มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ

Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com

ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซค์ วันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๔๗ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ


บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 442 หัวเรื่อง
ทีทรรศนฺ์ปกิณกะจากเชียงใหม่
ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์
นักบริบทสังคม-การเมือง มหาวิทยาเที่ยงคืน

 

R
relate topic
250847
release date
ผลงานภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบเรื่องพิเศษบริการฟรีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
H
รวมบทความของ อ. นิธิ เอียวศรีวงศ์ ๕ เรื่อง เกี่ยวกับการเมือง สังคม และวัฒนธรรม
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ

คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

การเมือง สังคม การศึกษา วัฒนธรรม และเพศศึกษา
ทีทรรศน์ปกิณกะจากเชียงใหม่
ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

(บทความชิ้นนี้ยาวประมาณ 16 หน้ากระดาษ A4)

บทความ ๕ เรื่อง ซึ่งเคยตีพิมพ์แล้วในหน้าหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน
ประกอบด้วย ๑. เพศศึกษา, ๒. ไก่หรือสังคมที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง
, ๓. ดุสิตธานี,
๔. ซื้อสถานภาพในรูปของด๊อกเตอร์, ๕. พระกับการเมือง
นำมารวบรวมเพื่อการค้นคว้าทางวิชาการบนเว็ป ม.เที่ยงคืน วันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๔๗


 

1. เพศศึกษา
ท่านนายกฯ พูดกับเลขาธิการสหประชาชาติบนโต๊ะอาหารว่า ประเทศไทยอ่อนแอด้านเพศศึกษา เพราะไม่ได้เอาใจใส่มานาน ฉะนั้นท่านจะจัดทำกันใหม่ให้ตรงกับความเป็นจริงมากขึ้น

ความจริงแล้ว มีคนเคยดำริเรื่องนี้กันมาหลายครั้งหลายหน แต่ก็มีเสียงต่อต้านคัดค้านเกิดขึ้นอยู่พอสมควร เพราะวิตกกันว่าจะเป็นการชี้โพรงให้กระรอก เมื่อขาดความมุ่งมั่นทางการเมืองเพียงพอ ข้อเสนอเรื่องนี้ก็มักจะเงียบหายไปในที่สุด เฉยเสียย่อมปลอดภัยทางการเมืองมากกว่า แต่สังคมเปลี่ยนไปพอสมควร อีกทั้งท่านนายกฯทักษิณ ชินวัตร มีพลังทางการเมืองอย่างที่นักการเมืองไทยไม่เคยมีมาก่อน จึงอาจเป็นไปได้ว่าดำริในเรื่องนี้อาจเป็นผลจริงจังขึ้นเป็นครั้งแรก และด้วยเหตุดังนั้นเราจึงควรพิจารณาเกี่ยวกับเพศศึกษาซึ่งจะจัดกันขึ้นให้ชัดกว่าการสอนเรื่องการร่วมเพศ

แม้อาจไม่ได้ใช้ชื่อว่าเพศศึกษา แต่เนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องนี้คงมีการถ่ายทอดกันในทุกวัฒนธรรม ไม่โดยตรงก็โดยอ้อม เพราะเป็นกิจกรรมที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องสำคัญอื่นๆ ในชีวิตของทุกสังคม นับตั้งแต่ความยั่งยืนของสังคม ไปจนถึงการสืบมรดกและสิทธิ, สถานภาพของหญิง-ชาย, การผดุงความศักดิ์สิทธิ์ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในวัฒนธรรมนั้น ฯลฯ คิดไปเถิดแทบจะหาเรื่องอะไรที่ไม่เกี่ยวไปถึงเรื่องของเพศศึกษาแทบไม่ได้

สังคมไทยก็มีการถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจตลอดจนความเชื่อและอคติเกี่ยวกับ "เพศรส" สืบมาเหมือนกัน เพียงแต่ว่าถ้าพูดถึงสังคมไทยตามประเพณีแล้ว กามารมณ์เป็นเรื่องที่แยกไม่ออกจากสถาบันครอบครัว ฉะนั้นเพศศึกษาแบบไทยโบราณ จึงเหมาะสมกับพฤติกรรมทางเพศของคนสมัยนั้น นั่นก็คือเป็นกิจกรรมหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับครอบครัว

ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าไม่มีเพศสัมพันธ์นอกสถาบันการสมรสในเมืองไทยมาก่อน ความจริงแล้วมี อาจจะมากกว่าที่คนทั่วไปคิดด้วย แต่เป็นเพศสัมพันธ์ที่นำไปสู่ครอบครัว เช่นพิธีแต่งงานที่ถูกต้องตามประเพณีอันหนึ่งของไทยต้องหมายรวมถึงการพาหนีด้วย แล้วก็พากลับมาขอขมาพ่อแม่ฝ่ายหญิงในภายหลัง หรือการลักลอบขึ้นเรือนสาวก็เป็นเรื่องที่เกิดเสมอ หากถูกจับได้ ก็มีพิธีขอขมาและแต่งงาน หากไม่ถูกจับได้ ก็อาจมีการสู่ขอกันในภายหลัง

ผู้ชายอาจมีเพศสัมพันธ์กับสาวที่ไม่ใช่ภรรยาของตัว แต่นั่นมักหมายถึงการรับหญิงนั้นเป็นภรรยาน้อย ซึ่งหมายความว่าเป็นเรื่องของครอบครัวอยู่นั่นเอง

เมื่อพูดว่า เพศสัมพันธ์เป็นกิจกรรมที่แยกไม่ออกจากครอบครัว นั่นย่อมทำให้เกิดนัยะสองประการที่สำคัญ

1. เพศสัมพันธ์ไม่ใช่กิจกรรมที่เกิดกับคู่ของตัวสองต่อสอง แต่สัมพันธ์ไปถึงคนอื่นๆ เช่น พ่อตา แม่ยาย ตลอดถึงญาติโกโหติกาของทั้งสองฝ่าย รวมทั้งคนอื่นๆ ที่คนเหล่านั้นมีความสัมพันธ์ด้วยในชุมชนด้วย

2. ด้วยเหตุดังนั้น พฤติกรรมของทั้งสองฝ่ายจึงไม่ได้เป็นอิสระแท้ แต่ตกอยู่ภายใต้การควบคุมทั้งใกล้และไกลจากคนอื่นๆ มากทีเดียว พูดอย่างเป็นรูปธรรมก็คือ จะเอาซี่โครงเมียเหน็บข้างฝาไม่ได้ง่ายๆ เพราะเรื่องผัว-เมียนั้น เป็นเรื่องที่คนอื่นเกี่ยวโดยตรงและโดยอ้อมตลอดเวลา

คำสอนเกี่ยวกับเพศศึกษาตามที่ปรากฏในวรรณคดีโบราณ จึงเน้นเรื่องความสัมพันธ์ที่สลับซับซ้อนอย่างนี้มากกว่าการร่วมเพศ เช่นสอนเรื่องบทบาทหน้าที่ของทั้งสองฝ่าย เช่นจะมีความสัมพันธ์กับบ่าวไพร่อย่างไรเป็นต้น เรื่องนี้เสียอีกที่วรรณคดีมักลงท้ายว่าเป็นธรรมดาโลก อย่ากลัวไปเลย แล้วก็จะเข้าใจไปเอง (ซึ่งนักเพศศาสตร์ปัจจุบันบอกว่าไม่จริง ต้องหยิบขึ้นมาศึกษาทำความเข้าใจกันหลายแง่หลายมุม)

ฉะนั้นเพศศึกษาในวัฒนธรรมไทยจึงมีความหมายกว้างขวางกว่าเรื่องการร่วมเพศมาก แต่ครอบคลุมความสัมพันธ์ในมิติอื่นๆ กับคนอีกจำนวนมากที่ร่วมอยู่ในชีวิตของคู่ผัวตัวเมีย แน่นอนว่าในนั้นมีความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียม การเอารัดเอาเปรียบ การกดขี่ และ ฯลฯ ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ทางสังคมที่เป็นจริงของสมัยนั้น อันเราในปัจจุบันอาจรับไม่ได้ และไม่จำเป็นต้องเลียนแบบหรือพยายามดำรงรักษาเอาไว้ แต่ความเข้าใจว่าเพศศึกษามีนัยะที่กว้างกว่าเพศสัมพันธ์นั้นมีประโยชน์ที่จะใช้ในการทำความเข้าใจกับการจัดเพศศึกษาที่เหมาะสมของสังคมปัจจุบันอย่างแน่นอน

ปัญหาข้อแรกที่น่าคิดในการจัดเพศศึกษาในสังคมไทยปัจจุบันก็คือ เพศสัมพันธ์กลายเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล ไม่ใช่เรื่องที่แยกไม่ออกจากครอบครัวอีกแล้ว ด้วยเหตุดังนั้นจริยธรรมทางเพศสัมพันธ์ที่เคยมีมาในวัฒนธรรมไทยจึงทำงานไม่ได้ผลอีกต่อไป เด็กสาวอาจตั้งท้องโดยครอบครัวไม่สามารถไปจับมือผู้ชายให้เข้าสู่การวิวาห์ได้อีกต่อไป และที่จริงการใช้ชีวิตของเด็กสาวในปัจจุบันก็อยู่นอกเหนือการควบคุมของครอบครัว หรืออย่างน้อยการควบคุมอย่างที่ครอบครัวเคยมีอำนาจจะทำได้ก็หมดอำนาจนั้นไปแล้ว

