือชั้นด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ขึ้นตามที่เสนอ แล้วเชิญชวนให้คณาจารย์เข้าร่วมด้วย ไม่เข้าร่วม? ก็แน่นอนที่จะถูกประณามว่าดีแต่พูดพอให้ทำแล้วไม่ทำ เข้าร่วม? ก็เห็นๆ อยู่ว่าคงแก้ปัญหาอะไรไม่ได้ ถ้ารัฐยังเดินแนวทางนโยบายเช่นนี้ และพร้อมจะโยนบาปให้คณะกรรมการชุดนี้เมื่อเกิดความล้มเหลว

สถานการณ์เช่นนี้ ย้อนกลับไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แม้แต่คิดฝัน 160 อาจารย์ก็คงไม่คาดฝัน
นี่คือความเก่งกาจจนน่าสะพรึงกลัวของระบอบทักษิณ

"เขาเป็นผู้ใช้สถานการณ์ได้และชนะทุกสถานการณ์ เรียกว่า Situation management ระบอบทักษิณฉลาดในการบริหารจัดการสถานการณ์อยู่แล้ว และสามารถอยู่เหนือสถานการณ์ได้ทุกครั้ง" อาจารย์สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ให้คำจำกัดความ

น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ
"มะเร็งร้ายลุกลาม"
ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภา ซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้ความรุนแรงในกรณีตากใบมาอย่างต่อเนื่อง ยืนยันว่าจะต้องช่วยกันทำความเข้าใจกับประชาชนต่อไปในวงกว้าง ว่าประเด็นสำคัญที่จะช่วยให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์ไม่ต้องถูกฆ่าตาย ก็คือรัฐบาลจะต้องใช้นโยบายที่ถูกต้องในการแก้ปัญหา ไม่ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมหรือสร้างความคับแค้นใจให้ผู้บริสุทธิ์

"ผมมีสิ่งที่มีความเป็นห่วงขณะนี้อยู่ 2 เรื่อง เรื่องที่หนึ่งก็คือเรื่องความจริงที่จะต้องปรากฏต่อสังคม ขณะนี้มีภาพที่สังคมกำลังถูกบิดเบือนในเรื่องความจริงที่สำคัญมาก ด้านหนึ่งก็คือความจริงของประชาชนผู้บริสุทธิ์ ที่ต้องยอมรับว่าเสียชีวิตจากผู้ที่ไม่หวังดีไปจำนวนหนึ่ง ประชาชนเหล่านี้ส่วนหนึ่งก็เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ชาวบ้าน เป็นพระ ผู้พิพากษา ซึ่งตรงนี้ทำให้สภาพโดยทั่วไปในขณะนี้ ชาวบ้านที่ทำมาหากินโดยสุจริตเกิดความหวาดกลัววิตกกังวล ขาดความมั่นคงในชีวิตและความปลอดภัย

ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม กรรมาธิการเราได้เชิญคุณหมอที่เป็นผู้อำนวยการ ร.พ.ปัตตานีและนราธิวาสมา ท่านพูดชัดเลยว่า 20 กว่าปีที่อยู่ที่นั่นมา มีแต่ความสงบสุข แต่ว่าสถานการณ์ขณะนี้เมื่อออกจากโรงพยาบาลไปไม่รู้ว่าจะถูกลอบฆ่าหรือเปล่า ตรงสี่แยกไหนหรือตรงถนนไหน ไม่รู้ว่าไปซื้อของร้านไหนจะมีระเบิดเกิดขึ้นหรือเปล่า นั่นคือส่วนหนึ่งที่กรรมาธิการเองก็ยอมรับ"

"แต่เราพบว่าความจริงอีกส่วนหนึ่งก็คือ ประชาชนที่ได้รับความไม่เป็นธรรม เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นจากอำนาจรัฐในพื้นที่ เหตุการณ์ในภาคใต้ที่ผ่านมาตั้งแต่ 4 ม.ค.กรณีปล้นปืนจนถึงขณะนี้ อันตรายต่อชีวิตและความไม่ปลอดภัยมันก็ยังดำรงอยู่ ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่เกิดขึ้นกับ 5 ผู้ต้องหาที่ถูกซ้อมให้รับสารภาพในคดีปล้นปืน หรือแม้กระทั่งทนายสมชาย ที่พยายามจะเข้าไปพยายามทำให้เกิดกระบวนการยุติธรรม ก็ถูกอุ้มหายตัวไป ซึ่งขณะนี้ก็ต้องยอมรับว่าเสียชีวิตแล้ว ฉะนั้นเราก็มีความเห็นว่าประชาชนส่วนนี้ได้รับความไม่เป็นธรรม"

"ในกรณีตากใบที่จับคนพันกว่าคน ในจำนวนนั้นเป็นผู้บริสุทธิ์ที่ปล่อยตัวออกมาแล้วพันคน เหลืออยู่ในกระบวนการสอบสวนดำเนินคดีแค่ 58 คนเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นในจำนวนพันกว่าคน ในจำนวนคนตาย 85 ศพ ก็เป็นผู้บริสุทธิ์เสียส่วนใหญ่ แต่การที่รัฐใช้อำนาจได้สั่งสมความแค้นให้เกิดขึ้นกับประชาชนที่บริสุทธิ์ พันกว่าคน ครอบครัว เพื่อนฝูง คนรู้จัก ผมคิดว่านี่คือการขยายแนวร่วมของบุคคลที่จะใช้เหตุผลว่า ผู้บริสุทธิ์เหล่านี้ไม่ได้รับความเป็นธรรม นี่คือการขยายแนวร่วมของผู้ที่ไม่หวังดี"

"ฉะนั้นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในกรณีตากใบ ที่กรรมาธิการเราให้ความสำคัญ ต่อการใช้อำนาจรัฐที่ไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นกับผู้บริสุทธิ์เหล่านั้น ไม่ใช่เพราะว่าเราไม่เห็นประชาชนผู้บริสุทธิ์อีกส่วนหนึ่งที่เสียชีวิต แต่เราเห็นว่านโยบายของรัฐที่ดำเนินในพื้นที่และสร้างความไม่เป็นธรรม มันเท่ากับขยายแนวร่วมให้กับผู้ที่ไม่หวังดี ซึ่งกรรมาธิการยอมรับว่ามีแน่นอน

เพราะฉะนั้นเราจึงต้องการให้มีการทบทวนว่าสิ่งที่รัฐบาลทำอยู่ในขณะนี้ ในมาตรการที่เหมารวม-เพราะจากการที่เราไปสอบ ทหารตำรวจเองบอกว่าในขณะนั้นมีแกนนำไม่เกิน 100 คน แต่เวลาจับจับพันกว่าคน คือการล้อมเหมารวมทั้งหมด และทำให้ผู้บริสุทธิ์ส่วนหนึ่งต้องได้รับอันตรายถึงชีวิต -ตรงนี้ที่เราคิดว่าเกิดจากนโยบายที่ไม่ถูกต้อง ก็นำไปสู่ผู้ปฏิบัติ ก็คือทหารตำรวจที่ปฏิบัติไม่เหมาะสมในเรื่องการสลายการชุมนุม"

