ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซต์ วันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
ผลงานภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบบทความบริการฟรีของ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

R
relate topic
181147
release date

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 472 หัวเรื่อง
การเมืองเรื่องสิทธิสตรี
สมเกียรติ ตั้งนโม : เรียบเรียง
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เชียงใหม่
The Midnight University

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ

Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com

เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณขาลดขนาดของ font ลง จะ
สามารถแก้ปัญหาได้

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
เว็ปไซท์นี้มีการคลิกโดยเฉลี่ยต่อวัน 14119-26256 ครั้ง สำรวจเมื่อเดือนสิงหาคม 47
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ เพื่อประโยชน์ต่อสังคม

คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

แนวคิดสตรีนิยม
สารานุกรมการเมืองเรื่องผู้หญิงและนิติสังคม
สมเกียรติ ตั้งนโม
คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 472
หมายเหตุ : ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของบทความเรื่อง Feminist Art
เรียบเรียงเพื่อเป็นบทอ่านทางวิชาการเพื่อนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์
(บทความชิ้นนี้ยาวประมาณ 15 หน้ากระดาษ A4)





ความเป็นมาเกี่ยวกับการเมืองเรื่องผู้หญิง
สารานุกรมการเมืองเรื่องผู้หญิงและนิติสังคม

1. Women Suffrage (สิทธิหรือโอกาสในการแสดงออกในด้านความคิดเห็นทางการเมือง หรือการมีส่วนร่วมเกี่ยวกับการตัดสินใจของผู้หญิง)

ผู้หญิงส่วนใหญ่ในประเทศต่างๆของโลกทุกวันนี้สามารถที่จะออกเสียงในทางการเมืองเพื่อเลือกตั้งสมาชิกทางการเมืองได้เท่าเทียมกันกับบุรุษ แต่ในบางประเทศมิได้เป็นเช่นนั้น ผู้หญิงเพียงสามารถที่จะออกเสียงเลือกตั้งได้แต่เฉพาะการเลือกตั้งท้องถิ่นเท่านั้น และด้วยข้อจำกัดบางประการ มีบางประเทศที่ผู้หญิงจะไม่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งเลยไม่ว่าในระดับใด

สิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง กลายเป็นความต้องการขั้นพื้นฐานของขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิสตรี(feminist movements)ต่างๆ ทั้งนี้เพราะการเลือกตั้งได้ถูกพิจารณาว่า เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานเกี่ยวกับชีวิตทางการเมืองนั่นเอง การออกเสียงเลือกตั้งนั้นถือเป็นสาระสำคัญก็เพราะว่า ในขอบเขตทางการเมือง การตัดสินใจขั้นพื้นฐานที่กระทำกันนั้น ได้สร้างแบบแผนทางสังคมซึ่งผู้หญิงมีส่วนร่วมด้วยหรือดำรงอยู่ในสังคมนั้นเช่นเดียวกัน

ปรัชญาที่อยู่ข้างใต้การเรียกร้องสำหรับสิทธิ หรือโอกาสในการแสดงความคิดเห็นหรือตัดสินใจของผู้หญิงอันนี้คือ หลักการเกี่ยวกับสิทธิโดยธรรมชาติ(the doctrine of natural right) ขบวนการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับสิทธิสตรีโดยทั่วไปแล้ว ผูกอยู่กับขบวนการปฏิรูปทางสังคมอื่นๆ อย่างเช่น การโค่นล้มการค้าทาสหรือระบบทาสลง, การละเว้นของมึนเมาต่างๆ(temperance), และการขยายโอกาสทางการศึกษา. แม้ว่าขบวนการเคลื่อนไหวต่างๆเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้หญิงเป็นอันดับแรก, แต่ก็ได้รับการช่วยเหลือมาจากการเริ่มต้นสนับสนุนของผู้ชายเป็นจำนวนมาก

การคัดค้านได้เกิดขึ้นในหลายๆรูปแบบในประเทศต่างๆ มีการคัดค้านทางด้านศาสนาในการมีส่วนร่วมของพวกผู้หญิง ในสิ่งต่างๆซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องบ้านและการเลี้ยงดูเด็กโดยตรง ในเรื่องเกี่ยวกับผลประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ ก็ต้องการที่จะกันผู้หญิงออกไปในฐานะที่เป็นพลังแรงงานที่ไม่มีสิทธิมีเสียงอะไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมต่างๆทีเกี่ยวข้องกับการต้มกลั่นสุรา พวกนี้กลัวเสียงของบรรดาผู้หญิงทั้งหลาย เนื่องจากเกรงว่าพวกเธอจะไปเข้าข้างกับขบวนการเคลื่อนไหวที่ให้มีการละเว้นการเสพย์ของมึนเมานั่นเอง

โดยทั่วไปแล้ว กฎหมายต่างๆ ขนบประเพณี ทัศนคติ และความเคยชินทางความคิดมีการเปลี่ยนแปลงเชื่องช้ามาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมันต้องไปเกี่ยวข้องกับการยอมรับไอเดียหรือความคิดใหม่ๆเกี่ยวกับผู้หญิงและสถานภาพของพวกเธอในสังคม

1.1 พัฒนาการในประเทศต่างๆก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2
แม้ว่าขบวนการเรียกร้องสิทธิสตรีจะถือกำเนิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ แต่มันประสบความสำเร็จขึ้นมาครั้งแรกในอาณาเขตประเทศที่อยู่ในการปกครองของอังกฤษ 2 แห่งและในสแกนดิเนเวีย ประเทศแรกที่มีการยอมรับสิทธิที่เสมอกันของสตรีเท่ากับบรุษคือประเทศนิวซีแลนด์(1893) ตามมาด้วยออสเตรเลีย(1902)

ประเทศแอฟริกาใต้ ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิความเสมอภาคของสตรี ได้ถูกจำกัดสิทธิให้มีสิทธิมีเสียงเพียงเฉพาะผู้หญิงผิวขาวเท่านั้น ซึ่งได้พัฒนาการขยายใหญ่โตขึ้นตามลำดับ สิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งบนพื้นฐานความเท่าเทียมกันกับบุรุษบรรลุความสำเร็จในปี ค.ศ.1930

เอเชียและตะวันออกกลาง ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิสตรีเริ่มพัฒนาขึ้นมาในเอเชียและตะวันออกกลาง แม้ว่าหลักการต่างๆในทางศาสนาที่มีอิทธิพลครอบงำอยู่ในอาณาเขตเหล่านี้ จะเป็นอุปสรรคอย่างมากในแนวทางของมันก็ตาม ในหลายๆประเทศ ภรรยามีฐานะเป็นเพียงภรรยาคนหนึ่งในภรรยาหลายๆคนของสามีเพียงคนเดียว นอกจากนี้เด็กผู้หญิงยังถูกจับแต่งงานเมื่ออายุยังเยาว์ และบ่อยครั้งผู้หญิงยังถูกพิจารณาเสมือนเป็นทาสน้อยๆด้วย ดังนั้นขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิสตรีจึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากที่จะประสบความสำเร็จ

ในปี ค.ศ.1930 ผู้หญิงในตุรกีชนะการเลือกตั้งท้องถิ่น และในปี 1934 ข้อจำกัดต่างๆทั้งหมดก็ได้รับการขจัดทิ้งไป. ส่วนในประเทศพม่า ผู้หญิงบางคนมีสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งมาตั้งแต่ต้นปี 1922; และสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งอย่างเท่าเทียมกันได้ถูกยอมรับในปี 1935. ในปี 1932, ไทยเป็นประเทศแรกในกลุ่มประเทศเอเชีย ที่ได้สถาปนาการมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและตัดสินใจที่เป็นสากลขึ้น(universal suffrage). ในปี 1937 ผู้หญิงในประเทศฟิลิบปินส์มีสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง.

การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในอินเดีย ส่วนใหญ่เป็นผลเนื่องมาจากความเป็นผู้นำของ Vijaya Lakshmi Pandit และการชุมนุมของผู้หญิงอินเดียทั้งหมด. ในปี 1929 ผู้หญิง 7 ใน 9 จังหวัดได้รับสิทธิในการออกเสียงในการเลือกตั้งท้องถิ่นระดับจังหวัด; ในปี 1935 การมีสิทธิมีเสียงได้ถูกขยายออกไปสู่ผู้หญิงจำนวนจำกัดจำนวนหนึ่งในการเลือกตั้งระดับชาติ. ส่วนซีลอนหรือศรีลังกาได้ให้ผู้หญิงมีสิทธิออกเสียงในปี 1931, แต่มีการควบคุมอายุสำหรับผู้มีสิทธิออกเสียงสูงกว่าผู้ชาย สิทธิในการออกเสียงอย่างเท่าเทียมกันได้รับเมื่อปี 1934

1.2 พัฒนาการในประเทศต่างๆภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศส่วนใหญ่ที่ยังคงเหลือของโลก ได้ให้การยอมรับต่อสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งของผู้หญิง มันเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่อันหนึ่งในด้านที่เกี่ยวกับความรู้สึกและความคิดเห็นของสาธารณชน ความเป็นวีรสตรีและความกล้าหาญของผู้หญิงในช่วงระหว่างปีของสงคราม ได้รับการยกย่องเชิดชูโดยการนำผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง

United Nations: องค์การสหประชาชาติได้ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวในโลกกว้างเกี่ยวกับความก้าวหน้าในสิทธิทางการเมืองของบรรดาผู้หญิงทั้งหลาย. กฎบัตรสหประชาชาติที่เซ็นสัญญาในเดือนมิถุนายน 1945 เป็นการยอมรับของนานาชาติเป็นครั้งแรกที่ได้นิยามอย่างแจ่มชัดเกี่ยวกับสิทธิที่เท่าเทียมกันสำหรับผู้หญิง

ในบทนำสู่กฎบัตรฉบับนี้ได้บรรจุข้อความที่ว่า ผู้คนของสหประชาติได้รับการกำหนดให้ "ยึดมั่นในการรับรอง...สิทธิที่เท่าเทียมกันของผู้หญิงและผู้ชาย..." มีการอ้างอิงเกี่ยวกับเรื่องนี้ถึง 8 ข้อในกฎบัตรดังกล่าว "โดยไม่ให้มีความแตกต่างหรือการแบ่งแยกเกี่ยวกับเพศ". นอกจากนี้ยังมีการรับเอามาตรการ ซึ่งยินยอมให้ผู้หญิงมีสิทธิทางการเมืองเหมือนกันกับผู้ชายด้วย. ผู้หญิงยังมีสิทธิในขอบเขตอื่นๆด้วย ยกตัวอย่างเช่น เศรษฐกิจ สังคม และการศึกษา

ในปี ค.ศ.1948 คำประกาศสากลเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ได้ถูกรับรองโดยองค์การสหประชาชาติ ซึ่งคำประกาศดังกล่าวมีว่า "ทุกๆคนล้วนปราศจากความแตกต่างกันในทุกๆประการ" คำประกาศเหล่านี้ ได้รับการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรถึงสิทธิและเสรีภาพต่างๆ ในฐานะที่เป็น"มาตราฐานร่วมกันอันหนึ่ง ของการบรรลุถึงความสำเร็จสำหรับประชาชนทุกคน และประชาชาติทุกชาติ" ในบทที่ 21 ได้กล่าวถึงการเลือกตั้งว่า "เป็นการแสดงออกในความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ซึ่งเป็นสิ่งสากลและมีความเท่าเทียมกัน"

องค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้ปี ค.ศ.1975 เป็นปีสตรีสากล (International Women 's Year) และได้สถาปนาให้ปี 1975-1985 เป็นปีทศวรรษของสหประชาชาติสำหรับผู้หญิง นอกจากนี้ยังได้ให้การสนับสนุนการประชุมนานาชาติในปี 1975 และ 1980 เพื่อประเมินและกำหนดความก้าวหน้าของผู้หญิงในเรื่องเกี่ยวกับการศึกษา, การจ้างงาน, การวางแผนครอบครัว, รวมไปถึงเรื่องของสุขภาพ

แอฟริกาหลังสงครามโลกครั้งที่สอง การบรรลุผลสำเร็จเกี่ยวกับความเป็นอิสระในแอฟริกาได้มาพร้อมกับสิทธิที่เท่าเทียมกันต่างๆของผู้หญิง. ในประเทศต่างๆที่ก่อตัวจาก French West Africa และ French Equatorial Africa, สิทธิในการออกเสียงได้เป็นที่ยอมรับกันในช่วงปี 1946 โดยปราศจากความแตกต่างกันทางเพศ หรือประชาชนที่บรรลุนิติภาวะทางกฎหมาย การยอมรับในการแสดงออกทางความคิด และการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจที่เป็นสากลได้รับการยอมรับในปี 1956 และยืนยันโดยรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่มีขึ้นหลังจากมีอิสรภาพ

อาณานิคมของอังกฤษในแอฟริกาก็เช่นเดียวกัน การยอมรับในการแสดงออกทางความคิดและการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจที่เป็นสากล ได้ยอมรับกันเป็นอันดับแรกเมื่อตอนที่บรรลุถึงอิสรภาพ

เอเชียและตะวันออกกลางหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ในเอเชีย ความเท่าเทียมกันทางการเมืองถูกมองว่าเป็นรากฐานของการพัฒนาของประชาชาติต่างๆที่เป็นอิสระ แม้ก่อนการได้รับอิสรภาพ ขบวนการชาตินิยมก็ให้การยอมรับเกี่ยวกับความต้องการของผู้หญิง และให้การสนับสนุนช่วยเหลือผู้หญิงทั้งหลายในเป้าหมายต่างๆของพวกเธอ, นอกจากนี้ยังให้การยอมรับในการแสดงออกทางความคิด และการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจที่เท่าเทียมกันนั้นอันเป็นข้อเรียกร้องต้องการที่เป็นสากลอันหนึ่ง

สำหรับการยอมรับในการแสดงออกทางความคิดและการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจที่เท่าเทียมกันอันนี้ถูกเขียนอยู่ในรัฐธรรมนูญใหม่ของศรีลังกาและพม่า(1947), อินโดนีเซียและอินเดีย (1949), และได้รับเอามาใช้ในอิสราเอลจากวันที่ได้ประกาศอิสรภาพ(1948)

ในปากีสถานการมีสิทธิออกเสียงได้รับการยินยอมให้กับผู้หญิงในปี 1952 ในบางส่วนและขยายตัวอย่างเต็มที่โดยมีสิทธิออกเสียงอย่างบริบรูณ์ทั้งประเทศในปี 1956 ในการเลือกตั้งระดับชาติ ส่วนใหญ่เนื่องมาจากผลงานของ Mme. Liaquat Ali Khan, ผู้นำของการชุมนุมของผู้หญิงปากีสถานทั้งหมด. นอกจากนี้ การมีสิทธิออกเสียงของผู้หญิงก็ได้รับการรับรองในลาว, กัมพูชา, และเวียดนามในปี 1956 และในมาลายาในปี 1957 ตามลำดับ

ในตะวันออกไกล. ผู้หญิงในประเทศญี่ปุ่นได้รับการให้สิทธิพิเศษในการเลือกตั้งในปี 1946, ในประเทศจีน 1947, และในเกาหลี 1948

ในตะวันออกกลาง อย่างไรก็ตาม การยอมรับในการแสดงออกทางความคิดและการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของผู้หญิงได้เป็นไปอย่างเชื่องช้า อย่างเช่นในอิหร่าน มีการให้สิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น ซึ่งได้ถูกรับเข้ามาเมื่อปี ค.ศ.1949 และมีการให้สิทธิในการเลือกตั้งระดับชาติในปี ค.ศ.1963