อันที่จริงไม่ใช่เฉพาะเรื่องเพศสัมพันธ์เรื่องเดียว จริยธรรมและพลังของศีลธรรมที่เคยมีมาในสังคมไทยโบราณนั้นเกิดขึ้นในสังคมอีกชนิดหนึ่งซึ่งไม่มีอยู่อีกแล้ว นั่นคือสังคมที่มีครอบครัว, ชุมชน, ตลอดจนผีสางนางไม้ ที่คอยกำกับควบคุมพฤติกรรมของคน ครั้นเมื่อสังคมเปลี่ยนไปสู่ความเป็นปัจเจกมากขึ้น เราก็ไม่ได้พัฒนาพลังทางสังคมที่เป็นปัจเจกขึ้นเพื่อรองรับจริยธรรมและศีลธรรมซึ่งตกทอดมาแต่โบราณ ได้แต่ยกจริยธรรมและศีลธรรมเหล่านั้นขึ้นหิ้งบูชาสำหรับสวดสรรเสริญกันอย่างไร้ความหมาย

เช่น ผู้หญิงควรเก็บพรหมจรรย์ของตัวไว้จนกว่าจะถึงฤกษ์ส่งตัวเข้าหอ ทั้งๆ ที่เพื่อปฏิบัติตามจริยธรรมข้อนี้ให้ได้ ต้องการพลังจิตใจอีกชนิดหนึ่งที่ปัจเจกต้องถูกสอนให้พัฒนาขึ้นในแต่ละคน ซึ่งประกอบด้วยความสามารถในการคิดเอง ตัดสินใจเอง เคารพข้อมูลและเหตุผล อันเป็นคุณสมบัติที่เราไม่สนใจปลูกฝังกับเยาวชนมากนัก และทั้งๆ ที่จริยธรรมข้อนี้เรียกร้องเอาจากผู้หญิงฝ่ายเดียว โดยอนุญาตเสรีภาพอย่างไร้ขีดจำกัดให้แก่ผู้ชาย เราสนับสนุนให้ยึดถือจริยธรรมข้อนี้โดยไม่ต้องมีคำถาม แค่มีความสามารถคิดเชิงวิพากษ์เพียงอย่างเดียว ก็ทำให้เด็กสาวทุกคนมองเห็นความเหลวไหลของคติอย่างนี้เสียแล้ว

ฉะนั้นการสอนเพศศึกษาในสังคมปัจจุบัน จึงมีความหมายกว้างกว่าการสอนความรู้เกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ แต่ต้องหมายรวมถึงการพัฒนาบุคลิกภาพที่เข้มแข็งของปัจเจกไปพร้อมกัน คิดเองเป็นในทุกเรื่องไม่ใช่เฉพาะเรื่องเพศสัมพันธ์เท่านั้น

ในแง่ของปัจเจก เพศสัมพันธ์ยังมีนัยะถึงด้านอื่นๆ นอกจากทางกายด้วย เช่นอารมณ์, ความรู้สึก, ความผูกพันทางสังคม, ความรับผิดชอบต่อตนเอง, คู่นอน และสังคมโดยรวม มิติเหล่านี้มีความสำคัญในเพศสัมพันธ์มากเสียยิ่งกว่าความสัมพันธ์ทางกายเสียอีก แต่ที่ผ่านๆ มากลับไม่เคยถูกรวมอยู่ในเพศศึกษาเอาเลย

ในฐานะมนุษย์ที่มีชีวิตในสังคมปัจจุบัน เพศสัมพันธ์ของปัจเจกบุคคลยังสัมพันธ์กับแนวคิดใหม่ๆ ที่ทำให้มนุษย์นิยามตนเองผิดแผกไปจากเดิม เช่นความสำนึกในเรื่องสิทธิสตรีเพียงอย่างเดียว ก็ทำให้ผู้หญิงสมัยนี้แตกต่างจากนางแก้วกิริยาอย่างเป็นคนละคนเลยทีเดียว เพศศึกษาจึงต้องหมายถึงการทำความเข้าใจเกี่ยวกับเพศสภาพ และความสัมพันธ์ชาย-หญิงด้วย เช่นเดียวกับเรื่องการคุมกำเนิดและการทำแท้ง (อย่าลืมว่าไม่มีคำตัดสินสุดท้ายให้แก่ผู้เรียน เพราะถ้าต้องการปัจเจกที่คิดเองเป็น ก็ต้องนำเขาไปสู่แง่มุมรอบด้านของประเด็นเหล่านี้ และคิดตัดสินใจเอาเอง)

เพศศึกษาของโลกปัจจุบันยังควรรวมถึงการพิจารณาใคร่ครวญถึงกติกาความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกสองคน ที่เป็นธรรมและมีไมตรีต่อกันอย่างยั่งยืน เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า เพศสัมพันธ์จำนวนมากไม่ได้นำไปสู่การตั้งครอบครัวอีกแล้ว แต่นั่นไม่จำเป็นต้องหมายถึงการเอาเปรียบกันระหว่างเพศ หรือระหว่างชนชั้น

ดำริของท่านนายกฯ ซึ่งอาจทำให้การจัดเพศศึกษาในเมืองไทยเป็นจริงเป็นจังขึ้นครั้งแรก สังคมควรคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้ดีเสียแต่เนิ่นๆ อย่าปล่อยให้เพศศึกษาเป็นเรื่องของผู้เชี่ยวชาญทางเพศสัมพันธ์ หรือสรีรวิทยา หรือนักกฎหมาย เพียงเท่านั้น เพราะเพศศึกษาที่จะเป็นประโยชน์ต่อคนในโลกปัจจุบัน มีความหมายกว้างกว่าสามอย่างนั้นมากมายนัก

2. ไก่หรือสังคมที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง
จนถึงทุกวันนี้ ยังไม่มีใครในโลกนี้รู้เกี่ยวกับไข้หวัดนกจริงสักคนเดียว ฉะนั้นวิธีเดียวที่นักการเมืองและข้าราชการใช้ในการเผชิญกับไข้หวัดนก คือวิธีที่พวกเขาถนัด นั่นได้แก่ชี้นิ้วให้แก่สิ่งโน้นสิ่งนี้ ที่ไม่ใช่ตัวกู แทนที่จะยอมรับว่าตัวไม่รู้ และมุ่งไปสู่การแสวงหาทางเลือกหลากหลายวิถีทาง

ไม่นานมานี้เอง เมื่อไข้หวัดนกกลับมาใหม่อีกครั้งหนึ่ง พวกเขาพากันชี้ไปที่เจ้าของฟาร์มไก่ ซึ่งเคยถูกไข้หวัดนกระบาดและไก่ถูกทำลายไปแล้วว่า แอบยักยอกเก็บเอาไก่รุ่นโน้นไว้ หรือมิฉะนั้นก็ไม่ฆ่าเชื้อในฟาร์มอย่างถูกวิธี

แต่ผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศคนหนึ่งตั้งข้อสงสัยว่า ไทยประกาศปลอดไข้หวัดนกเร็วเกินไปหรือไม่ เพราะไม่มีใครสามารถย่นระยะเวลาสำหรับการพักฟาร์มให้ปลอดโรคได้เร็วอย่างนี้ ฉะนั้น แม้แต่ที่บางคนไปชี้นิ้วกล่าวโทษนกปากห่างว่าเป็นสาเหตุนำไข้หวัดนกกลับมาอีกรอบ จึงไม่น่าจะใช่ แต่เป็นตรงกันข้าม คือนกปากห่างติดหวัดนกจากไก่มากกว่า

ผมไม่ทราบว่าผู้เชี่ยวชาญถูกหรือผิด ไม่ทราบแม้แต่ว่าเขาเชี่ยวชาญจริงหรือไม่ เพียงแต่ผมสงสัยในความ "เชี่ยวชาญ" เกี่ยวกับเรื่องไข้หวัดนกทั้งโลกเลย เพราะมันให้ทางเลือกเพียงทางเดียว นั่นคือการเลี้ยงไก่ในระบบปิด อย่างที่ฝรั่งและญี่ปุ่นเลี้ยงเท่านั้น จึงจะป้องกันไข้หวัดนกได้จริง

อย่างที่รู้กันอยู่แล้วว่า ทางเลือกอย่างนี้เป็นทางเลือกที่เหลือคนจำนวนน้อยเท่านั้นที่สามารถเลี้ยงเป็ด-ไก่ได้ แม้แต่รัฐบาลจะช่วยเหลือด้วยการให้กู้ดอกเบี้ยถูกอย่างไร ก็ยังมีคนจำนวนน้อยเท่านั้นที่สามารถเลี้ยงได้อยู่ดี นอกจากนั้นแล้ว เล้าปิดของทั้งญี่ปุ่นและฝรั่ง(อเมริกัน)ก็ถูกไข้หวัดนกระบาด จนต้องฆ่าไก่กันไปจำนวนมาก แม้ไม่ใช่สายพันธุ์เดียวกับของเรา แต่ก็ไข้หวัดนกนี่แหละ ไหนว่าระบบปิดป้องกันการติดเชื้อได้ไง

อะไรที่เรียกว่า "ระบบปิด" นั้น ที่จริงแล้วเป็นสภาพอุดมคติเท่านั้น หมายความว่าไม่มีจริงในโลก ยิ่งฟาร์มปิดยิ่งเป็นสภาพอุดมคติขึ้นไปใหญ่ เพราะต้องถามว่า "ปิด" จากอะไร ปิดจากจุลินทรีย์ที่เล็กกว่าขี้มูกขี้ลายไก่หลายแสนเท่าอย่างนั้นหรือ ไม่น่าจะเป็นไปได้จริง และนั่นคือเหตุผลที่ไก่ฝรั่งและไก่ญี่ปุ่นต้องล้มตายและถูกขจัดเป็นเบือ