"สิ่งที่กรรมาธิการพยายามเข้าไปทำตรงนี้คือ สะท้อนให้เห็นว่า ถ้านโยบายของรัฐบาลที่ยังเน้นมาตรการใช้อำนาจและความรุนแรงอยู่ โดยไม่แยกระหว่างน้ำกับปลา โดยไม่แยกว่าอันไหนเป็นผู้บริสุทธิ์ และก็ยังไม่สามารถจับได้ว่าใครเป็นโจรหรือผู้ก่อการร้าย การจับเหมารวมอย่างนี้ ผมคิดว่าความรุนแรงในภาคใต้ก็จะไม่สิ้นสุด ซึ่งความรุนแรงแบบนี้มันก็จะทำอันตรายต่อประชาชนทั้ง 2 ส่วน ทั้ง 2 ส่วนจะเป็นเหยื่อของความรุนแรงทั้งสิ้น อันนี้คือสิ่งที่เราเป็นห่วงว่าความจริงในขณะนี้ก็ยังไม่สามารถที่จะทำให้แยกประเด็นได้อย่างชัดเจน ใน 2 ความแตกต่างหรือ 2 อย่างนี้"

"ล่าสุดก็ยังได้ยินการให้สัมภาษณ์ของผู้นำรัฐบาลคือนายกฯ ที่ยังต้องการที่จะจับบุคคลที่คิดว่าเป็นโจรหรือเป็นมุสลิมที่พันธุ์ไม่แท้ ที่จะดำเนินการเฉียบขาด ไม่เอาไว้ทำพ่อ ถามว่า 10 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลสามารถระบุได้หรือเปล่าว่าผู้ที่เป็นหัวหน้าโจรผู้ก่อการร้ายคือใคร เราพบว่าชีวิตของคนบริสุทธิ์ไม่ว่าจะเป็นประชาชนทั่วไป หรือแม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ ล้มตายเป็นหลายร้อยคน ขณะที่ยังไม่สามารถจับโจรได้สักคน นี่คือปัญหาที่แสดงว่าขณะนี้การทำงานในเชิงนโยบายของรัฐบาลไม่ถูกต้อง"

หมอนิรันดร์บอกว่า ขณะเดียวกันสิ่งที่น่าเป็นห่วงเพิ่มขึ้น ก็คือมีการขยายความขัดแย้งเข้ามาปลุกกระแส
"ประการที่ 2 ที่ผมเป็นห่วงก็คือ ขณะนี้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นมันเป็นความรุนแรงที่ขยายจากตัวพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้มาที่ส่วนกลางแล้ว พฤติกรรมที่เกิดขึ้น ในการที่มีคนประท้วงที่หน้ารัฐสภา ประท้วงการทำงานของ ส.ว. ตรงนี้ มันแสดงให้เห็นถึงการขยายความขัดแย้งในพื้นที่มาสู่ส่วนกลาง และปลุกกระแสชาตินิยม ขณะนี้หลายฝ่ายเริ่มกังวลแล้ว เริ่มวิตกว่ามีสื่อหลายส่วนที่กระตุ้นในเรื่องกระแสเชื้อชาตินิยมมากขึ้น และพยายามแบ่งเป็นฝักฝ่าย ถ้าไม่ใช่เป็นพวกกูก็ต้องเป็นพวกมึง ลักษณะอย่างนี้สังคมไทยมีบทเรียนมาแล้ว

ในกรณี 6 ตุลา นั้นคือการปลุกกระแสฝ่ายขวาขึ้น แล้วก็จะทำให้เกิดการเผชิญหน้ากัน ความเผชิญหน้านั้นจะนำมาสู่ความรุนแรง และทำให้เกิดเป็นมิคสัญญีในสังคมไทยขึ้น ผมเองผ่านเหตุการณ์ 14 ตุลา 6 ตุลา พฤษภาก็ผ่านมาแล้ว ไม่ต้องการให้เกิดโศกนาฏกรรมขึ้นในสังคมไทย"

สันติวิธีไม่ใช่ลืมเสียเถอะ
"นี่คือปัญหาความจริงที่ยังไม่สามารถปรากฏต่อสังคมได้ แต่ถูกบิดเบือนให้เป็นเรื่องของการแบ่งเป็น 2 ฝ่าย เพราะฉะนั้นความเป็นห่วง 2 ประการนี้คือ สิ่งที่ผมคิดว่าสังคมต้องพยายามที่จะเข้ามาสนใจและทำความเข้าใจ ไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี หรือแม้กระทั่งองค์กรประชาชนทุกฝ่าย ปัญหาตรงนั้นไม่ใช่ปัญหา 3 จังหวัดภาคใต้แล้ว แต่เป็นปัญหาของคนไทยทั่วทั้งประเทศ

ผมคิดว่าพระราชดำรัสของสมเด็จฯ เป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องมาคิดทบทวนในเชิงนโยบาย แนวทางในการแก้ไข ว่าจริงๆ นโยบายและโครงการในการนำไปสู่สันติสุขใน 3 จังหวัด มันควรจะเป็นยังไงแน่ และที่ผ่านมามันมีความผิดพลาดอย่างไร มากกว่าที่จะบอกว่าให้ลืมหมดแล้วมาตั้งต้นใหม่"

"มันตั้งต้นไม่ได้เพราะสิ่งที่ทำไปแล้วมันได้ทำให้เกิดความแค้น สร้างความไม่พอใจให้เกิดขึ้นในพื้นที่ เราพบว่าคนที่เสียชีวิตในกรณีตากใบ เมื่อผมไปวันที่ 5 พ.ย. ที่ผ่านมาเขาบอกว่าสิ่งที่เขาทำใจไม่ได้คือว่าเขาสูญเสียพ่อ แม่ ลูกญาติพี่น้องแล้ว ยังต้องถูกตราหน้าว่าเป็นโจร แล้วทำเหมือนกับว่าเขาไม่ใช่เป็นคนไทย เขาคิดว่าเป็นคนไทยแม้จะเชื้อสายมุสลิมก็ตาม เขาบอกว่าทำไมจำเป็นจะต้องใช้ปืนในกรณีสลายการชุมนุมที่ตากใบ ทั้งๆ ที่ผ่านมาก็ยังไม่เคยต้องทำอย่างนั้น นี่คือสิ่งที่ทำให้เกิดความคับแค้นใจเกิดขึ้น"

"ดังนั้นการที่ต้องการให้นายกฯ กล่าวคำขอโทษเป็นสิ่งที่ผมคิดว่าถูกต้อง แต่ไม่ใช่การกล่าวคำขอโทษแค่คำพูด แต่ต้องด้วยใจ และต้องมีการกระทำที่สอดคล้อง ในการที่จะทำให้เกิดการกระทำที่จะไปแก้ไขปัญหาในพื้นที่"

"ขณะนี้อาจจะตื่นกันในเรื่องของกระแสที่จะพับนก กระแสพับนกก็คือกระแสของการที่เปลี่ยนมิติ เรื่องการพับนกเป็นเรื่องดี เป็นเรื่องสัญลักษณ์สื่อใจกับใจ จิตวิญญาณที่อยากจะเข้าใจเขา เห็นอกเห็นใจเขาว่าเขาเป็นเพื่อนมนุษย์ แต่ขณะนี้การพับนกถูกทำให้เกิดเป็นแฟชั่น เป็นการสร้างภาพ และกลายเปลี่ยนเป็นเรื่องของการชิงโชค ซึ่งตรงนี้ผมคิดว่ามันก็คือทัศนะของท่านนายกฯ แต่ผมไม่แน่ใจว่านี่คือทัศนะของผู้บริหารประเทศหรือเปล่า ที่ต้องรับผิดชอบต่อการสมานฉันท์"