การออกเสียงเลือกตั้งของผู้หญิงในเลบานอน เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1952 ถ้าหากว่าพวกเธอมีการศึกษาในระดับประถม และได้รับการยอมรับในการแสดงออกทางความคิด และการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจอย่างเต็มที่ในปี 1957. ส่วนในซีเรียและอียิปต์ ผู้หญิงได้รับการยินยอมให้มีส่วนในการแสดงออกทางความคิดและในการตัดสินใจในปี 1949 และ 1956 ตามลำดับ แต่ต้องถูกควบคุมด้วยข้อจำกัดบางอย่าง ซึ่งไม่กำหนดให้มีสำหรับผู้ชาย(ผู้ชายไม่ต้องมีข้อจำกัดใดๆ)

2. Women's Right Movement: ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรี
ในช่วงปลายคริสตศตวรรษที่ 20 ได้รับการการพิจารณาว่าเป็นความพยายามทั่วโลกของผู้หญิงที่จะบรรลุถึง สิทธิต่างๆที่พวกเธอเคยถูกปฏิเสธมาก่อน การแสวงหาสิทธิต่างๆ โดยเฉพาะมีลักษณะที่แตกต่างกันไปจากสังคมหนึ่งไปสู่อีกสังคมหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตาม สิทธิทางด้านเศรษฐกิจ, โอกาสต่างๆทางการศึกษา, และการได้รับการดูแลสุขภาพอย่างเพียงพอคือสิ่งที่เกี่ยวข้องร่วมกัน ส่วนอิสรภาพทางสังคม และการมีส่วนร่วมทางการเมืองคือเป้าหมายต่างๆที่ขยายกว้างออกไป

ในเรื่องของขบวนการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับสิทธิสตรี ได้รับการก่อตัวขึ้นในสังคมตะวันตกอย่างเด่นชัด มันเป็นความพยายามที่เริ่มต้นมาตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา บรรดาผู้หญิงทั้งหลาย มีความผูกพันร่วมกันและได้พูดถึงความคับข้องใจ รวมถึงความต้องการต่างๆของพวกเธอมาก่อนหน้านี้ แต่บันทึกต่างๆยังมีไม่เพียงพอและไม่สมบูรณ์ ยิ่งกว่านั้น ยังเป็นที่รู้จักกันน้อยมากในเรื่องเกี่ยวกับการต่อสู้ดิ้นรนของบรรดาผู้หญิงที่ไม่ใช่ชาวตะวันตกด้วย

ในช่วงระหว่างคริสตศตวรรษที่ 19 บรรดาการต่อสู้ของผู้หญิงได้เพ่งความสนใจลงไปที่ การให้ได้มาซึ่งโอกาสต่างๆทางการศึกษาเป็นอันดับแรก ต่อจากนั้นก็มาเน้นที่การออกกฎหมายเพื่อสร้างความมั่นใจเกี่ยวกับการควบคุมในเรื่องของรายได้และทรัพย์สินของผู้หญิง ซึ่งรวมไปถึงสิทธิต่างๆเกี่ยวกับการจ้างงาน และสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง

ขบวนการเคลื่อนไหวของผู้หญิงในสหรัฐอเมริกา ได้สลายตัวลงไปหลังจากที่ผู้หญิงได้รับชัยชนะในการมีสิทธิออกเสียงในเดือนกันยายน 1919 แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาบางประเด็นยังคงเรียกร้องความสนใจอยู่ในสหรัฐอเมริกา อย่างเช่น ปัญหาการคุมกำเนิด ซึ่งสนับสนุนส่งเสริมโดย Margaret Sanger ได้เปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆจากการผิดกฎหมาย, ปฏิบัติการซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับของสังคมในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของศตวรรษ สู่สิ่งหนึ่งที่เป็นเรื่องธรรมดาสามัญและเป็นกลางๆ ถ้าหากว่าจะไม่ใช่สิ่งดี ในช่วงทศวรรษที่ 1960s

การมีส่วนร่วมของผู้หญิงในพลังการผลิตยังคงมีเสถียรภาพในช่วงทศวรรษที่ 1920s และก็เพิ่มขึ้นสูงมาเรื่อยๆหลังจากนั้น ในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้หญิงได้รับการบรรจุเข้าเป็นสมาชิกใหม่หรือทหารใหม่อย่างกระตือรือร้น เพื่อเข้าแทนที่งานที่เกี่ยวกับการสงคราม

ถึงอย่างไรก็ตาม ภายหลังสงครามได้มีความพยายามที่จะส่งพวกเธอกลับเข้าไปในครัว แต่ผู้หญิงก็ได้เข้ามาเป็นส่วนประกอบของพลังการผลิตถึง 27.9 % ในปี ค.ศ.1950 และ 32.8 % ในปี ค.ศ.1960. สำนักงานแรงงานของผู้หญิงในสหรัฐอเมริกาได้รับการสร้างขึ้นในช่วงปี 1920 ซึ่งให้การสนับสนุนความต้องการต่างๆเกี่ยวกับผู้หญิงทำงาน แต่คงได้รับความสนใจเพียงเล็กน้อยเท่านั้นจนกระทั่งปีทศวรรษที่ 1960s.

3. องค์กรกลุ่มเรียกร้องสิทธิสตรี - เครื่องมือแห่งการปฏิรูป
ขบวนการเสรีภาพของผู้หญิงที่พัฒนาขึ้นมาในช่วงทศวรรษที่ 1960s ในสหรัฐอเมริกา มีเทือกเถาเหล่ากอมาจากแหล่งต้นตอ 2 แหล่งด้วยกันคือ

3.1 แหล่งต้นตออันดับแรก ยุวชนหญิงที่เกี่ยวพันกับสิทธิต่างๆอันเท่าเทียมกันของพลเมือง และขบวนการนักศึกษาที่ต่อต้านสงครามซึ่งได้ก่อตัวของพวกตนขึ้นมา บ่อยครั้งนักศึกษาในมหาวิทยาลัยได้รับการศึกษา และได้รับอิทธิพลมาจากอุดมการณ์ต่างๆของนักสังคมนิยม ผู้หญิงเหล่านี้ได้วิเคราะห์สถานการณ์ของพวกตน และพบว่ามันเกี่ยวข้องกับการกดขี่ทางเพศ ดังนั้นจึงสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงอย่างถึงรากถึงโคน ตามปกติแล้วองค์กรต่างๆของผู้หญิงจะก่อรูปเป็นองค์กรท้องถิ่นขึ้นมา ซึ่งถัดจากนั้นก็จะร่วมกันสร้างเครือข่ายระดับชาติขึ้นมาอย่างหลวมๆ และบางครั้งก็สร้างเครือข่ายที่ผูกพันกันในระดับสากล

3.2 แหล่งต้นตออันดับที่สอง นักธุรกิจหญิงและผู้ประกอบวิชาชีพที่เป็นผู้หญิง ซึ่งรู้สึกผิดหวังและโกรธเคืองกับสิ่งกีดขวงที่เป็นอุปสรรคซึ่งพวกเธอต้องเผชิญหน้าอยู่ พวกเธอได้มีการสถาปนาองค์กรที่ชื่อว่า NOW ขึ้น (The National Organization for Women) ในช่วงปี 1966 ประกอบกับความล้มเหลวเกี่ยวกับการบีบบังคับให้ตัวแทน หรือสมาชิกให้ปฏิบัติการอย่างจริงจังในส่วนของข้อกำหนดของกฎหมาย ในเรื่องสิทธิที่เท่าเทียมกันของพลเมืองในปี 1964 ซึ่งประณามการแบ่งแยกพื้นฐานที่วางอยู่บนเรื่องเพศ อันนี้นับว่าเป็นองค์ประกอบส่วนที่กระตุ้นอย่างสำคัญอีกส่วนหนึ่งในการก่อตัวขึ้นมาในรูปขององค์กรเข้าด้วยกัน