ระหว่างที่กำลังกำจัดเป็ด-ไก่กันเป็นเบือในเมืองไทยเมื่อครั้งที่แล้ว มีเอ็นจีโอท่านหนึ่งออกมาบอกว่า ตัวท่านเองเลี้ยงไก่อยู่แถวชัยภูมิสัก 200-300 ตัว แต่ท่านเลี้ยงด้วยระบบธรรมชาติ คือปล่อยให้มันหากินไปตามพื้นดินในที่เปิด เสริมอาหารตามสมควร ปรากฏว่าไก่ของท่านไม่ติดโรคสักตัว ทั้งๆ ที่ชัยภูมิถูกประกาศเป็นพื้นที่สีแดง

ที่เป็นอย่างนี้ท่านเชื่อว่า เชื้อโรคไข้หวัดนกต้องเคยมีในโลกมานานแล้ว ยิ่งเชื่อว่านกอพยพนำเอาไข้หวัดนกมาแพร่ ก็ยิ่งแสดงว่ามันก็คงเคยนำมาแพร่ในเมืองไทยมาแต่โบราณแล้ว ทำไมไม่เห็นมีใครเคยรู้เรื่องการระบาดใหญ่ของโรคเป็ด-ไก่แบบนี้มาก่อนเลย ท่านจึงคิดว่าสาเหตุสำคัญอาจไม่ได้อยู่ที่นกอพยพหรือเชื้อโรค แต่เป็นเพราะไก่ที่เลี้ยงในเชิงพาณิชย์อย่างเข้มข้น เช่น ขัง 2-3 ตัวไว้ในกรงตับแคบๆ ยัดอาหารให้กินไม่หยุด แม้กลางคืนก็เปิดไฟสว่างเพื่อให้ไก่ต้องกินอาหารไปตลอดเวลาโดยไม่ต้องนอน ทำให้ไก่อ่อนแอ ไม่มีภูมิจะป้องกันโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ (ยกเว้นโรคที่ฉีดวัคซีนป้องกันไว้แล้ว)

ตรงกันข้ามกับไก่ที่เลี้ยงปล่อยแบบของท่าน ไก่แข็งแรง เพราะมีชีวิตใกล้เคียงกับที่มันเคยมีในธรรมชาติ ถึงจะโดนเชื้อโรคแปลกๆ บ้าง ก็สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ แม้แต่ที่ตายไปบ้าง ตัวอื่นก็ไม่จำเป็นต้องตายตามหากมันแข็งแรงดีอยู่

คำอธิบายของท่านจะจริงหรือไม่ผมไม่ทราบ(แต่ก็คิดว่าจริงเท่ากับทฤษฎีหวัดนกมาจากนกอพยพ และทางออกคือระบบปิดนั่นแหละ) แต่ปรากฏการณ์ที่ไก่ของท่านไม่ตายทั้งที่เลื้ยงในระบบเปิดตามธรรมชาตินั้นจริง เพียงเท่านี้ก็ทำให้เราควรหันกลับมาตั้งคำถามว่า ยังมีปรากฏการณ์จริงที่ไก่ไม่ติดโรคในระบบเปิดอะไรอีกบ้าง มีใครเก็บข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้สืบสวนค้นคว้าทางวิชาการต่อไปบ้าง ผมสงสัยว่าไม่มีเลย รวมทั้งองค์กรอาหารและเกษตรที่อ้างความเป็นผู้เชี่ยวชาญก็คงไม่ได้ทำ เมื่อไม่ได้ทำ ก็ไม่เหลือทางเลือกอะไรอื่นอีก นอกจากระบบปิด(ซึ่งอย่างที่บอกแล้วก็มาจากทฤษฎีแพร่เชื้อโรคโดยนกอพยพ ซึ่งยังไม่มีการพิสูจน์แน่ชัดนัก)

นอกจากมองเห็นช่องโหว่ของความรู้แล้ว คำบอกเล่าของเอ็นจีโอท่านนั้นยังเสนอมุมมองที่ให้ทางเลือกอื่นๆ อีกหลายอย่าง เช่น การเลี้ยงไก่เชิงพาณิชย์อย่างเข้มข้น น่าจะเป็นสาเหตุสำคัญของการแพร่ระบาด อันนี้จะจริงหรือไม่ก็ตาม แต่ขอให้สังเกตด้วยว่า การเลี้ยงไก่เชิงพาณิชย์อย่างเข้มข้นเป็นหุ้นส่วนที่ล่องหนไปในการวิเคราะห์ไข้หวัดนกโดยสิ้นเชิงนะครับ ทำอะไรก็ได้ แต่ขออย่าให้มากระทบกับการเลี้ยงไก่เชิงพาณิชย์อย่างเข้มข้นแล้วกัน

เอ็นจีโอท่านไม่ได้พูดถึงเชื้อพันธุ์ไก่ที่ท่านเลี้ยง นี่ก็อาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่งซึ่งน่าทำการสำรวจตรวจสอบ แต่สำรวจตรวจสอบไม่ได้หรอก ตราบเท่าที่เรายืนยันจะเลี้ยงไก่เชิงพาณิชย์อย่างเข้มข้นให้ได้ เพราะพันธุ์ไก่สัมพันธ์กับกำไร ไม่ได้สัมพันธ์กับความแข็งแรงในการต้านทานโรค ความแข็งแรงของไก่ในทรรศนะของเอ็นจีโอท่านนั้นคงไม่เหมือนกับความแข็งแรงของไก่ในฟาร์ม เพราะเจ้าของฟาร์มคงยืนยันว่าไก่ของเขาแข็งแรงเหมือนกัน เนื่องจากได้วัคซีนนานาชนิดมาตั้งแต่เกิด อะไรคือความแข็งแรงของเป็ด-ไก่สำหรับเผชิญกับไข้หวัดนก ก็เป็นอีกคำถามหนึ่งสำหรับการศึกษาค้นคว้าเหมือนกัน

การจำกัดคำถามสำหรับการแสวงหาความรู้ให้แคบ เหลือเพียงเพื่อตอบสนองธุรกิจการค้าของคนจำนวนน้อยเช่นนี้ สะท้อนภาวะครอบงำที่สถาบันวิชาการกำลังเผชิญอยู่ทั้งในเมืองไทยและในโลก

อย่างไรก็ตาม ถ้าเราไม่ต้องการให้การเลี้ยงเป็ด-ไก่ตกอยู่ในมือของบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ไม่กี่รายแล้ว เราจำเป็นต้องหาทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับเมืองไทย เพราะการเลี้ยงเป็ด-ไก่เป็นทางหาเลี้ยงชีพของคนไทยจำนวนมาก ไม่ใช่แต่เจ้าของเพียงอย่างเดียว หากรวมถึงแรงงานที่ต้องใช้ในกิจการนี้ด้วย

ฉะนั้น ในการมองหาทางเลือก จึงต้องเริ่มต้นจากสมมติฐานตรงนี้ว่ามีความสำคัญที่สุด การส่งออกและการทำกำไรในตลาดเสียอีก ต้องปรับเปลี่ยนไปบ้างเพื่อทำให้คนสามารถเลี้ยงเป็ด-ไก่ได้ตามกำลังความสามารถที่เป็นจริงของเขา

ถ้ามองคนเลี้ยงเป็ด-ไก่เป็นหลัก ก็ต้องเข้าใจด้วยว่า กำไรที่ได้จากเป็ด-ไก่เวลานี้ไม่มากนัก ฉะนั้นจึงต้องลดต้นทุนที่สุดเท่าที่จะทำได้ เช่น คนเลี้ยงไก่จำนวนมากนิยมเลี้ยงไก่ไว้เหนือบ่อปลา เอาทั้งอาหารไก่ที่เรี่ยราดจากการคุ้ยเขี่ยของไก่และขี้ไก่เป็นอาหารปลาไปด้วย ช่วยเพิ่มกำไรจากการเลี้ยงไก่ได้โขอยู่เหมือนกัน ระบบปิดจึงตัดทางการเลี้ยงปลาไปโดยปริยาย หรือต้องเพิ่มค่าแรงลงไปอีกมาก ทั้งนี้ยังไม่พูดถึงการปรับอุณหภูมิและการถ่ายเทอากาศของระบบปิด ซึ่งทำในเมืองร้อนอย่างไทยด้วย

ส่วนการเลี้ยงเป็ดก็ลดต้นทุนโดยการต้อนฝูงเป็ดไปตามท้องนาที่เขาเก็บเกี่ยวแล้ว เพื่อหาอาหาร นับตั้งแต่ข้าวตกไปจนถึงกุ้งหอยปูปลาที่หลงเหลืออยู่ตามธรรมชาติ เป็ดฝูงหนึ่งกว่าจะเลี้ยงให้โต อาจต้องต้อนกันข้ามหลายจังหวัด ถ้าต้องเลี้ยงระบบปิด ค่าอาหารของเป็ดแต่ละตัวก็จะทำให้เหลือคนที่มีทุนพอเลี้ยงได้น้อยลง อีกทั้งราคาเป็ด-ไก่ และไข่ในตลาดก็อาจสูงกว่าคนอีกมากจะเอื้อมถึง ทั้งนี้ยังไม่นับชาวบ้านอีกจำนวนมากที่เลี้ยงไก่ปล่อยตามแบบโบราณ ได้ไข่และเนื้อเป็นโปรตีนเสริม หรือรายได้เสริมเล็กๆ น้อยๆ