"นี่ไม่ใช่แค่พับนก แต่เน้นเรื่องการสร้างภาพเลยละ ถ้าบอก 60 ล้านตัวแล้วไปทิ้ง 60 ล้านภายใน 3 จังหวัด อะไรจะเกิดขึ้น ยิ่งให้มีการชิงโชคด้วยแล้ว ถ้าคิดให้ร้ายมันเหมือนดูถูกในน้ำใจของคนไทยมุสลิมว่า แค่พับนกแค่นั้นหรือ แค่ชิงโชคแค่นั้นหรือ ถึงจะทำให้ความคับแค้น ความรู้สึกต่ำต้อยมันหายไป ลองเอาใจเราไปใส่ใจเขาว่าเมื่อเราถูกการกระทำที่ไม่ยุติธรรม แล้วเราเกิดความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ คับแค้น เราต้องการนกเหรอ เราต้องการเงินเหรอ ไม่ใช่ เราต้องการความจริงใจ ต้องการการกระทำที่แสดงว่าต้องการเข้ามาแก้ปัญหาอย่างถูกต้อง บางทีคำว่าขอโทษอาจจะไม่ได้สำคัญมากกว่าสิ่งที่สื่อกันทางใจว่าเข้าใจปัญหาหรือเปล่า"

"ผมคิดว่าการพับนกหรือการขอโทษ มันต้องแสดงถึงจิตใจว่าพร้อมหรือยังที่จะมายอมรับว่าการทำงานที่ผ่านมานั้น มีความผิดพลาดอะไร ถ้าบอกว่าให้ลืมทุกอย่างหมดแล้วมาเริ่มต้นใหม่ ผมคิดว่าแก้ไขปัญหาไม่ได้ ต้องตั้งต้นด้วยยอมรับในความผิดพลาดก่อน หาคนที่รับผิดชอบ เพื่อที่จะสมานใจที่เขาถูกกระทำมาตลอด แล้วค่อยมาคิดว่าต่อไปจะทำอะไร เพื่อทำให้เกิดสันติสุขเกิดขึ้น

แต่สังคมไทยมักจะบอกว่าถ้าตั้งต้นสมานฉันท์คือยกเลิกที่ทำมาทั้งหมด แต่มันเป็นไปไม่ได้ เพราะอะไร ก็ต้องเข้าใจว่ามันเป็นบาดแผลที่ตอกย้ำลึกเข้าไปในหัวใจของคน 3 จังหวัดภาคใต้ ในกรณีกรือเซะก็เห็นแล้วว่า ผู้ที่ไม่หวังดีเขาได้ทำให้เกิดการเชื่อมโยงความแค้นไปสู่เรื่องของความขัดแย้งทางศาสนา ทางภาษา วัฒนธรรม ฉะนั้นมันไม่ใช่เป็นเรื่องของการแค่พับนก หรือเรื่องการชิงโชค"

หมอนิรันดร์เตือนว่าการปลุกกระแสรักชาติเป็นสิ่งที่ต้องระวัง ถ้าถูกตีความเป็นการแบ่งแยกคนในชาติด้วยกันเอง
"ถ้ามองว่าเขาไม่รักชาตินี่ผิด และยิ่งทำให้เกิดกระแสต่อต้านอำนาจรัฐมากขึ้น เขารักชาติ เขารักความเป็นชาติไทย แต่เขาเป็นคนไทยมุสลิม เหมือนเรามีไทยเชื้อสายจีน ไทยเชื้อสายญวน ไทยเชื้อสายฝรั่ง คนเหล่านั้นเขารักชาติไทย แต่เขาต่อต้านระบบอำนาจรัฐที่ไม่เป็นธรรม คือคนในรัฐบาล กลไกรัฐที่ไปสร้างความไม่เป็นธรรมกับเขา

ขณะนี้ไม่จำเป็นต้องปลุกกระแสความรักชาติ เขารักชาติ แต่เราไปบิดเบือนว่าเขาไม่รักชาติ ตรงนี้ยิ่งทำลายน้ำใจเขา ทำให้เขาเกิดความคับแค้น แล้วมองว่าเขาไม่ใช่คนไทย เหมือนอย่างขณะนี้ที่มีคนมาบอกว่า ส.ว.ที่ไปตรวจสอบไม่รักชาติ ไม่ใช่คนไทย นี่คือวิธีการที่จะสร้างศัตรูในชาติฆ่ากัน ซึ่งนี่คือการทำลายชาติ เพราะฉะนั้นความคิดเห็นที่แตกต่างในเชิงนโยบาย ของกรรมาธิการใน ส.ว. ไม่ใช่เป็นศัตรูของชาติ แต่เป็นเรื่องที่ ส.ว.ต้องการนำเสนอในเชิงนโยบาย เพื่อทำให้รัฐบาลที่เป็นตัวแทนในการบริหารประเทศทำงานให้รอบคอบขึ้น ไม่ใช้ความรุนแรงในการฆ่าคนบริสุทธิ์

ความแตกต่างในเชิงนโยบายมันเป็นเรื่องที่จะต้องทำความเข้าใจกันในทางการเมือง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะแบ่งว่า"รักชาติ"หรือ"ไม่รักชาติ" หรือเป็นศัตรูกัน หรือบอกว่าไม่ใช่คนไทย อันนั้นเป็นการกล่าวหาแบบรุนแรงที่จะทำให้คนมาทำลายล้างกัน"

"ที่บอกว่าเรามองเฉพาะเรื่องสิทธิมนุษยชน ผมเรียนแล้วว่าการที่ประชาชนบริสุทธิ์ถูกฆ่าตายคือสิ่งที่เราปฏิเสธ เราต่อต้านความรุนแรงทุกรูปแบบ แต่นี่คือสิ่งที่มันตรงไปตรงมา ประชาชนเหล่านั้นได้รับเคราะห์จากการใช้นโยบายที่ไม่ถูกต้องในการแก้ปัญหา ถ้านโยบายแก้ไขปัญหาตรงจุด ความรุนแรงนั้นก็จะลดลง แต่สิ่งที่เราคิดว่ามันซับซ้อนที่เราต้องอธิบาย ก็เพราะว่ามันมีประชาชนอีกส่วนหนึ่ง ที่ถูกอำนาจรัฐไปรังแกด้วยความไม่เป็นธรรม ถ้ากรรมาธิการวุฒิสภาไม่เข้าไปสอบสวน ความจริงเรื่องนี้จะปรากฏได้ยังไง

