ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซค์ วันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๔๗ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
ผลงานภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบบทความบริการฟรีของ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

R
relate topic
270947
release date

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 457 หัวเรื่อง
สถาปัตยกรรมไทย - พื้นถิ่น
ผศ. สุดจิต (เศวตจินดา)สนั่นไหว
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
มหาวิทยาลัยรังสิต กรุงเทพฯ
The Midnight University

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ

Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com

ขณะนี้มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้ผลิตบทความทั้งหมดบนเว็ปในรูปของซีดีรอมเพื่อจำหน่าย สนใจสามารถสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com
เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณขาลดขนาดของ font ลง จะ
สามารถแก้ปัญหาได้

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
เว็ปไซท์นี้มีการคลิกโดยเฉลี่ยต่อวัน 14119-26256 ครั้ง สำรวจเมื่อเดือนสิงหาคม 47
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอขอบคุณ www.thaiis.com ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่ฟรีในการเผยแพร่งานวิชาการ เพื่อประโยชน์ต่อสังคม

คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

ประวัติสถานศึกษาสถาปัตยกรรมไทย(ยุคใหม่)
สถาปัตยกรรมในประเทศไทย - สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น
สุดจิต (เศวตจินดา) สนั่นไหว
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

หมายเหตุ : บทความเดิมชิ้นนี้ชื่อว่า "สถานศึกษาสถาปัตยกรรมในประเทศไทย
กับการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นอย่างยั่งยืน : กรณีศึกษา มหาวิทยาลัยรังสิต"
ผลงานชิ้นนี้ได้มีการตัดทอนบางส่วน เพื่อความเหมาะสม
(บทความชิ้นนี้ยาวประมาณ 6 หน้ากระดาษ A4)

 

บทนำ
ย้อนหลังไปกว่า 70 ปี เมื่อประเทศไทยเริ่มการศึกษาวิชาสถาปัตยกรรมตามแบบสากล เวลานั้นเรายังขาดแคลนความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับตนเองเป็นอันมาก โดยเฉพาะเรื่องสถาปัตยกรรมของสามัญชนที่เรียกว่า สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น ซึ่งแทบไม่เคยถูกหยิบยกขึ้นมาศึกษาอย่างจริงจัง เพราะวิธีบริหารจัดการรวมทั้งการศึกษาของประเทศในเวลานั้นเป็นแบบรวมศูนย์ไว้ที่ส่วนกลางของระบบอำนาจ การศึกษาสถาปัตยกรรมไทยจึงมุ่งไปที่สถาปัตยกรรมแบบประเพณีแต่เพียงด้านเดียว

และเมื่อระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเริ่มมีบทบาทในระยะ 40 ปีหลัง ทำให้ประชาชนสูญอำนาจในการสร้างที่อยู่อาศัยด้วยตนเอง จากเดิมที่สามารถสร้างด้วยวัสดุและแรงงานในท้องถิ่นแบบเอื้ออาทร บวกกับภูมิปัญญาสั่งสม กลายเป็นทุกอย่างต้องแลกด้วยเงินเป็นหลัก ทำให้ผู้คนทั่วไปไม่อาจมีบ้านได้หากไม่มีความพร้อมทางการเงิน บ้านจัดสรรในระบบเงินกู้จึงเกิดขึ้นมาเป็นทางเลือกใหม่ ทำให้สถาปนิกที่ออกมาจากระบบการศึกษาแบบรวมศูนย์ดังกล่าว มีงานทำกันมากมาย โดยแทบไม่มีใครให้ความสนใจเรื่องอัตลักษณ์ของแต่ละชุมชนที่แตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น ผลลัพธ์ก็คือ ทำให้สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นและวิถีชุมชนแบบดั้งเดิมสูญหายไปเร็วยิ่งขึ้น รวมทั้งการพัฒนาฝีมือช่างท้องถิ่นก็ขาดช่วงลงไปจนอาจเรียกได้ว่าอยู่ในภาวะวิกฤติ

ในขณะที่ปัจจุบันกระแสของวงการสถาปัตยกรรมไทยได้หันกลับมานิยมในอัตลักษณ์ และเร่งค้นหาตัวตนเป็นการใหญ่ไม่เว้นแม้แต่บ้านจัดสรร ทำให้เกิดคำถามว่าปัจจุบันสถานศึกษาทางสถาปัตยกรรมที่ผลิตสถาปนิกออกไปทำงานในสังคม ได้ตระหนักและมีการปรับตัวอย่างไรเพื่อรองรับสภาพการณ์เช่นนี้

จากกรณีศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต พบว่าการจัดการศึกษาวิชาสถาปัตยกรรม โดยมีเนื้อหาของหลักสูตร ที่ตระหนักถึงคุณค่าของสถาปัตยกรรมท้องถิ่นอย่างเท่าเทียมกับสถาปัตยกรรมแบบประเพณี และการให้ความสำคัญกับกระบวนการเก็บข้อมูลจริงในภาคสนาม เพื่อฝึกให้นักศึกษาได้วิเคราะห์หาเหตุปัจจัยซึ่งนำไปสู่การกำหนดคุณลักษณะของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น ก่อนนำไปสู่การออกแบบอาคารร่วมสมัยที่ตั้งบนสภาพพื้นที่จริง นับเป็นวิถีทางหนึ่งในการมีส่วนร่วมอนุรักษ์สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นอย่างยั่งยืนได้

พัฒนาการสถาปัตยกรรมไทย - พื้นถิ่น
แต่อดีตมาในยุคที่สภาพสังคมและเศรษฐกิจของประเทศไทยยังเป็นแบบพึ่งตนเอง งานก่อสร้างล้วนเกิดจากฝีมือของผู้ชำนาญที่ยกย่องเรียกว่า "ช่าง" หรือ "นายช่าง"เท่านั้น ซึ่งคนที่จะเป็นช่างได้ต้องมีใจรักงานฝีมือ สนใจและเสาะหาโอกาสที่จะได้ฝึกหัดเรียนรู้การเป็นช่างอยู่เสมอ โดยอาศัยการคลุกคลีฝึกฝนกับผู้ที่ผ่านงานมาก่อน ยังไม่ได้มีการจัดการเรียนการสอนเป็นระบบเฉพาะทาง หรือมีสถาบันการศึกษารองรับแต่อย่างใด

ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา จนสิ้นสุดรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ประเทศไทยได้ปรับปรุงและพัฒนาประเทศให้เจริญตามแบบแผนตะวันตกอย่างรวดเร็ว มีการติดต่อค้าขายกับประเทศต่างๆอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะการสั่งซื้อสินค้าจากยุโรป รวมทั้งการบริโภคเทคนิควิทยาการ ผ่านนายช่างนำเข้า ที่เรียกว่า "ARCHITECT" หรือสถาปนิกชาวยุโรปด้วย

ผลของการพัฒนาประเทศให้เจริญตามตะวันตกนั้น ยังผลให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย เข้าไปผูกพันกับระบบเศรษฐกิจโลกอย่างเห็นได้ชัดในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และเมื่อทั่วโลกเกิดวิกฤตการณ์เศรษฐกิจตกต่ำใน พ.ศ. 2472 ประเทศไทยจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาการคลังของประเทศในทุกวิถีทาง รวมถึงการยุบตำแหน่งข้าราชการต่างประเทศ และสถาปนิกต่างชาติด้วย

จากจุดเปลี่ยนแปรดังกล่าว ประกอบกับการที่เริ่มมีคนไทยสำเร็จการศึกษาวิชาสถาปัตยกรรมจากต่างประเทศกลับมาบ้างแล้ว จึงได้เกิดสถาบันการศึกษาที่จัดการโดยรัฐขึ้น เพื่อผลิตสถาปนิกไทยออกมาสานงานก่อสร้างบ้านเมืองต่อ

พัฒนาการศึกษาสถาปัตยกรรมในประเทศไทย และความเชื่อมโยงกับสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น
ราว 2 ปีก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นประชาธิปไตย(1) ประเทศไทยได้เริ่มทดลองสอนวิชาสถาปัตยกรรมขึ้นเป็นครั้งแรกในโรงเรียนเพาะช่าง เมื่อ พ.ศ. 2473 โดยการริเริ่มของอาจารย์นารถ โพธิประสาท สถาปนิกซึ่งสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล ประเทศอังกฤษ จากนั้นได้โอนมาเป็นแผนกหนึ่งในคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนแยกตัวออกมาเปิดเป็นคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ แห่งแรกในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2482 หลังจากนั้นอีกราว 16 ปี มหาวิทยาลัยศิลปากรจึงได้เปิดทำสอนสถาปัตยกรรมเฉพาะแบบไทยขึ้นใน พ.ศ. 2498