ยังมีองค์กรอีกองค์กรหนึ่งที่มีชื่อย่อว่า WEAL - The Women's Equity Action League, (สมาพันธ์เพื่อการเคลื่อนไหวให้ได้มาซึ่งความเท่าเทียมของผู้หญิง), เป็นองค์กรที่ให้ความสนใจลงไปที่เรื่องของประเด็นต่างๆทางกฎหมายและเศรษฐกิจ ซึ่งได้รับการก่อตั้งขึ้นโดยอดีตสมาชิกองค์กร NOW ในช่วงปี 1968

ผู้หญิงชนชั้นแรงงานและกลุ่มผู้หญิงที่เป็นชนกลุ่มน้อย(ethnic women) ยืนยันว่า พวกเธอไม่ใช่นักเรียกร้องสิทธิสตรี(feminists) แต่ได้มีการรวมตัวกันรอบๆประเด็นปัญหาดังกล่าว อย่างเช่น เรื่องเกี่ยวกับการฟื้นฟูเมืองขึ้นมาใหม่ เครือข่ายที่พวกเธอได้สร้างขึ้นมากลายเป็น the National congress of Neighborhood Women อันมีลักษณะคล้ายกับสภาขององค์กรผู้หญิงในระดับชาติที่มีความเป็นเพื่อนกันและกัน

กลุ่มต่างๆที่เกิดขึ้นมาอย่างมีสำนึกได้แผ่ขยายออกไปอย่างกว้างขวาง ศูนย์กลางต่างๆของพวกผู้หญิงกลายเป็นเรื่องธรรมดาๆไป องค์กรผู้หญิงเหล่านี้ได้ทำการสำรวจถึงการดำรงชีวิตอยู่ของพวกตน และตรวจสอบถึงประเด็นปัญหาต่างๆ สิ่งเหล่านี้ได้รับการจำแนกแยกแยะและถูกโจมตีด้วยความสำเร็จที่ผสมผสานกัน

การรังควาญทางเพศ(sexual harassment), การทำร้ายภรรยาตนเอง, การข่มขืนกระทำชำเรากลายเป็นปัญหาความรุนแรงสาธารณะ และถัดจากนั้นอย่างช้าๆ มันได้กลายเป็นอาชญากรรมที่สามารถเอาผิดและลงโทษได้

ผลการวิจัยจากทัศนะในฝ่ายของนักเรียกร้องสิทธิสตรี ได้บรรลุถึงการบัญญัติเป็นข้อกฎหมายขึ้นมาอย่างช้าๆ และในท้ายที่สุด ได้นำไปสู่มุมมองเชิงบวกและมุมมองใหม่ๆบนคุณค่าต่างๆของผู้หญิงตามขนบประเพณี
หนังสือแจ้งเวียนและหนังสือพิมพ์ของผู้หญิงได้ปรากฏตัวขึ้นมา อย่างเช่น Ms. magazine ได้ตีพิมพ์เผยแพร่เป็นครั้งแรกในปี 1972, ซึ่งประสบความสำเร็จในเชิงพาณิชย์ และติดตามมาด้วยสิ่งพิมพ์ระดับชาติต่างๆที่มีลักษณะคล้ายๆกันอีกหลายฉบับ

4. Ideological Difference : ความแตกต่างกันในเชิงอุดมการณ์
แม้ว่าการเติบโตของขบวนการเคลื่อนไหวต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องการเรียกร้องสิทธิสตรีอันนี้จะคงดำเนินต่อไป แต่การแบ่งแยกต่างๆที่สำคัญกลับถือกำเนิดขึ้นมาในท่ามกลางกลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆเหล่านี้ โดยทั่วไปแล้ว ประเด็นปัญหาจะสัมพันธ์กับเรื่องการจ้างงานที่ยุติธรรม, การศึกษา, และการมีส่วนร่วมทางการเมือง, และในเรื่องที่เกี่ยวกับครอบครัวหรือเรื่องเพศก็ยังเกี่ยวข้องด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเด็นเรื่องการทำแท้งและเรื่องการรักร่วมเพศ, รวมไปถึงการแยกขั้วของผู้หญิง นับตั้งแต่ผู้ให้การสนับสนุน ERA(The Equal Rights Amendment - การแก้ไขเพื่อสิทธิที่เท่าเทียมกัน) ได้เข้ามาให้การช่วยเหลือเรื่องเกี่ยวกับสิทธิของผู้หญิงเพื่อเลือกที่จะตัดสินใจทำแท้ง

ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีในกลุ่มต่างๆได้แบ่งแยกวิธีการดำเนินการและสไตล์การทำงานของกลุ่มตนออกไปมากมาย. ทุกๆกลุ่มไม่ว่าจะเป็น feminist(นักเรียกร้องสิทธิสตรี)แบบประเพณี หรือพวกที่ชอบการเปลี่ยนแปลงอย่างถึงรากถึงโคน ต่างก็ให้การศึกษาแก่สมาชิกของกลุ่มตน และในบางโอกาสก็ได้มีการระดมพลเพื่อการมีส่วนร่วมทางการเมืองทั้งหลายด้วย

4.1 Marxist feminists นักสิทธิสตรีกลุ่มนี้ประณามและตำหนิปัญหาของผู้หญิงในระบอบทุนนิยม และระบบสังคมที่มีโครงสร้างชนชั้น และผู้ให้การสนับสนุนเป้าหมายของทุนนิยม

4.2 Separatists ซึ่งนิยมการแบ่งแยก, บ่อยครั้งมักเป็นพวกที่มีพฤติกรรมรักร่วมเพศได้ยืนยันถึงสถานะของผู้หญิงว่าจะต้องเปลี่ยนแปลงไป ถ้าหากว่าผู้หญิงทั้งหลายจะถอนตัวจากโครงสร้างที่ก่อตัวขึ้นมาในทัศนะของผู้ชาย(male-formed structures).

4.3 Radical feminists มองถึงสถานภาพของผู้หญิงว่า เป็นผลลัพธ์อันเนื่องมาจากชีววิทยา(biology) และแสวงหาหนทางที่จะเปลี่ยนแปลงสถานะของผู้หญิงไปสู่เทคโนโลยีชีวภาพ(biotechnology) และครอบครัวหรือชุมชนที่ก่อตัวทางโครงสร้างขึ้นมาใหม่ในระดับราก

4.4 Socialist feminists จำนวนมากเห็นพ้องต้องกันกับปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญของกลุ่ม Marxist ในการวิพากษ์วิจารณ์สังคม

แม้ว่าจะมีกลุ่มที่เคลื่อนไหวเกี่ยวกับเรื่องสิทธิสตรีนี้อยู่หลายกลุ่ม แต่กลุ่มต่างๆเหล่านี้ก็ให้การสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างถึงรากคล้ายๆกัน ซึ่งจะปรับปรุงบทบาทต่างๆทางสังคมและแนวคิดชีววิทยาเกี่ยวกับผู้หญิง

ในช่วงปลายของทศวรรษ 1970s และช่วงต้นทศวรรษ 1980s, กิจกรรมต่างๆขององค์กรขบวนการเคลื่อนไหวส่วนใหญ่ได้ถูกชี้นำไปสู่หนทางของ ERA. ด้วยความล้มเหลวของ ERA ที่จะเอาชนะเพื่อให้มีการให้สัตยาบันในปี 1982 และการเพิ่มขึ้นของความพยายามต่างๆในการต่อต้านเกี่ยวกับการทำแท้ง นักกิจกรรมและนักเคลื่อนไหวต่างๆ เริ่มที่จะประเมินค่าใหม่เกี่ยวกับกุศโลบายของพวกตน ความล้มเหลวเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวที่จะดูดดึงเอาชนกลุ่มน้อยและผู้หญิงที่ยากจนจำนวนมากเข้ามาร่วมเคลื่อนไหว เป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญอันหนึ่งในการวิเคราะห์อันนี้