เพราะแม้กระทั่งทนายสมชายที่มีฐานะเป็นทนายความ สังคมยอมรับ พอเข้าไปสอบสวนกรณี 5 ผู้ต้องหาที่ถูกซ้อมซึ่งคนเหล่านั้นคือผู้บริสุทธิ์ คุณสมชายก็ถูกขึ้นบัญชีดำ ผมเป็นกรรมาธิการสอบในการหายตัวของทนายสมชาย นี่คือตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่า การที่กรรมาธิการหรือคนที่ไปเรียกร้องสิทธิมนุษยชนให้ความสนใจกับตรงนี้ เพราะเราต้องการให้เห็นว่าในนโยบายของรัฐในการบริหารเชิงโครงสร้างมันไม่ถูก ขณะเดียวกันก็เป็นสาเหตุอันหนึ่งที่ทำให้เกิดความรุนแรง ก็เลยยิ่งขยายแนวร่วมของพวกผู้ก่อการร้าย แล้วทำให้ความรุนแรงเกิดขึ้นในพื้นที่มากขึ้น ทั้งหมดนี้มันอยู่ภายใต้โครงสร้างของรัฐบาลที่ดำเนินนโยบายผิดพลาดทั้งสิ้น"

ขณะนี้รัฐบาลหันไปมีพฤติกรรมที่เหมือนกับให้ท้ายขบวนการรักชาติฝ่ายขวาออกมาเคลื่อนไหว ทำให้ขบวนการสันติวิธีอยู่ในภาวะลำบาก หมอนิรันดร์บอกว่าการทำเช่นนั้นไม่มีทางแก้ไขปัญหาได้
"มันจะไม่มีทางแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริง นายกฯ จะต้องมีความเข้าใจก่อนนะครับว่าจริงๆ ปัญหาความรุนแรงในภาคใต้ขณะนี้ เกิดขึ้นจากรากเหง้าของการใช้อำนาจ อาจารย์ประเวศก็พยายามที่จะบอกว่าการใช้อำนาจของรัฐบาลหรืออำนาจรัฐ เป็นสิ่งที่มันจะทำให้เกิดและนำไปสู่การทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมในภาคใต้ สิ่งเหล่านี้มันจะต้องแก้ไขด้วยวิธีการที่ต้องมองแนวทางการเมืองนำการทหาร และขณะเดียวกันต้องยึดหลักสันติวิธี สันติวิธีต้องเริ่มตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงสุดท้าย ฉะนั้นกรณีที่ตากใบ ถ้าเราเริ่มต้นด้วยการเจรจา ถ้าบอกสันติวิธีมันจะต้องไม่จบด้วยสลายการชุมนุมด้วยกำลังและทำให้คนตายเกิดขึ้น อย่างนั้นไม่เรียกว่าสันติวิธี"

"ดังนั้นการแก้ไขปัญหาภาคใต้ที่ถูกต้อง หนึ่งต้องมองก่อนว่าใช้อำนาจไม่ได้ แต่ต้องเปลี่ยนให้เป็นเรื่องของการเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเข้ามาแก้ไขปัญหา และต้องเคารพและยอมรับในเรื่องของความเสมอภาคของพื้นที่ ในการที่จะมากำหนดนโยบายดูแลและแก้ไขปัญหาของ 3 จังหวัดภาคใต้

ประการที่ 2 การแก้ปัญหาภาคใต้ไม่สามารถที่จะแก้ไขได้ด้วยการสร้างภาพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการพับนกจำนวนมาก เพราะตรงนั้นมันแค่สัญลักษณ์ แต่ตรงข้ามถ้าไปเน้นตรงนั้นมากมันจะนำมาสู่เรื่องของสังคมรู้สึกพอใจ ว่าได้เข้าไปช่วยเหลือเขาแล้ว แต่จริงๆ สิ่งที่ลึกลงไปกว่านั้น ต่อการที่จะสร้างภาพหรือการที่จะเอาเงินไปให้เขาก็ตาม เงินมากมายมหาศาลเป็นหลายหมื่นล้านก็แก้ไขปัญหาภาคใต้ไม่ได้ ถ้าเราไม่เข้าใจว่าในมิติของสังคมวัฒนธรรมของทางภาคใต้ ที่เป็นเรื่องของความแตกต่างทางภาษา เชื้อชาติ ศาสนานั้นแล้วเราจะยอมรับความเป็นวัฒนธรรมของเขาในการที่เป็นคนไทย แล้วร่วมกันแก้ปัญหาได้อย่างไร ถ้าไม่เข้าใจตรงนี้ ตราบนั้นเราจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้เลย"

ส.ว.อุบลราชธานีย้ำว่าในกระแสที่สังคมยังไม่มีความเข้าใจแนวทางสันติวิธี เป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องช่วยกันทำความเข้าใจโดยเฉพาะสื่อมวลชน
"ผมคิดว่าเรื่องนี้คงต้องช่วยกันหลายส่วน ขณะนี้ความไม่เข้าใจในสังคมส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของการที่ยังไม่ได้รับรู้ความจริง สื่อมวลชนต้องบอกความจริงต่อสังคม ว่าอะไรที่เกิดขึ้นที่ภาคใต้ ความจริงตรงนั้นมันจะทำให้สังคมได้รับรู้ปัญหาต่างๆ ที่มากขึ้น"

"ถ้าจะเปรียบภาคใต้ก็เหมือนคนคนหนึ่งที่ป่วยเป็นมะเร็ง เป็นเนื้อร้าย แพทย์จำเป็นต้องบอกความจริงกับคนไข้ เพราะอะไร เพราะการรักษามะเร็งเนื้อร้ายมันจะต้องมีการรักษาหลายขั้นตอน เพราะฉะนั้นรัฐบาลก็เหมือนแพทย์ที่จะต้องดูทั้ง 3 จังหวัดภาคใต้ แยกส่วนไม่ได้ จะดูเฉพาะผู้ก่อการร้าย โจร ไม่ได้ ซึ่งจนถึงขณะนี้รัฐบาลก็ยังจับตัวไม่ได้เลย แต่ต้องมองทั้งองคาพยพของสังคมภาคใต้ ขณะที่หมอก็ต้องมองคนทั้งคน"

"เมื่อมองคนทั้งคนในการที่จะดูแลรักษาโรคมะเร็ง เราก็มีการรักษาโดยฉายแสงหรือให้เคมีบำบัด การฉายแสงเราต้องพยายามจำกัดว่าให้แสงมันตรงเฉพาะก้อนเนื้อมะเร็ง เคมีเราก็ต้องระวังให้ยาตัวนั้นไปทำลายเฉพาะเนื้อมะเร็ง ถ้าหมอไม่ระวังฉายแสงมา แสงนั้นมันจะไปทำลายเนื้อดี ยาเคมีที่ให้ไปก็จะไปทำลายเซลล์ที่ดีในร่างกาย ทำให้คนนั้นตายได้

เพราะฉะนั้นถ้าเปรียบ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ตอนนี้ก็เหมือนคน เนื้อร้ายตรงนั้นจำเป็นอย่างยิ่ง จะไปตัดออกมันตัดไม่ได้ มันจำเป็นต้องให้การฉายแสงหรือให้เคมี การฉายแสงหรือให้เคมีต้องจำกัดเฉพาะเนื้อร้าย รัฐบาลจะต้องไม่พยายามทำวิธีการใดๆ ก็ตามที่ไปทำลายเนื้อดี ไม่อย่างนั้นคนจะตาย คนคือสังคมนั่นแหละ ทั้งประเทศตายไปด้วย เพราะอย่างที่ผมบอกแล้วว่ามันขยายจากพื้นที่มาส่วนกลาง การรักษาโดยฉายแสงเคมีก็ต้องจำกัด