ในช่วงเริ่มต้นของการศึกษาวิชาสถาปัตยกรรมในประเทศไทยนี้ พบว่าแนวทางการสอนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นสถาปัตยกรรมสากลแบบคลาสสิคตามแนวทางของ Ecole des Beaux-Arts สถาบันทางศิลปะที่มีชื่อเสียงของฝรั่งเศส คือเน้นไปในด้านศิลปะ ประวัติศาสตร์ และการออกแบบเป็นหลัก โดยมีจุดประสงค์เพื่อผลิตผู้ที่จะไปทำงานในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่นกรมโยธาธิการและกรมศิลปากร ด้วยลักษณะอาคารที่ก่อสร้างในยุคนั้นเป็นอาคารที่อิงรูปแบบไทยประเพณีเป็นส่วนใหญ่ แต่ต่อมาได้มีการปรับหลักสูตรโดยเปลี่ยนไปใช้ระบบการศึกษาตามแนวทางของมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล ประเทศอังกฤษ ที่เน้นการสอนวิชาชีพ (Professional School) เพื่อให้ผู้ที่เรียนจบสามารถออกไปปฏิบัติงานที่ใดก็ได้

ส่วนมหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งเริ่มการสอนสถาปัตยกรรมไทยตามรากฐานที่วางไว้โดยพระพรหมพิจิตรผู้ก่อตั้ง ก็ได้ปรับปรุงแนวทางการศึกษาให้มีทั้งสถาปัตยกรรมไทย และสถาปัตยกรรมแนวสากล เพราะในขณะนั้นผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา ได้กลับมามีบทบาทในวงการศึกษาและหน่วยงานราชการ เป็นผลให้มีการปรับเปลี่ยนแนวคิดของการศึกษาสถาปัตยกรรมเพื่อความทันสมัย จนกระทั่งเปลี่ยนหลักสูตรเบ็ดเสร็จเป็นการศึกษาสถาปัตยกรรมตามแนวสากล โดยมีวิชาสถาปัตยกรรมไทยเป็นเพียงวิชาประกอบ แต่ปรากฏการณ์ที่น่าสนใจกลับอยู่ที่อีก 40 ปีต่อมานับจากการก่อตั้งในครั้งแรก มหาวิทยาลัยศิลปากรได้ให้ความสำคัญกับการสอนวิชาสถาปัตยกรรมไทยอีกครั้ง โดยเปิดสอนในสาขาวิชาสถาปัตยกรรมไทย เพิ่มอีก 1 สาขาเมื่อ พ.ศ. 2538

ในช่วง พ.ศ. 2501-2516 อันเป็นระยะเวลาที่ประเทศไทยถูกปกครองด้วยรัฐบาลเผด็จการทหาร(2) อย่างต่อเนื่อง ได้มีการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับแรกขึ้นใน พ.ศ. 2504 ยังผลให้ประเทศไทยมีการขยายโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับเศรษฐกิจที่คาดว่าจะเติบโตขึ้นเป็นอันมาก ซึ่งปรากฏว่าการศึกษาวิชาสถาปัตยกรรมในภาพรวมของ 3 สถาบันในยุคนั้น(3) ต่างมุ่งเน้นไปที่ความงาม และการสนองประโยชน์ใช้สอยมากกว่าการให้ความสนใจทางด้านโครงสร้างและเทคโนโลยี ด้วยเนื้อหาหลักสูตรมีวิชาทางด้านศิลปะค่อนข้างมาก รวมทั้งวิชาสถาปัตยกรรมไทยด้วย แต่สิ่งที่สถาปนิกยุคนั้นยอมรับว่าขาดในห้วงเวลานั้นก็คือ การศึกษาที่เน้นความรู้เกี่ยวกับท้องถิ่นของประเทศ ซึ่งเป็นประเทศแถบร้อน เพื่อให้เหมาะสมกับการนำไปใช้ในวิชาชีพสถาปัตยกรรม