5. Issues : ประเด็นปัญหาต่างๆ
ขบวนการเคลื่อนไหวของสตรีในสหรัฐอเมริกา ได้รับการก่อตัวขึ้นจากองค์กรระดับชาติและเครือข่ายต่างๆของกลุ่มองค์กรในระดับท้องถิ่น วาระที่เป็นประเด็นปัญหาอันหลากหลายที่จะพูดคุยกัน ซึ่งรวบรวมโดย ERA มีทั้งเรื่องค่าจ้างแรงงานที่เท่าเทียมกับผลของงานที่ผลิตขึ้น, การปกป้องเกี่ยวกับผลประโยชน์ต่างๆ, และการมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมในการตัดสินใจในทุกๆแง่มุมของปัญหาสังคม และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆสำหรับขบวนการของผู้หญิง ซึ่งกำลังเริ่มเปลี่ยนไปสู่การเคลื่อนไหวทางการเมือง เพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายต่างๆเหล่านี้มากขึ้นทุกที

5.1 ประเด็นทางการเมือง กลุ่มเคลื่อนไหวเกี่ยวกับเรื่องของสิทธิสตรีต่างๆเชื่อว่าควรจะต้องมีการแปรญัตติหรือแก้ไขกฎหมาย เพื่อยินยอมให้มีการทำแท้งได้ และจะต้องขุดรากถอนโคนครอบครัวในแบบเก่าๆหรือแบบประเพณีทิ้งไป มีการแสดงให้เห็นว่าผู้หญิงขาดเสียซึ่งพลังอำนาจทางการเมือง

จากการสำรวจย้อนกลับไปในปี ค.ศ.1982 ชี้ว่า 64.4% ของผู้ออกเสียงที่มีการบันทึกไว้คือพวกผู้หญิง และในช่วงทศวรรษ 1980s ผู้หญิงได้เข้าไปอยู่ในสำนักงานและทำงานสาธารณะต่างๆเกือบทั้งหมด

บ่อยครั้ง การสำรวจต่างๆได้รายงานถึงความแตกต่างกันอันหนึ่ง ในเรื่องความคิดเห็นที่หลายหลากของผู้ชายและผู้หญิง ในประเด็นที่เกี่ยวกับปัญหาสังคมและการเมือง โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับสงครามและสันติภาพ แต่อย่างไรก็ตาม ไม่จนกระทั่งทศวรรษ 1980s ที่ช่องว่างทางเพศอันนี้ได้กลายมาเป็นประเด็นปัญหาทางการเมืองที่สำคัญ

5.2 ประเด็นทางการศึกษา จากการติดตามในเรื่องความเท่าเทียมกันในด้านการศึกษานั้น ตามมาด้วยหลักฐาน 2 ประการที่สำคัญคือ: ประการแรกเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับโอกาสต่างๆทางการศึกษาของผู้หญิง และประการที่สองคือ ประเด็นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในด้านเนื้อหาของโปรแกรมต่างๆทางการศึกษา

แรงกดดันจากองค์กรต่างๆของผู้หญิง อย่างเช่น WEAL ได้ก่อให้เกิดผลที่ชื่อว่า IX ของการแปรญัตติปรับปรุงเรื่องการศึกษาในปี 1972, ซึ่งห้ามการแบ่งแยกโดยมีพื้นฐานที่วางอยู่บนเรื่องเพศในกิจกรรมต่างๆทางการศึกษา และการให้ทุนการศึกษาโดยรัฐบาล นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาโปรแกรมต่างๆทางการศึกษาที่สามารถทำให้ผู้หญิงสูงอายุมีโอกาสเริ่มต้นหรือหวนกลับมาสู่มหาวิทยาลัยได้ มีการสนับสนุนให้ผู้หญิงจำนวนมากให้ได้รับประโยชน์เกี่ยวกับการศึกษาในวิชา ชีพ(vocational education) และการฝึกฝนอาชีพเพื่อส่งเสริมให้เกิดการจ้างงาน และการจ่ายค่าแรงให้สูงขึ้น ซึ่งแต่เดิมนั้นผู้ชายเป็นฝ่ายที่มีอิทธิพลครอบงำในเรื่องนี้อยู่

การสนับสนุนในเรื่องเกี่ยวกับสิทธิของผู้หญิง ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวิธีการทางเทคนิคและเนื้อหาต่างๆ บรรดานักการศึกษาที่นิยมแนวคิด feminism ได้พัฒนาโปรแกรมต่างๆที่ออกแบบขึ้นมาเพื่อทำให้บรรดาครูอาจารย์ และนักบริหารทั้งหลายไปสู่สำนึกและเปลี่ยนแปลงปฏิบัติการเกี่ยวกับการแบ่งแยกทางเพศขึ้น กระบวนวิชาต่างๆและเนื้อหาทางการศึกษาได้ออกแบบขึ้นเพื่อแสดงให้เห็นถึงการสนับสนุนของผู้หญิง ต่อขอบเขตต่างๆของชีวิตทั้งหมดที่จะต้องได้รับการเตรียมการขึ้น.

5.3 การจ้างงาน การมีส่วนร่วมของผู้หญิงในพลังการผลิตได้เพิ่มขึ้นตามลำดับ. ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ผู้หญิงได้เปลี่ยนไปสู่การมีชัยชนะเหนือการแบ่งแยกทางเพศในเรื่องเกี่ยวกับโอกาสของการจ้างงาน, ความไม่เท่าเทียมในเรื่องค่าจ้างและผลประโยชน์, และเงื่อนไขต่างๆในการทำงานที่ไม่น่าพึงพอใจเหล่านี้ล้วนมีการปรับปรุงขึ้นมาตามลำดับ

บรรดาผู้หญิงทั้งหลายได้มีการรวมตัวกัน; มีการสร้างและใช้ทรัพยากรต่างๆขององค์กรที่จัดตั้งขึ้น อย่างเช่น กองทุน the NOW Legal Defense and Education Fund; มีการเรียกร้องขอความช่วยเหลือจากตัวแทนต่างๆของรัฐบาล อย่างเช่น the Equal Employment Opportunity Commission (EEOC) และมีการวิ่งเต้นเพื่อการออกกฎหมายที่จำเป็นต่างๆ

บรรดาคนงานหญิงพบว่า สิทธิประโยชน์ต่างๆสามารถที่จะเตรียมให้กับคนงานชายที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด แต่กลับปฏิเสธที่จะให้สิทธิประโยชน์บางประการแก่คนงานหญิงที่ตั้งครรภ์ ภายหลังปี 1976 ศาลสูงแห่งสหรัฐได้ตัดสินยอมให้มีการแยกเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ต่างๆในการตั้งครรภ์ จากแผนการณ์เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ในเรื่องสุขภาพของคนงาน สภานิติบัญญัติของสหรัฐก็ขานรับต่อข้อเรียกร้องที่กระหึ่มก้องอันนี้โดยการผ่านกฎหมาย the Pregnancy Discrimination Act ในปี 1978 ซึ่งเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้หญิงบางคนเกี่ยวกับผลประโยชน์ที่ควรได้รับเมื่อมีการตั้งครรภ์ขึ้น

ส่วนผู้หญิงที่เป็นแม่ทั้งหลายก็มีการเคลื่อนไหว เพื่อที่จะสร้างเงื่อนไขเกี่ยวกับการทำงาน ซึ่งให้การยอมรับเกี่ยวกับบทบาทของพวกตนที่มีอย่างหลากหลาย(ในฐานะของผู้หญิง) ท่ามกลางแผนการณ์ต่างๆที่สร้างขึ้น เวลาที่ยืดหยุ่น แม้ว่ายังคงจำกัดขอบเขตอยู่แต่ก็กำลังกลายเป็นเรื่องธรรมดาๆมากขึ้นทุกที

ประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการจ่ายค่าจ้างตามมูลค่าของผลงานในลักษณะที่เท่าเทียมเป็น เรื่องที่จะต้องนำมาพิจารณาสำหรับการเคลื่อนไหวในอนาคต การใช้บรรทัดฐานความรับผิดชอบและการฝึกฝนที่ได้มาตราฐาน การสนับสนุนต่างๆที่ไม่เป็นธรรม ได้ก่อให้เกิดความไม่ลงรอยกันมากมายขึ้นในเรื่องค่าจ้างแรงงานที่จ่ายให้กับผู้ชายและผู้หญิง สำหรับตำแหน่งที่คล้ายคลึงกัน ศาลสูงสหรัฐได้ตรากฎหมายบางฉบับขึ้น โดยให้ผู้หญิงสามารถที่จะฟ้องร้องในเรื่องค่าจ้างแรงงานที่มีการแบ่งแยกเกี่ยวกับเพศได้ โดยไม่ต้องพิสูจน์ว่าพวกเธอถูกปฏิเสธการจ่ายค่าจ้างที่เท่าเทียม สำหรับงานที่เหมือนกันกับพวกเธอกับคนงานที่เป็นผู้ชายที่ทำงานในอย่างเดียวกัน

5.4 การทำแท้ง การทำแท้งได้แสดงให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมอันหนึ่งซึ่งท้าทายต่อขบวนการเคลื่อนไหวของผู้หญิง ประเด็นปัญหาอันนี้ไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดการรวมตัวกันขึ้นของพวกอนุรักษ์นิยมที่ตรงกันข้ามขึ้นเท่านั้น แต่ยังแบ่งแยกขบวนการเคลื่อนไหวของผู้หญิงด้วย อีกประการหนึ่งธรรมชาติของการโต้เถียงในที่สาธารณะได้แยกขั้วผู้ถกเถียงกันนี้ขึ้น และมีการยินยอมในลักษณะประนีประนอมกันน้อยมาก

ในปี 1973 ศาลสูงสหรัฐฯ ได้เพ่งความสนใจต่อประเด็นปัญหาเหล่านี้ และได้เปลี่ยนแปลงเรื่องดังกล่าวที่เคยเป็นเรื่องในระดับรัฐมาสู่ประเด็นปัญหาที่เป็นเรื่องส่วนกลางของสหรัฐฯ พวกที่คัดค้านการทำแท้ง รวมทั้ง the National Right to Life Committee พยายามแสวงหาข้อห้ามและข้อจำกัดในเรื่องเกี่ยวกับการทำแท้งทั้งโดยทางตรงและโดยทางอ้อม โดยผ่านการตัดงบประมาณส่วนกลางออก

ส่วนพวกที่ให้การสนับสนุน, รวมทั้ง the National Abortion Right Action Leaque, ก็พยายามแสวงหาการธำรงไว้ซึ่งสถานะที่เป็นอยู่. พวกที่ให้การสนับสนุนพยายามขัดขวางเกี่ยวกับการออกกฎหมายจำกัดการทำแท้ง. ส่วนพวกที่คัดค้านก็พยายามที่จะควบคุมทุนรอนต่างๆที่จะให้กับสาธารณชน จนกระทั่งในปี 1984 กองทุนดังกล่าวจะใช้ได้เพียงแต่สำหรับชีวิตของผู้หญิงที่ตกอยู่ในอันตรายเท่านั้น

5.5 การคุมกำเนิด ในช่วงระหว่างปีแรกๆของการเคลื่อนไหวของขบวนการสิทธิสตรี นักเรียกร้องสิทธิสตรีพยายามแสวงหาหนทางจนกระทั่งประสบความสำเร็จที่จะหยุดยั้งกฎหมายต่างๆที่จำกัดการคุมกำเนิดอย่างมีประสิทธิภาพ ถัดจากนั้น ข้อถกเถียงต่างๆก็ได้เปลี่ยนไปสู่ประเด็นปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพและความปลอดภัย ยาเม็ดคุมกำเนิดออกสู่ตลาดครั้งแรกในปี ค.ศ.1960 ซึ่งอันนี้ได้นำทางไปสู่การปฏิวัติทางเพศ

นักเรียกร้องสิทธิสตรีทั้งหลายยังกดดันต่อไปในประเด็นเกี่ยวกับการทดสอบในเรื่องของการคุมกำเนิดให้มีการทดลองมากพอ ด้วยการเอาใจใส่กับเรื่องของผลกระทบที่จะมีต่อสุขภาพในระยะยาว; โดยได้มีสนับสนุนเกี่ยวกับการพัฒนาในส่วนที่เกี่ยวกับทางเลือกใหม่ การคุมกำเนิดที่เหมาะสมและสะดวกมากยิ่งขึ้น; และการพัฒนาเกี่ยวกับการคุมกำเนิดทางเคมีสำหรับผู้ชาย(แทนที่จะเป็นผู้หญิงฝ่ายเดียว)

5.6 การดูแลเด็ก ในเรื่องเกี่ยวกับการจัดให้มีสถานที่ดูแลหรือรับเลี้ยงเด็กให้มีอย่างเพียงพอ เป็นเรื่องที่เกี่ยวโยงอันหนึ่งกับนักเรียกร้องสิทธิสตรีเป็นจำนวนมาก อันนี้ได้เป็นประเด็นปัญหาหนึ่งซึ่งได้ดึงเอาผู้ชายและผู้หญิงมาร่วมมือกัน และได้ดึงเอาพวก feminists และ nonfeminists มาร่วมมือด้วยเช่นกัน ผู้เชี่ยวชาญต่างๆเชื่อว่า เด็กๆราว 6-7 ล้านคน(ในสหรัฐฯ)เติบโตขึ้นโดยปราศจากการเอาใจใส่ดูแลในช่วงที่สำคัญของชีวิตในวัยเด็ก

เมื่อเป็นเช่นนี้ ความต้องการต่างๆของพวกเด็กๆที่เปลี่ยนแปลงไปตามวัย และคุณภาพของชีวิต จึงเป็นสิ่งที่ยุ่งยากที่จะนิยามหรือให้คำจำกัดความ เพื่อตอบสนองความต้องการเหล่านี้ ในบางรัฐของอเมริกาจึงให้การรับรองศูนย์รับเลี้ยงเด็กต่างๆ ซึ่งตามปกติแล้วตระเตรียมที่จะดูแลเอาใจใส่สำหรับเด็กอายุ 6-8 เดือนที่ยังเล็กมาก การรับรองสำหรับศูนย์ที่ใหญ่กว่าเป็นความต้องการอันหนึ่งร่วมกันตามปกติ จากรายงานต่างๆที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับการทำร้ายเด็กในสถานรับเลี้ยงเด็กชี้ว่า จากการประเมินบรรทัดฐานหรือมาตราฐานในการดูแลเด็กนั้นยังมีมาตราฐานไม่เพียงพอเท่าที่ควร

5.7 ชีวิตทางด้านครอบครัว ในขณะที่ผู้หญิงมีโอกาสควบคุมเกี่ยวกับการเป็นอยู่ของพวกเธอเองมากยิ่งขึ้น ข้อสันนิษฐานหรือการทึกทักเอาเองต่างๆมากมาย เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างชายและหญิง และบทบาทของครอบครัวก็ได้รับการท้าทายเพิ่มมากขึ้นด้วย

การแสวงหาบทบาททางสังคมที่กว้างขวาง ออกไปสำหรับตัวของพวกเธอนั้น ผู้หญิงยืนยันว่า ผู้ชายจะต้องรับผิดชอบในเรื่องการดูแลเอาใจใส่พวกเด็กๆ และดูแลบ้านให้มากขึ้น การมีส่วนร่วมในพลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นของผู้หญิงได้ช่วยเพิ่มความมั่นใจของพวกเธอมากตามไปด้วย