นอกจากนั้นต้องมีการรักษาอย่างอื่น เราเรียกว่าการรักษา supportive คือทำให้ร่างกายมีสภาพที่แข็งแรงขึ้น เช่น ให้อาหาร ให้ในเรื่องจิตใจ กำลังใจ ให้ในเรื่องสิ่งแวดล้อม ก็ทำให้คนไข้มีกำลังใจ มีชีวิตและจิตวิญญาณ มีอาหารมีสุขภาพที่แข็งแรง เหล่านี้ถึงจะร่วมกันในการต่อสู้เนื้อร้ายหรือมะเร็งได้ แต่ถ้ารัฐบาลคิดว่าจะฉายแสงอย่างเดียวให้เคมีอย่างเดียว คนนั้นจะตาย สังคมไทยก็จะพังพินาศไปด้วย

เพราะฉะนั้นอยู่ที่ว่าขณะนี้หมอหรือรัฐบาล จะกล้าที่จะบอกความจริงต่อสังคมไหม สื่อเองก็จะเป็นคนที่ช่วยสะท้อนสารให้สังคมได้เข้าใจ ถ้าสังคมไม่เข้าใจ รัฐบาลก็ไม่เข้าใจ สังคมไทยก็จะเข้าสู่กลียุค หรือนี่คือโครงสร้างมรณะอย่างที่ อ.ประเวศพูด ก็จะมีความรุนแรงไปเรื่อย

"แม้ว" ไม่ใช่ป๋า
เราตั้งข้อสังเกตว่าทำไมสังคมไทยมันปลุกระดมง่ายอย่างนี้ แค่ 2 คู่หูรัฐบาลหอยที่ควรจะเป็นฟอสซิลไปแล้วก็ยังหยิบเอามาใช้ได้
"ผมก็คิดว่าขณะนี้สังคมต้องสรุปบทเรียน เพราะว่าก็เป็นคนเก่าๆ ถ้ารัฐบาลเห็นว่าอาศัยคนเก่าๆ ที่เคยปลุกผีในเรื่องความรุนแรงมาช่วย และสร้างทฤษฎีเก่าๆ เหมือนอย่างที่เคยสร้างแล้วเมื่อ 6 ตุลา ว่านักศึกษามีปืน เป็นคนต่างชาติ สภาพที่เห็นก็คือนักศึกษาถูกฆ่าตาย เพราะฉะนั้นก็อยู่ที่ว่ารัฐบาลจะเข้าใจตรงนั้นหรือเปล่า และจะพยายามสรุปบทเรียนไม่ให้กลับไปสู่แนวทางเดิมหรือไม่ ถ้าถามว่าทำไมถึงเกิดกระแสโจมตีนักสิทธิมนุษยชน หรือกระแสมองว่าเป็นคนขายชาติทำลายชาติ ผมคิดว่าก็คือเหมือนเดิม"

ดูเหมือนจะมีความพยายามปลุกเรื่องศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
"ผมคิดว่ามีความพยายามอย่างนั้นอยู่ และความพยายามตรงนั้นก็เป็นเงื่อนไขที่ต้องระวังว่า พวกก่อการร้ายก็พยายามสร้างสถานการณ์อย่างนั้นเหมือนกัน ในกรณีกรือเซะ เขาพยายามให้รัฐบาลไปทำอันตรายต่อชีวิตคนต่อหน้ามัสยิดที่เป็นสัญลักษณ์ทางศาสนาของเขา เพราะฉะนั้น กรณีกรือเซะผมยังมองว่ารัฐบาลตกหลุมของผู้ที่ไม่หวังดี ขยายแนวร่วมให้มีผู้ที่เกลียดชังการทำงานของรัฐบาลมากขึ้นในพื้นที่ มากกว่าที่จะมองว่าเราสามารถฆ่าคนได้ 108 ศพ"

"สงครามผู้ก่อการร้ายหรือผู้ไม่หวังดี สิ่งที่เป็นเหยื่ออันโอชะที่ดีที่สุดก็คือ บุคคลหรือองค์กรที่บ้าอำนาจ ใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรม ตรงนั้นจะเป็นเหยื่ออันโอชะของผู้ก่อการร้าย ที่จะขยายแนวร่วมจากโจรกระจอก เป็นโจรแบ่งแยกดินแดนอย่างแท้จริง ฉะนั้นผมคิดว่า เราต้องสรุปบทเรียนจากตรงนี้มากกว่า แล้วต้องเข้าใจตรงนี้ และถ้าทบทวนใน 10 ประเด็นที่ผ่านมา มันก็จะไม่มีหรือไม่ต่างจากที่ได้พูดมาเลย"

ก็เหมือนที่บิน ลาดิน ออกมาช่วยบุช ออกทีวีสร้างความกลัวให้คนอเมริกันจนบุชได้รับเลือก-นี่เราตั้งข้อสังเกต
"เพราะฉะนั้นในทัศนะผม ผมยืนยันว่ารัฐบาลต้องเอาข้อเสนอของท่านรองจาตุรนต์ที่ได้เข้าไปสำรวจ รับฟังความคิดเห็นจากทุกส่วนในพื้นที่ จากคณะกรรมการอิสลาม ประชาชน เครือข่ายต่างๆ จากข้าราชการในพื้นที่ด้วย แล้วออกมาเป็นข้อเสนอในเชิงนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหา มาทบทวนในข้อเสนอตรงนั้น น่าจะทำให้เห็นภาพการทำงานในการที่จะแก้ไขปัญหาภาคใต้ได้ชัดเจนขึ้น"

นี่สังเกตได้ว่าคนรอบตัวนายกฯ ก็มีสายนกพิราบเยอะ ตั้งแต่บิ๊กจิ๋วมาถึงจาตุรนต์ แต่ข้อเสนอไม่มีน้ำหนักเลย
"ก็เพราะว่ายังมองแนวคิดด้วยการใช้อำนาจ หนีไม่พ้นวิธีคิดของการใช้อำนาจ แล้วก็มองวิธีคิดแก้ปัญหาไม่พ้นการใช้เงิน บวกกับเรื่องของการสร้างภาพว่าได้พยายามเข้าไปช่วยเหลือแล้ว ซึ่งตรงนี้ทำไม่ได้กับ 3 จังหวัดภาคใต้ เพราะคนเหล่านั้นเขาเป็นคนธรรมดาๆ ที่เขาไม่ได้ต้องการเรื่องสิ่งของภายนอก เงินทอง หรือคำพูดที่สวยหรู แต่เขาต้องการชีวิตและจิตวิญญาณที่เข้าใจเขา ให้ความเคารพเขา ผมคิดว่าตรงนั้นมันสามารถพิสูจน์ได้จากการกระทำ มากกว่าเรื่องของการใช้อำนาจในการสั่งการ มากกว่าเรื่องการเอาเงินไปให้ มากกว่าเรื่องการสร้างภาพ เพราะฉะนั้นตรงนี้ใช้ไม่ได้กับคนใน 3 จังหวัดภาคใต้"