คำถามก็คือ มีทางเลือกอะไรบ้างที่วางอยู่บนพื้นฐานของระบบเปิด หรือระบบการเลี้ยงเป็ด-ไก่ ซึ่งคนไทยจำนวนมากฝากชีวิตเอาไว้(ทั้งเลี้ยง ทั้งขาย และทั้งกิน)

เป็นไปได้ว่าเราอาจต้องอยู่กับหวัดนกตลอดไป มีช่องทางการค้าอะไรที่เป็นไปได้อีกบ้างในสภาพอย่างนี้ อย่างเดียวกับที่เรางดกินเป็ด-ไก่ หรือไข่ที่ไม่สุกอยู่ในเวลานี้(อันที่จริงยังไม่เคยพบกรณีการติดเชื้อสู่คนผ่านการกินเลย คนไข้ที่ติดทุกคนเคยสัมผัสเป็ด-ไก่ที่เป็นโรคโดยตรงทั้งสิ้น อันที่จริงอีกที เรายังไม่มีความรู้ด้านการแพร่โรคสู่คนชัดเจนพอเลยด้วยซ้ำ)

โดยสรุปก็คือ เราไม่อาจหาคำตอบจากใครได้เลย ส่วนคำตอบที่มีอยู่ก็ได้จากคำถามที่แคบเกินไป หรือคำถามที่ไม่ได้สำรวจตรวจสอบความรู้อย่างทั่วถึงเพียงพอ ผมเองก็ไม่ทราบว่าจะไปหาคำตอบได้ที่ไหน นั่งลงเปิดหนังสือพิมพ์แล้วเอาภาพของคุณเนวิน ชิดชอบ ขึ้นมาจ้องดู จ้องอย่างไรก็ไม่คิดว่าจะได้คำตอบจากคนๆ นี้ เพื่อความเป็นธรรมแก่คุณเนวิน ผมเอาหน้าของนักการเมืองคนอื่นอีกหลายคนมาจ้องดู นับตั้งแต่คุณทักษิณ ชินวัตร, คุณสุวิทย์ คุณกิตติ, คุณอดิศัย โพธารามิก, และคุณสมศักดิ์ เทพสุทิน แล้วก็ได้ผลไม่ต่างจากหน้าคุณเนวิน

3. ดุสิตธานี
(ถ้าจำไม่ผิด) เมื่อตอนที่ผมสอบเข้าจุฬาฯ และสอบออกจากจุฬาฯ ผมเจอข้อสอบประวัติศาสตร์ไทยเดียวกันอยู่ข้อหนึ่ง นั่นก็คือพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีมีส่วนอย่างไรในการวางรากฐานประชาธิปไตยให้แก่ประเทศไทย ผมคิดว่าผมทำได้ดีทั้งตอนขาเข้าและขาออก เพราะผมชอบอ่านประวัติศาสตร์ จึงได้เห็นแนวคิดอย่างนี้แพร่หลายในหนังสือประวัติศาสตร์มานานแล้ว ทั้งความคิดนี้ยังถูกตอกย้ำระหว่างเรียนมหาวิทยาลัย ฉะนั้น จึงน่าจะยิ่งทำได้ดีขึ้นไปอีกตอนขาออก

ไม่ใช่เพียงเพราะผมคุ้นเคยกับแนวคิดอย่างนี้เท่านั้นที่ทำให้ผมทำข้อสอบได้ดี แต่เพราะตอนนั้นผมก็เชื่ออย่างนี้จริงๆ เสียด้วย จึงสามารถเขียนคำตอบได้อย่างเมามัน

แม้เดี๋ยวนี้ผมไม่ได้เชื่ออย่างนี้อีกแล้ว แต่ในช่วงหนึ่งของชีวิตได้เคยผ่านกระแสเชี่ยวกรากของแนวคิดอย่างนี้มาในอดีต จึงทำให้เข้าใจนักการเมืองในปัจจุบัน ที่สถาปนาพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ไว้ที่หน้ารัฐสภา และพากันไปถวายสักการะในวันที่ 24 มิถุนายน ทุกปี โดยแทบจะไม่มีใครนำพวงมาลาไปวางที่อนุสาวรีย์ ท่านปรีดี พนมยงค์ ที่ธรรมศาสตร์เลย

ก็นักการเมืองไม่ได้มีอาชีพทางประวัติศาสตร์เหมือนผม เขาจึงไม่จำเป็นต้องศึกษาประวัติศาสตร์มากไปกว่าที่ได้เคยเรียนมา อีกทั้งการเชื่อมต่อระหว่างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กับระบอบที่มาหลังจากนั้น ยังทำให้วิถีการเมืองของแต่ละคนราบรื่นดี และในความเป็นจริงก็มีอะไรที่เชื่อมต่อกันมากระหว่างสองระบอบนี้จริงๆ เสียด้วย เพียงแต่ไม่อาจเรียกสิ่งนั้นว่าประชาธิปไตยได้เท่านั้น

หนึ่งในสิ่งที่เป็น "ประจักษ์พยาน" ของการวางรากฐานประชาธิปไตยในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็คือ ดุสิตธานี (ที่ไม่เกี่ยวกับโรงแรม) ผมอยากพูดถึงดุสิตธานี เพราะมันสะท้อนอะไรที่ผมกล่าวข้างต้นนั้นได้ชัดเจนดีที่สุด ยิ่งกว่านี้ดุสิตธานียังเป็นกรณีของการ "ลากเข้าความ" ที่หน้าตาเฉยที่สุด ของบรรดาประจักษ์พยานทั้งหลายซึ่งใช้สนับสนุนแนวคิดดังกล่าว

ในสมัยที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงสร้างดุสิตธานี ไม่มีใครพูดหรือคิดว่าดุสิตธานีเป็นบทเรียนประชาธิปไตย ตรงกันข้าม ส่วนใหญ่ของข้าราชการสำนักคิดว่า "ในหลวง" ท่านโปรดเล่นเมืองตุ๊กตา แม้จะเรียกว่า "เล่น" แต่ดูจะวิจิตรพิสดารกว่าการเล่นของคนทั่วไป นับตั้งแต่ "เมืองตุ๊กตา" นั้น ไม่ได้ทำอย่างหยาบๆ แต่ย่อส่วนตึกรามบ้านช่องและถนนหนทางอย่างประณีต ยิ่งกว่านั้นยังเปิดรับสมัครราษฎรของเมืองในหมู่ข้าราชบริพาร พร้อมทั้งจัดการปกครองอย่างเทศบาลนครของยุโรป ซึ่งทำให้มีการเลือกตั้งคนที่จะเข้าไปทำหน้าที่ "นคราภิบาล" รวมทั้งมีการประชุมของผู้แทนเพื่อออกกฎระเบียบสำหรับใช้ในเมืองตุ๊กตานี้ด้วย

ไม่ว่าเมืองนี้จะชื่ออะไร และจำลองนครยุโรปมาได้ใกล้เคียงอย่างไรก็ตาม แต่มันเป็นเมืองตุ๊กตาอย่างปฏิเสธไม่ได้ เพราะมันไม่ "จริง" ไม่ใช่ไม่ "จริง" เพราะเข้าไปอาศัยหลับนอนในนั้นไม่ได้ หรือเข้าไปทำมาหากินเลี้ยงชีพในนั้นไม่ได้เท่านั้น แต่ไม่ "จริง" ที่ความสัมพันธ์เชิงอำนาจในเมืองนั้นไม่ได้ตัดขาดออกไปจากความสัมพันธ์เชิงอำนาจในสังคมไทยภายนอกดุสิตธานี

แน่นอนว่า ไม่มีใครลืมหรอกว่าเอดิเตอร์ของดุสิตสมิตนั้นไม่ใช่ราษฎรสามัญ แต่คือพระเจ้าอยู่หัวในสังคมข้างนอกซึ่งชีวิตจริงของทุกคนยืนอยู่ตรงนั้น ไม่มีใครลืมว่านคราภิบาลคือเจ้าพระยายมราช รวมทั้งไม่ได้ลืมความสัมพันธ์ที่เป็นจริงระหว่างเจ้าพระยายมราชกับพระเจ้าอยู่หัวในสังคมนอกดุสิตธานี ทุกคนในดุสิตธานีล้วนสำนึกได้ดีว่าของจริงของแต่ละคนคืออะไร และด้วยเหตุดังนั้นความสัมพันธ์ในดุสิตธานีจึงเป็นแค่ของหลอก

ฉะนั้น ราษฎรของดุสิตธานีทุกคนจึงรู้ดีว่า "ฟรี เปรส" (Free Press) ของดุสิตธานีนั้นใครฟรี และแต่ละคนพึงฟรีได้แค่ไหน เช่นเดียวกับการอภิปรายในสภานคราภิบาล ความเห็นของราษฎรในเรื่องภาษี หรือประสิทธิภาพของการทำงานของคณะผู้ปกครอง ฯลฯ ทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำให้ "การปกครองตนเอง" เป็นไปได้มากกว่า "ตุ๊กตา" ย่อมมีไม่ได้ในดุสิตธานี