สำหรับการศึกษาวิชาสถาปัตยกรรมในช่วง พ.ศ. 2517-2525 ซึ่งเป็นช่วงที่ถือว่าประเทศไทยได้เริ่มการปกครองแบบประชาธิปไตยมากขึ้น(4) สถาบันการศึกษาทั้ง 3 แห่งต่างก็ได้ปรับปรุงหลักสูตรให้สอดคล้องกับเกณฑ์ของทบวงมหาวิทยาลัย และของคณะกรรมการควบคุมการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรม (ก.ส.) ซึ่งกำหนดให้มีการจัดให้นักศึกษาเรียนกลุ่มวิชาศึกษาทั่วไปมากขึ้น นอกเหนือจากวิชาชีพทางสถาปัตยกรรมเท่านั้น โดยคาดหวังว่าจะช่วยทำให้มุมมองของนักศึกษามีความกว้างขวางขึ้น

แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีการวิพากษ์ว่าวิชาพื้นฐานเหล่านั้นสัมพันธ์กับวิชาสถาปัตยกรรมแต่เฉพาะในส่วนที่เป็นศิลปะ โดยยังขาดวิชาที่เกี่ยวกับเรื่องของสังคมและเศรษฐกิจอยู่ดี และเป็นที่น่าสังเกตว่าในยุคนี้ได้ให้ความสำคัญกับวิชาสถาปัตยกรรมไทยน้อยลง โดยเฉพาะภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเพิ่งเปิดรุ่นแรกก่อน พ.ศ. 2525 ไม่ได้จัดให้เรียนเลย

จนมาถึง พ.ศ. 2531 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เริ่มเปิดสอนขึ้นนับเป็นสถาบันของรัฐแห่งที่ 4 และแห่งแรกที่ตั้งอยู่ในภูมิภาค ที่มุ่งเน้นการจัดการเรียนการศึกษารูปแบบสถาปัตยกรรมท้องถิ่นเป็นพื้นฐาน แตกต่างไปจากแนวทางของสถาบันการศึกษาอื่นในส่วนกลาง โดยการร่างหลักสูตรมีนโยบายที่จะพิจารณาแนวโน้มและปัญหาการพัฒนาภูมิภาคอีสานทางด้านกายภาพ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของท้องถิ่น ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2525-2529) และในปีเดียวกันนี้เอง มหาวิทยาลัยรังสิตซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนก็ได้เปิดคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ขึ้น นับเป็นแห่งแรกในสถาบันการศึกษาเอกชน ซึ่งหลังจากนั้นก็ได้มีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ทั้งของรัฐและเอกชน เกิดขึ้นทั้งในส่วนกลางและภูมิภาคอีกรวมแล้วไม่น้อยกว่า 10 สถาบัน

เพราะในช่วง พ.ศ. 2526-2540 ถือได้ว่าเป็นยุคเฟื่องฟูของงานสถาปัตยกรรมและสถาปนิกในประเทศไทย เนื่องจากความง่ายดายในการปล่อยสินเชื่อเงินกู้ ให้แก่โครงการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เกิดขึ้นอย่างมากมายราวกับดอกเห็ด ทำให้สถาปนิกเป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอันมาก โดยในยุคนี้แนวความคิดต่าง ๆ ในการออกแบบเพื่อให้โครงการขายดี ได้ถูกนำออกมาใช้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นภาพลักษณ์สถาปัตยกรรมของชนชาติใด หรือยุคสมัยใดก็ตาม ล้วนถูกดึงมาใช้เป็นแนวคิดในการออกแบบแทบทั้งสิ้น ซึ่งพบว่ามีบางโครงการที่ให้ความสนใจในเอกลักษณ์ไทยเช่นกัน แต่ก็ยังเป็นในแบบประเพณีเป็นหลัก ซึ่งทั้งหมดก็เป็นเสมือนภาพลวงตา เมื่อการล่มสลายของสภาวะเศรษฐกิจมาถึงในปี พ.ศ. 2540