"มันก็เหมือนกับสมัยที่ต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย ปรากฏการณ์ของแนวร่วม นักศึกษาประชาชนที่เข้าป่าไปหลัง 6 ตุลา พอรัฐบาลประกาศนโยบายที่ถูกต้อง 66/2523 ที่เอาการเมืองนำการทหาร นั่นเป็นการทำงานที่มีความจริงใจ เปิดโอกาสให้ทุกอย่าง และทำให้เห็นแนวทางที่จะเข้ามาต่อสู้ในทางการเมือง ในสังคมที่มีความสมานฉันท์อย่างแท้จริง ตรงนั้นนักศึกษาเหล่านั้นถึงกลับออกมาจากป่า ไม่ได้หมายความว่านักศึกษาถูกปืนไปขู่แล้วออกจากป่า นี่คือตัวอย่างให้เห็น"

"คนจะเข้าไปร่วมกับโจรก่อการร้ายมากหรือน้อยมันขึ้นอยู่กับนโยบาย ต้องเอาการเมืองนำการทหาร มีความจริงใจ ไม่ใช่เป็นการเมืองแค่จิตวิทยา ไม่ใช่เป็นการเมืองที่สร้างภาพ ไม่ใช่การเมืองของการประชาสัมพันธ์ แต่ต้องเป็นการเมืองที่มุ่งให้เห็นถึงว่า สามารถที่จะสร้างผลประโยชน์ต่อสังคมบนพื้นฐานของความร่วมมือกัน ความสมานฉันท์อย่างแท้จริง ถ้ามีความจริงใจตรงนั้นได้ ในที่สุดมันก็กลับมา ทุกคนก็กลับมาสู่สังคมไทย เพราะไม่มีใครอยากจะหลุดไปจากตรงนี้ ยกเว้นแต่ว่าตรงนี้มันทำให้เขาถูกฆ่าถูกทำร้าย ขาดความมั่นคงในชีวิต หลักคิดตรงนี้เราผ่านบทเรียนมาเยอะแล้ว"

มีหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า ครั้งนี้มันอาจจะหนักหนาสาหัสกว่า 6 ตุลาเสียอีก
"มันหนัก เพราะตอนนี้มันติดที่คุณทักษิณคนเดียว มันหนักเพราะขณะนี้มันไม่ได้ชัดเหมือนเผด็จการทางทหาร แต่มันเผด็จการในระบอบประชาธิปไตย มันหนักในลักษณะเป็นการรวบอำนาจ ทั้งฝ่ายบริหาร ระบบรัฐสภา ทั้งระบบสื่อสารที่จะทำความเข้าใจกับประชาชน สื่อเองขณะนี้ก็ต้องยอมรับว่าค่อนข้างมีความจำกัดในการนำเสนอความจริง อันนี้ก็เป็นปัญหาในลักษณะการรวบอำนาจ ซึ่งส่วนนี้ต้องยอมรับว่าพอเป็นเผด็จการในระบอบประชาธิปไตย มันทำให้บางส่วนยังมีความการยอม มีความเชื่อมั่น ไม่อย่างนั้นคน 14 ตุลาจะอยู่ในรัฐบาลคุณทักษิณได้ยังไงล่ะ"

"มันอยู่ที่ตัวโครงสร้างนโยบายที่กำกับโดยผู้นำกับนักการเมือง สำคัญที่ตรงนั้น ยิ่งคุณทักษิณยิ่งมีโอกาสที่จะทำอย่างนี้ได้ เพราะต้องยอมรับว่า 3 ปีกว่าที่ผ่านมา คุณทักษิณเป็นผู้นำที่มีประชาชนยอมรับ-อันนี้ต้องยอมรับนะครับ ถ้าคุณทักษิณอาศัยความเป็นผู้นำในขณะนี้ทำให้เห็น ยึดมั่นประกาศนโยบายเหมือนอย่างท่าน พล.อ.เปรม ยอมรับในนโยบายที่ พล.อ.ชวลิตประกาศตอนนั้น ทั้งๆ ที่ท่าน พล.อ.ชวลิต ไม่ได้เป็นนายกฯ นะครับ ท่าน พล.อ.เปรมเป็นนายกฯ แต่ท่านยอมรับนโยบายตรงนั้นคือ 66/23

ฉะนั้นขณะนี้ท่านทักษิณเป็นนายกฯ สามารถที่จะเป็นผู้นำที่คนยอมรับในสังคมไทย ถ้าเพียงท่านใช้อำนาจของการยอมรับตรงนั้นทำให้สังคมได้ยอมรับสันติวิธี การเมืองนำการทหาร แล้วท่านมีความเข้าใจอย่างแท้จริง ตรงนั้นผมคิดว่าแก้ได้ มันไม่ได้มีความซับซ้อนในตัวปัญหา เพราะปัญหาทางภาคใต้ในเรื่องความแตกต่างทางวัฒนธรรม ศาสนา มันมีมานานแล้ว การใช้อำนาจรัฐที่ไม่เป็นธรรมก็มีมาตลอด ไม่ใช่เพิ่งจะมีตอนนี้ แต่มันไม่ถึงกับรุนแรงเช่นกรณีกรือเซะหรือตากใบ"

มันมีกระแสการก่อการร้ายสากลด้วยไหม
"ผมไม่เคยคิดอย่างนั้น ผมคิดว่ามันเป็นปัจจัยภายในมากกว่า ผมคิดว่าเกิดจากการที่เราเองไม่ได้ยึดหลักในเรื่องความเป็นนิติรัฐ ซึ่งต้องการการดำเนินการที่สร้างความเป็นธรรมให้กับประชาชน คนเป็นมะเร็งเนื้อร้ายจะมาโทษว่าคนอื่นมาทำให้เป็นมันไม่ได้ มันต้องโทษที่ตัวเองก่อน ไปกินสารที่ทำให้ก่อเชื้อมะเร็งขึ้น ติดเชื้อไวรัสอักเสบตับบีก็ทำให้เกิดมะเร็งตับ สิ่งเหล่านี้มันต้องดูในการเรื่องป้องกันสิ่งที่จะเข้ามาทำให้เกิดปัญหา ผมคิดว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมันเกิดจากโครงสร้างเชิงนโยบายของการใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรม และไม่รักษาเรื่องความเป็นนิติรัฐ ขณะเดียวกันก็ไม่สนใจเรื่องสิทธิเสรีภาพการมีส่วนร่วมของประชาชน แค่นี้ก็แย่แล้วครับ"

แต่มันมีอิทธิพลทางความคิดหรือการเลียนแบบการก่อการร้ายสากล
"ผมคิดว่าอันนั้นเป็นเรื่องปกติ เลียนแบบยังไม่ถึงก็เป็นบุญแล้วครับ ถ้าถึงก็คือคาร์บอมบ์แล้ว นี่ยังแค่เอาระเบิดไปวาง แต่นี่ก็ยิ่งแสดงให้เห็นว่าต้องรีบดำเนินการให้ถูกต้อง ไม่อย่างนั้นความรุนแรงจะต้องมากขึ้น เพราะมันไม่ยากที่จะเลียนแบบ ในการที่จะฝึกก็ไม่ยาก นี่ไม่ได้พูดส่งเสริม แต่ผมมีความเห็นว่าขณะนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนที่เป็นเรื่องวิกฤติของชาติที่ทุกฝ่ายจะต้องช่วยกันทำ ให้รัฐบาลได้ตาสว่างขึ้นและยอมรับเรื่องแนวทางนโยบายที่ถูกต้อง ก็คือต้องทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่เป็นนิติรัฐ และทำให้กฎหมายมีความเป็นธรรม ขณะเดียวกันนโยบายต่างๆ ต้องเน้นในเรื่องกระบวนการ วิธีการ ที่รองรับเรื่องเสรีภาพและการมีส่วนร่วมของประชาชน นโยบายสาธารณะในการจัดการได้อย่างถูกต้องและตรงกับความเป็นจริง"