อันที่จริง อาจไม่จำเป็นจะต้องพูดอะไรกันให้มากความเกี่ยวกับความไม่ลงรอยกันของเมืองตุ๊กตากับประชาธิปไตย ถ้าเราสำนึกว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ซึ่งทรงสร้างดุสิตธานีขึ้นนี้ ได้ทรงพระราชนิพนธ์บทความที่พยายามชี้ให้เห็นอย่างตรงๆ เลยว่า เมืองไทยนั้นไม่อาจใช้ระบบรัฐสภาได้ นอกจากเจ้าจะใช้เงินเข้าสู่สภาแล้ว ในสภานั้นเองก็จะตีกันวุ่นหรืออภิปรายเลอะเทอะจนไม่ได้สาระอะไร เก็บการบริหารรัฐกิจไว้กับ "มืออาชีพ" ดีกว่า

ถ้าจะมีพระราชประสงค์อย่างหนึ่งอย่างใดกับเมืองตุ๊กตานี้มากกว่าเรื่องทรงพระสำราญ ก็เป็นการฝึกการบริหาร หรือความพยายามที่จะปฏิรูประบบราชการของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ นั่นคือการฝึกให้ข้าราชการ โดยเฉพาะที่เป็นข้าราชบริพารใกล้ชิด สามารถประสานงานกันเพื่อภารกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง

ความร่วมมือกันเพื่อการประสานงาน (Coordination) เป็นจุดอ่อนของระบบราชการสมัยใหม่ไทยนับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ได้ทรงสถาปนาขึ้นมาแต่แรกแล้ว ความแตกร้าวชิงดีชิงเด่นกันอย่างหนักในหมู่เสนาบดีซึ่งมีหลักฐานอ้างถึงไว้หลายแห่ง เป็นเพียงปลายยอดของปัญหาเท่านั้น เพราะที่จริงแล้ว แม้ในหมู่ข้าราชการระดับล่างลงมา ก็พากันยึด "สังกัด" มูลนายของตนอย่างเหนียวแน่น และมุ่งจะขยายอำนาจและผลประโยชน์ของกรมหรือกระทรวงที่ตนสังกัด มากกว่ามุ่งไปที่ภารกิจอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นพระบรมราโชบาย

ในปลายรัชกาลที่ 5 ถึงขนาดที่ข้าราชการในกระทรวงยุติธรรมร่วมกับเสนาบดีลาออกประท้วงพระเจ้าอยู่หัวกันเลย ผมไม่แน่ใจว่า ดุสิตธานีต้องการฝึกการบริหารแบบใหม่อย่างนี้จริงหรือไม่ เพียงแต่ว่าถ้าจะพยายามมองหาจุดประสงค์อื่นให้ได้แล้ว อย่างมากที่สุดก็เป็นได้แค่การปฏิรูประบบราชการเท่านั้น และการปฏิรูประบบราชการไม่ได้เกี่ยวอะไรทั้งสิ้นกับการวางรากฐานประชาธิปไตย คนที่อยู่ภายใต้ผู้ว่าซีอีโอในปัจจุบันก็คงเข้าใจดี

แนวคิดเรื่องดุสิตธานีคือ การสอนประชาธิปไตยแก่คนไทยนั้น เพิ่งมาโฆษณากันหลัง 24 มิถุนายน 2475 เมื่อระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สิ้นสุดลงแล้ว ซึ่งสอดคล้องกับยุทธวิธีของฝ่ายสถาบันพระมหากษัตริย์ในการตอบโต้กับการเถลิงอำนาจของคณะราษฎร (และคณะอะไรอื่นๆ ซึ่งตามมา) นั่นก็คือการเสนอให้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นฝ่ายสนับสนุนและปกป้องประชาธิปไตย ยิ่งกว่ากลุ่มอะไรอื่นๆ ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นคณะราษฎร, คณะรัฐประหาร, คณะทหาร, หรือ คณะปฏิวัติ ฯลฯ ซึ่งผลัดกันเข้ามาถืออำนาจทางการเมืองของไทย

พระราชหัตถเลขาทรงสละราชสมบัติของ ร.7 ที่ทรงประกาศว่ายินดีจะสละพระราชอำนาจให้แก่ปวงชนชาวไทย ไม่ใช่ให้แก่คณะบุคคลใดบุคคลหนึ่งมาเอาไปถือเป็นส่วนตัว ทำให้คณะราษฎรกลายเป็นฝ่ายตรงข้ามกับประชาธิปไตย ในขณะที่สถาบันพระมหากษัตริย์กลับเป็นฝ่ายประชาธิปไตยไป จากนั้นเป็นต้นมา ระบบการเมืองไทยก็กลายเป็นเผด็จการในรูปต่างๆ ตลอดมาเป็นส่วนใหญ่ จึงยิ่งทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์กลายเป็นสัญลักษณ์ของประชาธิปไตยที่ "แรง" ไม่น้อยไปกว่าพานรัฐธรรมนูญ

คนที่จะเข้ามาเป็นราษฎรของดุสิตธานีได้นั้น ไม่ใช่คนไทยธรรมดา นอกจากข้าราชบริพารแล้วก็มีคหบดีบางคนที่ได้เข้าไปอยู่ด้วย แต่ดุสิตธานีไม่มีสามัญชนคนธรรมดา

ใน ร.6 สามัญชนคนธรรมดาไม่ใช่คนที่ไร้หน้าตาเสียทีเดียว ถ้าเรากลับไปดูฎีการาษฎรที่ถวายความเห็นหรือร้องเรียนแก่ราชสำนัก หรือกลับไปอ่านหนังสือพิมพ์ของสมัยนั้น จะเห็นได้ว่าสามัญชนคนธรรมดานั้นมีความเคลื่อนไหวในสังคมการเมืองของไทยอย่างปฏิเสธไม่ได้ แต่คนเหล่านี้ไม่มีที่ของตนในดุสิตธานีเพราะดุสิตธานีไม่ใช่แบบจำลองของสังคมไทย ถ้าจะมีเวทีของการต่อรองเกิดขึ้นในดุสิตธานี เวทีนั้นก็เป็นเพียงเวทีของคนใหญ่คนโตผู้มีอำนาจในระดับต่างๆ เท่านั้น

อันที่จริงการเกี้ยเซี้ยกันระหว่างคนมีอำนาจนั้น เป็นปรกติธรรมดาของโครงสร้างอำนาจทั้งหลาย เพื่อไม่ให้เกิดความตึงเครียดในโครงสร้างนั้นจนตั้งอยู่ต่อไปไม่ได้ ประชาธิปไตยไทยหลัง 2475 สืบมาจนถึงทุกวันนี้ก็คือเวทีเกี้ยเซี้ยระหว่างใครก็ตามที่ทะลุขึ้นมาอยู่ในวงของอำนาจได้ ไม่ได้รวมประชาชนส่วนใหญ่เอาไว้

ฉะนั้น จึงน่าจะเรียกว่าประชาธิปไตยไทยว่าประชาธิปไตยแบบดุสิตธานี พูดอย่างนี้แล้ว ผมกลับต้องเปลี่ยนความคิดไป เพราะจริงนั่นแหละดุสิตธานีวางรากฐานประชาธิปไตยนี่หว่า

4. ซื้อสถานภาพในรูปของด๊อกเตอร์
เมื่อสื่อเลือกจะ "เล่น" ข่าวการซื้อหรือจ้างทำวิทยานิพนธ์ มหาวิทยาลัยต่างๆ พากันออกมาชี้แจงจ้าละหวั่น รวมทั้งสำนักงาน กอ. ก็ต้องออกมาทำท่าเอาจริงเอาจังขึ้นมา

ผมออกจะสงสัยว่าทุกฝ่ายต่างอมยิ้มแก้มตุ่ยกันทั้งนั้น เพียงแต่บทบาทมันเรียกร้องให้ต้องแสดงอย่างที่แสดงไปแล้ว เพราะใครบ้างครับที่ไม่เคยรู้เรื่องนี้มาก่อน หรืออย่างน้อยไม่เคยเฉลียวใจกับเรื่องนี้มาก่อนบ้าง สื่อหรือ อาจารย์มหาวิทยาลัยหรือผู้บริหารมหาวิทยาลัยหรือผู้บริหาร กอ. หรือเดินไปไหนก็เห็นป้ายประกาศขายบริการอย่างนี้ อย่างตรงไปตรงมาหรือแอบแฝงเพียงพอให้เข้าใจอยู่ทั่วไป (ถ้าแอบแฝงเสียจนไม่เข้าใจเลย จะหาลูกค้าได้อย่างไรเล่าครับ) อย่างดีที่อาจารย์มหาวิทยาลัยจะปลอบใจตัวเองก็คือ เฮ้ย ไม่ใช่มหาวิทยาลัยกู

ยิ่งไปกว่าป้ายโฆษณาขายบริการ ระบบอุดมศึกษาโดยเฉพาะระดับหลังปริญญาตรีที่ทำกันอยู่เวลานี้ก็คือ ธุรกิจค้ากำไรอย่างหนึ่ง นอกจากอาศัยภาษีอากรราษฎรในการจ่ายต้นทุนการผลิตไปส่วนหนึ่งแล้ว ก็เก็บค่าเล่าเรียนและค่าอื่นๆ จากนักศึกษาเป็นกำไรสุทธิกันอีกมโหฬาร กำไรส่วนนี้เอามาแบ่งกันในหมู่พนักงานบริษัทที่เรียกว่ามหาวิทยาลัยอย่างกว้างขวาง