สำหรับผู้ชายเป็นจำนวนมาก อันนี้นับว่าเป็นช่วงเวลาที่ยุ่งยากมากทีเดียว ข้อสันนิษฐานต่างๆที่พวกเขาทึกทักกันขึ้นมาเองนั้นกำลังถูกโจมตี หลายต่อหลายคนพยายามอย่างหนักที่จะเปลี่ยนแปลง แต่อีกหลายคนก็ปฏิเสธที่จะทำเช่นนั้น. ผู้หญิงได้เรียนรู้ที่จะแสดงความโกรธของพวกเธอออกมา และเริ่มที่จะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับความต้องการต่างๆในเพศหญิงของตนออกมาด้วยเช่นกัน ความตึงเครียดเกี่ยวกับชีวิตสมรสกำลังเติบใหญ่ขึ้น และเมื่อมันไม่สามารถที่จะสลายลงไปได้ การหย่าร้าง บ่อยครั้งจึงเป็นสิ่งที่ติดตามมาอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

การค่อยๆลดลงมาในเรื่องของอัตราการหย่าร้างของครอบครัวจากที่สูงถึง 5.3 ต่อ 1000 ของจำนวนประชากร(ในสหรัฐอเมริกา)ในปี 1981 เป็นเครื่องหมายอันหนึ่งของชีวิตครอบครัวสมัยใหม่ การยอมรับที่เพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับคุณค่าของนักเรียกร้องสิทธิสตรีโดยพวกผู้ชาย และความเข้าใจใหม่ๆท่ามกลางพวกผู้หญิงในความเป็นหญิงตามลักษณะคุณค่าของขนบประเพณีนิยม ได้ช่วยสนับสนุนความสนใจใหม่ๆอันนี้เกี่ยวกับชีวิตครอบครัว

5.8 ภาษาและสื่อต่างๆ เป็นที่ทราบกันว่าภาษาและสื่อนั้นมีอิทธิพลทางความคิดเกี่ยวกับผู้หญิง นักเรียกร้องสิทธิสตรีพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงในเรื่องของภาษาและสื่อต่างๆอันนี้ พวกเธอกำลังแสวงหาภาษาต่างๆที่เป็นกลางทางเพศ(gender-neutral)และภาษาที่มีดุลยภาพ(balanced language) ความพยายามที่จะเสนอคำใหม่ๆ โดยเฉพาะสรรพนามต่างๆโดยทั่วไปแล้วล้มเหลว มีการใช้ Ms. แทนคำว่า Mrs. ส่วนคำสรรพนาม Miss จัดเป็นข้อยกเว้น

การร้องทุกข์ต่างๆของผู้หญิงทั้งหลายต่อบรรดานักโฆษณา และเครือข่ายประชาสัมพันธ์ เป็นผลลัพธ์ให้มีการเปลี่ยนแปลงบางอย่างเกิดขึ้นในภาพลักษณ์ต่างๆของผู้หญิง ที่เผยแพร่ออกมาผ่านรายการโฆษณาตามจอทีวีและโปรแกรมรายการต่างๆ

ความเชื่อที่ว่า ต้นตอประเด็นปัญหาต่างๆเกี่ยวกับความสำคัญที่มีต่อผู้หญิงได้ถูกรายงานในลักษณะแฝงอยู่ในสื่อต่างๆ(underreported in the media) ซึ่งอันนี้ได้รับการยืนยันโดยการศึกษาต่างๆ ถึงอย่างไรก็ตาม แม้จะมีข้อมูลต่างๆที่หามาได้มากพอ แต่ประเด็นปัญหาเหล่านั้นก็ถูกเมินเฉยหรือไม่ได้รับการเผยแพร่ออกไปมากเท่าที่ควร การสนับสนุนต่างๆเป็นจำนวนมากมายเกี่ยวกับรายงานที่เกี่ยวพันกับผู้หญิงเชื่อว่า สถานการณ์เช่นว่านี้จะเปลี่ยนแปลงไปก็แต่เพียงเมื่อมีผู้หญิงมากขึ้นอยู่ในตำแหน่งที่เป็นผู้ตัดสินใจต่างๆเท่านั้น

6. สถานภาพของผู้หญิง (Women's Status)
สถานภาพของผู้หญิง โดยจารีตประเพณีแล้ว ผู้หญิงและผู้ชายได้รับการยอมรับคล้ายๆกัน แต่ตามข้อเท็จจริง ผู้ชายเป็นผู้ที่มีสิทธิตามกฎหมายซึ่งผู้หญิงไม่มี พฤติกรรมของผู้ชายได้รับการพิจารณาว่าเป็นมาตราฐาน และผู้หญิงในบางระดับถูกมองว่าเป็นผู้ที่ต่ำต้อยกว่า ท่าทีเช่นนี้เป็นส่วนหนึ่งของทัศนคติตายตัวทั่วไปของกลุ่มสังคม หรือที่เราเรียกกันเป็นภาษาอังกฤษว่า stereotype ที่ได้สร้างความคิดเกี่ยวกับผู้หญิงและพฤติกรรมของผู้หญิงขึ้นมา ซึ่งในท้ายที่สุด มันได้ช่วยให้เกิดข้อกำหนดต่างๆเกี่ยวกับสถานภาพทางสังคมของผู้หญิงขึ้น

ตลอดช่วงประวัติศาสตร์ ผู้หญิงได้ถูกปิดป้ายว่ามีความอ่อนแอทางด้านสรีรมากกว่าผู้ชาย มีการใช้อารมณ์มากกว่า มีเหตุผลน้อยกว่า มีการเรียนรู้น้อยกว่า และต้องพึ่งพาอาศัยผู้อื่น ผู้หญิงยังถูกมองว่ามีความอ่อนไหวง่ายต่อเรื่องของบาปกรรม(susceptible to sin)

ขนบธรรมเนียมทางสังคมและกฎหมายได้รับการพัฒนาสู่ความมั่นใจที่ว่า ผู้หญิงมีความเหมาะสมกับนิยามความหมายต่างๆเหล่านี้ บางครั้งบางคราวที่ผู้หญิงมิได้ประพฤติปฏิบัติไปตามความเข้าใจข้างต้น ก็จะถูกอธิบายหรือปิดป้ายบ่อยๆว่าเป็นพวกแม่มดหรือโสเภณี และจะต้องถูกกำจัดหรือลงโทษ

ทัศนคติของกลุ่มชนบางอย่าง กำเนิดมาจากการที่ผู้หญิงเป็นฝ่ายที่ต้องตั้งครรภ์ การพยาบาลและต้องคอยเลี้ยงดูเด็กๆได้จำกัดกิจกรรมต่างๆของพวกผู้หญิงลงไป แต่อย่างไรก็ตาม การที่ผู้หญิงต้องเป็นฝ่ายตั้งครรภ์นั้น มิใช่คำอธิบายทั้งหมดในเรื่องที่เกี่ยวกับความแพร่หลายในเรื่องสถานภาพที่เป็นรองหรือการเป็นประชาชนชั้นสองของผู้หญิง

ไม่ว่าจะมีต้นตอมาจากอะไรก็ตาม ทัศนคติของกลุ่มชนและท่าทีต่างๆที่สะท้อนออกมาคืออุปสรรคกีดขวางอย่างสำคัญที่จะเปลี่ยนแปลงสถานภาพของผู้หญิง สำหรับเหตุผลข้างต้น นักเรียกร้องสิทธิสตรีเป็นจำนวนมาก พยายามที่จะแสวงหาเพื่อพิสูจน์เอกลักษณ์และเผชิญหน้ากับทัศนคติของกลุ่มชนอันเจ็บปวดบางประการเหล่านี้