หลังภาวะเศรษฐกิจล่มสลาย ธุรกิจก่อสร้างและโครงการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ ได้ประสบภาวะชะงักงัน ส่งผลกระทบไปถึงสถาบันการศึกษาทางสถาปัตยกรรม ซึ่งเคยมีผู้นิยมเรียนกันอย่างคับคั่งทั้งมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชน โดยเฉพาะสถาบันของเอกชนซึ่งค่าเล่าเรียนอยู่ในอัตราที่แพงกว่าของรัฐเกือบ 10 เท่า ย่อมได้รับผลกระทบจากอัตราผู้สมัครเรียนลดลงมากที่สุด แต่ก็นับว่ายังดีที่ช่วงเวลาที่งานสถาปัตยกรรมซบเซานี้ ทำให้คณาจารย์มีเวลาให้กับงานวิจัยทางวิชาการ เพื่อพัฒนาและเสาะหาองค์ความรู้ที่ยั่งยืนมากขึ้น ดังแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ทรงให้ไว้ในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง(5) และได้ถูกอัญเชิญมาเป็นปรัชญานำทางในการพัฒนาและบริหารประเทศในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (พ.ศ.2545-2549) ที่มุ่งยึดหลักทางสายกลาง เพื่อให้ประเทศรอดพ้นจากวิกฤต สามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคง และนำไปสู่การพัฒนาที่สมดุล มีคุณภาพและยั่งยืน ภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์ และสถานการณ์เปลี่ยนแปลงต่าง ๆ

เพราะในช่วง 4 ทศวรรษที่ผ่านมาตั้งแต่เริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อสนองสังคมแบบทุนนิยม ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนถึงการพัฒนาที่ขาดสมดุล โดยประสบความสำเร็จเฉพาะในเชิงปริมาณ แต่ขาดความสมดุลด้านคุณภาพ โดย "จุดอ่อน" ของการพัฒนาที่สำคัญ คือ ระบบบริหารทางเศรษฐกิจ การเมือง และราชการยังเป็นการรวมศูนย์อำนาจและขาดประสิทธิภาพ นำไปสู่ปัญหาเรื้อรังของประเทศในด้านต่าง ๆ รวมทั้งคุณภาพการศึกษาที่ไม่สามารถปรับตัวได้อย่างรู้เท่าทันวิทยาการสมัยใหม่ ขณะที่ความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้ ความยากจน และความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงขึ้น ได้สร้างความขัดแย้งในสังคมโดยลำดับ นอกจากนี้ความอ่อนแอของสังคมไทยที่ตกอยู่ในกระแสวัตถุนิยม ได้ก่อให้เกิดปัญหาทางศีลธรรมและปัญหาสังคมมากขึ้น

ทั้งหมดนี้หากมองในแง่มุมทางสถาปัตยกรรมก็จะพบว่า ห้วงเวลาที่ผ่านมาในระบบทุนนิยมนั้น อาจกล่าวได้ว่าวงการศึกษาทางสถาปัตยกรรมก็ไม่ได้มีความแตกต่างจากภาพรวมของประเทศเช่นกัน กล่าวคือได้ละเลยในการให้ความสำคัญกับความหลากหลายของภูมิปัญญาระดับท้องถิ่น เพราะการศึกษาแบบรวมศูนย์ที่มุ่งไปสู่ความเป็นสถาปัตยกรรมแบบสากล ส่วนสถาปัตยกรรมไทยก็เน้นเฉพาะสถาปัตยกรรมที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของชาติ หรือยกย่องแต่สถาปัตยกรรมแบบประเพณีเท่านั้น

เรือนพื้นถิ่นที่ชาวบ้านเคยปลูกสร้างเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย โดยการเริ่มจากเรือนชั่วคราวหรือเรือนเครื่องผูกก่อนพัฒนาต่อไปเป็นเรือนฝากระดาน ก็ถูกเหยียดให้ตกต่ำในความรู้สึกของคนในสังคม ไม่อาจนับเป็นบ้านหรือใช้เป็นเรือนหอเพื่อเริ่มต้นครอบครัวได้อีกต่อไป และสิ่งน่าเศร้าที่สุดก็คือเมื่อประชาชนรู้สึกว่าขลาดเขลา และสูญอำนาจในการสร้างที่อยู่อาศัยด้วยตนเอง จากเดิมที่สามารถสร้างด้วยวัสดุและแรงงานในท้องถิ่นแบบเอื้ออาทร บวกกับภูมิปัญญาสั่งสม กลายเป็นทุกอย่างต้องแลกด้วยเงินเป็นหลัก ทำให้ผู้คนทั่วไปไม่อาจมีบ้านได้หากไม่พร้อมทางการเงิน