แต่นายกฯ คงเปลี่ยนยาก เพราะตอนนี้นายกฯ ขี่ทั้ง 2 กระแสอย่างสบายใจเฉิบ
"ผมก็ได้แต่ภาวนาและเรียกร้องสังคมไทย อย่าปล่อยให้คุณทักษิณเป็นคนตัดสินใจในการแก้ไขปัญหาภาคใต้คนเดียว สมัยท่าน พล.อ.เปรม ยังไม่เข้าใจคำว่าสิทธิเสรีภาพการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วยซ้ำ แต่ขณะนี้กฎหมายรัฐธรรมนูญมีเรื่องนี้แล้ว เราแก้ปัญหาตรงนี้ได้ ฉะนั้นผมคิดว่าไม่ควรจะปล่อยให้คุณทักษิณตัดสินใจและแก้ปัญหาเรื่องภาคใต้คนเดียว ไม่อย่างนั้นแล้วมันจะลาม

ขณะนี้มันลามแล้ว มาเป็นปัญหาของสังคมไทย คือความแตกแยกและนำไปสู่ความรุนแรงของสังคมไทย เพราะฉะนั้นต้องให้ประชาชนทุกภาคส่วน พระราชดำรัสของสมเด็จฯ ที่บอกว่าจะต้องให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบกำกับดูแลในเรื่องนโยบายภาคใต้ ผมคิดว่าตรงนั้นคือสิ่งที่สังคมไทยจะต้องตรองให้มาก"

"เราก็หวังว่าถ้าคุณทักษิณได้เข้าใจและสรุปบทเรียน ท่านอ่านหนังสือเยอะ และคน 14 ตุลาก็อยู่ใกล้ท่านเยอะ ลองช่วยสรุปให้ท่านฟังหน่อย ผมคิดว่าทบทวนกันได้ ผิดแล้วถ้ายังพอแก้ได้ก็แก้ซะ มันไม่ใช่สายหรือไม่สาย ถ้าได้รู้แล้วรีบแก้ซะ มันก็ยังดีกว่าปล่อยให้บานปลาย"

ทำไมสังคมไทยถึงเป็นอย่างนี้ ฆ่าตัดตอนก็เรียกกระแสความนิยม การใช้ความรุนแรงในปัญหาภาคใต้ก็ได้รับความนิยม
"ต้องยอมรับว่าสังคมไทยมีจุดอ่อนหลายอย่าง สังคมไทยยังเป็นสังคมที่ยอมรับความเป็นผู้นำ และสังคมไทยไม่ค่อยคิดว่าตัวเองจะต้องมีส่วนร่วม ขณะเดียวกันก็ยอมรับความเป็นผู้ตาม เพราะฉะนั้นจิตสำนึกของพลเมืองในการที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมตัดสินใจจะยาก ผมไม่ได้โทษกฎหมายรัฐธรรมนูญอย่างเดียวว่าไม่สามารถที่จะทำให้เกิดการปฏิรูปการเมืองได้อย่างแท้จริง ผมก็ไม่ได้โทษคุณทักษิณอย่างเดียว แต่ผมโทษว่าสังคมไทยขณะนี้จิตสำนึกของความเป็นพลเมืองในการที่จะมีจิตสำนึก ที่จะเข้าไปตรวจสอบ มีส่วนร่วมในนโยบายยังมีไม่มากพอ ที่จะเกิดเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองของภาคประชาชนขึ้น ยังเป็นจิตสำนึกของผู้ตาม ทำอะไรต้องมีผู้นำ เราจึงพบว่าจะมีคนจำนวนหนึ่งที่ยังยกย่องจอมพลสฤษดิ์อยู่ ยังต้องการอัศวินม้าขาว"

"อันที่สองผมคิดว่าสังคมไทยลึกๆ ชอบความรุนแรง รู้สึกว่าใช้ความรุนแรงแล้วตัดสินปัญหาได้ ตัวเองเกลียดยาเสพติด ถ้าใช้ความรุนแรงยาเสพติดจะหมดไป ความจริงไม่ใช่ ไม่ได้นึกว่าในเชิงของการแก้ไขปัญหาบางอย่างมันไม่สามารถใช้ความรุนแรงได้ แต่ว่าจะต้องมีองค์ความรู้ จะต้องมีปัญญา และจะต้องแก้ไขปัญหาให้ถูกต้อง ถูกต้องทั้งเชิงเนื้อหาและกระบวนการวิธีการ

ในเชิงนโยบาย การแก้ปัญหายาเสพติด มันต้องใช้กระบวนการที่เราเรียกว่าเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน อย่างที่เขาทำสำเร็จที่กาฬสินธุ์ ถ้าไม่มีผู้เสพคนขายก็เจ๊ง ไม่ใช่เรื่องที่ไปฆ่าตัดตอน มันไม่ได้แก้ปัญหา ขณะนี้ยาเสพติดก็กลับมาอีกรอบ ดังนั้นสังคมไทยลึกๆ ก็ชอบความรุนแรงเพราะคิดว่าความรุนแรงมันสะใจ สามารถแก้ปัญหาได้ สังคมไทยต้องกลับมาทบทวนองค์ความรู้ เพื่อให้เกิดปัญญาในการแก้ปัญหาอย่างถูกต้อง ไม่อย่างนั้นแล้วเราก็จะยังปล่อยให้เป็นเรื่องของผู้นำและสะใจกันไปเรื่อยๆ"

แต่เราพูดกันเสมอว่าเมืองไทยเมืองพุทธ
"ก็เพราะสังคมขณะนี้มีแต่พุทธแต่เปลือก ผมอยู่อุบลฯ ผมเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อชา ผมรู้ดีว่าแนวพุทธที่เป็นสายวัดป่าที่เน้นเรื่องจิตใจที่จะให้เข้าถึงแก่น มันเป็นเรื่องยากที่จะทำให้สังคมไทยขณะนี้ยอมรับ เพราะว่าโครงสร้างของพุทธศาสนาขณะนี้ ก็เป็นโครงสร้างของอำนาจเช่นเดียวกัน ห่อหุ้มด้วยเกียรติยศเงินตราเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น โครงสร้างอย่างนี้มันไม่มีทางที่จะเข้าถึงแก่นธรรมได้"

ในบทบาทของ ส.ว.จะทำอย่างไรต่อไปในเรื่องนี้
"ผมคิดว่าภาระของเราก็คือ ต้องบอกความจริงกับสังคม แต่ความจริงตรงนั้นไม่ใช่เป็นความจริงลอยๆ ต้องเป็นความจริงที่จะตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร ตามภารกิจของวุฒิสภา และถ้าเป็นความจริงมันจะเป็นอิสระไม่ขึ้นอยู่กับใคร ไม่ใช่ไทยรักไทยหรือประชาธิปัตย์ แต่เป็นความจริงที่ต้องการตรวจสอบฝ่ายบริหาร ที่จะทำให้เห็นว่า การทำงานมีจุดบกพร่องที่ต้องแก้ไขอะไรบ้าง เพื่อให้ได้ประโยชน์สาธารณะอย่างแท้จริง