ยิ่งโปรแกรมที่เรียกกันว่าโครงการพิเศษ ซึ่งเปิดสอนกันทุกมหาวิทยาลัยยิ่งมีราคาสูงและได้กำไรแบ่งปันกันอย่างหอมมันมากกว่าปกติ บริษัทผลิตใบปริญญาโท-เอกเป็นสินค้าที่ตลาดกำลังต้องการ ลักษณะที่เป็นธุรกิจและสินค้านั่นเอง ที่ทำให้ลูกค้าย่อมต้องดิ้นรนที่จะได้สินค้าซึ่งตัวได้ลงทุนซื้อไปแล้วมาให้ได้ และในราคาที่เป็นไปได้สำหรับตัวที่สุด

ฉะนั้น การจ้างทำวิทยานิพนธ์จึงเป็นส่วนหนึ่งของเกม และผมสงสัยว่าลึกลงไปในใจทุกคนที่เกี่ยวข้องก็รู้ๆ กันอยู่ ผมจึงคิดว่า ไม่มีประโยชน์ที่จะยกเอาจริยธรรม-ศีลธรรมมาพูด เพราะจะหาดินแดนอะไรในโลกปัจจุบันที่ไม่แคร์ต่อจริยธรรม-ศีลธรรมยิ่งไปกว่าการทำธุรกิจได้เล่าครับ

อย่างไรก็ตาม ถ้าพูดกันในแง่ธุรกิจ สินค้าที่มหาวิทยาลัยขายนั้นเอามาวางแบกะดินเหมือนสินค้าอื่นๆ ไม่ได้ เพราะจะทำให้ค่าของสินค้านั้นลดลงไปอย่างรวดเร็ว ด้วยเหตุดังนั้น มหาวิทยาลัยจึงร้อนใจกับกระแสข่าวนี้ เพราะค่าของสินค้าจะไม่สมกับมูลค่า นี่คือเหตุผลที่ต่างต้องออกมาชี้แจงว่า มีกระบวนการตรวจสอบที่รัดกุมต่างๆ อย่างไร

หากทว่า ในขณะเดียวกัน หนังสือพิมพ์กลับไปเที่ยวเก็บข้อมูลจากผู้จ้างทำวิทยานิพนธ์และธุรกิจรับจ้างทำวิทยานิพนธ์ จนทำให้เห็นว่าเขาเตรียมการสำหรับการตรวจสอบที่อ้างว่ารัดกุมนั้นไว้รัดกุมยิ่งกว่า เตรียมตัวกันตั้งแต่ข้อเสนอการวิจัยเลยทีเดียว ละเอียดไปถึงแต่ละบท และผมก็สงสัยว่า ถ้านักศึกษาถูกเตรียมมาอย่างรัดกุมอย่างนั้นจริง ก็ยากที่จะไปตรวจสอบได้ว่าเขาทำวิทยานิพนธ์เองหรือไม่ ก็หากคนเราไม่อยากรู้อะไร ไม่อยากคิดอะไรเองเสียอย่าง จะเอาแต่ปริญญาลูกเดียว คงจะหากระบวนการอะไรไปตรวจสอบไม่ได้

ผมคิดว่า ทางแก้ไม่ใช่ไปหวังกับการสร้างกระบวนการตรวจสอบที่รัดกุม เพราะทำไปก็ไม่สำเร็จ นอกจากทำให้ค่าจ้างทำวิทยานิพนธ์แพงขึ้น ซึ่งยิ่งเพิ่มน้ำหนักของอคติที่เอียงข้างคนรวยในระบบการศึกษาของไทยให้หนักขึ้นเท่านั้น เราน่าจะกลับมาทบทวนกระบวนการเรียนรู้ระดับมหาวิทยาลัยกันให้ดีมากกว่า ถ้าเราเชื่อว่าการเรียนรู้เป็นความสุขของมนุษย์ และเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่ชอบจะได้เรียนรู้ สิ่งที่น่าถามก็คือกระบวนการเรียนรู้ที่มหาวิทยาลัยจัดให้นักศึกษานั้น เหตุใดจึงน่าเบื่อหน่าย ไร้ความสุข ความเพลิดเพลินอย่างที่ควรจะเป็น

ขอยกตัวอย่างรูปธรรมนะครับ มีมหาวิทยาลัยบางแห่งออกมาให้สัมภาษณ์ต้านทานความอื้อฉาวเรื่องการซื้อวิทยานิพนธ์ว่า ที่มหาวิทยาลัยของตนไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลย เพราะการเรียนยากเย็นแสนเข็ญ ขนาดคิดหัวข้อที่จะทำวิทยานิพนธ์เพียงอย่างเดียวก็ต้องใช้เวลาตั้ง 1 ปีไปแล้ว. เอ หลักสูตรปริญญาโทใช้เวลา 2 ปี (หรือน้อยกว่านั้น) แต่แค่คิดหัวข้อวิทยานิพนธ์อย่างเดียวก็กินเวลาเข้าไปปีหนึ่งแล้ว ก็ถือว่าเกินเวลาที่หลักสูตรกำหนดไม่ใช่หรือครับ แทนที่มหาวิทยาลัยจะเห็นว่านี้เป็นปัญหา กลับเห็นเป็นข้อดีได้อย่างไร

แท้จริงแล้ว ผมกลับคิดว่าหากเป็นเช่นนี้ต้องย้อนกลับไปทบทวนเวลาปีแรกที่บังคับให้เรียนวิชาเนื้อหา แสดงว่าเนื้อหาที่จัดเป็นหลักสูตรให้นักศึกษานั้นไม่นำไปสู่ปัญหาการวิจัยแต่อย่างใด คือเรียนแล้วไม่เกิดคำถามอะไร ไม่ได้อยากรู้อยากเห็นอะไรเพิ่มอีกเลยใช่หรือไม่

หืดที่ขึ้นคอนักศึกษานั้นมาจากอะไร หลักสูตร, ครู, หรือวิธีการสอนที่ไม่นำไปสู่การเรียนรู้ด้วยความเพลิดเพลิน หรือทุกอย่างรวมกัน

ฉะนั้น ผมจึงคิดว่าทางแก้ประการแรก น่าจะทบทวนการศึกษาระดับหลังปริญญาตรีกันใหม่ ถ้าดูจากปรากฏการณ์ซื้อวิทยานิพนธ์อย่างแพร่หลายก็ตาม หรือการที่นักศึกษาส่วนใหญ่ไม่สามารถเรียนให้จบหลักสูตรตามเวลาที่กำหนดก็ตาม ล้วนแสดงให้เห็นความบกพร่องของการจัดการศึกษา ซึ่งเป็นภาระหน้าที่ของครูและมหาวิทยาลัยมากกว่าการขาดจริยธรรม-ศีลธรรมของนักศึกษา

แต่แค่นี้ยังไม่พอ เพราะปริญญาโท-เอกให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและสังคมแก่ผู้ครอบครองสูงมาก ไม่ว่าจะการหางานได้ง่ายขึ้น, เลื่อนขั้นเงินเดือน หรือเลื่อนตำแหน่ง ทั้งนี้ โดยผู้ถือปริญญาไม่ต้องพิสูจน์ความสามารถในหน้าที่การงานของตัวแก่ใครเลย นอกจากเอาใบปริญญาไปยื่นให้ดู

อย่างไรเสียก็มีบางคนที่หาทางลัดให้ได้มาซึ่งใบปริญญา และผมอยากจะเตือนไว้ด้วยว่า การหาทางลัดเพื่อให้ได้ปริญญานั้นไม่ได้มีหนทางเดียว คือจ้างคนอื่นทำวิทยานิพนธ์เท่านั้น ยังมีทางอื่นๆ ได้อีกหลายทาง นับตั้งแต่โกงกันตรงๆ เช่น ลอกคนอื่นแบบให้จับได้ยาก ไปจนถึงปั้นข้อมูลปลอมยัดลงไป หรือมั่วด้วยวิธีอื่นๆ จนอาจารย์งง

ไม่ดีกว่าหรือครับที่ทำให้มูลค่าของกระดาษแผ่นนั้นหายไปเสีย ให้เหลือแต่คุณค่าเพียงอย่างเดียว หมายความว่าทำให้ใบปริญญาหมดราคา ไม่มีใครต้องมาตีราคาให้แก่ปริญญากันอีกต่อไป แต่หันมาทำสองอย่างซึ่งวิทยาการในโลกปัจจุบัน (และการลงทุนวิจัยให้มากขึ้นในอนาคต) ช่วยในการวินิจฉัยบุคคลได้ดีกว่าใบปริญญาซึ่งเชื่อไม่ได้เสียแล้วนี้

หนึ่งคือ จัดทำการทดสอบที่ดีและเหมาะสมกับงานที่ต้องการให้คนมาทำ รวมทั้งทดสอบเพื่อรู้ศักยภาพการพัฒนาด้วยตนเองของคนที่มาสมัครงานด้วย

สองคือ การสร้างวิธีประเมินคุณภาพของการทำงานให้มีลักษณะที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมไทย (ข้อนี้ต้องขยายความด้วยว่า ขึ้นชื่อว่า "คุณภาพ" ไม่ว่าของคนหรือของอะไร ก็เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมทั้งนั้น) การลอกวิธีประเมินคุณภาพของฝรั่ง คือการรับให้วัฒนธรรมฝรั่งเป็นผู้กำหนดว่าอะไรดี และดีในเงื่อนไขอะไร ฉะนั้น ต้องพัฒนาวิธีประเมินของเราขึ้นมาเอง แม้จะอาศัยความรู้ฝรั่งด้วย ก็ต้องรู้จักเลือกสรรให้ดี