บ้านจัดสรรในระบบเงินกู้จึงเกิดขึ้นมาเป็นทางเลือกใหม่ ทำให้สถาปนิกที่ออกมาจากระบบการศึกษาแบบรวมศูนย์ดังกล่าวมีงานทำกันมากมาย โดยแทบไม่มีใครให้ความสนใจเรื่องอัตลักษณ์ของแต่ละชุมชนที่แตกต่างกันไปในแต่ละถิ่น ซึ่งยังผลให้สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นและวิถีชุมชนแบบดั้งเดิมสูญหายไปเร็วยิ่งขึ้น รวมทั้งการพัฒนาฝีมือช่างท้องถิ่นก็ขาดช่วงลงไปจนอาจเรียกได้ว่าอยู่ในภาวะวิกฤติ

และในขณะที่ปัจจุบันกระแสของวงการสถาปัตยกรรมไทยได้หันกลับมานิยมในความมีอัตลักษณ์ และเร่งค้นหาตัวตนเป็นการใหญ่ไม่เว้นแม้แต่บ้านจัดสรร ทำให้เกิดคำถามว่า ปัจจุบันสถานศึกษาทางสถาปัตยกรรมที่ผลิตสถาปนิกออกไปทำงานในสังคม ได้ตระหนักและมีการปรับตัวอย่างไรเพื่อรองรับสภาพการณ์เช่นนี้ ...


(1) ประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองโดยการยึดอำนาจของคณะราษฎร เมื่อ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475.

(2) ภายใต้การนำของ 3 จอมพล "สฤษดิ์-ถนอม-ประภาส".

(3) คือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยศิลปากร และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง.

(4) 14 ตุลาคม 2516 เกิดเหตุการณ์จลาจลที่นักศึกษาและประชาชนได้ปะทะกับตำรวจทหาร ในการต่อต้านการปกครองของผู้นำเผด็จการ.

(5) เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปใน ทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์

ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร ต่อการมีผลกระทบใด ๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ทั้งนี้จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาการต่าง ๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน และขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับ ให้มีสำนึกในคุณธรรมความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี.

 

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I สารบัญเนื้อหา 3
ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 440 เรื่อง หนากว่า 5000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com




 

H
ภาพประกอบบทความทางสถาปัตยกรรม เรื่อง "สถาปัตยกรรมในประเทศไทย - สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น" เขียนโดย ผศ. สุดจิต (เศวตจินดา)สนั่นไหว

พัฒนาการศึกษาสถาปัตยกรรมในประเทศไทย และความเชื่อมโยงกับสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น ราว 2 ปีก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นประชาธิปไตย ประเทศไทยได้เริ่มทดลองสอนวิชาสถาปัตยกรรมขึ้นเป็นครั้งแรกในโรงเรียนเพาะช่าง เมื่อ พ.ศ. 2473 โดยการริเริ่มของอาจารย์นารถ โพธิประสาท สถาปนิกซึ่งสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล ประเทศอังกฤษ

เรือนพื้นถิ่นที่ชาวบ้านเคยปลูกสร้างเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย โดยการเริ่มจากเรือนชั่วคราวหรือเรือนเครื่องผูกก่อนพัฒนาต่อไปเป็นเรือนฝากระดาน ก็ถูกเหยียดให้ตกต่ำในความรู้สึกของคนในสังคม ไม่อาจนับเป็นบ้านหรือใช้เป็นเรือนหอเพื่อเริ่มต้นครอบครัวได้อีกต่อไป และสิ่งน่าเศร้าที่สุดก็คือเมื่อประชาชนรู้สึกว่าขลาดเขลา และสูญอำนาจในการสร้างที่อยู่อาศัยด้วยตนเอง จากเดิมที่สามารถสร้างด้วยวัสดุและแรงงานในท้องถิ่นแบบเอื้ออาทร บวกกับภูมิปัญญาสั่งสม กลายเป็นทุกอย่างต้องแลกด้วยเงินเป็นหลัก ทำให้ผู้คนทั่วไปไม่อาจมีบ้านได้หากไม่พร้อมทางการเงิน บ้านจัดสรรในระบบเงินกู้จึงเกิดขึ้นมาเป็นทางเลือกใหม่ ทำให้สถาปนิกที่ออกมาจากระบบการศึกษาแบบรวมศูนย์ดังกล่าวมีงานทำกันมากมาย โดยแทบไม่มีใครให้ความสนใจเรื่องอัตลักษณ์ของแต่ละชุมชน