ดังนั้นกรณีตากใบหรือกรณีภาคใต้ สิ่งที่พวกเราพยายามก็คือ ต้องการให้เกิดข้อมูลความจริงเกิดขึ้น แล้วรัฐบาลที่มีหน้าที่ที่จะต้องทำงานฝ่ายบริหาร ที่จะต้องสร้างความสุข ปลดความทุกข์ประชาชน ต้องเอาความจริงตรงนั้นไปตรวจสอบว่ากลไกของรัฐ ตำรวจทหารทำถูกหรือเปล่า เราต้องการแค่นั้น

กรรมาธิการไม่ได้เป็นนักสืบ พฤติกรรมตรงนั้นเป็นยังไง รายละเอียดแค่ไหน เหมือนกรณีทนายสมชายเราไม่ใช่นักสืบที่จะไปตามว่าหายเวลาไหนอย่างไร แต่เรามาดูว่าพฤติกรรมในการทำงานของรัฐบาล ตำรวจติดตามทนายสมชายมันดูแล้วมีอะไรที่ซุกซ่อนอยู่ไหม และมันมีอะไรที่เกี่ยวกับการใช้อำนาจรัฐที่ไม่เป็นธรรมหรือเปล่า"

"เรื่องอำนาจรัฐก็เหมือนกัน เพราะฉะนั้นถ้ามาบอกว่าทำไมไม่ชมรัฐบาล จะชมไปทำไมเพราะเขาเลือกเรามาตรวจสอบ แต่สังคมไทยไม่ค่อยเข้าใจคำว่าตรวจสอบ ตรวจสอบไม่ใช่จับผิด แต่ตรวจสอบคือการมองอะไรบ้างที่ยังทำไม่ถูกต้อง กฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่ใช้มา 7 ปี อำนาจที่ประชาชนฝากความหวังที่ไม่ให้มีนักการเมืองที่โกงบ้านโกงเมือง ก็คืออำนาจในการตรวจสอบ และก็หวังว่าวุฒิสภาจะเป็นองค์กรสำคัญในการตรวจสอบ และทำให้เกิดองค์กรอิสระอีก 7-8 องค์กรในการตรวจสอบเหมือนกัน แต่ขณะนี้ก็ต้องยอมรับว่าวุฒิสภาหรืออีก 7-8 องค์กรไม่สามารถทำหน้าที่ในการตรวจสอบได้".

----------------------------------------------------------

ข้อความต่อมาบนกระดานข่าวมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ขอบคุณ สว.นิรันด์ และสว.คนอื่นๆที่ทำการตรวจสอบการใช้โครงสร้างอำนาจของรัฐบาลที่เป็นปฐมสาเหตุของความรุนแรงในภาคใต้ขณะนี้

รัฐบาลทำผิดพลาดมากมาย การยุบศอ.บต คือหนึ่งในนั้น คนพูดเรื่องนี้ว่าเราผิดพลาดมีตั้งแต่พลเอกชัยสิทธ ชินวัตร ผบ.สส. และนายทัดพงษ์ ที่เคยเป็นผอ.สำนักข่าวกรองแห่งชาติ อย่าลืมว่าหลังจากยุบศอ.บต.แล้ว คุณพลากร สุวรรณรัฐ ผอ.ศอ.บต.คนสุดท้ายก็ขอลาออกเลย แล้วอย่างไรหรือ??? ในหลวงก็ตั้งคุณพลากร เป็นองคมนตรีทันที

การให้อำนาจตำรวจในยุคสันต์ไปดูแล 3 จว. เป็นการเริ่มใช้อำนาจรัฐในทางเลวร้าย นานเป็นปีก่อนจะเกิดการปล้นปืน ขอให้ไปไล่รายละเอียดในข่าวหน้าหนังสือพิมพ์ดูได้ว่า ทักษิณ พลาดแล้วพลาดอีก ผิดซ้ำแล้วซ้ำอีกขนาดไหนต่อปัญหาภาคใต้

มันหดหู่และอันตรายมากนะที่คนส่วนใหญ่ถูกทักษิณใช้กระแสและสถานการณ์ช่วงชิงทำให้คนลืมรากของปัญหา ทำให้คนมองไม่เห็นว่ารัฐบาลเป็นคนเริ่มสุมไฟเองตั้งแต่ยุบศอ.บต.นั่นเทียว

ลงชื่อผู้ใช้นามว่า สมจิต

 

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 450 เรื่อง หนากว่า 5000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com




 

H
ภาพประกอบดัดแปลง บทสัมภาษณ์ น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ โดยกองบรรณาธิการ ไทยโพสต์ แทบลอยด์ หัวเรื่อง "พับนก พับเหยี่ยว" เผยแพร่วันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๔๗

ถ้าหากรัฐบาลคิดว่าจะฉายแสงอย่างเดียวให้เคมีอย่างเดียว คนนั้นจะตาย สังคมไทยก็จะพังพินาศไปด้วย เพราะฉะนั้นอยู่ที่ว่าขณะนี้หมอหรือรัฐบาล จะกล้าที่จะบอกความจริงต่อสังคมไหม สื่อเองก็จะเป็นคนที่ช่วยสะท้อนสารให้สังคมได้เข้าใจ ถ้าสังคมไม่เข้าใจ รัฐบาลก็ไม่เข้าใจ สังคมไทยก็จะเข้าสู่กลียุค หรือนี่คือโครงสร้างมรณะอย่างที่ อาจารย์หมอ ประเวศพูด ก็จะมีความรุนแรงไปเรื่อย ๆ

"ต้องยอมรับว่าสังคมไทยมีจุดอ่อนหลายอย่าง สังคมไทยยังเป็นสังคมที่ยอมรับความเป็นผู้นำ และสังคมไทยไม่ค่อยคิดว่าตัวเองจะต้องมีส่วนร่วม ขณะเดียวกันก็ยอมรับความเป็นผู้ตาม เพราะฉะนั้นจิตสำนึกของพลเมืองในการที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมตัดสินใจจะยาก ผมไม่ได้โทษกฎหมายรัฐธรรมนูญอย่างเดียวว่าไม่สามารถที่จะทำให้เกิดการปฏิรูปการเมืองได้อย่างแท้จริง ผมก็ไม่ได้โทษคุณทักษิณอย่างเดียว แต่ผมโทษว่าสังคมไทยขณะนี้จิตสำนึกของความเป็นพลเมืองในการที่จะมีจิตสำนึก ที่จะเข้าไปตรวจสอบ มีส่วนร่วมในนโยบายยังมีไม่มากพอ ที่จะเกิดเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองของภาคประชาชนขึ้น ยังเป็นจิตสำนึกของผู้ตาม ทำอะไรต้องมีผู้นำ เราจึงพบว่าจะมีคนจำนวนหนึ่งที่ยังยกย่องจอมพลสฤษดิ์อยู่ ยังต้องการอัศวินม้าขาว"

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 450 เรื่อง หนากว่า 5000 หน้า ในรูปของ CD-ROM ในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง) สนใจสั่งซื้อได้ที่
midnightuniv(at)yahoo.com
หรือ ส่งธนาณัติถึง
สมเกียรติ ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202

กรุณาส่งตั๋วแลกเงินไปยัง สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50202
อย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์