โดยวิธีเช่นนี้ คนทำงานไม่ว่าในราชการหรือเอกชน หากเขาไม่ต้องการเรียนต่อด้วยเหตุใดก็ตาม แต่ชอบที่จะเรียนเองเพื่อทำงานในหน้าที่ของเขาให้ดีขึ้น เขาก็ควรได้รับรางวัลโดยไม่ต้องถือปริญญาโทแขนงอะไรเลย

การศึกษาจะกลายเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องทำให้ตัวเอง ถึงอย่างไรการศึกษาที่แท้จริงก็เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องทำให้ตัวเองทั้งนั้น ห้องเรียนและครูได้แต่ช่วยให้การทำให้ตัวเองเป็นไปได้ง่ายขึ้นเท่านั้น เลิกตีราคาการศึกษากันเสียได้ ไม่ใช่แต่ว่าการทำงานของผู้คน ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีปริญญา น่าจะดีขึ้นเท่านั้น แต่ผมคิดว่ามีผลปฏิวัติสังคมไทยในบางแง่อย่างลึกซึ้งด้วย

คืออย่างนี้ครับ สังคมไทยใช้การศึกษา (หรือพูดให้ชัด ปริญญา) เป็นเครื่องมือในการสืบทอดสถานภาพของบุคคลมานาน หมายความว่าปกป้องให้ลูกหลานของตัวได้ไต่ขึ้นไป และโดยไม่ได้ตั้งใจ (หรือตั้งใจ ?) ก็เท่ากับกีดกันไม่ให้ลูกหลานคนอื่นได้ไต่ขึ้นไปบ้าง เพราะบันไดมันแคบ คนที่ทำอย่างนี้ได้คือคนที่มีสถานภาพสูง และหนึ่งในวิธีประกันการสืบทอดสถานภาพคือการตีราคาการศึกษานี่แหละครับ

ฉะนั้น เลิกตีราคากันเมื่อไร ก็ต้องหันไปหาความสามารถด้านอื่น ซึ่งทำให้ลูกหลานของคนด้อยสถานภาพมีโอกาสมากขึ้น จึงมีผลกระทบอย่างแรงต่อโครงสร้างสังคมทีเดียว

5. พระกับการเมือง
เมื่อ คุณทักษิณ ชินวัตร ประกาศว่าพระไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ผมรู้สึกแปลกใจมาก เพราะท่านอายุห่างจากผมพอสมควร คงรอดพ้นจากความเข้าใจคับแคบอย่างนี้ ซึ่งเป็นสมบัติของคนรุ่นผมต่างหาก

ทฤษฎีเรื่องพระไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมืองนั้นค้นไม่เจอในพระวินัยหรอกนะครับ กล่าวคือ ไม่มีบัญญัติห้ามข้อนี้เอาไว้ ควรหรือไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมืองต้องไปขึ้นอยู่กับว่าการเมืองแปลว่าอะไร หรือนี่เป็นประเพณีของคณะสงฆ์ไทยที่มีมาแต่โบราณกาล

พระราชพงศาวดารอยุธยาซึ่งเขียนในสมัยต้นรัตนโกสินทร์พูดถึงสมเด็จพระพนรัตน์ เข้าไปขอชีวิตไพร่นายที่ติดตามสมเด็จพระนเรศวรไปไม่ทัน จนทรงตกอยู่ในวงล้อมข้าศึก และทรงทำยุทธหัตถีจนชนะข้าศึก สมเด็จพระนเรศวรก็โปรดพระราชทานชีวิตตามที่ขอ อย่างนี้จะเรียก "การเมือง" หรือไม่ ? คิดเฉพาะเรื่องอำนาจทางการเมืองอย่างเดียวนะครับ เหล่าไพร่นายจำนวนมากรอดชีวิตมาได้เพราะสมเด็จพระพนรัตน์ ฉะนั้น จึงกุมความจงรักภักดีของคนเหล่านั้นไว้ได้อีกนาน จะเอาความจงรักภักดีนี้ไปใช้ในทางไหนก็ได้

ผมไม่แน่ใจว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นจริงในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรหรือไม่ อาจแต่งกันขึ้นเองในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์นี้ก็ได้ ถึงกระนั้นก็แสดงว่าตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ยังไม่ได้คิดห้ามพระไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง

และอันที่จริงถ้าย้อนกลับไปอ่านหลักฐานฝรั่งในสมัยอยุธยา ก็จะพบการยุ่งเกี่ยวกับการเมืองของพระเยอะแยะไปหมด นับตั้งแต่นักการเมืองบวชเป็นพระเพื่อใช้เป็นฐานแย่งอำนาจ (หรือชิงราชสมบัติ) ไปจนถึงหนีราชภัยไปบวช หรือพระช่วยปกป้องเชื้อพระวงศ์บางองค์ไม่ให้ถูกประหาร ในปลายสมัยพระนารายณ์ บาทหลวงฝรั่งเศสคนหนึ่งรายงานว่า ภิกษุสงฆ์ที่ลพบุรีถึงขนาดจัดเดินขบวนประท้วงนโยบายเปิดประเทศให้ทหารฝรั่งเศสกันเลย

เมื่อตอนที่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เสด็จสวรรคตแล้ว สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ซึ่งได้ใช้กำลังปิดช่องล้อมวงทั้งในพระบรมมหาราชวัง และวังสราญรมย์อันเป็นที่ประทับของพระราชโอรสองค์ใหญ่ไว้เรียบร้อยตามธรรมเนียมโบราณแล้ว) ได้เชิญคนสำคัญของแผ่นดินมาประชุมกัน ได้แก่พระบรมวงศานุวงศ์, ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ แล้วยังมีสมเด็จพระราชาคณะด้วย เพื่อจะตัดสินใจเลือกเจ้านายขึ้นครองราชสมบัติต่อไป

จริงอยู่ ในความเป็นจริงแล้ว สมเด็จเจ้าพระยาฯ มีอำนาจสูงสุด จะเสนอเจ้านายองค์ใดก็องค์นั้น ไม่มีใครกล้าขัด แต่การประชุมเป็นพิธีกรรมทางการเมืองเพื่อสร้างความชอบธรรมทั้งแก่พระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ และแก่อำนาจของสมเด็จเจ้าพระยาฯ เอง แต่ในการประชุมทางการเมืองนั้น กลุ่มคนที่ขาดไม่ได้คือพระ พระในสังคมไทยได้รับความเคารพนับถือและเชื่อฟังมาก อำนาจทางวัฒนธรรมของพระจึงมีสูง และอำนาจอันนี้ก็อาจถูกบุคคลหรือองค์กรสงฆ์เบนมาใช้ในทางการเมืองได้ ฉะนั้น พระในฐานะบุคคลก็ตาม สถาบันก็ตาม จึงอาจคุกคามอำนาจทางการเมืองของผู้ปกครองได้อย่างน่ากลัว

ปัญหานี้ทุเลาลงในสมัยรัชกาลที่ 5 หลังการปฏิรูปคณะสงฆ์ พระเจ้าแผ่นดินในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จึงมีพระราชอำนาจเหนือสถาบันสงฆ์และพระภิกษุแต่ละองค์ได้อย่างค่อนข้างเด็ดขาด อย่างที่พระเจ้าแผ่นดินไทยไม่เคยมีมาก่อน ผมเดาว่าคติพระไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการแผ่นดินแผ่นทราย คงจะเริ่มมีมานับตั้งแต่นี้ แต่การแผ่นดินมีความหมายแคบกว่าการเมือง เพราะหมายถึงเพียงอย่าทำอะไรให้กระทบต่ออำนาจของรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม จะตัดสินอย่างไรว่าการแผ่นดินอะไรที่ธรรมะไม่ควรเข้าไปเกี่ยว ไม่ใช่เรื่องง่ายนะครับ ถ้าพระเทศน์ให้จับอาวุธขึ้นสู้กับทหารรัฐบาล อันนี้ผิดทั้งพระวินัยและอาญาบ้านเมืองแน่ แต่ถ้ารัฐบาลดำเนินนโยบายที่ขัดต่อหลักพระพุทธศาสนา (เช่น ฆ่าตัดตอนคนที่ถูกกล่าวหาว่าพัวพันกับยาเสพติด) พระท่านก็เทศน์ชี้โทษของการฆ่า และการแก้ปัญหาโดยขาดความเคารพต่อชีวิต อย่างนี้จะถือว่าเป็นการแผ่นดินแผ่นทรายหรือไม่ ในเมื่อการทำชีวิตให้ตกไปนั้นขัดกับคำสอนของพระพุทธเจ้าแน่

ผมเข้าใจว่ารัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่กล้าตัดสินออกมาชัดๆ ในเรื่องนี้ ฉะนั้น จึงมีความพยายามจะหาเหตุผลทางศาสนาให้แก่การกระทำของตนเองเสมอ เพื่อปิดปากพระหรือโน้มน้าวให้พระไม่ต่อต้าน เช่นในสมัย ร.6 ก็ต้องระดมพระและฆราวาสหลายรูปและคน เพื่อออกมาเขียนหรือพูดเพื่อชี้ให้เห็นว่า การเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 นั้นไม่ขัดกับหลักของพระศาสนา รวมทั้งทรงพระราชนิพนธ์เรื่องธรรมาธรรมะสงครามด้วย

พระก็ต่อต้านน้อยหรือแทบจะไม่ได้ต่อต้านเลย จะเป็นเพราะเชื่อหรือกลัวก็ตามเถิด แต่ประเด็นก็คือ ถึงใจจะคิดอยากห้ามไม่ให้พระยุ่งเกี่ยวกับ "การเมือง" ซึ่งเขาหมายความในตอนนั้นคืออำนาจรัฐเท่านั้น แต่ก็ไม่ได้ห้ามออกมาตรงๆ