ผู้หญิงได้รับการนิยามให้เป็นบุคคลที่ต้องพึ่งพาทางด้านเศรษฐกิจ พวกเธอถูกมองว่าเป็นแม่บ้านที่ต้องคอยดูแลบ้าน และเป็นผู้บริโภคไม่ใช่ผู้ทำการผลิต แต่อย่างไรก็ตาม บันทึกต่างๆได้แสดงให้เห็นว่า ผู้หญิงมักจะมีบทบาทต่างๆในทางเศรษฐกิจ ดังเช่น ในสังคมเกษตรกรรม หัตถกรรมและประดิษฐกรรมต่างๆ รวมถึงเรื่องการเป็นผู้จัดหาบริการ พวกเธอได้ช่วยเหลือสนับสนุนครอบครัวและตลาด

ความล้มเหลวของสังคมต่างๆที่จะยอมรับความช่วยเหลือของผู้หญิง จะไม่เพียงแต่ทำลายสถานภาพของผู้หญิงเท่านั้น แต่ยังปฏิเสธพวกเธอด้วยในฐานะที่เป็นทรัพยากรที่จำเป็น. ในบางประเทศที่พัฒนาแล้ว แม้กระทั่งทุกวันนี้เป็นตัวอย่าง ผู้หญิงรับผิดชอบมากกว่า 80% ของผลผลิตทางด้านการเกษตร แต่ก็กล่าวหาพวกเธอว่าไม่เคยพร้อมที่จะรับเอาเมล็ดพันธุ์ใหม่ๆ เทคโนโลยี่ และการฝึกฝนต่างๆเข้ามาเลย

ความต้องการทั้งหลายของสังคมต่างๆ และการวิจัยสมัยใหม่ๆกำลังค่อยๆทำลายทัศนคติที่เป็นแบบ stereotype บางอย่างลงไป ยกตัวอย่างเช่น ความต้องการคนงานต่างๆที่มีความสามารถในเชิงคณิตศาสตร์ ได้ช่วยเพ่งความสนใจลงไปที่ผู้หญิงซึ่งยากเย็นที่จะประสบความสำเร็จในทางคณิตศาสตร์

จากการศึกษาต่างๆ ได้บ่งชี้ว่าความสามารถทางด้านการใช้คำพูดและตัวเลขได้ถูกเชื่อมโยงกับเพศ แต่อย่างไรก็ตาม ความพยายามต่างๆที่จะปรับปรุงแนวโน้มของเด็กผู้ชาย ที่เชื่องช้าในการให้ได้มาซึ่งทักษะที่เกี่ยวกับภาษาหรือการใช้คำพูดนั้น ดูมันจะไม่เข้าคู่กันกับความพยายามที่จะช่วยเหลือให้เด็กผู้หญิงได้มีทักษะต่างๆทางคณิตศาสตร์

กล่าวให้ง่ายขึ้นก็คือ ในขณะที่เด็กผู้ชายได้รับการปรับตัวเกี่ยวกับการใช้ภาษา (ซึ่งพวกเขามีทักษะน้อย และช้าในเรื่องนี้) เด็กผู้หญิงกับถูกทอดทิ้งให้ปรับตัวในเรื่องตัวเลข ยิ่งไปกว่านั้น เด็กผู้หญิงที่มีความสามารถทางด้านคณิตศาสตร์ บ่อยครั้ง ได้ถูกทำให้ท้อใจหรือหมดกำลังใจลงในการพัฒนาทักษะต่างๆของพวกเธอ

การตัดสินใจที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับสาธารณชนของผู้หญิงนั้น บ่อยครั้งได้รับการพิจารณาว่าไม่มีความสำคัญหรือไม่มีเหตุผล เป็นเรื่องของอารมณ์และเป็นเรื่องอัตวิสัย ในทางตรงข้าม ผู้ชายมักจะได้รับการพิจารณาว่าเป็นผู้ที่มีเหตุผล, มีตรรกะ, และเป็นภววิสัยมากกว่าเสมอ

บรรดานักจิตวิทยาและผู้เชี่ยวชาญในเรื่องพัฒนาการของมนุษย์กำลังสะสมหลักฐานมากขึ้น เกี่ยวกับว่าผู้หญิงและผู้ชายมีแนวโน้มที่จะมีการตัดสินใจที่แตกต่างกัน ผู้ชายมีแนวโน้มที่จะวางใจหรือพึ่งพาอาศัยมาตราฐานต่างๆที่เป็นภววิสัย ในขณะที่ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะให้ความสนใจมากต่อผลกระทบเกี่ยวกับการตัดสินใจบนความสัมพันธ์ต่างๆ บรรดานักวิจัยทั้งหลายเชื่อว่า ความแตกต่างกันเหล่านี้ เนื่องมาจากการมีอยู่มาแต่กำเนิดและเป็นผลผลิตของสังคม

กระบวนการเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของกลุ่มสังคม หรือ stereotype และการยกระดับสถานภาพของผู้หญิงเป็นไปอย่างเชื่องช้าและไม่ราบเรียบ ในขณะที่ความก้าวหน้าที่สร้างขึ้นมาโดยพวกผู้หญิงในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยทั่วไปแล้ว ไม่ได้ถูกทำให้ตรงกันหรือไปด้วยกันกับผู้หญิงในประเทศที่กำลังพัฒนาต่างๆ พวกเธอได้ให้การสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงต่างๆในที่อื่นๆ ความเปลี่ยนแปลงในบทบาทต่างๆทางสังคมเหล่านี้ ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากมีการเปลี่ยนแปลงในทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ซึ่งได้น้อมนำไปสู่การแก้ไขปรับปรุงสถานภาพของผู้หญิงให้ดีขึ้น

 

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 450 เรื่อง หนากว่า 5000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com




 

H
ภาพประกอบบทความเรื่อง "สารานุกรมการเมืองเรื่องผู้หญิง และนิติสังคม" เรียบเรียงขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของการแนะนำเรื่องศิลปะแนวสตรีนิยม - feminist art

บรรดาคนงานหญิงพบว่า สิทธิประโยชน์ต่างๆสามารถที่จะเตรียมให้กับคนงานชายที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด แต่กลับปฏิเสธที่จะให้สิทธิประโยชน์บางประการแก่คนงานหญิงที่ตั้งครรภ์ ภายหลังปี 1976 ศาลสูงแห่งสหรัฐได้ตัดสินยอมให้มีการแยกเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ต่างๆในการตั้งครรภ์ จากแผนการณ์เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ในเรื่องสุขภาพของคนงาน ซึ่งสภานิติบัญญัติของสหรัฐก็ขานรับต่อข้อเรียกร้องอันนี้

แอฟริกาหลังสงครามโลกครั้งที่สอง การบรรลุผลสำเร็จเกี่ยวกับความเป็นอิสระในแอฟริกาได้มาพร้อมกับสิทธิที่เท่าเทียมกันต่างๆของผู้หญิง. ในประเทศต่างๆที่ก่อตัวจาก French West Africa และ French Equatorial Africa, สิทธิในการออกเสียงได้เป็นที่ยอมรับกันในช่วงปี 1946 โดยปราศจากความแตกต่างกันทางเพศ หรือประชาชนที่บรรลุนิติภาวะทางกฎหมาย การยอมรับในการแสดงออกทางความคิด และการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจที่เป็นสากลได้รับการยอมรับในปี 1956 และยืนยันโดยรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่มีขึ้นหลังจากมีอิสรภาพ อาณานิคมของอังกฤษในแอฟริกาก็เช่นเดียวกัน การยอมรับในการแสดงออกทางความคิดและการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ได้ยอมรับกันเป็นอันดับแรกเมื่อตอนที่บรรลุถึงอิสรภาพ

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 450 เรื่อง หนากว่า 5000 หน้า ในรูปของ CD-ROM ในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง) สนใจสั่งซื้อได้ที่
midnightuniv(at)yahoo.com
หรือ ส่งธนาณัติถึง
สมเกียรติ ตั้งนโม : ไปรษณีย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50202

กรุณาส่งตั๋วแลกเงินไปยัง สมเกียรติ ตั้งนโม : คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50202
อย่าลืมเขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้รับตัวบรรจงด้วยครับ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการจัดส่งทางไปรษณีย์