ผมเข้าใจว่า คนที่กล้าพูดอย่างนี้ออกมาตรงๆ เป็นคนแรกคือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เพราะผมเรียนรู้คตินี้มาจากหนังสือพิมพ์สยามรัฐ เนื่องจากเมื่อผมเป็นเด็กนั้น บ้านผมเป็นแฟนหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ จึงโตมากับความคิดเห็นแบบสยามรัฐๆ นี่แหละ และรู้สึกแปลกใจที่คนรุ่นหลังจากผมขนาดคุณทักษิณยังถือคติสยามรัฐอยู่ได้ไง

แต่คตินี้เป็นคติที่คับแคบมาก เริ่มจากการนิยามการเมืองก็แคบ เช่นคุณคึกฤทธิ์เองก็เขียนไว้หลายครั้งหลายหนว่า เมืองไทยไม่เคยมีการเมือง จนถึงวันที่ 24 มิถุนายน 2475. ผมไม่แน่ใจว่าท่านจะหมายความอย่างไร เพราะถึงนิยามการเมืองให้แคบเหลือเพียงการแย่งอำนาจกันในระดับสูง ก็ดูเป็นการกล่าวเท็จอย่างหน้าด้านๆ เพราะการแย่งอำนาจกันในระดับสูงนั้น ทำกันเป็นปกติในเมืองไทย (ที่จริงในเมืองอื่นๆ ทั่วโลกด้วย) มาตั้งแต่โบราณกาล จารึกสุโขทัย (หลักที่ไม่ปลอม) พูดถึงพระเจ้าลิไทยกกองทัพจากศรีสัชนาลัยมาสุโขทัย แล้วเอา "ขวานประหารประตู" เข้าไปยึดอำนาจจากใครไม่รู้ที่ครองสุโขทัยอยู่เวลานั้น

จะพูดเฉพาะสมัยสมบูรณายาสิทธิราชย์ คือ จาก ร.5 - 7 ว่าคนชั้นสูงไม่แย่งอำนาจกันเลย ใครได้เป็นกษัตริย์แล้ว คนอื่นๆ ต่างสยบยอมหมด ก็ไม่จริง ยิ่งถ้าดูระดับต่ำลงมากว่าราชบัลลังก์ เจ้านายในสมัยนั้นขบเหลี่ยมขบคมกันในคณะเสนาบดีอย่างถึงพริกถึงขิง แต่แทนที่จะโค่นอำนาจกันด้วยกำลังอาวุธ ก็โค่นกันด้วยวิธีอื่นที่แนบเนียนกว่าแทน เช่น ใช้ลมเป่าหูเบื้องบน เป็นต้น

ความพยายามของชนชั้นปกครองในการกีดกันพระออกไปจากการเมืองนั้น สรุปให้เข้าใจง่ายๆ จึงเหลือแต่ป้องกันไม่ให้พระไปขัดขวางหนทางแห่งอำนาจของตัวเท่านั้น เช่น ไปทำอะไรที่จะช่วยให้ศัตรูทางการเมืองของตนได้เปรียบ หรือบ่อนทำลายอำนาจของตัว แต่ถ้าพระจะยุ่งเกี่ยวกับการเมืองในทางส่งเสริมอำนาจของเขา อย่างนั้นก็ยุ่งกับการเมืองได้ ไม่เฉพาะแต่คุณทักษิณเท่านั้นที่พอใจเมื่อพระบางรูปพูดสนับสนุนตนเอง ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งไม่อยากให้พระยุ่งการเมืองแผ่นดินแผ่นทราย ก็พอใจหรือส่งเสริมให้พระเทศน์ท้องเรื่อง "ราชาเป็นสง่าแห่งแคว้น" เหมือนกัน

อันที่จริง ถ้าพระเข้าไปยุ่งกับการแย่งอำนาจ ไม่ว่าจะอยู่ฝ่ายที่ถืออำนาจในมือ หรือฝ่ายที่ต้องการแย่งอำนาจจากมือคนอื่น คำถามที่น่าจะถามก็คือ ยุ่งทำไม ถ้ายุ่งเพื่อตัวจะได้มีส่วนแบ่งของอำนาจบ้าง ก็จริงอย่างที่คุณทักษิณพูด นั่นก็คือ สึกออกมาแย่งอำนาจกันตรงไปตรงมาเลยดีกว่า

เพราะอำนาจของพระควรเป็นอำนาจทางศีลธรรม แต่เราไม่อาจแยกอำนาจทางศีลธรรมออกไปจากอำนาจทางการเมืองหรือเศรษฐกิจหรืออะไรอื่นได้ เช่นเดียวกับการแย่งอำนาจทางการเมืองก็มีมิติทางศีลธรรมแฝงอยู่อย่างสำคัญ (ที่การเมืองไทยแย่อย่างนี้ก็เพราะ มิตินี้มันแทบไม่ได้แฝงอยู่เลย) เนื่องจากกติกาทางกฎหมายหรือแรงกดดันทางสังคมอย่างเดียวไม่เพียงพอ เป็นต้นว่า การไม่ซื้อเสียงไม่ได้เกิดจาก กกต. ที่เข้มแข็งเพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากความเลื่อมใสสิ่งที่ถูกต้องและเป็นธรรม ซึ่งเป็นความรู้สึกทางศีลธรรมทั้งของคนซื้อและคนขายด้วย

เหตุดังนั้น พระจึงควรยุ่งเกี่ยวกับการเมืองอย่างยิ่ง แต่ยุ่งเกี่ยวเพื่อนำเอาธรรมะเข้าไปสู่การเมือง เช่นเดียวกับพระควรยุ่งเกี่ยวกับการทำธุรกิจ, การสื่อสาร, การบริโภค, การพลังงาน, การศึกษา, ศิลปวัฒนธรรม, กามารมณ์ หรือความสัมพันธ์ทางสังคมทุกชนิด ฯลฯ เพราะทั้งหมดเหล่านั้นล้วนมีมิติทางศีลธรรมที่เราควรพิจารณาทั้งสิ้น ความเสื่อมโทรมของสิ่งเหล่านั้นในเมืองไทยนั้นส่วนหนึ่งก็มาจากการที่เราตัดมิติทางศีลธรรมออกไปโดยสิ้นเชิง และพระไม่ค่อยยอมเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสิ่งเหล่านั้นเอาเลย เทศนาของท่านจึงลอยอยู่ในสุญญากาศ ฟัง "เอาบุญ" โดยไม่สามารถเอาไปใช้เพื่อให้เกิดบุญที่แท้จริงขึ้นได้

ตรงกันข้ามกับคำปรามของคุณทักษิณ ผมคิดว่าพระควรยุ่งเกี่ยวให้มากกับการเมืองและเรื่องอื่นๆ ในเชิงสังคม แต่ต้องมีสติกำกับว่ายุ่งทำไม แล้วจึงจะรู้ว่าควรยุ่งอย่างไร

 

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 440 เรื่อง หนากว่า 5000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com




ขณะนี้มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้ผลิตบทความทั้งหมดบนเว็ปในรูปของซีดีรอมเพื่อจำหน่าย สนใจ สั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com

 

เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณขาลดขนาดของ font ลง
จะแก้ปัญหาได้

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com

ฉะนั้นเพศศึกษา...จึงมีความหมายกว้างขวางกว่าเรื่องการร่วมเพศมาก แต่ครอบคลุมความสัมพันธ์ในมิติอื่นๆ กับคนอีกจำนวนมากที่ร่วมอยู่ในชีวิตของคู่ผัวตัวเมีย แน่นอนว่าในนั้นมีความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียม การเอารัดเอาเปรียบ การกดขี่ และ ฯลฯ ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ทางสังคมที่เป็นจริงของสมัยนั้น อันเราในปัจจุบันอาจรับไม่ได้ และไม่จำเป็นต้องเลียนแบบ... แต่ความเข้าใจว่าเพศศึกษามีนัยะที่กว้างกว่าเพศสัมพันธ์นั้นมีประโยชน์ที่จะใช้ในการทำความเข้าใจกับการจัดเพศศึกษาที่เหมาะสมของสังคม

 


กลุ่มคนที่ขาดไม่ได้คือพระ พระในสังคมไทยได้รับความเคารพนับถือและเชื่อฟังมาก อำนาจทางวัฒนธรรมของพระจึงมีสูง และอำนาจอันนี้ก็อาจถูกบุคคลหรือองค์กรสงฆ์เบนมาใช้ในทางการเมืองได้ ฉะนั้น พระในฐานะบุคคลก็ตาม สถาบันก็ตาม จึงอาจคุกคามอำนาจทางการเมืองของผู้ปกครองได้อย่างน่ากลัว ปัญหานี้ทุเลาลงในสมัยรัชกาลที่ 5 หลังการปฏิรูปคณะสงฆ์ พระเจ้าแผ่นดินในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จึงมีพระราชอำนาจเหนือสถาบันสงฆ์และพระภิกษุแต่ละองค์ได้อย่างค่อนข้างเด็ดขาด อย่างที่พระเจ้าแผ่นดินไทยไม่เคยมีมาก่อน ผมเดาว่าคติพระไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการแผ่นดินแผ่นทราย คงจะเริ่มมีมานับตั้งแต่นี้ แต่การแผ่นดินมีความหมายแคบกว่าการเมือง เพราะหมายถึงเพียงอย่าทำอะไรให้กระทบต่ออำนาจของรัฐบาล